LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 S/2546

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2546

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์  ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ  ศาลอนุญาต

(ก)  ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก  พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมไม่มาศาล  คงมีแต่ทนายความของโจทก์ร่วมมาศาล  กรณีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก  พนักงานอัยการ  โจทก์ร่วมและทนายความของโจทก์ร่วมไม่มาศาล  กรณีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  166  วรรคแรก  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

มาตรา  181  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา  139  และ  166  มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม

วินิจฉัย

(ก)  กรณีโจทก์ขาดนัด  ซึ่งเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง  ตามมาตรา  166  นั้น  นอกจากหมายถึงกรณีโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว  ยังรวมถึงกรณีโจทก์ขาดนัดพิจารณาคดี  ตามมาตรา  181  ด้วย

ศาลจะพิพากษายกฟ้อง  เพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์ร่วมไม่มาศาลตามกำหนดนัด  แต่ทนายความของโจทก์ร่วมยังมาศาล  ในกรณีนี้ศาลจะยกฟ้อง  เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้  เพราะถือว่า  ทนายความมาทำหน้าที่แทนโจทก์ร่วมแล้ว  (ฎ. 1382/2496)

ส่วนกรณีที่พนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด  แต่โจทก์ร่วมมาศาล  ในกรณีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง  เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้เช่นกัน  เพราะถือว่ายังมีโจทก์ร่วมที่มีฐานะเป็นโจทก์มาศาลอยู่  (ฎ. 1519/2497)

ดังนั้น  เมื่อฟังได้ความว่า  ทนายความของโจทก์ร่วมมาศาล  อันถือว่าทนายความมาทำหน้าที่แทนโจทก์ร่วม  เท่ากับว่ายังมีโจทก์มาศาล  จึงไม่ต้องด้วยมาตรา  166  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  181  ที่ศาลจะยกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้แต่อย่างใด

(ข)  ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ขาดนัดได้หรือไม่  เห็นว่า  ในวันนัดสืบพยานจำเลยนัดแรก  พนักงานอัยการโจทก์ร่วมและทนายความของโจทก์ร่วมไม่มาศาล  ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัด  ในกรณีเช่นนี้  การที่ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากการที่ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์  เพราะโจทก์ขาดนัดนั้น  ใช้ได้เฉพาะกรณีนัดสืบพยานโจทก์ทุกนัดเท่านั้น  ไม่ใช้กับกรณีนัดสืบพยานจำเลย  เพราะในขณะนั้นโจทก์ไม่มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อศาลแล้ว  หากโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานจำเลย  โจทก์ก็ย่อมเสียสิทธิในการคัดค้านพยานจำเลยเท่านั้น  กรณีนี้ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้  ไม่ต้องด้วยมาตรา  166  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  181  แต่อย่างใด  (ฎ. 1256/2521)

สรุป

(ก)  ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้

(ข)  ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัดไม่ได้

 

ข้อ  2  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297  (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี)  และมีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบอีกกึ่งหนึ่งด้วย

จำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพตามฟ้อง  โจทก์และจำเลยต่างแถลงต่อศาลว่าของดสืบพยาน ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษ  และเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

การที่จำเลยสารภาพตามฟ้อง  โดยหลักแล้วศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ก็ได้ 

(ฎ. 1214/2529)  เว้นแต่ในกรณีที่ความผิดที่จำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  ที่แม้จำเลยจะรับสารภาพตามฟ้องแล้ว  ศาลก็ยังต้องให้โจทก์สืบพยานให้เห็นว่า  จำเลยได้กระทำผิดจริง  ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสที่จำเลยรับสารภาพ  กฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ให้จำคุกตั้งแต่  6  เดือนถึง  10  ปี  ไม่ใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  เมื่อจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์  ตามมาตรา  176  วรรคแรก

ส่วนการเพิ่มเติมโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ  จากคำรับสารภาพของจำเลยที่ว่า  ขอรับสารภาพตามฟ้อง  นั้น  หมายความถึงจำเลยรับสารภาพในความผิดทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  และรับสารภาพในเรื่องที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วย  กรณีนี้แม้โจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลก็พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้  (ฎ. 2167/2547  ฎ. 2413/2547)

สรุป  ศาลจึงพิพากษาลงโทษและเพิ่มเติมโทษจำเลยได้

 

ข้อ  3  แต่ละกรณีดังต่อไปนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  กรณีที่ลงโทษได้โทษสูงสุดที่ลงโทษได้เป็นเท่าใด

(ก)  โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  จำเลยไม่ได้หลงต่อสู้  ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  288

(ข)  โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่น  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288จำเลยหลงต่อสู้ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย   ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต  หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่า  ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้  ศาลจะลงโทษจำเลย  ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้อง  และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  แต่จากการสืบพยานได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  เป็นกรณีข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องกรณีเช่นนี้  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ  เว้นแต่ปรากฏว่า  การที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้  สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงได้ความว่า  ข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  เป็นข้อแตกต่างมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ในกรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาได้โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  ดังนั้น  คดีนี้ศาลจะพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้  ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

(ข)  ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่น  ซึ่งเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่จากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ในกรณีเช่นนี้  แม้ว่าจะเป็นข้อแตดต่างที่มิใช่ข้อสาระสำคัญ  แต่เมื่อได้ความว่า  จำเลยหลงต่อสู้  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความไม่ได้ตามมาตรา  192  วรรคสอง

สรุป

(ก)  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

(ข)  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ  4  นายเอกเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายโทฐานลักทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว

(ก)  ศาลชั้นต้นส่งว่าคดีมีมูล  ประทับฟ้อง  กรณีนี้นายโทจะอุทธรณ์ว่าคดีไม่มีมูลได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  ศาลชั้นต้นสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  กรณีนี้นายเอกจะอุทธรณ์ว่าคดีมีมูลได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

มาตรา  193  ทวิ  ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่

กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

(ก)  เมื่อนายเอกเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาล  ขอให้ลงโทษนายโทฐานลักทรัพย์  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล  ประทับฟ้อง  ในกรณีนี้แม้ได้ความว่า  นายโทผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว นายโทจึงอุทธรณ์ว่าคดีไม่มีมูลไม่ได้  ต้องห้ามตามมาตรา  170  วรรคแรก 

(ฎ. 1895/2519)

(ข)  การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูลแล้วพิพากษายกฟ้อง  ในกรณีนี้ตามมาตรา  170  วรรคแรก  บัญญัติว่าโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติลักษณะอุทธรณ์ฎีกา  ซึ่งมีความว่า  จะต้องพิจารณาถึงข้อห้ามอุทธรณ์และข้อห้ามฎีกาด้วย

การที่นายเอกอุทธรณ์ว่าคดีมีมูล  เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาสืบเนื่องจากการที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งว่าคดีไม่มีมูล  อุทธรณ์ของนายโทจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  เมื่อได้ความว่า  คดีนี้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์  ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  และปรับไม่เกิน  6 พันบาท  จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา  193  ทวิ

สรุป

(ก)  นายโทอุทธรณ์ว่าคดีไม่มีมูลไม่ได้

(ข)  นายเอกอุทธรณ์ว่าคดีมีมูลไม่ได้เช่นกัน

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านายแสงจำเลยกับพวกอีกสามคนซึ่งหลบหนีได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์  เหตุเกิดเมื่อวันที่  10  เมษายน  พ.ศ. 2547  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  ที่ตำบลนาจอมเทียน  อำเภอสัตหีบ  จังหวัดชลบุรี  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  340  นายแสงจำเลยให้การปฏิเสธว่าตนมิได้กระทำความผิดตามวันเวลาที่โจทก์อ้างในฟ้อง  จำเลยเมาสุราและได้ไปที่บ้านของผู้เสียหายจริง  แต่ไม่ได้ปล้นทรัพย์  จำเลยเพียงแต่ขอเงินจากผู้เสียหายมาใช้บ้างเท่านั้น

ในชั้นพิจารณา  เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว  2  ปาก  พนักงานอัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง  โดยขอแก้วันเวลาเกิดเหตุเป็นวันที่  15  เมษายน  พ.ศ. 2547  เวลากลางคืนก่อนเที่ยง  อ้างว่าฟ้องเดิมบกพร่องเพราะความพลั้งเผลอของผู้พิมพ์ฟ้อง  ดังนี้  ศาลควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  163  เมื่อมีเหตุอันควร  โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้  เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้  และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

มาตรา  164  คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น  ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  ห้ามมิให้ศาลอนุญาตแต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี  การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี  ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ  เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้น  ต้องได้ความว่า  โจทก์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการและไม่ต้องห้ามเงื่อนไขในเนื้อหา  ซึ่งแยกพิจารณาดังนี้

1       เงื่อนไขในวิธีการ  โจทก์ต้องยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาของศาล  ตามมาตรา  163  วรรคแรก

2       เงื่อนไขในเนื้อหา  คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมของโจทก์  ต้องไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  ตามมาตรา  164

กรณีตามอุทาหรณ์  พนักงานอัยการโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง  โดยทำคำร้องยื่นต่อศาลก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  โดยอ้างว่าฟ้องเดิมบกพร่องเพราะความพลั้งเผลอของผู้พิมพ์ฟ้อง  ซึ่งถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร (ฎ. 1967/2497  ฎ. 1377/2513)  การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว  จึงถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการ  ตามมาตรา  163  วรรคแรก

สำหรับเนื้อหาที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น  โจทก์ขอแก้วันเวลาเกิดเหตุจากวันที่  10  เมษายน  พ.ศ. 2547  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  เป็นวันที่  15  เมษายน  พ.ศ. 2547  เวลากลางคืนก่อนเที่ยง  คดีนี้นายแสงจำเลยให้การปฏิเสธว่าตนมิได้กระทำความผิด  และต่อสู้คดีว่าตามวันเวลาที่โจทก์อ้างในฟ้อง  จำเลยเมาสุราและได้ไปที่บ้านของผู้เสียหายจริง  แต่ไม่ได้ปล้นทรัพย์  จำเลยเพียงแต่ขอเงินจากผู้เสียหายมาใช้บางส่วนเท่านั้น  คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยดังกล่าวนี้  เห็นได้ว่า  จำเลยมิได้หลงหยิบยกเอาของที่  (โจทก์เขียนไว้)  ผิดในฟ้องเดิมมาเป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลย  เพราะจำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าวันเวลาเกิดเหตุจำเลยมิได้อยู่ในที่เกิดเหตุ
(อ้างฐานที่อยู่)  จึงต้องถือว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้  (ฎ. 2195/2515)  ในกรณีเช่นนี้  หากศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไจเพิ่มเติมฟ้อง  ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด  จึงไม่ต้องห้ามตามเงื่อนไขในเนื้อหา  ตามมาตรา  164  เช่นเดียวกัน (ฎ. 203/2540)

สรุป  ศาลควรอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง

 

 

