LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  บู๊มีเรื่องโกรธเคืองบอยจึงมาดักรอบทำร้าย  บู๊เห็นบอยเดินผ่านมาพอได้ระยะบู๊ใช้ท่อนไม้ฟาดไปที่ขาของบอยอย่างแรง  แต่ปรากฏว่าขาข้างที่ถูกฟาดเป็นขาเทียม  ทำให้ขาเทียมหักไม่สามารถเดินได้ตามปกติ  ต้องรอใส่ขาเทียมอันใหม่นานกว่า  1  เดือน  ดังนี้  บู๊จะมีความผิดต่อร่างกายฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย  หรือจิตใจของผู้นั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ต้องระวางโทษ

มาตรา  297  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายอันตรายสาหัส  ต้องระวางโทษ

อันตรายสาหัสนั้น  คือ

(3) เสียแขน  ขา  มือ  เท้า  นิ้ว  หรืออวัยวะอื่นใด

(8)  ทุพพลภาพ  หรือเจ็บป่วยด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน  หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ประกอบด้วย

1       ทำร้าย

2       ผู้อื่น

3       จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

บู๊ใช้ท่อนไม้ฟาดไปที่ขาของบอยอย่างแรง  แต่ขาข้างที่ถูกฟาดเป็นขาเทียม  บู๊จึงมีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายตามมาตรา  295 ประกอบมาตรา  80  เพราะเป็นการทำร้ายไม่สำเร็จการกระทำของบู๊ไม่บรรลุผล  ไม่เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของบอย  และขาเทียมก็ไม่ใช่อวัยวะที่เป็นร่างกายแม้จะทำให้ไม่สามารถเดินได้ตามปกตินานเกินกว่า  1  เดือน  ก็ไม่ใช่อันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297 (3)  หรือ  (8)  เพราะไม่ถือเป็นอันตรายแก่ร่างกายของบอยตั้งแต่ต้นแล้ว

สรุป  บู๊มีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายตามมาตรา  295  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  2  นายเสรีมีเจตนาจะเอาตัว  ด.ช.เอ  บุตรของนางเดือนไปเพื่อเรียกค่าไถ่  เพราะรู้ว่านางเดือนเป็นผู้มีฐานะดี  นายเสรีได้สอบถามแม่ค้าคนหนึ่งซึ่งขายขนมข้างสนามเด็กเล่นของหมู่บ้านว่าเด็กคนใดเป็น  ด.ช.เอ  แม่ค้าชี้ไปที่  ด.ช.บี  นายเสรีจึงเข้าไปหลอก  ด.ช.บี  พาขึ้นรถไปด้วยกันแล้วนำตัวไปกักขังไว้ที่บ้านร้างแห่งหนึ่งแถวชานเมือง  ต่อมาประมาณ  2  ชั่วโมง  พอนายเสรีรู้ว่าเด็กที่เอาตัวไปไม่ใช่บุตรของนางเดือนจึงนำตัว  ด.ช.บี  กลับไปส่งที่สนามเด็กเล่นตามเดิม  โดยไม่ได้เรียกค่าไถ่แต่อย่างใด  ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายเสรีเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพในฐานเอาเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  61  ผู้ใดเจตนาจะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ได้กระทำต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสำคัญผิด  ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทำโดยเจตนาหาได้ไม่

มาตรา  313  ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป

(2) เอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีไปโดยใช้อุบายหลอกลวง  ขู่เข็ญ  ใช้กำลังประทุษร้าย  ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม  หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด  หรือ

(3) หน่วงเหนี่ยว  หรือกักขังบุคคลใด

ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวเด็กอายุยังไม่เกิน  15  ปีไปเรียกค่าไถ่  ตามมาตรา  313  วรรคแรก (1)  ประกอบด้วย

1       เอาตัวเด็กอายุไม่เกิน  15  ปีไป

2       โดยเจตนา

3       เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

นายเสรีมีเจตนาจะเอาตัว  ด.ช.เอ  บุตรของนางเดือนไปเพื่อเรียกค่าไถ่  แต่สำคัญผิดหลอกเอาตัว  ด.ช.บี  ขึ้นรถไปด้วยกันแล้วนำตัวไปกักขังไว้ที่บ้านร้างแห่งหนึ่งแถวชานเมือง  ดังนี้นายเสรีจะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่มีเจตนาจะลักพาตัว  ด.ช.บี  ไปเรียกค่าไถ่มิได้  ตามมาตรา  61

เมื่อนายเสรีได้ลงมือเอาเด็กอายุไม่เกิน  15  ปี  ไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  ก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา  313  วรรคแรก (1)  แล้ว  และแม้นายเสรีจะนำตัว  ด.ช.บี  กลับไปส่งที่สนามเด็กเล่นตามเดิม  และแม้จะยังไม่ได้เรียกค่าไถ่ก็ตาม  ทั้งนี้เพราะมาตรา  313  บัญญัติไว้แต่เพียงว่า  เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  หาจำต้องได้ค่าไถ่มาแล้วจึงจะมีความผิด  ดังนี้การจับคนไปเพื่อเรียกค่าไถ่เป็นความผิดสำเร็จ  เมื่อนำตัวคนไปโดยเจตนาพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่แม้ยังไม่ได้ติดต่อเรียกค่าไถ่ก็ตาม

สรุป  การกระทำของนายเสรีเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพในฐานเอาตัวเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ตามมาตรา  313  วรรคแรก(1)

 

ข้อ  3  ป่านกับฝ้ายเป็นเพื่อนสนิทกัน  ป่านมีนิสัยชอบเล่นการพนัน  วันหนึ่งป่านขอยืมเงินฝ้าย  แต่ฝ้ายไม่ยอมให้เพราะรู้ว่าป่านจะต้องนำเงินไปเล่นการพนัน  ทั้งสองจึงทะเลาะกัน  พอตกดึกป่านไปแอบอยู่ท้ายซอยซึ่งไม่มีดวงไฟส่องทาง  และไม่สามารถทราบได้เลยว่าใครเป็นใคร  โดยป่านตั้งใจว่าจะไปลักทรัพย์คนที่เดินผ่านมา  พอดีฝ้ายออกมาตามหาป่านเพื่อขอคืนดีด้วย  ฝ้ายได้เดินมาถึงท้ายซอยป่านจึงเข้าไปใช้มือซ้ายกระชากคอเสื้อ  แล้วใช้มือขวากระตุกสร้อยคอที่ฝ้ายสวมอยู่ขาดออกแล้วเอาสร้อยไป  แรงกระชากคอเสื้อ  ทำให้คอของฝ้ายเป็นรอยบวมแดง  ไม่ถึงกับเป็นบาดแผลมีเลือดออกปรากฏว่าฝ้ายได้ร้องตะโกนให้คนช่วยเหลือ  ป่านซึ่งจำเสียงของฝ้ายได้จึงบอกว่าไม่ต้องตะโกนแล้วโยนสร้อยไปทางฝ้ายและวิ่งหลบหนีไป  ดังนี้  ป่านกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  336  ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  336  ประกอบด้วย

1       ลักทรัพย์

2       โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า

3       โดยเจตนา

ป่านมีเจตนาลักทรัพย์โดยทุจริต  โดยใช้มือซ้ายกระชากคอเสื้อ  แล้ใช้มือขวากระตุกสายสร้อยคอที่ฝ้ายสวมอยู่ขาดออกจากกัน  เป็นการกระทำต่อเนื่องกันในทันที  เพื่อประสงค์เอาสร้อยคอของฝ้ายเป็นสำคัญ  และเป็นเพียงวิธีเอาทรัพย์ของฝ้ายเท่านั้น  แม้ว่าการกระชากคอเสื้อจะทำให้คอของฝ้ายเป็นรอยบวมแดงก็ตาม  ก็เจตนาเพื่อประสงค์ต่อทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  มิใช่มีเจตนาใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อเอาทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ได้  การกระทำของป่านเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์สำเร็จ  แม้ว่าจะเปลี่ยนใจคืนทรัพย์ให้กับฝ้ายก็ตาม  ก็ไม่ทำให้กลับกลายเป็นพยายามวิ่งราวทรัพย์หรือวิ่งราวทรัพย์ไม่สำเร็จ

สรุป  ป่านกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  336

 

ข้อ  4  ในวันที่  1  กันยายน  2548  แดงได้ทำเช็คปลอมขึ้นฉบับหนึ่ง  และแดงได้เข้าไปซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากเต็นท์ขายรถยนต์ของขาว  ขาวได้ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ให้แดงในราคา  400,000  บาท  โดยแดงได้ตกลงตามสัญญาซื้อขายกับขาวว่า  ขาวจะนำรถยนต์ไปจดทะเบียนให้เสร็จสิ้นใน  7  วันนับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย  โดยแดงตกลงชำระเงินด้วยเช็คของธนาคารแห่งหนึ่ง  ซึ่งจะรับเงินตามเช็คฉบับนี้ในวันที่  1  กันยายน  2548  ส่วนขาวจะมอบรถยนต์ให้แดงเมื่อจดทะเบียนรถยนต์เรียบร้อยแล้ว  เมื่อแดงได้มอบเช็คฉบับที่แดงปลอมขึ้นเองให้ขาวไปแล้ว  แดงพูดกับขาวว่าแดงขอทดลองขับรถดูว่ามีสภาพดีหรือไม่  ขาวจึงมอบรถยนต์ให้แดงลองไปขับดู  เมื่อแดงได้รับมอบรถยนต์จากขาวแล้ว  แดงจึงรีบขับรถยนต์คันนี้ไปขายให้เหลืองทันทีในราคา  100,000  บาท  ตามที่ได้วางแผนกันไว้  ขณะเดียวกันนี้เองขาวได้โทรไปถามธนาคารตามเช็คที่แดงมอบให้  ขาวจึงทราบว่าเป็นเช็คปลอม  ให้ท่านวินิจฉัยว่าแดงมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  341  ผู้ใดโดยทุจริต  หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง  และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ  ถอน  หรือทำลาย  เอกสารสิทธิ  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  ประกอบด้วย

1       หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก)  แสดงข้อความเป็นเท็จ  หรือ

(ข)  ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2       โดยการหลอกลวงนั้น

(ก)  ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม

(ข)  ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

การที่แดงทำเช็คปลอมขึ้นเพื่อไปทำสัญญาซื้อขายรถยนต์จากขาว  จนได้รับมอบรถยนต์จากขาวไป  ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์การหลอกลวงโดยมีการวางแผนเป็นขั้นๆ  เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อแล้วส่งมอบทรัพย์ให้  แสดงให้เห็นว่าแดงมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามสัญญาตั้งแต่ต้นแล้ว  เป็นการหลอกลวงขาวตั้งแต่ทำสัญญาอันเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในปัจจุบัน  แม้ขาวจะตกลงทำสัญญาซื้อขายรถให้แดงนั้นกรรมสิทธ์ในรถยนต์จะตกเป็นของแดงตั้งแต่ทำสัญญาซื้อขายกันก็ตาม

เมื่อแดงได้รับมอบรถยนต์จากขาวแล้ว  แม้จะอ้างว่าเอารถไปลองขับดูก็ตาม  ก็เป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากขาว  เมื่อเจตนาพิเศษของแดงเป็นการกระทำโดยทุจริต  เพราะต้องการเอารถไปขายให้เหลือง  ดังนั้นแดงจึงมีความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341

