POL2104 พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ S/2559

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2104 พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 ข้าราชการท่านใดใช้นามแฝงในขบวนการเสรีไทยเขียนจดหมายถึงผู้ใหญ่ทํานุ เกียรติก้อง เพื่อเรียกร้อง รัฐธรรมนูญ

(1) พ.ประเวศ วะสี

(2) ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล

(3) นายจํากัด พลางกูร

(4) นายป๋วย อึ้งภากรณ์

(5) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ใช้นามแฝงสมัยเป็นเสรีไทยว่า เข้ม เย็นยิ่ง เขียนจดหมายจากประเทศอังกฤษถึงผู้ใหญ่ทํานุ เกียรติก้อง ซึ่งหมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อเรียกร้องให้จอมพลถนอมซึ่งยึดอํานาจการปกครองอยู่ในขณะนั้นคืนรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

2 กรณี 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีท่านใดต้องลาออก

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) พลเอกกฤษณ์ สีวะรา

(3) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(4) จอมพลประภาส จารุเสถียร

(5) จอมพลถนอม กิตติขจร

ตอบ 5 (ความรู้ทั่วไป) เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้นถูกเรียกว่า “วันมหาวิปโยค” หรือ“วันมหาประชาปิติ” เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทยมากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร จนทําให้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจํานวนมาก โดยเหตุการณ์นี้ทําให้เกิดแรงกดดันจากพลังทางการเมืองหลายฝ่ายจนทําให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

3 รัฐธรรมนูญฉบับใดถูกขนานนามว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

(1) 2515

(2) 2517

(3) 2519

(4) 2520

(5) 2521

ตอบ 5 (คําบรรยาย) พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร (นายทหารยังเตอร์ก) เป็นผู้ที่ขนานนามรัฐธรรมนูญฯ2521 ว่าเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เนื่องจากได้ให้อํานาจมากแก่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง อีกทั้งยังไม่ได้แยกข้าราชการประจํา ออกจากข้าราชการการเมือง ทําให้ข้าราชการประจําเป็นวุฒิสมาชิกได้ ซึ่งพบว่ามีลักษณะเป็นการประนีประนอมทางอํานาจระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจํา

4 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกขนานนามว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เนื่องจาก

(1) วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง

(2) วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง

(3) ข้าราชการประจําเป็นวุฒิสมาชิกได้

(4) วุฒิสมาชิกเป็นนายกรัฐมนตรีได้

(5) ข้อ 2 และ 3

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 3 ประกอบ

5 ผู้ที่ขนานนามว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ คือ

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร

(3) นายธงทอง จันทรางศุ

(4) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(5) นายชัยอนันต์ สมุทวณิช

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 3 ประกอบ

6 การปรับสัดส่วน ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อตามที่ปรากฏในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าจะส่งผลให้

(1) พรรคการเมืองขนาดเล็กเข้มแข็ง

(2) พรรคการเมืองใหญ่ได้มี ส.ส. สัดส่วนมากขึ้น

(3) พรรคการเมืองขนาดเล็กมีอํานาจต่อรอง

(4) พรรคการเมืองที่มีฐานคนชั้นกลางอาจจะได้เปรียบ

(5) พรรคการเมืองที่มีฐานคนชั้นกลางมีคะแนนเสียงลดลง

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การปรับสัดส่วน ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อตามที่ปรากฏในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2554 นั้น คาดว่าจะส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้มี ส.ส. สัดส่วนมากขึ้น ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้ ส.ส. น้อยลง รวมทั้งจะทําให้เกิดปัญหายุ่งยาก ในการกําหนดตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ด้วย เนื่องจากจะต้องมีการจัดเขตเลือกตั้งใหม่ตามจํานวน ส.ส. ที่ลดลง

7 ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยปัจจุบันว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ ปราการ

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย”เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่า ชาวไร่ชาวนาหรือคนจนในชนบทมักเป็นฐานเสียง และผู้ตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถกําหนดความอยู่รอดและการสิ้นสุดของรัฐบาลได้ ส่วนคนชั้นกลาง หรือคนในเขตเมือง มักเป็นฐานนโยบายและเป็นผู้ล้มรัฐบาล แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ที่มี ผู้นําและนโยบายอย่างที่ตนต้องการได้ ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางความคิดความต้องการ และพฤติกรรมในการเลือกตัวแทนของคนในชนบทกับคนในเขตเมือง

8 กลุ่มผลประโยชน์ประเภทของกลุ่มอุดมการณ์ที่มีจํากัดชนชั้น ภาษา ได้แก่กลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) อาชีพ

(3) อาสาสมัคร

(4) มาตุภูมิ

(5) ผลักดัน

ตอบ 1 หน้า 240, (คําบรรยาย) กลุ่มผลประโยชน์ในทางอุดมการณ์ คือ กลุ่มที่มีเป้าหมายโดยไม่ได้เน้นเฉพาะที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มเท่านั้น แต่ยังมุ่งรักษาผลประโยชน์ให้แก่ทุกคน ทุกชั้น ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ และทุกวัยอีกด้วย ตัวอย่างเช่น กลุ่มกรีนพีซที่ต่อต้านการทดลอง นิวเคลียร์และการล่าวาฬในมหาสมุทร, กลุ่มต่อต้านความรุนแรง, กลุ่มทางวัฒนธรรมประเพณี,กลุ่มส่งเสริมในเรื่องนานาชาตินิยม (Internationalism) เป็นต้น

9 ไลออนส์สากล โรตารี ปอเต็กตึ๊ง ฮากกา จัดอยู่ในประเภทกลุ่มผลประโยชน์ด้าน

(1) อุดมการณ์

(2) อาชีพ

(3) อาสาสมัคร

(4) มาตุภูมิ

(5) ผลักดัน

ตอบ 3 หน้า 315 – 316 กลุ่มอุดมการณ์ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่ต่างอาชีพต่างวัย ต่างความรู้ แต่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์เหมือนกัน ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเพื่อทํางานให้แก่ ชุมชน สังคม หรือประเทศชาติ ซึ่งได้แก่

1 กลุ่มอาสาสมัคร เขน สโมสรไลออนส์สากล (ไลออนส์นานาชาติ) สโมสรโรตารีสากลสมาคมฮากกา (สมาคมหัวเฉียว) มูลนิธิปอเต็กตึง ยุวสมาคม (เอ.ซี.) ชมรมค่ายอาสา ฯลฯ

2 กลุ่มสมาคมทางการเมือง เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ฯลฯ

3 กลุ่มศาสนา เช่น พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ฯลฯ

4 กลุ่มปกป้องคุ้มครอง เช่น ขบวนการเสรีไทย ขบวนการจีนโพ้นทะเล กลุ่มอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

10 ระดับของการใช้อิทธิพลบีบบังคับของกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มอิทธิพลจะกระทําในระดับ

(1) กระทรวง

(2) รากหญ้า

(3) ประธานหอการค้า

(4) กรม

(5) ทุกระดับ

ตอบ 5 หน้า 277, (คําบรรยาย) วิธีการบีบบังคับของกลุ่มผลประโยชน์นั้นสามารถกระทําได้ในระดับต่าง ๆ กัน เช่น การบีบบังคับโดยตรงต่อหน่วยงานของรัฐ (กระทรวง กรม) ต่อรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี) ต่อรัฐสภา (ประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา) ต่อเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐ (ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ประธานหอการค้า) ต่อประชาชนหรือคนรากหญ้า เพื่อสร้างความกดดันให้แก่ผู้บริหารของรัฐ

11 ในยุคที่พรรคนาซีมีอํานาจได้อาศัยข้ออ้างใดในการมีระบบพรรคเดียว

(1) เพื่อความเป็นเอกราชและความมั่นคงของชาติ

(2) ประเทศมีชนชั้นเดียว ต้องมีพรรคเดียว

(3) เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นประชาธิปไตย

(4) เพื่อให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองโดยไม่มีคู่แข่ง

(5) เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความรวดเร็วในการปกครอง

ตอบ 5 หน้า 136 ในยุคที่พรรคนาซีมีอํานาจได้ให้เหตุผลในการมีระบบพรรคเดียวว่า เยอรมัน การสอน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกไม่ได้ พรรคก็ต้องมีพรรคเดียว เพราะการมีหลายพรรคจะเป็นการแบ่งแยกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประเทศไม่เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็วเท่าที่ควร

12 ในทัศนะของนักปรัชญาการเมืองคนใดที่ไม่เห็นด้วยกับการมีพรรคการเมือง เพราะเป็นการทําลาย สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่เสรี

(1) โทมัส ฮอบส์

(2) คาร์ล มาร์กซ์

(3) เอ็ดมันด์ เบอร์ก

(4) แม็กซ์ เวเบอร์

(5) รุสโซ

ตอบ 3 หน้า 33 เอ็ดมันด์ เบอร์ก (Edmund Burke) เป็นนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยกับการมีพรรคการเมือง โดยเขาเห็นว่า การแบ่งกันเป็นพรรคการเมืองเป็นการทําลายสภาสามัญ(สภาผู้แทนราษฎร) และรัฐบาลที่เสรี

13 พรรคการเมืองที่แท้จริงจะต้องมีลักษณะอย่างไร

(1) ยึดตัวผู้นําพรรคเป็นหลัก

(2) แสดงบทบาทเฉพาะช่วงเลือกตั้ง

(3) ไม่ร่วมกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาล

(4) จํากัดจํานวนสมาชิกที่ดีเท่านั้น

(5) มีสาขาพรรคกระจายทั่วทุกภูมิภาค

ตอบ 5 หน้า 9 – 11 ลักษณะของพรรคการเมืองที่แท้จริง มี 4 ประการ คือ

1 ต้องมีความยั่งยืนโดยไม่ขึ้นอยู่กับชีวิตหรืออํานาจของผู้นําพรรคการเมือง แต่ยึดหลักการหรืออุดมการณ์เป็นหลัก

2 ต้องมีองค์การหรือสาขาพรรคมาก ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค และมีเครือข่ายติดต่อกันระหว่าง สํานักงานใหญ่กับสาขาพรรคในท้องถิ่น

3 ผู้นําพรรคต้องมีความมุ่งหมายที่จะเป็นรัฐบาล โดยอาจจัดตั้งรัฐบาลโดยลําพังพรรคเดียวหรือจัดตั้งรัฐบาลผสมก็ได้

4 ต้องพยายามหาคะแนนเสียงเมื่อมีการเลือกตั้ง และหาความสนับสนุนจากมหาชนทั่วไปเมื่อไม่มีการเลือกตั้ง

14 พรรคการเมืองมีการฟังความคิดเห็นของสมาชิกเป็นขบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตยรวมศูนย์(Democratic Centralism) ใช้กับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์

(1) เสรีนิยม

(2) อนุรักษนิยม

(3) สังคมนิยม

(4) คอมมิวนิสต์

(5) ฟาสซิสต์

ตอบ 4 หน้า 76, 137 ประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) เป็นลักษณะการใช้อํานาจหรือการดําเนินงานภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งประกอบด้วย 2 ขบวนการ คือ ในระยะแรก ให้สมาชิกในหน่วยพื้นฐานเสนอความคิดเห็นในนโยบายของพรรคแล้วเสนอไปยังเบื้องบนหรือ ศูนย์กลางของพรรคเพื่อรับทราบ ส่วนในระยะต่อมาเป็นการตัดสินใจจากเบื้องบน โดยมติที่ได้ จะต้องบังคับใช้กับองค์การทุกระดับของพรรคอย่างเข้มงวด

15 อุดมการณ์คู่ใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในแง่การใช้อํานาจ

(1) คอมมิวนิสต์ – ฟาสซิสต์

(2) คอมมิวนิสต์ – ประชาธิปไตย

(3) อนุรักษนิยม – สังคมนิยม

(4) อนุรักษนิยม – ประชาธิปไตย

(5) อนุรักษนิยม – คอมมิวนิสต์

ตอบ 1 หน้า 140 อุดมการณ์คอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์ จะมีลักษณะการใช้อํานาจที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นเผด็จการแบบรวมอํานาจเบ็ดเสร็จ โดยประชาชนจะถูกลิดรอนเสรีภาพในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

16 อุดมการณ์ใดที่นิยมระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว

(1) เสรีนิยม

(2) อนุรักษนิยม

(3) สังคมนิยม

(4) คอมมิวนิสต์

(5) ฟาสซิสต์

ตอบ 4, 5 หน้า 135, 139, (คําบรรยาย) ระบบพรรคเดียว หมายถึง การที่รัฐหรือประเทศหนึ่งมีรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว และระบบนี้ยอมให้มีเฉพาะพรรคที่ครองอํานาจอยู่เท่านั้น ไม่ยอมให้มีพรรคอื่นเข้ามาแข่งขันหรือกีดกัน ซึ่งจะพบระบบนี้ได้ในประเทศที่มีการปกครอง ระบอบเผด็จการหรือมีอุดมการณ์แบบซ้ายสุดโต่ง (คอมมิวนิสต์) หรือขวาสุดโต่ง (ฟาสซิสต์และนาซี) เช่น จีน ลาว เวียดนาม คิวบา เกาหลีเหนือ เป็นต้น

17 อุดมการณ์หรือแนวคิดใดไม่ต้องการให้มีรัฐ

(1) ฟาสซิสต์

(2) อนาธิปัตย์

(3) ประชาธิปัตย์

(4) ประชาธิปไตย

(5) เฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 2 (คําบรรยาย) อนาธิปัตย์ หรืออนาคิสม์ (Anarchism) เป็นอุดมการณ์หรือแนวคิดทางการเมืองที่ต่อต้านการมีรัฐบาลหรือการมีรัฐ โดยถือว่ารัฐหรือการรวมตัวเป็นประเทศ เป็นชาติ เป็นบ้านเมืองหรือการมีรัฐบาลนั้นเป็นของไม่จําเป็น และเป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายนานาประการ

18 ปัจจุบันประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือ

(1) สมชัย ศรีสุทธิยากร

(2) ศุภชัย สมเจริญ

(3) ประวิช รัตนเพียร

(4) ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์

(5) อมรา พงศาพิชญ์

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญประธาน กกต. และกรรมการอีก 4 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร, นายประวิช รัตนเพียร,นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ และนายบุญส่ง น้อยโสภณ

19 ในปัจจุบันพรรคการเมืองแบบชนชั้นหมายถึงพรรคที่มิได้เน้นในเรื่องจํานวนของผู้เข้าร่วมในพรรคเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่กลับเน้นในเรื่องของสมาชิก

(1) ลัทธิความเชื่อ

(2) ศาสนา

(3) อายุ

(4) คุณภาพ

(5) ความรู้ภาษาอังกฤษ

ตอบ 4 หน้า 40 – 41, (คําบรรยาย) พรรคชนชั้นหรือพรรคดั้งเดิม เป็นพรรคการเมืองที่ยังคงรักษาเครงสร้างของคําว่า “ชนชั้นนํา” (Elite) อยู่ กล่าวคือ เป็นพรรคที่มิได้เน้นในเรื่องจํานวนของ สมาชิกพรรคหรือจํานวนของผู้เข้าร่วมในพรรคเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่กลับเน้น ในเรื่องคุณภาพของสมาชิกพรรค เพราะพรรคต้องการเฉพาะกลุ่มคนหรือบุคคลที่ครอบครอง ปัจจัยสําคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคม เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือมีฐานะดีพอที่จะสามารถสนับสนุนพรรคในด้านการเงินได้ หรืออาจจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆก็คือ เป็นพรรคการเมืองที่เน้นในเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณของสมาชิก

20 พรรคแห่งชนชั้นกลาง หรือ Party Bourgeois นั้น มีทิศทางการบริหารประเทศที่เน้นด้าน

(1) ส่งเสริมเกษตรพอเพียง

(2) ไม่ชอบความรุนแรง

(3) นวัตกรรมทางการค้า

(4) นิยมรัฐสวัสดิการ

(5) ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

ตอบ 5 หน้า 41 พรรคแห่งชนชั้นกลาง (Party Bourgeois) เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดและทิศทางการบริหารประเทศแบบอนุรักษนิยมที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง โดยสมาชิกของพรรค จะประกอบด้วยบุคคลที่จัดอยู่ในประเภทกลางของสังคม เป็นผู้ที่มีทรัพย์สิน มีความสนใจฝักใฝ่ในทางวัตถุนิยม และมีผลประโยชน์เป็นของตนเองโดยเฉพาะ

21 ปัจจุบันประเทศไทยมีพันธะที่จะปรับโครงสร้างต่าง ๆ ให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสามเสา ได้แก่

(1) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม – เสาเศรษฐกิจ – เสาการเมืองและความมั่นคง

(2) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม – เสาประเพณี – เสาการเมืองและความมั่นคง

(3) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม – เสาระหว่างประเทศ – เสาการเมืองและความมั่นคง

(4) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม – เสาธุรกิจ – เสาการเมืองและความมั่นคง

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 5 (ความรู้ทั่วไป) ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ถือกําเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2546 จากการที่ผู้นําอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนที่ เรียกว่า “ข้อตกลงบาหลี 2” โดยประกอบด้วยประเทศสมาชิกจํานวน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้มีพันธะที่จะต้องปรับโครงสร้างต่าง ๆ ให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสามเสาได้แก่ เสาสังคมและวัฒนธรรม เสาเศรษฐกิจ และเสาการเมืองและความมั่นคง

22 ปัจจัยที่ทําให้อังกฤษมีระบบพรรคการเมืองสองพรรคได้แก่อะไร

(1) การมีการปกครองระบอบรัฐสภา

(2) วิวัฒนาการอันยาวนานของพรรคการเมือง

(3) การใช้ระบบสภาคู่

(4) การมีสถาบันกษัตริย์

(5) การใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากรอบเดียว

ตอบ 2 หน้า 151 152 ปัจจัยที่ทําให้อังกฤษมีระบบพรรคการเมืองสองพรรค ได้แก่ การมีวิวัฒนาการอันยาวนานของพรรคการเมืองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ซึ่งในระยะแรกจะเป็น เรื่องเกี่ยวกับความแตกแยกทางความคิดเห็น ความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา และ จากสมัยกลางมาสู่สมัยใหม่ความคิดเห็นก็ได้แตกแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1 พวก Cavaliers หรือพวก Tories เป็นรากฐานของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

2 พวก Roundhead หรือพวก Whigs เป็นรากฐานของพรรคริเบอร์รัล

23 พรรคการเมืองที่แท้จริงต้องมีลักษณะสําคัญ คือ

(1) ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

(2) บอยคอตต์การเลือกตั้ง

(3) มีสาขาพรรคมาก ๆ

(4) ตั้งสภาประชาชนจากการสรรหา

(5) เป้าหมายต้องการเป็นรัฐบาล

ตอบ 3,5 ดูคําอธิบายข้อ 13 ประกอบ

24 การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเรียกว่า

(1) Hong Kong Spring

(2) Yellow Ribbon Revolution

(3) Yellow Mask Movement

(4) Umbrella Revolution

(5) Hong Kong United Youth Front

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) การชุมนุมในฮ่องกงเมื่อเดือนกันยายน 2557 เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิการเลือกตั้งเสรีจากรัฐบาลจีน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ร่มในการป้องกัน แก๊สน้ําตาและสเปรย์พริกไทยจากเจ้าหน้าที่ตํารวจ จึงทําให้ร่มกลายเป็นสัญลักษณ์สําคัญของ การชุมนุมประท้วง และมีการเรียกการชุมนุมครั้งนี้ว่า “การปฏิวัติร่ม” (Umbrella Revolution)

25 ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนล่าสุด คือ

(1) นายซูฮาร์โต

(2) นางซูการ์โน บุตรี

(3) นายโจโก วิโดโด

(4) พลเอกปราโบโว สุเบียนโต

(5) นายบัมบัง ยูโดโยโน

ตอบ 3 (ความรู้ทั่วไป) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนล่าสุด คือ นายโจโก วิโดโด (Joko Widodo)สังกัดพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซียแห่งการต่อสู้ (PDI-P) ซึ่งได้เข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557

26 โดยปกติแล้วการประกาศกําหนดวันเลือกตั้งต้องประกาศเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) กฎกระทรวง

(4) พระราชกฤษฎีกา

(5) ประกาศของ กกต.

ตอบ 4 (คําบรรยาย) โดยปกติแล้วการประกาศกําหนดวันเลือกตั้งต้องประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา(รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 102 – 103)

27 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ผลของการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีสถานะเป็น

(1) การเลือกตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถูกขัดขวางจึงเป็นโมฆะ

(2) การเลือกตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวทั่วประเทศ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(3) การเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวทั่วประเทศการเลือกตั้งจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(4) การเลือกตั้งเป็นโมฆะตั้งแต่แรก เสมือนไม่เคยมีการเลือกตั้ง

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 3 (ขาว) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมติเสียงข้างมาก 6 : 3 ว่า การ ที่ พ.ร.ฎ. ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2556 กําหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และมีการดําเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปแล้ว แต่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งสําหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัคร รับเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้เป็นวันเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นผลให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 108 วรรค 2

28 ในทางทฤษฎีการรัฐประหาร (Coup d’etat) ต่างจากการปฏิวัติ (Revolution) อย่างไร

(1) รัฐประหารเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วตั้งผู้นําคนใหม่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างใด ๆ

(2) การปฏิวัติเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วตั้งผู้นําคนใหม่

(3) การปฏิวัติเป็นการรื้อปรับโครงสร้างอํานาจ ส่วนรัฐประหารแค่ล้มรัฐบาล

(4) รัฐประหารเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วตั้งผู้นําคนใหม่เพื่อปฏิรูปโครงสร้างสังคม

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 1 Coup d’etat จะมีความแตกต่างจากการปฏิวัติ (Revolution) คือ รัฐประหารจะเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วตั้งผู้นําคนใหม่ (ประมุขแห่งรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล) อย่างฉับพลัน โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (Regime) หรือ โครงสร้างใด ๆ ในทางสังคมการเมือง แต่การปฏิวัติจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือโครงสร้างของรัฐ ซึ่งจะแดขึ้นได้ยากกว่าการรัฐประหาร โดยในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีการปฏิวัติเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 โดยคณะราษฎร

29 เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้ใดได้รับโปรดเกล้าให้ดํารงตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส”

(1) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

(2) พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม

(3) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(4) พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา

(5) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้รับโปรดเกล้าฯ จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ให้ดํารงตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส” เนื่องจากเป็นผู้นําในการกอบกู้บ้านเมืองในช่วงสงครามโลก รวมทั้งได้ทํางานที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติหลายประการทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การต่างประเทศ การเศรษฐกิจและการศึกษา โดยนายปรีดีถือเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย

30 ตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส” ของบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้อใด

(1) ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์

(2) ขบวนการเสรีไทย

(3) ขบวนการพูโล

(4) พรรคเสรีมนังคศิลา

(5) พรรคประชาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 29 ประกอบ

31 ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. หลังการทํารัฐประหารปี 2557 คือ

(1) นายเทียนฉาย หอมนันท์

(2) นายเทียนฉาย กีระนันทน์

(3) นายกีระนันทน์ เทียนฉาย

(4) นายสุชาติ กีระนันทน์

(5) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. หลังการทํารัฐประหารปี 2557 คือ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และนางทัศนา บุญทองเป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2 ตามลําดับ

32 ข้อครหาใหญ่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติโดนวิจารณ์ในเดือนมีนาคม 2558 คือ

(1) การแต่งตั้งภรรยาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป

(2) การแต่งตั้งคนขับรถเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย

(3) การแต่งตั้งหัวคะแนนเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย

(4) การแต่งตั้งเครือญาติเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) สื่อมวลชนได้เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการแต่งตั้งเครือญาติเป็นผู้เชี่ยวชาญและ ผู้ช่วยประจําตัว ซึ่งทําให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการแต่งตั้งเครือญาติ ดํารงตําแหน่งดังกล่าว ดังนั้นวิป สนช. และวิป สปช. จึงมีมติให้สมาชิกปรับเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยประจําตัวที่เป็นเครือญาติออกจากตําแหน่งทันที

33 ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกหรือไม่

(1) ยังมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

(2) บังคับใช้เฉพาะสามจังหวัดภาคใต้

(3) บังคับใช้เฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล

(4) บังคับใช้เฉพาะจังหวัดที่มีเสื้อแดง

(5) ยกเลิกไปแล้ว

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) ปัจจุบันกฎอัยการศึกที่ใช้บังคับทั่วประเทศตามประกาศของกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 แต่กฎอัยการศึกในสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งบังคับใช้ก่อนวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ยังคง มีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้ถูกยกเลิกตามกฎอัยการศึกทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว

34 การสั่งยุบพรรคการเมืองเป็นไปตาม “หลักการพื้นฐาน” ว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในปัจจุบันหรือไม่

(1) เป็น หากพรรคการเมืองคอร์รัปชั่น

(2) เป็น หากนํานโยบายที่ได้หาเสียงไว้ แต่คนกลุ่มหนึ่งคัดค้านว่าทําเพื่อสร้างกระบอกเสียง

(3) ไม่เป็น เพราะพรรคการเมืองเป็นของประชาชนที่มีอุดมการณ์หรือมีแนวคิดทางการเมืองร่วมกันหากแต่การทําผิดของนักการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องดําเนินการตามกฎหมายเฉพาะบุคคล

(4) เป็น หากนักการเมืองทุจริตในการเลือกตั้ง

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 3 (คําบรรยาย) การสั่งยุบพรรคการเมืองถือว่าไม่เป็นไปตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองเป็นที่รวมของ ประชาชนที่มีอุดมการณ์หรือมีแนวความคิดทางการเมืองร่วมกัน แต่ถ้าหากนักการเมืองที่มีตําแหน่งในพรรคการเมืองกระทําผิดก็ต้องดําเนินการตามกฎหมายเฉพาะบุคคลนั้น

35 หากพรรคการเมืองตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฝ่ายตรวจสอบหรือฝ่ายค้านเพียงอย่างเดียว นับได้ว่าเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของระบบพรรคการเมืองในระบบประชาธิปไตยที่ถูกต้องหรือไม่

(1) ถูกต้อง เพราะมีความจําเป็นที่ต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านไว้ตรวจสอบรัฐบาล (2) ถูกต้อง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการแสวงหาอํานาจในการปกครองประเทศ

(3) ไม่ถูกต้อง เพราะพรรคการเมืองต้องมีเป้าหมายสําคัญคือ การชนะการเลือกตั้งเพื่อเป็นรัฐบาล

(4) ไม่ถูกต้อง เพราะพรรคการเมืองต้องมีความพร้อมในการเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน

(5) ถูกเฉพาะข้อ 3 และ 4

ตอบ 5 (คําบรรยาย) พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายตรวจสอบเพียงอย่างเดียวนั้นตามหลักการพื้นฐานของระบบพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแล้วถือว่าไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะพรรคการเมืองต้องมีเป้าหมายสําคัญคือชนะการเลือกตั้งเพื่อเป็นรัฐบาล แต่ถ้าแพ้การเลือกตั้งก็ต้องพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน (ดูคําอธิบายข้อ 13. ประกอบ)

36 การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 นําไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง คือ

(1) 14 ตุลาคม 2516

(2) 6 ตุลาคม 2519

(3) 26 มีนาคม 2524

(4) 17 – 20 พฤษภาคม 2535

(5) 13 – 20 พฤษภาคม 2553

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ส่งผลให้นําไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในวันที่ 17 – 20 พฤษภาคม 2535 หรือพฤษภาทมิฬ และเป็นจุดเริ่มต้นซึ่งประชาชนมีบทบาทสําคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูป การเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญฯ 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดของไทยฉบับหนึ่ง

37 ศัพท์ทางรัฐศาสตร์เรียกการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองว่า

(1) Salamandering

(2) Gerrymandering

(3) Psudo Electionman

(4) Idiocratic Commission

(5) Fraudmandering

ตอบ 2 (คําบรรยาย) Gerrymandering หมายถึง การบิดเบือนเขตเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคใดพรรคหนึ่ง เช่น กรณีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัดโดยให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน อยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน ทําให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักวิชาการว่ามีการบิดเบือนเขตเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง

38 ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน คือ

(1) นุรักษ์ มาประณีต

(2) ศุภชัย สมเจริญ

(3) ประวิช รัตนเพียร

(4) กฤษฎา บุญราช

(5) อมรา พงศาพิชญ์

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน คือ นายนุรักษ์ มาประณีตซึ่งเข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557

39 บุคคลที่ร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับในอดีตและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือ

(1) ดร.สมภพ โหตระกิตย์

(2) นายชัยวัฒน์ ฤชุพันธุ์

(3) นายมีชัย ฤชุพันธุ์

(4) นายไพศาล พืชมงคล

(5) นายธง แจ่มศรี

ตอบ 3 (ความรู้ทั่วไป) บุคคลที่ร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับในอดีตและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งท่านได้เคยทําหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ 2521, รัฐธรรมนูญฯ 2534,รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2549, รัฐธรรมนูญฯ 2550 รวมทั้งรัฐธรรมนูญฯ 2560

40 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ

(1) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

(2) นายเทียนฉาย กีระนันทน์

(3) นายชลชัย วิชิตพรเพชร

(4) นายไพบูลย์ นิติตะวัน

(5) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัยโดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2

41 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปี 2016 ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดใช้เงินในการ หาเสียงเลือกตั้งมากที่สุด

(1) พรรคเดโมแครต

(2) พรรครีพับลิกัน

(3) พรรคกรีน

(4) พรรคแรงงาน

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 1 (ข่าว) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2016ผู้สมัครที่ใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้งมากที่สุด คือ นางฮิลลารี คลินตัน (Hilary Clinton) จากพรรคเดโมแครต (ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์) ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้งประมาณ 200 ล้านดอลลาร์

42 Donald Trump เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจากพรรคการเมืองใด

(1) พรรคกรีน

(2) พรรครีพับลิกัน

(3) พรรคคองเกรส

(4) พรรคเดโมแครต

(5) เป็นรัฐบาลผสม

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 41 ประกอบ

43 การใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้งโดยได้รับการบริจาคหรือเงินสนับสนุนจากกลุ่มทุน นักธุรกิจ รวมถึงประชาชนทั่วไป ผิดหลักการประชาธิปไตยทั่วไปหรือไม่

(1) ผิด เพราะพรรคการเมืองที่มีนายทุนมากย่อมได้เปรียบพรรคการเมืองขนาดเล็ก (2) ผิด เพราะก่อให้เกิดระบบอุปถัมภ์

(3) ผิด เพราะก่อให้เกิดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง

(4) ไม่ผิด เพราะสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของกลุ่มทุน รวมถึงประชาชนบางกลุ่มทั้งในระดับสาขาอาชีพเชื้อชาติ ศาสนา สนับสนุนพรรคการเมืองนั้น ๆ

(5) ถูกเฉพาะข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้งโดยได้รับการบริจาคหรือเงินสนับสนุนจากกลุ่มทุนนักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา ถือว่าไม่ผิดหลักการประชาธิปไตย ทั่วไป เพราะสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของกลุ่มทุนและประชาชนในสาขาอาชีพ เชื้อชาติ และ ศาสนาต่าง ๆ ที่สนับสนุนนโยบายหรือแนวความคิดของบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้น ๆ

44 ตามแนวคิดเรื่องการพัฒนาการเมือง (Political Development) พรรคการเมืองจะต้องพัฒนาความเป็นสถาบันการเมืองโดย

(1) มีหัวหน้าพรรคที่เข้มแข็งเด็ดขาด

(2) เลือกบุคคลจากสกุลดังให้มาเป็นสมาชิกพรรค

(3) มีการแบ่งงานกันทําภายในพรรคตามนามสกุลและเงินบริจาค

(4) มีนักธุรกิจมาเป็นสมาชิกพรรคมาก ๆ

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ตามแนวคิดเรื่องการพัฒนาการเมือง (Political Development) นั้นพรรคการเมืองจะต้องพัฒนาความเป็นสถาบันการเมืองโดย

1 มีหัวหน้าพรรคที่เข้มแข็งเด็ดขาด

2 มีการแบ่งงานกันทําภายในพรรคตามความถนัด

3 มีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคโดยคํานึงถึงความรู้ความสามารถ ฯลฯ

45 ตามคํานิยามของเอ็ดมันด์ เบอร์ก พรรคการเมืองจะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อ

(1) ส่งเสริมสาธารณกุศล

(2) ป้องกันการแตกสามัคคีของคนในชาติ

(3) สร้างความสามัคคีของหมู่คณะ

(4) ส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ

(5) ส่งเสริมประโยชน์แก่สมาชิกพรรค

ตอบ 4 หน้า 4 เอ็ดมันด์ เบอร์ก (Edmund Burke) ได้ให้คํานิยามของพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองได้แก่ “คนกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมกันตามแนวหลักการบางอย่าง โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ”

46 ผลจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีพรรคการเมืองใดถูกยุบหรือไม่

(1) ไม่มีพรรคไหนโดนยุบพรรค

(2) พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ

(3) หัวหน้าพรรคเพื่อไทยโดนจับ

(4) พรรคเพื่อไทยถูกยุบ

(5) พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการรัฐประหารรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งการรัฐประหาร ในครั้งนี้เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประวัติศาสตร์ไทย และนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ หนึ่งทศวรรษ (หรือในรอบ 10 ปี ต่อจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) โดยการรัฐประหาร ได้มีผลทําให้รัฐธรรมนูญฯ 2550 สิ้นสุดลง และทําให้คณะรัฐมนตรีรักษาการและวุฒิสภา สิ้นสุดลงด้วย แต่ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนพรรคการเมืองนั้นยังคงดํารงอยู่ แต่ไม่สามารถดําเนินกิจกรรมใด ๆ ทางการเมืองได้

47 ผลจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลกระทบ คือ

(1) คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่โดนยุบ

(2) กกต. ฝ่ายบริหารการเลือกตั้งโดนปลด ฐานจัดการเลือกตั้งล้มเหลว

(3) กกต. ฝ่ายบริหารการเลือกตั้งโดนเรียกไปปรับทัศนคติ

(4) ประธาน กกต. ถูกปลด

(5) กกต. ถูกส่งไปศึกษางานต่างประเทศ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 46 ประกอบ

48 แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม (Social Contract) อธิบายว่าเราสามารถบรรลุถึงเสรีภาพได้ในเงื่อนไขใด

(1) ในรัฐสังคมนิยม

(2) ในรัฐสวัสดิการ

(3) ในรัฐแบบใดก็ได้

(4) ในรัฐประชาธิปไตยเท่านั้น

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 5 (คําบรรยาย) รุสโซ เห็นว่า สังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสัญญาประชาคม (Social Contract)สามารถทําให้บุคคลในฐานะสมาชิกของสังคมนั้นบรรลุถึงเสรีภาพได้ ภายใต้เงื่อนไขการออก กฎหมายมาบังคับตัวเอง กล่าวคือ การที่เคารพกฎหมายที่ตัวเรามีส่วนร่วมในการบัญญัตินั้น เราย่อมไม่รู้สึกว่ากฎหมายนั้นกดขี่เราและทําให้เราไม่มีเสรีภาพ เพราะโดยทั่วไปแล้วคงไม่มีใครเสียสติพอที่จะบัญญัติกฎหมายออกมาเพื่อกดขี่บีบคั้นตัวเองให้เจ็บปวด

49 อุดมการณ์หรือแนวคิดใดเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็นเรื่องผิดปกติ

(1) ฟาสซิสต์

(2) อนุรักษนิยม

(3) สังคมนิยม

(4) ประชาธิปไตย

(5) เฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 5 หน้า 230, (คําบรรยาย) การเมืองแบบพหุนิยม เป็นแนวคิดของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งเห็นว่าประชาธิปไตยจะมีขึ้นและมั่นคงอยู่ได้ก็ด้วยการมีกลุ่ม กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง สมาคม ชมรม สันนิบาต องค์การ หรือสารพันธ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายภายในรัฐโดยเสรีและสมัครใจ มิได้มีการบังคับ เพราะเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็น เรื่องปกติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์อนุรักษนิยม คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ และ นาซีที่ไม่สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม เพราะเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็นเรื่องผิดปกติ

50 ส่วนผสมของอุดมการณ์ทางการเมืองที่สําคัญ คือ

(1) วิจารณ์สังคม ให้ภาพอนาคต เสนอแนวทางเข้าสู่สังคมที่ดีกว่า

(2) ให้ภาพอดีต วิจารณ์สังคม เสนอวิธีเข้าสู่สังคมที่ดีกว่า

(3) วิจารณ์ปัจจุบันให้ภาพอนาคต เสนอวิธีล้มล้างระบอบปัจจุบัน

(4) วิจารณ์ปัจจุบัน ให้ศรัทธาผู้นํา เสนอวิธีล้มล้างระบอบปัจจุบัน

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ส่วนผสมของอุดมการณ์ทางการเมืองที่สําคัญ มี 3 ประการ คือ

1 การวิจารณ์สังคมหรือระเบียบในปัจจุบัน

2 การให้ภาพสังคมหรือระเบียบในอนาคต

3 การเสนอทฤษฎีหรือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมหรือระเบียบใหม่ เช่น เสนอวิธีล้มล้างระบอบปัจจุบันหรือเสนอแนวทางเข้าสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่า เป็นต้น

 

51 ชนชั้นนํา (Eite) คือ

(1) คนที่มีรสนิยมสูง

(2) คนที่เป็นแนวหน้าในการสร้างประชาธิปไตย

(3) คนที่เกิดมาเป็นผู้นํา

(4) คนที่มีอํานาจสูงสุด

(5) กลุ่มคนที่ครอบครองปัจจัยสําคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคม

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 19 ประกอบ

52 ขบวนการจีนโพ้นทะเลในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ต่อต้านญี่ปุ่น จัดอยู่ในประเภทของกลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) กลุ่มผลักดัน

(3) กลุ่มอิทธิพลมืด

(4) กลุ่มอาชีพ

(5) กลุ่มอุดมการณ์

ตอบ 1, 5 ดูคําอธิบายข้อ 9 ประกอบ

53 ขบวนการเสรีไทย จัดอยู่ในประเภทของกลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) กลุ่มผลักดัน

(3) กลุ่มอิทธิพลมืด

(4) กลุ่มอาชีพ

(5) กลุ่มอุดมการณ์

ตอบ 1, 5 ดูคําอธิบายข้อ 9 ประกอบ

54 จุดประสงค์หลักของการก่อตั้งสื่อมวลชนคือหนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์นั้น ก็เพื่อธุรกิจการค้าแต่ก็มีผลสะท้อนในการสร้างแรงกดดันต่อมวลชน เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มผลักดัน

(1) นอมินี

(2) เอกชน

(3) จริง

(4) แฝง

(5) เฉพาะเรื่อง

ตอบ 4 หน้า 252 การก่อตั้งสื่อสารมวลชน คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์นั้นมีจุดประสงค์หลักเพื่อธุรกิจการค้า แต่ก็มีผลสะท้อนในการสร้างแรงกดดันต่อมวลชนหรือบีบบังคับในทางการเมือง เพื่อจะได้มีบทบาทต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า“กลุ่มผลักดันแฝง”

55 หอการค้าสยาม (Siamese Charmber of Commerce) ถูกตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใดเป็นสําคัญ เมื่อปีพ.ศ. 2476

(1) เพื่อเป็นตัวแทนให้แก่พ่อค้าไทยทํานุบํารุงการค้าขายให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก (2) เพื่อการต่อรองทางการค้าของคณะราษฎร

(3) เพื่อปูทางทางการเมืองให้แก่นักการเมือง

(4) เพื่อปูทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้แก่ประชาชน

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 313 หอการค้าสยาม (Siamese Chamber of Commerce) เป็นกลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายนายจ้างที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยกันทํานุบํารุงการค้าขายให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก และเป็น ตัวแทนให้แก่พ่อค้าไทย ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2476 และได้ยุติบทบาทลงในปี พ.ศ. 2486

56 กลุ่มผลประโยชน์ประเภทใดที่อาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีบทบาทในทางการเมืองเลย เพราะการรวมกลุ่ม เพื่อความสามัคคีและชื่อเสียง คือกลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) กลุ่มผลักดัน

(3) กลุ่มอิทธิพลมืด

(4) กลุ่มอาชีพ

(5) กลุ่มอุดมการณ์

ตอบ ไม่มีข้อถูก หน้า 312 กลุ่มมาตุภูมิ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่อาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีบทบาทในทางการเมืองเลย เพราะการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ก็เพื่อจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมความ สามัคคีและเผยแพร่ชื่อเสียงของกลุ่มเท่านั้น เช่น สมาคมชาวเหนือ สมาคมชาวปักษ์ใต้สมาคมนักเรียนเก่า ฯลฯ

57 หลักการของทฤษฎีที่ว่า “ประชาธิปไตยจะมีขึ้นได้และมั่นคงตลอดไปโดยการมีกลุ่ม สมาคม ชมรมต่าง ๆ ภายในรัฐ การเกิดขึ้นโดยสมัครใจมิได้มีการบังคับ” คือทฤษฎี

(1) ปัจเจกชนนิยม

(2) พหุนิยม

(3) อัตตาธิปไตย

(4) สังคมนิยม

(5) อนาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

58 ศ.ดร.เฟรด ริกส์ เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 2 (คําบรรยาย) ศ.ดร.เฟรด ดับบลิว. ริกส์ (Fred W. Riggs) เป็นนักวิชาการที่สนใจเรื่องอํานาจ การเมืองในภาคราชการ และเป็นผู้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น “ระบอบ อํามาตยาธิปไตย” (Bureaucratic Polity) ซึ่งเป็นระบบการเมืองที่ถูกครอบงําโดยภาคราชการ นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

59 ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้อธิบายถึงปัญหาการรัฐประหารซ้ำซากของการเมืองไทยว่ามีลักษณะเป็น “วงจรอุบาทว์” ซึ่งก็คือ การวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร แล้วตามด้วยการร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง แล้วก็วนไปที่การรัฐประหารอีกไม่รู้จบสิ้น โดยสาเหตุที่เกิดการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย เพราะประชาธิปไตยของไทยยังไม่เข้มแข็งพอ

60 แนวคิดที่นําไปสู่การออกแบบระบอบการเมืองไทยให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสัดส่วน คือ

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 4 (คําบรรยาย) จากแนวคิดสองนคราประชาธิปไตยที่ว่า “คนจนในชนบทเลือกรัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล” ได้นําไปสู่การออกแบบระบอบการเมืองไทยในรัฐธรรมนูญฯ 2540 ให้มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทสัดส่วนหรือแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ทั้งคนจนในชนบทและคนชั้นกลางในเมืองเป็นได้ทั้งผู้ตั้งรัฐบาลและผู้ล้มรัฐบาล

 

61 การเกิดของกลุ่มผลประโยชน์ของไทยเท่าที่เป็นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านแรงงานมักมีอุปสรรคสําคัญคือขาดการสนับสนุนของ

(1) รัฐบาล

(2) นายจ้าง

(3) กรรมกร

(4) โรงงาน

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 309 – 310, (คําบรรยาย) การเกิดของกลุ่มผลประโยชน์ของไทยเท่าที่เป็นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านแรงงานนั้นเป็นผลมาจากการริเริ่มของกรรมกร แต่การรวมตัวกันก่อตั้ง เป็นสหภาพแรงงานมักจะมีอุปสรรคสําคัญคือ ขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือผู้ที่ปกครอง ประเทศอยู่ในขณะนั้น เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยกลุ่มคนงานรถรางในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกมองว่ามีลักษณะสังคมนิยม จึงไม่ได้รับการสนับสนุนให้ก่อตั้งเป็นสหภาพ

62 ผู้นําแรงงานที่หายตัวไปหลังการรัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2534 คือ

(1) นายอิศรา อมันตกุล

(2) นายทนง โพธิ์อ่าน

(3) นายถวัติ ฤทธิเดช

(4) นายสมชาย นีละไพจิตร

(5) นายจิตร ภูมิศักดิ์

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) นายทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ภายหลังการรัฐประหาร 2.3 กุมภาพันธ์ 2534 ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งขณะนั้นนายทนงเป็นผู้นําระดับสูงของขบวนการแรงงานที่มีบทบาทในการต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างชัดเจนที่สุด

63 ดร.ซุน ยัด เซ็น ผู้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) เป็นผู้สร้างแนวคิดทางการเมืองที่ชื่อลัทธิ

(1) ไตรราษฎร์

(2) เสรีจีน

(3) บ็อกเซอร์

(4) มาตุภูมิ

(5) ไท่ผิง

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ดร.ซุนยัด เซ็น เป็นผู้ก่อตั้งพรรคชาตินิยมแห่งประเทศจีนหรือที่รู้จักกันในนามพรรค “ก๊กมินตั๋ง” (KMT) ภายหลังจากการโค่นล้มระบอบราชาธิปไตยในประเทศจีน รวมทั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศจีน และเป็นผู้กําหนดลัทธิการเมืองที่เรียกว่าลัทธิ “ไตรราษฎร์” หรือหลัก 3 ประการแห่งประชาชน (Three Principle of the People)

64 ตามแนวคิดเรื่องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย (Democratization) คนกลุ่มใดจะเป็นแนวหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

(1) รากหญ้า

(2) เสื้อแดง

(3) อํามาตย์

(4) ทหาร

(5) คนชั้นกลาง

ตอบ 5 (คําบรรยาย) การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย (Democratization) คือ กระบวนการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในภาคประชาชนเพื่อนําไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียงแค่การเลือกตั้ง ซึ่งจะสนับสนุนให้คนชั้นกลางเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย ในขณะที่กลุ่มทหารจะดํารงตนเป็นทหารอาชีพ ซึ่งไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองขณะเดียวกันก็มักพบว่ามีกลุ่มแนวคิดอนุรักษนิยมพยายามออกมาต่อต้านประชาธิปไตยดังกล่าว

65 แนวคิดเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายสอดคล้องกับแนวคิดใด

(1) ปัจเจกชนนิยม

(2) ประชาธิปไตย

(3) คณาธิปไตย

(4) สังคมนิยม

(5) อนาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

66 กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) กับกลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) จะมีความแตกต่างกันในแงใด

(1) เป้าหมาย

(2) กิจกรรม

(3) หลักบริหารกลุ่ม

(4) ไม่แตกต่าง

(5) สมาชิก

ตอบ 1 หน้า 236 237 กรมผลประโยชน์ (Interest Groups) กับกลุ่มผลักดัน (Pressure Groups)จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของเป้าหมาย กล่าวคือ เมื่อใดที่กลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมายที่ จะมีอิทธิพลเหนือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีอิทธิพลต่อนโยบายของรัฐบาลแล้ว กลุ่มผลประโยชน์เหล่านั้นก็จะกลายเป็นกลุ่มผลักดันหรือกลุ่มอิทธิพลทันที

67 แนวคิดเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายสอดคล้องกับแนวคิดการปกครองแบบใด

(1) ปัจเจกชนนิยม

(2) ประชาธิปไตย

(3) คณาธิปไตย

(4) สังคมนิยม

(5) อนาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

68 หากนักการเมืองคนใดถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่ามีความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินอันเป็นเท็จ นักการเมืองผู้นั้นต้องห้ามดํารงตําแหน่งทางการเมืองและ ตําแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองเป็นเวลาอย่างน้อยกี่ปี

(1) 5 ปี

(2) 7 ปี

(3) 10 ปี

(4) 15 ปี

(5) 20 ปี

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 263 บัญญัติว่า ในกรณีที่นักการเมืองคนใดถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่ามีความผิดฐานจงใจไม่ยื่น บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ให้นักการเมืองผู้นั้น พ้นจากตําแหน่ง และต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ วินิจฉัย

69 การแจกใบเหลืองใบแดงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการทําหน้าที่

(1) กึ่งฝ่ายบริหาร

(2) กึ่งศาล

(3) กรรมการ

(4) เป็นผู้ปกป้องรัฐบาล

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นการทําหน้าที่กึ่งศาล เช่น การมีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การพิจารณาแจกใบเหลืองและใบแดงแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่กระทําการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือระเบียบหรือประกาศของ กกต. การรับรองหรือไม่รับรองผลการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร ส.ส. เป็นต้น

70 พฤติการณ์ในข้อใดไม่เกี่ยวกับอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(1) การเลื่อนการเลือกตั้ง

(2) การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

(3) การกําหนดเขตเลือกตั้ง

(4) การทําบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(5) การตรวจสอบคุณสมบัติของนักการเมือง

ตอบ 1 หน้า 329, 406, (ความรู้ทั่วไป) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 10 กําหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอํานาจหน้าที่ดังนี้

1 การตรวจสอบคุณสมบัติของนักการเมือง

2 การจัดทําและตรวจสอบบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

3 การกําหนดเขตเลือกตั้ง

4 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

5 การประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ผลการสรรหา และผลการออกเสียงประชามติ ฯลฯ

 

71 ข้อใดไม่ใช่ลักษณะที่สําคัญของพรรคการเมือง

(1) เป็นคณะบุคคลที่รวบรวมกันเป็นองค์กร

(2) มีการกําหนดประเด็นปัญหาและนโยบาย

(3) มีการคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

(4) ดําเนินกิจกรรมเพื่อมุ่งแสวงหากําไร

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 6 ลักษณะที่สําคัญของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 เป็นคณะบุคคลที่รวบรวมกันเป็นองค์การ

2 เป็นการรวมตัวกันตามแนวความคิดหรือหลักการบางอย่างที่เห็นพ้องต้องกัน

3 มีการกําหนดประเด็นปัญหาและนโยบาย

4 มีการคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

5 มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปควบคุมการดําเนินงานและนโยบายของรัฐบาล

72 ข้อใดไม่ใช่หน้าที่ของพรรคการเมือง

(1) เสนอนโยบาย

(2) ชี้ขาดข้อพิพาท

(3) จัดตั้งรัฐบาล

(4) ปลุกระดมมวลชนให้มีส่วนร่วมทางการเมือง

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 15 – 19 หน้าที่ของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 เลือกสรรบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

2 เสนอนโยบาย ชี้ประเด็นปัญหาและเสนอแนวทางแก้ไข

3 เป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับองค์การของรัฐ

4 จัดตั้งรัฐบาล

5 ปลุกระดมมวลชนให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง

73 ข้อใดไม่ใช่บทบาทของพรรคการเมือง

(1) พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

(2) ช่วยให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ

(3) ช่วยให้กลไกทางการเมืองดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(4) ช่วยประสานประโยชน์ของกลุ่มชนในสังคม

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 19 – 23 บทบาทของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 ช่วยให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ

2 ช่วยทําให้กลไกทางการเมืองดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องต้องกัน

3 ช่วยประสานประโยชน์ของกลุ่มชนในสังคม

4 ช่วยพัฒนาการเมือง ฯลฯ

74 ข้อใดไม่ใช่ทฤษฎีที่กล่าวถึงกําเนิดของพรรคการเมือง

(1) ทฤษฎีจิตวิทยา

(2) ทฤษฎีทางเศรษฐกิจและสังคม

(3) ทฤษฎีอุดมการณ์

(4) ทฤษฎีทางการจัดองค์การ

(5) ทฤษฎีระบบ

ตอบ 5 หน้า 27 – 32 ทฤษฎีที่กล่าวถึงกําเนิดของพรรคการเมือง มีหลายทฤษฎี เช่น ทฤษฎีจิตวิทยา ทฤษฎีทางเศรษฐกิจและสังคม ทฤษฎีอุดมการณ์หรือหลักการ ทฤษฎีทางการจัดองค์การ ทฤษฎีว่าด้วยสถาบัน ทฤษฎีว่าด้วยพัฒนาการ ฯลฯ

75 อุดมการณ์เริ่มมีความสําคัญต่อพรรคการเมืองน้อยลงในช่วงเวลาใด

(1) หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม

(2) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

(3) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

(4) หลังปี 1980

(5) หลังปี 2000

ตอบ 3 หน้า 35 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อุดมการณ์เริ่มมีความสําคัญต่อพรรคการเมืองน้อยลงพรรคการเมืองได้กลายเป็นพรรคปฏิบัติการมากกว่าอุดมการณ์ โดยการปรับปรุงอุดมการณ์ให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากขึ้น เพื่อหวังจะได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด

76 พรรคการเมืองรูปแบบใดที่มีความเป็นมายาวนานที่สุด

(1) พรรคชนชั้น

(2) พรรคมวลชน

(3) พรรคแบบผสม

(4) พรรคแนวร่วม

(5) พรรคจัดตั้ง

ตอบ 1 หน้า 40, (คําบรรยาย) ศ.ดูแวร์เช่ ได้แบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 3 รูปแบบ คือ

1 พรรคชนชั้น (พรรคดั้งเดิม) เป็นพรรคการเมืองที่มีความเป็นมายาวนานที่สุด

2 พรรคมวลชน

3 พรรคแบบผสม (พรรคกึ่งมวลชนถึงชนชั้น)

77 ข้อใดคือความมุ่งหมายของพรรคมวลชนแบบสังคมนิยม

(1) ชนะการเลือกตั้ง

(2) รวบรวมสมาชิกให้ได้มากที่สุด

(3) เผยแพร่ความรู้

(4) ระดมทุน

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 หน้า 43 – 44 ความมุ่งหมายของพรรคมวลชนแบบสังคมนิยม คือ รวบรวมและแสวงหาสมาชิกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ โดยพรรคสังคมนิยมในปัจจุบันได้ให้ความสําคัญแก่มวลชนมาก การรับสมัครสมาชิกจะกระทําโดยตรงและเปิดสู่สาธารณะในลักษณะที่ถาวร

78 การจัดองค์การพรรคการเมืองแบบเซลล์เป็นลักษณะจําเพาะของพรรคใด

(1) พรรคแรงงาน

(2) พรรคเสรีนิยม

(3) พรรคคอมมิวนิสต์

(4) พรรคอนุรักษนิยม

(5) พรรคกรีน

ตอบ 3 หน้า 65 การจัดองค์การพรรคการเมืองแบบหน่วยย่อยหรือเซลล์ (Cell) นั้น ถือว่าเป็นลักษณะจําเพาะของพรรคคอมมิวนิสต์

79 ข้อใดไม่ใช่องค์กรเบื้องต้นของพรรคการเมือง

(1) Caucus

(2) Branch

(3) Cell

(4) Militia

(5) Sect

ตอบ 5 หน้า 56 องค์กรเบื้องต้น (Basic Elements) ของพรรคการเมือง มี 4 แบบ คือ

1 Caucus (แบบคณะกรรมการ)

2 Branch (แบบสาขา)

3 Celt (แบบหน่วยย่อยหรือแบบเซลล์)

4 Militia (แบบทหาร)

80 ลักษณะที่ผู้นําพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษมีอํานาจมากถูกเรียกว่าอะไร

(1) โลกาธิปไตย

(2) เอกาธิปไตย

(3) ธรรมาธิปไตย

(4) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 หน้า 100 ผู้นําหรือหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษจะเป็นผู้คัดเลือกบุคคลเข้าร่วมเป็นคณะรัฐบาลและเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง จะอยู่ในตําแหน่งตราบเท่าที่สามารถควบคุม หรือมีอิทธิพลเหนือสมาชิกคนสําคัญ ๆ ของพรรค ดังนั้นหัวหน้าพรรคจึงมีอํานาจมากจนถูกเรียกว่าเป็นลักษณะ “เอกาธิปไตย”

 

81 ข้อใดคือที่มาของหัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษ

(1) เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่พรรค

(2) แต่งตั้งโดยหัวหน้าพรรคคนก่อนหน้า

(3) การหยั่งสียงของผู้สนับสนุนพรรค

(4) เลือกตั้งโดยสมาชิกสภาสามัญที่สังกัดพรรค

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 หน้า 100 หัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษในระยะที่เป็นพรรคฝ่ายค้านจะต้องมีการเลือกตั้งทุก ๆ ปีจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกรัฐสภาและตัวแทนจากสหพันธ์แรงงานที่สังกัดพรรคแรงงาน

82 พรรคการเมืองใดมีลักษณะอัตตาธิปไตยแบบเปิดเผย

(1) พรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ

(2) พรรคเดโมแครต

(3) พรรคเสรีประชาธิปไตย

(4) พรรคแรงงานของอังกฤษ

(5) พรรคนาซี

ตอบ 5 หน้า 106 107 อัตตาธิปไตยแบบเปิดเผย หมายถึง การที่หัวหน้าพรรคมีอํานาจเด็ดขาดในการตัดสินปัญหาสําคัญ ๆ ของพรรค ซึ่งพรรคการเมืองลักษณะนี้จะพบได้ในพรรคการเมืองแบบฟาสซิสต์ เช่น พรรคนาซีของเยอรมัน ฯลฯ

83 พรรคการเมืองใดมีการจัดองค์กรเบื้องต้นแบบ Militia

(1) พรรคคอมมิวนิสต์

(2) พรรคฟาสซิสต์

(3) พรรคเสรีประชาธิปไตย

(4) พรรคแรงงานของอังกฤษ

(5) พรรครีพับลิกัน

ตอบ 2 หน้า 68 – 69 พรรคการเมืองที่มีการจัดองค์กรเบื้องต้นแบบ Militia (แบบทหาร) บางครั้งถูกเรียกว่าเป็นกองกําลังส่วนตัว (ของพรรค) ได้แก่ พรรคฟาสซิสต์ ซึ่งจะปรากฏในเยอรมันสมัยฮิตเลอร์และในอิตาลีสมัยมุสโสลินี

84 ประเทศใดมีระบบพรรคเด่นพรรคเดียว

(1) จีน

(2) อังกฤษ

(3) ฝรั่งเศส

(4) ญี่ปุ่น

(5) ไทย

ตอบ 4 หน้า 177 – 180 ระบบพรรคเด่นพรรคเดียวหรือระบบพรรคครึ่ง เป็นระบบพรรคการเมือง ที่เป็น ที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค (ตั้งแต่ 2 พรรคขึ้นไป) เข้าแข่งขันกันในการเลือกตั้ง แต่ว่าจะมีเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่มีเสียงข้างมากในสภาจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียง ลําพังติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ตัวอย่างของประเทศที่มีระบบพรรคเด่นพรรคเดียวในปัจจุบัน ได้แก่ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เป็นต้น

85 พรรคการเมืองในประเทศใดไม่ใช่ระบบสองพรรค

(1) อังกฤษ

(2) ฝรั่งเศส

(3) นิวซีแลนด์

(4) สหรัฐอเมริกา

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 หน้า 145, 147 148, (คําบรรยาย) ระบบสองพรรค หมายถึง การที่รัฐหรือประเทศหนึ่งมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพียง 2 พรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล โดยพรรคการเมืองในประเทศ ที่มีระบบสองพรรค เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ ฟิจิ อุรุกวัย จาไมกา โดมินิกัน ฯลฯ

86 สาเหตุที่เกิดการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย

(1) รัฐประหารสามารถแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ ได้

(2) เพราะนักการเมืองทุจริต

(3) เพราะระบบการเมืองไร้ประสิทธิภาพ

(4) เพราะประชาชนสนับสนุน

(5) ประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็ง

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 59 ประกอบ

87 ข้อใดคือหนึ่งในหลักการบริหารบ้านเมืองหกประการของคณะราษฎร

(1) จะต้องให้ราษฎรได้มีโอกาสในการศึกษา

(2) ส่งเสริมให้ราษฎรมีเสรีภาพ

(3) ราษฎรสามารถตั้งพรรคการเมืองได้

(4) เปิดเสรีทางการค้า

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) หลัก 5 ประการของคณะราษฎร ซึ่งประกาศไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1เพื่อเป็นนโยบายในการบริหารและปกครองประเทศ มีดังนี้

1 จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย

2 จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก 3 จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ

4 จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน

5 จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ

6 จะต้องให้ราษฎรได้มีโอกาสในการศึกษาอย่างเต็มที่

88 ข้อใดคือหนึ่งในองค์การของกลุ่มผลประโยชน์ที่จัดตั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

(1) สหภาพแรงงาน

(2) สหภาพแรงงานไทย

(3) สมาคมแรงงานแห่งประเทศไทย

(4) สหภาพกรรมกรกลาง

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 310 311 องค์การของกลุ่มผลประโยชน์ที่จัดตั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2516 มีดังนี้

1 สหภาพกรรมกรกลาง

2 สหภาพกรรมกรชาติไทย

3 สมาคมคนงานเสรีแห่งประเทศไทย

89 จุดประสงค์การจัดตั้งกลุ่มผลประโยชน์

(1) เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม

(2) เพื่อแสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ

(3) เพื่อทํางานร่วมกันเป็นกลุ่มให้บรรลุผลประโยชน์เฉพาะร่วมกัน

(4) เพื่อเสนอตัวเป็นผู้บริหารรัฐบาล

(5) ถูกเฉพาะข้อ 1, 2 และ 3 เท่านั้น

ตอบ 5 หน้า 236 จุดประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มผลประโยชน์ มีดังนี้

1 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม

2 เพื่อแสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ

3 เพื่อทํางานร่วมกันเป็นกลุ่มให้บรรลุผลประโยชน์เฉพาะร่วมกัน

90 การใช้อิทธิพลเหนือนโยบายรัฐบาล และเมื่อรัฐบาลได้นําไปปฏิบัติ หากแต่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นกลุ่มดังกล่าวมิได้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด คือลักษณะของ

(1) กลุ่มผลประโยชน์

(2) กลุ่มผลักดัน

(3) กลุ่มอุดมการณ์

(4) ล็อบบี้ยิสต์

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 หน้า 238 แกรแฮม วัดต้น (Graham Wootton) กล่าวว่า กลุ่มผลักดัน คือ องค์การใด ๆที่แสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายของรัฐบาล แต่ปฏิเสธความความรับผิดชอบในองค์การของรัฐ

 

ข้อ 91. – 100. จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม

(1) ถูก

(2) ผิด

91 14 ตุลาคม 2516 เป็นการยุติบทบาทการเมืองฝ่ายประชาชนและทําให้เกิดความหวาดระแวงในสังคมไทยจนต้องมีการนิรโทษกรรมจึงผ่อนคลาย

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่และกลุ่มที่รัฐให้ การสนับสนุนได้เข้าไปจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกําลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ จนทําให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจํานวนมาก โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นการ ยุติบทบาทของการเมืองแบบมีส่วนร่วมประชาชนและทําให้เกิดความหวาดระแวงในสังคมไทยจนต้องมีการนิรโทษกรรมเหตุการณ์จึงผ่อนคลาย

92 สโมสรไลออนส์นานาชาติเป็นกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 9 ประกอบ

93 การชุมนุมบนท้องถนนเป็นสิทธิในการแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย

ตอบ 1 (คําบรรยาย) รัฐ/สังคมประชาธิปไตยถือว่าการชุมนุมบนท้องถนนเป็นสิทธิในการแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง เพราะรัฐ/สังคมประชาธิปไตยได้ให้สิทธิ พื้นฐานแก่ประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงความเห็นหรือเรียกร้องให้รัฐบาล ดําเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ตราบเท่าที่การกระทํานั้นเป็นไปอย่างสันติและไม่เกินขอบเขต ของกฎหมาย ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐ/สังคมเผด็จการที่ไม่สนับสนุนการชุมนุมบนท้องถนนเพราะถือว่าเป็นการแตกความสามัคคีและเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

94 สิทธิการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดไม่ควรเท่าเทียมกัน เพราะคนกรุงเทพฯ มีความรู้มากกว่าคนต่างจังหวัด

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยถือว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่จํากัดว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในเมืองหรือชนบท เพศใด ศาสนาใด การศึกษา ระดับใด ฐานะความเป็นอยู่เป็นอย่างไร โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะมีสิทธิคนละ1 เสียง (One Man One Vote) และคะแนนเสียงทุกคะแนนจะมีความสําคัญเท่ากัน

95 การเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์ หมายถึง ระบบอํานาจสการเมืองที่อยู่ในกลุ่มชนชั้นนํา ในขณะที่ประชาชนไม่มีอํานาจใด ๆ

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ศ.ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้ขนานนามการเมืองการปกครองของไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าเป็น “ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์” แบบเผด็จการ ซึ่งเป็นผลมาจาก มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองฯ 2502 ที่ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในการใช้อํานาจทั้งอํานาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้นจึงถือว่าการเมืองแบบ พ่อขุนอุปถัมภ์เป็นการเมืองที่มีฐานอํานาจคับแคบมาก เพราะอํานาจเด็ดขาดจะตกอยู่ที่ ตัวนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นฐานแห่งอํานาจเผด็จการ

96 พรรคการเมืองชื่อโบว์น้ําเงินในดุสิตธานีมีหัวหน้าพรรคคือหลวงวิจิตวาทการ ตอบ 2 (คําบรรยาย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงตั้งเมืองสมมุติ“ดุสิตธานี” ขึ้นในบริเวณวังพญาไท เพื่อทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยโปรด ให้มี “ธรรมนูญการปกครองแบบนคราภิบาล” ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง มีการ เลือกตั้งนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรี มีสภาการเมืองแบบประเทศประชาธิปไตย และมี พรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคโบว์น้ําเงิน ซึ่งมีนายราม ณ กรุงเทพ (รัชกาลที่ 6) เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคโบว์แดง ซึ่งมีเจ้าพระยารามราฆพ เป็นหัวหน้าพรรค

97 นโยบายของพรรคการเมืองมีความสําคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น พรรคการเมืองต่าง ๆ จะต้องแข่งขันกันเพื่อเป็นรัฐบาลโดยการนํานโยบายมาหาเสียงในการเลือกตั้ง ซึ่งความแตกต่าง ของนโยบายแต่ละพรรคการเมืองจะมีความสําคัญและมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจของประชาชน ในการเลือกตั้ง หากสมาชิกของพรรคใดได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้เข้ามามีเสียงข้างมาก ในสภาแสดงว่าประชาชนต้องการให้นโยบายของพรรคนั้นเป็นนโยบายของรัฐบาล และเมื่อ รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและนํานโยบายนั้นไปปฏิบัติให้ บรรลุผล การนํานโยบายมาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นถือเป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยและถือเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

98 การนํานโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาไปปฏิบัติ อาทิ นโยบายจํานําข้าว รถคันแรก ไม่เป็นไปตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 97 ประกอบ

99 “ที่ใดมีองค์กร ที่นั้นมีระบบคณาธิปไตย” เช่น พรรคการเมืองส่งเสริมให้เกิดระบบคณาธิปไตยเป็นความคิดของ Robert Michels

ตอบ 1 (คําบรรยาย) โรเบิร์ต มิเชลส์ (Robert Michels) นักทฤษฎีชนชั้นนําได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับกฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย (Iron Law of Oligarchy) โดยกล่าวว่า “ที่ใดมีองค์กร ที่นั้นมีระบบ คณาธิปไตย” หรือมีคนเพียงส่วนน้อยที่มีอํานาจในการตัดสินใจในองค์กร เช่น พรรคการเมือง ส่งเสริมให้เกิดระบบคณาธิปไตย เนื่องจากมีเพียงหัวหน้าพรรคและผู้ที่ให้เงินสนับสนุนพรรครายใหญ่เท่านั้นที่มีอํานาจในการตัดสินใจในพรรค

100 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เป็นจุดเริ่มต้นซึ่งประชาชนมีบทบาทสําคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดของไทยฉบับหนึ่ง

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 36 ประกอบ

POL2104 พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2104 พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 ข้อใดเป็นลักษณะของพรรคการเมืองอเมริกัน

(1) มีการรวมตัวกันตามชนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม

(2) มีการจัดองค์กรแบบรวมศูนย์

(3) มีการฝึกกองกําลังคอยอารักขาหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร

(4) มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกัน

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 2 หน้า 42 พรรคการเมืองอเมริกันมีลักษณะเป็นพรรคชนชั้นเหมือนในยุโรป คือ มีการจัดองค์กรแบบรวมศูนย์อํานาจไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ต้องการสมาชิกจํานวนมากแต่ต้องการบุคคลที่มีชื่อเสียง โครงสร้างพรรคหลวม มีภารกิจทางการเมืองอย่างเดียวก็คือการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา โดยการส่งสมาชิกของพรรคเข้าสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีลักษณะพิเศษหรือมีความโดดเด่น ในเรื่องของการกําหนดระบบการเลือกตั้งชั้นต้น (System of Primary Election) หรือการทดสอบคะแนนเสียง (Prevoting) หรือการหยั่งเสียงก่อนเลือกผู้สมัครอีกด้วย

