การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทอ้างว่าจำเลยบุกรุกที่ดินพิพาท  หากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าประมาณเดือนละ  3,000 บาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้บุกรุกที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  จำเลยซื้อจากโจทก์ชำระราคาด้วยวัสดุก่อสร้างและเงินสดบางส่วนขอให้ศาลยกฟ้อง  พร้อมกันนั้นจำเลยได้แย้งให้โจทก์ไปโอนโฉนดที่พิพาทให้จำเลย  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ไปโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยตามฟ้องแย้ง  ดังนี้  โจทก์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีฟ้องขับไล่  และคดีฟ้องแย้งได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  224  วรรคแรกและวรรคสอง  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิได้ให้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้   เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่มีการฟ้องแย้งด้วยนั้น  การจะพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น  ต้องพิจารณาฟ้องเดิมและฟ้องแย้งออกจากกันเสมือนคนละคดี  (ฎ. 7858/2542  ฎ. 6937/2539)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีฟ้องขับไล่ได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีนี้ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง  ที่ดินพิพาทหากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าประมาณเดือนละ  3,000  บาทอันถือว่ามีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ  4,000  บาท  จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา  224  วรรคสอง  ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้น  ตามมาตรา  224  วรรคแรก  คือ  ไม่มีความเห็นแย้งหรือได้รับรองให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงจากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นหนังสืออุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้  ดังนั้น  คดีฟ้องขับไล่จึงต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายดังกล่าว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีฟ้องแย้งได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  โดยจำเลยซื้อมาจากโจทก์ชำระราคาด้วยวัสดุก่อสร้างและเงินสดบางส่วนขอให้ศาลยกฟ้อง  พร้อมกันนั้น  จำเลยได้ฟ้องแย้งให้โจทก์ไปโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลย  ซึ่งเมื่อพิจารณาจากฟ้องแย้งของจำเลยแล้วได้ความว่า  ฟ้องแย้งของจำเลยถือเป็นคดีเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้  (คดีไม่มีทุนทรัพย์)  จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง   ดังนั้น  ในกรณีเช่นนี้โจทก์ชอบจะอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในส่วนฟ้องแย้งได้

สรุป  คดีฟ้องขับไล่โจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงไม่ได้  ส่วนคดีฟ้องแย้งโจทก์อุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยกู้ยืมเงิน  100,000  บาท  จากโจทก์  แล้วผิดนัดไม่ชำระคืน  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวกับดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องรวมเป็นเงิน  120,000  บาท  จำเลยให้การว่า  จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว  คำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยผิดนัดเมื่อใด  จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว  70,000  บาท  และคำฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม  พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน  50,000  บาท  แก่โจทก์  จำเลยอุทธรณ์ว่า  จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์อีก  โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนนำคดีมาฟ้อง  ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

มาตรา  224  วรรคแรกและวรรคสอง  ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี

มาตรา  225  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น  คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้  หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์  คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  224  ได้กำหนดหลักเกณฑ์  ในการห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีดังต่อไปนี้  คือ

1)    คดีที่ราคาทรัพย์ที่พิพาทหรือจำนวนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน  50,000  บาท  หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

2)    คดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ  ออกจากอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ  4,000  บาท  หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา

และตามมาตรา  225  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการยื่นอุทธรณ์นั้น

1)    ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2)    ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  และ

3)    อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแล้ว  สามารถแยกพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยได้ใน  2  ประเด็น  คือ

1)    จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดชำระแก่โจทก์อีก

2)    โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนนำคดีมาฟ้อง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า  จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์อีก  กรณีนี้ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยแล้วมีเพียง  50,000  บาท  เท่ากับเงินที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน  50,000  บาท  อุทธรณ์ของจำเลยที่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ฟังข้อเท็จจริงว่า  จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ยังไม่ครบถ้วน  ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา  224  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ก่อนนำมาฟ้องคดีนั้น  กรณีนี้ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ของจำเลยหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาตามที่จำเลยยื่นคำให้การในศาลชั้นต้นแล้ว  ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากที่จำเลยให้การ่อสู้ไว้  จึงเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ต้องห้ามอุทธรณ์  ตามมาตรา 225  วรรคแรก  ทั้งอุทธรณ์ดังกล่าวก็มิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ยกเว้นให้คู่ความยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์ได้  แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแต่ประการใด

สรุป  ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย

 

