LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายลาดเสนอขอเอาประกันภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  โดยพนักงานของบริษัทอุตสาหะประกันภัย จำกัด  ได้จดแจ้งจำนวนเบี้ยประกันภัยลงในใบเสนอขอเอาประกันภัยและในใบเสนอขอเอาประกันภัยมีข้อความว่า  ยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆจนกว่าบริษัทจะยอมรับคำขอเอาประกันนี้  และได้ชำระเบี้ยประกันเต็มจำนวนแล้ว  ต่อมาบริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด ได้ส่งกรมธรรม์ประกันภัยไปให้นายฉลาดพร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งว่าเมื่อได้รับกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว  ให้นายฉลาดส่งเบี้ยประกันภัยไปยังบริษัททันที  

อีกหนึ่งอาทิตย์ต่อมาปรากฏว่าเกิดวินาศภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  แต่นายฉลาดยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัย  ดังนี้  นายฉลาดเรียกร้องให้บริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  ใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่บริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  ปฏิเสธการจ่ายอ้างว่าสัญญายังไม่เกิดขึ้น เพราะนายฉลาดยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัย  จงวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของบริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  และนายฉลาดมีสิทธิฟ้องเรียกให้บริษัทฯ  ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  861  อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น  หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคต  ดังได้ระบุไว้ในสัญญา  และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า  เบี้ยประกันภัย

มาตรา  867  วรรคแรก  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง  ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ  ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหามีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย

ประเด็นที่  1

การที่บริษัทอุตสาหะประกันภัย  จำกัด  ปฏิเสธการใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยอ้างว่าสัญญายังไม่เกิดขึ้น  เพราะนายฉลาดยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันภัยนั้น  เห็นว่า  ตามอุทาหรณ์  การที่นายฉลาดยื่นคำขอเอาประกัน  จนกระทั่งบริษัทฯ  ออกกรมธรรม์ให้แก่นายฉลาดแล้ว  เมื่อพิจารณาตามกฎหมายเรื่องสัญญาคำขอเอาประกันของนายฉลาดถือเท่ากับเป็นคำเสนอ  ส่วนกรมธรรม์ถือว่าเป็นคำสนอง  ดังนั้นสัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นแล้ว  ส่วนการที่นายฉลาดยังไม่ได้ชำระเบี้ยประกันเป็นเรื่องของการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาตามมาตรา  861  ซึ่งเบี้ยประกันภัยเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติหลังจากที่เกิดสัญญาขึ้น  ถือว่านายฉลาดเป็นลูกหนี้ของบริษัท

ดังนั้นการจะพิจารณาว่า  สัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่  ต้องพิจารณาจากคำเสนอและคำสนอง  ไม่ได้พิจารณาจากการที่ผู้เอาประกันต้องชำระหนี้คือจ่ายเบี้ยประกันให้บริษัทแล้วสัญญาจึงจะเกิดขึ้น  ส่วนการที่ใบเสนอขอเอาประกันภัยมีข้อความว่า  ยังไม่มีความรับผิดชอบใดๆจนกว่าบริษัทจะยอมรับคำขอเอาประกันนี้  และได้ชำระเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวนแล้ว  ก็ไม่พอฟังเป็นเงื่อนไขว่า  สัญญาจะมีผลใช้บังคับต่อเมื่อนายฉลาดส่งเบี้ยประกันภัยถูกต้องตามกำหนดแล้ว  เพราะข้อความดังกล่าวมิได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย  จึงไม่ถือว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนหรือเงื่อนไขแห่งความรับผิดแต่อย่างใด  (เทียบคำพิพากษาฎีกา  1306/2514)

ประเด็นที่  2

นายฉลาดมีสิทธิฟ้องเรียกให้บริษัทฯ  ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่เมื่อสัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้วต่างฝ่ายต่างมีหนี้ตามสัญญา  หนี้ของบริษัทฯ  คือใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีวินาศภัยมีขึ้น  ตามอุทาหรณ์  ปรากฏว่าเกิดวินาศภัยตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์  บริษัทจึงมีหน้าที่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายฉลาด  แต่นายฉลาดจะมีสิทธิเรียกให้บริษัทฯ  ใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ก็ต่อเมื่อนายฉลาดต้องชำระหนี้ของตนคือจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทก่อนตามมาตรา  369  เพราะสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาต่างตอบแทน  ดังเห็นได้จากความหมายในมาตรา  861

ส่วนการฟ้องเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อนายฉลาดได้ปฏิบัติตามมาตรา  369  แล้ว  เป็นการฟ้องให้บริษัทฯปฏิบัติตามสัญญา  จึงเป็นการฟ้องบังคับคดี  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทออกกรมธรรม์ให้นายลาดแล้ว  นายฉลาดจึงนำเอากรมธรรม์  มาฟ้องบังคับคดีได้ เพราะกรมธรรม์คือหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดคือบริษัทฯตามมาตรา  867  วรรคแรก

สรุป  ข้อต่อสู้ของบริษัท  ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  และนายฉลาดมีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท  เมื่อชำระเบี้ยประกันให้บริษัทเสียก่อนโดยเอากรมธรรม์มาฟ้อง  (เทียบฎีกาที่  1306/2514)

 

ข้อ  2  นายเสริมได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันภัย  มีกำหนดตามสัญญา  1  ปี  กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย  500,000  บาท  ปรากฏว่าในระหว่างอายุสัญญา  ฐานะครอบครัวของนายเสริมยากจนลง  เนื่องจากธุรกิจของนายเสริมประสบภาวะขาดทุน  นางศรีภริยาของนายเสริมทราบว่านายเสริมได้ประกันอัคคีภัยบ้านไว้  จึงแกล้งวางเผลิงเผาบ้าน  เพื่อให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน  500,000  บาท  ดังนี้  บริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่  ประการใด

ธงคำตอบ

มาตรา  861  อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น  หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคต  ดังได้ระบุไว้ในสัญญา  และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า  เบี้ยประกันภัย

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเสริม  จำนวน  500,000  บาท  เพราะการกระทำของนางศรีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  879  แม้นางศรีจะเป็นภริยาของนายเสริม  แต่นางศรีไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยและไม่ได้เป็นผู้รับประโยชน์  ดังนั้นเมื่ออัคคีภัยอันเป็นภัยที่ระบุไว้ในสัญญาเกิดขึ้น  แม้นางศรีจะแกล้งวางเพลิงเผาบ้านเพื่อหวังได้เงินเอาประกันก็ตาม  บริษัทประกันภัยก็ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่นายเสริม  ตานัยมาตรา  861

สรุป  บริษัทประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน  500,000  ให้แก่นายเสริม

 

ข้อ  3  นายแดงได้ทำสัญญาประกันชีวิตนางดำภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายไว้กับบริษัทประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  3  ล้านบาท  สัญญามีกำหนด  5  ปี  โดยระบุให้ตนเองและนาบเหลืองบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์ร่วมกัน  ซึ่งทั้งคู่ก็ได้เข้าถือเอาประโยชน์เรียบร้อยแล้ว  ต่อมาอีก  3  ปี  นายแดงไปได้นางเขียวเป็นภริยาอีกคนหนึ่งทำให้นางดำโกรธมากจึงเกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง  นางดำจึงไปหยิบปืนของนายแดงมาหวังจะยิงนายแดงให้ตาย  นายเหลืองบุตรชายเห็นและเข้าไปห้ามปรามนายเหลืองจึงทำปืนลั่นถูกนางดำตาย  ศาลได้พิพากษาจำคุกนายเหลือง  1  ปี  ฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนา  หลังจากนั้นทั้งนายแดงและนายเหลืองได้ไปขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะเป็นผู้รับประโยชน์ร่วมกัน  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทจะจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่ใคร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา  พิจารณาบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้  คือ

1       นายแดง  เป็นผู้เอาประกันชีวิตและเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาฯ

2       นางดำ  เป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิต

3       นายเหลือง  เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาฯ

นายแดงกับนางดำเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายแดงจึงสามารถเอาประกันชีวิตของนางดำได้  เพราะมีเหตุแห่งส่วนได้เสียตามมาตรา  863  สัญญาจึงมีผลผูกพัน  เมื่อนางดำตายบริษัทต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้กับนายแดงตามมาตรา  895  วรรคแรก  เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  895 (1)  หรือ  (2)  ส่วนกรณีที่นายเหลืองได้ทำปืนลั่นถูกนางดำมารดาตาย  และศาลพิพากษาให้จำคุก  1  ปี  ฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนานั้น  ก็ไม่ได้เป็นกรณีที่ผู้รับประโยชน์ได้ฆ่าผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตายโตยเจตนาตามมาตรา  895(2)  ดังนั้นนายเหลืองจึงยังคงมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์ได้เช่นเดียวกับนายแดงผู้เป็นบิดา

สรุป  บริษัทประกันชีวิต  ขำกัด  ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่นายแดงและนายเหลือง