2 พรรคการเมืองใดเป็นพรรครัฐบาลอเมริกันในปัจจุบัน

(1) พรรคกรีน

(2) พรรครีพับลิกัน

(3) พรรคคองเกรส

(4) พรรคเดโมแครต

(5) เป็นรัฐบาลผสม

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) พรรคการเมืองที่เป็นพรรครัฐบาลของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน (ปี 2559)คือ พรรคเดโมแครต ซึ่งมีนายบารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดี (ส่วนพรรคการเมืองที่จะเป็น พรรครัฐบาลต่อจากพรรคเดโมแครต โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2560 เป็นต้นไป คือ พรรครีพับลิกัน ซึ่งมีนายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี)

3 เหตุใดจึงต้องจํากัดวงเงินบริจาคให้แก่พรรคการเมือง

(1) เพื่อรักษาดุลยภาพทางสังคมระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ให้มีโอกาสเข้าถึงพรรคที่ตนชื่นชอบ

(2) เพื่อประกันความเป็นอิสระของพรรคการเมือง

(3) เพื่อป้องกันมิให้พรรคถูกครอบงําจากกลุ่มธุรกิจ

(4) เพื่อให้พรรคสามารถเลือกรับบริจาคจากกลุ่มที่สนับสนุนนโยบายอย่างเปิดเผย (5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3 (คําบรรยาย) สาเหตุสําคัญของการจํากัดวงเงินบริจาคให้แก่พรรคการเมืองก็คือ เพื่อป้องกันมิให้พรรคถูกครอบงําจากกลุ่มธุรกิจ ซึ่งต้องการเข้ามามีอํานาจต่อรองผลประโยชน์ภายในพรรคอันเป็นผลนําไปสู่การทําลายอุดมการณ์หรือนโยบายที่แท้จริงของพรรค

4 ตามแนวคิดเรื่องการพัฒนาการเมือง (Political Development) พรรคการเมืองจะต้องพัฒนาความเป็นสถาบันการเมืองโดย

(1) มีหัวหน้าพรรคที่เข้มแข็งเด็ดขาด

(2) เลือกบุคคลจากสกุลดังให้มาเป็นสมาชิกพรรค

(3) มีการแบ่งงานกันทําภายในพรรคตามนามสกุลและเงินบริจาค

(4) มีนักธุรกิจมาเป็นสมาชิกพรรคมาก ๆ

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ตามแนวคิดเรื่องการพัฒนาการเมือง (Political Development) นั้นพรรคการเมืองจะต้องพัฒนาความเป็นสถาบันการเมืองโดย

1 มีหัวหน้าพรรคที่เข้มแข็งเด็ดขาด

2 มีการแบ่งงานกันทําภายในพรรคตามความถนัด

3 มีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคโดยคํานึงถึงความรู้ความสามารถ ฯลฯ

5 ตามคํานิยามของเอ็ดมันด์ เบอร์ก พรรคการเมืองจะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อ

(1) ส่งเสริมสาธารณกุศล

(2) ป้องกันการแตกสามัคคีของคนในชาติ

(3) สร้างความสามัคคีของหมู่คณะ

(4) ส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ

(5) ส่งเสริมประโยชน์แก่สมาชิกพรรค

ตอบ 4 หน้า 4 เอ็ดมันด์ เบอร์ก (Edmund Burke) ได้ให้คํานิยามของพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองได้แก่ “คนกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมกันตามแนวหลักการบางอย่าง โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ”

6 ผลจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีพรรคการเมืองใดถูกยุบหรือไม่

(1) ไม่มีพรรคไหนโดนยุบพรรค

(2) พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ

(3) หัวหน้าพรรคเพื่อไทยโดนจับ

(4) พรรคเพื่อไทยถูกยุบ

(5) พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการรัฐประหารรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งการรัฐประหารในครั้งนี้ เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประวัติศาสตร์ไทย และนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบหนึ่งทศวรรษ (หรือในรอบ 10 ปี ต่อจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) โดยการรัฐประหารได้มีผลทําให้ รัฐธรรมนูญฯ 2550 สิ้นสุดลง และทําให้คณะรัฐมนตรีรักษาการและวุฒิสภาสิ้นสุดลงด้วย แต่ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนพรรคการเมืองนั้นยังคงดํารงอยู่ แต่ไม่สามารถดําเนินกิจกรรมใด ๆทางการเมืองได้

7 ผลจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลกระทบ คือ

(1) คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่โดนยุบ

(2) กกต. ฝ่ายบริหารการเลือกตั้งโดนปลด ฐานจัดการเลือกตั้งล้มเหลว

(3) กกต. ฝ่ายบริหารการเลือกตั้งโดนเรียกไปปรับทัศนคติ

(4) ประธาน กกต. ถูกปลด

(5) กกต. ถูกส่งไปศึกษางานต่างประเทศ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 6 ประกอบ

8 แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม (Social Contract) อธิบายว่าเราสามารถบรรลุถึงเสรีภาพได้ในเงื่อนไขใด

(1) ในรัฐสังคมนิยม

(2) ในรัฐสวัสดิการ

(3) ในรัฐแบบใดก็ได้

(4) ในรัฐประชาธิปไตยเท่านั้น

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 5 (คําบรรยาย) รุสโซ เห็นว่า สังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสัญญาประชาคม (Social Contract) สามารถทําให้บุคคลในฐานะสมาชิกของสังคมนั้นบรรลุถึงเสรีภาพได้ ภายใต้เงื่อนไขการออก กฎหมายมาบังคับตัวเอง กล่าวคือ การที่เคารพกฎหมายที่ตัวเรามีส่วนร่วมในการบัญญัตินั้น เราย่อมไม่รู้สึกว่ากฏนั้นกดขี่เรา และทําให้เรามีเสรีภาพได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วคงไม่มีใครเสียสติพอที่จะบัญญัติกฎหมายออกมาเพื่อกดขี่บีบคั้นตัวเองให้เจ็บปวดนั่นเอง

9 อุดมการณ์หรือแนวคิดใด้เชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็นเรื่องผิดปกติ

(1) ฟาสซิสต์

(2) อนุรักษนิยม

(3) เสรีนิยม

(4) ประชาธิปไตย

(5) เฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 5 หน้า 234, (คําบรรยาย) การเมืองแบบพหุนิยม เป็นแนวคิดของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งเห็นว่าประชาธิปไตยจะมีขึ้นและมั่นคงอยู่ได้ก็ด้วยการมีกลุ่ม กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมืองสมาคม ชมรม สันนิบาต องค์การ หรือสหพันธ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายภายในรัฐโดยเสรีและสมัครใจ มิได้มีการบังคับ เพราะเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็น เรื่องปกติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์อนุรักษนิยม คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ และนาซี ที่ไม่สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม เพราะเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็นเรื่องผิดปกติ

10 ส่วนผสมของอุดมการณ์ทางการเมืองที่สําคัญ คือ

(1) วิจารณ์สังคม ให้ภาพอนาคต เสนอแนวทางเข้าสู่สังคมที่ดีกว่า

(2) ให้ภาพอดีต วิจารณ์สังคม เสนอวิธีเข้าสู่สังคมที่ดีกว่า

(3) วิจารณ์ปัจจุบัน ให้ภาพอนาคต เสนอวิธีล้มล้างระบอบปัจจุบัน

(4) วิจารณ์ปัจจุบัน ให้ศรัทธาผู้นํา เสนอวิธีล้มล้างระบอบปัจจุบัน

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ส่วนผสมของอุดมการณ์ทางการเมืองที่สําคัญ มี 3 ประการ คือ 1 การวิจารณ์สังคมหรือระเบียบในปัจจุบัน

2 การให้ภาพสังคมหรือระเบียบในอนาคต

3 การเสนอทฤษฎีหรือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมหรือระเบียบใหม่ เช่น เสนอวิธีล้มล้างกระบอบปัจจุบันหรือเสนอแนวทางเข้าสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่า เป็นต้น

11 ในยุคที่พรรคนาซีมีอํานาจได้อาศัยข้ออ้างใดในการมีระบบพรรคเดียว

(1) เพื่อความเป็นเอกราชและความมั่นคงของชาติ

(2) ประเทศมีชนชั้นเดียว ต้องมีพรรคเดียว

(3) เพื่อพัฒนาให้เยอรมันมีความเป็นประชาธิปไตย

(4) เพื่อให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองโดยไม่มีคู่แข่ง

(5) เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความรวดเร็วในการปกครอง

ตอบ 5 หน้า 136 ในยุคที่พรรคนาซีมีอํานาจได้ให้เหตุผลในการมีระบบพรรคเดียวว่า เยอรมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกไม่ได้ พรรคก็ต้องมีพรรคเดียว เพราะการมีหลายพรรคจะเป็นการแบ่งแยกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประเทศไม่เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็วเท่าที่ควร

12 ในทัศนะของนักปรัชญาการเมืองคนใดที่ไม่เห็นด้วยกับการมีพรรคการเมือง เพราะเป็นการทําลาย สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่เสรี

(1) โทมัส ฮอบส์

(2) คาร์ล มาร์กซ์

(3) เอ็ดมันต์ เบอร์ก

(4) แม็กซ์ เวเบอร์

(5) รุสโซ

ตอบ 3 หน้า 33 เอ็ดมันด์ เบอร์ก (Edmund Burke) เป็นนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษที่ไม่เห็นด้วยกับการมีพรรคการเมือง โดยเห็นว่า การแบ่งกันเป็นพรรคการเมืองเป็นการทําลายสภาสามัญ(สภาผู้แทนราษฎร) และรัฐบาลที่เสรี

13 พรรคการเมืองที่แท้จริงจะต้องมีลักษณะอย่างไร

(1) ยึดตัวผู้นําพรรคเป็นหลัก

(2) แสดงบทบาทเฉพาะช่วงเลือกตั้ง

(3) ไม่ร่วมกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาล

(4) จํากัดจํานวนสมาชิกที่ดีเท่านั้น

(5) มีสาขาพรรคกระจายทั่วทุกภูมิภาค

ตอบ 5 หน้า 9 – 11 ลักษณะของพรรคการเมืองที่แท้จริง มี 4 ประการ คือ

1 ต้องมีความยั่งยืน โดยไม่ขึ้นอยู่กับชีวิตหรืออํานาจของผู้นําพรรคการเมือง แต่ยึดหลักการ หรืออุดมการณ์เป็นหลัก

2 ต้องมีองค์การหรือสาขาพรรคมาก ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค และมีเครือข่ายติดต่อกันระหว่างสํานักงานใหญ่กับสาขาพรรคในท้องถิ่น

3 ผู้นําพรรคต้องมีความมุ่งหมายที่จะเป็นรัฐบาล โดยอาจจัดตั้งรัฐบาลโดยลําพังพรรคเดียว หรือจัดตั้งรัฐบาลผสมก็ได้

4 ต้องพยายามหาคะแนนเสียงเมื่อมีการเลือกตั้ง และหาความ สนับสนุนจากมหาชนทั่วไปเมื่อไม่มีการเลือกตั้ง

14 พรรคการเมืองมีการฟังความคิดเห็นของสมาชิกเป็นขบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) ใช้กับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์

(1) เสรีนิยม

(2) อนุรักษนิยม

(3) สังคมนิยม

(4) คอมมิวนิสต์

(5) ฟาสซิสต์

ตอบ 4 หน้า 76, 137 ประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) เป็นลักษณะการใช้อํานาจหรือการดําเนินงานภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งประกอบด้วย 2 ขบวนการ คือ ในระยะแรก ให้สมาชิกในหน่วยพื้นฐานเสนอความคิดเห็นในนโยบายของพรรคแล้วเสนอไปยังเบื้องบนหรือ ศูนย์กลางของพรรคเพื่อรับทราบ ส่วนในระยะต่อมาเป็นการตัดสินใจจากเบื้องบน โดยมติที่ได้จะต้องบังคับใช้กับองค์การทุกระดับของพรรคอย่างเข้มงวด

15 อุดมการณ์คใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในแง่การใช้อํานาจ

(1) คอมมิวนิสต์ – ฟาสซิสต์

(2) คอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย

(3) อนุรักษนิยม – สังคมนิยม

(4) อนุรักษนิยม – ประชาธิปไตย

(5) อนุรักษนิยม – คอมมิวนิสต์

ตอบ 1 หน้า 140 อุดมการณ์คอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์ จะมีลักษณะการใช้อํานาจที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นเผด็จการแบบรวมอํานาจเบ็ดเสร็จ โดยประชาชนจะถูกลิดรอนเสรีภาพในทุก ๆ ด้านทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

16 อุดมการณ์ใดที่นิยมระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว

(1) เสรีนิยม

(2) อนุรักษนิยม

(3) สังคมนิยม

(4) คอมมิวนิสต์

(5) ฟาสซิสต์

ตอบ 4, 5 หน้า 135, 139, (คําบรรยาย) ระบบพรรคเดียว หมายถึง การที่รัฐหรือประเทศหนึ่งมีรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว และระบบนี้ยอมให้มีเฉพาะพรรคที่ครองอํานาจอยู่เท่านั้น ไม่ยอมให้มีพรรคอื่นเข้ามาแข่งขันหรือกีดกัน ซึ่งจะพบระบบนี้ได้ในประเทศที่มีการปกครอง ระบอบเผด็จการหรือมีอุดมการณ์แบบซ้ายสุดโต่ง (คอมมิวนิสต์) หรือขวาสุดโต่ง (ฟาสซิสต์และนาซี) เช่น จีน ลาว เวียดนาม คิวบา เกาหลีเหนือ เป็นต้น

17 อุดมการณ์หรือแนวคิดใดไม่ต้องการให้มีรัฐ

(1) ฟาสซิสต์

(2) อนาธิปัตย์

(3) ประชาธิปัตย์

(4) ประชาธิปไตย

(5) เฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 2 (คําบรรยาย) อนาธิปัตย์ หรืออนาคิสม์ (Anarchism) เป็นอุดมการณ์หรือแนวคิดทางการเมืองที่ต่อต้านการมีรัฐบาลหรือการมีรัฐ โดยถือว่ารัฐหรือการรวมตัวเป็นประเทศ เป็นชาติ เป็นบ้านเมืองหรือการมีรัฐบาลนั้นเป็นของไม่จําเป็น และเป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายนานาประการ

18 ปัจจุบันประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือ

(1) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

(2) นายศุภชัย สมเจริญ

(3) นายประวิช รัตนเพียร

(4) นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์

(5) นางอมรา พงศาพิชญ์

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และกรรมการอีก 4 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร, นายประวิช รัตนเพียร,นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ และนายบุญส่ง น้อยโสภณ

19 ในปัจจุบันพรรคการเมืองแบบชนชั้นหมายถึงพรรคที่มิได้เน้นในเรื่องจํานวนของผู้เข้าร่วมในพรรค เพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่กลับเน้นในเรื่องของสมาชิก (1) ลัทธิความเชื่อ

(2) ศาสนา

(3) อายุ

(4) คุณภาพ

(5) ความรู้ภาษาอังกฤษ

ตอบ 4 หน้า 40 – 41, (คําบรรยาย) พรรคชนชั้นหรือพรรคดั้งเดิม เป็นพรรคการเมืองที่ยังคงรักษา โครงสร้างของคําว่า “ชนชั้นนํา” (Elite) อยู่ กล่าวคือ เป็นพรรคที่มิได้เน้นในเรื่องจํานวนของสมาชิกพรรคหรือจํานวนของผู้เข้าร่วมในพรรคเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่กลับเน้น ในเรื่องคุณภาพของสมาชิกพรรค เพราะพรรคต้องการเฉพาะกลุ่มคนหรือบุคคลที่ครอบครอง ปัจจัยสําคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคม เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือมีฐานะดีพอที่จะสามารถสนับสนุนพรรคในด้านการเงินได้ หรืออาจจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆก็คือ เป็นพรรคการเมืองที่เน้นในเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณของสมาชิกนั่นเอง

20 พรรคแห่งชนชั้นกลาง หรือ Party Bourgeois นั้น มีทิศทางการบริหารประเทศที่เน้นด้าน

(1) ส่งเสริมเกษตรพอเพียง

(2) ไม่ชอบความรุนแรง

(3) นวัตกรรมทางการค้า

(4) นิยมรัฐสวัสดิการ

(5) ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

ตอบ 5 หน้า 41 พรรคแห่งชนชั้นกลาง (Party Bourgeois) เป็นพรรคการเมืองที่มีแนวคิดและทิศทางการบริหารประเทศแบบอนุรักษนิยมที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง โดยสมาชิกของพรรคจะประกอบด้วยบุคคลที่จัดอยู่ในประเภทกลางของสังคม เป็นผู้ที่มีทรัพย์สิน มีความสนใจฝักใฝ่ในทางวัตถุนิยม และมีผลประโยชน์เป็นของตนเองโดยเฉพาะ

21 ปัจจุบันประเทศไทยมีพันธะที่จะปรับโครงสร้างต่าง ๆ ให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสามเสา ได้แก่

(1) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม-เสาเศรษฐกิจ-เสาการเมืองและความมั่นคง

(2) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม -เสาประเพณี เสาการเมืองและความมั่นคง

(3) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม – เสาระหว่างประเทศ-เสาการเมืองและความมั่นคง

(4) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม-เสาธุรกิจ เสาการเมืองและความมั่นคง

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 5 (ความรู้ทั่วไป) ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ถือกําเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2546 จากการที่ผู้นําอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า “ข้อตกลงบาหลี 2” โดยประกอบด้วยประเทศสมาชิกจํานวน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้มีพันธะที่จะต้องปรับโครงสร้างต่าง ๆ ให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสามเสา ได้แก่ เสาสังคมและวัฒนธรรม เสาเศรษฐกิจ และเสาการเมืองและความมั่นคง

22 ปัจจัยที่ทําให้อังกฤษมีระบบพรรคการเมืองสองพรรคได้แก่อะไร

(1) การมีการปกครองระบอบรัฐสภา

(2) วิวัฒนาการอันยาวนานของพรรคการเมือง

(3) การใช้ระบบสภาคู่

(4) การมีสถาบันกษัตริย์

(5) การใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากรอบเดียว

ตอบ 2 หน้า 151 – 152 ปัจจัยที่ทําให้อังกฤษมีระบบพรรคการเมืองสองพรรค ได้แก่ การมีวิวัฒนาการอันยาวนานของพรรคการเมืองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ซึ่งในระยะแรกจะเป็น เรื่องเกี่ยวกับความแตกแยกทางความคิดเห็น ความเชื่อและความศรัทธาทางศาสนา และ จากสมัยกลางมาสู่สมัยใหม่ความคิดเห็นก็ได้แตกแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ ก

1 พวก Cavaliers หรือพวก Tories เป็นรากฐานของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

2 พวก Roundhead หรือพวก Whigs เป็นรากฐานของพรรคริเบอร์รัส

23 พรรคการเมืองที่แท้จริงต้องมีลักษณะสําคัญ คือ

(1) ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

(2) บอยคอตต์การเลือกตั้ง

(3) มีสาขาพรรคมาก ๆ

(4) ตั้งสภาประชาชนจากการสรรหา

(5) คอยเป็นรัฐบาล

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 13 ประกอบ

24 การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเรียกว่า

(1) Hong Kong Spring

(2) Yellow Ribbon Revolution

(3) Yellow Mask Movement

(4) Umbrella Revolution

(5) Hong Kong United Youth Front

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) การชุมนุมในฮ่องกงเมื่อเดือนกันยายน 2557 เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิการเลือกตั้งเสรีจากรัฐบาลจีน ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ร่มในการป้องกัน แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยจากเจ้าหน้าที่ตํารวจ จึงทําให้ร่มกลายเป็นสัญลักษณ์สําคัญของการชุมนุมประท้วง และมีการเรียกการชุมนุมครั้งนี้ว่า “การปฏิวัติร่ม” (Umbrella Revolution)

25 ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนล่าสุด คือ

(1) นายซูฮาร์โต

(2) นางซูการ์โน บุตรี

(3) นายโจโก วิโดโด

(4) พลเอกปราโบโว สุเบียนโต

(5) นายบัมบัง ยูโดโยโน

ตอบ 3 (ความรู้ทั่วไป) ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนล่าสุด คือ นายโจโก วิโดโด (Joko Widodo)สังกัดพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซียแห่งการต่อสู้ (PDI-P) ซึ่งได้เข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557

26 โดยปกติแล้วการประกาศกําหนดวันเลือกตั้งต้องประกาศเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) กฎกระทรวง

(4) พระราชกฤษฎีกา

(5) ประกาศของ กกต.

ตอบ 4 หน้า 396 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า “วันเลือกตั้ง” คือ วันที่กําหนดให้เป็นวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. แล้วแต่กรณี

27 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ผลของการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีสถานะเป็น

(1) การเลือกตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถูกขัดขวางจึงเป็นโมฆะ

(2) การเลือกตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวทั่วประเทศ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(3) การเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวทั่วประเทศการเลือกตั้งจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(4) การเลือกตั้งเป็นโมฆะตั้งแต่แรก เสมือนไม่เคยมีการเลือกตั้ง

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 3 (ข่าว) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมติเสียงข้างมาก 6 : 3 ว่า การที่ พ.ร.ฎ. ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2556 กําหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และมีการดําเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปแล้ว แต่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งสําหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัคร รับเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้เป็นวันเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นผลให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 108 วรรค 2

28 ในทางทฤษฎีการรัฐประหาร (Coup d’etat) ต่างจากการปฏิวัติ (Revolution) อย่างไร

(1) รัฐประหารเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วตั้งผู้นําคนใหม่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างใด ๆ

(2) การปฏิวัติเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วตั้งผู้นําคนใหม่

(3) การปฏิวัติเป็นการรื้อปรับโครงสร้างอํานาจ ส่วนรัฐประหารแค่ล้มรัฐบาล

(4) รัฐประหารเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วตั้งผู้นําคนใหม่เพื่อปฏิรูปโครงสร้างสังคม

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ในทางทฤษฎีนั้นการรัฐประหาร (Coup d’etat) จะมีความแตกต่างจากการปฏิวัติ (Revolution) คือ รัฐประหารจะเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วตั้งผู้นําคนใหม่ (ประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล) อย่างฉับพลัน โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (Reginne) หรือโครงสร้างของรัฐ แต่การปฏิวัติจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือโครงสร้างของรัฐ ซึ่งจะเกิดได้ยากกว่ารัฐประหาร โดยในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีการปฏิวัติเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475

29 เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้ใดได้รับโปรดเกล้าให้ดํารงตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส”

(1) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

(2) พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม

(3) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(4) พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา

(5) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้รับโปรดเกล้าฯ จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ให้ดํารงตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส” เนื่องจากเป็นผู้นําในการกอบกู้บ้านเมืองในช่วงสงครามโลก รวมทั้งได้ทํางานที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติหลายประการทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การต่างประเทศ การเศรษฐกิจและการศึกษา โดยนายปรีดีถือเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย

30 ตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส” ของบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้อใด

(1) ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์

(2) ขบวนการเสรีไทย

(3) ขบวนการพูโล

(4) พรรคเสรีมนังคศิลา

(5) พรรคประชาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 29 ประกอบ

31 ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือ

(1) ดร.สมภพ โหตระกิตย์

(2) นายเทียนฉาย กีระนันทน์

(3) พระพุทธะอิสระ

(4) นางสุชาดา กีระนันทน์

(5) นายธง แจ่มศรี

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นสภาที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. 2557 มาตรา 27 มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน ซึ่งปัจจุบันสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ถูกยุบไปแล้วตาม รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 38 โดยมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทําหน้าที่แทน

32 ข้อครหาใหญ่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติโดนวิจารณ์ในเดือนมีนาคม 2558 คือ

(1) การแต่งตั้งภรรยาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป

(2) การแต่งตั้งคนขับรถเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย

(3) การแต่งตั้งหัวคะแนนเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย

(4) การแต่งตั้งเครือญาติเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วย

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) สื่อมวลชนได้เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการแต่งตั้งเครือญาติเป็นผู้เชี่ยวชาญและ ผู้ช่วยประจําตัว ซึ่งทําให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการแต่งตั้งเครือญาติ ดํารงตําแหน่งดังกล่าว ดังนั้นวิป สนช. และวิป สปช. จึงมีมติให้สมาชิกปรับเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ และผู้ช่วยประจําตัวที่เป็นเครือญาติออกจากตําแหน่งทันที

33 ปัจจุบันประเทศไทยยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกหรือไม่

(1) ยังมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ

(2) บังคับใช้เฉพาะสามจังหวัดภาคใต้

(3) บังคับใช้เฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล

(4) บังคับใช้เฉพาะจังหวัดที่มีเสื้อแดง

(5) ยกเลิกไปแล้ว

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) ปัจจุบันกฎอัยการศึกที่ใช้บังคับทั่วประเทศตามประกาศของกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 2/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 แต่กฎอัยการศึกในสามจังหวัดภาคใต้ซึ่งบังคับใช้ก่อนวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ไม่ได้ถูกยกเลิกตามกฎอัยการศึกทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว

34 ปัจจุบันประเทศไทยยังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่หรือไม่

(1) มี และแยกไปบริหารในกระทรวงต่าง ๆ

(2) มี แต่พ้นหน้าที่ราชการเพราะเกษียณไปแล้ว

(3) หมดสภาพไปแล้ว แต่สามารถกลับคืนสู่อํานาจได้เมื่อจําเป็น

(4) หมดสภาพไปตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ปัจจุบันประเทศไทยยังมี คสช. และสมาชิกของ คสช. ยังได้รับการแต่งตั้งให้ไปบริหารในกระทรวงต่าง ๆ เช่น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

35 ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560 ตามโรดแม็ปของ คสช. หรือไม่ (1) ไม่รู้ไม่แน่นอน

(2) ไม่รู้ ต้องรอการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อน

(3) ไม่รู้ ต้องรอหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีหารือกันก่อน

(4) มีการเลือกตั้งในปี 2560

(5) เฉพาะข้อ 2 และ 4

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ตามโรดแม็ปของ คสช. ที่กําหนดจะให้มีการเลือกตั้งภายในปี 2560 นั้น ปัจจุบันยังไม่แน่นอนว่าจะมีการเลือกตั้งตามที่กําหนดไว้หรือไม่ เพราะต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เพิ่งผ่านประชามติไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ประกาศใช้ก่อน และรอให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จก่อนจึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้

36 การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 นําไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง คือ

(1) 14 ตุลาคม 2516

(2) 6 ตุลาคม 2519

(3) 26 มีนาคม 2524

(4) 17 – 20 พฤษภาคม 2535

(5) 13 – 20 พฤษภาคม 2553

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ส่งผลให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องพ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลพวงจากการ ยึดอํานาจดังกล่าวได้นําไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในวันที่ 17 – 20 พฤษภาคม 2535 หรือพฤษภาทมิฬ และการก่อตัวของกระแสปฏิรูปการเมืองและร่างรัฐธรรมนูญฯ 2540

37 ศัพท์ทางรัฐศาสตร์เรียกการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองว่า

(1) Salamandering

(2) Gerrymandering

(3) Psudo Electionman

(4) Idiocratic Commission

(5) Fraudmandering

ตอบ 2 (คําบรรยาย) Gerrymandering หมายถึง การบิดเบือนเขตเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคใดพรรคหนึ่ง เช่น กรณีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มจังหวัดโดยให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน อยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน ทําให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักวิชาการว่ามีการบิดเบือนเขตเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง

38 ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน คือ

(1) นายนุรักษ์ มาประณีต

(2) นายศุภชัย สมเจริญ

(3) นายประวิช รัตนเพียร

(4) นายกฤษฎา บุญราช

(5) นางอมรา พงศาพิชญ์

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนปัจจุบัน คือ นายนุรักษ์ มาประณีตซึ่งเข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557

39 บุคคลที่ร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับในอดีตและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือ

(1) ดร.สมภพ โหตระกิตย์

(2) พระยาอรรถการีย์นิพนธ์

(3) นายมีชัย ฤชุพันธุ์

(4) นายไพศาล พืชมงคล

(5) นายธง แจ่มศรี

ตอบ 3 (ความรู้ทั่วไป) บุคคลที่ร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับในอดีตและยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งท่านได้ทําหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ 2521, รัฐธรรมนูญฯ 2534, รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2549 และรัฐธรรมนูญฯ 2550

40 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือ

(1) นายพรเพชร วิชิตชลชัย การประลอง

(2) นายเทียนฉาย กีระนันทน์

(3) พระพุทธะอิสระ

(4) นางสุชาดา กีระนันทน์

(5) นายธง แจ่มศรี

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธานคนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานคนที่ 2

41 ข้าราชการท่านใดใช้นามแฝงในขบวนการเสรีไทยเขียนจดหมายถึงผู้ใหญ่ทํานุ เกียรติก้อง เพื่อเรียกร้อง รัฐธรรมนูญ

(1) น.พ.ประเวศ วะสี

(2) ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล

(3) นายจํากัด พลางกูร

(4) นายป่วย อึ้งภากรณ์

(5) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ใช้นามแฝง สมัยเป็นเสรีไทยว่า เข้ม เย็นยิง เขียนจดหมายจากประเทศอังกฤษถึงผู้ใหญ่ทํานุ เกียรติก้อง ซึ่งหมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อเรียกร้องให้จอมพลถนอมซึ่งยึดอํานาจการปกครอง อยู่ในขณะนั้นคืนรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

42 กรณี 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีท่านใดต้องลาออก

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) พลเอกกฤษณ์ สีวะรา

(3) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(4) จอมพลประภาส จารุเสถียร

(5) จอมพลถนอม กิตติขจร

ตอบ 5 (ความรู้ทั่วไป) เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้นถูกเรียกว่า “วันมหาวิปโยค” หรือ “วันมหาประชาปิติ” เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทยมากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร จนทําให้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจํานวนมาก โดยเหตุการณ์นี้ทําให้เกิดแรงกดดันจากพลังทางการเมือง หลายฝ่ายจนทําให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

43 รัฐธรรมนูญฉบับใดถูกขนานนามว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ

(1) 2515

(2) 2517

(3) 2519

(4) 2520

(5) 2521

ตอบ 5 (คําบรรยาย) พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร เป็นผู้ที่ขนานนามรัฐธรรมนูญฯ 2521 ว่าเป็น“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เนื่องจาก กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้แยกข้าราชการประจําออกจากการเมือง ทําให้ข้าราชการประจําเป็นวุฒิสมาชิกได้ ซึ่งพบว่ามีลักษณะเป็นการประนีประนอมทางอํานาจระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจํานั้นเอง

44 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกขนานนามว่าเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เนื่องจาก (1) วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง

(2) วุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง

(3) ข้าราชการประจําเป็นวุฒิสมาชิกได้

(4) วุฒิสมาชิกเป็นนายกรัฐมนตรีได้

(5) เฉพาะข้อ 2 และ 3

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 43 ประกอบ

45 ผู้ที่ขนานนามว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ คือ

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร

(3) นายธงทอง จันทรางศุ

(4) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(5) นายชัยอนันต์ สมุทวณิช

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 43 ประกอบ

46 การปรับสัดส่วน ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อตามที่ปรากฏในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าจะส่งผลให้

(1) พรรคการเมืองขนาดเล็กเข้มแข็ง

(2) พรรคการเมืองใหญ่ได้มี ส.ส. สัดส่วนมากขึ้น

(3) พรรคการเมืองขนาดเล็กมีอํานาจต่อรอง

(4) พรรคการเมืองที่มีฐานคนชั้นกลางอาจจะได้เปรียบ

(5) พรรคการเมืองที่มีฐานคนชั้นกลางมีคะแนนเสียงลดลง

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การปรับสัดส่วน ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อตามที่ปรากฏในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2554 นั้น คาดว่าจะส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้มี ส.ส. สัดส่วนมากขึ้น ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้ ส.ส. น้อยลง รวมทั้งจะทําให้เกิดปัญหา ยุ่งยากในการกําหนดตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ด้วย เนื่องจากจะต้องมีการจัดเขตเลือกตั้งใหม่ตามจํานวน ส.ส. ที่ลดลง

47 ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยปัจจุบันว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย”เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่า ชาวไร่ชาวนาหรือคนจนในชนบทมักเป็นฐานเสียง และผู้ตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถกําหนดความอยู่รอดและการสิ้นสุดของรัฐบาลได้ ส่วนคนชั้นกลาง อๆรือคนในเขตเมือง มักเป็นฐานนโยบายและเป็นผู้ล้มรัฐบาล แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ที่มี ผู้นําและนโยบายอย่างที่ตนต้องการได้ ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางความคิดความต้องการ และพฤติกรรมในการเลือกตัวแทนของคนในชนบทกับคนในเขตเมือง

48 กลุ่มผลประโยชน์ประเภทของกลุ่มอุดมการณ์ที่มีจํากัดชนชั้น ภาษา ได้แก่กลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) อาชีพ

(3) อาสาสมัคร

(4) มาตุภูมิ

(5) ผลักดัน

ตอบ 1 หน้า 240, (คําบรรยาย) กลุ่มผลประโยชน์ในทางอุดมการณ์ คือ กลุ่มที่มีเป้าหมายโดยไม่ได้เน้นเฉพาะที่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มเท่านั้น แต่ยังมุ่งรักษาผลประโยชน์ให้แก่ทุกคน ทุกชั้น ทุกชาติ ทุกภาษา ทุกเพศ และทุกวัยอีกด้วย ตัวอย่างเช่น กลุ่มกรีนพีซที่ต่อต้านการทดลอง นิวเคลียร์และการล่าวาฬในมหาสมุทร กลุ่มต่อต้านความรุนแรง กลุ่มทางวัฒนธรรมประเพณี กลุ่มส่งเสริมในเรื่องนานาชาตินิยม (Internationalism) เป็นต้น

49 ไลออนส์สากล โรตารี ปอเต็กตั้ง ฮากกา จัดอยู่ในประเภทกลุ่มผลประโยชน์ด้าน

(1) อุดมการณ์

(2) อาชีพ

(3) อาสาสมัคร

(4) มาตุภูมิ

(5) ผลักดัน

ตอบ 3 หน้า 315 – 316 กลุ่มอุดมการณ์ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่ต่างอาชีพต่างวัย ต่างความรู้ แต่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์เหมือนกัน ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเพื่อทํางานให้แก่ ชุมชน สังคม หรือประเทศชาติ ซึ่งได้แก่

1 กลุ่มอาสาสมัคร เช่น สโมสรไลออนส์สากล (ไลออนส์นานาชาติ) สโมสรโรตารีสากล สมาคมฮากกา (สมาคมหัวเฉียว) มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ยุวสมาคม เจ.ซี.) ชมรมค่ายอาสา ฯลฯ

2 กลุ่มสมาคมทางการเมือง เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ฯลฯ

3 กลุ่มศาสนา เช่น พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ฯลฯ

4 กลุ่มปกป้องคุ้มครอง เช่น ขบวนการเสรีไทย ขบวนการจีนโพ้นทะเล กลุ่มอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

50 ระดับของการใช้อิทธิพลบีบบังคับของกลุ่มผลประโยชน์ หรือกลุ่มอิทธิพลจะกระทําในระดับ

(1) กระทรวง

(2) รากหญ้า

(3) ประธานหอการค้า

(4) กรม

(5) ทุกระดับ

ตอบ 5 หน้า 277, (คําบรรยาย) วิธีการบีบบังคับของกลุ่มผลประโยชน์นั้นสามารถกระทําได้ในระดับต่าง ๆ กัน เช่น การบีบบังคับโดยตรงต่อหน่วยงานของรัฐ (กระทรวง กรม) ต่อรัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี) ต่อรัฐสภา (ประธานรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภา) ต่อเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของรัฐ (ปลัดกระทรวง อธิบดีกรม ประธานหอการค้า) ต่อประชาชนหรือคนรากหญ้า เพื่อสร้างความกดดันให้แก่ผู้บริหารของรัฐ

51 ข้อใดไม่ใช่ลักษณะที่สําคัญของพรรคการเมือง

(1) เป็นคณะบุคคลที่รวบรวมกันเป็นองค์การ

(2) มีการกําหนดประเด็นปัญหาและนโยบาย

(3) มีการคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

(4) ดําเนินกิจกรรมเพื่อมุ่งแสวงหากําไร

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 6 ลักษณะที่สําคัญของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 เป็นคณะบุคคลที่รวบรวมกันเป็นองค์การ

2 เป็นการรวมตัวกันตามแนวความคิดเห็นหรือหลักการบางอย่างที่เห็นพ้องต้องกัน 3 มีการกําหนดประเด็นปัญหาและนโยบาย

4 มีการคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

5 มีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปควบคุมการดําเนินงานและนโยบายของรัฐบาล

52 ข้อใดไม่ใช่หน้าที่ของพรรคการเมือง

(1) เสนอนโยบาย

(2) ชี้ขาดข้อพิพาท

(3) จัดตั้งรัฐบาล

(4) ปลุกระดมมวลชนให้มีส่วนร่วมทางการเมือง

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 15 – 19 หน้าที่ของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 เลือกสรรบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้ง

2 เสนอนโยบาย ชี้ประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไข

3 เป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับ องค์การของรัฐ

4 จัดตั้งรัฐบาล

5 เป็นพรรคฝ่ายค้าน

6 ปลุกระดมมวลชนให้เข้ามามี ส่วนร่วมในทางการเมือง

53 ข้อใดไม่ใช่บทบาทของพรรคการเมือง

(1) พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

(2) ช่วยให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ

(3) ช่วยให้กลไกทางการเมืองดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

(4) ช่วยประสานประโยชน์ของกลุ่มชนในสังคม

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 19 – 23 บทบาทของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 ช่วยให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ

2 ช่วยทําให้กลไกทางการเมืองดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและ สอดคล้องต้องกัน 3 ช่วยผดุงรักษาอํานาจในการปกครองให้สืบต่อเนื่องกัน และการถ่ายทอด อํานาจเป็นไปอย่างถูกต้องตามครรลอง

4 ช่วยประสานประโยชน์ของกลุ่มชนในสังคม

5 เป็นเครื่องมือในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

6 ช่วยพัฒนาการเมือง

54 ข้อใดไม่ใช่ทฤษฎีที่กล่าวถึงกําเนิดของพรรคการเมือง

(1) ทฤษฎีจิตวิทยา

(2) ทฤษฎีทางเศรษฐกิจและสังคม

(3) ทฤษฎีอุดมการณ์

(4) ทฤษฎีทางการจัดองค์การ

(5) ทฤษฎีระบบ

ตอบ 5 หน้า 27 – 32 ทฤษฎีที่กล่าวถึงกําเนิดของพรรคการเมือง มีดังนี้

1 ทฤษฎีจิตวิทยา

2 ทฤษฎีทางเศรษฐกิจและสังคม

3 ทฤษฎีอุดมการณ์หรือหลักการ

4 ทฤษฎีทางการจัดองค์การ

5 ทฤษฎีว่าด้วยสถาบัน

6 ทฤษฎีว่าด้วยประวัติศาสตร์และสถานการณ์

7 ทฤษฎีว่าด้วยพัฒนาการ

55 อุดมการณ์เริ่มมีความสําคัญต่อพรรคการเมืองน้อยลงในช่วงเวลาใด

(1) หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม

(2) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1

(3) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

(4) หลังปี 1980

(5) หลังปี 2000

ตอบ 3 หน้า 35 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคการเมืองในประเทศตะวันตกและประเทศที่เป็นสังคมอุตสาหกรรมก้าวหน้า รวมทั้งญี่ปุ่น ได้เริ่มให้ความสําคัญต่ออุดมการณ์ของ พรรคการเมืองน้อยลง จึงทําให้พรรคการเมืองมีลักษณะเป็นพรรคปฏิบัติการมากกว่าอุดมการณ์ เนื่องจากพรรคการเมืองได้ปรับปรุงอุดมการณ์ให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากขึ้นเพื่อหวังจะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด

56 พรรคการเมืองรูปแบบใดที่มีความเป็นมายาวนานที่สุด

(1) พรรคชนชั้น

(2) พรรคมวลชน

(3) พรรคแบบผสม

(4) พรรคแนวร่วม

(5) พรรคจัดตั้ง

ตอบ 1 หน้า 40 พรรคชนชั้นหรือพรรคดั้งเดิม เป็นรูปแบบพรรคการเมืองที่มีความเป็นมายาวนานที่สุดโดยเป็นพรรคการเมืองของชนชั้นสูงที่มีการรวมกลุ่มกันโดยมีบุคคลคนเดียวมีอิทธิพลเหนือทุกคน ซึ่งโดยมากมักจะเป็นกลุ่มขุนนางที่มีอํานาจในราชสํานักยุโรปโดยมีแม่ทัพเป็นผู้นํา ดังนั้นสมาชิก ของพรรคจึงประกอบไปด้วยบุคคลที่มีฐานะดีในสังคม มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ เช่น ขุนนางผู้มีบรรดาศักดิ์ มีเกียรติยศ มีทรัพย์สมบัติ ผู้มีอิทธิพลในวงการค้าและธุรกิจ เป็นต้น

57 ข้อใดคือความมุ่งหมายของพรรคมวลชนแบบสังคมนิยม

(1) ชนะการเลือกตั้ง

(2) รวบรวมสมาชิกให้ได้มากที่สุด

(3) เผยแพร่ความรู้

(4) ระดมทุน

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 2 หน้า 43 – 44 พรรคมวลชนแบบสังคมนิยม มีความมุ่งหมายที่จะรวบรวมสมาชิกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ เนื่องจากจํานวนสมาชิกมีความหมายอย่างมากในการเป็นพลังสําคัญในการ ช่วยเหลือพรรคในการรณรงค์หาเสียงและการหาทุน

58 การจัดองค์การพรรคการเมืองแบบเซลล์เป็นลักษณะจําเพาะของพรรคใด

(1) พรรคแรงงาน

(2) พรรคเสรีนิยม

(3) พรรคคอมมิวนิสต์

(4) พรรคอนุรักษนิยม

(5) พรรคกรีน

ตอบ 3 หน้า 65 – 66 การจัดองค์การพรรคการเมืองแบบหน่วยหรือเซลล์ (Celt) เป็นลักษณะจําเพาะของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1 แบบหน่วยโรงงาน (Workplace Cells) ประกอบด้วยสมาชิกของพรรคที่ทํางานประกอบกิจการแห่งเดียวกัน ซึ่งจะปรากฏอยู่ตามเมืองหรือนครใหญ่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจขนาดใหญ่

2 แบบหน่วยท้องถิ่น (Area Celts) เป็นการรวมตัวกันโดยยึดภูมิลําเนา

59 ข้อใดไม่ใช่องค์การเบื้องต้นของพรรคการเมือง

(1) Caucus

(2) Branche

(3) Cell

(4) Militia

(5) Sect

ตอบ 5 หน้า 56, 62, 65, 68 องค์การเบื้องต้นของพรรคการเมือง มี 4 แบบ คือ

1 แบบคณะกรรมการ (Caucus)

2 แบบสาขา (Branch)

3 แบบหน่วยหรือเซลล์ (Cell)

4 แบบทหาร (Militia)

60 ลักษณะที่ผู้นําพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษมีอํานาจมากถูกเรียกว่าอะไร

(1) โลกาธิปไตย

(2) เอกาธิปไตย

(3) ธรรมาธิปไตย

(4) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 2 หน้า 100 ผู้นําหรือหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (Conservative Party) ของอังกฤษ เป็นผู้ที่มีอํานาจอย่างมากในพรรค โดยจะอยู่ในตําแหน่งหัวหน้าพรรคตราบเท่าที่ สามารถควบคุมหรือมีอิทธิพลเหนือสมาชิกคนสําคัญ ๆ ของพรรค หัวหน้าพรรคจะเป็นผู้คัดเลือก บุคคลเข้าร่วมเป็นคณะรัฐบาลและเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง ดังนั้นหัวหน้าพรรคจึงมีอํานาจมากจนถูกเรียกว่าเป็นลักษณะ “เอกาธิปไตย”

61 ข้อใดคือที่มาของหัวหน้าพรรคแรงงานของอังกฤษ

(1) เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่พรรค

(2) แต่งตั้งโดยหัวหน้าพรรคคนก่อนหน้า

(3) การหยั่งเสียงของผู้สนับสนุนพรรค

(4) เลือกตั้งโดยสมาชิกสภาสามัญที่สังกัดพรรค

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 1 หน้า 100 หัวหน้าพรรคแรงงานหรือพรรคเลเบอร์ (Labour Party) ของอังกฤษนั้น ได้มาจากการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่พรรค ซึ่งการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะมีการแบ่งคะแนนเสียง ภายในพรรคออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

1 ตัวแทนสาขาพรรค คิดคะแนนเป็นร้อยละ 30

2 ตัวแทนสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกรัฐสภา คิดคะแนนเป็นร้อยละ 30

3 ตัวแทนสหพันธ์แรงงาน คิดคะแนนเป็นร้อยละ 40

62 พรรคการเมืองใดมีลักษณะอัตตาธิปไตยแบบเปิดเผย

(1) พรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ

(2) พรรคเดโมแครต

(3) พรรคเสรีประชาธิปไตย

(4) พรรคแรงงานของอังกฤษ

(5) พรรคนาซี

ตอบ 5 หน้า 106 107 อัตตาธิปไตยแบบเปิดเผย หมายถึง การที่หัวหน้าพรรคมีอํานาจเด็ดขาดในการตัดสินปัญหาสําคัญ ๆ ของพรรค และเป็นผู้กําหนดแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานบริหาร ระดับสูงของพรรคแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งลักษณะอัตตาธิปไตยแบบเปิดเผยนี้จะพบได้ในพรรคฟาสซิสต์ และพรรคนาซี

63 พรรคการเมืองใดมีการจัดองค์การเบื้องต้นแบบ Militia

(1) พรรคคอมมิวนิสต์

(2) พรรคฟาสซิสต์

(3) พรรคเสรีประชาธิปไตย

(4) พรรคแรงงานของอังกฤษ

(5) พรรครีพับลิกัน ตอบ 2 หน้า 68 – 70 การจัดองค์การเบื้องต้นแบบทหาร (Militia) บางครั้งถูกเรียกว่าเป็นกองทัพส่วนตัว จะประกอบด้วยพลเรือนติดอาวุธสําหรับกู้สถานการณ์ของประเทศยามฉุกเฉิน โดยสมาชิก ทุกคนจะได้รับการฝึกฝนเช่นเดียวกันกับทหารอาชีพ มีเครื่องแบบ เหรียญตรา กองดุริยางค์ ธงประจําหน่วย และถนัดการใช้อาวุธ ซึ่งการจัดองค์การเบื้องต้นแบบทหารนี้จะพบได้ในพรรคฟาสซิสต์และพรรคนาซี

64 ประเทศใดมีระบบพรรคเด่นพรรคเดียว

(1) จีน

(2) อังกฤษ

(3) ฝรั่งเศส

(4) ญี่ปุ่น

(5) ไทย

ตอบ 4 หน้า 177 – 180 ระบบพรรคเด่นพรรคเดียวหรือระบบพรรคครั้ง เป็นระบบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค (ตั้งแต่ 2 พรรคขึ้นไป) เข้าแข่งขันกันใน การเลือกตั้ง แต่ว่าจะมีเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่มีเสียงข้างมากในสภาจนสามารถจัดตั้งรัฐบาล ได้เพียงลําพังติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ตัวอย่างของประเทศที่มีระบบพรรคเด่นพรรคเดียวในปัจจุบัน เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เป็นต้น

65 พรรคการเมืองในประเทศใดไม่ใช่ระบบสองพรรค

(1) อังกฤษ

(2) ฝรั่งเศส

(3) นิวซีแลนด์

(4) สหรัฐอเมริกา

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 2 หน้า 145, 147 – 143, (คําบรรยาย) ระบบสองพรรค หมายถึง การที่รัฐหรือประเทศหนึ่ง 3 ได้แก่ มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่เพียง 2 พรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล โดยเสียงของประชาชนในการเลือกตั้งจะทําให้มีการผลัดกันเป็นรัฐบาล แล้วแต่ว่าพรรคใดจะได้คะแนนนิยมสูงสุด ตัวอย่าง ของประเทศที่มีระบบสองพรรคในปัจจุบัน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ ฟิจิ เป็นต้น

66 สาเหตุที่เกิดการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทยเพราะ

(1) รัฐประหารสามารถแก้ปัญหาสังคมต่าง ๆ ได้

(2) เพราะนักการเมืองทุจริต

(3) เพราะระบบการเมืองไร้ประสิทธิภาพ

(4) เพราะประชาชนสนับสนุน

(5) ประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็ง

ตอบ 5 (คําบรรยาย) ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้อธิบายถึงปัญหาการรัฐประหารซ้ำซากของการเมืองไทยว่ามีลักษณะเป็น “วงจรอุบาทว์” ซึ่งก็คือ การวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร แล้วตามด้วยการร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง และก็วนไปที่การรัฐประหารอีกไม่รู้จบสิ้น โดยสาเหตุที่เกิดการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย เพราะการรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้และประชาธิปไตยยังไม่เข้มแข็ง

67 ข้อใดคือหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร

(1) จะต้องให้ราษฎรได้มีโอกาสในการศึกษา

(2) ส่งเสริมให้ราษฎรมีเสรีภาพ

(3) ราษฎรสามารถตั้งพรรคการเมืองได้

(4) เปิดเสรีทางการค้า

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) หลัก 5 ประการของคณะราษฎร ซึ่งประกาศไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เพื่อเป็นนโยบายในการบริหารและปกครองประเทศ มีดังนี้

1 จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย

2 จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3 จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ

4 จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน

5 จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ

6 จะต้องให้ราษฎรได้มีโอกาสในการศึกษาอย่างเต็มที่

68 ข้อใดคือหนึ่งในองค์การของกลุ่มผลประโยชน์ที่จัดตั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

(1) สหภาพแรงงาน

(2) สหภาพแรงงานไทย

(3) สมาคมแรงงานแห่งประเทศไทย

(4) สหภาพกรรมกรกลาง

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 310 311 องค์การของกลุ่มผลประโยชน์ที่จัดตั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2516 มีดังนี้

1 สหภาพกรรมกรกลาง

2 สหภาพกรรมกรชาติไทย

3 สมาคมคนงานเสรีแห่งประเทศไทย

69 ข้อใดไม่ใช่จุดประสงค์การจัดตั้งกลุ่มผลประโยชน์

(1) เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม

(2) เพื่อแสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ

(3) เพื่อทํางานร่วมกันเป็นกลุ่มให้บรรลุผลประโยชน์เฉพาะร่วมกัน

(4) เพื่อเสนอตัวเป็นผู้บริหารรัฐบาล

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 236 จุดประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มผลประโยชน์ มีดังนี้

1 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม

2 เพื่อแสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายสาธารณะ

3 เพื่อทํางานร่วมกันเป็นกลุ่มให้บรรลุผลประโยชน์เฉพาะร่วมกัน

70 การแสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายรัฐบาลแต่ปฏิเสธความรับผิดชอบในองค์การของรัฐคือลักษณะของ

(1) กลุ่มผลประโยชน์

(2) กลุ่มผลักดัน

(3) กลุ่มอุดมการณ์

(4) ลอบบี้ยิสต์

(5) ไม่มีข้อถูก

ตอบ 2 หน้า 238 แกรแฮม วัดต้น (Graham Wootton) กล่าวว่า กลุ่มผลักดัน คือ องค์การใด ๆที่แสวงหาอิทธิพลเหนือนโยบายของรัฐบาล แต่ปฏิเสธความความรับผิดชอบในองค์การของรัฐ

71 ชนชั้นนํา (Elite) คือ

(1) คนที่มีรสนิยมสูง

(2) คนที่เป็นแนวหน้าในการสร้างประชาธิปไตย

(3) คนที่เกิดมาเป็นผู้นํา

(4) คนที่มีอํานาจสูงสุด

(5) กลุ่มคนที่ครอบครองปัจจัยสําคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคม

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 19 ประกอบ

72 ขบวนการจีนโพ้นทะเลในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่ต่อต้านญี่ปุ่น จัดอยู่ในประเภทของกลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) กลุ่มผลักดัน

(3) กลุ่มอิทธิพลมืด

(4) กลุ่มอาชีพ

(5) กลุ่มอุดมการณ์

ตอบ 1,5 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

73 ขบวนการเสรีไทย จัดอยู่ในประเภทของกลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) กลุ่มผล้าดัน

(3) กลุ่มอิทธิพลมืด

(4) กลุ่มอาชีพ

(5) กลุ่มอุดมการณ์

ตอบ 1,5 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

74 จุดประสงค์หลักของการก่อตั้งสื่อมวลชนคือหนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์นั้น ก็เพื่อธุรกิจการค้าแต่ก็มีผลสะท้อนในการสร้างแรงกดดันต่อมวลชน เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มผลักดัน

(1) นอมินี

(2) เอกชน

(3) จริง

(4) แฝง

(5) เฉพาะเรื่อง

ตอบ 4 หน้า 252 การก่อตั้งสื่อสารมวลชน คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์นั้นมีจุดประสงค์หลักเพื่อธุรกิจการค้า แต่ก็มีผลสะท้อนในการสร้างแรงกดดันต่อมวลชนหรือบีบบังคับในทางการเมือง เพื่อจะได้มีบทบาทต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า“กลุ่มผลักดันแฝง”

75 หอการค้าสยาม (Siamese Chamber of Commerce) ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนให้แก่พ่อค้าไทยทํานุบํารุงการค้าขายให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก เมื่อปี พ.ศ.

(1) 2475

(2) 2476

(3) 2484

(4) 2486

(5) 2499

ตอบ 2 หน้า 313 หอการค้าสยาม (Siamese Chamber of Commerce) เป็นกลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายนายจ้างที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยกันทํานุบํารุงการค้าขายให้เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก และเป็นตัวแทนให้แก่พ่อค้าไทย ซึ่งจดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2476 และได้ยุติบทบาทลงในปี พ.ศ. 2486

76 กลุ่มผลประโยชน์ประเภทใดที่อาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีบทบาทในทางการเมืองเลย เพราะการรวมกลุ่มเพื่อความสามัคคีและชื่อเสียง คือกลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) กลุ่มผลักดัน

(3) กลุ่มอิทธิพลมืด

(4) กลุ่มอาชีพ

(5) กลุ่มอุดมการณ์

ตอบ ไม่มีข้อถูก หน้า 312 กลุ่มมาตุภูมิ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่อาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีบทบาทในทางการเมืองเลย เพราะการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ก็เพื่อส่งเสริมความสามัคคีและเผยแพร่ชื่อเสียงของกลุ่มเท่านั้น เช่น สมาคมชาวเหนือ สมาคมชาวปักษ์ใต้ สมาคมนักเรียนเก่า เป็นต้น

77 หลักการของทฤษฎีที่ว่า “ประชาธิปไตยจะมีขึ้นได้และมั่นคงตลอดไปโดยการมีกลุ่ม สมาคม ชมรมต่าง ๆภายในรัฐ การเกิดขึ้นโดยสมัครใจมิได้มีการบังคับ” คือทฤษฎี

(1) ปัจเจกชนนิยม

(2) พหุนิยม

(3) อัตตาธิปไตย

(4) สังคมนิยม

(5) อนาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 9 ประกอบ

78 ศ.ดร.เฟรด ริกส์ เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 2 (คําบรรยาย) ศ.ดร.เฟรด ดับบลิว, ริกส์ (Fred W. Riggs) เป็นนักวิชาการที่สนใจเรื่องอํานาจการเมืองในภาคราชการ และเป็นผู้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น “ระบอบ อํามาตยาธิปไตย” (Bureaucratic Polity) ซึ่งเป็นระบบการเมืองที่ถูกครอบงําโดยภาคราชการนับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

79 ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 66 ประกอบ

80 แนวคิดที่นําไปสู่การออกแบบระบอบการเมืองไทยให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสัดส่วน คือ

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 4 (คําบรรยาย) จากแนวคิดสองนคราประชาธิปไตยที่ว่า “คนจนในชนบทเลือกรัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล” ได้นําไปสู่การออกแบบระบอบการเมืองไทยในรัฐธรรมนูญฯ 2540 ให้มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทสัดส่วนหรือแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ทั้งคนจนในชนบทและคนชั้นกลางในเมืองเป็นได้ทั้งผู้ตั้งรัฐบาลและผู้ล้มรัฐบาล

81 การเกิดของกลุ่มผลประโยชน์ของไทยเท่าที่เป็นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านแรงงานมักมีอุปสรรคสําคัญคือ ขาดการสนับสนุนของ

(1) รัฐบาล

(2) นายจ้าง

(3) กรรมกร

(4) โรงงาน

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 309 310, (คําบรรยาย) การเกิดของกลุ่มผลประโยชน์ของไทยเท่าที่เป็นมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านแรงงานนั้นเป็นผลมาจากการริเริ่มของกรรมกร แต่การรวมตัวกันก่อตั้งเป็น สหภาพแรงงานมักจะมีอุปสรรคสําคัญคือ ขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือผู้ที่ปกครองประเทศ อยู่ในขณะนั้น เช่น การจัดตั้งสหภาพแรงงานโดยกลุ่มคนงานรถรางในสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกมองว่ามีลักษณะสังคมนิยม จึงไม่ได้รับการสนับสนุนให้ก่อตั้งเป็นสหภาพ

82 ผู้นําแรงงานที่หายตัวไปหลังการรัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2534 คือ

(1) นายอิศรา อมันตกุล

(2) นายทนง โพธิ์อ่าน

(3) นายถวัติ ฤทธิเดช

(4) นายสมชาย นีละไพจิตร

(5) นายจิตร ภูมิศักดิ์

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) นายทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ภายหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งขณะนั้นนายทนงเป็นผู้นําระดับสูงของขบวนการแรงงานที่มีบทบาทในการต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างชัดเจนที่สุด

83 ดร.ซุน ยัด เซ็น ผู้ก่อตั้งพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) เป็นผู้สร้างแนวคิดทางการเมืองที่ชื่อลัทธิ

(1) ไตรราษฎร์

(2) เสรีจีน

(3) บ็อกเซอร์

(4) มาตุภูมิ

(5) ไท่ผิง

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ดร.ซุน ยัด เซ็น เป็นผู้ก่อตั้งพรรคชาตินิยมแห่งประเทศจีนหรือที่รู้จักกันในนามพรรค “ก๊กมินตั๋ง” (KMT) ภายหลังจากการโค่นล้มระบอบราชาธิปไตยในประเทศจีน รวมทั้ง เป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศจีน และเป็นผู้กําหนดลัทธิการเมืองที่เรียกว่าลัทธิ“ไตรราษฎร์” หรือหลัก 3 ประการแห่งประชาชน (Three Principle of the People)

84 ตามแนวคิดเรื่องการสร้างสรรค์ประชาธิปไตย (Democratization) คนกลุ่มใดจะเป็นแนวหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

(1) รากหญ้า

(2) เสื้อแดง

(3) อํามาตย์

(4) ทหาร

(5) คนชั้นกลาง

ตอบ 5 (คําบรรยาย) การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย (Democratization) คือ กระบวนการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมในภาคประชาชนเพื่อนําไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพียงแค่การเลือกตั้ง ซึ่งจะสนับสนุนให้คนชั้นกลางเป็นแนวหน้าในการต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย ในขณะที่กลุ่มทหารจะดํารงตนเป็นทหารอาชีพ ซึ่งไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองขณะเดียวกันก็มักพบว่ามีกลุ่มแนวคิดอนุรักษนิยมพยายามออกมาต่อต้านประชาธิปไตยดังกล่าว

85 แนวคิดเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายสอดคล้องกับแนวคิดใด

(1) ปัจเจกชนนิยม

(2) ประชาธิปไตย

(3) คณาธิปไตย

(4) สังคมนิยม

(5) อนาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 9 ประกอบ

86 กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) กับกลุ่มผลักดัน (Pressure Groups) จะมีความแตกต่างกันในแง่ใด

(1) เป้าหมาย

(2) กิจกรรม

(3) หลักบริหารกลุ่ม

(4) ไม่แตกต่าง

(5) สมาชิก

ตอบ 1 หน้า 236 – 239, 244, (คําบรรยาย) กลุ่มผลประโยชน์ (Interest Groups) กับกลุ่มผลักดัน(Pressure Groups) นั้น จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของเป้าหมาย กล่าวคือ เมื่อใดที่ กลุ่มผลประโยชน์มีเป้าหมายที่จะนําปัญหาของตนไปสู่รัฐบาล หรือกระทําการเรียกร้อง ข้อเสนอของตนโดยผ่านสถาบันของรัฐบาลเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายสาธารณะกลุ่มผลประโยชน์เหล่านั้นก็จะกลายเป็นกลุ่มผลักดันหรือกลุ่มอิทธิพล

87 แนวคิดเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายสอดคล้องกับแนวคิดการปกครองแบบใด

(1) ปัจเจกชนนิยม

(2) ประชาธิปไตย

(3) คณาธิปไตย

(4) สังคมนิยม

(5) อนาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 9 ประกอบ

88 หากนักการเมืองคนใดถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่ามีความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินอันเป็นเท็จ นักการเมืองผู้นั้นต้องห้ามดํารงตําแหน่งทางการเมืองและ ตําแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองเป็นเวลาอย่างน้อยกี่ปี

(1) 5 ปี

(2) 7 ปี

(3) 10 ปี

(4) 15 ปี

(5) 20 ปี

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 263 บัญญัติว่า ในกรณีที่นักการเมืองคนใดถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่ามีความผิดฐานจงใจไม่ยืน บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ให้นักการเมืองผู้นั้น พ้นจากตําแหน่ง และต้องห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ วินิจฉัย

89 การแจกใบเหลืองใบแดงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการทําหน้าที่ (1) กึ่งฝ่ายบริหาร

(2) กึ่งศาล

(4) เป็นผู้ปกป้องรัฐบาล

(5)ไม่มีข้อถูก

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ถือว่าเป็นการทําหน้าที่กึ่งศาลเช่น การมีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การพิจารณาแจกใบเหลืองและใบแดงแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ที่กระทําการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือระเบียบหรือประกาศของ กกต.การรับรองหรือไม่รับรองผลการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัคร ส.ส. เป็นต้น

90 พฤติการณ์ในข้อใดไม่เกี่ยวกับอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

(1) การเลื่อนการเลือกตั้ง

(2) การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

(3) การกําหนดเขตเลือกตั้ง

(4) การทําบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

(5) การตรวจสอบคุณสมบัติของนักการเมือง

ตอบ 1 หน้า 329, 406, (ความรู้ทั่วไป) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 10 กําหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอํานาจหน้าที่ดังนี้

1 การตรวจสอบคุณสมบัติของนักการเมือง

2 การจัดทําและตรวจสอบบัญชีรายชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

3 การกําหนดเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ

4 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

5 การประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ผลการสรรหา และผลการออกเสียงประชามติ ฯลฯ

ตั้งแต่ข้อ 91. – 100, จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม

(1) ถูก

(2) ผิด

 

91 14 ตุลาคม 2516 เป็นการยุติบทบาทของฝ่ายประชาชนและทําให้เกิดความหวาดระแวงในสังคมไทยจนต้องมีการนิรโทษกรรมจึงผ่อนคลาย

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่และกลุ่มที่รัฐให้ การสนับสนุนได้เข้าไปจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกําลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ จนทําให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจํานวนมาก โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นการ ยุติบทบาทของการเมืองแบบมีส่วนร่วมประชาชนและทําให้เกิดความหวาดระแวงในสังคมไทยจนต้องมีการนิรโทษกรรมเหตุการณ์จึงผ่อนคลาย

92 สโมสรไลออนส์นานาชาติเป็นกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

93 การชุมนุมบนท้องถนนเป็นสิทธิในการแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย

ตอบ 1 (คําบรรยาย) รัฐ/สังคมประชาธิปไตยถือว่าการชุมนุมบนท้องถนนเป็นสิทธิในการแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง เพราะรัฐ/สังคมประชาธิปไตยได้ให้สิทธิ พื้นฐานแก่ประชาชนในการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงความเห็นหรือเรียกร้องให้รัฐบาล ดําเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ตราบเท่าที่การกระทํานั้นเป็นไปอย่างสันติและไม่เกินขอบเขต ของกฎหมาย ซึ่งตรงกันข้ามกับรัฐ/สังคมเผด็จการที่ไม่สนับสนุนการชุมนุมบนท้องถนนเพราะถือว่าเป็นการแตกความสามัคคีและเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

94 สิทธิการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดไม่ควรเท่าเทียมกัน เพราะคนกรุงเทพฯ มีความรู้มากกว่าคนต่างจังหวัด

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยถือว่าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่จํากัดว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในเมืองหรือชนบท เพศใด ศาสนาใด การศึกษา ระดับใด ฐานะความเป็นอยู่เป็นอย่างไร โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะมีสิทธิคนละ 1 เสียง (One Man One Vote) และคะแนนเสียงทุกคะแนนจะมีความสําคัญเท่ากัน การ

95 การเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์เป็นการเมืองที่มีฐานอํานาจในหมู่ชนชั้นนําเท่านั้น ตอบ 2 (คําบรรยาย) ศ.ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้ขนานนามการเมืองการปกครองของไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าเป็น “ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์” แบบเผด็จการ ซึ่งเป็นผลมาจาก มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองฯ 2502 ที่ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในการใช้อํานาจทั้งอํานาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้นจึงถือว่าการเมืองแบบ พ่อขุนอุปถัมภ์เป็นการเมืองที่มีฐานอํานาจคับแคบมาก เพราะอํานาจเด็ดขาดจะตกอยู่ที่ ตัวนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นฐานแห่งอํานาจเผด็จการนั่นเอง

96 พรรคการเมืองชื่อโบว์น้ําเงินในดุสิตธานีมีหัวหน้าพรรคคือหลวงวิจิตรวาทการ ตอบ 2 (คําบรรยาย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงตั้งเมืองสมมุติ“ดุสิตธานี” ขึ้นในบริเวณวังพญาไท เพื่อทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยโปรด ให้มี “ธรรมนูญการปกครองแบบนคราภิบาล” ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง มีการ เลือกตั้งนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรี มีสภาการเมืองแบบประเทศประชาธิปไตย และมี พรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรคโบว์น้ําเงิน ซึ่งมีนายราม ณ กรุงเทพ (รัชกาลที่ 6) เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคโบว์แดง ซึ่งมีเจ้าพระยารามราฆพ เป็นหัวหน้าพรรค

97 ความแตกต่างของนโยบายแต่ละพรรคการเมืองมีข้อดีหรือมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภานั้น พรรคการเมืองต่าง ๆจะต้องแข่งขันกันเพื่อเป็นรัฐบาลโดยการนํานโยบายมาหาเสียงในการเลือกตั้ง ซึ่งความแตกต่าง ของนโยบายแต่ละพรรคการเมืองจะมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจของประชาชน หากประชาชน ตัดสินใจเลือกนโยบายของพรรคการเมืองใดแสดงว่าประชาชนต้องการให้นโยบายของพรรคนั้น เป็นนโยบายของรัฐบาล และเมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาและ นํานโยบายนั้นไปปฏิบัติให้บรรลุผล ดังนั้นการนํานโยบายมาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองจึงเป็นกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตยและถือเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

98 การนํานโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาไปปฏิบัติ อาทิ นโยบายจํานําข้าว รถคันแรก ไม่เป็นไปตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 97. ประกอบ

99 “ที่ใดมีองค์กร ที่นั้นมีระบบคณาธิปไตย” เช่น พรรคการเมืองส่งเสริมให้เกิดระบบคณาธิปไตยเป็นความคิดของ Robert Michels

ตอบ 1 (คําบรรยาย) โรเบิร์ต มิเชลส์ (Robert Michels) นักทฤษฎีชนชั้นนําได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับกฎเหล็กแห่งคณาธิปไตย (Iron Law of Oligarchy) โดยกล่าวว่า “ที่ใดมีองค์กร ที่นั้นมีระบบ คณาธิปไตย” หรือมีคนเพียงส่วนน้อยที่มีอํานาจในการตัดสินใจในองค์กร เช่น พรรคการเมือง ส่งเสริมให้เกิดระบบคณาธิปไตย เนื่องจากมีเพียงหัวหน้าพรรคและผู้ที่ให้เงินสนับสนุนพรรครายใหญ่เท่านั้นที่มีอํานาจในการตัดสินใจในพรรค

100 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่เรียกว่าวันมหาประชาปิติ

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 42 ประกอบ

POL2104 พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ S/2558

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2104 พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 Vox Populi, Vox Dei หมายถึง

(1) เสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์

(2) อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

(3) เสียงของประชาชนไม่ใช่เสียงสวรรค์

(4) เสียงสวรรค์ต้องอยู่เหนือประชาชน

(5) ข้อ 1 และ 2

ตอบ 5 (คําบรรยาย) การปกครองระบอบประชาธิปไตยถือหลักการสําคัญที่ว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” (Popular Sovereignty) ซึ่งตรงกับคํากล่าวในภาษาลาตินว่า “Vox Populi, Vox Dei” หรือ “เสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์” กล่าวคือ ประชาชนมีอํานาจอธิปไตย และ มอบหมายให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งทําหน้าที่แทนตน ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นการแสดงออกถึงสิทธิและอํานาจของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