ข้อ  2  การยื่นฟ้องคดีอาญาของโจทก์  ดังปรากฏกรณีดังต่อไปนี้

(ก)  ในกรณีพนักงานอัยการเป็นโจทก์จำเลยซึ่งมีอัตราโทษจำคุก  ในวันโจทก์ยื่นฟ้อง  โจทก์และจำเลยไปศาล  เมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว  จำเลยให้การรับสารภาพ  ศาลเห็นว่าคดีเสร็จการพิจารณา  จึงพิพากษาลงโทษจำเลยไปตามความผิดในวันเดียวกันนั้น

(ข)  ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์  ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  จำเลยไปศาลโดยไม่มีทนายความและได้ให้การรับสารภาพต่อศาล  ศาลเห็นว่า  เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ  จึงงดการไต่สวนมูลฟ้อง  และประทับฟ้องแล้วพิพากษาลงโทษไปตามความผิดตามฟ้องในวันเดียวกันนั้น

ดังนี้ ขอให้วินิจฉัยว่า  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้ง  2  กรณีดังกล่าวชอบหรือไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้วหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  162  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ให้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ให้จัดการตามอนุมาตรา  (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์  ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว  ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ  ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา

มาตรา  173  วรรคสอง  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก  ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ก่อนที่ศาลจะสอบถามคำให้การจำเลย  ซึ่งตามฟ้องมีอัตราโทษจำคุก  ศาลจะต้องสอบถามจำเลยก่อนว่ามีทนายความหรือไม่  หากไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ  ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว  จำเลยให้การรับสารภาพศาลเห็นว่าคดีเสร็จการพิจารณาจึงพิพากษาลงโทษจำเลยไปตามความผิด  โดยไม่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาดังกล่าว  จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ  ตามมาตรา  173  วรรคสอง  (ฎ. 2020/2542)

(ข)  ตามมาตรา  162(1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  โดยหลักแล้วศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนทุกคดี  เว้นแต่  ถ้าพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันนั้นแล้วต้องจัดการ  ตามมาตรา  162(2)  กล่าวคือ  ไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับฟ้องไว้พิจารณาก็ได้

การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  เมื่อจำเลยไปศาลและให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง  ศาลชั้นต้นได้งดการไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้อง  แล้วพิจารณาลงโทษจำเลยไปตามความผิด  ในวันเดียวกันนั้น  กรณีเช่นนี้  เมื่อได้ความว่า  คดีดังกล่าวเป็นคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง  ศาลจึงต้องอยู่ในบังคับที่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน  อีกทั้งในคดีดังกล่าว  ก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะทำให้ศาลประทับฟ้องโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนแต่อย่างใด  เนื่องจากในคดีนี้พนักงานอัยการไม่ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องด้วย  ดังนั้นเมื่อศาลยังมิได้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่สั่งประทับฟ้องเลย  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว  จึงไม่ชอบ  ตามมาตรา  162(1)  ประกอบวรรคสอง  (ฎ. 477/2508)

สรุป

(ก)  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
 

ข้อ  3  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านางขาวจำเลยทำให้ปืนลั่นโดยประมาทถูกนางแดงเป็นเหตุให้นายแดงถึงแก่ความตายเหตุเกิดเมื่อวันที่  5  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2548  เวลากลางวันที่แขวงหัวหมาก  เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  นางขาวจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง  แต่จำเลยจำต้องใช้ปืนยิงนายแดงเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด  ขอให้ศาลยกฟ้อง

ในการพิจารณาคดี  ปรากฏข้อเท็จจริงว่าตามวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์ฟ้อง  นางขาวจำเลยได้ใช้ปืนยิงนายแดงถึงแก่ความตายโดยมีเจตนาฆ่า  มิใช่การกระทำเพื่อป้องกันดังที่นางขาวจำเลยให้การ  เช่นนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่เพียงใด  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต  หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

เป็นกรณีข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในฟ้อง  กล่าวคือ  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านางขาวจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  แต่ในทางพิจารณาได้ความว่านางขาวจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดโดยเจตนากับการกระทำความผิดโดยประมาทนั้น  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ

คดีนี้  นางขาวจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง  แต่จำเลยจำต้องใช้ปืนยิงนายแดง  (ผู้ตาย)  เพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  ประเด็นข้อต่อสู้ของนางขาวจำเลยจึงอยู่ที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือไม่เท่านั้น  จำเลยมิได้หลงต่อสู้  (ฎ. 755/2494  ฎ. 992/2494)  ศาลจึงมีอำนาจตามมาตรา  192  วรรคสอง  ที่จะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา  คือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม  ป.อ.  มาตรา  288  ได้

อย่างไรก็ตาม  มาตรา  192  วรรคสาม  จำกัดอำนาจศาลไว้ว่า  ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น  ในกรณีนี้ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่กำหนดโทษจำคุกได้ไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตามมาตรา  291

สรุป  ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  แต่กำหนดโทษจำคุกได้ไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตามมาตรา  291
 

ข้อ  4  แต่ละกรณีดังต่อไปนี้  ให้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ก)  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษปรับจำเลย  5,000  บาท  จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลย  1  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  2  ปี  กรณีหนึ่ง

(ข)  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  ลงโทษประหารชีวิตแต่เนื่องจากคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี  ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม  ให้จำคุกตลอดชีวิต  จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ต้องลดโทษให้จำเลย  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่ากระทำผิดจริงและไม่มีเหตุอันควรลดโทษพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย  อีกกรณีหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

วินิจฉัย

ตามมาตรา  212  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองที่ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

(ก)  การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลย  5,000  บาท  จำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว  เมื่อได้ความว่า  ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุก  1  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  2  ปี  ในกรณีเช่นนี้  แม้โดยปกติโทษจำคุกเป็นโทษอาญาที่หนักกว่าโทษปรับก็ตาม  แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในกรณีนี้ก็ไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เพราะเป็นการกำหนดโทษจำคุกโดยมีเงื่อนไขที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า (ฎ. 4525/2533)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว  จึงชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  212  แต่อย่างใด

(ข)  การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต  และจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว  แม้ได้ความว่า  จำเลยจะอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิต  โดยไม่ต้องลดโทษจำเลย  อันถือว่าเป็นการอุทธรณ์ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว  แต่อย่างไรก็ดีเมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  ศาลอุทธรณ์จึงไม่สามารถพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้  ดังนั้น  การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลย  จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ต้องห้าม  ตามมาตรา  212  (ฎ. 3741/2540)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าว  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป
(ก)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 S/2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นางสมใจราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง  ขอให้ศาลลงโทษนายเอกฐานวิ่งราวทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  นางสมใจยื่นอุทธรณ์  หากปรากฏว่า

(ก)  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง  จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  กรณีหนึ่ง

(ข)  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า  คดีมีมูล  ประทับฟ้องอีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว  นายเอกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  165  วรรคสาม  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป  กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ  จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้  หรือจำเลยจะไม่มา  แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้  ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย  และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

นางสมใจ  ราษฎร  เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญา  ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  พิพากษายกฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้อง  นายเอกจึงยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย  จึงไม่เป็นคู่ความในคดี  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  นายเอกซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้  ตามมาตรา  165  วรรคสาม  (ฎ. 371/2530, ฎ. 3777/2527)

(ข)  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องในกรณีนี้  แม้ได้ความว่า  นายเอกผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว  นายเอกจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน  ตามมาตรา  170  วรรคแรก  (ฎ. 1895/2519)

สรุป 

(ก)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

(ข)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานปลอมพินัยกรรม  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 266  (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี  และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท)  และบรรยายฟ้องด้วยว่า  จำเลยเคยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  268  มีคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกสองปี  แต่จำเลยไม่เข็ดหลาบ กลับมาทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน  จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลลงโทษแก่จำเลยในคดีนี้  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  93

จำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพตามฟ้อง  โจทก์แถลงของดสืบพยาน  ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษและเพิ่มเติมโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

ตามมาตรา  176  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในคดีอาญาทั่วไปหากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์ก็ได้  (ฎ. 1214/2529)  เว้นแต่ในคดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุก  ตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  แม้จำเลยจะรับสารภาพตามฟ้อง  ศาลก็ต้องฟังการสืบพยานโจทก์จนแน่ใจว่าจำเลยกระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้  แต่หากโจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง(ฎ. 591/2536)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดฐานปลอมพินัยกรรม  ตาม  ป.อ.  มาตรา  266  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่  1  ปี  ถึง  10  ปี  แม้ได้ความว่าจะเป็นความผิดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำ  แต่ก็ไม่ใช่อัตราโทษอย่างต่ำตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  เป็นอัตราโทษอย่างต่ำเพียง  1  ปีเท่านั้น  ดังนั้น  เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง    ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้  ตามมาตรา  176  วรรคแรก

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพตามฟ้อง  มีความหมายว่าจำเลยรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานปลอมพินัยกรรมในคดีหลัง  และรับสารภาพในเรื่องที่โจทก์ขอให้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  ดังนั้น  ศาลจึงพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ 

(ฎ. 2167/2547  ฎ. 2413/2547)

สรุป  ศาลจึงพิพากษาลงโทษและเพิ่มเติมโทษจำเลยได้

 

ข้อ  3  แต่ละกรณีดังต่อไปนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ก)  โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์  แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

(ข)  โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์  แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์

หมายเหตุ  ความผิดฐานชิงทรัพย์  ลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย  หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย

ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า

ความผิดฐานลักทรัพย์  เอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสี่  และวรรคหก  ห้ามมิให้พิพากษา  หรือสั่ง  เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง  และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

วินิจฉัย

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  เป็นกรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยลักทรัพย์กับทำร้ายร่างกายหรือลักทรัพย์กับความผิดต่อเสรีภาพ  แต่เมื่อสืบพยานในศาลได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  จึงเป็นการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  ซึ่งการฉกฉวยเอาซึ่งหน้านี้เป็นส่วนที่โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้  ตามมาตรา  192  วรรคแรก  กรณีเช่นนี้  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้  อีกทั้งยังเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา  192  วรรคสี่อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ดร  ความผิดฐานชิงทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง  เมื่อสืบพยานในศาลได้ความว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้  ตามมาตรา  192  วรรคหก  (ฎ. 831/2532)

ดังนั้น  กรณีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์

(ข)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  แต่จำเลยมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์  เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้น  โจทก์สืบสม  แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตรา  ซึ่งมาตรา  192  วรรคห้า  กำหนดให้ศาลสามารถลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้  แม้ฐานความผิดที่ถูกต้องจะมีอัตราโทษสูงกว่าก็ตาม  เพราะถือว่าเป็นข้อยกเว้นของ  มาตรา  192  วรรคแรก  (ฎ. 391/2509)

ดังนั้น  กรณีนี้ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์

สรุป 

(ก)  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์

(ข)  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  336  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(8)  ลงโทษจำคุก  2  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด  1  ปี  โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น  ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ลงโทษปรับ  6,000  บาท

