LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 2/2547

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเอกแต่งตั้งนายโทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครีมเสริมทรวงอก  โดยตกลงจะให้บำเหน็จนายโทร้อยละ  10  ของราคาขาย  ปรากฏว่า  ในวันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าว  นายโทได้ว่าจ้างนางแบบมาโชว์วิธีการและสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ให้สื่อมวลชนดู  ซึ่งสื่อมวลชนก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก  เนื่องจากว่าการกระทำของนายโทดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญาถือว่าเป็นความผิด  ทำให้นายเอกเสียชื่อเสียง  แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้มีผู้สนใจมาซื้อผลิตภัณฑ์มากขึ้นกว่าเดิม  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  นายเอกจะต้องจ่ายบำเหน็จให้นายโทจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งจำเป็น  เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

มาตรา  818  การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น  ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บำเหน็จ

วินิจฉัย

ตัวแทนผู้ได้รับมอบอำนาจเฉพาะการมีอำนาจกระทำการได้แต่เฉพาะในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้กิจการที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงไป  ตามมาตรา  800  กล่าวคือ  หากไม่ทำสิ่งนั้นๆ  แล้ว  กิจการที่ได้รับมอบหมายก็ไม่อาจที่จะสำเร็จลุล่วงไปได้เช่นกัน ถือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ตัวแทนมีอำนาจที่จะกระทำและผูกพันตัวการด้วย

การที่นายเอกตั้งนายโทเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ครีมเสริมทรวงอก  และนายโทได้ว่าจ้างนางแบบมาโชว์สาธิตผลิตภัณฑ์  ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นถือว่าเป็นการกระทำในสิ่งที่จำเป็นแล้ว  หาใช่ว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายไม่  แม้ว่าจะทำให้นายเอกเสียชื่อเสียงก็ตาม  เมื่อนายโทกระทำการภายในขอบอำนาจตามมาตรา  800  และขายผลิตภัณฑ์ให้นายเอกได้ตามที่ตกลงกัน  นายโทตัวแทนจึงมีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จตัวแทนตามมาตรา  803  ประกอบมาตรา  818

สรุป  นายเอก  ต้องจ่ายบำเหน็จให้นายโทร้อยละ  10  ตามที่ตกลงไว้  เพราะนายโทมิได้กระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่ประการใด  ตามมาตรา  803  ประกอบมาตรา  818

 

ข้อ  2  บุญส่งมีอาชีพเหมาถมที่  เมื่อได้งานถมที่สนามบินแห่งใหม่  บุญส่งให้บุญมากนำรถบรรทุกดินมาวิ่งร่วมด้วย  และเพื่อความสะดวกในการขนส่ง  บุญส่งอนุญาตให้บุญมากนำเครื่องหมายขนส่งของตนติดไว้หน้ารถ  บุญมากขับรถบรรทุกดินโดยประมาท  ชนรถเก๋งของอรทัยเสียหายยับเยินอรทัยบาดเจ็บ  บุญส่งต้องร่วมรับผิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  425  นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด  ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางที่จ้างนั้น 

มาตรา  427  บทบัญญัติในมาตราทั้งสองนั้น  ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม

มาตรา  821  บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  รู้แล้วย่อมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน

วินิจฉัย

บุญส่งมีอาชีพรับเหมาถมที่  เมื่อได้งานถมที่  บุญส่งให้บุญมากนำรถบรรทุกดินมาวิ่งร่วมด้วย  และยังอนุญาตให้บุญมากนำเครื่องหมายขนส่งของตนติดไว้หน้ารถ  ดังนี้  การที่บุญส่งอนุญาตให้บุญมากนำเครื่องหมายขนส่งของตนติดหน้ารถของบุญมาก  ถือได้ว่าบุญส่งเชิญบุญมากเป็นตัวแทนของตน  เมื่อบุญมากตัวแทนประมาทก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  บุญส่งต้องร่วมรับผิดกับบุญมากตามมาตรา  427 ประกอบมาตรา  425  ที่บัญญัติให้ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในการละเมิดที่ตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน  ตามมาตรา  821  (ฎ. 2452/2531)

สรุป  บุญส่งต้องร่วมรับผิดกับบุญมาก

 

ข้อ  3  นายวันมีที่ดินว่างอยู่  จึงต้องการหาคนมาเช่าที่ดินของตนจึงได้บอกนายสองให้ช่วยหาผู้มาเช่าที่ดินดังกล่าว  หากนายสองหาคนมาเช่าที่ดินได้จะให้ค่าตอบแทน  50,000  บาท  ต่อมานายสองทราบว่านายอังคารกำลังหาที่ดินเช่าอยู่  นายสองจึงบอกนายอังคารถึงที่ดินของนายวัน  แต่นายอังคารยังไม่ตัดสินใจเพราะเห็นว่าราคาเช่าที่ดินของนายวันแพงเกินไป  หลังจากนั้นอีก  6  เดือน  นายอังคารตกลงใจว่าจะเช่าที่ดินของนายวันจึงไปติดต่อนายวันด้วยตัวเอง  โดยไม่ได้ติดต่อผ่านนายสอง  และต่อมาได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกัน  เช่นนี้  หากนายสองจะเรียกบำเหน็จค่านายหน้าจากนายวันจะกระทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

การที่นายวันได้ตกลงให้นายสองเป็นนายหน้าหาคนมาเช่าที่ดินของนายวัน  และได้ตกลงว่าจะให้ค่าบำเหน็จ  50,000  บาท  จะเห็นได้ว่า นายสองได้ชี้ช่องให้นายอังคารซึ่งกำลังหาที่ดินเพื่อเช่าอยู่ได้เข้าทำสัญญาเช่ากับนายวันแล้ว  แม้นายอังคารจะมิได้ตกลงใจทันทีก็ตาม  แต่ในท้ายสุด  นายอังคารก็เข้าทำสัญญาเช่า

ดังนั้น  การเข้าทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวจึงเกิดจากการชี้ช่องของนายสอง  นายหน้าของนายวันแล้ว  และย่อมมีสิทธิในอันจะเรียกบำเหน็จค่านายหน้าจากนายวันได้ตามมาตรา  845  วรรคแรก

สรุป  นายสองเรียกบำเหน็จค่านายหน้า  จำนวน  50,000  บาท  จากนายวันได้

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า S/2547

การสอบไล่ฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทนโดยมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือให้ไปซื้อที่ดิน  ปรากฏว่านาย  ข  ไปซื้อที่ดินของนาย  ค  นาย  ค  โอนที่ดินให้แก่นาย  ข  แต่นาย  ข  ให้เงินแก่นาย  ค  ไม่ครบ  นาย  ค  จึงฟ้องนาย  ก  โดยอ้างว่าในฐานะที่นาย  ข  เป็นตัวแทนนาย  ก  นาย  ก  จะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ค้างชำระนั้น  ให้ท่านวินิจฉัยว่านาย  ค  จะฟ้องนาย  ก  ได้หรือไม่อย่างไร  พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายมาประกอบด้วย

อีกกรณีหนึ่ง  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้ไปซื้อที่ดินแต่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือมอบหมายเพียงแต่ให้เงินไปวางประจำไว้  ต่อมาผู้ขายโอนที่ดินให้แก่นาย  ข  นาย  ข  กลับไม่ให้เงินในส่วนที่เหลือที่นาย  ก  มอบให้นาย  ข  เพื่อให้นาย  ข  มอบให้ผู้ขายทั้งหมด  แต่นาย  ข  กลับนำไปใช้ส่วนตัวเสีย  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ในกรณีเช่นนี้  นาย  ค  จะฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดในจำนวนเงินส่วนที่ขาดได้หรือไม่  อย่างไร  พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

วินิจฉัย

กฎหมายวางหลักไว้ว่า  กิจการใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือ

กรณีแรก  การที่นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นหนังสือ  เพื่อไปซื้อที่ดินก็เข้าหลักเกณฑ์กฎหมายมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้  ดังนั้นการที่นาย  ข ตัวแทนผิดสัญญาต่อนาย  ค  นาย  ค  จึงมีอำนาจฟ้องนาย  ก  ตัวการให้รับผิดได้ตามมาตรา  798  เพราะสัญญาผูกพันตัวการแล้ว

กรณีหลัง  แม้การที่นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้ไปซื้อที่ดินจะไม่ได้ทำเป็นหนังสือ  แต่นาย  ก  ได้ใช้วิธีให้เงินนาย  ข  เพื่อนำไปวางประจำไว้กับผู้ขาย  ก็ถือว่าเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ที่ว่าการตัวตัวแทนจะต้องทำเป็นหนังสือ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา  798  จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทน  ดังนั้น  การที่นาย  ข  ตัวแทนผิดสัญญาต่อนาย  ค  นาย  ค  จึงสามารถฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดในส่วนที่ขาดได้  เพราะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798 

สรุป  นาย  ค  สามารถฟ้องนาย  ก  ให้รับผิดได้ทั้งสองกรณี

 

ข้อ  2  นาย  ก  มอบให้นาย  ข  เป็นตัวแทนให้ไปซื้อบ้านไม้สัก  1  หลัง  ที่จังหวัดเชียงรายเป็นจำนวนเงิน  2,000,000  บาท  แต่นาย  ก  ได้ให้เงินแก่นาย   ข  ไปเพียง  1,500,000  บาทเท่านั้น  นาย  ก  จึงให้นาย  ข  ทดรองจ่ายไป  500,000  บาท  เมื่อนาย  ข  ซื้อบ้านและรื้อถอนเป็นไม้มากองไว้ที่บ้านของตนและบอกให้นาย  ก  มาขนไม้ไปแล้วให้นำเงินมาคืนให้  500,000  บาทด้วย  นาย  ก  ต้องการแต่ไม้และยังไม่ยอมจ่ายเงิน  500,000  บาท  ให้แก่นาย  ข  นาย  ข  จึงไม่ยอมให้ไม้ไปโดยบอกว่าเมื่อใดนำเงินมาชำระหนี้จึงค่อยนำไม้ไปได้ ดังนี้ให้ท่านตอบคำถามดังต่อไปนี้พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายประกอบด้วย

(1) อยากทราบว่า  หากท่านเป็นนาย  ข  ท่านจะมีทางเลือกอย่างไรในการที่จะได้รับชำระหนี้จากนาย  ก

(2) หากท่านเลือกการยึดหน่วง  หลักเกณฑ์ในการยึดหน่วงเป็นอย่างไร  ถ้ายึดหน่วงไว้จนหนี้ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วจะฟ้องได้อีกหรือไม่

