LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  339  โดยบรรยายฟ้องระบุเวลาที่เกิดเหตุว่า  เหตุเกิดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์  2551  จำเลยให้การรับสารภาพผิดตามฟ้อง  ศาลสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว  ผู้เสียหายก็เบิกความต่อศาลว่า  เหตุเกิดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์  2551  เช่นกัน  และพยานหลักฐานที่สืบประกอบฟังได้ว่า จำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายจริงตามฟ้องให้แยกวินิจฉัยตามประเด็น  ดังนี้

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง  ได้หรือไม่

(ข)  หากศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์  โจทก์จะนำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

มาตรา  158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ  และมี

(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด  ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ  อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  หากโจทก์ระบุแต่เพียงเดือนและปีที่ความผิดเกิด  หรือบรรยายฟ้องเพียงว่า  เมื่อต้นเดือน………  โดยไม่ได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำผิดให้แน่นอน  ถือเป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ไม่ชัดเจน  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ  ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่  เห็นว่า  กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษฐานชิงทรัพย์  ป.อ.  มาตรา  339  โดยบรรยายฟ้องและนำสืบเกี่ยวกับเวลาที่เกิดเหตุเพียงว่าเหตุเกิดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์  2551  แต่มิได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำความผิดให้แน่นอน  เป็นการบรรยายฟ้องและนำสืบเรื่องเวลาที่จำเลยกระทำความผิดไม่ชัดเจน  แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้องก็ไม่อาจรับฟังได้ว่า  จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้  หากแต่ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์  (ฎ. 848/2545)

(ข)  กรณีที่ศาลยกฟ้องโจทก์เพราะฟ้องโจทก์มิได้ระบุวันที่หรือเวลาที่กระทำความผิดให้แน่นอนเช่นนี้  ถือว่าเป็นฟ้องซึ่งมิได้ระบุเวลาที่จำเลยกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  158  (5)  คำพิพากษายกฟ้องเช่นนี้  มีผลเท่ากับศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาของความผิดแล้วว่า  คดีนี้ไม่มีเวลาที่กระทำความผิด  ถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป  ตามมาตรา  39(4)  โจทก์จึงนำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้  (ฎ. 1983/2499  ฎ. 1576/2495  และ  ฎ  682/2502)

สรุป 

(ก)  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง  จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้

(ข)  โจทก์จะนำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้  มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ไม่ได้

 

 ข้อ  2  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินโฉนดเลขที่  123  ของนายมด  เพื่อถือเอาการครอบครองที่ดินนั้นเป็นของตน  ขอให้ลงโทษ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  362  หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า

(ก)  จำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินโฉนดเลขที่  123  จริงตามฟ้อง  แต่ที่ดินแปลงนั้นมิใช่เป็นของนายมด  หากแต่เป็นของนายปลวก  กรณีหนึ่ง

(ข)  ที่ดินโฉนดเลขที่  123  ตามฟ้อง  เป็นของนายมดจริง  แต่จำเลยมิได้เข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินแปลงดังกล่าว  จำเลยเพียงแต่ลักเก็บเอาผลมะม่วงที่ปลูกอยู่ในที่ดินนั้นไปโดยสุจริต  อีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  หากไม่ปรากฏแก่ศาลว่า  ข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้น  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

มาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้หรือไม่  เห็นว่า  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่  123  เพื่อถือการครอบครองที่ดินนั้นเป็นของตนเท่ากับเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของนายมด  การที่ทางพิจารณาได้ความว่า  จำเลยบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวจริง  แต่ที่ดินดังกล่าวนั้นมิใช่เป็นของนายมด  หากแต่เป็นของนายปลวกนั้น  เป็นการแตกต่างเพียงเรื่องตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกบุกรุกเท่านั้น  มิใช่แตกต่างในตัวอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกบุกรุกอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่เป็นวัตถุแห่งการกระทำที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง  จึงมิใช่เป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญเมื่อไม่ปรากฏแก่ศาลว่า  ข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  กรณีย่อมเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ที่ศาลมีอำนาจลงโทษตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้  (ฎ. 1876/2528  ฎ. 2157/2518  และ  ฎ. 913/2513)

(ข)  ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า  จำเลยบุกรุกที่ดินของนายมด  แต่ทางพิจารณาได้ความว่า  จำเลยลักทรัพย์ของนายมดนั้น  ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญแม้จำเลยจะมิได้หลงต่อสู้  ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสีย  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นไม่ได้  (ฎ. 82182502)

สรุป

(ก)  ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้

(ข)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นไม่ได้

 

ข้อ  3  ในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคนหนึ่งว่ากระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร  จำเลยให้การในแบบฟอร์มของศาลชั้นต้นแห่งหนึ่งว่า  ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องนั้น  ในวันนัดสืบพยาน  โจทก์แถลงต่อศาลว่า  จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว  โจทก์ไม่ติดใจสืบพยานจึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และนัดฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน

จงวินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่  ในข้อหาอะไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

คำรับสารภาพที่ไม่ชัดเจนว่าจำเลยรับสารภาพว่ากระทำผิดฐานใด  ไม่อาจลงโทษจำเลยในกรณีเช่นนี้ต้องเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบว่าจำเลยกระทำผิดฐานใด  (ฎ. 6742/2544  ฎ. 758/2534)

ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยหรือไม่  เห็นว่า  การที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร  แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว  เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกัน  จะลงโทษจำเลยทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้  คำให้การของจำเลยที่ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้นย่อมไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานใด  ตามมาตรา  176  วรรคแรก  แม้จะเป็นการให้การในแบบพิมพ์สำหรับคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพของศาลชั้นต้นก็ตาม  ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งของจำเลย  เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้  (ฎ. 2046/2538)

สรุป  ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวจะพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  4  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  80,   288  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ความว่า  จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297 

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลไม่สาหัส พิพากษาลงโทษฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  295

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  มาตรา  297  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลสาหัส  พิพากษาลงโทษฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตราสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297

ดังนี้  คำพิพากษาศาลฎีกา  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพระเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

มาตรา  220  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

มาตรา  225  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา  และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม  เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง

วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ.  มาตรา  297  ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าแล้ว

เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  และศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่า  จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลไม่สาหัส  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  295  ก็ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าแล้วเช่นเดียวกัน

เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องฐานพยายามฆ่าแล้ว  ความผิดฐานพยายามฆ่าจึงต้องห้ามฎีกา  ตามมาตรา  220  แต่ตามข้อเท็จจริง  โจทก์ฎีกาขอให้ศาลลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ.  มาตรา  297  ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น  มิได้ฎีกาในความผิดฐานพยายามฆ่าอีก  โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้

อีกทั้งการที่โจทก์ฎีกาดังกล่าว  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาในทำนองขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  ตามมาตรา  212  ประกอบมาตรา  225  การที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ.  มาตรา  297  จึงชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 677/2510 (ประชุมใหญ่))

สรุป  คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางสมใจราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง  ขอให้ศาลลงโทษนายเอกฐานวิ่งราวทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  นางสมใจยื่นอุทธรณ์  หากปรากฏว่า

(ก)  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง  จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  กรณีหนึ่ง

(ข)  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า  คดีมีมูล  ประทับฟ้องอีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว  นายเอกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  165  วรรคสาม  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป  กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ  จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้  หรือจำเลยจะไม่มา  แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้  ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย  และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

นางสมใจ  ราษฎร  เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญา  ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  พิพากษายกฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้อง  นายเอกจึงยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย  จึงไม่เป็นคู่ความในคดี  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  นายเอกซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้  ตามมาตรา  165  วรรคสาม  (ฎ. 371/2530, ฎ. 3777/2527)

(ข)  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องในกรณีนี้  แม้ได้ความว่า  นายเอกผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว  นายเอกจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน  ตามมาตรา  170  วรรคแรก  (ฎ. 1895/2519)

สรุป 

(ก)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

(ข)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์คดีอาญา  ระหว่างการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ทนายโจทก์จึงได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้องหรือมิฉะนั้นก็อนุญาตให้ทนายโจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้องแทน

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  คำแถลงด้วยวาจาของโจทก์ดังกล่าวชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ  และมี

(7) ลายมือโจทก์  ผู้เรียง  ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

มาตรา  163  เมื่อมีเหตุอันควร  โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้  เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้  และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

วินิจฉัย

กรณีทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องต่อศาลแล้วนั้น  โจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้องเมื่อทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  จึงเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องซึ่งตาม  มาตรา  163  วรรคแรก  บัญญัติให้โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาล  โดยอ้างเหตุอันสมควรในระหว่างการพิจารณาก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  จะร้องขอด้วยวาจาไม่ได้  (ฎ. 620/2483, ฎ. 300/2507)

ดังนั้น  การที่ทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อท้ายคำฟ้อง  จึงไม่ชอบด้วย  มาตรา  163  วรรคแรก

กรณีทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาขออนุญาตให้ทนายโจทก์ลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์

ตามมาตรา  158(7)  บัญญัติว่า  คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีลายมือชื่อโจทก์ในท้ายคำฟ้อง  ทนายโจทก์จะลงชื่อในท้ายคำฟ้องแทนโจทก์ไม่ได้  แม้โจทก์ระบุไว้ในใบแต่งทนายให้ทนายโจทก์มีอำนาจลงชื่อในท้ายคำฟ้องแทนโจทก์ก็ตาม  (ฎ. 607/2514)  การที่ทนายโจทก์จะลงชื่อในท้ายคำฟ้องแทนโจทก์ได้  จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายโจทก์เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทน  นอกเหนือไปจากการแต่งตั้งให้เป็นทนายความดำเนินคดี (ฎ. 938/2530)

ดังนั้น  การที่ทนายโจทก์แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้ทนายโจทก์ลงชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์จึงไม่ชอบด้วยมาตรา   158(7)

สรุป  คำแถลงด้วยวาจาของทนายโจทก์ทั้งสองกรณีดังกล่าว  ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินโฉนดเลขที่  123  ของนายมด  เพื่อถือเอาการครอบครองที่ดินนั้นเป็นของตน  ขอให้ลงโทษ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  352  หากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า

(ก)  จำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินโฉนดเลขที่  123  จริงตามฟ้อง  แต่ที่ดินแปลงนั้นมิใช่เป็นของนายมด  หากแต่เป็นของนายปลวก  กรณีหนึ่ง

(ข)  ที่ดินโฉนดเลขที่  123  ตามฟ้อง  เป็นของนายมดจริง  แต่จำเลยมิได้เข้าไปปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินแปลงดังกล่าว  จำเลยเพียงแต่ลักเก็บเอาผลมะม่วงที่ปลูกอยู่ในที่ดินนั้นไปโดยทุจริตอีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  หากไม่ปรากฏแก่ศาลว่า  ข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  ให้วินิจฉัยว่าศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้น  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

(ก)  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าไปปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่  123  เพื่อถือการครอบครองที่ดินนั้นเป็นของตนเท่ากับเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของนายมด  การที่ทางพิจารณาได้ความว่า  จำเลยบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวจริง  แต่ที่ดินดังกล่าวนั้นมิใช่เป็นของนายมด  หากแต่เป็นของนายปลวกนั้น  เป็นการแตกต่างเพียงเรื่องตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกบุกรุกเท่านั้น  มิใช่แตกต่างกันในตัวอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกบุกรุกอันเป็นองค์ประกอบความผิดที่เป็นวัตถุแห่งการกระทำที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง  จึงมิใช่เป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญ  เมื่อไม่ปรากฏแก่ศาลว่า  ข้อที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้น  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  กรณีย่อมเข้าหลักเกณฑ์ตาม  มาตรา  192  วรรคสอง  ที่ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้  (ฎ. 1876/2528, ฎ. 2157/2518 และ  ฎ. 913/2513)