ดังนี้  จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  218  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย  และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี  หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่  ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา  219   ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย

จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับ  เป็นการฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจลงโทษปรับจำเลย  6,000  บาท  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า   จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  335(8)  ลงโทษจำคุก  2  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  1  ปี  และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  334  ลงโทษปรับ  6,000  บาท  เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นปรับโทษอย่างเดียวและยังเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนทั้งบทลงโทษและโทษด้วย  จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  ในกรณีนี้จึงไม่ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา  218  แต่ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา  219  ต่อไป

เมื่อพิจารณาตามมาตรา  219  แล้วได้ความว่า  การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  4  หมื่นบาท  ตามมาตรา  219  ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่มีข้อยกเว้นให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการลงโทษจำคุก  ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษปรับอย่างเดียว  กรณีนี้ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  (ฎ. 4525/2533)

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ตามมาตรา  219

สรุป  จำเลยฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  310  เหตุเกิดเมื่อวันที่  10  มิถุนายน  พ.ศ.2546  เวลากลางคืนก่อนเที่ยง  ที่ตำบลนาเกลืออำเภอบางละมุง  จังหวัดชลบุรี  จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง

ในชั้นพิจารณา  เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว  ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าวันที่โจทก์หาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องต่างกับคำเบิกความของพยานโจทก์  โจทก์รู้ว่าฟ้องผิดวัน  จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง  โดยขอแก้ไขวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันที่  20  มิถุนายน  พ.ศ. 2546  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  อ้างว่าคำฟ้องเดิมคลาดเคลื่อนเนื่องจากความบกพร่องของผู้พิมพ์คำฟ้อง เช่นนี้  ศาลจะพึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  163  เมื่อมีเหตุอันควร  โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้  เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้  และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

มาตรา  164  คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น  ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  ห้ามมิให้ศาลอนุญาตแต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี  การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี  ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ  เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้น  ต้องได้ความว่า  โจทก์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการและไม่ต้องห้ามเงื่อนไขในเนื้อหา  ซึ่งแยกพิจารณาดังนี้

1       เงื่อนไขในวิธีการ  โจทก์ต้องยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาของศาล  ตามมาตรา  163  วรรคแรก

2       เงื่อนไขในเนื้อหา  คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมของโจทก์  ต้องไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  ตามมาตรา  164

กรณีตามอุทาหรณ์  โจทก์ได้ขอแก้ไขคำฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  โดยทำเป็นคำร้องอ้างเหตุว่า  คำฟ้องเดิมคลาดเคลื่อนเนื่องจากความบกพร่องของผู้พิมพ์คำร้อง  ซึ่งถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร  (ฎ. 1967/2497 

(ฎ. 1377/2513)  การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว  จึงถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการ  ตามมาตรา  163

สำหรับเนื้อหาที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น  โจทก์ขอแก้วันเวลาเกิดเหตุจากวันที่  10  มิถุนายน  พ.ศ. 2546  เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เป็นวันที่  20  มิถุนายน  พ.ศ. 2546  เวลากลางคืนหลังเที่ยง  แต่เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง  และการที่ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าวันที่โจทก์หาว่ากระทำความผิดตามฟ้องต่างกับคำเบิกพยานโจทก์  ซึ่งเป็นการที่จำเลยถือเอาวันที่โจทก์กล่าวหาตามฟ้องเดิมเป็นหลักสำคัญในการต่อสู้คดี  กรณีจึงถือได้ว่า  จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่โจทก์เขียนไว้ผิดในคำฟ้องเดิมกรณีเช่นนี้  หากศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์  จะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี  จึงห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามมาตรา  164

สรุป  ศาลพึงไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง

 

ข้อ  2  คดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ในระหว่างการพิจารณาไต่สวนมูลฟ้อง  ถ้าปรากฏดังกรณีต่อไปนี้ 

(ก)  ในวันศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง  ทนายโจทก์มาศาลแต่ตัวโจทก์และพยานโจทก์ไม่มาศาล  โดยไม่มีเหตุอันควร

(ข)  เมื่อศาลทำการไต่สวนมูลฟ้องโจทก์เสร็จแล้ว  ระหว่างศาลให้โจทก์รอฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา  ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ทนายโจทก์จึงแถลงต่อศาลด้วยวาจา  ขออนุญาตให้ตัวโจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ดังนี้

ทั้งสองกรณีดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาอย่างไร  จึงจะชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ธงคำตอบ

มาตรา  158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ  และมี

(7) ลายมือชื่อโจทก์  ผู้เรียง  ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

มาตรา  163  เมื่อมีเหตุอันควร  โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้  เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้  และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

มาตรา  167  ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล  ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล  ถ้าคดีไม่มีมูลให้พิพากษายกฟ้อง

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  ก่อนที่ศาลจะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา  โจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลรับฟังได้ว่าคดีมีมูลจึงจะประทับรับฟ้องไว้พิจารณา  หากศาลเห็นว่าไม่มีมูลศาลก็จะยกฟ้อง  ตามที่มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา  167

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อได้ความว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง  ทนายโจทก์มาศาล  แต่ตัวโจทก์และพยานโจทก์ไม่มาศาล  โดยไม่มีเหตุอันสมควร  จึงถือว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องให้ศาลเห็นว่า  คดีโจทก์มีมูลตามที่กล่าวหาจำเลยในฟ้อง  (ฎ. 1382/2492)  ศาลชั้นต้นจะต้องยกฟ้องโจทก์  จึงจะชอบตามมาตรา  167

ข)     โดยหลักแล้ว  การฟ้องคดีอาญาตามบทบัญญัติของมาตรา  158(7)  ตัวโจทก์จะต้องลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ฟ้องนั้นจึงจะสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 229/2490)  แต่ในกรณีระหว่างการพิจารณา  ถ้าปรากฏว่าตัวโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ทนายโจทก์ก็มีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  163  ยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้อง  ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อปรากฏว่าหลังจากที่ศาลทำการไต่สวนมูลฟ้องคดีโจทก์เสร็จแล้ว  ในระหว่างที่ศาลให้โจทก์รอฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา  ปรากฏว่าตัวโจทก์ไม่ได้ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติ  มาตรา  158(7)  ทนายโจทก์จึงได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลขออนุญาตให้โจทก์ลงชื่อในท้ายคำฟ้อง  ซึ่งเป็นการขัดต่อบทบัญญัติ  มาตรา  163  ที่บังคับไว้ว่า  การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโจทก์จะต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลจะแถลงด้วยวาจาของแก้ไขเพิ่มเติมต่อศาลนั้นไม่ได้

ดังนั้น  กรณีดังกล่าวศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำแถลงด้วยวาจาของทนายโจทก์แล้วมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์  เพราะคำฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของมาตรา  158 (ฎ. 620/2483)

สรุป

(ก)  ศาลชั้นต้นจะต้องยกฟ้องโจทก์

(ข)  ศาลชั้นต้นต้องยกคำแถลงด้วยวาจาของทนายโจทก์  แล้วมีคำพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ  3  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาท  เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  (กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท)  จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นมิใช่เนื่องจากความประมาทของจำเลย  แต่เกิดเหตุขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจำเลย  จำเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย  ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย

ในทางพิจารณา  ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยแย่งปืนคืนจากผู้ตาย  เมื่อจำเลยแย่งปืนคืนมาได้แล้ว  จำเลยได้ใช้ปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  (กำหนดระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าถึงยี่สิบปี)  เช่นนี้  ศาลพึงพิพากษาคดีนี้อย่างไรจึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณา

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ในทางพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  กรณีเช่นนี้  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ  เว้นแต่ปรากฏว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจำเลย  จำเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย  ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย  คำให้การต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงหยิบยกเอาข้อที่ฟ้องผิดหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องมาเป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลย  จำเลยจึงมิได้หลงต่อสู้

เมื่อปรากฏว่าข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเป็นข้อแตกต่างมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้  กรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาก็ได้  โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  แต่ทั้งนี้  ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น  คดีนี้ศาลพึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

สรุป  ศาลพึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  335(1) (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี  และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท)  จำเลยให้การปฏิเสธ  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท)  ลงโทษจำคุก  1  ปี  โจทก์อุทธรณ์  ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(1)  ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(1)  ลงโทษจำคุก  4  ปี

จำเลยฎีกาฝ่ายเดียวขอให้ศาลลงโทษจำคุกจำเลย  5  ปี  ซึ่งเป็นโทษจำคุกสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้  ศาลฎีกาพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(1)  ไม่มีเหตุอันควรปราณี  จึงให้ลงโทษจำคุกจำเลย  5  ปี  ตามฎีกาของจำเลย  ดังนี้

(ก)  คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  คำพิพากษาศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

มาตรา  220  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

มาตรา  225  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณา  และว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์มาบังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม  เว้นแต่ห้ามมิให้ทำความเห็นแย้ง

วินิจฉัย

(ก)  ตามมาตรา  212  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองที่ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด  ตาม  ป.อ.  มาตรา  334  ลงโทษจำคุก  1  ปี  การที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  335(1)  ถือได้ว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองที่ขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว  เมื่อได้ความว่า  ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  335(1)  ลงโทษจำคุก  4  ปี  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อโจทก์ได้อุทธรณ์ในทำนองที่ขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว  คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  212

(ข)  ตามมาตรา  225  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในชั้นฎีกาให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลชั้นอุทธรณ์มาใช้บังคับในชั้นฎีกาโดยอนุโลม  ดังนั้น  การที่ศาลฎีกาจะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ฎีกาในทำนองที่ขอให้เพิ่มเติมจำเลยด้วยเช่นเดียวกัน

เมื่อได้ความว่าจำเลยฎีกาฝ่ายเดียว  แม้จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลงโทษจำคุกจำเลย  5  ปี  อันถือว่าเป็นการฎีกาขอให้ศาลเพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว  แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ศาลพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  ศาลฎีกาจึงไม่สามารถพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้  ดังนั้น  การที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด  ตาม  ป.อ.  มาตรา  335(1)  จึงเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย  ตามมาตรา  212  ประกอบมาตรา  225  (เทียบ ฎ. 3741/2540)

สรุป 

(ก)  คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  คำพิพากษาของศาลฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นายดำเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่านายขาวบุตรของนายดำตายโดยเจตนา  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288 ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง  ครั้นถึงวันนัดโจทก์และทนายไม่มาศาล 

(ก)  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า  โจทก์ทิ้งฟ้องให้จำหน่ายคดีเสียออกจากสารบบความ  จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นจนพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  กรณีหนึ่ง

(ข)  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้อง  อีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าว  นายดำโจทก์จะนำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนั้นมายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในกำหนดอายุความได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  166  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

