ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายโด่งรู้ว่าตนป่วยเป็นโรคถุงลมพองเรื้อรังมานานเป็นปี ต่อมานายโงทำสัญญาประกันชีวิตตนเองไว้เป็นเวลา 20 ปี กับบริษัท สยามประกันชีวิต จำกัด วงเงิน 1 ล้านบาท แต่นายโด่งไม่เปิดเผยให้บริษัทประกันทราบ และแพทย์ผู้ตรวจร่างกายก็ไม่ได้ฉายเอกซเรย์ ทำให้บริษัท สยามประกันชีวิตฯรับทำสัญญาของนายโงโดยพิจารณาจากรายงานของแพทย์ว่านายโงสุขภาพปกติ ซึ่งถ้าบริษัทสยามประกันชีวิตฯ รู้ว่านายโด่งเป็นโรคถุงลมพองก็จะเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก ปีต่อมานับแต่วันทำสัญญา นายโด่งเสียชีวิตด้วยโรคถุงลมพอง บริษัท สยามประกันชีวิตฯ จึงได้ทราบว่านายโด่งปกปิดโรคดังกล่าวและได้บอกล้างภายใน 1 เดือนนับแต่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ แต่นางแดง ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์อ้างว่าบริษัท สยามประกันชีวิตประมาทเลินเล่อ ไม่ใช้ความระมัดระวังในการรับประกัน เพราะถ้ามีการฉายเอกซเรย์ก็จะรู้ว่านายโงเป็นโรคถุงลมพอง ดังนี้ อยากทราบว่า ข้ออ้างของนางแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิตบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป
มาตรา 866 ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่แพทย์ผู้ตรวจร่างกายของนายโด่งไม่ได้ฉายเอกซเรย์ ถือว่า บริษัทสยามประกันชีวิต จำกัด ควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังพึงคาดหมายได้เช่นวิญญูชนหรือไม่ เห็นว่า
โรคถุงลมพอง เป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดและอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายได้ โรคถุงลมพองจึงเป็นโรคที่มีความสำคัญอันอาจถือเป็นเหตุให้ผู้รับประกันชีวิตบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันชีวิตผู้ขอเอาประกันได้ ถ้าผู้รับประกันชีวิตได้ทราบข้อความจริงนี้มาก่อน การที่ผู้เอาประกันรู้ตัวดีว่าป่วยเป็นโรคถุงลมพองเรื้อรังมานานปีแต่ไม่เปิดเผยให้บริษัทประกันทราบ จึงเป็นการละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริง ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันทำไว้กับบริษัทฯ จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 865 วรรคแรก
ส่วนการตรวจโรคถุงลมพองโดยวิธีธรรมดาจะพบยาก นอกจากฉายเอกซเรย์หรือใช้สีฉีดเข้าไปในปอดแล้วฉายเอกซเรย์ แต่เมื่อนายโด่งผู้เอาประกันปกปิดมิได้แจ้งเรื่องที่ตนป่วยเป็นโรคนี้ให้แพทย์ผู้ตรวจสุขภาพทราบ ก็ไม่มีเหตุที่แพทย์จะต้องฉายเอกซเรย์ตรวจดูถุงลมของผู้เอาประกันเพราะไม่อาจรู้ได้ว่าผู้เอาประกันเป็นโรคถุงลมพอง การรับประกันชีวิตของบริษัท สยามประกันชีวิต จำกัด ก็พิจารณาจากรายงานของแพทย์ประกอบกับคำขอเอาประกัน เช่นนี้จะฟังว่าผู้รับประกันชีวิตประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังในการรับประกันเช่นวิญญูชนไม่ได้ เพราะถือว่าบริษัทฯ ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 866 (ฎ. 1076/2520)
สรุป ข้ออ้างของนางแดงผู้รับประโยชน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