การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางสาวแดง ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายดำ โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อนายโต นายดำได้ส่งเสียเลี้ยงดูนายโตอย่างเปิดเผยเยี่ยงบิดามีต่อบุตร นอกจากนี้นางสาวแดงยังมีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 2 คน คือ นางสาวส้มกับนางสาวฟ้า นางสาวส้มได้มีบุตรกับชายคนรักแบบลับๆ คนหนึ่งชื่อเด็กชายบุญทิ้ง ปรากฏว่านางสาวแดงกับนางสาวส้มได้ขับรถยนต์ไปด้วยกันและเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตทั้งสองคน ต่อมานายโตได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งและมีมรดกจำนวน 800,000 บาท จงแบ่งมรดกของนายโต
ธงคำตอบ
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(6) ลุง ป้า น้า อา
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดนธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกจำกัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นรายๆสืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1642 การรับมรดกแทนที่กันนั้นให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา 1643 สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่
วินิจฉัย
นายโต เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายดำซึ่งเป็นบิดาได้รับรองแล้วโดยพฤติการณ์เยี่ยงบิดามีต่อบุตรอย่างเปิดเผย นายโตจึงเป็นผู้สืบสันดานของนายดำที่มีสิทธิรับมรดกของนายดำได้ในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1627 และมาตรา 1629(1) แต่อย่างไรก็ดี นายโตก็มิได้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำ และนายดำก็ไม่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายโต นายดำจึงไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนายโตเพราะทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 คือ บิดามารดาตามมาตรา 1629(2) หมายถึง บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น (ฎ. 1271/2506) ส่วนนางสาวส้มกับนางสาวฟ้านั้นมีฐานะเป็นน้าของนายโต ซึ่งถือเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 6 ของนายโตตามมาตรา 1629(6)
ดังนั้น มรดกของนายโตจำนวน 800,000 บาท ย่อมตกทอดได้แก่ นางสาวส้มกับนางสาวฟ้าคนละส่วนเท่าๆกัน คือคนละ 400,000 บาท ตามมาตรา 1629(6) ประกอบมาตรา 1633 แต่ปรากฏว่านางสาวส้มได้ตายก่อนนายโตเจ้ามรดก และนางสาวส้มมีเด็กชายบุญทิ้งเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงตามมาตรา 1546 มาตรา 1629(1) มาตรา 1639 และมาตรา 1643 เด็กชายบุญทิ้งจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสาวส้มในมรดกของนายโตเจ้ามรดก
สรุป มรดกของนายโต จำนวน 800,000 บาท ตกทอดได้แก่
1 เด็กชายบุญทิ้ง จำนวน 400,000 บาท
2 นางสาวฟ้า จำนวน 400,000 บาท