มาตรา  15  วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  132  ให้ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้  โดยไม่ต้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องนั้น  และให้กำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควร

(1) เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้อง  ถอนฟ้อง  หรือไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา  ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา  174  มาตรา  175  และมาตรา  193  ทวิ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  174  ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง  คือ 

(2) โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว

วินิจฉัย

(ก)  ตามมาตรา  166  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร  โดยหลักแล้วให้ศาลยกฟ้องเสีย  เว้นแต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้  ในกรณีนี้ศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

นายดำเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยฆ่านายขาวบุตรของนายดำโดยเจตนา  ครั้นถึงวันนัด  โจทก์และทนายโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยอ้างว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง  ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  132  และมาตรา  174(2)  ประกอบ  ป.วิ.อ.  มาตรา  15  ซึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้อง  ตามมาตรา  166  วรรคแรก  ที่กำหนดให้ศาลยกฟ้องโจทก์เสีย  แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีและคำสั่งนั้นถึงที่สุดแล้ว  เนื่องจากจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนด  ผลแห่งคำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้ย่อมไม่ทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไป  ตามมาตรา  39  เพราะมิใช่เป็นการถอนคำร้องทุกข์  ถอนฟ้อง  หรือยอมความกันในคดีความผิดต่อส่วนตัวอีกทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  ดังนั้น  ในกรณีนี้นายดำโจทก์จึงมีสิทธินำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในอายุความได้  ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 1574/2525)

(ข)  เมื่อได้ความว่าศาลได้มีคำสั่งยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดไต่สวนมูลฟ้อง  เมื่อศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จึงต้องด้วยมาตรา  165  วรรคสาม  ที่ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีก  ดังนั้น  นายดำโจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในกำหนดอายุความได้

สรุป

(ก)  นายดำโจทก์มีสิทธินำคดีอาญาเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในอายุความได้

(ข)  นายดำโจทก์ไม่มีอำนาจนำคดีเรื่องเดียวกันนี้มายื่นฟ้องจำเลยใหม่ภายในกำหนดอายุความได้

 

ข้อ  2  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  อัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล  ขอให้ลงโทษในความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่  1  ปี  ถึง  10  ปี  เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว  ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(ก)  จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จริง  และไม่ต้องการทนายความ

(ข)  จำเลยให้การปฏิเสธความผิดตามฟ้อง  โจทก์จึงขอสืบพยาน  ดังนี้  ทั้ง  2  กรณีดังกล่าวขอให้วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรต่อไป  จึงจะชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  172  วรรคแรก  การพิจารณาและสืบพยานในศาล  ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  173  วรรคสอง  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

(ก)  พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่  1  ปี  ถึง  10  ปี  เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว  จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์จริง  และไม่ต้องการทนายความ  เมื่อได้ความว่าในคดีนี้เป็นความผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกอย่างต่ำไม่ถึง  5  ปี  ดังนั้น  ในกรณีนี้ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานได้  ตามมาตรา  176  วรรคแรก

(ข)  เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว  จำเลยให้การปฏิเสธตามฟ้อง  โจทก์จึงสืบพยาน  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อได้ความว่า  จำเลยให้การปฏิเสธความผิดตามฟ้อง  และโจทก์ขอสืบพยาน  ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของ  มาตรา  172  วรรคแรก  กล่าวคือ  นัดพิจารณาสืบพยานหลักฐานโจทก์ต่อจำเลยในศาลโดยเปิดเผย  และก่อนการพิจารณาสืบพยานโจทก์  ศาลจะต้องสอบถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  หากไม่มีและจำเลยต้องการ  ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้  จึงจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย  มาตรา  173  วรรคสอง

สรุป

(ก)  ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานได้

(ข)  ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลย  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยทั้งสามร่วมกันฉ้อโกงทรัพย์ของผู้เสียหาย  ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  341, 83  แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  340, 83  โดยจำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้ว่าความผิดฐานปล้นทรัพย์จะมิได้บัญญัติอยู่ใน  มาตรา  192  วรรคสาม  เช่นเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกงก็ตาม  แต่ความผิดฐานปล้นทรัพย์ก็คือ  ความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่า  ในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยร่วมกันกระทำผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปนั่นเอง  เมื่อการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฉ้อโกงกฎหมายมิให้ถือว่าแตกต่างกันในสาระสำคัญ  การต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์กับฉ้อโกง  ย่อมเข้าเกณฑ์มิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญเช่นกัน  ทั้งมิให้ถือว่าเป็นเรื่องเกินคำขอ  หรือโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษด้วย  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่โจทก์ฟ้องผิดไป  เป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้  ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสามเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้  (ฎ. 599/2532)

สรุป  ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์  ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นก็ได้  แต่ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสามเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้  สำหรับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  นายสามให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ส่วนนายหนึ่งและนายสองให้การปฏิเสธ  ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธเป็นคดีใหม่และพิพากษาลงโทษจำคุกนายสาม  1  ปี  คดีนี้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์

ในคดีที่โจทก์ฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นคดีใหม่  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องโจทก์ลงโทษจำคุกคนละ  1  ปี  นายหนึ่งและนายสองต่างยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง  ส่วนโจทก์ไม่

อุทธรณ์ระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนายสองยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลอนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของนายหนึ่งแล้วพิพากษาว่า  การกระทำของนายหนึ่ง  นายสองและนายสามไม่เป็นความผิด  พิพากษายกฟ้องโจทก์  ปล่อยนายหนึ่งพ้นข้อหาไป

ดังนี้  ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ปล่อยนายสองและนายสามด้วยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  202  วรรคสอง  เมื่อถอนไปแล้ว  ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน  ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์  จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น

มาตรา  213  ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา  ซึ่งให้ลงโทษจำเยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน  ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย  แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี  ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์  ให้มิต้องถูกรับโทษ  หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่ศาลสั่งให้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่  เพราะจำเลยบางคนให้การรับสารภาพตามมาตรา  176  วรรคสอง  ในกรณีเช่นนี้ศาลอุทธรณ์จะยกเอาเหตุในลักษณะคดีที่ฟ้องใหม่ให้มีผลไปถึงจำเลยในคดีเดิมไม่ได้

และในกรณีที่จำเลยหลายคนอยู่ในสำนวนคดีเดียวกัน  จำเลยบางคนยื่นอุทธรณ์และถอนอุทธรณ์ไป  กรณีเช่นนี้ย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน  ตามมาตรา  202  กล่าวคือ  จำเลยที่ถอนอุทธรณ์แล้วจะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้เท่านั้น  แต่ทั้งนี้  หาได้ห้ามศาลอุทธรณ์ใช้อำนาจ  ตามมาตรา  213  แต่อย่างใด  (ฎ. 4093/2530)

การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  การกระทำของนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  ไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นถือได้ว่าเป็นเหตุในลักษณะคดี  เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปล่อยนายหนึ่งพ้นข้อหาไปแล้ว  ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาปล่อยนายสองและนายสามได้ด้วยหรือไม่  ต้องแยกพิจารณาดังนี้

กรณีนายสอง

นายสองเป็นจำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่งในคดีที่แยกมาฟ้องใหม่  แม้นายสองจะเป็นผู้ถอนอุทธรณ์  ซึ่งตามมาตรา  202  วรรคสอง  ถือว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นเด็ดขาดสำหรับนายสองผู้ถอนอุทธรณ์ก็ตาม  แต่ก็มีผลเพียงทำให้นายสองไม่สามารถยื่นอุทธรณ์อีกเท่านั้น  เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุในลักษณะคดีศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงนายสองด้วยก็ได้  ตามมาตรา  213  (ฎ. 4093/2530)

กรณีนายสาม

นายสามรับสารภาพตามฟ้องในคดีแรก  ส่วนในคดีที่โจทก์แยกฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นคดีใหม่  นายสามไม่ได้เป็นจำเลยร่วมด้วย  แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุในลักษณะคดี  กรณีเช่นนี้ศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจยกเหตุที่อยู่ในลักษณะคดีนี้มาพิพากษาให้มีผลไปถึงนายสาม  เพราะนายสามไม่ใช่จำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่ง  กรณีจึงไม่ต้องด้วย  มาตรา  213

สรุป  ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้ปล่อยนายสองได้  แต่จะพิพากษาให้ปล่อยนายสามไม่ได้

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  นางสมใจราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง  ขอให้ศาลลงโทษนายเอกฐานวิ่งราวทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  นางสมใจยื่นอุทธรณ์  หากปรากฏว่า

(ก)  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง  จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  กรณีหนึ่ง

(ข)  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า  คดีมีมูล  ประทับฟ้องอีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว  นายเอกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  165  วรรคสาม  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป  กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ  จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้  หรือจำเลยจะไม่มา  แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้  ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย  และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

นางสมใจ  ราษฎร  เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญา  ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  พิพากษายกฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้อง  นายเอกจึงยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย  จึงไม่เป็นคู่ความในคดี  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  นายเอกซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้  ตามมาตรา  165  วรรคสาม  (ฎ. 371/2530, ฎ. 3777/2527)

(ข)  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องในกรณีนี้  แม้ได้ความว่า  นายเอกผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว  นายเอกจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน  ตามมาตรา  170  วรรคแรก  (ฎ. 1895/2519)

สรุป 

(ก)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

(ข)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านายแดงกระทำความผิดฐานปลอมพินัยกรรม  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  266  (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท)  และโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเคยกระทำความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  268  ถูกศาลพิพากษาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดลงโทษจำคุกสองปีและปรับสี่พันบาท  แต่จำเลยไม่เข็ดหลาบ  กลับกระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษคดีก่อน  จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่ง  ตามประมวลกฎมายอาญา  มาตรา  93  นายแดงจำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง  โจทก์แถลงว่าของดสืบพยาน  ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  176  วรรคแรก  ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น  กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

วินิจฉัย

ในชั้นพิจารณา  ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ  ตามมาตรา  176  วรรคแรก  วางหลักเกณฑ์ทั่วไปไว้ว่า  ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้  แต่มีข้อยกเว้นว่าในคดีที่ฟ้องในฐานความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น  แม้จำเลยรับสารภาพ  ศาลก็ยังพิพากษาไม่ได้  ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้

ความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้อง  กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำให้จำคุกตั้งแต่  5  ปีขึ้นไป  แต่เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้เพียง  1  ปีเท่านั้น  เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง  แม้โจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา  176  วรรคแรก

ส่วนการเพิ่มโทษนั้น  การที่จำเลยให้การว่า  ขอรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง  มีความหมายว่าจำเลยรับเพียงข้อเท็จจริงในส่วนการกระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เท่านั้น  จำเลยมิได้รับข้อเท็จจริงในส่วนการกระทำความผิดซ้ำซึ่งเป็นเหตุเพิ่มโทษด้วย  (ฎ. 3834/2531)  ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน  ศาลจึงพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

สรุป  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้  แต่เพิ่มโทษจำเลยไม่ได้