สรุป  แดงมีความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341

LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  สุเทพตกงานมากว่า  3  เดือน  ไม่มีเงินใช้  เห็นอรสายืนอยู่ตามลำพังที่ป้ายรถโดยสาร  สุเทพตรงเข้าแย่งกระเป๋าสตางค์ที่อรสาสะพายอยู่  อรสาไม่ยอมเกิดยื้อยุดกัน  สุเทพผลักอรสาล้มลงก้นกระแทกพื้นทำให้อรสาซึ่งกำลังตั้งครรภ์ได้  7  เดือน  เกิดอาการปวดท้องถูกนำส่งโรงพยาบาล  ทารกคลอดออกมาก่อนกำหนดแพทย์พยายามช่วยอย่างสุดความสามารถ  แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทำให้ทารกถึงแก่ความตายในอีก  2  วันต่อมา  ส่วนอรสานอนรักษาตัวอยู่  5  วันก็หายเป็นปกติ  ดังนี้  สุเทพมีความผิดต่อชีวิตหรือร่างกายฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย  หรือจิตใจของผู้นั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ต้องระวางโทษ

มาตรา  297  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายอันตรายสาหัส  ต้องระวางโทษ…

อันตรายสาหัสนั้น  คือ

(5)  แท้งลูก

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ประกอบด้วย

1       ทำร้าย

2       ผู้อื่น

3       จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายได้รับอันตรายสาหัสถึงแท้งลูกตามมาตรา  297 (5)  นั้น  จะต้องเป็นกรณีที่กระทำให้ลูกในครรภ์ของผู้ถูกทำร้ายคลอดออกมาในลักษณะที่ลูกนั้นไม่มีชีวิตรอดหรือตายในครรภ์

นางอรสาคลอดบุตรก่อนกำหนดเวลาในลักษณะที่เด็กยังมีชีวิตอยู่ต่อมาอีก  2  วัน  แล้วจึงตาย  มิใช่เป็นกรณีที่ลูกในครรภ์ของผู้ถูกทำร้ายคลอดออกมาในลักษณะที่ลูกนั้นไม่มีชีวิตรอดหรือตายในครรภ์  ย่อมไม่เป็นการแท้งลูก  และไม่เป็นอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297  (5)  สุเทพจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายอรสาจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม  เมื่ออรสาล้มก้นกระแทกพื้น  เกิดอาการปวดท้องต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลอรสานอนรักษาตัวอยู่ถึง  5  วัน  จึงจะหายเป็นปกติ  ถือว่าเป็นอันตรายแก่กายแล้ว  ดังนั้นสุเทพจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น  ตามมาตรา  295  (สุเทพไม่มีความผิดฐานฆ่าเด็ก ตามมาตรา  288  เพราะขณะสุเทพทำร้ายอรสานั้น  ทารกในครรภ์ยังไม่มีสภาพบุคคล  ตาม  ป.พ.พ. มาตรา  15)

สรุป  สุเทพมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายอรสา  ตามมาตรา  295

 

ข้อ  2  นายเล็กจำนำสร้อยไว้กับนายใหญ่โดยนายใหญ่ได้สวมสร้อยไว้ที่คอตลอดเวลา  นายเล็กไม่มีเงินไถ่คืนแต่ก็อยากได้สร้อยไปสวมใส่เพื่อให้มารดาเห็นว่าสร้อยยังอยู่กับตน  นายเล็กจึงขอยืมสร้อยคืนไปชั่วคราวแต่นายใหญ่ไม่ยอม  วันเกิดเหตุเวลาประมาณ  09.00  น  ขณะที่นายใหญ่ยืนอยู่ที่ป้ายจอดรถประจำทาง  นายเล็กได้ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญให้นายใหญ่คืนสร้อยให้  ทันใดนั้นได้มีรถตำรวจแล่นมา  นายใหญ่จึงชี้มือไปทางด้านหลังของนายเล็กพร้อมกับร้องขึ้นว่าตำรวจมา  ขณะที่นายเล็กมองตามที่นายใหญ่ชี้  นายใหญ่ก็ถือโอกาสวิ่งไปหาตำรวจและในที่สุดนายเล็กก็ถูกจับกุมตัวไว้ได้  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายเล็กจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใด  หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใด

2       โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง  หรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย

3       จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้น  หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

4       โดยเจตนา

นายเล็กจำนำสร้อยไว้กับนายใหญ่โดยนายใหญ่ได้สวมสร้อยไว้ที่คอตลอดมา  นายเล็กได้ใช้ปืนขู่เข็ญให้นายใหญ่คืนสร้อยให้  เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพตามมาตรา  309  แต่นายใหญ่ยังไม่ได้คืนสร้อยให้ตามที่ถูกข่มขืนใจ  การกระทำของนายเล็กจึงเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  ตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80

สรุป  นายเล็กมีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  3  แดงเข้าไปในบริษัทขายรถยนต์แห่งหนึ่งและแดงได้พบกับเขียวพนักงานขายรถยนต์  แดงสอบถามถึงราคารถยนต์  และแดงแจ้งกับเขียวว่าแดงต้องการซื้อรถยนต์รุ่น  CX  2000  ซึ่งแดงบอกกับเขียวว่าแดงขอลองขับดูก่อนได้หรือไม่  เขียวจึงมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แดงลองขับดู แดงขับรถวนเวียนอยู่ในบริเวณบริษัทได้รอบหนึ่ง  แล้วแดงได้ขับรถออกจากบริษัทไปทันที  หลังจากนั้นแดงนำรถยนต์คันนี้ไปขายให้กับนายบุญมาเพื่อนของตนที่รอรับซื้อรถเพื่อจะนำไปขายยังประเทศลาวต่อไป  ดังนี้แดงมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

แดงแจ้งต่อเขียวพนักงานขายรถยนต์ว่าต้องการซื้อรถยนต์และขอลองขับดูก่อน  การที่เขียวมอบรถยนต์ให้แดงลองขับดูนั้น  ถือไม่ได้ว่าแดงได้รับมอบการครอบครองรถยนต์  เพราะเป็นการมอบให้ไปลองขับเท่านั้น  แดงเพียงยึดถือทรัพย์คือรถยนต์  การครอบครองรถจึงอยู่ที่บริษัทผู้ขาย  เมื่อแดงนำรถไปขายจึงเป็นการเอารถยนต์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต  มีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334  (หรืออาจจะถือว่าแดงหลอกเอาการครอบครองรถยนต์ไปจากผู้อื่นจึงเป็นการเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตนั่นเอง)

สรุป  แดงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  นายศักดิ์มีอาชีพรับซื้อขายของเก่าและวัตถุโบราณ  ถ้าเป็นวัตถุโบราณขนาดใหญ่ก็จะขายต่อให้กับนายแสง  ซึ่งมีร้านขายวัตถุโบราณในห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งเป็นประจำโดยไม่ได้คิดกำไรมากนัก  วันหนึ่งลูกค้าประจำของนายแสงอยากได้พระพุทธรูปสมัยอยุธยา  นายแสงจึงติดต่อกับนายศักดิ์เพื่อช่วยหาพระพุทธรูปดังกล่าวให้  โดยส่งเงินไปให้กับนายศักดิ์ไว้เป็นจำนวน   100,000  บาท  ปรากฏว่านายศักดิ์สามารถหาพระพุทธรูปตามที่นายแสงต้องการได้  โดยซื้อมาจากนายสมบูรณ์ในราคา  100,000  บาท  แต่วันเดียวกันนั้นเองนายสุขสันต์ได้มาขอซื้อจากนายศักดิ์  150,000  บาท  นายศักดิ์เกิดความโลภเพราะเห็นว่าได้กำไร  จึงได้ขายให้กับนายสุขสันต์ไป  ผ่านไป  1  สัปดาห์  นายแสงได้ติดต่อสอบถามและบอกกับนายศักดิ์ว่าถ้าไม่สามารถหาได้ก็ให้ส่งเงินคืน  ปรากฏว่านายศักดิ์ไม่ยอมคืนเงินให้กับนายแสง  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่านายศักดิ์กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

นายศักดิ์และนายแสง  เป็นพ่อค้าซื้อขายวัตถุโบราณ  นายแสงต้องการพระพุทธรูป  จึงติดต่อให้นายศักดิ์ช่วยหาพระพุทธรูปดังกล่าวและส่งเงินไปให้นายศักดิ์ในฐานะผู้ซื้อ  นายศักดิ์เป็นผู้ขาย  นายศักดิ์ไม่ได้รับเงินไว้ในฐานะตัวแทน  จึงไม่ถือว่านายศักดิ์ครอบครองเงิน  เมื่อนายศักดิ์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองเงินของนายแสง  การที่นายแสงแจ้งแก่นายศักดิ์ว่าถ้าไม่สามารถหาได้ให้ส่งเงินคืน  แต่นายศักดิ์ไม่ยอมคืน  การไม่ส่งเงินคืนของนายศักดิ์จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาทางแพ่ง  การกระทำของนายศักดิ์ไม่เป็นความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

สรุป  นายศักดิ์ไม่มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  นายสนองขับรถบนทางหลวงจากจังหวัดลำปางมุ่งหน้าไปจังหวัดแพร่  โดยมีนายสว่างขับรถตามหลังมา  นายสว่างได้ให้สัญญาณไปขอแซงหลายครั้งแต่นายสนองก็เร่งเครื่องยนต์ขับรถเร็วขึ้นไม่ยอมให้แซง  เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนบนไหล่เขา  ด้านหนึ่งของถนนเป็นภูเขาส่วนอีกด้านเป็นเหวลึกประมาณ  30  เมตร  นายสว่างได้ขับรถเร่งความเร็วแซงขึ้นและหมุนพวงมาลัยขับรถปาดหน้ารถของนายสนองแล้วเหยียบเบรกกะทันหัน  นายสนองจึงต้องเหยียบเบรกและขับรถหลบไปทางซ้ายทำให้รถตกลงไปในเหวข้างทางแต่ตัวรถไปติดกับต้นไม้ใหญ่รถจึงหยุด  นายสนองได้รับอันตรายคือขาซ้ายหักต้องเข้าเฝือกรักษาอยู่  40  วัน  จึงหาย  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายสว่างจะเป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตหรือร่างกายฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  59  วรรคสอง  กระทำโดยเจตนา  ได้แก่  กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

 วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

การกระทำที่จะเป็นความผิด  ตามมาตรา  288  นั้น  นอกจากจะมีการกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการฆ่าบุคคลอื่นแล้ว  ผู้กระทำยังต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  วรรคสอง  ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายในด้วย  อาจจะเป็นเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็ได้

สำหรับเจตนาเล็งเห็นผล  หมายความว่า  ผู้กระทำเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้  ดังนั้นหากผู้กระทำเล็งเห็นว่าผลนั้นจะเกิดขึ้น  แม้ในที่สุดผลจะไม่เกิด  ผู้กระทำต้องรับผิดฐานพยายาม

