การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องหย่าและขอแบ่งสินสมรสจากจำเลย  30  ล้านบาท  จำเลยให้การต่อสู้คดีตามกฎหมาย  ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์  โจทก์อุทธรณ์ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย  ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องอุทธรณ์เห็นว่าไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตามมาตรา  230  แต่โจทก์ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ  ก้าวร้าว  เสียดสีศาล  ศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ส่งคำฟ้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ตามมาตรา  232  ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

มาตรา  232  เมื่อได้รับอุทธรณ์แล้ว  ให้ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้  ถ้าศาลปฏิเสธไม่ส่ง  ให้ศาลแสดงเหตุที่ไม่ส่งนั้นไว้ในคำสั่งทุกเรื่องไป  ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายได้ยื่นอุทธรณ์  ศาลจะวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งสองฉบับนั้นในคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้

วินิจฉัย

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว  ย่อมเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลผู้ได้รับผลกระทบจากผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งที่กฎหมายนี้มิได้บัญญัติให้เป็นที่สุด  หรือห้ามอุทธรณ์หรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์

กรณีตามอุทธรณ์  การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า  โจทก์ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ  ก้าวร้าว  เสียดสีศาล  ศาลชั้นต้นจึงปฏิเสธไม่ส่งฟ้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์  ตามมาตรา  232  ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  เมื่อศาลชั้นต้น  มีคำสั่งตามมาตรา  232  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้หรือไม่  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา  232  แล้ว  ไม่ได้บัญญัติให้คำสั่งตามมาตรานี้เป็นที่สุด  หรือห้ามอุทธรณ์หรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์แต่ประการใด  ดังนั้น  โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีจึงชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นได้  ตามมาตรา  223

สรุป  โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นได้

ข้อ  2  โจทก์นำสัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้เป็นประกันค่าตอบแทนที่โจทก์จะช่วยวิ่งเต้นให้ลูกชายจำเลยไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหารมาฟ้องขอศาลบังคับจำเลยชำระหนี้  3  แสนบาท  จำเลยไม่สู้คดีแต่ขอประนีประนอมยอมความโดยชำระในวันยอมความ  100,000  บาท  ที่เหลือจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน  2  เดือน  นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว  หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว  1  เดือน  จำเลยจึงทราบจากผู้รู้ว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องนั้นผิดกฎหมาย  ไม่จำต้องรับผิดชอบทั้งแนะนำให้จำเลยอุทธรณ์ขอศาลอุทธรณ์เพิกถอนข้อตกลงที่ทำไว้ได้  ดังนี้  คำแนะนำนี้ถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  138  ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น  และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้  แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้  เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

 (2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

ถ้าคู่ความตกลงกันเพียงแต่ให้เสนอคดีต่ออนุญาโตตุลาการ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการมาใช้บังคับ

มาตรา  229  การอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาหรือคำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  และผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย  ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นสำเนาอุทธรณ์ต่อศาล  เพื่อส่งให้แก่จำเลยอุทธรณ์  (คือฝ่ายโจทก์หรือจำเลยความเดิมซึ่งเป็นฝ่ายที่มิได้อุทธรณ์ความนั้น)  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  235  และ  236

วินิจฉัย

ในคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความแล้ว  จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้  เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นอย่างหนึ่งอย่างใด  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  138  วรรคสอง  กล่าวคือ

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

สัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญากู้ที่จำเลยทำไว้เป็นประกันค่าตอบแทนที่โจทก์ช่วยวิ่งเต้นให้ลูกชายจำเลยไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร อันถือว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยนั้นขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  เพราะการหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร  เป็นเรื่องกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและประโยชน์สาธารณะ  ดังนั้น  แม้ต่อมาคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้วก็ตาม  คำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวก็ถือว่าละเมิดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน  คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้นได้  ตามมาตรา  138(2)

แต่อย่างไรก็ดี  หากจำเลยประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านั้น  จำเลยก็ต้องอยู่ในบังคับที่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด  กล่าวคือ  คำฟ้องอุทธรณ์ตามกฎหมายกำหนดให้ยื่นภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง  ตามมาตรา 229  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  เวลานับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้ล่วงเลย  1  เดือนแล้ว  จำเลยจึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์เพิกถอนข้อตกลงที่ทำไว้  คำแนะนำดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง

สรุป  จำเลยหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์เพิกถอนข้อตกลงที่ทำไว้  คำแนะนำดังกล่าวไม่ถูกต้อง

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องขอศาลบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายรวม  2  แสนบาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์ ลายเซ็นชื่อในสัญญากู้ที่โจทก์อ้างมาในฟ้องนั้นไม่ใช่ลายเซ็นของจำเลย  แต่เป็นลายเซ็นปลอมที่โจทก์กับพวกจัดทำขึ้น  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโจทก์เกรงว่าจำเลยจะยักยอก  จ่ายโอนทรัพย์สิน  หากโจทก์ชนะคดีก็จะไม่เหลือทรัพย์สินใดๆของจำเลยที่โจทก์จะบังคับเอาชำระหนี้ได้  โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอศาลยึดรถยนต์กระบะของจำเลย  1  คัน  ไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์จะร้องขอยึดเช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  189  คดีมโนสาเร่  คือ

(1) คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกินสามแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

(2) คดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ  ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสามหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา  254  ในคดีอื่นๆ  นอกจากคดีมโนสาเร่  โจทก์ชอบที่จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ซึ่งคำขอฝ่ายเดียว  ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไปเพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองใดๆดังต่อไปนี้