 

ข้อ  3  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่านางขาวจำเลยทำให้ปืนลั่นโดยประมาทถูกนายแดงเป็นเหตุให้นายแดงถึงแก่ความตายเหตุเกิดเมื่อวันที่  5  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2548  เวลากลางวันที่แขวงหัวหมาก  เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร  ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  นางขาวจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง  แต่จำเลยจำต้องใช้ปืนยิงนายแดงเพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด  ขอให้ศาลยกฟ้อง

ในการพิจารณาคดี  ปรากฏข้อเท็จจริงว่าตามวันเวลาและสถานที่ที่โจทก์ฟ้อง  นางขาวจำเลยได้ใช้ปืนยิงนายแดงถึงแก่ความตายโดยมีเจตนาฆ่า  มิใช่การกระทำเพื่อป้องกันดังที่นางขาวจำเลยให้การ  เช่นนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่เพียงใด  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต  หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

มาตรา  291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

มาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นกรณีข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายในฟ้อง  กล่าวคือ  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่านางขาวจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  แต่ในทางพิจารณาได้ความว่านางขาวจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างการกระทำความผิดโดยเจตนากับการกระทำความผิดโดยประมาทนั้น  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ  (ฎ. 4/2530)

คดีนี้  นางขาวจำเลยให้การว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง  แต่จำเลยจำต้องใช้ปืนยิงนายแดง  (ผู้ตาย)  เพื่อป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ  ประเด็นข้อต่อสู้ของนางขาวจำเลยจึงอยู่ที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือไม่เท่านั้น  จำเลยมิได้หลงต่อสู้  (ฎ. 755/2494  ฎ. 322/2494)  เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณาต่างกับที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อที่ไม่ใช่สาระสำคัญ  และจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ว่าเป็นเจตนาหรือประมาท  ศาลจึงมีอำนาจ  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณา  คือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  ได้

อย่างไรก็ตาม  มาตรา  192  วรรคสาม  ได้จำกัดอำนาจศาลไว้ว่าศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น  ในกรณีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่จะกำหนดโทษจำคุกได้ไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตามป.อ.  มาตรา  291

สรุป  ศาลต้องพิพากษาลงโทษนางขาวจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่กำหนดโทษจำคุกได้ไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

 

ข้อ  4  ในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องอดีตข้าราชการระดับ  8  ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ)    ด้วยการจับหน้าอกแอร์โฮสเตสสายการบินไทย  และศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องโจทก์  ลงโทษจำคุก  15  เดือนและปรับหนึ่งหมื่นห้าพันบาท  แต่เนื่องจากจำเลยเคยรับราชการประกอบคุณงามความดีจนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์  จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด  2  ปี

คดีดังกล่าวได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า  พนักงานอัยการควรยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุก  ดังนี้  ให้ท่านวิเคราะห์ว่า

(ก)  การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย  หรือปัญหาข้อเท็จจริง

(ข)  การยื่นอุทธรณ์ดังกล่าวต้องห้ามตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่  เพราะเหตุใด  และหากท่านตอบว่า  ต้องห้ามอุทธรณ์  ให้ท่านให้คำแนะนำด้วยว่าควรดำเนินการอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  193  ทวิ  ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่

กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี  หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

วินิจฉัย

(ก)  การอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษจำคุก  เป็นอุทธรณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจให้รอการลงโทษจำคุก  การอุทธรณ์ดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง 

(ฎ. 7117/2540)

(ข)  การห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  193  ทวิ  ได้กำหนดอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  6  หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ส่วนการพิจารณาอัตราโทษว่า  เป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้นต้องดูอัตราโทษจากฐานความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นสำคัญ  ไม่ใช่จากอัตราโทษในฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ

กรณีตามอุทาหรณ์  คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงจำเลยฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุต่ำกว่า  15  ปี  โดยใช้กำลังฯ  มีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดจำคุกไม่เกิน  10  ปี  หรือปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถือเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน  3  ปี  คดีนี้จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  193  ทวิ  อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อห้ามอุทธรณ์อื่น  ก็ไม่เป็นการต้องห้ามอุทธรณ์เช่นเดียวกัน

สรุป  การยื่นอุทธรณ์คดีนี้จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 (LA 308),(LW 309) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  เมื่อวันที่  14  กันยายน  2549  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในคดีอาญา  2  สำนวนต่อศาลจังหวัดระยองดังนี้

(ก)  คดีแรก  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของนายเก่งไปโดยสุจริต  แต่บรรยายฟ้องระบุว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  2549  สำนวนหนึ่ง

(ข)  คดีหลัง  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักรถจักรยานยนต์ของนายกาจไปโดยทุจริต  แต่มิได้บรรยายฟ้องระบุวันเวลาเกิดเหตุ  อีกสำนวนหนึ่ง

หากปรากฏว่า  รายการตามฟ้องอื่นในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวนอกจากนี้โจทก์บรรยายฟ้องมาถูกต้องครบถ้วนและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องทั้งสองสำนวน  ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจังหวัดระยองจะพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนอย่างไร  และเมื่อศาลจังหวัดระยองมีคำพิพากษาแล้ว  โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันกับทั้งสองสำนวนดังกล่าวมายื่นฟ้องจำเลยใหม่ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  39  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

มาตรา  158  ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ  และมี

(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด  ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ  อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องไม่ได้บรรยายเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดนั้น  ไม่สามารถนำมาฟ้องใหม่ได้ เพราะถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว  (ฎ. 687/2502 (ประชุมใหญ่))  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเพราะฟ้องระบุเวลากระทำความผิดในอนาคต  อันถือเป็นการยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุม  ในกรณีนี้สามารถนำมาฟ้องใหม่ได้  เพราะถือว่าศาลยังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  (ฎ. 1590/2524)

(ก)  คดีสำนวนแรก  โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันที่  14  กันยายน  2549 แต่บรรยายฟ้องระบุว่าเกิดเหตุวันที่  10  ตุลาคม  2549  จึงเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดในอนาคต  ซึ่งเป็นไปไม่ได้  จึงเป็นคำฟ้องที่จำเลยไม่อาจเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย  แม้จำเลยให้การรับสารภาพโดยมิได้หยิบยกปัญหานี้ขึ้นให้การต่อสู้  ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้  แต่การที่ศาลพิพากษายกฟ้อง  เพราะฟ้องเคลือบคลุมนั้น  ศาลยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาของความผิด  จึงถือไม่ได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  อันจะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป  ตามมาตรา  39(4)  โจทก์จึงชอบที่จะนำคดีเรื่องเดียวกับคดีอาญาสำนวนแรกมายื่นฟ้องจำเลยใหม่ได้  ไม่เป็นฟ้องซ้ำ  (ฎ. 2588/2543  ฎ. 590/2524)

(ข)  คดีสำนวนหลัง  โจทก์ฟ้องจำเลยโดยมิได้ระบุวันเวลาเกิดเหตุ  จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย  มาตรา  158(5)  ที่บัญญัติว่า  ฟ้องต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด  ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่กระทำผิด  เมื่อคำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุวันเวลาเกิดเหตุไว้  จึงถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีเวลาที่จำเลยกระทำความผิด  แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องซึ่งไม่เป็นความผิด  และเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองเช่นกัน  อีกทั้งการที่ศาลยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าไม่มีเวลาที่จำเลยกระทำความผิดเช่นนี้ถือว่าศาลได้วินิจฉัยเนื้อหาของความผิดแล้วจึงเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  เป็นเหตุให้สิทธินำคดีความมาฟ้องระงับไป  ตามมาตรา  39(4)  แล้ว  โจทก์จะนำคดีเรื่องเดียวกันกับคดีอาญาสำนวนหลังมายื่นฟ้องจำเลยใหม่ไม่ได้  เป็นฟ้องซ้ำต้องห้าม  ตามมาตรา  39(4)  ดังกล่าวข้างต้น 

สรุป

(ก)  เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง  โจทก์สามารถนำคดีเรื่องเดียวกันนี้  มาฟ้องจำเลยใหม่ได้

(ข)  เมื่อศาลพิพากษายกฟ้อง  โจทก์ไม่สามารถนำคดี  เรื่องเดียวกันนี้  มาฟ้องจำเลยใหม่ได้

 

ข้อ  2  (ก)  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่านายทองหล่อ  แต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนายดับตาย  แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมิได้เจตนาฆ่านายทองหล่อ  หากแต่มีเจตนาฆ่านายดับคนเดียว  และใช้อาวุธปืนยิงนายดับตาย  กรณีหนึ่ง

(ข)โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยทำอาวุธปืนลั่นโดยประมาท  กระสุนปืนถูกนายซวยตาย  แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยิงนายซวยตายโดยเข้าใจผิดว่าเป็นหมูป่า  และการไม่รู้ข้อเท็จจริงของจำเลยเช่นว่านี้เกิดขึ้นโดยประมาท  อีกกรณีหนึ่ง

ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  หากจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

มาตรา  192  วรรคสอง  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง  โดยหลักให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในกรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

(ก)  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโดยมีเจตนาฆ่านายทองหล่อแต่กระสุนปืนพลาดไปถูกนายดับตาย  อันเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยเจตนากระทำโดยพลาดต่อนายดับ  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288,  60  แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยมิได้มีเจตนาฆ่านายทองหล่อ  หากแต่มีเจตนาฆ่านายดับ  และใช้อาวุธปืนยิงนายดับตาย  ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาจึงเป็นเรื่องที่จำเลยฆ่านายดับตายโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผล  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288,  59  ซึ่งถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องอันเป็นสาระสำคัญ  เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานฆ่านายดับตายโดยเจตนาประสงค์ต่อผลตาม  ป.อ.  มาตรา  288,  59  ที่พิจารณาได้ความได้  ตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  192  วรรคสอง  (ฎ. 1182/2512)

(ข)  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยทำอาวุธปืนลั่นโดยประมาทกระสุนปืนถูกนายซวยตาย  อันเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายซวยตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291,  59  วรรคสี่  แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยิงนายซวยโดยเข้าใจผิดว่าเป็นหมูป่า  และการไม่รู้ข้อเท็จจริงเช่นว่านี้เกิดขึ้นโดยประมาท  ซึ่งตาม  ป.อ.  มาตรา  62  วรรคสอง  บัญญัติให้จำเลยต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าการกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท  กรณีจึงไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญเช่นกัน  เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้  ศาลย่อมมีอำนาจตาม  มาตรา  192  วรรคสอง  ที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายซวยตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ประกอบมาตรา  62  วรรคสอง  ตามที่พิจารณาได้ความได้  (ฎ. 948/2487)

สรุป  ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้

 

ข้อ  3  พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาล  ขอให้พิพากษาลงโทษในคดีอาญาเรื่องหนึ่ง  ในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์  ถ้าปรากฏข้อเท็จจริงในกรณีดังต่อไปนี้