(3) หากยึดหน่วงไว้จนหนี้ขาดอายุความ  ผู้ยึดหน่วงจะนำทรัพย์สินที่ยึดหน่วงไว้นั้นออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  193/27  ผู้รับจำนอง  ผู้รับจำนำ  ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง  หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้  ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง  จำนำ  หรือที่ได้ยึดไว้  แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม  แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้

มาตรา  248  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  193/27  การใช้สิทธิยึดหน่วงหาทำให้อายุความแห่งหนี้สะดุดหยุดลงไม่

มาตรา  819  ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินใดๆ  ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน  เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน

วินิจฉัย

นาย  ก  มอบให้นาย  ข  เป็นตัวแทนไปซื้อบ้านไม้สัก  1  หลัง  เป็นจำนวนเงิน  2,000,000  บาท  แต่นาย  ก  ได้ให้เงินนาย  ข  ไปเพียง  1,500,000  บาทเท่านั้น  นาย  ข  ได้ทดรองจ่ายเงินส่วนที่ขาดไป  500,000  บาท  และได้เอาไม้มากองไว้ที่หน้าบ้านของตน  และเรียกให้นาย  ก  ชำระหนี้  500,000  บาท  แต่นาย  ก  ไม่ยอมชำระหนี้  ดังนี้

(1) ทางเลือกของนาย  ข  ตัวแทนมีอยู่  2  ทาง  คือ

ก.      โดยตัวแทนเลือกเอาการฟ้องเรียกให้ตัวการชำระหนี้

ข.      โดยการยึดหน่วงทรัพย์นั้นไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา  819

(2) หากนาย  ข  เลือกการยึดหน่วง  ย่อมมีผลดังนี้

ก.      การยึดหน่วงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา  248

ข.      แต่หากตัวแทนยึดหน่วงไปไปจนหนี้ขาดอายุความแล้ว  ตัวแทนยังฟ้องได้อยู่ตามมาตรา  193/27  คือ  ฟ้องบังคับเอาจากทรัพย์ที่ยึดหน่วงได้

(3) ผู้ยึดหน่วงไม่มีสิทธินำทรัพย์ที่ยึดหน่วงไว้ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ได้

 

ข้อ  3  ให้ท่านเปรียบเทียบการที่จะได้ค่านายหน้า  ระหว่างการเป็นนายหน้าธรรมดากับนายหน้าที่มีเงื่อนไขว่า  วิธีการจะได้ค่านายหน้ากำหนดไว้เป็นอย่างไร  พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

การเป็นนายหน้าธรรมดา  มีหลักเกณฑ์  ดังนี้

1       ตกลง

2       ชี้ช่อง

3       จัดการให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าทำสัญญากัน

โดยเมื่อครบองค์ประกอบ  3  ประการข้างต้นนี้แล้ว  ผู้เป็นนายหน้าก็มีสิทธิที่จะได้ค่านายหน้าแล้วตามมาตรา  845  วรรคแรกตอนต้น  แม้ต่อมาการซื้อขายจะไม่มีการซื้อขายอันเนื่องจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาก็ตาม

แต่หากสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อนแล้วไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้าทันทีหาได้ไม่  จะได้บำเหน็จค่านายหน้าก็ต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว  ตามมาตรา  845  วรรคแรก  ตอนท้าย

ดังนั้นข้อแตกต่างจึงมีว่าหากเป็นนายหน้าที่ไม่มีเงื่อนไข  ก็มีสิทธิได้บำเหน็จค่านายหน้าทันทีที่ผู้ซื้อขายเข้าทำสัญญากันตามมาตรา  845 วรรคแรกตอนต้น  ส่วนนายหน้าที่มีเงื่อนไขยังไม่ได้บำเหน็จค่านายหน้าจนกว่าเงื่อนไขจะสำเร็จก่อนจึงจะได้ค่านายหน้าตามมาตรา  845 วรรคแรกตอนท้าย

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า ซ่อม 1/2548

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายหนึ่งตั้งนายสองเป็นตัวแทนไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสาม  นายสองกับนายสามตกลงกันว่านายสามจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของนายสามออกไปจากที่ดินของนายหนึ่งภายใน  1  เดือน  โดยนายหนึ่งจะยอมจ่ายค่ารื้อถอนให้แก่นายสาม  2,000 บาท  หากนายสามไม่รื้อถอนตามกำหนด  นายสามไม่มีสิทธิได้ค่ารื้อถอนและยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายหนึ่งเป็นรายเดือนๆละ  200  บาท  ไปจนกว่าจะรื้อถอนเสร็จ  การทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกิจกรรมที่กฎหมายบังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือ

ให้ท่านวินิจฉัยว่าหากนายหนึ่งตั้งนายสองเป็นตัวแทนโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือแล้ว  ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร  และหากทั้งสองฝ่ายคือทั้งนายหนึ่งและนายสามเกิดผิดสัญญาต่อกัน  จะฟ้องร้องกันได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

วินิจฉัย

นายหนึ่งตั้งนายสองเป็นตัวแทนไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายสาม  ซึ่งสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  (มาตรา  51)  ดังนั้นการตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนี้ก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยตามมาตรา  798  เมื่อตามปัญหานายหนึ่งตั้งนายสองเป็นตัวแทนโดยมิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ  ผลก็คือสัญญาประนีประนอมยอมความ  ที่นายสองทำไว้กับนายสามไม่ผูกพันทั้งนายหนึ่งและนายสาม  กล่าวคือ

1       แม้นายสามรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามกำหนด  แต่นายหนึ่งไม่จ่ายค่ารื้อถอน  นายสามจะฟ้องเรียกค่ารื้อถอนกันไม่ได้

2       หรือหากนายสามไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกตามสัญญา  นายหนึ่งจะฟ้องเรียกค่าเสียหายรายเดือนจากนายสามไม่ได้เช่นกัน

สรุป  นายหนึ่ง  และนายสามไม่อาจฟ้องบังคับกันและกันได้

 

ข้อ  2  รัฐบาลประเทศเอกราชได้ทำสัญญาว่าจ้างให้นางพานทองพูมเป็นผู้ก่อสร้างสนามบินสุวรรณเขต  โดยคิดค่าก่อสร้างกว่าสามหมื่นล้านบาท  ปรากกว่านางพานทองพูมต้องเดินทางไปประมูลงานก่อสร้างที่ต่างประเทศ   จึงได้มอบหมายให้นายจตุรทิศเป็นผู้ดูแลการลงนามในสัญญาจ้างและควบคุมการก่อสร้างครั้งนี้ทั้งหมด  ก่อนทำการก่อสร้างนายจตุรทิศได้ทำสัญญาจ้างนายอดิศรซึ่งเป็นวิศวกรมาเป็นผู้ช่วยในการก่อสร้าง  โดยตกลงค่าจ้างเป็นเงิน  500,000  บาท  

ต่อมานายจตุรทิศได้ทำสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างจากเฮียตงเป็นเงิน  3,000  ล้านบาท  โดยมีนายเบญจรงค์เป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าวัสดุก่อสร้าง  นายจตุรทิศได้ยักยอกเงินนางพานทองพูมไปใช้เป็นการส่วนตัวจนเป็นเหตุให้ใช้วัสดุก่อสร้างไม่ตรงตามที่ตกลงในสัญญาจ้างก่อสร้าง  เป็นเหตุให้เกิดการแตกร้าวบริเวณสนามบิน  เมื่อก่อสร้างเสร็จประเทศเอกราชไม่ยอมรับมอบงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้นางพานทองพูม  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1       นายอดิศรจะฟ้องเรียกค่าจ้าง  500,000  บาท  จากนางพานทองพูมและนายจตุรทิศได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

 2       ถ้าหากเมื่อหนี้ตามสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างถึงกำหนดชำระ  เฮียตงได้ฟ้องให้นายเบญจรงค์รับผิดตามสัญญาค้ำประกันและนายเบญจรงค์ได้ชำระเงินไป  ดังนี้นายเบญจรงค์จะฟ้องไล่เบี้ยให้นางพานทองพูมและนายจตุรทิศ  คืนเงิน  3,000  ล้านบาทได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน  มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการดังนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตรา  800  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ  ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งจำเป็น  เพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

นางพานทองพูมได้มอบอำนาจให้นายจตุรทิศเป็นตัวแทนในการทำสัญญารับจ้างก่อสร้างสนามบินสุวรรณเขตกับรัฐบาลประเทศเอกราช  และให้นายจตุรทิศดูแลการก่อสร้าง  ถือได้ว่านายจตุรทิศเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการของนางพานทองพูมตัวการ  ซึ่งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการมีอำนาจทำการแทนตัวการได้เฉพาะในสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้การก่อสร้างซึ่งเป็นกิจการที่ได้มอบหมายสำเร็จลุล่วงไปตามาตรา  800  ประกอบมาตรา  797

1       การที่นายจตุรทิศได้ทำสัญญาจ้างนายอดิศรวิศวกรมาเพื่อเป็นผู้ช่วยในการดูแลการก่อสร้าง  โดยตกลงค่าจ้างเป็นเงิน  500,000  บาท  ถือว่าเป็นการกระทำในสิ่งจำเป็นเพื่อให้กิจการที่ได้รับมอบหมายสำเร็จลุล่วงไป  ดังนั้นเมื่อนายจตุรทิศตัวแทนได้กระทำการภายในของอำนาจนางพานทองพูมตัวการต้องผูกพันในการจ่ายค่าจ้างให้นายอดิศรตามสัญญาตามมาตรา  820  แม้ว่านายจตุรทิศตัวแทนจะทำการยักยอกเงินนางพานทองพูมไปเป็นเหตุให้ใช้วัสดุก่อสร้างไม่ตรงตามสัญญาจ้างก่อสร้างก็ตาม  ก็เป็นเรื่องความรับผิดที่นายจตุรทิศตัวแทนต้องรับผิดต่อนางพานทองพูมตัวการไม่เกี่ยวกับนายอดิศรบุคคลภายนอก

2       ส่วนกรณีที่นายจตุรทิศตัวแทนได้ทำสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างจากเฮียตง  โดยมีนายเบญจรงค์เป็นผู้ค้ำประกัน  ก็ถือว่าสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นการกระทำในสิ่งที่จำเป็น  เพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไป  ดังนั้นเมื่อนายจตุรทิศตัวแทนได้กระทำการภายในขอบอำนาจนางพานทองพูมตัวการต้องผูกพันในการจ่ายค่าวัสดุก่อสร้างตามสัญญาซื้อขายต่อเฮียตงบุคคลภายนอก  แต่เมื่อปรากฏว่าเฮียตงได้เรียกร้องให้นายเบญจรงค์รับผิดตามสัญญาค้ำประกันไป  นายเบญจรงค์ก็รับช่วงสิทธิไปเรียกร้องจากนางพานทองพูมได้  ไม่อาจเรียกให้นายจตุรทิศตัวแทนรับผิดได้  เพราะการทำสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างมิใช่เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกขอบอำนาจ  ซึ่งตัวแทนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตามมาตรา  823  ดังนั้นนางพานทองพูมตัวการจึงต้องผูกพันชำระเงิน  3,000  ล้านบาทต่อนายเบญจรงค์ตามมาตรา  820

