LAW2006 กฎหมายอาญา 1 ภาคฤดูร้อน/2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  สมภพขับรถจักรยานยนต์ไปส่งของ  สมเดชขับรถยนต์ตามมาเห็นสมภพขับช้า  สมเดชขับรถยนต์แซงรถจักรยานยนต์ของสมภพ รถยนต์ของสมเดชชนถูกรถจักรยานยนต์ของสมภพล้มลง  สมเดชไม่ได้หยุดรถ  สมภพลุกขึ้นได้ใช้ปืนยิงไปที่ล้อรถยนต์ของสมเดชเพื่อให้หยุดรถ  กระสุนปืนถูกล้อรถยนต์แล้วทะลุตัวถังไปถูกคนนั่งอยู่ในรถยนต์ของสมเดชตาย

ดังนี้  สมภพต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของสมภพจะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่  วินิจฉัยได้ดังนี้

การที่สมภพได้ใช้ปืนยิงไปที่ล้อรถยนต์ของสมเดชเพื่อให้รถหยุดนั้น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันสมภพได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  จึงถือว่าการกระทำของสมภพที่ได้กระทำต่อทรัพย์ของสมเดชเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และต้องรับผิดทางอาญาเพราะได้กระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก  ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อการกระทำของสมภพนั้นได้กระทำไปเพราะเหตุบันดาลโทสะ  เนื่องจากการที่ถูกสมเดชแซงรถจักรยานยนต์ของสมภพ  และชนถูกรถจักรยานยนต์ของสมภพล้มลงโดยสมเดชไม่ได้หยุดรถ  ทำให้สมภพเกิดบันดาลโทสะ  และได้ใช้ปืนยิงไปที่ล้อรถยนต์ของสมเดชในขณะนั้น  ดังนั้นศาลจะลงโทษสมภพน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้  สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  ตามมาตรา  72

ส่วนกรณีที่กระสุนปืนที่สมภพยิง  ได้ทะลุตัวถังไปถูกคนที่นั่งอยู่ในรถยนต์ของสมเดชตายนั้น  ไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำโดยเจตนา  เพราะสมภพไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำว่าจะเกิดผลให้มีคนตาย  แต่การกระทำของสมภพถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาท  คือ  เป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  ดังนั้นสมภพจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  59  วรรคสี่

สรุป  สมภพต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำโดยเจตนาต่อทรัพย์  แต่จะได้รับโทษน้อยลงเพราะได้กระทำไปโดยบันดาลโทสะ  และต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้คนตาย

 

ข้อ  2  อาจหาญต้องการฆ่าบุญยัง  อาจหาญเข้าไปในห้องนอนของบุญยังแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ที่นอน  โดยเข้าใจว่าบุญยังนอนอยู่ กระสุนปืนถูกหมอนข้างเพราะบุญยังนอนค้างบ้านเพื่อนไม่ได้กลับบ้าน  และกระสุนปืนทะลุฝาห้องไปถูกสำรวยที่นอนอยู่ข้างห้องนอนบุญยังตาย  ดังนี้  อาจหาญต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก และวรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  81  วรรคแรก  ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด  แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้  เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ  ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด  แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่อาจหาญต้องการฆ่าบุญยัง  และได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ที่นอนโดยเข้าใจว่าบุญยังนอนอยู่  กระสุนปืนถูกหมอนข้างไม่ถูกบุญยัง  เพราะบุญยังไปนอนค้างบ้านเพื่อนไม่ได้กลับบ้านนั้น  การกระทำของอาจหาญถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  ดังนั้นอาจหาญจึงต้องรับผิดทางอาญาที่กระทำต่อบุญยังโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก  และวรรคสอง

และเมื่อการกระทำของอาจหาญที่ได้กระทำโดยมุ่งต่อผลคือความตายของบุญยัง  แต่อาจหาญได้ใช้อาวุธปืนยิงไปที่ที่นอนและหมอนข้าง โดยเข้าใจว่าเป็นบุญยังคนที่ตนต้องการฆ่าหรือวัตถุที่ตนมุ่งหมายจะกระทำ  ดังนั้นถือว่าการกระทำของอาจหาญเป็นการกระทำที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้  เพราะเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ  อาจหาญจึงมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา  81  วรรคแรก

และตามอุทาหรณ์  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  กระสุนปืนที่อาจหาญยิงนั้นได้ทะลุฝาห้องไปถูกสำรวยที่นอนอยู่ข้างห้องนอนบุญยังตาย  ความตายของสำรวยต้องถือว่าเกิดจากการกระทำโดยเจตนาของอาจหาญด้วย  เพราะเมื่ออาจหาญมีเจตนาที่จะกระทำต่อบุญยัง  แต่ผลของการกระทำของเกิดแก่บุคคลอีกคนหนึ่งคือ  สำรวยโดยพลาดไปตามมาตรา  60  ให้ถือว่าอาจหาญได้กระทำโดยเจตนาต่อสำรวยซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้นด้วย

สรุป

อาจหาญต้องรับผิดทางอาญา  เพราะได้กระทำความผิดต่อบุญยังและสำรวยโดยเจตนา

 

ข้อ  3  สมรขับรถยนต์กลับบ้านตามปกติ  ระหว่างทางมีเหตุการณ์ทหารใช้อาวุธปืนยิงผู้ชุมนุมเพื่อสลายการชุมนุม  สมรเร่งเครื่องเพื่อให้ผ่านเหตุการณ์ตรงนั้นโดยเร็ว  ปรากฏว่ามีสอนและสินผู้ชุมนุมวิ่งหนีมาทางที่สมรขับรถยนต์อยู่  ซึ่งสมรก็เห็นและสอนถูกรถยนต์ของสมรชนตาย  สินเห็นสอนเพื่อนที่ชุมนุมด้วยกันถูกรถยนต์ชนจึงใช้ไม้ตีไปที่รถยนต์ของสมรถูกกระจกหน้ารถยนต์แตก  และกระจกได้ถูกแขนสมรได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้  สมรและสินต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  และจะอ้างเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิด  ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลงได้บ้าง

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก และวรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

การกระทำของสมรและสินจะต้องรับโทษทางอาญาหรือไม่  อย่างไร  วินิจฉัยได้ดังนี้

ตามอุทาหรณ์  การกระทำของสมรที่ขับรถยนต์ชนสอนตายนั้น  แม้สมรจะไม่ได้ระสงค์ต่อผล  คือความตายของสอนก็ตาม  แต่เป็นการกระทำที่สมรย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า  ถ้ารถยนต์ชนสอนอาจทำให้สอนตายได้  ดังนั้น  การกระทำของสมรจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  สมรจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำโดยเจตนาเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อการกระทำของสมรนั้นได้กระทำไปเพราะต้องการให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใด  และเป็นภยันตรายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน  และได้กระทำไปไม่สมควรแก่เหตุ  จึงถือว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  ตามมาตรา  67(2)  ดังนั้นสมรจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำนั้น

ส่วนกรณีที่สินเห็นเพื่อนถูกรถยนต์ชนจึงได้ใช้ไม้ตีไปที่รถยนต์ของสมรถูกกระจกหน้ารถยนต์แตก  และกระจกได้ถูกแขนสมรได้รับบาดเจ็บนั้น  การกระทำของสินเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของสินจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

และการกระทำของสินนั้น  จะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน  หรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  68  หรือจะอ้างว่าได้กระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  เพื่อไม่ต้องรับโทษนั้นไม่ได้  เพราะภยันตรายนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว  ไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และจะอ้างว่าได้กระทำความผิดเพราะบันดาลโทสะเพื่อให้ได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา  72  ก็ไม่ได้  เพราะไม่ใช่กรณีที่นายสอนได้ถูกข่มเหงด้วยเหตุร้ายแรงอันไม่เป็นธรรม

สรุป  สมรต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อสอนโดยเจตนา  แต่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นจึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำนั้น

สินต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อสมรโดยเจตนา  จะอ้างเหตุใดๆเพื่อให้ตนไม่ต้องรับผิดหรือไม่ต้องรับโทษ  หรือรับโทษน้อยลงไม่ได้ 

 

ข้อ  4  เนวินบอกพลรบลูกน้องให้หามือปืนไปยิงวิทยาให้ตาย  พลรบปรึกษาการุณเรื่องมือปืน  การุณได้แนะนำให้พลรบไปจ้างยอด  พลรบได้จ้างยอดให้ไปยิงวิทยาตามคำแนะนำของการุณ  ยอดตกลงแต่พลรบต้องหาอาวุธปืนมาให้  สดใสทราบว่ายอดจะไปยิงวิทยา  สดใสอยากให้วิทยาตายอยู่แล้ว  จึงนำอาวุธปืนไปให้พลรบเพื่อพลรบจะได้นำไปให้ยอด  พลรบได้อาวุธปืนจากสดใสแล้วนำไปให้ยอด  ยอดใช้ปืนนั้นยิงวิทยาตาย  ดังนี้  เนวิน  พลรบ  การุณ  และสดใส  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

ความรับผิดของเนวิน

การที่เนวินบอกพลรบให้หามือปืนไปยิงวิทยาให้ตายนั้น  แม้ว่าจะเป็นการใช้คนหลายคนต่อๆกันไป  ก็ถือว่าเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด  ดังนั้นเนวินจึงเป็นผู้ใช้ในความผิดฐานเจตนาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน  เพราะผู้ใช้ของผู้ใช้ก็เท่ากับเป็นผู้ใช้ของผู้ลงมือกระทำความผิดด้วย  ตามมาตรา  84  วรรคแรก  เมื่อยอดยิงวิทยาตาย  เนวินผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา  84  วรรคสอง

ความรับผิดของพลรบ

การที่พลรบว่าจ้างยอดให้ไปยิงวิทยา  ถือเป็นการ ก่อ  ให้ผู้อื่นกระทำความผิด  พลรบจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก เมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลง  พลรบผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา  84  วรรคสอง  แต่ไม่ต้องรับผิดฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  ในกรณีที่นำอาวุธปืนไปให้ยอดอีกเพราะการเป็น  ผู้ใช้”  ได้กลืนการเป็น  ผู้สนับสนุน  แล้วนั่นเอง

ความรับผิดของการุณ

การที่การุณแนะนำให้พลรบไปจ้างยอดให้ไปยิงวิทยา  กรณีนี้ถือว่าการุณได้ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  การุณจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  โดยการุณไม่ผิดฐานเป็นผู้ใช้  เพราะการแนะนำไม่ถือเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดตามมาตรา 84

 ความรับผิดของสดใส

สดใสทราบว่ายอดยิ่งจะไปยิงวิทยา  จึงนำอาวุธปืนไปให้พลรบเพื่อพลรบจะได้นำไปให้ยอดยิ่ง  จึงถือเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  สดใสจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  ถึงแม้ว่ายอดผู้กระทำผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกของสดใสก็ตาม

สรุป

เนวินต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84

พลรบต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84

การุณต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สดใสต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

LAW2006 กฎหมายอาญา 1 1/2553

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  บุคคลจักต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อใด  มีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง  จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

อธิบาย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำ  ซึ่งการกระทำ  หมายถึง  การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  กล่าวคือ  เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจนั่นเอง  และการกระทำยังให้หมายความรวมถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกด้วย  ดังจะเห็นได้จากมาตรา  59  วรรคห้า  ซึ่งบัญญัติว่า  การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

และโดยหลักทั่วไป  การกระทำซึ่งจะทำให้บุคคลผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญานั้นจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา  คือ  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  มาตรา  59  วรรคสอง

การกระทำโดยเจตนา  แบ่งออกเป็น  2  กรณี  คือ

1       การกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ซึ่งจะประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการคือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  หมายถึง  การรู้ถึงการเคลื่อนไหวหรือการไม่เคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเอง  และ

(2) ในขณะกระทำ  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  ในขณะกระทำ  นอกจากจะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกแล้ว ผู้กระทำยังมีความประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นๆตามที่ผู้กระทำมุ่งหมายให้เกิดขึ้นด้วย

ตัวอย่าง  แดงต้องการฆ่าดำ  จึงใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้การที่แดงใช้ปืนยิงไปที่ดำถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  และความตายของดำถือว่าเป็นผลที่แดงประสงค์จะให้เกิดขึ้น

2       การกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการ  คือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และ

(2) ในขณะกระทำผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  เป็นการกระทำที่ผู้กระทำมิได้ประสงค์ต่อผล  กล่าวคือ  มิได้มุ่งหมายให้เกิดผลขึ้น  แต่ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลว่าผลนั้นจะต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ตัวอย่าง  แดงเชื่อว่าดำเป็นคนอยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้า  จึงทดลองใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้  การที่แดงใช้ปืนยิงดำ  แดงไม่มีความประสงค์จะให้ดำตายเป็นเพียงการทดลองความอยู่ยงคงกระพันเท่านั้น  แต่การกระทำของแดงย่อมเล็งเห็นได้ว่า  ถ้ากระสุนถูกดำย่อมทำให้ดำตายได้  จึงถือว่าแดงมีเจตนาฆ่าดำโดยย่อมเล็งเห็นผล

แต่อย่างไรก็ดี  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  มีข้อยกเว้นว่า  บุคคลอาจจะต้องรับผิดในทางอาญา  แม้จะมิได้กระทำโดยเจตนาก็ได้  ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้คือ

(1) เป็นการกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยประมาท  เช่น  กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เป็นต้น  หรือ

(2) เป็นการกระทำที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง  ให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  (ความผิดเด็ดขาด)  เช่น  การกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร  เป็นต้น  หรือ

(3) เป็นการกระทำความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายนี้  แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  ก็เป็นความผิด  เว้นแต่  ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น  (มาตรา  104)

 

ข้อ  2  นายหนึ่ง  นางสองเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  ต่อมานางสองนอกใจนายหนึ่งคบนายสามเป็นแฟนใหม่  วันเกิดเหตุ  นายหนึ่งกลับมาที่บ้านของตนเองพบนางสองกับนายสามกำลังเป็นชู้กัน  นายหนึ่งโกรธจึงชักปืนยิงนายสามตายคาที่  ส่วนนางสองวิ่งหนีออกจากบ้านไป  ดังนี้  นายหนึ่งจะมีความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  อันจะมีผลทำให้ผู้กระทำไม่มีความผิดตามมาตรา  68  ต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้  คือ

1       มีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

2       เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

3       ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตน  หรือของผู้อื่น  ให้พ้นจากภยันตรายนั้น

4       ได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ

ตามอุทาหรณ์  การที่นายสามได้เป็นชู้กับนางสองซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหนึ่ง  และนายหนึ่งได้มาพบขณะที่ทั้งสองกำลังเป็นชู้กันอยู่นั้น  ถือว่าเป็นภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ซึ่งนายหนึ่งสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของนางสองจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของตนให้พ้นจากภยันตรายนั้น  ดังนั้นการที่นายหนึ่งชักปืนยิงนายสามตายนั้น  ถือว่าเป็นการกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำดังกล่าวของนายหนึ่งจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายหนึ่งจึงไม่มีความผิดตามมาตรา  68