(ก)  อัยการโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดโดยไม่มีเหตุอันสมควร  คงมีแต่ผู้เสียหาย  พยานโจทก์และจำเลยมาศาล

(ข)  อัยการโจทก์และจำเลยไม่มาศาลตามวันนัด  โดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรหรือขอเลื่อนคดี  ดังนี้ท้งสองกรณีดังกล่าว  ขอให้วินิจฉัยว่า  ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้อย่างไร  จึงจะเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  166  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

วินิจฉัย

ตามมาตรา  166  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  โดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ศาลยกฟ้องเสีย  เว้นแต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรจึงมาไม่ได้  ในกรณีเช่นนี้ศาลจะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

(ก)  ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีนี้อย่างไร  เห็นว่าในวันนัดสืบพยานโจทก์  แม้ผู้เสียหาย  พยานโจทก์  จำเลย  จะมาศาลก็ตามแต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้เป็นโจทก์ร่วมในคดีด้วย  ดังนั้นการที่พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร  จึงเป็นการขัดต่อบทบัญญัติ  มาตรา  166  วรรคแรก  ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์          (ฎ. 327/2483)

(ข)  ศาลชั้นต้นจะดำเนินกระบวนการพิจารณาในคดีนี้อย่างไร  เห็นว่าในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์  การที่พนักงานอัยการโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดในวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร  ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องไปได้  ตามมาตรา  166  วรรคแรก  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะมาศาลในวันนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม  (ฎ. 3754/2540 (ประชุมใหญ่))

สรุป  ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้นศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่า  จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด

โจทก์ยื่นอุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์  เพราะเห็นว่า  การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด  ดังนี้

(ก)  โจทก์จะฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงว่า  จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  โจทก์จะฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า  การกระทำของจำเลยเป็นความผิด  ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  220  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น  ไม่ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย  และไม่ว่าจะเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายก็ห้ามทั้งสิ้น  (ฎ. 492/2536  ฎ. 5381/2536)

(ก)  การที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องโจทก์  เพราะเห็นว่า  จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด  เป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์  เพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเป็นการยกฟ้องโดยอาศัยข้อกฎหมายจึงเป็นกรณีที่ว่า  ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์  ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย  ตามมาตรา  220  ดังนั้นเมื่อโจทก์ฎีกาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด  ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษ  อันถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในกรณีนี้โจทก์จึงไม่สามารถฎีกาได้  ต้องห้าม  ตามมาตรา  220

(ข)  เมื่อได้ความว่าทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์อันเป็นเหตุให้คู่ความจะฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและหรือปัญหาข้อกฎหมายอีกไม่ได้  ต้องห้ามตามมาตรา  220  ดังนั้น  เมื่อโจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด  อันถือว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย  ในกรณีนี้จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกา  ตามมาตรา  220  เช่นเดียวกัน

สรุป

(ก)  โจทก์ไม่สามารถฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้

(ข)  โจทก์ไม่สามารถฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายได้เช่นเดียวกัน

LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางสมใจราษฎรเป็นโจทก์ฟ้อง  ขอให้ศาลลงโทษนายเอกฐานวิ่งราวทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท)  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  ยกฟ้อง  นางสมใจยื่นอุทธรณ์  หากปรากฏว่า

(ก)  ศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง  จึงพิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  กรณีหนึ่ง

(ข)  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่า  คดีมีมูล  ประทับฟ้องอีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว  นายเอกไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาและคำสั่งของศาลอุทธรณ์  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  165  วรรคสาม  ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลยให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป  กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ  จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้องโดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้  หรือจำเลยจะไม่มา  แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้  ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย  และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา  ผู้ถูกฟ้องจะยังไม่มีฐานะเป็นจำเลยจนกว่าศาลจะสั่งประทับฟ้อง

นางสมใจ  ราษฎร  เป็นโจทก์ฟ้องนายเอกเป็นคดีอาญา  ศาลชั้นต้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีไม่มีมูล  พิพากษายกฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  เมื่อศาลยังไม่ประทับฟ้อง  นายเอกจึงยังไม่ถือว่าอยู่ในฐานะเป็นจำเลย  จึงไม่เป็นคู่ความในคดี  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมูลฟ้อง  แล้วพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี  นายเอกซึ่งยังไม่มีฐานะเป็นคู่ความจึงไม่มีสิทธิฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้  ตามมาตรา  165  วรรคสาม  (ฎ. 371/2530, ฎ. 3777/2527)

(ข)  เมื่อนางสมใจยื่นอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องในกรณีนี้  แม้ได้ความว่า  นายเอกผู้ถูกฟ้องจะมีฐานะเป็นจำเลยแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าคดีมีมูลนั้นเด็ดขาดแล้ว  นายเอกจึงฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้เช่นเดียวกัน  ตามมาตรา  170  วรรคแรก  (ฎ. 1895/2519)

สรุป 

(ก)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

(ข)  นายเอกจะฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเขียวในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  358  ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้  ในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดี  นางขาวซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ปรึกษาทนายความแล้วมีความเห็นว่าการกระทำของนายเขียวที่ได้กระทำต่อตนและถูกพนักงานอัยการฟ้องแล้วนั้นเป็นการลักทรัพย์  นางขาวจึงมอบอำนาจให้ทนายความฟ้องนายเขียวในความผิดฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334

ศาลตรวจคำฟ้องของนางขาวแล้ว  เห็นว่าถูกต้องตามกฎหมาย  จึงสั่งไต่สวนมูลฟ้อง  ครั้นถึงวันสืบพยานโจทก์ในการไต่สวนมูลฟ้อง  นางขาวและทนายความของนางขาวไม่ไปศาล  ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง  เช่นนี้

(ก)  หากนางขาวต้องการให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่  นางขาวจะทำได้หรือไม่  อย่างไร

(ข)  สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์  พนักงานอัยการจะดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  166  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน  นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้นโดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

วินิจฉัย

 (ก)  นางขาวเป็นโจทก์ฟ้องนายเขียวในความผิดฐานลักทรัพย์แต่ในวันสืบพยานโจทก์  ในการไต่สวนมูลฟ้องนางขาวและทนายความของนางขาวไม่ไปศาล  ศาลจึงพิพากษายกฟ้องในกรณีเช่นนี้  หากนางขาวต้องการให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่  นางขาวอาจกระทำโดย

1       ยื่นคำร้องต่อศาลภายใน  15  วัน  นับแต่วันที่ศาลยกฟ้อง  และ

2       แสดงให้ศาลเห็นว่าตนและทนายความของตนมีเหตุสมควรที่ไม่สามารถมาศาลได้  ตามกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้อง

เมื่อนางขาวปฏิบัติครบหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว  ถ้าศาลเห็นว่าการที่นางขาวและทนายความขาดนัดไต่สวนมูลฟ้อง  เนื่องจากมีเหตุสมควร  ศาลก็จะยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่  ตามมาตรา  165  วรรคสอง

(ข)  โดยหลักแล้ว  คดีที่ศาลยกฟ้อง  เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้น  ตามมาตรา  165  วรรคสาม  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดี่ยวกันอีกไม่ได้  ซึ่งหมายความว่า  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับนั่นเอง  (ฎ. 816/2523)  แต่มีข้อยกเว้นว่าสิทธิฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการยังไม่ระงับ  ถ้าคดีที่ศาลยกฟ้อง  เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้องนั้นเป็นคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  และคดีที่พนักงานอัยการจะฟ้องอีกหรือได้ฟ้องไว้แล้วนั้น  มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว  (ความผิดอันยอมความได้)

สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์  พนักงานอัยการจะดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่  เห็นว่า  คดีที่พนักงานอัยการได้ฟ้องไว้แล้วนั้น  เป็นคดีที่ฟ้องในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้  เมื่อได้ความว่าศาลยกฟ้อง  เนื่องจากโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้อง  จึงส่งผลให้จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกไม่ได้  ซึ่งหมายความถึง  สิทธินำคดีอาญาของพนักงานอัยการมาฟ้องย่อมระงับตามไปด้วย  อีกทั้งในกรณีนี้ก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้น  ตามมาตรา  166  วรรคสาม  เนื่องจากเป็นความผิดต่อส่วนตัว  ดังนั้นพนักงานอัยการจึงไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้

สรุป 

(ก)  หากนางขาวต้องการให้ศาลยกคดีขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่  นางขาวสามารถทำได้ตามหลักเกณฑ์ที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น

(ข)  สำหรับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์  พนักงานอัยการไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้

 

ข้อ  3  แต่ละกรณีดังต่อไปนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ก)  โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์  แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์

(ข)  โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์  แต่ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคแรก  วรรคสี่  วรรคห้าและวรรคหก  ห้ามมิให้พิพากษา  หรือสั่ง  เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงบางข้อดังกล่าวในฟ้อง  และตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้นๆ

ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสมแต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด  ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

วินิจฉัย

(ก)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  เป็นกรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยลักทรัพย์กับทำร้ายร่างกายหรือลักทรัพย์กับความผิดต่อเสรีภาพ  แต่เมื่อสืบพยานในศาลได้ความว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  จึงเป็นการสืบพยานได้ความว่า  จำเลยลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  ซึ่งการฉกฉวยเอาซึ่งหน้านี้เป็นส่วนที่โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ได้  ตามมาตรา  192  วรรคแรก  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้  อีกทั้งยังเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  192  วรรคสี่อีกด้วย

แต่อย่างไรก็ดี  ความผิดฐานชิงทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้ในตัวเอง  เมื่อสืบพยานในศาลได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ได้  ตามมาตรา  192  วรรคหก  (ฎ. 831/2532)

ดังนั้น  กรณีนี้ศาลจึงต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์

(ข)  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานใดได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์  เป็นกรณีที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์กับทำร้ายร่างกาย  หรือลักทรัพย์กับความผิดต่อเสรีภาพ  เพราะจากการสืบพยานในศาลก็ได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เช่นเดียวกัน  แต่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์  ในกรณีเช่นนี้  จึงเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม  แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด  ซึ่งตามมาตรา  192  วรรคห้ากำหนดให้ศาลสามารถลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้  แม้ฐานความผิดที่ถูกต้องจะมีอัตราโทษสูงกว่าก็ตาม  เพราะถือว่าเป็นข้อยกเว้นของมาตรา  192  วรรคแรก  (ฎ. 391/2509)