2 ตัวอย่างผู้นําแบบบารมี (Charisma) ได้แก่

(1) บารัค โอบามา

(2) อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

(3) สฤษดิ์ ธนะรัชต์

(4) จอห์น เอฟ. เคนเนดี

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 5 (คําบรรยาย) ผู้นําแบบบารมี (Charisma) คือ ผู้นําที่ใช้บุคลิกภาพและความสามารถพิเศษของตนเป็นเครื่องมือกระตุ้นหรือโน้มน้าวให้ผู้อื่นทําตามด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งตัวอย่าง ของผู้นําแบบบารมี ได้แก่ บารัค โอบามา, จอห์น เอฟ. เคนเนดี้, อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น

3 การสร้างระบบคุณธรรม (Merit System) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบ (1) ระบบกองทัพ

(2) ภาคธุรกิจ

(3) การศึกษา

(4) ระบบราชการ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การสร้างระบบคุณธรรม (Merit System) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบราชการ โดยระบบคุณธรรมได้ถูกนํามาใช้ในระบบราชการไทยครั้งแรกในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ซึ่งประกอบด้วยหลักการสําคัญ 4 ประการ คือ หลักความสามารถ (Competence) หลักความเสมอภาค (Equality) หลักความมั่นคง(Security) และหลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality)

4 การปฏิรูประบบราชการสมัยใหม่เกิดขึ้นในรัชสมัยของ

(1) รัชกาลที่ 4

(2) รัชกาลที่ 5

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 7 มกราคม

(5) รัชกาลที่ 8

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การปฏิรูประบบราชการสมัยใหม่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีการปฏิรูปที่สําคัญ ๆ เช่น การจัดตั้งสภาที่ปรึกษา ราชการแผ่นดินและสภาองคมนตรี การจัดตั้งเทศาภิบาล การจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์การยกเลิกระบบจตุสดมภ์ การยกเลิกระบบไพร่และทาส เป็นต้น

5 นิยายข้อใดสะท้อนรัฐตํารวจได้ดี

(1) Animal Farm

(2) 1984

(3) 80 วันรอบโลก

(4) The Brave New World

(5) Lord of the Flies

ตอบ 2 (คําบรรยาย) จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชาวอังกฤษ ได้แต่งนิยายเรื่อง “1984” เพื่อสะท้อนถึงรัฐตํารวจ (Police State) ซึ่งเป็นรัฐเผด็จการที่จับตาสอดส่องประชาชน ในรัฐ รวมทั้งข่มขู่ หรือทําร้าย หรือใช้กองกําลังสังหารคนที่มีความเห็นแตกต่าง

6 หลักการเรื่องธรรมาภิบาลประกอบด้วย

(1) โปร่งใส รวดเร็ว ประหยัด

(2) โปร่งใส รับผิดชอบ ไม่เชลียร์

(3) โปร่งใส รับผิดชอบ รวดเร็ว

(4) รับผิดชอบ คุณธรรม ประสิทธิภาพ

(5) โปร่งใส รับผิดชอบ ประสิทธิภาพ

ตอบ 5 (คําบรรยาย) หลักการสําคัญของธรรมาภิบาลหรือธรรมรัฐ (Good Governance) ประกอบด้วย

1 ความโปร่งใส (Transparency)

2 ความรับผิดชอบตรวจสอบได้ (Accountability)

3 ประสิทธิภาพ (Efficiency)

7 ผู้นําการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 สู่สยาม คือ

(1) นักเรียนนอกจากอเมริกา

(2) สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จากจีน

(3) พวกเก๊กเหม็ง

(4) คณะราษฎร

(5) กลุ่มซอยราชครู

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 สู่สยามเกิดจาก “คณะราษฎร”ซึ่งประกอบด้วย ทหาร ข้าราชการ และพลเรือน ทําการยึดอํานาจการปกครองจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ กษัตริย์หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบ รัฐธรรมนูญ หรือระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่ง ม.จ.วรรณไวทยากร เรียกการ เปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ว่า “การปฏิวัติ” ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)เรียกการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้ว่า “การอภิวัฒน์”

8 การสิ้นสุดอํานาจของคณะราษฎรอาจจะนับได้จาก

(1) รัฐประหาร พ.ศ. 2490

(2) การจี้จอมพล ป. บนเรือแมนฮัตตัน

(3) การระดมยิงไปฝ่ายกบฏวังหลวง

(4) การสังหารสี่รัฐมนตรีอีสาน

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 (คําบรรยาย) การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ถือว่าเป็นการยุติบทบาทหรือสิ้นสุดอํานาจของ “คณะราษฎร” ในการเมืองไทยร่วมสมัย เมื่อกลุ่มทหารนอกราชการที่นําโดย จอมพลผิน ชุณหะวัณ ยึดอํานาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ (ซึ่งสืบอํานาจต่อจาก รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์) โดยการรัฐประหารในครั้งนี้ถือเป็นการขจัดกลุ่มอํานาจเก่าของนายปรีดีให้สิ้นไปจากเวทีการเมือง แม้จะมีความพยายามกลับมาทํากบฏวังหลวงในปี 2492 แต่ก็ไม่สําเร็จ

9 หัวหน้ากลุ่มซอยราชครู คือ

(1) หมอเหล็ง ศรีจันทร์

(2) จอมพลผิน ชุณหะวัณ

(3) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(4) หลวงวิจิตรวาทการ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 (คําบรรยาย) กลุ่มซอยราชครู ประกอบด้วย จอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า, พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์, พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร และ ร.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นตัวแทนของอํานาจกลุ่มในการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลุ่มนี้ได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยตั้งแต่การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490และสิ้นสุดอํานาจหลังการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500

10 หลวงวิจิตรวาทการมีบทบาทสําคัญในการกําหนดนโยบาย

(1) ค่าเงินบาท

(2) ละครปลุกใจรักชาติ

(3) การต่อสู้กับฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์

(4) การต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 (คําบรรยาย) หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลี่ยง วัฒนปฤดา) เป็นผู้มีบทบาทสําคัญในการแต่งเพลงและละครปลุกใจให้ประชาชนเกิดความรักชาติตามนโยบายชาตินิยมในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยได้แต่งละครไว้ 24 เรื่อง และแต่งเพลงประมาณ 150 เพลง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันจนทุกวันนี้ เช่น ละครเรื่องเลือดสุพรรณ ศึกถลาง ราชมนู เจ้าหญิงแสนหวี น่านเจ้า และเพลงปลุกใจรักชาติ เช่น ตื่นเถิดชาวไทย รักเมืองไทย ใต้รมองเทย รักชาติ และต้นตระกูลไทยเป็นต้น

11 การรัฐประหารเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 เป็นการสิ้นอํานาจของกลุ่มการเมืองใด (1) นายปรีดี พนมยงค์

(2) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(3) นายควง อภัยวงศ์

(4) ซอยราชครู

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 9 ประกอบ

12 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พยายามแยกตัวเองออกจากยุคปฏิวัติโดยคณะราษฎรมาเป็นยุค

(1) อภิวัฒน์

(2) รัฐประหาร

(3) พัฒนา

(4) เลี้ยงสุกร

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3 (คําบรรยาย) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พยายามแยกตัวเองออกจากยุคปฏิวัติโดยคณะราษฎรมาเป็น “ยุคพัฒนา” โดยได้สร้างผลงานทั้งทางด้านการปรับปรุงการบริหารและการพัฒนา ประเทศไว้มากมาย เช่น การออกกฎหมายเลิกการเสพและจําหน่ายผืนโดยเด็ดขาด กฎหมาย ปราบปรามพวกนักเลงอันธพาล กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี และที่สําคัญที่สุดก็คือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาทําการศึกษา ค้นคว้าวิจัยจนกระทั่งได้จัดทําแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 2509)ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแม่แบบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

13 รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ หมายถึง

(1) ฉบับ 2521

(2) ฉบับ 2534

(3) ฉบับ 2540

(4) ฉบับ 2549

(5) ฉบับ 2557

ตอบ 1 (คําบรรยาย) พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร เป็นผู้ที่ขนานนามรัฐธรรมนูญฯ 2521 ว่าเป็น“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เนื่องจาก กําหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้แยกข้าราชการประจําออกจากการเมือง ทําให้ข้าราชการประจําเป็นวุฒิสมาชิกได้ ซึ่งพบว่ามีลักษณะเป็นการประนีประนอมทางอํานาจระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายข้าราชการประจํานั่นเอง

14 ลักษณะ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว คือ

(1) การคงอํานาจของผู้นํากองทัพต่อ

(2) สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง

(3) นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

(4) สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง

(5) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนมาจากการแต่งตั้ง

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 13 ประกอบ

15 การรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 มีลักษณะพิเศษคือ เป็นรัฐประหารเพื่อ

(1) เพื่อยืดอายุบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ

(2) เพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว

(3) ขยายอายุราชการให้ทหารบางคน

(4) ยืดอายุสภานิติบัญญัติ

(5) ส้มร่างรัฐธรรมนูญ

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 เป็นการรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินภายใต้การนําของ พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่ง ทางคณะปฏิรูปฯ ได้ประกาศชัดว่า เป็นรัฐประหารเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว และได้แต่งตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี

16 รัฐบาลหอย หมายถึง รัฐบาลยุค

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

(3) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(4) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

(5) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้รับฉายาว่า “รัฐบาลหอย” เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ได้รับการปกป้องจากทหารหรือมีทหารคอยคุ้มภัย ซึ่งเปรียบเสมือนเปลือกหอยคอยคุ้มครองตัวหอยนั้นเอง

17 หลัง 14 ตุลาคม 2516 พรรคการเมืองที่ถือสโลแกน “ขวาพิฆาตซ้าย” คือ

(1) พรรคประชาธิปัตย์

(2) พรรคสังคมนิยม

(3) พรรคก้าวหน้า

(4) พรรคชาติไทย

(5) พรรคมวลชน

ตอบ 4 (คําบรรยาย) หลัง 11 ตุลาคม 2516 พรรคชาติไทยของ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร(ยศในขณะนั้น) ได้ใช้คําขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” ในการลงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2519

18 ข้อใดเป็นปัจจัยที่ทําให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมีความกล้าแข็งหลัง 14 ตุลาคม 2516

(1) การสังหารผู้นําชาวไร่ชาวนา

(2) การไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

(3) การตั้งกลุ่มกระทิงแดง

(4) การสังหารประชาชนวันที่ 6 ตุลาคม 2519

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 5 (คําบรรยาย) ปัจจัยที่ทําให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีความกล้าแข็ง หลัง 14 ตุลาคม 2516 คือ

1 การไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง การสังหารผู้นําชาวไร่ชาวนา การกวาดจับนักศึกษาและกรรมกรจํานวนมาก)

2 การกล่าวหานักศึกษาและประชาชน ด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์

3 การคุกคามต่อขบวนการนักศึกษาและประชาชน โดยมีการตั้ง มวลชนหลายกลุ่มขึ้นมาต่อต้าน เช่น กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มนวพล และกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน

4 การสังหารนักศึกษาและประชาชนเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ฯลฯ

19 นโยบายที่ 66/2523 ประกาศใช้ในสมัยรัฐบาล

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

(3) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(4) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(5) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ตอบ 5 (คําบรรยาย) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันถึง 3 สมัย(พ.ศ. 2523 – 2531) และในแต่ละสมัยก็พ้นจากตําแหน่งด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยสมัยแรกนั้น พล.อ.เปรม ได้ผลักดันนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งปรากฏออกมา ในรูปนโยบาย 66/2523 และ 66/2525 เพื่อยุติการทําสงครามสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทยกับฝ่ายรัฐบาล ผลพวงจากนโยบายดังกล่าวทําให้นักศึกษาที่หนีเข้าป่า ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ได้มีโอกาสหวนมาเดินบนหนทางแห่งสันติภาพอีกครั้ง

20 นายกรัฐมนตรีท่านใดพ้นจากตําแหน่งด้วยการลาออกกลางสภาผู้แทนราษฎร

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

(3) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(4) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(5) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ตอบ 4 (คําบรรยาย) พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งด้วยการลาออกกลางสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523 โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่รัฐบาลตัดสินใจเพิ่มราคาค่าน้ํามันตามราคาตลาดโลก ซึ่งทําให้หลายฝ่ายได้รับความเดือดร้อนและโจมตี

21 นายกรัฐมนตรีท่านใดพ้นจากตําแหน่งด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

(3) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(4) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 19 ประกอบ

22 นายกรัฐมนตรีท่านใดพ้นจากตําแหน่งด้วยการถูกรัฐประหาร

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

(3) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(4) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ส่งผลให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ต้องพ้นจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลพวงจากการ ยึดอํานาจดังกล่าวได้นําไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในวันที่ 17 – 20 พฤษภาคม 2535หรือพฤษภาทมิฬ และการก่อตัวของกระแสปฏิรูปการเมืองและร่างรัฐธรรมนูญฯ 2540

23 มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เป็นการร่างตามอย่างของธรรมนูญการปกครองฉบับใด

(1) พ.ศ. 2502

(2) พ.ศ. 2511

(3) พ.ศ. 2517

(4) พ.ศ. 2521

(5) พ.ศ. 2540

ตอบ 1 (คําบรรยาย) รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ได้ให้อํานาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหนืออํานาจของฝ่ายบริหาร (นายกรัฐมนตรี) นิติบัญญัติ และตุลาการ ซึ่งเป็นการร่างตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองฯ พ.ศ. 2502 ที่กําหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถใช้อํานาจได้ทั้งอํานาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการร่วมกัน

24 การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 กระทําโดยคณะ

(1) กปปส.

(2) รสช.

(3) คสช.

(4) คมช.

(5) คณะปฏิรูป

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 22 ประกอบ

25 นายกรัฐมนตรีท่านใดกระทําการรัฐประหารยึดอํานาจจากรัฐบาลตัวเอง

(1) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(2) จอมพลถนอม กิตติขจร

(3) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(4) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(5) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) จอมพลถนอม กิตติขจร ทําการรัฐประหารยึดอํานาจจากรัฐบาลตัวเองเมื่อปลายปี พ.ศ. 2514 โดยมีสาเหตุสืบเนื่องจากการที่สมาชิกพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนตามที่จอมพลถนอมได้เคยสัญญาไว้ในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 จึงทําให้ ส.ส. เหล่านี้ได้ต่างพากันเรียกร้องต่าง ๆ นานา บ้างก็ขู่ว่าจะลาออก เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้จอมพลถนอมหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ ในสภาฯ ได้จึงทําการยึดอํานาจตัวเอง โดยไม่มีชื่อเรียกคณะรัฐประหารในครั้งนี้โดยเฉพาะเหมือนการรัฐประหารที่เคยมีมาในอดีต แต่เรียกตัวเองเพียงแค่ว่า “คณะปฏิวัติ”

26 ความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ และคณะที่จะก่อรัฐประหาร คือกรณี

(1) กบฏวังหลวง

(2) กบฎแมนฮัตตัน

(3) กบฏเมษาฮาวาย

(4) กบฏแช่แข็งประเทศไทย

(5) ข้อ 1 และ 2

ตอบ 1 (คําบรรยาย) กบฏ (Rebellion) คือ ความพยายามยึดอํานาจหรือก่อการรัฐประหารที่ล้มเหลวซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยมีกบฏที่สําคัญ ๆ เช่น กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492) นําโดย นายปรีดี พนมยงค์ และคณะ, กบฏแมนฮัตตัน (29 มิถุนายน 2494) นําโดย น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา และ น.ส.มนัส จารุภา, กบฏเมษาฮาวายหรือกบฏยังเตอร์ก (1-3 เมษายน 2524)นําโดย พล.อ.สัณฑ์ จิตรปฏิมา และกลุ่มทหารยังเตอร์ก เป็นต้น

27 นายกรัฐมนตรีท่านใดที่ต้องว่ายน้ำหนีจากการถูกจับเป็นตัวประกัน

(1) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(2) จอมพลถนอม กิตติขจร

(3) หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์

(4) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(5) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ตอบ 1 (คําบรรยาย) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องว่ายน้ำหนีจากการถูกจับเป็นตัวประกันในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2494 โดย น.ต.มนัส จารุภา ได้จี้จับตัว จอมพล ป. ขณะเป็นประธานรับมอบเรือขุดแมนฮัตตันที่ท่าเรือราชวรดิษฐแล้วนําไปคุมขังไว้ที่ เรือหลวงศรีอยุธยา จนกระทั่งเครื่องบินกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดใส่เรือหลวงจนอับปาง จอมพล ป. จึงว่ายน้ำหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย

28 งานวิจัยเรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย” พยายามอธิบายว่า

(1) วงจรอุบาทว์หมดจากการเมืองไทยแล้ว

(2) ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์เสื่อมลง

(3) มีคนชั้นกลางใหม่ในหัวเมือง

(4) อํามาตย์ไม่มีจริง

(5) ข้อ 2 และ 3

ตอบ 5 (คําบรรยาย) งานวิจัยเรื่อง “ทบทวนภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย” โดย ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย,ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และ รศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์ อธิบายว่า มีคนชั้นกลางใหม่ในหัวเมือง (ชนบท) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง บุคคลเหล่านี้มีรายได้ประมาณ 4,000 – 10,000 บาท ต่อเดือน เป็นระดับรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ จึงไม่ต้องพึ่งพาความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ทําให้ความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ในชนบทนั้นเสื่อมลง

29 ผู้นําคณะรัฐประหารที่ก่อการรัฐประหารยึดอํานาจถึงสองครั้ง คือ

(1) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(2) จอมพลถนอม กิตติขจร

(3) หลวงธํารงนาวาสวัสดิ์

(4) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(5) พลเรือเอกสงัด ชลออยู่

ตอบ 5 (คําบรรยาย) พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้นําคณะรัฐประหารที่ก่อการรัฐประหารยึดอํานาจถึงสองครั้ง คือ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ยึดอํานาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ยึดอํานาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร (ดูคําอธิบายข้อ 15 ประกอบ)

30 การรัฐประหารที่ล้มเหลว เรียกว่า

(1) คณะกู้ชาติ

(2) กบฎ

(3) สหาย

(4) ฮีโร่ป๊อปคอร์น

(5) คณะปฏิรูป

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 26 ประกอบ

31 พลเอกสุจินดา คราประยูร ถูกโจมตีหลังรับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2535 ด้วยข้อหา

(1) ตระบัดสัตย์

(2) ทรยศชาติ

(3) งูเห่า

(4) พลิ้วไหวเหมือนสายน้ำ

(5) คืนความสุข

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2535 พรรคสามัคคีธรรม ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งเพื่อรองรับบทบาทของทหาร (คณะ รสช.) หลังรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้จํานวน ส.ส. ในสภามากที่สุด จึงเลือกนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรค เข้ารับตําแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากนายณรงค์ถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดํา ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จึงเลือก พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ารับตําแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ทําให้พล.อ.สุจินดาถูกโจมตีว่า “ตระบัดสัตย์” เนื่องจากเคยยืนยันว่าจะไม่รับตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

32 ตัวแทนของอํานาจกลุ่มซอยราชครู ได้แก่

(1) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(2) จอมพลผิน ชุณหะวัณ

(3) พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร

(4) พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 9 ประกอบ

33 การมีสมาชิกสภาผู้แทนในระบบบัญชีรายชื่อเป็นความพยายามจะแก้ปัญหาใด

(1) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(2) พ่อขุนอุปถัมภ์

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) ข้อ 4 และ 5

ตอบ 4 (คําบรรยาย) จากแนวคิดสองนคราประชาธิปไตยที่ว่า “คนจนในชนบทเลือกรัฐบาล คนชั้นกลางในเมืองล้มรัฐบาล” ได้นําไปสู่การออกแบบระบอบการเมืองไทยในรัฐธรรมนูญฯ 2540 ให้มี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทสัดส่วนหรือแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ทั้งคนจนในชนบทและคนชั้นกลางในเมืองเป็นได้ทั้งผู้ตั้งรัฐบาลและผู้ล้มรัฐบาล

34 การปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นําไปสู่ความพยายามแรกเพื่อเปิดทางสู่การร่างรัฐธรรมนูญด้วยการ

(1) แก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.

(2) แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา

(3) แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

(4) แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการทําประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3 (คําบรรยาย) การปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ได้นําไปสู่ความพยายามแรกเพื่อเปิดทางสู่การร่างรัฐธรรมนูญฯ 2540 ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ 2534 มาตรา 211 ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากหลายสาขาอาชีพและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทําหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ

35 ตามคํานิยามของเอ็ดมันด์ เบอร์ก พรรคการเมืองจะต้องมีจุดมุ่งหมายเพื่อ

(1) ส่งเสริมสาธารณกุศล

(2) ป้องกันการแตกสามัคคีของคนในชาติ

(3) สร้างความสามัคคีของหมู่คณะ

(4) ส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ

(5) ส่งเสริมประโยชน์แก่สมาชิกพรรค

ตอบ 4 หน้า 4 เอ็ดมันด์ เบอร์ก (Edmund Burke) ได้ให้คํานิยามของพรรคการเมืองว่า พรรคการเมืองได้แก่ “คนกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมกันตามแนวหลักการบางอย่าง โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการส่งเสริมผลประโยชน์ของชาติ”

36 พรรคการเมืองที่แท้จริงจะต้องมีลักษณะอย่างไร

(1) ยึดตัวผู้นําพรรคเป็นหลัก

(2) แสดงบทบาทเฉพาะช่วงเลือกตั้ง

(3) ไม่ร่วมกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาล

(4) จํากัดจํานวนสมาชิกที่ดีเท่านั้น

(5) มีสาขาพรรคกระจายทั่วทุกภูมิภาค

ตอบ 5 หน้า 9 – 11 ลักษณะของพรรคการเมืองที่แท้จริง มี 4 ประการ คือ

1 ต้องมีความยั่งยืนโดยไม่ขึ้นอยู่กับชีวิตหรืออํานาจของผู้นําพรรคการเมือง แต่ยึดหลักการหรืออุดมการณ์เป็นหลัก

2 ต้องมีองค์การหรือสาขาพรรคมาก ๆ กระจายทั่วทุกภูมิภาค และมีเครือข่ายติดต่อกันระหว่าง สํานักงานใหญ่กับสาขาพรรคในท้องถิ่น

3 ผู้นําพรรคต้องมีความมุ่งหมายที่จะเป็นรัฐบาล โดยอาจจัดตั้งรัฐบาลโดยลําพังพรรคเดียวหรือจัดตั้งรัฐบาลผสมก็ได้

4 ต้องพยายามหาคะแนนเสียงเมื่อมีการเลือกตั้ง และหาความสนับสนุนจากมหาชนทั่วไปเมื่อไม่มีการเลือกตั้ง

37 พรรคการเมืองมีการฟังความคิดเห็นของสมาชิกเป็นขบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) ใช้กับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์

(1) เสรีนิยม

(2) อนุรักษนิยม

(3) สังคมนิยม

(4) คอมมิวนิสต์

(5) ฟาสซิสต์

ตอบ 4 หน้า 76, 137 ประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic Centralism) เป็นลักษณะการใช้อํานาจหรือการดําเนินงานภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งประกอบด้วย 2 ขบวนการ คือ ในระยะแรก ให้สมาชิกในหน่วยพื้นฐานเสนอความคิดเห็นในนโยบายของพรรคแล้วเสนอไปยังเบื้องบนหรือ ศูนย์กลางของพรรคเพื่อรับทราบ ส่วนในระยะต่อมาเป็นการตัดสินใจจากเบื้องบน โดยมติที่ได้จะต้องบังคับใช้กับองค์การทุกระดับของพรรคอย่างเข้มงวด

38 อุดมการณ์คู่ใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในแง่การใช้อํานาจ

(1) คอมมิวนิสต์ – ฟาสซิสต์

(2) คอมมิวนิสต์ – ประชาธิปไตย

(3) อนุรักษนิยม – สังคมนิยม

(4) อนุรักษนิยม – ประชาธิปไตย

(5) อนุรักษนิยม – คอมมิวนิสต์

ตอบ 1 หน้า 140 อุดมการณ์คอมมิวนิสต์และฟาสซิสต์ จะมีลักษณะการใช้อํานาจที่คล้ายคลึงกัน คือ เป็นเผด็จการแบบรวมอํานาจเบ็ดเสร็จ โดยประชาชนจะถูกลิดรอนเสรีภาพในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

39 อุดมการณ์ใดที่นิยมระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียว

(1) เสรีนิยม

(2) อนุรักษนิยม

(3) สังคมนิยม

(4) คอมมิวนิสต์

(5) ฟาสซิสต์

ตอบ 4, 5 หน้า 135, 139, (คําบรรยาย) ระบบพรรคเดียว หมายถึง การที่รัฐหรือประเทศหนึ่งมีรัฐบาลที่ตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว และระบบนี้ยอมให้มีเฉพาะพรรคที่ครองอํานาจอยู่เท่านั้น ไม่ยอมให้มีพรรคอื่นเข้ามาแข่งขันหรือกีดกัน ซึ่งจะพบระบบนี้ได้ในประเทศที่มีการปกครอง ระบอบเผด็จการหรือมีอุดมการณ์แบบซ้ายสุดโต่ง (คอมมิวนิสต์) หรือขวาสุดโต่ง (ฟาสซิสต์ และนาซี) เช่น จีน ลาว เวียดนาม คิวบา เกาหลีเหนือ เป็นต้น

40 อุดมการณ์หรือแนวคิดใดไม่ต้องการให้มีรัฐ

(1) ฟาสซิสต์

(2) อนาธิปัตย์

(3) สังคมนิยม

(4) ประชาธิปไตย

(5) เฉพาะข้อ 1 และ 2 ตอบ 2 (คําบรรยาย) อนาธิปัตย์ หรืออนาคิสม์ (Anarchism) เป็นอุดมการณ์หรือแนวคิดทางการเมือง ที่ต่อต้านการมีรัฐบาลหรือการมีรัฐ โดยถือว่ารัฐหรือการรวมตัวเป็นประเทศ เป็นชาติ เป็น บ้านเมือง หรือการมีรัฐบาลนั้นเป็นของไม่จําเป็น และเป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายนานาประการ

41 แนวคิดเรื่องสัญญาประชาคม (Social Contract) อธิบายว่าเราสามารถบรรลุถึงเสรีภาพได้ในเงื่อนไขใด

(1) ในรัฐสังคมนิยม

(2) ในรัฐสวัสดิการ

(3) ในรัฐแบบใดก็ได้

(4) ในรัฐประชาธิปไตยเท่านั้น

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 5 (คําบรรยาย) รุสโซ เห็นว่า สังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสัญญาประชาคม (Social Contract) สามารถทําให้บุคคลในฐานะสมาชิกของสังคมนั้นบรรลุถึงเสรีภาพได้ ภายใต้เงื่อนไขการออก กฎหมายมาบังคับตัวเอง กล่าวคือ การที่เคารพกฎหมายที่ตัวเรามีส่วนร่วมในการบัญญัตินั้น เราย่อมไม่รู้สึกว่ากฎนั้นกดขี่เรา และทําให้เรามีเสรีภาพได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วคงไม่มีใคร เสียสติพอที่จะบัญญัติกฎหมายออกมาเพื่อกดขี่บีบคั้นตัวเองให้เจ็บปวดนั่นเอง

42 อุดมการณ์หรือแนวคิดใดเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็นเรื่องผิดปกติ

(1) ฟาสซิสต์

(2) อนุรักษนิยม

(3) เสรีนิยม

(4) ประชาธิปไตย

(5) เฉพาะข้อ 1 และ 2

ตอบ 5 หน้า 234, (คําบรรยาย) การเมืองแบบพหุนิยม เป็นแนวคิดของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยซึ่งเห็นว่าประชาธิปไตยจะมีขึ้นและมั่นคงอยู่ได้ก็ด้วยการมีกลุ่ม กลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง สมาคม ชมรม สันนิบาต องค์การ หรือสหพันธ์ต่าง ๆ ที่หลากหลายภายในรัฐโดยเสรีและสมัครใจ มิได้มีการบังคับ เพราะเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็นเรื่อง ปกติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกรงกันข้ามกับอุดมการณ์อนุรักษนิยม คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ และนาซี ที่ไม่สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม เพราะเชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดและกลุ่มการเมืองที่หลากหลายเป็นเรื่องผิดปกติ

43 ส่วนผสมของอุดมการณ์ทางการเมืองที่สําคัญ คือ

(1) วิจารณ์สังคม ให้ภาพอนาคต เสนอแนวทางเข้าสู่สังคมที่ดีกว่า

(2) ให้ภาพอดีต วิจารณ์สังคม เสนอวิธีเข้าสู่สังคมที่ดีกว่า

(3) วิจารณ์ปัจจุบัน ให้ภาพอนาคต เสนอวิธีล้มล้างระบอบปัจจุบัน

(4) วิจารณ์ปัจจุบัน ให้ศรัทธาผู้นํา เสนอวิธีล้มล้างระบอบปัจจุบัน

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ส่วนผสมของอุดมการณ์ทางการเมืองที่สําคัญ มี 3 ประการ คือ

1 การวิจารณ์สังคมหรือระเบียบในปัจจุบัน

2 การให้ภาพสังคมหรือระเบียบในอนาคต

3 การเสนอทฤษฎีหรือการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมหรือระเบียบใหม่ เช่น เสนอวิธีล้มล้างระบอบปัจจุบันหรือเสนอแนวทางเข้าสู่สังคมใหม่ที่ดีกว่า เป็นต้น

44 ประเทศไทยมีพันธะที่จะปรับโครงสร้างต่าง ๆ ให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสามเสา ได้แก่

(1) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม – เสาเศรษฐกิจ-เสาการเมืองและความมั่นคง

(2) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม-เสาประเพณี-เสาการเมืองและความมั่นคง

(3) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม-เสาระหว่างประเทศ-เสาการเมืองและความมั่นคง (4) เสาความมั่นคงและวัฒนธรรม-เสาธุรกิจ-เสาการเมืองและความมั่นคง

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 5 (ความรู้ทั่วไป) ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ถือกําเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อปีพ.ศ. 2546 จากการที่ผู้นําอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนที่เรียกว่า “ข้อตกลงบาหลี 2” โดยประกอบด้วยประเทศสมาชิกจํานวน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ มีพันธะที่จะต้องปรับโครงสร้างต่าง ๆ ให้เข้าสู่ประชาคมอาเซียนในสามเสา ได้แก่ เสาสังคม และวัฒนธรรม เสาเศรษฐกิจ และเสาการเมืองและความมั่นคง

45 ในยุคที่พรรคนาซีมีอํานาจได้อาศัยข้ออ้างใดในการมีระบบพรรคเดียว

(1) เพื่อความเป็นเอกราชและความมั่นคงของชาติ

(2) ประเทศมีชนชั้นเดียว ต้องมีพรรคเดียว

(3) เพื่อพัฒนาให้เยอรมันมีความเป็นประชาธิปไตย

(4) เพื่อให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองโดยไม่มีคู่แข่ง

(5) เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความรวดเร็วในการปกครอง

ตอบ 5 หน้า 136 ในยุคที่พรรคนาซีมีอํานาจได้ให้เหตุผลในการมีระบบพรรคเดียวว่า เยอรมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแยกไม่ได้ พรรคก็ต้องมีพรรคเดียว เพราะการมีหลายพรรคจะเป็นการแบ่งแยกความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และประเทศไม่เจริญก้าวหน้าได้รวดเร็วเท่าที่ควร

46 ในทัศนะของนักปรัชญาการเมืองคนใดที่ไม่เห็นด้วยกับการมีพรรคการเมือง เพราะเป็นการทําลาย สภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลที่เสรี

(1) โทมัส ฮอบส์

(2) คาร์ล มาร์กซ์

(3) เอ็ดมันด์ เบอร์ก

(4) แม็กซ์ เวเบอร์

(5) รุสโซ

ตอบ 3 หน้า 33 เอ็ดมันด์ เบอร์ก (Edmund Burke) ได้กล่าวถึงพรรคการเมืองในประเทศอังกฤษเมื่อ ค.ศ. 1770 ว่า การแบ่งกันเป็นพรรคการเมืองเป็นการทําลายสภาสามัญ (สภาผู้แทนราษฎร) และรัฐบาลที่เสรี

47 การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 เกิดในยุค

(1) พล.อ.อาทิตย์ กําลังเอก

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) นายบรรหาร ศิลปอาชา

(4) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 34 ประกอบ

48 การประกาศกําหนดวันเลือกตั้งต้องประกาศเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) กฎกระทรวง

(4) พระราชกฤษฎีกา

(5) ประกาศของ กกต.

ตอบ 4 หน้า 396 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า “วันเลือกตั้ง” คือ วันที่กําหนดให้เป็นวันเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. หรือ ส.ว. แล้วแต่กรณี

49 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ผลของการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มีสถานะเป็น

(1) การเลือกตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถูกขัดขวางจึงเป็นโมฆะ

(2) การเลือกตั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวทั่วประเทศ จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(3) การเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวทั่วประเทศการเลือกตั้งจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

(4) การเลือกตั้งเป็นโมฆะตั้งแต่แรก เสมือนไม่เคยมีการเลือกตั้ง

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3 (ข่าว) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคําวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมติเสียงข้างมาก 6 : 3 ว่า การที่ พ.ร.ฎ. ยุบสภาผู้แทนราษฎร 2556 กําหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และมีการดําเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไปแล้ว แต่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งสําหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัคร รับเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มิได้เป็นวันเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เป็นผลให้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 108 วรรค 2

50 ในเดือนมีนาคม 2557 มีการเลือกตั้งมีสมาชิกวุฒิสภา แต่การรัฐประหารทําให้วุฒิสภา

(1) วุฒิสภาสิ้นสุดลง

(2) แปรสภาพเป็นสมัชชาแห่งชาติ

(3) แปรสภาพเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(4) แปรสภาพเป็นสภาปฏิรูป

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการรัฐประหารรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งการรัฐประหารในครั้งนี้ เป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประวัติศาสตร์ไทย และนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบหนึ่งทศวรรษ (หรือในรอบ 10 ปี ต่อจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549) โดยการรัฐประหารได้มีผลทําให้ รัฐธรรมนูญฯ 2550 สิ้นสุดลง และทําให้คณะรัฐมนตรีรักษาการและวุฒิสภาสิ้นสุดลงด้วย แต่ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนพรรคการเมืองนั้นยังคงดํารงอยู่ แต่ไม่สามารถดําเนินกิจกรรมใด ๆ ทางการเมืองได้

ตั้งแต่ข้อ 51 – 80 จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม

(1) ถูก

(2) ผิดเอาเอง

 

51 จอมพลถนอม กิตติขจร ทํารัฐประหารตัวเองเมื่อปลายปี พ.ศ. 2511

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 25 ประกอบ

52 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 ณ บ้านพักส่วนตัว ชานกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

53 กรณี 14 ตุลาคม 2516 เป็นการยุติบทบาทการเมืองฝ่ายประชาชนและทําให้เกิดความหวาดระแวงในสังคมไทยจนต้องมีการนิรโทษกรรมจึงผ่อนคลาย

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่และกลุ่มที่รัฐให้ การสนับสนุนได้เข้าไปจับกุมและสังหารนักศึกษาและประชาชนภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งกําลังชุมนุมประท้วงเพื่อขับไล่ให้จอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ จนทําให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายเป็นจํานวนมาก โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นการ ยุติบทบาทของการเมืองแบบมีส่วนร่วมประชาชนและทําให้เกิดความหวาดระแวงในสังคมไทยจนต้องมีการนิรโทษกรรมเหตุการณ์จึงผ่อนคลาย

54 วิทยุยานเกราะเป็นกลุ่มจัดตั้งทางการเมืองและปลุกความเกลียดชังนักศึกษาและประชาชนหลัง 14 ตุลาคม 2516

ตอบ 1 (คําบรรยาย) วิทยุยานเกราะเป็นกลุ่มจัดตั้งทางการเมืองและปลุกความเกลียดชังนักศึกษาและประชาชนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งวิทยุยานเกราะได้สร้างกระแสความเกลียดชังนักศึกษาและปลุกระดมให้กลุ่มกระทิงแดง นวพล และลูกเสือชาวบ้านสังหารนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์

55 รัฐเผด็จการไม่สนับสนุนการชุมนุมบนท้องถนน เพราะถือว่าเป็นการแตกความสามัคคีและเป็นการสร้างความวุ่นวาย

ตอบ 1 (คําบรรยาย) รัฐประชาธิปไตยถือว่าการชุมนุมบนท้องถนนเป็นสิทธิในการแสดงความเห็นและมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบหนึ่ง เพราะรัฐประชาธิปไตยได้ให้สิทธิพื้นฐานแก่ประชาชน ในการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงความเห็นหรือเรียกร้องให้รัฐบาลดําเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ ตราบเท่าที่การกระทํานั้นเป็นไปอย่างสันติและไม่เกินขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งตรงกันข้ามกับ รัฐเผด็จการที่ไม่สนับสนุนการชุมนุมบนท้องถนน เพราะถือว่าเป็นการแตกความสามัคคีและเป็นการสร้างความวุ่นวายให้กับสังคม

56 การสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ความไม่สงบในเดือนพฤษภาคม 2535 ไม่มีผู้เสียชีวิตเลย

ตอบ 2 (คําบรรยาย) เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เกิดความรุนแรงขึ้นเพราะคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งนําโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ต้องการสืบทอดอํานาจโดยการตั้ง พรรคสามัคคีธรรม และให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ต้องลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. จึงทําให้เกิดการประท้วงและนําไปสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านต่าง ๆ ของประชาชน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตําแหน่ง โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้รัฐบาลได้ใช้กําลังทหาร และตํารวจเข้าสลายการชุมนุมจนเกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนผู้ชุมนุม ทําให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจํานวนมาก และเหตุการณ์ได้สิ้นสุดเมื่อ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

57 หนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎรคือจะต้องให้ราษฎรได้มีโอกาสในการศึกษา

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) หลัก 5 ประการของคณะราษฎร ซึ่งประกาศไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 เพื่อเป็นนโยบายในการบริหารและปกครองประเทศ มีดังนี้

1 จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย

2 จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก 3 จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ

4 จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน

5 จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ

6 จะต้องให้ราษฎรได้มีโอกาสในการศึกษาอย่างเต็มที่

58 พรรคชาติไทยเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มนายบรรหาร ศิลปอาชา ตั้งแต่ยุคแรก ตอบ 2 (คําบรรยาย) พรรคชาติไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 โดยในยุคแรกนั้นเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มซอยราชครูนําโดย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร, พล.ต.ศิริ สิริโยธิน และพล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศในขณะนั้น) ส่วนนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยตั้งแต่ปี 2537 จนกระทั่งพรรคถูกยุบในปี 2551 เนื่องจากกรณีทุจริตการเลือกตั้ง

59 การเมืองแบบพ่อขุนอุปถัมภ์เป็นการเมืองที่มีฐานอํานาจคับแคบมาก

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ศ.ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ได้ขนานนามการเมืองการปกครองของไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่าเป็น “ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์” แบบเผด็จการ ซึ่งเป็นผลมาจาก มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองฯ 2502 ที่ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ในการใช้อํานาจทั้งอํานาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ดังนั้นจึงถือว่าการเมืองแบบ พ่อขุนอุปถัมภ์เป็นการเมืองที่มีฐานอํานาจคับแคบมาก เพราะอํานาจเด็ดขาดจะตกอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นฐานแห่งอํานาจเผด็จการนั่นเอง

60 การเมืองหลังพฤษภาคม 2535 ทําให้สังคมไทยแบ่งแยกกลุ่มการเมืองออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มพรรคเทพ-กลุ่มพรรคมาร

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การเมืองในช่วงก่อนเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นั้น ทําให้สังคมไทยแบ่งแยกกลุ่มการเมืองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพรรคเทพและกลุ่มพรรคมาร โดยกลุ่มพรรคเทพได้ประกาศตัว เป็นฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนการดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งประกอบด้วย 4 พรรคการเมือง คือ พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคเอกภาพ ส่วนกลุ่มพรรคมารได้ให้การสนับสนุนการดํารงตําแหน่งดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย 5 พรรคการเมือง คือ พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร

61 พรรคพลังธรรมเป็นพรรคที่ก่อตั้งเพื่อรองรับบทบาทของทหาร หลังรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 31 ประกอบ

62 6 ตุลาคม 2519 เป็นวันที่เรียกว่าวันมหาประชาปิติ

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) เหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้นถูกเรียกว่า “วันมหาวิปโยค” หรือ“วันมหาประชาปิติ” เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทยมากกว่า 5 แสนคน ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร จนทําให้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจํานวนมาก โดยเหตุการณ์นี้ทําให้เกิดแรงกดดันจากพลังทางการเมืองหลายฝ่ายจนทําให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี

63 แรงกดดันทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งในความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่หากระบบการเมืองสนองตอบไม่ได้ จะเกิดการพังทลายทางการเมือง (Political Decay)

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ตามแนวคิดการพัฒนาการเมืองของแซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) นั้น แรงกดดันทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทําให้เกิดความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชน หากระบบการเมืองสนองตอบได้จะทําให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง (Political Stability) แต่หากระบบการเมืองสนองตอบไม่ได้จะทําให้เกิดการผุกร่อนทางการเมืองหรือ

การพังทลายทางการเมือง (Political Decay)

64 ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ได้มีการทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตยและพรรคการเมืองเพื่อเป็นการเรียกว่าคณะเสือป่า

ตอบ 2 (คําบรรยาย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้ทรงตั้งเมืองสมมุติ“ดุสิตธานี” ขึ้นในบริเวณวังพญาไท เพื่อทดลองการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยโปรดให้มี “ธรรมนูญการปกครองแบบนคราภิบาล” ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง กําหนดให้มี พรรคการเมือง 2 พรรค มีการเลือกตั้งนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรี และมีสภาการเมืองแบบประเทศประชาธิปไตย

65 หัวหน้า คสช. มีอํานาจเหนือนายกรัฐมนตรี

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 23 ประกอบ

66 ในการดําเนินการประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ตอบ 2 (คําบรรยาย) รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2559 มาตรา 39/1 กําหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการดําเนินการจัดให้มีการ ออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฯ 2559 ทั้งนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้กําหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ

67 ไม่เคยมีข่าวว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งลูกและภรรยาเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานเลย

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) สื่อมวลชนได้เปิดเผยเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการแต่งตั้งลูก ภรรยา และเครือญาติเป็นผู้ช่วย ปฏิบัติงานในตําแหน่งผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยประจําตัว ซึ่งทําให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึง ความไม่เหมาะสม ดังนั้นวิป สนช. และวิป สปช. จึงมีมติให้สมาชิก สนช. และ สปช. ปรับเปลี่ยน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ช่วยประจําตัวที่เป็นลูก ภรรยา และเครือญาติออกจากตําแหน่งทันที

68 สมาชิกสภาปฏิรูปชุดแรกหมดสภาพไปแล้วเนื่องจากการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) สมาชิกสภาปฏิรูปชุดแรกหมดสภาพไปแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 เนื่องจากการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่งผลทําให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตําแหน่งไปด้วย

69 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีความมาตรา 44 ให้อํานาจหัวหน้า คสช. เหนือนายกรัฐมนตรี

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 23 ประกอบ

70 สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันมีวาระเหลืออีกเพียงหนึ่งปี

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) สภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบัน เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อทําหน้าที่รัฐสภา โดยวาระการดํารงตําแหน่ง จะเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เนื่องจากในปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยู่ในขั้นตอนของการจัดทํา ยังไม่ได้ประกาศใช้บังคับ จึงไม่อาจสรุปได้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดปัจจุบันจะเหลือวาระการดํารงตําแหน่งอีกกี่ปี

71 ในทางทฤษฎีแล้ว การตั้งข้าราชการและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติยุคปัจจุบันเป็นการย้อนทวนสู่การเมืองไทยยุคอํามาตยาธิปไตย

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ในทางทฤษฎีแล้ว การตั้งข้าราชการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะรัฐมนตรียุคปัจจุบันนั้น เป็นการย้อนทวนสู่การเมืองยุคอํามาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) ซึ่งจะเห็นได้จากสังคมไทยในอดีต เช่น ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นต้น

72 ในยุครัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้มี พ.ร.บ. นิรโทษกรรมกรณี 6 ตุลาคม เพื่อการปรองดอง

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ในยุครัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้มี พ.ร.บ. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพื่อการปรองดอง ซึ่งมิใช่ครั้งแรกที่มีการนิรโทษกรรม ให้แก่ผู้กระทําการรัฐประหาร/ปฏิวัติเพื่อยึดอํานาจการปกครอง ในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบันมีการออก พ.ร.บ. เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่ ผู้กระทําการรัฐประหาร/ปฏิวัติมาแล้วหลายครั้ง เช่น ยุครัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ นิรโทษกรรม แก่ผู้กระทําการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490, ยุครัฐบาลนายพจน์ สารสิน นิรโทษกรรมแก่ ผู้กระทําการรัฐประหาร 16 กันยายน 2500, ยุครัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทําการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 เป็นต้น

73 ในทัศนะทางวิชาการ นักรัฐศาสตร์บางท่านเห็นว่าภาคราชการ โดยเฉพาะกองทัพไทยมีลักษณะเป็น “พรรคการเมือง” ที่มีความเป็นสถาบันการเมืองสูงกว่าหน่วยอื่น ๆ ตอบ 1 (คําบรรยาย) นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ภาคราชการโดยเฉพาะกองทัพไทยได้เข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยมาโดยตลอด จึงทําให้นักรัฐศาสตร์ บางท่านเห็นว่าภาคราชการ โดยเฉพาะกองทัพไทยมีลักษณะเป็น “พรรคการเมือง” ที่มี ความเป็นสถาบันการเมืองสูงกว่าหน่วยอื่น ๆ

74 ตามโรดแม็ปเดิมของ คสช. จะคืนอํานาจให้มีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2558

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) ตามโรดแม็ปเดิมของ คสช. นั้นจะคืนอํานาจให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในปี 2558 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เนื่องจากไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้เสร็จตามแผนที่กําหนดไว้

75 อํานาจของ คสช. ก่อนมีรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ตอบ 1 (คําบรรยาย) อํานาจของ คสช. ทั้งก่อนและหลังมีรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ (Sovereign) คือ ผู้มีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศ

76 จากคําพิพากษาในหลายกรณี สะท้อนว่ามีการยอมรับว่ารัฏฐาธิปัตย์คือคณะรัฐประหาร

ตอบ 1 (คําบรรยาย) จากการรัฐประหารในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมาของไทย และจากคําพิพากษาในหลาย ๆ กรณี สะท้อนว่ามีการยอมรับว่ารัฏฐาธิปัตย์คือคณะรัฐประหาร แม้แต่ศาลก็มิอาจก้าวล่วงไปพิจารณาพิพากษาเอาผิดแก่คณะรัฐประหารได้

77 ในทางทฤษฎี โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบันเป็นการเมืองแบบประชาธิปไตย

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) ในทางทฤษฎี โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินของไทยในปัจจุบันมิใช่การเมืองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากขาดโครงสร้างในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากการใช้อํานาจนิติบัญญัติและอํานาจบริหาร (รัฐบาล) ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับ ประชาชน หากแต่เป็นอํานาจเบ็ดเสร็จของ คสช. เท่านั้น แม้จะมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 3 ที่ระบุว่า อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยแต่ในความเป็นจริงในรายละเอียดกลับไม่ได้เป็นดังที่กล่าวไว้

78 นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันควบตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พ้นจากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบกแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน คือ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ซึ่งเข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ดังนั้นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจึงมิได้ควบตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

79 สังคมไทยผ่านการรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้มีความแตกต่างคือ หัวหน้าคณะรัฐประหารดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) สังคมไทยแม้จะผ่านการรัฐประหารมาแล้วหลายครั้ง แต่การรัฐประหารครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่หัวหน้าคณะรัฐประหารดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง หากนับการรัฐประหาร ตั้งแต่มีการรัฐประหารครั้งแรกเมื่อปี 2476 จนถึงการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 นั้น มีหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีเองถึง 4 ท่าน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476), จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501), จอมพลถนอม กิตติขจร (รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514), และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557)

80 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จะมี ส.ส. ในระบบเขตได้เพียงเขตละหนึ่งคน ตอบ 1 (คําบรรยาย) รัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 89 และ 102 กําหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จํานวน 500 คน ประกอบด้วย ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อจํานวน 100 คน และ ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งจํานวน 400 คน ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ส. ระบบเขตนั้นให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เพียงเขตละหนึ่งคน

81 ผลจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีการยุบพรรคการเมืองหรือไม่

(1) ไม่มีพรรคไหนโดนยุบพรรค

(2) พรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ

(3) หัวหน้าพรรคเพื่อไทยโดนจับ

(4) พรรคเพื่อไทยถูกยุบ

(5) พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 50. ประกอบ 82. ผลจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับผลกระทบ คือ

(1) คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่โดนยุบ

(2) กกต. ฝ่ายบริหารการเลือกตั้งโดนปลด ฐานจัดการเลือกตั้งล้มเหลว

(3) กกต. ฝ่ายบริหารการเลือกตั้งโดนเรียกไปปรับทัศนคติ

(4) ประธาน กกต. ถูกปลด

(5) กกต. ถูกส่งไปศึกษางานต่างประเทศ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 50 ประกอบ

83 ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือ นาย

(1) สมชัย ศรีสุทธิยากร

(2) ศุภชัย สมเจริญ

(3) ประวิช รัตนเพียร

(4) ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์

(5) บุญส่ง น้อยโสภณ

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. และกรรมการอีก 4 คน ได้แก่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร, นายประวิช รัตนเพียร,นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ และนายบุญส่ง น้อยโสภณ

84 การรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 นําไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง คือ

(1) 14 ตุลาคม 2516

(2) 6 ตุลาคม 2519

(3) 26 มีนาคม 2524

(4) 17 – 20 พฤษภาคม 2535

(5) 13 – 20 พฤษภาคม 2553

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 22 ประกอบ

85 ศัพท์ทางรัฐศาสตร์เรียกการแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองว่า

(1) Salamandering

(2) Gerrymandering

(3) Psudo Electionman

(4) Stupidioelection Commission

(5) Fraudmandering

ตอบ 2 (คําบรรยาย) Gerrymandering หมายถึง การบิดเบือนเขตเลือกตั้งเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคใดพรรคหนึ่ง เช่น กรณีการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัดโดยให้จังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน อยู่ในกลุ่มจังหวัดเดียวกัน ทําให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักวิชาการว่ามีการบิดเบือนเขตเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมือง

86 ในทางทฤษฎีการรัฐประหาร (Coup d’etat) ต่างจากการปฏิวัติ (Revolution) อย่างไร

(1) รัฐประหารเปลี่ยนผู้นํา แต่ปฏิวัติเปลี่ยนโครงสร้างรัฐ

(2) รัฐประหารเปลี่ยนโครงสร้างรัฐ แต่ปฏิวัติเปลี่ยนผู้นํา

(3) รัฐประหารเป็นการเปลี่ยนชั่วคราว ปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนถาวร

(4) รัฐประหารเป็นการเปลี่ยนถาวร ปฏิวัติเป็นการเปลี่ยนชั่วคราว

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ในทางทฤษฎีนั้นการรัฐประหาร (Coup d’etat) จะมีความแตกต่างจากการปฏิวัติ (Revolution) คือ รัฐประหารจะเป็นการยึดอํานาจจากรัฐบาล แล้วเปลี่ยนผู้นําคนใหม่ (ประมุขแห่งรัฐหรือหัวหน้ารัฐบาล) อย่างฉับพลัน โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง (Regime) หรือโครงสร้างของรัฐ แต่การปฏิวัติจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือโครงสร้างของรัฐ ซึ่งจะเกิดได้ยากกว่ารัฐประหาร โดยในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีการปฏิวัติเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว คือ เมื่อ 24 มิถุนายน 2475

87 เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านผู้ใดได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส”

(1) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม

(2) พ.อ.พระยาศรีสิทธิสงคราม

(3) ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

(4) พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา

(5) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ตอบ 1 (ความรู้ทั่วไป) หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)ในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) ให้ดํารงตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส” เนื่องจากเป็นผู้นําในการกอบกู้บ้านเมืองในช่วงสงครามโลก รวมทั้งได้ทํางานที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติหลายประการทั้งในด้านการเมือง การปกครอง การต่างประเทศ การเศรษฐกิจและการศึกษา โดยนายปรีดีถือเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกและคนเดียวของประเทศไทย

88 ตําแหน่ง “รัฐบุรุษอาวุโส” ของบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับข้อใด

(1) ขบวนการโจรจีนคอมมิวนิสต์

(2) ขบวนการเสรีไทย

(3) ขบวนการพูโล

(4) พรรคเสรีมนังคศิลา

(5) พรรคประชาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 87 ประกอบ

89 ข้าราชการท่านใดใช้นามแฝงในขบวนการเสรีไทยเขียนจดหมายถึงผู้ใหญ่ทํานุ เกียรติก้อง เพื่อเรียกร้อง รัฐธรรมนูญ

(1) น.พ.ประเวศ วะสี

(2) ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล

(3) นายจํากัด พลางกูร

(4) นายป๋วย อึ้งภากรณ์

(5) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) ก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ใช้นามแฝงสมัยเป็นเสรีไทยว่า เข้ม เย็นยิ่ง เขียนจดหมายจากประเทศอังกฤษถึงผู้ใหญ่ทํานุ เกียรติก้อง ซึ่งหมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อเรียกร้องให้จอมพลถนอมซึ่งยึดอํานาจการปกครองอยู่ในขณะนั้นคืนรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

90 กรณี 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีท่านใดต้องลาออก

(1) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(2) พลเอกกฤษณ์ สีวะรา

(3) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

(4) จอมพลประภาส จารุเสถียร

(5) จอมพลถนอม กิตติขจร

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 62 ประกอบ

91 การแก้ไขรัฐธรรมนูญในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้กําหนดให้มี ส.ส. เขต รวมทั้งสิ้นจํานวน

(1) 325 คน

(2) 350 คน

(3) 375 คน

(4) 400 คน

(5) 425 คน

ตอบ 3 (ความรู้ทั่วไป) ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องจํานวนและสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยรัฐธรรมนูญฯ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม 2554 มาตรา 93 กําหนดให้มี ส.ส. จํานวน 500 คน ประกอบด้วย ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งจํานวน 375 คน และ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อจํานวน 125 คน (จากเดิมกําหนดให้ ส.ส. มีจํานวน 480 คน ประกอบด้วย ส.ส. ระบบเขตเลือกตั้งจํานวน 400 คน และ ส.ส. ระบบสัดส่วนจํานวน 80 คน)

92 การปรับสัดส่วน ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อตามที่ปรากฏในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าจะส่งผลให้

(1) พรรคการเมืองขนาดเล็กเข้มแข็ง

(2) พรรคการเมืองใหญ่ได้มี ส.ส. สัดส่วนมากขึ้น

(3) พรรคการเมืองขนาดเล็กมีอํานาจต่อรอง

(4) พรรคการเมืองที่มีฐานคนชั้นกลางอาจจะได้เปรียบ

(5) พรรคการเมืองที่มีฐานคนชั้นกลางมีคะแนนเสียงลดลง

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การปรับสัดส่วน ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อตามที่ปรากฏในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2554 นั้น คาดว่าจะส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้มี ส.ส. สัดส่วนมากขึ้น ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้ ส.ส. น้อยลง รวมทั้งจะทําให้เกิดปัญหา ยุ่งยากในการกําหนดตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส.ส. ด้วย เนื่องจากจะต้องมีการจัดเขตเลือกตั้งใหม่ตามจํานวน ส.ส. ที่ลดลง

93 ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยปัจจุบันว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้เสนอแนวคิดเรื่อง “สองนคราประชาธิปไตย”เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่า ชาวไร่ชาวนาหรือคนจนในชนบทมักเป็นฐานเสียง และผู้ตั้งรัฐบาล แต่ไม่สามารถกําหนดความอยู่รอดและการสิ้นสุดของรัฐบาลได้ ส่วนคนชั้นกลาง หรือคนในเขตเมือง มักเป็นฐานนโยบายและเป็นผู้ล้มรัฐบาล แต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลใหม่ที่มี ผู้นําและนโยบายอย่างที่ตนต้องการได้ ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งทางความคิดความต้องการ และพฤติกรรมในการเลือกตัวแทนของคนในชนบทกับคนในเขตเมือง

94 ศ.ดร.เฟรด ริกส์ เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 2 (คําบรรยาย) ศ.ดร.เฟรด ดับบลิว. ริกส์ (Fred W. Riggs) เป็นนักวิชาการที่สนใจเรื่องอํานาจการเมืองในภาคราชการ และเป็นผู้อธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น “ระบอบ อํามาตยาธิปไตย” (Bureaucratic Polity) ซึ่งเป็นระบบการเมืองที่ถูกครอบงําโดยภาคราชการนับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

95 ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เสนอคําอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยว่าเป็น

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 2 (คําบรรยาย) ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้อธิบายถึงปัญหาการรัฐประหารซ้ำซากของการเมืองไทยว่ามีลักษณะเป็น “วงจรอุบาทว์” ซึ่งก็คือ การวนเวียนอยู่กับการรัฐประหาร แล้วตามด้วยการร่างรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้ง และก็วนไปที่การรัฐประหารอีกไม่รู้จบสิ้น โดยสาเหตุที่เกิดการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในสังคมไทย เพราะการรัฐประหารไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองได้นั่นเอง

96 แนวคิดที่นําไปสู่การออกแบบระบอบการเมืองไทยให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสัดส่วน คือ

(1) ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์

(2) ระบอบอํามาตยาธิปไตย

(3) วงจรอุบาทว์

(4) สองนคราประชาธิปไตย

(5) สังคมโครงสร้างหลวม

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 33 ประกอบ

97 ชนชั้นนํา (Elite) คือ

(1) คนที่มีรสนิยมสูง

(2) คนที่เป็นแนวหน้าในการสร้างประชาธิปไตย

(3) คนที่เกิดมาเป็นผู้นํา

(4) คนที่มีอํานาจสูงสุด

(5) กลุ่มคนที่ครอบครองปัจจัยสําคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคม

ตอบ 5 หน้า 40 – 41, (คําบรรยาย) พรรคชนชั้นหรือพรรคดั้งเดิม เป็นพรรคการเมืองที่ยังคงรักษาโครงสร้างของคําว่า “ชนชั้นนํา” (Eite) อยู่ กล่าวคือ เป็นพรรคที่มิได้เน้นในเรื่องจํานวนของ สมาชิกพรรคหรือจํานวนของผู้เข้าร่วมในพรรคเพื่อดําเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่กลับเน้น ในเรื่องคุณภาพของสมาชิกพรรค เพราะพรรคต้องการเฉพาะกลุ่มคนหรือบุคคลที่ครอบครอง ปัจจัยสําคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองของสังคม เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มียศถาบรรดาศักดิ์ หรือมีฐานะดีพอที่จะสามารถสนับสนุนพรรคในด้านการเงินได้ หรืออาจจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆก็คือ เป็นพรรคการเมืองที่เน้นในเรื่องคุณภาพมากกว่าปริมาณของสมาชิกนั่นเอง

98 ขบวนการเสรีไทย จัดอยู่ในประเภทของกลุ่ม

(1) อุดมการณ์

(2) กลุ่มผลักดัน

(3) กลุ่มอิทธิพลมืด

(4) กลุ่มอาชีพ

(5) กลุ่มอุดมการณ์

ตอบ 1, 5 หน้า 315 – 316 กลุ่มอุดมการณ์ เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่ต่างอาชีพต่างวัย ต่างความรู้ แต่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์เหมือนกัน ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเพื่อทํางานให้แก่ ชุมชน สังคม หรือประเทศชาติ ซึ่งได้แก่

1 กลุ่มอาสาสมัคร เช่น สโมสรไลออนส์สากล (ไลออนส์นานาชาติ) สโมสรโรตารีสากล สมาคมฮากกา (สมาคมหัวเฉียว) มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ยุวสมาคม เจ.ซี.) ชมรมค่ายอาสา ฯลฯ

2 กลุ่มสมาคมทางการเมือง เช่น กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ฯลฯ

3 กลุ่มศาสนา เช่น พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ฯลฯ

4 กลุ่มปกป้องคุ้มครอง เช่น ขบวนการเสรีไทยขบวนการจีนโพ้นทะเล กลุ่มอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ ฯลฯ

99 จุดประสงค์หลักของการก่อตั้งสื่อมวลชนคือหนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์นั้น ก็เพื่อธุรกิจการค้าแต่ก็มีผลสะท้อนในการสร้างแรงกดดันต่อมวลชน เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มผลักดัน

(1) นอมินี

(2) เอกชน

(3) จริง

(4) แฝง

(5) เฉพาะเรื่อง

ตอบ 4 หน้า 252 การก่อตั้งสื่อสารมวลชน คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และวิทยุโทรทัศน์นั้นมีจุดประสงค์หลักเพื่อธุรกิจการค้า แต่ก็มีผลสะท้อนในการสร้างแรงกดดันต่อมวลชนหรือบีบบังคับในทางการเมือง เพื่อจะได้มีบทบาทต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงเรียกกลุ่มนี้ว่า“กลุ่มผลักดันแฝง”

100 ผู้นําแรงงานที่หายตัวไปหลังการรัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2534 คือ

(1) นายอิศรา อมันตกุล

(2) นายทนง โพธิ์อ่าน

(3) นายถวัติ ฤทธิเดช

(4) นายสมชาย นีละไพจิตร

(5) นายจิตร ภูมิศักดิ์

ตอบ 2 (ความรู้ทั่วไป) นายทนง โพธิ์อ่าน อดีตประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยได้หายตัวไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2534 ภายหลังการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งขณะนั้นนายทนงเป็นผู้นําระดับสูงของขบวนการแรงงานที่มีบทบาทในการต่อต้านคณะรัฐประหารอย่างชัดเจนที่สุด

POL1101 การเมืองและการปกครองไทย 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 1101 การเมืองและการปกครองไทย

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

ข้อ 1. – 5. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) เสรีนิยม

(2) สังคมนิยม

(3) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

(4) อํานาจนิยม

(5) ชาตินิยม

1 ลัทธิที่ให้เสรีภาพเฉพาะด้านเศรษฐกิจสังคม แต่จํากัดเสรีภาพทางการเมือง

ตอบ 4 หน้า 6 – 7 อํานาจนิยม (Authoritarianism) คือ การที่รัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร โดยเฉพาะเสรีภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่จะจํากัดเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะการใช้อํานาจของรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เช่น รัฐบาลทหารของไทยการปกครองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฯลฯ

2 ยึดมั่นในแนวคิดเรื่อง “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย”

ตอบ 3 หน้า 6, 66 (S) เผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) คือ การที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองใช้อํานาจควบคุมประชาชนอย่างเคร่งครัดแทบจะสิ้นเชิงในทุกด้าน ทั้งเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะลงโทษอย่างรุนแรงหากประชาชนฝ่าฝืน ดังนั้นจึงเป็นระบบของ การใช้อํานาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม เช่น ระบบฟาสซิสต์ของ อิตาลี ระบบนาซีของเยอรมัน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบราชาธิปไตย และ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้อํานาจเด็ดขาดโดยยึดมั่นในแนวคิด “ผู้นําถูกต้องเสมอ”ดังคําขวัญ “เขื่อผู้นําชาติพ้นภัย” เพื่อปลุกใจราษฎรให้เชื่อมั่นรัฐบาล ฯลฯ

3 ความเป็นอยู่ของประชาชนด้านเศรษฐกิจสังคมมีรัฐเป็นผู้ดูแล

ตอบ 2 หน้า 8, 8(S) สังคมนิยม (Socialism) คือ ลัทธิทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเข้ามาควบคุมและกํากับดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านเศรษฐกิจหลักของประเทศ อันเป็นลัทธิเศรษฐกิจ ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ารัฐต้องเข้ามาควบคุมและเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สําคัญของสังคม แต่จะยินยอมให้ประชาชนมีทรัพย์สินเป็นของตนเองได้บ้าง และเป็นลัทธิเศรษฐกิจที่ยึดหลัก แห่งความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันมากกว่าหลักเสรีภาพ เช่น ระบบหรือแนวคิดเรื่องรัฐวิสาหกิจ ระบบเศรษฐกิจของสังคมเวียดนามเละจีนยุคปัจจุบัน ฯลฯ

4 แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อในเรื่อง “ไร้พรมแดน”

ตอบ 5 หน้า 9, (คําบรรยาย) ชาตินิยม (Nationalism) คือ ลัทธิหรืออุดมการณ์ที่ให้ความสําคัญและเน้นในเรื่องความมั่นคงและความเป็นเอกภาพของชาติ เชื่อและศรัทธาในพวกพ้องและดินแดน เดียวกัน เน้นเรื่องความรักความผูกพันและความสมานฉันท์ต่อกันของคนในชาติ เชื่อว่าคนเรา ที่เกิดมาต่างก็เป็นหนีต่อบ้านเมืองของเราเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อในเรื่อง “ไร้พรมแดน” และสากลนิยมที่ให้ความสําคัญในเรื่องผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติมากกว่า ผลประโยชน์ของชาติใดชาติหนึ่ง นอกจากนี้ลัทธิชาตินิยมยังเชื่อว่ารัฐกับมนุษย์ไม่แตกต่างกัน เพราะถ้าไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีรัฐ และรัฐจะอยู่ไม่ได้ถ้ามนุษย์ในรัฐไม่ช่วยกันปกป้องรักษารัฐของตน ดังนั้นลัทธิชาตินิยมจึงต้องการให้สมาชิกทุกคนเชื่อฟังคําสั่งของรัฐโดยปราศจากเงื่อนไข

5 รัฐที่ใช้อํานาจในการปกครองน้อยที่สุด

ตอบ 1 หน้า 6, 7 – 8 (S) เสรีนิยม (Liberalism) เป็นระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่เน้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีลักษณะการใช้อํานาจแบบอิสระนิยม อันเป็นต้นแบบของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย โดยมองว่ารัฐที่ดีคือรัฐที่ใช้อํานาจในการปกครองและกํากับดูแลน้อยที่สุดทั้งนี้รัฐบาลจะเข้าควบคุมหรือรักษากฎเกณฑ์เฉพาะส่วนที่จําเป็นเท่านั้น

6 สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นส่วนราชการเช่นเดียวกับ

(1) ทบวง

(2) กรม

(3) กระทรวง

(4) สํานักงานเลขานุการกรม

(5) กอง

ตอบ 2 หน้า 389 390 สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง

7 การจัดตั้งทบวงต้องตราเป็นกฎหมายอะไร

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกฤษฎีกา

(3) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

(4) พระราชกําหนด

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 371 สํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล (อาจเป็นโจทก์ จําเลย และทํานิติกรรมต่าง ๆ ได้)โดยการจัดตั้งหรือยุบส่วนราชการเหล่านี้ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

8 ข้าราชการประจํา หมายถึง

(1) รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบาย

(2) มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(3) เป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติ

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 364, (คําบรรยาย) ข้าราชการประจํา หมายถึง บุคคลที่รับราชการในตําแหน่งต่าง ๆซึ่งรับผิดชอบงานประจําของกระทรวง ทบวง กรม โดยจะเป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติหรือ ดําเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และข้าราชการประจําจะรับราชการเป็นอาชีพ ต่อเนื่องกันไป (ไม่มีวาระในการดํารงตําแหน่ง) ซึ่งโดยปกติแล้วจะออกจากราชการเมื่อครบเกษียณอายุราชการคือ 60 ปี

9 ระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของกํานัน

(1) 4 ปี

(2) 5 ปี

(3) อยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 55 ปี

(4) อยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 60 ปี

(5) อยู่ในตําแหน่งตลอดชีวิต

ตอบ 4 หน้า 417 ตําแหน่งกํานันในปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในตําบลนั้น โดยกํานันต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย และจะอยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 60 ปี

10 ข้าราชการประจําที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของแต่ละกระทรวงคือตําแหน่งใด

(1) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง

(2) ปลัดกระทรวง

(3) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง

(4) ผู้ตรวจการกระทรวง

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 379 ปลัดกระทรวงเป็นตําแหน่งข้าราชการประจําที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของแต่ละกระทรวง(ข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 11 หรือซี 11)

