LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551 

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานต่อศาลว่าครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว  ปรากกว่าไม่มีเจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้เลย  ขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลาย  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า  เนื่องจากศาลยังมิได้พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  ไม่อาจที่จะยกเลิกการล้มละลายได้  แต่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย  จึงพิพากษายกฟ้อง

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  คำพิพากษาศาลล้มละลายกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  14  ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น  ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  9  หรือมาตรา  10  ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง  ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  แต่ถ้าไม่ได้ความจริง  หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง

มาตรา  91  วรรคแรก  เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม  ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน

มาตรา  135  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ  ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายได้  ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย

วินิจฉัย

เหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  มาตรา  14  นั้น  เป็นข้อที่ศาลพึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  กล่าวคือ  เมื่อมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย  ศาลก็ไม่สั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดโดยพิพากษายกฟ้องเสียได้  ดังนั้นการจะอ้างเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย  ตามมาตรา  14  ต้องยกขึ้นอ้างก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น  หลังจากนั้นแล้วจะกลับมาอ้างว่ามีเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายเพื่อให้ศาลยกฟ้องตามมาตรา  14  อีกหาได้ไม่

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำพิพากษายกฟ้องของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ขั้นตอนการยื่นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เป็นขั้นตอนภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  ตามมาตรา  91  เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว  แต่ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหนี้รายใดมายื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา  91  เลย  จึงเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุว่าลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย  ตามมาตรา  135(2)  ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ และศาลจะต้องมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามบทบังคับของกฎหมาย  จะพิพากษายกฟ้องเพราะลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลายหาได้ไม่  การที่ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าศาลยังมิได้พิพากษาให้ล้มละลาย  จึงไม่อาจที่จะสั่งยกเลิกการล้มละลายได้ แต่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย  ตามมาตรา  14  แล้วพิพากษายกฟ้อง  คำพิพากษาของศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 568/2506, ฎ. 7723/2543)

สรุป  คำพิพากษายกฟ้องของศาลล้มละลายกลางไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 หมายเหตุ  ที่คำพิพากษายกฟ้องของศาลล้มละลายกลาง  ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นเพราะศาลฯมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  เมื่อมีเหตุไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายศาลต้องมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา  135(2)  ได้สถานเดียว จะยกฟ้องโดยอาศัยมาตรา  14  อีกไม่ได้  (ฎ. 670/2526)


ข้อ  2  ในคดีล้มละลายนั้น  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้  ในกรณีใดบ้าง  และคำสั่งปิดคดีมีผลเพียงใด  ให้อธิบายพอสังเขป

ธงคำตอบ

มาตรา  133  วรรคแรก  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ของลูกหนี้หรือได้หยุดกระทำการตามข้อตกลงในการประนอมหนี้  หรือเมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจทำรายงานแสดงกิจการและบัญชีรับจ่ายในคดีล้มละลายยื่นต่อศาลและขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้

มาตรา  134  วรรคแรกและวรรคสอง  คำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการต่างๆไว้แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด

ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขอให้ศาลเปิดคดีต่อไปได้

อธิบาย  ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ. 2483  มาตรา  133  วรรคแรกดังกล่าวข้างต้นได้กำหนดถึงเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจขอให้ศาลสั่งปิดคดีไว้  3  กรณี  กล่าวคือ

1       เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  ได้แบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งที่สุด  เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องแบ่งเงินที่ขายทรัพย์สินได้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้  และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้ว  ทุกระยะเวลา  ไม่เกิน  6  เดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา  124  วรรคสอง  ดังนั้นเมื่อได้แบ่งเงินให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว  จึงอาจขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้

2       เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้หยุดกระทำการตามข้อตกลงในการประนอมหนี้  เนื่องจากเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้  ไม่ว่าจะเป็นการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายหรือภายหลังล้มละลาย  จะมีผลทำให้ลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายกลับมามีอำนาจจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนได้ดังเดิม  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมหมดอำนาจหน้าที่ในการที่จะเข้าไปจัดการแทนลูกหนี้  จึงอาจขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้

3       เมื่อลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง  ในคดีล้มละลายบางเรื่อง  ลูกหนี้ค้าขายขาดทุนจนสิ้นเนื้อประดาตัว  แม้ถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย  แต่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินมาขายเพื่อแบ่งเงินแก่เจ้าหนี้ได้เลย  จึงอาจขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้

สำหรับผลของคำสั่งปิดคดีนั้น  เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  134  กล่าวคือ  คำสั่งปิดคดีมีผลเพียงให้ระงับการจัดการทรัพย์สินและกิจการต่างๆของลูกหนี้ไว้  แต่ไม่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุด  เพราะเหตุว่าเจ้าหนี้ต่างก็ยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วน  ดังนั้น  หากปรากฏว่าบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินขึ้นใหม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจให้ศาลเปิดคดี  เพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ได้อีกตามมาตรา  134 วรรคสอง


ข้อ  3  คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก  ต่อมาที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้  และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว  หลังจากนั้นปรากฏว่าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ที่ได้ยื่นไว้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงรายงานต่อศาล  ขอให้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้  และทำการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย  ต่อมาศาลมีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงว่า  ลูกหนี้เป็นพนักงานของบริษัทแห่งหนึ่ง  มีเงินเดือนเดือนละ  
100,000  บาท  ลูกหนี้ยังอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด  พิพากษายกฟ้อง  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  14  ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น  ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  9  หรือมาตรา  10  ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง  ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  แต่ถ้าไม่ได้ความจริง  หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายให้ศาลยกฟ้อง

มาตรา  60  วรรคแรก  ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี  หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่าการประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี  หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี  เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง  ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย  แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น

วินิจฉัย

ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  มาตรา  60 วรรคแรก  ได้วางหลักเกณฑ์ว่า  ศาลอาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงาน  หรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องหากปรากฏเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งใน  4 กรณีต่อไปนี้

1       ลูกหนี้ผิดนัด  ไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้

2       ปรากฏแก่ศาลว่าการประนอมหนี้ไม่อาจดำเนินไปโดยปราศจากความยุติธรรม

3       ปรากฏแก่ศาลว่าการประนอมหนี้นั้น  จะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควร

4       การที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้นั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริต

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติของมาตรา  60  แห่ง  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  มีความหมายชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้ว  ต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายสถานเดียว  จะกลับไปนำมาตรา  14  มาใช้บังคับแก่กรณีนี้มิได้  เพราะบทบัญญัติดังกล่าวต้องใช้บังคับแก่กรณีที่ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้ที่ได้ยื่นไว้  และศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้  ตามมาตรา  60  วรรคแรกแล้ว  ศาลจึงอยู่ในบังคับของกฎหมายที่จะต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเท่านั้น  ไม่อาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นประการอื่นได้ ทั้งจะกลับไปใช้เหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายเพราะลูกหนี้อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด  แล้วพิพากษายกฟ้องตามมาตรา  14  ตอนท้ายหาได้ไม่  เพราะกรณีนี้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว  การที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ. 6058/2541)

สรุป  คำพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551 

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายดำอยากเปิดร้านอินเทอร์เน็ต  จึงได้ไปกู้เงินจากธนาคารออมทรัพย์  จำกัด  จำนวน  2  ล้านบาท  เพื่อใช้จ่ายในการเปิดกิจการร้านอินเทอร์เน็ต  โดยมีนายดีเป็นผู้ค้ำประกัน  และตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนๆละ  5,000  บาท  ต่อมามีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพบว่า นายดำไม่มีใบอนุญาตให้เปิดบริการร้านอินเทอร์เน็ต  จึงได้สั่งปิดกิจการ  นายดำไม่มีเงินผ่อนชำระ  นายดีจึงช่วยผ่อนให้แทน  3  เดือน  ก็ไม่ได้ผ่อนชำระอีกเพราะไม่มีเงินเช่นกัน  นายดำจึงถูกธนาคารออมทรัพย์  จำกัด  ฟ้องล้มละลาย  และศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายดำแล้ว  ดังนี้

(ก)  ธนาคารออมทรัพย์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน  2  ล้านบาทตามสัญญากู้เงิน

(ข)  นายดีได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในหนี้ที่ตนชำระหนี้แทนไปแล้ว  15,000  บาท  และเงินส่วนที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในภายหน้าอีกจำนวน  1,985,000  บาท

ดังนี้  เมื่อนายดำคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ทั้งสองรายการ  หากท่านเป็นศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารออมทรัพย์  จำกัด  และนายดีอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้  ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม 

มาตรา  101  ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์  ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่คนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้  เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว

บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน  ผู้ค้ำประกันร่วม  หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม

มาตรา  107  คำขอรับชำระหนี้รายใด  ถ้ามีผู้โต้แย้งให้ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(3) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน

วินิจฉัย

(ก)  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ธนาคารออมทรัพย์ฯ  จะได้รับชำระหนี้  2  ล้านบาท  ตามที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่  เห็นว่าหนี้ที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลายนั้น  จะต้องมีลักษณะตามมาตรา  94  แห่ง  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.  2483  ดังนี้

1)    มูลแห่งหนี้นั้นต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

2)    หนี้นั้นอาจฟ้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย  และ

3)    ต้องเป็นหนี้เงิน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้เงินกู้จำนวน  2  ล้านบาทนั้น  นายดี  (ผู้ค้ำประกัน)  ได้ผ่อนชำระแทนนายดำ  (ลูกหนี้)  ไปแล้ว  เป็นเงินรวมทั้งสิ้น  15,000  บาท  จึงเหลือหนี้ที่ธนาคารออมทรัพย์  จำกัด  อาจบังคับชำระหนี้ได้เพียง  1,985,000  บาท  เมื่อนายดำคัดค้านคำขอรับชำระหนี้  ศาลจึงต้องมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารออมทรัพย์ฯ  มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนคือ  1,985,000  บาท  เท่านั้น  ตามมาตรา  107(3)

(ข)  โดยหลักแล้ว  เมื่อลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์  ลูกหนี้ร่วมคนอื่น  หรือผู้ค้ำประกันอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้  เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า  ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ของนายดีอย่างไร  เห็นว่า  การที่นายดีผู้ค้ำประกันผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารออมทรัพย์ฯ  จำนวน  15,000  บาท  แทนนายดำนั้นมีผลทำให้นายดีกลายเป็นเจ้าหนี้นายดำ  โดยมีสิทธิไล่เบี้ยในมูลหนี้ที่ตนได้ชำระแทนไปแล้วจากกองทรัพย์สินของนายดำลูกหนี้ได้  และถือว่ามูลหนี้นั้นได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์  ตามมาตรา  94  นายดีจึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

ส่วนหนี้จำนวน  1,985,000  บาทนั้น  นายดียังไม่ได้ชำระแก่เจ้าหนี้แทนนายดำลูกหนี้จริงจึงถือเป็นหนี้ที่ผู้ค้ำประกันอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ในอนาคต  เมื่อธนาคารออมทรัพย์ฯ  เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวน  1,985,000  บาทแล้ว  นายดีผู้ค้ำประกันย่อมหมดสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายดำลูกหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าต่อไปตามมาตรา  101  (ฎ. 1175/2530)

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล

(ก)  จะมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารออมทรัพย์  ได้รับชำระหนี้เพียง  1,985,000  บาท  ตามที่เป็นหนี้อยู่จริงเท่านั้น  และ

(ข)  จะมีคำสั่งอนุญาตให้นายดีได้รับชำระหนี้เพียง  15,000  บาท  ตามที่ได้ชำระหนี้แทนนายดำไปเท่านั้น  ส่วนอีก  1,985,000  บาท  จะมีคำสั่งไม่อนุญาต


ข้อ  2  นายเสื้อแดงถูกธนาคารไทย  ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย  เนื่องจากไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้  เมื่อศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายเสื้อแดงแล้ว  ในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พบว่า  นายเสื้อแดงมีทรัพย์สินที่ดินเพียง  1  แปลง  โดยในช่วงเวลา  2  เดือน  ก่อนวันที่ธนาคารไทยยื่นฟ้องล้มละลาย  นายเสื้อแดงได้โอนที่ดินให้แก่นายทักซึ่งเป็นเจ้าหนี้  เป็นการใช้หนี้  และต่อมาหลังจากฟ้องล้มละลายแล้ว  1  เดือน  นายทักเกรงว่าที่ดินดังกล่าวอาจถูกยึดคืน  จึงได้รีบขายที่ดินให้แก่นายเสื้อเหลือง  ซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว

จึงได้ซื้อไว้และจดทะเบียนรับโอนจากนายทักตามกฎหมายแล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าว  นายเสื้อเหลืองยื่นคัดค้านว่า  ตนได้ซื้อและรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวจากนายทัก  โดนสุจริตและเสียค่าตอบแทน  ย่อมได้รับความคุ้มครอง  เช่นนี้  หากท่านเป็นศาลจะสั่งอย่างไรกับคำร้องและคำคัดค้านเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  115  วรรคแรก  การโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใดๆ  ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายภายหลังนั้น  โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น  ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง  ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้

มาตรา  116  บทบัญญัติในมาตรา  115  ไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันได้มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย

วินิจฉัย

เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งเพิกถอนการโอนอันลูกหนี้ได้กระทำ  หรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลา  3  เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย  และภายหลังจากมีการขอให้ล้มละลาย  แต่ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้  โดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้คนอื่นได้  ตามมาตรา  115  วรรคแรก

แต่ทั้งนี้ก็มีข้อยกเว้นอยู่ว่า  ถ้าบุคคลภายนอกที่รับโอนมาจากผู้รับโอนได้สิทธิมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน  และรับโอนหรือได้สิทธิมาก่อนมีการขอให้ล้มละลายด้วยแล้ว  บุคคลภายนอกนั้นจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา  116  ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนไม่ได้

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลจะมีคำสั่งกับคำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคำคัดค้านของนายเสื้อเหลืองอย่างไร  เห็นว่า  เมื่อก่อนมีการฟ้องคดีล้มละลาย  2  เดือน  นายเสื้อแดง  (ลูกหนี้)  ได้โอนที่ดินให้แก่นายทัก  (เจ้าหนี้)  ทั้งที่มีที่ดินเพียง  1  แปลงเท่านั้น  การโอนดังกล่าวย่อมเป็นการทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวได้ตามมาตรา  115  วรรคแรก

แม้ต่อมาภายหลังจากนายเสื้อแดงถูกฟ้องคดี  1  เดือน  นายทักจะได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่นายเสื้อเหลือง  ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับซื้อไว้โดยสุจริต  และเสียค่าตอบแทนก็ตาม  นายเสื้อเหลืองก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ตามมาตรา  116  เพราะบทบัญญัติดังกล่าวให้การคุ้มครองเฉพาะการโอนระหว่างผู้รับโอนกับบุคคลภายนอกก่อนมีการขอให้ล้มละลาย  นายเสื้อเหลืองจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง  ตามมาตรา  116  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวและนำเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา  115  วรรคแรก  (ฎ. 1195/2541  และ ฎ. 7160/2544)

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะมีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงดังกล่าว  ตามมาตรา  115  วรรคแรก  และยกคำคัดค้านของนายเหลือง  ตามมาตรา  116


ข้อ  3  คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง  ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  ปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชี่ยวเป็นผู้ทำแผน  ส่วนลูกหนี้เสนอนายชาญเป็นผู้ทำแผน  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วเห็นว่านายชาญที่ลูกหนี้เสนอมีคุณสมบัติเป็นผู้ทำแผน  จึงมีคำสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทำแผน

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  90/17  วรรคแรก  ในการพิจารณาตั้งผู้ทำแผน  ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย  เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้  ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ดี  หรือลูกหนี้  เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยก็ดี  ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญเป็นผู้ทำแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  90/17  วรรคแรก  ได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งผู้ทำแผนไว้ดังนี้คือ

1       กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำแผน  ศาลอาจมีคำสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทำแผนก็ได้

2       กรณีที่ศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน  หรือลูกหนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วย  ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดเร็วที่สุด  เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน  ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนไปเลยทีเดียวไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชี่ยวเป็นผู้ทำแผน  และลูกหนี้เสนอนายชาญเป็นผู้ทำแผนด้วย  ศาลจึงต้องมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด  เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทำแผน  ทั้งนี้ตามมาตรา  90/17 วรรคแรก  ศาลจะมีคำสั่งตั้งนายเชี่ยวหรือนายชาญเป็นผู้ทำแผนในทันทีหาได้ไม่  การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทำแผนในทันทีก่อนมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้  คำสั่งของศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญเป็นผู้ทำแผน  โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของมาตรา  90/17  วรรคแรกนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551 

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  นายฟ้าฟ้องนายเหลืองให้ล้มละลายโดยบรรยายฟ้องว่า  นายเหลืองเป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว  เป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายจำนวน  1,500,000  บาท  มีนายเขียวนำที่ดิน  1  แปลงมาเป็นประกัน  โดยนายเหลืองยอมให้นายฟ้าบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของตนเกินกว่าตัวทรัพย์ที่นายเขียวนำมาเป็นหลักประกัน  และนายเหลืองยังเป็นหนี้เงินตามสัญญากู้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระจำนวน  1,000,000  บาท  ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า  นายฟ้าเป็นเจ้าหนี้มีประกันในหนี้ตามสัญญาซื้อขายจำนวน  1,5000,000  บาท  แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า  จะยอมสละประกันหรือตีราคาหลักประกัน  ส่วนหนี้เงินกู้จำนวน  1,000,000  บาทนั้น  เป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องของนายฟ้า

ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  6  ในพระราชบัญญัตินี้  เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

เจ้าหนี้มีประกัน  หมายความว่า  เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง  จำนำ  หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ

มาตรา  9  เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท  และ

(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน  หรือในอนาคตก็ตาม

มาตรา  10  ภายใต้บังคับมาตรา  9  เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน  และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า  ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว  จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย  หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว  เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท

วินิจฉัย

โดยหลัก  การฟ้องบุคคลธรรมดาเป็นคดีล้มละลายโดยเจ้าหนี้ธรรมดา  ตาม  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ. 2483  มาตรา  9  มีหลักเกณฑ์  3  ประการคือ

1       ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

2       ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา  เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า  1  ล้านบาท

3       หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน  ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม

ส่วนการฟ้องคดีล้มละลายโดยเจ้าหนี้มีประกัน  ตามนัยมาตรา  6  นอกจากหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้วจะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้นั้นมิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน  และต้องกล่าวในฟ้องว่าถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกัน  ทั้งนี้ตามมาตรา  10

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นที่ว่า  นายฟ้าเป็นเจ้าหนี้มีประกันแต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจะยอมสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เจ้าหนี้มีประกัน  ตามนัยมาตรา  6  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง  จำนำ  หรือสิทธิยึดหน่วงหรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำเท่านั้น  เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่าที่ดินที่นำมาจำนองเป็นประกันการชำระหนี้นั้นเป็นของนายเขียวซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิใช่ของนายเหลือลูกหนี้ จึงมิใช่กรณีเจ้าหนี้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง  นายฟ้าจึงไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน  นายฟ้าสามารถฟ้องนายเหลืองให้ล้มละลายได้ในฐานะเจ้าหนี้ธรรมดา  ตามมาตรา  9  โดยมิต้องปฏิบัติตามมาตรา  10  กล่าวคือ  แม้จะมิได้บรรยายฟ้องว่าถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันตามมาตรา  10(2)  ก็ย่อมทำได้  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฏ. 3437/2536)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นที่ว่าหนี้เงินกู้  1,000,000  บาทนั้นเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อนายเหลืองลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว  เป็นหนี้เจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า  1  ล้านบาท  และหนี้เงินกู้  1,000,000  บาท  เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน  แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระก็ตาม  นายฟ้าก็สามารถฟ้องนายเหลืองเป็นบุคคลล้มละลายได้  ตามมาตรา  9(3)  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

สรุป  คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ข้อ  2  นายจันทร์กู้เงินนายอังคารจำนวน  
2,000,000  บาท  โดยทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายจันทร์ผู้กู้  มีนายพุธเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้นั้น  ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระ  นายจันทร์ไม่ชำระหนี้  นายอังคารจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายจันทร์และนายพุธให้ชำระหนี้แล้วจำนวน  2  ครั้ง  ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า  30  วัน  และนายจันทร์กับนายพุธก็ไม่ชำระหนี้นั้น  นายอังคารจึงฟ้องนายจันทร์และนายพุธเป็นคดีล้มละลาย  นายจันทร์ไม่ต่อสู้คดี  ส่วนนายพุธต่อสู้ว่า  แม้ตนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ไม่สามารถชำระหนี้ได้  แต่นายจันทร์มีทรัพย์สินมูลค่าเกิน  2,000,000  บาท  สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด  จึงขอให้ศาลยกฟ้อง

ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาล

1)    ท่านจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายจันทร์เด็ดขาดหรือไม่  เพราะเหตุใด

2)    ท่านจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายพุธเด็ดขาดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  8  ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง  ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน  และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

มาตรา  9  เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท  และ

(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลัน  หรือในอนาคตก็ตาม

มาตรา  14  ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น  ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  9  หรือมาตรา  10  ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง  ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  แต่ถ้าไม่ได้ความจริง  หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย  ให้ศาลยกฟ้อง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกพิจารณาได้ดังนี้

1)    ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายจันทร์เด็ดขาดหรือไม่  เห็นว่า  การที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดได้นั้น  ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความจริงตามมาตรา  9  หรือมาตรา  10  แล้วแต่กรณี  (มาตรา  14)  และในการฟ้องคดีล้มละลาย  ถ้าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายโดยอ้างว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย  มาตรา  8  จำเลยมีหน้าที่ต่อสู้คดีเพื่อนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว  ถ้าจำเลยไม่ต่อสู้คดีนำสืบหักล้างหรือสืบหักล้างไม่ได้  ศาลก็ต้องฟังว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว  เมื่อพิจารณาประกอบหลักเกณฑ์อื่นตามมาตรา  9  หรือมาตรา  10  ศาลก็อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดได้

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายจันทร์กู้ยืมเงินนายอังคารจำนวน  2,000,000  บาท  โดยทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายจันทร์ผู้กู้เป็นสำคัญ  จึงสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  653  วรรคแรก

เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายจันทร์ไม่ชำระหนี้  นายอังคารจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายจันทร์และนายพุธให้ชำระหนี้  2  ครั้ง  ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า  30  วัน  แต่นายจันทร์และนายพุธก็ไม่ชำระหนี้  กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า  เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา  8(9)  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของนายจันทร์และนายพุธที่จะต้องต่อสู้คดีพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานนั้น

เมื่อนายจันทร์ไม่ต่อสู้คดี  ก็ต้องฟังว่านายจันทร์มีหนี้สินล้นพ้นตัว  ทั้งพิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา  9  แล้ว  นายจันทร์ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า  1  ล้านบาท  และหนี้นั้นกำหนดจำนวนได้แน่นอนและถึงกำหนดชำระแล้ว  ศาลจึงต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายจันทร์เด็ดขาด  ตามมาตรา  14  (ฎ. 4287/2543 , ฎ. 1196/2541)  โดยไม่จำต้องพิจารณาว่านายจันทร์อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่  เพราะนายจันทร์มิได้เข้าต่อสู้คดี

2)    ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายพุธเด็ดขาดหรืออไม่นั้น  เนว่า  กรณีโจทก์ฟ้องให้ลูกหนี้ร่วมหลายคนล้มละลายเป็นคดีเดียวกัน  การพิจารณาว่า  ลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ไม่สามารถชำระหนี้ได้  หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น  เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ำประกันแต่ละคน

ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายจันทร์ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชำระหนี้นายพุธในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับนายจันทร์อย่างลูกหนี้ร่วม  ตาม ป.พ.พ.  มาตรา  686  การที่นายอังคารฟ้องนายจันทร์และนายพุธให้ล้มละลายเป็นคดีเดียวกัน  แม้นายพุธจะต่อสู้ว่าแม้ตนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว  ไม่สามารถชำระหนี้ได้  แต่นายจันทร์มีทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน  2,000,000  บาท  สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดก็ตาม  นายพุธก็จะนำข้อต่อสู้ของนายจันทร์มาเป็นข้อต่อสู้ของตนไม่ได้  เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายจันทร์เท่านั้น  จึงต้องฟังว่านายพุธมีหนี้สินล้นพ้นตัว  (ฎ. 2776/2540)  ทั้งการที่นายจันทร์มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้แก่นายอังคารได้  ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้นายพุธล้มละลายแต่อย่างใด  (ฎ. 4287/2543)  ดังนั้นเมื่อพิจารณาได้ความจริงตามมาตรา  8(9)  ประกอบมารา  9  ศาลจึงต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายพุธเด็ดขาด  ตามมาตรา  14

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายจันทร์และนายพุธเด็ดขาด


ข้อ  3  นายหนึ่งตกลงยืมเงินนายสอง  โดยได้ส่งมอบเช็คสั่งจ่ายเงินลงวันที่  20  สิงหาคม  2552  เพื่อชำระเงินยืมดังกล่าว  ต่อมานายหนึ่งถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลาย  ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายหนึ่งเด็ดขาดวันที่  22  พฤษภาคม  2552

ดังนี้  ถ้านายสองต้องการนำหนี้ตามเช็คที่นายหนึ่งลงวันที่ล่วงหน้ามายื่นคำขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  94  เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้  ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม  เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย  หรือศีลธรรมอันดีหรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว  แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  นายสองจะนำหนี้ตามเช็คที่นายหนึ่งลงวันที่ล่วงหน้ามายื่นขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามบทบัญญัติมาตรา  94  นั้น  โดยหลักแล้วเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะขอรับชำระหนี้ได้  ก็ต่อเมื่อมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาด  แม้ว่าหนี้นั้นจะยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม  ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้จะอาศัยมูลหนี้ดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่ได้

ข้อเท็จจริงในกรณีนี้ฟังได้ว่า  มูลเหตุที่นายหนึ่งลูกหนี้ออกเช็คให้แก่นายสองเจ้าหนี้ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะนายหนึ่งได้รับเงินไปจากนายสองตามที่ตกลงยืมกัน  ซึ่งมีลักษณะเป็นการขายลดเช็คหรือนำไปแลกเงินสดจากเจ้าหนี้  มิใช่กรณีออกเช็คโดยไม่ปรากฏมูลหนี้  จึงถือได้ว่ามูลแห่งหนี้ตามเช็คเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่นายหนึ่งลูกหนี้รับเงินไปและมอบเช็คให้แก่นายสองยึดถือไว้  ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  กรณีจึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  94  แม้เช็คจะลงวันที่ล่วงหน้า  (20  สิงหาคม)  อันเป็นเวลาหลังจากที่ศาลสั่งพิทักษ์นายหนึ่งเด็ดขาดก็ตาม  (ฎ. 2969/2531)  ทั้งนี้เพราะวันสั่งจ่ายที่ลงในเช็คเป็นเพียงวันถึงกำหนดชำระหนี้หรือกำหนดเวลาใช้เงินเท่านั้น  หาทำให้มูลแห่งนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์กลับกลายเป็นเกิดขึ้นภายหลังไปไม่  นายสองจึงสามารถนำเช็คดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา  94  (ฎ. 3565/2525)

สรุป  นายสองสามารถนำเช็คดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ได้

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552 

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  จำนวน  3  ข้อ

ข้อ  1  ให้นักศึกษาอธิบายว่า  เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  จะมีผลต่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  และอำนาจในการจัดการทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้อย่างไร  จะมีผลต่อความรับผิดในหนี้สินของลูกหนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  56  การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้  แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้  ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้  เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้

อธิบาย

จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า  เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  จะมีผลในเรื่องคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด  และอำนาจในการจัดการทรัพย์สินและกิจการของลูกหนี้ดังนี้คือ

ก  เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย  ลูกหนี้ย่อมไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทน  (มาตรา  58)  กรณีต้องถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้นเป็นอันยกเลิกไปในตัว  ลูกหนี้ไม่ต้องล้มละลายอีกต่อไป  และลูกหนี้ย่อมกลับเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนได้ดังเดิม  และมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินของตนได้ต่อไป  (ฎ. 2649/2541)

ข  การประนอมหนี้นั้นผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกคน  ไม่ว่าเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่มิได้ยอมรับการขอประนอมหนี้  แม้กระทั่งเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชำระหนี้แต่ไม่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้ก็ตาม  เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ครบถ้วน  ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ  (ฎ. 6084/2548)  เว้นแต่หนี้ตามมาตรา  77(1)  และ  (2)  คือ  หนี้ภาษีอากร  และหนี้ซึ่งไดเกิดขึ้นโดยความทุจริต ฉ้อโกงของลูกหนี้  หนี้ทั้งสองประเภทนี้  ลูกหนี้จะต้องชำระต่อไปจนกว่าจะครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์  ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าหนี้ทั้งสองประเภทดังกล่าวจะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา  91  ตั้งแต่แรกหรือไม่  (ฏ. 4955/2536)


ข้อ  2  ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  เป็นโจทก์ฟ้องนายดำลูกหนี้ให้ล้มละลาย  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายดำเด็ดขาด  ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลว่าไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารไทย  จำกัด (มหาชน)  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์  อย่างไรก็ตาม  หนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ขาดอายุความไปก่อนวันที่นำคดีมาฟ้อง  เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า  มูลหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้เป็นหนี้รายเดียวกันกับที่นำมาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายซึ่งศาลได้พิจารณาแล้วว่า  หนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงลูกหนี้ก็มิได้ให้การต่อสู้คดีและขาดนัดพิจารณา  จนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและคดีถึงที่สุดแล้ว  แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความก่อนนำคดีมาฟ้องก็ตาม  อีกทั้งไม่มีเจ้าหนี้รายใดหรือลูกหนี้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้เลย  จึงอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ

ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามขอ  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  22  เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้

(3) ประนีประนอมยอมความ  หรือฟ้องร้อง  หรือต่อสู้คดีใดๆ  เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

มาตรา  94  เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้  ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม  เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย  หรือศีลธรรมอันดี  หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้

วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  พ.ร.บ.  ล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  22(3)  บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