สรุป

1       นายอดิศรมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างจากนางพานทองพูมตัวการได้

2       นายเบญจรงค์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าวัสดุก่อสร้างจากนางพานทองพูมตัวการได้

 

ข้อ  3  นายแดงต้องการซื้อที่ดิน  1  แปลงแถวมีนบุรีเพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย  จึงได้ติดต่อให้นายดำเป็นผู้หาที่ดินที่ตนต้องการ  โดยตกลงว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้แก่นายดำ  นายดำขับรถผ่านที่ดินของนายเขียวเห็นป้ายประกาศขายที่ดินของนายเขียวพร้อมหมายเลขโทรศัพท์  นายดำจึงพานายแดงไปดูที่ดินแปลงดังกล่าว  นายแดงพอใจจึงตกลงทำสัญญาซื้อขายและไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน  หลังจากนั้นนายดำจึงไปขอค่าบำเหน็จจากนายเขียวโดยอ้างว่าตนเป็น  ผู้ชี้ช่องและจัดการให้ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจนเสร็จ  ดังนี้อยากทราบว่านายเขียวจะต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายดำหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

นายเขียวต้องการขายที่ดินด้วยตนเองจึงได้ติดป้ายประกาศขายที่ดินพร้อมหมายเลขโทรศัพท์  เมื่อนายดำเห็นป้ายจึงพานายแดงมาซื้อที่ดิน  แม้การซื้อขายจะเกิดจากการชี้ช่องและจัดการของนายดำจนทำให้สัญญาซื้อขายสำเร็จ  แต่นายเขียวก็ไม่ได้ตกลงให้นายดำเป็นนายหน้าที่ดิน  และไม่ได้ตกลงว่าจะจ่ายค่าบำเหน็จให้ตามมาตรา  845  วรรคแรก

ดังนั้น  นายเขียวจึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายดำ

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เอก  ตกลงด้วยวาจาแต่งตั้งให้โทเป็นผู้ไปซื้อเครื่อง  Computer  จากร้านค้าในห้างพันธุ์ทิพย์  ปรากฏว่าโทได้ตกลงซื้อเครื่อง  Computer  จากร้านค้าของตรีในนามของเอก  เป็นเงินราคา  25,000  บาท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

ก)  หากการซื้อเครื่อง  Computer  ไม่มีการทำหลักฐานสัญญาซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร  แต่ตรีได้ส่งมอบเครื่อง  Computer  ให้โทแล้ว  ต่อมาเอกไม่ชำระค่า   Computer  ให้ตรี  โดยอ้างว่า  การตั้งโทเป็นตัวแทน  ไม่มีการทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร  ตนจึงไม่ต้อรับผิดชำระค่า  Computer  ให้ตรี  เช่นนี้  ข้ออ้างของเอกฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข)     เมื่อโทส่งมอบเครื่อง  Computer  ให้เอกแล้ว  โทเรียกบำเหน็จจากการไปซื้อเครื่อง  Computer  แทนเอก  เอกกลับปฏิเสธไม่ยอมชำระค่าบำเหน็จให้โท  เช่นนี้  โทจะฟ้องเรียกบำเหน็จจากเอกได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

วินิจฉัย

ก)     การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่  20,000  บาท  ขึ้นไป  ถ้ามิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือหรือวางมัดจำ  หรือการชำระหนี้บางส่วน  ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ (มาตรา  456)  โดยหลักเมื่อเป็นกิจการที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การแต่งตั้งตัวแทนก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเช่นกัน  มิฉะนั้นกิจการที่ตัวแทนได้กระทำลงไปก็จะไม่ผูกพันตัวการ  ตามมาตรา  798  วรรคสอง  แต่หากกิจการที่มอบหมายดังกล่าวกฎหมายให้เลือกทำหลักฐานในการฟ้องร้องได้หลายอย่าง  หากตัวแทนและบุคคลภายนอกเลือกที่จะทำหลักฐานในการฟ้องร้องโดยไม่ทำหลักฐานเป็นหนังสือ  เช่นนี้จะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  วรรคสอง  กล่าวคือแม้การตั้งตัวแทนไม่ทำหลักฐานเป็นหนัง  ตัวการก็ต้องถูกผูกพันในกิจการที่ตัวแทนได้กระทำลงไป  จะอ้างบทบัญญัติมาตรา  798  ขึ้นปฏิเสธความผูกพันต่อบุคคลภายนอกหาได้ไม่

เมื่อโทและตรีตกลงซื้อขาย  Computer  ในราคา  25,000  บาท  โดยไม่มีการทำหลักฐานสัญญาซื้อขาย  แต่ตรีได้ส่งมอบ  Computer  อันเป็นการชำระหนี้ฝ่ายผู้ขายให้โทตัวแทนฝ่ายผู้ซื้อแล้ว  การซื้อขายครั้งนี้จึงมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีแล้ว  แม้การแต่งตั้งโทจะกระทำด้วยวาจามิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือตาม  เอกก็ต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขาย  Computer  ต่อตรีผู้ขาย  จะอ้างว่าการแต่งตั้งโทมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ  จึงไม่ต้องชำระค่า  Computer  ไม่ได้  เพราะกรณีนี้ได้มีการชำระหนี้  (ทั้งหมด/บางส่วน)  แล้ว  อันถือว่าการซื้อขายครั้งนี้มีหลักฐานในการฟ้องร้อง  ตามสัญญาซื้อขายแล้ว  กรณีจึงไม่ต้องอยู่ในบังคับมาตรา  798  วรรคสอง  เอกตัวการต้องผูกพันชำระค่า  Computer  ให้ตรีบุคคลภายนอก

ข)     โดยหลักแล้ว  ตัวแทนไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จหรือทางปฏิบัติที่ได้กระทำต่อกันมาเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือมีธรรมเนียมว่ามีบำเหน็จ  ตามมาตรา  803

เมื่อสัญญาระหว่างเอกกับโทมิได้กล่าวถึงบำเหน็จ  และไม่มีการประพฤติต่อกันเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเป็นธรรมเนียมว่ามีบำเหน็จแต่อย่างใด  ดังนั้นตามมาตรา  803  โทจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกบำเหน็จตัวแทนจากเอกตัวการ

สรุป 

ก)     ข้ออ้างเอกฟังไม่ขึ้น  เพราะกรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับมาตรา  798

ข)     โทจะฟ้องเรียกบำเหน็จจากเอกไม่ได้  เพราะไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะทำให้ตัวแทนมีสิทธิได้บำเหน็จตามมาตรา  803

 

ข้อ  2  ให้ท่านอธิบายความแตกต่างระหว่างตัวแทนธรรมดากับตัวแทนค้าต่างมาอย่างละ  4  ข้อ  พร้อมทั้งยกหลักมาตราประกอบด้วยทุกข้อ

ธงคำตอบ

ตัวแทนธรรมดา

(1) บุคคลมีอาชีพอะไรก็ได้สามารถเป็นตัวแทนธรรมดาได้  ตามมาตรา  797

(2) บุคคลผู้ไร้ความสามารถก็เป็นตัวแทนธรรมดาได้  ตามมาตรา  799

(3) ตัวแทนธรรมดา  จะมีบำเหน็จหรือไม่มีก็ได้สุดแท้จะตกลงกันตามมาตรา  803

(4) ตัวแทนธรรมดาทำการใดๆ  แทนตัวการ  ตามมาตรา  797

ตัวแทนค้าต่าง

(1) ต้องมีอาชีวะในทางค้าขาย  ตามมาตรา  833

(2) ต้องทำกิจการในนามของตนเองต่างตัวการเป็นคู่สัญญาโดยตรง  ตามมาตรา  844

(3) ผู้ไร้ความสามารถจึงเป็นตัวแทนค้าต่างไม่ได้  ตามมาตรา  836  เพราะอาจต้องเป็นโจทก์เองหรือในทางกลับกันอาจโดนฟ้องเป็นจำเลย

(4) ตัวแทนค้าต่าง  ชอบที่จะได้บำเหน็จ  ตามมาตรา  384

(หากนักศึกษาให้เหตุผลอื่นที่เข้าหลักเกณฑ์นอกเหนือจากแนวคำตอบข้างต้นนี้  การให้คะแนนให้อยู่ในดุลพินิจของอาจารย์ผู้ตรวจ)

 

ข้อ  3  นายแดงมีที่ดิน  1  แปลง  มีความจำเป็นต้องการขายที่ดินโดยเร็วเพื่อนำเงินไปชำระหนี้จำนอง  จึงได้ตกลงให้นายดำเป็นนายหน้าที่ดินแปลงดังกล่าว  และได้ตกลงจะให้ค่าบำเหน็จจำนวน  50,000  บาท  โดยสัญญานายหน้ามีข้อความระบุว่า  มอบให้นายหน้าไปจัดการให้จดทะเบียน  ณ  สำนักงานที่ดินให้เสร็จภายในกำหนด  10  วัน  นับแต่วันทำสัญญานี้  ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว  สัญญานายหน้าเป็นอันระงับสิ้นสุดลง  ต่อมา  นายดำได้พานายเขียวมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายแดง  แต่ไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้ภายใน  10  วัน  หลังจากนั้นนายดำได้มาขอรับค่าบำเหน็จนายหน้าจากนายแดง  โดยอ้างว่าได้จัดการชี้ช่องจนสำเร็จแล้ว  ดังนี้  อยากทราบว่านายแดงต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายดำหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น 