11 ข้อใดต่อไปนี้ปกติไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

(1) นายกเมืองพัทยา

(2) ผู้ใหญ่บ้าน

(3) ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

(4) สมาชิกสภาเขตกรุงเทพมหานคร

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 404 ผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้าราชการประจําสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย (ดูคําอธิบายข้อ 8 ประกอบ)

12 ข้อใดต่อไปนี้คือข้าราชการประจําในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

(1) ปลัดอําเภอ

(2) ปลัดจังหวัด

(3) สัสดีจังหวัด

(4) ปลัดเทศบาล

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 439, 444, 453, 472, 483, 487 ปัจจุบันรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมี 5 รูปแบบ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), เทศบาล, กรุงเทพมหานคร (กทม.), องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) และเมืองพัทยา (โดย กทม. และเมืองพัทยาเป็นรูปแบบ การปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ) ดังนั้น ปลัด อบจ., ปลัด อบต., ปลัด กทม., ปลัดเทศบาลและปลัดเมืองพัทยา จึงเป็นข้าราชการประจําในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

13 รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการประจําสังกัดหน่วยงานใด

(1) สํานักนายกรัฐมนตรี

(2) กระทรวงมหาดไทย

(3) กระทรวงศึกษาธิการ

(4) กรมการปกครอง

(5) ไม่สังกัดหน่วยงานใด

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 11 ประกอบ

14 การกําหนดโครงสร้างเทศบาลของไทยในปัจจุบันมีลักษณะและรูปแบบใด

(1) รัฐสภา

(2) ประธานาธิบดี

(3) แบบผสมรัฐสภาและประธานาธิบดี

(4) แบบมีสภา

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 448, 450, 462 การกําหนดโครงสร้างการจัดองค์การและการบริหารเทศบาลของไทยในปัจจุบัน มีลักษณะและรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดี (Presidential System) คือ มีนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้หลักการแบ่งแยกอํานาจ (Separation) ตามแบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

15 ขณะนี้จํานวนสมาชิกสภาเขต กฎหมายกําหนดให้มีได้ไม่เกินกี่คน

(1) ไม่จํากัดจํานวน

(2) 8 คน

(3) 9 คน

(4) 10 คน

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 473 สภาเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยราษฎรในเขต โดยมีจํานวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน ถ้าเขตใดมีราษฎรเกิน 1 แสนคน ให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเขตนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คนต่อจํานวนราษฎรทุก 1 แสนคน เศษของ 1 แสนคน ถ้าถึง 5 หมื่นหรือกว่านั้นให้นับเป็น 1 แสน (กฎหมายไม่ได้จํากัดจํานวนไว้ว่าให้มีได้ไม่เกินกี่คน)

16 รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนคร แต่งตั้งได้จํานวนไม่เกินกี่คน

(1) 5 คน

(2) 4 คน

(3) 3 คน

(4) 2 คน

(5) 1 คน

ตอบ 2 หน้า 448, 453 นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ตามจํานวนดังต่อไปนี้

1 เทศบาลตําบล (เทศบาลขนาดเล็ก) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 2 คน

2 เทศบาลเมือง (เทศบาลขนาดกลาง) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน

3 เทศบาลนคร (เทศบาลขนาดใหญ่) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 4 คน

17 ผู้บริหารสูงสุดของเมืองพัทยาใช้ชื่อว่าอะไร และมีที่มาอย่างไร

(1) นายกเมืองพัทยา

(2) ผู้ว่าเมืองพัทยา

(3) นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา

(4) ปลัดเมืองพัทยา

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 478, 483 โครงสร้างการจัดองค์การและการบริหารเมืองพัทยา แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ มีประธานสภาเมืองพัทยาเป็นผู้บริหารสูงสุด (มาจากการเลือกตั้ง) 2 ฝ่ายบริหาร มีนายกเมืองพัทยาเป็นผู้รับผิดชอบหรือผู้บริหารสูงสุด (มาจากการเลือกตั้ง)

18 การปกครองโดยคน ๆ เดียว และมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อผู้ปกครอง เป็นการปกครองในแบบที่ Aristotle เรียกว่าอะไร

(1) ราชาธิปไตย

(2) อภิชนาธิปไตย

(3) ประชาธิปไตย

(4) คณาธิปไตย

(5) ทุชนาธิปไตย

ตอบ 5 หน้า 2 เพลโต (Plato) และอริสโตเติล (Aristotle) ปรมาจารย์ทางทฤษฎีการเมืองชาวกรีกได้วางหลักการพิจารณารูปแบบการปกครองโดยจําแนกตามจํานวนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย และจุดมุ่งหมายในการใช้อํานาจการปกครอง

19 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กําหนดให้มีสมาชิก วุฒิสภาในระยะแรกจํานวนกี่คน

(1) 150 คน

(2) 200 คน

(3) 250 คน

(4) 300 คน

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 (ขาว) รัฐธรรมนูญฯ 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 269 กําหนดให้ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคําแนะนํา (มาตรา 107 : วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน)

20 พรรคการเมืองพรรคแรกทางพฤตินัยของไทย คือ

(1) คณะราษฎร

(2) สหชีพ

(3) กิจสังคม

(4) ก้าวหน้า

(5) ประชาธิปัตย์

ตอบ 1 หน้า 288 พรรคการเมืองไทยพรรคแรกทางพฤตินัย คือ “สมาคมคณะราษฎร” ที่จัดตั้งขึ้นโดย“คณะราษฎร” คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะไม่ระบุว่าเป็นพรรคการเมือง แต่ก็มี เจตจํานง/มีหลักการหรือแนวทางเช่นเดียวกับพรรคการเมืองโดยทั่วไป คือ ประสงค์จะเข้ารับผิดชอบ ในการบริหารประเทศ ดังนั้นคณะราษฎรจึงมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองไทยพรรคแรกตามนิตินัย คือ “พรรคก้าวหน้า” ซึ่งริเริ่มจัดตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

21 จังหวัดที่มีสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) จํานวน 48 คน คือ

(1) สงขลา

(2) เชียงใหม่

(3) นครราชสีมา

(4) อุบลราชธานี

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 358, 440 สมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ซึ่งในปัจจุบันก็คือ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) มีทั้งหมด 76 จังหวัด (ยกเว้น กทม.) มีจํานวนมากน้อยตามตัวเลือกดังนี้

1 นครราชสีมา (มีราษฎรเกิน 2 ล้านคน) มี ส.อบจ. ได้ 48 คน

2 เชียงใหม่, อุบลราชธานี (มีราษฎรเกิน 1.5 ล้านคน แต่ไม่เกิน 2 ล้านคน) มี ส.อบจ. ได้ 42 คน

3 สงขลา (มีราษฎรเกิน 1 ล้านคน แต่ไม่เกิน 1.5 ล้านคน) มี ส.อบจ. ได้ 36 คน

22 สํานักนายกรัฐมนตรี

(1) มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(2) จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ

(3) นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสํานักนายกรัฐมนตรี

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 372 373, (ดูคําอธิบายข้อ 7. ประกอบ) สํานักนายกรัฐมนตรีมีฐานะเป็นกระทรวงแต่มีลักษณะพิเศษกว่ากระทรวงอื่น ๆ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ

23 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการใดในการจัดการปกครอง

(1) แบ่งแยกอํานาจ

(2) ดุลอํานาจ

(3) รวมอํานาจ

(4) แบ่งปันอํานาจ

(5) กระจายอํานาจ

ตอบ 5 หน้า 359 360, 371, 401, 433 ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1 ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอํานาจปกครอง

2 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอํานาจปกครอง

3 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอํานาจปกครอง

24 การตั้ง ยุบ เปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกฤษฎีกา

(3) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

(4) พระราชกําหนด

(5) กฎกระทรวงมหาดไทย

ตอบ 1 หน้า 402, 409 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้

1 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

2 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตอําเภอ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

25 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกําหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเป็น ส.ว.(สมาชิกวุฒิสภา) ต้องมีอายุไม่ต่ํากว่ากี่ปีบริบูรณ์

(1) 18 ปี

(2) 20 ปี

(3) 25 ปี

(4) 35 ปี

(5) 40 ปี

ตอบ 5 (ข่าว) รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 108 กําหนดให้ สมาชิกวุฒิสภาต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1 มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

2 มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีในวันสมัครรับเลือก (เลือกกันเอง) ฯลฯ

26 ข้าราชการการเมือง

(1) ไม่มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(2) ต้องสังกัดพรรคการเมือง

(3) เป็นฝ่ายทํานโยบาย

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 364 365 ข้าราชการการเมือง คือ บุคคลซึ่งรับราชการในตําแหน่งที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบาย เป็นฝ่ายกําหนดหรือทํานโยบายในการบริหารประเทศหรือนโยบายสาธารณะ และจะ คอยควบคุมฝ่ายข้าราชการประจําให้ปฏิบัติตามนโยบายที่วางเอาไว้ โดยข้าราชการการเมือง จะเข้าดํารงตําแหน่งตามวิถีทางของการเมืองหรือเหตุผลทางการเมือง และออกจากตําแหน่งตามวาระหรือมีวาระในการดํารงตําแหน่ง (มีเพียง ส.ส.เท่านั้นที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง)

27 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกําหนดอายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกําหนดคราวละก็ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

(1) 2 ปี

(2) 3 ปี

(3) 4 ปี

(4) 5 ปี

(5) 6 ปี

ตอบ 3 (ข่าว) รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 99 กําหนดให้ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกําหนดคราวละ4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง

28 การเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาเคยมีการลงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วกี่ครั้งในรอบสิบปี

(1) 1 ครั้ง

(2) 2 ครั้ง

(3) 3 ครั้ง

(4) 4 ครั้ง

(5) 5 ครั้ง

ตอบ 2 (ข่าว) การเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาเคยมีการลงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว2 ครั้งในรอบสิบปี คือ ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฯ 2560

29 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกําหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย

(1) สภาผู้แทนราษฎร

(2) วุฒิสภา

(3) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 (ข่าว) รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 79 กําหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา โดยมาตรา 80 กําหนดให้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ประธาน วุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา, มาตรา 83 กําหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก จํานวน 500 คน และมาตรา 107 กําหนดให้ วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน

30 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกําหนดให้ใครเป็นประธานรัฐสภา

(1) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(2) ประธานวุฒิสภา

(3) ประธานร่างรัฐธรรมนูญ

(4) ประธานศาลฎีกา

(5) ประธานศาลปกครองสูงสุด

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 29. ประกอบ

31 ตําแหน่งนายอําเภอในการปกครองส่วนภูมิภาค

(1) สังกัดกรมการปกครอง

(2) มีฐานะในทางบริหารสูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ในอําเภอนั้น

(3) เป็นตําแหน่งในการบังคับบัญชาต่ํากว่าปลัดจังหวัด

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 409 อําเภอเป็นหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค โดยขึ้นอยู่กับสายงานของจังหวัดนายอําเภอเป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าปกครอง บังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอําเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอําเภอ โดยมีปลัดอําเภอและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ในอําเภอนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือนายอําเภอ

32 กรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรประเภทใดไม่อาจตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นกรรมาธิการได้

(1) กรรมาธิการสามัญ

(2) กรรมาธิการเต็มสภา

(3) กรรมาธิการวิสามัญ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 198 – 199, (คําบรรยาย) กรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นกรรมาธิการถาวรประจําสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยบุคคลที่เป็น ส.ส. เท่านั้น ไม่สามารถตั้งบุคคลภายนอก เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการได้ โดยจะต้องตั้งให้มีจํานวนตามหรือใกล้เคียงกับสัดส่วนจํานวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนประธานของแต่ละคณะก็จะมีจํานวนตามสัดส่วนจํานวน ส.ส. ของแต่ละพรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

33 หน่วยการปกครองใด เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค

(1) เทศบาลนครเชียงใหม่

(2) เมืองพัทยา

(3) จังหวัดชลบุรี

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 402 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้ 2 ระดับ คือ จังหวัด และอําเภอ (ดูคําอธิบายข้อ 12. ประกอบ)

34 พรรคการเมืองส่วนใหญ่ของการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาตั้งขึ้นโดย

(1) การสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ

(2) มีอุดมการณ์เป็นหลัก

(3) รวมบุคคลเพื่อหวังชนะเลือกตั้ง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 293, 299, (คําบรรยาย) พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่คัดเลือกและรวบรวมสมาชิกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งโดยเพ่งเล็งโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งมากกว่าเพ่งเล็งอุดมการณ์ โดยนักการเมืองไทยส่วนใหญ่จะไม่ยึดนโยบายพรรคในการหาเสียง มักจะวางตนเป็นอิสระ ไม่รักษาวินัยพรรค และมองการย้ายพรรคเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ซึ่งจะเห็นได้จากการเปลี่ยนพรรคหรือย้ายพรรคมักเป็นไปอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

35 รัฐธรรมนูญฉบับก่อนฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ.

(1) 2549

(2) 2550

(3) 2557

(4) 2558

(5) 2559

ตอบ 3 (ข่าว) รัฐธรรมนูญฉบับก่อนฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557

36 “สมาคมศิษย์เก่า” อาจถือได้ว่าเป็นกลุ่มผลประโยชน์ประเภท

(1) อาสาสมัคร

(2) นายทุน

(3) แรงงาน

(4) ลูกจ้าง

(5) มาตุภูมิ

ตอบ 5 หน้า 314 315, (คําบรรยาย) กลุ่มผลประโยชน์ของไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1 กลุ่มมาตุภูมิ เป็นกลุ่มที่มาจากถิ่นหรือสถาบันเดียวกัน เช่น สมาคมศิษย์เก่า ฯลฯ

2 กลุ่มอาสาสมัคร เป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น เอ็นจีโอ ฯลฯ

3 กลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มที่มีผลกระทบต่อสาธารณะมาก เช่น นายทุน ลูกจ้างแรงงาน ฯลฯ

37 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่เท่าใด

(1) 26

(2) 27

(3) 28

(4) 29

(5) 30

ตอบ 3 (ข่าว) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของไทย ซึ่งถูกรัฐประหารยึดอํานาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29

38 การรับบุคคลเข้ารับราชการในระบบราชการไทย ยึดหลักการในการบริหารบุคคลตามระบบใด

(1) ระบบชั้น-ยศ

(2) ระบบคุณธรรม

(3) ระบบอุปถัมภ์

(4) ระบบธรรมาภิบาล

(5) ระบบจารีตประเพณี

ตอบ 2 หน้า 363, (คําบรรยาย) การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการจะยึดหลักการบริหารงานบุคคลตามระบบคุณธรรม (Merit System) คือ ยึดถือความรู้ความสามารถ โดยกําหนดเงินเดือน ตามความสามารถและความรับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติ การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ หรือการให้ความดีความชอบนั้น ยังมีไม่น้อยที่เป็นไปตามระบบอุปถัมภ์ (Patronage:System) คือ ยังมีการเล่นพรรคเล่นพวกกันอยู่ แต่อาจกล่าวอ้างได้ว่ายึดถือหลักการความไว้วางใจ

39 แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ “ฉบับแรก” ของไทยเกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) นายปรีดี พนมยงค์

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) นายพจน์ สารสิน

(4) นายทวี บุณยเกตุ

(5) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ตอบ 5 (คําบรรยาย) ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรก”เมื่อปี พ.ศ. 2504 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี”

40 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกําหนดให้ใครเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตําแหน่ง

(1) ประธาน

(2) ประธานรัฐสภา

(3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(4) ประธานร่างรัฐธรรมนูญ

(5) ประธานศาลปกครองสูงสุด

ตอบ 2 (ข่าว) รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 11 วรรคสอง กําหนดให้ ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีหรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตําแหน่ง

41 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกําหนดให้ใครเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

(1) ประธานศาลฎีกา

(2) ประธานวุฒิสภา

(3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(4) ประธานศาลปกครองสูงสุด

(5) ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ตอบ 3 (ข่าว) รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 158 กําหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน… ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

42 ข้อใดต่อไปนี้ตรงกับการให้สมญานามของรัฐบาล “ลืมเปลือกหอย”

(1) นายอานันท์ ปันยารชุน

(2) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

(3) นายชวน หลีกภัย

(4) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

(5) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ตอบ 1 (คําบรรยาย) นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในแต่ละยุคมักจะถูกตั้งฉายาตามบุคลิกหรือตามผลงานของผู้นําแต่ละคน เช่น จอมพล “ผ้าขาวม้าแดง” หมายถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “รัฐบาลหอย” หมายถึง รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร, “รัฐบาลลืมเปลือกหอย” หมายถึง รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน, “มีดโกนอาบน้ําผึ้ง” หมายถึง นายชวน หลีกภัย, “รัฐบาลขิงแก่” หมายถึง รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, “ดีแต่พูด” หมายถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ

43 พระมหากษัตริย์พระองค์ใดที่ทรงปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศตะวันตก

(1) รัชกาลที่ 4

(2) รัชกาลที่ 5

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 7

(5) รัชกาลที่ 8

ตอบ 2 หน้า 33, (คําบรรยาย) รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูประบบการปกครองของประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมกับประเทศตะวันตกด้วยการยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่ง คือ สมุหนายก และสมุหกลาโหม รวมทั้งจตุสดมภ์ โดยแบ่งการบริหารราชการออกเป็น 12 กระทรวง เช่น เมืองหรือนครบาล จัดการเกี่ยวกับเรื่องตํารวจและราชทัณฑ์, ยุติธรรม จัดการเรื่องชําระคดีและการศาล, ยุทธนาธิการ จัดการเกี่ยวกับเรื่องการทหาร ฯลฯ

44 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลใดที่ทรงบัญญัติกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ที่ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่วางลําดับสิทธิในการสืบราชสมบัติของกษัตริย์

(1) รัชกาลที่ 4

(2) รัชกาลที่ 5

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 7

(5) รัชกาลที่ 8

ตอบ 3 หน้า 35, 150 – 151 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงบัญญัติกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นใช้ นับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ได้วางลําดับสิทธิในการสืบราชสมบัติของกษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมนั้นมักจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในกรณีที่กษัตริย์ไม่มีโอรสหรือมิได้แสดงพระประสงค์ ว่าจะมอบให้ผู้ใดเป็นรัชทายาท โดยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นส่วนใหญ่วิธีการคัดเลือกเพื่อหา พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะใช้วิธีการแบบ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ การประชุมของบรรดาพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เสนาบดี และพระเถระชั้นราชาคณะ

45 ยุคสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดได้มีการเซ็นสัญญาเบาว์ริง เพื่อการค้าขายกับอังกฤษ

(1) รัชกาลที่ 4

(2) รัชกาลที่ 5

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 7

(5) รัชกาลที่ 8

ตอบ 1 หน้า 36, 38 (S), (คําบรรยาย) สมัยรัตนโกสินทร์ ไทยได้ทําสนธิสัญญากับอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เรียกว่า สนธิสัญญาเบอร์นี้ (Burney Treaty) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้ทําสนธิสัญญากับอังกฤษเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2398เรียกว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty)

46 การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามเกิดขึ้นในรัชกาลใด

(1) รัชกาลที่ 4

(2) รัชกาลที่ 5

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 7

(5) รัชกาลที่ 8

ตอบ 5 หน้า 41, 45 (S) ประวัติศาสตร์การเมืองไทย (สยาม) ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงก่อนการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยมีการปกครองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาโดยตลอด ดังนั้นการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ครั้งสําคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นการล้มเลิกระบอบการปกครองแบบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วเปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

47 การทดลองประชาธิปไตย “ดุสิตธานี” เกิดขึ้นตรงกับสมัยพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด

(1) รัชกาลที่ 4

(2) รัชกาลที่ 5

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 7

(5) รัชกาลที่ 8

ตอบ 3 หน้า 43, 49 – 50 (S) รัชกาลที่ 6 ได้ทรงตั้งเมืองสมมุติ “ดุสิตธานี” ขึ้นในบริเวณวังพญาไทมีจุดประสงค์เพื่อทดลองรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นใช้ในเมืองสมมุตินั้น โดยโปรดให้มี “ธรรมนูญการปกครองแบบนคราภิบาล” ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง กําหนดให้มีพรรคการเมือง 2 พรรค มีการเลือกตั้งนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรี และมีสภาการเมืองแบบประเทศประชาธิปไตย

48 “เค้าโครงเศรษฐกิจ” มีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) นายปรีดี พนมยงค์

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) นายพจน์ สารสิน

(4) นายทวี บุณยเกตุ

(5) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ตอบ 1 หน้า 46, 59 – 60 (S) คณะราษฎรได้มอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)จัดทําเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สมุดปกเหลือง” เพื่อดําเนินการด้านเศรษฐกิจของชาติให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่คณะราษฎรประกาศไว้ในวันยึดอํานาจ

49 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการรวมตัวกันเพื่อต่อต้านทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากกลุ่มใดต่อไปนี้

(1) ประชาชน

(2) ทหารบก

(3) นิสิตนักศึกษา ประชาชน

(4) กลุ่มพันธมิตรฯ (เสื้อเหลือง)

(5) กลุ่มประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (เสื้อแดง)

ตอบ 3 หน้า 70, 72 (S), (คําบรรยาย) นิสิตนักศึกษา ประชาชน คือ กลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสําคัญและเป็นแกนนําในการเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านขับไล่รัฐบาล เผด็จการที่ได้อํานาจมาจากการรัฐประหาร จนก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาคม 2516 เพราะรัฐบาลใช้กําลังทหารปราบปรามประชาชน และจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีที่ถูกเรียกว่าเป็น “ทรราช” ต้องจําใจลาออกและลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศ

50 ประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่ในช่วงการเมืองของรัฐบาลใดต่อไปนี้

(1) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร / พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ / จอมพล ป. พิบูลสงคราม (2) พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ / นายทวี บุณยเกตุ / จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(3) พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ / นายทวี บุณยเกตุ / จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(4) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร / พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ / พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

(5) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ / นายอานันท์ ปันยารชุน / จอมพลถนอม กิตติขจร ตอบ 4 หน้า 97, (คําบรรยาย) ประชาธิปไตยครึ่งใบ (Quasi Democracy) หมายถึง รัฐบาลชุดที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นช่วงที่ใช้รัฐธรรมนูญฯ 2521 ซึ่งให้อํานาจ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งมีส่วนร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งในการกําหนด ผู้ที่จะเป็นรัฐบาล โดยการเมืองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้เกิดขึ้นเพราะการประนีประนอมทางอํานาจระหว่างกลุ่มข้าราชการ (โดยเฉพาะทหาร) กับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

51 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีระบอบการปกครองแบบใด

(1) เผด็จการพลเรือน

(2) เผด็จการทหาร

(3) สมบูรณาญาสิทธิราชย์

(4) สาธารณรัฐ

(5) ราชาธิปไตย

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 46 ประกอบ

52 กบฎ ร.ศ. 130 ตรงกับรัชกาลที่เท่าใดของไทย

(1) รัชกาลที่ 2

(2) รัชกาลที่ 3

(3) รัชกาลที่ 4

(4) รัชกาลที่ 5

(5) รัชกาลที่ 6

ตอบ 5 หน้า 43 พ.ศ. 2454 ได้มีการจับกุมผู้คิดกบฏครั้งสําคัญในสมัยรัชกาลที่ 6 คือ กบฏ ร.ศ. 130 โดยมีกบฏชั้นหัวหน้า ได้แก่ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์), ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง, ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์ และนายทหารหนุ่ม ๆ แห่งกองทัพบก โดยกบฏกลุ่มนี้ได้เตรียมการมาตั้งแต่พ.ศ. 2452 (สมัยรัชกาลที่ 5) แต่ยังไม่ทันลงมือปฏิบัติการก็ถูกจับกุมเสียก่อน

53 หน่วยงานใดไม่ใช่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

(1) กรุงเทพมหานคร

(2) อบต.ลําลูกกา

(3) จังหวัดนนทบุรี

(4) เทศบาลเมืองปทุมธานี

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 12. ประกอบ

54 รัฐประหาร พ.ศ. 2490 เกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) นายพจน์ สารสิน

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

(4) พลโทผิน ชุณหะวัณ

(5) พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

ตอบ 4 หน้า 64, 178, 69 (S), (คําบรรยาย) วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะนายทหารบกที่นําโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลโทผิน ชุณหะวัณ, พันตรีเผ่า ศรียานนท์ ฯลฯ ได้ทําการรัฐประหาร โดยอ้างเหตุผลว่าการดําเนินงานของรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธํารงฯ)และรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯ 2489 แก้ไขภาวะวิกฤติของบ้านเมืองในขณะนั้นไม่ได้

55 การทํารัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี พ.ศ. 2534 เป็นการยึดอํานาจ จากรัฐบาลใด

(1) รัฐบาลชวน หลีกภัย

(2) รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ

(3) รัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ

(4) รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 หน้า 75 รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ถูกกล่าวหาว่ารัฐมนตรีหลายคนปฏิบัติหน้าที่ไม่สุจริตส่อคอร์รัปชั่นจนมีการตั้งสมญานามว่า “บุฟเฟต์คาบิเนต” (Buffet Cabinet) อันเป็น เหตุให้คณะรัฐประหารที่นําโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมทั้ง ผู้บัญชาการทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ในนามของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)นํามาเป็นข้ออ้างเพื่อเข้ายึดอํานาจเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534

56 นายกรัฐมนตรีที่ได้มาภายหลังจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ 2535”

(1) นายอานันท์ ปันยารชุน

(2) นายสัญญา ธรรมศักดิ์

(3) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

(4) นายชวน หลีกภัย

(5) พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

ตอบ 1 หน้า 76, 180, (คําบรรยาย) ในเดือนพฤษภาคม 2535 ประชาชนโดยเฉพาะ “ชนชั้นกลาง”ทางสังคมที่เรียกว่า “ม็อบมือถือ” ได้คัดค้านการเข้ารับอํานาจของพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก่อให้เกิดการประท้วง และรัฐบาลต้องใช้กําลังเข้า ปราบปรามอย่างรุนเเรงจนกลายเป็นวิกฤติการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ทําให้พลเอกสุจินดาต้องลาออกจากตําแหน่ง ต่อมาวันที่ 10 มิ.ย.2535 นายอานันท์ ปันยารชุน ก็เป็นนายกรัฐมนตรี

57 รัฐบาลของไทยที่ได้รับสมญานามว่าว่า “บุฟเฟต์คาบิเนต”

(1) รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

(2) รัฐบาลชวน หลีกภัย

(3) รัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ

(4) รัฐบาลชวลิต ยงใจยุทธ

(5) รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 55 ประกอบ

58 “คณะราษฎร” ประกอบด้วยบุคคลกลุ่มใด

(1) ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน

(2) ทหารอากาศ ทหารบก ทหารเรือ

(3) ตํารวจ ทหาร พลเรือน

(4) ตํารวจ ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน

(5) นิสิตนักศึกษา ประชาชน

ตอบ 1 หน้า 41, 43 – 44, 62, 45 – 46 (S), 55 (S) คณะราษฎร อันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือและพลเรือน ภายใต้การนําของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ร่วมกันลงมือทําการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อยึดอํานาจการปกครองจากรัชกาลที่ 7 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติที่แท้จริงเพียงครั้งเดียวในประเทศไทย (ดูคําอธิบายข้อ 46. ประกอบ)

59 เหตุการณ์ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

(2) พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์

(3) พล.อ.สุจินดา คราประยูร

(4) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 หน้า 77, (คําบรรยาย) รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการยึดอํานาจการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่มีกําลังพลจากทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ และตํารวจ ภายใต้การนําของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปต่างประเทศโดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร (แม่ทัพภาค 1, 3) เป็นกําลังสําคัญ

60 สยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ําโขงในช่วงของการล่าอาณานิคมของประเทศใด

(1) สเปน อังกฤษ

(2) อิตาลี สเปน

(3) ญี่ปุ่น สหรัฐฯ

(4) อังกฤษ ฝรั่งเศส

(5) อังกฤษ โปรตุเกส

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ในช่วงของการล่าอาณานิคมของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสนั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทย (สยาม) จะไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นหรืออาณานิคมของทั้ง 2 ประเทศเหมือนกับ ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ล้อมรอบ แต่สยามก็ต้องยอมเสียดินแดนส่วนหนึ่งบริเวณชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านให้กับเจ้าอาณานิคมทั้ง 2 ประเทศ เพื่อแลกกับการไม่เสียเอกราช

61 ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ไทยมีรัฐธรรมนูญจํานวนทั้งหมดที่ฉบับ

(1) 18 ฉบับ

(2) 19 ฉบับ

(3) 20 ฉบับ

(4) 21 ฉบับ

(5) 22 ฉบับ

ตอบ 3 หน้า 113 – 114, (คําบรรยาย) นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมานั้น ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งหมดจํานวน 20 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญฯ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20

62 ประมุขของประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของไทย คือตําแหน่งใด

(1) พระมหากษัตริย์

(2) ประธานาธิบดี

(3) นายกรัฐมนตรี

(4) ประธานศาลฎีกา

(5) ประธานศาลปกครองสูงสุด

ตอบ 1 หน้า 147, 189, (คําบรรยาย) พระมหากษัตริย์ไทยทรงอยู่ในฐานะองค์ประมุขของประเทศโดยรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 2 กําหนดให้ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หมายถึง ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แบบรัฐสภา ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา ถือได้ว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครอง ในระบบรัฐสภาติดต่อกันมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าประชาธิปไตยของไทยจะขาดช่วงขาดตอนไปบ้าง จากการถูกทหารก่อรัฐประหารยึดอํานาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่พอได้ประชาธิปไตยกลับคืนมาก็ยังเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอยู่เหมือนเดิม

63 ระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูกเกิดขึ้นในสมัยใด

(1) สมัยพระเจ้าตากสิน

(2) สมัยสุโขทัย

(3) สมัยกรุงธนบุรี

(4) สมัยกรุงศรีอยุธยา

(5) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ตอบ 2 หน้า 25 สุโขทัยมีรูปการปกครองแบบราชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) อํานาจอธิปไตยหรืออํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ที่กษัตริย์หรือพ่อขุน แต่เพียงพระองค์เดียว แต่กษัตริย์สุโขทัยปกครองประชาชนในลักษณะบิดาปกครองบุตรหรือพ่อปกครองลูก (Paternalism) คือถือตนเป็นพ่อของราษฎร

64 การปกครองแบบระบบจตุสดมภ์เริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด

(1) สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

(2) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

(3) สมเด็จพระไชยราชาธิราช

(4) สมเด็จพระเอกาทศรถ

(5) สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตอบ 1 หน้า 28 – 29 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) กษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้ทรงวางระบบการปกครองส่วนกลางเป็นแบบ “จตุสดมภ์” ขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบ ของขอม โดยมีกษัตริย์เป็นผู้อํานวยการปกครองสูงสุด และมีเสนาบดี 4 คน คือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา เป็นผู้ช่วยดําเนินการเกี่ยวกับกิจการทั้ง 4 คือ เมือง วัง คลัง และนา

65 “ระบบกินเมือง” ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่เท่าใด

(1) รัชกาลที่ 3

(2) รัชกาลที่ 4

(3) รัชกาลที่ 5

(4) รัชกาลที่ 6

(5) รัชกาลที่ 7

ตอบ 3 หน้า 34, (คําบรรยาย) รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค/การปกครองหัวเมืองด้วยการออก พ.ร.บ. ปกครองท้องที่ ร.ศ.116 (พ.ศ. 2440) ซึ่งเป็นผลทําให้มีการจัดตั้งมณฑล เมือง (จังหวัด) อําเภอ และหมู่บ้าน จึงทําให้ “การปกครองระบบกินเมือง” ที่มีเจ้าเมืองเป็น ผู้ปกครองถูกยกเลิก และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ระบบว่าราชการเมือง” โดยการแต่งตั้งข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ มาเป็นผู้ปกครอง

66 ระบบ “พ่อขุนอุปถัมภ์” เกี่ยวข้องกับลักษณะการปกครองของบุคคลใดต่อไปนี้

(1) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

(2) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(3) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(4) จอมพลถนอม กิตติขจร

(5) จอมพลประภาส จารุเสถียร

ตอบ 3 หน้า 69, 92, (คําบรรยาย) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่วมกันกับจอมพลถนอม กิตติขจรทําการรัฐประหารในนาม “คณะปฏิวัติ” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 แล้วล้มรัฐธรรมนูญ ล้มสภาผู้แทนราษฎร ใช้การปกครองแบบให้ความเป็นเอกแก่ฝ่ายบริหาร ด้วยการประกาศใช้ ธรรมนูญฯ 2502 ซึ่งถือเป็นรูปการปกครองแบบ “เผด็จการ” ที่มีลักษณะการใช้อํานาจแบบ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างพ่อขุนอุปถัมภ์ นั่นคือ นายกรัฐมนตรี (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) มีอํานาจอย่างไม่จํากัดทั้งทางด้านการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

67 นายกรัฐมนตรีของไทยคนใดที่ปกครองประเทศติดต่อกันยาวนานที่สุด

(1) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(2) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

(3) พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

(4) นายชวน หลีกภัย

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 หน้า 177 – 181 นายกรัฐมนตรีของไทยที่ปกครองประเทศติดต่อกันยาวนานที่สุด คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี 2 ช่วง โดยในช่วงที่ 2 ปกครองประเทศ ติดต่อกันยาวนานที่สุดถึง 9 ปี 5 เดือน (8 เม.ย. 2491 – 16 ก.ย. 2500) และในช่วงแรก 5 ปี 7 เดือน (16 ธ.ค. 2481 – 24 ก.ค. 2487) รวม 15 ปี ส่วนอันดับ 2 คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปกครองประเทศติดต่อกัน 8 ปี 1 เดือน (3 มี.ค. 2523 – 29 เม.ย. 2531)

68 การบริหารประเทศของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกมองว่าเป็นการใช้นโยบายแบบใด

(1) นวัตวิถี

(2) นวัตกรรม

(3) ประชาวิถี

(4) ประชารัฐ

(5) ประชานิยม

ตอบ 5 (คําบรรยาย) การบริหารประเทศของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544 – 2549) ถูกมองว่าเป็นการใช้นโยบาย “ประชานิยม” ทําให้ได้รับความนิยมจากประชาชนจนสามารถ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียวในปี พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรคที่ถือว่าประสบผลสําเร็จมากที่สุด

69 “การปกครองแบบหัวเมือง” มีการเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าอย่างไร

(1) การปกครองส่วนกลาง

(2) การปกครองส่วนภูมิภาค

(3) การปกครองส่วนท้องถิ่น

(4) การปกครองแบบศูนย์กลาง

(5) การปกครองแบบถึงระบบรัฐสภา

ตอบ 2 หน้า 26 การปกครองแบบหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยนั้น ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการจะอยู่ที่เมืองหลวง และแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 หัวเมืองชั้นใน

2 หัวเมืองชั้นนอก

3 หัวเมืองประเทศราช

70 เมืองทดลองประชาธิปไตยหมายถึงแนวคิดของรัชกาลที่เท่าใด

(1) รัชกาลที่ 3

(2) รัชกาลที่ 4

(3) รัชกาลที่ 5

(4) รัชกาลที่ 6

(5) รัชกาลที่ 7

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 47 ประกอบ

71 ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 บุคคลใดต่อไปนี้ถูกเรียกว่าเป็น “ทรราช”

(1) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(2) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(3) จอมพลถนอม กิตติขจร

(4) จอมพลผิน ชุณหะวัณ

(5) จอมพลประภาส จารุเสถียร

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

72 รัฐธรรมนูญ คืออะไร

(1) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน

(2) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยกฎมณเฑียรบาล

(3) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสิทธิของพระมหากษัตริย์

(4) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(5) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับทหาร

ตอบ 1 หน้า 81 รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกําหนดรูปแบบ กฏเกณฑ์ และหลักการในการปกครองประเทศ ขอบเขตของรัฐ การใช้อํานาจของผู้ปกครองหรือสถาบันการเมืองต่าง ๆ การสืบต่ออํานาจ ตลอดจนขอบเขตหน้าที่และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

73 “คณะกรรมการราษฎร” หมายถึง

(1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) สมาชิกวุฒิสภา

(3) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(4) คณะองคมนตรี

(5) คณะรัฐมนตรี

ตอบ 5 หน้า 83 – 85, 159 160 ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 ได้เรียกตําแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารว่า“ประธานคณะกรรมการราษฎร” และเรียกคณะบริหารว่า “คณะกรรมการราษฎร” แต่ต่อมา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญฯ 2475 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเรียกตําแหน่งดังกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรี” และ “คณะรัฐมนตรี” ตามลําดับ

74 รัฐบาลตามรัฐธรรมนูญมีกี่รูปแบบ

(1) 1 รูปแบบ

(2) 2 รูปแบบ

(3) 3 รูปแบบ

(4) 4 รูปแบบ

(5) 5 รูปแบบ

ตอบ 4 หน้า 104 – 106 รูปแบบรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ แบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ คือ

1 แบบสภาอย่างสมบูรณ์

2 แบบรัฐสภา

3 แบบฝ่ายบริหาร

4 แบบกึ่งรัฐสภา

75 บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยใดที่ทรงเป็นเสมือน “เจ้าชีวิต” ของราษฎรอย่างชัดเจน

(1) สมัยอยุธยา

(2) สมัยธนบุรี

(3) สมัยรัตนโกสินทร์

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 29, 147, (คําบรรยาย) การเปลี่ยนแปลงบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยจากการเป็น“พ่อขุน” มาอยู่ในฐานะเป็น “เจ้าชีวิต” ของราษฎรนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นกษัตริย์ตามแบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) ที่ทรงมีพระราชอํานาจเด็ดขาดสูงสุดล้นพ้น สามารถที่จะกําหนดชะตาชีวิตของผู้อยู่ใต้ปกครองได้ (ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถึงปัจจุบัน บทบาทของพระมหากษัตริย์ก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นกษัตริย์ที่มีอํานาจจํากัด (Limited Monarchy) ที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศมากกว่าที่จะมีอํานาจในด้านการบริหารโดยตรง)

76 จํานวนผู้แทนราษฎรชั่วคราวในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1

(1) จํานวน 60 นาย

(2) จํานวน 70 นาย

(3) จํานวน 80 นาย

(4) จํานวน 90 นาย

(5) จํานวน 100 นาย

ตอบ 2 หน้า 83 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังนั้นจึงเกิดขึ้นหลังจากเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เพียง 3 วันเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กําหนดให้รัฐสภามีสภาเดียว เรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่มาจากการแต่งตั้งจํานวน 70 นาย

77 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ของไทยประกาศใช้เมื่อ

(1) 24 มิถุนายน 2475

(2) 27 มิถุนายน 2475

(3) 3 ตุลาคม 2475

(4) 8 พฤศจิกายน 2475

(5) 10 ธันวาคม 2475

ตอบ 5 หน้า 84 – 85 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (รัฐธรรมนูญฯ 2475) เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2482 ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ประเทศไทย”

78 การแก้ไขนามประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ประเทศไทย” เกิดขึ้นเมื่อ

(1) พ.ศ. 2475

(2) พ.ศ. 2478

(3) พ.ศ. 2482

(4) พ.ศ. 2489

(5) พ.ศ. 2490

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 77 ประกอบ

79 ระบบสภาคู่ เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อ

(1) พ.ศ. 2475

(2) พ.ศ. 2478

(3) พ.ศ. 2482

(4) พ.ศ. 2489

(5) พ.ศ. 2490

ตอบ 4 หน้า 86 – 87 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 พ.ศ. 2489 มีลักษณะสําคัญคือ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีบทบัญญัติแยกข้าราชการประจําออกจากข้าราชการการเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ “รัฐสภา” จากสภาเดียว (ตามรัฐธรรมนูญฯ 2475) ไปเป็นสภาคู่ (2 สภา) ได้แก่

1 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยตรง

2 พฤฒิสภา (วุฒิสภา) ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยอ้อม

80 อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ คือ

(1) คณะบุคคลที่มีภารกิจคอยบริหารประเทศ

(2) คณะบุคคลที่มีภารกิจคอยถวายรายงานแก่กษัตริย์

(3) คณะบุคคลที่มีภารกิจคอยถวายคําปรึกษาแก่กษัตริย์

(4) คณะบุคคลที่มีภารกิจเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ไว้ให้กษัตริย์

(5) คณะบุคคลที่มีภารกิจพิจารณาเพื่อให้ได้มาซึ่งกษัตริย์องค์ใหม่

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 44 ประกอบ

81 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยประกาศใช้เมื่อ

(1) 24 มิถุนายน 2475

(2) 25 มิถุนายน 2475

(3) 26 มิถุนายน 2475

(4) 27 มิถุนายน 2475

(5) 28 มิถุนายน 2475

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 76 ประกอบ

82 รัฐธรรมนูญฉบับใดต่อไปนี้ที่มีมาตราพิเศษบางมาตราเป็นฉบับแรกของประเทศไทย

(1) ฉบับที่ 3 ปี 2489

(2) ฉบับที่ 4 ปี 2490

(3) ฉบับที่ 5 ปี 2492

(4) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(5) ฉบับที่ 8 ปี 2511

ตอบ 4 หน้า 92 – 96, 71 (S), (คําบรรยาย) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 (ธรรมนูญการปกครองฯ 2502)ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการมากที่สุดของไทย เพราะมีการให้อํานาจอย่างกว้างขวางมาก แก่ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ที่นอกจากจะมีอํานาจบริหารแล้วยังสามารถใช้อํานาจนิติบัญญัติ และอํานาจตุลาการในบางกรณีได้ โดยระบุไว้ในมาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจสั่งการ หรือกระทําการใด ๆ ได้ ดังนั้นจึงถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญแบบ เผด็จการ (รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาที่มีมาตราพิเศษเช่นเดียวกัน คือ มาตรา 17 ในรัฐธรรมนูญฯ 2515, มาตรา 21 ในรัฐธรรมนูญฯ 2519, มาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญฯ 2520, มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 และมาตรา 265 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฯ 2560)

83 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่กําหนดว่าทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

(1) ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2489

(2) ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2492

(3) ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2517

(4) ฉบับที่ 16 พ.ศ. 2540

(5) ฉบับที่ 20 พ.ศ. 2560

ตอบ 4 หน้า 100 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็นมากที่สุด จนได้รับสมญาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 และถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กําหนดให้ รัฐสภาเป็นสภาคู่ ประกอบด้วย

1 สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จํานวน 500 คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

2 วุฒิสภา สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จํานวน 200 คน

84 พระราชอํานาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติของพระมหากษัตริย์ คือ

(1) ครั้งแรก 70 วัน และครั้งที่สอง 30 วัน

(2) ครั้งแรก 80 วัน และครั้งที่สอง 30 วัน

(3) ครั้งแรก 90 วัน และครั้งที่สอง 30 วัน

(4) ครั้งแรก 100 วัน และครั้งที่สอง 30 วัน

(5) ครั้งแรก 110 วัน และครั้งที่สอง 30 วัน

ตอบ 3 หน้า 152 – 153 พระราชอํานาจในการยับยั้งร่าง พ.ร.บ. พระมหากษัตริย์ทรงกระทําได้ 2 วิธี คือ

1 พระราชทานคืนมาให้สภาพิจารณาใหม่ภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ ปกติรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่กําหนดไว้ 90 วัน (ครั้งแรก) ถ้าสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด ให้นายกฯ นําร่าง พ.ร.บ.นั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง เมื่อพระองค์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน (ครั้งที่ 2) ให้นายกฯ นํา พ.ร.บ.นั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระองค์ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 146)

2 เก็บไว้เฉย ๆ จนครบกําหนดซึ่งเท่ากับว่าทรงไม่เห็นชอบด้วย

85 ตําแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” สถาปนาขึ้นในสมัยใด

(1) รัชกาลที่ 4

(2) รัชกาลที่ 5

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 7

(6) รัชกาลที่ 8

ตอบ 2 หน้า 151 ในปี พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาตําแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นตําแหน่งรัชทายาทที่จะได้ทรงสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

86 “สิทธิ” และ “พระราชอํานาจ” ของพระมหากษัตริย์แตกต่างกันตรงข้อใด

(1) สิทธิกําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่พระราชอํานาจไม่ได้กําหนดไว้

(2) พระราชอํานาจกําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่สิทธิไม่ได้กําหนดไว้

(3) ทั้งสิทธิและพระราชอํานาจต่างถูกกําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

(4) ทั้งสิทธิและพระราชอํานาจต่างไม่ได้ถูกกําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

(5) ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ

ตอบ 2 หน้า 152 – 153 แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้กําหนดสิทธิของพระมหากษัตริย์ไว้ แต่ก็ยอมรับและยึดถือกันว่าพระมหากษัตริย์มีสิทธิบางประการที่จะทรงกระทําได้ ส่วนพระราชอํานาจนั้นพระมหากษัตริย์จะทรงมีพระราชอํานาจบางประการที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ

87 นายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาแบบอังกฤษที่ประเทศไทยใช้อยู่นั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ระบุไว้ว่า

(1) ต้องเป็นผู้ที่ทําการยึดอํานาจมา

(2) ต้องเป็นผู้ที่เคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก

(3) ต้องเป็นผู้ที่สมาชิกรัฐสภาเสนอชื่อ

(4) ต้องเป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในรัฐสภา

(5) ต้องเป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างน้อยในรัฐสภา

ตอบ 3 (ข่าว) รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 159 กําหนดให้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะ จากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของ จํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร และในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 กําหนดให้ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรก ตามรัฐธรรมนูญนี้ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใด ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของทั้ง 2 สภา (ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง 500 คน + ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. 250 คน = 750 คน (ดูรายละเอียดในมาตรา 269) ดังนั้นกึ่งหนึ่งจึง = 375 คน)

88 จํานวนของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560)

(1) 10 – 18 คน

(2) 18 – 24 คน

(3) 25 – 30 คน

(4) 1 + 35 คน

(5) นายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุจํานวนไว้

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 41 ประกอบ

89 การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องทําเป็น

(1) พระราชกฤษฎีกา

(2) พระราชบัญญัติ

(3) พระราชกําหนด

(4) พระราชโองการ

(5) ประกาศคณะปฏิวัติ

ตอบ 4 หน้า 163 ตามปกติแล้ว การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องทําเป็นพระราชโองการฯ (ดูคําอธิบายข้อ 41 ประกอบ)

90 พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์

(1) สังคมสงเคราะห์

(2) การปกครอง

(3) บริหารประเทศ

(4) ข้อ 1 และ 2 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 4 หน้า 154 พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ อาจจําแนกออกได้เป็น 3 ด้าน คือ

1 พิธีการ โดยทรงเป็นองค์ประธานในพิธีการสําคัญต่าง ๆ ของชาติ เช่น งานรัฐพิธี เป็นผู้แทนทางการทูตในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศและต้อนรับแขกเมือง ฯลฯ

2 สังคมสงเคราะห์ โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือกิจการสาธารณกุศล

3 การปกครอง โดยการเสด็จออกเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเพื่อให้มีขวัญและกําลังใจดี

91 อํานาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

(1) วางนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน

(2) เสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภา

(3) รับผิดชอบต่อการอันเชิญพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์

(4) ข้อ 1 และ 2 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 1 หน้า 159 “รัฐบาล” (คณะรัฐมนตรี) เป็นองค์กรที่ถูกกําหนดให้เป็นผู้ใช้อํานาจบริหารหรือเป็นองค์กรที่ทําหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในนามประชาชน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร (ดูคําอธิบายข้อ 41 ประกอบ)

92 สาเหตุใหญ่ของการแทรกแซงทางการเมืองของทหารในประเทศไทย

(1) รัฐบาลพลเรือนและพรรคการเมืองไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน

(2) สถานการณ์เอื้ออํานวย เช่น เกิดความสับสนวุ่นวาย

(3) มีกลุ่มพลังอื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพมาถ่วงดุลทางการเมืองได้

(4) ข้อ 1 และ 2 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 4 หน้า 172 173 สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมืองของทหารในประเทศไทย มีดังนี้

1 รัฐบาลประชาธิปไตยหรือรัฐบาลพลเรือนและพรรคการเมืองไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน

2 สถานการณ์เอื้ออํานวย เช่น เกิดความสับสนวุ่นวาย มีการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง ฯลฯ

3 ขาดกลุ่มพลังที่มีประสิทธิภาพเพื่อมาถ่วงดุลทางการเมืองหรือคานอํานาจกับทหารได้

4 ทหารเป็นกลุ่มพลังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถใช้กําลังเข้ายึดอํานาจรัฐได้ ฯลฯ

93 องค์กรใดถือเป็นองค์กรสูงสุดในการแสดงเจตจํานงของคนในชาติ

(1) พระมหากษัตริย์

(2) รัฐสภา

(3) ศาล

(4) คณะรัฐมนตรี

(5) ศาลรัฐธรรมนูญ

ตอบ 2 หน้า 189 รัฐสภาถือเป็นองค์กรที่แสดงเจตจํานงสูงสุดของประชาชนคนในชาติ โดยทําหน้าที่พิจารณาบัญญัติหรือออกกฎหมายเพื่อใช้ในการปกครองหรือบริหารประเทศ และควบคุม การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารด้วยการเปิดอภิปรายซักฟอกนโยบายของรัฐบาล หรือตั้งกระทู้ถามเพื่อให้รัฐบาลชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นต่าง ๆ

94 การประชุมของสภามีกี่รูปแบบ

(1) 1 รูปแบบ คือ การประชุมสามัญ

(2) 1 รูปแบบ คือ การประชุมวิสามัญ

(3) 2 รูปแบบ คือ การประชุมสามัญและการประชุมวิสามัญ

(4) 2 รูปแบบ คือ การประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.)

(5) จะขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญที่จะกําหนดไว้ในแต่ละฉบับ

ตอบ 3 หน้า 202, (คําบรรยาย) การประชุมของสภา มี 2 รูปแบบ คือ

1 การประชุมสามัญเป็นการประชุมตามสมัยประชุม

2 การประชุมวิสามัญ เป็นการประชุมนอกสมัยประชุม (ดูรายละเอียดในรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 121 – 123)

95 รัฐสภา (Parliament) มีกี่รูปแบบ

(1) 1 รูปแบบ

(2) 2 รูปแบบ

(3) 3 รูปแบบ

(4) 4 รูปแบบ

(5) 5 รูปแบบ

ตอบ 5 หน้า 190 – 191 รัฐสภา (Parliament) ของไทยเท่าที่เคยจัดตั้งขึ้นมา มี 5 รูปแบบ ดังนี้

1 สภาเดียวมีสมาชิกแต่งตั้งทั้งหมด (มาจากการรัฐประหาร) ได้แก่ ธรรมนูญฯ 2475, 2502,2515, 2520, 2531, รัฐธรรมนูญฯ 2519, รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2549 และ 2557

2 สภาเดียวมีสมาชิก 2 ประเภททั้งแต่งตั้งและเลือกตั้ง ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ 2475 และ 2495

3 สภาคู่โดยสภาหนึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและอีกสภาหนึ่งมีสมาชิกมาจากการแต่งตั้งได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ 2489, 2490, 2492, 2511, 2517, 2521, 2534 และ 2560

4 สภาคู่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ 2540

5 สภาคู่โดยสภาหนึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและอีกสภาหนึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ 2550

96 รัฐธรรมนูญฉบับที่เท่าใดที่มีลักษณะเป็นสภาเดียวมีสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

(1) ฉบับที่ 1 ปี 2475

(2) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(3) ฉบับที่ 20 ปี 2560

(4) ข้อ 1 และ 2 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 95 ประกอบ

97 จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ปี 2560

(1) 360 และ 270

(2) 480 และ 150

(3) 500 และ 200

(4) 500 และ 250

(5) 500 และ 300

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 29 ประกอบ

98 ผู้ที่ทําหน้าที่ควบคุมการประชุมร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. คือ

(1) นายกรัฐมนตรี

(2) ประธานวุฒิสภา

(3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(4) ประธานรัฐสภา

(5) ประธานองคมนตรี

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ผู้ที่ทําหน้าที่ควบคุมการประชุมร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. คือ ประธานรัฐสภา (ผู้ที่ทําหน้าที่ควบคุมการประชุมของ ส.ส. คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้ที่ทําหน้าที่ควบคุมการประชุมของ ส.ว. คือ ประธานวุฒิสภา)

99 กระทรวงยุติธรรม ได้มีการจัดตั้งขึ้นในสมัยใด

(1) รัชกาลที่ 5

(2) รัชกาลที่ 6

(3) รัชกาลที่ 7

(4) รัชกาลที่ 8

(5) รัชกาลที่ 9

ตอบ 1 หน้า 33, 255 กระทรวงยุติธรรมได้มีการจัดตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยทรงปฏิรูประบบการปกครอง ในปี พ.ศ. 2434 (ดูคําอธิบายข้อ 43 ประกอบ)

100 กระบวนการพิจารณากฎหมายในรัฐสภามีกี่วาระ

(1) 1 วาระ

(2) 2 วาระ

(3) 3 วาระ

(4) 4 วาระ

(5) 5 วาระ

ตอบ 3 หน้า 235 236 กระบวนการพิจารณากฎหมายในรัฐสภา (ทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา)

ประกอบด้วยขั้นตอน 3 วาระด้วยกัน คือ วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ, วาระที่ 2 ขั้นกรรมาธิการ วาระที่ 3 ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ

PCL1101 การเมืองและการปกครองไทย S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา PCL 1101 การเมืองและการปกครองไทย

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 การปกครองในสมัยอยุธยามีการปกครองในลักษณะเดียวกับในสมัยสุโขทัย ยกเว้นเรื่องใด

(1) ระบบขุนนาง เจ้าขุนมูลนาย

(2) การค้าระหว่างประเทศ

(3) การกระจายอํานาจ

(4) การสืบทอดราชสมบัติ

(5) การปกครองแบบพ่อปกครองลูก

ตอบ 5 หน้า 25, 28 – 29 ระบบการปกครองในสมัยอยุธยามีลักษณะเช่นเดียวกับในสมัยสุโขทัยคือ เป็นระบบราชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อํานาจอธิปไตยอยู่ที่กษัตริย์เพียง พระองค์เดียว แต่ที่ต่างกันคือ กษัตริย์สุโขทัยปกครองประชาชนในลักษณะพ่อปกครองลูกส่วนกษัตริย์อยุธยามีลักษณะการปกครองแบบนายปกครองบ่าวหรือเจ้าปกครองข้า

2 สมัยสุโขทัยมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือ ทางด้านการค้านอกจากนั้นยังมีการค้าขาย ติดต่อกับ “ต่างประเทศ ประเทศใด

(1) มลายู

(2) อินเดีย

(3) ศรีลังกา

(4) เปอร์เซีย

(5) อิสราเอล

ตอบ 1 หน้า 28 ในสมัยสุโขทัยนอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือแล้วก็ยังมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน มลายู ลังกา และมอญ โดยมีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษี “จกอบ” หรือภาษีศุลกากร เพื่อต้องการให้พ่อค้ามีความสนใจในการทําการค้า

3 “การปกครองแบบหัวเมือง” ในสมัยสุโขทัย มีความหมายตรงกับชื่อใด

(1) การปกครองส่วนกลาง

(2) การปกครองส่วนภูมิภาค

(3) การปกครองส่วนท้องถิ่น

(4) การปกครองแบบอิสระ

(5) การปกครองแบบกระจายอํานาจ

ตอบ 2 หน้า 26 การปกครองแบบหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยนั้น ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการจะอยู่ที่เมืองหลวง และแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 หัวเมืองชั้นใน 2 หัวเมืองชั้นนอก 3 หัวเมืองประเทศราช

 

4 “ราชวงศ์อู่ทอง” มีความสําคัญในฐานะผู้ปกครองของไทยในสมัยใด

(1) อาณาจักรทราวดี

(2) อาณาจักรสุโขทัย

(3) อาณาจักรศรีอยุธยา

(4) อาณาจักรธนบุรี

(5) อาณาจักรรัตนโกสินทร์

ตอบ 3 (คําบรรยาย) อาณาจักรศรีอยุธยามราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปกครอง 5 ราชวงศ์ ดังนี้คือ

1 ราชวงศ์อู่ทอง

2 ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

3 ราชวงศ์สุโขทัย

4 ราชวงศ์ปราสาททอง

5 ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

5 การปกครองหัวเมืองในสมัยสุโขทัย  ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการอยู่ที่ใด

(1) เมืองเอก

(2) เมืองหลวง

(3) เมืองชั้นใน

(4) เมืองชั้นนอก

(5) เมืองประเทศราช

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 3 ประกอบ

6 การถวายฎีกาหรือร้องทุกข์ของราษฎรโดยตรงกับพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ ของไทยในสมัยใด

(1) สมัยก่อนสุโขทัย

(2) สมัยสุโขทัย

(3) สมัยกรุงศรีอยุธยา

(4) สมัยกรุงธนบุรี

(5) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ตอบ 2 หน้า 27 ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกาหรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพระมหากษัตริย์หรือพ่อขุน โดยในสมัยพ่อขุนรามคําแหงได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการถวายฎีกา ก็ไปสั่นกระดิ่ง แล้วพระองค์ก็จะออกมาไต่สวนและชําระความให้ ซึ่งโทษสําหรับผู้กระทําผิดในสมัยสุโขทัย ได้แก่ การเฆี่ยนตี กักขัง และปรับ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีโทษประหารชีวิต

7 พระมหากษัตริย์ที่ทรงกอบกู้เอกราชในสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้กับพม่าครั้งที่ 1 ตรงกับพระมหากษัตริย์ พระองค์ใด

(1) พระมหินทราธิราช

(2) พระนารายณ์มหาราช

(3) พระนเรศวรมหาราช

(4) พระมหาธรรมราชา

(5) พระเจ้าตากสิน

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไทยเสียกรุงให้กับพม่า 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112ในสมัยพระมหินทราธิราช โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปี พ.ศ. 2127 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปีเดียวกัน

8 การยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม ตรงกับสมัยรัชกาลที่เท่าใด

(1) รัชกาลที่ 1

(2) รัชกาลที่ 5

(3) รัชกาลที่ 7

(4) รัชกาลที่ 9

(5) สมัยกรุงธนบุรี

ตอบ 2 หน้า 32 33 ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยยังคงใช้รูปการปกครองแบบกรุงศรีอยุธยาอยู่เพิ่งจะมีการปฏิรูประบบราชการในทุก ๆ ด้านเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้ทรงยกเลิก จตุสดมภ์และตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม โดยแบ่งการ บริหารราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบอารยประเทศ และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละ กระทรวง ซึ่งเสนาบดีทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกันและประชุมร่วมกันเป็น “เสนาบดีสภา” กระทรวงที่ตั้งขึ้นมีทั้งหมด 12 กระทรวง เช่น เมืองหรือนครบาล จัดการเกี่ยวกับเรื่องตํารวจและราชทัณฑ์, ยุติธรรม จัดการเรื่องชําระคดีและการศาล ฯลฯ

9 “ดุสิตธานี” ถูกกําหนดให้มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ด้วยจุดประสงค์ใด

(1) ศูนย์กลางของอํานาจ

(2) เมืองท่องเที่ยว

(3) ตํานานแห่งราชวงศ์

(4) ทดลองประชาธิปไตย

(5) ต้นแบบของโรงแรมไทยในปัจจุบัน

ตอบ 4 หน้า 43, 49 – 50 (S) รัชกาลที่ 6 ได้ทรงตั้งเมืองสมมุติ “ดุสิตธานี” ขึ้นในบริเวณวังพญาไทมีจุดประสงค์เพื่อทดลองรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นใช้ในเมืองสมมุตินั้น โดยโปรดให้มี “ธรรมนูญการปกครองแบบนคราภิบาล” ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง กําหนดให้มีพรรคการเมือง 2 พรรค มีการเลือกตั้งนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรี และมีสภาการเมืองแบบประเทศประชาธิปไตย

10 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน ได้แก่

(1) นายอําพล กิตติอําพล

(2) นายวิษณุ เครืองาม

(3) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

(4) นายพีรศักดิ์ พอจิต

(5) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

ตอบ 3 (ข่าว) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และนายพีรศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และ 2

11 “คณะราษฎร” เป็นคณะที่มีความสําคัญของไทยเนื่องจาก

(1) เป็นคณะกู้ชาติภายหลังการรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2549

(2) คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย พ.ศ. 2475

(3) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) พ.ศ. 2534

(4) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

(5) คณะรัฐประหาร พ.ศ. 2553

ตอบ 2 หน้า 43 – 44 วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มทหารและพลเรือนซึ่งเรียกชื่อกลุ่มว่า“คณะราษฎร” (คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ภายใต้การนําของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ก่อการปฏิวัติยึดอํานาจการปกครองจากรัชกาลที่ 7 แล้วทําการเปลี่ยนแปลง การปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

12 “กบฏเลี้ยวเมืองแพร่” เป็นกบฏที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่เท่าใดของไทย

(1) รัชกาลที่ 1

(2) รัชกาลที่ 2

(3) รัชกาลที่ 3

(4) รัชกาลที่ 4

(5) รัชกาลที่ 5

ตอบ 5 (คําบรรยาย) กบฏที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453) ได้แก่

1 กบฎ ร.ศ. 102 (พ.ศ. 2426)

2 กบฎผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญ (ทางภาคอีสาน) พ.ศ. 2444

3 กบฏเงี่ยวเมืองแพร่ (ทางภาคเหนือ) พ.ศ. 2445

4 กบฏแขก (ทางภาคใต้) พ.ศ. 2445

13 เสนาบดีกระทรวงทุกกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานะเท่าเทียมกัน และเมื่อมีการประชุมร่วมกันเรียกว่า

(1) เสนาบดีกระทรวง

(2) เสนาบดีทบวง

(3) เสนาบดีสภา

(4) เสนาบดีรัฐสภา

(5) เสนาบดีกระทรวงรัฐสภา

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 8 ประกอบ

14 วันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีความสําคัญต่อประเทศไทยอย่างไร

(1) วันประกาศเลิกทาส

(2) วันที่ประเทศไทยได้เอกราช

(3) วันประกาศยกเลิกระบบเทศาภิบาล

(4) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

(5) วันที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรก

ตอบ 4 หน้า 83 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังนั้นจึงเกิดขึ้นหลังจากเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เพียง 3 วันเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กําหนดให้รัฐสภามีสภาเดียวเรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่มาจากการแต่งตั้งจํานวน 70 คน

15 การให้สมญานามว่า “รัฐบาลหอย” ควรตรงกับนายกรัฐมนตรีท่านใด

(1) นายควง อภัยวงศ์

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) นายบรรหาร ศิลปอาชา

(4) นายทวี บุณยเกตุ

(5) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

ตอบ 5 (คําบรรยาย) นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในแต่ละยุคมักจะถูกตั้งฉายาตามบุคลิกหรือตามผลงานของผู้นําแต่ละคน เช่น จอมพล “ผ้าขาวม้าแดง” หมายถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “รัฐบาลหอย” หมายถึง รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร, “รัฐบาลลืมเปลือกหอย” หมายถึง รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน, “มีดโกนอาบน้ําผึ้ง” หมายถึง นายชวน หลีกภัย, “รัฐบาลขิงแก่” หมายถึง รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, “ดีแต่พูด” หมายถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ

16 คําใดในภาษาอังกฤษต่อไปนี้ที่ตรงกับความหมายของ “การปฏิรูป”

(1) Reform

(2) Revolution

(3) Reconstruction

(4) Retire

(5) Rebellion

ตอบ 1 หน้า 12 (S), (คําบรรยาย) Reform หมายถึง การปฏิรูป (การเปลี่ยนแปลงหรือการปรับปรุงแก้ไขอย่างค่อยเป็นค่อยไป) เช่น การปฏิรูปการเมือง (Political Reform), การปฏิรูปสังคม(Social Reform), การปฏิรูปที่ดิน (Land Reform) เป็นต้น

17 บุคคลใดต่อไปนี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเค้าโครงเศรษฐกิจ “สมุดปกเหลือง”

(1) นายปรีดี พนมยงค์

(2) ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

(3) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(4) จอมพลถนอม กิตติขจร

(5) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

ตอบ 1 หน้า 46, 59 – 60 (S) คณะราษฎรได้มอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)จัดทําเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สมุดปกเหลือง” เพื่อดําเนินการด้านเศรษฐกิจของชาติให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่คณะราษฎรประกาศไว้ในวันยึดอํานาจ

18 สมาคมคณะราษฎร มีหลักการหรือแนวทางเพื่อจุดมุ่งหมายใด

(1) พรรคการเมือง

(2) กลุ่มผลประโยชน์

(3) องค์กรประชาชน

(4) ต่อต้านมวลชน

(5) รวบรวมความต้องการของสื่อมวลชน

ตอบ 1 หน้า 288 พรรคการเมืองไทยพรรคแรกทางพฤตินัย คือ “สมาคมคณะราษฎร” ที่จัดตั้งขึ้นโดย“คณะราษฎร” คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะไม่ระบุว่าเป็นพรรคการเมือง แต่ก็มี เจตจํานง/มีหลักการหรือแนวทางเช่นเดียวกับพรรคการเมืองโดยทั่วไป คือ ประสงค์จะเข้ารับผิดชอบ ในการบริหารประเทศ ดังนั้นคณะราษฎรจึงมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองไทยพรรคแรกตามนิตินัย คือ “พรรคก้าวหน้า” ซึ่งริเริ่มจัดตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

19 พรรคการเมืองมีส่วนสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพราะ

(1) สร้างพลังให้กับอุดมการณ์

(2) ทําให้คนต่างถิ่นสามารถร่วมมือทางการเมืองได้

(3) อาจค้นหาเสียงส่วนใหญ่ของมหาชน

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 287 พรรคการเมืองมีส่วนสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นที่สร้างพลังให้กับอุดมการณ์ เป็นที่ ๆ อาจค้นหาเสียงส่วนใหญ่ของมหาชน และเป็นสถาบันที่ทําให้ประชาชนต่างท้องถิ่นสามารถร่วมมือกันทางการเมืองได้

20 รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คราประยูร

(2) นายพจน์ สารสิน, นายชวน หลีกภัย และนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

(3) นายปรีดี พนมยงค์, นายแนบ พหลโยธิน และจอมพล ป. พิบูลสงคราม

(4) นายชวน หลีกภัย และนายทวี บุณยเกตุ

(5) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ตอบ 1 หน้า 75 – 76 คณะรัฐประหารที่นําโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพร้อมผู้บัญชาการทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ (โดยเฉพาะพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการ ทหารบก) ในนามของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้เข้ายึดอํานาจจาก รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534

21 แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ใดต่อไปนี้

(1) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(2) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(3) จอมพลผิน ชุณหะวัณ

(4) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

(5) จอมพลประภาส จารุเสถียร

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

22 รัฐประหารปี พ.ศ. 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มทหารใดต่อไปนี้

(1) ทหารบก

2) ทหารเรือ

(3) ทหารบกและทหารเรือ

(4) ทหารอากาศ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 หน้า 64 รัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2490 นับเป็นความพยายามของทหารบกที่ต้องการเข้ามามีอํานาจทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งหลังจากหมดอํานาจลงภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็น ระยะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม และพวกถูกจับในข้อหาอาชญากรสงคราม โดยระบบรัฐสภาเฟื่องฟูถึงขีดสุด และรัฐบาลเข้าออกตามวิถีทางรัฐสภา

23 รัฐบาลใดต่อไปนี้มีลักษณะของอํานาจการปกครองแบบ “พ่อขุนอุปถัมภ์”

(1) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(2) นายปรีดี พนมยงค์

(3) ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

(4) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

(5) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ตอบ 1 หน้า 69, 92, (คําบรรยาย) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ร่วมกันกับจอมพลถนอม กิตติขจร ทําการรัฐประหารในนาม “คณะปฏิวัติ” เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 แล้วล้มรัฐธรรมนูญ ล้มสภาผู้แทนราษฎร ช้การปกครองแบบให้ความเป็นเอกแก่ฝ่ายบริหาร ด้วยการประกาศใช้ ธรรมนูญฯ 2502 ซึ่งถือเป็นรูปการปกครองแบบ “เผด็จการ” ที่มีลักษณะการใช้อํานาจแบบ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างพอขุนอุปถัมภ์ นั่นคือ นายกรัฐมนตรีมีอํานาจอย่างไม่จํากัดทั้งทางด้านการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ

24 จอมพล “ผ้าขาวม้าแดง” เป็นสมญานามของบุคคลใดต่อไปนี้

(1) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(2) จอมพลผิน ชุณหะวัณ

(3) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(4) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

(5) พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 15 ประกอบ

25 ระบบรัฐสภาครั้งแรกของไทยแบ่งออกเป็น

(1) สภาเดียว

(2) สภาคู่

(3) สภาคู่และสภาเดียว

(4) สภาสามัญ

(5) สภาเดียวและสภาสามัญ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 14 ประกอบ

26 รัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่เกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) การร่วมกันระหว่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร

(2) การร่วมกันระหว่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม

(3) การร่วมกันระหว่างพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (4) การร่วมกันระหว่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และพลเอกอาทิตย์ กําลังเอก

(5) การร่วมกันระหว่างพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 23 ประกอบ

27 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทางด้านการเมืองการปกครอง กล่าวได้ว่าเป็นช่วงของข้อใดต่อไปนี้

(1) ยุคทหารเบ่งบาน

(2) ยุคเผด็จการเบ่งบาน

(3) ยุคชาวสวนยางเบ่งบาน

(4) ยุคชาวนาเบ่งบาน

(5) ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน

ตอบ 5 หน้า 69 – 71, (คําบรรยาย) ยุคประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถึง 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทางด้านการเมืองการปกครองนั้น พรรคการเมือง พลังนิสิตนักศึกษาและกลุ่มหลากหลายต่าง ๆ ตลอดจนสื่อมวลชนต่างก็มีเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่

28 คณะ รสช. ในปี พ.ศ. 2534 หมายถึงคณะใดต่อไปนี้

(1) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

(2) คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ

(3) คณะรักษาความเรียบร้อยแห่งชาติ

(4) คณะรักษาความสงบความมั่นคงแห่งชาติ

(5) คณะรักษาชาติ

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 20 ประกอบ

29 สมาคมคณะราษฎร มีความหมายทียบกับสถาบันใดต่อไปนี้

(1) คณะรัฐมนตรี

(2) รัฐสภา

(3) รัฐธรรมนูญ

(4) พรรคการเมือง

(5) กลุ่มผลประโยชน์

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 18 ประกอบ

30 ข้อใดต่อไปนี้ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันที่สุดระหว่างสมัยสุโขทัยกับสมัยอยุธยา (1) ระบบไพร่-ทาส

(2) ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

(3) ระบบจตุสดมภ์

(4) ศาสนา

(5) การค้า

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 1 ประกอบ

31 กฎเกณฑ์ในการปกครองประเทศ ขอบเขตของรัฐ จะปรากฏอยู่ใน

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) ประกาศกระทรวง

(5) รัฐธรรมนูญ

ตอบ 5 หน้า 81 รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกําหนดรูปแบบ กฎเกณฑ์ และหลักการในการปกครองประเทศ ขอบเขตของรัฐ การใช้อํานาจของผู้ปกครองหรือสถาบันการเมืองต่าง ๆ การสืบต่ออํานาจ ตลอดจนขอบเขตหน้าที่และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

32 10 ธันวาคม 2475 คือ

(1) วันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง

(2) การรัฐประหารครั้งแรกของไทย

(3) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทย

(4) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก

(5) วันสําคัญของการประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ

ตอบ 4 หน้า 84 85 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (รัฐธรรมนูญฯ 2475) เป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2482 ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ประเทศไทย”

33 ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 จะระบุไว้ว่า

(1) พระมหากษัตริย์จะทรงมีอํานาจสูงสุด

(2) พระมหากษัตริย์จะทรงเป็น Head of Government

(3) รัฐสภาจะเป็นรูปแบบสภาเดียว

(4) รัฐสภาจะเป็นรูปแบบสภาคู่

(5) คณะราษฎรจะเป็นผู้ที่มีอํานาจสูงสุดในการร่างรัฐธรรมนูญ

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 14 ประกอบ

34 จํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขุดแรกของไทย

(1) 70 คน

(2) 80 คน

(3) 90 คน

(4) 100 คน

(5) 500 คน

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 14 ประกอบ

35 “คณะกรรมการราษฎร” หมายถึง

(1) สมาชิกรัฐสภา (ส.ส.)

