การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2012 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายกล้าเป็นข้าราชการบำนาญ มีรถเก๋งอยู่คันหนึ่งแต่ไม่ค่อยได้ใช้ จึงให้นายเก่งลูกชายขับไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ นายกล้าจึงได้ใช้ขับไปทำบุญที่วัด นายเก่งกลัวว่ารถที่ตนใช้อยู่เป็นประจำจะถูกขโมย จึงได้นำรถคันดังกล่าวไปทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับบริษัทบางกอกประกันภัย จำกัด ในวงเงิน 3 แสนบาท สัญญากำหนด 1 ปี ระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ หลังจากทำสัญญาได้ 4 เดือน นายกล้าก็ป่วยเป็นโรคหัวใจวายตาย นายเก่งจึงได้รับมรดกทั้งหมดรวมทั้งรถเก๋งคันที่เอาประกันนั้นด้วย 22 เดือนต่อมา นายเก่งได้ขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนเสาไฟฟ้าได้รับความเสียหายเป็นเงิน 2 แสนบาท นายเก่งจึงไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัย จงวินิจฉัยว่า บริษัทบางกอกประกันภัย จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้นายเก่งหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 877 ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย
(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ
อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว สัญญาประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นสัญญาประกันวินาศภัยหรือสัญญาประกันชีวิต ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันวินาศภัยหรือสัญญาประกันชีวิตนั้นย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญา ตามมาตรา 863 กล่าวคือ สิทธิและหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัยนี้ คงพิจารณาเฉพาะในขณะเมื่อทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น หากปรากฏว่าในขณะทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียแล้ว สัญญาประกันภัยย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญา
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า บริษัทบางกอกประกันภัย จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเก่งหรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่ทำสัญญาประกันวินาศภัยนั้น นายเก่งยังไม่มีส่วนได้เสียในรถคันนั้นแต่อย่างใด เนื่องจากรถยังเป็นของนายกล้าผู้เป็นบิดาอยู่ แม้นายกล้าจะให้นายเก่งใช้สอยได้ก็หาทำให้นายเก่งมีส่วนได้เสียในรถนั้นไม่ เมื่อนายเก่งผู้เอาประกันภัยไม่มีส่วนได้เสียในรถซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย สัญญาประกันวินาศภัยนั้นย่อมไม่ผูกพันนายเก่ง ตามมาตรา 863
และถึงแม้ว่าต่อมานายกล้าตายลง จะทำให้นายเก่งได้เป็นเจ้าของรถคันนั้นโดยทางมรดก แต่หาทำให้สัญญาประกันภัยซึ่งไม่ผูกพันคู่สัญญามาตั้งแต่แรก กลับมามีผลผูกพันแต่อย่างใด เพราะเหตุแห่งส่วนได้เสียนั้นพิจารณาในขณะทำสัญญาประกันภัยเท่านั้น เมื่อในขณะทำสัญญาประกันภัย นายเก่งไม่มีส่วนได้เสีย แม้ภายหลังต่อมานายเก่งจะมีส่วนได้เสีย สัญญาประกันภัยก็ไม่มีผลผูกพัน ตามมาตรา 863 ดังนั้นการที่วินาศภัยเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกัน บริษัทบางกอกประกันภัย จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 877
สรุป บริษัทบางกอกประกันภัย ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 877