การที่ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์นำหนี้ที่ขาดอายุความซึ่งต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  94(1)  มายื่นคำขอรับชำระหนี้  กรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจฟ้องร้องและต่อสู้คดีใดๆ  เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้  จึงมีอำนาจที่จะอ้างเอาอายุความมาต่อสู้เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ได้  แม้ศาลล้มละลายจะได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยมิได้ยกเหตุเรื่องอายุความขึ้นมาพิจารณายกฟ้องโจทก์ก็ตาม  ก็หาใช่ว่าศาลได้วินิจฉัยยอมรับรองว่าเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไม่  อีกทั้งกระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายในส่วนของการขอรับชำระหนี้เป็นกระบวนการพิจารณาที่แยกต่างหากจากกระบวนการพิจารณาคดีและมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์  โดยบทบัญญัติมาตรา  94, 105 , 106, และ  107  ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  และศาลที่จะต้องพิจารณาในชั้นขอรับชำระหนี้อีกครั้งด้วยว่าหนี้ที่เจ้าหนี้แต่ละรายยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่  แม้หนี้ที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ขอรับชำระหนี้มานั้นจะเป็นหนี้ที่กล่าวอ้างมาในฟ้องจนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วก็ตาม  แต่ก็หาผูกพันเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลให้จำต้องถือตามไม่  เมื่อหนี้ที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้ว  จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  94  (1)  ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ได้  ดังนั้น  การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (ฎ.980/2532, ฎ. 3960/2546)

สรุป  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่อนุญาตให้ธนาคารไทย  จำกัด  (มหาชน)  ได้รับชำระหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


ข้อ  3  ธนาคารสยามจำกัด  ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทอเมริกาจำกัด  ต่อมาธนาคารสยามจำกัดไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีต่อไป  ต้องการถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ  และมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำปรึกษาแก่ธนาคารสยามจำกัด  ประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  90/8  วรรคแรก  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้

วินิจฉัย

ธนาคารสยามจะถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่  เห็นว่า  ตาม  พ.ร.บ.ล้มละลาย  มาตรา  90/8  วรรคแรก  กำหนดว่า  ผู้ร้องขอจะถอนคำร้องขอไม่ได้  เว้นแต่ศาลจะอนุญาตแต่ถ้าศาลได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้  ซึ่งการร้องขอฟื้นฟูกิจการเป็นการร้องขอให้มีการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ภายใต้กรอบของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ  เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย  มิใช่เรื่องระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเท่านั้น  กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลเข้ามาตรวจสอบในกรณีที่มีการถอนคำร้องขอดังกล่าว

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ธนาคารสยาม  จำกัด  ผู้ร้องขอไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป  ก็ต้องขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ  โดยยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอดังกล่าวก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ส่วนศาลจะมีอำนาจที่จะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอหรือไม่  เป็นดุลพินิจของศาล  ซึ่งต้องพิจารณาถึงสาเหตุที่ขอถอนคำร้องขอนั้นด้วยว่า  เป็นเหตุอันสมควรหรือไม่

แต่อย่างไรก็ตาม  หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้  เพราะถือว่าศาลมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีของการร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว  ทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้  การยื่นคำร้องขอถอนคำร้องดังกล่าวหลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  จึงไม่อาจกระทำได้

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำปรึกษาแก่ธนาคารสยามว่า  ต้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  เพราะหากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว  ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไม่ได้ 

LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก ซ่อม 1/2548

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 (LA 309),(LW 311) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อนางบังอร  และมีอาหนึ่งคนชื่อนายดำ  กับน้าอีกหนึ่งคนชื่อนายแดง  ต่อมานายเอกตายมีมรดกจำนวน  6  ล้านบาท  ให้ท่านแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(6) ลุง  ป้า  น้า  อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(3) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (4) หรือ (6)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่  หรือมีทายาทตามมาตรา  1629 (5) แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่  มีสิทธิได้รับมรดกสองส่วนในสาม

วินิจฉัย

นางบังอร  เป็นคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ของนายเอกจึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  ส่วนนายดำกับนายแดงมีฐานะเป็นอาและน้าของนายเอก  อันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  6  ตามมาตรา  1629(6)  ดังนั้น  มรดกของนายเอกจำนวน  6  ล้านบาท  จึงต้องแบ่งให้แก่นางบังอรสองในสามของกองมรดกคือ  4  ล้านบาท  และแบ่งให้แก่นายดำและนายแดงจำนวน  2  ล้านบาท  ตามมาตรา  1635(3)  โดยนายดำกับนายแดงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันย่อมได้รับมรดกเท่ากัน  คือ  คนละ  1  ล้านบาท ตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกนายเอก  จำนวน  6  ล้านบาท  จึงแบ่งให้แก่

นางบังอร  จำนวน  4  ล้านบาท

นายดำ  จำนวน  1  ล้านบาท

นายแดง  จำนวน  1  ล้านบาท

 

ข้อ  2  นายสถานะและนายเสงี่ยมเป็นพี่น้องเกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสระหว่างนายสง่าและนางสะไบ ต่อมานางสะไบได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนายสงบและร่วมกันจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมชื่อนายเสน่ห์  หลังจากนั้นนางสะไบได้จดทะเบียนหย่ากับนายสงบและได้กลับไปจดทะเบียนสมรสกับนายสง่า  แต่ปรากฏว่านายสง่าได้ไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไว้ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนางสะไบชื่อนางสาวสวย  ซึ่งนางสะไบก็รักเหมือนกับลูกสาวคนหนึ่ง  นางสะไบได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดมูลค่า  12  ล้านบาท ให้นายสงบและนางสาวสวยได้คนละส่วนเท่าๆกัน  ปรากฏว่าวันที่  15  สิงหาคม  2548  นายสถานะประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย  โดยมีนายสมบัติเป็นบุตรบุญธรรมและนางสุดสวยภริยาเป็นผู้จัดการศพของนายสถานะ  ต่อมาวันที่  19  กันยายน  2548 นายสงบและนางสาวสวยได้ทะเลาะและฆ่ากันตาย  เมื่อนางสะไบทราบข่าวก็ตกใจถึงแก่ความตาย  ดังนี้จงแบ่งทรัพย์มรดกของนางสะไบ

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การที่นางสะไบเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดมูลค่า  12  ล้านบาท  ให้นายสงบและนางสาวสวยได้คนละส่วนเท่าๆกัน แต่ปรากฏว่าวันที่  19  กันยายน  2548  นายสงบและนางสาวสวยได้ทะเลาะและฆ่ากันตาย  ซึ่งต่อมานางสะไบทราบข่าวก็ถึงแก่ความตาย  ถือว่าข้อกำหนดพินัยกรรมตกไปทั้งฉบับตามมาตรา  1698(1)  เพราะเหตุที่ผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนผู้ทำพินัยกรรมต้องปันทรัพย์มรดกทั้งหมด  12  ล้านบาท  ให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไปตามมาตรา  1699  มาตรา  1620  วรรคแรก

เมื่อปรากฏว่านางสะไบเจ้ามรดกมีนายสถานะและนายเสงี่ยมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากับนายสง่า  (จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง)  ถือว่าทั้งสองเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ตามมาตรา  1629(1)  แต่ปรากฏว่าในวันที่  15 สิงหาคม  2548  นายสถานะได้ถึงแก่ความตายไปก่อนนางสะไบเจ้ามรดก  โดยมีนายสมบัติเป็นบุตรบุญธรรมเป็นเพียงผู้สืบสันดานแต่ไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรง  (สืบสายโลหิต)  ที่จะมีสิทธิในการรับมรดกแทนที่ในส่วนที่นายสถานะมีสิทธิที่จะได้รับ  ดังนั้นนายสมบัติจึงรับมรดกแทนที่นายสถานะไม่ได้ตามมาตรา  1639  มาตรา  1643

ในระหว่างที่นางสะไบเจ้ามรดกจดทะเบียนสมรสกับนายสงบ  ทั้งสองได้ร่วมกันจดทะเบียนรับนายเสน่ห์มาเป็นบุตรบุญธรรมจึงถือว่านายเสน่ห์เป็นผู้สืบสันดานทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ของนางสะไบตามมาตรา  1627  มาตรา  1629(1)  แต่ต่อมานางสไบได้จดทะเบียนหย่ากับนายสงบก่อนที่จะถึงแก่ความตาย  ดังนั้นนายสงบจึงไม่ถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส  ผู้มีสิทธิในการรับมรดกตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

เมื่อนางสะไบได้หย่ากับนายสงบแล้วได้กลับไปจดทะเบียนสมรสกับนายสง่าแล้วถึงแก่ความตายในขณะที่สมรสกับนายสง่า  ดังนั้นนายสง่าจึงเป็นทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรสผู้มีสิทธิในการรับมรดกของนางสไบตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

มรดก  12  ล้านบาทจึงตกได้แก่  นายสง่าคู่สมรส  นายเสงี่ยมบุตรและนายเสน่ห์บุตรบุญธรรมคนละส่วนเท่าๆกัน  ตามมาตรา  1635(1)  มาตรา  1629(1)  และมาตรา  1627  ได้คนละ  4  ล้านบาท

สรุป  มรดก  12  ล้านบาท  จึงตกได้แก่  นายสง่าคู่สมรส  นายเสงี่ยมบุตรและนายเสน่ห์บุตรบุญธรรมคนละส่วนเท่าๆกัน  ตามมาตรา 1635(1)  มาตรา  1629(1)  และมาตรา  1627  ได้คนละ  4  ล้านบาท

 

ข้อ  3  สมศักดิ์กับสมพรอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  สมศักดิ์ได้ไปขอเอก  โท  ตรี  จากสถานสงเคราะห์มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  โดยที่สมพรไม่ได้ให้ความยินยอมและอ้างว่าต่อไปก็จะมีลูกของตนเองอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องไปขอลูกใครมาเลี้ยง  เมื่อทั้งสามคนเติบโตเป็นหนุ่มก็ค่อนข้างเกเร  และใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายทำให้สมศักดิ์ต้องทำงานหนักขึ้น  ขณะที่สมศักดิ์เดินทางไปทำธุรกิจต่างจังหวัดก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  หลังจากสมศักดิ์ตายลงมีเงินสดเป็นมรดกอยู่  3  ล้านบาท  ปรากกว่าเอกได้ยักย้ายไป  1  ล้านห้าแสนบาท  โทได้ยักย้ายไป  1  ล้านบาท  และตรีก็ได้แอบนำไปใช้จ่ายโดยปิดบังไว้เป็นเงินสามแสนบาท  เมื่อสมพรมาดูเงินในตู้เซฟปรากฏว่ามีเงินเหลืออยู่เพียง  2  แสนบาทเท่านั้น  สมพรจึงไปฟ้องศาลขอเรียกเงินจากกองมรดกของสมศักดิ์ในเงิน  3 ล้านบาทนี้จากเอก  โท  และตรี  ดังนี้จงวินิจฉัยว่าศาลจะแบ่งมรดกของสมศักดิ์ให้แก่ทายาทคนใด  เท่าไร  อย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1457  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา  1598/27  การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

มาตรา  1598/28  บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น  แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา  ในกรณีเช่นนี้  ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

มาตรา  1599  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท 

มาตรา  1603  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย  เรียกว่า  ทายาทโดยธรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม  เรียกว่า  ผู้รับพินัยกรรม

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1753  ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก  เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม  หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

วินิจฉัย

สมศักดิ์ตายลงมีมรดก  3  ล้านบา  ย่อมตกทอดไปยังทายาทตามมาตรา  1599  วรรคแรก  และเมื่อไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้  มรดกจึงตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1603

สรพรเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่มานะเป็นทายาทโดยธรรมของสมศักดิ์ตามมาตรา  1457  ประกอบมาตรา  1629  วรรคท้าย

ส่วนเอก  โท  ตรี  ถือว่าเป็นบุตรบุญธรรมของสมศักดิ์เพียงคนเดียวตามมาตรา  1598/27  และมาตรา  1598/28  แม้สมพรจะไม่ให้ความยินยอมก็ไม่มีผลกระทบต่อการเป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดกของสมศักดิ์แต่อย่างใด  ฉะนั้นทั้งสามคนมีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งในมรดกของบิดาบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627  มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่าๆกันตามมาตรา  1633  เพราะเป็นทายาทลำดับเดียวกันจึงได้คนละ  1  ล้านบาท

เมื่อเอกได้ปิดบังเอามรดกไป  1  ล้าน  5  แสนบาทมากกว่าส่วนที่จะได้  เขาจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลยและหมดสภาพของการเป็นทายาท  มรดกในส่วนของเอกจึงตกทอดแก่โทและตรี  แต่ปรากฏว่าโทก็ได้ยักย้ายไป  1  ล้านบาท  ซึ่งเท่ากับส่วนที่ตนจะได้  เขาจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลยและหมดสภาพของการเป็นทายาทเช่นเดียวกับเอก  ฉะนั้น  มรดกในส่วนของโทก็จะตกทอดแก่เอกและตรี  แต่เมื่อเอกก็ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยและหมดสภาพของการเป็นทายาทแล้วตามมาตรา  1605  วรรคแรก  ฉะนั้น  มรดกในส่วนของเอกและโทจึงตกทอดแก่ตรี  แต่ตรีก็ได้ปิดบังมรดกไป  3  แสนบาท  ซึ่งน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ  เขาจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะในส่วนที่ได้ปิดบังยักย้ายไปคือ  3  แสนบาทนี้เท่านั้นตามมาตรา  1605  วรรคแรก  แต่สภาพของการเป็นทายาทของตรียังคงมีอยู่  ในส่วนมรดกของตรีที่ยักย้ายปิดบังไป  3  แสนบาทนี้ไม่มีทายาทอื่นที่เหลืออยู่อีก  จึงตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา  1753

ดังนั้น  ตรีจึงได้รับมรดกในส่วนที่เหลือ  7  แสนบาท  และยังได้รับในส่วนของเอกและโทอีก  2  ล้านบาท  รวมเป็นตรีได้รับมรดกทั้งหมด  จำนวน  2  ล้าน  7  แสนบาท

สรุป  มรดกของสมศักดิ์  3  ล้านบาทตกเป็นสมบัติแก่แผ่นดิน  3  แสนบาท  และตกทอดแก่ตรี  2  ล้าน  7  แสนบาท

ส่วนสมพรก็จะไม่ได้รับส่วนแบ่งเลย  เพราะไม่มีฐานะในการเป็นทายาทโดยธรรม  และเอกกับโทก็ไม่ได้รับมรดกเลยเพราะถูกกำจัดมิให้รับมรดกและหมดสภาพการเป็นทายาท

 

ข้อ  4  นายดำจดทะเบียนสมรสกับนางแดงมีบุตรคือนายเอ  โดยนายดำมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือนายเขียวและนายเหลือง นอกจากนี้นายเอได้จดทะเบียนสมรสกับนางสวยมีบุตรด้วยกันคือนายหนึ่ง  ต่อมานายดำทำพินัยกรรมยกเงินสด  50,000  บาท  ให้แก่นายเหลือง  หลังจากนั้นนายเอป่วยและถึงแก่ความตาย ต่อมานายดำทำหนังสือตัดนายเหลืองมิให้รับมรดกของตนและมอบหนังสือดังกล่าวแก่ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ  หลังจากนั้นนายเขียวโกรธนายหนึ่งที่ชอบพูดจาให้นายดำเกลียดตน  จึงยิงนายหนึ่งและนายหนึ่งถึงแก่ความตาย  โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกนายเขียวฐานฆ่านายหนึ่งตายโดยเจตนา  หลังจากนั้นนายดำถึงแก่ความตาย  เช่นนี้  จงแบ่งมรดกของนายดำซึ่งยังมีเงินสดนอกพินัยกรรมอีก  90,000  บาท