(2) วุฒิสมาชิก (ส.ว.)

(3) คณะองคมนตรี 1

(4) นายกรัฐมนตรี

(5) คณะรัฐมนตรี

ตอบ 5 หน้า 83 – 85, 159 – 160 ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 ได้เรียกตําแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารว่า“ประธานคณะกรรมการราษฎร” และเรียกคณะบริหารว่า “คณะกรรมการราษฎร” แต่ต่อมา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญฯ 2475 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเรียกตําแหน่งดังกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรี” และ “คณะรัฐมนตรี” ตามลําดับ

36 การเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก “สยาม” มาเป็น “ประเทศไทย” เกิดขึ้นเมื่อ

(1) 27 มิถุนายน 2475

(2) 10 ธันวาคม 2475

(3) 1 ตุลาคม 2483

(4) 3 ตุลาคม 2482

(5) 3 ธันวาคม 2485

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 32 ประกอบ

37 รัฐธรรมนูญฉบับใดต่อไปนี้ที่เริ่มมีการใช้ระบบสภาคู่

(1) ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2475

(2) ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2475

(3) ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2489

(4) ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2490

(5) ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2492

ตอบ 3 หน้า 86 87 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 พ.ศ. 2489 มีลักษณะสําคัญคือ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีบทบัญญัติแยกข้าราชการประจําออกจากข้าราชการการเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ “รัฐสภา” จากสภาเดียว (ตามรัฐธรรมนูญฯ 2475) ไปเป็นสภาคู่ (2 สภา) ได้แก่

1 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยตรง

2 พฤฒิสภา (วุฒิสภา) ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยอ้อม

38 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุม”

(1) ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2490

(2) ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2492

(3) ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2502

(4) ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2511

(5) ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495

ตอบ 1 หน้า 87 88 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 พ.ศ. 2490 มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ทุ่ม” มีลักษณะพิเศษ คือ มี 2 สภาเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 พ.ศ. 2489 แต่ต่างกันที่สภาที่ 2 ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ 2489 เรียกว่า “พฤฒสภา” และสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม แต่รัฐธรรมนูญฯ 2490 ได้เปลี่ยนมาเรียกว่า “วุฒิสภา” และสมาชิกมาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี

39 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่มีการระบุถึง “พฤฒสภา”

(1) ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2475

(2) ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2489

(3) ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2590

(4) ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2592

(5) ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 38 ประกอบ

40 สภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนฉบับปัจจุบันทําหน้าที่

(1) รัฐสภา

(2) วุฒิสภา

(3) สภาผู้แทนราษฎร

(4) ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4 รัฐธรรมนูญฉบับก่อนฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 27 และ 31 กําหนดให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ มีอํานาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ จัดทําแนวทางและ ข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ

41 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่มีลักษณะของการให้อํานาจแก่ฝ่ายบริหารอย่างกว้างขวางมาก

(1) ฉบับที่ 3 ปี 2489

(2) ฉบับที่ 4 ปี 2490

(3) ฉบับที่ 5 ปี 2492

(4) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(5) ฉบับที่ 8 ปี 2511

ตอบ 4 หน้า 92 – 93, 71 (S) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 (ธรรมนูญการปกครองฯ 2502) ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการมากที่สุดของไทย เพราะมีการให้อํานาจอย่างกว้างขวางมากแก่ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ที่นอกจากจะมีอํานาจบริหารแล้วยังสามารถใช้อํานาจนิติบัญญัติและอํานาจตุลาการ ในบางกรณีได้ โดยระบุไว้ในมาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจสั่งการหรือกระทําการใด ๆ ได้ดังนั้นจึงถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ

42 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

(1) ฉบับที่ 1 ปี 2475

(2) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(3) ฉบับที่ 10 ปี 2517

(4) ฉบับที่ 14 ปี 2534

(5) ฉบับที่ 16 ปี 2540

ตอบ 5 หน้า 100 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็นมากที่สุด จนได้รับสมญาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 และถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

43 “ปิตุราชาธิปไตย” เป็นลักษณะการปกครองในสมัยใด

(1) สุโขทัย

(2) อยุธยา

(3) ธนบุรี

(4) รัตนโกสินทร์ สมัย ร.1 – 4

(5) รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมา

ตอบ 1 หน้า 41 (S), (คําบรรยาย) ลักษณะการปกครองในสมัยสุโขทัย คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบ “ปิตุราชาธิปไตย” (บิดาปกครองบุตร) และธรรมราชา

44 “เทวราชา” คือรูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด

(1) สุโขทัย

(2) อยุธยา

(3) ธนบุรี

(4) รัตนโกสินทร์ สมัย ร.1 – 4

(5) รัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัย ร.5 เป็นต้นมา

ตอบ 2 หน้า 41 (S), (คําบรรยาย) สมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบ “เทวราชา” (เทวาธิปไตย/เทวสิทธิ์) คือ รูปแบบการปกครองที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา

45 ข้อใดถูก

(1) พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นไป โดยกําเนิดหรือแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดํารงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

(2) พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกําเนิดหรือแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดํารงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

(3) พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมราชวงศ์ขึ้นไป โดยกําเนิดหรือแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดํารงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

(4) พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมหลวงขึ้นไป โดยกําเนิดหรือแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดํารงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 หน้า 148 149 รัฐธรรมนูญฯ 2475 บัญญัติว่า “พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกําเนิดหรือแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดํารงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง” หมายถึง พระบรมวงศานุวงศ์ ไม่มีสิทธิทางการเมืองที่จะเลือกตั้งหรือรับเลือกตั้งและดํารงตําแหน่งทางการเมือง

46 “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ

(1) การประชุมกันเพื่อพิจารณาว่า พระราชวงศ์พระองค์ใดสมควรที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

(2) การประชุมกันเพื่อพิจารณาว่า ผู้ใดควรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

(3) การประชุมกันเพื่อพิจารณาว่า ผู้ใดควรขึ้นเป็นรัฐมนตรี

(4) การประชุมกันเพื่อพิจารณาว่า ผู้ใดควรขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช

(5) การประชุมกันเพื่อพิจารณาว่า ผู้ใดควรขึ้นเป็นประธานองคมนตรี ๆ

ตอบ 1 หน้า 35, 150 151 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงบัญญัติกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พ.ศ. 2467 ขึ้นใช้ นับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ได้วางลําดับสิทธิในการสืบราชสมบัติของกษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมนั้นมักจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในกรณีที่กษัตริย์ไม่มีโอรสหรือมิได้แสดงพระประสงค์ ว่าจะมอบให้ผู้ใดเป็นรัชทายาท โดยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นส่วนใหญ่วิธีการคัดเลือกเพื่อหา พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะใช้วิธีการแบบ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ การประชุมของบรรดาพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เสนาบดี และพระเถระชั้นราชาคณะ

47 “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” มีการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยใด

(1) รัชกาลที่ 1

(2) รัชกาลที่ 3

(3) รัชกาลที่ 5

(4) รัชกาลที่ 7

(5) รัชกาลที่ 9

ตอบ 3 หน้า 151 ในปี พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาตําแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นตําแหน่งรัชทายาทที่จะได้ทรงสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

48 การปกครองไทยในสมัยปัจจุบันนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์จะถือว่าเป็น

(1) Limited Monarchy

(2) Unlimited Monarchy

(3) Absolute Monarchy

(4) ข้อ 1 และ 3 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 1 หน้า 147, 156, (คําบรรยาย) บทบาทของพระมหากษัตริย์จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยในสมัยสุโขทัยพระมหากษัตริย์วางพระองค์อยู่ในฐานะเปรียบเสมือนบิดาปกครองบุตร นั่นคือ มีบทบาทเป็น “พ่อ” ของราษฎร ส่วนในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ บทบาทของ พระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงมาอยู่ในฐานะเป็น “เจ้าชีวิต” ของราษฎร และต่อมาภายหลัง เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบัน บทบาทของพระมหากษัตริย์ก็เปลี่ยนแปลง ไปเป็นกษัตริย์ที่มีอํานาจจํากัด (Limited Monarchy) กล่าวคือ ทรงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศมากกว่าที่จะทรงมีพระราชอํานาจในด้านการบริหารโดยตรง

49 สิ่งที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีพระมหากษัตริย์

(1) สิทธิของพระมหากษัตริย์

(2) พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์

(3) ลําดับชั้นของพระบรมวงศานุวงศ์

(4) ข้อ 1 และ 2 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 4 หน้า 151 – 153, (คําบรรยาย) สิทธิและพระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น การสถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ การพระราชทานและเรียกคืน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือให้องคมนตรีพ้นจากตําแหน่ง การแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ ฯลฯ

50 พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทย คือข้อใด

(1) ด้านการปกครอง

(2) ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(3) ด้านบริหารประเทศ

(4) ข้อ 1 และ 2 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 4 หน้า 154 พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ อาจจําแนกออกได้เป็น 3 ด้าน คือ

1 พิธีการ โดยทรงเป็นองค์ประธานในพิธีการสําคัญต่าง ๆ ของชาติ เช่น งานรัฐพิธี เป็นผู้แทนทางการทูตในการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศและต้อนรับแขกเมือง ฯลฯ

2 สังคมสงเคราะห์ โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือกิจการสาธารณกุศล

3 การปกครอง โดยการเสด็จออกเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเพื่อให้มีขวัญและกําลังใจดี

51 จํานวนของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ปี 2560

(1) 1 + 18

(2) 1 + 24

(3) 1 + 35

(4) 1 + 36

(5) 1 + 48

ตอบ 3 (คําบรรยาย) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 พ.ศ. 2560 มาตรา 158 กําหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกันให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

52 การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องทําเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) พระบรมราชโองการ

(5) ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 51 ประกอบ

53 สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร

(1) รัฐบาลพลเรือนไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน

(2) ทหารเป็นกลุ่มพลังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

(3) ประชาชนชื่นชมทหารมากกว่ารัฐบาลพลเรือน

(4) ข้อ 1 และ 2 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 4 หน้า 172 173 สาเหตุของการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร มีดังนี้

1 รัฐบาลประชาธิปไตยหรือรัฐบาลพลเรือนไม่เป็นที่ศรัทธาของประชาชน

2 มักมีสภาพของการขาดความมั่นคง เช่น มีการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง ฯลฯ ราย3 ทหารเป็นกลุ่มพลังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถใช้กําลังเข้ายึดอํานาจรัฐได้ ฯลฯ

54 ข้อใดคือลักษณะของรัฐสภาไทยในปี 2561

(1) เป็นสภาเดียวที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

(2) เป็นสภาเดียวที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง

(3) เป็นสภาคู่ที่สมาชิกทั้งสองสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด

(4) เป็นสภาคู่ที่สมาชิกทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

(5) เป็นสภาคู่ที่สมาชิกทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งและการสรรหาฯ

ตอบ 1 (คําบรรยาย) รัฐสภาไทยในปี พ.ศ. 2561 เป็นรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 6 ที่กําหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ํากว่า 40 ปี ตามที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคําแนะนําให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

55 ตามรัฐธรรมนูญฉบับใดต่อไปนี้ที่สมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

(1) ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2489

(2) ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2492

(3) ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2517

(4) ฉบับที่ 16 พ.ศ. 2540

(5) ฉบับที่ 20 พ.ศ. 2560

ตอบ 4 หน้า 140 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 พ.ศ. 2540 กําหนดให้รัฐสภาเป็นสภาคู่ ประกอบด้วย

1 สภาผู้แทนราษฎร สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จํานวน 500 คนซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

2 วุฒิสภา สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จํานวน 200 คน

56 “การยุบสภา” เป็นเครื่องมือของ

(1) ฝ่ายนิติบัญญัติใช้ต่อฝ่ายบริหาร

(2) ฝ่ายนิติบัญญัติใช้ต่อฝ่ายตุลาการ

(3) ฝ่ายบริหารใช้ต่อฝ่ายนิติบัญญัติ

(4) ฝ่ายบริหารใช้ต่อฝ่ายตุลาการ

(5) ฝ่ายตุลาการใช้ต่อฝ่ายบริหาร

ตอบ 3 หน้า 249 เครื่องมือของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลที่นํามาใช้ในการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภาผู้แทนราษฎร คือ “การยุบสภา” และในขณะเดียวกันฝ่ายนิติบัญญัติก็มีเครื่องมือที่ นํามาใช้ในการควบคุมฝ่ายบริหารเพื่อเป็นการถ่วงดุลอํานาจกัน คือ “การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ”

57 องค์กรที่แสดงถึงเจตจํานงสูงสุดของประชาชน คือ

(1) รัฐสภา

(2) คณะรัฐมนตรี

(3) ผู้พิพากษาในสายตุลาการ

(4) องคมนตรี

(5) องค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น กกต. ปปช.

ตอบ 1 หน้า 149 รัฐสภาเป็นองค์กรที่แสดงถึงเจตจํานงสูงสุดของประชาชน โดยทําหน้าที่พิจารณาบัญญัติหรือออกกฎหมายเพื่อใช้ในการปกครองหรือบริหารประเทศ และควบคุมการบริหาร ราชการแผ่นดินของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารด้วยการเปิดอภิปรายซักฟอกนโยบายของรัฐบาล หรือตั้งกระทู้ถามเพื่อให้รัฐบาลชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นต่าง ๆ

58 กฎหมายในหัวข้อใดต่อไปนี้ที่จะต้องใช้เวลาในการตราขึ้นเพื่อบังคับใช้

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) ประมวลกฎหมาย

(5) กฎกระทรวง

ตอบ 1 หน้า 243 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คือ กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อบังคับใช้โดยผ่านการพิจารณาและอนุมัติโดยรัฐสภาหรือองค์กรที่ทําหน้าที่นิติบัญญัติ นอกจาก พ.ร.บ. แล้วยังมีกฎหมายอีก หลายประเภท เช่น พระราชกําหนด พระราชกฤษฎีกา ประมวลกฎหมาย กฎกระทรวง ฯลฯ แต่กฎหมายอื่น ๆ นั้นอาจถือได้ว่าเป็นกฎหมายรองที่มีขั้นตอนในการบัญญัติไม่สลับซับซ้อนและไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนพระราชบัญญัติ

59 กระบวนการพิจารณากฎหมายในรัฐสภามีกี่วาระ

(1) 1 วาระ

(2) 2 วาระ

(3) 3 วาระ

(4) 4 วาระ

(5) 5 วาระ

ตอบ 3 หน้า 235 236 กระบวนการพิจารณากฎหมายในรัฐสภา (ทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา)ประกอบด้วยขั้นตอน 3 วาระด้วยกัน คือ วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ, วาระที่ 2 ขั้นกรรมาธิการ วาระที่ 8 ขั้นลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมายทั้งฉบับ

60 กฎหมายในข้อใดเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) ข้อ 1 และ 2 ถูก

(5) ข้อ 2 และ 3 ถูก

ตอบ 5 หน้า 239 240 ทั้งพระราชกําหนดและพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกหรือบัญญัติหรือตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี (ดูคําอธิบายข้อ 58 ประกอบ)

ข้อ 61, – 65 ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) ราชาธิปไตย

(2) ทุชนาธิปไตย

(3) อภิชนาธิปไตย

(4) คณาธิปไตย

(5) ประชาธิปไตย

 

61 รูปแบบการปกครองของไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์

ตอบ 4 หน้า 2 – 3, 3 – 4 (S) คณาธิปไตย (Oligarchy) คือ ระบอบการปกครองโดยคณะบุคคลซึ่งผู้ปกครองเป็นกลุ่มเผด็จการที่ทําเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกเป็นสําคัญ เป็นรูปแบบการปกครองที่มักจะเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารยึดอํานาจ เช่น รูปแบบการปกครองของไทยภายใต้คณะผู้นําทหารในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม-ประภาส และจอมพล ป.(แปลก) พิบูลสงคราม ฯลฯ

62 รูปแบบการปกครองที่ผู้นําเผด็จการปกครองขูดรีดประชาชน

ตอบ 2 หน้า 2 – 3, 3 – 4 (S) ทรราชหรือทุชนาธิปไตย (Tyranny) คือ ระบอบการปกครองที่อํานาจอธิปไตยอยู่ที่คน ๆ เดียว โดยมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อผู้ปกครองหรือเพื่อหา ผลประโยชน์ให้กับตนเอง ดังนั้นจึงเป็นรูปแบบการปกครองโดยเผด็จการที่ฉ้อฉลหรือกดขี่ข่มเหงประชาชน อันเป็นการปกครองแบบ “ทํานาบนหลังคน” หรือ “ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน”

63 รูปแบบการปกครองที่คณะผู้นําทําเพื่อประโยชน์ของทวยราษฎร์

ตอบ 3 หน้า 2 – 4, 3 – 4 (S) อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) คือ ระบอบการปกครองโดยคณะบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือมีคุณภาพเหนือกว่าชนส่วนใหญ่ เช่น กลุ่มขุนนาง พวกเชื้อสายราชวงศ์ หรือชนชั้นสูง กลุ่มปัญญาชนคนมีความรู้ หรือกลุ่มชนที่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน ฯลฯ โดยมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อประชาชน ดังนั้นจึงเป็นลัทธิการเมืองที่ให้ความสําคัญกับ ชนชั้นสูงของสังคมและเป็นรูปแบบการปกครองที่คณะผู้ปกครองทําเพื่อประโยชน์สุขของปวงชนหรือทวยราษฎร์ ถือเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดโดยคณะผู้ปกครอง

64 รูปแบบการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตอบ 1 หน้า 3, 3 – 6 (S) ราชาธิปไตย (Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่ได้รับอิทธิพลมาจากระบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) ในสมัยอยุธยา ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นการปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่อํานาจอธิปไตยจะอยู่ที่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว อันเป็นรูปแบบการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 – 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งการปกครองแบบราชาปราชญ์ (Philosopher King) ตามแนวคิดของเพลโต

65 รูปแบบการปกครองของไทยยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ตอบ 5 หน้า 11 – 12, 16, 79, (คําบรรยาย) ประชาธิปไตย (Democracy) เป็นระบอบการปกครองที่ยึดหลักว่าอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรืออํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของ ประชาชนหรือเป็นการปกครองโดยประชาชน (การปกครองที่คนหมู่มากเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตย) โดยรัฐบาลจะใช้อํานาจปกครองน้อยที่สุดเฉพาะเรื่องที่จําเป็นเท่านั้น ดังนั้นประชาธิปไตย จึงมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ให้ความสําคัญกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เชื่อในหลักการ แห่งกฎหมายและหลักการแห่งความเสมอภาค รวมทั้งคํานึงถึงหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือหลักสิทธิมนุษยชน (ยึดถือสิทธิในการปกครองตนเอง) เช่น ระบอบการเมืองการปกครอง ของประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมทั้งระบอบการเมือง ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติ 2475 ของไทย และระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทย ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

66 สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นส่วนราชการเช่นเดียวกับ

(1) ทบวง

(2) กรม

(3) กระทรวง

(4) สํานักงานเลขานุการกรม

(5) กอง

ตอบ 2 หน้า 392 สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

67 การปกครองส่วนท้องถิ่น หมายถึง

(1) การจัดสรรอํานาจ

(2) การรวมอํานาจ

(3) การแบ่งอํานาจ

(4) การมอบอํานาจ

(5) การกระจายอํานาจ

ตอบ 5 หน้า 359 – 360, 371, 401, 433 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยในปัจจุบันแบ่งเป็น 5 ส่วน คือ

1 ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอํานาจปกครอง

2 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอํานาจปกครอง

3 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอํานาจปกครอง

68 ขณะนี้ประเทศไทย จัดให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดจํานวนเท่าใด

(1) 74 จังหวัด

(2) 75 จังหวัด

(3) 76 จังหวัด

(4)77 จังหวัด

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 439, (คําบรรยาย) องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด ๆ ละ 1 แห่ง โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีจังหวัดทั้งหมด 77 จังหวัด (บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 77) แต่มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดจํานวน 76 จังหวัด (ยกเว้น กทม.ที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ)

69 “การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

(1) นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้ง

(2) นายกรัฐมนตรีมาจากการเห็นชอบของสภา

(3) นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

(4) มีทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนในขณะเดียวกัน

(5) ไม่มีข้อใดถูก ตอบ 2 หน้า 15 การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา (Parliamentary Democracy) นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือ มาจากการเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ หรือเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากสภาผู้แทนฯ ซึ่งจะ มีความแตกต่างจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี (Presidential Democracy) ที่ประธานาธิบดีจะเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้ดํารงตําแหน่ง

70 การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี

(1) ประธานาธิบดีมาจากการแต่งตั้ง

(2) นายกรัฐมนตรีเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร

(3) มีสภาเดียวหรือสองสภาก็ได้

(4) นายกรัฐมนตรีเป็นทั้งประมุขของฝ่ายบริหารและประมุขของรัฐ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 59 ประกอบ

ข้อ 71 – 75. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) เสรีนิยม

(2) สังคมนิยม

(3) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

(4) อํานาจนิยม

(5) ชาตินิยม

 

71 ลัทธิที่ให้เสรีภาพเฉพาะด้านเศรษฐกิจสังคม แต่จํากัดเสรีภาพทางการเมือง

ตอบ 4 หน้า 6-7 อํานาจนิยม (Authoritarianism) คือ การที่รัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร โดยเฉพาะเสรีภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่จะจํากัดเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะการใช้อํานาจของรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เช่น รัฐบาลทหารของไทย การปกครองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฯลฯ

72 ยึดมั่นในแนวคิดเรื่อง “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย”

ตอบ 3 หน้า 6, 66 (S) เผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) คือ การที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองใช้อํานาจควบคุมประชาชนอย่างเคร่งครัดแทบจะสิ้นเชิงในทุกด้าน ทั้งเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะลงโทษอย่างรุนแรงหากประชาชนฝ่าฝืน ดังนั้นจึงเป็นระบบของ การใช้อํานาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม เช่น ระบบฟาสซิสต์ของ อิตาลี ระบบนาซีของเยอรมัน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบราชาธิปไตย และ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้อํานาจเด็ดขาดโดยยึดมั่นในแนวคิด “ผู้นําถูกต้องเสมอ”ดังคําขวัญ “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” เพื่อปลุกใจราษฎรให้เชื่อมั่นรัฐบาล ฯลฯ

73 ความเป็นอยู่ของประชาชนด้านเศรษฐกิจสังคมมีรัฐเป็นผู้ดูแล

ตอบ 2 หน้า 8, 8 (S) สังคมนิยม (Socialism) คือ ลัทธิทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเข้ามาควบคุมและกํากับดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านเศรษฐกิจหลักของประเทศ อันเป็นลัทธิเศรษฐกิจ ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ารัฐต้องเข้ามาควบคุมและเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สําคัญของสังคม แต่จะยินยอมให้ประชาชนมีทรัพย์สินเป็นของตนเองได้บ้าง และเป็นลัทธิเศรษฐกิจที่ยึดหลัก แห่งความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันมากกว่าหลักเสรีภาพ เช่น ระบบหรือแนวคิดเรื่องรัฐวิสาหกิจ ระบบเศรษฐกิจของสังคมเวียดนามและจีนยุคปัจจุบัน ฯลฯ

74 แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อในเรื่อง “ไร้พรมแดน”

ตอบ 5 หน้า 9, (คําบรรยาย) ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) คือ ลัทธิหรืออุดมการณ์ที่เน้นหรือให้ความสําคัญกับเรื่องของความมั่นคงและความเป็นเอกภาพของชาติ เชื่อและศรัทธาในพวกพ้อง และดินแดนเดียวกัน เน้นเรื่องความรักความผูกพันและความสมานฉันท์ต่อกันของคนในชาติ เชื่อว่าคนเราเกิดมาต่างก็เป็นหนี้ต่อบ้านเมืองของเราเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อ ในเรื่องสากลนิยม/ไร้พรมแดนที่ให้ความสําคัญในเรื่องผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติมากกว่า ผลประโยชน์ของชาติใดชาติหนึ่ง นอกจากนี้ลัทธิชาตินิยมยังเชื่อว่ารัฐกับมนุษย์ไม่แตกต่างกัน เพราะถ้าไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีรัฐ และรัฐจะอยู่ไม่ได้ถ้ามนุษย์ในรัฐไม่ช่วยกันปกป้องรักษารัฐของตน ดังนั้นลัทธิชาตินิยมจึงต้องการให้สมาชิกทุกคนเชื่อฟังคําสั่งของรัฐโดยปราศจากเงื่อนไข

75 รัฐที่ใช้อํานาจในการปกครองน้อยที่สุด

ตอบ 1 หน้า 6, 7 – 8 (S) เสรีนิยม (Liberalism) เป็นระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่เน้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีลักษณะการใช้อํานาจแบบอิสระนิยม อันเป็นต้นแบบของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย โดยมองว่ารัฐที่ดีคือรัฐที่ใช้อํานาจในการปกครองและกํากับดูแลน้อยที่สุดทั้งนี้รัฐบาลจะเข้าควบคุมหรือรักษากฎเกณฑ์เฉพาะส่วนที่จําเป็นเท่านั้น

76 สํานักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นส่วนราชการเช่นเดียวกับ

(1) กระทรวง

(2) ทบวง

(3) กรม

(4) กอง

(5) สํานักงานเลขานุการกรม

ตอบ 3 หน้า 389 390 สํานักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง

77 การจัดตั้งจังหวัดต้องตราเป็นกฎหมายอะไร

(1) พระราชกฤษฎีกา

(2) พระราชบัญญัติ

(3) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

(4) พระราชกําหนด

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 402 409 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้

1 การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

2 การตั้งยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตอําเภอ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

78 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารเป็นข้าราชการ

(1) ข้าราชการประจํา

(2) ข้าราชการพิเศษ

(3) ข้าราชการฝ่ายการเมือง

(4) ข้าราชการกรณีพิเศษ

(5) ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ

ตอบ 1 หน้า 364 -366 ข้าราชการประจํา ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน (เช่น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ฯลฯ) ข้าราชการทหาร และข้าราชการของหน่วยการปกครองท้องถิ่น (ส่วนข้าราชการการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ฯลฯ)

79 ข้าราชการการเมือง หมายถึง

(1) รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบาย

(2) มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(3) เป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติ

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 364 365 ข้าราชการการเมือง คือ บุคคลซึ่งรับราชการในตําแหน่งที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบาย เป็นฝ่ายกําหนดนโยบายในการบริหารประเทศหรือนโยบายสาธารณะ และคอยควบคุม ฝ่ายข้าราชการประจําให้ปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ โดยข้าราชการการเมืองเข้าดํารงตําแหน่ง ตามวิถีทางของการเมืองหรือเหตุผลทางการเมือง และออกจากตําแหน่งตามวาระหรือมีวาระในการดํารงตําแหน่ง

80 ระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของกํานัน

(1) 4 ปี

(2) 5 ปี

(3) อยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 55 ปี

(4) อยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 60 ปี

(5) อยู่ในตําแหน่งตลอดชีวิต

ตอบ 4 หน้า 41 ตําแหน่งกํานั้นในปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในตําบลนั้น โดยกํานันต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย และจะอยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 60 ปี

81 ข้าราชการประจําที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของแต่ละกระทรวงคือตําแหน่งใด

(1) ผู้ตรวจการกระทรวง

(2) รัฐมนตรีตรวจการ

(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง

(4) ปลัดกระทรวง

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 37 ปลัดกระทรวงเป็นตําแหน่งข้าราชการประจําที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของแต่ละกระทรวง(ข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 11 หรือซี 11)

82 ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการประจําสังกัดหน่วยงานใด

(1) สํานักนายกรัฐมนตรี

(2) กระทรวงมหาดไทย

(3) กระทรวงศึกษาธิการ

(4) กรมการปกครอง

(5) ไม่สังกัดหน่วยงานใด

ตอบ 2 หน้า 4d4 ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้าราชการประจําสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดนั้น

83 ข้อใดต่อไปนี้คือข้าราชการประจําในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

(1) ปลัดอําเภอ

(2) ปลัดจังหวัด

(3) สัสดีจังหวัด

(4) ปลัดเทศบาล

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 444, 453, 472, 483, 487 ข้าราชการประจําในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ปลัด อบจ., ปลัดเทศบาล, ปลัด กทม., ปลัดเมืองพัทยา, ปลัด อบต. เป็นต้น

84 การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก

(1) เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา

(2) เสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร

(3) เสียงส่วนใหญ่ของวุฒิสภา

(4) เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนโดยการลงประชามติ

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 69 ประกอบ

85 ข้อใดต่อไปนี้ปกติไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

(1) ผู้ใหญ่บ้าน

(2) นายกเมืองพัทยา

(3) สมาชิกสภาเขต กทม

(4) ผู้ว่าราชการจังหวัด

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 82 ประกอบ

86 การกําหนดโครงสร้างเมืองพัทยาของไทยในปัจจุบันมีลักษณะและรูปแบบใด (1) รัฐสภา

(2) แบบมีสภา

(3) ประธานาธิบดี

(4) แบบผสมรัฐสภาและประธานาธิบดี

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 450, 467, 478, (คําบรรยาย) การกําหนดโครงสร้างการจัดองค์การและการบริหารเมืองพัทยาของไทยในปัจจุบันนั้น มีลักษณะและรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดี (Presidential System) เหมือนกับโครงสร้างของเทศบาลและกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ มีหัวหน้าฝ่ายบริหาร (นายกเมืองพัทยา นายกเทศมนตรี ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภา ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยใช้หลักการแบ่งแยกอํานาจ (Separation)ตามแบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

87 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยรูปแบบใดเป็นรูปแบบพิเศษ

(1) อบต

(2) เทศบาล

(3) ภูเก็ต

(4) พัทยา

(5) เกาะสมุย

ตอบ 4 หน้า 439, 465, 477 ปัจจุบันรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย มี 5 รูป ดังนี้

1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ)

2 องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)

3 เทศบาล

4 กรุงเทพมหานคร (กทม.)

5 เมืองพัทยา โดยกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ

88 จํานวนสมาชิกสภาเขต กฎหมายกําหนดให้มีได้ไม่เกินกี่คน

(1) ไม่จํากัดจํานวน

(2) 7 คน

(3) 8 คน

(4) 9 คน

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 473 สภาเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยราษฎรในเขต โดยมีจํานวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน ถ้าเขตใดมีราษฎรเกิน 1 แสนคน ให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเขตนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คนต่อจํานวนราษฎรทุก 1 แสนคน เศษของ 1 แสนคน ถ้าถึง 5 หมื่นหรือกว่านั้นให้นับเป็น 1 แสน (กฎหมายไม่ได้จํากัดจํานวนไว้ว่าให้มีได้ไม่เกินกี่คน)

89 รองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมือง แต่งตั้งได้จํานวนไม่เกินกี่คน

(1) 5 คน

(2) 4 คน

(3) 3 คน

(4) 2 คน

(5) 1 คน

ตอบ 3 หน้า 448, 453 นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ตามจํานวนดังต่อไปนี้

1 เทศบาลตําบล (เทศบาลขนาดเล็ก) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 2 คน

2 เทศบาลเมือง (เทศบาลขนาดกลาง) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน

3 เทศบาลนคร (เทศบาลขนาดใหญ่) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 4 คน

90 ผู้บริหารสูงสุดของเทศบาลใช้ชื่อว่าอะไร และมีที่มาอย่างไร

(1) นายกเทศบาลมาจากการเลือกตั้ง

(2) นายกเทศบาลมาจากการแต่งตั้ง

(3) นายกเทศมนตรีมาจากการแต่งตั้ง

(4) นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้ง

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 450 454, 461 โครงสร้างการจัดองค์การและการบริหารเทศบาล แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ มีประธานสภาเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบหรือผู้บริหารสูงสุด (มาจากการเลือกตั้ง)

2 ฝ่ายบริหาร มีนายกเทศมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบหรือผู้บริหารสูงสุด (มาจากการเลือกตั้ง)

91 หน่วยการปกครองใด เป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค

(1) เมืองพัทยา

(2) จังหวัดนนทบุรี

(3) เทศบาลนครเชียงใหม่

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 2 หน้า 402) กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้ 2 ระดับ คือ จังหวัด และอําเภอ

92 หน้าที่หลักของเมืองพัทยาที่แตกต่างไปจากเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตําบล คืออะไร

(1) การรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย

(2) การประสานงานกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่นอื่น

(3) สร้างถนน สะพาน

(4) การจัดการท่องเที่ยว

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 5 (คําบรรยาย) หน้าที่หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยทั่วไปจะไม่แตกต่างกัน โดยอาจจะแตกต่างกันบ้างในหน้าที่รองหรือในรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 250 กําหนดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่และอํานาจดูแลและจัดทํา บริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

93 รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล กฎหมายกําหนดให้แต่งตั้งได้ไม่เกินกี่คน

(1) 2 คน

(2) 3 คน

(3) 4 คน

(4) 5 คน

(5) 6 คน

ตอบ 1 หน้า 489 นายกองค์การบริหารส่วนตําบลอาจแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบลซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของ องค์การบริหารส่วนตําบลตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลมอบหมายได้ไม่เกิน 2 คน(พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2547 มาตรา 58/3)

94 ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต สังกัดพรรคการเมืองใด

(1) เพื่อไทย

(2) ประชาธิปัตย์

(3) ชาติไทยพัฒนา

(4) ไม่สังกัดพรรค

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) เป็นข้าราชการประจําดังนั้นจึงไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองใด (ดูคําอธิบายข้อ 82 ประกอบ)

95 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละกี่ปี

(1) 2 ปี

(2) 3 ปี

(3) 4 ปี

(4) 5 ปี

(5) 6 ปี

ตอบ 3 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญฯ 2560 (ประกาศใช้ 6 เมษายน 2560) มาตรา 99 กําหนดให้ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกําหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และมาตรา 100 กําหนดให้ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง

96 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน คือ

(1) นายวิษณุ เครืองาม

(2) นายมีชัย ฤชุพันธ์

(3) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน

(4) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

(5) น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

ตอบ 5 (ข่าว) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน คือ น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ซึ่งเข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559

97 รัฐธรรมนูญไทยฉบับ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่

(1) 6 เมษายน 2560

(2) 6 พฤษภาคม 2560

(3) 6 มิถุนายน 2560

(4) ยังไม่ประกาศใช้

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 95 ประกอบ

98 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญไทยฉบับ พ.ศ. 2560 เมื่อใด

(1) ปี 2561

(2) ปี 2562

(3) ปี 2563

(4) ปี 2564

(5) ยังไม่แน่นอน

ตอบ 2 (ข่าว) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 ภายในต้นปี พ.ศ. 2562 (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์)

(***เลื่อนมาจากครั้งที่แล้วที่เคยประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปี พ.ศ. 2561)

99 หลักการทั่วไปในการกระจายอํานาจข้อใดไม่ถูกต้อง

(1) ต้องมีชุมชน

(2) เป็นนิติบุคคล

(3) Autonomy

(4) ผู้บริหารมาจากการแต่งตั้ง

(5) ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง

ตอบ 4 หน้า 433 – 435, (คําบรรยาย) การปกครองท้องถิ่นโดยทั่วไปมีลักษณะหรือหลักการสําคัญคือ ใช้หลักการทั่วไปในการกระจายอํานาจ ดังนี้

1 เป็นการปกครองชุมชนหรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศ

2 มีองค์การหรือหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแยกไปต่างหากจากรัฐบาลกลาง โดยมีรายได้เป็นของตนเอง และมีอํานาจในการจัดเก็บภาษี 4 ประเภท คือ ภาษีอากรฆ่าสัตว์ ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบํารุงท้องที่

3 มีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ดําเนินงาน (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ)

4 มีอิสระในการดําเนินกิจการของท้องถิ่น (Autonomy) ภายในขอบเขตที่กฎหมายกําหนดและอยู่ในกํากับดูแลหรือการควบคุมของรัฐบาลกลาง

100 ข้อใดกล่าวผิดเกี่ยวกับระบบราชการไทย

(1) นําแนวคิดของ Max Weber มาใช้

(2) นําแบบอย่างมาจากยุโรป

(3) ในสมัยสุโขทัยมีตําแหน่งลูกขุน

(4) เวียง วัง คลัง นา ประกาศใช้ครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

(5) ผิดทุกข้อที่กล่าวมา

ตอบ 4 หน้า 29, 363, (คําบรรยาย) ระบบราชการไทยนําแนวคิดของ Max Weber มาใช้ และนำแบบอย่างมาจากยุโรป โดยในสมัยสุโขทัยมีตําแหน่งลูกขุน ส่วนจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา) ประกาศใช้ครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนต้น (สมัยพระเจ้าอู่ทอง)

 

PCL1101 การเมืองและการปกครองไทย 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา PCL 1101 การเมืองและการปกครองไทย

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 ข้อใดเป็นลักษณะพิเศษของการปาครองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา

(1) ระบบไพร่ ทาส

(2) ประชาธิปไตย

(3) มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

(4) มีการประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษา

(5) เป็นการปกครองในระบบรัฐสภา

ตอบ 1 หน้า 32, (คําบรรยาย) ลักษณะพิเศษของการปกครองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็คือระบบไพร่และทาส โดยการแบ่งแยกชนชั้นมีลักษณะที่เห็นเด่นชัด ซึ่งอยุธยามี 3 ชนชั้น ได้แก่

1 กษัตริย์ พระราชวงศ์ และขุนนางระดับสูง

2 ผู้ดี ผู้มีฐานะ และขุนนาง ที่มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป

3 ไพร่ ผู้ถือศักดินาต่ํากว่า 400 ไร่ รวมทั้งทาส

2 สมัยสุโขทัยมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือ ทางด้านการค้านั้นยังมีการค้าขายติดต่อกับ “ต่างประเทศ ประเทศใด

(1) มลายู

(2) ฝรั่งเศส

(3) อังกฤษ

(4) สเปน

(5) โปรตุเกส

ตอบ 1 หน้า 28 ในสมัยกรุงสุโขทัยนอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือแล้วก็ยังมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน มลายู ลังกา และมอญ โดยมีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษี “จกอบ” หรือภาษีศุลกากร เพื่อต้องการให้พ่อค้ามีความสนใจในการทําการค้า

3 “การปกครองระบบกินเมือง” ถูกยกเลิกและเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ระบบว่าราชการเมือง” ในสมัยใด

(1) รัชกาลที่ 1

(2) รัชกาลที่ 2

(3) รัชกาลที่ 3

(4) รัชกาลที่ 4

(5) รัชกาลที่ 5

ตอบ 5 หน้า 34, (คําบรรยาย) รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค/การปกครองหัวเมืองด้วยการออก พ.ร.บ. ปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ซึ่งเป็นผลทําให้มีการจัดตั้งมณฑล เมือง (จังหวัด) อําเภอ และหมู่บ้าน จึงทําให้ “การปกครองระบบกินเมือง” ที่มีเจ้าเมืองเป็น ผู้ปกครองถูกยกเลิก และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ระบบว่าราชการเมือง” โดยการแต่งตั้งข้าราชการจากกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ มาเป็นผู้ปกครอง

4 “ราชวงศ์พระร่วง” มีความสําคัญตรงกับสมัยใด

(1) อาณาจักรทวาราวดี

(2) อาณาจักรสุโขทัย

(3) อาณาจักรศรีอยุธยา

(4) อาณาจักรธนบุรี

(5) อาณาจักรรัตนโกสินทร์

ตอบ 2 หน้า 25 อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรแรกของชาติไทย ซึ่งสถาปนาขึ้นในปี พ.ศ. 1781 โดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ต้นราชวงศ์พระร่วง ได้ประกาศตนเป็นอิสระจากขอมที่ยึดครองดินแดนแถบนั้นอยู่ในสมัยนั้น (กษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงปกครองสุโขทัยติดต่อกัน 6 พระองค์)

5 การปกครองหัวเมืองในสมัยสุโขทัย ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการอยู่ที่ใด

(1) เมืองเอก

(2) เมืองหลวง

(3) เมืองชั้นใน

(4) เมืองชั้นนอก

(5) เมืองประเทศราช

ตอบ 2 หน้า 26 การปกครองแบบหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยนั้น ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการจะอยู่ที่เมืองหลวง และแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 หัวเมืองชั้นใน

2 หัวเมืองชั้นนอก

3 หัวเมืองประเทศราช

6 การถวายฎีกาหรือร้องทุกข์ของราษฎรโดยตรงกับพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ ของไทยในสมัยใด

(1) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(2) สมัยกรุงธนบุรี

(3) สมัยกรุงศรีอยุธยา

(4) สมัยสุโขทัย

(5) ก่อนสุโขทัย

ตอบ 4 หน้า 27 ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกาหรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพระมหากษัตริย์หรือพ่อขุน โดยในสมัยพ่อขุนรามคําแหงได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการถวายฎีกาก็ไปสั่นกระดิ่ง แล้วพระองค์ก็จะออกมาไต่สวนและชําระความให้

7 กษัตริย์ที่ทรงกอบกู้เอกราชในสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้กับพม่าครั้งที่ 1 ตรงกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

(1) พระมหินทราธิราชย์

(2) พระนารายณ์มหาราช

(3) พระนเรศวรมหาราช

(4) พระมหาธรรมราชา

(5) พระเจ้าตากสิน

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไทยเสียกรุงให้กับพม่า 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปี พ.ศ. 2127 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปีเดียวกัน

8 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้มีการยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่งคือ

(1) สมุหกลาโหมและสมุหทัย

(2) สมุหทัยและสมุหกระทรวงกลาโหม

(3) สมุห์บัญชีและสมุหมาตรา

(4) สมุหนายกและสมุหกลาโหม

(5) สมุหเสนาบดีและสมุหนายก

ตอบ 4 หน้า 32 – 33 ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยยังคงใช้รูปการปกครองแบบกรุงศรีอยุธยาอยู่เพิ่งจะมีการปฏิรูประบบราชการในทุก ๆ ด้านเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้ทรงยกเลิก จตุสดมภ์และตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่ง คือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม โดยแบ่งการ บริหารราชการออกเป็นกระทรวงตามแบบอารยประเทศ และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละ กระทรวง ซึ่งกระทรวงที่ตั้งขึ้นมีทั้งหมด 12 กระทรวง เช่น เมืองหรือนครบาล จัดการเกี่ยวกับเรื่องตํารวจและราชทัณฑ์, ยุติธรรม จัดการเรื่องชําระคดีและการศาล ฯลฯ

9 เมืองทดลองประชาธิปไตยที่มีการเรียกว่า “ดุสิตธานี” เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด

(1) รัชกาลที่ 2

(2) รัชกาลที่ 4

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 8

(5) ทุกรัชกาล

ตอบ 3 หน้า 43, 49 – 50 (S) รัชกาลที่ 6 ได้ทรงตั้งเมืองสมมุติ “ดุสิตธานี” ขึ้นในบริเวณวังพญาไทเพื่อจําลองรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นใช้ในเมืองสมมุตินั้น โดยโปรดให้มี “ธรรมนูญการปกครองแบบนคราภิบาล” ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง กําหนดให้มี พรรคการเมือง 2 พรรค มีการเลือกตั้งนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรี และมีสภาการเมืองแบบประเทศประชาธิปไตย

10 การปกครองแบบทศพิธราชธรรมเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด

(1) สมัยสุโขทัย

(2) สมัยอยุธยา

(3) สมัยกรุงธนบุรี

(4) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(5) สมัยรัชกาลที่ 5

ตอบ 1 (คําบรรยาย) การปกครองแบบทศพิธราชธรรมเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยสุโขทัย ทั้งนี้ทศพิธราชธรรม คือ จริยาวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจําพระองค์ (คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง) มี 10 ประการ ได้แก่ ทาน (การให้), ศีล (การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย), บริจาค (การเสียสละ), อาชชวะ (ความซื่อตรง), มัททวะ (ความอ่อนโยน), ตบะ (การข่มกิเลส), อักโกธะ (ความไม่โกรธ), อวิหิงสา (ความไม่เบียดเบียน), ขันติ (ความอดทน)และอวีโรธนะ (ความไม่คลาดจากธรรม)

11 “คณะราษฎร” เกี่ยวข้องกับเรื่องใดต่อไปนี้

(1) คณะยึดอํานาจการปกครอง พ.ศ. 2475

(2) คณะยึดอํานาจการปกครอง พ.ศ. 2476

(3) คณะชาติ พ.ศ. 2476

(4) คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

(5) คณะปฏิวัติ พ.ศ. 2502

ตอบ 1 หน้า 43 – 44 วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มทหารและพลเรือนซึ่งเรียกชื่อกลุ่มว่า“คณะราษฎร” ภายใต้การนําของ พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ยึดอํานาจการปกครอง จากรัชกาลที่ 7 แล้วทําการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

12 “กบฏแขก” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคใดของไทย

(1) ภาคใต้

(2) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

(3) ภาคเหนือ

(4) ภาคกลาง

(5) ภาคตะวันออก

ตอบ 1 (คําบรรยาย) กบฏที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 2453) ได้แก่

1 กบฎ ร.ศ. 102 (พ.ศ. 2426)

2 กบฎผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญ (ทางภาคอีสาน) พ.ศ. 2444

3 กบฏเงี่ยวเมืองแพร่ (ทางภาคเหนือ) พ.ศ. 2465

4 กบฏแขก (ทางภาคใต้) พ.ศ. 2445

13 ระบบราชการของไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด

(1) รัชกาลที่ 1

(2) รัชกาลที่ 2

(3) รัชกาลที่ 3

(4) รัชกาลที่ 4

(5) รัชกาลที่ 5

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 8 ประกอบ

14 วันที่ 10 ธันวาคม 2475 มีความสําคัญต่อประเทศไทยอย่างไร

(1) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1

(2) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2

(3) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3

(4) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4

(5) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5

ตอบ 2 หน้า 84 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 (รัฐธรรมนูญฯ 2475) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 และยังเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกที่ไม่มีคําว่า “ชั่วคราว”

15 การให้สมญานามว่า “รัฐบาลลืมเปลือกหอย” ควรตรงกับนายกรัฐมนตรีท่านใด

(1) นายบรรหาร ศิลปอาชา

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) นายควง อภัยวงศ์

(4) นายทวี บุณยเกตุ

(5) นายอานันท์ ปันยารชุน

ตอบ 5 (คําบรรยาย) นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในแต่ละยุคมักจะถูกตั้งฉายาตามบุคลิกหรือตามผลงานของผู้นําแต่ละคน เช่น จอมพล “ผ้าขาวม้าแดง” หมายถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “รัฐบาลหอย” หมายถึง รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร, “รัฐบาลลืมเปลือกหอย” หมายถึง รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน, “มีดโกนอาบน้ําผึ้ง” หมายถึง นายชวน หลีกภัย, “รัฐบาลขิงแก่” หมายถึง รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, “ดีแต่พูด” หมายถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ

16 คําใดในภาษาอังกฤษต่อไปนี้ที่ตรงกับความหมายของ “การปฏิวัติ”

(1) Reformism

(2) Revolution

(3) Reconstruction

(4) Retire

(5) Rebellion

ตอบ 2 หน้า 62, 45 (S) คําว่า “กบฏ ปฏิวัติ และรัฐประหาร” จะมีความหมายเหมือนกันในแง่ที่ว่าเป็นการใช้กําลังอาวุธโดยทหารยึดอํานาจทางการเมือง แต่จะมีความหมายแตกต่างกันในด้านผล ของการใช้กําลังความรุนแรงนั้น กล่าวคือ หากทําการไม่สําเร็จจะเรียกว่า “กบฏ” (Rebellion), หากทําการสําเร็จและเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนรัฐบาล (เปลี่ยนผู้ถืออํานาจรัฐหรือผู้คุมอํานาจ ทางการเมือง) จะเรียกว่า “รัฐประหาร” (Coup d’etat) แต่หากรัฐบาลใหม่ทําการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมูลฐานของระบอบการปกครองก็จะเรียกว่า “ปฏิวัติ” (Revolution)

17 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกี่ยวข้องกับข้อใดต่อไปนี้

(1) แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1

(2) โครงการทางหลวงชนบท

(3) การยึดอํานาจรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์

(4) โครงการต่อต้านภัยแล้ง

(5) การปราบกบฏพระเจ้าอนุวงศ์

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

18 สมาคมคณะราษฎร มีหลักการหรือแนวทางตรงกับข้อใดต่อไปนี้

(1) มีแนวคิดร่วมกันในชื่อของกลุ่มผลประโยชน์

(2) พรรคการเมืองแบบพฤตินัย

(3) ศาสนาเพื่อการแบ่งปัน

(4) องค์กรประชาชน

(5) สมาคมเพื่อรวมตัวของประชาชนเพื่อสร้างกลุ่มคัดค้านรัฐบาล

ตอบ 2 หน้า 288 พรรคการเมืองไทยพรรคแรกทางพฤตินัย คือ “สมาคมคณะราษฎร” ที่จัดตั้งขึ้นโดย“คณะราษฎร” คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะไม่ระบุว่าเป็นพรรคการเมือง แต่ก็มี เจตจํานง/มีหลักการหรือแนวทางเช่นเดียวกับพรรคการเมืองโดยทั่วไป คือ ประสงค์จะเข้ารับผิดชอบ ในการบริหารประเทศ ดังนั้นคณะราษฎรจึงมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองไทยพรรคแรกตามนิตินัย คือ “พรรคก้าวหน้า” ซึ่งริเริ่มจัดตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

19 บุคคลใดต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับคําว่า “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย”

(1) พระยาพหลพลพยุหเสนา

(2) นายปรีดี พนมยงค์

(3) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(4) พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

(5) นายชวน หลีกภัย

ตอบ 3 หน้า 66 (S) จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายสําคัญ คือ เน้นลัทธิชาตินิยม โดยมีหลักการสําคัญคือ รัฐบาลต้องมีอํานาจเด็ดขาด เพื่อนําประเทศไปสู่ความเจริญ และความมีอํานาจ โดยพยายามปลุกใจราษฎรให้รักชาติและเชื่อมั่นในรัฐบาล ดังคําขวัญในยุคนั้นที่ว่า “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย”

20 รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) จอมพลผิน ชุณหะวัณ และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

(2) นายพจน์ สารสิน, นายชวน หลีกภัย และนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

(3) นายปรีดี พนมยงค์, นายแนบ พหลโยธิน และจอมพล ป. พิบูลสงคราม

(4) พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตํารวจ

(5) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ตอบ 4 หน้า 77, (คําบรรยาย) รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เป็นการยึดอํานาจการปกครองโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่มีกําลังพลจากทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ และตํารวจ ภายใต้การนําของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปต่างประเทศ

21 พรรคการเมืองมีส่วนสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพราะ

(1) สร้างพลังให้อุดมการณ์

(2) ทําให้คนต่างถิ่นสามารถร่วมมือทางการเมืองได้

(3) สร้างเสถียรภาพให้รัฐบาล

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 287 พรรคการเมืองมีส่วนสําคัญต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นที่สร้างพลังให้กับอุดมการณ์ เป็นที่ ๆ อาจค้นหาเสียงส่วนใหญ่ของมหาชน และเป็นสถาบันที่ทําให้ประชาชนต่างท้องถิ่นสามารถร่วมมือกันทางการเมืองได้

22 ตําแหน่งนายอําเภอในการปกครองส่วนภูมิภาค

(1) สังกัดกรมการปกครอง

(2) มีฐานะสูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ในอําเภอ

(3) เป็นตําแหน่งที่มีระดับเท่ากับปลัดเทศบาล

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 409 นายอําเภอเป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอําเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอําเภอโดยมีปลัดอําเภอและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ในอําเภอนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือนายอําเภอ

23 ข้อใดเป็นหลักการสําคัญของการปกครองท้องถิ่น

(1) เป็นการปกครองชุมชนใดชุมชนหนึ่งโดยเฉพาะ

(2) มีหน่วยการปกครองเป็นนิติบุคคล

(3) อยู่ในกํากับของรัฐบาลส่วนกลาง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 433 435, (คําบรรยาย) การปกครองท้องถิ่นโดยทั่วไปมีลักษณะหรือหลักการสําคัญ ดังนี้

1 เป็นการปกครองชุมชนหรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศ

2 มีองค์การหรือหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแยกไปต่างหากจากรัฐบาลกลางโดยมีรายได้เป็นของตนเอง และมีอํานาจในการจัดเก็บภาษี 4 ประเภท คือ ภาษีอากรฆ่าสัตว์ ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบํารุงท้องที่

3 มีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ดําเนินงาน (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ)

4 มีอิสระในการดําเนินกิจการของท้องถิ่น (Autonomy) ภายในขอบเขตที่กฎหมายกําหนดและอยู่ในกํากับดูแลหรือการควบคุมของรัฐบาลกลาง

24 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน ได้แก่

(1) นายอําพล กิตติอําพล

(2) นายสมพร เทพสิทธา

(3) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

(4) นายพีรศักดิ์ พอจิต

(5) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

ตอบ 3 (ขาว) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และนายพรศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และ 2

25 ระบบคุณธรรมในการบริหารราชการไทย เป็นผลจากการ

(1) นิยมรับราชการ

(2) ถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์

(3) ยึดถือความไว้วางใจ

(4) เน้นประเพณีวัฒนธรรม

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 (คําบรรยาย) ระบบคุณธรรม (Merit System) หมายถึง ระบบที่มีการคัดเลือกบุคคลเข้าทํางาน โดยถือเกณฑ์ความรู้ความสามารถของบุคคล หรือความเหมาะสมระหว่างคุณสมบัติของบุคคลกับลักษณะงานเป็นสิ่งสําคัญ

26 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกฤษฎีกา

(3) พระราชกําหนด

(4) กฎกระทรวงมหาดไทย

(5) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

ตอบ 1 หน้า 402, 409 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้

1 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

2 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตอําเภอ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

27 พรรคการเมืองพรรคแรกทางนิตินัยของไทยคือพรรค

(1) กิจสังคม

(2) ก้าวหน้า

(3) สหชีพ

(4) คณะราษฎร

(5) ประชาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 18 ประกอบ

28 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีวาระในการดํารงตําแหน่งคราวละกี่ปี

(1) 2 ปี

(2) 3 ปี

(3) 4 ปี

(4) 5 ปี

(5) 6 ปี

ตอบ 3 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญฯ 2560 (ประกาศใช้ 6 เมษายน 2560) มาตรา 99 กําหนดให้ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกําหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง และมาตรา 100 กําหนดให้ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง

29 พรรคการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นโดย

(1) การสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ

(2) มีอุดมการณ์เป็นหลัก

(3) รวมบุคคลเพื่อหวังชนะเลือกตั้ง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 299 พรรคการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นโดยไม่มีอุดมการณ์เป็นหลักแต่เป็นการรวมตัวกันของบุคคลเพื่อหวังที่จะชนะการเลือกตั้งเป็นจุดมุ่งหมายที่สําคัญ ซึ่งก็ เป็นสาเหตุที่ทําให้พรรคการเมืองไทยขาดเสถียรภาพ เพราะสมาชิกพรรคมักมีความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์อยู่เสมอ

30 ประธานสภาผู้แทนราษฎรในการเมืองไทย

(1) จะต้องมาจากพรรคที่มี ส.ส. มากที่สุด

(2) ต้องลาออกจากพรรคเพื่อวางตนเป็นกลาง

(3) ปกติเมื่อได้รับเลือกให้เป็นแล้วจะเป็นตลอดวาระ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 197 – 198, (คําบรรยาย) ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรในการเมืองไทยจะมาจาก ส.ส.ของพรรคการเมืองใดก็ได้ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ปกติเมื่อได้รับเลือกให้ มาดํารงตําแหน่งแล้วจะทําหน้าที่ตลอดวาระของสภาฯ โดยจะต้องวางตัวให้เที่ยงธรรมและ ดําเนินการประชุมอย่างเป็นกลาง แม้ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายใดก็ตาม ทั้งนี้ทั้งประธาน และรองประธานสภาฯ จะยังคงเป็น ส.ส. ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพราะถ้าลาออกจากสมาชิกพรรคการเมืองจะทําให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 101 (8)

31 สํานักนายกรัฐมนตรี

(1) มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(2) จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ

(3) เป็นศูนย์กลางของคณะรัฐมนตรี

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 371, 373 สํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งการจัดตั้งหรือยุบส่วนราชการเหล่านี้ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ โดยสํานักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาฯ

32 ข้าราชการการเมือง

(1) เป็นฝ่ายกําหนดนโยบาย

(2) ต้องสังกัดพรรคการเมือง

(3) ไม่มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2 นาย

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 364 365 ข้าราชการการเมือง คือ บุคคลซึ่งรับราชการในตําแหน่งที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบายเป็นฝ่ายกําหนดนโยบายในการบริหารประเทศหรือนโยบายสาธารณะ และ คอยควบคุมฝ่ายข้าราชการประจําให้ปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ โดยข้าราชการการเมือง เข้าดํารงตําแหน่งตามวิถีทางของการเมืองหรือเหตุผลทางการเมือง และออกจากตําแหน่งตาม วาระหรือมีวาระในการดํารงตําแหน่ง ทั้งนี้ข้าราชการการเมืองส่วนใหญ่กฎหมายไม่ได้กําหนด ให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง มีเพียงบางตําแหน่งเท่านั้นที่จะต้องสังกัดพรรคการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี (ต้องมาจาก ส.ส. ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง) ฯลฯ

หมายเหตุ รัฐธรรมนูญฯ 2560 ไม่ได้ระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง (ส.ส.)

33 หน่วยการปกครองใดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค

(1) เมืองพัทยา

(2) เทศบาลนครเชียงใหม่

(3) จังหวัดนนทบุรี

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 402 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้ 2 ระดับ คือ จังหวัด และอําเภอ

34 กรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรประเภทใดอาจตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ให้เป็นกรรมาธิการได้

(1) กรรมาธิการสามัญ

(2) กรรมาธิการวิสามัญ

(3) กรรมาธิการเต็มสภา

(4) กรรมาธิการร่วมกัน

(5) กรรมาธิการครึ่งสภา

ตอบ 2 หน้า 199 คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎร เป็นคณะกรรมาธิการที่สภาฯ ตั้งขึ้นชั่วคราว โดยอาจตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการด้วยได้ และ ไม่จําเป็นต้องตั้งให้มีจํานวนตามหรือใกล้เคียงกับสัดส่วนของจํานวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมือง เหมือนคณะกรรมาธิการสามัญก็ได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญนี้จะทําหน้าที่เฉพาะกิจเท่านั้น คือ ทําหน้าที่พิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และเมื่อพิจารณาเรื่องนั้นเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะสลายตัวไป (รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 129)

35 รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กําหนดให้มีนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกจํานวน

(1) 30 คน

(2) ไม่เกิน 30 คน

(3) 35 คน

(4) ไม่เกิน 35 คน

(5) 36 คน

ตอบ 4 รัฐธรรมนูญฯ 2560 (รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน) มาตรา 158 กําหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

36 นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไทย เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่เท่าใด

(1) 25

(2) 26

(3) 27

(4) 28

(5) 29

ตอบ 5 (ข่าว) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย โดยเข้ารับตําแหน่งหลังจากก่อการรัฐประหารยึดอํานาจจากรัฐบาลประชาธิปไตย

37 กลุ่มผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตั้งขึ้นเพื่อ

(1) รวบรวมบุคคลเพื่อหวังชนะเลือกตั้ง

(2) มีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก

(3) สนับสนุนนโยบายรัฐบาล

(4) โน้มน้าวนโยบายรัฐบาลเพื่อกลุ่มของตน

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4 หน้า 313 กลุ่มผลประโยชน์ คือ กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเพราะมีอาชีพหรือมีจุดประสงค์อย่างเดียวกัน และมีความต้องการโน้มน้าวให้นโยบายของรัฐบาลตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มของตน หรือต้องการให้รัฐบาลมีนโยบายสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่ม

38 รัฐธรรมนูญฉบับก่อนฉบับปัจจุบัน ได้กําหนดให้ผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี คือ

(1) ประธานรัฐสภา

(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(3) ประธานวุฒิสภา

(4) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(5) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ตอบ 4 รัฐธรรมนูญฉบับก่อนฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 19 วรรค 4 กําหนดให้ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

39 สภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนฉบับปัจจุบันทําหน้าที่

(1) สภาผู้แทนราษฎร

(2) วุฒิสภา

(3) รัฐสภา

(4) ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4 สภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนฉบับปัจจุบันมีอํานาจหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทําแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ เช่น การเมือง การบริหาร ราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การปกครองท้องถิ่น การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม พลังงาน ฯลฯ (รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 27 และ 31)

40 ปัจจุบันมีการกําหนดให้ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตําแหน่งคราวละกี่ปี

(1) 2 ปี

(2) 3 ปี

(3) 4 ปี

(4) 5 ปี

(5) ไม่มีวาระอยู่จนเกษียณอายุครบ 60 ปี

ตอบ 5 หน้า 421 422 ผู้ใหญ่บ้านมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ไม่มีฐานะเป็นข้าราชการโดยผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในหมู่บ้านนั้น ๆ และจะอยู่ในตําแหน่งจนอายุครบ 60 ปี

41 รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ

(1) การเงินของประเทศ

(2) การปกครองประเทศ

(3) การใช้อํานาจของสถาบันการเมืองต่าง ๆ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกเฉพาะข้อ 2 กับ 3

ตอบ 5 หน้า 81 รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกําหนดรูปแบบและหลักการในการจัดการปกครองประเทศ การใช้อํานาจของผู้ปกครองหรือสถาบันการเมืองต่าง ๆการสืบต่ออํานาจ ตลอดจนขอบเขตหน้าที่และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

42 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยประกาศใช้เมื่อ

(1) 24 มิถุนายน 2475

(2) 27 มิถุนายน 2475

(3) 10 ธันวาคม 2475

(4) 9 พฤษภาคม 2489

(5) 9 พฤศจิกายน 2490

ตอบ 2 หน้า 83 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพ.ศ. 2475) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังนั้นจึงเกิดขึ้นหลังจากเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เพียง 3 วันเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กําหนดให้รัฐสภามีสภาเดียวเรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่มาจากการแต่งตั้งจํานวน 70 คน

43 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย กําหนดให้รัฐสภามสภาเดียวเรียกว่าสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนราษฎร ชั่วคราวที่มาจากการแต่งตั้งจํานวน

(1) 50 คน

(2) 60 คน

(3) 70 คน

(4) 80 คน

(5) 90 คน

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 42 ประกอบ

44 “ประธานคณะกรรมการราษฎร” หมายถึง

(1) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(2) ประธานวุฒิสภา

(3) ประธานองคมนตรี

(4) นายกรัฐมนตรี

(5) คณะรัฐมนตรี

ตอบ 4 หน้า 83 – 85, 159 – 160 ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 ได้เรียกตําแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารว่า“ประธานคณะกรรมการราษฎร” และเรียกคณะบริหารว่า “คณะกรรมการราษฎร” แต่ต่อมา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญฯ 2475 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเรียกตําแหน่งดังกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรี” และ “คณะรัฐมนตรี” ตามลําดับ

45 รัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับใดที่มีลักษณะให้ความสําคัญแก่ฝ่ายบริหารกว้างขวางมาก

(1) ฉบับที่ 3 ปี 2489

(2) ฉบับที่ 5 ปี 2492

(3) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(4) ฉบับที่ 8 ปี 2511

(5) ฉบับที่ 17 ปี 2549

ตอบ 3 หน้า 92 – 93, 71 (S) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 (ธรรมนูญการปกครองฯ 2502) ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการมากที่สุดของไทย เพราะมีการให้อํานาจอย่างกว้างขวางมากแก่ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ที่นอกจากจะมีอํานาจบริหารแล้วยังสามารถใช้อํานาจนิติบัญญัติและอํานาจตุลาการ ในบางกรณีได้ โดยระบุไว้ในมาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจสั่งการหรือกระทําการใด ๆ ได้ดังนั้นจึงถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ

46 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

(1) ฉบับที่ 3 ปี 2489

(2) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(3) ฉบับที่ 9 ปี 2515

(4) ฉบับที่ 12 ปี 2521

(5) ฉบับที่ 16 ปี 2540

ตอบ 5 หน้า 100, 114 รัฐธรรมนูญฯ 2540 (ฉบับที่ 16) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็นมากที่สุด จนได้รับสมญาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 และถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

47 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ปี 2550 จะระบุว่า

(1) ประธานองคมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

(3) ประธานวุฒิสภาจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

(4) นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

(5) คณะรัฐมนตรีทุกคนจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

ตอบ 4 หน้า 183 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 รัฐธรรมนูญฯ 2550) มาตรา 171 กําหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้ (ซึ่งเป็นข้อบังคับใหม่ที่กําหนดไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้)

48 “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ

(1) การคัดเลือกเพื่อหาประธานองคมนตรี

(2) การคัดเลือกเพื่อหาประธานสภาผู้แทนราษฎร

(3) การคัดเลือกเพื่อหาประธานวุฒิสภา

(4) การคัดเลือกเพื่อหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

(5) การคัดเลือกเพื่อหาผู้สําเร็จราชการ

ตอบ 4 หน้า 35, 150 – 151 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงบัญญัติกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์พ.ศ. 2467 ขึ้นใช้ นับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ได้วางลําดับสิทธิในการสืบราชสมบัติของกษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมนั้นมักจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในกรณีที่กษัตริย์ไม่มีโอรสหรือมิได้แสดงพระประสงค์ ว่าจะมอบให้ผู้ใดเป็นรัชทายาท โดยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นส่วนใหญ่วิธีการคัดเลือกเพื่อหา พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะใช้วิธีการแบบ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ การประชุมของบรรดาพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เสนาบดี และพระเถระชั้นราชาคณะ

49 พระราชอํานาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ จะระบุไว้ว่าหากพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอํานาจดังกล่าวจะทรงยับยั้งได้ภายในเวลากี่วันในช่วงแรก

(1) 30 วัน

(2) 45 วัน

(3) 60 วัน

(4) 75 วัน

(5) 90 วัน

ตอบ 5 หน้า 152 153 พระราชอํานาจในการยับยั้งร่าง พ.ร.บ. พระมหากษัตริย์ทรงกระทําได้ 2 วิธี คือ

1 พระราชทานคืนมาให้สภาพิจารณาใหม่ภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ ปกติรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่กําหนดไว้ 90 วัน (ช่วงแรก) ถ้าสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด ให้นายกฯ นําร่าง พ.ร.บ.นั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง เมื่อพระองค์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน (ช่วงหลัง) ให้นายกฯ นํา พ.ร.บ.นั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระองค์ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 146)

2 เก็บไว้เฉย ๆ จนครบกําหนดซึ่งเท่ากับว่าทรงไม่เห็นชอบด้วย

50 การเสด็จออกเยี่ยมประชาชนในต่างจังหวัดจะถือว่าเป็นพระราชกรณียกิจด้านใด (1) พิธีการ

(2) สังคมสงเคราะห์

(3) การปกครอง

(4) เพื่อพระราชทานคําเตือน

(5) ในด้านสิทธิที่จะได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ

ตอบ 3 หน้า 154 พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ อาจจําแนกออกได้เป็น 3 ด้าน คือ

1 พิธีการ โดยทรงเป็นองค์ประธานในพิธีการสําคัญต่าง ๆ ของชาติ

2 สังคมสงเคราะห์ โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือกิจการสาธารณกุศล

3 การปกครอง โดยการเสด็จออกเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเพื่อให้มีขวัญและกําลังใจดี

51 จํานวนของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ปี 2550

(1) 1 + 15

(2) 1 + 22

(3) 1 + 35

(4) 1 + 40

(5) 1 + 45

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 47 ประกอบ

52 หน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่สําคัญที่สุดคือ

(1) การควบคุมการประชุมของฝ่าย ส.ส. และ ส.ว.

