การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายเอกเจ้ามรดกได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวแดงโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีบุตรด้วยกันสองคนคือ เด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋ว ซึ่งนายเอกได้เลี้ยงดูอย่างเปิดเผยและส่งเสียเล่าเรียนเยี่ยงบิดามีต่อบุตร นายเอกยังมีนายโทน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันอีกหนึ่งคนซึ่งยังมีชีวิตอยู่ นายโทได้จดทะเบียนสมรสกับนางรัศมีและมีบุตรชื่อเด็กชายหมู ทั้งนี้นายเอกมีมรดกจำนวน 2 ล้านบาท และได้ทำพินัยกรรมให้เด็กชายหมูจำนวน 1 ล้านบาท ปรากฏว่าเด็กชายหมูได้ตายก่อนนายเอกหลังจากนั้นนายเอกจึงตาย จงแบ่งมรดกของนายเอก
ธงคำตอบ
มาตรา 1603 กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม
ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม”
ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”
มาตรา 1620 วรรคแรก ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้ แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1698 ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม
มาตรา 1699 ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
นางสาวแดงไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเอกเพราะไม่ใช่คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรส) จึงไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคท้าย ส่วนเด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋วเป็นทายาทโดยธรรมในฐานะของผู้สืบสันดานเพราะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วโดยพฤติการณ์ โดยการเลี้ยงดูและส่งเสียเล่าเรียนเยี่ยงบิดามีบุตรตามมาตรา 1627 ประกอบมาตรา 1629(1) จึงมีสิทธิได้รับมรดก
นายโทเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 ในฐานะน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันตามมาตรา 1629(3) แต่ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของนายเอก เพราะนายเอกเจ้ามรดกมีทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 ที่มีสิทธิได้รับมรดกอยู่ก่อนแล้วคือ เด็กชายโตกับเด็กหญิงติ๋ว นายโทซึ่งเป็นทายาทในลำดับถัดไปจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเลย อีกทั้งแม้เด็กชายหมูจะเป็นผู้รับพินัยกรรมจำนวน 1 ล้านบาท แต่ก็ได้ตายก่อนนายเอกเจ้ามรดก ด้วยเหตุนี้ข้อกำหนดตามพินัยกรรมจึงตกไปตามมาตรา 1698(1) จำนวนเงินตามพินัยกรรมจึงกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมต่อไปตามมาตรา 1603 มาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคแรก ส่วนนางรัศมีคู่สมรสของนายโทนั้น เป็นเพียงน้องสะใภ้ของนายเอกจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกแต่อย่างใด เพราะไม่มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของนายเอก
ดังนั้น มรดกของนายเอกจำนวน 2 ล้านบาท จึงตกทอดแก่เด็กชายโตและเด็กหญิงติ๋วคนละเท่าๆกัน คือ 1 ล้านบาทตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1633
สรุป มรดกของนายเอก ตกทอดแก่เด็กชายโทและเด็กหญิงติ๋วคนละ 1 ล้านบาท