นายสว่างเจตนาขับรถปาดหน้ารถของนายสนอง  เพื่อให้นายสนองต้องหักหลบจะได้ตกลงไปในเหวข้างทาง  ซึ่งลึกประมาณ  30  เมตร  ที่เกิดเหตุเป็นไหล่เขา  ถ้ารถตกลงไปย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าจะต้องทำให้คนในรถถึงแก่ความตาย  การกระทำของนายสว่างจึงเห็นได้ว่ามีเจตนาฆ่านายสนอง  ซึ่งเป็นเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา  59  วรรคสอง  เมื่อปรากฏว่านายสนองไม่ถึงแก่ความตาย  นายสว่างจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตายตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80

สรุป  นายสว่างมีความผิดฐานพยายามฆ่าคนตาย

 

ข้อ  2  นายเสน่ห์กับ  น.ส.แอน  อายุ  17  ปีเศษ  เป็นคู่รักกัน  วันหนึ่ง  น.ส.แอน  ได้มาหานายเสน่ห์ที่บ้านหลังจากที่บุคคลทั้งสองได้นั่งฟังเพลงและพูดคุยกันที่ห้องรับแขกได้ประมาณ  1  ชั่วโมง  นายเสน่ห์ก็ชวน  น.ส.แอนเข้าไปในห้องนอน  ต่อมาบิดาของ  น.ส.แอนก็ตามมาที่บ้านของนายเสน่ห์และพบน.ส.แอนอยู่กับนายเสน่ห์ในห้องนอนโดยยังไม่ได้ร่วมประเวณีกัน  บิดาของน.ส.แอน  จึงพาตัว  น.ส.แอนกลับบ้านแล้วได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายเสน่ห์ในข้อหาพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร  ในชั้นสอบสวนนายเสน่ห์ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิด  เพราะที่ชวน  น.ส.แอนเข้าไปในห้องนอนก็เพื่อจะดูหนังวีดีโอ  ประกอบกับยังไม่ได้มีการร่วมประเวณีกันแต่อย่างใด  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  นายเสน่ห์จะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  319  วรรคแรก  ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี  แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  เพื่อหากำไร  หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย  ตามมาตรา  319  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       พรากผู้เยาว์อายุกว่า  15  ปี  แต่ยังไม่เกิน  18  ปี

2       ไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล

3       โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

4       โดยเจตนา

5       เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร

การพราก  หมายถึง  การพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  ทำให้ความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าว  ถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน  อันเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบุคคลดังกล่าว

น.ส.แอน  อายุ  17  ปีเศษ  ได้มาหานายเสน่ห์ที่บ้าน  โดยนายเสน่ห์มิได้ชักชวนแต่อย่างใด  จึงเป็นกรณีที่ผู้เยาว์ไปที่บ้านนายเสน่ห์โดยสมัครใจ  มิได้เกิดจากการที่จำเลยชักพาไป  การกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการ  พราก  ตามนัยของมาตรา  319  วรรคแรก  นายเสน่ห์จึงไม่มีความผิดตามมาตรา  319  วรรคแรก

เมื่อไม่เป็นการพราก  แม้นายเสน่ห์จะชวน  น.ส.แอน  เข้าไปในห้องนอน  โดยมีเจตนาจะร่วมประเวณีกัน  แต่ยังไม่ได้ร่วมประเวณีนั้นก็ไม่เป็นการพรากไปเพื่อการอนาจาร

สรุป  นายเสน่ห์ไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา  319  วรรคแรก

 

ข้อ  3  แดงและขาวเป็นเพื่อนกันได้เข้าไปรับประทานอาหารในภัตตาคารแห่งหนึ่ง  เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ  แดงเป็นผู้จ่ายเงินค่าอาหารทั้งหมด  แดงบอกขาวว่าวันนี้แดงขอเลี้ยงข้าวเอง  แดงได้ให้เงินกับพนักงานเก็บเงินไป  โดยส่งธนบัตรใบละ  1,000  บาท  ให้ซึ่งเป็นค่าอาหารเพียง  200  บาท  พนักงานรับเงินไปแล้วได้นำเงินทอน  800  บาท  เพื่อมาทอนให้กับแดงในขณะนั้นเองแดงเกิดปวดท้องขึ้นมาทันที  แดงเห็นพนักงานร้านอาหารเดินมาอยู่ห่างประมาณ  10  เมตร  แดงบอกกับขาวว่าทนไม่ไหวแล้วจะไปเข้าห้องน้ำให้ขาวรับเงินทอนไว้เดี๋ยวตนจะกลับมาเอา  แดงรีบไปเข้าห้องน้ำในภัตตาคารแห่งนั้นและเมื่อแดงทำธุระเสร็จ  แดงได้กลับมาที่โต๊ะอาหาร  ขาวส่งเงินทอนให้แดงเพียง  700  บาท  พร้อมกับบอกแดงว่าเงินทอนนับเรียบร้อยแล้วไม่ต้องนับอีก  แดงรับเงินจากขาวไปเพียง  700  บาท  โดยไม่รู้ว่าขาวยักเอาไว้เสีย  100  บาท  ดังนี้ท่านเห็นว่าการกระทำของขาวจะเป็นความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

การลักทรัพย์  เป็นเรื่องการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปจากการครอบครองของผู้อื่นโดยทุจริต  หรือการแย่งการครอบครองนั่นเอง

การครอบครองทรัพย์  หมายถึง  การยึดถือทรัพย์โดยมีเจตนาที่จะยึดถือไว้เพื่อตนเอง  และผู้ครอบครองมีฐานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือทรัพย์นั้นอย่างแท้จริง

แดงเป็นผู้จ่ายเงินค่าอาหารทั้งหมด  โดยส่งธนบัตรใบละ  1,000  บาท  แต่ค่าอาหารเพียง  200  บาท  พนักงานนำเงิน  800  บาท  เพื่อทอนให้แดง  แต่แดงให้ขาวรับเงินทอนไว้แทนเพื่อตนจะได้ไปเข้าห้องน้ำ  ดังนี้เงินทอน  800  บาทดังกล่าวยังคงเป็นเงินของแดง  เป็นกรณีที่แดงผู้เสียหายให้ขาวรับเงินทอนไว้แทนเป็นการชั่วคราวชั่วระยะเวลาที่แดงไปเข้าห้องน้ำ  มิได้เจตนาสละการครอบครองให้  ถือว่าเงินยังอยู่ในครอบครองของแดงผู้เสียหาย  ขาวเป็นเพียงผู้ยึดถือแทนแดงเท่านั้น  แต่ไม่ได้ครอบครองเงินนั้นเพราะแดงเป็นผู้ครอบครอง (แดงมิได้ออกไปจากภัตตาคาร)  เมื่อขาวยักเงินไว้  100  บาท  จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  เป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของแดงโดยสุจริตแล้ว  ขาวมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334  หาใช่เป็นความผิดฐานยักยอกไม่

สรุป  ขาวมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  นางเดือนได้ฝากเงินไว้กับนางฟ้า  20,000  บาท  หลังจากนั้นประมาณปีเศษนางเดือนจึงไปขอรับเงินคืน  นางฟ้าบอกว่าเงินที่รับฝากได้นำไปใช้หมดแล้วยังไม่มีคืนให้และขอผัดผ่อนโดยไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝากต่อมานางเดือนได้ทวงถามอีกหลายครั้งนางฟ้าก็ขอผัดผ่อนเรื่อยมา  จนกระทั่งนางเดือนได้ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนางฟ้า  เมื่อพนักงานสอบสวนเรียกไปสอบถามนางฟ้าจึงได้ปฏิเสธว่าไม่เคยรับฝากเงินจากนางเดือน  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านางฟ้าจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

ในเรื่องฝากเงินนี้  ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์  มาตรา  672  ได้บัญญัติไว้เป็นใจความว่า  ผู้รับฝากไม่พึงต้องคืนเป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับมี่ฝาก  แต่จะต้องใช้เงินให้ครบจำนวน  ผู้รับฝากมีสิทธิจะนำเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้  หากแต่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น แม้ว่าเงินที่ฝากจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม  ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเป็นจำนวนดังว่านั้น  กฎหมายดังกล่าวมานี้แสดงว่าผู้รับฝากเงินมีสิทธิเอาเงินที่ฝากไปใช้ได้  โดยมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวน  ทั้งนี้แม้จะไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ฝากก็ตาม

นางเดือนผู้เสียหายรับว่าครั้งแรกได้ไปทวงเงินจากนางฟ้า  โดยนางฟ้าบอกว่าเอาเงินไปใช้หมดแล้วยังไม่มีคืนให้  และขอผัดผ่อนโดยไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ได้รับฝาก  หลังจากนั้นนางเดือนผู้เสียหายไปทวงเงินจากนางฟ้าหลายครั้ง  แต่นางฟ้าขอผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งนางเดือนไปแจ้งความดำเนินคดี  นางฟ้าจึงปฏิเสธว่าไม่เคยรับฝากเงินจากนางเดือน  ดังนี้  แสดงว่าขณะที่นางฟ้าเอาเงินไปใช้หมดนางฟ้าไม่มีเจตนาทุจริตยักยอกเงินนั้น   เพราะนางฟ้าได้ขอผัดผ่อนการชำระเงินอยู่  จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง  การที่นางฟ้าปฏิเสธในชั้นสอบสวนในภายหลังว่าไม่เคยรับฝากเงินกับนางเดือนผู้เสียหายไม่ทำให้นางฟ้ามีความผิดฐานทุจริตยักยอกเงินที่รับฝาก

สรุป  นางฟ้าจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ  1  หนึ่งแอบเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของเอกพจน์  เวลาประมาณตีหนึ่ง  เห็นเอกพจน์นั่งฟุบที่โต๊ะทำงานเข้าใจว่าหลับ  หนึ่งเกรงว่าเอกพจน์จะตื่นขึ้นมาขัดขวางจึงใช้ด้ามปืนตีศีรษะเอกพจน์ให้หมดสติ  แต่ความจริงเอกพจน์หัวใจวายถึงแก่ความตายตั้งแต่ตอนสี่ทุ่มเศษ  ดังนี้  หนึ่งจะมีความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย  หรือจิตใจของผู้นั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ประกอบด้วย

1       ทำร้าย

2       ผู้อื่น

3       จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

ผู้อื่น  หมายความว่า  บุคคลใดๆซึ่งมิใช่ผู้กระทำความผิด  และบุคคลนั้นต้องมีสภาพบุคคลซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในขณะถูกทำร้ายด้วย

การที่หนึ่งใช้ด้ามปืนตีศีรษะเอกพจน์ที่ได้ถึงแก่ความตายไปตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว  หนึ่งไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  แม้ว่าหนึ่งจะมีเจตนาทำร้าย  และได้ลงมือทำร้ายโดยใช้ด้ามปืนตีศีรษะเอกพจน์  แต่ขณะที่หนึ่งลงมือกระทำนั้นเอกพจน์ได้ตายไปก่อนแล้ว  จึงไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น  เพราะเอกพจน์ไม่มีสภาพบุคคล  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  15  แล้ว  ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดองค์ประกอบภายนอกและขาดองค์ประกอบความผิดของมาตรา  295  หนึ่งผู้กระทำจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายและไม่เป็นการพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  80  หรือมาตรา  81  ด้วย  เพราะที่จะเป็นการพยายามกระทำความผิดได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบความผิดฐานนั้นครบทุกประการแล้ว