(2) ออกกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติ

(3) บริหารราชการแผ่นดิน

(4) ตั้งกระทู้ถาม ส.ส. หรือ ส.ว. ในทุกเรื่อง

(5) ตรวจสอบการทํางานขององคมนตรี

ตอบ 3 หน้า 169 หน้าที่ที่สําคัญที่สุดของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี คือ วางนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน โดยเมื่อเข้ารับตําแหน่งต้องแถลงนโยบายต่อสภา และถ้าไม่ปฏิบัติตามนโยบายหรือ ปฏิบัติตามนโยบายแล้วล้มเหลวหรือไม่ได้ผล สมาชิกสภาก็มีสิทธิตั้งกระทู้ถามหรือขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้

53 ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีมีกี่รูปแบบ

(1) 1 รูปแบบ

(2) 2 รูปแบบ

(3) 3 รูปแบบ

(4) 4 รูปแบบ

(5) 5 รูปแบบ

ตอบ 2 หน้า 185, (คําบรรยาย) ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี มี 2 รูปแบบ คือ ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อ รัฐสภาในการกําหนดนโยบายและดําเนินการตามนโยบายของคณะรัฐมนตรี (รัฐธรรมนูญฯ2560 มาตรา 164 วรรค 2)

54 นายกรัฐมนตรีที่จะสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่รัฐบาลได้เป็นอย่างดีในประเทศไทย ส่วนใหญ่ มักจะมาจาก

(1) ข้าราชการครู

(2) ข้าราชการตํารวจ

(3) ข้าราชการทหาร

(4) ข้าราชการพลเรือน

(5) พลเรือน

ตอบ 3 หน้า 171, (คําบรรยาย) นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน แม้นายกฯ ส่วนใหญ่จะเป็นพลเรือนอยู่ถึง 20 คน แต่ถ้าเทียบอายุหรือระยะเวลาในการดํารงตําแหน่งจะพบว่า รัฐบาลที่มีพลเรือนเป็นนายกฯ มักจะขาดเสถียรภาพ ผิดกับรัฐบาลที่มีข้าราชการทหารเป็นนายกฯ ที่มักจะอยู่ได้นานจนสามารถสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่รัฐบาลได้เป็นอย่างดี

55 การแทรกแซงทางการเมืองของไทย มักจะเกิดขึ้นจากข้อใดเป็นประจํา

(1) ต่างประเทศเข้ามาล้วงลูก

(2) นักการเมืองไทยเองที่เข้ามาแทรกแซง

(3) มือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซง

(4) อํามาตย์เก่าเข้ามาแทรกแซง

(5) ทหารเข้ามาแทรกแซง

ตอบ 5 หน้า 172 ปัญหาของการแทรกแซงทางการเมืองในประเทศไทยมักจะเกิดขึ้นมาจากข้าราชการทหารมากที่สุด เพราะทหารมีกองกําลังติดอาวุธและรวมตัวกันเป็นกองทัพ จึงสามารถเข้าแทรกแซงทางการเมืองได้ด้วยวิธีการก่อรัฐประหารยึดอํานาจจากรัฐบาลที่มา จากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย และทําให้ระบบการเมืองของไทยไม่พัฒนา เกิดการหมุนเวียนเป็นวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย

56 กระทรวงยุติธรรม ตั้งขึ้นในสมัยใด

(1) สุโขทัย

(2) อยุธยา

(3) กรุงธนบุรี

(4) รัตนโกสินทร์ช่วง ร.1 – ร.4

(5) รัตนโกสินทร์ช่วง ร.5

ตอบ 5 หน้า 33, 255 กระทรวงยุติธรรมตั้งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูประบบการปกครอง ในปี พ.ศ. 2434 (ดูคําอธิบายข้อ 8. ประกอบ)

57 ศาลสถิตยุติธรรมจะแบ่งการพิจารณาคดีเมื่อมีการกระทําผิดเกิดขึ้นออกเป็นกี่ชั้น

(1) 1 ชั้น

(2) 2 ชั้น

(3) 3 ชั้น

(4) 4 ชั้น

(5) 5 ชั้น

ตอบ 3 หน้า 255 ศาลสถิตยุติธรรมจะแบ่งการพิจารณาคดีเมื่อมีการกระทําผิดเกิดขึ้นออกเป็น 3 ชั้นคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

58 คณะกรรมการตุลาการ (กต.) คือ

(1) หลักประกันสําหรับผู้พิพากษาในการวินิจฉัยคดีโดยไม่มีอิทธิพลอื่นเข้ามาแทรกแซง

(2) องค์กรอิสระดําเนินการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ย้าย ฯลฯ ผู้พิพากษา

(3) คณะกรรมการเลือกตั้ง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกเฉพาะข้อ 2 กับ 3

ตอบ 4 หน้า 259 260 หลักประกันสําหรับผู้พิพากษาที่จะสามารถมีอิสระในการวินิจฉัยคดีโดยปราศจากอิทธิพลของฝ่ายอื่นที่จะเข้ามาแทรกแซงบีบบังคับให้เปลี่ยนคําพิพากษา คือ การกําหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการ (กต.) เป็นองค์กรอิสระดําเนินการให้ความเห็นชอบ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย ถอดถอน เลื่อนตําแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของผู้พิพากษาดังนั้นการให้คุณให้โทษกับผู้พิพากษาจึงขึ้นอยู่กับคุณะกรรมการตุลาการ

59 พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามฯ พ.ศ. 2489 จะใช้บังคับที่จังหวัด

(1) พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี

(2) นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี

(3) สตูล นราธิวาส ยะลา ปัตตานี

(4) ตรัง นราธิวาส สงขลา ปัตตานี

(5) สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี

ตอบ 3 หน้า 261 ปกติผู้ที่อยู่ในประเทศเดียวกันย่อมได้รับการพิทักษ์และคุ้มครองด้วยกฎหมายฉบับเดียวกัน แต่สําหรับประเทศไทยได้มีการยกเว้นในเขต 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามฯ พ.ศ. 2489 ออกใช้บังคับในคดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกของคนไทยอิสลาม เพราะในเขต 4 จังหวัดภาคใต้ดังกล่าวนั้นประชาชนส่วนใหญ่ประมาณกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม

60 ในการใช้บังคับกฎหมายอิสลาม จะตัดสินตามเกณฑ์แห่งศาสนาได้ก็ต่อเมื่อ

(1) โจทก์มิได้นับถือศาสนาอิสลามแต่จําเลยนับถือศาสนาอิสลาม

(2) โจทก์นับถือศาสนาอิสลามแต่จําเลยมิได้นับถือศาสนาอิสลาม

(3) คู่กรณีต่างก็มิได้เป็นอิสลามิกชน

(4) คู่กรณีต่างก็เป็นอิสลามิกชนทั้งคู่

(5) ไม่มีเกณฑ์แล้วแต่จะเลือกใช้

ตอบ 4 หน้า 261 คดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกจะตัดสินตามเกณฑ์แห่งศาสนาอิสลามได้ก็ต่อเมื่อคู่กรณีเป็นอิสลามิกชนทั้งคู่ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้นับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ห้ามมิให้ถือเกณฑ์แห่งศาสนาอิสลามบังคับคดี และให้บังคับใช้เฉพาะในอาณาเขต 4 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น

61 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน คือ

(1) นายวิษณุ เครืองาม

(2) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

(3) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน

(4) นายมีชัย ฤชุพันธ์

(5) น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

ตอบ 5 (ข่าว) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน คือ น.พ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ซึ่งเข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559

62 รัฐธรรมนูญไทยฉบับ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้ตั้งแต่

(1) 6 เมษายน 2560

(2) 6 พฤษภาคม 2560

(3) 6 มิถุนายน 2560

(4) 4 กรกฎาคม 2560

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 28 ประกอบ

 

63 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญไทยฉบับ พ.ศ. 2560 เมื่อใด

(1) ปี 2560

(2) ปี 2561

(3) ปี 2562

(4) ปี 2563

(5) ปี 2564

ตอบ 2 (ข่าว) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญฯ 2560 ภายในปี พ.ศ. 2561

64 หลักการทั่วไปในการกระจายอํานาจข้อใดไม่ถูกต้อง

(1) ต้องมีชุมชน

(2) เป็นนิติบุคคล

(3) ผู้บริหารมาจากการแต่งตั้ง

(4) Autonomy

(5) ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 23 ประกอบ

65 ข้อใดกล่าวผิดเกี่ยวกับระบบราชการไทย

(1) นําแนวคิดของ Max Weber มาใช้

(2) นําแบบอย่างมาจากยุโรป

(3) ในสมัยสุโขทัยมีตําแหน่งลูกขุน

(4) เวียง วัง คลัง นา ประกาศใช้ครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4 หน้า 29, 363, (คําบรรยาย) ระบบราชการไทยนําแนวคิดของ Max Weber มาใช้ และนําแบบอย่างมาจากยุโรป โดยในสมัยสุโขทัยมีตําแหน่งลูกขุน ส่วนจตุสดมภ์ (เวียง วัง คลัง นา)ประกาศใช้ครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนต้น (สมัยพระเจ้าอู่ทอง)

 

ข้อ 66 – 70 ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) ราชาธิปไตย

(2) ทรราช

(3) อภิชนาธิปไตย

(4) คณาธิปไตย

(5) ประชาธิปไตย

 

66 รูปแบบการปกครองของไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์

ตอบ 4 หน้า 2 – 3, 3 – 4 (S) คณาธิปไตย (Oigarchy) คือ ระบอบการปกครองโดยคณะบุคคลซึ่งผู้ปกครองเป็นกลุ่มเผด็จการที่ทําเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกเป็นสําคัญ เป็นรูปแบบการปกครองที่มักจะเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารยึดอํานาจ เช่น รูปแบบการปกครองของไทยภายใต้คณะผู้นําทหารในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม-ประภาส และจอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม ฯลฯ

67 รูปแบบการปกครองที่ผู้นําเผด็จการปกครองขูดรีดประชาชน

ตอบ 2 หน้า 2 – 3, 3 – 4 (S) ทรราชหรือทุชนาธิปไตย (Tyranny) คือ ระบอบการปกครองที่อํานาจอธิปไตยอยู่ที่คนๆ เดียว โดยมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อผู้ปกครองหรือเพื่อหา ผลประโยชน์ให้กับตนเอง ดังนั้นจึงเป็นรูปแบบการปกครองโดยเผด็จการที่ฉ้อฉลหรือกดขี่ข่มเหงประชาชน อันเป็นการปกครองแบบ “ทํานาบนหลังคน” หรือ “ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน”

68 รูปแบบการปกครองที่คณะผู้นําทําเพื่อประโยชน์ของทวยราษฎร์

ตอบ 3 หน้า 2 – 4, 3 – 4 (S) อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) คือ ระบอบการปกครองโดยคณะบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือมีคุณภาพเหนือกว่าชนส่วนใหญ่ เช่น กลุ่มขุนนาง พวกเชื้อสายราชวงศ์ หรือชนชั้นสูง กลุ่มปัญญาชนคนมีความรู้ หรือกลุ่มชนที่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน ฯลฯ โดยมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อประชาชน ดังนั้นจึงเป็นลัทธิการเมืองที่ให้ความสําคัญกับ ชนชั้นสูงของสังคมและเป็นรูปแบบการปกครองที่คณะผู้ปกครองทําเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน หรือทวยราษฎร์ ถือเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดโดยคณะผู้ปกครอง

69 รูปแบบการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตอบ 1 หน้า 3, 3 – 6 (S) ราชาธิปไตย (Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่ได้รับอิทธิพลมาจากระบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) ในสมัยอยุธยา ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นการปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่อํานาจอธิปไตยจะอยู่ที่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว อันเป็นรูปแบบการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 – 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งการปกครองแบบราชาปราชญ์ (Philosopher King) ตามแนวคิดของเพลโต

70 รูปแบบการปกครองของไทยยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี – ตอบ 5 หน้า 11 – 12, 16, 79, (คําบรรยาย) ประชาธิปไตย (Democracy) เป็นระบอบการปกครองที่ยึดหลักว่าอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรืออํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของ ประชาชนหรือเป็นการปกครองโดยประชาชน (การปกครองที่คนหมู่มากเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตย) โดยรัฐบาลจะใช้อํานาจปกครองน้อยที่สุดเฉพาะเรื่องที่จําเป็นเท่านั้น ดังนั้นประชาธิปไตย จึงมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ให้ความสําคัญกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เชื่อในหลักการ แห่งกฎหมายและหลักการแห่งความเสมอภาค รวมทั้งคํานึงถึงหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือหลักสิทธิมนุษยชน (ยึดถือสิทธิในการปกครองตนเอง) เช่น ระบอบการเมืองการปกครอง ของประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมทั้งระบอบการเมือง ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติ 2475 ของไทย และระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

ข้อ 71- 75 ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) สิทธิ

(2) เสรีภาพ

(3) ความเสมอภาค

(4) หลักเหตุผลนิยม

(5) Public Spirit

 

71 ความสํานึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

ตอบ 5 หน้า 20 – 22 วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย มีลักษณะสําคัญดังนี้

1 เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล

2 มีระเบียบวินัย

3 การรู้จักประนีประนอม (Compromise) ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น รู้แพ้รู้ชนะ เช่น ยอมรับผลของการเลือกตั้ง ฯลฯ

4 มีความสํานึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (Public Spirit) โดยคนในสังคมมีความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของประเทศและประเทศเป็นของคนทุกคน

72 เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้ที่สามารถพูดจากันรู้เรื่อง

ตอบ 4 หน้า 20 – 21, 23 (S), (คําบรรยาย) หลักการแห่งเหตุผล/หลักเหตุผลนิยม (Rationalism) คือ การยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็มีเหตุผลของการกระทําใด ๆ เพราะประชาธิปไตยเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผลสามารถพูดจากันรู้เรื่อง โดยประชาธิปไตยจะดําเนินไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อ มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกต้องที่แท้จริง เช่น การยอมรับในข้อสรุปที่ได้จากการอภิปรายของสมาชิก เป็นต้น

73 ความสามารถที่จะกระทําการใด ๆ ได้ดั่งใจโดยไม่ละเมิดกฎหมาย

ตอบ 2 หน้า 12 เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง ความมีอิสระในการกระทําการใด ๆ ได้ตามความปรารถนาแต่มีขอบเขตจํากัดว่าการกระทํานั้น ๆ ต้องไม่ละเมิดกฎหมายหรือไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น

74 การบังคับใช้กฎหมาย Double Standard จะต้องไม่มี

ตอบ 3 หน้า 14 – 15, (คําบรรยาย) ความเสมอภาค (Equality) คือ การได้รับการปฏิบัติจากรัฐและกฎหมายโดยปราศจากความลําเอียงหรือเลือกปฏิบัติ โดยในระบอบประชาธิปไตยมีหลัก แห่งความเสมอภาค 5 ประการ คือ ความเสมอภาคทางการเมือง ความเสมอภาคทางกฎหมาย (คือ เมื่อกระทําผิดจะต้องใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างเดียวกัน จะต้องไม่มีการบังคับใช้ กฎหมายแบบ 2 มาตรฐานหรือ Double Standard) ความเสมอภาคในโอกาส ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และความเสมอภาคทางสังคม

75 เป็นอํานาจอันชอบธรรมในการกระทําใด ๆ ของสมาชิกของสังคม

ตอบ 1 หน้า 12 – 13 สิทธิ (Right) คือ อํานาจอันชอบธรรมหรือความสามารถหรือโอกาสที่จะกระทําหรือไม่กระทําการใด ๆ ได้โดยชอบธรรม สิทธิของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ โดยธรรมเนียมประเพณีหรือกฎหมาย ดังนั้นอํานาจอื่นหรือแม้กระทั้งอํานาจของรัฐจะก้าวก่าย สิทธิของบุคคลไม่ได้

 

ข้อ 76 – 80 ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) เสรีนิยม

(2) สังคมนิยม

(3) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

(4) อํานาจนิยม

(5) ชาตินิยม

76 ลัทธิที่ให้เสรีภาพเฉพาะด้านเศรษฐกิจสังคม แต่จํากัดเสรีภาพทางการเมือง

ตอบ 4 หน้า 6 – 7 อํานาจนิยม (Authoritarianism) คือ การที่รัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร โดยเฉพาะเสรีภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่จะจํากัดเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะการใช้อํานาจของรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เช่น รัฐบาลทหารของไทยการปกครองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฯลฯ

77 ยึดมั่นในแนวคิดเรื่อง “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย”

ตอบ 3 หน้า 6, 66 (S) เผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) คือ การที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองใช้อํานาจควบคุมประชาชนอย่างเคร่งครัดแทบจะสิ้นเชิงในทุกด้าน ทั้งเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยจะลงโทษอย่างรุนแรงหากประชาชนฝ่าฝืน ดังนั้นจึงเป็นระบบของ การใช้อํานาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม เช่น ระบบฟาสซิสต์ของ อิตาลี ระบบนาซีของเยอรมัน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือระบอบราชาธิปไตย และ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้อํานาจเด็ดขาดโดยยึดมั่นในแนวคิด “ผู้นําถูกต้องเสมอ” ดังคําขวัญ “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” เพื่อปลุกใจราษฎรให้เชื่อมั่นรัฐบาล ฯลฯ

78 ความเป็นอยู่ของประชาชนด้านเศรษฐกิจสังคมมีรัฐเป็นผู้ดูแล

ตอบ 2 หน้า 8, 8 (S) สังคมนิยม (Socialism) คือ ลัทธิทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเข้ามาควบคุมและกํากับดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านเศรษฐกิจหลักของประเทศ อันเป็นลัทธิเศรษฐกิจ ที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ารัฐต้องเข้ามาควบคุมและเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สําคัญของสังคม แต่จะยินยอมให้ประชาชนมีทรัพย์สินเป็นของตนเองได้บ้าง และเป็นลัทธิเศรษฐกิจที่ยึดหลัก แห่งความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันมากกว่าหลักเสรีภาพ เช่น ระบบหรือแนวคิดเรื่อง รัฐวิสาหกิจ ระบบเศรษฐกิจของสังคมเวียดนามและจีนยุคปัจจุบัน ฯลฯ

79 แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อในเรื่อง “ไร้พรมแดน”

ตอบ 5 หน้า 9, (คําบรรยาย) ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) คือ ลัทธิหรืออุดมการณ์ที่เน้นหรือให้ความสําคัญกับเรื่องของความมั่นคงและความเป็นเอกภาพของชาติ เชื่อและศรัทธาในพวกพ้อง และดินแดนเดียวกัน เน้นเรื่องความรักความผูกพันและความสมานฉันท์ต่อกันของคนในชาติ เชื่อว่าคนเราเกิดมาต่างก็เป็นหนี้ต่อบ้านเมืองของเราเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อ ในเรื่องสากลนิยม/ไร้พรมแดนที่ให้ความสําคัญในเรื่องผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติมากกว่า ผลประโยชน์ของชาติใดชาติหนึ่ง นอกจากนี้ลัทธิชาตินิยมยังเชื่อว่ารัฐกับมนุษย์ไม่แตกต่างกัน เพราะถ้าไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีรัฐ และรัฐจะอยู่ไม่ได้ถ้ามนุษย์ในรัฐไม่ช่วยกันปกป้องรักษารัฐของตนดังนั้นลัทธิชาตินิยมจึงต้องการให้สมาชิกทุกคนเชื่อฟังคําสั่งของรัฐโดยปราศจากเงื่อนไข

80 รัฐที่ใช้อํานาจในการปกครองน้อยที่สุด

ตอบ 1 หน้า 6, 7 – 8 (S) เสรีนิยม (Liberalism) เป็นระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่เน้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีลักษณะการใช้อํานาจแบบอิสระนิยม อันเป็นต้นแบบของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย โดยมองว่ารัฐที่ดีคือรัฐที่ใช้อํานาจในการปกครองและกํากับดูแลน้อยที่สุด ทั้งนี้รัฐบาลจะเข้าควบคุมหรือรักษากฎเกณฑ์เฉพาะส่วนที่จําเป็นเท่านั้น

81 สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นส่วนราชการเช่นเดียวกับ

(1) ทบวง

(2) กรม

(3) กระทรวง

(4) สํานักงานเลขานุการกรม

(5) กอง

ตอบ 2 หน้า 392 สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์

82 รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารเป็นข้าราชการ

(1) ข้าราชการประจํา

(2) ข้าราชการฝ่ายการเมือง

(3) ข้าราชการพิเศษ

(4) ข้าราชการกรณีพิเศษ

(5) ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ

ตอบ 1 หน้า 364 366 ข้าราชการประจํา ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน (เช่น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ฯลฯ) ข้าราชการทหาร และข้าราชการของหน่วยการปกครองท้องถิ่น (ส่วนข้าราชการการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ฯลฯ)

83 กรม/สํานักงานใด ผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการไม่ได้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

(1) สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

(2) สํานักงาน ก.พ.

(3) สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

(4) สํานักงานตํารวจแห่งชาติ

(5) สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ตอบ 3 หน้า 376, 389, 398 ส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ สํานักพระราชวัง, สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สํานักงานตํารวจแห่งชาติ, สํานักข่าวกรองแห่งชาติ, สํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), สํานักงบประมาณ, สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฯลฯ (สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เป็นส่วนราชการที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม)

84 การปกครองส่วนภูมิภาค หมายถึง

(1) การมอบอํานาจ

(2) การแบ่งอํานาจ

(3) การจัดสรรอํานาจ

(4) การรวมอํานาจ

(5) การกระจายอํานาจ

ตอบ 2 หน้า 359 360, 37:, 401, 433 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1 ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอํานาจปกครอง

2 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอํานาจปกครอง

3 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอํานาจปกครอง

85 ระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของกํานัน

(1) 4 ปี

(2) 5 ปี

(3) อยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 60 ปี

(4) อยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 55 ปี

(5) อยู่ในตําแหน่งตลอดชีวิต

ตอบ 3 หน้า 417 ตําแหน่งกํานันในปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในตําบลนั้น โดยกํานันต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย และจะอยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 60 ปี

86 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยรูปแบบใดเป็นรูปแบบพิเศษ

(1) อบต.

(2) เทศบาล

(3) ภูเก็ต

(4) พัทยา

(5) เกาะสมุย

ตอบ 4 หน้า 439, 465, 477 ปัจจุบันรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย มี 5 รูป ดังนี้

1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

2 องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)

3 เทศบาล

4 กรุงเทพมหานคร (กทม.)

5 เมืองพัทยา โดยกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ

87 ขณะนี้ประเทศไทย จัดให้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดจํานวนเท่าใด

(1) 77 จังหวัด

(2) 75 จังหวัด

(3) 74 จังหวัด

(4) 76 จังหวัด

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 439, (คําบรรยาย) องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดตั้งขึ้นทุกจังหวัด ๆ ละ 1 แห่ง โดย ในปัจจุบันประเทศไทยมีจังหวัดทั้งหมด 77 จังหวัด (บึงกาฬเป็นจังหวัดที่ 77) แต่มีองค์การ บริหารส่วนจังหวัดจํานวน 76 จังหวัด (ยกเว้น กทม.ที่เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ)

88 ใครเป็นรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

(1) นายมีชัย ฤชุพันธ์

(2) นายพีระศักดิ์ พอจิต

(3) นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ

(4) นายวิษณุ เครืองาม

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 (ข่าว) รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทั้งหมด 6 คน ได้แก่

1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

2 พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร

3 นายวิษณุ เครืองาม

4 พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย

5 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

6 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

89 การจัดตั้งจังหวัดต้องตราเป็นกฎหมายอะไร

(1) พระราชกฤษฎีกา

(2) พระราชบัญญัติ

(3) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

(4) กฎกระทรวง

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 26 ประกอบ

90 ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการประจําสังกัดหน่วยงานใด

(1) สํานักนายกรัฐมนตรี

(2) กระทรวงมหาดไทย

(3) กระทรวงศึกษาธิการ

(4) กรมการปกครอง

(5) ไม่สังกัดหน่วยงานใด

ตอบ 2 หน้า 404 ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นข้าราชการสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัด และทําหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดนั้น

91 การกําหนดโครงสร้างเมืองพัทยาของไทยในปัจจุบันมีลักษณะและรูปแบบใด (1) รัฐสภา

(2) แบบมีสภา

(3) ประธานาธิบดี

(4) แบบผสมรัฐสภาและประธานาธิบดี

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 450, 467, 478, (คําบรรยาย) การกําหนดโครงสร้างการจัดองค์การและการบริหารเมืองพัทยาของไทยในปัจจุบันนั้น มีลักษณะและรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดี (Presidential System) เหมือนกับโครงสร้างของเทศบาลและกรุงเทพมหานคร กล่าวคือ มีหัวหน้าฝ่ายบริหาร นายกเมืองพัทยา นายกเทศมนตรี ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภา ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยใช้หลักการแบ่งแยกอํานาจ (Separation)ตามแบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

92 ปัจจุบันประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือใคร

(1) นายวิษณุ เครืองาม

(2) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน

(3) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์

(4) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 24 ประกอบ

93 ผู้บริหารสูงสุดในสภาเทศบาล มีตําแหน่งเรียกว่าอะไร

(1) ประธานสภา

(2) ปลัดเทศบาล

(3) นายกเทศมนตรี

(4) ผู้อํานวยการสํานัก

(5) ประธานรัฐสภา

ตอบ 1 หน้า 450 – 454, 461 โครงสร้างการจัดองค์การและการบริหารเทศบาล แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาเทศบาล มีประธานสภาเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบหรือผู้บริหารสูงสุด

2 ฝ่ายบริหาร มีนายกเทศมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบหรือผู้บริหารสูงสุด

94 รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนคร แต่งตั้งได้จํานวนไม่เกินกี่คน

(1) 5 คน

(2) 4 คน

(3) 3 คน

(4) 2 คน

(5) 1 คน

ตอบ 2 หน้า 448, 453 นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ตามจํานวนดังต่อไปนี้

1 เทศบาลตําบล (เทศบาลขนาดเล็ก) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 2 คน

2 เทศบาลเมือง (เทศบาลขนาดกลาง) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน

3 เทศบาลนคร (เทศบาลขนาดใหญ่) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 4 คน

95 กรุงรัตนโกสินทร์ การปฏิรูประบบราชการไทยเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยใด

(1) ร.3

(2) ร.4

(3) ร.5

(4) ร.6

(5) ร.9

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 8 ประกอบ

96 หน้าที่หลักของเมืองพัทยาที่แตกต่างไปจากเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตําบล คืออะไร

(1) การรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย

(2) การประสานงานกับหน่วยงานปกครองท้องถิ่นอื่น

(3) สร้างถนน สะพาน

(4) การจัดการท่องเที่ยว

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 5 (คําบรรยาย) หน้าที่หลักขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยทั่วไปจะไม่แตกต่างกัน โดยอาจจะแตกต่างกันบ้างในหน้าที่รองหรือในรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 250 กําหนดให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีหน้าที่และอํานาจดูแลและจัดทํา บริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการ พัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

97 เทศบาลขนาดกลาง มีจํานวนสมาชิกสภาได้ไม่เกินกี่คน

(1) 10 คน

(2) 12 คน

(3) 16 คน

(4) 18 คน

(5) 24 คน

ตอบ 4 หน้า 448, 450 สมาชิกสภาเทศบาล มีจํานวนตามขนาดของเทศบาล ดังนี้

1 เทศบาลตําบล เป็นเทศบาลขนาดเล็ก มีสมาชิกสภาจํานวน 12 คน

2 เทศบาลเมือง เป็นเทศบาลขนาดกลาง มีสมาชิกสภาจํานวน 18 คน

3 เทศบาลนคร เป็นเทศบาลขนาดใหญ่ มีสมาชิกสภาจํานวน 24 คน

98 รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล กฎหมายกําหนดให้แต่งตั้งได้ไม่เกินกี่คน

(1) 2 คน

(2) 3 คน

(3) 4 คน

(4) 5 คน

(5) 6 คน

ตอบ 1 หน้า 489 นายกองค์การบริหารส่วนตําบลอาจแต่งตั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล ซึ่งมิใช่สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลเป็นผู้ช่วยเหลือในการบริหารราชการของ องค์การบริหารส่วนตําบลตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลมอบหมายได้ไม่เกิน 2 คน (พ.ร.บ. สภาตําบลและองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2547 มาตรา 58/3)

99 ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สังกัดพรรคการเมืองใด

(1) เพื่อไทย

(2) ประชาธิปัตย์

(3) ชาติไทยพัฒนา

(4) ไม่สังกัดพรรค

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) เป็นข้าราชการประจําดังนั้นจึงไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองใด (ดูคําอธิบายข้อ 90 ประกอบ)

100 ข้อใดเป็นอํานาจของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

(1) ตราข้อบัญญัติเทศบาล

(2) อนุมัติหรือไม่อนุมัติงบประมาณ

(3) วางนโยบาย

(4) ควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 442 443 อํานาจหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีดังนี้

1 กําหนดหรือวางนโยบาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของ อบจ.

2 สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของ อบจ.

3 วางระเบียบเพื่อให้งานของ อบจ. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ฯลฯ

 

POL1101 การเมืองและการปกครองไทย S/2559

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 1101 การเมืองและการปกครองไทย

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 การปกครองในสมัยอยุธยามีการปกครองในลักษณะเดียวกับในสมัยสุโขทัย ยกเว้นเรื่องใด

(1) ระบบขุนนางเจ้าขุนมูลนาย

(2) การค้าระหว่างประเทศ

(3) การกระจายอํานาจ

(4) การสืบทอดราชสมบัติ

(5) การปกครองแบบพ่อปกครองลูก

ตอบ 5 หน้า 25, 28 – 29 ระบบการปกครองในสมัยอยุธยามีลักษณะเช่นเดียวกับในสมัยสุโขทัยคือ เป็นระบบราชาธิปไตยแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่อํานาจอธิปไตยอยู่ที่กษัตริย์เพียง พระองค์เดียว แต่ที่ต่างกันคือ กษัตริย์สุโขทัยปกครองประชาชนในลักษณะพ่อปกครองลูก ส่วนกษัตริย์อยุธยามีลักษณะการปกครองแบบนายปกครองบ่าวหรือเจ้าปกครองข้า

2 สมัยสุโขทัยมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือ ทางด้านการค้านอกจากนั้นยังมีการค้าขาย ติดต่อกับ “ต่างประเทศ ประเทศใด

(1) มลายู

(2) อินเดีย

3 ศรีลังกา

(4) เปอร์เซีย

(5) อิสราเอล

ตอบ 1 หน้า 28 ในสมัยกรุงสุโขทัยนอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือแล้วก็ยังมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน มลายู ลังกา และมอญ โดยมีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษี “จกอบ” หรือภาษีศุลกากร เพื่อต้องการให้พ่อค้ามีความสนใจในการทําการค้า

3 “การปกครองแบบหัวเมือง” ในสมัยสุโขทัยมีความหมายตรงกับชื่อใด

(1) การปกครองส่วนกลาง

(2) การปกครองส่วนภูมิภาค

(3) การปกครองส่วนท้องถิ่น

(4) การปกครองแบบอิสระ

(5) การปกครองแบบกระจายอํานาจ

ตอบ 2 หน้า 26 การปกครองแบบหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยนั้น ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการจะอยู่ที่เมืองหลวง และแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 หัวเมืองชั้นใน

2 หัวเมืองชั้นนอก

3 หัวเมืองประเทศราช

 

4 “ราชวงศ์อู่ทอง” มีความสําคัญในฐานะผู้ปกครองของไทยในสมัยใด

(1) อาณาจักรทวาราวดี

(2) อาณาจักรสุโขทัย

(3) อาณาจักรศรีอยุธยา

(4) อาณาจักรธนบุรี

(5) อาณาจักรรัตนโกสินทร์

ตอบ 3 (คําบรรยาย) อาณาจักรศรีอยุธยามราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปกครอง 5 ราชวงศ์

1ราชวงศ์อู่ทอง

2 ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

3 ราชวงศ์สุโขทัย

4 ราชวงศ์ปราสาททอง

5 ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

5 การปกครองหัวเมืองในสมัยสุโขทัย ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการอยู่ที่ใด

(1) เมืองเอก

(2) เมืองหลวง

(3) เมืองชั้นใน

(4) เมืองชั้นนอก

(5) เมืองประเทศราช

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 3 ประกอบ

6 การถวายฎีกาหรือร้องทุกข์ของราษฎรโดยตรงกับพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ ของไทยในสมัยใด

(1) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(2) สมัยกรุงธนบุรี

(3) สมัยกรุงศรีอยุธยา

(4) สมัยสุโขทัย

(5) ก่อนสุโขทัย

ตอบ 4 หน้า 27 ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกาหรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพระมหากษัตริย์หรือพ่อขุน โดยในสมัยพ่อขุนรามคําแหงได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการถวายฎีกาก็ไปสั่นกระดิ่ง แล้วพระองค์ก็จะออกมาไต่สวนและชําระความให้

7 กษัตริย์ที่ทรงกอบกู้เอกราชในสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงให้กับพม่าครั้งที่ 1 ตรงกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

(1) พระมหินทราธิราชย์

(2) พระนารายณ์มหาราช

(3) พระนเรศวรมหาราช

(4) พระมหาธรรมราชา

(5) พระเจ้าตากสิน

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ไทยเสียกรุงให้กับพม่า 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112โดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปี พ.ศ. 2127 และครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปีเดียวกัน

8 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้มีการยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่งคือ

(1) สมุหกลาโหมและสมุหทัย

(2) สมุหทัยและสมุหกระทรวงกลาโหม

(3) สมุห์บัญชีและสมุหมาตรา

(4) สมุหนายกและสมุหกลาโหม

(5) สมุหเสนาบดีและสมุหนายก

ตอบ 4 หน้า 33 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูประบบการปกครองด้วยการยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่ง คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก รวมทั้งจตุสดมภ์ โดยแบ่งการบริหารราชการ ออกเป็น 12 กระทรวง เช่น เมืองหรือนครบาล จัดการเกี่ยวกับเรื่องตํารวจและราชทัณฑ์,ยุติธรรม จัดการเรื่องชําระคดีและการศาล, ยุทธนาธิการ จัดการเกี่ยวกับเรื่องการทหาร ฯลฯ

9 เมืองทดลองประชาธิปไตยที่มีการเรียกว่า “ดุสิตธานี” เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใด

(1) รัชกาลที่ 2

(2) รัชกาลที่ 4

(3) รัชกาลที่ 6

(4) รัชกาลที่ 8

(5) ทุกรัชกาล

ตอบ 3 หน้า 43, 49 – 50 (S) รัชกาลที่ 6 ได้ทรงตั้งเมืองสมมติ “ดุสิตธานี” ขึ้นในบริเวณวังพญาไทเพื่อจําลองรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยขึ้นใช้ในเมืองสมมุตินั้น โดยโปรดให้มี “ธรรมนูญการปกครองแบบนคราภิบาล” ซึ่งเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของเมือง กําหนดให้มี พรรคการเมือง 2 พรรค มีการเลือกตั้งนคราภิบาลหรือนายกเทศมนตรี และมีสภาการเมืองแบบประเทศประชาธิปไตย

10 สงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้ยุติลงตรงกับสมัยรัชกาลที่เท่าใด ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(1) สมัยรัชกาลที่ 1

(2) สมัยรัชกาลที่ 2

(3) สมัยรัชกาลที่ 3

(4) สมัยรัชกาลที่ 4

(5) สมัยรัชกาลที่ 5

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ความสัมพันธ์ระหว่างไทย (สยาม) กับพม่าในอดีตนั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปในด้านสงคราม โดยไทยกับพม่าทําสงครามกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ แต่สงครามได้ยุติหรือสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากพม่าแพ้สงครามและตกเป็น อาณานิคมของอังกฤษ

11 “คณะราษฎร” ผู้ก่อตั้งเกี่ยวข้องกับบุคคลกลุ่มใดต่อไปนี้

(1) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, ร.ท.แปลก ชีตตะสังคะ, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(2) นายปรีดี พนมยงค์, ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ, พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, จอมพลถนอม กิตติขจร

(3) นายแนบ พหลโยธิน, นายควง อภัยวงศ์, นายทวี บุณยเกตุ, นายปรีดี พนมยงค์, จอมพลถนอม กิตติขจร

(4) ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ท.แปลก ชีตตะสังคะ, นายปรีดี พนมยงค์, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี,นายตั้ว ลพานุกรม, นายจรูญ สิงหเสนี

(5) ร.ท.แปลก ชีตตะสังคะ, นายชวน หลีกภัย, นายแนบ พหลโยธิน, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร,นายควง อภัยวงศ์,

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ผู้ก่อตั้ง “คณะราษฎร” ซึ่งมีการจัดประชุมครั้งแรกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2469 มีทั้งหมด 7 คน ได้แก่ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม), ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี, นายปรีดี พนมยงค์, นายตัว ลพานุกรม นายจรูญ สิงหเสนี และนายแนบ พหลโยธิน

12 “กบฎผู้มีบุญ” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคใดของไทย

(1) ภาคเหนือ

(2) ภาคอีสาน

(3) ภาคใต้

(4) ภาคกลาง

(5) ภาคตะวันออก

ตอบ 2 (คําบรรยาย) กบฏที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453) ได้แก่

1 กบฏ ร.ศ. 102 (พ.ศ. 2426)

2 กบฎผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญ (ทางภาคอีสาน) พ.ศ. 2444

3 กบฏเงี่ยวเมืองแพร่ (ทางภาคเหนือ) พ.ศ. 2445

4 กบฏแขก (ทางภาคใต้) พ.ศ. 2445

13 เสนาบดีกระทรวงทุกกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานะเท่าเทียมกัน และเมื่อมีการประชุมร่วมกัน เรียกว่าอย่างไร

(1) เสนาบดีกระทรวง

(2) เสนาบดีทบวง

(3) เสนาบดีสภา

(4) เสนาบดีรัฐสภา

(5) เสนาบดีกระทรวงรัฐสภา

ตอบ 3 หน้า 33, (ดูคําอธิบายข้อ 8 ประกอบ) เสนาบดีกระทรวงทุกกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานะเท่าเทียมกันและประชุมร่วมกันเป็น “เสนาบดีสภา” (Council of State) ทําหน้าที่ เป็นที่ปรึกษาและช่วยบริหารราชการแผ่นดินตามที่กษัตริย์มอบหมาย เพราะอํานาจสูงสุดเด็ดขาดเป็นของกษัตริย์ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

14 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มีความสําคัญต่อประเทศไทยอย่างไร

(1) วันประกาศเลิกทาส

(2) วันที่ประเทศไทยได้เอกราช

(3) วันประกาศใช้กฎอัยการศึก

(4) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกที่ไม่มีคําว่า “ชั่วคราว”

(5) วันประกาศให้มีนายกรัฐมนตรี

ตอบ 4 หน้า 84 วันที่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกที่ไม่มีคําว่า “ชั่วคราว” นั่นคือ รัฐธรรมนูญฯ 2475 (ฉบับที่ 2)

15 การให้สมญานามว่า “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” ควรตรงกับนายกรัฐมนตรีท่านใด

(1) นายบรรหาร ศิลปอาชา

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) นายควง อภัยวงศ์

(4) นายทวี บุณยเกตุ

(5) นายอานันท์ ปันยารชุน

ตอบ 2 (คําบรรยาย) นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในแต่ละยุคมักจะถูกตั้งฉายาตามบุคลิกหรือตามผลงานของผู้นําแต่ละคน เช่น จอมพล “ผ้าขาวม้าแดง” หมายถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “ฤษีเลี้ยงลิง” หมายถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, “มีดโกนอาบน้ําผึ้ง” หมายถึง นายชวน หลีกภัย “รัฐบาลหอย” หมายถึง รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร, “รัฐบาลลืมเปลือกหอย” หมายถึง รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน, “รัฐบาลยิ่งแก่” หมายถึง รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, “ดีแต่พูด” หมายถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ฯลฯ

16 คําใดในภาษาอังกฤษต่อไปนี้ที่ตรงกับความหมายของ “การปฏิวัติ”

(1) Reform

(2) Revolution

(3) Reconstruction

(4) Retire

(5) Relative

ตอบ 2 หน้า 62, 45 (S) คําว่า “กบฏ ปฏิวัติ และรัฐประหาร” จะมีความหมายเหมือนกันในแง่ที่ว่าเป็นการใช้กําลังอาวุธโดยทหารยึดอํานาจทางการเมือง แต่จะมีความหมายแตกต่างกันในด้านผล ของการใช้กําลังความรุนแรงนั้น กล่าวคือ หากทําการไม่สําเร็จจะเรียกว่า “กบฏ” (Rebellion), หากทําการสําเร็จและเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนรัฐบาล (เปลี่ยนผู้ถืออํานาจรัฐหรือผู้คุมอํานาจ ทางการเมือง) จะเรียกว่า “รัฐประหาร” (Coup d’etat) แต่หากรัฐบาลใหม่ได้ทําการเปลี่ยนแปลง

โครงสร้างมูลฐานของระบอบการปกครองก็จะเรียกว่า “ปฏิวัติ” (Revolution)

17 แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 เกี่ยวข้องโดยตรงกับปี พ.ศ. ใด และบุคคลใดต่อไปนี้

(1) พ.ศ. 2502, นายปรีดี พนมยงค์

(2) พ.ศ. 2502, นายชวน หลีกภัย

(3) พ.ศ. 2504, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(4) พ.ศ. 2504, จอมพลถนอม กิตติขจร

(5) พ.ศ. 2506, นายทวี บุณยเกตุ

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ประเทศไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

18 สมาคมคณะราษฎร มีหลักการหรือแนวทางตรงกับข้อใดต่อไปนี้

(1) กลุ่มผลประโยชน์

(2) พรรคการเมือง

(3) ศาสนา

(4) องค์กรอิสระ

(5) สถานเริงรมย์

ตอบ 2 หน้า 288 พรรคการเมืองไทยพรรคแรกทางพฤตินัย คือ “สมาคมคณะราษฎร” ที่จัดตั้งขึ้นโดย“คณะราษฎร” คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะไม่ระบุว่าเป็นพรรคการเมือง แต่ก็มี เจตจํานง/มีหลักการหรือแนวทางเช่นเดียวกับพรรคการเมืองโดยทั่วไป คือ ประสงค์จะเข้ารับผิดชอบ ในการบริหารประเทศ ดังนั้นคณะราษฎรจึงมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองไทยพรรคแรกตามนิตินัย คือ “พรรคก้าวหน้า” ซึ่งริเริ่มจัดตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

19 การขอตั้ง “คณะชาติ” เพื่อทํากิจกรรมทางการเมืองเกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) พระยาพหลพลพยุหเสนา

(2) นายปรีดี พนมยงค์

(3) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(4) หลวงวิจิตรวาทการ

(5) หลวงอดลเดชจรัส

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การขอตั้งสมาคม “คณะชาติ” เมื่อต้นปี พ.ศ. 2476 เพื่อทํากิจกรรมทางการเมืองนั้นมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นเลขาสมาคมฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคานอํานาจสมาคมคณะราษฎร

20 รัฐประหาร พ.ศ. 2501 เกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลเอกเผ่า ศรียานนท์

(2) หลวงวิจิตรวาทการ, นายอานันท์ ปันยารชุน, พ.อ.สุนทร คงสมพงษ์

(3) นายพจน์ สารสิน, นายชวน หลีกภัย, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

(4) นายปรีดี พนมยงค์, นายแนบ พหลโยธิน, พระยาพหลพลพยุหเสนา

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 5 หน้า 69, (คําบรรยาย) รัฐประหาร พ.ศ. 2501 เกี่ยวข้องกับบุคคลต่าง ๆ เช่น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (หัวหน้าคณะรัฐประหาร) และจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดที่ได้รับการสนับสนุนจากจอมพลสฤษดิ์) ฯลฯ

21 รัฐธรรมนูญคือ

(1) กฎหมายที่กําหนดรูปแบบและหลักการในการจัดการปกครอง

(2) กฎหมายที่ว่าด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

(3) กฎหมายที่กําหนดถึงการรักษาความสงบเรียบร้อย

(4) กฎหมายที่กําหนดถึงความเป็นประชาธิปไตย

(5) กฎหมายที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย

ตอบ 1 หน้า 81 รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกําหนดรูปแบบและหลักการในการจัดการปกครองประเทศ การใช้อํานาจของผู้ปกครองหรือสถาบันการเมืองต่าง ๆการสืบต่ออํานาจ ตลอดจนขอบเขตหน้าที่และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

22 รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ใน

(1) ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

(2) ประเทศที่เป็นเผด็จการ

(3) ใช้ได้ทั้งประเทศประชาธิปไตยและประเทศเผด็จการ

(4) ประเทศที่มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

(5) ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองของประเทศนั้น ๆ

ตอบ 3 หน้า 82 ตามทฤษฎีแล้ว รัฐอธิปไตยทุกรัฐจะมีรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักหรือกติกาที่กําหนดแนวทางสําหรับการที่รัฐจะใช้อํานาจปกครองราษฎร ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญ จึงมิได้หมายความว่ารัฐนั้นเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญเช่นกัน

23 “สาระ” ของรัฐธรรมนูญคือ

(1) จะกล่าวถึงสิทธิโดยธรรมชาติของประชาชนในรัฐทุก ๆ รัฐ

(2) จะกล่าวถึงสัญชาตญาณของประชาชนในรัฐ

(3) จะกล่าวถึงการทําสัญญากันระหว่างรัฐกับประชาชน

(4) จะกล่าวถึงการกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล

(5) จะกล่าวถึงการกําหนดขั้นตอนและวิธีการแก้ไขกฎหมายธรรมดาต่าง ๆ

ตอบ 5 หน้า 175 (S) ในรายละเอียดและเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะมีบทบัญญัติที่กล่าวถึงกระบวนการหรือขั้นตอนและวิธีการออกหรือตราและแก้ไขกฎหมายเอาไว้ ซึ่งในการยกร่างกฎหมาย แต่ละฉบับจะต้องอ้างอิงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจของการออกกฎหมายไว้เสมอ เพราะการออกกฎหมายของรัฐแต่ละฉบับจะกระทําโดยละเมิดรัฐธรรมนูญไม่ได้

24 รัฐธรรมนูญของไทยฉบับแรกเกิดขึ้นเมื่อ

(1) 3 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

(2) 4 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

(3) 5 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

(4) 6 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

(5) 7 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

ตอบ 1 หน้า 83 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังนั้นจึงเกิดขึ้นหลังจากเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เพียง 3 วันเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กําหนดให้รัฐสภามีสภาเดียว เรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่มาจากการแต่งตั้งจํานวน 70 คน

25 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่ระบุว่าให้มี “สภาเดียว” เป็นฉบับแรก

(1) ฉบับชั่วคราว ปี 2475

(2) ฉบับถาวร ปี 2475

(3) ฉบับถาวร ปี 2489

(4) ฉบับถาวร ปี 2540

(5) ฉบับชั่วคราว ปี 2549

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 24 ประกอบ

26 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2489 จะเป็นฉบับแรกที่

(1) มีการระบุถึงการมีสภาเดียว

(2) มีการระบุถึงสมาชิกสภาประเภท 1 ว่าต้องมาจากประชาชนเลือกตั้งเข้ามา

(3) มีการระบุให้แยกข้าราชการประจําออกจากข้าราชการการเมือง

(4) มีอายุการใช้ยาวนานถึง 14 ปี

(5) มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ทุ่ม”

ตอบ 3 หน้า 86 – 87 รัฐธรรมนูญฯ 2489 (ฉบับที่ 3) มีลักษณะสําคัญคือ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีบทบัญญัติแยกข้าราชการประจําออกจากข้าราชการการเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ “รัฐสภา” จากสภาเดียว (ตามรัฐธรรมนูญฯ 2475) ไปเป็นสภาคู่ (2 สภา) ได้แก่

1 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยตรง

2 พฤฒิสภา (วุฒิสภา) ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยอ้อม

27 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่กําหนดอํานาจหน้าที่ให้ฝ่ายบริหารคือ คณะรัฐมนตรีมีอํานาจกว้างขวางสามารถใช้อํานาจได้ทั้งอํานาจนิติบัญญัติและอํานาจตุลาการในบางกรณีได้ โดยระบุไว้ใน ม.17

(1) ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2490

(2) ฉบับที่ 5 ปี พ.ศ. 2492

(3) ฉบับที่ 6 ปี พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495

(4) ฉบับที่ 7 ปี พ.ศ. 2502

(5) ฉบับที่ 17 ปี พ.ศ. 2549

ตอบ 4 หน้า 92 93, 71 (S) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 (ธรรมนูญการปกครองฯ 2502) ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการมากที่สุดของไทย เพราะมีการให้อํานาจอย่างกว้างขวางมากแก่ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ที่นอกจากจะมีอํานาจบริหารแล้วยังสามารถใช้อํานาจนิติบัญญัติและอํานาจตุลาการ ในบางกรณีได้ โดยระบุไว้ในมาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจสั่งการหรือกระทําการใด ๆ ได้ดังนั้นจึงถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ

28 “ประธานคณะกรรมการราษฎร” หมายถึง

(1) ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) ประธานสมาชิกพฤฒิสภา

(3) ประธานสมาชิกวุฒิสภา

(4) คณะรัฐมนตรี

(5) นายกรัฐมนตรี

ตอบ 5 หน้า 83 – 85, 159 – 160 ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 ได้เรียกตําแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารว่า“ประธานคณะกรรมการราษฎร” และเรียกคณะบริหารว่า “คณะกรรมการราษฎร” แต่ต่อมา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญฯ 2475 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเรียกตําแหน่งดังกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรี” และ “คณะรัฐมนตรี” ตามลําดับ

29 พระมหากษัตริย์ในสมัยใดที่มีบทบาทเป็น “พ่อ” ของราษฎร

(1) สมัยก่อนสุโขทัย

(2) สมัยสุโขทัย

(3) สมัยอยุธยา

(4) สมัยกรุงธนบุรี

(5) สมัยปัจจุบัน

ตอบ 2 หน้า 147, 156, (คําบรรยาย) บทบาทของพระมหากษัตริย์จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยในสมัยสุโขทัยพระมหากษัตริย์วางพระองค์อยู่ในฐานะเปรียบเสมือนบิดาปกครองบุตร นั่นคือ มีบทบาทเป็น “พ่อ” ของราษฎร ส่วนในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ บทบาทของ พระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงมาอยู่ในฐานะเป็น “เจ้าชีวิต” ของราษฎร และต่อมาภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จนถึงปัจจุบัน บทบาทของพระมหากษัตริย์ก็เปลี่ยนแปลง ไปเป็นกษัตริย์ที่มีอํานาจจํากัด (Limited Monarchy) กล่าวคือ ทรงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศมากกว่าที่จะทรงมีพระราชอํานาจในด้านการบริหารโดยตรง

30 พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย

(1) ทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

(2) มีพระราชอํานาจในการบริหารประเทศโดยตรง

(3) มีพระราชอํานาจในการออกกฎหมายโดยตรง

(4) มีพระราชอํานาจในการสั่งการด้านตุลาการโดยตรง

(5) ทรงมีทุกข้อที่กล่าวมา

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 29 ประกอบ

31 ตําแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัย

(1) รัชกาลที่ 2

(2) รัชกาลที่ 3

(3) รัชกาลที่ 4

(4) รัชกาลที่ 5

(5) รัชกาลที่ 6

ตอบ 4 หน้า 151 ในปี พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาตําแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นตําแหน่งรัชทายาทที่จะได้ทรงสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

32 ประเทศไทยถวายสิทธิของพระมหากษัตริย์ไว้ ดังนี้

(1) สิทธิที่จะเลือกพระราชธิดาขึ้นสืบสันตติวงศ์โดยพระองค์เอง

(2) สิทธิที่จะเลือกผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดยพระองค์เอง

(3) สิทธิที่จะรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ

(4) สิทธิที่จะกระทําการสิ่งใดก็ได้ในประเทศ

(5) สิทธิที่จะใช้สิทธิทางการเมืองในด้านต่าง ๆ

ตอบ 3 หน้า 151 – 152 สิทธิของพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย ได้แก่

1 สิทธิที่จะให้คําเตือน

2 สิทธิที่จะได้รับทราบเรื่องราวต่าง ๆ

3 สิทธิที่จะพระราชทานคําปรึกษาหารือ

4 สิทธิที่จะสนับสนุน

33 พระมหากษัตริย์ไทยทรง

(1) มีอํานาจไม่จํากัด (Unlimited Monarchy)

(2) มีอํานาจจํากัด (Limited Monarchy)

(3) ไม่มีอํานาจเลย

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 29 ประกอบ

34 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

(1) ฉบับที่ 3 ปี 2489

(2) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(3) ฉบับที่ 9 ปี 2515

(4) ฉบับที่ 12 ปี 2521

(5) ฉบับที่ 16 ปี 2540

ตอบ 5 หน้า 100, 114 รัฐธรรมนูญฯ 2540 (ฉบับที่ 16) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็นมากที่สุด จนได้รับสมญาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 และถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

35 ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทรงตั้งไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในปัจจุบันเรียกว่า

(1) คณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์

(2) คณะองคมนตรี

(3) คณะอภิรัฐมนตรี

(4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 2 และ 3

ตอบ 2 หน้า 155 คณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทรงตั้งไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในปัจจุบันเรียกว่า “คณะองคมนตรี” (รัฐธรรมนูญฯ 2560 มาตรา 10)

36 พรรคการเมืองได้รับการกล่าวถึงอย่างเปิดเผยและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญฉบับปีใด

(1) 2475

(2) 2489

(3) 2490

(4) 2492

(5) 2502

ตอบ 2 หน้า 287 288 พรรคการเมืองได้รับการกล่าวถึงอย่างเปิดเผยและถูกต้องในทางนิตินัยเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฯ 2489 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการตั้งคณะพรรคการเมืองทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย”

37 พรรคการเมืองของไทยในอดีตคือ

(1) ระบบพรรคเด่นพรรคเดียว

(2) ระบบ 2 พรรค

(3) ระบบหลายพรรค

(4) ระบบรัฐบาลผสม

(5) ระบบรัฐบาลเสียงข้างมาก

ตอบ 1 หน้า 292 ในอดีตนั้นระบบพรรคการเมืองไทยเรียกได้ว่าเป็นระบบพรรคเด่นพรรคเดียว(One Dominant Party) เพราะมีกลุ่มการเมืองเพียงกลุ่มเดียวคือ กลุ่มข้าราชการประจํา โดยเฉพาะทหารที่แม้จะไม่ได้จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยเปิดเผย แต่สามารถเข้าครอบงํา และควบคุมอํานาจทางการเมืองได้ จึงทําให้มีการวิเคราะห์กันว่าเมืองไทยมีการปกครองแบบ อํามาตยาธิปไตย (Bureaucratic Oligarchy) คือ ข้าราชการเป็นผู้คุมอํานาจทางการเมือง

38 หน้าที่สําคัญของพรรคการเมืองไทยคือ

(1) ดําเนินการในการเลือกตั้งเพื่อเข้าเป็นรัฐบาล

(2) รวบรวมค้นหาเสียงส่วนใหญ่ของมหาชน

(3) สนับสนุนอํานาจหรืออิทธิพลทางการเมืองของบุคคลหรือคณะบุคคล

(4) สนับสนุนเรื่องเงินค่าใช้จ่ายแก่สมาชิกพรรค

(5) รวบรวมหรือดึงตัวอดีต ส.ส. ที่มีชื่อเสียงให้เข้ามาสังกัดในพรรคตนเอง

ตอบ 3 หน้า 291 หน้าที่สําคัญของพรรคการเมืองไทย คือ การสนับสนุนอํานาจหรืออิทธิพลทางการเมืองของบุคคลหรือคณะบุคคล เช่น การก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาก็เพื่อที่จะสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ฯลฯ

39 พรรคการเมืองไทยมีลักษณะโครงสร้าง

(1) มีฐานรองรับจากประชาชนจํานวนมาก

(2) สมาชิกสามารถเปลี่ยนพรรคได้ตามอัธยาศัย

(3) นักการเมืองมีอุดมการณ์มากกว่าเรื่องผลประโยชน์

(4) ขาดการมีฐานรองรับจากประชาชนจํานวนมาก

(5) สมาชิกมีระเบียบวินัยมาก

ตอบ 4 หน้า 292 ลักษณะโครงสร้างของพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ คือ ขาดฐานรองรับจากประชาชนการจัดโครงสร้างพรรคการเมืองจะเน้นเฉพาะในเมืองหลวง มีพรรคการเมืองน้อยพรรคมาก ที่มีสาขาแผ่ขยายอยู่ในภูมิภาค ดังนั้นปัญหาหลักของระบบพรรคการเมืองไทยที่ผ่านมา คือขาดฐานสนับสนุนอย่างแท้จริงจากประชาชนในท้องถิ่น

40 พรรคการเมืองไทยพรรคใดที่ถือกันว่าเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่ถูกต้องตามนิตินัย

(1) พรรคสหชีพ

(2) พรรคก้าวหน้า

(3) สมาคมคณะราษฎร

(4) พรรคประชาธิปัตย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 18 ประกอบ

41 ตําแหน่ง “วิป” ในสภาผู้แทนราษฎรเท่าที่เคยมีมา หมายถึง

(1) เลขาธิการพรรค

(2) รองประธานพรรค

(3) โฆษกพรรค

(4) ผู้ประสานงานพรรค

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 4 หน้า 200 วิป (Whip) หรือผู้ประสานงานพรรค เป็นตําแหน่งที่มิได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด แต่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติที่ยอมรับนับถือกันมานาน โดยทําหน้าที่ประสานงานของ แต่ละพรรคการเมืองในสภา เช่น ควบคุมเสียงของพรรคในเวลาลงมติในสภา การจัดวางผู้ที่จะ ทําการอภิปรายของพรรค รักษาวินัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในบรรดาสมาชิกพรรคติดต่อกับพรรคการเมืองอื่น ๆ เพื่อปรึกษาหารือหรือทําความตกลงกันในบางเรื่อง ฯลฯ

42 การจัดตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตอําเภอให้ตราเป็น

(1) กฎกระทรวง

(2) พระราชบัญญัติ

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) ประกาศกระทรวง

(5) พระราชกําหนด

ตอบ 3 หน้า 402, 409 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้

1 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

2 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตอําเภอ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

43 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เท่าใด

(1) ฉบับที่ 17

(2) ฉบับที่ 18 มีนาคม

(3) ฉบับที่ 19 มกราคม

(4) ฉบับที่ 20

(5) ฉบับที่ 21

ตอบ 4 (คําบรรยาย) นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วรวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่ตั้งใจประกาศใช้เป็นการถาวร 12 ฉบับ และตั้งใจประกาศใช้เป็นการชั่วคราว 8 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับที่ 20 คือ รัฐธรรมนูญฯ 2560 ประกาศใช้ 6 เมษายน 2560)

44 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่เท่าใด

(2) 28

(3) 29

(4) 30

(5) 31

ตอบ 3 (ข่าว) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย โดยเริ่มเข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 – ปัจจุบัน

45 สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ทําหน้าที่

(1) รัฐสภา

(2) สภาผู้แทนราษฎร

(3) วุฒิสภา

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 6 กําหนดให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และมีอายุไม่ต่ํากว่า 40 ปี ตามที่ คสช. ถวายคําแนะนําให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

46 ปัญหาสําคัญของการเลือกตั้งในการเมืองไทยที่ผ่านมา

(1) ประชาสัมพันธ์น้อยเกินไป

(2) มีความไม่สะดวกในการใช้สิทธิ

(3) มีผู้สมัครมากเกินไปเลือกยาก

(4) มีความสับสนวุ่นวาย

(5) มีการซื้อสิทธิขายเสียง

ตอบ 5 หน้า 334, (คําบรรยาย) ปัญหาสําคัญของการเลือกตั้งทุกระดับที่ผ่านมาของไทย คือ การซื้อสิทธิขายเสียง การใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่งขัน การใช้อิทธิพลและอํานาจมืดในการจํากัดโอกาสของผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนหรือบางพรรคการเมือง รวมทั้งการใช้กลโกงต่าง ๆ

47 สํานักนายกรัฐมนตรี

(1) จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ

(2) มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(3) นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาฯ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 371, 373 สํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งการจัดตั้งหรือยุบส่วนราชการเหล่านี้ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ โดยสํานักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาฯ

48 บทบาทและพฤติกรรมของพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักเป็นดังนี้

(1) จะต่อรองด้านผลประโยชน์หรือตําแหน่งมากกว่านโยบาย

(2) เป็นที่รวมของบุคคลซึ่งมุ่งสนับสนุนอํานาจหรืออิทธิพลทางการเมืองของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

(3) ส่วนมากพรรคมีลักษณะสอดคล้องกับหลักสากลของความเป็นพรรคการเมือง (4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 291 บทบาทและพฤติกรรมของพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในบรรยากาศการเมืองไทยอาจสรุปได้ว่า “เป็นที่รวมของบุคคลซึ่งมุ่งจะสนับสนุนอํานาจหรืออิทธิพลทางการเมืองของ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” ซึ่งจะเห็นได้จากการรวมตัวกันเป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองต่าง ๆมักจะต่อรองกันทางด้านผลประโยชน์หรือตําแหน่งมากกว่านโยบาย ๆ

49 ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนใดใช้หลักแบ่งอํานาจปกครอง

(1) ส่วนกลาง

(2) ส่วนท้องถิ่น

(3) ส่วนภูมิภาค

(4) ส่วนท้องที่

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3 หน้า 359 360, 371, 401, 433 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1 ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอํานาจปกครอง

2 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอํานาจปกครอง

3 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอํานาจปกครอง

50 การแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมกระทําโดยการพิจารณาของ

(1) นายกรัฐมนตรี

(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

(3) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน

(4) ปลัดกระทรวงยุติธรรม

(5) คณะกรรมการตุลาการ (กต.)

ตอบ 5 หน้า 259 260 หลักประกันสําหรับผู้พิพากษาที่จะสามารถมีอิสระในการวินิจฉัยคดีโดยปราศจากอิทธิพลของฝ่ายอื่นที่จะเข้ามาแทรกแซงบีบบังคับเปลี่ยนคําพิพากษา คือ การกําหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการ (กต.) เป็นองค์กรอิสระดําเนินการให้ความเห็นชอบ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้าย ถอดถอน เลื่อนตําแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนผู้พิพากษา ดังนั้นการให้คุณให้โทษกับผู้พิพากษาจึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตุลาการ

51 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2557 ต้อง

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

(3) อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 3

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 45 ประกอบ

52 ระบบหลายพรรคในบรรยากาศการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาทําให้

(1) เกิดรัฐบาลผสม

(2) รัฐบาลขาดเสถียรภาพ

(3) แต่ละพรรคมุ่งดําเนินบทบาทเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสําคัญ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 299 ระบบหลายพรรคในบรรยากาศทางการเมืองไทยที่ผ่านมาทําให้

1 เกิดรัฐบาลผสม เพราะไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากเด็ดขาดพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว

2 แต่ละพรรคมุ่งดําเนินบทบาทเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสําคัญมากกว่าส่วนรวม

3 รัฐบาลขาดเสถียรภาพและต้องล้มบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการขัดแย้งขึ้นระหว่างสมาชิกของพรรคต่าง ๆ ที่ร่วมรัฐบาล

 

53 ตําแหน่งปลัดจังหวัด

(1) สังกัดกรมการปกครอง

(2) มีฐานะสูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ในจังหวัดนั้น

(3) จังหวัดหนึ่งอาจมีหลายคนก็ได้

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 405 ปลัดจังหวัด เป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าส่วนราชการแผนกการปกครองของจังหวัด มีฐานะเท่าเทียมกับหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆในจังหวัดนั้นทุกประการ โดยเป็นผู้รับผิดชอบในงานของกรมการปกครองในจังหวัดนั้น

54 การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ครั้งล่าสุด กําหนดให้มีกี่กระทรวง

(1) 30 กระทรวง

(2) 25 กระทรวง

(3) 20 กระทรวง

(4) 18 กระทรวง

(5) 15 กระทรวง

ตอบ 3 หน้า 387 – 388 การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ครั้งล่าสุดเป็นไปตาม พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 ได้กําหนดให้มีกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวงจํานวน 20 กระทรวง

55 รัฐธรรมนูญไทยส่วนใหญ่ กําหนดให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีคือ

(1) ประธานรัฐสภา

(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(3) ประธานศาลฎีกา

(4) ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

(5) ประธานองคมนตรี

ตอบ 5 หน้า 155 ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองคมนตรีและประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรี

56 กลุ่มผลประโยชน์ประเภทใดที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ

(1) กลุ่มลูกจ้าง

(2) กลุ่มนายจ้าง

(3) กลุ่มมาตุภูมิ

(4) กลุ่มอาสาสมัคร

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3 หน้า 314 กลุ่มมาตุภูมิ เป็นกลุ่มที่อาจกล่าวได้ว่าแทบจะไม่มีบทบาททางการเมืองเลยหรือเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยมีกิจกรรมเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ เพราะการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นหมู่ ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะส่งเสริมความสามัคคีในหมู่พรรคพวกเดียวกัน เพื่อพบปะและเผยแพร่ชื่อเสียงของกลุ่ม

57 สํานักงานตํารวจแห่งชาติ เป็นส่วนราชการ

(1) มีฐานะเป็นกรม

(2) อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

(3) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 376, 398 399 ส่วนราชการไม่สังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงที่มีฐานะเป็นกรม และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีดังนี้ สํานักราชเลขาธิการ สํานักพระราชวัง สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อ ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ สํานักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถาน และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ

58 ระบบคุณธรรมในการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นผลจากการ

(1) ถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์

(2) เน้นประเพณีวัฒนธรรม

(3) ยึดถือความไว้วางใจ

(4) นิยมรับราชการ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ระบบคุณธรรม (Merit System) หมายถึง ระบบที่มีการคัดเลือกบุคคลเข้าทํางาน โดยถือเกณฑ์ความรู้ความสามารถของบุคคล หรือความเหมาะสมระหว่างคุณสมบัติของบุคคลกับลักษณะงานเป็นสิ่งสําคัญ

59 ข้าราชการการเมือง

(1) มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(2) ต้องสังกัดพรรคการเมือง

(3) เป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 364 365 ข้าราชการการเมือง คือ บุคคลซึ่งรับราชการในตําแหน่งที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบาย เป็นฝ่ายกําหนดนโยบายในการบริหารประเทศหรือนโยบายสาธารณะ และคอยควบคุมฝ่ายข้าราชการประจําให้ปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ โดยข้าราชการการเมือง เข้าดํารงตําแหน่งตามวิถีทางของการเมืองหรือเหตุผลทางการเมือง และออกจากตําแหน่งตาม วาระหรือมีวาระในการดํารงตําแหน่ง ทั้งนี้ข้าราชการการเมืองส่วนใหญ่กฎหมายไม่ได้กําหนด ให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง มีเพียงบางตําแหน่งเท่านั้นที่จะต้องสังกัดพรรคการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี (ต้องมาจาก ส.ส. ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง) ฯลฯ

หมายเหตุ รัฐธรรมนูญฯ 2560 ไม่ได้ระบุให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.)

