การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW2006 กฎหมายอาญา 1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายอดิศรชาวไทยอยู่ที่ประเทศกัมพูชา  ได้จ้างนายจุ่นชาวกัมพูชาที่กัมพูชาให้ฆ่านายเล้งชาวจีนในประเทศไทย  นายจุ่นตกลงรับจ้างและเดินทางมาประเทศไทยเพื่อจะฆ่านายเล้ง  เมื่อนายจุ่นเดินทางเข้ามาในประเทศไทยและพบนายเล้งจำได้ว่าเป็นญาติกันจึงไม่ฆ่า  และบอกเรื่องให้นายเล้งทราบ

ดังนี้  นายอดศรและนายจุ่นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  6  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร  หรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร  แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน  ของผู้สนับสนุนหรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร  ก็ให้ถือว่าตัวการ  ผู้สนับสนุน  หรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา  8  ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  และ

(ก)  ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย  และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้น  หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษหรือ

ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้  จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร  คือ

(4) ความผิดต่อชีวิต  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  288  ถึงมาตรา  290

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

วินิจฉัย

ตามปัญหา  นายอดิศรชาวไทยอยู่ที่ประเทศกัมพูชา  ได้จ้างนายจุ่นชาวกัมพูชาที่กัมพูชาให้ฆ่านายเล้งชาวจีนในประเทศไทย  และนายจุ่นตกลงรับจ้าง  ดังนั้นนายอดิศรจึงเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดด้วยการจ้าง  นายอดิศรจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้นายจุ่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  เมื่อความผิดยังมิได้กระทำลงจึงต้องรับโทษเพียง  1  ใน  3  ของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม  ป.อ.  มาตรา  84  แต่เนื่องจากการใช้ให้กระทำความผิดได้กระทำนอกราชอาณาจักร  และไม่มีความผิดที่ได้กระทำในราชอาณาจักรจึงไม่อยู่ในบังคับของ  ป.อ. มาตรา  6  อย่างไรก็ตาม  เมื่อนายอดิศรเป็นคนไทยและได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร  คือ  เป็นผู้ใช้ให้นายจุ่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น  ซึ่งเป็นความผิดต่อชีวิต  และถ้านายเล้งผู้เสียหายได้ร้องขอศาลไทยให้ลงโทษนายอดิศรในราชอาณาจักรแล้ว  นายอดิศรจะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร ตาม  ป.อ.  มาตรา  8(4)

ส่วนนายจุ่น  เมื่อตกลงรับจ้างและเดินทางมาประเทศไทยเพื่อจะฆ่านายเล้ง  เมื่อพบนายเล้งแล้วจำได้ว่าเป็นญาติกันจึงไม่ฆ่าและบอกเรื่องให้นายเล้งทราบ  ดังนั้นจึงถือว่านายจุ่นยังไม่ได้กระทำความผิด  เพราะยังไม่ได้ลงมือกระทำ  เมื่อไม่ได้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษ

สรุป  นายอดิศรจะต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น  ส่วนนายจุ่นไม่ต้องรับดทษเพราะไม่ได้กระทำความผิด

 

ข้อ  2  นายเสริมศักดิ์และนางสมศรีเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมาย  นายเสริมศักดิ์ไปที่บ้านนางเกษรมารดาของนางสมศรีเห็นสร้อยคอทองคำของนางเกษรวางอยู่   นายเสริมศักดิ์เข้าใจว่าเป็นสร้อยคอทองคำของนางสมศรีภริยา  จึงหยิบสร้อยคอเส้นนั้นไปขายเอาเงินไปเล่นการพนัน

ดังนี้  นายเสริมศักดิ์จะต้องรับผิดและรับโทษทางอาญาอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิดผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  62  วรรคแรก  ข้อเท็จจริงใด  ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด  หรือทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง  แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด  หรือได้รับยกเว้นโทษ  หรือได้รับโทษน้อยลง  แล้วแต่กรณี

มาตรา  71  วรรคแรก  ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  334  ถึงมาตรา  336  วรรคแรก  และมาตรา  341  ถึงมาตรา  364  นั้น  ถ้าเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา  หรือภริยากระทำต่อสามี  ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ

วินิจฉัย

ตามปัญหา  นายเสริมศักดิ์ไปที่บ้านนางเกษรมารดาของนางสมศรีภริยา  เห็นสร้อยคอทองคำของนางเกษรวางอยู่จึงหยิบเอาสร้อยคอทองคำเส้นนั้นไปโดยเข้าใจว่า เป็นของนางสมศรีภริยา  นายเสริมศักดิ์มีเจตนาลักสร้อยคอทองคำเส้นนั้น  เพราะได้กระทำการลักทรัพย์โดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  คือ  รู้ว่าเป็นทรัพย์ของผู้อื่นแม้เป็นภริยาก็ถือว่าเป็นผู้อื่น  และในขณะเดียวกันนายเสริมศักดิ์ก็ประสงค์ต่อผล  คือ  สร้อยคอทองคำตาม  ป.อ.  มาตรา  59  วรรคสอง