ธงคำตอบ

มาตรา  1536  วรรคแรก  เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน  นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี  หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ  หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้  แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(2) โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(4) ถ้าไม่มีทายาทดังที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายดำเจ้ามรดกถึงแก่ความตายจะเห็นได้ว่า  มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม  คือ  นางแดง  คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  และตกได้แก่  นายเอ  บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1536 วรรคแรก  1629(1)  แต่นายเอได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก  เช่นนี้ตามมาตรา  1639  ประกอบ  1642  และ  1643  นายหนึ่งบุตรโดยชอบด้วยของนายเอกอันเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงย่อมเข้ารับมรดกแทนที่นายเอ  เพื่อรับมรดกของนายดำได้  แต่กรณีตามอุทาหรณ์จะเห็นได้ว่านายหนึ่งนั้นได้ถูกนายเขียวยิงถึงแก่ความตาย  มรดกส่วนนี้จึงไม่มีผู้รับมรดกแทนที่นายเอ  ดังนี้  ตามมาตรา  1630  วรรคแรก  จึงให้มรดกตกทอดไปแก่ทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไป  คือ  นายเหลือง  และนายเขียว  ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายดำเจ้ามรดกทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(3)

แต่จะเห็นได้ว่า  ในกรณีของนายเขียวนั้น  ได้เจตนาฆ่านายหนึ่งซึ่งถือได้ว่านายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตนแล้ว  เพราะหากไม่มีนายหนึ่งมรดกของนายดำย่อมตกได้แก่นายเขียว  เช่นนี้  นายเขียวจึงถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรจะรับมรดกตามมาตรา  1606(1)  และในกรณีนายเหลืองจะเห็นได้ว่า  นายดำได้ทำหนังสือตัดมิให้นายเหลืองรับมรดกของนายดำเฉพาะในฐานทายาทโดยธรรมเป็นการชัดแจ้งและชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ตามมาตรา  1608  นายเหลืองจึงเสียสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม  แต่นายเหลืองยังคงมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมจำนวน  50,000  บาท

ดังนี้  มรดกของนายดำตามพินัยกรรมจึงตกแก่นายเหลืองแต่ผู้เดียว  จำนวน  50,000  บาท  ส่วนเงินสดนอกพินัยกรรมตกได้แก่  นางแดงภริยาแต่ผู้เดียวในฐานะทายาทโดยธรรม  จำนวน  90,000  บาท  ตามมาตรา  1635(4)

สรุป  นายเขียวถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควร  เพราะฆ่านายหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนนายเขียวโดยการเข้ารับมรดกแทนที่นายเอตามมาตรา  1606(1)  ส่วนนายเหลืองถูกตัดมิให้รับมรดกเฉพาะในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้นตามมาตรา  1608  แต่ยังคงได้รับมรดกในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม  และนางแดงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมแต่ผู้เดียวที่จะรับมรดกนอกพินัยกรรมของนายดำ  จำนวน  90,000  บาท  ตามมาตรา  1635(4)

LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอกเจ้ามรดกได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวแดงโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรด้วยกันสองคนคือ  เด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋ว  ซึ่งนายเอกได้เลี้ยงดูอย่างเปิดเผยและส่งเสียเล่าเรียนเยี่ยงบิดามีต่อบุตร  นายเอกยังมีนายโทน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันอีกหนึ่งคนซึ่งยังมีชีวิตอยู่  นายโทได้จดทะเบียนสมรสกับนางรัศมีและมีบุตรชื่อเด็กชายหมู  ทั้งนี้นายเอกมีมรดกจำนวน  2  ล้านบาท  และได้ทำพินัยกรรมให้เด็กชายหมูจำนวน  1  ล้านบาท  ปรากฏว่าเด็กชายหมูได้ตายก่อนนายเอกหลังจากนั้นนายเอกจึงตาย  จงแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  1603  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย  เรียกว่า  ทายาทโดยธรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม  เรียกว่า  ผู้รับพินัยกรรม

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นางสาวแดงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเอกเพราะไม่ใช่คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส)  จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  ส่วนเด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋วเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะของผู้สืบสันดานเพราะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วโดยพฤติการณ์  โดยการเลี้ยงดูและส่งเสียเล่าเรียนเยี่ยงบิดามีบุตรตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  จึงมีสิทธิได้รับมรดก

นายโทเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  ในฐานะน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตามมาตรา  1629(3)  แต่ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเอก เพราะนายเอกเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ที่มีสิทธิได้รับมรดกอยู่ก่อนแล้วคือ  เด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋ว  นายโทซึ่งเป็นทายาทในลำดับถัดไปจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเลย  อีกทั้งแม้เด็กชายหมูจะเป็นผู้รับพินัยกรรมจำนวน  1  ล้านบาท  แต่ก็ได้ตายก่อนนายเอกเจ้ามรดก  ด้วยเหตุนี้ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงตกไปตามมาตรา  1698(1)  จำนวนเงินตามพินัยกรรมจึงกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไปตามมาตรา  1603  มาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคแรก  ส่วนนางรัศมีคู่สมรสของนายโทนั้น  เป็นเพียงน้องสะใภ้ของนายเอกจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกแต่อย่างใด  เพราะไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของนายเอก

ดังนั้น  มรดกของนายเอกจำนวน  2  ล้านบาท  จึงตกทอดแก่เด็กชายโตและเด็กหญิงติ๋วคนละเท่าๆกัน  คือ  1  ล้านบาทตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนายเอก  ตกทอดแก่เด็กชายโทและเด็กหญิงติ๋วคนละ  1  ล้านบาท

 

ข้อ  2  นายเออยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวบี  มีบุตรด้วยกัน  2  คน  ชื่อนายหนึ่งและนางสาวสอง  นายน้ำได้มาจดทะเบียนรับนายหนึ่งไปเป็นบุตรบุญธรรม  ต่อมานายหนึ่งได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวหน่อยทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกัน  นายหนึ่งต้องการมีบุตรจึงได้ไปจดทะเบียนรับนางสาวหยาดมาเป็นบุตรบุญธรรม  โดยที่นางสาวหน่อยยังไม่ได้ให้ความยินยอม  ต่อมานายหนึ่งแยกทางกับนางสาวหน่อยแล้วได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางนิดทั้งสองคนมีบุตรด้วยกันชื่อนางสาวหวาน  ต่อมานางสาวหยาดถึงแก่ความตายโดยมีนายวันเป็นบุตรบุญธรรม  นางสาวหวานถึงแก่ความตายโดยมีนายทูเป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันกับนายอำนาจอยู่ต่อมาอีก  2  ปี  นายหนึ่งก็ถึงแก่ความตายโดยมีทรัพย์มรดก  9  ล้านบาท  จงแบ่งมรดกนายหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

มาตรา  1598/29  การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการณ์รับบุตรบุญธรรมนั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นายหนึ่งเจ้ามรดกเป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสของนายเอและนางสาวบี  นายหนึ่งจึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวบีตามมาตรา  1546  แต่มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอ  ดังนั้นนายเอจึงมิใช่ทายาทตามมาตรา  1629(2)  แต่นางสาวบีมารดาเป็นทายาทตามมาตรา  1629(2)

ส่วนนางน้ำแม้เป็นผู้รับนายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรม  ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตามมาตรา  1598/29  นางน้ำจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งตามมาตรา  1629(2)

กรณีนางสาวสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายหนึ่งเจ้ามรดกจึงเป็นทายาทตามมาตรา  1629(3)  ซึ่งพิจารณาตามความเป็นจริง

ในระหว่างที่นายหนึ่งอยู่กินกับนางสาวหน่อย  นายหนึ่งไปจดทะเบียนรับนางสาวหยาดมาเป็นบุตรบุญธรรม  นางสาวหยาดจึงเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทตามมาตรา  1627  มาตรา  1629(1)  แม้นางสาวหน่อยภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายจะไม่ยินยอมก็ไม่มีผลทางกฎหมาย การจดทะเบียนรับนางสาวหยาดเป็นบุตรบุญธรรมจึงมีผลโดยสมบูรณ์

ในระหว่างนายหนึ่งจดทะเบียนสมรสกับนางนิด  ทั้งสองมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายชื่อ  นางสาวหวาน  นาวสาวหวานจึงเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)

แต่ปรากฏว่า  นางสาวหยาดทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ถึงแก่ความตายก่อนนายหนึ่งเจ้ามรดกโดยมีนายวันเป็นบุตรบุญธรรม  นายวันจึงเป็นผู้สืบสันดานของนางสาวหยาด  แต่ไม่อาจรับมรดกแทนที่นางสาวหยาดได้ตามมาตรา  1643  เพราะการรับมรดกแทนที่มีได้แต่โดยผู้สืบสันดานโดยตรงเท่านั้น  แต่นายวันเป็นเพียงผู้สืบสันดาน  แต่มิได้เกิดจากสายโลหิตของนางสาวหวานจึงมิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงที่จะรับมรดกแทนที่ได้ส่วนกรณีนางสาวหวานทายาทตามมาตรา  1629(1)  ถึงแก่ความตายก่อนนายหนึ่งเจ้ามรดก  โดยมีบุตรชื่อนายทู  เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่เกิดขึ้นระหว่างการอยู่กินร่วมกันกับนายอำนาจ  ดังนั้นนายทูเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนางสาวหวานจึงสามารถรับมรดกแทนที่นางสาวหวานได้ตามมาตรา  1639  มาตรา  1643

ดังนั้น  นายหนึ่งมีคู่สมรสคือนางนิดเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  มีนางสาวบีเป็นมารดาเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(2)  มีนายทูเป็นผู้รับมรดกแทนที่นางสาวหวานตามมาตรา  1639  มาตรา  1643  ประกอบมาตรา  1629(1)  ดังนั้นมรดก  9 ล้านบาท  จึงได้คนละ  3  ล้านเท่าๆกัน  ตามมาตรา  1635(1)  และมาตรา  1630(1)

ส่วนนางสาวสอง  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(3)  ไม่มีสิทธิได้รับ  เพราะมีทายาทในลำดับหนึ่งๆแล้ว  ลำดับถัดลงมาจึงไม่มีสิทธิได้รับตามมาตรา  1630  วรรคแรก

สรุป  มรดก  9  ล้านบาท  ได้แก่

นายนิดภริยา  3  ล้านบาท  ตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

นายทูแทนที่นางสาวหวาน  3  ล้านบาท  ตามมาตรา  1629(1)  ,  1639  ,  1643

นางสาวบีมารดา  3  ล้านบาท  ตามมาตรา  1629(2)

 

ข้อ  3  เอกเป็นหม้าย  มีบุตรชายที่ชอบด้วยกฎหมายสองคนคือโทกับตรี  ทั้งสองคนไม่เคยดูแลบิดาเลยเอกรู้สึกเหงาจึงไปขอบุตรสาวของคนงานก่อสร้างข้างบ้านคือจัตวามาเป็นภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  ดำ  ต่อมาเอกประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตพร้อมกับจัตวา  โทและตรีจึงได้ดูแลดำแทนพ่อต่อมาโดยนำมาอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน  ดำมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหนึ่งคนคือ  แดง และตรีก็มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหนึ่งคนคือ  ขาว  โทมีฐานะร่ำรวยกว่าน้องทั้งสองคน  เขามีเงินสดอยู่ในธนาคาร 1  ล้าน  6  แสนบาท จึงได้ทำพินัยกรรมยกให้ตรีและดำคนละ  8  แสนบาท  ต่อมาตรีประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  ดำจึงได้นำขาวมาอุปการะเลี้ยงดูเหมือนเป็นบุตรบุญธรรมของตน  ดำเป็นคนโมโหร้าย  พูดจาโผงผาง  วันหนึ่งดำทะเลาะกับโทมีการโต้เถียงกันรุนแรง  โทจึงไปคว้าปืนมาเพื่อจะยิงขู่ บังเอิญดำแย่งปืนมาได้และได้ทำปืนลั่นใส่โทโดยไม่ได้ตั้งใจ  ทำให้โทถึงแก่ความตายทันที  ศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุกดำฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้โทตายโดยคำพิพากษาถึงที่สุด  จงวินิจฉัยว่า  มรดกของโทจะตกทอดแก่ทายาทคนใดบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ  หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

 (4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

เอกบิดาและตรีน้องชายทั้งสองคนได้เสียชีวิตไปแล้ว  จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกได้

การที่ดำต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำโดยประมาททำให้โทซึ่งเป็นเจ้ามรดกตายนั้น  ไม่เป็นเหตุให้ดำถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา  1606(1)  แต่อย่างใด  เพราะไม่ได้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีเจตนากระทำให้โทถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  ดำจึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของโทอยู่

โทได้ทำพินัยกรรมยกเงินในธนาคารให้ตรีและดำคนละ  8  แสนบาทนั้น  ถือว่าทั้งสองคนเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรม  แต่เนื่องจากตรีได้ตายก่อนโทเจ้ามรดก  จึงทำให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ตกไปตามมาตรา  1698(1)  ต้องนำเงินไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมต่อไปตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคสอง  ตรีเป็นผู้รับพินัยกรรม   ขาวซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของตรีเป็นทายาทของผู้รับพินัยกรรม  ดังนั้นขาวจึงไม่สามารถรับมรดกแทนที่ตรีในส่วนนี้ได้  เพราะการรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1642  ฉะนั้นเงินส่วนนี้จึงต้องตกแก่ทายาทโดยธรรมของโทคือ  ตรีและดำ  คนละ  4  แสนบาทตามมาตรา  1629(4)  ในส่วนแบ่งของตรีนั้นตกแก่ขาวในฐานะผู้สืบสันดานโดยตรงของตรี  จึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643

สรุป  มรดกของโทคือเงินสดในธนาคารจำนวน  1  ล้าน  6  แสนบาท  จึงตกทอดแก่

ดำ  ในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม  8  แสนบาทและในฐานะทายาทโดยธรรมอีก  4  แสนบาท  รวมเป็นเงิน  1  ล้าน 2  แสนบาท

ขาว  ในฐานะทายาทผู้รับมรดกแทนที่ของตรีเป็นเงิน  4  แสนบาท

 

ข้อ  4  นายเพชรมีมารดาชื่อ  นางไข่มุก  นายเพชรจดทะเบียนสมรสกับนางพลอย  มีบุตรด้วยกัน  1 คน  คือ  น.ส.เงิน  นายเพชรและนางพลอยรับนายทองมาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย  นายทองจดทะเบียนสมรสกับนางทับทิมมีบุตร  1  คน  คือ  ด.ญ.ไพลิน  นายเพชรทำพินัยกรรมยกที่ดิน  1  แปลงราคา  200,000  บาท  ให้กับ  น.ส.เงิน  ต่อมานายทองประสบอุบัติเหตุตาย  หลังจากนั้นนายเพชรถึงแก่ความตาย  นายเพชรมีทรัพย์มรดกคือที่ดิน  1  แปลงราคา  200,000  บาท  ตามพินัยกรรมและเงินสด  600,000  บาท  น.ส.เงินได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนเองโดยทุจริต  200,000  บาท  ดังนี้จงแบ่งมรดกของนายเพชร

ธงคำตอบ

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม  ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง  ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายเพชรถึงแก่ความตาย  ทรัพย์มรดกคือ  เงินสด  600,000  บาท  ที่นายเพชรไม่ได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ใคร  ย่อมตกได้แก่ทายาทโดยธรรม  ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายเพชรคือ  น.ส.เงิน  ตามมาตรา  1629(1)  และนายทองผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  ประกอบกับมาตรา  1627  นางไข่มุกมารดาตามมาตรา  1629(2)  และนางพลอยคู่สมรสตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  โดยทั้งสี่จะได้รับมรดกคนละเท่าๆกัน  คือคนละ  150,000  บาทตามมาตรา  1630  วรรคสอง  ประกอบกับมาตรา  1635(1)  แต่นายทองได้ถึงแก่ความตายก่อนนายเพชรเจ้ามรดก  ด.ญ.ไพลินซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายทองจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ในส่วนที่นายทองจะได้รับตามมาตรา  1639  ประกอบกับมาตรา  1643