สรุป  นายหนึ่งไม่มีความผิดอาญาฐานฆ่านายสาม

 

ข้อ  3  เจริญเลี้ยงสุนัขไว้ในบ้านหลายตัว  ทุกเช้าเจริญจะปล่อยสุนัขของตนออกนอกบ้าน  สุนัขของเจริญจะถ่ายมูลหน้าบ้านของผู้อื่นเป็นประจำ  สุนัขของเจริญตัวหนึ่งได้มาถ่ายมูลหน้าประตูบ้านของจินดา

จินดาเห็นจึงออกไปไล่สุนัขตัวนั้น  สุนัขกระโดดกัดจินดา  จินดาใช้ไม้ตีสุนัข  1  ที  ถูกสุนัขตาย  เจริญออกมาหน้าบ้าน  เห็นสุนัขของตนถูกจินดาตีตายจึงตรงเข้าชกจินดา   จินดาล้มลง  เจริญจะชกซ้ำ

จินดาลุกขึ้นวิ่งหนีเข้าบ้านของตน  ปรากฏว่า  มีรถจักรยานของเปิ้ลจอดขว้างอยู่  จินดาจึงผลักรถจักรยานนั้นล้มลงเสียหาย  ดังนี้  เจริญและจินดาต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก และวรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของเจริญและจินดาจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่  วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีการกระทำของเจริญที่เข้าชกจินดานั้น  ถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำ  คือ  การบาดเจ็บของจินดา  ดังนั้นการกระทำของเจริญจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  เจริญจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

และกรณีดังกล่าว  เจริญจะอ้างว่าได้กระทำเพื่อป้องกันสิทธิในทรัพย์ของตนเองโดยชอบด้วยกฎหมาย  เพื่อไม่ต้องรับผิดตามมาตรา  68 ไม่ได้  เพราะภยันตรายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์คือสุนัขของเจริญนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว  และการที่จินดาตีสุนัขของเจริญตายนั้น  ก็มิได้เป็นการข่มเหงต่อตัวผู้กระทำผิดคือเจริญโดยตรง  หรือต่อผู้ที่มีความสัมพันธ์บางประการกับตัวผู้กระทำผิดแต่อย่างใด  เพียงแต่กระทำต่อทรัพย์ของเจริญเท่านั้น  ดังนั้นเจริญจะอ้างว่ากระทำไปโดยบันดาลโทสะเพื่อรับโทษน้อยลงตามมาตรา  72  ไม่ได้เช่นกัน

ส่วนกรณีของจินดา  การที่จินดาใช้ไม้ตีสุนัขของเจริญตายนั้น  ถือเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตรายคือให้พ้นจากการถูกสุนัขกัด  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  เมื่อได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุการกระทำดังกล่าวของจินดาจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  จินดาจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจริญ

และการที่จินดาผลักรถจักรยานของเปิ้ลล้มลงเสียหายนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการประทำ  คือ  เพื่อให้รถจักรยานล้มลง  ดังนั้นการกระทำของจินดาจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  จินดาจึงต้องรับผิดในทางอาญาฐานทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายตามมาตรา  59  วรรคแรก 

แต่เมื่อจินดาได้กระทำไปเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง  คือ  เพื่อให้พ้นจากการถูกเจริญทำร้าย  ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้  และภยันตรายดังกล่าวจินดาก็มิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตนแต่อย่างใด  เมื่อได้กระทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทำดังกล่าวของจินดาจึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(2)  จินดาจึงไม่ต้องรับโทษ

สรุป

เจริญต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อจินดาโดยเจตนา  จะอ้างเหตุป้องกัน  หรือบันดาลโทสะเพื่อให้ตนไม่ต้องรับผิด  หรือรับโทษน้อยลงไม่ได้

ส่วนจินดาไม่ต้องรับผิดต่อเจริญ  เพราะได้กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่จะต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อทรัพย์ของเปิ้ลโดยเจตนา  แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น 

 

ข้อ  4  ธงรบจ้างกล้าหาญไปฆ่าสุเทพ  กล้าหาญตกลงแต่กล้าหาญไม่มีอาวุธปืน  พอดีพบรักมาหาธงรบเพื่อปรึกษาเรื่องที่ตนอยากให้สุเทพตาย  ธงรบจึงบอกพบรักว่ากล้าหาญกำลังจะไปฆ่าสุเทพ  แต่กล้าหาญไม่มีอาวุธปืน  พบรักเสนอให้ยืมอาวุธปืนของตนให้ธงรบนำไปให้กล้าหาญ  กล้าหาญได้รับอาวุธปืนจากธงรบโดยไม่ทราบว่าเป็นอาวุธปืนของพบรัก  กล้าหาญได้ไปดักยิงสุเทพ  ขณะที่กล้าหาญนำอาวุธปืนมาตรวจดูความเรียบร้อย  ปักษาเดินผ่านมาเห็นกล้าหาญ  และทราบความประสงค์ของกล้าหาญ  ปักษาจึงรับอาสาคอยดูต้นทางให้  ปักษาเห็นนาวีเดินมาเข้าใจว่าเป็นสุเทพ  จึงให้สัญญาณแก่กล้าหาญ  กล้าหาญยิงไปที่นาวีโดยเข้าใจว่าเป็นสุเทพคนที่ตนจะฆ่า  กระสุนปืนถูกนาวีตาย  แล้วยังเลยไปถูกเฉลิมตายด้วย  ดังนี้  กล้าหาญ  ธงรบ  พบรัก  และปักษาต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ความรับผิดของกล้าหาญ

การที่กล้าหาญใช้ปืนยิงนาวีนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำ  คือ  ความตายของผู้ที่ตนยิง  ดังนั้น  การกระทำของกล้าหาญจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งกรณีนี้กล้าหาญจะยกเอาความสำนึกผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อนาวีไม่ได้ตามมาตรา  61  กล้าหาญจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อนาวีฐานกระทำโดยเจตนาเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  59  วรรคแรก

และการที่กระสุนปืนยังได้เลยไปถูกเฉลิมตายด้วยนั้น  ถือเป็นกรณีที่กล้าหาญเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำไปเกิดอีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่ากล้าหาญกระทำโดยเจตนาต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  ดังนั้นกล้าหาญจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเฉลิมเพราะได้กระทำต่อเฉลิมโดยเจตนาพลาดไปตามมาตรา  60

ความรับผิดของธงรบ

การที่ธงรบว่าจ้างกล้าหาญให้ไปฆ่าสุเทพนั้น  ถือเป็นการ  ก่อ  ให้ผู้อื่นกระทำความผิด  ธงรบจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84 วรรคแรก  เมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลง  แม้จะเป็นการยิงผิดตัว  ธงรบผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา  84  วรรคสอง  แต่ไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  ในกรณีที่นำอาวุธปืนไปให้กล้าหาญอีก  เพราะการเป็น  ผู้ใช้  ได้กลืนการเป็น  ผู้สนับสนุน  แล้วนั่นเอง

ความรับผิดของพบรัก

การที่พบรักทราบว่ากล้าหาญกำลังจะไปฆ่าสุเทพ  จึงนำอาวุธปืนของตนฝากธงรบเพื่อนำไปให้กล้าหาญยืมนั้น  ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด  ก่อนหรือขณะกระทำความผิด  พบรักจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  แม้ว่ากล้าหาญผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกของพบรักก็ตาม

ความรับผิดของปักษา 

การที่ปักษาทราบความประสงค์ของกล้าหาญผู้กระทำผิด  จึงรับอาสาคอยดูต้นทางให้นั้น  ถือว่าปักษามีเจตนาร่วมกระทำผิดและได้กระทำความผิดร่วมกันกับกล้าหาญผู้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  ปักษาจึงต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

สรุป

กล้าหาญต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อนาวีโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก  และรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อเฉลิมโดยเจตนาพลาดไปตามมาตรา  60

ธงรบต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา  84  วรรคสอง

พบรักต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

ปักษาต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

LAW2006 ฎหมายอาญา 1 2/2553

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006  กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  เก่งและก้อน  ออกไล่ล่าเสือที่เข้ามากัดกินสัตว์เลี้ยงในหมู่บ้าน  เสือวิ่งหลบหนีเข้าไปในแนวป่ามีพุ่มไม้หนาทึบ  เก่งและก้อนแยกกันเดินอ้อมพุ่มไม้เพื่อยิงเสือ  เก่งเห็นพุ่มไม่ไหวๆไม่พิจารณาให้ดี  เข้าใจว่าเป็นเสือจึงยิงไปที่หลังพุ่มไม้  ปรากฏว่าไม่ใช่เสือ  แต่เป็นก้อนซึ่งเดินแหวกพุ่มไม้หาเสือ  กระสุนได้ถูกก้อนบาดเจ็บ  และยิงเลยไปถูกกลมที่กำลังเดินหาของป่าอยู่บริเวณนั้นตายด้วย

ดังนี้  เก่งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

 ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  62  วรรคสอง  ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เก่งใช้ปืนยิงไปที่หลังพุ่มไม้นั้น  ถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกแล้ว  จึงถือว่าเก่งมีการกระทำทางอาญา  แต่การที่เก่งยิงไปที่หลังพุ่มไม้โดยเข้าใจว่าเป็นเสือแต่ปรากฏว่าไม่ใช่เสือแต่เป็นก้อนนั้น  เป็นกรณีที่เก่งได้กระทำไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยิงนั้นเป็นคน  ดังนั้นจะถือว่าเก่งได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำคือการที่ก้อนถูกกระสุนได้รับบาดเจ็บนั้นไม่ได้  กล่าวคือ  จะถือว่าเก่งได้กระทำโดยเจตนาต่อก้อนไม่ได้นั่นเอง  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม

แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดของเก่งได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  เพราะตามข้อเท็จจริงนั้น  ถ้าเก่งได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และเก่งอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่  กล่าวคือ  ถ้าเก่งได้ใช้ความระมัดระวังโดยพิจารณาให้ดีก็จะรู้ว่าหลังพุ่มไม้นั้นเป็นก้อนไม่ใช่เสือ  ดังนั้นเก่งจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย  ตามมาตรา  62  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  59  วรรคแรก

ส่วนกรณีที่กระสุนปืนที่เก่งยิงไปนั้นได้เลยไปถูกกลมที่กำลังเดินหาของป่าอยู่ในบริเวณนั้นตาย  จะถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาของเก่งตามมาตรา  59  วรรคสองไม่ได้  เพราะแม้เก่งจะได้กระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  แต่เก่งไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่ากระสุนจะเลยไปถูกกลมตาย  และจะถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาโดยพลาดไปตามมาตรา  60  ก็ไม่ได้  เพราะการกระทำตอนแรกของเก่งต่อก้อนนั้นเป็นการกระทำโดยประมาทมิใช่การกระทำโดยเจตนา  ดังนั้นเมื่อผลไปเกิดกับกลม  จึงใช้หลักเจตนาโดยพลาดตามมาตรา  60  ไม่ได้  แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อการกระทำของเก่งเป็นการกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้กลมตาย  ดังนั้น  เก่งจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  59  วรรคแรก  และวรรคสี่

สรุป  เก่งต้องรับผิดต่อก้อนฐานกระทำโดยประมาท  และเก่งต้องรับผิดต่อกลมฐานกระทำโดยประมาทเช่นเดียวกัน

 

ข้อ  2  เอกต้องการฆ่าหนึ่ง  เอกไปขอยืมอาวุธปืนจากยอดเพื่อเป็นตัวอย่างในการซื้ออาวุธปืนใช้ยิงหนึ่ง  ยอดทราบดีว่าเอกจะไปฆ่าหนึ่ง  จึงให้เอกยืมอาวุธปืน  เอกได้ใช้อาวุธปืนที่ซื้อมายิงกล้าโดยเข้าใจว่าเป็นหนึ่งบุคคลที่ตนต้องการฆ่า  ดังนี้  เอกและยอดต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เอกและยอดจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้  คือ

ความรับผิดของเอก 

การที่เอกได้ใช้อาวุธปืนยิงกล้าโดยเข้าใจว่าเป็นหนึ่งบุคคลที่ตนต้องการฆ่านั้น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำ  คือความตายของผู้ที่ตนยิง  ดังนั้นการกระทำของเอก  จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และกรณีนี้เอกจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้มีเจตนากระทำต่อกล้าไม่ได้ตามมาตรา  61  ดังนั้นเอกจึงต้องรับผิดทางอาญา  ต่อกล้าฐานกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก

ความรับผิดของยอด

การที่ยอดทราบว่าเอกจะไปฆ่าหนึ่ง  จึงได้ให้เอกยืมอาวุธปืนเพื่อเป็นตัวอย่างในการที่เอกจะไปซื้ออาวุธปืนใช้ยิงหนึ่ง  ดังนี้แม้เอกได้ใช้อาวุธปืนที่ซื้อมายิงกล้าเพราะเข้าใจว่าเป็นหนึ่ง  โดยไม่ได้ใช้อาวุธปืนที่ยอดให้เอกยืมไปก็ตาม  การกระทำของยอดถือว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด  ก่อนหรือขณะกระทำความผิด  ดังนั้นยอดจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป

เอกต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำต่อกล้าโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก

ยอดต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

 

ข้อ  3  แดงจะยิงนก  ดำและดอกเข้าใจว่า  แดงจะยิงเด่นเพื่อนของดำ  ดำจึงยิงแดงเพื่อช่วยเด่น  ดอนผลักเด่นล้มลงเพื่อให้พ้นวิถีกระสุน เด่นเข้าใจว่าดอนแกล้งผลักตนจึงชักมีดแทงดอนบาดเจ็บ  ดังนี้  ดำ  ดอน  และเด่น  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่  และจะอ้างเหตุอะไรได้บ้างเพื่อไม่ต้องรับผิด  ไม่ต้องรับโทษ  และรับโทษน้อยลง

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ดำ  ดอน  และเด่น  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะอ้างเหตุเพื่อไม่ต้องรับผิด  ไม่ต้องรับโทษ  หรือรับโทษน้อยลงได้อย่างไรหรือไม่นั้น  แยกพิจารณาได้ดังนี้  คือ 

กรณีของดำ

การที่ดำได้ยิงแดง  ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของดำจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และดำต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่ดำได้ยิงแดงนั้น  ดำได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของผู้อื่น  คือ  เด่น  ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของดำจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นดำจึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา  68

กรณีของดอน

การที่ดอนได้ผลักเด่นล้มลง  ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของดอนจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และดอนต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่ดอนได้ผลักเด่นล้มลงนั้น  ดอนได้กระทำไปเพื่อให้เด่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  และเป็นภยันตรายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้น  การกระทำของดอนจึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  และไม่เกินสมควรแก่เหตุ  ดอนจึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67