วินิจฉัย

การที่นายแดงได้มอบให้นายดำเป็นนายหน้าขายที่ดิน  1  แปลง  โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าจำนวน  50,000  บาท  แก่นายดำ แม้นายดำจะพานายเขียวมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนายแดงอันถือว่าการชี้ช่องได้ทำกันสำเร็จตามมาตรา  845  วรรคแรก  แล้วก็ตาม  แต่เมื่อสัญญานายหน้าระบุว่า  มอบให้นายหน้าไปจัดการจดทะเบียนให้เสร็จภายใน  10  วัน  นับแต่วันทำสัญญา  ถ้าพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว  สัญญานายหน้าเป็นอันระงับสิ้นสุดลง  อันมีความหมายว่า  เมื่อนายดำติดต่อหาผู้ซื้อได้แล้ว  นายดำจำต้องจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว  นับแต่วันทำสัญญาด้วย  เป็นกรณีที่คู่สัญญามีเจตนากำหนดเวลาไว้แน่นอน  กำหนดเวลาดังกล่าวจึงเป็นข้อสาระสำคัญของสัญญานายหน้าเมื่อครบกำหนด  10  วันแล้ว  และไม่ปรากฏว่านายแดงได้ผ่อนเวลาออกไปอีก  การที่นายดำไม่สามารถจัดการให้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์กันได้  จึงถือว่าสัญญานายหน้าได้สิ้นสุดลงตามสัญญาและไม่มีผลผูกพันคู่กรณี  นายแดงจึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายดำ  ตามมาตรา  845  วรรคแรก  (ฎ. 1118/2533) 

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

 คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดิน  นาย  ข  ได้นำเสนอขายให้กับนาย  ค  นาย  ค  ตกลงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว  แต่เนื่องจากที่ดินแปลงดังกล่าวมีคนต้องการซื้อหลายรายด้วยกัน  ด้วยความกลัวจะไม่ได้ที่ดินแปลงนั้น  นาย  ค  จึงมอบเงินค่าที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับนาย  ข  มาทั้งหมดเลยเป็นจำนวนเงิน  1  ล้านบาท  อยากทราบว่า  นาย  ข  มีอำนาจที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่  อย่างไร  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบในการวินิจฉัย

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  849  การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่านายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา

วินิจฉัย

นาย  ก  มอบหมายนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดิน  นาย  ข  ในฐานะนายหน้ามีอำนาจจะจัดการได้ตามมาตรา  845  ดังต่อไปนี้คือ

1       ตกลง

2       ชี้ช่อง

3       จัดให้ทั้ง  2   ฝ่าย  เข้าทำสัญญากัน

ดังนั้น  การที่นาย  ค  ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวได้มอบเงินค่าที่ดินให้กับนาย  ข  เป็นจำนวนเงิน  1  ล้านบาท  นาย  ข  ไม่มีอำนาจรับเงินจากนาย  ค  ผู้ซื้อที่ดิน  เพราะไม่ได้รับมอบหมายอำนาจจากนาย  ก  ตัวการตามมาตรา  849

สรุป  นาย  ข  ไม่มีอำนาจรับเงินจำนวน  1  ล้านบาท  ดังกล่าวเอาไว้

 

ข้อ  2  บริษัท  Silk  India  จำกัด  เป็นบริษัทที่ตั้งทำการอยู่ที่ประเทศอินเดีย  ประกอบกิจการขายผ้าไหมอินเดีย  ได้แต่งตั้งให้นางฝ้ายคำเป็นตัวแทนทำสัญญาขายผ้าให้แก่นางแพรวาแม่ค้าที่ตลาดพาหุรัด  เมื่อนางฝ้ายคำและนางแพรวาตกลงทำสัญญาซื้อขายผ้าไหมเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ต่อมาถึงกำหนดเวลาส่งมอบผ้าไหมอินเดีย  บริษัท  Silk  India  จำกัด  ไม่นำผ้าไหมมาส่งมอบเป็นเหตุให้นางแพรวาได้รับความเสียหายเช่นนี้  นางแพรวาจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท  Silk  India  จำกัด  และหรือนางฝ้ายคำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  824  ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง  แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิดเผยแล้ว  เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน

วินิจฉัย

บริษัท  Silk  India  จำกัด  ตกลงมอบอำนาจให้นางฝ้ายคำเป็นตัวแทนทำสัญญาซื้อขายผ้ากับนางแพรว  โดยขณะทำสัญญาซื้อขายบริษัท  Silk  India  จำกัด  ตัวการได้อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ  ดังนั้นเมื่อปรากกว่ามีการผิดสัญญาซื้อขายผ้า  นางฝ้ายคำตัวแทนจึงต้องรับผิดต่อนางแพรวาบุคคลภายนอกตามมาตรา  824

นอกจากนี้  นางแพรวาบุคคลภายนอกยังมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท  Silk  Ibdia  จำกัด  ตัวการได้อีก  ตามมาตรา  820  เพราะเมื่อทางฝ้ายคำตัวแทนทำการภายในของอำนาจแล้ว  บริษัท  Silk  India  จำกัด  ตัวการต้องผูกพันกับทางแพรวาบุคคลภายนอกด้วย  ทั้งนี้เพราะมาตรา  824  บัญญัติไว้เพื่อความสะดวกแก่บุคคลในประเทศไทยที่จะฟ้องร้องตัวแทนในประเทศไทยของตัวการที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลไทย  แทนที่จะไปฟ้องในศาลต่างประเทศเท่านั้น  มิได้หมายความว่าตัวการที่อยู่ในต่างประเทศจะไม่มีความรับผิดต่อบุคคลภายนอกที่ทำสัญญากับตัวแทนของตนในประเทศ (ฎ. 50/2501)

สรุป  นางแพรวามีสิทธิฟ้องให้นางฝ้ายคำรับผิดได้ตามมาตรา  824  หรือจะฟ้องให้บริษัท  Silk  India  จำกัด  รับผิดตามมาตรา  820  ก็ได้

 

ข้อ  3  นายเอกเปิดร้านขายเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ย่านบางกะปิ  ได้ตกลงให้นายโทเป็นนายหน้าขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่ตนในราคาเครื่องละ  46,000  บาท  และตกลงจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าในราคาเครื่องละ  2,000  บาท  วันที่  15  ธันวาคม  2548  นายโทได้ไปเสนอขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่นายตรีซึ่งกำลังจะเปิดร้านให้เช่าอินเตอร์เน็ตเพื่อเล่นเกม  นายตรีสนใจ  นายโทจึงได้พานายตรีไปพบนายเอกและได้ตกลงต่อรองราคากันเหลือเครื่องละ  45,000  บาท  นายตรีต้องการจะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน  20  เครื่อง  เป็นเงินรวมทั้งสิ้นจำนวน  900,000  บาท  แต่เนื่องจากนายตรียังมีเงินไม่เพียงพอจึงขอชะลอการซื้อไว้ก่อน  ต่อมาวันที่  1  มีนาคม 2549  นายเอกไปพบนายตรีและได้ชักชวนให้นายตรีซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์  นายตรีจึงได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน  10  เครื่อง  เป็นจำนวนเงิน  450,000  บาท  นายโททราบเรื่องการซื้อคอมพิวเตอร์จึงไปขอค่าบำเหน็จนายหน้าจากนายเอกจำนวน  20,000  บาท  นายเอกไม่ยอมจ่ายโดยอ้างว่าการซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์เกิดจากการชักชวนของตน  ไม่ได้เกิดจากการกระทำของนายโท  ดังนี้อยากทราบว่าข้ออ้างของนายเอกฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  และนายเอกจะต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายโทหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

นายเอกตกลงให้นายโทเป็นนายหน้าขายเครื่องคอมพิวเตอร์  โดยตกลงจะให้ค่าบำเหน็จเครื่องละ  2,000  บาท  นายโทได้ไปเสนอขายเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่นายตรีในวันที่  15  ธันวาคม  2548  แต่นายตรียังมีเงินไม่เพียงพอจึงขอชะลอการซื้อไว้ก่อน  ต่อมาวันที่  1  มีนาคม  2549  นายเอกได้ไปพบนายตรี  และได้ชักชวนให้นายตรีซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์  นายตรีจึงได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากนายเอกจำนวน  10  เครื่อง  การซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์  แม้จะเกิดจากการชักชวนของนายเอก  แต่การที่นายเอกรู้จักนายตรีก็เพราะนายโทเป็นคนพานายตรีไปพบนายเอก  การที่นายเอกไปชักชวนนายตรีให้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์  จึงถือว่าการซื้อขายเครื่องคอมพิวเตอร์สำเร็จย่อมเกิดจากการชี้ช่องของนายโท  ข้ออ้างของนายเอกที่ว่าการซื้อขายเกิดจากการชักชวนของตนไม่ได้เกิดจากการกระทำของนายโทจึงฟังไม่ขึ้น  นายเอกจึงต้องจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายโทตามมาตรา  845

สรุป  ข้ออ้างของนายเอกฟังไม่ขึ้น  นายเอกต้องจ่ายค่านายหน้าแก่นายโท

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า ซ่อม S/2548

การสอบซ่อมภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  เมื่อวันที่  10  สิงหาคม  2549  นายจันทร์ได้ยืมรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์  1  คัน  เพื่อใช้ขับขี่ไปทำธุระโดยตกลงว่าจะนำไปคืนในวันที่  18  สิหาคม  2549  ต่อมาวันที่  15  สิงหาคม  2549  นายอาทิตย์ได้มอบให้นายจันทร์เป็นตัวแทนไปซื้อตู้เย็นให้แก่ตน  1 เครื่อง  ราคา  20,000  บาท  ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง  โดยตกลงให้นายจันทร์ออกเงินทดรองไปก่อน  นายจันทร์ซื้อตู้เย็นเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้นำตู้เย็นไปส่งมอบให้แก่นายอาทิตย์  และได้ขอให้นายอาทิตย์ชำระเงินค่าตู้เย็นจำนวน  20,000  บาท  ให้แก่ตนด้วย  

นายอาทิตย์ได้รับมอบตู้เย็นเรียบร้อยแล้วจึงขอผัดผ่อนว่าจะชำระเงินให้ในวันที่  31  สิงหาคม  2549  แต่นายจันทร์ไม่ยินยอม  ดังนี้อยากทราบว่า

(ก)  นายจันทร์จะยึดตู้เย็นคืนจากนายอาทิตย์จนกว่าจะได้รับเงินทดรองที่ค้างจ่ายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  นายจันทร์จะยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์แทนเงินทดรองจ่ายที่ค้างชำระได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  819  ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ  ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครองของตน  เพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน

วินิจฉัย

(ก)  การที่นายอาทิตย์มอบให้นายจันทร์เป็นตัวแทนไปซื้อตู้เย็นโดยให้ออกเงินทดรองไปก่อนเมื่อซื้อตู้เย็นเสร็จเรียบร้อย  นายจันทร์จึงนำตู้เย็นไปส่งมอบให้แก่นายอาทิตย์  แต่นายอาทิตย์ไม่ยอมชำระเงินให้โดยขอผัดผ่อนไปชำระให้ในภายหลัง  กรณีนี้นายจันทร์จะยึดตู้เย็นคืนจากนายอาทิตย์ไม่ได้  เพราะการที่ตัวแทนจะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ  ของตัวการทรัพย์นั้นจะต้องตกอยู่ในความครอบครองของตน  แต่ตามอุทาหรณ์  นายจันทร์ได้ส่งมอบตู้เย็นให้แก่นายอาทิตย์แล้ว  นายจันทร์ไม่ได้ครอบครองตู้เย็นที่ตนซื้อมาแล้ว  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะยึดหน่วงได้ตามมาตรา  819