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  นายเอกได้ตกลงซื้อรถยนต์จากนายโทในราคา  1  ล้านบาท  โดยนายเอกได้ชำระมัดจำไว้เป็นจำนวนเงิน  2  แสนบาท  ในวันที่ทำสัญญาซื้อขายคือวันที่  10  มกราคม  2551  ส่วนที่เหลือจะชำระให้หมดในวันที่นายโทนัดส่งมอบ  พร้อมกับไปโอนทะเบียนรถยนต์คือในวันที่  25  มกราคม  2551  ในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการส่งมอบรถและโอนทะเบียนกันนั้น  ปรากฏว่าสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่นายโททำไว้ได้หมดอายุลง  นายเอกจึงได้ไปทำสัญญาประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันภัยจำกัด  ในวันที่  22  มกราคม  2551  จำนวนเงินที่เอาประกัน  8  แสนบาท  ระยะเวลาตามกรมธรรม์  1  ปี  โดยระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ต่อมาวันที่  30  มกราคม  2551  รถยนต์ที่ได้เอาประกันภัยไว้ประสบอุบัติเหตุรุนแรงเสียหายคิดเป็นเงิน 5  แสนบาท  นายเอกจึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทผู้รับประกันภัย  บริษัทฯปฏิเสธการจ่าย  โดยอ้างว่านายเอกไม่มีส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาประกันภัย  เพราะยังไม่ได้ส่งมอบรถและโอนทะเบียนรถยนต์กันกับนายโท  ดังนี้จงวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของบริษัทฯ  รับฟังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  862  ตามข้อความในลักษณะนี้

คำว่า  ผู้รับประกันภัย  ท่านหมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้

คำว่า  ผู้เอาประกันภัย”  ท่านหมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

คำว่า  ผู้รับประโยชน์  ท่านหมายความว่า  บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้

อนึ่ง  ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น  จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

วรรคท้าย  ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

วินิจฉัย

การที่นายเอกได้ตกลงซื้อรถยนต์จากนายโทในวันที่  10  มกราคม  2551  นั้น  ถือว่า  เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์เสร็จเด็ดขาด  จึงมีผลให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวโอนไปเป็นของนายเอกผู้ซื้อตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขาย  ตามมาตรา  458  ทั้งนี้แม้จะไม่มีการโอนจดทะเบียนก็ตาม  เพราะการโอนทะเบียนรถยนต์ตามกฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนรถยนต์  เป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่จะควบคุมยานพาหนะและภาษีรถยนต์เท่านั้น  ไม่กระทบถึงกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินที่ได้โอนไปแล้วแต่อย่างใด (ฏ. 60/2524)  ดังนั้นนายเอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นเจ้าของรถยนต์ทันที  ต่อมาในวันที่  22  มกราคม  2551  นายเอกได้นำรถยนต์ไปทำสัญญาประกันภัย  จึงถือได้ว่าในขณะทำสัญญาประกันภัย  นายเอกเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยสัญญาจึงมีผลผูกพันผู้รับประกันตามกฎหมาย  ตามมาตรา  863  เมื่อนายเอกผู้เอาประกันภัยมิได้กำหนดตัวผู้รับประโยชน์ไว้เป็นอย่างอื่น  จึงต้องถือว่านายเอกเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาดังกล่าวด้วย  ตามมาตรา  862  ดังนั้นบริษัทฯ  จึงต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้นายเอกตามที่ได้เสียหายจริง  คือ  5  แสนบาท  ซึ่งไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันฯ  ตามมาตรา  877 (1)  และวรรคท้าย  ข้ออ้างของบริษัทผู้รับประกันภัยฟังไม่ขึ้นแต่อย่างใด

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฯรับฟังไม่ได้

 

ข้อ  2  เมื่อวันที่  9  ธันวาคม  2535  นายดำทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนราคา  4 ล้านบาท  ไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  วงเงินเอาประกัน  3  ล้านบาท  กำหนดเบี้ยประกันภัย  5  หมื่นบาทโดยคู่สัญญากำหนดเวลาเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยไว้ในวันที่  3  มกราคม  2536  ครั้นวันที่  28  ธันวาคม  2535  นายดำเปลี่ยนใจไม่ต้องการทำสัญญาประกันภัย  ดังนี้  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้หรือไม่  และบริษัทประกันภัยมีสิทธิอย่างไร  เพราเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  872  ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย  ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาประกันวินาศภัยรายนี้ทำไว้ในวันที่  9  ธันวาคม  2535  แต่สัญญามีผลบังคับวันที่  3  มกราคม  2536  ดังนั้นก่อนเริ่มเสี่ยงภัยคือก่อนวันที่สัญญามีผลบังคับ  คือวันที่  28  ธันวาคม  2535  นายดำผู้เอาประกันภัยจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  872  แต่นายดำต้องเสียเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่งคือ  25,000   บาท  ให้แก่บริษัทประกันวินาศภัย

สรุป  นายดำมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้  และบริษัทประกันภัยมีสิทธิได้เบี้ยประกันครึ่งหนึ่ง

 

ข้อ  3  นายขวดนำนางแก้วภริยาไปทำสัญญาเอาประกันชีวิตแบบอาศัยความมรณะกับบริษัทประกันชีวิตในวงเงิน  500,000  บาท  ตามระเบียบบริษัทฯ  การทำประกันในวงเงินไม่เกิน  500,000  บาท  ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ  หลังจากทำสัญญาประกันแล้ว  1  ปี  นางแก้วป่วยเป็นโรคหัวใจรั่วต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง  ต่อมาอีก  1  ปี  นางแก้วถึงแก่กรรม  นายขวดผู้รับประโยชน์จึงยื่นคำขอรับเงิน  500,000  บาท บริษัทประกันชีวิตปฏิเสธการจ่ายเงินโดยใช้สิทธิตามมาตรา  865  อ้างว่านางแก้วป่วยเป็นโรคร้ายแรง  ไม่แจ้งให้บริษัทฯทราบ  จึงบอกล้างสัญญาประกัน  ดังนี้  ข้ออ้างของบริษัทประกันชีวิตรับฟังได้หรือไม่  นายขวดมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้หรือไม่  เพราะเหตุใด  

ธงคำตอบ

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา  หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

จากหลักกฎหมายในมาตรา  865  กำหนดให้ผู้เอาประกันเปิดเผยข้อความจริง  ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันให้เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันนั้น  ต้องกระทำในเวลาทำสัญญาประกันภัย  กล่าวคือ  ต้องเปิดเผยความจริงก่อนวันทำสัญญาหรืออย่างช้าที่สุดก็วันทำสัญญาประกันซึ่งหากผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามนี้แล้ว  สัญญาประกันภัยย่อมตกเป็นโมฆียะ  บริษัทประกันภัยสามารถบอกล้างสัญญาได้

กรณีตามปัญหา  ก่อนมีการทำสัญญาประกันชีวิตรายนี้  ไม่ปรากฏว่านางแก้วได้ปกปิดความจริงในเรื่องสุขภาพของตนแต่ประการใด  อาการป่วยของนางแก้วได้เกิดขึ้นภายหลังการทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว  สัญญาประกันชีวิตรายนี้จึงสมบูรณทุกประการ  นางแก้วไม่จำต้องแจ้งเหตุการณ์เจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายหลังทำสัญญาประกันชีวิตให้บริษัทประกันชีวิตทราบ  บริษัทฯ  ไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้ ข้ออ้างของบริษัทฯ  จึงรับฟังไม่ได้  นายขวดผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิได้รับเงิน  500,000  บาท  ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทฯ  รับฟังไม่ได้  และนายขวดมีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาประกันชีวิต

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ 

ข้อ  1  นายโด่งรู้ว่าตนป่วยเป็นโรคถุงลมพองเรื้อรังมานานเป็นปี  ต่อมานายโงทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้เป็นเวลา  20  ปี  กับบริษัท  สยามประกันชีวิต  จำกัด  วงเงิน  1  ล้านบาท  แต่นายโด่งไม่เปิดเผยให้บริษัทประกันทราบ  และแพทย์ผู้ตรวจร่างกายก็ไม่ได้ฉายเอกซเรย์  ทำให้บริษัท  สยามประกันชีวิตฯรับทำสัญญาของนายโงโดยพิจารณาจากรายงานของแพทย์ว่านายโงสุขภาพปกติ  ซึ่งถ้าบริษัทสยามประกันชีวิตฯ  รู้ว่านายโด่งเป็นโรคถุงลมพองก็จะเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก  ปีต่อมานับแต่วันทำสัญญา  นายโด่งเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมพอง  บริษัท  สยามประกันชีวิตฯ  จึงได้ทราบว่านายโด่งปกปิดโรคดังกล่าวและได้บอกล้างภายใน  1  เดือนนับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้  แต่นางแดง  ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์อ้างว่าบริษัท  สยามประกันชีวิตประมาทเลินเล่อ  ไม่ใช้ความระมัดระวังในการรับประกัน เพราะถ้ามีการฉายเอกซเรย์ก็จะรู้ว่านายโงเป็นโรคถุงลมพอง  ดังนี้  อยากทราบว่า  ข้ออ้างของนางแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  866  ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา  865  นั้นก็ดี  หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี  หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี  ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า  การที่แพทย์ผู้ตรวจร่างกายของนายโด่งไม่ได้ฉายเอกซเรย์  ถือว่า  บริษัทสยามประกันชีวิต  จำกัด  ควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังพึงคาดหมายได้เช่นวิญญูชนหรือไม่  เห็นว่า

โรคถุงลมพอง  เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดและอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้  โรคถุงลมพองจึงเป็นโรคที่มีความสำคัญอันอาจถือเป็นเหตุให้ผู้รับประกันชีวิตบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตผู้ขอเอาประกันได้  ถ้าผู้รับประกันชีวิตได้ทราบข้อความจริงนี้มาก่อน  การที่ผู้เอาประกันรู้ตัวดีว่าป่วยเป็นโรคถุงลมพองเรื้อรังมานานปีแต่ไม่เปิดเผยให้บริษัทประกันทราบ  จึงเป็นการละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริง  ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันทำไว้กับบริษัทฯ  จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา  865  วรรคแรก