(ข)  การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า  จำเลยบุกรุกที่ดินของนายมด  แต่ทางพิจารณาได้ความว่า  จำเลยลักทรัพย์ของนายมดนั้น  ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ  แม้จำเลยจะมิได้หลงต่อสู้  ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องของโจทก์เสียตามมาตรา  192  วรรคสอง  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นไม่ได้  (ฎ. 821/2502)

สรุป 

(ก)  ศาลจะพิจารณาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้

(ข)  ศาลต้องพิพากษายกฟ้องไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลย  ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ

 

ข้อ  4  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยพยายามฆ่า  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  80, 288  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ความว่า  จำเลยไม่มีเจตนาฆ่า  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลไม่สาหัส  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  295

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลสาหัสพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297

ดังนี้  คำพิพากษาฎีกาดังกล่าว  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

มาตรา  220  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

มาตรา  225  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา  และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม  เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง

วินิจฉัย

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัส  ตาม  ป.อ. มาตรา  297  ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าแล้ว

เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่า  และศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าและบาดแผลไม่สาหัส  พิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  295  ก็ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ฐานพยายามฆ่าแล้วเช่นเดียวกัน

เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ฐานพยายามฆ่าแล้ว  ความผิดฐานพยายามฆ่าจึงต้องห้ามฎีกา  ตามมาตรา  220 คดีจึงไม่อาจขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาได้อีก  ดังนั้นการที่โจทก์ยังฎีกาขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าอีก  แม้โดยหลักศาลฎีกาจะมีอำนาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษเป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  297  ได้  เพราะถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ  แต่เมื่อความผิดฐานพยายามฆ่าซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  ต้องห้ามตามมาตรา  220  เสียแล้ว  จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นในข้อหาทำร้ายร่างกายสาหัส  ตาม  ป.อ. มาตรา  297  ได้  ศาลฎีกาต้องพิพากษายกฎีกาของโจทก์  จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายได้รับอันตรายสาหัสตาม  ป.อ.  มาตรา  297  ไม่ได้  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  212  ประกอบมาตรา  225  (ฎ. 525/2526  (ประชุมใหญ่))

สรุป  คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว  จึงมิชอบด้วยกฎหมาย

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 ซ่อม 1/2551

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ
ข้อ. 1       ธนาคารสยาม จำกัด ฟ้องขอให้ลงโทษนายทรงสิทธิ์จำเลย ฐานปลอมตั๋วเงิน ใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265,268 และ 341 (เฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 เป็นความผิดต่อส่วนตัว)  โดยฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 9 กรกฎาคม 2551 เวลา 9.00 น. โจทก์ทราบวันนัดแล้ว เจ้าพนักงาน

ศาลปิดหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องที่บ้านจำเลย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2551ซึ่งโจทก์ได้ทราบวันปิดหมายดังกล่าวแล้ว ถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้องทนายจำเลยไปศาล ทนายโจทก์เห็นว่าการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยยังไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์และทนายโจทก์จึงไม่ไปศาล ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง ต่อมาวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายทรงสิทธิ์ในความผิดเรื่องเดียวกันและข้อหาเดียวกันต่อศาลอีก ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องทุกฐานความผิด

ดังนี้ คำพิพากษายกฟ้องและคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึ่งมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้ในคดีที่ศาลยกฟ้องดั่งกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีกเว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

วินิจฉัย

 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่าถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดให้ศาลยกฟ้องเสีย เมื่อศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่9 กรกฎาคม 2551 เวลา 9.00 น.และโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องไปศาลตามกำหนดนัด แม้การส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย โดยวิธีปิดหมายยังไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมาย ก็หาทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องไปศาลตามกำหนดนัดไม่ เมื่อโจทก์และทนายโจทก์ไม่ไปศาล การที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว (เทียบคำพิพากาษาฎีกาที่  2085/2547)

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่าในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้วจะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีที่ราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว การที่ธนาคารสยาม จำกัด ซึ่งเป็นราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องนายทรงสิทธิ์เป็นจำเลยในฐานความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265,268 และ 341 และศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดนัดนั้น

สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และ 268 ไม่ใช่เป็นความผิดต่อส่วนตัวพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องนายทรงสิทธิ์ได้อีก ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องสองฐานนี้ จึงไม่ชอบ

ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนายทรงสิทธิ์อีก ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องในความผิดฐานนี้จึงชอบแล้ว

ดังนั้นคำพิพากษายกฟ้องชอบด้วยกฎหมายและคำสั่งไม่รับฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 และ 268 ไม่ชอบและคำสั่งไม่รับฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ข้อ. 2       นายสมัยฟ้องขอให้ลงโทษนายทนงจำเลย ฐานลักทรัพย์ในเคหสถานหรือรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335 (8),357 โดยฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ

                ในวันนัดสืบพยานโจทก์ นายทนงจำเลยแถลงต่อศาลขอให้การรับสารภาพ ศาลบันทึกคำให้การจำเลยว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ในวันเดียวกันนั้นนายทนงจำเลยยื่นคำให้การมีข้อความว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 โจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยาน

                ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

                หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ผู้ใด… ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท

                ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 “ผู้ใดลักทรัพย์

                (8) ในเคหสถาน… ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

                ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 “ผู้ใด…ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

คำให้การของนายทนง (จำเลย) ครั้งแรกที่ศาลบันทึกไว้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ แม้จะไม่ได้ความชัดแจ้งว่า จำเลยรับสารภาพในความผิดข้อหาใดก็ตามแต่เมื่อต่อมาจำเลยยื่นคำให้การอีกฉบับหนึ่งมีความว่า จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ศาลจึงฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 และคำให้การดังกล่าวของจำเลยมีผลเท่ากับจำเลยปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (8) และ 357 เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานเท่ากับโจทก์ไม่ติดใจที่จะให้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (8) และ 357 อีกต่อไป และเนื่องจากความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 มิใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 176 วรรคแรก (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4129/2543)

ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้

   

            ข้อ 3.       โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่หนึ่ง จำเลยที่สองและจำเลยที่สามร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 83 (ฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ) แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วนำมาขายให้จำเลยที่สามโดยที่จำเลยที่สามรับซื้อทั้งที่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด อันเป็นความผิดฐานรับของโจร โดยจำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้

                ดังนี้ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้อง ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด เช่นเกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์

ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก รับของโจร และทำให้เสียทรัพย์ หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่

พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

                ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดั่งกล่าวในฟ้อง และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ

                ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้

                ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

                วินิจฉัย  กรณีจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สอง ความผิดฐานปล้นทรัพย์รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไป เอาไว้ด้วยกัน ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองร่วมกันชิงทรัพย์ศาลก็สามารถพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหก

กรณีจำเลยที่สามแม้ว่าความผิดฐานปล้นทรัพย์จะมิได้บัญญัติอยู่ในมาตรา 192 วรรคสาม เช่นเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรก็ตาม แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็คือ ความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปนั่นเอง เมื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร กฎหมายมิให้ถือว่าแตกต่างกันในสาระสำคัญ การต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์กับรับของโจร ย่อมเข้าเกณฑ์มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญเช่นกัน ทั้งมิให้ถือว่าเป็นเรื่องเกินคำขอ หรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษด้วย เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไป เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่สามมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่สามฐานรับของโจรตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองประกอบวรรคสาม

ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองในความผิดฐานชิงทรัพย์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหกและสามารถลงโทษจำเลยที่สามในความผิดฐานรับของโจร ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองประกอบวรรคสาม

 

                ข้อ 4.       พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก เดือน  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด 1 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ

ดังนี้ จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปีหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

                ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปีไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

                ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย 

การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องเป็นการฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

                การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก เดือน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด 1 ปี

และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ลงโทษจำคุก 3 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นโทษจำคุก  จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  ไม่ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218  แต่ก็ต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ต่อไป

การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี  หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ป.วิ.อาญา มาตรา 219  ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่มีข้อยกเว้นให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

ตามปัญหา  แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการลงโทษจำคุก  ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำคุกจำเลย 3 เดือน กรณีนี้ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย 

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ ตาม ป.วิ.อาญา      มาตรา 219

ดังนั้น  จำเลยจึงฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ
ข้อ 1.       โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534  มาตรา 4 โดยบรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยว่า  จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้และได้แนบสำเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้องด้วย

ให้วินิจฉัยตามประเด็น ดังนี้

(ก)   คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(ข)   ศาลจะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้หรือไม่

(ค)   โจทก์จะขอแก้ฟ้องให้ถูกต้องตามกฎหมายได้หรือไม่

(ง)   หากโจทก์มิได้ขอแก้ฟ้องให้ถูกต้องและศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์แล้ว  โจทก์

จะนำคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่  โดยบรรยายฟ้องให้ถูกต้องได้หรือไม่

ธงคำตอบ

(ก)  การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิด มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญา     รับสภาพหนี้และแนบสำเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเพราะการรับสภาพหนี้มิได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/14(1) เท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5) ฎ.307/2539

(ข)  แม้ ป.วิ.อาญา มาตรา 161 จะบัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง ก็ตาม แต่คำฟ้องที่โจทก์บรรยายมาไม่ครบองค์ประกอบความผิดนั้น เป็นฟ้องที่ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยศาลไม่อาจสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1486/2530, 1459/2527) ( 5 คะแนน)(ค)  เมื่อฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่บรรยายมาไม่ครบองค์ประกอบความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องมาแต่ต้นแล้ว โจทก์จะมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้ถูกต้องขึ้นหาได้ไม่ การร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 164 นั้น ฟ้องของโจทก์จะต้องเป็นฟ้องที่บรรยายมาครบองค์ประกอบของความผิดมาแต่ต้นแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1062/2504) การที่โจทก์จะมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในภายหลังเพื่อให้ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ขึ้น อันเป็นการกระทำให้จำเลยเสียเปรียบ ย่อมไม่อาจกระทำได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2006/2541) (5 คะแนน)

(ง)  การที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะฟ้องโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดนั้น ถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) หากโจทก์นำคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ ย่อมเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่อาจฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่โดยบรรยายฟ้องให้ถูกต้องได้อีก (คำพิพากษาฎีกาที่ 6770/2546) (5 คะแนน)

 

ข้อ 2.       พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 1 มกราคม 2551  เวลากลางวัน จำเลยได้ลักเอารถจักรยานยนต์ของนายศักดิ์  แสนดี ผู้เสียหายไปโดยทุจริต  และก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 123/2551  ของศาลนี้  และศาลให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี  จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในกำหนดเวลาที่ศาลรอการลงโทษ  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (1) และบวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 123/2551 ที่ศาลรอการลงโทษไว้เข้ากับโทษในคดีนี้  ในวันนัดพิจารณา  จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน

ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาไปโดยไม่สืบพยานได้หรือไม่  และจะพิพากษาลงโทษจำเลยกับบวกโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่  อย่างไร

หมายเหตุ   ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334   มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท และมาตรา 335 (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท

ธงคำตอบ

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 335(1) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท จึงมิใช่คดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือสถานที่หนักกว่านั้นซึ่งศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ได้ 

แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องเสมอไป ศาลจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามฟ้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ คำรับสารภาพของจำเลยที่ว่า จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดเจนว่าจำเลยได้ลักทรัพย์ตามฟ้องในเวลากลางวันหรือกลางคืน เพราะเหตุอาจเกิดในเวลากลางวันก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (คำพิพากษาฎีกาที่ 4537/2548 และ 4790/2550) และคำให้การของจำเลยที่รับสารภาพตามฟ้อง ย่อมถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องที่จำเลยเคยต้องโทษจำคุกในอีกคดีหนึ่งที่ศาลรอการลงโทษไว้ตามฟ้องโจทก์ด้วย ศาลชอบที่จะให้บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้คดีก่อนตามฟ้องได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 5248/2546 (ประชุมใหญ่)) (13 คะแนน)

ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และหากคดีนี้ศาลลงโทษจำเลยถึงจำคุก ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้บวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 123/2551 ที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้ด้วย (2 คะแนน)

 

ข้อ 3.       พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1  และที่ 2 ร่วมกันลักทรัพย์โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปโดยทุจริต  โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้  มิฉะนั้นจะยิงเสียให้ตาย  ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 83 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ  ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า เฉพาะจำเลยที่ 1  เพียงลำพังเท่านั้นที่ขู่เข็ญผู้เสียหายแต่มิได้ใช้อาวุธปืน     ขู่เข็ญ  จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าตนเองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ หากผู้เสียหายไม่ยอมส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ จะแกล้งยัดยาบ้าและจับกุมผู้เสียหายฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง อันเป็นความผิดฐานกรรโชก และเมื่อได้รับโทรศัพท์มือถือจากผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำโทรศัพท์มือถือนั้นไปขายให้แก่จำเลยที่ 2  ซึ่งรับซื้อไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาจากการกระทำความผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร  หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้นเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลงต่อสู้

                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1  และที่ 2  ได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

                โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ฐานชิงทรัพย์ แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานกรรโชกก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน    จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง         เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 2912/2550)

                โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์ แม้ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจรก็ตาม แต่การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องก็เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นการได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจทก์ตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 599/2532)

               

ข้อ 4   คดีอาญาเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341  ลงโทษปรับ 5,000 บาท  ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342  ลงโทษจำคุก 1 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

ดังนี้ โจทก์ จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ      ประมวลกฎหมายอาญา

                      มาตรา 341  ระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

                      มาตรา 342  ระวางโทษ  จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย   ป.วิ.อาญา มาตรา 218, 219 (5 คะแนน)

วินิจฉัย

 การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษปรับ 5,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ลงโทษจำคุก 1 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก เพราะแก้ไขทั้งบทและโทษ ทั้งยังใช้ดุลพินิจต่างกันในเรื่องรอการลงโทษด้วย กรณีนี้จึงไม่ห้ามคู่ความฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 จึงต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ต่อไป (5 คะแนน)

การที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษ จำคุกจำเลยไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท กรณีนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ห้ามโจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนจำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วยเท่านั้น

จากการวินิจฉัยข้างต้นสรุปได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก แต่รอการลงโทษไว้ ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เพราะเป็นการกำหนดโทษจำคุกโดยมีเงื่อนไขให้เป็นคุณแก่จำเลย อีกทั้งการที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนบทลงโทษจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาเป็นมาตรา 342 ก็ถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเท่านั้น (ฎีกา 4525/2533)

ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลย จึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ 

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอก  นายโท  และนายตรี  ต่างเป็นโจทก์ฟ้องนายเบี้ยวฐานฉ้อโกงคนละสำนวน  แต่ศาลสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสามสำนวนเป็นคดีเดียวกัน  ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  วันที่  5  กุมภาพันธ์  2552  ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามสำนวนและทนายความไม่มาศาล  แต่ทนายความของโทซึ่งเป็นโจทก์สำนวนที่  2  ได้มอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี  ศาลตรวจดูรายงานการส่งหมายนัดให้โจทก์ทั้งสามสำนวนแล้ว  ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ส่งหมายนัดให้โจทก์ทั้งสามในวันเดียวกันเมื่อวันที่  27  มกราคม  2552  โดยนายเอกและนายโทได้ลงชื่อรับหมายนัดด้วยตนเอง  สำหรับนายตรีเจ้าหน้าที่ได้ส่งหมายนัดให้โดยวิธีปิดหมาย  แต่ปรากฏว่าศาลได้มีคำสั่งให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสามสำนวน

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลที่ให้ยกฟ้องทั้งสามสำนวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  166  วรรคแรก  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลที่ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  แม้ศาลจะมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีของนายเอก  นายโทและนายตรี  โจทก์ทั้ง

สามสำนวนเข้าด้วยกันก็ตาม  แต่ก็เป็นเพียงการรวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกในการพิจารณาพิพากษาคดีเท่านั้น  ดังนั้น การที่ศาลจะใช้อำนาจตามมาตรา  166  วรรคแรก  ยกฟ้องโจทก์ที่ไม่มาศาลตามกำหนดนัดได้นั้น  ศาลจึงอยู่ในบังคับที่จะต้องแยกพิจารณาเป็นรายสำนวนไป  (ฎ. 5461/2534)โดยหลักแล้ว  การยกฟ้องเพราะเหตุที่โจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดนั้น  ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ทราบนัดโดยชอบแล้วและโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุสมควร

คดีสำนวนแรกของนายเอก  เมื่อปรากฏว่านายเอกลงชื่อรับหมายนัดด้วยตนเอง  หมายนัดที่ส่งให้แก่นายเอกย่อมมีผลใช้ได้ทันทีในวันที่ส่งหมายนัด  คือ  ในวันที่  27  มกราคม  2552  ดังนั้น  การที่นายเอกไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องวันที่  5  กุมภาพันธ์  2552  กรณีจึงต้องถือว่านายเอกได้ทราบนัดของศาลโดยชอบแล้ว  เมื่อไม่มาศาลตามกำหนดนัด  คำสั่งศาลที่ให้ยกฟ้องของนายเอกโจทก์สำนวนแรกจึงชอบด้วยมาตรา  166  วรรคแรกแล้ว

คดีสำนวนที่สองของนายโท  แม้จะถือว่าการที่นายโทลงชื่อรับหมายนัดด้วยตนเองเป็นการทราบนัดของศาลโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นเดียวกันกับนายเอกก็ตาม  แต่คำว่า  โจทก์  ตามมาตรา  166   หมายความรวมถึงทั้งทนายโจทก์  ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และผู้รับมอบฉันทะจากโจทก์ให้มาเลื่อนคดีด้วย  ดังนั้น  แม้ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนายโทซึ่งทราบนัดของศาลโดยชอบแล้ว  จะไม่มาศาลตามกำหนดนัดก็ตาม  แต่เมื่อทนายความของนายโท  โจทก์สำนวนที่  2  ได้มองฉันทะให้เสมือนทนายความมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดี  กรณีจึงต้องถือว่าสำนวนคดีที่  2  ของนายโทนั้นมีโจทก์มาศาลตามกำหนดนัดแล้ว  การที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้องของนายโท  โจทก์สำนวนที่  2  จึงเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา  166  วรรคแรก  (ฎ.  1739/2528)

คดีสำนวนที่สามของนายตรี  กรณีที่ศาลจะยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด  ตามมาตรา  166  วรรคแรกได้นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ศาลได้กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องไว้และโจทก์ทราบกำหนดของศาลโดยชอบแล้วไม่มาศาล  ศาลจึงจะพิพากษายกฟ้องเสียได้  เมื่อปรากฏว่าหมายนัดที่เจ้าหน้าที่ส่งให้แก่นายตรีโดยวิธีปิดหมาย  เมื่อวันที่  27  มกราคม  2552  จะมีผลใช้ได้ในวันที่  11  กุมภาพันธ์  (15  วัน)  กรณีจึงถือว่าโจทก์สำนวนที่  3  ยังไม่ทราบกำหนดนัดของศาลโดยชอบ  จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา  166  วรรคแรก  ที่ศาลจะยกฟ้องนายตรี  โจทก์สำนวนที่  3  เสียได้  คำสั่งยกฟ้องโจทก์สำนวนที่  3  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 947/2533  และ   ฎ. 2178/2536)

สรุป  คำสั่งของศาลที่ให้ยกฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายเฉพาะคดีสำนวนที่หนึ่งของนายเอกเท่านั้น  ส่วนคำสั่งยกฟ้องคดีที่สองของนายโทและคดีที่สามของนายตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  นายโชติเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายเหี้ยมในข้อหาพยายามฆ่านายโชติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  288 , 80  ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนายโชติไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  อีก  2  เดือน  ต่อมา  พนักงานอัยการฟ้องนายเหี้ยมในข้อหาพยายามฆ่านายโชติ  ผู้เสียหายดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นอีก  นายเหี้ยมให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่า พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนายเหี้ยมในเรื่องเดียวกันนี้ที่นายโชติเป็นโจทก์ฟ้องศาลชั้นต้นสืบพยานของพนักงานอัยการโจทก์จนเสร็จแล้วนัดสืบพยานของนายเหี้ยมจำเลยครั้นถึงวันนัดสืบพยานจำเลย  นายเหี้ยมและทนายความมาศาล  ส่วนพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  จึงพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  181  ประกอบมาตรา  166

ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้คดีของนายเหี้ยมที่ว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะศาลชั้นต้นเคยพิพากษายกฟ้องนายเหี้ยมในเรื่องเดียวกันนี้ที่นายโชติเป็นโจทก์ฟ้องนั้นฟังขึ้นหรือไม่  และคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องเพราะพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลชอบหรือไม่ 

ธงคำตอบ

มาตรา  166  วรรคแรกและวรรคสาม  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

มาตรา  181  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา  139  และ  166  มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  ข้อต่อสู้คดีของนายเหี้ยมฟังขึ้นหรือไม่  เห็นว่า  คดีที่นายโชติเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายเหี้ยมในข้อหาพยายามฆ่า  ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้น  แม้ตามมาตรา  166  วรรคแรก  บัญญัติว่า  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้ก็ตาม  แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ได้บัญญัติต่อไปว่า  ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีอีก  เว้นแต่จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ความผิดฐานพยายามฆ่านายโชติมิใช่เป้นคดีความผิดต่อส่วนตัว  กรณีเช่นนี้พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนายเหี้ยมในเรื่องเดียวกันนี้อีกได้  ข้อต่อสู้ของนายเหี้ยมที่ว่าพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนั้นฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องเพราะพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลชอบหรือไม่  เห็นว่า  แม้คดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเหี้ยม  พนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยานจำเลยก็ตาม  แต่พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติอย่างใดต่อศาลเนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันสืบพยานจำเลย  ซึ่งการที่พนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย  ก็คงเสียสิทธิในการซักค้านพยานจำเลยเท่านั้น  กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา  181  ประกอบมาตรา  166  ที่จะยกฟ่องเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้  คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องเพราะพนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาล  จึงไม่ชอบ  (ฎ. 1382/2492 ,

ฎ. 2891/2516)

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายเหี้ยมฟังไม่ขึ้น  และคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายมด  จึงใช้อาวุธปืนเล็งยิงตรงไปที่นายมด  กระสุนปืนถูกนายมดได้รับอันตรายสาหัส  ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่านายมดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  288,  80  หากทางพิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องว่า แท้จริงแล้วจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายปลวก  แต่กระสุนปืนที่จำเลยยิงไปที่นายปลวกนั้นไม่ถูกนายปลวกแต่พลาดไปถูกนายมดได้รับอันตรายสาหัส  และจำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่านายปลวกตาม  ป.อ. มาตรา  288,  80  บทหนึ่ง  และฐานพยายามฆ่านายมดโดยพลาดตาม  ป.อ.  มาตรา  288, 80  ประกอบมาตรา  60  อีกบทหนึ่ง  เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท  ให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่านายมดตามฟ้องเพียงบทเดียว

ให้วินิจฉัยว่า  คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสี่  ห้ามมิให้พิพากษา  หรือสั่ง  เกินคำขอ  หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่งที่กล่าวในฟ้องให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง  และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ

วินิจฉัย

คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายมด  แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าแท้จริงแล้วจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายปลวก  หากแต่ลูกกระสุนปืนที่จำเลยยิงไปที่นายปลวกนั้นไม่ถูกนายปลวก  แต่พลาดไปถูกนายมดได้รับอันตรายสาหัส  ซึ่งตาม  ป.อ. มาตรา  60  บัญญัติให้ถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าแก่นายมดผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้นก็ตาม  กรณีเช่นนี้  ก็ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา  (เจตนาโดยพลาด)  แตกต่างกับฟ้อง (เจตนาประสงค์ต่อผล) ในข้อสาระสำคัญ  และการที่จำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่  ย่อมถือได้ว่าคดีนี้จำเลยมิได้หลงต่อสู้  ดังนั้น  ศาลย่อมมีอำนาจที่พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่านายมดโดยพลาด  ตาม  ป.อ.มาตรา  288, 80  ประกอบมาตรา  60  ตามที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  (ฎ. 4166/2550)