(ข)  นายจันทร์จะยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์แทนเงินทดรองที่ค้างชำระไม่ได้  เพราะการที่ตัวแทนจะยึดหน่วงทรัพย์สินของตัวการได้จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ตกอยู่ในความครอบครองของตัวแทนเพราะการเป็นตัวแทนนั้น  คือจะต้องเป็นทรัพย์ที่ตัวการมอบหมายให้ตัวแทนไปกระทำแทน  แต่กรณีรถจักรยานยนต์ที่นายจันทร์ครอบครองมิใช่ทรัพย์ที่เกิดจากการเป็นตัวแทน  แต่เกิดจากการที่นายจันทร์ไปยืมนายอาทิตย์มาใช้  จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา  819

สรุป  นายจันทร์ไม่สามารถยึดตู้เย็นคืนและไม่สามารถยึดหน่วงรถจักรยานยนต์ของนายอาทิตย์ได้

 

ข้อ  2  นายเอก  เป็นเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง  ปรากฏว่านายเอกได้มอบกิจการให้นายโทเป็นผู้จัดการดูแลกิจการปั๊มน้ำมันแทน ปรากฏว่าในระหว่างที่นายโทดูแลกิจการปั๊มน้ำมันนั้น  นายโทได้นำน้ำยาหล่อเย็นและที่ปัดน้ำฝนที่โรงงานของลุงมาขายที่ปั๊มน้ำมันของนายเอก  ปรากฏว่านายโทนำน้ำยาหล่อเย็นไปขายให้นางสาวสวย  โดยนางสาวสวยเข้าใจว่าปั๊มน้ำมันนายเอกจำหน่ายพวกน้ำยาเคมีเกี่ยวกับรถยนต์ด้วย  เช่นนี้ถ้าปรากฏว่าน้ำยาหล่อเย็นที่นายโทเติมให้รถยนต์นางสาวสวยทำให้รถยนต์ของนางสาวสวยเสียหาย  เพราะน้ำยาดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้กับรถของนางสาวสวย  เช่นนี้  นางสาวสวยจะเรียกร้องให้นายเอก  และนายโท  ร่วมกันรับผิดตามสัญญาซื้อขายได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

1       ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

2       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

3       ให้

4       ประนีประนอมยอมความ

5       ยื่นฟ้องต่อศาล

6       มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นายเอก  ได้มอบกิจการให้นายโทเป็นผู้จัดการดูแลกิจการปั๊มน้ำมันแทน  ถือว่าเป็นการตั้งตัวแทนทั่วไป  ตามมาตรา  801  ซึ่งนายโทตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  มีอำนาจที่จะกระทำกิจการได้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกิจการปั๊มน้ำมันตามมาตรา  801  วรรคแรก  เว้นแต่กิจการตามวรรคท้าย  (1)  (6) ที่นายโทตัวแทนไม่มีอำนาจที่จะกระทำได้

ปรากฏว่าในระหว่างที่นายโทดูแลกิจการปั๊มน้ำมัน  นายโทได้นำน้ำยาหล่อเย็นและที่ปัดน้ำฝนที่โรงงานของลุงมาขายที่ปั๊มน้ำมันของนายเอก  ปรากฏว่านายโทนำน้ำยาหล่อเย็นไปขายให้นางสาวสวย  ถือว่านายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน  เพราะปั๊มน้ำมันของนายเอกตัวการไม่ได้จำหน่ายพวกน้ำยาเคมีรถยนต์ด้วย  เช่นนี้นายเอกตัวการไม่ต้องร่วมรับผิด  เมื่อปรากฏว่าน้ำยาหล่อเย็นที่นายโทเติมให้รถยนต์นางสาวสวย  ทำให้รถยนต์ของนางสาวสวยเสียหาย  ตามมาตรา  823  วรรคแรก  เช่นนี้นางสาวสวยจะเรียกร้องให้นายเอกตัวการรับผิดไม่ได้  แม้ว่านางสาวสวยเข้าใจว่าปั๊มน้ำมันนายเอกจำหน่ายพวกน้ำยาเคมีเกี่ยวกับรถยนต์ด้วย  แต่ไม่ปรากฏว่านายเอกตัวการได้ทำให้นางสาวสวยบุคคลภายนอกเชื่อว่านายโทตัวแทน  กระทำการภายในขอบอำนาจแต่อย่างใด

แต่นางสาวสวยมีสิทธิเรียกให้นายโทตัวแทนรับผิดตามสัญญาซื้อขายได้  เพราะเมื่อนายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจต้องรับผิดต่อนางสาวสวยบุคคลภายนอกโดยลำพัง  ตามมาตรา  823  วรรคแรก

 สรุป  นางสาวสวยมีสิทธิเรียกให้นายโทตัวแทนรับผิดตามสัญญาซื้อขาย  เพราะเมื่อนายโทตัวแทนกระทำการนอกขอบเขตอำนาจต้องรับผิดต่อนางสาวสวยบุคคลภายนอกโดยลำพัง  ตามมาตรา  823  วรรคแรก

 

ข้อ  3  นาย  ก  ต้องการจะซื้อที่ดินเพื่อนำมาสร้างโรงงาน  นาย  ก  จึงติดต่อกับนาย  ข  ได้จัดหาที่ดินมาให้นาย  ข  นำผู้แทนของนาย  ก ไปดูที่ดินของนาย  ค  ปรากฏว่านาย  ก  พอใจในที่ดินแปลงดังกล่าวจึงตกลงซื้อ  และนาย  ค  ตกลงขาย  ในที่สุดก็ได้ข้าทำสัญญาซื้อขายกัน  นาย  ข  มาขอค่าบำเหน็จนายหน้ากับนาย  ค  แต่นาย  ค  ไม่ให้โดยอ้างว่านาย  ข  ไม่ได้ตกลงกันเรื่องค่านายหน้า  และนาย  ค  คิดว่านาย  ข  เป็นฝ่ายผู้ซื้อ  อีกทั้งนาย  ค  ก็ไม่ได้มอบหมายให้นาย  ข  เป็นนายหน้าฝ่ายผู้ขาย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ค  จะต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย  ข  หรือไม่  อย่างไร 

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

นาย  ก  ติดต่อกับนาย  ข  ให้จัดหาที่ดินมาให้  นาย  ข  นำผู้แทนของนาย  ก  ไปดูที่ดินของนาย  ค  และนาย  ก  ก็ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว  ดังนี้  การเป็นนายหน้าของนาย  ข  นั้น  เป็นนายหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีการมอบหมายตกลงแต่อย่างใด  ไม่ว่าจะโดยทางตรงตามมาตรา  845  หรือจะโดยทางอ้อมตามมาตรา  846  แม้จะอ้างมาตรา  846  ก็จะต้องมีการมอบหมายแก่กัน  ดังนั้นจึงวินิจฉัยได้ว่า  นาย  ค  จึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้กับนาย  ข  (ฎ. 705/2505)

สรุป  นาย  ค  ไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย  ข

LAW 2011กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  มอบให้นาย  ข  ไปซื้อที่ดินโดยมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ  นาย  ข  ไปซื้อที่ดินของนาย  ค  โดยนาย  ข  ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย  ค  ต่อมานาย  ค  ผิดสัญญา  นาย  ก  จะฟ้องนาย  ค  ให้โอนที่ดินให้ได้หรือไม่  กรณีหนึ่ง

อีกกรณีหนึ่งจากกรณีข้างต้น  หากนาย  ก  มอบหมายนาย  ข  ให้ไปซื้อที่ดินแต่สั่งด้วยปากเปล่า  แล้วให้นำเงินไปวางประจำไว้  นาย  ข  เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย  ค  ดังนี้  หากนาย  ค  ผิดสัญญาไม่โอนที่ดินให้นาย  ก  นาย  ก จะฟ้องนาย  ค  ให้โอนที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยทั้งสองกรณี

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

วินิจฉัย

กรรีแรก  นาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  ไปซื้อที่ดินโดยมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ  และนาย  ข  ตัวแทนได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนาย  ค  นาย  ก  ฟ้องนาย  ค  ได้  เพราะการมอบหมายมีหลักฐานเป็นหนังสือตามมาตรา  798  ทำให้ผูกพันต่อกันระหว่างนาย  ก  กับนาย  ค  ถือว่ามีนิติสัมพันธ์ต่อกันตามกฎหมาย

ส่วนกรณีที่สอง  หากนาย  ก  มอบหมายให้นาย  ข  ไปซื้อที่ดินด้วยปากเปล่า  แต่ให้นำเงินไปวางประจำไว้  และนาย  ข  ก็เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนาย  ค  ดังนี้  นาย  ก  ก็ฟ้องนาย  ค  ได้เช่นกัน  เพราะกรณีที่  2  นี้  เป็นเรื่องการทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ที่จะต้องทำเป็นหนังสือ  หรือมีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสอแต่เพียงอย่างเดียว  อาจจะใช้วิธี

(1) วางประจำ (วางมัดจำ)  หรือ

(2) ชำระหนี้บางส่วนก็ได้  (ทั้งนี้ตามมาตรา  456  วรรคสอง)

ดังนั้น  นาย  ก  จึงฟ้องนาย  ค  ได้  ถือว่ามีหลักฐานครบถ้วนโดยวิธีวางประจำแล้ว  หากเลือกใช้วิธีวางประจำไว้  แม้การตั้งตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ระหว่างนาย  ก  กับนาย  ค  เพราะกรณีนี้ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798

สรุป  นาย  ก  สามารถฟ้องบังคับนาย  ค  ให้โอนที่ดินได้ทั้งสองกรณี

 

ข้อ  2  นาย  ก  ซื้อที่ดินของนาย  ข  ความจริงนาย  ก  ซื้อแทนนาย  ค  ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายขณะที่จะเซ็นสัญญาต่อกันนาย  ข  ไปรู้มาแล้วว่านาย  ก  เป็นเพียงตัวแทน  โดยความจริงนาย  ค  เป็นผู้ซื้อแต่นาย  ก  เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาจะซื้อจะขาย  ดังนี้ตามปัญหาให้ท่านวินิจฉัยว่าน่าจะเป็นข้อกฎหมายเรื่องใด

