การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายเอกได้เอาประกันชีวิต 1 ล้านบาท ในเหตุมรณะกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2547 มีกำหนดสัญญา 5 ปี ระบุให้นายโทเป็นผู้รับประโยชน์ โดยนายเอกไม่เปิดเผยเรื่องที่ตนเป็นโรคไส้เลื่อนให้บริษัทประกันภัยทราบ ในวันที่ 1 มกราคม 2550 นายเอกถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็ง ต่อมาบริษัทประกันภัยทราบเรื่องว่านายเอกไม่เปิดเผยความจริงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 อันเป็นวันครบกำหนดสัญญาจึงรีบบอกล้างสัญญาประกันชีวิตรายนี้ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป
มาตรา 890 จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียว หรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้วแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายเอกทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง ย่อมมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกัน สัญญาประกันชีวิตย่อมมีผลผูกพันตามมาตรา 863
การที่นายเอกซึ่งเป็นผู้เอาประกันชีวิตรู้อยู่แล้วละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงอันจะเป็นเหตุให้สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 865 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นข้อความจริงที่มีลักษณะสำคัญถึงขนาดว่าอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือบอกปัดไม่ทำสัญญา
แต่จากข้อเท็จจริง แม้นายเอกไม่เปิดเผยเรื่องที่ตนเป็นโรคไส้เลื่อนให้บริษัทประกันภัยทราบก็ตาม แต่โรคไส้เลื่อนมิใช่เป็นโรคที่มีอันตรายร้ายแรง เมื่อผ่าตัดแล้วอาจหายได้ ยังไม่ถึงขนาดที่ว่าถ้านายเอกแจ้งความจริงนี้แล้ว บริษัทประกันภัยจะบอกปัดไม่รับทำสัญญาหรือเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้นตามมาตรา 865 วรรคแรก ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตฉบับนี้จึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ไม่เป็นโมฆียะ บริษัทประกันภัยไม่สามารถบอกล้างสัญญาฉบับนี้ได้ ต้องชำระเงินประกันชีวิต 1 ล้านบาทให้แก่นายโทผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 890 (ฎ. 715/2513)
เมื่อสัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะ กรณีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเรื่องกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างหรือกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาตามมาตรา 865 วรรคสองแต่อย่างใด
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะวินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยต้องชำระเงินประกันชีวิต 1 ล้านบาท ให้แก่นายโทผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต