การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ ก่อนถึงวันนัด 2 วัน โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายป่วย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตในวันนั้นเอง โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งแต่ประการใด ครั้นถึงวันนัดปรากฏว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่มาศาล ศาลจึงมีคำสั่งว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณาให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ดังนี้ โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี และจะอุทธรณ์ในข้อจำหน่ายคดีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 226 ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228
(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา
(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงาน คู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
มาตรา 227 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา 18 หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาและให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี
มาตรา 228 ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือ
(1) ให้กักขัง หรือปรับไหม หรือจำขัง ผู้ใด ตามประมวลกฎหมายนี้
(2) มีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือมีคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อจะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป หรือ
(3) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18 หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ
คำสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป
แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (3) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้นจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์ หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น
ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา 223
วินิจฉัย
คำสั่งของศาลที่จะถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณานั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1 จะต้องเป็นคำสั่งของศาลที่สั่งก่อนชี้ขาดตัดสินหรือจำหน่ายคดี
2 เมื่อศาลสั่งไปแล้วไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลยังต้องทำคดีนั้นต่อไป
3 ไม่ใช่คำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227 และมาตรา 228
เมื่อเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว คู่ความจะอุทธรณ์คำสั่งทันทีไม่ได้ ต้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งไว้ก่อนจึงจะเกิดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นตามมาตรา 226 (2) ส่วนคำสั่งของศาลนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ 3 ประการนี้ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องโต้แย้งก่อนที่จะอุทธรณ์แต่ประการใด (อุทธรณ์ได้ทันที)
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีได้หรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีถือเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณากล่าวคือ เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วศาลยังต้องพิจารณาคดีนั้นอีกต่อไป (ไม่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล) เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลไว้ อีกทั้งโจทก์ก็มีเวลาที่จะโต้แย้งถึง 2 วัน ซึ่งนับได้ว่าโจทก์มีเวลาเพียงพอที่จะโต้แย้งคำสั่งได้ กรณีเช่นนี้ เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งเช่นว่านั้นไว้ จึงหมดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี ตามมาตรา 226 (2) ประกอบมาตรา 226 (1) (ฎ.756/2543)
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในข้อจำหน่ายคดีได้หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งจำหน่ายคดีไม่ถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาคดี กล่าวคือ เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วทำให้คดีเสร็จไปจากศาล กล่าวคือ ศาลไม่มีหน้าที่ต้องพิจารณาคดีนั้นอีกต่อไป กรณีเช่นนี้ โจทก์อุทธรณ์ได้ แม้โจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งไว้ก็ตาม เพราะคำสั่งจำหน่ายคดีไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา ทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าเป็นที่สุด หรือห้ามหรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์แต่ประการใด (ฎ.1365/2530)
สรุป โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีไม่ได้ แต่สามารถอุทธรณ์ในคำสั่งจำหน่ายคดีได้