ส่วนการที่ศาลปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่านายปลวกอีกบทหนึ่ง  ตามที่พิจารณาได้ความด้วยนั้น  เป็นเรื่องนอกฟ้องและนอกเหนือ คำขอบังคับของโจทก์  เพราะคดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยต่อนายปลวก  และอีกทั้งโจทก์มิได้มีคำขอใดๆ  ที่ขอให้ลงโทษจำเลยเกี่ยวกับการกระทำต่อนายปลวกด้วย  กรณีเช่นนี้ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา  (เจตนาประสงค์ต่อผลที่จะฆ่านายปลวก)  เช่นว่านี้  ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย  ดังนั้น  การที่ศาลปรับบทลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่านายปลวกตามที่พิจารณาได้ความว่าอีกบทหนึ่งด้วย  จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา  192  วรรคแรกและวรรคสี่

สรุป  คำพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  341  ลงโทษปรับ  5,000  บาท ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  342  ลงโทษจำคุก  1  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  1  ปี

ดังนี้  โจทก์  จำเลย  จะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  341  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา  342  ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี  หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

ธงคำตอบ

มาตรา  218  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย  และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี  หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่  ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา  219   ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย

โจทก์  จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  341  ลงโทษปรับ  5,000  บาท  และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด  ตาม  ป.อ.  มาตรา  342  ลงโทษจำคุก  1  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้  1  ปี  กรณีเช่นนี้ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  เพราะแก้ไขทั้งบทและโทษ  ทั้งยังใช้ดุลพินิจต่างกันในเรื่องรอการลงโทษด้วย  กรณีจึงไม่ห้ามคู่ความฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  218  จึงต้องพิจารณาตามมาตรา  219  ต่อไป

การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษ  จำคุกจำเลยไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  40,000  บาท  กรณีนี้  มาตรา  219 ห้ามโจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง  ส่วนจำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วยเท่านั้น

เมื่อได้ความว่า  ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับและอุทธรณ์ลงโทษจำคุก  แต่รอการลงโทษไว้  กรณีเช่นนี้ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เพราะเป็นการกำหนดโทษจำคุกโดยมีเงื่อนไขให้เป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่า  อีกทั้งการที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนบทลงโทษจาก  ป.อ. มาตรา  341  มาเป็นมาตรา  342  ก็ถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเท่านั้นหาทำให้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยแต่ประการใด  (ฎ. 4525/2533)  ดังนั้น  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้เช่นกัน

สรุป  ทั้งโจทก์และจำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้      

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ธนาคารสยาม  จำกัด  ฟ้องขอให้ลงโทษนายทรงสิทธิ์จำเลย  ฐานปลอมตั๋วเงิน  ใช้ตั๋วเงินปลอมและฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  265,  268  และ  341  (เฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  เป็นความผิดต่อส่วนตัว)  โดยฟ้องถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ  ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่  9  กรกฎาคม  2551  เวลา  9.00  น.  โจทก์ทราบวันนัดแล้ว  เจ้าพนักงานศาลปิดหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องและสำเนาคำฟ้องที่บ้านจำเลยเมื่อวันที่  5  กรกฎาคม  2551  ซึ่งโจทก์ได้ทราบวันปิดหมายดังกล่าวแล้ว  ถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้องทนายจำเลยไปศาล  ทนายโจทก์เห็นว่าการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยยังไม่มีผลตามกฎหมายโจทก์และทนายโจทก์จึงไม่ไปศาล  ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาในวันที่  29  กรกฎาคม  2551  พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายทรงสิทธิ์ในความผิดเรื่องเดียวกัน  และข้อหาเดียวกันต่อศาลอีก  ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องทุกฐานความผิด

ดังนี้  คำพิพากษายกฟ้องและคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  166  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน  นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น  โดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  คำพิพากษายกฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  166  วรรคแรก  ได้กำหนด

หน้าที่ของโจทก์ไว้ว่า  ในวันไต่สวนมูลฟ้องโจทก์จะต้องมาศาลตามกำหนดนัด  มิฉะนั้นก็ให้ศาลยกฟ้องเสีย  เว้นแต่จะมีเหตุสมควร  ศาลจึงจะเลื่อนคดี

ไป  จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วมิให้มีการประวิงคดี  จึงกำหนดมาตรการดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด  มิฉะนั้นย่อมเสี่ยงต่อการที่จะถูกยกฟ้อง  อันเป็นผลเสียต่อคดีของโจทก์เอง  ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า  ศาลมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้อง  ในวันที่  9  กรกฎาคม  พ.ศ. 2551  เวลา  9.00 น.  และโจทก์ก็ทราบนัดโดยชอบแล้ว  กรณีเช่นนี้  โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องไปศาลตามกำหนดนัด  แต่กลับไม่มีผู้ใดมาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดี  

ถึงแม้จะปรากกข้อเท็จจริงว่า  การส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายยังไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมายก็หาทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องไปศาลตามกำหนดนัดไม่  เมื่อโจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาล  การที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว  (ฎ. 2085/2547)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบหรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  166  วรรคสาม  บัญญัติว่า  ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว  ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวการที่ธนาคารสยาม  จำกัด  ซึ่งถือว่าเป็นราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทรงสิทธิ์เป็นจำเลยในความผิด  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  265  มาตรา  268  และมาตรา  341  และศาลยกฟ้อง  ปัญหาจึงมีว่า  เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายทรงสิทธิ์ในความผิดเรื่องเดียวกันและข้อหาเดียวกันต่อศาลอีก  ความผิดฐานใดจะฟ้องนายทรงสิทธิ์ได้อีก  ซึ่งแยกพิจารณาดังนี้

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  265  และมาตรา  268  ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องนายทรงสิทธิ์ได้อีก  ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้อง  2  ฐานนี้จึงไม่ชอบ

ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  341  เป็นความผิดต่อส่วนตัว  เมื่อศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  จึงตัดอำนาจพนักงานอัยการ  พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายทรงสิทธิ์อีก  ที่ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องในฐานความผิดนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

สรุป  คำพิพากษายกฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ส่วนคำสั่งไม่รับฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  265  และมาตรา  268  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และคำสั่งไม่รับฟ้องในความผิด  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  341  ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

ข้อ  2  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านายเจษฎากระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  หรือมาตรา  357  วรรคแรก  โดยพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่ามีคนร้ายลักรถยนต์ของผู้เสียหายไป  ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับนายเจษฎาได้พร้อมด้วยรถยนต์ของกลาง  ทั้งนี้โดยนายเจษฎาเป็นผู้ลักทรัพย์นั้นมาหรือรับทรัพย์นั้นไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย  (ฟ้องสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ)

ในชั้นพิจารณา  นายเจษฎาจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง  ขอให้ศาลปราณีลดโทษให้ด้วย  โจทก์แถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน  เช่นนี้  ศาลจะพิพากษาหรือสั่งอย่างไร  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับไม่กินหกพันบาท

ความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา  ตามมาตรา  357  วรรคแรก  ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ธงคำตอบ

มาตรา  176  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป  หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

ในคดีที่มีจำเลยหลายคน  และจำเลยบางคนรับสารภาพ  เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี  สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้น  เป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้

วินิจฉัย

ในกรณีที่คำรับสารภาพของจำเลยไม่ชัดเจนพอที่ฟังได้ว่า  จำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดฐานใด  กรณีเช่นนี้จะลงโทษจำเลยไม่ได้  เป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องนำสืบว่าจำเลยกระทำความผิดฐานใด  หากโจทก์ไม่ประสงค์จะนำสืบต่อไป  ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง  (ฎ. 6742/2548,  ฎ.  758/2534)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะพิพากษาหรือสั่งอย่างไร  เห็นว่า  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร  นายเจษฎาจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง  คำให้การของจำเลยดังกล่าว  นี้ยังไม่ชัดเจนพอที่ฟังได้ว่า  จำเลยรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดฐานใดระหว่างลักทรัพย์หรือรับของโจร  ในกรณีเช่นนี้  โจทก์ยังต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดของจำเลย  แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะนำสืบพยานต่อไป  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดไม่ได้  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง  (ฎ. 711/2528 , ฎ. 3866/2531 , ฎ. 158/2534)

สรุป  ศาลจะต้องยกฟ้อง

 

ข้อ  3  โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอก  ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  และจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้

ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เพียงใด

หมายเหตุ  ความผิดฐานลักทรัพย์  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับไม่เกินหกพันบาท

ความผิดฐานยักยอก  ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกพันบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี  และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  ห้ามมิให้พิพากษา  หรือสั่งเกินคำขอ  หรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญ  และจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ในกรณีเช่นนี้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่เพียงใด  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้อง  และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอก  ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  จึงเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้อง

ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่พิจารณาได้ความ  เป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  เมื่อความผิดฐานยักยอกกับความผิดฐานลักทรัพย์ถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ  ดังนั้น  ระหว่างความผิดฐานยักยอกกับความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์จึงถือว่าเป็นข้อแตกต่างที่ไม่ใช่สาระสำคัญเช่นเดียวกัน  เมื่อจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามที่พิจารณาได้ความได้  ตามมาตรา  192  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ดี  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  ห้ามมิให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษของฐานความผิดที่ฟ้อง  เมื่อความผิดฐานยักยอกที่ฟ้องมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  6,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยเกินกว่ากำหนดดังกล่าวไม่ได้

ดังนั้นกรณีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์  แต่ลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  6,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

สรุป  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์  แต่ลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  6,000  บาท  หรืออทั้งจำทั้งปรับ

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  334  ลงโทษจำคุก  6  เดือน  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด  1  ปี  โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น  ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ลงโทษจำคุก  3  เดือน  โดยไม่รอการลงโทษ

ดังนี้  จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  218  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย  และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี  หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่  ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา  219   ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย

การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องถือเป็นฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลย  3  เดือน  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  334  ลงโทษจำคุก  6  เดือน  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  1  ปี  และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ลงโทษจำคุก  3  เดือน  โดยไม่รอการลงโทษ  เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นโทษจำคุก  จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  218  แต่ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา  219  ต่อไป

เมื่อพิจารณาตามมาตรา  219  แล้วได้ความว่า  การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  40,000  บาท  ตามมาตรา  219  ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่มีข้อยกเว้นให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

ตามปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว  แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการลงโทษจำคุก  ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำเลย  3  เดือน  กรณีถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้ตามมาตรา  219

สรุป  จำเลยฎีกาขอให้ศาลยกฟ้องได้

LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 (LA 308),(LW 309) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายมะม่วงร้องทุกข์กล่าวหาว่า  นายมังคุดฆ่านายมันแกวบุตรชายของตนตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288 พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสรุปสำนานสั่งฟ้องนายมังคุดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว  แต่ในที่สุดพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยคดีแรกในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายมันแกวถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  นายมะม่วงไม่เห็นด้วย  
จึงนำคดีมายื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยต่อศาลด้วยตนเองในคดีหลังขอให้ลงโทษนายมังคุดฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  อีกคดีหนึ่ง

ให้วินิจฉัยตามประเด็นต่อไปนี้

 (ก)  คดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยต่อศาลด้วยตนเอง  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้หรือไม่

(ข)  หากปรากฏว่าในการไต่สวนมูลฟ้องคดีหลัง  นายมังคุดจำเลยได้นำเอกสารรายงานการตรวจศพของแพทย์มาถามค้านนายมะม่วงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องวิถีกระสุนปืน  เพื่อสนับสนุนว่าตนมิได้มีเจตนาฆ่านายมันแกว  แต่นายมะม่วงโจทก์ไม่ยอมรับรองความถูกต้องของพยานเอกสารดังกล่าว  นายมังคุดจำเลยจะขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลได้หรือไม่