สรุป  หนึ่งไม่มีความผิดเกี่ยวกับชีวิตหรือร่างกาย

 

ข้อ  2  น.ส.สร้อยเป็นข้าราชการสังกัดหน่วยงานหนึ่ง  น.ส.สร้อยได้มีความรักและความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายเก่งซึ่งเป็นเพื่อนของนายอาทิตย์ทั้งที่นายเก่งก็มีภริยาอยู่แล้ว  น.ส.สร้อยต้องการเอาใจนายเก่งจึงได้กู้ยืมเงินจากนายอาทิตย์เพื่อซื้อของใช้ต่างๆ  ให้นายเก่งเป็นประจำ  ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้  น.ส.สร้อยก็ไม่ยอมชำระหนี้  นายอาทิตย์ได้ทวงถามหลายครั้ง  น.ส.สร้อยก็ขอผัดผ่อน  วันเกิดเหตุขณะที่  น.ส.สร้อยนั่งพูดคุยกับบุคคลอื่นอยู่ในบ้าน  นายอาทิตย์ได้เข้าไปในบ้านและบังคับให้  น.ส.สร้อยหาเงินมาชำระหนี้  โดยขู่เข็ญว่า  ถ้าน.ส.สร้อยไม่ชำระหนี้จะไปบอกภริยาของนายเก่งว่า  น.ส.สร้อยเป็นชู้กับนายเก่งและจะขอให้ผู้บังคับบัญชาของ น.ส.สร้อยลงโทษทางวินัยด้วย  น.ส.สร้อยยังไม่ได้ชำระหนี้ตามที่ถูกขู่เข็ญ  บุคคลอื่นซึ่งอยู่ในบ้านก็ได้แอบโทรศัพท์แจ้งตำรวจมาจับกุมตัวนายอาทิตย์ไว้ได้เสียก่อน  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่า  การกระทำของนายอาทิตย์จะเป็นความผิดอาญาฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

มาตรา  326  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม  โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น  หรือถูกเกลียดชัง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

การที่นายอาทิตย์บังคับให้  น.ส.สร้อยหาเงินมาชำระหนี้โดยขู่เข็ญว่าจะบอกเรื่องที่  น.ส.สร้อยเป็นชู้กับนายเก่งให้ภริยาของนายเก่งรู้  และจะขอให้ผู้บังคับบัญชาลงโทษทางวินัยแก่  น.ส.สร้อยนั้น  เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชื่อเสียงของ  น.ส.สร้อย  ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ  แต่  น.ส.สร้อยยังไม่ได้กระทำการชำระหนี้ตามที่ถูกบังคับขู่เข็ญ  การกระทำของนายอาทิตย์จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นฯ  ตามมาตรา  309  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

นอกจากนี้ขณะที่นายอาทิตย์พูดกับ  น.ส.สร้อยว่า  น.ส.สร้อยเป็นชู้กับนายเก่ง  ก็มีบุคคลอื่นอยู่ด้วย  ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะได้ยินคำพูดของนายอาทิตย์  จึงเป็นการใส่ความ  น.ส.สร้อยต่อบุคคลที่สาม  โดยประการที่น่าจะทำให้  น.ส.สร้อย  เสียชื่อเสียง  การกระทำของนายอาทิตย์จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  326  อีกกระทงหนึ่งด้วย

สรุป  การกระทำของนายอาทิตย์จึงเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่น  ตามมาตรา  309  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80  และความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา  326

 

ข้อ  3  นายสิงห์ขับรถยนต์กระบะไปซื้อของที่ตลาด  ระหว่างทางรถของนายสิงห์เสียจึงจอดข้างทาง  นายสาขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านมาพบจึงขันอาสาซ่อมรถให้นายสิงห์  ปรากฏว่านายสาซ่อมรถยนต์ของนายสิงห์จนกระทั่งเย็นแต่ซ่อมไม่เสร็จ  นายสิงห์จึงขอยืมรถจักรยานยนต์ของนายสาโดยอ้างว่าจะไปหายืมเงินมาซื้ออะไหล่  นายสายินยอมให้ไป  ต่อมาประมาณหนึ่งชั่วโมงนายสิงห์ขับรถจักรยานยนต์กลับมาและบอกว่าหายืมเงินไม่ได้  นายสิงห์จึงขอยืมรถจักรยานยนต์ของนายสาอีกครั้งอ้างว่าจะไปหารถยนต์มาลากจูงรถยนต์ของนายสิงห์  นายสาก็ยินยอมให้ไป  ปรากฏว่านายสิงห์นำรถจักรยานยนต์ไปขายเอาเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว  ดังนี้  นายสิงห์มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

การที่นายสา  มอบรถจักรยานยนต์ให้นายสิงห์ยืมไปดังกล่าว  เป็นการส่งมอบการครอบครองรถให้แก่นายสิงห์โดยชอบด้วยกฎหมาย  นายสิงห์จึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น  เมื่อนายสิงห์นำรถไปขายจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นนั้นไปโดยทุจริต  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายนายสิงห์จึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

สรุป  นายสิงห์มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์

 

ข้อ  4  นายแดงลอบเข้าไปในบ้านของนาย  ก  จากนั้นขโมยโทรศัพท์มือถือของนาย  ก  ไป  หลังจากขโมยได้แล้วนายแดงนำโทรศัพท์มือถือไปมอบให้จำเลย  ต่อมาจำเลยโทรศัพท์ไปหานาย  ก  โดยพูดว่า  ให้นาย  ก  นำเงินจำนวน  5,000  บาท  มามอบให้จำเลยเป็นค่าไถ่โทรศัพท์มือถือ  หากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืน  จำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น  ปรากฏว่านาย  ก  ยอมมอบเงินให้แก่จำเลยไป  ดังนี้  จำเลยมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  337  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้  หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน  โดยใช้กำลังประทุษร้าย  หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียง  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ  หรือของบุคคลที่สามจนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชกต้องระวางโทษ..

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก  ตามมาตรา  337  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจ

2       ผู้อื่น

3       โดยใช้กำลังประทุษร้าย  หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียง  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ  หรือของบุคคลที่สาม

4       ให้ยอมให้  หรือยอมจะให้ตน  หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน

5       จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น 

6       โดยเจตนา

การที่จำเลยพูดกับนาย  1  ว่า  ให้นาย  ก  นำเงินจำนวน  5,000  บาท  มามอบให้จำเลยเป็นค่าไถ่โทรศัพท์มือถือ  หากไม่นำมาให้จะไม่ได้รับโทรศัพท์คืน  จำเลยจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น  คำพูดของจำเลยถือได้ว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นโดยการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินของนาย  ก  แล้ว  และเมื่อนาย  ก  ผู้ถูกขู่เข็ญมอบเงินซึ่งเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินให้แก่จำเลยไป  การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์  ตามมาตรา  337

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์

LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 1/2550

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  เอกต้องการฆ่าโทได้เอาระเบิดเวลาผูกติดใต้ท้องรถยนต์ของโท  แต่ระเบิดทำงานก่อนเวลาที่โทจะเข้าไปขับรถ  โทปลอดภัย  แต่แรงระเบิดทำให้สดศรีซึ่งบังเอิญเดินผ่านมาได้รับอันตรายสาหัส  ดังนี้  เอกจะต้องรับผิดทางอาญาต่อสดศรีอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

ฆ่า  หมายความว่า  การกระทำอันเป็นเหตุให้คนตาย  ซึ่งการฆ่าเป็นการกระทำและไม่จำกัดวิธีของการกระทำ  เช่น  กดน้ำให้สำลักน้ำตาย  ใช้ยาพิษ  หรือใช้อาวุธต่างๆ  เช่น  ปืน  มีด  ขวาน  ระเบิด  ฯลฯ  จะเป็นการกระทำโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้  แต่ความผิดตามมาตรา  288  จะต้องมีผลของการกระทำ  คือ  ความตายเกิดขึ้นจึงจะเป็นความผิดสำเร็จ

การที่เอกเอาระเบิดเวลาผูกติดใต้ท้องรถยนต์ของโทนั้น  ถือได้ว่าเอกมีเจตนาฆ่าโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล  เพราะระเบิด  เป็นอาวุธที่มีอานุภาพความรุนแรงมากกว่าอาวุธอื่นใดซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายร้ายแรง  การใช้อาวุธชนิดนี้ในการกระทำความผิด  ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำความผิดเจตนาโดยประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า  ผู้ถูกกระทำต้องได้รับอันตรายถึงชีวิต  เมื่อเอกได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  แต่ระเบิดทำงานก่อนเวลา  โทปลอดภัย  แต่แรงระเบิดทำให้สดศรีได้รับอันตรายสาหัส  ดังนั้นเอกจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าสดศรีเป็นเจตนาโดยพลาด  ตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80  และมาตรา  60  เนื่องจากเอกมีเจตนาฆ่าโทแต่ผลไปเกิดกับสดศรี  จึงถือว่าเอกมีเจตนาฆ่าสดศรีด้วย  เมื่อสดศรีไม่ตายเพียงได้รับอันตรายสาหัส  จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า

สรุป  เอกมีความผิดฐานพยายามฆ่าสดศรี  ตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80  และมาตรา  60

 

ข้อ  2  นายเอกจับตัวนายโทไปเพื่อเรียกค่าไถ่  นายเอกได้คุมขังนายโทไว้ที่ห้องพักแห่งหนึ่ง  ส่วนตัวนายเอกก็เข้าไปในตลาดเพื่อหาซื้ออาหารและโทรศัพท์ติดต่อญาติของนายโท  นายเอกถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวโดยที่ยังไม่ได้เรียกค่าไถ่  หลังจากนั้นนายเอกได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปปล่อยตัวนายโท  โดยนายโทไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ถ้าต่อมานายเอกถูกฟ้องว่ากระทำความผิดฐานเอาตัวคนไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ให้วินิจฉัยว่านายเอกจะมีความผิดตามที่ถูกฟ้องหรือไม่  และต้องรับโทษอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  313  วรรคแรก  ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(3) หน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลใด

ต้องระวางโทษ…

มาตรา  316  ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา  313  มาตรา  314  หรือมาตรา  315  จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป  ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา  โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต  ให้ลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้  แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  ตามมาตรา  313  วรรคแรก (3)  ประกอบด้วย

1       หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใด

2       โดยเจตนา

3       เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

นายเอกจับตัวนายโทไปโดยมีเจตนาเพื่อเรียกค่าไถ่  ถึงแม้จะยังไม่ได้เรียกค่าไถ่เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวได้ก่อน  ก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา  313  วรรคแรก  (3)  เพราะการกระทำครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว

ส่วนการที่นายเอกพาเจ้าพนักงานตำรวจไปปล่อยตัวนายโท  และนายโทก็ไม่ได้อันตรายแต่อย่างใดเห็นได้ว่าเป็นการจัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา  โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต  จึงเป็นเหตุลดโทษให้แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามมาตรา  316

