การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3009 (LA 309),(LW 311) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายชื่อนางบังอร  และมีอาหนึ่งคนชื่อนายดำ  กับน้าอีกหนึ่งคนชื่อนายแดง  ต่อมานายเอกตายมีมรดกจำนวน  6  ล้านบาท  ให้ท่านแบ่งมรดกของนายเอก

ธงคำตอบ

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(6) ลุง  ป้า  น้า  อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(3) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629 (4) หรือ (6)  และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่  หรือมีทายาทตามมาตรา  1629 (5) แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่  มีสิทธิได้รับมรดกสองส่วนในสาม

วินิจฉัย

นางบังอร  เป็นคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ของนายเอกจึงมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  ส่วนนายดำกับนายแดงมีฐานะเป็นอาและน้าของนายเอก  อันเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  6  ตามมาตรา  1629(6)  ดังนั้น  มรดกของนายเอกจำนวน  6  ล้านบาท  จึงต้องแบ่งให้แก่นางบังอรสองในสามของกองมรดกคือ  4  ล้านบาท  และแบ่งให้แก่นายดำและนายแดงจำนวน  2  ล้านบาท  ตามมาตรา  1635(3)  โดยนายดำกับนายแดงเป็นทายาทโดยธรรมลำดับเดียวกันย่อมได้รับมรดกเท่ากัน  คือ  คนละ  1  ล้านบาท ตามมาตรา  1633

สรุป  มรดกนายเอก  จำนวน  6  ล้านบาท  จึงแบ่งให้แก่

นางบังอร  จำนวน  4  ล้านบาท

นายดำ  จำนวน  1  ล้านบาท

นายแดง  จำนวน  1  ล้านบาท

 

ข้อ  2  นายสถานะและนายเสงี่ยมเป็นพี่น้องเกิดจากการอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสระหว่างนายสง่าและนางสะไบ ต่อมานางสะไบได้ไปจดทะเบียนสมรสกับนายสงบและร่วมกันจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมชื่อนายเสน่ห์  หลังจากนั้นนางสะไบได้จดทะเบียนหย่ากับนายสงบและได้กลับไปจดทะเบียนสมรสกับนายสง่า  แต่ปรากฏว่านายสง่าได้ไปจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมไว้ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนางสะไบชื่อนางสาวสวย  ซึ่งนางสะไบก็รักเหมือนกับลูกสาวคนหนึ่ง  นางสะไบได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดมูลค่า  12  ล้านบาท ให้นายสงบและนางสาวสวยได้คนละส่วนเท่าๆกัน  ปรากฏว่าวันที่  15  สิงหาคม  2548  นายสถานะประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย  โดยมีนายสมบัติเป็นบุตรบุญธรรมและนางสุดสวยภริยาเป็นผู้จัดการศพของนายสถานะ  ต่อมาวันที่  19  กันยายน  2548 นายสงบและนางสาวสวยได้ทะเลาะและฆ่ากันตาย  เมื่อนางสะไบทราบข่าวก็ตกใจถึงแก่ความตาย  ดังนี้จงแบ่งทรัพย์มรดกของนางสะไบ

ธงคำตอบ

มาตรา  1620  วรรคแรก  ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้  แต่ไม่มีผลบังคับได้  ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา  1629(1)  ซึ่งมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น  มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

มาตรา  1698  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ย่อมตกไป

(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม

มาตรา  1699  ถ้าพินัยกรรม  หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ  ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การที่นางสะไบเจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดมูลค่า  12  ล้านบาท  ให้นายสงบและนางสาวสวยได้คนละส่วนเท่าๆกัน แต่ปรากฏว่าวันที่  19  กันยายน  2548  นายสงบและนางสาวสวยได้ทะเลาะและฆ่ากันตาย  ซึ่งต่อมานางสะไบทราบข่าวก็ถึงแก่ความตาย  ถือว่าข้อกำหนดพินัยกรรมตกไปทั้งฉบับตามมาตรา  1698(1)  เพราะเหตุที่ผู้รับพินัยกรรมถึงแก่ความตายก่อนผู้ทำพินัยกรรมต้องปันทรัพย์มรดกทั้งหมด  12  ล้านบาท  ให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไปตามมาตรา  1699  มาตรา  1620  วรรคแรก