(ค)  หากศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีหลังแล้วเห็นว่าคดีมีมูล  จึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา  นายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  162  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ให้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ให้จัดการตามอนุมาตรา  (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์  ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

มาตรา  165  วรรคสอง  จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  ตามมาตรา  162(1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  โดยหลักแล้วศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องทุกคดี  เว้นแต่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ต้องจัดการตามมาตรา  162(2)  กล่าวคือ  ไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับฟ้องไว้พิจารณาก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้พนักงานอัยการจะได้ฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยในคดีแรกด้วยก็ตาม  แต่พนักงานอัยการได้ฟ้องนายมังคุดในข้อหากระทำโดยประมาท  เป็นเหตุให้นายมันแกวถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ซึ่งเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลย  ขอให้ลงโทษฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นของมาตรา  162(1)  ที่ศาลจะจัดการสั่งตามอนุมาตรา  (2)  คือ  ใช้ดุลพินิจสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้  ดังนั้นศาลจึงอยู่ในบังคับที่ต้องจัดการสั่งตามหลักในอนุมาตรา  (1)  กล่าวคือ  ต้องจัดการสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อน

(ข)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ  ตามมาตรา  165  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  นายมังคุดจำเลยนำเอกสารรายงานการตรวจศพของแพทย์  มาถามค้านนายมะม่วงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องวิถีกระสุนปืน  เพื่อสนับสนุนว่าตนมิได้มีเจตนาฆ่านายมันแกว  แต่นายมะม่วงโจทก์ไม่ยอมรับรองความถูกต้องของพยานหลักฐานเอกสารดังกล่าว  และนายมังคุดจะขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลนั้น  ในกรณีเช่นนี้เท่ากับว่านายมังคุดจำเลยเรียกพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา  165  วรรคสอง  ดังนั้นนายมังคุดจึงไม่อาจของส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลได้  (ฎ. 6557/2539)

(ค)  การที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายมังคุดจำเลยฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แล้วเห็นว่า  คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณานั้น  เห็นว่า  แม้นายมังคุดจะมีฐานะเป็นจำเลยในคดีหลังแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเช่นว่านั้น  ย่อมเป็นอันเด็ดขาดตามมาตรา  170  วรรคแรก  ดังนั้นนายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้

สรุป 

(ก)  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้

(ข)  นายมังคุดไม่อาจขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้

(ค)  นายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  ให้วินิจฉัยว่า  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในกรณีดังต่อไปนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(ก)  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่  1  และจำเลยที่  2  ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297  จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์  จำเลยที่  2  หลบหนี  ศาลชั้นต้นให้ออกหมายจับจำเลยที่  2  แล้วเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันนัดสืบพยานโจทก์  โจทก์จำเลยที่  1 และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล  ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จนเสร็จ  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจำเลย  เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่  2  มาส่งศาล  จำเลยที่  2  แถลงไม่ติดใจซักค้านพยานโจทก์และไม่ติดใจสืบพยานจำเลยที่  2  ศาลชั้นต้นได้สืบพยานจำเลยที่  1  จนเสร็จ  และงดสืบพยานจำเลยที่  2  แล้วนัดฟังคำพิพากษา

(ข)  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท  1  ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ. 2522  มาตรา  66  วรรคสาม  ซึ่งมีอัตราโทษประหารชีวิต  ในวันนัดพิจารณา  ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยในเรื่องทนายความ  จำเลยแถลงว่า  ไม่ต้องการทนายความ  ศาลชั้นต้นจึงได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง  จำเลยให้การรับสารภาพ  ศาลชั้นต้นได้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย  ในวันนัดสืบพยานโจทก์  ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นและให้รอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกันก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา  จำเลยแต่งทนายความให้เข้ามาฟังคำพิพากษาด้วย  ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาให้โจทก์  จำเลย  และทนายจำเลยฟัง  แล้วให้ลงลายชื่อไว้

ธงคำตอบ

มาตรา  172  วรรคแรก  การพิจารณาและสืบพยานในศาล  ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  173  วรรคแรกและวรรคสอง  ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต  หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

(ก)   วินิจฉัย

การสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์  พยานร่วมหรือพยานจำเลยจะต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยตามมาตรา  172  วรรคแรก  เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร  จะอนุญาตให้จำเลยไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยานนั้นได้ตามมาตรา  172  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  172  ทวิ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์  จำเลยที่  2  หลบหนี  ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่  2  แล้ว  เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์  โจทก์  จำเลยที่  1  และทนายจำเลยทั้ง  2  มาศาลแต่ไม่มีจำเลยที่  2  ดังนี้  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แม้ว่าการสืบพยานจะได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่  1  แต่ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่  1  ได้กระทำแทนจำเลยที่  2  เนื่องจากคดีอาญาเป็นคดีที่ต้องนำตัวจำเลยมาลงโทษ  การพิจารณาต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยแต่ละคน  เมื่อต่อมาจับจำเลยที่  2  ได้ในภายหลังกรณีเช่นนี้  ศาลก็ต้องสืบพยานโจทก์สำหรับจำเลยที่  2 ที่ถูกจับได้ในภายหลังใหม่  ทั้งนี้  เพราะการสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลยตามมาตรา  172  วรรคแรก  (ฎ.1736/2550 , ฎ. 651/2549)

อนึ่ง  แม้ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่  2  มาส่งศาล  และจำเลยที่  2  แถลงติดใจไม่ซักค้านพยานโจทก์และไม่ติดใจสืบพยานก็ไม่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้นกลับมาชอบด้วยกฎหมายได้

(ข)  วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภทที่  1  ตาม  พ.ร.บ.  ยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ. 2522  มาตรา  66  วรรคสาม  อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต  ซึ่งตามมาตรา  173  วรรคแรก  วางหลักว่า  ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่า  มีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้  อันเป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว  ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่  ดังนั้น  ตามมาตรา  173  วรรคแรก  เมื่อจำเลยไม่มีทนายความศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องการทนายความหรือไม่  ทั้งนี้เพื่อความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า  ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยในเรื่องทนายความ  จำเลยแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ  ดังนี้  จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย  แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไปจนเสร็จ  แม้ต่อมาจำเลยจะได้แต่งทนายความเข้ามา  แต่ก็เป็นการแต่งทนายความเข้ามาในภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จนเสร็จแล้ว  ดังนั้น  จะเห็นได้ว่า  ขณะที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้  ยังไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนินคดี  จึงเป็นการดำเนินพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  173  วรรคแรก  (ฎ. 3133/2551) 

สรุป  การดำเนินกระบวนพิจารณาทั้ง  (ก)  และ  (ข)  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยที่หนึ่ง  จำเลยที่สอง  และจำเลยที่สาม  ร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย  ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  340 , 83  (ฟ้องถูกต้องตามกำหมายทุกประการ)  แต่ทางพิจารราฟังได้ว่า  จำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วนำมาขายให้จำเลยที่สามโดยที่จำเลยที่สามรับซื้อทั้งที่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด  อันเป็นความผิดฐานรับของโจร  โดยจำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้

ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสอง  วรรคสาม  และวรรคหก  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

วินิจฉัย

ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่  เห็นว่า  ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง  ย่อมรวมการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ดังนั้นแม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่หนึ่ง  และจำเลยที่สองร่วมกับจำเลยที่สาม  กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์  แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า  เฉพาะจำเลยที่หนึ่ง  และจำเลยที่สองเท่านั้นที่ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหาย  กรณีเช่นนี้  ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามมาตรา  192  วรรคหก  (ฎ. 2161 / 2531)

ส่วนในกรณีของจำเลยที่สามได้ความว่า  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่สาม  ฐานร่วมกับจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองฐานปล้นทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่สามกระทำความผิดฐานรับของโจร  ซึ่งถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญ  เพราะการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องก็เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่  3  คนขึ้นไป  ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา  192  วรรคสาม  ถือเป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด  มิใช่ข้อแตกต่างสาระสำคัญ  (ฎ. 1043 / 2535)

แต่อย่างไรก็ดี  ตามบทบัญญัติมาตรา  192  วรรคสองนั้น  การที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้น นอกจากจะได้ความว่าข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อที่มิใช่สาระสำคัญแล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ด้วย  ดังนั้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่สามมิได้หลงต่อสู้  ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่สามฐานรับของโจรได้

สรุป  ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่หนึ่งและที่สองในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้  และลงโทษจำเลยที่สามในความผิดฐานรับของโจรได้

 

ข้อ  4  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง    ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  20  ปี  ฐานฆ่าผู้อื่น  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง  เมื่อวันจันทร์ที่  29  มกราคม  2533  และเดือนกุมภาพันธ์  2533  มี  28  วัน 

(ก)  จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ในวันพฤหัสบดีที่  1  มีนาคม  2533  หรือ

(ข)  จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันอังคารที่  20  กุมภาพันธ์  2533  ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย  ต่อมาวันศุกร์ที่  23  เดือนเดียวกัน  จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต  หลังจากนั้นในวันอังคารที่  27  กุมภาพันธ์  2533  จำเลยนำอุทธรณ์ฉบับใหม่มายื่นต่อศาลชั้นต้น  โดยแถลงว่าขอถอนอุทธรณ์ฉบับแรกไปนั้นเพราะเข้าใจผิดว่าจะมีการอภัยโทษจำเลย  เมื่อปรากฏว่าไม่มีการอภัยโทษ  จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น  โจทก์คดีนี้ไม่อุทธรณ์

แต่ละกรณีดังกล่าว  ศาลชั้นต้นจะสั่งอุทธรณ์ของจำเลยอย่างไร 

ธงคำตอบ

มาตรา  15  วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

มาตรา  198  วรรคแรก  การยื่นอุทธรณ์  ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง

มาตรา  202  วรรคสอง  เมื่อถอนไปแล้ว  ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน  ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์  จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  23   แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการพิเศษ  แต่ศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น  เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/5  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์  เดือน  หรือปี  ให้คำนวณตามปีปฏิทิน

ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์  วันต้นแห่งเดือนหรือปี  ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์  เดือน  หรือปีสุดท้าย  อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น  ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้น  ไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย  ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

(ก)   วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลชั้นต้นจะสั่งอุทธรณ์ของจำเลยอย่างไร  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้วหากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด  1  เดือน  นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟังตามมาตรา  198   ซึ่งกำหนดระยะเวลา  1  เดือน  ต้องคำนวณตามปีปฏิทิน  และถ้าไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้ายก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/5  เมื่อได้ความว่า  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันจันทร์ที่  29  มกราคม  2533  และเดือนกุมภาพันธ์  2533  มี  28  วัน  ดังนั้น  จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่  28  กุมภาพันธ์  2533  และหากจำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในเวลากำหนดดังกล่าวไม่ทัน  จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ  เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  23  ประกอบมาตรา  15  แต่เมื่อได้ความว่า  วันที่  28  กุมภาพันธ์ 2533  เป็นวันพุธมิใช่วันหยุดราชการ  กรณีจึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปได้  จำเลยจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เกิน  1  เดือน  นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษา  เมื่อจำเลนยื่นอุทธรณ์ในวันที่  1  มีนาคม  2533  ซึ่งถือว่าเกิน  1  เดือน  ศาลชั้นต้นจึงต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์  (ฎ. 8721/2544)

