การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2006 กฎหมายอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1 ขณะที่เครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กำลังลดระดับลงจอดที่สนามบินกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น สุขสมคนไทยได้ลอบใส่ยานอนหลับลงในแก้วของโทนี่ชาวอังกฤษที่ลุกไปเข้าห้องน้ำ เมื่อโทนี่กลับมานั่งที่เดิมได้ยกแก้วน้ำซึ่งมียานอนหลับผสมอยู่ขึ้นดื่ม หลังจากนั้นรู้สึกง่วงนอนและหลับไปโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อเครื่องบินลงจอดและเปิดประตูให้ผู้โดยสารลงโทนี่ไม่รู้สึกตัว
สุขสมจึงประคองโทนี่เดินลงจากเครื่องบินพาไปนั่งที่พักผู้โดยสาร สุขสมได้ถอดแหวนและนาฬิกาของโทนี่แล้วหลบหนีไป ต่อมาโทนี่และสุขสมกลับมาประเทศไทย โทนี่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับสุขสม ดังนี้ ศาลไทยมีอำนาจลงโทษสุขสมหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์”)
ธงคำตอบ
มาตรา 4 วรรคสอง การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร
มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และ
(ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ
ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
(9) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 337 ถึงมาตรา 340
วินิจฉัย
สุขสมคนไทยลอบนำยานอนหลับใส่ในแก้วน้ำของโทนี่คนอังกฤษต้องการให้โทนี่หลับเพื่อให้ความสะดวกแก่สุขสมที่จะเอาทรัพย์ของโทนี่ไป การกระทำของสุขสมเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามมาตรา 339 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพอทรัพย์นั้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์”
ตามปัญหา สุขสมลอบนำยานอนหลับใส่ลงในแก้วน้ำของโทนี่ เมื่อโทนี่ดื่มน้ำแล้วเป็นเหตุให้โทนี่อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของสุขสมเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย และสุขสมได้เอาทรัพย์สินของโทนี่ การกระทำของสุขสมเป็นการลักทรัพย์ เมื่อประกอบกันจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ความผิดฐานชิงทรัพย์ประกอบด้วยกรรมหลายกรรม คือ
(1) ลักทรัพย์
(2) การใช้กำลังประทุษร้ายหรือข่มขู่ว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย
การกระทำกรรมใดกรรมหนึ่งลงไปก็ถือได้ว่าลงมือกระทำความผิดแล้ว เช่น ใช้กำลังประทุษร้ายแล้วแม้จะไม่ทันได้ลักทรัพย์ก็ถือว่าลงมือกระทำความผิดแล้ว กรณีการกระทำความผิดในเรือหรืออากาศยานไทยไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร ตามมาตรา 4 วรรคสอง ดังนั้น ถึงแม้ว่าการกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งของความผิดเกิดขึ้นในอากาศยานไทยก็เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรแล้ว ตามปัญหา การใช้กำลังประทุษร้ายของสุขสมเกิดขึ้นในเครื่องของบริษัท การบินไทย จึงถือว่าสุขสมกระทำความผิดในราชอาณาจักร ศาลไทยมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดได้ หลังจากโทนี่หลับโดยไม่รู้สึกตัวสุขสมได้ประคองโทนี่ลงจากเครื่องบินรู้สึกตัวสุขสมได้ประคองโทนี่ลงจากเครื่องบินพาไปนั่งที่พักคนโดยสารแล้วสุขสมได้ลักทรัพย์ของโทนี่ ซึ่งเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร สุขสมคนไทยเป็นผู้กระทำความผิดและความผิดดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 8(9) เมื่อโทนี่ร้องขอศาลไทยมีอำนาจลงโทษได้
สรุป ศาลไทยมีอำนาจลงโทษได้ เพราะความผิดเกิดขึ้นในอากาศยานไทยจึงถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักรตามมาตรา 4 วรรคสอง หรือถ้าโทนี่ร้องขอศาลไทยมีอำนาจลงโทษได้ตามมาตรา 8(9)