เมื่อปรากฏว่านางสะไบเจ้ามรดกมีนายสถานะและนายเสงี่ยมเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยากับนายสง่า  (จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง)  ถือว่าทั้งสองเป็นผู้สืบสันดานเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ตามมาตรา  1629(1)  แต่ปรากฏว่าในวันที่  15 สิงหาคม  2548  นายสถานะได้ถึงแก่ความตายไปก่อนนางสะไบเจ้ามรดก  โดยมีนายสมบัติเป็นบุตรบุญธรรมเป็นเพียงผู้สืบสันดานแต่ไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรง  (สืบสายโลหิต)  ที่จะมีสิทธิในการรับมรดกแทนที่ในส่วนที่นายสถานะมีสิทธิที่จะได้รับ  ดังนั้นนายสมบัติจึงรับมรดกแทนที่นายสถานะไม่ได้ตามมาตรา  1639  มาตรา  1643

ในระหว่างที่นางสะไบเจ้ามรดกจดทะเบียนสมรสกับนายสงบ  ทั้งสองได้ร่วมกันจดทะเบียนรับนายเสน่ห์มาเป็นบุตรบุญธรรมจึงถือว่านายเสน่ห์เป็นผู้สืบสันดานทายาทโดยธรรมลำดับที่  1  ของนางสะไบตามมาตรา  1627  มาตรา  1629(1)  แต่ต่อมานางสไบได้จดทะเบียนหย่ากับนายสงบก่อนที่จะถึงแก่ความตาย  ดังนั้นนายสงบจึงไม่ถือว่าเป็นทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรส  ผู้มีสิทธิในการรับมรดกตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

เมื่อนางสะไบได้หย่ากับนายสงบแล้วได้กลับไปจดทะเบียนสมรสกับนายสง่าแล้วถึงแก่ความตายในขณะที่สมรสกับนายสง่า  ดังนั้นนายสง่าจึงเป็นทายาทโดยธรรมที่เป็นคู่สมรสผู้มีสิทธิในการรับมรดกของนางสไบตามมาตรา  1629  วรรคท้าย

มรดก  12  ล้านบาทจึงตกได้แก่  นายสง่าคู่สมรส  นายเสงี่ยมบุตรและนายเสน่ห์บุตรบุญธรรมคนละส่วนเท่าๆกัน  ตามมาตรา  1635(1)  มาตรา  1629(1)  และมาตรา  1627  ได้คนละ  4  ล้านบาท

สรุป  มรดก  12  ล้านบาท  จึงตกได้แก่  นายสง่าคู่สมรส  นายเสงี่ยมบุตรและนายเสน่ห์บุตรบุญธรรมคนละส่วนเท่าๆกัน  ตามมาตรา 1635(1)  มาตรา  1629(1)  และมาตรา  1627  ได้คนละ  4  ล้านบาท

 

ข้อ  3  สมศักดิ์กับสมพรอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  สมศักดิ์ได้ไปขอเอก  โท  ตรี  จากสถานสงเคราะห์มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  โดยที่สมพรไม่ได้ให้ความยินยอมและอ้างว่าต่อไปก็จะมีลูกของตนเองอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องไปขอลูกใครมาเลี้ยง  เมื่อทั้งสามคนเติบโตเป็นหนุ่มก็ค่อนข้างเกเร  และใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายทำให้สมศักดิ์ต้องทำงานหนักขึ้น  ขณะที่สมศักดิ์เดินทางไปทำธุรกิจต่างจังหวัดก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต  หลังจากสมศักดิ์ตายลงมีเงินสดเป็นมรดกอยู่  3  ล้านบาท  ปรากกว่าเอกได้ยักย้ายไป  1  ล้านห้าแสนบาท  โทได้ยักย้ายไป  1  ล้านบาท  และตรีก็ได้แอบนำไปใช้จ่ายโดยปิดบังไว้เป็นเงินสามแสนบาท  เมื่อสมพรมาดูเงินในตู้เซฟปรากฏว่ามีเงินเหลืออยู่เพียง  2  แสนบาทเท่านั้น  สมพรจึงไปฟ้องศาลขอเรียกเงินจากกองมรดกของสมศักดิ์ในเงิน  3 ล้านบาทนี้จากเอก  โท  และตรี  ดังนี้จงวินิจฉัยว่าศาลจะแบ่งมรดกของสมศักดิ์ให้แก่ทายาทคนใด  เท่าไร  อย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  1457  การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น

มาตรา  1598/27  การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย  แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน

มาตรา  1598/28  บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น  แต่ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมา  ในกรณีเช่นนี้  ให้บิดามารดาโดยกำเนิดหมดอำนาจปกครองนับแต่วันเวลาที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว

มาตรา  1599  เมื่อบุคคลใดตาย  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท 

มาตรา  1603  กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย  เรียกว่า  ทายาทโดยธรรม

ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม  เรียกว่า  ผู้รับพินัยกรรม

มาตรา  1605  ทายาทคนใดยักย้าย  หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น  ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย  แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น

มาตรา  1627  บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น  ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1)  ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1633  ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  นั้น  ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน  ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว  ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด

มาตรา  1753  ภายใต้บังคับแห่งสิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก  เมื่อบุคคลใดถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม  หรือการตั้งมูลนิธิตามพินัยกรรม  มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่แผ่นดิน

วินิจฉัย

สมศักดิ์ตายลงมีมรดก  3  ล้านบา  ย่อมตกทอดไปยังทายาทตามมาตรา  1599  วรรคแรก  และเมื่อไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้  มรดกจึงตกทอดไปยังทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1603

สรพรเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่มานะเป็นทายาทโดยธรรมของสมศักดิ์ตามมาตรา  1457  ประกอบมาตรา  1629  วรรคท้าย

ส่วนเอก  โท  ตรี  ถือว่าเป็นบุตรบุญธรรมของสมศักดิ์เพียงคนเดียวตามมาตรา  1598/27  และมาตรา  1598/28  แม้สมพรจะไม่ให้ความยินยอมก็ไม่มีผลกระทบต่อการเป็นทายาทโดยธรรมในการรับมรดกของสมศักดิ์แต่อย่างใด  ฉะนั้นทั้งสามคนมีสิทธิ์ได้รับส่วนแบ่งในมรดกของบิดาบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา  1629(1)  ประกอบมาตรา  1627  มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่าๆกันตามมาตรา  1633  เพราะเป็นทายาทลำดับเดียวกันจึงได้คนละ  1  ล้านบาท

เมื่อเอกได้ปิดบังเอามรดกไป  1  ล้าน  5  แสนบาทมากกว่าส่วนที่จะได้  เขาจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลยและหมดสภาพของการเป็นทายาท  มรดกในส่วนของเอกจึงตกทอดแก่โทและตรี  แต่ปรากฏว่าโทก็ได้ยักย้ายไป  1  ล้านบาท  ซึ่งเท่ากับส่วนที่ตนจะได้  เขาจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเลยและหมดสภาพของการเป็นทายาทเช่นเดียวกับเอก  ฉะนั้น  มรดกในส่วนของโทก็จะตกทอดแก่เอกและตรี  แต่เมื่อเอกก็ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกเลยและหมดสภาพของการเป็นทายาทแล้วตามมาตรา  1605  วรรคแรก  ฉะนั้น  มรดกในส่วนของเอกและโทจึงตกทอดแก่ตรี  แต่ตรีก็ได้ปิดบังมรดกไป  3  แสนบาท  ซึ่งน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้รับ  เขาจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดกเฉพาะในส่วนที่ได้ปิดบังยักย้ายไปคือ  3  แสนบาทนี้เท่านั้นตามมาตรา  1605  วรรคแรก  แต่สภาพของการเป็นทายาทของตรียังคงมีอยู่  ในส่วนมรดกของตรีที่ยักย้ายปิดบังไป  3  แสนบาทนี้ไม่มีทายาทอื่นที่เหลืออยู่อีก  จึงตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา  1753

ดังนั้น  ตรีจึงได้รับมรดกในส่วนที่เหลือ  7  แสนบาท  และยังได้รับในส่วนของเอกและโทอีก  2  ล้านบาท  รวมเป็นตรีได้รับมรดกทั้งหมด  จำนวน  2  ล้าน  7  แสนบาท

สรุป  มรดกของสมศักดิ์  3  ล้านบาทตกเป็นสมบัติแก่แผ่นดิน  3  แสนบาท  และตกทอดแก่ตรี  2  ล้าน  7  แสนบาท

ส่วนสมพรก็จะไม่ได้รับส่วนแบ่งเลย  เพราะไม่มีฐานะในการเป็นทายาทโดยธรรม  และเอกกับโทก็ไม่ได้รับมรดกเลยเพราะถูกกำจัดมิให้รับมรดกและหมดสภาพการเป็นทายาท

 