กรณีของเด่น

การที่เด่นชักมีดแทงดอนบาดเจ็บ  การกระทำของเด่น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของเด่นจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และเด่นต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่เด่นได้ชักมีดแทงดอนนั้น  เป็นเพราะเด่นเข้าใจว่าดอนแกล้งผลักตนจึงได้กระทำไปเพราะบันดาลโทสะ  และได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ดังนั้นเด่นจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อดอน  แต่ศาลจะลงโทษเด่นน้อยกว่าที่กฎหมายได้กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  ตามมาตรา  72

สรุป 

ดำไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  68  เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

ดอนไม่ต้องรับผิดตามมาตรา  67  เพราะเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

เด่นต้องรับผิดทางอาญา  เพียงแต่จะได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา  72  เพราะเป็นการกระทำเพราะบันดาลโทสะ

 

ข้อ  4  สอนและแสงร่วมเดินทางไปกับนพ  เพื่อไปยิงแก้แค้นโก๋  ซึ่งเคยยิงนพมาก่อน  โดยสอนและแสงทราบดีว่านพนำอาวุธปืนไปด้วย พอเจอก้อง  นพใช้อาวุธปืนยิงก้องโดยเข้าใจว่าเป็นโก๋   ดังนี้  สอน  แสง  และนพ  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สอน  แสง  และนพ  จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของนพ 

การที่นพได้ใช้อาวุธปืนยิงก้องโดยเข้าใจว่าเป็นโก๋นั้น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำ  คือความตายของผู้ที่ตนยิง  ดังนั้นการกระทำของนพจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และกรณีดังกล่าวนี้นพจะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้มีเจตนากระทำต่อก้องไม่ได้ตามมาตรา  61  ดังนั้น  นพจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อก้องฐานกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก

ความรับผิดของสอนและแสง

การที่สอนและแสงได้ร่วมเดินทางไปกับนพเพื่อไปยิงโก๋นั้น  ถือว่าสอนและแสงมีเจตนาร่วมกับนพในการฆ่าก้องแล้ว  สอนและแสงจะยกเอาความสำคัญผิดของนพมาเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้มีเจตนาฆ่าก้องไม่ได้  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  และมาตรา  61

และการที่สอนและแสงได้ร่วมเดินทางไปกับนพเพื่อยิงแก้แค้นก้องโดยเข้าใจว่าเป็นโก๋ซึ่งเคยยิงนพมาก่อน  อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าสอนและแสงทราบดีว่านพได้นำอาวุธปืนไปด้วย  จึงถือว่าสอนและแสงได้ร่วมกันกระทำและมีเจตนาร่วมกันกับนพแล้ว  ดังนั้นเมื่อนพได้กระทำความผิดโดยการใช้อาวุธปืนยิงก้อง  สอนและแสงจึงต้องรับผิดในทางอาญาต่อก้องในฐานะเป็นตัวการตามมาตรา  8

สรุป  นพต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำต่อก้องโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก  สอนและแสงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

LAW2006 กฎหมายอาญา 1 ภาคฤดูร้อน/2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006  กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1 

ก.      เป็นเจ้าพนักงานไทยได้รับแต่งตั้งให้เดินทางไปซื้อเรือดำน้ำที่ประเทศเยอรมนี  เมื่อ  ก  เดินทางไปถึงประเทศเยอรมนี  ก  ได้ร่วมกันกับ  ข  นักธุรกิจไทยซึ่งเดินทางไปทำธุรกิจที่ประเทศเยอรมนี  โดยให้  ข  ไปเรียกเงินจากบริษัทขายเรือดำน้ำ  5  แสนมาร์ค  ถ้าได้จากบริษัทใดก็จะซื้อจากบริษัทนั้น  บริษัทหนึ่งได้ตกลงตามที่  ข  เรียกร้อง  ก  จึงซื้อเรือดำน้ำจากบริษัทนั้นและแบ่งเงินให้  ข  1  แสนมาร์ค  ดังนี้  ก  และ  ข  จะต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักรไทยหรือไม่  เพราะเหตุใด

 ธงคำตอบ

มาตรา  7  ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร  คือ

(1) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  107  ถึงมาตรา  129

(1/1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  135/1  มาตรา  135/2  มาตรา  135/3  และมาตรา  135/4

(2) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  240  ถึงมาตรา  249  มาตรา  254  มาตรา  256  มาตรา  257  และมาตรา  266(3) และ (4)

(2 ทวิ)  ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  282  และมาตรา  283

(3) ความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  339  และความผิดฐานปล้นทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  340  ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ  หรือ

(ข)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว  และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย  และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร  คือ 

(1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  217  มาตรา  218  มาตรา  221  ถึงมาตรา  223  ทั้งนี้  เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา  220  วรรคแรก  และมาตรา  224  มาตรา  226  มาตรา  228  ถึงมาตรา  232  มาตรา  237  และมาตรา  233  ถึงมาตรา  236  ทั้งนี้  เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา  238

(2) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266(1)  และ  (2)  มาตรา  268  ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา  267  และมาตรา  269

(2/1)  ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  269/1  ถึงมาตรา  269/7

(2/2)  ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  269/8  ถึงมาตรา  269/15

(3) ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  276  มาตรา  280  และมาตรา  285  ทั้งนี้  เฉพาะที่เกี่ยวกับมาตรา  276

(4) ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290

(5) ความผิดต่อร่างกาย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  295  ถึงมาตรา  298

(6) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก  คนป่วยเจ็บ  หรือคนชรา  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  306  ถึงมาตรา  308

(7) ความผิดต่อเสรีภาพ  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  309  มาตรา  310  มาตรา  312  ถึงมาตรา  315  และมาตรา  317  ถึงมาตรา  320

(8) ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  334  ถึงมาตรา  336

(9) ความผิดฐานกรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ชิงทรัพย์  และปล้นทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  337  ถึงมาตรา  340

(10)                    ความผิดฐานฉ้อโกง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  341  ถึงมาตรา  344  มาตรา  346  และมาตรา  347

(11)                    ความผิดฐานยักยอก  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  352  ถึงมาตรา  354

(12)                    ความผดฐานรับของโจร  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  357

(13)                    ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  358  ถึงมาตรา  360

มาตรา  9  เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  147  ถึงมาตรา  166  และมาตรา  200  ถึงมาตรา  205 นอกราชอาณาจักร  จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร

วินิจฉัย

โดยหลักทั่วไป  กฎหมายของรัฐใดย่อมใช้บังคับแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นภายในเขตของรัฐนั้น  แต่ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติยกเว้นหลักดังกล่าวไว้ว่า  ถึงแม้ผู้กระทำจะกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  แต่จะต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักรหากเป็นกรณีตามมาตรา  7  มาตรา  8  และมาตรา  9

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่  ก เป็นเจ้าพนักงานไทยซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เดินทางไปซื้อเรือดำน้ำที่ประเทศเยอรมนีได้ร่วมกันกับ  ข  โดยให้  ข  ไปเรียกเงินจากบริษัทขายเรือดำน้ำ  ถ้าได้จากบริษัทใดก็จะซื้อจากบริษัทนั้น  และบริษัทหนึ่งได้ตกลงตามที่  ข  เรียกร้อง  และ  ก  จึงซื้อเรือดำน้ำจากบริษัทหนึ่ง  ดังนั้น  เมื่อ  ก  เป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทย  ก  จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตาม  ป.อ.  มาตรา  149  และ  เมื่อเป็นกรณีที่  ก  ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน  ป.อ.  มาตรา  147  ถึงมาตรา  166  นอกราชอาณาจักร  ดังนั้น  ก  จึงต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักรตาม  ป.อ.  มาตรา  9

ส่วนกรณีของ  ข  นั้น  เมื่อ  ข  ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทย  จึงไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตาม  ป.อ. มาตรา  149  เพราะบุคคลธรรมดาไม่อาจจะมีความผิดตามมาตรานี้ได้  กรณีจึงไม่ต้องด้วย  ป.อ.  มาตรา  9  และการกระทำของ  ข  ดังกล่าว  ก็ไม่ต้องด้วยกรณีตาม  ป.อ.  มาตรา  7  และมาตรา  8  แต่อย่างใด  ดังนั้น  ข  จึงไม่ต้องรับผิดและไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

สรุป  ก  ต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักร  ส่วน  ข  ไม่ต้องรับผิดและไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร

 

ข้อ  2 

ก  ใช้ปืนขู่บังคับ  ข  ให้ตีหัว  ค  หากไม่ตี  ก  จะยิง  ข  ให้ตาย  ข  กลัว  ก  ยิงตน  ข  จึงใช้ไม้ตีไปที่  ค  ค  เห็น  ข  เงื้อไม้ขึ้นตีตน  ค  จึงใช้ไม้ที่ถืออยู่ตีไปที่  ข  และไม้ได้หลุดจากมือ  ค  เลยไปถูก  ก  ด้วย  ดังนี้  ก  ข  และ  ค  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  89  ถ้ามีเหตุส่วนตัวอันควรยกเว้นโทษ  ลดโทษ  หรือเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดคนใด  จะนำเหตุนั้นไปใช้แก่ผู้กระทำความผิดคนอื่นในการกระทำความผิดนั้นด้วยไม่ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ก  ข  และ  ค  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของ  ก

การที่  ก  ใช้ปืนขู่บังคับ  ข  ให้ตีหัว  ค  นั้น  ถือเป็นการ  ก่อ  ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการบังคับขู่เข็ญแล้ว  ก  จึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลงคือ  ข  ได้ใช้ไม้ตีไปที่  ค  ก  ผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนตัวการตามมาตรา 84  วรรคสอง  และกรณีนี้  ก  ไม่ได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา  89  เพราะถึงแม้การที่  ข  ใช้ไม้ตี  ค  จะกระทำด้วยความจำเป็นและได้รับยกเว้นโทษตามมาตรา  67  ก็ตาม  แต่การได้รับยกเว้นโทษดังกล่าวถือเป็นเหตุส่วนตัวของ  ข  จะนำมาใช้กับ  ก  ด้วยไม่ได้

ความรับผิดของ  ข

การที่  ข  ใช้ไม้ตีไปที่  ค  ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของ  ข  จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ข  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่  ข  ใช้ไม้ตีไปที่  ค  นั้น  ข  ได้กระทำไปเพราะอยู่ภายใต้อำนาจบังคับของ ก  ซึ่ง  ข  ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  เมื่อ  ข  ได้กระทำไปไม่เกินสมควรแก่เหตุ  การกระทำของ  ข  จึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตามมาตรา  67(1)  ดังนั้น  ข  จึงมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ

ความรับผิดของ  ค

การที่  ค  ใช้ไม้ตีไปที่  ข  ถือว่าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น การกระทำของ  ค  จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ค  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่ ค  ได้ใช้ไม้ตีไปที่  ข  นั้น  ค  ได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตน  ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของ  ข  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  เมื่อ  ค  ได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของ  ค  จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ดังนั้น  ค  จึงไม่ต้องรับผิดต่อ  ข

และเมื่อการกระทำของ  ค  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แม้ว่าไม้ได้หลุดจากมือ  ค  เลยไปถูก  ก  ด้วย  ซึ่งถือเป็นกรณีที่  ค เจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไปและกฎหมายให้ถือว่า  ค  เจตนากระทำต่อ  ก  โดยพลาดไปตามมาตรา  60  ก็ตาม  แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของ  ค  เป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปก็ถือเป็นผลที่เกิดจากการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ด้วย  ดังนั้น  ค  จึงไม่ต้องรับผิดต่อ  ก  เช่นเดียวกัน

สรุป

ก  ตองรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  และรับโทษเสมือนตัวการ

ข  ต้องรับผิดทางอาญา  แต่ไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67  เพราะเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

ค  ไม่ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  68  เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  นายแดงกับนายดำเป็นเพื่อรักกัน  ทั้งสองคนเข้าป่าล่าสัตว์เป็นงานอดิเรกด้วยกันเป็นประจำ  วันหนึ่ง  ทั้งคู่ได้นัดกันไปล่าสัตว์ตามปกติ  โดยนัดเจอกันเวลาบ่ายโมงตรงใต้ต้นไม้ใหญ่  นายแดงล่าสัตว์ไม่ได้เลยจึงรู้สึกเบื่อหน่ายมานั่งรอนายดำก่อนเวลานัดเจอจนเผลอหลับไป

เมื่อใกล้เวลาบ่ายโมง  นายแดงได้ยินเสียงดังอยู่หลังพุ่มไม้ที่ตนนอนอยู่  ด้วยความรีบร้อนไม่ทันดูให้ดีเสียก่อน  จึงชักปืนจากเอวขึ้นยิงไปทันที  ปรากฏว่าเป็นนายดำที่จะเข้ามาหยอกล้อเล่นเหมือนที่เคยทำเป็นประจำ  กระสุนถูกอวัยวะสำคัญทำให้นายดำถึงแก่ความตายทันที

จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายแดง

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  62  วรรคสอง  ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงใช้ปืนยิงไปที่หลังพุ่มไม้นั้น  ถือเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกแล้ว  จึงถือว่านายแดงมีการกระทำทางอาญา  แต่การที่นายแดงยิงไปที่หลังพุ่มไม้โดยเข้าใจว่าเป็นสัตว์แต่ปรากฏว่าไม่ใช่สัตว์แต่เป็นนายดำนั้น  เป็นกรณีที่นายแดงได้กระทำไปโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  คือไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนยิงนั้นเป็นคน  ดังนั้น  จะถือว่านายแดงได้ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำคือการที่นายดำถึงแก่ความตายไม่ได้  กล่าวคือ  จะถือว่านายแดงได้กระทำโดยเจตนาต่อนายดำไม่ได้นั่นเอง  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม

แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา  59  วรรคสามของนายแดงได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  เพราะตามข้อเท็จจริงนั้นการกระทำของนายแดงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นว่านั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และนายแดงอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาใช้ให้เพียงพอไม่  กล่าวคือ  ถ้านายแดงใช้ความระมัดระวังพิจารณาให้ดีไม่รีบร้อนก็จะรู้ว่าหลังพุ่มไม้นั้นเป็นนายดำไม่ใช่สัตว์  เพราะนายดำมักจะหยอกล้อเล่นแบบนี้เป็นประจำ  ดังนั้น  นายแดงจึงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา  62  วรรคสองประกอบมาตรา  59  วรรคสี่

สรุป  นายแดงต้องรับผิดฐานกระทำโดยประมาทตามมาตรา  62  วรรคสองประกอบมาตรา  59  วรรคสี่

 