ส่วนการตรวจโรคถุงลมพองโดยวิธีธรรมดาจะพบยาก  นอกจากฉายเอกซเรย์หรือใช้สีฉีดเข้าไปในปอดแล้วฉายเอกซเรย์  แต่เมื่อนายโด่งผู้เอาประกันปกปิดมิได้แจ้งเรื่องที่ตนป่วยเป็นโรคนี้ให้แพทย์ผู้ตรวจสุขภาพทราบ  ก็ไม่มีเหตุที่แพทย์จะต้องฉายเอกซเรย์ตรวจดูถุงลมของผู้เอาประกันเพราะไม่อาจรู้ได้ว่าผู้เอาประกันเป็นโรคถุงลมพอง  การรับประกันชีวิตของบริษัท  สยามประกันชีวิต  จำกัด  ก็พิจารณาจากรายงานของแพทย์ประกอบกับคำขอเอาประกัน  เช่นนี้จะฟังว่าผู้รับประกันชีวิตประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังในการรับประกันเช่นวิญญูชนไม่ได้  เพราะถือว่าบริษัทฯ  ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว  กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา  866  (ฎ. 1076/2520)

สรุป  ข้ออ้างของนางแดงผู้รับประโยชน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ

 

ข้อ  2  นายแดงได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านของตนไว้กับบริษัทประกันภัยจำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  สัญญากำหนด  1  ปี ระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์  ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย  นางส้มจีนมารดาของนายแดงซึ่งป่วยเป็นโรคข้ออักเสบได้มาพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้ด้วย  เนื่องจากที่บ้านยุงชุมมาก  นางส้มจีนจึงได้จุดยากันยุงไล่และจุดทิ้งไว้ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจึงทำให้ไฟไหม้บ้านหมดทั้งหลัง  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันอัคคีภัยบ้านให้กับนายแดงหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

วรรคท้าย  ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงเอาประกันอัคคีภัยบ้านของตนถือว่าเป็นผู้มีเหตุแห่งส่วนได้เสียตามมาตรา  863  สัญญาจึงมีผลผูกพัน และเมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา  (อัคคีภัย)  บริษัทผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาให้กับนายแดงตามมาตรา  877(1)  และวรรคท้าย  ในฐานะที่เป็นทั้งผู้เอาประกันและเป็นผู้รับประโยชน์  เพราะวินาศภัยที่เกิดขึ้นนั้น  ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายแดง  จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  879 วรรคแรก

สรุป  ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมให้แก่นายแดง

 

ข้อ  3  นายทรพาเอาประกันชีวิต  1  ล้านบาทในเหตุมรณะกับบริษัทประกันภัยในวันที่  1  พฤษภาคม  2549  สัญญามีกำหนด  10  ปี  โดยระบุให้นายทรพีบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์  วันที่  1  พฤษภาคม  2551  นายทรพีอยากได้เงินประกันชีวิต  จึงวางแผนทำร้ายร่างกายนายทรพาโดยใช้ปืนยิงนายทรพาที่ขาได้รับอันตรายสาหัส  นายทรพาน้อยใจที่นายทรพีบุตรชายทำร้ายตน  จึงกินยาพิษจนถึงแก่ความตาย  นายทรพีมาขอรีบเงินประกันชีวิต  1  ล้านบาท  ดังนี้  บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินประกันชีวิตให้แก่นายทรพีหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายทรพีผู้รับประโยชน์วางแผนทำร้ายนายทรพาโดยใช้ปืนยิงถูกนายทรพาที่ขาได้รับอันตรายสาหัส  ถือว่าผู้รับประโยชน์มีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เอาประกันให้ได้รับอันตรายสาหัสแต่มิได้มีเจตนาฆ่า  (ฎ.  1006/2501)  จึงไม่ใช่เป็นกรณีถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา  895 (2)และเมื่อนายทรพาน้อยใจกินยาพิษจนถึงแก่ความตาย  เป็นการฆ่าตัวตายด้วยใจสมัคร  แต่เลยเวลา  1  ปีนับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่บริษัทประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา  895(1)

สรุป  บริษัทประกันภัยต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิต  1  ล้านบาท  ให้แก่นายทรพีผู้รับประโยชน์

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย สอบซ่อม 1/2551

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1.       เอกได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตจำกัด จำนวนเงินที่เอาประกัน 1 ล้านบาท สัญญากำหนด 10 ปี ระบุให้โทซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกันมากเป็นผู้รับประโยชน์ ซึ่งก่อนทำสัญญาประกันชีวิต เอกมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี แต่หลังจากทำสัญญาไปได้ 1 ปี เขาก็ป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ จึงได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาโทว่าควรที่จะแจ้งให้บริษัททราบดีหรือไม่ และมีความเห็นตรงกันว่าไม่ต้องแจ้ง และทั้งคู่ได้ปกปิดเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ ต่อมาอีก 2 ปี เอกก็เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจวาย โทจึงไปขอรับเงินจากบริษัท แต่บริษัท   ไม่จ่าย โดยอ้างว่า
1.               โทไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับเอก จึงไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันชีวิตนี้ และ2.               โทได้ปกปิดความจริงเกี่ยวกับการที่เอกป่วยเป็นโรคมะเร็งที่ตับ ทั้ง ๆ ที่ทราบดีแต่ไม่แจ้งให้บริษัททราบ จึงทำให้สัญญาเป็นโมฆียะ และได้บอกล้างจงวินิจฉัยว่าข้ออ้างของบริษัททั้ง 2 ข้อ ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

 แนวคำตอบ  หลักกฎหมาย

ป.พ.พ. มาตรา 862, 863, 865, 889, 890

 วินิจฉัย  เอกได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกัน สัญญามีผลผูกพันตามมาตรา 863 ฉะนั้นเมื่อมีมรณภัยเกิดขึ้นตามเหตุแห่งมาตรา 889 บริษัทจึงต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา คือ 1 ล้านบาท ตามมาตรา 890 เพราะสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวไม่ตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 865 เนื่องจากในเวลาทำสัญญานั้น เอกไม่ทราบว่าตนป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ แต่เขาทราบหลังจากทำสัญญาแล้ว สัญญาจึงสมบูรณ์ แม้ว่าจะเสียชีวิตด้วยโรคใด บริษัทก็ปฏิเสธไม่ได้ ส่วนที่บริษัทอ้างว่าโทไม่มีความสัมพันธ์ใด ๆ กับเอกนั้น ก็อ้างไม่ได้ เพราะโทเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ มีสิทธิที่จะได้รับจำนวนเงินใช้ให้ตามสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น ตามมาตรา 862 จึงไม่ต้องมีส่วนได้เสียตามมาตรา 863 แต่อย่างใด และก็ไม่ต้องเปิดเผยข้อความจริงตามมาตรา 865 เพราะไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ดังกล่าว สัญญาไม่เป็นโมฆียะ และบริษัทไม่มีสิทธิบอกล้าง และต้องจ่ายเงิน 1 ล้านบาทให้แก่โทตามสัญญา

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ 1.       นายอังคารจดทะเบียนสมรสกับนางศุกร์  นางศุกร์เอาประกันชีวิตนายอังคารไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่งแบบอาศัยความมรณะ  จำนวนเงินเอาประกันหนึ่งแสนบาท มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี อีก 10 ปีต่อมา  นายอังคารจดทะเบียนหย่าขาดจากนางศุกร์  หลังจากนั้นอีก 1 เดือน  นายอังคารถึงแก่ความตาย เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์  นางศุกร์ยื่นขอรับเงินประกันหนึ่งแสนบาท  แต่บริษัทประกันปฏิเสธการจ่ายอ้างว่าก.  สัญญาไม่ผูกพัน เพราะส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นหมดสิ้นไป  โดยเหตุที่นางศุกร์และนายอังคารไม่ได้เป็นคู่สมรสกันแล้ว  เนื่องจากหย่าขาดจากกัน

ข.   การที่นางศุกร์ได้หย่าขาดจากนายอังคารแล้ว นางศุกร์จึงเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้ เพราะนางศุกร์ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายอังคารอีกต่อไป

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยทั้งสองประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 863 บัญญัติว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