60 พรรคการเมืองต่างจากกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มการเมืองอื่นตรงที่

(1) มีการกําหนดนโยบาย

(2) ต้องมี ส.ส. จํานวนหนึ่งอยู่เสมอ

(3) มีความต้องการเป็นรัฐบาล

(4) ต้องมีบัญชีรายรับ-รายจ่าย

(5) ต้องส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง

ตอบ 3 หน้า 287 ลักษณะสําคัญที่สุดที่ทําให้พรรคการเมืองมีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มผลประโยชน์หรือชมรมทางการเมืองอื่น ๆ คือ พรรคการเมืองต้องมีจุดประสงค์ที่จะได้อํานาจทางการเมือง ต้องมีความปรารถนาหรือมีความต้องการที่จะเป็นรัฐบาล เพื่อจะได้มีโอกาสนํานโยบายของพรรคไปปฏิบัติให้เป็นจริง

ข้อ 61, 65. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) Rule by Law

(2) Abraham Lincoln

(3) Compromise

(4) Public Spirit

(5) Indirect Election

 

61 ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐบาล

ตอบ 2 หน้า 16 – 17 Abraham Lincoln อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ให้นิยามไว้ว่า“รัฐบาลประชาธิปไตย คือ รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ทั้งนี้ รัฐบาลของประชาชน หมายถึง ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐบาล, รัฐบาลโดยประชาชน หมายถึง ประชาชนมีสิทธิ์เป็นผู้ปกครอง และรัฐบาลเพื่อประชาชน หมายถึง รัฐบาลต้องมีจุดประสงค์ เพื่อความผาสุกของประชาชน

62 การยอมรับผลการเลือกตั้ง

ตอบ 3 หน้า 20 – 22 วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยมีลักษณะดังนี้

1 เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล

2 การรู้จักประนีประนอม (Compromise) ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น รู้แพ้รู้ชนะ เช่น ยอมรับ ผลการเลือกตั้ง ฯลฯ

3 มีระเบียบวินัย

4 มีความสํานึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

(Public Spirit) โดยคนในสังคมมีความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของประเทศและประเทศเป็นของคนทุกคน

63 ประเทศเป็นของทุกคน

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 62 ประกอบ

64 การได้มาซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ตอบ 5 (คําบรรยาย) การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจัดเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม(Indirect Election) ด้วยการใช้ระบบการลงคะแนนเป็น 2 ขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นแรก ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะทําการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) และขั้นต่อมาคณะผู้เลือกตั้งจึงจะทําการเลือกตั้งประธานาธิบดี

65 การปกครองแบบประชาธิปไตย

ตอบ 1 หน้า 16 การปกครองแบบประชาธิปไตย คือ รูปการปกครองที่ยึดถืออํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจําเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองโดยกฎหมาย (Rule by Law)

ข้อ 66 – 70. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) Politics

(2) Authority

(3) Aristotle

(4) ราชาธิปไตย

(5) ทุชนาธิปไตย

66 การแข่งขันเพื่อแสวงหาอํานาจ

ตอบ 1 หน้า 1 การเมือง (Politics) หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อการแสวงหาอํานาจการใช้อํานาจ และผลประโยชน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งสังคมหรือส่วนใหญ่ของสังคม

67 การเมืองการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

ตอบ 4 หน้า 3, 3 – 6 (S) ราชาธิปไตย (Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่ได้รับอิทธิพลมาจากระบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) ในสมัยอยุธยา ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นการปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่อํานาจอธิปไตยจะอยู่ที่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว อันเป็นรูปแบบการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 – 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งการปกครองแบบราชาปราชญ์ (Philosopher King) ตามแนวคิดของเพลโต

68 อํานาจของข้าราชการ

ตอบ 2 (คําบรรยาย) อํานาจหน้าที่ (Authority) เป็นอํานาจที่เกิดจากตําแหน่งหน้าที่อย่างเป็นทางการตามสายงานในการบริหาร หรือมีสิทธิตามกฎหมายโดยชอบธรรมที่จะออกคําสั่งและกําหนดให้บุคคลปฏิบัติตาม เช่น อํานาจของข้าราชการตามสายการบังคับบัญชา ฯลฯ

69 ปรมาจารย์ทางทฤษฎีการเมืองชาวกรีก

ตอบ 3 หน้า 2, 17 (S) อริสโตเติล (Aristotle) เป็นปรมาจารย์ทางทฤษฎีการเมืองชาวกรีก และถือเป็นบิดาวิชาการปกครองเปรียบเทียบ ได้ใช้เกณฑ์ในการแบ่งประเภทรูปแบบการปกครอง คือ จํานวนผู้มีอํานาจ (ผู้ปกครอง) และจุดมุ่งหมายในการปกครอง

70 ทรราช

ตอบ 5 หน้า 2 – 3, 3 – 4 (S) ทรราชหรือทุชนาธิปไตย (Tyranny) คือ ระบอบการปกครองที่อํานาจอธิปไตยอยู่ที่คน ๆ เดียว โดยมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อผู้ปกครองหรือเพื่อหา ผลประโยชน์ให้กับตนเอง ดังนั้นจึงเป็นรูปแบบการปกครองโดยเผด็จการที่ฉ้อฉลหรือกดขี่ข่มเหงประชาชน อันเป็นการปกครองแบบ “ ทํานาบนหลังคน” หรือ “ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน”

ข้อ 71. – 75. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) สิทธิ

(2) เสรีภาพ

(3) ความเสมอภาค

(4) หลักเหตุผลนิยม

(5) Public Spirit

 

71 ความสํานึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 62 ประกอบ

72 เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้ที่สามารถพูดจากันรู้เรื่อง

ตอบ 4 หน้า 20 – 21, 23 (S), (คําบรรยาย) หลักการแห่งเหตุผล/หลักเหตุผลนิยม (Rationalism)คือ การยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็มีเหตุผลของการกระทําใด ๆ เพราะประชาธิปไตยเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผลสามารถพูดจากันรู้เรื่อง โดยประชาธิปไตยจะดําเนินไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อ มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกต้องที่แท้จริง เช่น การยอมรับในข้อสรุปที่ได้จากการอภิปรายของสมาชิก เป็นต้น

73 ความสามารถที่จะกระทําการใด ๆ ได้ดั่งใจโดยไม่ละเมิดกฎหมาย

ตอบ 2 หน้า 12 เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง ความมีอิสระในการกระทําการใด ๆ ได้ตามความปรารถนาแต่มีขอบเขตจํากัดว่าการกระทํานั้น ๆ ต้องไม่ละเมิดกฎหมายหรือไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น

74 การบังคับใช้กฎหมาย Double Standard จะต้องไม่มี

ตอบ 3 หน้า 14 – 15, (คําบรรยาย) ความเสมอภาค (Equality) คือ การได้รับการปฏิบัติจากรัฐและกฎหมายโดยปราศจากความลําเอียงหรือเลือกปฏิบัติ โดยในระบอบประชาธิปไตยมีหลัก แห่งความเสมอภาค 5 ประการ คือ ความเสมอภาคทางการเมือง ความเสมอภาคทางกฎหมาย (คือ เมื่อกระทําผิดจะต้องใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างเดียวกัน จะต้องไม่มีการบังคับใช้ กฎหมายแบบ 2 มาตรฐานหรือ Double Standard) ความเสมอภาคในโอกาส ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และความเสมอภาคทางสังคม

75 เป็นอํานาจอันชอบธรรมในการกระทําใด ๆ ของสมาชิกของสังคม

ตอบ 1 หน้า 12 – 13 สิทธิ (Right) คือ อํานาจอันชอบธรรมหรือความสามารถหรือโอกาสที่จะกระทําหรือไม่กระทําการใด ๆ ได้โดยชอบธรรม สิทธิของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ โดยธรรมเนียมประเพณีหรือกฎหมาย ดังนั้นอํานาจอื่นหรือแม้กระทั่งอํานาจของรัฐจะก้าวก่ายสิทธิของบุคคลไม่ได้

ข้อ 76. – 80. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) อํานาจนิยม

(2) สมบูรณาญาสิทธิราชย์

(3) คอมมิวนิสต์

(4) สังคมนิยม

(5) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

 

76 ลงโทษรุนแรงหากประชาชนฝ่าฝืน

ตอบ 5 หน้า 6 (คําบรรยาย) เผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) คือ การที่รัฐบาลใช้อํานาจควบคุมประชาชนอย่างเคร่งครัดและสิ้นเชิงในทุกด้าน แทบจะไม่มีเสรีภาพใด ๆ เลยในการกระทําตามใจปรารถนา โดยจะลงโทษอย่างรุนแรงหากประชาชนฝ่าฝืน

77 เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

ตอบ 2 หน้า 3, 25 สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่อํานาจอธิปไตยหรืออํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

78 ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ รัฐแบ่งให้ประชาชนทุกคนกินและใช้เท่า ๆ กัน

ตอบ 3 หน้า 8, (คําบรรยาย) คอมมิวนิสต์ (Communism) คือ ลัทธิที่ต้องการให้รัฐเข้าถือกรรมสิทธิ์ในเครื่องมือการผลิตทั้งหมด รวมทั้งการจัดระเบียบในการดําเนินชีวิตให้กับประชาชนโดยทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ รัฐแบ่งให้ประชาชนทุกคนกินและใช้เท่า ๆ กัน

79 ให้ประชาชนมีทรัพย์สินเป็นของตนบ้าง

ตอบ 4 หน้า 8, (คําบรรยาย) สังคมนิยม (Socialism) คือ ลัทธิที่รัฐจะเข้าควบคุมด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่จะยินยอมให้ประชาชนมีทรัพย์สินเป็นของตนได้บ้าง

80 รัฐคุมด้านการเมืองเป็นหลัก

ตอบ 1 หน้า 6, (คําบรรยาย) อํานาจนิยม (Authoritarianism) คือ การที่รัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร โดยเฉพาะเสรีภาพทางด้านสังคมและการใช้ชีวิตความเป็นอยู่แต่รัฐจะเข้าควบคุมด้านการเมืองเป็นหลัก

81 สํานักนายกรัฐมนตรี

(1) มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(2) จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ

(3) รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชา

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 47ประกอบ

82 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2557 ทําหน้าที่

(1) รัฐสภา

(2) สภาผู้แทนราษฎร

(3) วุฒิสภา

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 45 ประกอบ

83 ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนปัจจุบันนี้คือ

(1) นายเทียนฉาย กระตินันทน์

(2) นายอลงกรณ์ พลบุตร

(3) นายพีระศักดิ์ พอจิต

(4) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(5) ร้อยเอกทินพันธ์ นาคะตะ

ตอบ 5 (ข่าว) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน โดยมีร้อยเอกทินพันธ์ นาคะตะ เป็นประธาน มีนายอลงกรณ์ พลบุตร และนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณเป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2

84 ใครเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560

(1) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(2) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่

(3) นายพีระศักดิ์ พอจิต

(4) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

(5) นายมีชัย ฤชุพันธุ์

ตอบ 5 (ข่าว) ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์

85 ข้าราชการปฏิบัติงานศาลากลางจังหวัด

(1) เป็นฝ่ายกําหนดนโยบายอย่างเดียว

(2) ต้องสังกัดพรรคการเมือง

(3) ไม่มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 364, (คําบรรยาย) ข้าราชการประจํา คือ บุคคลที่รับราชการในตําแหน่งต่าง ๆ ซึ่งรับผิดชอบงานประจําของกระทรวง ทบวง กรม โดยจะเป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติหรือ ดําเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และข้าราชการประจําจะรับราชการเป็นอาชีพ ต่อเนื่องกันไป (ไม่มีวาระในการดํารงตําแหน่ง) ซึ่งโดยปกติแล้วจะออกจากราชการเมื่อครบเกษียณอายุราชการคือ 60 ปี (ข้าราชการปฏิบัติงานศาลากลางจังหวัดเป็นข้าราชการประจํา)

86 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) กฎกระทรวงมหาดไทย

(5) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 42 ประกอบ

87 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการใดในการจัดการปกครอง

(1) รวมอํานาจ

(2) แบ่งอํานาจ

(3) กระจายอํานาจ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

88 หน่วยการปกครองใดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค

(1) กรุงเทพมหานคร

(2) เมืองพัทยา

(3) จังหวัดภูเก็ต

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 402 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้ 2 ระดับ คือ จังหวัด และอําเภอ

89 ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2557 รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจํานวนกี่คน

(1) 1 คน

(2) 2 คน

(3) ไม่เกิน 3 คน

(4) ไม่เกิน 4 คน

(5) ไม่เกิน 5 คน

ตอบ 2 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 10 กําหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน สนช. 1 คน และเป็นรองประธาน สนช. ไม่เกิน 2 คน ตามมติของ สนช.

90 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2557 คือ

(1) ประธานวุฒิสภา

(2) ประธานรัฐสภา

(3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(4) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(5) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ตอบ 4 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 19 วรรค 4 กําหนดให้ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่ง ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ

91 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน ได้แก่

(1) นายอําพล กิตติอําพล

(2) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(3) นายเทียนฉาย กระตินันทน์

(4) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

(5) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

ตอบ 4 (ข่าว) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และนายพรศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และ 2

92 ระบบอุปถัมภ์ในการรับบุคคลเข้าทํางานในวงราชการ อาจกล่าวได้ว่ายึดหลักการที่สําคัญใด

(1) ความรู้ความสามารถ

(2) นิยมรับราชการ

(3) ความไว้วางใจ

(4) ประเพณีวัฒนธรรม

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3 หน้า 363, (คําบรรยาย) ถึงแม้ว่าการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการจะใช้หลักการตามระบบคุณธรรม (Merit System) คือ ยึดถือความรู้ความสามารถ โดยกําหนดเงินเดือนตาม ความสามารถและความรับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติ การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการหรือ การให้ความดีความชอบนั้น ยังมีไม่น้อยที่เป็นไปตามระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) คือ ยังมีการเล่นพรรคเล่นพวกกันอยู่ แต่อาจกล่าวอ้างได้ว่ายึดถือหลักการความไว้วางใจ

93 ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด

(1) สังกัดกระทรวงมหาดไทย

(2) มีฐานะสูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ในจังหวัด

(3) เป็นตําแหน่งเท่ากับนายอําเภอ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารกิจการของ อบจ. ตามที่นายก อบจ. มอบหมาย

94 ในระบบรัฐสภาของไทยเท่าที่ผ่านมา ผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ได้แก่

(1) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(2) ประธานรัฐสภา

(3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(4) นายกรัฐมนตรี

(5) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ตอบ 4 หน้า 163 – 165, (คําบรรยาย) ในระบบรัฐสภาไทยเท่าที่ผ่านมานั้น โดยปกติผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ได้แก่ ประธานรัฐสภา (มีรัฐธรรมนูญเพียง 3 ฉบับ หลังสุดเท่านั้นที่กําหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ 2534, 2540 และ 2550) ส่วนผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี ได้แก่ นายกรัฐมนตรี

95 ข้อใดเป็นหลักการสําคัญของการปกครองท้องถิ่น

(1) เป็นการปกครองชุมชนหนึ่งชุมชนใดโดยเฉพาะ

(2) มีหน่วยการปกครองมีสถานะเป็นนิติบุคคล

(3) อยู่ในกํากับของรัฐบาลกลาง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 433 – 435, (คําบรรยาย) การปกครองท้องถิ่นโดยทั่วไปมีลักษณะหรือหลักการสําคัญ ดังนี้

1 เป็นการปกครองชุมชนหรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศ

2 มีองค์การหรือหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแยกไปต่างหากจากรัฐบาลกลางโดยมีรายได้เป็นของตนเอง และมีอํานาจในการจัดเก็บภาษี 4 ประเภท คือ ภาษีอากรฆ่าสัตว์ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบํารุงท้องที่

3 มีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ดําเนินงาน (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ)

4 มีอิสระในการดําเนินกิจการของท้องถิ่น (ภายในขอบเขตที่กฎหมายกําหนด และอยู่ในกํากับดูแลหรือการควบคุมของรัฐบาลกลาง)

96 รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ประกาศใช้แล้วเมื่อใด

(1) มกราคม 2560 )

(2) กุมภาพันธ์ 2560

(3) มีนาคม 2560

(4) เมษายน 2560

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 43. และ 84 ประกอบ

97 เกี่ยวกับพรรคการเมืองไทย ระบบหลายพรรคที่ผ่านมาทําให้

(1) เกิดรัฐบาลผสม

(2) รัฐบาลมีเสถียรภาพอย่างมาก

(3) แต่ละพรรคมุ่งดําเนินบทบาทเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสําคัญ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 52 ประกอบ

98 ผู้ใหญ่บ้าน

(1) เป็นข้าราชการภายใต้บังคับบัญชาของนายอําเภอ

(2) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

(3) อายุเกิน 60 ปีก็เป็นได้

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 2 หน้า 421 422 ผู้ใหญ่บ้านมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ไม่มีฐานะเป็นข้าราชการโดยผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในหมู่บ้านนั้น ๆ และจะอยู่ในตําแหน่งจนอายุครบ 60 ปี

99 นายกเทศมนตรีเทศบาลตําบล

(1) มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(2) ต้องสังกัดพรรคการเมือง

(3) เป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 451 454 นายกเทศมนตรี (ทุกเทศบาล) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลนั้น ๆ และมีวาระในการดํารงตําแหน่ง 4 ปี โดยมีอํานาจหน้าที่กําหนดนโยบายและรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาล

100 จังหวัดสุดท้ายที่ได้ประกาศจัดตั้งตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว

(1) บัวใหญ่

(2) นางรอง

(3) บึงกาฬ

(4) มุกดาหาร

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 (คําบรรยาย) จังหวัดสุดท้ายของไทยที่ได้ประกาศจัดตั้งตามกฎหมายเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 คือ จังหวัดบึงกาฬ (จังหวัดที่ 77)

POL1101  การเมืองและการปกครองไทย 2/2559

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 1101  การเมืองและการปกครองไทย

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

ข้อ 1. – 5. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) Rule by Law

(2) Abraham Lincoln

(3) Compromise

(4) Public Spirit

(5) Indirect Election

1 ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐบาล

ตอบ 2 หน้า 16 – 17 Abraham Lincoln อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ให้คํานิยามไว้ว่า “รัฐบาลประชาธิปไตย คือ รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” ทั้งนี้ รัฐบาลของประชาชน หมายถึง ประชาชนเป็นเจ้าของรัฐบาล, รัฐบาลโดยประชาชน หมายถึง ประชาชนมีสิทธิเป็นผู้ปกครองและรัฐบาลเพื่อประชาชน หมายถึง รัฐบาลต้องมีจุดประสงค์เพื่อความผาสุกของประชาชน

2 การรู้จักประนีประนอม

ตอบ 3 หน้า 20 – 22 วิถีชีวิตแบบประชาธิปไตยมีลักษณะดังนี้

1 เคารพเหตุผลมากกว่าบุคคล

2 การรู้จักประนีประนอม (Compromise)

3 มีระเบียบวินัย

4 มีความสํานึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (Public Spirit) โดยคนในสังคมมีความรู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของประเทศและประเทศเป็นของคนทุกคน

3 ประเทศเป็นของทุกคน

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 2 ประกอบ

4 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ตอบ 5 (คําบรรยาย) การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาจัดเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม(Indirect Election) ด้วยการใช้ระบบการลงคะแนนเป็น 2 ขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นแรกผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะทําการเลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ขั้นต่อมาคณะผู้เลือกตั้งจึงจะทําการเลือกตั้งประธานาธิบดี

5 การปกครองแบบประชาธิปไตย

ตอบ 1 หน้า 16 การปกครองแบบประชาธิปไตย คือ รูปการปกครองที่ยึดถืออํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นจําเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เพราะประชาธิปไตยคือการปกครองโดยกฎหมาย (Rule by Law)

ข้อ 6. – 10. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) Politics

(2) Authority

(3) Aristotle

(4) ราชาธิปไตย

(5) ทุชนาธิปไตย

6 การแข่งขันเพื่อแสวงหาอํานาจ

ตอบ 1 หน้า 1 การเมือง (Politics) หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อการแสวงหาอํานาจการใช้อํานาจ และผลประโยชน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งสังคมหรือส่วนใหญ่ของสังคม

7 การเมืองการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

ตอบ 4 หน้า 3, 3 – 6 (S) ราชาธิปไตย (Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่ได้รับอิทธิพลมาจากระบบเทวสิทธิ์ ([Divine Right) ในสมัยอยุธยา ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นการปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่อํานาจอธิปไตยจะอยู่ที่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว อันเป็นรูปแบบการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 – 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งการปกครองแบบราชาปราชญ์ (Philosopher King) ตามแนวคิดของเพลโต

8 อํานาจของข้าราชการ

ตอบ 2 (คําบรรยาย) อํานาจหน้าที่ (Authority) เป็นอํานาจที่เกิดจากตําแหน่งหน้าที่อย่างเป็นทางการตามสายงานในการบริหาร หรือมีสิทธิตามกฎหมายโดยชอบธรรมที่จะออกคําสั่งและกําหนดให้บุคคลปฏิบัติตาม เช่น อํานาจของข้าราชการตามสายการบังคับบัญชา ฯลฯ

9 ปรมาจารย์ทางทฤษฎีการเมืองชาวกรีก

ตอบ 3 หน้า 2, 17 (S) อริสโตเติล (Aristotle) เป็นปรมาจารย์ทางทฤษฎีการเมืองชาวกรีก และถือเป็นบิดาวิชาการปกครองเปรียบเทียบ ได้ใช้เกณฑ์ในการแบ่งประเภทรูปแบบการปกครองคือ จํานวนผู้มีอํานาจ (ผู้ปกครอง) และจุดมุ่งหมายในการปกครอง

10 ทรราช

ตอบ 5 หน้า 2 – 3, 3 – 4 (S) ทรราชหรือทุชนาธิปไตย (Tyranny) คือ ระบอบการปกครองที่อํานาจอธิปไตยอยู่ที่คน ๆ เดียว โดยมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อผู้ปกครองหรือเพื่อหา ผลประโยชน์ให้กับตนเอง ดังนั้นจึงเป็นรูปแบบการปกครองโดยเผด็จการที่ฉ้อฉลหรือกดขี่ข่มเหงประชาชน อันเป็นการปกครองแบบ “ทํานาบนหลังคน” หรือ “ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน”

ข้อ 11. – 15. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) สิทธิ

(2) เสรีภาพ

(3) ความเสมอภาค

(4) หลักเหตุผลนิยม

(5) Public Spirit

11 ความสํานึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 2 ประกอบ

12 เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้ที่สามารถพูดจากันรู้เรื่อง

ตอบ 4 หน้า 20 – 21, 23 (S), (คําบรรยาย) หลักการแห่งเหตุผล/หลักเหตุผลนิยม (Rationalism)คือ การยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็มีเหตุผลของการกระทําใด ๆ เพราะประชาธิปไตยเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผลสามารถพูดจากันรู้เรื่อง โดยประชาธิปไตยจะดําเนินไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อ มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกต้องที่แท้จริง เช่น การยอมรับในข้อสรุปที่ได้จากการอภิปรายของสมาชิก เป็นต้น

13 ความสามารถที่จะกระทําการใด ๆ ได้ดังใจโดยไม่ละเมิดกฎหมาย

ตอบ 2 หน้า 12 เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง ความมีอิสระในการกระทําการใด ๆ ได้ตามความปรารถนาแต่มีขอบเขตจํากัดว่าการกระทํานั้น ๆ ต้องไม่ละเมิดกฎหมายหรือไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น

14 การบังคับใช้กฎหมาย Double Standard จะต้องไม่มี

ตอบ 3 หน้า 14 – 15, (คําบรรยาย) ความเสมอภาค (Equality) คือ การได้รับการปฏิบัติจากรัฐและกฎหมายโดยปราศจากความลําเอียงหรือเลือกปฏิบัติ โดยในระบอบประชาธิปไตยมีหลัก แห่งความเสมอภาค 5 ประการ คือ ความเสมอภาคทางการเมือง ความเสมอภาคทางกฎหมาย (คือ เมื่อกระทําผิดจะต้องใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างเดียวกัน จะต้องไม่มีการบังคับใช้ กฎหมายแบบ 2 มาตรฐานหรือ Double Standard) ความเสมอภาคในโอกาส ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ และความเสมอภาคทางสังคม

15 เป็นอํานาจอันชอบธรรมในการกระทําใด ๆ ของสมาชิกของสังคม

ตอบ 1 หน้า 12 – 13 สิทธิ (Right) คือ อํานาจอันชอบธรรมหรือความสามารถหรือโอกาสที่จะกระทําหรือไม่กระทําการใด ๆ ได้โดยชอบธรรม สิทธิของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ โดยธรรมเนียมประเพณีหรือกฎหมาย ดังนั้นอํานาจอื่นหรือแม้กระทั่งอํานาจของรัฐจะก้าวก่ายสิทธิของบุคคลไม่ได้

ข้อ 16. – 20. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) อํานาจนิยม

(2) สมบูรณาญาสิทธิราชย์

(3) คอมมิวนิสต์

(4) สังคมนิยม

(5) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

16 ลงโทษรุนแรงหากประชาชนฝ่าฝืน

ตอบ 5 หน้า 6, (คําบรรยาย) เผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) คือ การที่รัฐบาลใช้อํานาจควบคุมประชาชนอย่างเคร่งครัดและสิ้นเชิงในทุกด้าน แทบจะไม่มีเสรีภาพใด ๆ เลยในการกระทําตามใจปรารถนา โดยจะลงโทษอย่างรุนแรงหากประชาชนฝ่าฝืน

17 เป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

ตอบ 2 หน้า 3, 25 สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy คือ ระบอบการปกครองที่อํานาจอธิปไตยหรืออํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

18 ทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ รัฐบ่งให้ประชาชนทุกคนกินและใช้เท่า ๆ กัน

ตอบ 3 หน้า 8, (คําบรรยาย) คอมมิวนิสต์ (Communism) คือ ลัทธิที่ต้องการให้รัฐเข้าถือกรรมสิทธิ์ในเครื่องมือการผลิตทั้งหมด รวมทั้งการจัดระเบียบในการดําเนินชีวิตให้กับประชาชน โดยทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ รัฐแบ่งให้ประชาชนทุกคนกินและใช้เท่า ๆ กัน

19 ให้ประชาชนมีทรัพย์สินเป็นของตนบ้าง

ตอบ 4 หน้า 8, (คําบรรยาย) สังคมนิยม (Socialism) คือ ลัทธิที่รัฐจะเข้าควบคุมด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่จะยินยอมให้ประชาชนมีทรัพย์สินเป็นของตนได้บ้าง

20 รัฐคุมด้านการเมืองเป็นหลัก

ตอบ 1 หน้า 6, (คําบรรยาย) อํานาจนิยม (Authoritarianism) คือ การที่รัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร โดยเฉพาะเสรีภาพทางด้านสังคมและการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ แต่รัฐจะเข้าควบคุมด้านการเมืองเป็นหลัก

21 สํานักนายกรัฐมนตรี

(1) มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(2) จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ

(3) รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาฯ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 371, 373 สํานักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งการจัดตั้งหรือยุบส่วนราชการเหล่านี้ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ โดยสํานักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาฯ

22 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทําหน้าที่

(1) รัฐสภา

(2) สภาผู้แทนราษฎร

(3) วุฒิสภา

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 6 กําหนดให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และมีอายุไม่ต่ํากว่า 40 ปี ตามที่ คสช. ถวายคําแนะนําให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

23 ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ

(1) นายเทียนฉาย กีระนันทน์

(2) นายอลงกรณ์ พลบุตร

(3) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(4) นายพีระศักดิ์ พอจิต

(5) ร้อยเอกทินพันธ์ นาคะตะ

ตอบ 5 (ข่าว) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน โดยมีร้อยเอกทินพันธ์ นาคะตะ เป็นประธาน มีนายอลงกรณ์ พลบุตร และนางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณเป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2 ตามลําดับ

24 ใครเป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับกําลังจะประกาศใช้

(1) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(2) นายชาติชาย ณ เชียงใหม่

(3) นายพีระศักดิ์ พอจิต

(4) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

(5) นายมีชัย ฤชุพันธุ์

ตอบ 5 (ข่าว) ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับกําลังจะประกาศใช้ (6 เมษายน 2560) คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์

25 ข้าราชการการเมือง

(1) เป็นฝ่ายกําหนดนโยบาย

(2) ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง

(3) ไม่มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 364 365 ข้าราชการการเมือง คือ บุคคลซึ่งรับราชการในตําแหน่งที่รับผิดชอบเกี่ยวกับนโยบาย เป็นฝ่ายกําหนดนโยบายในการบริหารประเทศหรือนโยบายสาธารณะ และคอยควบคุมฝ่ายข้าราชการประจําให้ปฏิบัติตามนโยบายที่วางไว้ โดยข้าราชการการเมือง เข้าดํารงตําแหน่งตามวิถีทางของการเมืองหรือเหตุผลทางการเมือง และออกจากตําแหน่งตาม วาระหรือมีวาระในการดํารงตําแหน่ง ทั้งนี้ข้าราชการการเมืองส่วนใหญ่กฎหมายไม่ได้กําหนด ให้ต้องสังกัดพรรคการเมือง มีเพียงบางตําแหน่งเท่านั้นที่จะต้องสังกัดพรรคการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี (ต้องมาจาก ส.ส. ที่ต้องสังกัดพรรคการเมือง) ฯลฯ

26 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกําหนด

(3) พระราชกฤษฎีกา

(4) กฎกระทรวงมหาดไทย

(5) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

ตอบ 1 หน้า 402, 409 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้

1 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

2 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตอําเภอ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

27 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการใดในการจัดการปกครอง

(1) รวมอํานาจ

(2) แบ่งอํานาจ

(3) กระจายอํานาจ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 2 หน้า 359 – 360, 371, 401, 433 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1 ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอํานาจปกครอง

2 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอํานาจปกครอง

3 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอํานาจปกครอง

28 หน่วยการปกครองใดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค

(1) กรุงเทพมหานคร

(2) เมืองพัทยา

(3) จังหวัดภูเก็ต

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 402 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้ 2 ระดับ คือ จังหวัด และอําเภอ

29 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจํานวนกี่คน

(1) 1 คน

(2) 2 คน

(3) ไม่เกิน 3 คน

(4) ไม่เกิน 4 คน

(5) ไม่เกิน 5 คน

ตอบ 2 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 10 กําหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน สนช. 1 คน และเป็นรองประธาน สนช. ไม่เกิน 2 คน ตามมติของ สนช.

30 ผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ

(1) ประธานวุฒิสภา

(2) ประธานรัฐสภา

(3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(4) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(5) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ตอบ 4 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 19 วรรค 4 กําหนดให้ การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตําแหน่ง ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

31 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนปัจจุบัน ได้แก่

(1) นายอําพล กิตติอําพล

(2) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(3) นายเทียนฉาย กระตินันทน์

(4) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

(5) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

ตอบ 4 (ข่าว) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1 และนายพีรศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 2

32 ระบบอุปถัมภ์ในการรับบุคคลเข้าทํางานในวงราชการ อาจกล่าวได้ว่ายึดหลักการที่สําคัญใด

(1) ความรู้ความสามารถ

(2) นิยมรับราชการ

(3) ความไว้วางใจ

(4) ประเพณีวัฒนธรรม

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 3 หน้า 363, (คําบรรยาย) ถึงแม้ว่าการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการจะใช้หลักการตามระบบคุณธรรม (Merit System) คือ ยึดถือความรู้ความสามารถ โดยกําหนดเงินเดือนตาม ความสามารถและความรับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติ การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการหรือ การให้ความดีความชอบนั้น ยังมีไม่น้อยที่เป็นไปตามระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) คือ ยังมีการเล่นพรรคเล่นพวกกันอยู่ แต่อาจกล่าวอ้างได้ว่ายึดถือหลักการความไว้วางใจ

33 นายอําเภอ

(1) สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

(2) มีฐานะสูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ในอําเภอ

(3) เป็นตําแหน่งเท่ากับปลัดเทศบาล

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 409 นายอําเภอเป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอําเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอําเภอโดยมีปลัดอําเภอและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ในอําเภอนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือนายอําเภอ

34 ในระบบรัฐสภาของไทยเท่าที่ผ่านมา ผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ได้แก่

(1) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(2) ประธานรัฐสภา

(3) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(4) นายกรัฐมนตรี

(5) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ตอบ 4 หน้า 163 – 165, (คําบรรยาย) ในระบบรัฐสภาไทยเท่าที่ผ่านมานั้น โดยปกติผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ได้แก่ ประธานรัฐสภา (มีรัฐธรรมนูญเพียง 3 ฉบับ หลังสุดเท่านั้นที่กําหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ 2534, 2540 และ 2550) ส่วนผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี ได้แก่ นายกรัฐมนตรี

35 ข้อใดเป็นหลักการสําคัญของการปกครองท้องถิ่น

(1) เป็นการปกครองชุมชนหนึ่งชุมชนใดโดยเฉพาะ

(2) มีหน่วยการปกครองมีสถานะเป็นนิติบุคคล

(3) อยู่ในกํากับของรัฐบาลกลาง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 433 – 435, (คําบรรยาย) การปกครองท้องถิ่นโดยทั่วไปมีลักษณะหรือหลักการสําคัญ ดังนี้

1 เป็นการปกครองชุมชนหรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศ

2 มีองค์การหรือหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแยกไปต่างหากจากรัฐบาลกลาง โดยมีรายได้เป็นของตนเอง และมีอํานาจในการจัดเก็บภาษี 4 ประเภท คือ ภาษีอากรฆ่าสัตว์ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบํารุงท้องที่

3 มีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ดําเนินงาน (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ)

4 มีอิสระในการดําเนินกิจการของท้องถิ่น (ภายในขอบเขตที่กฎหมายกําหนด และอยู่ในกํากับดูแลหรือการควบคุมของรัฐบาลกลาง)

36 กรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร เท่าที่ผ่านมา

(1) ตั้งตามสัดส่วนของจํานวน ส.ส. ของแต่ละพรรค

(2) บุคคลภายนอกเป็นกรรมาธิการสามัญได้

(3) เป็นการตั้งขึ้นมาปฏิบัติงานเฉพาะกิจเท่านั้น

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 198 – 199, (คําบรรยาย) กรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นกรรมาธิการถาวรประจําสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยบุคคลที่เป็น ส.ส. เท่านั้น ไม่สามารถตั้งบุคคลภายนอก เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการได้ โดยจะต้องตั้งให้มีจํานวนตามหรือใกล้เคียงกับสัดส่วนจํานวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนประธานของแต่ละคณะก็จะมีจํานวนตามสัดส่วนจํานวน ส.ส. ของแต่ละพรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

37 เกี่ยวกับพรรคการเมืองไทย ระบบหลายพรรคที่ผ่านมาทําให้

(1) เกิดรัฐบาลผสม

(2) รัฐบาลมีเสถียรภาพอย่างมาก

(3) แต่ละพรรคมุ่งดําเนินบทบาทเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสําคัญ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 299 ระบบหลายพรรคในบรรยากาศทางการเมืองไทยที่ผ่านมาทําให้

1 เกิดรัฐบาลผสม เพราะไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมากเด็ดขาดพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว

2 แต่ละพรรคมุ่งดําเนินบทบาทเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นสําคัญมากกว่าส่วนรวม 3 รัฐบาลขาดเสถียรภาพและต้องล้มบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการขัดแย้งขึ้นระหว่างสมาชิกของพรรคต่าง ๆ ที่ร่วมรัฐบาล

38 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

(1) ปกติมีได้จํานวนไม่เกิน 2 คน

(2) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

(3) อายุเกิน 60 ปีก็เป็นได้

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 423 ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาจากการคัดเลือกของผู้ใหญ่บ้านและกํานันแห่งท้องที่นั้น มีอายุไม่เกิน 60 ปี (เช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้าน) ปกติจะมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองได้จํานวนไม่เกิน 2 คน แต่ถ้าจําเป็นต้องมีมากกว่านี้หรือจําเป็นต้องมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบต้องขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย

39 ข้าราชการการเมืองแตกต่างจากข้าราชการประจําในสาระสําคัญ

(1) มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(2) ต้องสังกัดพรรคการเมือง

(3) การมีสัญชาติไทยโดยการเกิดในประเทศไทย

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 25. ประกอบ

40 จังหวัดที่เป็นที่ตั้งของวัดธรรมกาย

(1) นนทบุรี

(2) ปทุมธานี

(3) กรุงเทพมหานคร

(4) สระบุรี

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 (ข่าว) วัดธรรมกาย เป็นวัดในสังกัดมหานิกาย ก่อตั้งเมื่อ 20 ก.พ. 2513 ตั้งอยู่ที่ตําบลคลองสาม อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

41 การปกครองลักษณะใดในสมัยสุโขทัยต่อไปนี้ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับการปกครองในสมัยกรุงศรีอยุธยา

(1) ระบบศักดินา

(2) อยู่ภายใต้อิทธิพลของขอมและมอญ

(3) การเผชิญหน้ากับชาวยุโรปและตะวันตก

(4) การสืบสันตติวงศ์

(5) การปกครองแบบพ่อปกครองลูก

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การปกครองที่มีลักษณะเช่นเดียวกันทั้งในสมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์ คือ การสืบราชสันตติวงศ์ โดยในกฎมณเฑียรบาลได้ระบุลําดับรัชทายาท ที่จะสืบราชบัลลังก์ไว้

42 สมัยสุโขทัยมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือรวมถึงทางด้านการค้าขาย “ระหว่างประเทศ” ประเทศใด

(1) จีน มลายู ลังกา มอญ

(2) อินเดีย ศรีลังกา พม่า ลาว

(3) จีน อินเดีย มลายู

(4) อินเดีย ลาว จีน เขมร

(5) เปอร์เซีย อินเดีย พม่า มลายู

ตอบ 1 หน้า 28 ในสมัยสุโขทัยนอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือแล้วก็ยังมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน มลายู ลังกา และมอญ โดยมีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษี “จกอบ” หรือภาษีศุลกากร เพื่อต้องการให้พ่อค้ามีความสนใจในการทําการค้า

43 ในสมัยกรุงสุโขทัยได้รับความเชื่อและผสมกันระหว่างลัทธิใด

(1) ความเชื่อทางคติพราหมณ์ ฮินดู คริสต์ อิสลาม

(2) ความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจ วิญญาณ คติพราหมณ์และพุทธ

(3) ความเชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจ เวทมนตร์และคาถา

(4) ความเชื่อระหว่างคติพราหมณ์ ฮินดู และพุทธ

(5) ความเชื่อในคริสต์ศาสนา พุทร อิสลาม

ตอบ 2 หน้า 28 ในสมัยสุโขทัยระบบความเชื่อจะเป็นรูปผสมระหว่างลัทธิพราหมณ์ รวมกับความเชื่อถือในภูตผีปีศาจ วิญญาณ และความเชื่อตามคติแห่งพุทธศาสนา

44 “ราชวงศ์อู่ทอง” มีความสําคัญในฐานะผู้ปกครองของไทยในสมัยใด

(1) อาณาจักรทราวดี

(2) อาณาจักรสุโขทัย

(3) อาณาจักรศรีอยุธยา

(4) อาณาจักรธนบุรี

(5) อาณาจักรรัตนโกสินทร์

ตอบ 3 (คําบรรยาย) อาณาจักรกรุงศรีอยุธยามีราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปกครอง 5 ราชวงศ์ ดังนี้

1 ราชวงศ์อู่ทอง

2 ราชวงศ์สุพรรณภูมิ

3 ราชวงศ์สุโขทัย

4 ราชวงศ์ปราสาททอง

5 ราชวงศ์บ้านพลูหลวง

45 การปกครองแบบหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัย สั่งการอยู่ที่ใด

(1) เมืองเอก

(2) เมืองหลวง

(3) เมืองชั้นใน

(4) เมืองชั้นนอก

(5) เมืองประเทศราช

ตอบ 2 หน้า 26 การปกครองแบบหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยนั้น ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการจะอยู่ที่เมืองหลวง และแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 หัวเมืองชั้นใน 2 หัวเมืองชั้นนอก 3 หัวเมืองประเทศราช

46 การถวายฎีกาหรือร้องทุกข์ของราษฎรโดยตรงกับพระมหากษัตริย์เกี่ยวข้องกับการปกครองประเทศ ของไทยในสมัยใด

(1) สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(2) สมัยกรุงธนบุรี

(3) สมัยกรุงศรีอยุธยา

(4) สมัยสุโขทัย

(5) ก่อนสุโขทัย

ตอบ 4 หน้า 27 ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกาหรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพระมหากษัตริย์หรือพ่อขุน โดยในสมัยพ่อขุนรามคําแหงได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการถวายฎีกาก็ไปสั่นกระดิ่ง แล้วพระองค์ก็จะออกมาไต่สวนและชําระความให้

47 ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 – 2031) ได้มีการปรับปรุงแยกระบบบริหารขึ้นใหม่ โดยแยกการบริหารราชการออกเป็นฝ่ายต่างๆ คือ

(1) นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ

(2) สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

(3) ทหารบก เรือ อากาศ

(4) กษัตริย์ ขุนนาง ไพร่

(5) ทหาร และพลเรือน

ตอบ 5 หน้า 29 ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991 – 2031) ได้ปรับปรุงระบบบริหารขึ้นใหม่โดยแยกการบริหารราชการออกเป็นฝ่ายพลเรือนและฝ่ายทหาร มีสมุหนายกเป็นผู้รับผิดชอบ ด้านพลเรือน (บริหารกิจการเกี่ยวกับเมือง วัง คลัง และนา) ส่วนสมุหกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบด้านการทหารและการป้องกันประเทศ

48 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้มีการยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่งคือ

(1) สมุหกลาโหมและสมุหทัย

(2) สมุหทัยและสมุหกระทรวงกลาโหม

(3) สมุห์บัญชีและสมุหมาตรา

(4) สมุหนายกและสมุหกลาโหม

(5) สมุหเสนาบดีและสมุหนายก

ตอบ 4 หน้า 33 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูประบบการปกครองด้วยการยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่ง คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก รวมทั้งจตุสดมภ์ โดยแบ่งการบริหารราชการ ออกเป็น 12 กระทรวง เช่น เมืองหรือนครบาล จัดการเกี่ยวกับเรื่องตํารวจและราชทัณฑ์,ยุติธรรม จัดการเรื่องชําระคดีและการศาล, ยุทธนาธิการ จัดการเกี่ยวกับเรื่องการทหาร ฯลฯ

49 เมืองหรือนครบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดการเกี่ยวกับเรื่องใด

(1) ตํารวจและราชทัณฑ์

(2) ตํารวจและทหาร

(3) ผู้ที่ทําการกู้เอกราชจากพระเจ้าบุเรงนอง

(4) พลเรือนและทหาร

(5) ทหารเรือและทหารอากาศ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 48 ประกอบ

50 สงครามระหว่างไทยกับพม่า ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและได้ยุติลงตรงกับสมัยรัชกาลที่เท่าใด ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

(1) สมัยรัชกาลที่ 1

(2) สมัยรัชกาลที่ 2

(3) สมัยรัชกาลที่ 3

(4) สมัยรัชกาลที่ 4

(5) สมัยรัชกาลที่ 5

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ความสัมพันธ์ระหว่างไทย (สยาม) กับพม่าในอดีตนั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปในด้านสงคราม โดยไทยกับพม่าทําสงครามกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ แต่สงครามได้ยุติหรือสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากพม่าแพ้สงครามและตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

51 ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1993) ได้มีการตรากฎมณเฑียรบาลครั้งแรกในเรื่องใด

(1) ฐานันดรศักดิ์ของพระราชวงศ์ มเหสี โอรส ธิดา

(2) ฐานันดรศักดิ์ของพระราชวงศ์

(3) ฐานันดรศักดิ์ของพระราชวงศ์ ขุนนาง ไพร่ ทาส

(4) ฐานันดรศักดิ์ของพระราชวงศ์ ไพร่ ทาส

(5) ฐานันดรศักดิ์ของพระราชวงศ์ ไพร่ ทาส นางกํานัล

ตอบ 1 หน้า 30 ในปี พ.ศ. 1993 พระบรมไตรโลกนาถได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อกําหนดลําดับฐานันดรศักดิ์ของพระราชวงศ์ มเหสี ตลอดถึงโอรสและธิดาอันกําเนิดจากพระชายาต่าง ๆ นอกจากนี้กฎหมายว่าด้วยศักดินาก็ถือกําเนิดขึ้นในรัชสมัยนี้เช่นกัน

52 “กบฏผู้มีบุญ” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคใดของไทย

(1) ภาคเหนือ

(2) ภาคอีสาน

(3) ภาคใต้

(4) ภาคตะวันออก

(5) ภาคกลาง

ตอบ 2 (คําบรรยาย) กบฏที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453) ได้แก่

1 กบฏ ร.ศ. 102 (พ.ศ. 2426)

2 กบฎผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญ (ทางภาคอีสาน) พ.ศ. 2444

3 กบฏเงี่ยวเมืองแพร่ (ทางภาคเหนือ) พ.ศ. 2445

4 กบฎแขก (ทางภาคใต้) พ.ศ. 2445

53 เสนาบดีกระทรวงทุกกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานะเท่าเทียมกัน และเมื่อมีการประชุมร่วมกัน เรียกว่าอย่างไร

(1) เสนาบดีกระทรวง

(2) เสนาบดีทบวง

(3) เสนาบดีสภา

(4) เสนาบดีรัฐสภา

(5) เสนาบดีกระทรวงรัฐสภา

ตอบ 3 หน้า 33, (ดูคําอธิบายข้อ 48. ประกอบ) เสนาบดีกระทรวงทุกกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ 5มีฐานะเท่าเทียมกันและประชุมร่วมกันเป็น “เสนาบดีสภา” (Council of State) ทําหน้าที่เป็น ที่ปรึกษาและช่วยบริหารราชการแผ่นดินตามที่กษัตริย์มอบหมาย เพราะอํานาจสูงสุดเด็ดขาดเป็นของกษัตริย์ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

54 วันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีความสําคัญต่อประเทศไทยอย่างไร

(1) วันประกาศเลิกทาส

(2) วันที่ประเทศไทยได้เอกราช

(3) วันประกาศใช้กฎอัยการศึก

(4) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกที่ไม่มีคําว่า “ชั่วคราว”

(5) วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ตอบ 5 หน้า 41 การปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งสําคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเป็นการล้มเลิกระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย

55 การให้สมญานามว่า “รัฐบาลหอย” ควรตรงกับนายกรัฐมนตรีท่านใด

(1) นายบรรหาร ศิลปอาชา

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) นายควง อภัยวงศ์

(4) นายทวี บุณยเกตุ

(5) นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

ตอบ 5 (คําบรรยาย) นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในแต่ละยุคมักจะถูกตั้งฉายาตามบุคลิกหรือตามผลงานของผู้นําแต่ละคน เช่น จอมพล “ผ้าขาวม้าแดง” หมายถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “รัฐบาลหอย” หมายถึง รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร, “รัฐบาลลืมเปลือกหอย” หมายถึง รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน, “รัฐบาลชิงแก่” หมายถึง รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ฯลฯ

56 คําใดในภาษาอังกฤษต่อไปนี้ที่ตรงกับความหมายของ “การปฏิวัติ”

(1) Reform

(2) Revolution

(3) Reconstruction

(4) Coup d’etat

(5) Reengineering

ตอบ 2 หน้า 62, 45 (S) คําว่า “กบฏ ปฏิวัติ และรัฐประหาร” จะมีความหมายเหมือนกันในแง่ที่ว่าเป็นการใช้กําลังอาวุธโดยทหารยึดอํานาจทางการเมือง แต่จะมีความหมายแตกต่างกันในด้านผล ของการใช้กําลังความรุนแรงนั้น กล่าวคือ หากทําการไม่สําเร็จจะเรียกว่า “กบฏ” (Rebellion), หากทําการสําเร็จและเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนรัฐบาล (เปลี่ยนผู้ถืออํานาจรัฐหรือผู้คุมอํานาจ ทางการเมือง) จะเรียกว่า “รัฐประหาร” (Coup d’etat) แต่หากรัฐบาลใหม่ได้ทําการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมูลฐานของระบอบการปกครองก็จะเรียกว่า “ปฏิวัติ” (Revolution)

57 เค้าโครงเศรษฐกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) นายปรีดี พนมยงค์

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

(4) จอมพลถนอม กิตติขจร

(5) นายทวี บุณยเกตุ

ตอบ 1 หน้า 46, 59 – 60 (S) คณะราษฎรได้มอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)จัดทําเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สมุดปกเหลือง” เพื่อดําเนินการด้านเศรษฐกิจ ของชาติให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่คณะราษฎรประกาศไว้ในวันยึดอํานาจ

58 สมาคมคณะราษฎร มีหลักการหรือแนวทางไปตามความหมายข้อใดต่อไปนี้

(1) กลุ่มผลประโยชน์

(2) พรรคการเมือง

(3) ศาสนา

(4) องค์กรอิสระ

(5) สถานเริงรมย์

ตอบ 2 หน้า 288 พรรคการเมืองไทยพรรคแรกทางพฤตินัย คือ “สมาคมคณะราษฎร” ที่จัดตั้งขึ้นโดย“คณะราษฎร” คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะไม่ระบุว่าเป็นพรรคการเมือง แต่ก็มี เจตจํานง/มีหลักการหรือแนวทางเช่นเดียวกับพรรคการเมืองโดยทั่วไป คือ ประสงค์จะเข้ารับผิดชอบ ในการบริหารประเทศ ดังนั้นคณะราษฎรจึงมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองไทยพรรคแรกตามนิตินัย คือ “พรรคก้าวหน้า” ซึ่งริเริ่มจัดตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

59 “กบฏยังเตอร์ก” 1 เมษายน 2524 มีบุคคลที่เป็นแกนนําสําคัญต่อไปนี้

(1) พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

(2) นายอานันท์ ปันยารชุน

(3) จอมพล ป. พิบูลสงคราม

(4) พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา

(5) พลเอกอาทิตย์ กําลังเอก

ตอบ 4 หน้า 73 กลุ่มทหารที่พยายามยึดอํานาจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (นายกรัฐมนตรี)เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2524 ได้แก่ นายทหารระดับคุมกําลังกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้บังคับการกรม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ยังเตอร์ก” ได้รวมตัวกันเคลื่อนกําลังทหารเข้ามายึดกรุงเทพฯ และประกาศทําการปฏิวัติโดยมีพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ แต่กระทําการไม่สําเร็จ จึงเรียกว่า “กบฏยังเตอร์ก”

60 นโยบายประชานิยมเข้มข้นควรตรงกับรัฐบาลใดต่อไปนี้

(1) รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์

(2) รัฐบาลพันตํารวจโททักษิณ ชินวัตร

(3) รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน

(4) รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

(5) รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์

ตอบ 2 (คําบรรยาย) รัฐบาลพันตํารวจโททักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544 – 2549) มีนโยบายประชานิยมเข้มข้นที่ทําให้ได้รับความนิยมจากประชาชนจนสามารถชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้เป็นรัฐบาล พรรคเดียวในปี พ.ศ. 2548 โดยเฉพาะนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ถือว่าประสบผลสําเร็จมากที่สุด

61 สํานักนายกรัฐมนตรี

(1) จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ

(2) มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(3) นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาฯ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 21 ประกอบ

62 ประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถือว่าการเลือกตั้งมีความสําคัญเพราะ

(1) เป็นกระบวนการสรรหาผู้ปกครองโดยสันติวิธี

(2) เป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับอํานาจทางการเมือง

(3) ทําให้คนต่างท้องถิ่นอาจร่วมมือทางการเมืองได้

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 325 การเลือกตั้งเป็นกระบวนการสรรหาผู้ปกครองหรือรัฐบาลโดยสันติวิธี และมีคุณประโยชน์ 2 ประการ คือ

1 สร้างความชอบธรรมให้กับอํานาจทางการเมือง รัฐบาลหรือ ผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้งสามารถและมีสิทธิกระทําการต่าง ๆ ในนามประชาชนได้อย่างเต็มที่ เพราะได้รับอํานาจโดยความนิยมจากประชาชน

2 เป็นกลไกแห่งการสืบทอดอํานาจโดยสันติ

63 บทบาทและพฤติกรรมของพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในบรรยากาศการเมืองไทยมักเป็นดังนี้

(1) เป็นที่รวมของบุคคลซึ่งมุ่งสนับสนุนอํานาจหรืออิทธิพลทางการเมืองของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

(2) จะต่อรองด้านผลประโยชน์หรือตําแหน่งมากกว่านโยบาย

(3) ส่วนมากพรรคมีลักษณะสอดคล้องกับหลักสากลของความเป็นพรรคการเมือง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 291 บทบาทและพฤติกรรมของพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในบรรยากาศการเมืองไทยอาจสรุปได้ว่า “เป็นที่รวมของบุคคลซึ่งมุ่งจะสนับสนุนอํานาจหรืออิทธิพลทางการเมืองของ บุคคลใดบุคคลหนึ่ง” ซึ่งจะเห็นได้จากการรวมตัวกันเป็นรัฐบาลของพรรคการเมืองต่าง ๆมักจะต่อรองกันทางด้านผลประโยชน์หรือตําแหน่งมากกว่านโยบาย

64 การรับบุคคลเข้ารับราชการในระบบราชการไทย ยึดหลักการบริหารงานบุคคลตามระบบใด

(1) ระบบอุปถัมภ์

(2) ระบบรวมอํานาจ

(3) ระบบแบ่งอํานาจ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 32 ประกอบ

65 ข้าราชการประจํา

(1) มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(2) เป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติ

(3) ต้องสังกัดพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 2 หน้า 364, (คําบรรยาย) ข้าราชการประจํา คือ บุคคลที่รับราชการในตําแหน่งต่าง ๆซึ่งรับผิดชอบงานประจําของกระทรวง ทบวง กรม โดยจะเป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติหรือ ดําเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และข้าราชการประจําจะรับราชการเป็นอาชีพ ต่อเนื่องกันไป (ไม่มีวาระในการดํารงตําแหน่ง) ซึ่งโดยปกติแล้วจะออกจากราชการเมื่อครบ เกษียณอายุราชการคือ 60 ปี โดยข้าราชการประจําสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ แต่ไม่สามารถดํารงตําแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองได้ (พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 21)

66 ตําแหน่งกํานันปัจจุบัน

(1) มาจากการเลือกตั้ง

(2) ต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย

(3) อายุเกิน 60 ปีไม่ได้

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 417 ตําแหน่งกํานันในปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งของราษฎรในตําบลนั้น โดยกํานันต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย และต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปี

67 ในระบบรัฐสภาไทยเท่าที่ผ่านมา ผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ได้แก่

(1) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(2) ประธานรัฐสภา

(3) นายกรัฐมนตรี

(4) ประธานองคมนตรี

(5) ประธานวุฒิสภา

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 34. ประกอบ

68 ผู้ทําหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ชั่วคราวในการประชุมครั้งแรกของสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่

(1) ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งมากครั้งที่สุด

(2) หัวหน้าพรรคที่มี ส.ส. มากที่สุด

(3) ส.ส. ที่มีคะแนนเสียงสูงสุด

(4) แล้วแต่มติที่ประชุมจะให้สมาชิกคนใดคนหนึ่ง

(5) ส.ส. ที่อาวุโสที่สุด

ตอบ 5 หน้า 197 ในการประชุมครั้งแรกของสภา สมาชิกที่อาวุโสที่สุดของสภาจะทําหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราว เพื่อดําเนินการเลือกประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 1 คนหรือมากกว่า ซึ่งขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

69 พรรคการเมืองต่างจากกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มการเมืองอื่นตรงที่

(1) มีการกําหนดนโยบาย

(2) มีการจดทะเบียน

(3) ต้องมี ส.ส.

(4) มีความต้องการเป็นรัฐบาล

(5) ต้องมีบัญชีรายรับ-รายจ่าย

ตอบ 4 หน้า 287 ลักษณะสําคัญที่สุดที่ทําให้พรรคการเมืองมีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มผลประโยชน์หรือชมรมทางการเมืองอื่น ๆ คือ พรรคการเมืองต้องมีจุดประสงค์ที่จะได้อํานาจทางการเมือง ต้องมีความปรารถนาหรือมีความต้องการที่จะเป็นรัฐบาล เพื่อจะได้มีโอกาสนํานโยบายของพรรคไปปฏิบัติให้เป็นจริง

70 การแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมกระทําโดยการพิจารณาของ

(1) นายกรัฐมนตรี

(2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

(3) คณะกรรมการตุลาการ (กต.)

(4) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

(5) ปลัดกระทรวงยุติธรรม

ตอบ 3 หน้า 259 260 หลักประกันสําหรับผู้พิพากษาที่จะสามารถมีอิสระในการวินิจฉัยคดีโดยปราศจากอิทธิพลของฝ่ายอื่นที่จะเข้ามาแทรกแซงบีบบังคับเปลี่ยนคําพิพากษา คือ การกําหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการ (กต.) เป็นองค์กรอิสระดําเนินการให้ความเห็นชอบ เกี่ยวกับการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน เลื่อนตําแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนผู้พิพากษา ดังนั้นการให้คุณให้โทษกับผู้พิพากษาจึงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตุลาการ

71 ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีของการเมืองในระบบรัฐสภา

(1) ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน

(2) ต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี

(3) ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ได้รับเลือกเข้ามา

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 185, (คําบรรยาย) ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี มี 2 รูปแบบ คือ ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตน และต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี (รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 178)

72 ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินสวนใดใช้หลักการกระจายอํานาจปกครอง

(1) ส่วนกลาง

(2) ส่วนท้องถิ่น

(3) ส่วนภูมิภาค

(4) ส่วนท้องที่

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 27 ประกอบ

73 เอ็นจีโอ (Non-Government Organization) เป็นกลุ่มผลประโยชน์ประเภท

(1) กลุ่มรัฐวิสาหกิจ

(2) กลุ่มมาตุภูมิ

(3) กลุ่มต่อต้านรัฐบาล

(4) กลุ่มสหภาพแรงงาน

(5) กลุ่มอาสาสมัคร

ตอบ 5 หน้า 314 315 กลุ่มผลประโยชน์ แบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้

1 กลุ่มมาตุภูมิ เป็นกลุ่มที่มาจากถิ่นหรือสถาบันเดียวกัน เช่น สมาคมชาวเหนือ ฯลฯ 2 กลุ่มอาสาสมัคร เป็นกลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น เอ็นจีโอ ฯลฯ

3 กลุ่มอาชีพ เป็นกลุ่มที่บทบาทมีผลกระทบต่อสาธารณะมาก เช่น หอการค้าไทย ฯลฯ

74 ตําแหน่งปลัดจังหวัด

(1) สังกัดกรมการปกครอง

(2) มีฐานะสูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ในจังหวัดนั้น

(3) จังหวัดหนึ่งอาจมีหลายคนก็ได้

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 405 ปลัดจังหวัด เป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าส่วนราชการแผนกการปกครองของจังหวัด มีฐานะเท่าเทียมกับหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆในจังหวัดนั้นทุกประการ โดยเป็นผู้รับผิดชอบในงานของกรมการปกครองในจังหวัดนั้น

75 ระบบหลายพรรคในบรรยากาศการเมืองไทยที่ผ่านมาทําให้

(1) รัฐบาลขาดเสถียรภาพ

(2) เกิดรัฐบาลผสม

(3) แต่ละพรรคมุ่งดําเนินบทบาทเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสําคัญ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 37 ประกอบ

76 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2557 ต้อง

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

(3) อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 3

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 22 ประกอบ

77 ตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2557 สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน

(1) 250 คน

(2) ไม่เกิน 250 คน

(3) ไม่เกิน 220 คน

(4) 220 คน

(5) 300 คน

ตอบ 2 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 28 กําหนดให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ตามที่ คสช. ถวายคําแนะนําให้หัวหน้า คสช. ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

78 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2557 ทําหน้าที่

(1) สภาผู้แทนราษฎร

(2) วุฒิสภา

(3) รัฐสภา

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 22 ประกอบ

79 ตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ พ.ศ. 2550 การยุบสภาให้ตราเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกฤษฎีกา

(3) พระราชกําหนด

(4) ประกาศของ กกต.

(5) ประกาศของนายกรัฐมนตรี

ตอบ 2 รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 108 วรรค 2 กําหนดให้ การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทําโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งต้องกําหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร (นั่นคือ จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในเวลา 45 – 60 วัน)

80 การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ครั้งล่าสุด กําหนดให้มีกี่กระทรวง

(1)18 กระทรวง

(2) 20 กระทรวง

(3) 2 กระทรวง

(4) 22 กระทรวง

(5) 19 กระทรวง

ตอบ 2 หน้า 387 388 การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ครั้งล่าสุดเป็นไปตาม พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 ได้กําหนดให้มีกระทรวงและส่วนราชการที่มี ฐานะเป็นกระทรวงจํานวน 20 กระทรวง

81 รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ

(1) การเงินของประเทศ

(2) การปกครองประเทศ

(3) การใช้อํานาจของสถาบันการเมืองต่าง ๆ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกเฉพาะข้อ 2 กับ 3

ตอบ 5 หน้า 81 รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกําหนดรูปแบบและหลักการในการจัดการปกครองประเทศ การใช้อํานาจของผู้ปกครองหรือสถาบันการเมืองต่าง ๆการสืบต่ออํานาจ ตลอดจนขอบเขตหน้าที่และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

82 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยประกาศใช้เมื่อ

(1) 24 มิถุนายน 2475

(2) 27 มิถุนายน 2475

(3) 10 ธันวาคม 2475

(4) 9 พฤษภาคม 2489

(5) 9 พฤศจิกายน 2490

ตอบ 2 หน้า 83 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวพ.ศ. 2475) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังนั้นจึงเกิดขึ้นหลังจากเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เพียง 3 วันเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กําหนดให้รัฐสภามีสภาเดียว เรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่มาจากการแต่งตั้งจํานวน 70 คน

83 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย กําหนดให้รัฐสภามีสภาเดียวเรียกว่าสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนราษฎรชั่วคราว ที่มาจากการแต่งตั้ง จํานวน

(1) 50 คน

(2) 60 คน

(3) 70 คน

(4) 80 คน

(5) 90 คน

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 82, ประกอบ

84 “ประธานคณะกรรมการราษฎร” หมายถึง

(1) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

(2) ประธานวุฒิสภา

(3) ประธานองคมนตรี

(4) นายกรัฐมนตรี

(5) คณะรัฐมนตรี

ตอบ 4 หน้า 83 – 85, 159 160 ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 ได้เรียกตําแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารว่า“ประธานคณะกรรมการราษฎร” และเรียกคณะบริหารว่า “คณะกรรมการราษฎร” แต่ต่อมา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญฯ 2475 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเรียกตําแหน่งดังกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรี” และ “คณะรัฐมนตรี” ตามลําดับ

85 รัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับใด ที่มีลักษณะให้ความสําคัญแก่ฝ่ายบริหารกว้างขวางมาก

(1) ฉบับที่ 3 ปี 2489

(2) ฉบับที่ 5 ปี 2492

(3) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(4) ฉบับที่ 8 ปี 2511

(5) ฉบับที่ 17 ปี 2549

ตอบ 3 หน้า 92 – 93, 71 (S) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 (ธรรมนูญการปกครองฯ 2502) ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการมากที่สุดของไทย เพราะมีการให้อํานาจอย่างกว้างขวางมากแก่ฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี ที่นอกจากจะมีอํานาจบริหารแล้วยังสามารถใช้อํานาจนิติบัญญัติและอํานาจตุลาการ ในบางกรณีได้ โดยระบุไว้ในมาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจสั่งการหรือกระทําการใด ๆ ได้ ดังนั้นจึงถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ

86 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

(1) ฉบับที่ 3 ปี 2489

(2) ฉบับที่ 7 ปี 2502

(3) ฉบับที่ 9 ปี 2515

(4) ฉบับที่ 12 ปี 2521

(5) ฉบับที่ 16 ปี 2540

ตอบ 5 หน้า 100, 114 รัฐธรรมนูญฯ 2540 (ฉบับที่ 16) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างและแสดงความคิดเห็นมากที่สุด จนได้รับสมญาว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 และถูกยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

87 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ปี 2550 จะระบุว่า

(1) ประธานองคมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

(3) ประธานวุฒิสภาจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

(4) นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

(5) คณะรัฐมนตรีทุกคนจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้

ตอบ 4 หน้า 183 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 (รัฐธรรมนูญฯ 2550) มาตรา 171 กําหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้ (ซึ่งเป็นข้อบังคับใหม่ที่กําหนดไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้)

88 “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ

(1) การคัดเลือกเพื่อหาประธานองคมนตรี

(2) การคัดเลือกเพื่อหาประธานสภาผู้แทนราษฎร

(3) การคัดเลือกเพื่อหาประธานวุฒิสภา

(4) การคัดเลือกเพื่อหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

(5) การคัดเลือกเพื่อหาผู้สําเร็จราชการ

ตอบ 4 หน้า 35, 150 151 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงบัญญัติกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 ขึ้นใข้ นับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ได้วางลําดับสิทธิในการสืบราชสมบัติของกษัตริย์ ซึ่งแต่เดิมนั้นมักจะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นในกรณีที่กษัตริย์ไม่มีโอรสหรือมิได้แสดงพระประสงค์ว่า จะมอบให้ผู้ใดเป็นรัชทายาท โดยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นส่วนใหญ่วิธีคัดเลือกกษัตริย์จะใช้ วิธีการแบบ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” คือ การประชุมของบรรดาพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสนาบดี และพระเถระชั้นราชาคณะ

89 พระราชอํานาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ จะระบุไว้ว่าหากพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอํานาจดังกล่าวจะทรงยับยั้งได้ภายในเวลากี่วันในช่วงแรก

(1) 30 วัน

(2) 45 วัน

(3) 60 วัน

(4) 75 วัน

(5) 90 วัน

ตอบ 5 หน้า 152 – 153 พระราชอํานาจในการยับยั้งร่าง พ.ร.บ. พระมหากษัตริย์ทรงกระทําได้ 2 วิธี คือ

1 พระราชทานคืนมาให้สภาพิจารณาใหม่ภายในเวลาที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ ปกติรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่กําหนดไว้ 90 วัน (ช่วงแรก) ถ้าสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด ให้นายกฯ นําร่าง พ.ร.บ. นั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง เมื่อพระองค์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน (ช่วงหลัง) ให้นายกฯ นํา พ.ร.บ. นั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว (รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 151)

2 เก็บไว้เฉย ๆ จนครบกําหนดซึ่งเท่ากับว่าทรงไม่เห็นชอบด้วย

90 การเสด็จออกเยี่ยมประชาชนในต่างจังหวัดจะถือว่าเป็นพระราชกรณียกิจด้านใด (1) พิธีการ

(2) สังคมสงเคราะห์

(3) การปกครอง

(4) เพื่อพระราชทานคําเตือน

(5) ในด้านสิทธิที่จะได้รับทราบเรื่องต่าง ๆ

ตอบ 3 หน้า 154 พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ อาจจําแนกออกได้เป็น 3 ด้าน คือ

1 พิธีการ โดยทรงเป็นองค์ประธานในพิธีการสําคัญต่าง ๆ ของชาติ

2 สังคมสงเคราะห์ โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือกิจการสาธารณกุศล

3 การปกครอง โดยการเสด็จออกเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเพื่อให้มีขวัญและกําลังใจดี

91 จํานวนของคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 ปี 2550

(1) 14 + 15

(2) 1 + 22

(3) 1 + 35

(4) 1 + 40

(5) 1 + 45

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 87 ประกอบ

92 หน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่สําคัญที่สุดคือ

(1) การควบคุมการประชุมของฝ่าย ส.ส. และ ส.ว.