(ข)  วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลชั้นต้นจะสั่งอุทธรณ์ของจำเลยอย่างไร  เห็นว่า  จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด  1  เดือน  คือวันที่  20  กุมภาพันธ์  2533  ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย  ต่อมาวันที่  23  เดือนเดียวกันจำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์  ศาลชั้นต้นอนุญาต  กรณีเช่นนี้  เมื่อจำเลยถอนอุทธรณ์ไปแล้ว  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง (โจทก์)  มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  ย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน  ดังนั้น  จำเลยจะนำอุทธรณ์ฉบับใหม่มายื่นต่อศาลไม่ได้  ทั้งนี้แม้จะยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ก็ตาม  ต้องห้ามตามมาตรา  202  วรรคสอง

สรุป  ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง  (ก)  และ (ข)

LAW3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์  ก่อนถึงวันนัด  2  วัน  โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายป่วย  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตในวันนั้นเอง  โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งแต่ประการใด  ครั้นถึงวันนัดปรากฏว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  ดังนี้  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี  และจะอุทธรณ์ในข้อจำหน่ายคดีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  226  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด  ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน  คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา  หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่  ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา  227  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น  มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

มาตรา  228  ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(1) ให้กักขัง  หรือปรับไหม  หรือจำขัง  ผู้ใด  ตามประมวลกฎหมายนี้

(2) มีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา  หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป  หรือ

(3) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง  หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คำสั่งเช่นว่านี้  คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน  นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป

แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา  ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป  และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น  แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา  คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา  (3)  ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า  การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี  หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้  ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์  หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น

ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้  ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา  223

วินิจฉัย

คำสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณานั้น  มีหลักเกณฑ์ดังนี้

1       จะต้องเป็นคำสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดี

2       เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล  กล่าวคือ  ศาลยังต้องทำคดีนั้นต่อไป

3       ไม่ใช่คำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227  และมาตรา  228

เมื่อเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว  คู่ความจะอุทธรณ์คำสั่งทันทีไม่ได้  ต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นตามมาตรา  226 (2)  ส่วนคำสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์  3  ประการนี้ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีได้หรือไม่  เห็นว่า การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณากล่าวคือ  เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วศาลยังต้องพิจารณาคดีนั้นอีกต่อไป  (ไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล)  เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลไว้  อีกทั้งโจทก์ก็มีเวลาที่จะโต้แย้งถึง  2  วัน  ซึ่งนับได้ว่าโจทก์มีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งได้  กรณีเช่นนี้  เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งเช่นว่านั้นไว้  จึงหมดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี  ตามมาตรา  226  (2)  ประกอบมาตรา  226  (1)  (ฎ.756/2543)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในข้อจำหน่ายคดีได้หรือไม่  เห็นว่า  คำสั่งจำหน่ายคดีไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาคดี  กล่าวคือ  เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วทำให้คดีเสร็จไปจากศาล  กล่าวคือ  ศาลไม่มีหน้าที่ต้องพิจารณาคดีนั้นอีกต่อไป  กรณีเช่นนี้  โจทก์อุทธรณ์ได้  แม้โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ก็ตาม  เพราะคำสั่งจำหน่ายคดีไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา  ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าเป็นที่สุด  หรือห้ามหรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์แต่ประการใด  (ฎ.1365/2530)

สรุป  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีไม่ได้  แต่สามารถอุทธรณ์ในคำสั่งจำหน่ายคดีได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดชำระหนี้  จำเลยให้การปฏิเสธ  ศาลชั้นต้นกำหนดให้มีการชี้สองสถานระหว่างนั้น

(ก)  นายสน  ยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา  57(1)

(ข)  โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกธนาคารกรุงสุโขทัย  จำกัด  มหาชน  เข้ามาเป็นจำเลยร่วม  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  57(3) (ก)

ทั้งสองกรณีศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  นายสนและโจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดีได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  18  วรรคท้าย  คำสั่งของศาลที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรานี้  ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  227 228  และ  247

มาตรา  57  บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพ่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง  หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่  โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้อง  เกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

(3) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี  (ก)  ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้  เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน  ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี

มาตรา  226  ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228

(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา

(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด  ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน  คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา  หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้  ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่  ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา  227  และ  228  เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

มาตรา  227  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น  มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี

มาตรา  228  ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี  ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ

(1) ให้กักขัง  หรือปรับไหม  หรือจำขัง  ผู้ใด  ตามประมวลกฎหมายนี้

(2) มีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา  หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป  หรือ

(3) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา  18  หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา  24  ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง  หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ

คำสั่งเช่นว่านี้  คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน  นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป

แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา  ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป  และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น  แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา  คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา  (3)  ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า  การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี  หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้  ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์  หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น

ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้  ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา  223

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  คำสั่งระหว่างพิจารณาจะอุทธรณ์ทันทีไม่ได้  ต้องโต้แย้งคำสั่งไว้เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ภายหลังมีคำพิพากษาแล้ว  ตามมาตรา  226  ตัวอย่างเช่น  คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้อง  (ฎ.698/2481)  คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าคดีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากให้ดำเนินคดีอย่างคดีมโนสาเร่  (ฎ.917/2539)  เป็นต้น

ส่วนกรณีที่ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  ตามความมาตรา  227  และ  228  นั้น  คำสั่งศาลกรณีนี้ตามกฎหมายบัญญัติมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  และอยู่ภายใต้บังคับการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี  หมายความว่า  คำสั่งของศาลกรณีนี้  คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์ได้ทันทีและจะต้องอุทธรณ์ภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี  (โดยไม่ต้องโต้แย้ง)

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์  นายสนจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาคดีได้หรือไม่เห็นว่า  การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม  ตามมาตรา  57(1)  คำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องซึ่งถือเป็นคำคู่ความ  การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องอันมีผลเป็นการไม่รับคำร้องสอด  ดังนั้น  คำสั่งศาลชั้นต้นจึงเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความ  ตามมาตรา  227  ประกอบมาตรา  18  จึงไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา  กรณีเช่นนี้นายสนย่อมอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด  1  เดือน  นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง  (ฎ.4410 4411 / 2542)

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาคดีได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความ  ตามมาตรา  57(3)  คำร้องดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นคำฟ้องหรือคู่ความ  ดังนั้น  เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ให้เรียกธนาคารกรุงสุโขทัยฯ  เข้ามาเป็นจำเลยร่วม  กรณีจึงไม่เป็นคำสั่งไม่รับหรือคืนคู่ความ  ตามมาตรา  18  แต่อย่างใด  แต่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา  ตามมาตรา  226(1)  (ฎ.9108/2544)

สรุป 

(ก)  นายสนอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ภายในกำหนด  1  เดือน  นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

(ข)  โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิพากษาคดีไม่ได้   

 

ข้อ  3  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด  ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี  ให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน  2,500,000  บาทแก่โจทก์  ศาลชั้นต้นมีคำบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาครบกำหนดเวลาในคำบังคับ  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา  ในชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินของจำเลยและดำเนินการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล  ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายทอดตลาดที่ดินที่ยึด  จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลว่า  รายได้ประจำปีจากที่ดินที่ยึดเพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมกับค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดี  ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการที่ดินที่ยึดเพื่อนำเงินรายได้จากที่ดินที่ยึดมาวางต่อศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา  โจทก์แถลงคัดค้าน  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย  จำเลยอุทธรณ์คำสั่งพร้อมกับคำร้องให้ศาลมีคำสั่งให้งดการขายที่ดินของจำเลยไว้ก่อน  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์  ต่อมาศาลทำการไต่สวนคำร้องได้ข้อเท็จจริงดังที่กล่าวและมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย

ดังนี้  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการขายที่ดินของจำเลยไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา  253  และมาตรา  254  คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล  เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  เช่น  ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก  หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท  หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คำขอตามวรรคแรกให้บังคับตามมาตรา  21  มาตรา  25  มาตรา  227  มาตรา  228  มาตรา  260  และมาตรา  262

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  คำสั่งของศาลที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการขายที่ดินของจำเลยไว้ก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า การที่จำเลยร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งงดการขายที่ดินที่ยึดไว้ก่อนในระหว่างอุทธรณ์ถือเป็นคำขอที่จำเลยประสงค์ให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองจำเลยไว้ก่อนมีคำพิพากษาตามมาตรา  264  กรณีเช่นนี้  หากศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอ  ศาลจะต้องไต่สวนแล้วเห็นว่าเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทให้ได้รับการคุ้มครองไว้ก่อนมีคำพิพากษา

เมื่อได้ความว่าศาลมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย  ย่อมมีผลเท่ากับให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไว้  ซึ่งถ้าหากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปแล้ว  หากศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์แล้วมีความเห็นว่าควรตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการที่ดินตามคำร้อง  ก็จะไม่สามารถบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้  จึงไม่ชอบที่สั่งยกคำร้องของจำเลย  เนื่องจากไม่เป็นการคุ้มครองประโยชน์ของจำเลย  แต่เมื่อศาลได้ยกคำร้องของจำเลย  คำสั่งของศาลย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา  264  (ฎ.3752/2533)

สรุป  คำสั่งของศาลที่ให้ยกคำร้องของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา  นายแดงยื่นคำร้องว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของตนไม่ใช่ของจำเลย  ขอให้ศาลมีคำสั่งถอนการยึดที่ดินแก่นายแดง  โจทก์ยื่นคำให้การว่าที่ดินที่นำยึดเป็นของจำเลย  ไม่ใช่ของนายแดง  ขอให้ยกคำร้อง  ระหว่างพิจารณาโจทก์กับนายแดงตกลงให้ศาลถอนการยึดที่ดินดังกล่าว  โดยนายเขียวได้นำโฉนดที่ดินของนายเขียวมาวางค้ำประกันต่อศาลแทนการถอนการยึดที่ดินดังกล่าวมีข้อตกลงว่า  ถ้านายแดงแพ้คดี  นายเขียวยินยอมให้โจทก์บังคับชำระหนี้จากที่ดินของนายเขียวดังกล่าวแทนที่ดินโจทก์นำยึด  ต่อมาศาลพิพากษาว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นของนายแดงไม่ใช่ของจำเลย  โจทก์ไม่มีสิทธินำยึดโจทก์อุทธรณ์  ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์  นายเขียวยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคืนโฉนด  ที่ดินของนายเขียวที่วางค้ำประกันต่อศาลไว้นั้น   โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า  คดียังไม่ถึงที่สุด  หากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี  โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินของนายเขียวได้  นายเขียวไม่มีสิทธิขอคืน  ขอให้ยกคำร้อง

ให้วินิจฉัยว่า  นายเขียวมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  274  ถ้าบุคคลใดๆได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลโดยทำเป็นหนังสือประกันหรือโดยวิธีอื่นๆ  เพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษา  หรือคำสั่ง  หรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นย่อมใช้บังคับแก่การประกันนั้นได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้ค้ำประกันขึ้นใหม่

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  สำหรับกำหนดระยะเวลาของการค้ำประกันในศาลนั้น  นอกจากจะตกลงกันให้ค้ำประกันชั่วจำกัดระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง  และภายใต้เงื่อนไขใดก็ได้แล้ว  ผู้ค้ำประกันอาจตกลงเข้าค้ำประกันตลอดไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดก็ได้  แต่ถ้าไม่ตกลงกันไว้ให้ชัดแจ้งว่าเป็นการค้ำประกันตลอดไปจนกว่าคดีถึงที่สุดหรือไม่  ย่อมเป็นการค้ำประกันเพียงชั่วระยะเวลาในระหว่างพิจารณาของแต่ละชั้นศาลเท่านั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเขียวผู้ค้ำประกันมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวหรือไม่  เห็นว่าตามสัญญาค้ำประกัน  มีข้อตกลงกันเพียงว่า  ถ้านายแดงแพ้คดีนายเขียวยินยอมให้โจทก์บังคับชำระหนี้จากที่ดินของนายเขียว  แทนที่ดินที่โจทก์นำยึดเท่านั้น  สัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อความระบุว่า  นายเขียวผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนค้ำประกันตลอดไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดโดยชัดแจ้งแต่อย่างใด  (ฎ.3653/2534)  ดังนั้น  เมื่อศาลพิพากษาให้นายแดงชนะคดี  (พิพากษายกฟ้อง)  โดยพิพากษาว่าที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นของนายแดงไม่ใช่ของจำเลย  จึงไม่มีหนี้ที่นายเขียวผู้ค้ำประกันจะต้องชำระตามสัญญาค้ำประกัน  และสัญญาค้ำประกันย่อมระงับสิ้นไปทันที  แม้โจทก์จะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลนั้นอยู่ก็ตาม  โจทก์ไม่อาจอ้างว่าหากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ตนชนะคดีแล้ว  โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาจากที่ดินที่นายเขียวนำมาวางค้ำประกันต่อศาลได้  คำคัดค้านของโจทก์ฟังไม่ขึ้น  นายเขียวจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนโฉนดที่ดินได้  (ฎ.8228/2538)