ก.  สัญญาประกันภัยมีผลผูกพันคู่สัญญาหรือไม่ต้องใช้มาตรา 863 ดูเรื่องส่วนได้เสียฯ จากคำถามเป็นการประกันชีวิตผู้อื่น เมื่อพิจารณาตัวผู้เอาประกันภัย คือ นางศุกร์ จะเห็นได้ว่า มีความสัมพันธ์ในฐานะคู่สมรส ทั้งนี้เพราะนางศุกร์มีสิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่อชีวิตของนายอังคารสามีที่ได้มาเอาประกันไว้กับบริษัทผู้รับประกันและประการสำคัญส่วนได้เสียฯ ผู้เอาประกันต้องมีในขณะทำสัญญาด้วย เมื่อขณะทำสัญญา นางศุกร์มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายอังคาร เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้หย่า สัญญาจึงมีผลผูกพัน แม้ต่อมาส่วนได้เสียฯ จะหมดสิ้นไปเพราะหย่าขาดจากกัน ก็ไม่ทำให้สัญญามีผลผูกพันตั้งแต่ต้นกลายเป็นสัญญาที่ไม่ผูกพันในภายหลัง ดังนั้นข้ออ้างของบริษัทประกันที่ว่าสัญญาไม่ผูกพันจึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข.  ประเด็นข้อกฎหมายคือ นางศุกร์เป็นผู้รับประโยชน์ได้หรือไม่ ตามมาตรา 863 จะเห็นได้ว่าผู้ซึ่งต้องมีส่วนได้เสียก็แต่เฉพาะผู้เอาประกันภัยเท่านั้น กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าผู้รับประโยชน์ต้องมีส่วนได้เสียแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นผู้รับประโยชน์จะเป็นใครก็ได้ถึงแม้ไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยก็เป็นผู้รับประโยชน์ได้ ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าการที่นางศุกร์ได้หย่าขาดจากนายอังคารแล้ว นางศุกร์จึงเป็นผู้รับประโยชน์ไม่ได้ เพราะนางศุกร์ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายอังคารอีกต่อไป จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2.       สมชายได้นำรถบรรทุกของตนไปทำสัญญาประกันภัยวินาศภัยไว้กับบริษัทประกันภัยจำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน 5 แสนบาท และในขณะเดียวกัน  สมชายก็ได้เอาประกันภัยในความรับผิดชอบเกี่ยวกับการใช้รถ  คันนี้ (ประกันภัยค้ำจุน)  ไว้กับบริษัทเดียวกันอีกกรมธรรม์หนึ่งด้วย จำนวนเงินที่เอาประกัน 4 แสนบาท กำหนดระยะเวลาในการทำสัญญา 1 ปี  หลังจากทำสัญญาได้ 5 เดือน  สมชายได้สั่งให้สมศักดิ์ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถคันดังกล่าว  ซึ่งบรรทุกสินค้าไปส่งให้กับลูกค้าที่จังหวัดอุดรธานี  หลังจากส่งของเสร็จสมศักดิ์ได้ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อแซงทางโค้งชนกับรถบรรทุกของสมพงษ์ซึ่งวิ่งสวนทางมา  ทำให้สมศักดิ์ได้รับบาดเจ็บสาหัส เสียค่ารักษาพยาบาลคิดเป็นเงิน 1 แสนบาท  และรถบรรทุกของสมชายก็เสียหายด้วย คิดเป็นเงิน 3 แสนบาท  ส่วนรถของสมพงษ์ก็เสียหายเช่นกัน คิดเป็นเงิน 1 แสนบาท  จงวินิจฉัยว่า บริษัทประกันภัยจำกัดจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับใคร อย่างไร หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  862  วรรคท้าย  อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น  จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวก็ได้

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ 

(1)          เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผุ้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเรื่องความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

มาตรา  887  วรรคแรก  อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น  คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ 

วินิจฉัย

สมชายได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยรถยนต์บรรทุกของตนเอง สมชายย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย สัญญาจึงมีผลผูกพันตามมาตรา 863 และเมื่อเขาไม่ได้ระบุไว้ให้ใครเป็นผู้รับประโยชน์ สมชายจึงเป็นผู้รับประโยชน์เองตามมาตรา 862 วรรคท้าย ซึ่งบริษัทจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยให้กับสมชายดังนี้

1.  จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สมชายตามสัญญาประกันวินาศภัย กรณีที่รถยนต์บรรทุกของเขาเสียหายคิดเป็นเงิน 3 แสนบาท ตามมาตรา 877 (1) ประกอบวรรคท้าย

2.  จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับสมพงษ์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน กรณีรถของสมพงษ์เสียหายคิดเป็นเงิน 1 แสนบาท ตามมาตรา 887 ประกอบมาตรา 877 (1) และวรรคท้าย

3.  จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับสมศักดิ์ที่บาดเจ็บสาหัสเป็นเงินอีก 1 แสนบาท ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ตามมาตรา 887 ประกอบมาตรา 877 (1) และวรรคท้าย

ทั้งนี้เพราะวินาศภัยที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์จึงไม่เข้ากรณียกเว้นความรับผิดของบริษัทตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง

 

ข้อ 3.   นางสมปองได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง      ในสัญญาระบุให้นางสาวสมใจบุตรสาวเป็นผู้รับประโยชน์  ต่อมาภายในอายุสัญญาประกัน  นางสมปองได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง  นางสาวสมใจบุตรสาวเป็นคนดูแลรักษาพยาบาล  ได้หยิบยาผิดขวดให้นางสมปองกินจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ดังนี้ นางสาวสมใจผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตหรือไม่       เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895  เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

วินิจฉัย

ข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันชีวิตไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตประการหนึ่งตามมาตรา  895 (2)  คือ  ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  ซึ่งหมายความว่าเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล  หากมีเพียงเจตนาทำร้าย หรือเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนา

นางสาวสมใจผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตได้ตามมาตรา 889, 890  เพราะนางสาวสมใจไม่ได้ฆ่าผู้เอาประกันตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 (2)  การหยิบยาผิดขวดให้ผู้เอาประกันชีวิตกินนั้นยังไม่ถือว่ามีเจตนาฆ่า

สรุป  นางสาวสมใจมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิต

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายกล้าเป็นข้าราชการบำนาญ  มีรถเก๋งอยู่คันหนึ่งแต่ไม่ค่อยได้ใช้  จึงให้นายเก่งลูกชายขับไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง  และในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์  นายกล้าจึงได้ใช้ขับไปทำบุญที่วัด  นายเก่งกลัวว่ารถที่ตนใช้อยู่เป็นประจำจะถูกขโมย  จึงได้นำรถคันดังกล่าวไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทบางกอกประกันภัย  จำกัด  ในวงเงิน  3  แสนบาท  สัญญากำหนด  1  ปี  ระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์  หลังจากทำสัญญาได้  4  เดือน  นายกล้าก็ป่วยเป็นโรคหัวใจวายตาย  นายเก่งจึงได้รับมรดกทั้งหมดรวมทั้งรถเก๋งคันที่เอาประกันนั้นด้วย  22  เดือนต่อมา  นายเก่งได้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหายเป็นเงิน  2  แสนบาท นายเก่งจึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัย  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทบางกอกประกันภัย  จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้นายเก่งหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย

(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ

อันจำนวนวินาศจริงนั้น  ท่านให้ตีราคา  ณ  สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น  อนึ่ง  จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น

ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  สัญญาประกันภัย  ไม่ว่าจะเป็นสัญญาประกันวินาศภัยหรือสัญญาประกันชีวิต  ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย  สัญญาประกันวินาศภัยหรือสัญญาประกันชีวิตนั้นย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญา  ตามมาตรา  863  กล่าวคือ  สิทธิและหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

สำหรับส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยนี้  คงพิจารณาเฉพาะในขณะเมื่อทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น  หากปรากฏว่าในขณะทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียแล้ว  สัญญาประกันภัยย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญา

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  บริษัทบางกอกประกันภัย  จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเก่งหรือไม่  เห็นว่า  ในขณะที่ทำสัญญาประกันวินาศภัยนั้น  นายเก่งยังไม่มีส่วนได้เสียในรถคันนั้นแต่อย่างใด  เนื่องจากรถยังเป็นของนายกล้าผู้เป็นบิดาอยู่  แม้นายกล้าจะให้นายเก่งใช้สอยได้ก็หาทำให้นายเก่งมีส่วนได้เสียในรถนั้นไม่  เมื่อนายเก่งผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในรถซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย  สัญญาประกันวินาศภัยนั้นย่อมไม่ผูกพันนายเก่ง  ตามมาตรา  863

และถึงแม้ว่าต่อมานายกล้าตายลง  จะทำให้นายเก่งได้เป็นเจ้าของรถคันนั้นโดยทางมรดก  แต่หาทำให้สัญญาประกันภัยซึ่งไม่ผูกพันคู่สัญญามาตั้งแต่แรก  กลับมามีผลผูกพันแต่อย่างใด  เพราะเหตุแห่งส่วนได้เสียนั้นพิจารณาในขณะทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น  เมื่อในขณะทำสัญญาประกันภัย  นายเก่งไม่มีส่วนได้เสีย  แม้ภายหลังต่อมานายเก่งจะมีส่วนได้เสีย  สัญญาประกันภัยก็ไม่มีผลผูกพัน  ตามมาตรา 863  ดังนั้นการที่วินาศภัยเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกัน  บริษัทบางกอกประกันภัย  จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  877

สรุป    บริษัทบางกอกประกันภัย  ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  877

 

ข้อ  2  นายแสงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์  ราคา  1  ล้านบาท  ได้นำรถนี้ไปทำประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถของตนเอง  วงเงินเอาประกัน  8  แสนบาท  ในระหว่างอายุสัญญา  นายซิ่งทำละเมิดขับรถชนท้ายเป็นเหตุให้รถของนายแสงเสียหายเป็นจำนวน  2  แสนบาท ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยจ้างนายเก่งเจ้าของอู่ดำเนินการซ่อมแซมรถจนกระทั่งส่งมอบรถคืนให้นายแสงเรียบร้อยแล้ว  บริษัทประกันภัยจึงเรียกร้องให้นายซิ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทประกัน  แต่นายซิ่งปฏิเสธการจ่ายเงิน  อยากทราบว่าบริษัทประกันภัยต้องฟ้องนายซิ่งภายในอายุความ  1  ปี  ตามกฎหมายละเมิดมาตรา  448  หรือ  2  ปี  ตามกฎหมายประกันภัยมาตรา  882  ให้ยกหลักกฎหมายประกอบการอธิบาย