สรุป 

(ก)  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์

(ข)  ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามว่าร่วมกันวิ่งราวทรัพย์  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี)  นายสามรับสารภาพ  แต่นายหนึ่งและนายสองให้การปฏิเสธ  ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธเป็นคดีใหม่และพิพากษาลงโทษ  จำคุกนายสาม  2  ปี  คดีนี้ไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์  พนักงานอัยการฟ้องนายหนึ่งและนายสองเป็นคดีใหม่  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่านายสองมีความผิดตามฟ้องโจทก์  ลงโทษจำคุก  2  ปี  ส่วนนายหนึ่งไม่มีความผิด  พิพากษายกฟ้อง  โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวขอให้ศาลลงโทษนายหนึ่ง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  การกระทำของนายหนึ่ง  นายสอง  และนายสามไม่เป็นความผิดพิพากษายกฟ้องโจทก์  ปล่อยนายหนึ่งพ้นข้อหาไป

ดังนี้  ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ปล่อยนายสองและนายสามด้วยได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  213  ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา  ซึ่งให้ลงโทษจำเยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน  ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย  แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี  ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์  ให้มิต้องถูกรับโทษ  หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในกรณีที่ศาลสั่งให้แยกฟ้องเป็นคดีใหม่  เพราะจำเลยบางคนให้การรับสารภาพตามมาตรา  176  วรรคสอง  ในกรณีเช่นนี้  ศาลอุทธรณ์จะยกเอาเหตุในลักษณะคดี  ในคดีที่ฟ้องใหม่ให้มีผลไปถึงจำเลยในคดีเดิมไม่ได้

การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์  ปล่อยนายหนึ่งพ้นข้อหาไป  ด้วยเหตุผลว่าการกระทำของนายหนึ่ง  นายสองและนายสามไม่เป็นความผิดนั้น  ถือเป็นเหตุที่อยู่ในส่วนลักษณะคดีแต่การที่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ปล่อยนายสองและนายสามด้วยได้หรือไม่นั้น  ต้องแยกพิจารณาดังนี้

กรณีที่สอง

นายสองเป็นจำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่ง  ในคดีที่พนักงานอัยการแยกมาฟ้องใหม่  เมื่อโจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุในลักษณะคดี  ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกเหตุในลักษณะคดีขึ้นวินิจฉัยให้มีผลไปถึงนายสองด้วยได้  ตามมาตรา  213  แม้จะเป็นกรณีโจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวก็ตาม  เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดเป็นผู้อุทธรณ์ไม่สำคัญ  (ฎ. 1370/2503)

กรณีที่สาม

นายสามเป็นจำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่งในคดีแรกเท่านั้น  มิได้เป็นจำเลยในคดีที่พนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์  กรณีเช่นนี้  แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุที่อยู่ในลักษณะคดี  ศาลอุทธรณ์ก็ไม่มีอำนาจยกเหตุซึ่งอยู่ในลักษณะคดีขึ้นวินิจฉัยให้มีผลไปถึงนายสาม  เพราะนายสามไม่ใช่จำเลยในสำนวนคดีเดียวกันกับนายหนึ่ง  กรณีจึงไม่ต้องด้วย  มาตรา  213

สรุป  ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้ปล่อยตัวนายสองไปด้วยได้  แต่ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ปล่อยตัวนายสามไม่ได้ 

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 S/2549

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำรงเป็นจำเลยในความผิดฐานบุกรุกอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวและศาลกำหนดวันนัดสืบพยานพนักงานอัยการโจทก์แล้ว  ในระหว่างนั้นนายบุญมีซึ่งเป็นผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคนเดียวกันนั้น  ตามข้อหาดังกล่าว  ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นาย(ผู้เสียหาย)  เป็นโจทก์แล้ว  แต่นายบุญมี (ผู้เสียหาย)  ไม่ไปศาลตามกำหนดนัด  ศาลจึงพิพากษายกฟ้องนายบุญมี  (ผู้เสียหาย)  จึงยื่นคำร้องขอให้ยกคดีของตนขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่  และต่อมานายบุญมี  (ผู้เสียหาย)  ได้ถอนคำร้องนั้นแล้วยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องนายดำรง  ในวันเดียวกันนั้นนายดำรง  (จำเลย)  ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  นายบุญมี  (ผู้เสียหาย)  จะร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้หรือไม่ และศาลควรพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนี้อย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  166  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด  ให้ศาลยกฟ้องเสีย  แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้  จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน  นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้นโดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว  จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์  ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก  เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีความผิดต่อส่วนตัวเรื่องเดียวกัน  ทั้งผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคนละคดี  ถ้าในคดีที่ผู้เสียหายฟ้อง  ศาลได้ยกฟ้องตามมาตรา  166  วรรคแรกแล้ว  พนักงานอัยการจะฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้  ศาลต้องยกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องด้วย

การที่ศาลยกฟ้องคดีที่นายบุญมี  (ผู้เสียหาย)  เป็นโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพราะเหตุไม่มาตามกำหนดนัดและนายบุญมี  (ผู้เสียหาย) โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีของตนขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ตามมาตรา  166  วรรคสอง  แต่ต่อมาเมื่อนายบุญมี  (ผู้เสียหาย)  โจทก์ได้ถอนคำร้องดังกล่าวเสีย  จึงเท่ากับไม่มีการยื่นคำร้อง  นายบุญมี  (ผู้เสียหาย)  โจทก์จะเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกอีกไม่ได้  ตามมาตรา  166  วรรคสาม  และเมื่อกรณีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว  สิทธิของพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยไว้ก่อนศาลพิพากษายกฟ้องของนายบุญมี  (ผู้เสียหาย)  โจทก์ก็ระงับไปด้วย  ตามมาตรา  166  วรรคสาม (ฎ. 816/2523)

สรุป  ศาลควรมีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายบุญมี  (ผู้เสียหาย)  และพิพากษายกฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์  โดยไม่จำต้องพิจารณาว่านายดำรง  (จำเลย)  กระทำผิดจริงหรือไม่

 

ข้อ  2  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในขณะจำเลยมีอายุ  18  ปี  ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  385  (ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท)  ก่อนจะเริ่มพิจารณาซึ่งในขณะนั้นจำเลยมีอายุ  18  ปี  2  เดือน  ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  จำเลยตอบว่าไม่มี  แต่จำเลยไม่ต้องการทนายความ  เพราะจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ดังนี้  ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  173  วรรคแรก ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต  หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล  ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน  18  ปี  ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้  ในกรณีนี้เป็นบทบังคับเด็ดขาด  ไม่ว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ก็ตาม  (เทียบ  ฎ. 366/2534)

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย  ในขณะที่จำเลยมีอายุ  18  ปี  จึงเป็นคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน  18  ปี  ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล  ซึ่งเป็นคดีอาญาทุกประเภท  แม้จะเป็นคดีที่มีโทษปรับอย่างเดียวก็ตาม  เมื่อได้ความว่า  ก่อนเริ่มพิจารณาศาลได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  แม้จำเลยจะตอบว่าไม่มี  แต่จำเลยก็ไม่ต้องการทนายความ  เพราะจำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  ศาลก็ยังมีหน้าที่ตั้งทนายความให้กับจำเลย  ตามมาตรา  178  วรรคแรก  เพราะถือว่าเป็นบทบังคับเด็ดขาดที่ศาลต้องตั้งให้

สรุป  ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย

 

ข้อ  3  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  (กำหนดระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี  และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท)  จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นมิใช่เนื่องจากความประมาทของจำเลย  แต่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจำเลย  จำเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย  ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย

ในทางพิจารณา  ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยแย่งปืนคืนจากผู้ตาย  เมื่อจำเลยแย่งปืนคืนมาได้แล้วจำเลยได้ใช้ปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  (กำหนดระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี)

ดังนี้  ศาลพึงพิพากษาคดีนี้อย่างไรจึงจะชอบด้วยวิธีพิจารณา

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสองและวรรคสาม  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

วินิจฉัย

พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ในทางพิจารณา  ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม  ป.อ.  มาตรา  288  กรณีเช่นนี้  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญเว้นแต่ปรากฏว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานว่าเหตุเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายแย่งปืนไปจากเอวของจำเลย  จำเลยตกใจจึงกระชากปืนจากผู้ตาย  ปืนจึงลั่นถูกผู้ตาย  คำให้การต่อสู้คดีของจำเลยดังกล่าวนี้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมิได้หลงหยิบยกเอาข้อที่ฟ้องผิดหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องมาเป็นสาระสำคัญในการต่อสู้คดีของจำเลย  จำเลยจึงมิได้หลงต่อสู้

เมื่อปรากฏว่าข้อแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องเป็นข้อแตกต่างมิใช่ในข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้  กรณีเช่นนี้ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในการพิจารณาก็ได้  โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  แต่ทั้งนี้  ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ดังนั้น  คดีนี้ศาลพึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาท  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291

สรุป  ศาลพึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แต่ศาลจะลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกไม่เกิน  10  ปี  และปรับไม่เกิน  2  หมื่นบาทตาม  ป.อ.  มาตรา  291

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเรา  จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว  พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  276  ลงโทษจำคุก  9  ปี  จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า  จำเลยกระทำผิดจริง  แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา  มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  78  ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามพิพากษาแก่เป็นว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  276  ลงโทษจำคุก  6  ปี

ดังนี้  จำเลยจะฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  15  วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคแรก  ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น  คู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา  และต้องเป็นข้อที่ได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ศาลอุทธรณ์

วินิจฉัย

การฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง  ข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เคยยกขึ้นต่อสู้มาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ด้วย  ตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  249  ประกอบ  มาตรา  15

การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเรา  จำเลยได้ให้การปฏิเสธก็เท่ากับว่าจำเลยยกข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นแล้วแต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  276  ลงโทษจำคุก  9  ปี  จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด  จำเลยเพียงแต่อุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษสถานเบา  ปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่  จึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว  เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา  จำเลยจะกลับมาฎีกาว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องอีกไม่ได้  เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู่ในชั้นศาลอุทธรณ์  จึงต้องห้ามตาม  ป.วิ.พ.  มาตรา  249  ประกอบมาตรา  15  (เทียบ  ฎ. 2451/2527)

สรุป  จำเลยจึงฎีกาว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องไม่ได้

LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายมะม่วงร้องทุกข์กล่าวหาว่านายมังคุดฆ่านายมันแกวบุตรชายของตนตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288 พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสรุปสำนวนสั่งฟ้องนายมังคุดตามข้อหาดังกล่าว  แต่ในที่สุดพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยคดีแรกในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายมันแกวถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  นายมะม่วงไม่เห็นด้วย  

จึงนำคดีมายื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยต่อศาลด้วยตนเองในคดีหลังขอให้ลงโทษนายมังคุดฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  อีกคดีหนึ่งให้วินิจฉัยตามประเด็นต่อไปนี้

(ก)  คดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางมังคุดเป็นจำเลยต่อศาลด้วยตนเอง  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้หรือไม่

(ข)  หากปรากฏว่าในการไต่สวนมูลฟ้องคดีหลัง  นายมังคุดจำเลยได้นำเอกสารรายงานการตรวจศพของแพทย์มาถามค้านนายมะม่วงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องวิถีกระสุนปืน  เพื่อสนับสนุนว่าตนมิได้มีเจตนาฆ่านายมันแกว  แต่นายมะม่วงโจทก์ไม่ยอมรับรองความถูกต้องของพยานเอกสารดังกล่าว  นายมังคุดจำเลยจะขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลได้หรือไม่