(1) ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่พิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยทั้งหมดหรือบางส่วนไว้ก่อนพิพากษา  รวมทั้งจำนวนเงินหรือทรัพย์สินของบุคคลภายนอกซึ่งถึงกำหนดชำระแก่จำเลย

วินิจฉัย

การขอคุ้มครองประโยชน์ตามมาตรา  254  ใช้กับคดีแพ่งทุกประเภท  เว้นแต่คดีต่อไปนี้จะใช้มาตรา  254  ไม่ได้  คือ

1       คดีมโนสาเร่  กล่าวคือ  คดีที่โจทก์จะยื่นคำขอ  ต้องไม่ใช่คดีมโนสาเร่  ความในมาตรา  254  ห้ามไว้ชัดว่า  ในคดีอื่นๆนอกจากคดีมโนสาเร่  ฯลฯ  ดังนั้น  หากเป็นคดีมโนสาเร่ย่อมต้องห้ามมิให้นำบทบัญญัติมาตรา  254  มาใช้บังคับ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติลักษณะของคดีมโนสาเร่ไว้ในมาตรา  189  คือ

1)    คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ไม่เกิน  300,000  บาท  หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

2)    คดีโดยสภาพแห่งคำฟ้องไม่อาจขอได้  กล่าวคือ  คดีโดยสภาพแห่งคำฟ้องไม่อาจขอได้แท้จริงแล้วไม่มีกำหนดไว้ในมาตรา  254  แต่ประการใด  มาตรา  254  กำหนดแต่เพียงห้ามคดีมโนสาเร่เท่านั้นแต่คดีโดยสภาพแห่งคำฟ้องไม่อาจขอได้เป็นการพิจารณาจากคำฟ้องที่ไม่อาจมีคำขอตามมาตรา  254  ได้เลย  ถ้ายื่นคำขอไป  ศาลก็คงมีคำสั่งคุ้มครองใดๆไม่ได้  เช่น  ฟ้องหย่า  ฟ้องเพิกถอนการสมรส  ฟ้องขอให้รับรองบุตร  ดังนี้  โดยสภาพแห่งคำฟ้องอยู่ในลักษณะไม่อาจขอให้ยึดหรืออายัดได้เลย

กาที่โจทก์ฟ้องขอศาลบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายรวม  2  แสนบาท  ในระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  โจทก์เกรงว่าจำเลยจะยักย้ายโอนทรัพย์สิน  หากโจทก์ชนะคดีก็จะไม่เหลือทรัพย์สินใดๆ  ของจำเลยที่โจทก์จะบังคับชำระหนี้ได้  โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอศาลยึดรถยนต์ของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา  คำร้องของโจทก์ดังกล่าวถือเป็นคำขอคุ้มครองประโยชน์  ตามมาตรา 254(1)  ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  โจทก์จะร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งยึดเช่นว่านั้นได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีที่โจทก์นำมาฟ้องร้องจำเลยเป็นคดีมโนสาเร่  ตามมาตรา  189(1)  เพราะทุนทรัพย์ในคดีไม่เกิน  3  แสนบาท  ดังนั้น  แม้รถยนต์ที่โจทก์จะขอยึดนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยก็ตาม  โจทก์ก็จะร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งยึดไม่ได้  เพราะมาตรา  254  บัญญัติห้ามมิให้นำมาใช้บังคับกับคดีมโนสาเร่

สรุป  โจทก์จะร้องขอต่อศาลให้ยึดรถยนต์ของจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  4  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์  ถ้าไม่คืนหรือคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา  5  แสนบาท  คดีถึงที่สุด  ศาลออกคำบังคับ  โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ต่อมาจำเลยได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์  แต่รถยนต์อยู่ในสภาพเสียหายหนักใช้งานไม่ได้  ดังนี้โจทก์จะไม่ยอมรับรถยนต์คันดังกล่าวแต่เกี่ยงจะขอรับเป็นเงินตามคำบังคับโดยจำเลยไม่ยินยอมได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

วินิจฉัย

การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต้องดำเนินการบังคับคดีก่อนหลังตามลำดับที่ระบุไว้ในคำพิพากษา  หาใช่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดไม่  (ฎ. 5641/2540, ฎ. 788/2543) 

การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  ได้นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์  ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  ตามคำบังคับภายในกำหนดเวลาที่คำบังคับกำหนด  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับรถยนต์คันพิพาทไม่ได้  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  โจทก์จะเลือกวิธีเรียกร้องให้จำเลยชำระราคารถยนต์แก่โจทก์  โดยจำเลยไม่ยินยอมด้วยไม่ได้  เพราะการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต้องดำเนินการบังคับก่อนหลังตามลำดับที่ระบุไว้ในคำพิพากษา  เมื่อการบังคับคดีในลำดับแรก  คือ  การคืนรถยนต์ยังอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะทำได้  โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเลือกการบังคับคดีในลำดับหลัง  แม้รถยนต์นั้นจะมีสภาพเสียหายไม่สามารถใช้การได้ก็ตาม  โจทก์เสียหายอย่างไรก็ชอบที่จะไปเรียกร้องเอาจากจำเลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  ดังนั้น  โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ราคาเป็นเงิน  500,000  บาท  แทนการรับมอบรถยนต์โดยจำเลยไม่ตกลงยินยอมด้วยไม่ได้

สรุป  โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ราคาเป็นเงิน  500,000  บาท  แทนการรับมอบรถยนต์โดยจำเลยไม่ตกลงยินยอมด้วยไม่ได้

Advertisement