ธงคำตอบ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

มาตรา  882  วรรคแรก  ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับแต่วันวินาศภัย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  บริษัทประกันภัยจะต้องฟ้องนายซิ่งภายในอายุความ  1  ปี  ตามกฎหมายละเมิด  มาตรา 448  หรือ  2  ปี   ตามกฎหมายประกันภัย  มาตรา  882  ดังนี้  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่รถของนายแสงเกิดความเสียหายนั้น  เกิดจากการกระทำละเมิดของบุคคลภายนอก  คือ  นายซิ่ง  และบริษัทประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว  โดยให้นายเก่งเจ้าของอู่ทำการซ่อมแซมทำให้บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายซิ่งโดยการรับช่วงสิทธิ  ซึ่งการรับช่วงสิทธิกรณีนี้เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  880  วรรคแรกจะเห็นว่า  การรับช่วงสิทธิของผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิเท่าที่ผู้เอาประกันภัยมีต่อบุคคลภายนอก  ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเพียงใด  ผู้รับประกันภัยก็รับช่วงสิทธิเพียงนั้น  จะใช้สิทธิเกินไปกว่าสิทธิของผู้เอาประกันภัยหาได้ไม่  ดังนั้นถ้าผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกในอายุความอย่างใด  ผู้รับประกันภัยก็ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบุคคลภายนอกภายในอายุความอย่างเดียวกัน  ซึ่งในกรณีนี้ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดภายในอายุความ  1  ปี  นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่ไม่เกิน  10  ปี  นับแต่วันทำละเมิด  ตามมาตรา  448  วรรคแรก  บริษัทประกันภัยจึงมีสิทธิฟ้องนายซิ่งภายในอายุความ  1  ปีด้วย  ส่วนอายุความ  2  ปี  ตามมาตรา  882  เป็นอายุความสำหรับการเรียกค่าสินไหมทดแทนโดยอาศัยสัญญาประกันภัย  ซึ่งหมายถึงการเรียกร้องระหว่างคู่สัญญาคือ  ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยเท่านั้น  จึงไม่อาจนำมาใช้กับการรับช่วงสิทธิที่ผู้รับประกันภัยจะเรียกร้องจากบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่สัญญาได้  (ฎ.5813/2539 และ ฎ. 2425/2538)

สรุป  บริษัทประกันภัยต้องฟ้องนายซิ่งภายในอายุความ  1  ปี  ตามกฎหมายละเมิด  มาตรา  448

 

ข้อ  3  นายทรหดได้ทำสัญญาเอาประกันชีวิตของตนในเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  เป็นจำนวน  1  ล้านบาท  โดยนายทรหดได้ปกปิดเรื่องที่ตนป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวอยู่  บริษัทประกันชีวิตไม่ทราบความจริงเรื่องนี้เลย  จึงได้ทำสัญญารับประกันไว้  ต่อมานายทรหดได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคหวัดนก  ภายหลังได้ทำสัญญาประกันชีวิตมาแล้ว  6  ปี  บริษัทประกันชีวิตจึงทราบความจริงที่นายทรหดป่วยเป็นโรคมะเร็งก่อนทำสัญญาประกันชีวิต  จึงบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้  จงวินิจฉัยว่า  บริษัทประกันชีวิตมีสิทธิบอกล้างสัญญาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา  หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายทรหดปกปิดเรื่องที่ตนป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดเลือดขาวนั้น  เป็นการปกปิดความจริงในขณะทำสัญญาประกันชีวิต  ตามมาตรา  865  วรรคแรก  ข้อที่นายทรหดปกปิดนี้เห็นได้แน่ชัดว่าเป็นข้อสำคัญซึ่งถ้านายทรหดไม่ปกปิดและแถลงความจริงให้กับบริษัทประกันชีวิตทราบแล้ว  บริษัทประกันชีวิตจะต้องบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตอย่างแน่นอน  เพราะโรคดังกล่าวเป็นโรคร้ายแรงอันเป็นอันตรายต่อชีวิตได้  สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตั้งแต่ขณะทำสัญญา  ตามมาตรา  865  วรรคแรก  แม้จะปรากฏภายหลังว่า  นายทรหดได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคหวัดนกซึ่งมิใช่โรคที่นายทรหดได้ปกปิดก็ตาม  ก็ไม่ทำให้สัญญาที่ตกเป็นโมฆียะตั้งแต่แรกนั้นเปลี่ยนแปลงมาสมบูรณ์แต่อย่างใด  บริษัทประกันชีวิตจึงมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิตนี้ได้

อย่างไรก็ตาม  บทบัญญัติมาตรา  865  วรรคสอง  ได้กำหนดว่า  ผู้รับประกันชีวิตจะต้องบอกล้างสัญญาประกันชีวิตที่เป็นโมฆียะนั้นภายใน  1  เดือน  นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้  หรือภายในกำหนด  5  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  มิฉะนั้นสิทธิบอกล้างย่อมเป็นอันระงับสิ้นไป  กรณีนี้การทำสัญญาประกันชีวิตได้ล่วงเลยมาเป็นเวลา  6  ปีแล้ว  เกิดกำหนดเวลาที่จะบอกล้างได้  ดังนั้น  บริษัทประกันชีวิตจึงหมดสิทธิในการบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้  ตามมาตรา  865  วรรคสอง

สรุป  บริษัทประกันชีวิตไม่มีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิต

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย S/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแตงทำสัญญาประกันชีวิตตนเองแบบอาศัยความมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  กำหนดเวลา  20  ปี  วงเงินเอาประกัน  2  แสนบาท  ระบุให้นางกล้วยมารดาเป็นผู้รับประโยชน์ในขณะทำสัญญานายแตงรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคต้อตา  แต่ไม่ได้แจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบ  หลังจากทำสัญญาไปได้  4  ปี  นายแตงตายด้วยโรคมะเร็ง  บริษัทประกันภัยมีสิทธิบอกล้างไม่จ่ายเงินประกัน  2  แสนบาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การที่นายแตงรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคต้อตา  แต่ไม่ได้แจ้งให้บริษัทประกันชีวิตทราบ  บริษัทประกันชีวิตจะมีสิทธิบอกล้างสัญญาประกันชีวิต  และไม่จ่ายเงินประกันให้แก่ผู้รับประโยชน์ได้หรือไม่  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  ถ้าผู้เอาประกันภัยรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริง  ซึ่งอาจจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา  สัญญาประกันชีวิตจึงจะตกเป็นโมฆียะ  ซึ่งผู้รับประกันภัยมีสิทธิบอกล้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามสัญญาได้ตามมาตรา  865  วรรคแรก การที่นายแตงรู้อยู่แล้วว่าตนเองเป็นโรคต้อตาแต่ไม่ได้แจ้งให้บริษัทฯทราบนั้น  โรคต้อตาไม่ถือว่าเป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับตาที่มีอันตรายร้ายแรงถึงขนาดอนุมานได้ว่า  ถ้านายแตงผู้เอาประกันภัยได้แจ้งเช่นนั้นแล้ว  ผู้รับประกันชีวิตจะบอกปัดไม่รับประกันชีวิต  หรือจะเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้น  ดังนั้น  แม้นายแตงจะมิได้แจ้งให้บริษัทฯทราบก็ไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆียะ

ส่วนการที่นายแตงตายด้วยโรคมะเร็งซึ่งเป็นโรคร้ายนั้น  เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายแตงรู้ว่าตนป่วยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน  แม้นายแตงจะถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง  ก็จะถือว่านายแตงละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจูงใจให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาไม่ได้

เมื่อสัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์  บริษัทประกันชีวิตไม่มีสิทธิบอกล้าง  การที่นายแตงถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง  บริษัทฯจึงต้องจ่ายเงินประกัน  2  แสนบาทให้แก่นางกล้วยผู้รับประโยชน์ ฎ. 3728/2530

สรุป  บริษัทประกันภัยไม่มีสิทธิบอกล้าง  จึงต้องจ่ายเงินประกัน  2  แสนบาทให้แก่นางกล้วยผู้รับประโยชน์

 

ข้อ  2  นายแก้วเอาบ้านของตนประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  ต่อมาภายในอายุสัญญาประกัน  นายขวดบุตรของนายแก้วจุดไฟเผาบ้านหลังนี้ไหม้หมดทั้งหลังเพื่อประท้วงนายแก้วบิดาที่ไม่ยอมซื้อรถมอเตอร์ไซค์ให้  ดังนี้  นายแก้วเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ 

(1)          เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

วรรคท้าย  ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเรื่องความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแก้วเอาบ้านของตนประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  กรณีเช่นนี้ถือว่านายแก้วเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัย  ตามมาตรา  863  สัญญาประกันวินาศภัยจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  เมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา (อัคคีภัย)  บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยให้กับนายแก้วหรือไม่  เห็นว่า  มาตรา  879  นั้นเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย  จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า  บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้  หากปรากฏว่าวินาศภัยที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำโดยทุจริต  หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์เท่านั้น  (ฎ. 1720/2534)  ถ้าเป็นความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลอื่น  แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สักเพียงใดก็ตาม  ก็ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิดไปได้  (ฎ.4830/2537)

