การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ดำเป็นหญิงหม้ายเพราะสามีประสบอุบัติเหตุตาย ดำมีน้องชายร่วมบิดามารดาหนึ่งคนคือ แดง และมีน้องสารร่วมมารดาอีกหนึ่งคนคือ ขาว ขาวเป็นนักธุรกิจชอบเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆในขณะที่ไปทำธุรกิจต่างประเทศก็ได้พบรักกับเหลือง ซึ่งเป็นนักธุรกิจเหมือนกันจึงได้แต่งงานกัน โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีบุตร 1 คน คือ เขียว ขณะที่เขียวอายุได้ 5 ปีนั้น ขาวและเหลืองซึ่งเป็นบิดามารดาได้เดินทางไปต่างประเทศด้วยกันและประสบอุบัติเหตุเพราะเครื่องบินโดยสารตกเสียชีวิตทั้งคู่ ดำซึ่งเป็นป้าจึงได้เลี้ยงดูเขียวเหมือนเป็นลูกของตนเองและคิดว่าจะนำไปจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรม แต่ปรากฏว่าดำประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน ดำตายลงมีทรัพย์มรดกคือมีที่ดินพร้อมบ้านราคา 6 ล้านบาท และเงินสดในธนาคารอีก 4 ล้านบาท โดยที่เธอไม่ได้ทำพินัยกรรมใดๆไว้ จงแบ่งมรดกของดำ
ธงคำตอบ
มาตรา 1620 วรรคแรก ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้ แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1642 การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา 1643 สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
วินิจฉัย
แดงและขาวถือเป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายของดำ เมื่อดำตายมรดกจึงตกทอดแก่คนทั้งสองตามมาตรา 1620 วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 1629(4)
แต่เนื่องจากขายได้ตายก่อนดำเจ้ามรดก และขาวมีเขียวซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงสามารถรับมรดกแทนที่ขาวในมรดกของดำได้ตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1629(4) มาตรา 1642 และมาตรา 1643
อย่างไรก็ตาม แม้เขียวจะอยู่ในอุปการะของดำโดยการเลี้ยงดูและดำจะนำไปจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมแต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนแต่อย่างใด ดังนั้น เขียวจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานของดำ แต่เขียวก็เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของขาวจึงรับมรดกแทนที่ของขาวเพื่อรับมรดกของดำได้ โดยแบ่งกันกับแดงซึ่งเป็นลุงคนละครึ่งตามมาตรา 1633
สรุป มรดกของดำคือบ้านพร้อมที่ดินราคา 6 ล้านบาท และเงินในธนาคารอีก 4 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 10 ล้านบาท จึงตกทอดแก่แดงและเขียวคนละ 5 ล้านบาท