สรุป  นายเอกจึงมีความผิดตามที่ถูกฟ้องตามมาตรา  313  แต่ลดโทษให้ตามมาตรา  316

 

ข้อ  3  นายแดงไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง  ปรากฏว่าคนแน่นมาก  นายแดงจึงส่งเงิน  300  บาทให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยช่วยซื้อตั๋ว  จำเลยรับมอบเงินจากนายแดงแล้วพาวิ่งหนีไปต่อหน้านายแดง  ดังนี้จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

เอาไป  หมายความว่า  เอาไปจากการครอบครองของผู้อื่นจะด้วยวิธีการใดก็ได้  แต่ต้องเป็นการทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากเดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้  ทั้งนี้เพื่อแย่งการครอบครองหรือตัดสิทธิของเจ้าของทรัพย์  มิใช่เป็นการเอาไปชั่วคราว

การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์  เพราะการที่นายแดงส่งเงิน  300  บาท  ให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยช่วยซื้อตั๋ว  ถือได้ว่าเงินนั้นยังอยู่ในความครอบครองของนายแดงอยู่  นายแดงมิได้เจตนาสละการครอบครอง  เมื่อจำเลยรับมอบเงินจากนายแดงแล้ววิ่งหนีไปต่อหน้านายแดง  จึงเป็นการแย่งการครอบครองโดยพาเอาทรัพย์เคลื่อนที่ไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์  โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว  แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  เพราะไม่ได้ฉกฉวยเอาซึ่งหน้า

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์

 

ข้อ  4  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่ไปที่บ้านของนาย  ก  เมื่อไปถึงนายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่  ใช้เท้าเตะไปที่รั้วบ้านของนาย  ก  ซึ่งรั้วบ้านของนาย  ก  เป็นรั้วสังกะสี  นาย  ก  ได้ยินเสียง  จึงออกมาดู  นายหนึ่งพูดกับนาย  ก  ขอเงิน  1,000  บาท  นาย  ก  ตอบว่าไม่มี  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่ช่วยกันเตะรั้วจนสังกะสีหลุดออก  3  แผ่น  นาย  ก  กลัวรั้วจะพังและกลัวจะถูกทำร้ายจึงยอมให้เงินนายหนึ่งไป  500  บาท  นายหนึ่งรับเงินมาแล้วจึงพูดกับนาย  ก  ว่า  ทีหลังถ้ากูมาอยากได้อะไรให้ตามใจกูนะ  ดังนี้  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่  มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  340  ผู้ใดชิงทรัพย์  โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์  ตามมาตรา  339  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ชิงทรัพย์

2       โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

3       โดยเจตนา

การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์  ซึ่งเป็นการชิงทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นอาจขู่ตรงๆก็ได้  หรือใช้ถ้อยคำทำกิริยาหรือทำประการใดอันเป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจได้ว่าจะได้รับภัยจากการกระทำของผู้ถูกขู่เข็ญก็ได้

วันเกิดเหตุนายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่ไม่มีอาวุธติดตัว  ได้เตะรั้วสังกะสีบ้านของนาย  ก  นาย  ก  ออกมาดู  นายหนึ่งพูดขอเงิน  1,000  บาท  นาย  ก  ตอบว่าไม่มี  นายหนึ่งกับพวกชวนกันเตะรั้วสังกะสีรั้วหลุดออก  3  แผ่น  นาย  ก  กลัวรั้วจะพังและกลัวนายหนึ่งกับพวกจะทำร้ายจึงให้เงินนายหนึ่งไป  500  บาท  นายหนึ่งรับเงินแล้วพูดว่า  ทีหลังถ้ากูมา  อยากได้อะไร  ให้ตามใจกูนะ”  แล้วนายหนึ่งกับพวกก็พากันไป  เห็นว่า  องค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์  นอกจากลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว   ถ้ามีการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ก็เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้  การขู่เข็ญอาจขู่ตรงๆ  หรือใช้ถ้อยคำทำกิริยา  หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น  เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจได้ว่าได้รับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ

การใช้กำลังทำร้ายต่อทรัพย์สินไม่ใช่ใช้กำลังประทุษร้ายก็จริง  แต่การกระทำเช่นนั้นอาจเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ได้  และการที่นายหนึ่งพูดขอเงินนาย  ก  นาย  ก  ไม่ให้  นายหนึ่งกับพวกกลับแสดงอาการขู่เข็ญหนักขึ้นโดยการเตะรั้วสักกะสีรั้วพัง  เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  ทำให้นาย  ก  มีความกลัวว่านายหนึ่งกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้าย  จึงต้องจำยอมให้เงินแก่นายหนึ่ง  นายหนึ่งได้รับเงินแล้วยังพูดขู่เข็ญอีกว่า  ทีหลังถ้ากูมา  อยากได้อะไรให้ตามใจกูนะ  คำพูดขู่เข็ญของนายหนึ่งดังกล่าว  แม้ไม่ใช่ถ้อยคำขู่เข็ญตรงๆ  ก็เข้าใจได้ว่าต่อไปถ้านายหนึ่งอยากได้อะไรแล้วนาย  ก  ต้องให้  ถ้าไม่ให้จะต้องถูกนายหนึ่งทำร้าย  เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า  นาย  ก  กับพวกของนายหนึ่งคุ้นเคยรักชอบกันอย่างไรที่จะขอเงินกันได้โดยสุจริต การกระทำของจำเลยดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว

สรุป  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่  มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ 

LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  เอกและโทถูกชิงชัยหัวหน้างานตำหนิติเตียนต่อหน้าคนอื่นรู้สึกอับอายและโกรธเคืองอย่างมาก  จึงชักชวนกันไปดักชกต่อยชิงชัย  เอกชกชิงชัยปากแตก  โทจะเข้าไปชกซ้ำแต่ถูกชิงชัยปัดป้องและชกสวนกลับมาทำให้โทโกรธจึงชักมีดคัตเตอร์ออกมาฟันไปที่ข้อมือชิงชัย  ใบมีดตัดเส้นเลือดใหญ่ขาดชิงชัยถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา  ดังนี้ให้วินิจฉัยความผิดอาญาของเอก

ธงคำตอบ

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  290  วรรคแรก  ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า  แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย  ต้องระวางโทษ

 วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ทำร้ายผู้อื่น

2       เป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย

3       โดยเจตนา

เอกชกชิงชัยปากแตก  โทจะเข้าไปชกซ้ำแต่ถูกชิงชัยปัดป้องและชกสวนกลับมา  ทำให้โทโกรธชักมีดคัตเตอร์ออกมาฟันไปที่ข้อมือของชิงชัย  ดังนี้จะเห็นว่าโทมีเจตนาทำร้ายร่างกายชิงชัยมิได้มีเจตนาฆ่า  เมื่อชิงชัยถึงแก่ความตาย  โทจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรก

ส่วนเอกที่ชกชิงชัยปากแตก  เป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามที่ได้ตกลงกันและอยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือโทได้ทันท่วงที  แม้ในการร่วมกระทำผิดนั้น  เอกจะมีเจตนาเพียงชกชิงชัยผู้ตายมิได้มีเจตนาให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงตาย  เมื่อโทได้ใช้มีดคัตเตอร์ฟันข้อมือชิงชัยจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้ถึงแก่ความตาย  ไม่ว่าเอกจะทราบว่าโทมีอาวุธมีดติดตัวหรือไม่ก็ตาม  และแม้ไม่ได้ร่วมใช้อาวุธมีดทำร้ายชิงชัยด้วยเอกก็ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมทำร้ายชิงชัยผู้ตายเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย  ตามมาตรา  290  วรรคแรกประกอบมาตรา  83  จะถือว่าเป็นเรื่องต่างคนต่างทำไม่ได้  ความตายที่เกิดขึ้น  ถือได้ว่าเป็นผลจากการกระทำของผู้ร่วมกระทำผิดทุกคน

สรุป  เอกเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา  ตามมาตรา  290  วรรคแรกประกอบมาตรา  83

 

ข้อ  2  นายสิงห์ให้นายเบี้ยวกู้ยืมเงิน  20,000  บาท  แต่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือ  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเบี้ยวไม่ยอมชำระหนี้และพูดจาท้าทายให้นายสิงห์ไปฟ้องร้องเอา  วันหนึ่งนายสิงห์ไปจับตัวเด็กชายแบงค์อายุ  7  ปี  บุตรของนายเบี้ยวไป  โดยนำเด็กชายแบงค์ไปฝากไว้กับพี่สาวของนายสิงห์  หลังจากนั้นนายสิงห์ไปขู่เข็ญให้นายเบี้ยวชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่กู้ยืม  ถ้านายเบี้ยวไม่ยอมก็จะไม่ได้เห็นหน้าเด็กชายแบงค์อีกเลย  นายเบี้ยวยังไม่ได้มอบเงินให้แก่นายสิงห์  นายสิงห์ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวไว้ได้เสียก่อน  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านายสิงห์จะมีความผิดฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

มาตรา  313  ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(1) เอาตัวเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไป

ต้องระวางโทษ…

มาตรา  317  วรรคแรก  ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร  พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

นายสิงห์มีเจตนาขู่เข็ญให้นายเบี้ยวนำเงินมาชำระแก่ตน  และได้ลงมือกระทำโดยการแจ้งข่าวไปแล้ว  แต่การกระทำยังไม่บรรลุผลเพราะยังไม่มีการปฏิบัติตามคำขู่  การกระทำของนายสิงห์จึงเป็นการพยายามข่มขืนใจผู้อื่น  แม้ว่าจะเป็นการข่มขืนใจเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ที่ตนมีอยู่  นายสิงห์ก็ไม่มีอำนาจกระทำได้  นายสิงห์จึงมีความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80 

การที่นายสิงห์เอาตัวเด็กชายแบงค์บุตรของนายเบี้ยวไปจากนายเบี้ยว  มีการพรากเด็กอายุยังไม่เกิน  15  ปี  ไปจากนายเบี้ยวโดยมีเจตนาและปราศจากเหตุอันสมควร  จึงเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์  ตามมาตรา  317  วรรคแรก

โดยที่นายสิงห์มีสิทธิในเงินจำนวนดังกล่าว  ดังนั้นเจตนาของนายสิงห์เป็นเพียงแต่จะทวงเอาเงินซึ่งนายสิงห์เชื่อว่าควรจะได้  เงินประเภทนี้จึงไม่ใช่สินไถ่หรือค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  313  การกระทำของนายสิงห์จึงไม่ใช่เป็นการเอาตัวเด็กไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  อันเป็นองค์ประกอบความผิดประการสำคัญตามมาตรานี้  นายสิงห์จึงไม่มีความผิดตามมาตรา  313

สรุป  นายสิงห์มีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  ตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80  และความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน  15  ปี ไปฯ  ตามมาตรา  317  วรรคแรก

 