เมื่อข้อเท็จจริงในกรณีนี้ปรากฏว่า  นายขวดผู้จุดไฟเผาบ้านที่เอาประกันภัย  ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์  ส่วนนายแก้วบิดาของนายขวดก็ไม่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าสนับสนุนหรือใช้ให้นายขวดเผาบ้านที่เอาประกัน  จึงถือไม่ได้ว่าไฟไหม้บ้านที่เอาประกันไว้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์  กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา  879  วรรคแรก  ที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  ดังนั้น  บริษัทประกันภัยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายแก้วผู้เอาประกันภัย  ตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกินวงเงินที่เอาประกันภัยไว้  ตามมาตรา  877 (1) และวรรคท้าย

สรุป  นายแก้วมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาได้ 

 

ข้อ  3  นายเอกได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  ระบุให้นายโทบุตรชายคนโตเป็นผู้รับประโยชน์  และนายเอกได้มอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับนายโท  นายโทจึงโทรศัพท์แจ้งไปยังบริษัทประกันชีวิตว่าตนแสดงความจำนงจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญานี้  ต่อมานายโทประพฤติตนไม่เหมาะสม  นายเอกจึงมีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกันชีวิตว่าขอโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ให้แก่นายตรีบุตรชายคนเล็ก  บริษัทประกันชีวิตตอบรับทราบ  เมื่อนายเอกถึงแก่ความตาย  ภายในอายุสัญญาประกันชีวิต  อยากทราบว่า  บริษัทประกันชีวิตจะต้องจ่ายเงินเอาประกันให้แก่นายโทหรือนายตรี  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  891  วรรคแรก  แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี  ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้  เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว  และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  891  วรรคแรกนั้น  แม้ผู้เอาประกันชีวิตจะได้กำหนดตัวผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตไว้แล้ว  ผู้เอาประกันชีวิตก็ยังมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์ตามสัญญานั้นให้บุคคลอื่นได้  (โอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันชีวิตในการที่จะได้รับชดใช้เงินที่เอาประกันภัย)  เว้นแต่จะเข้าเงื่อนไขทั้ง  2  ประการต่อไปนี้  ผู้เอาประกันชีวิตไม่มีสิทธิโอนประโยชน์ให้แก่ผู้ใดอีก  คือ

1       ได้ส่งมอบกรมธรรม์นั้นให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และ

2       ผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น

กรณีตามอุทาหรณ์  แม้นายเอกจะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้กับนายโทผู้รับประโยชน์ไปแล้วก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า  นายโทโทรศัพท์ไปแจ้งให้บริษัทประกันชีวิตทราบว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญาประกันชีวิตเท่านั้น  หาได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังบริษัทผู้รับประกันชีวิตว่าตนจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ไม่  กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  891 วรรคแรก  สิทธิการโอนประโยชน์ของนายเอกผู้เอาประกันชีวิตจึงยังไม่หมดไป  เมื่อนายเอกได้บอกกล่าวการโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตรายนี้ให้แก่นายตรี  และบริษัทประกันชีวิตตอบรับทราบแล้ว  เมื่อนายเอกถึงแก่ความตายภายในอายุสัญญาประกันชีวิต  บริษัทประกันชีวิตจึงต้องจ่ายเงินเอาประกันให้แก่นายตรีผู้รับประโยชน์

สรุป  บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงินเอาประกันให้แก่นายตรี

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 1/2552

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเอกได้เอาประกันชีวิต  1  ล้านบาท  ในเหตุมรณะกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในวันที่  1  มกราคม  2547  มีกำหนดสัญญา  5  ปี  ระบุให้นายโทเป็นผู้รับประโยชน์  โดยนายเอกไม่เปิดเผยเรื่องที่ตนเป็นโรคไส้เลื่อนให้บริษัทประกันภัยทราบ  ในวันที่  1  มกราคม  2550  นายเอกถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง  ต่อมาบริษัทประกันภัยทราบเรื่องว่านายเอกไม่เปิดเผยความจริงเมื่อวันที่  31  ธันวาคม  2551  อันเป็นวันครบกำหนดสัญญาจึงรีบบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้  ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  865  ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย  ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี  รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้  ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี  หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี  ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายเอกทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  ย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน  สัญญาประกันชีวิตย่อมมีผลผูกพันตามมาตรา  863

การที่นายเอกซึ่งเป็นผู้เอาประกันชีวิตรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตามมาตรา  865  วรรคแรกนั้น  จะต้องเป็นข้อความจริงที่มีลักษณะสำคัญถึงขนาดว่าอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก  หรือบอกปัดไม่ทำสัญญา

แต่จากข้อเท็จจริง  แม้นายเอกไม่เปิดเผยเรื่องที่ตนเป็นโรคไส้เลื่อนให้บริษัทประกันภัยทราบก็ตาม  แต่โรคไส้เลื่อนมิใช่เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง  เมื่อผ่าตัดแล้วอาจหายได้  ยังไม่ถึงขนาดที่ว่าถ้านายเอกแจ้งความจริงนี้แล้ว  บริษัทประกันภัยจะบอกปัดไม่รับทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้นตามมาตรา  865  วรรคแรก  ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตฉบับนี้จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ไม่เป็นโมฆียะ บริษัทประกันภัยไม่สามารถบอกล้างสัญญาฉบับนี้ได้  ต้องชำระเงินประกันชีวิต  1  ล้านบาทให้แก่นายโทผู้รับประโยชน์ตามมาตรา  890  (ฎ. 715/2513)

เมื่อสัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะ  กรณีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเรื่องกำหนดเวลา  1  เดือน  นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างหรือกำหนด  5  ปี  นับแต่วันทำสัญญาตามมาตรา  865  วรรคสองแต่อย่างใด

สรุป  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยต้องชำระเงินประกันชีวิต  1  ล้านบาท  ให้แก่นายโทผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต

 

ข้อ  2  นายรวยเจ้าของโรงงานทอผ้าได้เอาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง  ต่อมานายรวยไล่นายมอมลูกจ้างออกเพราะติดยาบ้า  นายมอมโกรธแค้นมากจึงลอบวางเพลิงเผาโรงงานนี้  แต่คนงานอื่นเห็น  ได้ช่วยกันดับไฟจึงไม่ไหม้  นายรวยเห็นว่านายมอมคงไม่กล้าทำอีกเพราะได้แจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว  จึงไม่จ้างยามมาเฝ้าและไม่จัดหาเครื่องดับเพลิงมาไว้ในโรงงาน  ปรากฏว่าในระหว่างอายุสัญญา  นายมอมย้อนกลับมาเผาโรงงานนี้อีกครั้งในเวลากลางคืน  เพลิงไหม้โรงงานหมด  นายรวยเรียกให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  แต่บริษัทประกันปฏิเสธอ้างว่านายรวยประมาท  เนื่องจากไม่จ้างยามและไม่หาเครื่องดับเพลิงมาเตรียมไว้เพื่อป้องกันภัย

จงวินิจฉัยว่า  บริษัทประกันต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  877  ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ 

(1)          เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง

วรรคท้าย  ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้

มาตรา  879  วรรคแรก  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเรื่องความวินาศภัย  หรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายรวยเอาโรงงานทอผ้าของตนทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง  กรณีเช่นนี้ถือว่านายรวยเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยตามมาตรา  863  สัญญาประกันวินาศภัยจึงมีผลผูกพันคู่สัญญา

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  เมื่อมีภัยเกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในสัญญา  (อัคคีภัย)  บริษัทผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยให้กับนายแก้วหรือไม่  เห็นว่า  มาตรา  879  นั้น  เป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย  จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า  บริษัทผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธไม่ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยได้  หากปรากฏว่าวินาศภัยที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำโดยทุจริตหรือเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์เท่านั้น (ฎ. 1720/2534)  ถ้าเป็นความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลอื่นๆ  แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์สักเพียงใดก็ตาม  ก็ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิดไปได้ (ฎ. 4830/2537)

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  การที่โรงงานทอผ้าของนายรวยผู้เอาประกันภัยถูกวางเพลิงมาแล้วครั้งหนึ่ง  แต่นายรวยไม่จ้างยามและไม่หาเครื่องดับเพลิงมาเตรียมไว้เพื่อป้องกันภัย  ทำให้นายมอมย้อนกลับมาเผาโรงงานที่เอาประกันภัยไว้จนไหม้หมดนั้นเป็นเพียงความประมาทเลินเล่ออย่างธรรมดาหรือประมาทเลินเล่อตามปกติธรรมดาของปุถุชน  ยังไม่ถึงขั้นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยจะปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา  879  วรรคแรก  ดังนั้นบริษัทวินาศภัยยังคงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายรวยตามจำนวนความเสียหายที่แท้จริง  แต่ไม่เกินจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ตามมาตรา  87  วรรคแรก (1)  ประกอบวรรคท้าย (ฎ. 1742/2520)

สรุป  บริษัทประกันวินาศภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายรวย

 