สรุป  นายเขียวมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนโฉนดที่ดินได้

LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท  อ้างว่าจำเลยได้อาศัยที่ดินดังกล่าวของมารดาโจทก์  เมื่อมารดาโจทก์เสียชีวิต  โจทก์ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวมาและไม่ประสงค์จะให้จำเลยอาศัยอีกต่อไป  ได้บอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายออกจากที่ดินพิพาท  แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมขนย้าย  ที่ดินพิพาทหากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ  4,000  บาท  ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ขนย้ายออกจากที่ดินพิพาทและชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันบอกกล่าวให้ขนย้ายจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน  20,000  บาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นน้าชายโจทก์  จำเลยไม่ได้อาศัยแต่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบ  เปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า  10  ปีแล้ว  จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยครอบครองปรปักษ์  โจทก์ไม่เสียหายขอให้ศาลยกฟ้อง

ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมขนย้ายออกจากที่พิพาทภายใน  2  เดือนนับแต่ศาลมีคำพิพากษาตามยอม  ส่วนโจทก์ไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย  ศาลชั้นต้นพิพากษายอมหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมได้  2  สัปดาห์ จำเลยจึงทราบโดยมีหลักฐานว่าทนายจำเลยได้ร่วมมือกับฝ่ายโจทก์หลอกลวงจำเลยให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว  จำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น  ดังนี้จำเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  138  ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น  และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้  แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้  เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความแล้ว  จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้  เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นอย่างหนึ่งอย่างใด  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  138  วรรคสอง  กล่าวคือ

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

กรณีตามอุทาหรณ์  จำเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่  เห็นว่า  จำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น  อ้างว่า  ทนายจำเลยได้ร่วมมือกับฝ่ายโจทก์หลอกลวงจำเลยให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ  กรณีเช่นนี้  เท่ากับกล่าวอ้างว่าสัญญาประนีประนอมเกิดขึ้นจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล  ตามมาตรา  138  วรรคสอง  (1) ดังนั้น  จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้  ตามมาตรา  138  วรรคสอง  (1)  ประกอบมาตรา  223 (ฎ.1150/2519)

สรุป  จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ 

 

ข้อ  2  โจทก์ที่  1  ที่  2  ที่  3  และที่  4  ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่  ซึ่งเป็นทายาทคนละ  1  ส่วน  รวม  4  ส่วน  ใน  5  ส่วน  คิดเป็นราคาที่ดินที่ขอแบ่งทั้งหมด  200,000  บาท  จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดกขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสี่  คนละ  1  ส่วน  รวม  4  ส่วน  จำเลยอุทธรณ์ว่า  พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าจะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  224  วรรคแรก ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ทายาทหลายคนร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยแม้ได้ความว่า  โจทก์จะได้ฟ้องรวมกันมาก็ตาม  หากจำเลยให้การต่อสู้ว่าทรัพย์ที่โจทก์ขอแบ่งมิใช่ทรัพย์มรดก  กรณีเช่นนี้สิทธิในการอุทธรณ์ก็ต้องถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกจากกัน  (ฎ.2125/2524  ฎ.5917/2544 (ประชุมใหญ่))

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลจะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาหรือไม่  เห็นว่า  โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่คน คนละ  1  ส่วน  รวม  4  ส่วน  คิดเป็นราคาที่ขอแบ่งทั้งหมด  200,000  บาท  จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดก  ขอให้ยกฟ้อง  แม้ได้ความว่า  โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องรวมกันมาก็ตาม  การอุทธรณ์ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน  เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน  เมื่อที่ดินที่โจทก์ทั้งสี่ตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมานั้น  ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน  50,000  บาท  (คนละ  50,000  บาท)  ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยกับโจทก์แต่ละคนจึงมีราคาไม่เกิน  50,000  บาท  ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  224  วรรคแรก

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า  พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก  ถือเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐาน  อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว  ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นของมาตรา  224  คือ  ไม่มีความเห็นแย้งหรือได้รับรองอุทธรณ์ข้อเท็จจริงจากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคอนุญาตเป็นหนังสือให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้  กรณีเช่นนี้  ศาลจึงไม่อาจรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาได้แต่ประการใด  (ฎ.5971/2544  (ประชุมใหญ่))

สรุป  ศาลไม่อาจรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาได้   

 

ข้อ  3  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด  ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี  ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์  10  ล้านบาท  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ  ในชั้นบังคับคดี  เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินของจำเลยไว้ตามคำขอของโจทก์  เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา  แต่นายแดงมายื่นคำร้องต่อศาลว่าที่ดินที่ยึดหาใช่ของจำเลยไม่  แต่เป็นของนายแดงผู้ร้อง  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยที่ดินที่ยึด  โจทก์แถลงคัดค้าน  ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าที่ดินที่ยึดเป็นของจำเลย  และมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของนายแดง นายแดงอุทธรณ์พร้อมกับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไว้ก่อนมีคำพิพากษา  ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์  ต่อมาศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้องที่ขอให้งดการขายทอดตลาดของนายแดง

ดังนี้  ศาลใดไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้องของนายแดง  และคำสั่งยกคำร้องของนายแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  254  วรรคท้าย  ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา  แล้วแต่กรณี  คำขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น  ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคำขอเช่นว่านี้

มาตรา  264  นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา  253  และมาตรา  254  คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล  เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  เช่น  ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก  หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท  หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คำขอตามวรรคแรกให้บังคับตามมาตรา  21  มาตรา  25  มาตรา  227  มาตรา  228  มาตรา  260  และมาตรา  262

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่ศาลจะสั่งอนุญาตให้คุ้มครองประโยชน์  ตามมาตรา  264  นั้น  จะต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิ  หรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่พิพาทให้ได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะพิพากษา

คดีนี้เมื่อนายแดงบุคคลภายนอกยื่นคำร้องต่อศาลว่า  ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้หาใช่ของจำเลยไม่  แต่เป็นของนายแดงผู้ร้อง  โจทก์แถลงคัดค้าน  กรณีเช่นนี้  คดีพิพาทดังกล่าวถือว่าเป็นข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีที่เรียกว่า  คดีร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด  (คดีร้องขัดทรัพย์)  นายแดงผู้ร้องมีฐานะเสมือนเป็นโจทก์  ส่วนโจทก์เดิมหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีฐานะเป็นจำเลย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า  ศาลใดเป็นศาลที่ไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้องที่ขอให้งดการขายทอดตลาดของนายแดง  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  264  วรรคสองแล้ว  จะเห็นว่ามิได้บัญญัติให้นำมาตรา  254  มาใช้บังคับด้วย  ดังนั้นหากศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ฎีกาแล้ว  (ซึ่งถือว่าเป็นการสั่งรับแทนศาลอุทธรณ์  ศาลฎีกา)  อำนาจในการสั่งคำร้องขอคุ้มครองตามมาตรา  264  นี้  ก็ตกอยู่กับศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาทันที  ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่ง  ต่างกับกรณีตามมาตรา  254  ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว  แต่หากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกายังไม่รับสำนวนลงสารบบ  ก็ยังเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นเท่านั้นที่จะพิจารณาสั่ง 

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินที่ยึดพร้อมกับยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไว้ก่อนมีคำพิพากษา  ถือเป็นคำร้องขอวิธีการชั่วคราว  ตามมาตรา  264  (ไม่ใช่เรื่องขอทุเลาการบังคับตามมาตรา  231  (ฎ.1606/2534))  กรณีเช่นนี้  ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา  จึงเป็นศาลที่มีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องของนายแดง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของนายแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อศาลอุทธรณ์ไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของนายแดงที่ขอให้งดการขายทอดตลาด  กรณีเช่นนี้มีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดต่อไปได้  ซึ่งถ้าหากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดเสร็จไปแล้ว  แต่ปรากฏต่อมาว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับว่าที่ดินที่ยึดเป็นของนายแดง  ให้ปล่อยที่ดินที่ยึด  ก็จะเป็นเหตุให้นายแดงต้องเสียสิทธิในที่ดิน  เป็นที่เสียหายแก่นายแดง  เพราะไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้  ดังนั้น  การที่ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องของนายแดง  โดยยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์  คำสั่งยกคำร้องของศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา  264  (เทียบ  ฎ. 3452/2533)

สรุป  ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่ไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้องของนายแดง  และคำสั่งยกคำร้องของนายแดงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

ข้อ  4  ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่  1234  ให้แก่โจทก์  โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลแพ่งว่า  จำเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์  ขอให้ออกคำบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทหากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยใช้ราคา  1,000,000  บาท  ศาลแพ่งได้ออกคำบังคับตามคำแถลงของโจทก์  จำเลยได้ทราบคำบังคับแต่ไม่ยอมปฏิบัติจนล่วงพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว

ให้วินิจฉัยว่า  (ก)  โจทก์จะร้องขอให้บังคับคดีดังกล่าวได้หรือไม่  (ข)  หากจำเลยได้ทราบคำบังคับ  ซึ่งได้ออกโดยชอบแล้ว  ศาลแพ่งจะออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

 มาตรา  275  วรรคแรก  ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดี  ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี

มาตรา  278  วรรคแรก  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งภาคนี้ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี  นับแต่วันที่ได้ส่งหมายบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา  หรือถ้าหมายนั้นมิได้ส่งนับแต่วันออกหมายนั้นเป็นต้นไป  ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  ในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางและออกใบรับให้กับมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้  และมีอำนาจที่จะเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด  ทั้งมีอำนาจที่จะจำหน่ายทรัพย์สินหรือเงินรายได้จากการนั้นและดำเนินวิธีการบังคับทั่วๆไป  ตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดี

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์  โจทก์จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำบังคับดังกล่าวได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  271  กำหนดให้  คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดี  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยและตามคำบังคับซึ่งได้ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  ซึ่งเมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้วได้ความว่า  ศาลแพ่งเพียงแต่พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่  1234  แก่โจทก์  มิได้กำหนดให้จำเลยใช้ราคาแทนในเมื่อไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทได้  การที่โจทก์ขอให้ออกคำบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาท  หากไม่สามารถโอนได้ให้ใช้ราคา  1,000,000  บาท  จึงเป็นการขอให้ออกคำบังคับนอกเหนือไปจากตามคำพิพากษาของศาล  จึงไม่ชอบด้วยมาตรา  271  แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับและจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำบังคับ  โจทก์ก็ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำบังคับซึ่งนอกเหนือไปจากคำพิพากษาได้

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์  หากจำเลยได้ทราบคำบังคับซึ่งได้ออกโดยชอบแล้ว  ศาลแพ่งจะออกหมายบังคับแก่จำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หรือไม่  เห็นว่า  การขอให้ออกหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  275  นั้น  จะต้องเป็นการบังคับคดีที่ต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากหมายบังคับคดีเป็นหมายของศาลที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางกับมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด  ตามมาตรา  278  เมื่อได้ความว่า  การบังคับตามคำพิพากษากำหนดให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์อันเป็นหนี้เกี่ยวกับการกระทำนิติกรรม  (ไม่อาจดำเนินการโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีได้)  และเมื่อจำเลยทราบคำบังคับแล้ว  แต่ไม่ยอมปฏิบัติ  กรณีเช่นนี้  โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้บังคับคดีโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้  (ฎ. 2701/2537)  กรณีมิใช่การบังคับคดีที่จะต้องอาศัยหรือดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี  ศาลแพ่งจึงไม่อาจออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้