นายเสริมศักดิ์จะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนาลักทรัพย์ของนางเกษรไม่ได้ตาม  ป.อ.  มาตรา  61  นายเสริมศักดิ์ต้องรับผิดฐานลักทรัพย์  แต่นายเสริมศักดิ์สำคัญผิดว่าเป็นสร้อยคอทองคำของนางสมศรีภริยาซึ่งถ้าเป็นไปตามความเข้าใจของนายเสริมศักดิ์  นายเสริมศักดิ์ไม่ต้องรับโทษตาม  ป.อ.  มาตรา  71  วรรคแรก

แต่ตามข้อเท็จจริงสร้อยคอทองคำของนางสาวสมศรีภริยาไม่มีอยู่จริง  เมื่อนายเสริมศักดิ์สำคัญผิดว่ามีอยู่จริง  นายเสริมศักดิ์ก็ไม่ต้องรับโทษตาม  ป.อ.  มาตรา  62  วรรคแรก

สรุป  นายเสริมศักดิ์มีความผิดทางอาญาแต่ไม่ต้องรับโทษ

 

ข้อ  3  นายยอดขับรถยนต์ตามรถยนต์ที่นายเอกขับอยู่ข้างหน้า  นายเอกหยุดรถกะทันหัน  รถยนต์ที่นายยอดขับมาชนท้ายรถยนต์ของนายเอก  นายยอดและนายเอกลงจากรถยนต์และโต้เถียงกัน  นายยอดชัดมีดออกแทงนายเอกในระยะกระชั้นชิด  นายเอกชักปืนออกยิงนายยอดลูกกระสุนปืนถูกนายยอดบาดเจ็บ  และลูกกระสุนปืนยังเลยไปถูกนางสวยภริยาของนายยอดที่นั่งอยู่ในรถยนต์ตาย  นายเอกตกใจแล้ววิ่งหนี  นายยอดวิ่งไล่ตามไปทันใช้มีดแทงนายเอกบาดเจ็บ

ดังนี้  นายเอกและนายยอดต้องรับผิดทางอาญาอย่างไร  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น  แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้น  เพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย  มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น

มาตรา  68  ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตน หรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย  และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุการกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นไม่มีความผิด

มาตรา  72  ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม  จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

วินิจฉัย

ตามปัญหา  นายยอดใช้มีดแทงนายเอกในระยะกระชั้นชิด  จึงถือได้ว่านายยอดได้ก่อภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง  ดังนั้นเมื่อนายเอกได้ใช้อาวุธปืนยิงนายยอด  นายเอกจึงกระทำต่อนายยอดโดยเจตนาตาม ป.อ.  มาตรา  59  วรรคสอง  แต่จำต้องกระทำเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ  จึงเป็นกรกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม  ป.อ. มาตรา  68  นายเอกจึงไม่มีความผิด  เมื่อผลของการกระทำได้เกิดกับนางสวยภริยานายยอดโดยพลาดไปตาม  มาตรา  60  ถือว่านายเอกกระทำโดยเจตนาต่อนางสวยเมื่อนายเอกเจตนาเพื่อป้องกันผลที่เกิดกับนางสวยจึงเป็นการกระทำป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเอกด้วย  ดังนั้นนายเอกจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายยอดและนางสวย  ส่วนการที่นายยอดได้ใช้มีดแทงนายเอก นายยอดเป็นผู้ก่อภยันตรายตอนแรกนายยอดเห็นนางสวยภริยาถูกลูกกระสุนปืนตาย  เป็นกรณีที่นายยอดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม  จึงวิ่งไล่ตามนายเอกไปพอทันกันได้ใช้มีดแทงนายเอก  ถือว่านายยอดเจตนากระทำต่อนายเอกตาม  มาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งได้กระทำไปเพราะบันดาลโทสะ  แต่ถึงแม้ว่านายยอดจะได้กระทำไปเพราะบันดาลโทสะก็ตาม  นายยอดจะอ้างเป็นเหตุลดหย่อนผ่อนโทษตาม  มาตรา  72  ไม่ได้  เพราะนายยอดเป็นผู้ก่อภัยตอนแรก

สรุป  นายเอกไม่ต้องรับผิดทางอาญาเพราะกระทำป้องกันโดยชองด้วยกฎหมาย  ส่วนนายยอดต้องรับผิดทางอาญาจะอ้างบันดาลโทสะเพื่อลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้ไม่ได้