ข้อ  3  หนึ่งได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งความทรงชีพ  ในวันที่  1  มกราคม  2551  ไว้กับบริษัทประกันชีวิต  จำกัด  จำนวนเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  สัญญากำหนด  5  ปี  ระบุให้สองบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์  หลังจากทำสัญญาได้ไม่นาน  หนึ่งทำธุรกิจขาดทุนทำให้เขาคิดมากคิดอยากฆ่าตัวตาย  จึงได้ดื่มยาพิษเข้าไปในวันที่  28  ธันวาคม  2551  สองบุตรชายได้นำตัวส่งโรงพยาบาล  แพทย์ได้ล้างท้องให้แต่ก็ยังทำให้เขาอ่อนเพลียอยู่มาก  ต่อมาอีก  2  วัน  เขาก็เสียชีวิตลง  สองบุตรชายจึงไปขอรับเงินตามสัญญาประกันชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์ 

จงวินิจฉัยว่า  บริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่สองอย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  หนึ่งทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง  ย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันสัญญาประกันชีวิตย่อมมีผลผูกพันคู่สัญญาตามมาตรา  863

การที่หนึ่งทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุแห่งการทรงชีพนั้น  บริษัทจะใช้เงินให้ตามสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา  890  ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญานั้น  หนึ่งผู้เอาประกันชีวิตและในขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้ถูกเอาประกันชีวิตด้วยนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่จนครบตามสัญญา  คือ  ครบ  5  ปี  บริษัทประกันชีวิตจึงจะใช้เงินให้ตามมาตรา  889

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนึ่งได้ดื่มยาพิษฆ่าตัวตายก่อนครบกำหนดอายุสัญญาประกันชีวิต  นายสองผู้รับประโยชน์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาดังกล่าว  และในกรณีนี้ก็ไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา  895  เพราะการที่จะปรับเข้ากับข้อกฎหมายตามมาตรา  895  นั้น  ต้องเป็นกรณีการประกันชีวิตโดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะเท่านั้น  ฉะนั้นบทบัญญัติมาตรา  895  จึงไม่จำต้องนำมาพิจารณาในคดีนี้  ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่สองผู้รับประโยชน์  สามารถยกข้อต่อสู้ว่าหนึ่งผู้เอาประกันชีวิตมิได้มีชีวิตอยู่จนครบระยะเวลาตามที่สัญญาประกันชีวิตแบบอาศัยความทรงชีพกำหนดไว้ขึ้นปฏิเสธความรับผิดต่อสองได้

สรุป  บริษัทประกันชีวิตจึงไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่สองผู้รับประโยชน์

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 2/2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายดำเป็นเจ้าของตึกแถวราคา  5  ล้านบาท  นายแดงเป็นพี่ชายนายดำ  นายดำอนุญาตให้นายแดงเข้ามาอาศัยอยู่และขายอาหารในตึกแถวนั้นได้  แต่นายแดงกลัวว่าถ้าไฟไหม้ตึกแถวนี้ตนจะได้รับความเดือดร้อน  เพราะต้องหาตึกแถวแห่งใหม่เพื่อทำการค้าต่อไป  นายแดงจึงนำตึกแถวนี้ไปทำสัญญาประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่งเป็นเวลา  1  ปี  วงเงินเอาประกัน  5  แสนบาท  หลังจากทำสัญญาประกันภัยไปได้  5  เดือน  นายดำได้จดทะเบียนสิทธิอาศัยให้กับนายแดงเป็นเวลา  10  ปี  อีก  1  เดือนต่อมาไฟไหม้ตึกแถวข้างเคียงแล้วลุกลามมาไหม้ตึกแถวที่นายแดงเอาประกันภัยไว้เสียหายทั้งหมด  ดังนี้  จงวินิจฉัยว่า  สัญญาประกันภัยระหว่างนายแดงกับบริษัทประกันภัยมีผลผูกพันคู่สัญญาหรือไม่  เพราะเหตุใด  ให้อธิบายโดยใช้หลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  869  อันคำว่า  วินาศภัย  ในหมวดนี้  ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆบรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงผู้เอาประกันภัยตึกแถวไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน  ตามมาตรา  863  เพราะนายแดงไม่มีความสัมพันธ์ใดๆที่กฎหมายรับรองสิทธิ  เนื่องจากนายแดงครอบครองตึกแถวของนายดำในฐานะผู้อาศัยเท่านั้น  อีกทั้งเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นนายแดงไม่สามารถตีราคาความเสียหายออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้ตามมาตรา  869  นายแดงจึงไม่ได้เสียหายเพราะนายแดงยังไม่มีสอทธิใดๆในตึกแถวนี้

ทั้งนี้แม้ต่อมาภายหลังนายแดงจะมีสิทธิอาศัยเกิดขึ้นเพราะมีการจดทะเบียนก็ไม่ทำให้สัญญาที่ไม่ผูกพันตั้งแต่ต้นกลายมาเป็นสัญญาที่มีผลผูกพันภายหลังได้  เพราะส่วนได้เสียนั้นผู้เอาประกันภัยต้องมีในขณะทำสัญญาเท่านั้น  สัญญาจึงจะผูกพัน

ดังนั้น  สัญญาประกันภัยระหว่างนายแดงกับบริษัทประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างใด  เมื่อวินาศภัยเกิดขึ้น  บริษัทประกันภัยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายแดงผู้เอาประกันภัย (ฎ. 1742/2520)

สรุป  สัญญาประกันภัยระหว่างนายแดงกับบริษัทประกันภัยจึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา

 

ข้อ  2  นายมีเป็นเจ้าของนุ่นที่เก็บไว้ในโกดังมีมูลค่าล้านกว่าบาท  นายมีนำเอานุ่นไปประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัทมั่นคงประกันวินาศภัยฯ  วงเงินเอาประกันจำนวนหนึ่งล้านบาท  โดยนายมีเป็นผู้รับประโยชน์ในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับ  นุ่นที่เอาประกันภัยได้เกิดระอุลุกไหม้ขึ้นเองเพราะอุณหภูมิในโกดังสะสมจนถึงจุดติดไฟเนื่องจากอยู่ในระหว่างฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัดกว่าทุกปี  ดังนี้  การที่นุ่นถูกไฟไหม้หมด อยากทราบว่าบริษัทมั่นคงฯ  ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายมีหรือไม่  เพราะเหตุใด  ทั้งนี้ในกรมธรรม์ประกันภัยไม่มีข้อตกลงกันเป็นอย่างอื่น

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  879  วรรคสอง  ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย  เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นุ่นซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเกิดระอุลุกไหม้ขึ้นเอง  กรณีถือว่าความวินาศภัยเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย  คือ  เพลิงไหม้เกิดจากตัวทรัพย์ที่เอาประกันภัยนั้นเอง  กรณีจึงต้องด้วยข้อยกเว้นมาตรา  879 วรรคสอง  ที่บริษัทมั่นคงฯ  ไม่ต้องรับผิด

ดังนั้น  การที่นุ่นวัตถุเอาประกันภัยถูกไฟไหม้หมด  บริษัทมั่นคงฯ จึงไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายมี  อีกทั้งไม่มีการตกลงให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดแม้นุ่นเกิดลุกไหม้ขึ้นเอง

สรุป  บริษัทมั่นคงฯ  ไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายมี

 

ข้อ  3  นางแก้วได้เอาประกันชีวิตนายขวดผู้เป็นสามีโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในวงเงินที่เอาประกัน  1  ล้านบาท  โดยระบุให้ตนเองและนายสุดหล่อบุตรชายเป็นผู้รับประโยชน์คนละครึ่ง  อีก  5  ปีต่อมานางแก้วและนายขวดได้หย่าขาดจากกัน  ในวันที่จดทะเบียนหย่านั้น  นายสุดหล่อได้ทำปืนลั่นถูกนายขวดถึงแก่ความตาย  ศาลพิพากษาจำคุกนายนายสุดหล่อฐานทำให้ผู้อื่นตายโดยประมาทมีกำหนด  1  ปี  หลังจากนั้นนางแก้วและนายสุดหล่อได้เรียกร้องให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิต  แต่บริษัทประกันภัยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า  นางแก้วได้หย่าขาดจากนายขวดไปแล้ว  จึงไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายขวด  และไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญา  ส่วนนายสุดหล่อก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญาเช่นเดียวกัน  เพราะเป็นผู้ทำให้นายขวดตาย

จงวินิจฉัยว่า  ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  863  อันสัญญาประกันภัยนั้น  ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อได้ความว่าในขณะที่นางแก้วได้เอาประกันชีวิตนายขวดผู้เป็นสามี  โดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  ซึ่งในขณะนั้นนางแก้วและนายขวดยังมิได้หย่าขาดจากกัน  และมีความสัมพันธ์ในฐานะคู่สมรส  ดังนี้  เมื่อนางแก้วผู้เอาประกันชีวิตมีส่วนได้เสียกับนายขวดผู้ถูกเอาประกันชีวิตในขณะทำสัญญา  สัญญาจึงมีผลผูกพันสมบูรณ์ตามมาตรา  863  ทั้งนี้  แม้จะฟังได้ความว่าภายหลังทำสัญญาแล้ว  นางแก้วและนายขวดจะจดทะเบียนหย่ากันก็ตาม  ก็หาทำให้สิทธิของคู่สัญญาเปลี่ยนแปลงไปไม่