ข้อ  4  เรยาเกลียดณฤดีที่ได้รับความรักจากคุณใหญ่เพียงคนเดียว  เรยาจึงคิดฆ่าณฤดี  แต่กลับเห็นเด่นจันทร์เป็นณฤดี  เมื่อใช้ปืนยิงเด่นจันทร์ถึงแก่ความตายไปแล้ว  กระสุนที่ใช้ยิงเด่นจันทร์นั้น  ยังเลยไปถูกสินธรที่เดินอยู่ห่างออกไปได้รับบาดเจ็บสาหัส  นอกจากนี้กระสุนยังแฉลบไปถูกรถยนต์ของสินธรที่เด่นจันทร์ซื้อให้ราคา  20  ล้านบาท  ได้รับความเสียหายอีกด้วย  จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของเรยา  

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ความรับผิดทางอาญาของเรยา  แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของเรยาต่อเด่นจันทร์

การที่เรยาใช้ปืนยิงเด่นจันทร์โดยเข้าใจว่าเป็นณฤดีนั้น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำ  คือ  ความตายของผู้ที่ตนยิง  ดังนั้น  การกระทำของเรยาจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  และกรณีดังกล่าวนี้เรยาจะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้มีเจตนากระทำต่อเด่นจันทร์ไม่ได้ตามมาตรา  61  ดังนั้น  เรยาจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเด่นจันทร์ฐานกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก

ความรับผิดของเรยาต่อสินธร

การที่เรยาใช้ปืนยิงเด่นจันทร์  และกระสุนยังได้เลยไปถูกสินธรบาดเจ็บด้วยนั้น  ถือเป็นกรณีที่เรยาเจตนาจะกระทำความผิดต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำไปเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าเรยากระทำโดยเจตนาต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายนั้นด้วย  ดังนั้น  เมื่อเรยามีเจตนาฆ่ามาตั้งแต่ต้น  เจตนาที่โอนมายังสินธรก็คือ  เจตนาฆ่าเช่นเดียวกัน  เมื่อปรากฏว่าสินธรเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น  ไม่ถึงแก่ความตาย  เรยาจึงต้องรับผิดต่อสินธรฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา  60  ประกอบมาตรา  80

ส่วนกรณีที่กระสุนยังแฉลบไปถูกรถยนต์ของสินธรได้รับความเสียหายด้วยนั้น  ถือเป็นกรณีที่เรยากระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  แต่เนื่องจากการทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่นโดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด  เรยาจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อรถยนต์องสินธร  ทั้งนี้ตามหลักในมาตรา  59  วรรคแรกที่ว่า  บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาเมื่อได้กระทำโดยประมาทก็ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท

สรุป  เรยาต้องรับผิดทางอาญาต่อเด่นจันทร์ฐานกระทำต่อเด่นจันทร์โดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรกประกอบมาตรา  61  และรับผิดทางอาญาต่อสินธรฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามมาตรา  60  ระกอบมาตรา  80  แต่เรยาไม่ต้องรับผิดทางอาญาในความเสียหายต่อรถยนต์ของสินธร    

LAW2006 กฎหมายอาญา 1 1/2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาเมื่อใด  มีหลักกฎหมายและข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง  จงอธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

อธิบาย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว  จะเห็นได้ว่า  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำ  ซึ่งการกระทำ  หมายถึง  การเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  กล่าวคือ  เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจนั่นเอง  และการกระทำยังให้หมายความรวมถึงการไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกด้วย  ดังจะเห็นได้จากมาตรา  59  วรรคห้า  ซึ่งบัญญัติว่า  การกระทำให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น  โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

และโดยหลักทั่วไป  การกระทำซึ่งจะทำให้บุคคลผู้กระทำต้องรับผิดในทางอาญานั้นจะต้องเป็นการกระทำโดยเจตนา  คือ  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  ตามมาตรา  59  วรรคสอง

การกระทำโดยเจตนา  แบ่งออกเป็น  2  กรณี  คือ

1       การกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ซึ่งจะประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการคือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  หมายถึง  การรู้ถึงการเคลื่อนไหวหรือการไม่เคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเอง  และ

(2) ในขณะกระทำ  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  ในขณะกระทำ  นอกจากจะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกแล้ว ผู้กระทำยังมีความประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นๆตามที่ผู้กระทำมุ่งหมายให้เกิดขึ้นด้วย

ตัวอย่าง  แดงต้องการฆ่าดำ  จึงใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้การที่แดงใช้ปืนยิงไปที่ดำถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  และความตายของดำถือว่าเป็นผลที่แดงประสงค์จะให้เกิดขึ้น

 2       การกระทำโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล  ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์  2  ประการ  คือ

(1) เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และ

(2) ในขณะกระทำผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  หมายถึง  เป็นการกระทำที่ผู้กระทำมิได้ประสงค์ต่อผล  กล่าวคือ  มิได้มุ่งหมายให้เกิดผลขึ้น  แต่ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลว่าผลนั้นจะต้องเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ตัวอย่าง  แดงเชื่อว่าดำเป็นคนอยู่ยงคงกระพันยิงไม่เข้า  จึงทดลองใช้ปืนยิงไปที่ดำและถูกดำตาย  ดังนี้  การที่แดงใช้ปืนยิงดำ  แดงไม่มีความประสงค์จะให้ดำตายเป็นเพียงการทดลองความอยู่ยงคงกระพันเท่านั้น  แต่การกระทำของแดงย่อมเล็งเห็นได้ว่า  ถ้ากระสุนถูกดำย่อมทำให้ดำตายได้  จึงถือว่าแดงมีเจตนาฆ่าดำโดยย่อมเล็งเห็นผล

แต่อย่างไรก็ดี  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  มีข้อยกเว้นว่า  บุคคลอาจจะต้องรับผิดในทางอาญา  แม้จะมิได้กระทำโดยเจตนาก็ได้  ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้คือ

(1) เป็นการกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยประมาท  เช่น  กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เป็นต้น  หรือ

(2) เป็นการกระทำที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง  ให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  (ความผิดเด็ดขาด)  เช่น  การกระทำความผิดตามประมวลรัษฎากร  เป็นต้น  หรือ

(3) เป็นการกระทำความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายนี้  แม้กระทำโดยไม่มีเจตนา  ก็เป็นความผิด  เว้นแต่  ตามบทบัญญัติความผิดนั้นจะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น  (มาตรา  104)

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นพยายามกระทำความผิด  มีโทษอย่างไรบ้าง  (อธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

อธิบาย

ตามมาตรา  80  กรณีที่จะถือว่าเป็นพยายามกระทำความผิดจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ที่สำคัญ  3  ประการ  คือ

(1) ผู้กระทำจะต้องมีเจตนากระทำความผิด

(2) ผู้กระทำจะต้องลงมือกระทำความผิดแล้ว  กล่าวคือ  ได้ผ่านขั้นตระเตรียมการไปแล้ว  จนถึงขั้นลงมือกระทำการเพื่อให้บรรลุผลตามเจตนา

(3) ผู้กระทำกระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำไม่บรรลุผล

ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ  (3)  นี้  จะเห็นได้ว่า  การพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  80  อาจแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  คือ

1       พยายามกระทำความผิดที่กระทำไปไม่ตลอด  ซึ่งมีองค์ประกอบ  ดังนี้

(1) ผู้กระทำจะต้องได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  หมายถึง  ได้กระทำที่พ้นจากขั้นตระเตรียมไปแล้วจนถึงขั้นลงมือกระทำ

(2) กระทำไปไม่ตลอด  หมายความว่า  เมื่อผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  ได้มีเหตุมาขัดขวางเสียไม่ให้กระทำไปได้ตลอด

ตัวอย่าง  ก  ตั้งใจยิง  ข  จึงยกปืนขึ้นประทับบ่าและจ้องไปที่  ข  พร้อมกับขึ้นนกในขณะที่กำลังจะลั่นไก  ค  ได้มาจับมือ  ก  เสียก่อน  ทำให้  ก  กระทำไปไม่ตลอด  คือไม่สามารถยิง  ข  ได้

2       พยายามกระทำความผิดที่กระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ซึ่งมีองค์ประกอบ  ดังนี้

(1) ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว

(2) การกระทำนั้นได้กระทำไปโดยตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  เหตุที่ไม่บรรลุผลก็เพราะว่ามีเหตุมาขัดขวางไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผลนั่นเอง

ตัวอย่าง  ก  เจตนาฆ่า  ข  และได้ยิงปืนไปที่  ข  แต่ลูกปืนไม่ถูก  ข  หรือถูก  ข  แต่  ข  ไม่ตาย  ดังนี้ถือว่า  ก  ได้ลงมือกระทำความผิด และได้กระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำไม่บรรลุผล  คือ  ข  ไม่ตายตามที่  ก  ประสงค์

โทษของการพยายามกระทำความผิด

โดยปกติ  การพยายามกระทำความผิดนั้น  ผู้กระทำจะต้องรับโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น  (มาตรา  80  วรรคสอง)  เว้นแต่  การพยายามกระทำความผิดบางกรณี  ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้น  ได้แก่

1       การพยายามกระทำความผิดที่ผู้กระทำต้องรับโทษเท่าความผิดสำเร็จ  เช่น  การพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  107  มาตรา  108  เป็นต้น

2       การพยายามกระทำความผิดที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  เช่น  การพยายามกระทำความผิดที่ผู้กระทำยับยั้งเสียงเองไม่กระทำการให้ตลอดหรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผลตามมาตรา  82  หรือ  การพยายามกระทำความผิดลหุโทษตามมาตรา 105  เป็นต้น

3       การพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา  81  ที่ผู้กระทำต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

 

ข้อ  3  อาคมคนไทยทำร้ายร่างกายหลี่หมิงคนสิงคโปร์ที่สิงคโปร์  แล้วอาคมได้หนีเข้ามาในประเทศไทย  หลี่หมิงได้โทรศัพท์ไปหาเจียงชาวจีนอยู่ที่ฮ่องกง  จ้างเจียงให้ฆ่าอาคมในประเทศไทย

เจียงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยพบอาคมที่จังหวัดสระแก้ว  ขณะที่อาคมเตรียมตัวเข้าไปในประเทศกัมพูชา  เจียงเข้าไปตีสนิทกับอาคม  โดยอาคมไม่ทราบว่าเจียงจะมาฆ่าคน  เจียงซื้อเครื่องดื่มและใส่ยาพิษลงไปในเครื่องดื่มให้แก่อาคม  อาคมได้รับเครื่องดื่มจากเจียงแล้วได้นั่งรถยนต์ไปกับสมชาย  ขณะรถยนต์แล่นเข้าไปในเขตประเทศกัมพูชา  สมชายกระหายน้ำ  อาคมได้ส่งเครื่องดื่มที่รับมาจากเจียงให้สมชายดื่ม  สมชายดื่มแล้วถึงแก่ความตาย

ดังนี้  อาคม  หลี่หมิง  และเจียงต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ 

มาตรา  4  วรรคแรก  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร  ต้องรับโทษตามกฎหมาย

มาตรา  5  วรรคแรก  ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี  ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา  6  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร  หรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร  แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน  ของผู้สนับสนุนหรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น  จะได้กระทำนอกราชอาณาจักร  ก็ให้ถือว่าตัวการ  ผู้สนับสนุน  หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร  คือ

(5) ความผิดต่อร่างกาย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  295  ถึงมาตรา  298

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น 

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  อาคม  หลี่หมิง  และเจียง  จะต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของอาคม 

การที่อาคมเป็นคนไทยได้ทำร้ายร่างกายหลี่หมิงคนสิงคโปร์ที่ประเทศสิงคโปร์นั้น  แม้จะเป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  แต่อาคมจะต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักร  เพราะเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  8(ก)(5)  คือ  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และเป็นความผิดต่อร่างกาย

กรณีของหลี่หมิง

การที่หลี่หมิงได้จ้างเจียงให้ฆ่าอาคมในประเทศไทย  หลี่หมิงต้องรับผิดต่ออาคมฐานเป็นผู้ใช้  ตาม  ป.อาญา  มาตรา  84  และการกระทำของหลี่หมิงแม้จะได้กระทำนอกราชอาณาจักรแต่ตามมาตรา  6  ให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร  ดังนั้น  หลี่หมิงจึงต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรด้วย

กรณีของเจียง

การที่เจียงได้ซื้อเครื่องดื่มและใส่ยาพิษลงไปในเครื่องดื่มให้แก่อาคมนั้น  ถือว่าเจียงได้ลงมือกระทำความผิดต่ออาคมแล้ว  และเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสอง  เพียงแต่ได้กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  จึงต้องรับผิดฐานพยายามตามมาตรา  80  และการกระทำความผิดของเจียงต่ออาคมนั้นเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักรตามมาตรา  4  วรรคแรก  ดังนั้นเจียงจึงต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรด้วย

ส่วนการกระทำที่เจียงกระทำต่อสมชายนั้น  เมื่อเจียงมีเจตนากระทำต่ออาคม  แต่ผลของการกระทำไปเกิดขึ้นแก่สมชายตามมาตรา  60 ให้ถือว่าเจียงมีเจตนากระทำต่อสมชายด้วย  ซึ่งเป็นการกระทำโดยพลาด  และแม้ว่าสมชายจะดื่มเครื่องดื่มและถึงแก่ความตายนอกราชอาณาจักร  แต่เมื่อการกระทำความผิดของเจียงส่วนหนึ่งได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรตามมาตรา  5  วรรคแรก  ให้ถือว่าเจียงได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร  ดังนั้นในกรณีนี้เจียงต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรด้วย

สรุป  อาคม  หลี่หมิง  และเจียง  ต้องรับผิดทางอาญาและรับโทษในราชอาณาจักรตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ  4  ร.ต.ต.หาญ  กับ  จ.ส.ต.กล้า  ออกตรวจท้องที่บริเวณที่บ้านราษฎรถูกน้ำท่วมในเวลากลางคืน  พบจ้อยยืนอยู่หน้าบ้านหลังหนึ่งมีท่าทางพิรุธ  ทั้งสองเดินไปหาจ้อย  จ้อยเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงร้องบอกเก่งและยอดพวกของตนที่เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านหลังนั้น  เก่งและยอดได้ออกมาจากบ้านและมาหาจ้อยที่หน้าบ้าน  ร.ต.ต.หาญ  และ  จ.ส.ต.กล้าจึงแสดงตนและขอจับกุมทั้งสามคน  จ้อย  เก่ง  และยอดได้ใช้ไม้และมีดตีและแทงเจ้าหน้าที่ทั้งสองล้มลง  เก่งเงื้อมีดขึ้นแทงซ้ำ  ร.ต.ต.หาญชักปืนออกยิงเก่งหนึ่งนัดถูกเก่งล้มลง  จ้อยและยอดวิ่งหนี  จ.ส.ส.กล้าลุกขึ้นได้ใช้ปืนยิงไปที่จ้อยและยอดหนึ่งนัด  กรุสุนปืนถูกจ้อยได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  จ้อย  ร.ต.ต.หาญ และ  จ.ส.ต.กล้า ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และศาลจะพิพากษาริบอาวุธปืนของ  ร.ต.ต.หาญ  และ  จ.ส.ต.กล้า  ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  33  ในการริบทรัพย์สิน  นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว  ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย  คือ