 

ข้อ  4  นายโตต้องการฆ่านายใหญ่  นายโตหลอกนายน้อยว่า  นายใหญ่เป็นชู้กับนางเล็กภริยาของนายน้อย  เพื่อให้นายน้อยไปฆ่านายใหญ่  นายน้อยทราบเรื่องจากนายโตตกลงใจที่จะไปฆ่านายใหญ่  นายน้อยวางแผนว่าจะไปดักยิงนายใหญ่ขณะขับรถยนต์ไปทำงานตอนเช้า  นายน้อยได้เล่าแผนการให้นางเล็กภริยาของนายน้อยฟัง  นางเล็กเพียงรับทราบมิได้ออกความเห็นใดๆ  นางสาวแจ่มแอบได้ยินตอนนายน้อยเล่าให้นางเล็กฟัง  นางสาวแจ่มอยากให้นายใหญ่ตาย  พอถึงเวลานายน้อยไปดักยิงนายใหญ่  นางสาวแจ่มตามไปซุ่มดูอยู่บริเวณนั้นด้วย  เมื่อนายใหญ่ขับรถยนต์ออกจากบ้านและนายน้อยยกปืนเล็งไปยังนายใหญ่  นางสาวแจ่มได้แกล้งขับรถยนต์ตัดหน้ารถยนต์ของนายใหญ่  เพื่อให้นายใหญ่หยุดรถนายน้อยจะได้ยิงนายใหญ่ได้  นายน้อยยิงนายใหญ่ตาย

ดังนี้  นายโต  นางเล็ก  และนางสาวแจ่ม  จะต้องรับผิดในการกระทำของนายน้อยอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคแรก  วรรคสอง บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา 

กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ  และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  84  ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้  บังคับ  ขู่เข็ญ  จ้าง  วานหรือยุยงส่งเสริม  หรือด้วยวิธีอื่นใด  ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด

ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น  ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ  ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด  ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  86  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ  อันเป็นการช่วยเหลือ  หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน  หรือขณะกระทำความผิด  แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม  ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

วินิจฉัย

นายน้อยใช้อาวุธปืนยิงนายใหญ่ตาย  นายน้อยเจตนากระทำต่อนายใหญ่โดยประสงค์ต่อผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  นายน้อยต้องรับผิดในทางอาญาตาม  มาตรา  59  วรรคหนึ่ง  ตามปัญหา  นายโตหลอกนายน้อยว่านายใหญ่เป็นชู้กับนางเล็กภริยาของนายน้อยเพื่อให้นายน้อยไปฆ่านายใหญ่  นายโตได้ก่อให้นายน้อยกระทำความผิด  นายโตรับผิดฐานเป็นผู้ใช้  เมื่อนายน้อยใช้อาวุธปืนยิงนายใหญ่ตามที่นายโตก่อ  นายโตต้องรับโทษเสมือนตัวการตาม  มาตรา  84

นางเล็กรับทราบแผนการที่นายน้อยสามีเล่าให้ฟังโดยมิได้ออกความเห็นใดๆ  ไม่ถือว่านางเล็กช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายน้อยในการกระทำความผิด  นางเล็กจึงมิได้เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด  ตามมาตรา  86

นางสาวแจ่มอยากให้นายใหญ่ตาย  ได้แกล้งขับรถยนต์ตัดหน้ารถยนต์ของนายใหญ่เพื่อให้นายใหญ่หยุดรถ  นายน้อยจะได้ยิงนายใหญ่ได้  จึงถือว่านางสาวแจ่มให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายน้อยในการที่นายน้อยกระทำความผิดแม้จะเป็นเจตนาฝ่ายเดียวของนางสาวแจ่ม  (เพราะนายน้อยมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น)  ก็ตาม  นางสาวแจ่มก็จะต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม  มาตรา  86  นางสาวแจ่มไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการตาม  มาตรา  83  เพราะการกระทำความผิดที่จะเป็นตัวการตาม  มาตรา  83  จะต้องมีบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปร่วมกันกระทำโดยมีเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดด้วยกัน  (กล่าวคือ  จะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกัน และต่างถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย)  แต่ตามอุทาหรณ์  ปรากฏว่านายน้อยมิได้รู้ถึงเจตนาของนางสาวแจ่ม  ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่า  นายน้อยและนางสาวแจ่มเป็นตัวการร่วมกันฆ่านายใหญ่

สรุป  นายโตต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้  แต่เมื่อนายน้อยได้กระทำความผิดแล้ว  นายโตจึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ  ตามมาตรา  84

นางเล็กไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด  จึงไม่ต้องรับผิด  นางสาวแจ่มต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน  ตามมาตรา  86

Advertisement