และเมื่อนางแก้วมีส่วนได้เสียและกำหนดให้ตนเป็นผู้รับประโยชน์  บริษัทประกันภัยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตให้นางแก้วตามสัญญา  ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยที่ว่า  นางแก้วได้หย่าขาดจากนายขวดไปแล้ว จึงไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของนายขวด  และไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญา  จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนกรณีของนายสุดหล่อนั้น  ข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันชีวิตไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประการหนึ่งตามมาตรา  895(2)  คือผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  ซึ่งหมายความว่าเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล  หากมีเพียงเจตนาทำร้าย  หรือเป็นเพราะประมาทเลินเล่อก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ว่า  จากการที่นายสุดหล่อทำปืนลั่นถูกนายขวดถึงแก่ความตาย  ศาลได้พิพากษาจำคุกนายสุดหล่อฐานทำให้ผู้อื่นตายโดยประมาท  จะเห็นได้ว่า  จากคำพิพากษานายสุดหล่อผู้รับประโยชน์หาได้มีเจตนาฆ่านายขวดผู้ถูกเอาประกันแต่อย่างใด  กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา  895(2)  ดังนั้น  เมื่อไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่บริษัทประกันภัยจะอ้างได้  บริษัทประกันภัยดังกล่าวจึงต้องจ่ายตามสัญญาประกันชีวิตให้นายสุดหล่อเช่นกัน  ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยที่ว่า  นายสุดหล่อไม่มีสิทธิรับเงินตามสัญญาเพราะทำให้นายขวดถึงแก่ความตายจึงฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทประกันภัยฟังไม่ขึ้น

LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย S/2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเด่นเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทกู๊ดคาร์  จำกัด  โดยทำเป็นหนังสือ  แต่บริษัทกู๊ดคาร์ฯเกรงว่ารถจะถูกโจรกรรม  จึงไปทำสัญญาประกันภัยรถ  ในกรมธรรม์ระบุว่าคุ้มครองโจรกรรมไว้กับบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯ  โดยนายเด่นเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันในนามของบริษัทกู๊ดคาร์ฯ  ต่อมานายเด่นชำระค่าเช่าซื้อครบทุกงวดและโอนทะเบียนรถเป็นของนายเด่นแล้ว  แต่นายเด่นยังคงระบุชื่อบริษัทกู๊ดคาร์ฯ  เป็นผู้เอาประกันภัย  แต่มีวงเล็บชื่อนายเด่น  และระบุที่อยู่ของนายเด่นเป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัยด้วย  ในระหว่างอายุสัญญารถที่เอาประกันภัยคันดังกล่าวถูกขโมย  นายเด่นจึงรีบแจ้งบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯ  โดยไม่ชักช้า  แต่บริษัทสยามฯ  ผู้รับประกันภัยปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอ้างว่านายเด่นไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย  ผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนคือบริษัทกู๊ดคาร์ฯ  เพราะเป็นผู้เอาประกันภัย  ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของบริษัทสยามประกันภัยที่ว่า  นายเด่นไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  862  วรรคสาม  คำว่า  “ผู้เอาประกันภัย”  ท่านหมายความว่า  คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่บริษัทกู๊ดคาร์  ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯ  โดยมีนายเด่นผู้เช่าซื้อเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยในนามของบริษัทกู๊ดคาร์  กรณีนี้ถือว่านายเด่นเป็นเพียงผู้จ่ายเบี้ยประกันแทนเท่านั้น  เพราะเบี้ยประกันภัยเป็นหนี้ของคู่สัญญาฝ่ายผู้เอาประกันภัย  ซึ่งผู้เอาประกันภัยไม่จำต้องชำระหนี้ด้วยตนเอง  จึงยังฟังไม่ได้ว่านายเด่นเป็นคู่สัญญาซึ่งเอาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อด้วย

แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  หลังจากที่นายเด่นชำระค่าเช่าซื้อครบทุกงวดและโอนทะเบียนรถเป็นของนายเด่นแล้ว  นายเด่นยังคงระบุชื่อบริษัทกู๊ดคาร์ฯ  เป็นผู้เอาประกันภัย  และมีวงเล็บชื่อนายเด่นพร้อมทั้งระบุที่อยู่ของนายเด่นเป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย  กรณีนี้ถึงแม้ว่าในกรมธรรม์จะระบุชื่อบริษัทกู๊ดคาร์  เป็นผู้เอาประกันก็ตาม  แต่เมื่อระบุที่อยู่ของนายเด่นเป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย  จึงต้องถือว่านายเด่นเป็นคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้เอาประกันด้วยตามมาตรา  862  วรรคสาม  เมื่อเกิดวินาศภัยดังที่ระบุไว้ในสัญญาคือรถถูกโจรกรรม  นายเด่นจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯได้

ดังนั้น  ข้ออ้างของบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯที่ว่า  นายเด่นไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ฎ. 656/2521)

สรุป  ข้ออ้างของบริษัทสยามประกันวินาศภัยฯ  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  นายแดงทำสัญญาเอาประกันวินาศภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง  โดยประกันประเภทที่  1  คือ  คุ้มครองทุกอย่าง  รวมทั้งความเสียหายที่เกิดกับตัวรถที่เอาประกันด้วย 

วงเงินเอาประกัน  5  แสนบาท  ในระหว่างอายุสัญญานายดำขับรถโดยประมาทชนท้ายรถของนายแดงเสียหาย  บริษัทประกันภัยจึงนำรถยนต์ของนายแดงไปให้นายเขียวซ่อม  คิดเป็นเงิน  7  หมื่นบาท  แต่บริษัทประกันยังมิได้จ่ายค่าซ่อมรถให้แก่นายเขียวเจ้าของอู่  เมื่อซ่อมรถของนายแดงเสร็จ  นายแดงได้รับมอบรถไปแล้ว  บริษัทประกันภัยเรียกร้องให้นายดำจ่ายค่าซ่อมรถ  แต่นายดำปฏิเสธ  ดังนี้  บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าซ่อมรถ  7  หมื่นบาท  จากนายดำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  438  วรรคสอง  อนึ่งค่าสินไหมทดแทนนั้น  ได้แก่  การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด  หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น  รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆอันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย

มาตรา  880  วรรคแรก  ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้  ผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด  ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ถ้าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอก  เมื่อผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว กฎหมายได้ให้สิทธิผู้รับประกันภัยที่จะรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องเอาจากบุคคลภายนอกนั้นได้ตามมาตรา  880  วรรคแรก

กรณีตามอุทาหรณ์  นายแดงทำสัญญาเอาประกันวินาศภัยรถยนต์ของตนไว้กับบริษัทประกันภัย  และในระหว่างอายุสัญญา  นายดำได้ขับรถโดยประมาทชนท้ายรถของนายแดงเสียหาย  กรณีนี้ถือว่าความวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของนายดำซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว  และการที่บริษัทประกันภัยได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปให้นายเขียวซ่อมจนใช้การได้  และส่งมอบรถยนต์ให้นายแดงแล้วนั้น  ถือว่าเป็นการคืนทรัพย์ตามมาตรา  438  วรรคสอง  ซึ่งถือได้ว่าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยแล้ว  (ฎ. 1006/2503)

ส่วนการที่บริษัทประกันภัยติดค้างค่าซ่อมรถ  ซึ่งยังมิได้ชำระให้แก่นายเขียวเจ้าของอู่นั้น  เป็นหนี้ตามสัญญาจ้างทำของระหว่างบริษัทประกันภัยกับนายเขียวซึ่งเป็นหนี้ต่างหากจากกัน  ไม่เกี่ยวกับการที่บริษัทประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้นายแดง

สรุป  บริษัทประกันภัยมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน  7  หมื่นบาท  จากนายดำได้  เพราะเป็นกรณีที่บริษัทประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิตามมาตรา  880

 

ข้อ  3  นางสมปองได้ทำสัญญาประกันชีวิตตนเองโดยอาศัยเหตุมรณะไว้กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง  ในสัญญาระบุให้นางสาวสมใจบุตรสาวเป็นผู้รับประโยชน์  ต่อมาภายในอายุสัญญาประกัน  นางสมปองได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง  นางสาวสมใจบุตรสาวเป็นคนดูแลรักษาพยาบาล  ได้หยิบยาผิดขวดให้นางสมปองกินจนถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ดังนี้  นางสาวสมใจผู้รับประโยชน์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  889  ในสัญญาประกันชีวิตนั้น  การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง

มาตรา  890  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น  จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว  หรือเป็นเงินรายปีก็ได้  สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา

มาตรา  895   เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น  เว้นแต่

(1)          บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2)          บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

ในกรณีที่  2  นี้  ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

วินิจฉัย

โดยหลัก  เมื่อผู้เอาประกันชีวิต  หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ถึงแก่ความตาย  บริษัทผู้รับประกันชีวิตจะต้องใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตนั้นๆ  เว้นแต่บุคคลนั้นจะฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน  1  ปี  นับแต่วันทำสัญญา  หรือบุคคลนั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา  895

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นางสาวสมใจซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์  ได้หยิบยาผิดขวดให้นางสมปอง  ผู้เอาประกันชีวิตกินจนถึงแก่ความตายนั้น  เป็นเพียงความประมาทเลินเล่อ  ยังถือไม่ได้ว่านางสาวสมใจเจตนาฆ่านางสมปอง  กรณีนี้จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันชีวิตจะไม่ต้องจ่ายเงินตามสัญญาประกันชีวิตในกรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  895(2)  ดังนั้น  นางสาวสมใจผู้รับประโยชน์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันจากบริษัทประกันชีวิตได้ตามมาตรา  889  ประกอบมาตรา  890

สรุป  นางสาวสมใจมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินประกันชีวิตจากบริษัทประกันชีวิต

WordPress Ads
error: Content is protected !!