(1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้  หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  จ้อย  ร.ต.ต.หาญ  และจ.ส.ต.กล้า  จะต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของจ้อย

การที่เก่งและยอดพวกของจ้อยเข้าไปลักทรัพย์ในบ้าน  โดยมีจ้อยยืนอยู่หน้าบ้านหลังนั้น  เพื่อรับหน้าที่คอยแจ้งสัญญาณให้พวกของตนทราบ  การกระทำของจ้อยนับว่าเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้การลักทรัพย์บรรลุผลสำเร็จ  จึงถือว่าจ้อยเป็นตัวการในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  83  และเมื่อจ้อย  เก่ง  และยอดได้ใช้ไม้และมีดตีและแทง  ร.ต.ตหาญ  และ  จ.ส.ต.กล้า  เมื่อเจ้าหน้าที่ทั้งสองแสดงตนและขอจับกุมจึงถือว่าจ้อยเป็นตัวการในการร่วมกันกระทำความผิดฐานต่อสู่ขัดขวางเจ้าพนักงานด้วยตามมาตรา  83

กรณีของ  ร.ต.ต.หาญ

หารที่  ร.ต.ต.หาญนั้น  ได้ชักปืนออกมายิงเก่งหนึ่งนัด  ถือว่า  ร.ต.ต.หาญได้กระทำต่อเก่งโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่เมื่อการกระทำของร.ต.ต.หาญนั้น เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  จึงถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ดังนั้น  ร.ต.ต.หาญจึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษทางอาญา

และเมื่อการกระทำของ  ร.ต.ต.หาญไม่มีความผิด  อาวุธปืนของ  ร.ต.ต.หาญที่ใช้ยิงนั้นจึงมิใช่เป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด  ดังนั้นศาลจะพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของ  ร.ต.ต.หาญตามมาตรา  33(1)  ไม่ได้

กรณีของ  จ.ส.ต.กล้า

การที่จ.ส.ต.กล้า  ได้ใช้ปืนยิงไปที่จ้อยและยอดหนึ่งนัด  ในขณะที่จ้อยและยอดได้วิ่งหนีไปแล้ว  ถือว่า  จ.ส.ต.กล้าได้กระทำต่อจ้อยและยอดยิ่งโดยเจตนาเพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ  และในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59 วรรคสอง  จึงต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก  และการกระทำของ  จ.ส.ต.กล้าจะอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายไม่ได้  เพราะภยันตรายดังกล่าวนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม  การกระทำของ  จ.ส.ต.กล้าถือว่าเป็นการกระทำไปโดยบันดาลโทสะตามมาตรา  72  เพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  และได้กระทำต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ดังนั้น  ศาลจะลงโทษ  จ.ส.ต.กล้ากล้าน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้  ส่วนอาวุธปืนของ  จ.ส.ต.กล้านั้น  ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้ใช้ในการกระทำความผิด  ศาลย่อมพิพากษาให้ริบปืนตามมาตรา  33(1) ได้

สรุป  จ้อยต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

ร.ต.ต.หาญไม่ต้องรับผิดทางอาญา  เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและศาลจะพิพากษาริบอาวุธปืนของ  ร.ต.ต.หาญไม่ได้

จ.ส.ต.กล้าต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทำโดยเจตนาแต่อ้างเหตุบันดาลโทสะได้  และศาลจะพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของ  จ.ส.ต.กล้าได้

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 2/2554

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  โมหะกลับบ้านตอนดึก  ได้ทราบจากโมรีภริยาว่า  มอคค่าสุนัขที่เลี้ยงไว้กัด  ด.ญ.โมจิ  ลูกสาวได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา  โมหะโกรธมากจึงตั้งใจว่าจะไม่อยู่ร่วมโลกกับมอคค่าอีกต่อไป  จึงยืนดักรอให้มอคค่ากลับบ้าน

หลังจากที่มอคค่าหนีออกจากบ้านไปหลังกัดโมจิ  สักครู่ใหญ่โมหะเห็นน้องหมาตัวหนึ่งวิ่งเข้าบ้านมาคุ้ยขยะหน้าบ้านกินด้วยความหิวโหย  โมหะเข้าใจว่าเป็นมอคค่า  จึงจะทุบให้ตาย  เมื่อน้องหมาก้มลงกินด้วยความอร่อย  โมหะใช้ไม้กอล์ฟทุบน้องหมาตายคากองอาหารด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

ความจริงแล้วน้องหมาที่ตายนั้นคือ  ช็อกโกแลตลาวา  น้องหมาของโทโสเพื่อนบ้านที่มีรูปร่างคล้ายกัน  โมหะทุบน้องหมาตัวนั้นด้วยความรีบร้อน  ไม่ทันดูให้ดี  จึงทำให้ช็อกโกแลตลาวาตาย 

จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโมหะ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  62  วรรคสอง  ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก  ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

การกระทำโดยเจตนา  ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้  คือจะถือว่าผู้กระทำได้กระทำโดยเจตนาไม่ได้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่โมหะได้ใช้ไม้กอล์ฟทุบน้องหมา  คือ  ช็อกโกแลตลาวาตายนั้น  เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  จึงถือว่าเป็นการกระทำทางอาญาแล้ว  แต่การกระทำดังกล่าวของโมหะจะถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาหาได้ไม่  เพราะโมหะได้กระทำโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  ตามมาตรา  59  วรรคสาม  คือไม่รู้ว่าน้องหมาที่ตนใช้ไม้กอล์ฟทุบจนตายนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่นไม่ใช่มอคค่าสุนัขของตนเอง  ดังนั้นโมหะจึงไม่มีความรับผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์  (องค์ประกอบของความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  ตาม  ป.อาญา  มาตรา  358  คือ  1  ทำให้เสียหาย  ทำลาย  ทำให้เสื่อมค่า  หรือทำให้ไร้ประโยชน์  2  ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  3  โดยเจตนา)

และแม้ว่าการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดนั้น  ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของโมหะ  เนื่องจากโมหะได้ทุบช็อกโกแลตลาวาซึ่งเป็นสุนัขของโทโสตายนั้น  ได้กระทำด้วยความรีบร้อนไม่ทันดูให้ดีว่าไม่ใช่มอคค่าสุนัขของตน  แต่โมหะก็ไม่ต้องรับผิดฐานประมาททำให้เสียทรัพย์  ทั้งนี้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำโดยประมาททำให้เสียทรัพย์นั้นเป็นความผิดแต่อย่างใด  ตามมาตรา  59  วรรคสี่  ประกอบกับมาตรา  62  วรรคสอง  ดังนั้นโมหะจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป  โมหะไม่มีความรับผิดทางอาญา

 

ข้อ  2  นายแดงต้องการฆ่านายดำ  เมื่อนายแดงเห็นนายขาวเดินมา  คิดว่าเป็นนายดำ  นายแดงจึงใช้ปืนยิงนายขาว  นายขาวมองเห็นก่อนจึงหลบกระสุนได้ทัน  กระสุนจึงไม่ถูกที่สำคัญ  ทำให้นายขาวได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย  ในการนั้นนายเขียวที่ยืนอยู่ห่างไกลออกไปได้รับกระสุนไปด้วย  แต่กระสุนถูกที่สำคัญทำให้นายเขียวถึงแก่ความตายในทันที

จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายแดงต่อนายขาว  และต่อนายเขียว

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  และวรรคสาม  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

ความรับผิดของนายแดงต่อนายขาว

ตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงใช้ปืนยิงนายขาวนั้น  ถือว่านายแดงได้กระทำโดยเจตนาเพราะนายแดงได้กระทำโดยรู้สำนึก  และในขณะเดียวกันนายแดงได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  และนายแดงได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  59  วรรคสาม

และแม้ว่าข้อเท็จจริงนายแดงมีเจตนาฆ่านายดำ  แต่ได้ลงมือกระทำต่อนายขาวเพราะเข้าใจผิดคิดว่านายขาวเป็นนายดำ  นายแดงจะยกเอาความสำคัญผิดดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อนายขาวไม่ได้  ดังนั้นจึงต้องถือว่านายแดงมีเจตนาฆ่านายขาวด้วยตามมาตรา  61  และเมื่อนายขาวไม่ถึงแก่ความตายเพราะกระสุนไม่ถูกที่สำคัญ  จึงถือว่านายแดงได้ลงมือกระทำและกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำไม่บรรลุผล  นายแดงจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านายขาวโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  61  และมาตรา  80  วรรคแรก

ความรับผิดของนายแดงต่อนายเขียว

การที่นายแดงได้ใช้ปืนยิงนายขาว  แล้วกระสุนปืนได้เลยไปถูกนายเขียวที่ยืนอยู่ไกลออกไป  ทำให้นายเขียวถึงแก่ความตายนั้น  เป็นกรณีที่นายแดงได้กระทำโดยเจตนาต่อนายขาว  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่นายเขียวโดยพลาดไป  เช่นนี้ให้ถือว่านายแดงได้กระทำโดยเจตนาแก่นายเขียวบุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำด้วย  ตามมาตรา  60  ดังนั้นเมื่อนายเขียวถึงแก่ความตาย  นายแดงจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่านายเขียวตายโดยเจตนาโดยพลาด  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  60

สรุป  นายแดงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านายขาวโดยสำคัญผิดในตัวบุคคล  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  มาตรา  61  ประกอบมาตรา  80  และต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่านายเขียวตายโดยเจตนาโดยพลาด  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  60

 

ข้อ  3  หนึ่งและสองเป็นบุตรของสาม  สามถูกฆ่าตาย  หนึ่งสืบทราบมาว่าสี่เป็นคนฆ่าสาม  หนึ่งและสองปรึกษาวางแผนฆ่าสี่เพื่อแก้แค้น  หนึ่งจึงไปขอยืมอาวุธปืนจากห้า  ห้าทราบดีว่าหนึ่งจะนำอาวุธปืนไปยิงสี่

ด้วยความเห็นใจหนึ่งที่ต้องสูญเสียบิดาจึงให้ยืม  หนึ่งได้อาวุธปืนจากห้า  แล้วได้กลับไปหาสอง  และทั้งสองได้เดินทางไปดักยิงสี่

เมื่อไปถึงจุดที่สี่ต้องผ่านมา  หนึ่งให้สองไปคอยดูต้นทางและให้สัญญาณ  พอสี่เดินมาสองได้ให้สัญญาณแก่หนึ่ง  หนึ่งยกปืนเล็งไปที่สี่  ก่อนหนึ่งลั่นไก  สองได้ร้องตะโกนบอกหนึ่งว่าอย่ายิง  และวิ่งมาปัดปืน  แต่หนึ่งยังยืนยันฆ่าสี่  และได้ลั่นไกปืน  กระสุนปืนถูกสี่ตาย

ดังนี้  สองและห้าต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

ความรับผิดของสอง

การที่หนึ่งและสองได้ร่วมกันปรึกษาวางแผนฆ่าสี่  และทั้งสองได้เดินทางไปดักยิงสี่  เมื่อไปถึงจุดที่สี่ต้องผ่านมา  หนึ่งให้สองไปคอยดูต้นทางและให้สัญญาณ  และเมื่อสี่เดินมาสองได้ให้สัญญาณแก่หนึ่ง  การกระทำของสองนับว่าเป็นส่วนหนึ่งเพื่อให้การฆ่าสี่บรรลุผลสำเร็จ  ดังนั้นเมื่อหนึ่งได้ใช้ปืนยิงสี่กระสุนปืนถูกสี่ตาย  จึงถือว่าสองร่วมกันกระทำความผิดกับหนึ่งฐานฆ่าสี่ตายโดยเจตนา  สองจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83 

ความรับผิดของห้า

การที่ห้าทราบดีว่าหนึ่งจะไปฆ่าสี่  จึงได้ให้หนึ่งยืมอาวุธปืนเพื่อไปฆ่าสี่  การกระทำของห้าถือเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด  เมื่อหนึ่งฆ่าสี่ตาย  ห้าจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป  สองต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการตามมาตรา  83

ห้าต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

 

ข้อ  4  หาญพบโหนคู่อริ  หาญชักมีดออกแทงโหนในระยะกระชั้นชิด  โหนเห็นจวนตัวไม่อาจหลีกหนี  จึงชักปืนออกยิงไปที่หาญ  กระสุนปืนถูกหาญบาดเจ็บแล้วเลยไปถูกห้อยตาย  แห้วบุตรของห้อยเห็นห้อยบิดาถูกยิงล้มลง  และโหนถือปืนวิ่งหนีไป  แห้ววิ่งไล่ตามพอทันแห้วใช้มีดแทงไปที่โหนได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  โหนและแห้วต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  62  วรรคแรก  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีของโหน

การที่โหนได้ชักปืนออกยิงไปที่หาญ  ถือว่าโหนได้กระทำต่อหาญโดยเจตนาเพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่เมื่อการกระทำของโหนนั้น  เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  จึงถือว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ดังนั้นโหนจึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษทางอาญาฐานพยายามฆ่าหาญ

และเมื่อการกระทำของโหน  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  แม้กระสุนปืนจะเลยไปถูกห้อยตาย  ซึ่งถือเป็นกรณีที่โหนกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  และกฎหมายให้ถือว่าโหนเจตนากระทำต่อห้อยโดยพลาดไปตามมาตรา  60  ก็ตาม  แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของโหนเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผลที่เกิดโดยพลาดไปก็ถือว่าเป็นผลที่เกิดจากการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  68  ด้วย  ดังนั้นโหนจึงไม่ต้องรับผิดต่อห้อย

กรณีของแห้ว

การที่แห้วใช้มีดแทงไปที่โหนจนโหนได้รับบาดเจ็บ  ถือว่าแห้วได้กระทำโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  แห้วจะอ้างบันดาลโทสะเพื่อให้รับโทษน้อยลงตามมาตรา  72  ไม่ได้  เพราะการกระทำของโหนเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่ถือว่าโหนได้ข่มเหงแห้วด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  แห้วจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อโหนฐานพยายามฆ่าโหนตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  80

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่แห้วได้ใช้มีดแทงไปที่โหนนั้น  เป็นเพราะเข้าใจผิดว่าโหนมีเจตนาฆ่าบิดาของตน  แม้ตามข้อเท็จจริงจะไม่มีอยู่จริง  แต่แห้วสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ดังนี้แห้วย่อมสามารถอ้างความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเพื่อให้รับโทษน้อยลงได้  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  72  และมาตรา  62  วรรคแรก

