การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3010 กฎหมายล้มละลาย
ข้อ 1 นายดำอยากเปิดร้านอินเทอร์เน็ต จึงได้ไปกู้เงินจากธนาคารออมทรัพย์ จำกัด จำนวน 2 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในการเปิดกิจการร้านอินเทอร์เน็ต โดยมีนายดีเป็นผู้ค้ำประกัน และตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนๆละ 5,000 บาท ต่อมามีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพบว่า นายดำไม่มีใบอนุญาตให้เปิดบริการร้านอินเทอร์เน็ต จึงได้สั่งปิดกิจการ นายดำไม่มีเงินผ่อนชำระ นายดีจึงช่วยผ่อนให้แทน 3 เดือน ก็ไม่ได้ผ่อนชำระอีกเพราะไม่มีเงินเช่นกัน นายดำจึงถูกธนาคารออมทรัพย์ จำกัด ฟ้องล้มละลาย และศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายดำแล้ว ดังนี้
(ก) ธนาคารออมทรัพย์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 2 ล้านบาทตามสัญญากู้เงิน
(ข) นายดีได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในหนี้ที่ตนชำระหนี้แทนไปแล้ว 15,000 บาท และเงินส่วนที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในภายหน้าอีกจำนวน 1,985,000 บาท
ดังนี้ เมื่อนายดำคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ทั้งสองรายการ หากท่านเป็นศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ของธนาคารออมทรัพย์ จำกัด และนายดีอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม
มาตรา 101 ถ้าลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่นอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่คนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
บทบัญญัติในวรรคก่อนให้ใช้บังคับแก่ผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันร่วม หรือบุคคลที่อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้โดยอนุโลม
มาตรา 107 คำขอรับชำระหนี้รายใด ถ้ามีผู้โต้แย้งให้ศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(3) อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน
วินิจฉัย
(ก) ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ธนาคารออมทรัพย์ฯ จะได้รับชำระหนี้ 2 ล้านบาท ตามที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เห็นว่าหนี้ที่เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลายนั้น จะต้องมีลักษณะตามมาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ดังนี้
1) มูลแห่งหนี้นั้นต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
2) หนี้นั้นอาจฟ้องบังคับคดีได้ตามกฎหมาย และ
3) ต้องเป็นหนี้เงิน
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนี้เงินกู้จำนวน 2 ล้านบาทนั้น นายดี (ผู้ค้ำประกัน) ได้ผ่อนชำระแทนนายดำ (ลูกหนี้) ไปแล้ว เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 15,000 บาท จึงเหลือหนี้ที่ธนาคารออมทรัพย์ จำกัด อาจบังคับชำระหนี้ได้เพียง 1,985,000 บาท เมื่อนายดำคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ ศาลจึงต้องมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารออมทรัพย์ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนคือ 1,985,000 บาท เท่านั้น ตามมาตรา 107(3)
(ข) โดยหลักแล้ว เมื่อลูกหนี้ร่วมบางคนถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ร่วมคนอื่น หรือผู้ค้ำประกันอาจยื่นคำขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าได้ เว้นแต่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ของนายดีอย่างไร เห็นว่า การที่นายดีผู้ค้ำประกันผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคารออมทรัพย์ฯ จำนวน 15,000 บาท แทนนายดำนั้นมีผลทำให้นายดีกลายเป็นเจ้าหนี้นายดำ โดยมีสิทธิไล่เบี้ยในมูลหนี้ที่ตนได้ชำระแทนไปแล้วจากกองทรัพย์สินของนายดำลูกหนี้ได้ และถือว่ามูลหนี้นั้นได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 94 นายดีจึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้
ส่วนหนี้จำนวน 1,985,000 บาทนั้น นายดียังไม่ได้ชำระแก่เจ้าหนี้แทนนายดำลูกหนี้จริงจึงถือเป็นหนี้ที่ผู้ค้ำประกันอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ในอนาคต เมื่อธนาคารออมทรัพย์ฯ เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวน 1,985,000 บาทแล้ว นายดีผู้ค้ำประกันย่อมหมดสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของนายดำลูกหนี้สำหรับจำนวนที่ตนอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยในเวลาภายหน้าต่อไปตามมาตรา 101 (ฎ. 1175/2530)
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล
(ก) จะมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคารออมทรัพย์ ได้รับชำระหนี้เพียง 1,985,000 บาท ตามที่เป็นหนี้อยู่จริงเท่านั้น และ
(ข) จะมีคำสั่งอนุญาตให้นายดีได้รับชำระหนี้เพียง 15,000 บาท ตามที่ได้ชำระหนี้แทนนายดำไปเท่านั้น ส่วนอีก 1,985,000 บาท จะมีคำสั่งไม่อนุญาต