ข้อ  3  นายหนึ่งและนายสองเป็นลูกจ้างของบริษัทไทยเจริญ  โดยนายหนึ่งมีหน้าที่ขับรถส่งของส่วนนายสองมีหน้าที่ขนของ  วันเกิดเหตุผู้จัดการบริษัทไทยเจริญใช้ให้นายหนึ่งและนายสองขับรถไปส่งท่อแก๊สให้กับลูกค้า  ระหว่างทางนายหนึ่งและนายสองช่วยกันขนท่อแก๊สไปวางกองไว้ริมถนนเพื่อจะขายให้แก่ผู้อื่น  ผู้จัดการบริษัทไทยเจริญทราบเรื่องจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ดังนี้  นายหนึ่งและนายสองมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

มาตรา  335  ผู้ใดลักทรัพย์

(7)  โดยมีอาวุธ  หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

(11) ที่เป็นนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

การที่ผู้จัดการบริษัทไทยเจริญ  ใช้ให้นายหนึ่งและนายสองขับรถไปส่งท่อแก๊สให้กับลูกค้า  ระหว่างทางนายหนึ่งและนายสองช่วยกันขนท่อแก๊สไปวางกองไว้ริมถนนเพื่อจะขายให้แก่ผู้อื่น  ถือได้ว่าเป็นการเอาไปซึ่งการครอบครองของผู้อื่น เพราะการครอบครองทรัพย์โดยแท้จริงคือท่อแก๊สยังคงอยู่ที่บริษัทไทยเจริญ นายหนึ่งและนายสองเป็นเพียงการครอบครองแทนไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น    การที่นายหนึ่งและนายสองขนท่อแก๊สไปวางกองไว้ริมถนนจึงเป็นการเคลื่อนย้ายทรัพย์เพื่อให้อยู่ในสภาพที่พร้อมจะขายให้แก่บุคคลอื่น  เป็นการกระทำโดยทุจริต  กล่าวคือเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ถือได้ว่าเป็นการแบ่งแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากผู้เสียหายแล้ว  การกระทำของนายหนึ่งและนายสองจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334 

เมื่อการลักทรัพย์ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป  และเป็นการลักทรัพย์ของนายจ้าง  ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น  ตามมาตรา  335(7)  (11)

สรุป  นายหนึ่งและนายสองมีความผิดฐานลักทรัพย์

 

ข้อ  4  นาย  ก  ไปซื้อของที่ตลาด  ขณะกำลังเดินอยู่ในตลาด  นาย  ก  ใช้มือข้างหนึ่งปิดบริเวณลำคอไว้จำเลยเดินตรงเข้าไปหานาย  ก จากนั้นจำเลยใช้มือซ้ายดึงมือของนาย  ก  ออกจากบริเวณลำคอ  จำเลยใช้มือขวาจับสร้อยคอทองคำหนัก  1  บาท  ที่นาย  ก  สวมอยู่  กระชากจนสร้อยคอขาดออกจากกัน  แล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปพร้อมกับสร้อยคอของนาย  ก  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่ เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  339  วรรคแรก  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ลักทรัพย์

2       โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย

3       โดยเจตนา

4       เจตนาพิเศษ  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

การที่จำเลยใช้มือซ้ายดึงมือของนาย  ก  ออกจากบริเวณลำคอของนาย  ก  จากนั้นจำเลยใช้มือขวาจับสร้อยคอทองคำหนัก  1  บาท  ที่นาย  ก  สวมอยู่  กระชากจนสร้อยขาดออกจากกัน  เป็นการกระทำแก่เนื้อตัวหรือร่างกายของนาย  ก  จึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์ไป  และยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339 

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์

LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  สมศรีเป็นนายทุนออกเงินให้กู้  สมศรีไปทวงเงินกู้จากสมชาย  แต่ถูกสมชายกับพวกจับตัวมัดไว้แล้วใช้ท่อนไม้ฟาดศีรษะเพื่อฆ่าล้างหนี้  สมศรีแกล้งทำเป็นตาย  สมชายกับพวกเข้าใจว่าตายแล้วจึงช่วยกันยกร่างสมศรีใส่รถแล้วพาไปโยนทิ้งบ่อน้ำ  สมศรีถูกมัดอยู่และว่ายน้ำไม่เป็นจึงจมน้ำตาย  ดังนี้  สมชายจะมีความผิดต่อชีวิตและร่างกายฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

การที่สมชายกับพวกจับสมศรีมัดไว้แล้วใช้ท่อนไม่ฟาดศีรษะเพื่อฆ่าล้างหนี้  ถือว่าสมชายมีเจตนาฆ่า  แม้สมศรีจะไม่ตายเพราะถูกตีศีรษะ  แต่ตายเพราะจมน้ำเนื่องจากว่ายน้ำไม่เป็น  ก็ถือได้ว่าความตายเป็นผลโดยตรงจากการที่สมชายกระทำโดยมีเจตนาฆ่า  ดังนั้นสมชายมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา  288

สรุป  สมชายมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา  288

 

ข้อ  2  วันเกิดเหตุเวลาประมาณ  07.00  น.  ขณะที่นายเล็กจอดรถสามล้อเครื่องที่หน้าตลาดเพื่อส่งผู้โดยสาร  นายใหญ่ซึ่งวิ่งราวทรัพย์ของเจ้าทรัพย์และวิ่งหลบหนีมาได้กระโดดขึ้นบนรถแล้วใช้อาวุธมีดขู่บังคับให้นายเล็กขับรถออกจากที่จอดและให้ขับด้วยความเร็ว  นายเล็กกลัวจะถูกทำร้ายจึงพยายามจะขับรถไปตามที่ถูกบังคับ  แต่ด้วยบริเวณที่เกิดเหตุสภาพการจราจรหนาแน่นทำให้นายเล็กขับรถออกจากที่เดิมยังไม่ได้  เจ้าทรัพย์และคนอื่นซึ่งวิ่งตามนายใหญ่ก็ตามมาทัน  และจับตัวนายใหญ่บนรถสามล้อเครื่องนั่นเอง  ดังนี้จากข้อเท็จจริงดังกล่าวให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายใหญ่จะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใด

2       โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง  หรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย

3       จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้น  หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

4       โดยเจตนา

การที่นายใหญ่ใช้มีดขู่บังคับให้นายเล็กขับรถไปด้วยความเร็ว  เป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  โดยมีอาการกิริยาเป็นการข่มขืนใจให้นายเล็กกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต  แต่นายเล็กก็มิได้ขับรถให้เร็วขึ้นกว่าที่ขับส่งผู้โดยสารตามปกติ  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเช่นนี้จึงต้องถือว่าการกระทำของนายใหญ่ไม่บรรลุผลเพราะสภาพของการจราจรในขณะนั้นไม่อำนวยให้นายเล็กขับรถเร็วขึ้นกว่าปกติตามที่นายใหญ่ข่มขืนใจให้นายเล็กกระทำ  นายใหญ่จึงมีความผิดฐานพยายามกระทำผิดต่อเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80 

สรุป  นายใหญ่มีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆตามมาตรา  309  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  3  แดงนำรถยนต์ของแดงไปซ่อมเครื่องยนต์ที่อู่ซ่อมรถยนต์ของขาว  แดงนำรถยนต์ไปมอบให้ขาวซ่อมซึ่งตกลงขาวจะซ่อมให้เสร็จภายใน  1  สัปดาห์  ข้อเท็จจริงปรากฏว่าแดงลืมนำเงินที่อยู่ในรถยนต์จำนวน  10,000  บาท  ที่แดงเก็บไว้ในลิ้นชักด้านหน้าของรถยนต์คันนี้กลับมาบ้านด้วย  ขาวทำการซ่อมรถยนต์อยู่ประมาณ  2  วัน  ขาวเปิดดูลิ้นชักหน้ารถยนต์ของแดงพบเงิน  10,000  บาท  ขาวจึงดึงเงินออกมาเพียง  1,000  บาท  และเก็บเอาไว้ใช้เสียเอง  ในวันนั้นเองแดงกลับมาเอาเงินในรถยนต์ของตนคืน  แต่มีเงินเพียง  9,000  บาท เท่านั้น  แดงจึงถามขาวว่ามีคนเข้ามาเปิดเอาของในรถยนต์ไปหรือไม่  ขาวปฏิเสธว่าไม่มี  ดังนี้ท่านจงวินิจฉัยว่าขาวมีความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

เอาไป  หมายความว่า  เอาไปจากการครอบครองของผู้อื่นจะด้วยวิธีการใดก็ได้  แต่ต้องเป็นการทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากเดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้  ทั้งนี้เพื่อแย่งการครอบครองหรือตัดสิทธิของเจ้าของทรัพย์  มิใช่เป็นการเอาไปชั่วคราว

แดงส่งมอบการครอบครองรถยนต์ให้ขาวซ่อม  แต่เงินในรถยนต์นั้นแดงลืมไว้เช่นนี้ถือว่าการครอบครองเงินยังอยู่ที่แดง  การที่ขาวเอาเงินไป  1,000  บาท  จึงเป็นการแย่งการครอบครองเงินจากแดงซึ่งเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น  ทั้งปฏิเสธตามที่แดงถาม  และเก็บเงินไว้ใช้เองนั้น  เป็นการกระทำโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา 334

สรุป  ขาวจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334

 

ข้อ  4  เอกว่าจ้างโทขับรถบรรทุกให้คนของย้ายบ้านไปอาศัยอยู่กับญาติเนื่องจากตกงาน  โดยตกลงค่าว่าจ้างกัน  2,000  บาท  แต่เอกมีเงินอยู่เพียง  1,000  บาท  จึงหลอกโทว่าจ่ายค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน  1,000  บาทก่อน  ขนของเสร็จจะจ่ายให้อีก  1,000  บาท  แต่ปรากฏว่าเมื่อขนย้ายเสร็จเอกกลับบอกกับโทว่าเงินหมดแล้วมีแค่ที่จ่ายให้แล้วเท่านั้น  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าเอกจะมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  341  ผู้ใดโดยทุจริต  หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง  และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามหรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ  ถอน  หรือทำลาย  เอกสารสิทธิ  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341  ประกอบด้วย

1       หลอกลวงผู้อื่นด้วยการ

(ก)  แสดงข้อความเป็นเท็จ  หรือ

(ข)  ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง

2       โดยการหลอกลวงนั้น

(ก)  ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม

(ข)  ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม  ถอน  หรือทำลายเอกสารสิทธิ

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

เอกว่าจ้างโทให้ขนของย้ายบ้าน  โดยหลอกโทว่าจะจ่ายค่าจ้างให้ครึ่งหนึ่งเป็นเงิน  1,000  [ท  ขนของเสร็จแล้วจะจ่ายให้อีก  1,000  บาท  โทหลงเชื่อได้รับจ้างขนส่งให้  เมื่อขนย้ายเสร็จเอกปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้โท  จึงเป็นการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  โดยเจตนาทุจริต  แต่อย่างไรก็ดี  เอกได้รับเพียงการขนส่งจากโท  เอกไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  โดยเจตนาทุจริต  แต่อย่างไรก็ดี  เอกได้รับเพียงการขนส่งจากโท  เอกไม่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากโทผู้ถูกหลอกลวง  ส่วนเงินค่าจ้างขนส่ง  1,000  บาทที่เอกไม่ได้ชำระให้โท  เป็นทรัพย์ที่โทจะเรียกร้องเอาจากเอกภายหลังเมื่อขนส่งให้เอกถึงที่ที่ตกลงกันแล้ว  กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง  เมื่อจ่ายค่าขนส่งไม่ครบก็ต้องไปฟ้องเรียกร้องทางแพ่งต่อไป  ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา  341