สรุป  โหนไม่ต้องรับผิดทางอาญา

แห้วต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าโหน  แต่แห้วสามารถอ้างความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเพื่อให้รับโทษน้อยลงได้

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 S/2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  แดนขับรถยนต์อยู่ช่องเดินรถทางซ้าย  ก้องขับรถยนต์ตามหลังรถยนต์ของแดน  ก้องพยายามจะขึ้นแซงรถยนต์ของแดน  แต่แดนเบนรถยนต์มาทางขวา  ก้องแซงไม่ได้  พอได้จังหวะที่รถยนต์ของแดนอยู่ช่องเดินรถทางซ้าย

ก้องเร่งเครื่องยนต์แซงขวารถยนต์ของแดนแล้วแกล้งเบียดรถยนต์แดนจนรถยนต์ของแดนตกไหล่ทาง  ทำให้ชมพู่ที่นั่งมาในรถยนต์ของแดนได้รับบาดเจ็บ  และรถยนต์ของแดนเสียหลักไปชนรถจักรยานยนต์ที่ตุ้มขี่มาล้มลง  ตุ้มได้รับบาดเจ็บ

ดังนี้  ก้องต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ความรับผิดทางอาญาของก้อง  แยกพิจารณาได้ดังนี้

ความรับผิดของก้องต่อชมพู่ 

การที่ก้องเร่งเครื่องยนต์แซงขวารถยนต์ของแดนแล้วแกล้งเบียดรถยนต์แดนจนรถยนต์ของแดนตกไหล่ทาง  ทำให้ชมพู่ที่นั่งมาในรถยนต์ของแดนได้รับบาดเจ็บนั้น  ถือว่า  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  กล่าวคือ  ก้องย่อมเล็งเห็นได้ว่าการที่ตนแกล้งเบียดรถยนต์แดนจนรถยนต์ของแดนตกไหล่ทางนั้น  ย่อมทำให้ผู้ที่นั่งมาในรถยนต์ของแดนได้รับบาดเจ็บ  ดังนั้น  การกระทำของก้องจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ก้องจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อชมพู่ ตามมาตรา  59  วรรคแรก

ความรับผิดของก้องต่อตุ้ม 

การที่รถยนต์ของแดนเสียหลักไปชนรถจักรยานที่ตุ้มขี่มาล้มลง  จนทำให้ตุ้มได้รับบาดเจ็บอีกด้วยนั้น  ถือเป็นกรณีที่ก้องเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำไปเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ซึ่งตามกฎหมายให้ถือว่าก้องกระทำโดยเจตนาต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้นด้วย  ดังนั้น  ก้องจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อตุ้ม  เพราะได้กระทำต่อตุ้มโดยเจตนาโดยพลาดไปตามมาตรา  60

สรุป  ก้องต้องรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อชมพู่โดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  และรับผิดทางอาญาที่ได้กระทำต่อตุ้มโดยเจตนาโดยพลาดไป  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  60

 

ข้อ  2  เสริมศักดิ์และสมศรีเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  เสริมศักดิ์ไปที่บ้านของสดใสมารดาของสมศรี  เห็นสร้อยคอทองคำเส้นหนึ่งวางอยู่บนโต๊ะเครื่องแป้ง  เสริมศักดิ์ไม่พิจารณาให้ดีเข้าใจว่าเป็นสร้อยคอทองคำของสมศรีภริยาคงเอามาฝากมารดา  เสริมศักดิ์ต้องการลักทรัพย์ภริยาอยู่แล้ว  จึงเอาสร้อยคอทองคำเส้นนั้นไปขายเพื่อนำเงินมาเล่นการพนัน

ดังนี้  เสริมศักดิ์ต้องรับผิดและรับโทษทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริง  ตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก  ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า  การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

มาตรา  71  วรรคแรก  ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  334  ถึงมาตรา  336  วรรคแรก  และมาตรา  341  ถึงมาตรา  364  นั้น  ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา  หรือภริยากระทำต่อสามี  ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เสริมศักดิ์ลักเอาสร้อยคอทองคำของสดใสไปขายนั้น  ถือเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นคือ  สร้อยคอทองคำที่ตนลักไป  ดังนั้นการกระทำของเสริมศักดิ์จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งกรณีนี้เสริมศักดิ์จะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนากระทำต่อสดใสไม่ได้  ตามมาตรา  61  เพราะสามีลักทรัพย์ของภริยาก็เป็นความผิดอยู่แล้ว  เพียงแต่ได้รับยกเว้นโทษตามมาตรา  71  วรรคแรก  ดังนั้น  เสริมศักดิ์จึงต้องรับผิดทางอาญาต่อสดใสฐานกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่เสริมศักดิ์ลักเอาทรัพย์ของสดใสไปโดยเข้าใจว่าเป็นทรัพย์ของสมศรีภริยาของตนนั้น  ถือเป็นกรณีที่เสริมศักดิ์สำคัญผิดในข้อเท็จจริง  กล่าวคือ  สำคัญผิดว่าเป็นทรัพย์ของสมศรีซึ่งไม่มีอยู่จริง  แต่เสริมศักดิ์สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ซึ่งหากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีอยู่จริงแล้วจะทำให้เสริมศักดิ์ไม่ต้องรับโทษ  ตามมาตรา  71  วรรคแรก  ดังนั้น  เสริมศักดิ์จึงไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  62  วรรคแรก  แม้ความสำคัญผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นโดยความประมาทของเสริมศักดิ์  เพราะไม่พิจารณาดูให้ดีก็ตาม  เสริมศักดิ์ก็ไม่ต้องรับโทษเพราะความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องกระทำโดยเจตนาเท่านั้น  ตามมาตรา  62  วรรคสอง

สรุป  เสริมศักดิ์ต้องรับผิดทางอาญาต่อสดใสฐานกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่ไม่ต้องรับโทษเพราะเสริมศักดิ์สำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา  61  วรรคแรก

 

ข้อ  3  เอกและหนึ่งทะเลาะมีปากเสียงกัน  เอกกล่าวต่อหนึ่งว่า  เอกจะฆ่าหนึ่ง  วันหนึ่งเอกไปดักยิงหนึ่ง  และบริเวณนั้นก็มีเก่งมาดักยิงนกอยู่ด้วย  เอกเห็นหนึ่ง  เอกใช้ปืนยิงไปที่หนึ่ง  หนึ่งได้ยินเสียงปืนจึงล้มตัวลง  กระสุนปืนไม่ถูกหนึ่ง  พอหนึ่งลุกขึ้นได้เห็นเก่งกำลังยกปืนเล็งไปที่นก  หนึ่งเข้าใจว่าเป็นเอกจะยิงซ้ำมาที่ตนอีก  หนึ่งจึงชักปืนยิงไปที่เก่ง  กระสุนปืนถูกเก่งตาย  แล้วยังเลยไปถูกยอดที่นั่งอยู่หลังพุ่มไม้ตายด้วย

ดังนี้  เอกละหนึ่งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะอ้างเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เอกและหนึ่งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะอ้างเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดได้บ้างนั้น  แยกพิจารณาได้ดังนี้  คือ

กรณีของเอก

การที่เอกใช้ปืนยิงไปที่หนึ่งนั้น  เอกได้กระทำไปโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และขณะเดียวกัน  ก็ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  คือความตายของหนึ่ง  การกระทำของเอกจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  เมื่อปรากฏว่าเอกได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะหนึ่งล้มตัวหลบได้ทันจึงไม่ถึงแก่ความตาย  เอกจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

กรณีของหนึ่ง

การที่หนึ่งชักปืนยิงไปที่เก่ง  ถือว่าหนึ่งได้กระทำต่อเก่งโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่การที่หนึ่งใช้ปืนยิงเก่งนั้น  เป็นเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นเอกจะยิงซ้ำมาที่ตนอีก  ซึ่งหากข้อเท็จจริงมีอยู่จริงตามที่หนึ่งเข้าใจแล้ว  การกระทำของหนึ่งย่อมไม่เป็นความผิด  เพราะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  กล่าวคือ  เป็นการที่หนึ่งกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  ดังนั้น  หนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง  ตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62  วรรคแรก

และเมื่อการกระทำของหนึ่ง  เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  แม้กระสุนปืนจะเลยไปถูกยอดตาย  ซึ่งถือเป็นกรณีที่หนึ่งเจตนากระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  และกฎหมายให้ถือว่าหนึ่งเจตนากระทำต่อยอดโดยพลาดไปตามมาตรา  60  ก็ตาม  แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไปย่อมถือว่าเป็นผลที่เกิดจากการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62  วรรคแรกด้วย  ดังนั้น  หนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อยอด

สรุป  เอกต้องรับผิดทางอาญาต่อหนึ่งฐานพยายามฆ่าหนึ่งตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

หนึ่งไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่งและยอด  เพราะหนึ่งกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62 วรรคแรก

 

ข้อ  4  กันต้องการฆ่าโต  กันโทรศัพท์ไปหาใหญ่เพื่อขอยืมอาวุธปืน  ระหว่างทางที่กันไปรับอาวุธปืนจากใหญ่  กันได้พบกับสมพร  สมพรได้จ้างให้กันไปฆ่าโต  โดยไม่ทราบว่ากันเองต้องการฆ่าโตอยู่ก่อนแล้ว  กันตอบตกลงและสมพรได้จัดหาอาวุธปืนให้กันด้วย  กันได้อาวุธปืนจากสมพรแล้ว  เดินทางไปฆ่าโต  กันเห็นโตจึงเดินตามหลังไป  พอได้ระยะที่จะยิงได้  กันชักปืนออกจากเอวเพื่อจะยิงโต  โดยยังมิทันยกปืนจ้องยิงไปที่โต  มีคนวิ่งมาชนกันเสียก่อน  กันจึงไม่ได้ยิงโต  ดังนี้  กันและสมพรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  กันและสมพรต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของกัน

ตามบทบัญญัติมาตรา  59  วรรคแรก  จะเห็นได้ว่าโดยปกติบุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้มีการกระทำการซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด  ซึ่งคำว่าได้มีการกระทำนี้  จะต้องเลยขั้นตระเตรียมการมาจนถึงขั้นลงมือกระทำแล้วแต่กรณีตามข้อเท็จจริง  ขณะที่กันชักปืนออกจากเอวเพื่อจะยิงโต  มีคนวิ่งมาชนกันเสียก่อน  โดยที่กันยังมิทันยกปืนจ้องยิงไปที่โต  การกระทำของกันจึงอยู่เพียงขั้นตระเตรียมการเท่านั้น  ยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิด  เพราะยังไม่ถือว่าใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จ  ดังนั้น  กันจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อโต ตามมาตรา  59  วรรคแรก

กรณีของสมพร

การที่สมพรได้จ้างให้กันไปฆ่าโตนั้น  ไม่ถือว่าเป็นการ  “ก่อ”  ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการจ้าง  เพราะกันต้องการฆ่าโตอยู่ก่อนแล้ว  ดังนั้น  สมพรจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84 

ส่วนกรณีที่สมพรได้จัดหาอาวุธปืนให้กันนั้น  ถึงแม้จะเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้อื่นในการกระทำความผิด  แต่เมื่อปรากฏว่ากันยังไม่ได้ลงมือกระทำความผิด  สมพรจึงไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป  กันไม่ต้องรับผิดทางอาญา  สมพรไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้และผู้สนับสนุน

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายชัยและนางสมศรีเป็นสามีภริยามีบุตรด้วยกัน  3  คน  นายชัยได้ไปราชการที่ชายแดน

เมื่อกลับบ้านนางสมศรีภริยาได้เล่าให้นายชัยฟังว่า  เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนายโก๋ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันได้บุกรุกขึ้นมาบนบ้านและข่มขืนกระทำชำเราตน  นายชัยได้ฟังดังนั้นก็โกรธมาก  จึงพกปืนออกจากบ้านเพื่อจะไปฆ่านายโก๋  เมื่อนายชัยพบนายโก๋จึงยกปืนขึ้นเล็งเพื่อจะยิงนายโก๋  แต่นายโก๋เหลือบเห็นเข้าพอดี  จึงชักปืนยิงถูกนายชัยได้รับบาดเจ็บ  และกระสุนปืนยังเลยไปถูกนางสมศรีซึ่งตามนายชัยมาด้วยความเป็นห่วงถึงแก่ความตายอีกด้วย

ดังนี้  นายชัยและนายโก๋จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไรหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของนายชัยและนายโก๋จะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายชัย

การที่นายชัยได้ยกปืนขึ้นเล็งเพื่อจะยิงนายโก๋  ถือว่านายชัยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  และการกระทำของนายชัยต่อนายโก๋  ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่เมื่อการกระทำของนายชัยเป็นการลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  เนื่องจากนายชัยได้ถูกนายโก๋ยิงได้รับบาดเจ็บ  จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  80  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อนายชัยได้กระทำความผิดในขณะบันดาลโทสะ  เนื่องจากถูกนายโก๋ข่มขืนกระทำชำเรานางสมศรีซึ่งเป็นภริยาของนายชัย  ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  และได้กระทำความผิดต่อนายโก๋ผู้ข่มเหงในขณะนั้น  (ขณะที่ได้ทราบว่านายโก๋ข่มขืนกระทำชำเราภริยาของตน)  ดังนั้นนายชัยจะได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา  72

กรณีของนายโก๋

การที่นายโก๋ยิงนายชัยได้รับบาดเจ็บ  ถือว่านายโก๋ได้กระทำความผิดต่อนายชัยโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  แต่เมื่อการกระทำของนายโก๋ได้ลงมือกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  นายโก๋จึงต้องรับผิดฐานพยายามฆ่านายชัย  ตามมาตรา  80  วรรคแรก  และการที่นายโก๋ยิงนายชัยและกระสุนปืนเลยไปถูกนางสมศรีถึงแก่ความตายนั้น  เป็นกรณีที่นายโก๋ได้กระทำโดยเจตนาต่อนายชัย  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่นางสมศรีโดยพลาดไป  ให้ถือว่านายโก๋ได้กระทำโดยเจตนาแก่นางสมศรีบุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำด้วยตามมาตรา  60 ดังนั้นนายโก๋จึงต้องรับผิดฐานฆ่านางสมศรีตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  60  โดยนายโก๋จะอ้างว่าการกระทำของตนเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้  เพราะนายโก๋เป็นผู้ก่อภัยขึ้นเอง

สรุป  นายชัยต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านายโก๋  แต่จะได้รับโทษน้อยลงตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80  และมาตรา  72

นายโก๋จะต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านายชัย  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80  และต้องรับผิดฐานฆ่านางสมศรีตายโดยเจตนาโดยพลาด  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  60

 

