การสอบซ่อมภาค 2 และภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายหนึ่งออกเช็คชำระหนี้ให้นางสอง 100,000 บาท นายสองนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีนายหนึ่งไม่พอจ่าย นายสองนำเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน”
เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้ลงโทษนายหนึ่งทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการและคำร้องของนายสองว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
มาตรา 121 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
วินิจฉัย
นายสองเป็นผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายสองจึงเป็นผู้เสียหายทางอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ตามมาตรา 2(4) แต่การที่นายสองนำเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” ถือว่านายสองยังไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ (ฎ. 62/2521) ถ้อยคำที่แจ้งจึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตามมาตรา 2(7)
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 121 วรรคสอง ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ
เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว จึงไม่มีคำฟ้องอยู่ในศาล นายสองแม้จะเป็นผู้เสียหายก็ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 ศาลจึงต้องสั่งยกคำร้องของนายสองเช่นเดียวกัน
(ฎ. 228/2544)
สรุป ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการและต้องสั่งยกคำร้องของนายสองเช่นเดียวกัน