ธงคำตอบ

มาตรา  797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน  มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตรา  806  ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆซึ่งตัวทแนได้ทำไว้แทนตนก็ได้  แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการไซร้  ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน  และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่

วินิจฉัย

มาตรา  806  มีหลักว่าก่อนเซ็นสัญญา  หรือขณะเซ็นสัญญาบุคคลภายนอก  หรือคู่สัญญาจะรู้ไม่ได้เลยว่าใครคือตัวการ  จะต้องคิดว่าตัวแทนที่ออกหน้านั้นเป็นตัวการโดยสุจริต

ตามปัญหา  ขณะเซ็นสัญญา  นาย  ข  ได้รู้ความจริงแล้วว่า  นาย  ก  เป็นเพียงตัวแทนไม่ใช่ตัวการ  และรู้ด้วยว่า  นาย  ค  คือตัวการ  ดังนี้จึงไม่สามารถปรับเข้าได้กับมาตรา  806  เพราะมาตรา  806  คู่สัญญาจะต้องไม่รู้ว่าใครคือคัวการ  ดังนั้นตามปัญญาจึงเป็นเพียงเรื่องตัวการตัวแทนตามปกติธรรมดาตามมาตรา  797  ไม่ใช่เรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา  806 (ฎ. 3179/2528

สรุป  กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องตัวการตัวแทนปกติธรรมดาตามมาตรา  797  มิใช่เรื่องตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามาตรา  806

 

ข้อ  3  ให้ท่านอธิบายโดยสังเขปว่าบำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้กี่ประการ  อะไรบ้าง  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยจะให้ค่าบำเหน็จ  นาย  ข  นำที่ดินเสนอขายให้นาย  ค  และนาย  ค  ตกลงซื้อที่ดินแปลงนั้น  ต่อมานาย  ก  ได้โอนที่ดินให้นาย  ค  และนาย  ค  ได้มอบเงินค่าที่ดินราคา  10  ล้านบาท  ซึ่งเป็นค่าที่ดินทั้งหมด  นาย  ก  มอบเงินค่าบำเหน็จนายหน้าให้นาย  ข  เป็นจำนวนเงิน  3  แสนบาท  แต่นาย  ข  ไม่พอใจบอกว่าน้อยไปโดยนาย  ข  ต้องการ  5  เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย  นาย  ก  บอกว่าจะให้เท่านี้   แต่นาย  ข  เถียงว่าตนควรจะได้  5  แสนบาท  คือ  ห้าเปอร์เซ็นต์ของยอดขาย  นาย  ก  บอกว่าไม่ได้ตกลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษร  นาย  ก  ยืนยันจะให้ค่าบำเหน็จนายหน้าตามความพอใจของนาย  ก  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่านาย  ข  ควรจะได้ค่าบำเหน็จนายหน้าเท่าใด

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้  2  ประการ  คือ

1       การมอบหมายตกลงกันชัดแจ้งตามมาตรา  845

2       แม้ไม่ชัดแจ้ง  แต่พฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าน่าจะได้บำเหน็จนายหน้าตามมาตรา  846  คือ  ได้บำเหน็จนายหน้าโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยจะให้ค่าบำเหน็จ  นาย  ข  เสนอขายที่ดินให้นาย  ค  และนาย  ค  ซื้อที่ดินแปลงนั้นในราคา  10  ล้านบาท  ดังนี้  เป็นกรณีที่นาย  ก  ตกลงว่า  จะให้บำเหน็จนายหน้าแก่นาย  ข  แต่มิได้ตกลงว่าจะให้เท่าใดก็ต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียมตามมาตรา  846  วรรคสอง  เมื่อทางพิจารณาไม่อาจฟังเป็นยุติได้  ก็ให้ถือเอาตามธรรมเนียมคือร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันจริง  ตามคำพิพากษาฎีกาที่  3518/2526

ดังนั้น  นาย  ข  ควรได้  5  แสนบาท  คือร้อยละ  5   ของยอดขายแท้จริง

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า ซ่อม 1/2549

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  ตั้งตัวแทนคือ  นาย  ข  ให้ไปกู้เงินด้วยปากเปล่าโดยมิได้ทำหนังสือแต่งตั้งเป็นหนังสือ  นาย  ข  ไปกู้เงินนาย  ค  นาย  ข ในฐานะเป็นคู่สัญญาลงชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้กู้เป็นจำนวนเงิน  100,000  บาท  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วยว่า  นาย  ข  มีอำนาจลงชื่อในสัญญากู้หรือไม่  และการกู้เงินที่ว่านี้มีผลผูกพันนาย  ก  ตัวการหรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นาย  ก  ตั้งนาย  ข  เป็นตัวแทนไปกู้เงินด้วยปากเปล่า  มิได้ทำหนังสือแต่งตั้งเป็นหนังสือเป็นการตั้งตัวแทน  โดยฝ่าฝืนข้อกฎหมายมาตรา  798  ดังนั้น  การที่นาย  ข  ตัวแทนลงชื่อในสัญญากู้ในฐานะผู้กู้  จึงไม่มีอำนาจที่จะลงชื่อได้  ถือว่าตัวแทนลงชื่อในสัญญากู้โดยปราศจากอำนาจ  ผลก็คือสัญญากู้ไม่มีผลผูกพันตัวการตามมาตรา  823  วรรคแรก  นาย  ค  จึงฟ้องร้องบังคับตัวการคือ  นาย  ก  ไม่ได้

สรุป  นาย  ข  ไม่มีอำนาจลงชื่อในสัญญากู้  และการกู้เงินดังกล่าวไม่มีผลผูกพัน  นาย  ก  ตัวการ

 

ข้อ  2  นายเอกแต่งตั้งนายโทเป็นผู้จัดการร้านจำหน่ายและซ่อมรุจักรยานยนต์  ปรากฏว่าในระหว่างที่นายเอกไปเที่ยวต่างจังหวัด

(1) นายหนึ่ง  ได้นำรถจักรยานยนต์มาจำนำเพื่อประกันหนี้ค่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่นายหนึ่งได้ซื้อไปจากร้านของนายเอก  โดยส่งมอบให้นายโท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าการจำนำรถจักรยานยนต์ครั้งนี้  นายเอกมีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าหนี้  ผู้รับจำนำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(2) นายสอง  นำตึกแถวอาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ข้างร้านนายเอกมาให้นายโทเช่าเป็นระยะเวลา  5  ปี  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า  ถ้าหากทำสัญญาเช่ามาได้  3  ปี  นายสองผู้ให้เช่าไม่ประสงค์จะให้นายเอกเช่าต่อ  นายสองจะปฏิเสธไม่ให้นายเอกเช่าต่อได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  801  ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป  ท่านว่าจะทำกิจใดๆในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อมทำได้ทุกอย่าง

แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่  คือ

1       ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์

2       ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป

3       ให้

4       ประนีประนอมยอมความ

5       ยื่นฟ้องต่อศาล

6       มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นายเอกแต่งตั้งนายโทเป็นผู้จัดการร้านจำหน่ายและซ่อมรถจักรยานยนต์  ถือว่านายโทเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไป  ซึ่งมีอำนาจดำเนินกิจการได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการจำหน่ายและซ่อมรถจักรยานยนต์ตามมาตรา  801  ปรากฏว่าในระหว่างที่นายเอกไปเที่ยวต่างจังหวัด

 1       นายหนึ่ง  ได้นำรถจักรยานยนต์มาจำนำเพื่อประกันหนี้ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่นายหนึ่งได้ซื้อไปจากร้านของนายเอก  โดยส่งมอบให้นายโท  การจำนำรถจักรยานยนต์ครั้งนี้  นายเอกมีสิทธิอ้างความเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำได้  เพราะการซื้อขายรถจักรยานยนต์อยู่ในขอบอำนาจของนายโทตัวแทน  เมื่อปรากฏว่านายหนึ่งค้างชำระค่ารถจักรยานยนต์จึงได้นำรถจักรยานยนต์ของตนมาจำนำประกันหนี้ค่าซื้อรถ  นายโทตัวแทนก็มีอำนาจที่จะกระทำได้  และไม่ปรากฏว่าเป็นการต้องห้ามตามมาตรา  801  วรรคสอง  (1)-(6)  แต่อย่างใด  จึงอยู่ในขอบอำนาจที่นายโทสามารถที่จะกระทำได้และเมื่อกระทำไปการจำนำผูกพันนายเอกตัวการตามมาตรา  820 

2       นายสอง  นำตึกแถวอาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ข้างร้านนายเอกมาให้นายโทเช่าเป็นระยะเวลา  5  ปี  ถ้าหากทำสัญญาเช่ามาได้  3  ปี  นายสองผู้ให้เช่าไม่ประสงค์จะให้นายเอกเช่าต่อ  นายสองจะปฏิเสธไม่ให้นายเอกเช่าต่อไม่ได้  เพราะนายโทตัวแทนมีอำนาจไปเช่าตึกแถวได้  แม้ตึกจะเป็นอสังหาริมทรัพย์  และเป็นการเช่าเกินกว่า  3  ปีขึ้นไปก็ตาม  เพราะกรณีต้องห้ามคือเป็นกรณีที่ตัวแทนนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่าเกินกว่า  3  ปี  ขึ้นไป  ตามมาตรา  801  วรรคสอง  (2)  ดังนั้น  นายสองผู้ให้เช่าต้องผูกพันจนกว่าจะครบ  5  ปี  จึงไม่อาจปฏิเสธไม่ให้นายเอกตัวการตัวเช่าต่อได้ตามมาตรา  820

สรุป

1       นายเอกตัวการ  ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนำ  ตามมาตรา  820

2       นายเอกมีสิทธิเช่าตึกแถวต่อจนกว่าจะครบ  5  ปีได้  ตามมาตรา  820

 

ข้อ  3  นายวิทย์เป็นจ้าของที่ดิน  1  แปลง  ต้องการจะให้เช่ามีกำหนดเวลา  10  ปี  การเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน  3  ปี  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  นายวิทย์จึงได้มอบให้นายวุฒิเป็นนายหน้าหาคนมาเช่าโดยตกลงค่าบำเหน็จเป็นเงินจำนวน  10,000  บาท  ทั้งสองได้ทำสัญญากันโดยระบุว่า  ให้นายวุฒิไปจัดการพาผู้เช่าให้ไปจดทะเบียนการเช่า  ณ  สำนักงานที่ดินกับนายวิทย์ให้สำเร็จเรียบร้อยด้วย  ต่อมา  นายวุฒิได้พานายเฉลิมผู้เช่ามาตกลงทำสัญญาเช่ากับนายวิทย์เรียบร้อยแล้ว  แต่มิได้มีการจดทะเบียนการเช่า  เพราะนายเฉลิมผู้เช่าผิดสัญญา  นายวุฒิได้มาขอค่าบำเหน็จนายหน้าจากนายวิทย์โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าเรียบร้อยแล้ว  ดังนี้ อยากทราบว่านายวิทย์จะต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายวุฒิหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี  ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