ข้อ  2  นายเอกใช้ปืนขู่ว่าจะยิงนางดวงดาวและ  ด.ญ.ตุ๊กตาให้ตาย  ถ้านายเชิดสามีของนางดวงดาวและบิดาของ  ด.ญ.ตุ๊กตาไม่ยิงนายศักดิ์ให้ตาย  นายเชิดไม่รู้จักนายศักดิ์เห็นนายสีเข้าใจว่าเป็นนายศักดิ์  จึงใช้ปืนยิงไปถูกนายสีถึงแก่ความตาย  ดังนี้  นายเอกและนายเชิดจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของนายเอกและนายเชิดจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายเอก

การที่นายเอกใช้ปืนขู่ว่าจะยิงนางดวงดาวและ  ด.ญ.ตุ๊กตาให้ตาย  ถ้านายเชิดสามีของนางดวงดาวและบิดาของ  ด.ญ.ตุ๊กตา  ไม่ยิงนายศักดิ์ให้ตายนั้น  การกระทำของนายเอกถือว่าเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการบังคับ  นายเอกจึงเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด  และเมื่อนายเชิดผู้ถูกใช้ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  นายเอกผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา  84

กรณีของนายเชิด

การที่นายเชิดใช้ปืนยิงนายสีถึงแก่ความตาย  การกระทำของนายเชิดต่อนายสี  ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้นตามมาตรา  59  วรรคสอง  และการที่นายเชิดต้องการยิงนายศักดิ์  แต่เห็นนายสีเข้าใจว่าเป็นนายศักดิ์  จึงยิงนายสีถึงแก่ความตายนั้น  นายเชิดจะอ้างความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้มีเจตนากระทำต่อนายสีไม่ได้  ตามมาตรา  61

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่นายเชิดใช้ปืนยิงนายสีนั้น  เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  เพราะเพื่อให้นางดวงดาวและ  ด.ญ.ตุ๊กตา พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  และเป็นภยันตรายที่ตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้น  ดังนั้นนายเชิดจึงได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรา  67(2)

สรุป  นายเอกต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดและต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84

นายเชิดต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  61  แต่นายเชิดไม่ต้องรับโทษตามมาตรา  67(2)

 

ข้อ  3  นายหล่อใช้นางสุดสวยภริยาให้ไปหยิบอาวุธปืนซึ่งตนบรรจุลูกกระสุนปืนไว้แล้วมาให้ตน  เพื่อจะใช้ยิงนายดำคู่อริกันซึ่งเดินผ่านเข้ามาในซอยพอดี  นางสุดสวยสงสารนายดำ  แต่ก็ไม่กล้าขัดใจนายหล่อ  จึงไปหยิบปืนแต่แอบเอาลูกกระสุนปืนออกหมด  นายหล่อเมื่อได้ปืนจากนางสุดสวยแล้ว  ได้ใช้ปืนนั้นยิงนายดำ  นายดำไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

ดังนี้  นายหล่อและนางสุดสวยจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  81  วรรคแรก  ผู้ใดกระทำการโดยมุ่งต่อผลซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด  แต่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้  เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำหรือเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ  ให้ถือว่าผู้นั้นพยายามกระทำความผิด  แต่ให้ลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายหล่อและนางสุดสวยจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายหล่อ

การที่นายหล่อใช้ปืนยิงนายดำ  การกระทำของนายหล่อเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  และเมื่อนายหล่อได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้  เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ  คือปืนที่ใช้ยิงนายดำนั้นไม่มีลูกกระสุน  ดังนั้นนายหล่อจึงต้องรับผิดฐานพยายามกระทำความผิดซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้  โดยจะต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้  สำหรับความผิดนั้น  ตามมาตรา  81  วรรคแรก

กรณีของนางสุดสวย

การที่นางสุดสวยได้ไปหยิบปืนให้แก่นายหล่อ  แต่ได้แอบเอาลูกกระสุนปืนออกหมดนั้น  ถือได้ว่า  นางสุดสวยไม่มีเจตนาที่จะช่วยเหลือให้นายหล่อกระทำความผิด  จึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86  ดังนั้นนางสุดสวยจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป  นายหล่อต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามกระทำความผิด  (พยายามฆ่า)  ซึ่งไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตามมาตรา  81  ส่วนนางสุดสวยไม่ต้องรับผิดทางอาญา

 

ข้อ  4  สุขโกรธแค้นกรด  สูขอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะฆ่ากรดหรือไม่  โจก็ต้องการฆ่ากรด  โจไม่ทราบว่าสุขโกรธแค้นกรดอยู่  โจได้ว่าจ้างให้สุขไปฆ่ากรด  สุขตกลงใจไปฆ่ากรดตามที่โจจ้าง  สุขไปหาจอนที่บ้าน  เพื่อขอยืมอาวุธปืนไปยิงกรด  สุขเห็นจอนกำลังทำความสะอาดอาวุธปืนอยู่พอดี  สุขได้บอกวัตถุประสงค์กับจอน  แต่จอนไม่ให้สุขยืมปืนและได้วางปืนไว้บนโต๊ะ  แล้วเดินเข้าไปข้างในบ้านเพื่อหยิบของ  สุขจึงหยิบเอาอาวุธปืนนั้นเพื่อไปยิงกรด  ระหว่างทางพบจุ๋ม  จุ๋มทราบว่าสุขจะไปยิงกรด  จึงพาสุขไปส่งที่บ้านกรด  และคอยสังเกตการณ์อยู่หน้าบ้านกรด  เมื่อสุขยิงกรดตายแล้วได้หลบหนีไปพร้อมกับจุ๋ม  ดังนี้  การกระทำของโจ  จอน  และจุ๋มได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของสุขในฐานะใด  และต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่สุขใช้ปืนยิงกรดตาย  ถือว่าสุขได้กระทำต่อกรดโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  สุขจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

สำหรับการกระทำของโจ  จอน  และจุ๋มได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของสุขในฐานะใด  และต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของโจ

การที่โจต้องการฆ่ากรด  แม้โจจะไม่ทราบว่าสุขโกรธแค้นกรดอยู่และอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะฆ่ากรดหรือไม่  เมื่อโจได้ว่าจ้างสุขให้ไปฆ่ากรด  และสุขตกลงใจไปฆ่ากรดตามที่โจจ้าง  ถือว่าโจได้ก่อให้สุขกระทำความผิดโดยการจ้าง  โจจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามมาตรา  84  และเมื่อสุขได้กระทำความผิดแล้ว  โจจึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ

กรณีของจอน

การที่สุขได้ไปขอยืมอาวุธปืนของจอน  แต่จอนไม่ให้ยืมปืนและได้วางปืนไว้บนโต๊ะ  เมื่อจอนเดินเข้าไปในบ้านสุขได้เอาอาวุธปืนไปยิงกรด  ดังนี้ถือได้ว่าจอนไม่มีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่สุขก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  จอนจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

กรณีของจุ๋ม

การที่จุ๋มทราบว่าสุขจะไปยิงกรด  จึงได้พาสุขไปส่งที่บ้านกรด  และเมื่อสุขยิงกรดตายแล้วได้หลบหนีไปพร้อมกับจุ๋ม  การกระทำของจุ๋ม  ถือว่า  จุ๋มได้มีเจตนาที่จะยิงกรดร่วมกันกับสุข  ดังนั้นจุ๋มจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการ  ตามมาตรา  83

สรุป  โจต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดและต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา  84

จอนไม่ต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

จุ๋มต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นตัวการ  ตามมาตรา  83

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 2/2555

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006  กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายนัทกลับบ้านมากลางดึก  ได้ทราบข่าวจากนางจอยที่เป็นภริยาว่า  โดเรม่อนน้องหมาที่เลี้ยงไว้มากัด  ด.ญ.ส้มจี๊ดที่เป็นลูกสาวได้รับบาดเจ็บที่ขาขวา  นายนัทโมโหมากตั้งใจว่าจะไม่อยู่ร่วมโลกกับโดเรม่อนอีกต่อไป   จึงนั่งรอโดเรม่อนกลับเข้ามาในบ้าน  เพราะโดเรม่อนได้หนีออกจากบ้านไปหลังจากกัด  ด.ญ.ส้มจี๊ด

ผ่านไปครู่ใหญ่  มีน้องหมาตัวหนึ่งลอดประตูรั้วบ้านเข้ามาคุ้ยเขี่ยกองขยะในถังขยะหน้าบ้านกินด้วยความหิวโหย

ในเวลานั้นเอง  นายนัทเดินไปที่รถเพื่อหยิบไม้กอล์ฟจากรถออกมาตีที่หัวน้องหมาตัวนั้นจนน้องหมาตายคาที่  ปรากฏว่า  น้องหมาตัวนั้นไม่ใช่โดเรม่อนของนายนัท  แต่เป็นน้องหมาโนปิตะของนายบอลที่เป็นเพื่อนบ้าน  โนปิตะมีสีและรูปร่างใกล้เคียงกับโดเรม่อนมาก 

ให้นักศึกษาวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายนัท  พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบการวินิจฉัย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  62  วรรคสอง  ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา  59  หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด  ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท  ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือในกรณีที่กฎหมายได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

การกระทำโดยเจตนา  ได้แก่การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น  แต่อย่างไรก็ตามถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้  คือจะถือว่าผู้กระทำได้กระทำโดยเจตนาไม่ได้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายนัทได้ใช้ไม้กอล์ฟตีน้องหมา  คือโนปิตะตายนั้นเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก  จึงถือว่าเป็นการกระทำทางอาญาแล้ว  แต่การกระทำดังกล่าวของนายนัทจะถือว่า  เป็นการกระทำโดยเจตนาหาได้ไม่  เพราะนายนัทได้กระทำโดยมิรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามมาตรา  59  วรรคสาม  คือไม่รู้ว่าน้องหมาที่ตนใช้ไม้กอล์ฟตีจนตายนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น  ไม่ใช่โดเรม่อนสุนัขของตนเอง  ดังนั้นนายนัทจึงไม่มีความรับผิดทางอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์  

องค์ประกอบของความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  358  คือ

1       ทำให้เสียหาย  ทำลาย  ทำให้เสื่อมค่า  หรือทำให้ไร้ประโยชน์

2       ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

และแม้ว่าการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดนั้น  ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของนายนัท  เนื่องจากนายนัทได้ตีโนปิตะซึ่งเป็นสุนัขของนายบอลตายนั้น  ได้กระทำโดยไม่ดูให้ดีว่าไม่ใช่โดเรม่อนสุนัขของตน  แต่นายนัทก็ไม่ต้องรับผิดฐานประมาททำให้เสียทรัพย์  เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การกระทำโดยประมาททำให้เสียทรัพย์นั้นเป็นความผิดแต่อย่างใด  ตามมาตรา  59  วรรคสี่  ประกอบกับมาตรา  62  วรรคสอง  ดังนั้นนายนัทจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญา

สรุป  นายนัทไม่มีความรับผิดทางอาญา 

 

ข้อ  2  แจ็คต้องการฆ่าแคนดี้  เพราะแคนดี้เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่สำคัญของแจ็ค  วันหนึ่งแจ็คเห็นน้ำตาลเดินมาเข้าใจว่าเป็นแคนดี้  จึงใช้ปืนขนาด  .38  มม.  ที่พกอยู่เป็นอาวุธเล็งปืนไปที่น้ำตาล  น้ำตาลตาไวเห็นทันพอดี  จึงตีลังกาหลบแจ็ค  ทำให้กระสุนไม่ถูกน้ำตาลเลย แต่กระสุนกลับเลยไปถูกขวัญได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย  ทำให้น้องหมาของแป๋มที่ขวัญอุ้มอยู่ตกลงไปในท่อจนตาย 

จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของแจ็คต่อผู้เสียหายทุกราย  พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  และวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่แจ็คต้องการฆ่าแคนดี้  เมื่อเห็นน้ำตาลเดินมาเข้าใจว่าเป็นแคนดี้  จึงใช้ปืนเล็งและยิงไปที่น้ำตาลโดยสำคัญผิดนั้น  การกระทำของแจ็คเป็นการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  แต่เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกน้ำตาล  จึงเป็นกรณีที่แจ็คได้ลงมือกระทำความผิดซึ่งได้กระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  คือน้ำตาลไม่ตายตามที่แจ็คต้องการ  แจ็งจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าน้ำตาล โดยสำคัญผิดในตัวบุคคล  ตามมาตรา  59  วรรคแรกและวรรคสอง  มาตรา  61  และมาตรา  80  วรรคแรก  แจ็คจะอ้างว่าได้กระทำเพราะเหตุสำคัญผิดว่า  น้ำตาลเป็นแคนดี้  เป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

การที่กระสุนปืนไม่ถูกน้ำตาล  แต่เลยไปถูกขวัญได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยนั้น  เป็นกรณีที่แจ็คได้กระทำโดยเจตนาต่อน้ำตาล  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ขวัญโดยพลาดไป  ให้ถือว่าแจ็คได้กระทำโดยเจตนาต่อขวัญ  บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำด้วย  ตามมาตรา  60  และเมื่อขวัญไม่ตายเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ  ดังนั้นแจ็คจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าขวัญโดยพลาดไป  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  ประกอบกับมาตรา  60  และมาตรา  80  วรรคแรก

ส่วนการที่กระสุนปืนไปถูกขวัญทำให้น้องหมาของแป๋ม  ที่ขวัญอุ้มอยู่ตกลงไปในท่อจนตายนั้น  แจ็คไม่ต้องรับผิดฐานทำให้เสียทรัพย์  เพราะมิใช่การกระทำโดยพลาดตามมาตรา  60  ทั้งนี้เพราะผลร้ายที่เกิดขึ้นโดยพลาดไม่ได้เป็นผลประเภทเดียวกับที่เจตนากระทำ  กล่าวคือเมื่อเป็นการกระทำโดยเจตนาต่อบุคคล  แต่ผลร้ายเกิดขึ้นกับทรัพย์  จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่าพลาด  แต่อย่างไรก็ดี  การกระทำของแจ็คเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่  จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทตามมาตรา  59  วรรคสี่  แต่แม้จะเป็นการกระทำโดยประมาท  แจ็คก็ไม่มีความผิด  เพราะการทำให้เสียทรัพย์โดยประมาทนั้น  ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดแต่อย่างใด

สรุป  แจ็คต้องรับผิดทางอาญา  ฐานพยายามฆ่าน้ำตาล

แจ็คต้องรับผิดทางอาญา  ฐานพยายามฆ่าขวัญ

แจ็คไม่ต้องรับผิดทางอาญา  ฐานทำให้เสียทรัพย์ของแป๋ม

 

ข้อ  3  นายอ่อนคนไทยทำงานอยู่ในเรือเดินทะเลของประเทศสิงคโปร์  ขณะเรือลำดังกล่าวแล่นอยู่ในเขตทะเลหลวง  นายอ่อนได้ใช้มีดแทงนายหม่องชาวพม่าตาย  เมื่อเรือลำดังกล่าวเข้าเทียบท่าที่ประเทศมาเลเซีย  นายอ่อนได้แอบหลบหนีเข้ามายังประเทศไทย  ดังนี้  จะดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศไทยได้หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  7  ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร  คือ