ข้อ  3  โจทก์เป็นบริษัทจำกัด  จดทะเบียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น  ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง  ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน  20  ล้านบาทฐานผิดสัญญา  จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิดสัญญาขอให้ยกฟ้องโจทก์  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์  ก่อนที่จำเลยจะได้รับสำเนาอุทธรณ์จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาล  ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์วางเงิน  500,000  บาทต่อศาลเพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมไว้ก่อนมีคำพิพากษา  โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องและมาแถลงคัดค้านว่า  โจทก์เป็นบริษัทจำกัด  จดทะเบียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น  มีทุนจดทะเบียนมากกว่า  10,000  ล้านบาท  แม้โจทก์จะไม่มีทรัพย์สินในประเทศไทยโจทก์ก็ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  ขอให้ยกคำร้องของจำเลย  ในวันไต่สวนศาลสืบพยานโจทก์จำเลยเห็นว่า  โจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  และศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย

ดังนี้  จำเลยไม่พอใจคำสั่งยกคำร้อง  จำเลยจะต้องอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งไปยังศาลใด  และหากนักศึกษาเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของจำเลย  นักศึกษาเห็นด้วยกับศาลที่มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  253  วรรคแรกและวรรคสอง  ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร  หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆก่อนพิพากษาขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า  มีเหตุอันสมควรหรือมีเหตุเป็นที่เชื่อได้  แล้วแต่กรณี  ก็ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กำหนด  โดยจะกำหนดเงื่อนไขใดๆตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา  253  ทวิ  ในกรณีที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา  253  วรรคหนึ่ง  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีไม่ว่าเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยังมิได้ส่งสำนวนความไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาคำร้องตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น  และให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวน  แล้วส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

ให้นำความในมาตรา  253  วรรคสองและวรรคสาม  มาใช้บังคับแก่การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยอนุโลม

วินิจฉัย

ตามมาตรา  253  ทวิ  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  เมื่อโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว  หากมีเหตุใดเหตุหนึ่ง  ตามมาตรา  253  วรรคแรก  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายได้  หากปรากฏว่า

1)    โจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร  หรือ

2)    เป็นคดีที่เชื่อได้ว่า  เมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  เมื่อจำเลยไม่พอใจคำสั่งยกคำร้องจำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งไปยังศาลใด  เห็นว่า  การที่จำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลเพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมในระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์  จึงถือเป็นวิธีการชั่วคราวที่มีคำขอในชั้นอุทธรณ์ตามมาตรา  253  กรณีเช่นนี้  ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่คดีนี้อยู่ในระหว่างพิจารณา  ย่อมมีอำนาจมีคำสั่งคำร้องของจำเลย  แม้ศาลชั้นต้นจะยังไม่ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ก็ตาม  ทั้งตามมาตรา  253  ทวิ  วรรคสอง  ก็กำหนดแต่เพียงว่าให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจทำการไต่สวนคำร้องเท่านั้นหาได้ให้อำนาจที่จะมีคำสั่งด้วยไม่  ดังนั้น  เมื่อศาลที่มีอำนาจมีคำสั่งคำร้อง  คือ  ศาลอุทธรณ์  มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย  หากจำเลยไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว  จำเลยก็ชอบจะฎีกาคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความ  ตามมาตรา  253  ไปยังศาลฎีกาได้  ตามมาตรา  228(2)  ประกอบมาตรา  247  (ฎ. 1106/2530) 

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ได้ยอมรับในคำแถลงคัดค้านว่า  โจทก์ไม่มีภูมิลำเนาและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีอยู่ในราชอาณาจักร  กรณีเช่นนี้  ย่อมถือว่าปรากฏเหตุต่อศาลตามมาตรา  253  วรรคแรกแล้วโดยไม่จำต้องสืบพยานอีก  แม้ศาลจะสืบพยานแล้วเห็นว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายก็ไม่ทำให้ผลเปลี่ยนแปลงไป  เพราะกฎหมายใช้คำว่า  หรือ  หาได้ใช้คำว่า  และ  ไม่  จึงอาจจะเป็นกรณีใดก็ได้  ดังนั้น  เมื่อปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา  253  วรรคแรก  ศาลต้องสั่งให้โจทก์นำเงินประกันมาวางต่อศาลตามคำร้องขอของจำเลย  การที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 3155/2526)

สรุป  หากจำเลยไม่พอใจคำสั่งยกคำร้อง  จำเลยต้องฎีกาคำสั่งไปยังศาลฎีกา  และหากข้าพเจ้าเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของจำเลย  ข้าพเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับศาลที่มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย

 

ข้อ  4  ชั้นบังคับคดี  นายชอบซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของนายชิด  ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมาของนายชอบจำนวน  500,000  บาท  ในวันขายทอดตลาด  นายชื่นยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครราชสีมาว่า  ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้  ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดให้นายชิดโอนให้แก่นายชื่น  ขอให้ถอนการยึดที่ดินดังกล่าว  นายชอบยื่นคำคัดค้านว่า  นายชื่นมิใช่เป็นคู่ความในคดีไม่มีสิทธิเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบังคับคดี  เพราะเป็นเรื่องระหว่างนายชอบกับนายชิด  ทั้งนายชื่นมิได้ยื่นคำร้องก่อนวันขายทอดตลาด  ขอให้ยกคำร้อง

ให้วินิจฉัยว่า  คำคัดค้านของนายชอบฟังขึ้นหรือไม่  และศาลจะถอนการยึดที่ดินดังกล่าวหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  287  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  288  และ  289  บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ผู้ที่จะขอคุ้มครอง  ตามมาตรา  287  นี้  ต้องเป็นผู้มีบุริมสิทธิ์หรือสิทธิอื่นๆ  ซึ่งผู้นั้นอยู่ในฐานะที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดได้  (ฎ. 3323/2528)

สำหรับ  สิทธิอื่นๆ  ในที่นี้หมายถึงสิทธิในทำนองเดียวกับบุริมสิทธิ์  หรือเป็นสิทธิที่เทียบเคียงได้กับบุริมสิทธิ์  แต่มิใช่บุริมสิทธิ์  ในที่นี้เป็นสิทธิซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์ของลูกหนี้ได้ตามกฎหมาย  เช่น  สิทธิขอแบ่งส่วนได้ของตนในฐานะเป็นเจ้าของร่วม  ขอยึดหน่วงทรัพย์สินที่ครอบครองจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง  (ฎ.1413/2508,  ฎ.1543/2514)  หรอ  สิทธิของผู้ที่อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนของตนได้ก่อนในทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดก็ถือว่าเป็นสิทธิอื่นๆ  ตามมาตรา  287  เช่นกัน  (ฎ. 2686/2538  ฎ. 2975/2538)

คำร้องของนายชื่นที่ยื่นต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา  อ้างว่า  ที่ดินของนายชิดลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่นายชอบเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้  ศาลแพ่งมีคำพิพากษาตามยอมถึงที่สุดให้นายชิดโอนให้แก่นายชื่นแล้ว  ขอให้ถอนการยึดที่ดินดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างว่านายชื่นได้สิทธิที่จะบังคับให้นายชิดโอนที่ดินที่ถูกยึดให้แก่นายชื่นตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง  อันถือได้ว่านายชื่นเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1300  นับว่าเป็นสิทธิอื่นๆซึ่งการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิตามกฎหมายของนายชื่น  ตามมาตรา  287

สำหรับคำคัดค้านของนายชอบที่ว่า  นายชื่นมิใช่เป็นคู่ความในคดี  ไม่มีสิทธิเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบังคับคดีนั้น  เห็นว่า  แม้นายชื่นเป็นบุคคลภายนอกแต่นายชื่นก็เป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามคำพิพากษาอันอาจร้องขอให้บังคับเหนือที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้  เมื่อการบังคับคดีแก่ที่ดินของนายชิดไม่อาจกระทบกระทั่งถึงสิทธิของนายชื่นดังกล่าวแล้ว  นายชื่นจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนการยึดที่ดินนั้น  ตามมาตรา  287  แม้นายชื่นมิใช่คู่ความในคดีก็ตาม  (ฎ. 3417/2524  ฎ. 33/2536)

ส่วนคำคัดค้านของนายชอบที่ว่า  นายชื่นมิได้ยื่นคำร้องก่อนวันขายทอดตลาดนั้น  เห็นว่า  เมื่อสิทธิของนายชื่นเป็นสิทธิที่อาจบังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้  ดังนั้นตราบใดที่เจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ขายทอดตลาด  นายชื่นย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลถอนการยึดได้ก่อนการขายทอดตลาด  มิใช่ว่าจะต้องยื่นคำร้องก่อนวันขายทอดตลาด

สรุป  คำคัดค้านของนายชอบฟังไม่ขึ้น  และศาลจะต้องมีคำสั่งถอนการยึดที่ดินของนายชิด

Advertisement