การที่  น.ส.เงิน  ได้เอาเงินมรดกไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจำนวน  200,000  บาทนั้น  เป็นการยักย้ายทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้  น.ส.เงินจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมเลยตามมาตรา  1605  วรรคแรก  ต้องนำส่วนที่  น.ส.  เงินถูกกำจัดมิให้รับมรดกจำนวน  150,000  บาท  ไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายเพชร  คือ  ด.ญ.ไพลิน  นางไข่มุก  และนางพลอยโดยได้รับคนละ  50,000  บาท  ส่วนที่ดิน  1  แปลงราคา  200,000  บาท  เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างที่นายเพชรได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่  น.ส.เงิน จึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  1605  วรรคสอง  น.ส.เงินไม่ถูกกำจัดให้รับมรดกในที่ดินแปลงดังกล่าว  น.ส.เงินจึงยังคงมีสิทธิได้รับที่ดิน  1 แปลงตามพินัยกรรม

สรุป  ด.ญ.ไพลิน  นางไข่มุก  และนางพลอยได้รับมรดกคือ  เงินสดคนละ  200,000  บาท  ส่วน  น.ส.เงินได้รับมรดกคือ  ที่ดิน  1  แปลง  ราคา  200,000  บาท  ตามพินัยกรรม

LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก ซ่อม S/2548

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 (LA 309),(LW 311) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางสาวแต๋วได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายโตโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  และมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อนายติ่ง  นายโตได้ส่งเสียเลี้ยงดูนายติ่งอย่างเปิดเผยเยี่ยงบิดามีต่อบุตร  นอกจากนี้นางสาวแต๋วยังมีน้องร่วมบิดามารดาอีกสองคนคือ  นางสาวดำกับนายแดง นางสาวดำได้มีบุตรกับคู่รักของตนชื่อเด็กหญิงส้มโอ  ปรากฏว่าในช่วงวันหยุด  นางสาวแต๋วกับนางสาวดำได้เดินทางไปเที่ยวด้วยกันและเกิดอุบัติเหตุรถชนกันเสียชีวิตทั้งสองคน  ต่อมานางเติ่งได้ถึงแก่ความตายและมีมรดกจำนวน  800,000  บาท  ดังนี้  จงแบ่งมรดกของนายติ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

(2)  บิดามารดา

(6)  ลุง ป้า  น้า  อา

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นายติ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายโตซึ่งเป็นบิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์เยี่ยงบิดามีต่อบุตรอย่างเปิดเผย  นายติ่งจึงเป็นผู้สืบสันดานของนายโตที่มีสิทธิรับมรดกของนายโตได้ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1627  และมาตรา  1629(1)  แต่อย่างไรก็ดี  สถานะของนายติ่งก็ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโต  และนายโตก็ไม่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายติ่ง  นายโตจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายติ่ง  เพราะทายาทโดยธรรมลำดับที่  2  คือ  บิดามารดาตามมาตรา  1629(2)  หมายถึง  บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  ส่วนนางสาวดำและนายแดงมีฐานะเป็นน้าของนายติ่ง  จึงถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  6  ของนายติ่งตามมาตรา  1629(6)

ดังนั้น  มรดกของนายติ่งจำนวน  800,000  บาท  จะตกทอดแก่นายดำและนางแดงคนละส่วนเท่าๆกัน  คือ  คนละ  400,000  บาทตามมาตรา  1629(6)  และมาตรา  1633  แต่ปรากฏว่านางสาวดำได้ตายก่อนนายติ่งเจ้ามรดก  แต่นางสาวดำมีเด็กหญิงส้มโอเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา  1546  มาตรา  1629(1)  มาตรา  1639  มาตรา  1642  และมาตรา  1643  เด็กหญิงส้มโอจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวดำในมรดกของนายติ่งเจ้ามรดก

สรุป  มรดกของนายติ่งจำนวน  800,000  ตกทอด  ได้แก่

1       เด็กหญิงส้มโอ  จำนวน  400,000  บาท

2       นายแดง  จำนวน  400,000  บาท

 

 

ข้อ  2  ดำกับแดงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีบุตรสาวหนึ่งคนคือ  ขาว  ทั้งคู่ไม่มีบุตรชาย  ดำจึงไปขอทองแดงจากสถานสงเคราะห์มาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย  พร้อมทั้งแดงก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว  เมื่อขาวและทองแดงเติบโตเป็นหนุ่มสาวจึงรู้ว่าไม่ใช่พี่น้องกันจริงๆ  จึงเกิดความรักกันขึ้นและตกลงใจแต่งงานกันอย่างเงียบๆโดยจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย  มีบุตรหนึ่งคนคือ  เหลือง  จากพฤติกรรมที่ทั้งสองปฏิบัติจึงทำให้ดำตรอมใจตาย  แดงเสียใจมากจึงได้ทำพินัยกรรมตัดขายบุตรสาวมิให้รับมรดกของตนและฆ่าตัวตายในเวลาต่อมา  ก่อนตายแดงมีเงินในธนาคาร  1  ล้านบาท  บ้านอีก  1  หลัง  ราคา  2  ล้านบาท  จงวินิจฉัยว่ามรดกของแดงจะตกอยู่แก่ใคร

ธงคำตอบ

มาตรา  1598/25  ผู้จะรับบุตรบุญธรรมหรือผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม  ถ้ามีคู่สมรสอยู่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อน  ในกรณีที่คู่สมรสไม่อาจให้ความยินยอมได้หรือไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และหาตัวไม่พบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของคู่สมรสนั้น

มาตรา  1598/27  การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1753  ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก  เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม  หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

วินิจฉัย

ทองแดงนั้นถือว่าเป็นบุตรบุญธรรมของนายดำโดยชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงลำพัง  แม้ว่าแดงจะให้ความยินยอมในการรับเป็นบุตรบุญธรรมในฐานะเป็นคู่สมรส  ก็ไม่ได้ทำให้ทองแดงเป็นบุตรบุญธรรมของแดงแต่อย่างใด  ตามมาตรา  1598/25  ประกอบมาตรา  1598/27  ดังนั้นจึงไม่ถือว่าทองแดงเป็นทายาทโดยธรรมของแดง  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

การที่แดงได้ทำพินัยกรรมตัดขาวบุตรสาวมิให้ได้รับมรดกนั้น  เป็นการตัดทายาทมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรม  ถือเป็นการตัดโดยชัดแจ้งตามมาตรา  1608  แล้ว  การตัดดังกล่าวถือว่าเป็นการตัดทายาทตลอดทั้งสาย  ซึ่งผู้ที่ถูกตัดคือ  ขาว  แม้มีทายาทคือเหลืองซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของขาวที่มิอาจรับมรดกแทนที่ได้  หรือสืบมรดกก็ไม่ได้เช่นกัน  ดังนั้น  มรดกของแดงคือเงินในธนาคารจำนวน  1  ล้านบาท  และบ้านอีก  1  หลัง  ราคา  2  ล้านบาท  จึงตกทอดแก่แผ่นดินตามมาตรา  1753

สรุป  มรดกของนายแดงตกทอดแก่แผ่นดิน

 

 

ข้อ  3  นายอ้วนและนางสาวผอม  เป็นพี่น้องที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาของนายหนุ่มและนางสาวสวย  โดยทั้งสองให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรทั้งสองอย่างดี  มีอยู่วันหนึ่งนายหนุ่มได้จดทะเบียนรับนายชายเป็นบุตรบุญธรรม  โดยไม่ได้บอกให้นางสาวสวยทราบ  เพราะเกรงว่านางสาวสวยจะไม่ยินยอม  ต่อมานายอ้วนได้จดทะเบียนสมรสกับนางอนงค์  แต่ทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกันจึงได้ร่วมกันจดทะเบียนรับ  ด.ญ.หญิง  เป็นบุตรบุญธรรม  ส่วนนางสาวผอมได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายผิวโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  มีบุตรชื่อ  ด.ญ.ผัดไท  โดยด.ญ.ผัดไทใช้นามสกุลนางสาวผอม  มีอยู่วันหนึ่งนางสาวผอมและนายอ้วนร่วมมือกันยักยอกทรัพย์นายหนุ่มไป  3  ล้านบาท  เพราะเกรงว่าตนเองจะไม่ได้รับมรดก  ส่วนนายชายได้ออกอุปสมบทที่วัดหัวหินจังหวัดเพชรบุรี  เช่นนี้  ถ้านายหนุ่มมีทรัพย์มรดกทั้งหมด  9  ล้านบาท  แต่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดก  3  ล้านบาทให้แก่นายชายและทำพินัยกรรมยกมรดก  6  ล้านบาทแก่นางสาวสวย  ต่อมาวันที่  10  สิงหาคม  2549  นายชายได้เดินทางมาเยี่ยมนายหนุ่มที่หัวหมาก  แต่นายชายประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายเพราะเรืออับปางที่ท่าเรือวัดระฆัง  ซึ่งในขณะนั้นนางสาวสวย  นายอ้วนและนางสาวผอมไปไหว้พระที่วัดระฆัง  เห็นเหตุการณ์ๆได้ลงไปช่วยแต่ก็จมน้ำตายเช่นกัน  เมื่อนายหนุ่มทราบข่าวจากทางโทรทัศน์ก็ตกใจถึงแก่ความตายตาม  เช่นนี้จงแบ่งมรดกทั้งหมด  9  ล้านบาทของนายหนุ่ม

ธงคำตอบ

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

 ในขณะที่นายหนุ่มมีชีวิตอยู่  ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดก  3  ล้านบาท  ให้แก่นายชายบุตรบุญธรรม  และทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกอีก  6  ล้านบาทให้แก่นางสาวสวยภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ถือว่าเป็นกรณีที่นายหนุ่มเจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกหมดแล้ว  ทำให้นายอ้วนและ  น.ส.ผอมบุตรนอกกฎหมายที่นายหนุ่มบิดารับรองโดยพฤตินัย  เพราะนายหนุ่มได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา  ซึ่งถือว่าเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  ไม่ได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม  จึงเปรียบเสมือนหนึ่งว่านายอ้วนและ  น.ส.ผอมเป็นผู้ถูกตัดมิให้ได้รับมรดกโดยปริยายตามมาตรา  1608  วรรคท้าย

แต่ปรากฏว่าในระหว่างที่นายหนุ่มเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่  นายอ้วนและ  น.ส.ผอมได้ร่วมกันยักยอกเงินนายหนุ่มไป  3  ล้านบาท  ดังนี้ยังไม่ถือว่าทั้งสองถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเพราะยักย้ายหรือปิดบัง  ทรัพย์มรดก  ตามมาตรา  1605  วรรคแรก  เพราะกรณีที่จะถูกกำจัดตามมาตรานี้  ต้องเป็นการกระทำของทายาทภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเท่านั้น  ดังนั้น  นายอ้วนและ  น.ส.ผอมจึงไม่ถูกกำจัดให้ได้รับมรดก  จึงยังเป็นทายาทโดยธรรมของนายหนุ่มอยู่  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

ในระหว่างที่นายชายบุตรบุญธรรมของนายหนุ่มได้อุปสมบทอยู่ที่วัดหัวหิน  นายชายได้เดินทางกลับมาเยี่ยมนายหนุ่มที่กรุงเทพฯ  ปรากฏว่านายชายได้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำถึงแก่ความตายไป  และ  น.ส.สวยเห็นเหตุการณ์ได้ลงไปช่วยแต่ก็จมน้ำตายเช่นกัน  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่นายชายและ  น.ส.สวยผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนนายหนุ่มผู้ทำพินัยกรรม  ดังนั้น  ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงตกไปทั้งฉบับ  ตามมาตรา  1698(1)  จึงต้องยกทรัพย์มรดกทั้งหมด  9  ล้านบาทแก่ทายาทโดยธรรมของนายหนุ่มเจ้ามรดกต่อไป  ตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคแรก

เมื่อปรากฏว่านายหนุ่มได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับ  น.ส.สวยมีบุตรด้วยกัน  2  คน  ชื่อนายอ้วนและ  น.ส.ผอม  ซึ่งนายหนุ่มได้รับรองโดยพฤตินัยด้วยการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา  ถือว่าเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองโดยพฤตินัยมีสิทธิรับมรดกของบิดาได้เสมือนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  แต่ทายาททั้งสองคนนี้ได้ถึงแก่ความตายก่อนนายหนุ่มเจ้ามรดก

นายอ้วนได้จดทะเบียนสมรสกับนางอนงค์  แต่ทั้งสองไม่มีบุตรด้วยกันจึงได้ร่วมกันจดทะเบียนรับ  ด.ญ.หญิง  เป็นบุตรบุญธรรม  จึงถือว่า  ด.ญ.หญิงเป็นผู้สืบสันดานของนายอ้วน  แต่ไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายอ้วนเพราะ  ด.ญ.หญิงไม่ได้สืบสายโลหิตของนายอ้วน  ดังนั้น  ด.ญ.หญิงจึงรับมรดกแทนที่ในส่วนที่นายอ้วนมีสิทธิที่จะได้รับไม่ได้ตามมาตรา  1693  ประกอบมาตรา  1643  อีกทั้งนางอนงค์ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายอ้วนก็ไม่มีสิทธิในการรับมรดกแทนที่นายอ้วนด้วยเช่นกัน  เพราะผู้ที่มีสิทธิในการรับมรดกแทนที่ต้องเป็นผู้สืบสันดานของทายาทเจ้ามรดก

ส่วนกรณี  น.ส.ผอม  ได้อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับนายผิว  โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีบุตรชื่อ  ด.ญ.ผัดไท  โดย  ด.ญ.ผัดไท  ใช้นามสกุลนางสาวผอมจึงถือว่า  ด.ญ.ผัดไทเป็นบุตรที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้สมรสกับชาย  จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ  น.ส.ผอม ดังนั้น  ด.ญ.ผัดไทจึงเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของ  น.ส.ผอม  เป็นทายาทตามมาตรา  1629(1)  ด.ญ.ผัดไทจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่ น.ส.ผอมได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1643  เพราะฉะนั้นมรดกทั้งหมด  9  ล้านบาทของนายหนุ่มจึงตกได้แก่  ด.ญ.ผัดไทโดยการรับมรดกแทนที่  น.ส.ผอม  แต่เพียงผู้เดียว

สรุป  มรดก  9  ล้านบาทของนายหนุ่มตกได้แก่  ด.ญ.ผัดไทแต่เพียงผู้เดียว

 

 

ข้อ  4  นายฉลองและนางเฉลียวเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่งงานได้  3  ปี  ทั้งสองยังไม่มีบุตรด้วยกัน  จึงได้ตัดสินใจร่วมกันจดทะเบียนรับนายฉลาดเป็นบุตรบุญธรรม  หลังจากนั้นนางเฉลียวได้ตั้งครรภ์และคลอดบุตรชื่อนางสาวโฉม  ต่อมานายฉลาดได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวโฉมมีบุตรด้วยกันชื่อ  ด.ญ.ฉุยฉาย  เนื่องจากนายฉลองชอบเที่ยวกลางคืนเป็นประจำทำให้เกิดผิดใจกับนายฉนวนผู้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายฉนวนจึงได้ทำพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมด  15  ล้านบาท  ให้แก่นางสาวไฉไลบุตรสาวบุญธรรมแต่เพียงผู้เดียว  เมื่อนายฉลองทราบเรื่องทั้งหมดจึงได้ทำการปลอมพินัยกรรมของนายฉนวนใหม่ว่า  นายฉนวนขอตั้งนายฉลองเป็นผู้จัดการมรดก  ต่อมานายฉนวนถึงแก่ความตาย  นางสาวไฉไลได้ออกบวชเป็นแม่ชีและได้ทำการสละมรดกตามพินัยกรรมทั้งหมด  เช่นนี้  ถ้าหากว่านางสาวไฉไลมีนายฉงนเป็นบุตรบุญธรรม  จงแบ่งมรดกนายฉนวน  15  ล้านบาท