(1) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  107  ถึงมาตรา  129

(1/1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  135/1  มาตรา  135/2  มาตรา  135/3  และมาตรา  135/4

(2) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  240  ถึงมาตรา  249  มาตรา  254  มาตรา  256  มาตรา  257  และมาตรา  266(3) และ (4)

(2 ทวิ)  ความผิดเกี่ยวกับเพศ  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  282  และมาตรา  283

(3) ความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  339  และความผิดฐานปล้นทรัพย์  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  340  ซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ

(4)  ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290

วินิจฉัย

โดยหลัก  กฎหมายอาญาย่อมใช้บังคับแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในราชอาณาจักร  แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  7  และมาตรา  8  ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า  แม้การกระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร  แต่ผู้กระทำความผิดอาจต้องรับผิดและรับโทษในราชอาณาจักร

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายอ่อนคนไทยได้ใช้มีดแทงนายหม่องชาวพม่าตายในเรือเดินทะเลของประเทศสิงคโปร์  ขณะแล่นอยู่ในเขตทะเลหลวงนั้น  เมื่อนายอ่อนแอบหลบหนีเข้ามายังประเทศไทยจะดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศไทยได้หรือไม่  กรณีดังกล่าวจะเห็นได้ว่า  การกระทำความผิดของนายอ่อน  เป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และเมื่อความผิดนั้นมิใช่ความผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา  7(1) (2)  และแม้จะเป็นการกระทำความผิดซึ่งได้กระทำในทะเลหลวง  แต่ก็มิใช่ความผิดฐานชิงทรัพย์  หรือความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา  7(3)  ดังนั้นจึงดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศไทย  ตามมาตรา  7  ไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อความผิดที่นายอ่อนได้กระทำเป็นความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  และผู้กระทำความผิดเป็นคนไทย  ดังนั้นแม้จะได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  ถ้าผู้เสียหาย  (ผู้บุพการี  ผู้สืบสันดาน  หรือภริยาของนายหม่อง)  ได้ร้องขอให้ลงโทษ  ก็สามารถที่จะดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศได้ตามมาตรา  8(ก) (4)

สรุป  สามารถดำเนินคดีกับนายอ่อนในประเทศไทยได้  ถ้าผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษตามมาตรา  8(ก)  (4)

 

ข้อ  4  นายเอกต้องการฆ่านายหนึ่ง  นายเอกหลอกนายหาญว่านายหนึ่งจะมาฆ่านายหาญ  ซึ่งไม่เป็นความจริง  เพื่อให้นายหาญไปฆ่านายหนึ่ง  นายหาญหลงเชื่อนายเอกจึงตกลงใจว่าจะฆ่านายหนึ่งก่อน  นายหาญได้จ้างนายยอดไปฆ่านายหนึ่ง  นายยอดตามหาตัวนายหนึ่งอยู่  นายเก่งต้องการให้นายหนึ่งตายจึงจ้างนายจ้อยให้ไปบอกที่ซ่อนของนายหนึ่งให้นายยอดทราบ  เมื่อนายจ้อยบอกนายยอด  นายยอดตามหาตัวนายหนึ่งพบและใช้ปืนยิงนายหนึ่งตาย 

ดังนี้  นายยอด  นายเอก  นายหาญ  นายเก่ง  และนายจ้อย  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายยอด  นายเอก  นายหาญ  นายเก่ง  และนายจ้อย  ต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายยอด

การที่นายยอดใช้ปืนยิงนายหนึ่งตาย  ถือว่านายยอดได้กระทำต่อนายหนึ่งโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  ดังนั้นนายยอดจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

กรณีของนายหาญ

การที่นายหาญได้จ้างนายยอดให้ไปฆ่านายหนึ่ง  ถือว่าเป็นการ  “ก่อ”  ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการจ้างแล้ว  ดังนั้นนายหาญจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลง  คือนายยอดได้ฆ่านายหนึ่งตาย  นายหาญผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

กรณีของนายเอก

การที่นายเอกต้องการฆ่านายหนึ่ง  และได้หลอกนายหาญว่านายหนึ่งจะมาฆ่านายหาญ  ซึ่งไม่เป็นความจริง  เพื่อให้นายหาญไปฆ่านายหนึ่ง  ทำให้นายหาญหลงเชื่อจึงตกลงใจจะฆ่านายหนึ่งก่อน  โดยการจ้างให้นายยอดไปฆ่านายหนึ่งนั้น  การกระทำของนายเอกถือว่าเป็นการ  “ก่อ”  ให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยวิธีอื่นใด  ตามนัยของมาตรา  84  วรรคแรกแล้ว  เพราะการใช้หรือการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดนั้น  อาจจะเป็นการใช้กันเป็นทอดๆก็ได้  ดังนั้นนายเอกจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานเป็นผู้ใช้ตามมาตรา  84  วรรคแรก  และเมื่อความผิดที่ใช้ได้กระทำลง  คือนายยอดได้ฆ่านายหนึ่งตาย  นายเอกผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84  วรรคสอง

กรณีของนายจ้อย

การที่นายจ้อยได้บอกที่ซ่อนตัวของนายหนึ่งแก่นายยอด  ทำให้นายยอดหาตัวนายหนึ่งพบ  และใช้ปืนยิงนายหนึ่งตายนั้น  การกระทำของนายจ้อยถือว่า  เป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนกระทำความผิดแล้ว  ดังนั้น  เมื่อนายยอดฆ่านายหนึ่งตาย  นายจ้อยจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

กรณีของนายเก่ง

การที่นายเก่งต้องการให้นายหนึ่งตาย  จึงจ้างนายจ้อยให้ไปบอกที่ซ่อนของนายหนึ่ง  ให้นายยอดทราบนั้น  การกระทำของนายเก่งเป็นการใช้ผู้สนับสนุนคือนายจ้อย  ซึ่งโดยนัยของมาตรา  86  ก็ต้องถือว่าการกระทำของนายเก่งเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่นายยอดได้กระทำความผิดเช่นเดียวกัน  ดังนั้นนายเก่งจึงต้องรับผิดทางอาญา  ฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

สรุป

นายยอดต้องรับผิดทางอาญา  ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคแรก

นายเอกและนายหาญต้องรับผิดทางอาญา  ฐานเป็นผู้ใช้และต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84

นายเก่งและนายจ้อยต้องรับผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา  86

LAW 2006 กฎหมายอาญา 1 S/2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2555

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  หาญต้องการฆ่าพล  หาญเห็นพลนั่งอยู่  หาญชักปืนออกจากเอวยังไม่ทันยกปืนเล็งไปที่พล  นพเห็นเข้าจึงเข้าไปปัดปืนเพื่อช่วยพล  ปืนลั่นกระสุนไปถูกเก่งตาย  ดังนี้  หาญและนพต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  วรรคสามและวรรคสี่  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง  อันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

กระทำโดยประมาท  ได้แก่  กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  หาญและนพต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของหาญ 

การที่หาญต้องการฆ่าพล  และได้ชักปืนออกจากเอวแต่ยังไม่ได้ยกปืนเล็งไปที่พลนั้น  ถือว่าหาญยังไม่ได้ลงมือกระทำต่อพล  หาญจึงยังไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าพล  ดังนั้น  หาญจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อพล

แต่อย่างไรก็ตาม  ปืนเป็นอาวุธร้ายแรงซึ่งหาญต้องใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  การชักปืนออกมาของหาญเป็นการกระทำที่ปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาญก็มิได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  เมื่อผลไปเกิดกับเก่ง  จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทของหาญ  ตามมาตรา  59  วรรคสี่  และไม่ถือว่าผลที่เกิดขึ้นกับเก่งนั้น  เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  ตามมาตรา  60  ทั้งนี้เพราะหาญมิได้กระทำโดยเจตนาต่อนพ  และผลไปเกิดขึ้นกับเก่งโดยพลาดไปแต่อย่างใด  ดังนั้น  หาญจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่งเพราะได้กระทำโดยประมาท

กรณีของนพ 

การที่นพปัดปืนที่หาญชักออกมาจากเอวเพื่อช่วยพล  และทำให้ปืนลั่น  กระสุนไปถูกเก่งตายนั้น  นพไม่ได้กระทำโดยประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ  จึงไม่ถือว่านพมีเจตนากระทำต่อเก่ง  และการกระทำของนพถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์แล้ว  จึงไม่ถือว่านพได้กระทำโดยประมาทต่อเก่ง  ดังนั้นนพจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง

สรุป  หาญต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง  ฐานกระทำโดยประมาท  ส่วนนพไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเก่ง  เพราะมิได้กระทำโดยเจตนาหรือโดยประมาท

 

ข้อ  2  แสนและสดใสเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย  วันหนึ่งแสนกลับเข้าบ้านเปิดประตูห้องนอน  เห็นกล้ากับสดใสกำลังร่วมประเวณีกันโดยสดใสยินยอม  แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้าได้รับบาดเจ็บ  และกระสุนปืนยังทะลุฝาห้องไปถูกเฉิดโฉมที่นอนอยู่ห้องติดกันตาย  ดังนี้  แสนต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะยกเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดหรือรับโทษได้บ้าง

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การกระทำของแสนจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  วินิจฉัยได้ดังนี้

การที่แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้าได้รับบาดเจ็บในขณะที่กล้ากับสดใส  ภริยาของแสนกำลังร่วมประเวณีกันอยู่นั้น  การกระทำของแสนเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแสนจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งโดยหลักแล้ว  แสนจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การกระทำของแสนถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย  ซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย  อันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำของแสนจึงเป็นการกระทำที่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  แสนจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อกล้า  ตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  80

และเมื่อการที่แสนใช้อาวุธปืนยิงกล้านั้น  กระสุนปืนยังได้ทะลุฝาห้องไปถูกเฉิดโฉมที่นอนอยู่ในห้องติดกันตาย  การกระทำของแสนต่อเฉิดโฉมนั้นถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาโดยพลาดไป  ตามมาตรา  60  แต่เมื่อเจตนาตอนแรกของแสนนั้นเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  ผลที่เกิดขึ้นโดยพลาดไป  จึงเป็นผลที่เกิดจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  ตามมาตรา  60  ประกอบมาตรา  68  ดังนั้นแสนจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อเฉิดโฉม

สรุป  แสนไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อกล้าและเฉิดโฉม  เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  แม้นทำสวนทุเรียนมีช้างป่าเข้ามาทำลายต้นทุเรียนเพื่อกินผลทุเรียน  แม้นใช้ไม้ไล่ตีช้างป่า  ช้างป่าได้เข้ามาทำร้ายแม้น  แม้นวิ่งหนี  ช้างไล่ตาม  แม้นเห็นบ้านแจ้งซึ่งปิดประตูไว้  แม้นคิดว่าถ้าเข้าไปหลบซ่อนตัวในบ้านหลังนั้น  จะพ้นจากการถูกช้างทำร้าย  แม้นจึงพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้าน  แจ้งกลับมาเห็นแม้นพังประตูบ้านของตน  เข้าใจว่าเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์  จึงใช้ไม้ตีถูกแม้นได้รับบาดเจ็บ  ดังนี้  แม้นและแจ้งต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  และจะยกเหตุอะไรเพื่อไม่ต้องรับผิดหรือรับโทษอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  62  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  67  ผู้ใดกระทำผิดด้วยความจำเป็น

(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ  หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้

(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน 

ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้นและแจ้งจะต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่  แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของแม้น

การที่แม้นพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้านของแจ้ง  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแม้นจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาต่อทรัพย์ของแจ้ง  ตามมาตรา  59  วรรคสอง และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคแรก

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่แม้นพังประตูเพื่อเข้าไปในบ้านของแจ้งก็เพื่อให้พ้นจากการถูกช้างทำร้าย  การกระทำของแม้นจึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  เพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  ตามมาตรา  67(2)  ดังนั้น  แม้นจึงไม่ต้องรับโทษทางอาญา

กรณีของแจ้ง

การที่แจ้งใช้ไม้ตีถูกแม้นได้รับบาดเจ็บนั้น  เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  การกระทำของแจ้งจึงเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งโดยหลักแล้วจะต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา  59  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  การที่แจ้งใช้ไม้ตีแม้นนั้นเป็นเพราะว่าแจ้งสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่า  แม้นเป็นคนร้ายจะเข้าไปลักทรัพย์จึงได้กระทำเพื่อป้องกันตนเอง  ให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้าย  อันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  และแม้ว่าข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ดังนั้นแจ้งจึงไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อแม้นตามมาตรา  68  ประกอบมาตรา  62  วรรคแรก

สรุป  แม้นต้องรับผิดทางอาญาต่อแจ้ง  ฐานกระทำต่อทรัพย์โดยเจตนา  แต่ได้กระทำความผิดด้วยความจำเป็น  จึงไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น

แจ้งไม่ต้องรับผิดทางอาญาต่อแม้น  เพราะเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตนเองและเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  4  แดนต้องการฆ่ากร  แดนไปดักยิงกร  แดงเห็นกรเดินมา  แดนยกปืนเล็งไปที่กร  ก่อนลั่นไกปืน  แดนเห็นลูกของกรเดินตามหลังกร แดนเกิดความสงสารลูกของกรที่ต้องขาดพ่อ  จึงเก็บปืนไม่ยิง  ดังนี้  แดนต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท  หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด  แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  82  ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด  หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล  ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น  แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด  ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การที่แดนต้องการฆ่ากรและได้ยกปืนเล็งไปที่กรนั้น  ถือว่าแดนได้ลงมือกระทำต่อกรแล้ว  และเป็นการกระทำโดยเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  เพราะเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกัน  ผู้กระทำประสงค์ต่อผลของการกระทำนั้น  ดังนั้น  แดนจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อกร  ตามมาตรา  59  วรรคแรก  แต่เมื่อแดนได้เกิดความสงสารลูกของกรที่ต้องขาดพ่อ  จึงเก็บปืนไม่ยิงกร  การกระทำของแดนจึงเป็นการลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  แดนจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามกระทำความผิดต่อกร  ตามมาตรา  80

แต่อย่างไรก็ตาม  การลงมือกระทำความผิดของแดนที่ได้กระทำไปไม่ตลอดนั้น  เป็นเพราะแดนยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด  ดังนั้น  แดนจึงไม่ต้องรับโทษฐานพยายามกระทำความผิดนั้น  ตามมาตรา  82

สรุป  แดนต้องรับผิดทางอาญาต่อกรฐานพยายามกระทำความผิด  แต่แดนไม่ต้องรับโทษฐานพยายามกระทำความผิดนั้น  เพราะได้ยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด

WordPress Ads
error: Content is protected !!