การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
ให้วินิจฉัยตามประเด็น ดังนี้
(ก) คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ข) ศาลจะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้หรือไม่
(ค) โจทก์จะขอแก้ฟ้องให้ถูกต้องตามกฎหมายได้หรือไม่
(ง) หากโจทก์มิได้ขอแก้ฟ้องให้ถูกต้องและศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์แล้ว โจทก์
จะนำคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ โดยบรรยายฟ้องให้ถูกต้องได้หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายซึ่งเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิด มิใช่เป็นเพียงรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา การที่โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ตามสัญญา รับสภาพหนี้และแนบสำเนาสัญญารับสภาพหนี้มาท้ายฟ้อง จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดเพราะการรับสภาพหนี้มิได้ก่อให้เกิดมูลหนี้ขึ้นใหม่ เพียงแต่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/14(1) เท่านั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5) ฎ.307/2539
(ข) แม้ ป.วิ.อาญา มาตรา 161 จะบัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง” ก็ตาม แต่คำฟ้องที่โจทก์บรรยายมาไม่ครบองค์ประกอบความผิดนั้น เป็นฟ้องที่ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยศาลไม่อาจสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ถูกต้องได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1486/2530, 1459/2527) ( 5 คะแนน)(ค) เมื่อฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่บรรยายมาไม่ครบองค์ประกอบความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องมาแต่ต้นแล้ว โจทก์จะมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้ถูกต้องขึ้นหาได้ไม่ การร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องเกี่ยวกับฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 164 นั้น ฟ้องของโจทก์จะต้องเป็นฟ้องที่บรรยายมาครบองค์ประกอบของความผิดมาแต่ต้นแล้ว (คำพิพากษาฎีกาที่ 1062/2504) การที่โจทก์จะมาขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในภายหลังเพื่อให้ฟ้องโจทก์สมบูรณ์ขึ้น อันเป็นการกระทำให้จำเลยเสียเปรียบ ย่อมไม่อาจกระทำได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2006/2541) (5 คะแนน)
(ง) การที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะฟ้องโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดนั้น ถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) หากโจทก์นำคดีเรื่องเดียวกันนี้มาฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ ย่อมเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่อาจฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่โดยบรรยายฟ้องให้ถูกต้องได้อีก (คำพิพากษาฎีกาที่ 6770/2546) (5 คะแนน)
ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 1 มกราคม 2551 เวลากลางวัน จำเลยได้ลักเอารถจักรยานยนต์ของนายศักดิ์ แสนดี ผู้เสียหายไปโดยทุจริต และก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 123/2551 ของศาลนี้ และศาลให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกภายในกำหนดเวลาที่ศาลรอการลงโทษ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (1) และบวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 123/2551 ที่ศาลรอการลงโทษไว้เข้ากับโทษในคดีนี้ ในวันนัดพิจารณา จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาไปโดยไม่สืบพยานได้หรือไม่ และจะพิพากษาลงโทษจำเลยกับบวกโทษจำเลยตามฟ้องได้หรือไม่ อย่างไร
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท และมาตรา 335 (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
ธงคำตอบ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 335(1) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท จึงมิใช่คดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือสถานที่หนักกว่านั้นซึ่งศาลจะต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ได้
แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องเสมอไป ศาลจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามฟ้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ คำรับสารภาพของจำเลยที่ว่า จำเลยรับสารภาพตามฟ้อง เป็นคำให้การที่ไม่ชัดเจนว่าจำเลยได้ลักทรัพย์ตามฟ้องในเวลากลางวันหรือกลางคืน เพราะเหตุอาจเกิดในเวลากลางวันก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่ติดใจสืบพยาน จึงต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวัน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 (คำพิพากษาฎีกาที่ 4537/2548 และ 4790/2550) และคำให้การของจำเลยที่รับสารภาพตามฟ้อง ย่อมถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องที่จำเลยเคยต้องโทษจำคุกในอีกคดีหนึ่งที่ศาลรอการลงโทษไว้ตามฟ้องโจทก์ด้วย ศาลชอบที่จะให้บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้คดีก่อนตามฟ้องได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 5248/2546 (ประชุมใหญ่)) (13 คะแนน)
ดังนั้น ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และหากคดีนี้ศาลลงโทษจำเลยถึงจำคุก ก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้บวกโทษจำคุกของจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 123/2551 ที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ได้ด้วย (2 คะแนน)
ข้อ 3. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันลักทรัพย์โทรศัพท์มือถือของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ มิฉะนั้นจะยิงเสียให้ตาย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 83 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า เฉพาะจำเลยที่ 1 เพียงลำพังเท่านั้นที่ขู่เข็ญผู้เสียหายแต่มิได้ใช้อาวุธปืน ขู่เข็ญ จำเลยที่ 1 เพียงแต่อ้างว่าตนเองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ หากผู้เสียหายไม่ยอมส่งมอบโทรศัพท์มือถือให้ จะแกล้งยัดยาบ้าและจับกุมผู้เสียหายฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง อันเป็นความผิดฐานกรรโชก และเมื่อได้รับโทรศัพท์มือถือจากผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำโทรศัพท์มือถือนั้นไปขายให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับซื้อไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาจากการกระทำความผิดอันเป็นความผิดฐานรับของโจร หากข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไปนั้นเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลงต่อสู้
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ฐานชิงทรัพย์ แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานกรรโชกก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญ อันเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง (คำพิพากษาฎีกาที่ 2912/2550)
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานชิงทรัพย์ แม้ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจรก็ตาม แต่การกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องก็เป็นการลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นการได้ทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานรับของโจทก์ตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 599/2532)
ข้อ 4 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษปรับ 5,000 บาท ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ลงโทษจำคุก 1 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
ดังนี้ โจทก์ จำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 ระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 342 ระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ป.วิ.อาญา มาตรา 218, 219 (5 คะแนน)
วินิจฉัย
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ลงโทษปรับ 5,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 342 ลงโทษจำคุก 1 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ถือว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก เพราะแก้ไขทั้งบทและโทษ ทั้งยังใช้ดุลพินิจต่างกันในเรื่องรอการลงโทษด้วย กรณีนี้จึงไม่ห้ามคู่ความฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 218 จึงต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ต่อไป (5 คะแนน)
การที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษ จำคุกจำเลยไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท กรณีนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 219 ห้ามโจทก์ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนจำเลยจะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วยเท่านั้น
จากการวินิจฉัยข้างต้นสรุปได้ว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับ และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก แต่รอการลงโทษไว้ ถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เพราะเป็นการกำหนดโทษจำคุกโดยมีเงื่อนไขให้เป็นคุณแก่จำเลย อีกทั้งการที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนบทลงโทษจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาเป็นมาตรา 342 ก็ถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเท่านั้น (ฎีกา 4525/2533)
ดังนั้น ทั้งโจทก์และจำเลย จึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้