สรุป  เอกไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง  ตามมาตรา  341

LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 ซ่อม 1/2551

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ

ข้อ 1.       เอ๋และอ้นประสบปัญหารักสามเส้าหาทางออกไม่ได้  เอ๋จึงชวนอ้นให้ฆ่าตัวตายพร้อมกัน  โดยเอ๋ไปซื้อยาพิษเอามาผสมเครื่องดื่มคนละแก้ว  แล้วเอ๋และอ้นต่างก็ดื่มยาพิษพร้อม ๆ กัน  ปรากฏว่ามีผู้มาพบนำทั้งคู่ส่งโรงพยาบาลให้แพทย์ล้างท้อง  แต่ช่วยชีวิตเอ๋ได้เพียงคนเดียว  ส่วนอ้นถึงแก่ความตายในวันนั้นเอง ดังนี้เอ๋จะมีความผิดต่อชีวิตฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบ
 
หลักกฎหมาย      มาตรา 288          
 

วินิจฉัย               

 เอ๋ไม่มีความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนา  (มาตรา 288)  เพราะทั้ง 2 คน ต่างสมัครใจฆ่าตนเอง   ต่างก็ยกเครื่องดื่มดื่มเอง  โดยเอ๋ไม่ได้บังคับโดยจับอ้นกรอกยาพิษแต่อย่างใด  เอ๋จึงไม่มีความผิด

 

ข้อ 2.        นายเพชรสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่นายสว่าง 50,000 บาท  ต่อมานายสว่างได้สลักหลังโอนเช็คฉบับนั้นเพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่นางพลอย  เมื่อถึงกำหนดวันที่ลงในเช็คนางพลอยได้นำเช็คไปขึ้นเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีของนายเพชรไม่พอจ่าย  นายสว่างจึงจ่ายเงินตามเช็คให้แก่นางพลอยและขอรับเช็คคืน  หลังจากนั้นนายสว่างได้เรียกให้นายเพชรจ่ายเงินคืนให้ตามจำนวนที่ระบุในเช็คแต่นายเพชรก็บ่ายเบี่ยงเรื่อยมา  วันหนึ่งนายสว่างได้ลักพาตัวเด็กชายก้องบุตรของนายเพชรไปขังไว้ ณ ที่แห่งหนึ่งและขู่เข็ญให้นายเพชรจ่ายเงินตามเช็คให้  โดยขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะทำร้ายเด็กชายก้อง  ในที่สุดนายเพชรก็พาเจ้าพนักงานตำรวจไปช่วยพาเอาตัวเด็กชายก้องออกมาได้โดยปลอดภัย  ส่วนนายสว่างก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาเอาตัวเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายสว่างจะเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  มาตรา 313

การที่นายสว่างเรียกเอาเงินตามจำนวนที่ระบุในเช็คจากนายเพชรเป็นการเรียกเอาเงินซึ่งนายสว่างมีสิทธิจะได้เงินดังกล่าว จึงไม่ถือว่าเป็นค่าไถ่ตามกฎหมาย  ดังนั้นการกระทำของนายสว่างจึงไม่เป็นความผิดฐานเรียกค่าไถ่ตามมาตรา 313

 

ข้อ 3    จำเลยเป็นลูกจ้างธนาคารแห่งหนึ่งตำแหน่งธนากรมีหน้าที่รับฝากและถอนเงินให้ลูกค้า  วันเกิดเหตุจำเลยใช้ใบถอนเงินปลอมถอนเงินจากบัญชีของนาย ก. จำนวน 100,000 บาท จากนั้นนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน  ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334  บัญญัติว่า ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยสุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

มาตรา 335  บัญญัติว่า ผู้ใดลักทรัพย์

(11) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จำเลยใช้ใบถอนเงินปลอมถอนเงินจากบัญชีของนาย ก. จำนวน 100,000 บาท จากนั้นนำเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตน  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง ตามมาตรา 335 (11) เพราะเงินที่ลูกค้านำมาฝากเข้าบัญชีไว้กับธนาคารถือได้ว่าเงินอยู่ในความครอบครองของธนาคาร ไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองของผู้อื่นจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (ฎีกาที่ 1104/2545)

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามมาตรา 335 (11)

 

ข้อ 4    นายหนึ่งจัดงานเลี้ยงที่บ้าน  เพื่อนของนายหนึ่งมาร่วมงานหลายคนรวมทั้งนายสองปรากฏว่ามีคนลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่ห้องรับแขก  นายหนึ่งเข้าใจว่าเป็นของนายสองจึงถามนายสองว่ากระเป๋าสตางค์ใบนี้เป็นของนายสองใช่หรือไม่  นายสองพยักหน้า  นายหนึ่งจึงมอบกระเป๋าสตางค์ให้แก่นายสองไป  โดยที่ความจริงกระเป๋าสตางค์นั้นไม่ใช่ของนายสอง  ดังนี้ นายสองมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

                ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341  บัญญัติว่า  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง

                กรณีตามอุทาหรณ์  การที่มีคนลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ที่ห้องรับแขก  นายหนึ่งเข้าใจว่าเป็นของนายสองจึงถามนายสองว่า กระเป๋าสตางค์ใบนี้เป็นของนายสองใช่หรือไม่ นายสองพยักหน้า นายหนึ่งจึงมอบกระเป๋าสตางค์ให้แก่นายสองไป  กรณีดังกล่าวการกระทำของนายสองเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ  ด้วยการใช้กิริยาท่าทางอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งกระเป๋าสตางค์จากนายหนึ่ง  การกระทำของนายสองจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341

                สรุป   นายสองมีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341

LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 1/2551

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3
 
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ
 
ข้อ 1.        วันต้องการฆ่าทอมจึงหยิบซองใส่ผงยาพิษที่เตรียมไว้โรยใส่ถ้วยกาแฟของทอม แต่วันหยิบซองยาผิด ไปหยิบเอาซองยากดประสาทอย่างแรงมา เมื่อทอมดื่มจึงทำให้หมดสติไป 7-8 ชั่วโมง รู้สึกตัวฟื้นขึ้นมาที่โรงพยาบาล ดังนี้ วันจะมีความผิดต่อชีวิตและร่างกายฐานใด
ธงคำตอบ
 
หลักกฎหมาย    มาตรา 288 (289) ประกอบมาตรา 81
 
วินิจฉัย 
 
 วันมีความผิดฐานพยายามฆ่าที่ไม่สามารถบรรลุผลได้โดยแน่แท้เพราะปัจจัยที่ใช้ในการกระทำความผิด เนื่องจากวันมีเจตนาฆ่า และได้ลงมือกระทำแล้ว โดยเอาห่อยาเทใส่เครื่องดื่มให้ทอมดื่ม แต่เมื่อไม่ใช่ยาพิษเพราะหยิบซองยาผิด จึงไม่สามารถทำให้ทอมตายได้อย่างแน่นอน และไม่ผิดฐานทำร้ายร่างกายเพราะวันมีเจตนาฆ่า จึงผิดฐานพยายามฆ่า 
ข้อ 2.         นายสิงห์กับนายเสือทำงานอยู่ที่เดียวกัน วันหนึ่งนางราตรีมารดาของเด็กหญิงอ้อยได้อนุญาตให้เด็กหญิงอ้อยไปกับนายเสือ เพื่อให้ไปหานายสิงห์ผู้เป็นบิดาที่ทำงาน  นายเสือได้ขับรถพาเด็กหญิงอ้อยเข้าไปในโรงแรม นายเสือเดินเข้าไปในห้องพักและกวักมือเรียกเด็กหญิงอ้อยให้ตามเข้าไปในห้องด้วย แต่เด็กหญิงอ้อยยังคงยืนอยู่ข้างรถไม่ยอมเข้าห้องตามที่นายเสือเรียกและมีพนักงานโรงแรมมาช่วยเหลือพาเด็กหญิงอ้อยกลับบ้าน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของนายเสือจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด 
ธงคำตอบ
 
นายเสือขับรถพาเด็กหญิงอ้อยเข้าไปในโรงแรมจะอ้างว่าได้รับความยินยอมจากนางราตรีมารดาของเด็กหญิงอ้อยไม่ได้ และการที่นายเสือเข้าไปในห้องแล้วกวักมือเรียกเด็กหญิงอ้อยให้ตามเข้าไปย่อมแสดงว่า     นายเสือมีเจตนาเพื่อจะร่วมประเวณีหรือกระทำมิดีมิร้ายในทางเพศ จึงเป็นการกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุ       ไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม
 
ข้อ 3.     นาย ก. เป็นเจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ โดยมีจำเลยเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ นายแดงนำรถยนต์มาที่อู่ของนาย ก. เพื่อซ่อมเครื่องยนต์ โดยนายแดงตกลงกับนาย ก. ว่า นายแดงจะเป็นผู้ซื้ออะไหล่แท้มาให้นาย ก.  ต่อมาเมื่อนายแดงซื้ออะไหล่แท้มาได้แล้วก็นำมามอบให้นาย ก. ครั้นถึงเวลาซ่อมเครื่องยนต์ จำเลยซึ่งเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ได้จงใจเปลี่ยนเอาอะไหล่แท้ที่นายแดงซื้อมา ไปใส่ให้กับรถยนต์ของนายขาว แล้วนำอะไหล่เทียมมาใส่ให้รถยนต์ของนายแดง โดยที่นาย ก. เจ้าของอู่ไม่ทราบเรื่อง ดังนี้ จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่      เพราะเหตุใด
 
ธงคำตอบ
 
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334  บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์”
 
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงซื้ออะไหล่แท้มอบให้นาย ก. เจ้าของอู่ นาย ก. ย่อมเป็นผู้ครอบครอง เมื่อจำเลยซึ่งเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ได้จงใจเปลี่ยนเอาอะไหล่แท้ที่นายแดงซื้อมาไปใส่ให้กับรถยนต์ของนายขาว แล้วนำอะไหล่เทียมมาใส่ให้รถยนต์ของนายแดง โดยที่นาย ก. เจ้าของอู่ไม่ทราบเรื่อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
 
สรุป   จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334
ข้อ 4.    นายเสือขู่เข็ญนายเสาร์ให้นายเสาร์ส่งเงินให้แก่นายเสือจำนวน 100,000 บาท โดยนายเสือพูดว่า ถ้านายเสาร์ไม่ให้อีก 7 วันจะมาฆ่าให้ตาย ให้ตอบคำถามดังต่อไปนี้
 
(1)  กรณีที่นายเสาร์เกิดความกลัวจึงส่งเงินให้แก่นายเสือเพียง 1 บาท นายเสือมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
 
(2)  กรณีที่นายเสาร์ไม่กลัวและไม่ยอมส่งเงินให้ นายเสือมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
 
ธงคำตอบ
 
                ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 337 บัญญัติว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกขู่เข็ญ หรือของบุคคลที่สาม จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกรรโชค”
 
                กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเสือขู่เข็ญนายเสาร์ให้นายเสาร์ส่งเงินให้แก่นายเสือ จำนวน 100,000 บาท โดยนายเสือพูดว่า ถ้านายเสาร์ไม่ให้อีก 7 วันจะมาฆ่าให้ตาย นายเสาร์เกิดความกลัวจึงส่งเงินให้แก่นายเสือเพียง    1 บาท ถือได้ว่าเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้ยอมให้ซึ่งทรัพย์สิน เมื่อนายเสาร์ยอมให้ทรัพย์ก็เป็นความผิดฐานกรรโชคทรัพย์ตามมาตรา 337 สำเร็จแล้ว แม้การให้ทรัพย์จะไม่เต็มจำนวนก็ตาม
 
กรณีที่นายเสาร์ไม่กลัวและไม่ยอมส่งเงินให้ นายเสือมีความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตามมาตรา 337 ประกอบมาตรา 80
 
สรุป        (1)  กรณีนายเสาร์ส่งเงินให้แก่นายเสือ 1 บาท นายเสือมีความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามมาตรา 337
 
(2)  กรณีนายเสาร์ไม่กลัวและไม่ยอมส่งเงินให้ นายเสือมีความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตามมาตรา 337 ประกอบมาตรา 80

LAW 3001 กฎหมายอาญา3 2/2551

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

 ข้อ  1  หนึ่งมีเรื่องโกรธเคืองไม่พอใจแดง  หนึ่งชวนสองให้ไปดักทำร้ายแดง  โดยตกลงกันว่า  เอาแค่สั่งสอนให้พอเจ็บเท่านั้น  เมื่อแดงเดินผ่านมาถึงจุดที่ทั้งสองดักรออยู่  หนึ่งตรงเข้าไปชกปากแดง  1  ที  ปากแตก  สองมองเห็นท่อนไม้ที่พื้นจึงหยิบท่อนไม้นั้นฟาดแดงถูกที่ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนจนตาของแดงบอด  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  หนึ่งจะมีความผิดต่อร่างกายผู้อื่นฐานใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย  หรือจิตใจของผู้นั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ต้องระวางโทษ

มาตรา  297  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส  ต้องระวางโทษ

อันตรายสาหัสนั้น  คือ

(1)    ตาบอด  หูหนวก  ลิ้นขาด  หรือเสียฆานประสาทวินิจฉัย

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297  เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ต้องรับโทษหนักขึ้น  เพราะผลที่เกิดจากการกระทำ  ดังนั้น  ในเบื้องต้นจึงต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา  295  หรือไม่

องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ประกอบด้วย

1       ทำร้าย

2       ผู้อื่น

3       จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนึ่งและสองมีเจตนาทำร้ายร่างกายแดง  โดยหนึ่งชกปากแดง  1  ที  และสองหยิบท่อนไม้ฟาดแดงถูกที่ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนจนตาบอด  การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  แล้ว  เมื่อผลที่เกิดจากการกระทำผิดดังกล่าวทำให้แดงตาบอด  จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297(1)

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า  หนึ่งและสองมีเจตนาร่วมกันที่จะทำร้ายร่างกายแดง  แม้สองแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้ไม้ฟืนฟาดศีรษะแดง  และหนึ่งไม่มีเจตนาให้แดงผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส  หรือมิได้เป็นผู้ลงมือกระทำให้เกิดผลนั้นขึ้น  คงมีเจตนาร่วมทำร้ายร่างกายแดงเท่านั้น  หนึ่งตัวการร่วมก็ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสองด้วย  ถือได้ว่า  หนึ่งเป็นตัวการร่วมกันทำร้ายแดงจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297(1)  ประกอบมาตรา  83  แล้ว  (ฎ. 313/2529 (ประชุมใหญ่))

สรุป  หนึ่งต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297

 

ข้อ  2  นายดำกู้ยืมเงินจากนางส้มโดยจำนำสร้อยคอทองคำไว้เป็นประกัน  นายดำยังไม่มีเงินชำระหนี้  แต่อยากจะได้สร้อยคืนจึงไปขอยืมสร้อยที่จำนำไว้โดยอ้างว่าจะนำไปให้เพื่อนดูเป็นตัวอย่าง  แต่นางส้มไม่ยอม  นายดำจึงใช้อาวุธมีดปลายแหลมซึ่งพกติดตัวมาทำการขู่เข็ญเอาสร้อยจากนางส้ม  ขณะนั้นสามีของนางส้มมาเห็นเหตุการณ์จึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจมาจับกุมตัวนายดำไปดำเนินคดี  โดยนางส้มยังไม่ได้มอบสร้อยให้นายดำแต่อย่างใด

ดังนี้  อยากทราบว่าการกระทำของนายดำจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใด

2       โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง  หรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย

3       จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้น  หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  นายดำจำนำสร้อยคอทองคำไว้กับนางส้ม  ไม่มีเงินชำระหนี้แต่อยากได้คืน  จึงไปขอยืมสร้อยที่จำนำโดยอ้างว่าจะนำไปให้เพื่อนดูเป็นตัวอย่าง  แต่นางส้มไม่ยอม  นายดำจึงใช้อาวุธมีดขู่เข็ญให้นางส้มคืนสร้อยให้  การกระทำของนายดำเช่นนี้ถือเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพตามมาตรา  309  วรรคแรก  แต่เมื่อนางส้มยังไม่ได้คืนสร้อยให้ตามที่ถูกข่มขืนใจ  จึงเป็นกรณีที่นายดำได้ลงมือกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  อันเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  ตามมาตรา  309  วรรคแรกประกอบมาตรา  80

สรุป  นายดำมีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  ตามมาตรา  309  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  3  วันเกิดเหตุจำเลยเห็นนาย  ก  เดินผ่านมา  จำเลยใช้มือลูบคลำตามเสื้อและกางเกงของนาย  ก  จากนั้น  จำเลยพูดขอแว่นตาที่นาย  ก  สวมอยู่  นาย  ก  ไม่ยอมให้  จำเลยแย่งแว่นตาไปจากนาย  ก  นาย  ก  แย่งคืนมาได้  จำเลยแย่งไปได้อีก  แล้วพูดว่า  “ถ้าเอ็งมีอาวุธกูแทงเสียแล้ว”  หลังจากพูดเสร็จ  จำเลยเอามือล้วงใต้เสื้อตรงขอบกางเกงหน้าท้อง

ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  336  ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ต้องระวางโทษ

มาตรา  339  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การจะพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่  การกระทำนั้นนอกจากจะเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์แล้ว  ประการสำคัญคือ  การลักทรัพย์นั้นต้องได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา  1(6)  หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วย  มิฉะนั้นย่อมไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339

การที่จำเลยพูดขอแว่นตาที่นาย  ก  สวมอยู่  นาย  ก  ไม่ยอมให้  จำเลยแย่งแว่นตาไปจากนาย  ก  นาย  ก  แย่งคืนมาได้  จำเลยแย่งไปได้อีก  ถือว่าเป็นการเอาไปจากการครอบครองซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น  โดยทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาเอาได้ในลักษณะเป็นการตัดสิทธิของเจ้าทรัพย์อย่างถาวร  โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  แต่การที่จำเลยพูดกับนาย  ก  ว่า  “ถ้าเอ็งมีอาวุธกูแทงเสียแล้ว”  หลังจากพูดเสร็จ  จำเลยเอามือล้วงใต้เสื้อตรงขอบกางเกงหน้าท้อง  พฤติการณ์เช่นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย  ทั้งคำกล่าวนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339 

อย่างไรก็ตาม  การกระทำของจำเลยที่ไปแย่งแว่นตาไปจากนาย  ก  และมีการแย่งกันไปมาจนทรัพย์ไปอยู่กับจำเลยนั้น  เป็นการลักทรัพย์โดยการเอาทรัพย์ไปโดยการหยิบหรือกระชากเอา  หรือแย่งเอาในลักษณะที่รวดเร็วอันถือว่าเป็นการฉกฉวย  ซึ่งได้กระทำซึ่งหน้านาย  ก  เจ้าของทรัพย์  การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  336  (ฎ. 1088/2520)

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  336

 

ข้อ  4  นายหนึ่งกับนายสองเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน  ปรากฏว่าปั๊มน้ำมันของนายหนึ่งขายดี  นายหนึ่งจึงไปขอยืมน้ำมันดีเซลจากนายสอง จำนวน  5,000  ลิตร  คิดเป็นเงิน  35,000  บาท  เพื่อนำไปขายที่ปั๊มน้ำมันของนายหนึ่ง  โดยสัญญาว่าจะนำมาคืนให้ภายในเวลาที่กำหนด  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดนายหนึ่งไม่ยอมคืน  ดังนี้  นายหนึ่งมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การกระทำของนายหนึ่งมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่  เห็นว่า  ความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  เป็นความผิดที่ประทุษร้ายต่อกรรมสิทธิ์  หรือกล่าวได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองกรรมสิทธิ์ของบุคคลมิให้ถูกผู้ครอบครองทรัพย์นั้นเบียดบังไป  จึงต้องพิจารณาว่า  ทรัพย์ที่ถูกเบียดบังไม่ว่าด้วยวิธีการนำไปใช้สอย  หรือจำหน่ายจ่ายโอนนั้นเป็นของจำเลยหรือไม่  กล่าวคือ  ทรัพย์สินที่เป็นของผู้อื่นมาก่อน  หากผู้นั้นได้มอบหมายการครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ให้อีกบุคคลหนึ่ง  ผู้นั้นย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์  จึงไม่อาจมีความผิดฐานยักยอกได้  การโอนกรรมสิทธิ์อาจอาศัยนิติกรรมสัญญา  เช่น  สัญญาซื้อขายแลกเปลี่ยนให้  ยืมใช้สิ้นเปลือง  ฝากเงิน  เป็นต้น

การที่นายหนึ่งยืมน้ำมันดีเซลจากนายสอง  เพื่อนำไปขายที่ปั๊มของตนเอง  แล้วไม่ยอมคืนนั้น  เห็นว่า  การยืมน้ำมันเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง  ซึ่งเป็นสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปให้แก่ผู้ยืม  ผู้ยืมจึงเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นโดยผลของสัญญายืมและบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  650  ย่อมนำทรัพย์นั้นไปใช้สอยได้ด้วยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์  ตามมาตรา 1336  น้ำมันจึงไม่เป็นทรัพย์ของนายสองหรือที่นายสองเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เมื่อน้ำมันไม่ใช่ทรัพย์ของผู้อื่น  การกระทำของนายหนึ่งจึงไม่เป็นผิดฐานยักยอก  เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิด  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  การที่นายหนึ่งไม่ส่งทรัพย์ที่ยืมคืน  แม้จะไม่ได้นำไปใช้หรือใช้แล้วแต่ยังเหลืออยู่  หรือใช้หมดไปแต่ไม่หาทรัพย์ที่เป็นประเภท  ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันมาคืน  ย่อมเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง  และเมื่อนายสองไปทวงถามทรัพย์คืนจากนายหนึ่ง  แม้นายหนึ่งจะอ้างเหตุในการไม่คืนด้วยเหตุใดก็ตาม  ก็หาทำให้กลายเป็นผิดฐานยักยอกไปได้  (ฎ. 1250/2530)

สรุป  นายหนึ่งไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

WordPress Ads
error: Content is protected !!