สรุป

(ก)  โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีตามคำบังคับไม่ได้

(ข)  ศาลแพ่งไม่อาจออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้

LAW3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2 S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องว่าได้ทำสัญญาซื้อผ้าแพรจากจำเลยรวมเป็นเงิน  5  ล้านบาท  โจทก์วางมัดจำไว้  1  ล้านบาท  ถึงกำหนดส่งสินค้า  จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้โจทก์  ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ขาดผลกำไรจากการขายสินค้านั้นรวม  1  ล้านบาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นโมฆะ  เพราะเป็นสินค้าหนีภาษี  โจทก์ไม่เสียหาย  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วข้อเท็จจริงได้ความตามข้อต่อสู้ของจำเลย  พิพากษายกฟ้อง  โจทก์ไม่อุทธรณ์แต่นำคดีนั้นมาฟ้องใหม่เรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำ  1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย  ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีคู่ความตกลงประนีประนอมยอมความ  โดยจำเลยยอมผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็นงวดๆและศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว  ภายหลังจำเลยจะกลับใจอุทธรณ์  ขอยกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น  หากยังอยู่ในระยะเวลาที่อุทธรณ์ได้  ดังนี้จำเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  138  ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น  และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้  แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้  เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

มาตรา  148  คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก  ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความแล้ว  จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นอย่างหนึ่งอย่างใด  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  138  วรรคสอง  กล่าวคือ

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

จำเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ได้นำคดีเดิมซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว  เนื่องจากโจทก์ไม่อุทธรณ์มาฟ้องจำเลยอีก  เมื่อได้ความว่า  คดีนี้กับคดีเดิมโจทก์จำเลยก็เป็นคู่ความเดียวกัน  ประเด็นที่นำมาฟ้องก็เป็นประเด็นเดียวกันกับคดีก่อน  จึงเป็นกรณีที่โจทก์รื้อฟ้องกัน  อีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน  อันถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำ  ต้องห้ามตามมาตรา  148

เมื่อฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำแล้ว  คำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นจึงถือว่าละเมิดต่อกฎหมาย  อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  กรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  138  วรรคสอง  (2)  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่ายังอยู่ในช่วงเวลาที่จะอุทธรณ์ได้  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมได้  ตามมาตรา  138  วรรคสอง  (2) (ฎ. 2684/2539)

สรุป  จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้

 

ข้อ  2  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายรวม  2  ล้านบาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่าไม่ได้ซื้อเชื่อสินค้าโจทก์  ลายมือผู้เซ็นรับสินค้าในใบสินค้าปลอมคดีโจทก์ขาดอายุความ  ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยแพ้คดีให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องโจทก์พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย  จำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ว่าไม่ได้ซื้อเชื่อสินค้าโจทก์  ลายมือผู้เซ็นรับสินค้าในใบรับสินค้าที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นลายมือปลอม  หนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง  คดีโจทก์ขาดอายุความ

ดังนี้  จำเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  225  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์นั้น  คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ทั้งจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใดๆขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้  หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์  คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  225  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการยื่นอุทธรณ์นั้น

1)    ต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในอุทธรณ์

2)    ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  และ

3)    อุทธรณ์นั้นไม่ว่าในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นจะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วย

เว้นแต่  จะต้องด้วยหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้  แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ก็ยังมีสิทธิที่จะอ้างอิงปัญหา  เพื่ออุทธรณ์ในชั้นอุทธรณ์ได้  คือ

1)    เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

2)    เป็นปัญหาที่คู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกข้อกฎหมายใดๆขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้  หรือ

3)    เพราะเหตุเป็นเรื่องศาลชั้นต้นที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนพิจารณาชั้นอุทธรณ์

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถแยกอุทธรณ์ของจำเลยได้  3  ประเด็นดังนี้

1       จำเลยไม่ได้ซื้อเชื่อจากโจทก์  ลายมือผู้เซ็นรับสินค้าในใบรับสินค้าที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นลายเซ็นปลอม

2       หนังสือมอบอำนาจโจทก์ให้ฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

3       คดีโจทก์ขาดอายุความ

จำเลยจะสามารถอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่  เห็นว่า  ในประเด็นที่  1  และประเด็นที่  3  ประเด็นเหล่านี้จำเลยได้ต่อสู้ไว้โดยชอบแล้วในศาลชั้นต้น  จำเลยจึงชอบที่จะอุทธรณ์ประเด็นดังกล่าวได้  ตามมาตรา  225  วรรคแรก

ส่วนในประเด็นที่  2  เรื่องหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ตามกฎหมาย  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น  จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้โดยชอบในศาลชั้นต้น  ซึ่งโดยปกติแล้ว  จะยกขึ้นอุทธรณ์ไม่ได้แต่อย่างไรก็ดี  ในกรณีอำนาจฟ้องถือว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  จึงต้องด้วยยกเว้น  ตามมาตรา  225  วรรคสอง  กรณีเช่นนี้  แม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้โดยชอบในศาลชั้นต้น  จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์ได้  (ฎ. 5095/2548)

สรุป  จำเลยอุทธรณ์ได้

หมายเหตุ  ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  หมายถึง  ปัญหาที่ไม่เกี่ยวเฉพาะตัวโจทก์หรือจำเลย  แต่เป็นเรื่องทั่วไปของสาธารณชน  ประเทศชาติและสังคม  เช่น  เรื่องเขตอำนาจศาล  อำนาจฟ้อง  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลหรือการพิพากษาชอบหรือไม่  การปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์หรือไม่  เป็นต้น 

 

ข้อ  3  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่งจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี  ศาลจังวัดยะลาพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้  พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายแก่โจทก์  จำเลยอุทธรณ์  ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี  โจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ประเทศมาเลเซีย  โดยไม่เหลือทรัพย์สินใดๆในประเทศไทย  จำเลยทราบข่าวการย้ายภูมิลำเนาของโจทก์  เกรงว่าถ้าโจทก์แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายแก่จำเลย  จำเลยได้ยื่นคำร้องอ้างว่าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักร  และไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้ในราชอาณาจักร  ขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันค่าฤชาธรรมเนียม  และค่าใช้จ่ายมาวางศาลก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษา  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า

(ก)  ศาลใดมีอำนาจไต่สวนและสั่งคำร้องของจำเลย

(ข)  ศาลจะสั่งให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันฯ  ตามคำร้องของจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  253  วรรคแรก  ถ้าโจทก์มิได้มีภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานอยู่ในราชอาณาจักรและไม่มีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร  หรือถ้าเป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆก่อนพิพากษาขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

มาตรา  253  ทวิ  ในกรณีที่โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาถ้ามีเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรา  253  วรรคหนึ่ง  จำเลยอาจยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณีไม่ว่าเวลาใดๆ  ก่อนพิพากษา  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์วางเงินต่อศาลหรือหาประกันมาให้เพื่อการชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้

วินิจฉัย

(ก)  ศาลใดมีอำนาจไต่สวนและสั่งคำร้องของจำเลย  เห็นว่า  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยร้องขอคุ้มครองในขณะที่คดีอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี  กรณีเช่นนี้  แสดงว่าศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความไปยังศาลอุทธรณ์แล้ว  ศาลอุทธรณ์จึงเป็นศาลที่มีอำนาจไต่สวนและสั่งคำร้องของจำเลย

(ข)  ศาลจะสั่งให้โจทก์วางเงินหรือหาประกันฯตามคำร้องของจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  การคุ้มครองประโยชน์  ตามมาตรา  253  ทวิ  ต้องเป็นกรณีโจทก์แพ้คดีในศาลชั้นต้น  แล้วโจทก์อุทธรณ์  ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีโจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปจากประเทศไทยทั้งไม่มีสำนักทำการงานและทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร  หรือเป็นคดีที่เชื่อได้ว่าเมื่อโจทก์แพ้คดีแล้วจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย  ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจำเลยอาจร้องขอคุ้มครอง  ตามมาตรา  253  และมาตรา  253  ทวิได้  แต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า  จำเลยเป็นฝ่ายอุทธรณ์  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตราดังกล่าว  ดังนั้น  ศาลอุทธรณ์จะสั่งตามคำร้องขอของจำเลยไม่ได้  เพราะคำร้องขอของจำเลยไม่เข้าหลักเกณฑ์  มาตรา  253  ทวิ  วรรคแรก

สรุป 

(ก)  ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่มีอำนาจไต่สวนและสั่งคำร้องของจำเลย

(ข)  ศาลอุทธรณ์จะสั่งตามคำร้องขอของจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  4  โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนแหวนเพชร  ราคา  200,000  บาท  ที่จำเลยยืมไปใช้ในวันแต่งงานของเพื่อนร่วมรุ่น  ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา  200,000  บาท  จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนแหวนเพชรดังกล่าว  ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาตามฟ้องแก่โจทก์  คดีถึงที่สุด  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ  เนื่องจากคนร้ายยกเค้าบ้าน  แหวนถูกลักไป  ทั้งไม่มีเงินจะใช้ราคา  โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดียึดรถยนต์ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้  ก่อนถึงวันนัดขายทอดตลาดตำรวจจับคนร้ายได้พร้อมของกลางได้คืนแหวนเพชรให้จำเลย  จำเลยได้นำแหวนเพชรมาคืนให้โจทก์แต่โจทก์ไม่ยอมรับ  อ้างว่าได้ยึดทรัพย์แล้วเลยขั้นตอนที่จะรับคืน  จึงไม่รับคืน  ดังนี้ข้ออ้างของโจทก์รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลต้องดำเนินการบังคับคดีก่อนหลังตามลำดับที่ระบุไว้ในคำพิพากษา  หาใช่เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างหนึ่งอย่างใดตามอำเภอใจไม่  (ฎ. 5641/2540 , ฎ 788/2543)

คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยคืนแหวนเพชร  ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา  200,000  บาท  ให้แก่โจทก์นั้น  เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาให้เป็นไปตามลำดับในคำพิพากษา  กล่าวคือ  ถ้าการบังคับคดีตามลำดับนั้น  ในลำดับแรกยังบังคับได้อยู่  ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิเลือกปฏิบัติการชำระหนี้  อีกทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ก็ไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้ในลำดับหลังเช่นกัน

เมื่อได้ความว่า  ตำรวจจับคนร้ายพร้อมของกลางและได้คืนแหวนเพชรให้จำเลย  ทำให้จำเลยสามารถนำแหวนเพชรมาคืนให้โจทก์ได้  กรณีเช่นนี้  ต้องถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว  ข้อที่ว่าหากจำเลยคืนแหวนเพชรไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาจึงไม่เกิดขึ้น  แม้โจทก์ได้ขอหมายบังคับคดียึดรถยนต์ของจำเลยเพื่อขายทอดตลาดมาชำระหนี้  ซึ่งเป็นการบังคับชำระหนี้ในลำดับที่  2  แล้วก็ตาม  แต่เมื่อจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะนำแหวนเพชรมาคืนให้โจทก์ได้  ก็ไม่มีเหตุที่จะขายทอดตลาดรถยนต์อีกต่อไป

ดังนั้น  เมื่อจำเลยได้นำแหวนเพชรมาคืนโจทก์  โจทก์ไม่ยอมรับโดยอ้างว่าได้ยึดทรัพย์แล้ว  เลยขั้นตอนที่จะรับคืน  จึงรับคืนไม่ได้  ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้ออ้างของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

WordPress Ads
error: Content is protected !!