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(5) ผู้ที่ปลอม  ทำลาย  หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1617  ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก  ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1634  ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่งๆ  ตามบทบัญญัติในลักษณะ  2  หมวด  4  นั้น  ให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดังนี้

(3) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว  ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายฉนวนเจ้ามรดกมีนายฉลองเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย  และมี  น.ส.ไฉไลเป็นบุตรสาวบุญธรรม  ดังนั้นทั้งนายฉลองและ  น.ส.ไฉไลเป็นผู้สืบสันดานของนายฉนวน  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  เป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันย่อมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันตามมาตรา  1633

แต่ปรากฏว่านายฉนวนได้ทำพินัยกรรมยกมรดกทั้งหมด  15  ล้านบาทแก่  น.ส.ไฉไลแต่เพียงผู้เดียว  จึงถือว่านายฉลองซึ่งเป็นทายาทที่ไม่ได้ประโยชน์ตามพินัยกรรมถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกโดยปริยายตามมาตรา  1608  วรรคท้าย  เมื่อนายแลองทราบเรื่องพินัยกรรม  จึงทำการปลอมพินัยกรรมของนายฉนวนใหม่ว่า  นายฉนวนขอตั้งนายฉลองเป็นผู้จัดการมรดก  นายฉลองจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร เพราะเป็นผู้ปลอมพินัยกรรมไม่ว่าเป็นเรื่องใด  ไม่ว่าทังหมดหรือบางส่วนก็ต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกตามมาตรา  1606(5)  อีกทั้งเป็นการถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย  เพราะนายฉลองได้ปลอมก่อนที่นายฉนวนเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย

เมื่อนายฉนวนถึงแก่ความตาย  น.ส.ไฉไลได้ออกบวชเป็นแม่ชีและได้ทำการสละมรดกตามพินัยกรรม  ถือว่าข้อกำหนดพินัยกรรมทั้งหมด  15  ล้านบาท  ตกไปทั้งฉบับเพราะเป็นกรณีที่ผู้รับพินัยกรรมสละพินัยกรรมตามมาตรา  1698(3)  จึงต้องแบ่งทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของนายฉนวนต่อไปตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคแรก  และกรณีนี้แม้ว่า  น.ส.ไฉไลจะมีนายฉงนเป็นบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้สืบสันดานก็ตาม  นายฉงนก็ไม่มีสิทธิในการรับมรดกตามพินัยกรรมที่ได้สละแล้วตามมาตรา  1617

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  น.ส.ไฉไลได้ทำการสละมรดกตามพินัยกรรมเท่านั้น  แต่ไม่ได้ทำการสละในฐานะทายาทโดยธรรม  ดังนั้น น.ส.ไฉไลจึงยังคงเป็นทายาทโดยธรรม  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาส่วนโดยธรรมได้  7.5  ล้านบาท  ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง  คือ  7.5  ล้านบาท  ตกได้แก่นายฉลองบุตรนายฉนวนเจ้ามรดก  แต่เมื่อปรากฏว่านายฉลองได้ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  โดยนายฉลองมีบุตรบุญธรรมชื่อ  นายฉลาด  และมีบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายชื่อ  น.ส.โฉมเป็นผู้สืบสันดาน  แต่นายฉลาดไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายแลอง  เพราะการรับมรดกแทนที่มิได้เฉพาะแต่ผู้สืบสันดานโดยตรงเท่านั้น  กล่าวคือผู้ที่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ต้องเป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรง  แต่นายลาดเป็นเพียงผู้สืบสันดานที่ไม่ได้สืบสายโลหิตของนายฉลอง  ดังนั้นนายฉลาดจึงไม่สามารถรับมรดกแทนที่นายแลองได้  ตามมาตรา  1639  มาตรา  1643  แต่  น.ส.โฉมเป็นบุตรสาวที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้สืบสายโลหิตของนายฉลองจึงเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง  ดังนั้น  น.ส.โฉมจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายฉลองได้  7.5  ล้านบาทเพียงผู้เดียว  ตามมาตรา 1639  มาตรา  1643  และมาตรา  1634(3)

สรุป  มรดก  15  ล้านบาทตกได้แก่

1       น.ส.ไฉไล  บุตรบุญธรรมของนายฉนวนเป็นทายาทโดยธรรมเป็นเงิน  7.5  ล้านบาท  ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

2       น.ส.โฉม  โดยการรับมรดกแทนที่นายฉลองเป็นเงิน  7.5  ล้านบาท  ตามมาตรา  1639  มาตรา  1643  และมาตรา  1634(3)   

LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นางสาวแดง  ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายดำ  โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรด้วยกัน  1  คน  ชื่อนายโต  นายดำได้ส่งเสียเลี้ยงดูนายโตอย่างเปิดเผยเยี่ยงบิดามีต่อบุตร  นอกจากนี้นางสาวแดงยังมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก  2  คน  คือ  นางสาวส้มกับนางสาวฟ้า  นางสาวส้มได้มีบุตรกับชายคนรักแบบลับๆ  คนหนึ่งชื่อเด็กชายบุญทิ้ง  ปรากฏว่านางสาวแดงกับนางสาวส้มได้ขับรถยนต์ไปด้วยกันและเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งสองคน  ต่อมานายโตได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งและมีมรดกจำนวน  800,000  บาท  จงแบ่งมรดกของนายโต

ธงคำตอบ

มาตรา  1546  เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย  ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น 

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

(2)  บิดามารดา

(6)  ลุง ป้า  น้า  อา

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

นายโต  เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายดำซึ่งเป็นบิดาได้รับรองแล้วโดยพฤติการณ์เยี่ยงบิดามีต่อบุตรอย่างเปิดเผย  นายโตจึงเป็นผู้สืบสันดานของนายดำที่มีสิทธิรับมรดกของนายดำได้ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1627  และมาตรา  1629(1)  แต่อย่างไรก็ดี นายโตก็มิได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำ  และนายดำก็ไม่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโต  นายดำจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายโตเพราะทายาทโดยธรรมลำดับที่  2  คือ  บิดามารดาตามมาตรา  1629(2)  หมายถึง  บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น  (ฎ. 1271/2506)  ส่วนนางสาวส้มกับนางสาวฟ้านั้นมีฐานะเป็นน้าของนายโต  ซึ่งถือเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  6  ของนายโตตามมาตรา  1629(6)

ดังนั้น  มรดกของนายโตจำนวน  800,000  บาท  ย่อมตกทอดได้แก่  นางสาวส้มกับนางสาวฟ้าคนละส่วนเท่าๆกัน  คือคนละ  400,000  บาท  ตามมาตรา  1629(6)  ประกอบมาตรา  1633  แต่ปรากฏว่านางสาวส้มได้ตายก่อนนายโตเจ้ามรดก  และนางสาวส้มมีเด็กชายบุญทิ้งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา  1546  มาตรา  1629(1)  มาตรา  1639  และมาตรา  1643  เด็กชายบุญทิ้งจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวส้มในมรดกของนายโตเจ้ามรดก

สรุป  มรดกของนายโต  จำนวน  800,000  บาท  ตกทอดได้แก่

1       เด็กชายบุญทิ้ง  จำนวน  400,000  บาท

2       นางสาวฟ้า  จำนวน  400,000  บาท

 

ข้อ  2  นายหนึ่งและนางสองเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  นายหนึ่งมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันชื่อนายหมู  และมีน้องร่วมมารดาชื่อนายช้าง  นายช้างมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อเด็กชายอ้น  นายหนึ่งได้ทำพินัยกรรมมีข้อความว่า  เมื่อข้าพเจ้าเสียชีวิตให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดของข้าพเจ้าตกทอดแก่ทายาทนายช้างเพียงผู้เดียว  ต่อมานายช้างประสบอุบัติเหตุตกตึกถึงแก่ความตาย  หลังจากนั้นนายหนึ่งตาย  มีมรดกจำนวน  900,000  บาท  จงแบ่งมรดกของนายหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(3)  พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4)  พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (3)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา  1629 (1)  แต่มีทายาทตามมาตรา  1629 (2)  แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายช้าง  ผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม  ดังนั้น  ข้อกำหนดในพินัยกรรมย่อมเสียไป  และมรดกทั้งหมดของนายหนึ่งย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1698(1)  มาตรา  1699  และมาตรา  1620  วรรคสอง  เด็กชายอ้นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายช้างเข้ารับมรดกแทนที่ไม่ได้  เพราะการรับมรดกแทนที่กันนั้นใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม  ไม่มีการรับมรดกแทนที่ในฐานะเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมตามมาตรา  1642

นายหนึ่งตาย  มีนายหมูเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629(3)  และมีนายช้างเป็นน้องร่วมมารดาเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  4  ตามมาตรา  1629(4)  ดังนั้น  นายหมูย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของนายหนึ่งในฐานะทายาทโดยธรรม ส่วนนายช้างเป็นทายาทโดยธรรมลำดับถัดไปย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา  1630  วรรคแรก  และเมื่อปรากฏว่านายหนึ่งมีภริยาคือนางสองซึ่งยังมีชีวิตอยู่  นางสองจึงได้รับมรดกของนายหนึ่งกึ่งหนึ่งตามมาตรา  1635(2)  ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกทอดแก่นายหมู

สรุป  มรดกของนายหนึ่ง  จำนวน  900,000  บาท  ตกทอดได้แก่

นางสอง  จำนวน  450,000  บาท

นายหมู  จำนวน  450,000  บาท

 

ข้อ  3  นายสี  มีบุตรชอบด้วยกฎหมาย  2  คน  คือ  นายดำกับนายแดง  นายสีได้ทำพินัยกรรมยกแหวนเพชรมูลค่า  5  แสนบาท  ให้แก่นายดำ  ต่อมานายสีถึงแก่ความตาย  โดยมีทรัพย์มรดกคือแหวนเพชรตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม  และเงินสดนอกพินัยกรรมอีกจำนวน  4 แสนบาท  เมื่อนายสีถึงแก่ความตาย  นายดำได้ยักยอกแหวนเพชรไปไว้ที่อื่นและปกปิดไม่ให้นายแดงทราบ  นอกจากนี้  นายดำยังได้ทุจริตเอาเงินที่เป็นมรดกของนายสีไปใช้อีกจำนวน  70,000  บาท  ให้ท่านแบ่งมรดกของนายสี

ธงคำตอบ

มาตรา  1603  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย  เรียกว่า  ทายาทโดยธรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม  เรียกว่า  ผู้รับพินัยกรรม

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม  ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง  ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น

มาตรา  1621  เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น  แม้ทายาทโดยธรรมจะได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพินัยกรรม  ทายาทคนนั้นก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนโดยธรรมของตนจากทรัพย์มรดกส่วนที่ยังไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมจนเต็มอีกก็ได้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1651  ภายใต้บังคับบทบัญญัติลักษณะ  4

(2) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม  บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ  หรือแยกไว้ต่างหากจากกองมรดก  บุคคลนั้นเรียกว่า  ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ  และมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น

วินิจฉัย

ในการรับมรดกของทายาทตามกฎหมายจะมีอยู่  2  ประเภท  คือ  เป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมตามมาตรา  1603  ซึ่งนายดำเป็นทั้งทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรม  ส่วนนายแดงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมเพียงฐานะเดียวของนายสี  แม้ว่านายสีจะมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินใดให้แก่นายแดง  นายแดงก็มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกของนายสีนอกพินัยกรรม  กรณีของนายดำนั้น  แม้จะได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมแล้ว  ก็ยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาส่วนที่เป็นทายาทโดยธรรมของตนในทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรมอีกก็ได้  ตามมาตรา  1621

สำหรับเงินสดจำนวน  4  แสนบาท  โดยปกตินายดำกับนายแดงจะได้รับส่วนแบ่งในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันคนละ  200,000  บาท  ตามมาตรา  1629(1)  และมาตรา  1633  แต่นายดำได้ยักย้ายเอาเงินสดในกองมรดกไปจำนวน  70,000  บาท  ซึ่งน้อยกว่าส่วนที่นายดำจะพึงได้รับ  ดังนั้น  นายดำจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเท่าส่วนที่ตนได้ยักย้ายไปคือ  จำนวน  70,000  บาท  ตามมาตรา 1605  วรรคแรก  นายดำจึงได้รับเงินสดเพียง  130,000  บาท  ส่วนอีก  70,000  บาทที่ถูกกำจัดนั้นย่อมตกทอดได้แก่นายแดง  โดยเมื่อรวมกับส่วนที่นายแดงจะได้รับตามปกติอีกจำนวน  200,000  บาท  ทำให้นายแดงได้รับมรดกเป็นเงินสดทั้งหมด  270,000  บาท  ส่วนแหวนเพชรที่นายดำได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น  ถือเป็นพินัยกรรมเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างตามมาตรา  1651(2)  นายดำจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกในส่วนนี้ตามมาตรา  1605  วรรคท้าย

สรุป  นายดำได้รับมรดกเป็นแหวนเพชรตามพินัยกรรม  และเงินสดอีกจำนวน  130,000  ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม  ส่วนนายแดง  ไดรับมรดกเป็นเงินสด  จำนวน  270,000  บาท  ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม

 

ข้อ  4  นายอาทิตย์  มีบุตรชอบด้วยกฎหมายสามคนชื่อ  นายจันทร์  นายอังคาร  และนายพุธ  นายอังคารมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อ  นางเมฆขลา  และนายอังคารได้ขอเด็กชายเสาร์บุตรของป้าตั้งแต่ยังแบเบาะมาอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาเยี่ยงบุตรของตน  ทั้งให้เรียกตนเองว่าพ่ออย่างเปิดเผย  เมื่อนายอาทิตย์ตายมีมรดกอยู่จำนวน  3  ล้านบาท  นายอังคารได้ไปทำหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ขอสละมรดกในส่วนของตน  เพราะเห็นว่าตนมีอาชีพและครอบครัวที่มั่นคงดีอยู่แล้ว  แต่ทายาทคนอื่นๆนั้นมีฐานะยากจน  การกระทำของนายอังคารทำให้นางเมฆขลาภริยาไม่พอใจเป็นอย่างมาก  เพราะนายอังคารยังมีเด็กชายเสาร์และตนที่จะต้องเลี้ยงดูอยู่นั่นเอง  นางเมฆขลาจึงมาปรึกษากับท่าน  ให้วินิจฉัยว่า  มรดกของนายอาทิตย์จะตกทอดได้แก่ผู้ใดบ้าง  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1615  การที่ทายาทสละมรดกนั้น  มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย

เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก  ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิของตนและชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ  แต่ผู้สืบสันดานนั้นต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดาผู้ปกครอง  หรือผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี  ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์ในนามของผู้สืบสันดานนั้น