นายวิทย์ได้มอบให้นายวุฒิเป็นนายหน้าหาคนมาเช่าที่ดิน  ทั้งสองได้ทำสัญญากันโดยระบุให้นายวุฒิพาผู้เช่าไปจดทะเบียนการเช่า  ณ สำนักงานที่ดินให้สำเร็จเรียบร้อยด้วย  ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน  คือถือเอาการจดทะเบียนการเช่าระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าที่สำนักงานที่ดินเป็นเงื่อนไขตามความสำเร็จของนายหน้า  แม้นายวุฒิจะพานายเฉลิมมาทำสัญญาเช่ากับนายวิทย์เรียบร้อยแล้ว  แต่เมื่อยังมิได้มีการจดทะเบียนการเช่าเพราะผู้เช่าผิดสัญญา  นายวุฒิจึงไม่มีสิทธิเรียกค่านายหน้าจากนายวิทย์  เนื่องจากเงื่อนไขไม่สำเร็จตามมาตรา  845  วรรคแรก  ตอนท้าย  (ฎ. 1901/2506

สรุป  นายวิทย์จึงไม่ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่นายวุฒิ

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายแอลได้รับมอบอำนาจด้วยวาจาจากนายคิระ  ให้ดูแลกิจการขายหนังสือการ์ตูนแทนนายคิระ  เพราะนายคิระจะต้องเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น  ในระหว่างที่นายคิระไม่อยู่  นายไรส์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง  DEATH  NOTE  มาเสนอขายแผ่นภาพยนต์  DVD  ให้นายแอล  ซึ่งนายแอลเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการทำเป็นหนังสือการ์ตูนมาก่อน  ซึ่งหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมจากวัยรุ่น  (OTOKO)  เป็นอย่างมาก  นายแอลจึงได้ทำสัญญาซื้อแผ่น  DVD  มูลค่า  60,000  บาท  จากนายไรส์มาจำหน่ายที่ร้านของนายคิระ  เมื่อนายคิระกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น  นายคิระเห็นแผ่น  DVD  ภาพยนตร์  DEATH  NOTE  ก็มิได้ว่ากล่าวอะไรนายแอลเพราะตนเองก็คิดว่าน่าจะขายได้  แต่ปรากฏว่าวัยรุ่นต่างไปดูภาพยนตร์ที่โรงภาพยนต์เพราะเป็นช่วงปิดเทอม  ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายแผ่น  DVD  ได้จนขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า

1       นายคิระจะต้องรับผิดชำระค่าแผ่น  DVD  ให้นายไรส์เป็นเงิน  60,000  บาทหรือไม่  เพราะเหตุใด

2       นายคิระจะเรียกร้องให้นายแอลรับผิดที่ขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาทได้หรือไม่  เพราะการตั้งตัวแทนกระทำด้วยวาจามิได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้

ธงคำตอบ

มาตรา  797  อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น  คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน  มีอำนาจทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  เรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้

มาตรา  798  กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย

มาตรา  812  ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ  เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี  เพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี  หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี  ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

มาตรา  823  ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี  หรือทำนอกทำเหนือขอบอำนาจก็ดี  ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน  ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตนเอง  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ  หรือทำนอกเหนือขอบอำนาจ

วินิจฉัย

การที่นายคิระมอบอำนาจให้นายแอลด้วยวาจา  ให้ดูแลกิจการร้านขายหนังสือการ์ตูน  ถือว่านายแอลเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจทั่วไป  จึงมีอำนาจทำได้ทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการร้านขายหนังสือการ์ตูน  ตามมาตรา  801

1       ในระหว่างทำการแทน  นายไรส์บุคคลภายนอกนำแผ่น  DVD  เรื่อง  DEATH  NOTE  มาจำหน่ายให้ราคา  60,000  บาท  ซึ่งนายแอลตัวแทนได้รับซื้อไว้  ถือว่าการซื้อแผ่น  DVD  ครั้งนี้เป็นเรื่องที่นายแอลตัวแทนกระทำการนอกขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน  นายแอลโดยหลักต้องรับผิดโดยลำพัง  แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายคิระตัวการได้ยอมรับเอาสิ่งที่นายแอลตัวแทนกระทำลงไป  ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน  ดังนั้น  นายคิระตัวการจึงต้องผูกพันต่อนายไรส์บุคคลภายนอก  ตามมาตรา  823  วรรคแรก  ประกอบมาตรา 801  วรรคแรก

2       ตามกฎหมายตัวแทน  มาตรา  797  มิได้บัญญัติกำหนดแบบหรือหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตัวการตัวแทนไว้  ดังนั้น  แม้นายคิระตัวการจะได้ให้สัตยาบันสัญญาซื้อแผ่น  DVD  ไปแล้วก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่านายคิระตัวการต้องเสียหาย  และขาดทุนเป็นเงิน  30,000  บาท  นายคิระตัวการก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากนายแอลตัวแทนได้  ตามมาตรา  812

ในการนี้นายแอลจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าการตั้งตัวแทนมิได้มีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร  มิได้มีหนังสือตั้งตัวแทน  ขึ้นมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่  เพราะไม่อยู่ในบังคับของมาตรา  798  ที่ใช้บังคับเฉพาะตัวการกับบุคคลภายนอกเท่านั้น

สรุป

1       นายคิระตัวการต้องรับผิดต่อนายไรส์  เพราะให้สัตยาบันแก่การซื้อแผ่น  DVD  ของนายแอลตัวแทน  ตามมาตรา  823  วรรคแรก

2       นายคิระมีสิทธิเรียกร้องให้นายแอลตัวแทนรับผิดค่าเสียหาย  ตามมาตรา  812

 

ข้อ  2  ให้ท่านยกข้อเปรียบเทียบระหว่างตัวแทนธรรมดากับตัวแทนค้าต่างมาอย่างละ  5  ข้อ  พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายขึ้นมาเปรียบเทียบแต่ละข้อด้วย

ธงคำตอบ

ข้อเปรียบเทียบระหว่างตัวแทนธรรมดากับตัวแทนค้าต่าง  มีดังนี้

 

ตัวแทนธรรมดา

ตัวแทนค้าต่าง

 

1       จะมีอาชีพอะไรก็ได้  ตามมาตรา  797

2       จะต้องทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทน  ตามมาตรา  798

3       บำเหน็จตัวแทนจะมีก็ได้  ไม่มีก็ได้  แล้วแต่จะตกลงกัน  ตามมาตรา  803

4       ตัวแทนธรรมดาไม่มีหน้าที่ที่จะต้องแถลง  ความเป็นไปของเนื้องาน  และแถลงบัญชี  เว้นแต่ต้องการจะร้องขอตามมาตรา  809

5       ผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทนธรรมดาได้  ตามมาตรา  799

 

1       จะมีอาชีพในทางค้าขายเท่านั้น  ตามมาตรา  833

2       ไม่ต้องทำเป็นหนังสือในการตั้งตัวแทนค้าต่างเช่นกับตัวแทนธรรมดา  ตามมาตรา  798

3       จะต้องได้บำเหน็จ  ตามมาตรา 834

4       เป็นหน้าที่ของตัวแทนค้าต่างว่าจะต้องแถลงความเป็นไปและแถลงบัญชีเมื่องานเสร็จ  ตามมาตรา  841

5       ห้ามบุคคลไร้ความสามารถเป็นตัวแทนค้าต่าง  เพราะอาจจะต้องเป็นโจทก์หรือเป็นจำเลยเองได้  ตามมาตรา  836

(หากไม่มีเลขมาตราในแต่ละข้อไม่ได้คะแนน)

 

ข้อ  3  บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้กี่ประการอะไรบ้าง  ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขปประกอบมาด้วยกรณีหนึ่ง

กรณีที่สอง  นาย  ก  มอบนาย  ข  ให้เป็นนายหน้าขายที่ดินโดยตกลงว่าจะให้ค่านายหน้า  แต่ไม่ได้ตกลงว่าจะให้กี่เปอร์เซ็นต์  นาย  ข  นำที่ดินเสนอขายให้แก่นาย  ค  นาย  ค  ตกลงซื้อ  และนาย  ก  กับนาย  ค  เข้าทำสัญญากัน  เมื่อนาย  ก  โอนที่ดินให้นาย  ค  แล้ว  นาย  ก ได้จ่ายบำเหน็จนายหน้า  2  เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย  แต่นาย  ข  ไม่ยอม  โดยจะขอค่านายหน้า  5  เปอร์เซ็นต์จากยอดขาย  นาย  ก  ไม่ยอมจ่ายให้โดยจะให้แค่  2  เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  นาย  ข  ไม่ยอมจึงฟ้องนาย  ก  เรียกค่านายหน้า  5  เปอร์เซ็นต์  ดังนี้  หากท่านเป็นศาลท่านจะสั่งว่านาย  ข  ควรจะได้ค่านายหน้าเท่าใด  ให้ท่านตอบพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบด้วย   

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

มาตรา  846  วรรคแรก  ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น  โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า

ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้  ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม

วินิจฉัย

กรณีที่  1  บำเหน็จนายหน้าเกิดขึ้นได้  2  ประการ

1       เกิดจากการมอบหมายโดยตรงตามมาตรา  845  วรรคแรก  ซึ่งมีหลักดังนี้

ก  ตกลงระหว่างผู้ขายกับนายหน้า

ข  จะต้องเป็นผู้ชี้ช่อง

ข  ให้  2  ฝ่ายเข้าทำสัญญากัน

2       เกิดจากการมอบหมายโดยปริยายตามมาตรา  846  ซึ่งมีหลักดังนี้

ก  ต้องมีการมอบหมายเช่นกัน  แต่ไม่ใช่มอบหมายโดยตรง  เช่น  มาตรา  845

ข  จากพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่ายอมทำให้เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จ