(ค)  หากศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีหลังแล้วเห็นว่าคดีมีมูล  จึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา  นายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  162  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ให้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ให้จัดการตามอนุมาตรา  (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์  ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

มาตรา  165  วรรคสอง  จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  ตามมาตรา  162(1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  โดยหลักแล้วศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องทุกคดี  เว้นแต่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ต้องจัดการตามมาตรา  162(2)  กล่าวคือ  ไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับฟ้องไว้พิจารณาก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้พนักงานอัยการจะได้ฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยในคดีแรกด้วยก็ตาม  แต่พนักงานอัยการได้ฟ้องนายมังคุดในข้อหากระทำโดยประมาท  เป็นเหตุให้นายมันแกวถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ซึ่งเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลย  ขอให้ลงโทษฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นของมาตรา  162(1)  ที่ศาลจะจัดการสั่งตามอนุมาตรา  (2)  คือ  ใช้ดุลพินิจสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้  ดังนั้นศาลจึงอยู่ในบังคับที่ต้องจัดการสั่งตามหลักในอนุมาตรา  (1)  กล่าวคือ  ต้องจัดการสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อน

(ข)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ  ตามมาตรา  165  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  นายมังคุดจำเลยนำเอกสารรายงานการตรวจศพของแพทย์  มาถามค้านนายมะม่วงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องวิถีกระสุนปืน  เพื่อสนับสนุนว่าตนมิได้มีเจตนาฆ่านายมันแกว  แต่นายมะม่วงโจทก์ไม่ยอมรับรองความถูกต้องของพยานหลักฐานเอกสารดังกล่าว  และนายมังคุดจะขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลนั้น  ในกรณีเช่นนี้เท่ากับว่านายมังคุดจำเลยเรียกพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา  165  วรรคสอง  ดังนั้นนายมังคุดจึงไม่อาจของส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลได้  (ฎ. 6557/2539)

(ค)  การที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายมังคุดจำเลยฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แล้วเห็นว่า  คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณานั้น  เห็นว่า  แม้นายมังคุดจะมีฐานะเป็นจำเลยในคดีหลังแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเช่นว่านั้น  ย่อมเป็นอันเด็ดขาดตามมาตรา  170  วรรคแรก  ดังนั้นนายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้

สรุป 

(ก)  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้

(ข)  นายมังคุดไม่อาจขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้

(ค)  นายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  แต่ละกรณีต่อไปนี้  ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ก)  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในขณะมีอายุ  18  ปี  ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  385  (ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท)  ก่อนเริ่มพิจารณาซึ่งในขณะนั้นจำเลยมีอายุ  18  ปี  2  เดือน  ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  จำเลยตอบว่าไม่มี  แต่จำเลยไม่ต้องการทนายความ  เพราะจำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง

(ข)  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในขณะที่จำเลยมีอายุ  19  ปี  ขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน  หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท)  ก่อนเริ่มพิจารณาศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  จำเลยตอบว่าไม่มี  แต่จำเลยต้องการหาทนายความเอง  ศาลจึงสั่งเลื่อนคดีเพื่อให้เวลาจำเลยติดต่อทนายความ  เมื่อถึงวันนัดพิจารณา  จำเลยแถลงว่า  จำเลยหาทนายความไม่ได้  ขอให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  173  วรรคแรกและวรรคสอง  ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต  หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

วินิจฉัย

(ก)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน  18  ปี  ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้  ในกรณีนี้เป็นบทบังคับเด็ดขาด  ไม่ว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ก็ตาม  (เทียบ  ฎ. 366/2534)

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย  ในขณะที่จำเลยมีอายุ  18  ปี  จึงเป็นคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกิน  18  ปี  ในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล  ซึ่งเป็นคดีอาญาทุกประเภท  แม้จะเป็นคดีที่มีโทษปรับอย่างเดียวก็ตาม  เมื่อได้ความว่าก่อนเริ่มพิจารณาศาลได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  แม้จำเลยจะตอบไม่มีและจำเลยก็ไม่ต้องการทนายความ  เพราะจำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง  ในกรณีเช่นนี้  ศาลก็ยังต้องตั้งทนายความให้จำเลย  ตามมาตรา  173  วรรคแรก  เพราะถือว่าเป็นบทบังคับเด็ดขาดที่ศาลต้องตั้งให้

(ข)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก  ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกมากน้อยเพียงใดก็ตาม  ก่อนเริ่มพิจารณาศาลต้องถามจำเลยในเรื่องทนายความก่อนเสมอ

พนักงานเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย  ในขณะที่อายุ  19  ปี  ขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ  ก่อนเริ่มพิจารณาศาลถามจำเลยมีทนายความหรือไม่  ครั้งแรกจำเลยตอบว่าไม่มีทนายความ  แต่จำเลยต้องการหาทนายความเอง  ศาลจึงสั่งเลื่อนคดี  เพื่อให้จำเลยติดต่อทนายความแต่เมื่อวัดนัดพิจารณา  จำเลยแถลงว่าจำเลยหาทนายความไม่ได้  ขอให้ศาลตั้งทนายความให้จำเลยด้วย  ในกรณีเช่นนี้  จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่มีทนายความและต้องการทนายความ  ศาลจึงต้องตั้งทนายความให้จำเลย  ตามมาตรา  173  วรรคสอง  (ฎ. 2063/2530)

สรุป  ทั้งสองกรณีดังกล่าวข้างต้น  ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลย

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ที่  2  และที่  3  ร่วมกันปล้นทรัพย์รถจักรยานยนต์ของกลางของผู้เสียหายไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  340  จำเลยที่  1  และที่  2  ให้การปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่  ส่วนจำเลยที่  3  ให้การปฏิเสธว่ามิได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่  1  และที่  2  เพียงแต่รับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จากจำเลยที่  1  และที่  2 เท่านั้น  ศาลสืบพยานแล้วได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่าเฉพาะจำเลยที่  1  และที่  2  เท่านั้นที่ร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย  จำเลยที่  3 หาได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่  1  และที่  2  ด้วยไม่  แต่ได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยที่  3  เองที่นำสืบว่า  จำเลยที่  3 เพียงแต่มีส่วนกระทำความผิดด้วยการรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จากจำเลยที่  1  และที่  2  โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่  1  และที่  2  ได้มาจากการชิงทรัพย์ผู้เสียหาย

ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่  1  ที่  2  และที่  3  ได้หรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสอง วรรคสามและวรรคหก  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

วินิจฉัย

ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยที่  1  ที่  2  และที่  3  ได้หรือไม่  เห็นว่า  ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง  ย่อมรวมการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ดังนั้นแม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกับจำเลยที่  3  กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์  แต่ศาลสืบพยานแล้วได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ว่า  เฉพาะจำเลยที่  1  และที่  2  เท่านั้นที่ร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย  ศาลย่อมมีอำนาจตามมาตรา  192  วรรคหก  ที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ 

(ฎ. 2161/2531)

ส่วนในกรณีของจำเลยที่  3  ได้ความว่า  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่  3  ฐานร่วมกับจำเลยที่  1  และที่  2  ฐานปล้นทรัพย์แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่  3  กระทำความผิดฐานรับของโจรซึ่งถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญ  เพราะการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง  ก็เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่  3 คนขึ้นไป  ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจร  ตามมาตรา  192  วรรคสาม  ถือเป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด  มิใช่ข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ  (ฎ. 1043/2535)

แต่อย่างไรก็ดี  ตามบทบัญญัติ  มาตรา  192  วรรคสองนั้น  การที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้นั้น นอกจากจะได้ความว่าข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อที่มิใช่สาระสำคัญแล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ด้วย  คดีนี้ปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าจำเลยที่  3  กระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น  เป็นการได้ความจากพยานหลักฐานของจำเลยที่  3  เองที่นำสืบว่า  จำเลยที่  3  เพียงแต่มีส่วนกระทำความผิดด้วยการรับซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไว้จากจำเลยที่  1  และที่  2  โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่  1  และที่  2  ได้มาจากการชิงทรัพย์ของผู้เสียหายใช่ได้ความจากการนำสืบพยานของโจทก์ไม่  กรณีจึงต้องถือว่าข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่าจำเลยที่  3  กระทำผิดฐานรับของโจรนั้น  เกิดจากจำเลยที่  3  หลงต่อสู้  ดังนั้น  แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาว่าจำเลยที่  3  กระทำผิดฐานรับของโจรจะแตกต่างกับฟ้องฐานปล้นทรัพย์ในข้อที่มิใช่สาระสำคัญ  แต่เมื่อจำเลยที่  3  หลงต่อสู้  กรณีก็ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์  ตามมาตรา  192  วรรคสอง  ครบถ้วนที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยที่  3  ฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความได้  ศาลจึงไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยที่  3  ในความผิดฐานรับของโจรตามที่พิจารณาได้ความตามมาตรา  192  วรรคสอง  ประกอบวรรคสามได้

สรุป  ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่  1  และที่  2  ในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้  แต่สำหรับจำเลยที่  3  ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ  4  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  336  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  335(8)  ลงโทษจำคุก  2  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ให้มีกำหนด  1  ปี  โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้น  ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  ลงโทษปรับ  6,000  บาท

ดังนี้  จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  218  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย  และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี  หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี  ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่  ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา  219   ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

วินิจฉัย

จำเลยจะฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้หรือไม่  เห็นว่า  การที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับ  เป็นการฎีกาในปัญหาที่สืบเนื่องจากการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลยพินิจลงโทษปรับจำเลย  6,000  บาท  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า   จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  335(8)  ลงโทษจำคุก  2  ปี  โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด  1  ปี  และศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า  จำเลยมีความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  334  ลงโทษปรับ  6,000  บาท  เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมาเป็นปรับโทษอย่างเดียวและยังเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์เปลี่ยนทั้งบทลงโทษและโทษด้วย  จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  ในกรณีนี้จึงไม่ต้องห้ามฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา  218  แต่ก็ต้องพิจารณาตามมาตรา  219  ต่อไป

เมื่อพิจารณาตามมาตรา  219  แล้วได้ความว่า  การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต่างพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน  2  ปี  หรือปรับไม่เกิน  4  หมื่นบาท  ตามมาตรา  219  ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง  แต่มีข้อยกเว้นให้จำเลยฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  แต่ก็มีเงื่อนไขให้รอการลงโทษจำคุก  ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษปรับอย่างเดียว  กรณีนี้ถือว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  (ฎ. 4525/2533)

เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมาก  และเพิ่มเติมโทษจำเลยด้วย  จำเลยจึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงได้  ตามมาตรา  219

สรุป  จำเลยฎีกาขอให้ศาลลดโทษปรับได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!