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

วินิจฉัย

นายอาทิตย์  เจ้ามรดกมีมรดกจำนวน  3  ล้านบาท  และมีบุตรชอบด้วยกฎหมายสามคน  คือ  นายจันทร์  นายอังคาร  และนายพุธ  โดยเป็นผู้สืบสันดานในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งจะมีสิทธิได้รับมรดกเท่าๆกัน  คนละ  1  ล้านบาท  เพราะเป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันตามมาตรา  1633  ปรากฏว่า  นายอังคารได้สละมรดกในฐานะที่ตนเป็นทายาทโดยธรรม  ด้วยการทำเป็นหนังสือมอบไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่  ดังนั้น  มรดกในส่วนนี้จำนวน  1  ล้านบาท  จึงกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมที่เหลืออยู่ต่อไป  ตามมาตรา  1621  และมาตรา  1615  วรรคแรก  โดยจะตกทอดได้แก่นายจันทร์  500,000  บาท  และนายพุธ  500,000  บาท  กรณีนี้  เด็กชายเสาร์ไม่สามารถสืบมรดกที่นายอังคารได้สละมรดกได้  ตามมาตรา  1615  วรรคสอง  เพราะเด็กชายเสาร์ไม่ใช่ผู้สืบสันดานของนายอังคาร  เป็นเพียงบุตรของป้าที่นายอังคารได้ขอมาเลี้ยงดูและให้การศึกษาเยี่ยงบุตรเท่านั้น  เมื่อเป็นบุตรของคนอื่นจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดาน  ส่วนนางเมฆขลาเป็นลูกสะใภ้ของนายอาทิตย์  ไม่มีสิทธิได้รับมรดก  เพราะไม่ได้เป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมแต่อย่างใด

สรุป  มรดกของนายอาทิตย์จะตกทอดได้แก่

นายจันทร์  จำนวน  1,500,000  บาท

นายพุธ  จำนวน  1,500,000  บาท

LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ดำเป็นหญิงหม้ายเพราะสามีประสบอุบัติเหตุตาย  ดำมีน้องชายร่วมบิดามารดาหนึ่งคนคือ  แดง  และมีน้องสารร่วมมารดาอีกหนึ่งคนคือ  ขาว  ขาวเป็นนักธุรกิจชอบเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆในขณะที่ไปทำธุรกิจต่างประเทศก็ได้พบรักกับเหลือง  ซึ่งเป็นนักธุรกิจเหมือนกันจึงได้แต่งงานกัน  โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย  มีบุตร  1  คน  คือ  เขียว  ขณะที่เขียวอายุได้  5  ปีนั้น  ขาวและเหลืองซึ่งเป็นบิดามารดาได้เดินทางไปต่างประเทศด้วยกันและประสบอุบัติเหตุเพราะเครื่องบินโดยสารตกเสียชีวิตทั้งคู่  ดำซึ่งเป็นป้าจึงได้เลี้ยงดูเขียวเหมือนเป็นลูกของตนเองและคิดว่าจะนำไปจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรม  แต่ปรากฏว่าดำประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน  ดำตายลงมีทรัพย์มรดกคือมีที่ดินพร้อมบ้านราคา  6  ล้านบาท  และเงินสดในธนาคารอีก  4  ล้านบาท  โดยที่เธอไม่ได้ทำพินัยกรรมใดๆไว้  จงแบ่งมรดกของดำ

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

แดงและขาวถือเป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายของดำ  เมื่อดำตายมรดกจึงตกทอดแก่คนทั้งสองตามมาตรา  1620  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  1629(4)

แต่เนื่องจากขายได้ตายก่อนดำเจ้ามรดก  และขาวมีเขียวซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงสามารถรับมรดกแทนที่ขาวในมรดกของดำได้ตามมาตรา  1639  ประกอบมาตรา  1629(4)  มาตรา  1642  และมาตรา  1643

อย่างไรก็ตาม  แม้เขียวจะอยู่ในอุปการะของดำโดยการเลี้ยงดูและดำจะนำไปจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมแต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนแต่อย่างใด  ดังนั้น  เขียวจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานของดำ  แต่เขียวก็เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของขาวจึงรับมรดกแทนที่ของขาวเพื่อรับมรดกของดำได้  โดยแบ่งกันกับแดงซึ่งเป็นลุงคนละครึ่งตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกของดำคือบ้านพร้อมที่ดินราคา  6  ล้านบาท  และเงินในธนาคารอีก  4  ล้านบาท  รวมเป็นเงิน  10  ล้านบาท  จึงตกทอดแก่แดงและเขียวคนละ  5  ล้านบาท

 

ข้อ  2  นายเอกและนางโท  เป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมายมีบุตรด้วยกันสามคนคือ  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  โดยนายหนึ่งได้สมรสกับนางแดงและมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  เด็กหญิงอ๋อย  ส่วนนายสามได้สมรสกับนางส้มและมีบุตรด้วยกันหนึ่งคนชื่อ  เด็กชายเปี๊ยก นายเอกมีมรดกอยู่จำนวน  4  ล้านบาท  ได้ทำพินัยกรรมยกให้นายหนึ่งจำนวน  2  ล้านบาท  และนายสามจำนวน  2  ล้านบาท  เพราะเห็นว่าบุตรทั้งสองคนนั้นมีครอบครัวประกอบกับความรักหลาน  ปรากฏว่านายหนึ่งได้ตายก่อนนายเอกหลังจากนั้นนายเอกได้ถึงแก่ความตาย นายสามเสียใจและสงสารมารดาของตนกับพี่จึงได้สละมรดกตามพินัยกรรมที่ตนได้รับนั้น  ดังนี้  จงแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1617  ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก  ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้สละแล้วนั้น

มาตรา  1618  ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้  หรือผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดก  ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้นๆ  แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายเอกเจ้ามรดกมีมรดกอยู่จำนวน  4  ล้านบาท  ได้ทำพินัยกรรมยกให้บุตรของตนคือนายหนึ่ง  2  ล้านบาท  และนายสาม  2  ล้านบาท  ดังนั้นนายสองซึ่งเป็นบุตรอีกคนหนึ่งและนางโทภริยาจึงถือว่าเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกของนายเอกโดยปริยายด้วยการที่เจ้ามรดกจำหน่ายทรัพย์มรดกหมดตามมาตรา  1608  วรรคท้าย  นายหนึ่งผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อนนายเอกผู้ทำพินัยกรรม  ฉะนั้นข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงตกไปตามมาตรา  1698(1)  จำนวน  2  ล้านบาทตามพินัยกรรมจึงกลับคืนสู่กองมรดก  และกลายเป็นทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม  ซึ่งจะต้องแบ่งปันให้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกต่อไปตามมาตรา  1699  และมาตรา  1620  ปรากฏว่าหลังจากนายเอกเจ้ามรดกตายแล้ว  นายสามผู้รับพินัยกรรมได้สละมรดกตามพินัยกรรมจำนวน  2  ล้านบาท  เป็นเหตุให้ข้อกำหนดตามพินัยกรรมเป็นอันตกไปเช่นกันตามมาตรา  1698(3)  ซึ่งจำนวนเงินตามพินัยกรรมที่นายสามสละนั้นจะกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมของนายเอกตามมาตรา  1618  มาตรา  1699  และมาตรา  1620  วรรคสอง  และเด็กชายเปี๊ยกผู้สืบสันดานของนายสามจะสืบมรดกที่นายสามผู้รับพินัยกรรมสละไปไม่ได้ตามมาตรา  1617

ดังนั้น  มรดกของนายเอกจำนวน  4  ล้านบาท  จะตกทอดได้แก่บุคคลใดบ้างสามารถพิจารณาได้ดังนี้

1       นางโทในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

2       เด็กหญิงอ๋อยในฐานะผู้รับมรดกแทนที่นายหนึ่งบิดาของตนตามมาตรา 1629(1)  มาตรา  1639  มาตรา  1642  และมาตรา  1643

3       นายสองและนายสามในฐานะผู้สืบสันดานอันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ตามมาตรา  1629(1)

ทั้งนี้  ในการแบ่งมรดก  นางโทจะได้รับส่วนแบ่งจำนวน  1  ล้านบาท  เสมือนหนึ่งเป็นทายาทชั้นบุตรตามมาตรา  1635(1)  เด็กหญิงอ๋อยจะได้รับมรดกแทนที่นายหนึ่งจำนวน  1  ล้านบาท  นายสองและนายสามจะได้รับส่วนแบ่งคนละ  1  ล้านบาทในฐานะทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันย่อมได้รับส่วนแบ่งมรดกเท่ากันตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนายเอกจำนวน  4  ล้านบาท  สามารถแบ่งได้ดังนี้

นางโท  จำนวน  1  ล้านบาท

เด็กหญิงอ๋อย  จำนวน  1  ล้านบาท

นายสอง  จำนวน  1  ล้านบาท

นายสาม  จำนวน  1  ล้านบาท

นางแดงและนางส้ม  ไม่ได้รับมรดกเพราะเป็นลูกสะใภ้ไม่ใช่ทายาทโดยธรรม

เด็กชายเปี๊ยก  ไม่สามารถสืบมรดกได้เพราะนายสามบิดาได้สละมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรม

 

ข้อ  3  นางส้มและนายขนุน  เป็นบุตรที่เกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาของนายมะยม  และ  น.ส.มังคุด  โดยนายมะยมได้ให้นางส้มใช้นามสกุลตนเอง  ส่วนนายขนุนใช้นามสกุล  น.ส.มังคุด  เพราะนายมะยมได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนางมะนาวจึงไม่ได้มาสนใจ  น.ส.มังคุดและบุตรทั้งสองอีก  เมื่อนายมะไฟบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมะยมทราบเรื่องทั้งหมด  ก็ได้ทำพินัยกรรมยกบ้านราคา  3,000,000  บาท  ให้นางส้ม  และยกรถยนต์มูลค่า  4,500,000  บาท  ให้นายขนุน  ส่วนนางส้มจดทะเบียนสมรสกับนายองุ่น  มีบุตรชื่อ  นายมะม่วง  แต่นางส้มมีปากเสียงกันบ่อยกับนายองุ่นจึงแยกกันอยู่  แต่นายขนุนได้จดทะเบียนรับนายละมุดเป็นบุตรบุญธรรม  ปรากฏว่านายมะไฟ  นางส้ม  นายขนุน  และนายมะยมเดินทางไปเที่ยวจังหวัดพิษณุโลก  ทั้งหมดได้ประสบอุบัติเหตุจมน้ำ  ทำให้นางส้มและนายมะยมถึงแก่ความตายในทันที  ส่วนนายมะไฟและนายขนุนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล  เมื่อนายมะไฟรู้สึกตัวและทราบข่าวว่านางส้มและนายมะยมถึงแก่ความตายก็เสียใจมากและถึงแก่ความตาย  ส่วนนายขนุนได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ถ้าหากว่านายมะไฟยังมีนางสาวมะเฟืองเป็นบุตรบุญธรรมอีกคนหนึ่ง  จงแบ่งมรดกนายมะไฟ

ธงคำตอบ

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การที่นายมะยมอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.มังคุด  มีบุตร  2  คน  ชื่อนางส้มซึ่งนายมะยมให้ใช้นามสกุล ถือว่านางส้มเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤติการณ์ตามมาตรา  1627  จึงมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานของนายมะยม  และยังมีนายขนุนเป็นบุตรนอกกฎหมายอีกคน  แต่นายมะยมก็มิได้ให้การรับรองแต่อย่างใด  ดังนั้นนายขนุนจึงยังไม่มีฐานะเป็นผู้สืบสันดานของนายมะยม

เมื่อนายมะยมไปจดทะเบียนสมรสกับนางมะนาวแต่ไม่มีบุตรด้วยกันและไม่ได้มาสนใจ  น.ส.มังคุดและบุตรอีกเลย  เป็นเหตุให้นายมะไฟบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมะยมได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่นายขนุนได้รถยนต์  (4,500,000  บาท)  นางส้มได้บ้าน (3,000,000 บาท)  เป็นกรณีที่นายมะไฟทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกหมดทำให้นายมะยมซึ่งเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ไม่ได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม  จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้ได้รับมรดกโดยปริยายตามมาตรา  1608  วรรคท้าย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นางส้ม  นายมะยม  นายขนุน  นายมะไฟ  เดินทางไปพิษณุโลกและประสบอุบัติเหตุ  นางส้มและนายมะยมจมน้ำตายทันที  ดังนั้น  ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของบ้านที่นายมะไฟทำพินัยกรรมยกให้นางส้มจึงเป็นอันตกไปตามมาตรา  1698(1) เพราะนางส้มผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนนายมะไฟผู้ทำพินัยกรรม  จึงต้องปันทรัพย์มรดกในบ้าน  3,000,000  บาทนี้แก่ทายาทโดยธรรมของนายมะไฟเจ้ามรดกต่อไปตามมาตรา  1699  และมาตรา  1620  วรรคสอง

เมื่อนายมะไฟเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมีการทำพินัยกรรมในรถยนต์  (4,500,000  บาท)  ให้แก่นายขนุน  ซึ่งในขณะที่นายมะไฟตาย  นายขนุนผู้รับพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่  ดังนั้น  ข้อกำหนดพินัยกรรมในส่วนของรถยนต์ยังมีผลใช้บังคับอยู่รถยนต์จึงตกได้แก่นายขนุนทันที เพราะการตกทอดแห่งทรัพย์มรดกไม่ต้องแสดงเจตนาเข้ารับเอา  แต่เป็นไปโดยผลของกฎหมาย

ส่วนทรัพย์มรดกบ้านราคา  3,000,000  บาทนี้  ต้องนำไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายมะไฟซึ่งนายมะไฟมีนายมะยมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวมะเฟืองเป็นบุตรบุญธรรม  ซึ่งทั้งสองมีฐานะเป็นผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันและมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันคนละ  1,500,000  บาท  ตามมาตรา  1627  มาตรา  1629(1)  และมาตรา  1633  ปรากฏว่านายมะยมทายาทตามมาตรา  1629(1)  ถึงแก่ความตายไปก่อนนายมะไฟเจ้ามรดก  โดยมีนางส้มเป็นผู้สืบสันดานของนายมะยม  แต่นางส้มได้ตายไปก่อนเช่นกัน  แต่นางส้มยังมีนายมะม่วงเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง  ดังนั้นในส่วนแบ่ง  1,500,000  บาทนี้  นายมะม่วงจึงมีสิทธิในการรับมรดกแทนที่นายมะยมได้ตามมาตรา   1639  และมาตรา  1643  ส่วนนางมะนาวภริยานายมะยมไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายมะยมเพราะไม่ใช่ผู้สืบสันดาน

สรุป

1       นายขนุน  รับมรดกในฐานะผู้รับพินัยกรรมในรถยนต์  4,500,000  บาท  (แม้ว่าในเวลาต่อมานายขนุนจะถึงแก่ความตายก็ตาม  แต่ตายภายหลังเจ้ามรดกตายแล้ว)

2       ทรัพย์มรดกที่เป็นบ้าน  3,000,000  บาท  ตกได้แก่

1)    น.ส.มะเฟือง  เป็นบุตรบุญธรรมของนายมะไฟ  ได้  1,500,000  บาท

2)    นายมะม่วง  ในฐานะรับมรดกแทนที่นายมะยม  ได้  1,500,000  บาท

 