ข้อ  4  นายดำจดทะเบียนสมรสกับนางแดงมีบุตรคือนายเอ  โดยนายดำมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือนายเขียวและนายเหลือง นอกจากนี้นายเอได้จดทะเบียนสมรสกับนางสวยมีบุตรด้วยกันคือนายหนึ่ง  ต่อมานายดำทำพินัยกรรมยกเงินสด  50,000  บาท  ให้แก่นายเหลือง  หลังจากนั้นนายเอป่วยและถึงแก่ความตาย ต่อมานายดำทำหนังสือตัดนายเหลืองมิให้รับมรดกของตนและมอบหนังสือดังกล่าวแก่ผู้อำนวยการเขตบางกะปิ  หลังจากนั้นนายเขียวโกรธนายหนึ่งที่ชอบพูดจาให้นายดำเกลียดตน  จึงยิงนายหนึ่งและนายหนึ่งถึงแก่ความตาย  โดยศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกนายเขียวฐานฆ่านายหนึ่งตายโดยเจตนา  หลังจากนั้นนายดำถึงแก่ความตาย  เช่นนี้  จงแบ่งมรดกของนายดำซึ่งยังมีเงินสดนอกพินัยกรรมอีก  90,000  บาท

ธงคำตอบ

มาตรา  1536  วรรคแรก  เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวัน  นับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี  หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี

มาตรา  1606  บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร  คือ

(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ  หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา  1608  เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้  แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(2) โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่

มาตรา 1629  ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น  และภายใต้บังคับแห่งมาตรา  1630  วรรคสอง  แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้  คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม  ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา  1635

มาตรา  1630  ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่  หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณีในลำดับหนึ่งๆ  ที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

มาตรา  1635  ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น  ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(4) ถ้าไม่มีทายาทดังที่ระบุไว้ในมาตรา  1629  คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกทั้งหมด

มาตรา  1639  ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา  1629  (1)  (3)  (4)  หรือ  (6)  ถึงแก่ความตาย  หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย  ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่  ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน  ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่  และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย

มาตรา  1642  การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม

มาตรา  1643  สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง  ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่

วินิจฉัย

เมื่อนายดำเจ้ามรดกถึงแก่ความตายจะเห็นได้ว่า  มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม  คือ  นางแดง  คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629  วรรคท้าย  และตกได้แก่  นายเอ  บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1536 วรรคแรก  1629(1)  แต่นายเอได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดก  เช่นนี้ตามมาตรา  1639  ประกอบ  1642  และ  1643  นายหนึ่งบุตรโดยชอบด้วยของนายเอกอันเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงย่อมเข้ารับมรดกแทนที่นายเอ  เพื่อรับมรดกของนายดำได้  แต่กรณีตามอุทาหรณ์จะเห็นได้ว่านายหนึ่งนั้นได้ถูกนายเขียวยิงถึงแก่ความตาย  มรดกส่วนนี้จึงไม่มีผู้รับมรดกแทนที่นายเอ  ดังนี้  ตามมาตรา  1630  วรรคแรก  จึงให้มรดกตกทอดไปแก่ทายาทโดยธรรมในลำดับถัดไป  คือ  นายเหลือง  และนายเขียว  ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายดำเจ้ามรดกทายาทโดยธรรมตามมาตรา  1629(3)

แต่จะเห็นได้ว่า  ในกรณีของนายเขียวนั้น  ได้เจตนาฆ่านายหนึ่งซึ่งถือได้ว่านายหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนตนแล้ว  เพราะหากไม่มีนายหนึ่งมรดกของนายดำย่อมตกได้แก่นายเขียว  เช่นนี้  นายเขียวจึงถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรจะรับมรดกตามมาตรา  1606(1)  และในกรณีนายเหลืองจะเห็นได้ว่า  นายดำได้ทำหนังสือตัดมิให้นายเหลืองรับมรดกของนายดำเฉพาะในฐานทายาทโดยธรรมเป็นการชัดแจ้งและชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ตามมาตรา  1608  นายเหลืองจึงเสียสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม  แต่นายเหลืองยังคงมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมจำนวน  50,000  บาท

ดังนี้  มรดกของนายดำตามพินัยกรรมจึงตกแก่นายเหลืองแต่ผู้เดียว  จำนวน  50,000  บาท  ส่วนเงินสดนอกพินัยกรรมตกได้แก่  นางแดงภริยาแต่ผู้เดียวในฐานะทายาทโดยธรรม  จำนวน  90,000  บาท  ตามมาตรา  1635(4)

สรุป  นายเขียวถูกกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควร  เพราะฆ่านายหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกก่อนนายเขียวโดยการเข้ารับมรดกแทนที่นายเอตามมาตรา  1606(1)  ส่วนนายเหลืองถูกตัดมิให้รับมรดกเฉพาะในฐานะทายาทโดยธรรมเท่านั้นตามมาตรา  1608  แต่ยังคงได้รับมรดกในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรม  และนางแดงคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย  ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมแต่ผู้เดียวที่จะรับมรดกนอกพินัยกรรมของนายดำ  จำนวน  90,000  บาท  ตามมาตรา  1635(4)

Advertisement