การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายเอกใช้อาวุธปืนไม่มีทะเบียนยิงนายโทถึงแก่ความตาย ระหว่างที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ นางทิพย์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโทยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเอกฐานฆ่านายโท คดีอยู่ระหว่างศาลไต่สวนมูลฟ้อง
เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเอกฐานฆ่านายโทและฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ส่วนนางทิพย์เมื่อทราบว่าพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเอกแล้ว จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาต
นายเทพบิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายโททราบเรื่อง จึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายเทพว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 36 วรรคแรก คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาอีกหาได้ไม่ …
วินิจฉัย
ผู้ที่จะขอเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้นั้น จะต้องเป็นผู้เสียหาย ตามนัยมาตรา 2(4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายก็ได้ และในกรณีที่ผู้เสียหายคนเดียวมีผู้จัดการแทน ตามมาตรา 5 หลายคน ผู้จัดการแทนผู้เสียหายบางคนได้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ผู้จัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้
ศาลจะสั่งคำร้องของนายเทพอย่างไร เห็นว่า ในกรณีมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนนั้น ในฐานความผิดดังกล่าว ถือเป็นความผิดอาญาต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายเอกชนไม่สามารถเป็นผู้เสียหายได้ ดังนั้น ทั้งนายโทและนายเทพ ต่างไม่ใช่ผู้เสียหายในฐานความผิดดังกล่าว จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้ตามมาตรา 30 (ฎ. 1231/2533)
ส่วนความผิดฐานฆ่านายโทนั้น เห็นว่า แม้ว่านายเทพจะเป็นบุพการีที่มีอำนาจจัดการแทนนายโทตามมาตรา 5(2) ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า นางทิพย์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโท ได้ใช้สิทธิจัดการแทนนายโทไปแล้ว ด้วยการฟ้องคดีและถอนฟ้องไป ซึ่งผลของการถอนฟ้องดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีกตามมาตรา 36 วรรคแรก ผลในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นมีผลถึงนายเทพด้วย เมื่อได้ความว่านายเทพไม่สามารถยื่นฟ้องได้ ก็ทำให้นายเทพขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้เช่นเดียวกัน (ฎ. 1790/2492)
สรุป ศาลต้องสั่งยกคำร้องนายเทพ