ข้อ  4  นายเอกมีบุตร  2  คน  คือ  นายหนึ่ง  นายสอง  และยังมีบุตรบุญธรรมชื่อนายสาม  นายเอกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกเป็นเงินสด 3  ล้านบาท  ให้นายสองแต่เพียงผู้เดียว  เมื่อนายหนึ่งทราบเรื่องจึงใช้ปืนขู่บังคับให้นายเอกทำพินัยกรรมบกเงินครึ่งหนึ่งให้นายขันบุตรบุญธรรมของนายหนึ่ง  แต่นายเอกไม่ยอมจึงขัดขืนใช้ปืนของตนเองยิงป้องกันตัว  เป็นเหตุให้นายหนึ่งบาดเจ็บสาหัสเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล  ซึ่งในขณะที่นายหนึ่งก่อเหตุนายสองและนายสามเห็นเหตุการณ์  นายสองจึงได้ทำหนังสือสละมรดกมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตบางซื่อโดยไม่ขอรับมรดกตามพินัยกรรม  ส่วนนายสามไปเที่ยวสุโขทัยก็ประสบอุบัติเหตุจมน้ำตาย  นายโทบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสามได้เดินทางไปรับศพนายสามกลับมาบำเพ็ญกุศลที่กรุงเทพฯ  เมื่อนายเอกทราบข่าวการตายของนายสามจึงเศร้าใจและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  จงแบ่งมรดกของนายเอก 

ธงคำตอบ

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาแต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ  แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์  หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ  หรือเพิกถอน  หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกหรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

มาตรา  1608  วรรคท้าย  แต่เมื่อบุคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว  ให้ถือว่าบรรดาทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1619  ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด  ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้

วินิจฉัย

การที่นายเอกทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมด  3,000,000  บาทให้แก่นายสองเพียงผู้เดียว  ทำให้นายหนึ่งบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและนายสามบุตรบุญธรรมของนายเอกเป็นผู้ไม่ได้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม  ถือว่านายหนึ่งและนายสามถูกตัดมิให้ได้รับมรดกโดยปริยายตามมาตรา  1608  วรรคท้าย

เมื่อนายหนึ่งทราบเรื่องพินัยกรรม  ก็ได้ใช้ปืนขู่บังคับให้นายเอกเจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกมรดกให้นายขันบุตรบุญธรรมของนายหนึ่งเป็นเงิน  1,500,000  บาท  (ครึ่งหนึ่ง)  ดังนั้นนายหนึ่งจึงถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา  1606(4)  ซึ่งเป็นการถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย

แต่ปรากฏว่า  นายเอกได้ใช้ปืนยิงไปที่นายหนึ่งเป็นการป้องกันตัว  ทำให้นายหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส  ในขณะเกิดเหตุตั้งแต่แรกนายสองและนายสามเห็นเหตุการณ์  แต่มิได้ไปร้องเรียนเพื่อนำตัวนายหนึ่งมาลงโทษ  แต่นายสองและนายสามก็ไม่ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก เพราะในการนี้นายเอกเจ้ามรดกยังไม่ได้ถูกนายหนึ่งฆ่าตาย  ทั้งสองคนนี้จึงไม่ถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรตามมาตรา  1606(3)

การที่นายสองทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกตามพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนาจำหน่ายสิทธิที่อาจเกิดมีขึ้นในอนาคต  ซึ่งการสละมรดกจึงไม่มีผลใช้บังคับ  แม้จะทำเป็นหนังสือมละมรดกมอบไว้แก่ผู้อำนวยการเขตบางซื่อก็ตาม  ตามมาตรา  1612  ประกอบมาตรา  1619 เพราะนายสองทำการสละมรดกก่อนนายเอกเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  ดังนั้นนายสองจึงยังมีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรมได้อยู่

สรุป  นายสองเป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม  จำนวน  3,000,000  บาท

LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายหนึ่งอยู่กินกับนางสองโดยมิได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรด้วยกันหนึ่งคนคือ  นายเอก  ซึ่งนายหนึ่งได้เลี้ยงดูให้การศึกษาและให้ใช้นามสกุลด้วย  นอกจากนี้นายหนึ่งยังมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเกิดกับภริยาเดิมและได้เสียชีวิตไปแล้วอีกสองคนคือ  นายโทกับนายตรี  และเขายังมีน้องสาวร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก  1  คนคือ  นางดำ  นายโทได้ไปขอเด็กชายกมลจากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรมของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายหนึ่งมีเงินสดฝากในธนาคารอยู่จำนวน  1  ล้าน  2  แสนบาท  จึงได้ทำพินัยกรรมยกให้ลูกทั้งสามคนคือ  นายเอก  นายโท  นายตรี  และน้องสาวของเขาคือ  นางดำด้วย  โดยให้ได้รับคนละ  3  แสนบาท  ต่อมานายหนึ่งได้ให้นายโทขับรถพานางดำไปธุระให้แก่ตนที่ต่างจังหวัด  ทั้งสองประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งคู่  นายหนึ่งเสียใจมากคิดว่าเป็นความผิดของตนจึงตรอมใจตายในเวลาต่อมา  จงแบ่งมรดกของนายหนึ่ง

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นายหนึ่งได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่นายเอก  นายโท  นายตรี  ซึ่งเป็นบุตร  และนางดำน้องสาวคนละ  3  แสนบาท  ปรากฏว่า  นายโทและนางดำผู้รับพินัยกรรมตายก่อนนายหนึ่งผู้ทำพินัยกรรม  ฉะนั้น  พินัยกรรมในส่วนของสองคนนี้จึงตกไปตามมาตรา  1698(1)  และกลับสู่กองมรดกของนายหนึ่ง  เพื่อนำไปแบ่งแก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งต่อไปตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคสอง

ฉะนั้นเงินสดจำนวน  6  แสนบาทของนายโทและนางดำตามพินัยกรรมจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่ง  คือ  นายโท  นายตรี  และนายเอก  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนายหนึ่งตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627  คนละส่วนเท่าๆกัน  คือคนละ  2  แสนบาทตามมาตรา  1633  ส่วนนางสองภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่มีส่วนในมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรสตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

นายโทมีบุตรบุญธรรมหนึ่งคนคือเด็กชายกมล  แต่เด็กชายกมลไม่สามารถรับมรดกแทนที่ของนายโทได้ตามมาตรา  1639  เพราะไม่ได้เป็นผู้สืบสันดานโดยตรง  (ตามหลักสายโลหิต)  ตามมาตรา  1643  ดังนั้นในส่วนของนายโทจึงตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายหนึ่งอีกสองคนคือ  นายเอกและนายตรี  ซึ่งนายเอกนั้นแม้เป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่ง  แต่มีการรับรองพฤติการณ์โดยนายหนึ่งได้เลี้ยงดู  ให้การศึกษา  และให้ใช้นามสกุลด้วย  นายเอกจึงเป็นผู้สืบสันดานและรับมรดกได้ตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)  ดังนั้นทั้งสองคนจึงได้รับส่วนแบ่งเท่าๆกัน  คือ  คนละ  1  แสนบาท  ตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกของนายหนึ่งจำนวน  1  ล้าน  2  แสนบาท  จึงตกทอดแก่นายเอกและนายตรีคนละ  6  แสนบาท  โดยรับในฐานะทายาทโดยธรรมคนละ  3  แสนบาท  และในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมอีกคนละ  3  แสนบาท 

 

ข้อ  2  นายเอกและนางโทเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  นายเอกมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันชื่อนายดำ  และมีน้องสาวร่วมมารดาชื่อนางแดง  นางแดงมีบุตรชอบด้วยกฎหมายชื่อเด็กหญิงส้ม  นายเอกได้ทำพินัยกรรมมีข้อความว่า  เมื่อข้าพเจ้าตายไป  ให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดของข้าพเจ้าตกทอดแก่นางแดงแต่เพียงผู้เดียว  นางแดงประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย  ต่อมานายเอกตายมีมรดกจำนวน  3 ล้านบาท  จงแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคสอง  ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้  แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก  ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม  หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (3)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา  1629 (1)  แต่มีทายาทตามมาตรา  1629 (2)  แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

นางแดงผู้รับพินัยกรรมได้ตายก่อนนายเอกผู้ทำพินัยกรรม  จึงทำให้ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นย่อมตกไปตามมาตรา  1698(1)  และมรดกดังกล่าวจะตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายเอกตามมาตรา  1699  ประกอบมาตรา  1620  วรรคสอง  เด็กหญิงส้มซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางแดง  ไม่สามารถเข้ารับมรดกแทนที่ได้  เพราะการรับมรดกแทนที่กันนั้น  กฎหมายให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1642

นายเอกตายมีนายดำเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629(3)  และมีนางแดงเป็นน้องร่วมมารดาเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  4  ตามมาตรา 1629(4)  ดังนั้นนายดำมีสิทธิได้รับมรดกของนายเอกในฐานะทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติตามมาตรา  1629(3)  ประกอบมาตรา  1630  วรรคแรก  ร่วมกับนางโทภริยาของนายเอกตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  โดยนางโทได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง  อีกกึ่งหนึ่งตกทอดแก่นายดำตามมาตรา  1635(2)

สรุป  มรดกของนายเอกจำนวน  3  ล้านบาทตกทอดได้แก่

1       นางโทจำนวน  1.5  ล้านบาท

2       นายดำจำนวน  1.5  ล้านบาท

 

ข้อ  3  นายหนึ่งและนางสาวสอง  อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสจนนางสาวสองตั้งครรภ์  ก่อนนางสาวสองจะคลอดบุตรได้เลิกกับนายหนึ่งและไปอยู่กินกับนายเมตตาอย่างลับๆไม่บอกให้นางกรุณาภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเมตตารู้  เมื่อนางสาวสองคลอดบุตรชื่อนายเอกแล้ว  นายเมตตาไดให้นายเอกใช้นามสกุลและให้การเลี้ยงดูเป็นอย่างดี  ต่อมาเมื่อนางกรุณารู้เรื่องทั้งหมดจึงได้พานางสาวอุเบกขาบุตรสาวของตนที่เกิดกับนายเมตตาหนีออกจากบ้านและพากันไปอยู่บ้านนายโลภะพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันของนายเมตตา  ด้วยความน้อยใจนางกรุณาจึงคิดฆ่าตัวตายด้วยการใช้ปืนยิง  แต่ปรากฏว่านางสาวอุเบกขาเข้ามาเห็นจึงปัดปืน  ปืนลั่นถูกนางสาวอุเบกขาถึงแก่ความตาย  เมื่อนายเมตตาทราบข่าวหัวใจวายตาย  จงแบ่งมรดก  3  ล้านบาทของนายเมตตา

ธงคำตอบ

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(2) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (3)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่หรือถ้าไม่มีทายาทตามมาตรา  1629 (1)  แต่มีทายาทตามมาตรา  1629 (2)  แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง

วินิจฉัย

การที่นายเมตตาเจ้ามรดกมีนางสาวอุเบกขาเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่เกิดกับนางกรุณาภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ปรากฏว่านางสาวอุเบกขาผู้สืบสันดานทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(1)  ถึงแก่ความตาย  ดังนั้นนายโลภะพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายเมตตาซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  3  ตามมาตรา  1629(3)  จึงมีสิทธิรับมรดกได้ตามมาตรา  1630  วรรคแรก

เมื่อนายเมตตาเจ้ามรดกตายโดยมีนางกรุณาคู่สมรสและมีนายโลภะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(3)  นางกรุณาคู่สมรสมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่งของ  3  ล้านบาท  เป็นเงิน  1.5  ล้านบาท  ส่วนอีก  1.5  ล้านบาท  ตกเป็นของนายโลภะตามมาตรา  1635(2)  ประกอบมาตรา  1633

ส่วนกรณีนายเอก  แม้นายเมตตาได้ให้นายเอกใช้นามสกุลของนายเมตตาก็ไม่ทำให้นายเอกเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองโดยพฤตินัย  เพราะการรับรองโดยพฤตินัยต้องเป็นการรับรองบุตรที่เกิดจากสายโลหิตของตนเองเท่านั้น  ไม่มีกรณีรับสมอ้าง  ดังนั้น  นายเอกไม่ใช่บุตรของนายเมตตาจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเมตตาตามมาตรา  1627  ประกอบมาตรา  1629(1)

สรุป  มรดก  3  ล้านบาท  ตกได้แก่

นางกรุณา  1.5  ล้านบาท

นายโลภะ  1.5  ล้านบาท

 

ข้อ  4  นายชาตรีอยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางชมโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  มีบุตรด้วยกัน  1  คน  คือนายเอก  นายชาตรีได้อุปการะเลี้ยงดูนายเอกร่วมกับนางชมมาโดยตลอด  นายเอกจดทะเบียนสมรสกับนางอ้นมีบุตร  2  คน  คือนายใหญ่และนางเล็ก  นายใหญ่ขอเงินจากนายเอกเพื่อจะไปใช้หนี้การพนัน  นายเอกได้ให้เงินกับนายใหญ่โดยให้นายใหญ่ทำหนังสือไว้กับนายเอกว่านายใหญ่จะไม่ขอเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของนายเอกอีก  และจะไม่ขอรับมรดกใดๆทั้งสิ้นของนายเอกด้วย  ต่อมานายเล็กจดทะเบียนสมรสกับนางลิน  มีบุตรด้วยกัน  1  คน  คือ  ด.ญ.หล้า  นายเล็กและนางลินรับ  ด.ญ.รัก  จากสถานเลี้ยงเด็กกำพร้ามาเป็นบุตรบุญธรรมโดยจดทะเบียนตามกฎหมาย  นายเล็กเป็นมะเร็งที่ตับถึงแก่ความตาย  หลังจากนั้นนายเอกประสบอุบัติเหตุตาย  นายเอกมีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น  600,000  บาท  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  มรดกของนายเอกจะตกได้แก่ใคร  เพียงใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1612  การสละมรดกนั้น  ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ

มาตรา  1619  ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใด  ซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(2) บิดามารดา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  วรรคสองแต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี  และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่  ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายเอกถึงแก่ความตาย  มรดกทั้งสิ้น  600,000  บาท  ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายเอก  ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของนายเอก  คือ  นายใหญ่และนายเล็ก  ในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  นางชมในฐานะมารดาตามมาตรา  1629(2) และนางอ้นในฐานะคู่สมรสตามมาตรา  1629  วรรคสอง  ส่วนนายชาตรีไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเอก  เพราะนายชาตรีไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายการแบ่งมรดกเบื้องต้นในกรณีเช่นนี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  1630  วรรคสอง  ประกอบกับมาตรา  1635(1)  คือ  นายใหญ่  นายเล็ก  นางชม  และนางอ้น  โดยนางอ้นได้รับส่วนแบ่งเสมือนเป็นทายาทชั้นบุตร  ดังนั้นทั้งสี่คนจึงได้รับมรดกคนละ  150,000  บาท

ส่วนการที่นายใหญ่ได้ทำหนังสือไว้กับนายเอกว่านายใหญ่จะไม่ขอเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของนายเอกอีก  และจะไม่ขอรับมรดกใดๆ  ทั้งสิ้นของนายเอกนั้น  ยังไม่ถือเป็นการสละมรดก  เหตุเพราะไม่ได้มอบหนังสือสละมรดกไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่  หรือไม่ได้ทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา  1612  และการสละมรดกซึ่งสิทธิอันหากจะมีภายหน้าในการสืบมรดกผู้ยังมีชีวิตอยู่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา  1619  ดังนั้น  นายใหญ่จึงยังคงมีสิทธิรับมรดกของนายเอก

เมื่อนายเล็กถึงแก่ความตายก่อนนายเอกเจ้ามรดก  ด.ญ.หล้า  ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง (ถือตามหลักสายโลหิต)  ของนายเล็กจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นายเล็กได้ตามมาตรา  1639  ประกอบกับมาตรา  1643  ส่วน  ด.ญ.รัก  เป็นบุตรบุญธรรมซึ่งไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของนายเล็ก  จึงไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายเล็กได้

สรุป  มรดกของนายเอก  600,000  บาท  ตกได้แก่  นายใหญ่  ด.ญ.หล้า  นางชม  และนางอ้นคนละ  150,000  บาท    

WordPress Ads
error: Content is protected !!