ค  ให้ถือว่าจากพฤติการณ์ได้ตกลงกันโดยปริยายว่าจะมีค่าบำเหน็จ

กรณีที่  2  บำเหน็จนายหน้า  คู่สัญญาจะต้องตกลงกันให้ชัดแจ้ง  มิเช่นนั้นต้องถือว่าตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม  ตามมาตรา  846  วรรคสอง  ตามปัญหาเมื่อทั้งคู่ตกลงกันไม่ได้ว่าให้ค่านายหน้าเท่าใดแน่นอน  ก็ต้องถือเอาตามธรรมเนียมร้อยละ  5  ของราคาที่ซื้อขายกันจริง  ดังนั้น  ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล  จะสั่งว่า   ข   ควรจะได้ค่านายหน้าตามธรรมเนียมคือ  5  เปอร์เซ็นต์  ตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่  3581/2526

LAW 2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2011 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายวันมอบอำนาจให้นายเดือนนำรถบรรทุกสิบล้อออกให้เช่า  โดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนเป็นเงิน  300  บาท  ปรากฏว่านายเดือนนำรถบรรทุกไปให้นายปีเช่าเป็นระยะเวลา  1  เดือน  โดยคิดค่าเช่าวันละ  2,000  บาท  เมื่อนายปีนำรถออกไปขับได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น  นายปีได้รับบาดเจ็บและหลบหนีไป  ส่วนยางล้อด้านซ้ายของรถบรรทุกระเบิดเสียหายเป็นเงิน  7,000  บาท  เมื่อนายวันและนายเดือนทราบเรื่องได้พากันไปที่เกิดเหตุ  ทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรง  นายเดือนจึงเรียกร้องให้นายวันจ่ายบำเหน็จ  แต่นายวันได้ปฏิเสธไม่จ่ายและเรียกร้องให้นายเดือนชดใช้ค่าเสียหาย  7,000  บาท  และค่าเช่า  2,000  บาท  ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่าข้ออ้างของใครฟังขึ้นหรือฟังไม่ขึ้น  เพราะเหตุใด

 ธงคำตอบ

มาตรา  803  ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ  เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ  หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ  หรือเคยเป็นธรรมเนียมมีบำเหน็จ

มาตรา  817  ในกรณีที่มีบำเหน็จตัวแทนถ้าไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าบำเหน็จนั้นพึงจ่ายให้ต่อเมื่อการเป็นตัวแทนได้สิ้นสุดลงแล้ว

มาตรา  820  ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน

 วินิจฉัย

การที่นายวันมอบอำนาจให้นายเดือนนำรถบรรทุกสิบล้อออกให้เช่าโดยตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนเป็นเงิน  300  บาท  เมื่อนายวันตัวการตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายเดือนตัวแทนจึงทำให้นายเดือนมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามมาตรา  803

นายเดือนตัวแทนนำรถบรรทุกไปให้นายปีบุคคลภายนอกเช่าเป็นระยะเวลา  1  เดือน  โดยคิดค่าเช่าวันละ  2,000  บาท  เมื่อนายปีนำรถออกไปขับได้เกิดอุบัติเหตุขึ้น  ยางล้อด้านซ้ายของรถบรรทุกระเบิดเสียหายเป็นเงิน  7,000  บาท  เห็นว่าเมื่อนายเดือนตัวแทนได้กระทำการในขอบอำนาจแล้วนายวันตัวการต้องผูกพันกับนายปีผู้เช่าที่เป็นบุคคลภายนอกตามสัญญาเช่าตามมาตรา  820  เมื่อรถบรรทุกได้รับความเสียหาย  และนายวันไม่ได้รับชำระค่าเช่า  

นายวันตัวการต้องไปว่ากล่าวเอากับนายเดือนบุคคลภายนอกตามสัญญาเช่า  ดังนั้นข้ออ้างของนายวันจึงฟังไม่ขึ้น  เมื่อกิจการนั้นผูกพันตัวการแล้ว  ตัวแทนย่อมหลุดพ้นจากความผูกพันหรือความรับผิดตามมาตรา  820  ทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้น  ก็มิได้เกิดเพราะความผิดของตัวแทน  นายวันตัวการจะปฏิเสธไม่จ่ายและเรียกร้องให้นายเดือนชดใช้ค่าเสียหายและค่าเช่าไม่ได้

เมื่อระหว่างนายวันและนายเดือนไม่ได้ตกลงเรื่องการจ่ายบำเหน็จว่าต้องจ่ายเมื่อใด  กฎหมายกำหนดให้จ่ายเมื่อการเป็นตัวการตัวแทนสิ้นสุดลง  ตามมาตรา  817  เมื่อปรากฏว่าการเป็นตัวการตัวแทนสิ้นสุดแล้ว  นายเดือนตัวแทนจึงมีสิทธิเรียกร้องบำเหน็จจากนายวันตัวการได้

สรุป  ข้ออ้างของนายวันตัวการฟังไม่ขึ้น  แต่ข้ออ้างของนายเดือนฟังขึ้น  ตามมาตรา  803  มาตรา  817  และมาตรา  820

 

ข้อ  2  นายสันติเป็นเจ้าของร้านทองรูปพรรณซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช  นายมิ่งขวัญต้องการขายทองคำแท่งหนัก  100  บาท  จึงได้มอบให้นายสันติเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำของตน  โดยตกลงว่าถ้าขายได้จะจ่ายเงินบำเหน็จจำนวน  20,000  บาท  ให้แก่นายสันติ  ปรากฏว่าก่อนนำทองคำแท่งมาฝากขายราคาทองคำแท่งบาทละ  10,500  บาท  นายมิ่งขวัญได้บอกแก่นายสันติว่าถ้าราคาทองคำแท่งสูงกว่านี้ให้นายสันติขายทองคำแท่งให้ด้วย  ต่อมาวันที่  15  กุมภาพันธ์  2550  ปรากฏว่าราคาทองคำแท่งตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ  10,300  บาท  นายสันติต้องการซื้อทองคำดังกล่าวไว้เองเพื่อหวังผลกำไรในภายหน้าจึงได้โทรศัพท์ไปแจ้งให้นายมิ่งขวัญทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง  นายมิ่งขวัญไม่ได้บอกปัดในทันที  ดังนี้อยากทราบว่าสัญญาซื้อขายทองคำแท่งเกิดขึ้นหรือไม่  และนายสันติจะได้รับเงินบำเหน็จจากนายมิ่งขวัญหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา 843  ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถานแลกเปลี่ยน  ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้  เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดยสัญญาในกรณีเช่นนั้น  ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กันก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น  ณ  สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

เมื่อตัวการบอกกล่าวเช่นนั้น  ถ้าไม่บอกปัดเสียในที  ท่านให้ถือว่าตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว

อนึ่งแม้ในกรณีเช่นนั้น  ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้

วินิจฉัย  

นายมิ่งขวัญได้มอบให้นายสันติเป็นตัวแทนค้าต่างขายทองคำแท่ง  หนัก  100  บาท  และตกลงจะจ่ายค่าบำเหน็จให้แก่นายสันติ  ต่อมาราคาทองคำแท่งตามตลาดโลกลดลงเหลือบาทละ   10,300  บาท  นายสันติต้องการซื้ทองคำแท่งดังกล่าวจึงโทรศัพท์ไปแจ้งให้นายมิ่งขวัญทราบว่าตนจะซื้อทองคำแท่งดังกล่าวไว้เอง  เมื่อนายมิ่งขวัญทราบว่านายสันติต้องการจะซื้อ  ถ้าตนไม่ต้องการจะขายจะต้องบอกปัดเสียในทันที  แต่ปรากฏว่านายมิ่งขวัญไม่บอกปัดในทันทีที่ได้รับแจ้ง  กรณีนี้ให้ถือว่านายมิ่งขวัญตัวการเป็นอันได้สนองรับการนั้นแล้ว  สัญญาซื้อขายทองคำแท่งจึงเกดขึ้นตามมาตรา  843  วรรคสอง

ส่วนกรณีบำเหน็จ  นายมิ่งขวัญตกลงว่าจะให้บำเหน็จแก่นายสันติถ้าขายทองคำแท่งได้เป็นเงิน  จำนวน  20,000  บาท  แม้นายสันติจะเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งเหล่านั้นเอง  นายสันติก็ย่อมคิดเอาบำเหน็จได้ตามมาตรา  843  วรรคท้าย

สรุป  สัญญาซื้อขายทองคำแท่งเกิดขึ้นและนายสันติมีสิทธิได้รับบำเหน็จจากนายมิ่งขวัญ

 

ข้อ  3  นายคิมเป็นเจ้าของที่ดินที่ต้องการขายโดยมีนางฟ้าเป็นภรรยาถูกต้องตามกฎหมาย  นางฟ้าติดต่อให้นายอากาศเป็นผู้ขายซึ่งนายคิมรู้เห็นด้วย  นายอากาศนำเสนอที่ดินแปลงดังกล่าวขายให้นายน้ำและนายน้ำตกลงซื้อ  นายอากาศนำนายน้ำเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับนายคิมและต่อมาได้โอนกันในที่สุด  หลังจากนั้นนายอากาศได้มาขอค่านายหน้าจากนายคิม  แต่นายคิมปฏิเสธไม่จ่ายโดยอ้างว่าไม่ได้มอบหมายให้นายอากาศเป็นนายหน้า  นายอากาศไม่พอใจจึงได้ฟ้องเรียกค่านายหน้าหากท่านเป็นศาลท่านจะสั่งให้นายคิมจ่ายค่านายหน้าหรือไม่อย่างไร  ให้ท่านวินิจฉัยพร้อมทั้งยกหลักกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา 845  วรรคแรก  บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้า  เพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี  จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จ  เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น  ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้  ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ

วินิจฉัย

สัญญาให้ค่านายหน้าซึ่งภริยาเป็นผู้ตกลงติดต่อกับนายหน้าให้ขายที่ดินซึ่งมีชื่อของสามี  โดยสามีรู้เห็นยินยอมด้วยและยอมรับเอาผลตามที่ภริยาติดต่อให้นายอากาศเป็นนายหน้าจนได้มีการขายที่ดินได้สมความตั้งใจ  ซึ่งถือว่านายอากาศเป็นนายหน้าได้สมบูรณ์  ตามมาตรา 845  ครบถ้วนแล้ว  แม้จะมิได้ติดต่อกับนายคิมโดยตรงก็ตาม  การที่นายอากาศติดต่อกับนางฟ้าซึ่งนายคิมผู้สามีรู้เห็นด้วย  แม้ไม่ได้มอบหมายโดยตรงแต่ก็ถือได้ว่านายคิมยอมรับผลนั้น  นยคิมก็ต้องรับผิดจ่ายค่านายหน้าให้นายอากาศและถือได้ว่านางฟ้าเป็นตัวแทนของนายคิมผู้สามีในการทำสัญญานายหน้า(ฎ. 575/2509)

สรุป  นายคิมต้องจ่ายค่านายหน้าแก่นายอากาศ

WordPress Ads
error: Content is protected !!