(2) ออกกฎหมายที่เรียกว่าพระราชบัญญัติ

(3) บริหารราชการแผ่นดิน เข้ามา

(4) ตั้งกระทู้ถาม ส.ส. หรือ ส.ว. ในทุกเรื่อง

(5) ตรวจสอบการทํางานขององคมนตรี ตอบ 3 หน้า 169 หน้าที่ที่สําคัญที่สุดของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี คือ วางนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน โดยเมื่อเข้ารับตําแหน่งต้องแถลงนโยบายต่อสภา และถ้าไม่ปฏิบัติตามนโยบายหรือ ปฏิบัติตามนโยบายแล้วล้มเหลวหรือไม่ได้ผล สมาชิกสภาก็มีสิทธิตั้งกระทู้ถามหรือขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจได้

93 ความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีมีกี่รูปแบบ

(1) 1 รูปแบบ

(2) 2 รูปแบบ

(3) 3 รูปแบบ

(4) 4 รูปแบบ

(5) 5 รูปแบบ

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 71 ประกอบ

94 นายกรัฐมนตรีที่จะสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่รัฐบาลได้เป็นอย่างดีในประเทศไทยส่วนใหญ่มักจะมาจาก

(1) ข้าราชการครู

(2) ข้าราชการตํารวจ

(3) ข้าราชการทหาร

(4) ข้าราชการพลเรือน

(5) พลเรือน

ตอบ 3 หน้า 171, (คําบรรยาย) นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 80 ปีประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน แม้นายกฯ ส่วนใหญ่จะเป็นพลเรือนอยู่ถึง 20 คน แต่ถ้าเทียบอายุหรือระยะเวลาในการดํารงตําแหน่งจะพบว่า รัฐบาลที่มีพลเรือนเป็นนายกฯ มักจะขาดเสถียรภาพ ผิดกับรัฐบาลที่มีข้าราชการทหารเป็นนายกฯ ที่มักจะอยู่ได้นานจนสามารถสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่รัฐบาลได้เป็นอย่างดี

95 การแทรกแซงทางการเมืองของไทย มักจะเกิดขึ้นจากข้อใดเป็นประจํา

(1) ต่างประเทศเข้ามาล้วงลูก

(2) นักการเมืองไทยเองที่เข้ามาแทรกแซง

(3) มือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรกแซง

(4) อํามาตย์เก่าเข้ามาแทรกแซง

(5) ทหารเข้ามาแทรกแซง

ตอบ 5 หน้า 172 ปัญหาของการแทรกแซงทางการเมืองในประเทศไทยมักจะเกิดขึ้นมาจากข้าราชการทหารมากที่สุด เพราะทหารมีกองกําลังติดอาวุธและรวมตัวกันเป็นกองทัพ จึงสามารถเข้าแทรกแซงทางการเมืองได้ด้วยวิธีการก่อรัฐประหารยึดอํานาจจากรัฐบาลที่มา จากการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย และทําให้ระบบการเมือง ของไทยไม่พัฒนา เกิดการหมุนเวียนเป็นวัฏจักรแห่งความชั่วร้าย

96 กระทรวงยุติธรรม ตั้งขึ้นในสมัยใด

(1) สุโขทัย

(2) อยุธยา

(3) กรุงธนบุรี

(4) รัตนโกสินทร์ช่วง ร.1 – ร.4

(5) รัตนโกสินทร์ช่วง ร.5

ตอบ 5 หน้า 33, 255 กระทรวงยุติธรรมตั้งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2434

97 ศาลสถิตยุติธรรมจะแบ่งการพิจารณาคดีเมื่อมีการกระทําผิดเกิดขึ้นออกเป็นกี่ชั้น

(1) 1 ชั้น

(2) 2 ชั้น

(3) 3 ชั้น

(4) 4 ชั้น

(5) 5 ชั้น

ตอบ 3 หน้า 255 ศาลสถิตยุติธรรมจะแบ่งการพิจารณาคดีเมื่อมีการกระทําผิดเกิดขึ้นออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

98 คณะกรรมการตุลาการ (กต.) คือ

(1) หลักประกันสําหรับผู้พิพากษาในการวินิจฉัยคดีโดยไม่มีอิทธิพลอื่นเข้ามาแทรกแซง

(2) องค์กรอิสระดําเนินการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ย้าย ฯลฯ ผู้พิพากษา (3) คณะกรรมการเลือกตั้ง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกเฉพาะข้อ 2 กับ 3

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 70 ประกอบ

99 พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามฯ พ.ศ. 2489 จะใช้บังคับที่จังหวัด (1) พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี

(2) นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี

(3) สตูล นราธิวาส ยะลา ปัตตานี

(4) ตรัง นราธิวาส สงขลา ปัตตานี

(5) สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี

ตอบ 3 หน้า 261 ปกติผู้ที่อยู่ในประเทศเดียวกันย่อมได้รับการพิทักษ์และคุ้มครองด้วยกฎหมายฉบับเดียวกัน แต่สําหรับประเทศไทยได้มีการยกเว้นในเขต 4 จังหวัดภาคใต้ คือ สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามฯ พ.ศ. 2489 ออกใช้บังคับในคดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกของคนไทยอิสลาม เพราะในเขต 4 จังหวัดภาคใต้ดังกล่าวนั้นประชาชนส่วนใหญ่ประมาณกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม

100 ในการใช้บังคับกฎหมายอิสลาม จะตัดสินตามเกณฑ์แห่งศาสนาได้ก็ต่อเมื่อ

(1) โจทก์มิได้นับถือศาสนาอิสลามแต่จําเลยนับถือศาสนาอิสลาม

(2) โจทก์นับถือศาสนาอิสลามแต่จําเลยมิได้นับถือศาสนาอิสลาม

(3) คู่กรณีต่างก็มิได้เป็นอิสลามิกชน

(4) คู่กรณีต่างก็เป็นอิสลามิกชนทั้งคู่

(5) ไม่มีเกณฑ์แล้วแต่จะเลือกใช้

ตอบ 4 หน้า 261 คดีแพ่งเกี่ยวกับครอบครัวและมรดกจะตัดสินตามเกณฑ์แห่งศาสนาอิสลามได้ก็ต่อเมื่อคู่กรณีเป็นอิสลามิกชนทั้งคู่ แต่ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมิได้นับถือศาสนาอิสลามแล้วก็ห้ามมิให้ถือเกณฑ์ แห่งศาสนาอิสลามบังคับคดี และให้บังคับใช้เฉพาะในอาณาเขต 4 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น

POL1101 การเมืองและการปกครองไทย 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 1101 การเมืองและการปกครองไทย

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 ระยะเวลาการดํารงตําแหน่งของกํานัน

(1) 4 ปี

(2) 5 ปี

(3) อยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 60 ปี

(4) อยู่ในตําแหน่งจนถึงอายุครบ 55 ปี

(5) อยู่ในตําแหน่งตลอดชีวิต

ตอบ 3 พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 11) มาตรา 14 และมาตรา 31 กําหนดให้ กํานั้นต้องออกจากตําแหน่งด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้

1 เมื่อต้องออกจาก ผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากมีอายุครบ 60 ปี หรือตาย หรือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ฯลฯ

2 ยุบตําบลที่ปกครอง

3 ถูกปลดออกหรือไล่ออกจากตําแหน่ง ฯลฯ

 

2 ต่อไปนี้เป็นลักษณะสําคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น ยกเว้น

(1) ต้องมีชุมชน

(2) จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากรัฐบาลกลาง

(3) มีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ดําเนินงาน

(4) มีอํานาจในการจัดเก็บภาษีทุกประเภท

(5) ต้องมีอิสระในการดําเนินกิจการของท้องถิ่น

ตอบ 4 หน้า 433 – 435, (คําบรรยาย) การปกครองท้องถิ่นโดยทั่วไปมีลักษณะหรือหลักการสําคัญ ดังนี้

1 เป็นการปกครองชุมชนหรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งของประเทศ

2 มีองค์การหรือหน่วยการปกครองที่จัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแยกไปต่างหากจากรัฐบาลกลาง โดยมีรายได้เป็นของตนเอง และมีอํานาจในการจัดเก็บภาษี 4 ประเภท คือ ภาษีอากรฆ่าสัตว์ ภาษีป้าย ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบํารุงท้องที่

3 มีการเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ดําเนินงาน (ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ)

4 มีอิสระในการดําเนินกิจการของท้องถิ่น (ภายในขอบเขตที่กฎหมายกําหนด และอยู่ในกํากับดูแลหรือการควบคุมของรัฐบาลกลาง)

3 องค์การบริหารส่วนจังหวัดใด มีจํานวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดมากที่สุด

(1) กรุงเทพมหานคร

(2) เชียงใหม่

(3) อุบลราชธานี

(4) นครราชสีมา

(5) ระนอง

ตอบ 4 หน้า 358, 440 สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ตามตัวเลือก (ยกเว้น กทม.) มีจํานวนมากน้อยตามลําดับดังนี้

1 นครราชสีมา (มีราษฎรเกิน 2 ล้านคน) มี ส.อบจ. ได้ 48 คน

2 เชียงใหม่และอุบลราชธานี (มีราษฎรเกิน 1.5 ล้านคน แต่ไม่เกิน 2 ล้านคน) มี ส.อบจ. ได้ 42 คน

3 ระนอง (มีราษฎรไม่เกิน 5 แสนคน) มี ส.อบจ. ได้ 24 คน

4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยรูปแบบใดเป็นรูปแบบพิเศษ

(1) อบต.

(2) เทศบาล

(3) ภูเก็ต

(4) เกาะสมุย

(5) พัทยา

ตอบ 5 หน้า 439, 465, 477 ปัจจุบันรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย มี 5 รูป ดังนี้

1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

2 เทศบาล

3 กรุงเทพมหานคร (กทม.)

4 เมืองพัทยา

5 องค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) โดยกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ

 

5 การจัดตั้งอําเภอต้องตราเป็นกฎหมายอะไร

(1) พระราชกฤษฎีกา

(2) พระราชบัญญัติ

(3) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

(4) กฎกระทรวง

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 1 หน้า 402, 409 กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน กําหนดให้

1 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ

2 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตอําเภอ ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

6 ปลัดอําเภอเป็นข้าราชการสังกัดหน่วยงานใด

(1) สํานักนายกรัฐมนตรี

(2) กรมการปกครอง

(3) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

(4) กรมการพัฒนาชุมชน

(5) ไม่สังกัดหน่วยงานใด

ตอบ 2 หน้า 409, (คําบรรยาย) ปลัดอําเภอและนายอําเภอเป็นข้าราชการสังกัดกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย (นายอําเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการในอําเภอ และรับผิดชอบงานบริหารราชการของอําเภอ โดยมีปลัดอําเภอและหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆในอําเภอนั้นเป็นผู้ช่วยเหลือนายอําเภอ)

7 สํานักนายกรัฐมนตรีเป็นส่วนที่เทียบส่วนราชการใด

(1) กรม

(2) กระทรวง

(3) สํานักงานเลขานุการรัฐมนตรี

(4) สํานักงานปลัดกระทรวง

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 372 373 สํานักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นกระทรวง แต่มีลักษณะพิเศษกว่ากระทรวงอื่น ๆ โดยจะแบ่งส่วนราชการออกเป็นสํานักและสํานักงานต่าง ๆ ซึ่งมีนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และมีรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีประจําสํานักนายกฯ หรือมีทั้งรองนายกฯ และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกฯ เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการตามที่นายกฯ มอบหมาย

8 เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นข้าราชการ

(1) ข้าราชการประจํา

(2) ข้าราชการฝ่ายการเมือง

(3) ข้าราชการพิเศษ

(4) ข้าราชการกรณีพิเศษ

(5) ข้าราชการพลเรือนวิสามัญ

ตอบ 2 หน้า 365 366 ตําแหน่งข้าราชการการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรีเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ฯลฯ

9 การกําหนดโครงสร้างเทศบาลของไทยในปัจจุบันมีลักษณะและรูปแบบใด

(1) รัฐสภา

(2) ประธานาธิบดี

(3) แบบผสมรัฐสภาและประธานาธิบดี

(4) แบบมีสภา

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 448, 450, 462 การกําหนดโครงสร้างการจัดองค์การและการบริหารเทศบาลของไทยในปัจจุบัน มีลักษณะและรูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดี (Presidential System) คือ มีนายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนโดยใช้หลักการแบ่งแยกอํานาจ (Separation) ตามแบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

10 ปัจจุบันใครดํารงตําแหน่งรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(1) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

(2) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย

(3) นายวิษณุ เครืองาม

(4) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 (ข่าว) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนปัจจุบัน คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 1และนายพรศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติคนที่ 2

11 ผู้รับผิดชอบสูงสุดของฝ่ายบริหารในเทศบาลมีตําแหน่งเรียกว่าอะไร

(1) ปลัดเทศบาล

(2) ประธานสภา

(3) นายกเทศมนตรี

(4) ผู้อํานวยการสํานัก

(5) ผิดทุกข้อ 1

ตอบ 3 หน้า 450 – 454, 461 โครงสร้างการจัดองค์การและการบริหารเทศบาล แบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาเทศบาล มีประธานสภาเทศบาลเป็นผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบสูงสุด

2 ฝ่ายบริหาร มีนายกเทศมนตรีเป็นผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบสูงสุด

12 รองนายกเทศมนตรี เทศบาลขนาดใหญ่แต่งตั้งได้จํานวนไม่เกินกี่คน

(1) 5 คน

(2) 4 คน

(3) 3 คน

(4) 2 คน

(5) คน

ตอบ 2 หน้า 448, 453 นายกเทศมนตรีอาจแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีได้ตามจํานวนดังต่อไปนี้

1 เทศบาลตําบล (เทศบาลขนาดเล็ก) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 2 คน

2 เทศบาลเมือง (เทศบาลขนาดกลาง) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน

3 เทศบาลนคร (เทศบาลขนาดใหญ่) ให้มีรองนายกเทศมนตรีได้ไม่เกิน 4 คน

13 แนวความคิดในการจัดระบบราชการในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้นําแบบอย่างมาจากที่ใดของโลก

(1) สหรัฐอเมริกา

(2) ยุโรป

(3) ญี่ปุ่น

(4) เกาหลีใต้

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 363, (คําบรรยาย) แนวคิดในการจัดระบบราชการของไทยในสมัยรัตนโกสินทร์(ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน) ได้นําแบบอย่างมาจากยุโรป โดยมีหลักหรือลักษณะ ในการจัดองค์การและการบริหาร ดังนี้

1 มีการจัดหน่วยราชการเป็นระดับ โดยมีสายงานอํานาจหน้าที่และการบังคับบัญชาเป็นระดับเชื่อมโยงจากบนสู่ล่าง

2 ยึดถือกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเป็นหลักปฏิบัติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้งานเป็น ระเบียบแบบแผนเดียวกัน

3 มีการแบ่งงานกันทําตามความชํานาญ หรือพยายามแบ่งงานเป็นสัดส่วนกัน

4 มีการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการตามระบบคุณธรรม

14 เทศบาลขนาดใหญ่ที่สุด มีจํานวนสมาชิกสภาได้กี่คน

(1) 12 คน

(2) 16 คน

(3) 18 คน

(4) 20 คน

(5) 24 คน

ตอบ 5 หน้า 448, 450 สมาชิกสภาเทศบาล มีจํานวนตามขนาดของเทศบาล ดังนี้

1 เทศบาลตําบล (เทศบาลขนาดเล็ก) มีสมาชิกสภาจํานวน 12 คน

2 เทศบาลเมือง (เทศบาลขนาดกลาง) มีสมาชิกสภาจํานวน 18 คน

3 เทศบาลนคร (เทศบาลขนาดใหญ่) มีสมาชิกสภาจํานวน 24 คน

15 จํานวนสมาชิกสภาเขต กฎหมายกําหนดให้มีได้ไม่เกินกี่คน

(1) 7 คน

(2) 8 คน

(3) 9 คน

(4) 10 คน

(5) ไม่จํากัดจํานวน

ตอบ 5 หน้า 473 สภาเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยราษฎรในเขต โดยมีจํานวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน ถ้าเขตใดมีราษฎรเกิน 1 แสนคน ให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเขตนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คนต่อจํานวนราษฎรทุก 1 แสนคน เศษของ 1 แสนคน ถ้าถึง 5 หมื่นหรือกว่านั้นให้นับเป็น 1 แสน (กฎหมายไม่ได้จํากัดจํานวนไว้ว่าให้มีได้ไม่เกินกี่คน)

16 จํานวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบล กฎหมายกําหนดให้มีได้อย่างน้อยกี่คน

(2) 6 คน

(3) 8 คน

(4) 10 คน

(5) ไม่จํากัดจํานวน

ตอบ 2 หน้า 485 สภาองค์การบริหารส่วนตําบล ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากราษฎรในแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 คน ในกรณีเขตองค์การบริหารส่วนตําบลใดมีเพียง 1 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกจํานวน 6 คน และถ้ามีเพียง 2 หมู่บ้าน ให้มีสมาชิกหมู่บ้านละ 3 คน (รวมเป็น 6 คน) ดังนั้นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลจึงมีอย่างน้อยจํานวน 6 คน

17 ข้อใดเป็นหน้าที่ของสภาองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.)

(1) บริหารจัดการ อบต

(2) วางนโยบาย

(3) อนุมัติ/อนุญาต

(4) ควบคุมฝ่ายบริหาร

(5ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 486 สภาองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) มีอํานาจหน้าที่หลัก 3 ประการ ดังนี้

1 ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาตําบล

2 พิจารณาและให้ความเห็นชอบข้อบังคับตําบล ร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายประจําปีและร่างข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม

3 ควบคุมการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหาร

18 ใครเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นร่างเสร็จเรียบร้อยและถูกคว่ำไปเรียบร้อยแล้ว

(1) นายมีชัย ฤชุพันธ์

(2) นายวิษณุ เครืองาม

(3) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(4) นายอลงกรณ์ พลบุตร

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 3 (ข่าว) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นจํานวน 36 คน แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วกลับถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติคว่ำร่างด้วยคะแนน 135 ต่อ 105 เสียง เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558

19 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คนปัจจุบันคือใคร

(1) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

(2) ม.ล.ปนัดดา ดิศกล

(3) พล.อ.ธีรชัย นาควานิช

(4) นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 (ข่าว), นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2557

20 ประธาน คสช. คือใคร

(1) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

(2) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

(3) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

(4) พล.อ.ประวิทย์ วงศ์สุวรรณ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 (ข่าว) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทย เป็นหัวหน้า คสช.

ข้อ 21. – 25. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) Politics

(2) Government

(3) Aristotle

(4) ราชาธิปไตย

(5) ทุชนาธิปไตย

21 การแข่งขันเพื่อแสวงหาอํานาจ

ตอบ 1 หน้า 1, การเมือง (Politics) หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการแข่งขันเพื่อการแสวงหาอํานาจ การใช้อํานาจ และผลประโยชน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งสังคมหรือส่วนใหญ่ของสังคม

22 การเมืองการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

ตอบ 4 หน้า 3, 3 – 6 (S) ราชาธิปไตย (Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่ได้รับอิทธิพลมาจากระบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) ในสมัยอยุธยา ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นการปกครองระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่อํานาจอธิปไตยจะอยู่ที่กษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว อันเป็นรูปแบบการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 1 – 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งการปกครองแบบราชาปราชญ์ (Philosopher King) ตามแนวคิดของเพลโต

23 การวางระเบียบกฎเกณฑ์สําหรับสังคม เพื่อให้สังคมมีความสงบสุข

ตอบ 2 หน้า 1 การปกครอง (Government) หมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารวางระเบียบกฎเกณฑ์สําหรับสังคมเพื่อให้สังคมมีความสงบสุข โดยมุ่งที่เรื่องวิธีการใช้อํานาจอธิปไตยเพื่อการบําบัดทุกข์บํารุงสุขของประชาชน

24 ปรมาจารย์ทางทฤษฎีการเมืองชาวกรีก

ตอบ 3 หน้า 2, 17 (S) อริสโตเติล (Aristotle) เป็นปรมาจารย์ทางทฤษฎีการเมืองชาวกรีก และถือเป็นบิดาวิชาการปกครองเปรียบเทียบ ได้ใช้เกณฑ์ในการแบ่งประเภทรูปแบบการปกครองคือ จํานวนผู้มีอํานาจ (ผู้ปกครอง) และจุดมุ่งหมายในการปกครอง

25 ทรราช

ตอบ 5 หน้า 2 – 3, 3 – 4 (S) ทรราชหรือทุชนาธิปไตย (Tyranny) คือ ระบอบการปกครองที่อํานาจอธิปไตยอยู่ที่คน ๆ เดียว โดยมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อผู้ปกครองหรือเพื่อหา ผลประโยชน์ให้กับตนเอง ดังนั้นจึงเป็นรูปแบบการปกครองโดยเผด็จการที่ฉ้อฉลหรือกดขี่ข่มเหงประชาชน อันเป็นการปกครองแบบ “ทํานาบนหลังคน” หรือ “ขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน”

ข้อ 26 – 30. ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) ราชาธิปไตย

(2) ทรราช

(3) อภิชนาธิปไตย

(4) คณาธิปไตย

(5) ประชาธิปไตย

26 รูปแบบการปกครองของไทยสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม

ตอบ 4 หน้า 2 – 3, 3 – 4 (S) คณาธิปไตย (Oligarchy) คือ ระบอบการปกครองโดยคณะบุคคลซึ่งผู้ปกครองเป็นกลุ่มเผด็จการที่ทําเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกเป็นสําคัญ เป็นรูปแบบการปกครองที่มักจะเกิดจากรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหารยึดอํานาจ เช่น รูปแบบการปกครองของไทยภายใต้คณะผู้นําทหารในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม-ประภาส และจอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม ฯลฯ

27 รูปแบบการปกครองที่ผู้นําเผด็จการปกครองขูดรีดประชาชน

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 25 ประกอบ

28 รูปแบบการปกครองที่คณะผู้นําทําเพื่อประโยชน์ของทวยราษฎร์

ตอบ 3 หน้า 2 – 4, 3 – 4 (S) อภิชนาธิปไตย (Aristocracy) คือ ระบอบการปกครองโดยคณะบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษหรือมีคุณภาพเหนือกว่าชนส่วนใหญ่ เช่น กลุ่มขุนนาง พวกเชื้อสายราชวงศ์ หรือชนชั้นสูง กลุ่มปัญญาชนคนมีความรู้ หรือกลุ่มชนที่ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชน ฯลฯ โดยมีจุดมุ่งหมายในการปกครองเพื่อประชาชน ดังนั้นจึงเป็นลัทธิการเมืองที่ให้ความสําคัญกับ ชนชั้นสูงของสังคมและเป็นรูปแบบการปกครองที่คณะผู้ปกครองทําเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน หรือทวยราษฎร์ ถือเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดโดยคณะผู้ปกครอง

29 รูปแบบการปกครองของไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 22 ประกอบ

30 รูปแบบการปกครองของไทยยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ตอบ 5 หน้า 11 – 12, 16, 79, คําบรรยาย) ประชาธิปไตย (Democracy) เป็นระบอบการปกครองที่ยึดหลักว่าอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรืออํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของ ประชาชนหรือเป็นการปกครองโดยประชาชน (การปกครองที่คนหมู่มากเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตย) โดยรัฐบาลจะใช้อํานาจปกครองน้อยที่สุดเฉพาะเรื่องที่จําเป็นเท่านั้น ดังนั้นประชาธิปไตย จึงมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ให้ความสําคัญกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เชื่อในหลักการ แห่งกฎหมายและหลักการแห่งความเสมอภาค รวมทั้งคํานึงถึงหลักศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือหลักสิทธิมนุษยชน (ยึดถือสิทธิในการปกครองตนเอง) เช่น ระบอบการเมืองการปกครอง ของประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น รวมทั้งระบอบการเมือง ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติ 2475 ของไทย และระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ฯลฯ

ข้อ 31 – 35 ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) สิทธิ

(2) เสรีภาพ

(3) ความเสมอภาค

(4) หลักเหตุผลนิยม

(5) Public Spirit

 

31 ความสํานึกในความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม

ตอบ 5 หน้า 22 Public Spirit หมายถึง ความสํานึกในความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ซึ่งจะเกิดขึ้นจากความรู้สึกของคนในสังคมว่า ตนเป็นเจ้าของประเทศและประเทศเป็นของคนทุกคน การ ประพฤติตนให้เป็นพลเมืองดี ได้แก่ การช่วยกันดูแลรักษาสมบัติของส่วนรวมหรือสาธารณสมบัติ

32 เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้ที่สามารถพูดจากันรู้เรื่อง

ตอบ 4 หน้า 20 – 21, 23 (S), (คําบรรยาย) หลักการแห่งเหตุผล/หลักเหตุผลนิยม (Rationalism) คือ การยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็มีเหตุผลของการกระทําใด ๆ เพราะประชาธิปไตยเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้ที่มีเหตุผลสามารถพูดจากันรู้เรื่อง โดยประชาธิปไตยจะดําเนินไปได้ด้วยดีก็ต่อเมื่อ มีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายเพื่อค้นหาเหตุผลและความถูกต้องที่แท้จริง เช่น การยอมรับในข้อสรุปที่ได้จากการอภิปรายของสมาชิก เป็นต้น

33 ความสามารถที่จะกระทําการใด ๆ ได้ดั่งใจโดยไม่ละเมิดกฎหมาย

ตอบ 2 หน้า 12 เสรีภาพ (Liberty) หมายถึง ความมีอิสระในการกระทําการใด ๆ ได้ตามความปรารถนาแต่มีขอบเขตจํากัดว่าการกระทํานั้น ๆ ต้องไม่ละเมิดกฎหมายหรือไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น

34 การบังคับใช้กฎหมาย Double Standard จะต้องไม่มี

ตอบ 3 หน้า 14 – 15, (คําบรรยาย) ความเสมอภาค (Equality) คือ การได้รับการปฏิบัติจากรัฐและกฎหมายโดยปราศจากความลําเอียงหรือเลือกปฏิบัติ โดยในระบอบประชาธิปไตยมีหลัก แห่งความเสมอภาค 5 ประการ คือ ความเสมอภาคทางการเมือง ความเสมอภาคทางกฎหมาย (คือ เมื่อกระทําผิดจะต้องใช้กฎหมายและการลงโทษอย่างเดียวกัน จะต้องไม่มีการบังคับใช้ กฎหมายแบบ 2 มาตรฐานหรือ Double Standard) ความเสมอภาคในโอกาส ความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจ และความเสมอภาคทางสังคม

35 เป็นอํานาจอันชอบธรรมในการกระทําใด ๆ ของสมาชิกของสังคม

ตอบ 1 หน้า 12 – 13 สิทธิ (Right) คือ อํานาจอันชอบธรรมหรือความสามารถหรือโอกาสที่จะกระทําหรือไม่กระทําการใด ๆ ได้โดยชอบธรรม สิทธิของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับ โดยธรรมเนียมประเพณีหรือกฎหมาย ดังนั้นอํานาจอื่นหรือแม้กระทั่งอํานาจของรัฐจะก้าวก่ายสิทธิของบุคคลไม่ได้

ข้อ 36 – 40, ข้อเลือกต่อไปนี้ให้ใช้เป็นคําตอบ

(1) เสรีนิยม

(2) สังคมนิยม

(3) เผด็จการเบ็ดเสร็จ

(4) อํานาจนิยม

(5) ชาตินิยม

36 ลัทธิที่ให้เสรีภาพเฉพาะด้านเศรษฐกิจสังคม แต่จํากัดเสรีภาพทางการเมือง

ตอบ 4 หน้า 6 – 7 อํานาจนิยม (Authoritarianism) คือ การที่รัฐบาลให้เสรีภาพแก่ประชาชนพอสมควร โดยเฉพาะเสรีภาพทางด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่จะจํากัดเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะการใช้อํานาจของรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เช่น รัฐบาลทหารของไทยการปกครองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฯลฯ

37 ยึดมั่นในแนวคิดเรื่อง “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย”

ตอบ 3 หน้า 6, 66 (S) เผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) คือ การที่รัฐบาลหรือผู้ปกครองใช้อํานาจควบคุมประชาชนอย่างเคร่งครัดแทบจะสิ้นเชิงในทุกด้าน ทั้งเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ดังนั้นจึงเป็นระบบของการใช้อํานาจการเมืองเข้าแทรกแซงวิถีชีวิตของ คนในสังคม เช่น ระบบฟาสซิสต์ของอิตาลี ระบบนาซีของเยอรมัน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือราชาธิปไตย และรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ใช้อํานาจเด็ดขาดโดยยึดมั่นในแนวคิด“ผู้นําถูกต้องเสมอ” ดังคําขวัญ “เชื่อผู้นําชาติพ้นภัย” เพื่อปลุกใจราษฎรให้เชื่อมั่นรัฐบาล ฯลฯ

38 ความเป็นอยู่ของประชาชนด้านเศรษฐกิจสังคมมีรัฐเป็นผู้ดูแล

ตอบ 2 หน้า 8, 8 (S) สังคมนิยม (Socialism) คือ ลัทธิทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะเข้ามาควบคุมและกํากับดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านเศรษฐกิจหลักของประเทศ อันเป็นลัทธิ เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ารัฐต้องเข้ามาควบคุมและเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่สําคัญ ของสังคม และเป็นลัทธิเศรษฐกิจที่ยึดหลักแห่งความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันมากกว่า หลักเสรีภาพ เช่น ระบบหรือแนวคิดเรื่องรัฐวิสาหกิจ ระบบเศรษฐกิจของสังคมเวียดนามและจีนยุคปัจจุบัน ฯลฯ

39 แนวคิดที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อในเรื่อง “ไร้พรมแดน”

ตอบ 5 หน้า 9, (คําบรรยาย) ลัทธิชาตินิยม (Nationalism) คือ ลัทธิหรืออุดมการณ์ที่เน้นหรือให้ความสําคัญกับเรื่องของความมั่นคงและความเป็นเอกภาพของชาติ เชื่อและศรัทธาในพวกพ้อง และดินแดนเดียวกัน เน้นเรื่องความรักความผูกพันและความสมานฉันท์ต่อกันของคนในชาติ เชื่อว่าคนเราเกิดมาต่างก็เป็นหนี้ต่อบ้านเมืองของเราเอง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อ ในเรื่องสากลนิยม/ไร้พรมแดนที่ให้ความสําคัญในเรื่องผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติมากกว่า ผลประโยชน์ของชาติใดชาติหนึ่ง นอกจากนี้ลัทธิชาตินิยมยังเชื่อว่ารัฐกับมนุษย์ไม่แตกต่างกัน เพราะถ้าไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีรัฐ และรัฐจะอยู่ไม่ได้ถ้ามนุษย์ในรัฐไม่ช่วยกันปกป้องรักษารัฐของตน ดังนั้นลัทธิชาตินิยมจึงต้องการให้สมาชิกทุกคนเชื่อฟังคําสั่งของรัฐโดยปราศจากเงื่อนไข

40 รัฐที่ใช้อํานาจในการปกครองน้อยที่สุด 3

ตอบ 1 หน้า 6, 7 – 8 (S) เสรีนิยม (Liberalism) เป็นระบอบเศรษฐกิจการเมืองที่เน้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีลักษณะการใช้อํานาจแบบอิสระนิยม อันเป็นต้นแบบของการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย โดยมองว่ารัฐที่ดีคือรัฐที่ใช้อํานาจในการปกครองและกํากับดูแลน้อยที่สุดทั้งนี้รัฐบาลจะเข้าควบคุมหรือรักษากฎเกณฑ์เฉพาะส่วนที่จําเป็นเท่านั้น

41 รัฐธรรมนูญคือ

(1) กฎหมายที่กําหนดรูปแบบและหลักการในการจัดการปกครอง

(2) กฎหมายที่ว่าด้วยการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

(3) กฎหมายที่กําหนดถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในภาคใต้ (4) กฎหมายที่กําหนดถึงความเป็นประชาธิปไตย

(5) กฎหมายที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย

ตอบ 1 หน้า 81 รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งกําหนดรูปแบบและหลักการในการจัดการปกครองประเทศ การใช้อํานาจของผู้ปกครองหรือสถาบันการเมืองต่าง ๆการสืบต่ออํานาจ ตลอดจนขอบเขตหน้าที่และสิทธิเสรีภาพของประชาชน

42 รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ใน

(1) ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น

(2) ประเทศที่เป็นเผด็จการ

(3) ประเทศที่เป็นได้ทั้งประชาธิปไตยและเผด็จการ

(4) ประเทศที่มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

(5) ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองของประเทศนั้น ๆ

ตอบ 3 หน้า 82 ตามทฤษฎีแล้ว รัฐอธิปไตยทุกรัฐจะมีรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักหรือกติกาที่กําหนดแนวทางสําหรับการที่รัฐจะใช้อํานาจปกครองราษฎร ดังนั้นการมีรัฐธรรมนูญ จึงมิได้หมายความว่ารัฐนั้นเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการก็มีรัฐธรรมนูญเช่นกัน

43 “สาระ” ของรัฐธรรมนูญคือ

(1) จะกล่าวถึงสิทธิโดยธรรมชาติของประชาชนในรัฐทุก ๆ รัฐ

(2) จะกล่าวถึงสัญชาตญาณของประชาชนในรัฐ

(3) จะกล่าวถึงการทําสัญญากันระหว่างรัฐกับประชาชน

(4) จะกล่าวถึงการกําหนดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล

(5) จะกล่าวถึงการกําหนดขั้นตอนและวิธีการแก้ไขกฎหมายธรรมดาต่าง ๆ

ตอบ 5 หน้า 175 (S) ในรายละเอียดและเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะมีบทบัญญัติที่กล่าวถึง กระบวนการหรือขั้นตอนและวิธีการออกหรือตราและแก้ไขกฎหมายเอาไว้ ซึ่งในการยกร่างกฎหมายแต่ละฉบับจะต้องอ้างอิงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจของการออกกฎหมายไว้เสมอ เพราะการออกกฎหมายของรัฐแต่ละฉบับจะกระทําโดยละเมิดรัฐธรรมนูญไม่ได้

44 รัฐธรรมนูญของไทยฉบับแรกเกิดขึ้นเมื่อ

(1) 3 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

(2) 4 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

(3) 5 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

(4) 6 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

(5) 7 วัน หลังจากเกิดการปฏิวัติ 2475

ตอบ 1 หน้า 83 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย (พ.ร.บ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ดังนั้นจึงเกิดขึ้นหลังจากเกิดการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เพียง 3 วันเท่านั้น โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้กําหนดให้รัฐสภามีสภาเดียวเรียกว่า สภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนราษฎรชั่วคราวที่มาจากการแต่งตั้งจํานวน 70 คน

45 จํานวนของรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน

(1) 15 ฉบับ

(2) 16 ฉบับ

(3) 17 ฉบับ

(4) 18 ฉบับ

(5) 19 ฉบับ

ตอบ 5 (คําบรรยาย) นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วรวมทั้งสิ้น 19 ฉบับ โดยเป็นรัฐธรรมนูญที่ตั้งใจประกาศใช้เป็นการถาวร 11 ฉบับ และตั้งใจประกาศใช้เป็นการชั่วคราว 8 ฉบับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับที่ 19 คือ รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557

46 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่ระบุว่าให้มี “สภาเดียว” เป็นฉบับแรก

(1) ฉบับชั่วคราว ปี 2475

(2) ฉบับถาวร ปี 2475

(3) ฉบับถาวร ปี 2489

(4) ฉบับถาวร ปี 2540

(5) ฉบับชั่วคราว ปี 2549

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 44 ประกอบ

47 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ปี พ.ศ. 2489 จะเป็นฉบับแรกที่

(1) มีการระบุถึงการมีสภาเดียว

(2) มีการระบุถึงสมาชิกสภาประเภท 1 ว่าต้องมาจากประชาชนเลือกตั้งเข้ามา

(3) มีการระบุให้แยกข้าราชการประจําออกจากข้าราชการการเมือง

(4) มีอายุการใช้ยาวนานถึง 14 ปี

(5) มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ทุ่ม”

ตอบ 3 หน้า 86 – 87 รัฐธรรมนูญฯ 2489 (ฉบับที่ 3) มีลักษณะสําคัญคือ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่มีบทบัญญัติแยกข้าราชการประจําออกจากข้าราชการการเมือง และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ “รัฐสภา” จากสภาเดียว (ตามรัฐธรรมนูญฯ 2475) ไปเป็นสภาคู่ (2 สภา) ได้แก่

1 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยตรง

2 พฤฒิสภา (วุฒิสภา) ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งมาโดยอ้อม

48 รัฐธรรมนูญฉบับใดที่กําหนดอํานาจหน้าที่ให้ฝ่ายบริหารคือ คณะรัฐมนตรีมีอํานาจกว้างขวางสามารถใช้อํานาจได้ทั้งอํานาจนิติบัญญัติและอํานาจตุลาการในบางกรณีได้ โดยระบุไว้ใน ม.17

(1) ฉบับที่ 4 ปี พ.ศ. 2490

(2) ฉบับที่ 5 ปี พ.ศ. 2492

(3) ฉบับที่ 6 ปี พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495

(4) ฉบับที่ 7 ปี พ.ศ. 2502

(5) ฉบับที่ 17 ปี พ.ศ. 2549

ตอบ 4 หน้า 92 – 93, 71 (S) รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 (ธรรมนูญการปกครองฯ 2502) ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการมากที่สุดของไทย เพราะมีการให้อํานาจอย่างกว้างขวางมากแก่ฝ่ายบริหาร คือคณะรัฐมนตรี ที่นอกจากจะมีอํานาจบริหารแล้วยังสามารถใช้อํานาจนิติบัญญัติและอํานาจตุลาการ ในบางกรณีได้ โดยระบุไว้ในมาตรา 17 ให้นายกรัฐมนตรีมีอํานาจสั่งการหรือกระทําการใด ๆ ได้ ดังนั้นจึงถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เป็นแม่แบบของรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ

49 “ประธานคณะกรรมการราษฎร” หมายถึง

(1) ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) ประธานสมาชิกพฤฒิสภา

(3) ประธานสมาชิกวุฒิสภา

(4) คณะรัฐมนตรี

(5) นายกรัฐมนตรี

ตอบ 5 หน้า 83 – 85, 159 – 160 ธรรมนูญการปกครองฯ 2475 ได้เรียกตําแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารว่า “ประธานคณะกรรมการราษฎร” และเรียกคณะบริหารว่า “คณะกรรมการราษฎร” แต่ต่อมา นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญฯ 2475 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เปลี่ยนมาเรียกตําแหน่งดังกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรี” และ “คณะรัฐมนตรี” ตามลําดับ

50 พระมหากษัตริย์ในสมัยใดที่มีบทบาทเป็น “เจ้าชีวิต” ของราษฎร

(1) สมัยก่อนสุโขทัย

(2) สมัยสุโขทัย

(3) สมัยอยุธยา

(4) สมัยกรุงธนบุรี

(5) สมัยปัจจุบัน

ตอบ 3 หน้า 29, 147, (คําบรรยาย) ในการเปลี่ยนแปลงบทบาทของพระมหากษัตริย์ไทย จากการเป็น“พ่อขุน” มาอยู่ในฐานะเป็น “เจ้าชีวิต” ของราษฎรนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นกษัตริย์ตามแบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) ทรงมีพระราชอํานาจเด็ดขาดสูงสุดล้นพ้นสามารถที่จะกําหนดชะตาชีวิตของผู้อยู่ใต้ปกครองได้

51 พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย

(1) ทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ

(2) มีพระราชอํานาจในการบริหารประเทศโดยตรง

(3) มีพระราชอํานาจในการออกกฎหมายโดยตรง

(4) มีพระราชอํานาจในการสั่งการด้านตุลาการโดยตรง

(5) ทรงมีทุกข้อที่กล่าวมา

ตอบ 1 หน้า 156 แม้ว่าพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยจะมิได้ทรงมีพระราชอํานาจโดยตรงอย่างแท้จริงในกิจกรรมการเมืองการปกครอง แต่ความสําคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์และประโยชน์ ที่ได้รับจากการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีนับเป็นอเนกประการ โดยพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศ

52 ตําแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัย

(1) รัชกาลที่ 2

(2) รัชกาลที่ 3

(3) รัชกาลที่ 4

(4) รัชกาลที่ 5

(5) รัชกาลที่ 6

ตอบ 4 หน้า 151 ในปี พ.ศ. 2435 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาตําแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นตําแหน่งรัชทายาทที่จะได้ทรงสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป

53 ประเทศไทยถวายสิทธิของพระมหากษัตริย์ไว้ ดังนี้

(1) สิทธิที่จะเลือกพระราชธิดาขึ้นสืบสันตติวงศ์โดยพระองค์เอง

(2) สิทธิที่จะเลือกผู้รับสนองพระบรมราชโองการโดยพระองค์เอง

(3) สิทธิที่จะรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ

(4) สิทธิที่จะกระทําการสิ่งใดก็ได้ในประเทศ

(5) สิทธิที่จะใช้สิทธิทางการเมืองในด้านต่าง ๆ

ตอบ 3 หน้า 151 – 152 สิทธิของพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย ได้แก่

1 สิทธิที่จะให้คําเตือน

2 สิทธิที่จะได้รับทราบเรื่องราวต่าง ๆ

3 สิทธิที่จะพระราชทานคําปรึกษาหารือ

4 สิทธิที่จะสนับสนุน

54 พระมหากษัตริย์ไทยทรง

(1) มีอํานาจไม่จํากัด (Unlimited Monarchy)

(2) มีอํานาจจํากัด (Limited Monarchy)

(3) ไม่มีอํานาจเลย

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 151, 55 (S), (คําบรรยาย) พระมหากษัตริย์ของไทยในสมัยปัจจุบัน (นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา) ทรงมีอํานาจจํากัด (Limited Monarchy) และเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

55 พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ในด้านใดที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ

(1) พระราชอํานาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ

(2) พระราชอํานาจในการขอให้ลงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

(3) พระราชอํานาจในการแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 152 – 153 พระราชอํานาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่

1 พระราชอํานาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ

2 พระราชอํานาจในการขอให้ลงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

3 พระราชอํานาจในการแต่งตั้งผู้สําเร็จราชการแผ่นดิน

56 ที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทรงตั้งไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเรียกว่า

(1) คณะที่ปรึกษาส่วนพระองค์

(2) คณะองคมนตรี

(3) คณะอภิรัฐมนตรี

(4) ถูกทั้งข้อ 1 และ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 87 – 90, 155 คณะที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทรงตั้งไว้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเริ่มมีครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฯ 2490 (ฉบับที่ 4) ซึ่งเรียกว่า “คณะอภิรัฐมนตรี”และเปลี่ยนชื่อเรียกมาเป็น “คณะองคมนตรี” ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ 2492 เป็นต้นมา

  1. พรรคการเมืองได้รับการกล่าวถึงอย่างเปิดเผยและถูกต้องตามรัฐธรรมนูญฉบับปีใด

(1) 2475

(2) 2489

(3) 2490

(4) 2492

(5) 2502

ตอบ 2 หน้า 287 – 288 พรรคการเมืองได้รับการกล่าวถึงอย่างเปิดเผยและถูกต้องในทางนิตินัยเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฯ 2489 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการตั้งคณะพรรคการเมือง…ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย”

58 พรรคการเมืองของไทยในอดีตคือ

(1) พรรคเด่นพรรคเดียว

(2) ระบบ

2 พรรค

(3) ระบบหลายพรรค

(4) ระบบรัฐบาลผสม

(5) ระบบรัฐบาลเสียงข้างมาก

ตอบ 1 หน้า 292 ในอดีตนั้นระบบพรรคการเมืองไทยเรียกได้ว่าเป็นระบบพรรคเด่นพรรคเดียว(One Dominant Party) เพราะมีกลุ่มการเมืองเพียงกลุ่มเดียวคือ กลุ่มข้าราชการประจํา โดยเฉพาะทหารที่แม้จะไม่ได้จัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยเปิดเผย แต่สามารถเข้าครอบงํา และคุมอํานาจทางการเมืองได้ จึงทําให้มีการวิเคราะห์ว่าเมืองไทยปกครองแบบอํามาตยาธิปไตย (Bureaucratic Oligarchy) คือ ข้าราชการเป็นผู้คุมอํานาจทางการเมือง

59 หน้าที่สําคัญของพรรคการเมืองไทยคือ

(1) ดําเนินการในการเลือกตั้งเพื่อเข้าเป็นรัฐบาล

(2) รวบรวมค้นหาเสียงส่วนใหญ่ของมหาชน

(3) สนับสนุนอํานาจหรืออิทธิพลทางการเมืองของบุคคลหรือคณะบุคคล

(4) สนับสนุนเรื่องเงินค่าใช้จ่ายแก่สมาชิกพรรค

(5) รวบรวมหรือดึงตัวอดีต ส.ส. ที่มีชื่อเสียงให้เข้ามาสังกัดในพรรคตนเอง

ตอบ 3 หน้า 291 หน้าที่สําคัญของพรรคการเมืองไทย คือ การสนับสนุนอํานาจหรืออิทธิพลทางการเมืองของบุคคลหรือคณะบุคคล เช่น การก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาก็เพื่อที่จะสนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ฯลฯ

60 พรรคการเมืองไทยมีลักษณะโครงสร้าง

(1) มีฐานรองรับจากประชาชนจํานวนมาก

(2) สมาชิกสามารถเปลี่ยนพรรคได้ตามอัธยาศัย

(3) นักการเมืองมีอุดมการณ์มากกว่าเรื่องผลประโยชน์

(4) ขาดการมีฐานรองรับจากประชาชนจํานวนมาก

(5) สมาชิกมีระเบียบวินัยมาก

ตอบ 4 หน้า 292 ลักษณะโครงสร้างของพรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ คือ ขาดฐานรองรับจากประชาชนการจัดโครงสร้างพรรคการเมืองจะเน้นเฉพาะในเมืองหลวง มีพรรคการเมืองน้อยพรรคมาก ที่มีสาขาแผ่ขยายอยู่ในภูมิภาค ดังนั้นปัญหาหลักของระบบพรรคการเมืองไทยที่ผ่านมา คือขาดฐานสนับสนุนอย่างแท้จริงจากประชาชนในท้องถิ่น

61 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่นใช้หลักการใดในการจัดการปกครอง

(1) แบ่งแยกอํานาจ

(2) รวมอํานาจ

(3) กระจายอํานาจ

(4) ดุลอํานาจ

(5) แบ่งปันอํานาจ

ตอบ 3 หน้า 359 360, 371, 401, 433 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1 ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง ใช้หลักการรวมอํานาจปกครอง

2 ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ใช้หลักการแบ่งอํานาจปกครอง

3 ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ใช้หลักการกระจายอํานาจปกครอง

62 พรรคการเมืองแรกทางพฤตินัยของไทย คือพรรค

(1) กิจสังคม

(2) สหชีพ

(3) ประชาธิปัตย์

(4) คณะราษฎร

(5) ก้าวหน้า

ตอบ 4 หน้า 288 พรรคการเมืองไทยพรรคแรกทางพฤตินัย คือ “สมาคมคณะราษฎร” ที่จัดตั้งขึ้นโดย“คณะราษฎร” คณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แม้จะไม่ระบุว่าเป็นพรรคการเมือง แต่ก็มี เจตจํานง/มีหลักการหรือแนวทางเช่นเดียวกับพรรคการเมืองโดยทั่วไป คือ ประสงค์จะเข้ารับผิดชอบ ในการบริหารประเทศ ดังนั้นคณะราษฎรจึงมีลักษณะเป็นพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองไทยพรรคแรกตามนิตินัย คือ “พรรคก้าวหน้า” ซึ่งริเริ่มจัดตั้งขึ้นโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

63 การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ครั้งล่าสุด กําหนดให้มีกี่กระทรวง

(1) 20 กระทรวง

(2) 21 กระทรวง

(3) 22 กระทรวง

(4) 23 กระทรวง

(5) 35 กระทรวง

ตอบ 1 หน้า 387 388 การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ครั้งล่าสุดเป็นไปตาม พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 ได้กําหนดให้มีกระทรวงและส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวงจํานวน 20 กระทรวง

64 ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีจํานวนกี่คน

(1) 1 คน

(2) 2 คน

(3) ไม่เกิน 3 คน

(4) ไม่เกิน 4 คน

(5) ไม่เกิน 5 คน

ตอบ 2 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 10 กําหนดให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน สนช. 1 คน และเป็นรองประธาน สนช. ไม่เกิน 2 คน ตามมติของ สนช.

65 กระทรวงมหาดไทย

(1) มีฐานะเป็นนิติบุคคล

(2) จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ

(3) ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บังคับบัญชาฯ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 371, 378 สําน้านายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งการจัดตั้งหรือยุบส่วนราชการเหล่านี้ให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ โดยแต่ละกระทรวงจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาฯ

66 สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทําหน้าที่

(1) สภาผู้แทนราษฎร

(2) วุฒิสภา

(3) รัฐสภา

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 6 กําหนดให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจํานวนไม่เกิน 220 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และมีอายุไม่ต่ํากว่า 40 ปี ตามที่ คสช. ถวายคําแนะนําให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา

67 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ

(1) ร้อยเอกทินพันธ์ นาคะตะ

(2) นายเทียนฉาย กีระตินันทน์

(3) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

(4) นายพรเพชร วิชิตชลชัย

(5) นายอลงกรณ์ พลบุตร

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 10 ประกอบ

68 คุณสมบัติของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือ

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

(3) ต้องไม่เป็นข้าราชการประจํา

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 4 (ข่าว) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 มาตรา 39/2 ทําหน้าที่ศึกษาและปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน สืบต่อจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ถูกยุบไปตามมาตรา 39/1 โดยสมาชิก สปท. มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับสมาชิก สปช. คือ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี

69 การเมืองไทยเท่าที่ผ่านมา เคยมีการลงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วกี่ครั้ง

(1) 1 ครั้ง

(2) 2 ครั้ง

(3) 3 ครั้ง

(4) 4 ครั้ง

(5) 5 ครั้ง

ตอบ 2 (คําบรรยาย) การเมืองไทยที่ผ่านมาเคยมีการลงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ลงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฯ 2550 และ 2559

70 ใครเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติครั้งล่าสุด

(1) นายกรัฐมนตรี

(2) ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(3) หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

(4) ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ

(5) ประธานศาลฎีกา

ตอบ 3 (ข่าว) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติครั้งล่าสุด มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ และมีกรรมการอื่นอีก 20 คน ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

71 การตั้ง ยุบ และเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัดให้ตราเป็น

(1) พระราชบัญญัติ

(2) พระราชกฤษฎีกา

(3) พระราชกําหนด

(4) กฎกระทรวงมหาดไทย

(5) ประกาศกระทรวงมหาดไทย

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 5 ประกอบ

72 ข้าราชการประจํา

(1) เป็นฝ่ายปฏิบัติตามนโยบาย

(2) ไม่มีวาระในการดํารงตําแหน่ง

(3) อาจเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 หน้า 364, (คําบรรยาย) ข้าราชการประจํา คือ บุคคลที่รับราชการในตําแหน่งต่าง ๆ ซึ่งรับผิดชอบงานประจําของกระทรวง ทบวง กรม โดยจะเป็นฝ่ายนํานโยบายไปปฏิบัติหรือดําเนินงานให้เป็นไป ตามนโยบายของรัฐบาล และข้าราชการประจําจะรับราชการเป็นอาชีพต่อเนื่องกันไป (ไม่มีวาระ ในการดํารงตําแหน่ง) ซึ่งโดยปกติแล้วจะออกจากราชการเมื่อครบเกษียณอายุราชการคือ 60 ปี โดย ข้าราชการประจําสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ แต่ไม่สามารถดํารงตําแหน่งใด ๆในพรรคการเมืองได้ (พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 มาตรา 21)

73 นายอําเภอ

(1) สังกัดกรมการปกครอง

(2) มีฐานะในทางบริหารสูงกว่าหัวหน้าส่วนราชการอื่น ๆ ในอําเภอนั้น

(3) เป็นตําแหน่งในการบังคับบัญชาต่ำกว่าปลัดจังหวัด

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 6 ประกอบ

74 กรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรประเภทใดไม่อาจตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นกรรมาธิการได้

(1) กรรมาธิการสามัญ

(2) กรรมาธิการเต็มสภา

(3) กรรมาธิการวิสามัญ

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 1 หน้า 198 199, (คําบรรยาย) กรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นกรรมาธิการถาวรประจําสภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยบุคคลที่เป็น ส.ส. เท่านั้น ไม่สามารถตั้งบุคคลภายนอก เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการได้ โดยจะต้องตั้งให้มีจํานวนตามหรือใกล้เคียงกับสัดส่วนจํานวน ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ส่วนประธานของแต่ละคณะก็จะมีจํานวนตามสัดส่วนจํานวน ส.ส. ของแต่ละพรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

75 หน่วยการปกครองใดเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาค

(1) เมืองพัทยา

(2) เทศบาลนครเชียงใหม่

(3) จังหวัดนนทบุรี

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 402, (ดูคําอธิบายข้อ 4. ประกอบ) กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบันกําหนดให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคไว้ 2 ระดับ คือ จังหวัด และอําเภอ

76 พรรคการเมืองส่วนใหญ่ของการเมืองไทยเท่าที่ผ่านมาตั้งขึ้นโดย

(1) การสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ

(2) มีอุดมการณ์เป็นหลัก

(3) รวมบุคคลเพื่อหวังชนะเลือกตั้ง

(4) ถูกเฉพาะข้อ 1 กับ 2

(5) ถูกทั้งข้อ 1, 2 และ 3

ตอบ 3 หน้า 293 299, (คําบรรยาย) พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่คัดเลือกและรวบรวมสมาชิกเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งโดยเพ่งเล็งโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งมากกว่าเพ่งเล็งอุดมการณ์ โดยนักการเมืองไทยส่วนใหญ่จะไม่ยึดนโยบายพรรคในการหาเสียง มักจะวางตนเป็นอิสระ ไม่รักษาวินัยพรรค และมองการย้ายพรรคเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร ซึ่งจะเห็น ได้จากการเปลี่ยนพรรคหรือย้ายพรรคมักเป็นไปอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง

77 การเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มักกดดันที่

(1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) ข้าราชการประจํา

(3) รัฐบาล

(4) ประชาชน

(5) พรรคการเมือง

ตอบ 3 หน้า 318, (คําบรรยาย) การเรียกร้องหรือดําเนินการต่าง ๆ ของกลุ่มผลประโยชน์ ส่วนใหญ่มักจะเพ่งเล็งหรือกดดันไปที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลมากกว่าฝ่ายอื่น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีมักจะเป็นศูนย์กลางของการเรียกร้อง

78 การรับบุคคลเข้ารับราชการตามระบบคุณธรรมเป็นผลจากการ

(1) นิยมเข้ารับราชการ

(2) เน้นประเพณีวัฒนธรรม

(3) ยึดถือความไว้วางใจ

(4) เป็นมรดกทางการเมือง

(5) ถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์

ตอบ 5 หน้า 363, (คําบรรยาย) ถึงแม้ว่าการคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการจะใช้หลักการตามระบบคุณธรรม (Merit System) คือ ยึดถือความรู้ความสามารถ โดยกําหนดเงินเดือนตาม ความสามารถและความรับผิดชอบ แต่ในทางปฏิบัติ การคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการหรือ การให้ความดีความชอบนั้น ยังมีไม่น้อยที่เป็นไปตามระบบอุปถัมภ์ (Patronage System) คือ ยังมีการเล่นพรรคเล่นพวกกันอยู่ แต่อาจกล่าวอ้างได้ว่ายึดถือหลักการความไว้วางใจ

79 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เท่าใด (1) ฉบับที่ 16

(2) ฉบับที่ 17

(3) ฉบับที่ 18

(4) ฉบับที่ 19

(5) ฉบับที่ 20

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 45 ประกอบ

80 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่เท่าใด

(1) 26

(2) 27

(3) 28

(4) 29

(5) 30

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 20 ประกอบ

81 คําใดในภาษาอังกฤษต่อไปนี้ที่ตรงกับความหมายของ “การปฏิรูป”

(1) Reform

(2) Revolution

(3) Reconstruction

(4) Retire

(5) Relative

ตอบ 1 หน้า 12 (S), (คําบรรยาย) Reform หมายถึง การปฏิรูป (การเปลี่ยนแปลงหรือการปรับปรุงแก้ไขอย่างค่อยเป็นค่อยไป) เช่น การปฏิรูปการเมือง (Political Reform), การปฏิรูปสังคม (Social Reform), การปฏิรูปที่ดิน Land Reform) เป็นต้น

82 “สมุดปกเหลือง” ที่ทําร่างขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นเค้าโครงเกี่ยวกับเรื่องใดต่อไปนี้

(1) ทางเศรษฐกิจ

(2) ทางการเมือง

(3) ทางสังคม

(4) ทางวัฒนธรรม

(5) ทางการปกครอง

ตอบ 1 หน้า 46, 59 – 60 (S) คณะราษฎรได้มอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม)จัดทําเค้าโครงเศรษฐกิจซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สมุดปกเหลือง” เพื่อดําเนินการด้านเศรษฐกิจของชาติให้เป็นไปตามอุดมการณ์ที่คณะราษฎรประกาศไว้ในวันยึดอํานาจ

83 สมาคมคณะราษฎร มีหลักการหรือแนวทางตรงกับข้อใดต่อไปนี้

(1) กลุ่มผลประโยชน์

(2) พรรคการเมือง

(3) ศาสนา

(4) องค์กรอิสระ

(5) สถานเริงรมย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 62 ประกอบ

84 รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกกล่าวถึงว่าเป็นรัฐบาลอะไร

(1) รัฐบาลลืมเปลือกหอย

(2) รัฐบาลปลาดิบ

(3) รัฐบาลเงา

(4) รัฐบาลหอย

(5) รัฐบาลเปลือกถั่ว

ตอบ 4 (คําบรรยาย) นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในแต่ละยุคมักจะถูกตั้งฉายาตามบุคลิกหรือตามผลงานของผู้นําแต่ละคน เช่น จอมพล “ผ้าขาวม้าแดง” หมายถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์, “รัฐบาลหอย” หมายถึง รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร, “รัฐบาลลืมเปลือกหอย” หมายถึง รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน, “รัฐบาลขิงแก่” หมายถึง รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ฯลฯ

85 รัฐประหาร พ.ศ. 2490 ควรเกี่ยวข้องกับบุคคลใดต่อไปนี้

(1) นายบรรหาร ศิลปอาชา

(2) พลตํารวจเอกเผ่า ศรียานนท์

(3) หลวงวิจิตรวาทการ

(4) นายพจน์ สารสิน

(5) นายชวน หลีกภัย

ตอบ 2 หน้า 64, 178, 69 (S), (คําบรรยาย) คณะนายทหารบกที่นําโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลตํารวจเอกเผ่า ศรียานนท์, จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฯลฯ ได้ทําการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และยกเลิกรัฐธรรมนูญฯ 2489 โดยอ้างเหตุผลว่าการดําเนินงานของ รัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธํารงฯ) และรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯ 2489แก้ไขภาวะวิกฤติของบ้านเมืองในขณะนั้นไม่ได้

86 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยมีการปกครองแบบใด

(1) แบบราชาธิปไตย / แบบปิตุลาธิปไตย

(2) แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบบิดาปกครองบุตร / แบบราชาธิปไตย

(3) แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเทวสิทธิ์ / แบบราชาธิปไตย / แบบประชาธิปไตย

(4) แบบประชาธิปไตย / แบบอนาธิปไตย

(5) แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ / แบบประชาธิปไตย

ตอบ 5 หน้า 41, 45 (S) จากประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงก่อนการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทย มีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาโดยตลอด ดังนั้นการปฏิวัติ 2475 จึงเป็นการ เปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นการล้มเลิกระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้วเปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย

87 สมัยสุโขทัยมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือ ทางด้านการค้ายังมีการค้าขายติดต่อกับ “ต่างประเทศ ประเทศใด

(1) มลายู

(2) อินเดีย

(3) ศรีลังกา

(4) เปอร์เซีย

(5) กัมพูชา

ตอบ 1 หน้า 28 ในสมัยกรุงสุโขทัยนอกจากจะมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐไทยอิสระทางเหนือแล้วก็ยังมีการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน มลายู ลังกา และมอญ โดยมีการสนับสนุนการค้าโดยไม่เก็บภาษี “จกอบ” หรือภาษีศุลกากร เพื่อต้องการให้พ่อค้ามีความสนใจในการทําการค้า

88 “การปกครองแบบหัวเมือง” ในสมัยกรุงสุโขทัย เรียกชื่ออื่นว่าชื่ออะไร

(1) การปกครองส่วนกลาง

(2) การปกครองส่วนภูมิภาค

(3) การปกครองแบบอิสระ

(4) การปกครองแบบไม่อิสระ

(5) การปกครองแบบกระจายอํานาจ

ตอบ 2 หน้า 26 การปกครองแบบหัวเมืองหรือการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยสุโขทัยนั้นศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการจะอยู่ที่เมืองหลวง และแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 หัวเมืองชั้นใน

2 หัวเมืองชั้นนอก

3 หัวเมืองประเทศราช

89 “พระเจ้าอู่ทอง” มีความสําคัญในฐานะผู้ปกครองของไทยในสมัยใด

(1) อาณาจักรทราวดี

(2) อาณาจักรสุโขทัย

(3) อาณาจักรศรีอยุธยา

(4) อาณาจักรธนบุรี

(5) อาณาจักรรัตนโกสินทร์

ตอบ 3 หน้า 28 – 29 พระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) กษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีได้ทรงวางระบบการปกครองส่วนกลางเป็นแบบ “จตุสดมภ์” ตามแบบของขอม โดยมีกษัตริย์ เป็นผู้อํานวยการปกครองสูงสุด และมีเสนาบดี 4 คน คือ ขุนเมือง ขุนวัง ขุนคลัง และขุนนา เป็นผู้ช่วยดําเนินการเกี่ยวกับกิจการทั้ง 4 คือ เมือง วัง คลัง และนา

90 การปกครองหัวเมืองในสมัยสุโขทัย ศูนย์กลางของอํานาจในการวินิจฉัยสั่งการอยู่ที่ใด

(1) เมืองเอก

(2) เมืองหลวง

(3) เมืองชั้นใน

(4) เมืองชั้นนอก

(5) เมืองประเทศราช

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 88 ประกอบ

91 ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกาหรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุน โดยในสมัยพ่อขุนรามมีอุปกรณ์ชนิดใดต่อไปนี้เพื่อช่วยให้ราษฎรมาถวายฎีกา

(1) ฆ้อง

(2) ระฆัง

(3) ลูกตุ้ม

(4) กระดิ่ง

(5) โหม่ง

ตอบ 4 หน้า 27 ราษฎรในสมัยสุโขทัยมีสิทธิถวายฎีกาหรือร้องทุกข์โดยตรงต่อพ่อขุน โดยในสมัยพ่อขุนรามคําแหงได้มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูวัง ถ้าใครต้องการจะถวายฎีกาก็ไปสั่นกระดิ่งแล้วพระองค์ก็จะออกมาไต่สวนและชําระความให้

92 สมัยกรุงศรีอยุธยา ไทยเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 ให้กับกษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดีพระองค์ใด

(1) พระเจ้าตะเบงชะเวตี้

(2) พระเจ้าอาชาติศัตรู

(3) พระเจ้าอังวะ

(4) พระเจ้ามังละ

(5) พระเจ้าบุเรงนอง

ตอบ 5 (คําบรรยาย) ในสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ประเทศไทยเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 ให้กับพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดี (พม่า) ในปี พ.ศ. 2112

93 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้มีการยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่งคือ

(1) สมุหกลาโหมและสมุหทัย

(2) สมุหทัยและสมุหกระทรวงกลาโหม

(3) สมุห์บัญชีและสมุหมาตรา

(4) สมุหนายกและสมุหกลาโหม

(5) สมุหเสนาบดีและสมุหนายก

ตอบ 4 หน้า 33 รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูประบบการปกครองด้วยการยกเลิกตําแหน่งอัครเสนาบดี 2 ตําแหน่ง คือ สมุหกลาโหม และสมุหนายก รวมทั้งจตุสดมภ์ โดยแบ่งการบริหารราชการ ออกเป็นกระทรวงตามแบบอารยประเทศ และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง โดยกระทรวงที่ตั้งขึ้นมีทั้งหมด 12 กระทรวง เช่น เมืองหรือนครบาล จัดการเกี่ยวกับ เรื่องตํารวจและราชทัณฑ์, ยุติธรรม จัดการเรื่องชําระคดีและการศาล, ยุทธนาธิการ จัดการเกี่ยวกับเรื่องการทหาร ฯลฯ

94 เมืองหรือนครบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 จัดการเกี่ยวกับเรื่องใด

(1) ตํารวจและราชทัณฑ์

(2) ตํารวจและทหาร

(3) ทหารเรือและทหารอากาศ

(4) พลเรือนและทหาร

(5) ผู้ที่ทําการกู้เอกราชจากพระเจ้าบุเรงนอง

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 93 ประกอบ

95 สงครามระหว่างไทยกับพม่า ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยายุติลงตรงกับสมัยรัชกาลที่เท่าใด

(1) สมัยรัชกาลที่ 1

(2) สมัยรัชกาลที่ 2

(3) สมัยรัชกาลที่ 3

(4) สมัยรัชกาลที่ 4

(5) สมัยรัชกาลที่ 5

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ความสัมพันธ์ระหว่างไทย (สยาม) กับพม่าในอดีตนั้นส่วนใหญ่จะเป็นไปในด้านสงคราม โดยไทยกับพม่าทําสงครามกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ แต่สงครามได้ยุติหรือสิ้นสุดลงในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากพม่าแพ้สงครามและตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

96 “คณะราษฎร” ประกอบไปด้วยบุคคลกลุ่มใดต่อไปนี้

(1) ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน

(2) ทหารอากาศ ทหารบก ทหารเรือ

(3) ตํารวจ ทหาร พลเรือน

(4) ตํารวจ ทหารบก ทหารเรือ พลเรือน

(5) ตํารวจ ทหาร นักการเมือง

ตอบ 1 หน้า 41, 43 – 44, 62, 45 – 46 (S), 55 (S) คณะราษฎร อันประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือและพลเรือน ภายใต้การนําของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ร่วมกันลงมือทําการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อยึดอํานาจการปกครองจากรัชกาลที่ 7 ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติ

ที่แท้จริงเพียงครั้งเดียวในประเทศไทย

97 “กบฎผีบุญ” เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคใดของไทย

(1) ภาคเหนือ

(2) ภาคอีสาน

(3) ภาคใต้

(4) ภาคตะวันออก

(5) ภาคกลาง

ตอบ 2 (คําบรรยาย) กบฏที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 – 2453) ได้แก่

1 กบฎ ร.ศ. 102 (พ.ศ. 2426)

2 กบฏผีบุญหรือกบฏผู้มีบุญ (ทางภาคอีสาน) พ.ศ. 2444

3 กบฏเงี่ยวเมืองแพร่ (ทางภาคเหนือ) พ.ศ. 2445 4. กบฎแขก (ทางภาคใต้) พ.ศ. 2445

98 เสนาบดีกระทรวงทุกกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ 5 มีฐานะเท่าเทียมกัน และเมื่อมีการประชุมร่วมกัน เรียกว่าอย่างไร

(1) เสนาบดีกระทรวง

(2) เสนาบดีทบวง

(3) เสนาบดีสภา

(4) เสนาบดีรัฐสภา

(5) เสนาบดีกระทรวงรัฐสภา

ตอบ 3 หน้า 33, (ดูคําอธิบายข้อ 93 ประกอบ) เสนาบดีกระทรวงทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกันและประชุมร่วมกันเป็น “เสนาบดีสภา” (Council of State) ทําหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและ ช่วยบริหารราชการแผ่นดินตามที่กษัตริย์มอบหมาย เพราะอํานาจสูงสุดเด็ดขาดเป็นของกษัตริย์ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

99 วันที่ 27 มิถุนายน 2475 มีความสําคัญต่อประเทศไทยอย่างไร

(1) วันประกาศเลิกทาส

(2) วันที่ประเทศไทยได้เอกราช

(3) วันประกาศกฎอัยการศึก

(4) วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก

(5) วันชาติไทย

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 44 ประกอบ

100 การให้สมญานามว่า “รัฐบาลลืมเปลือกหอย” ควรตรงกับนายกรัฐมนตรีท่านใด

(1) นายบรรหาร ศิลปอาชา

(2) นายชวน หลีกภัย

(3) นายควง อภัยวงศ์

(4) นายทวี บุณยเกตุ

(5) นายอานันท์ ปันยารชุน

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 84 ประกอบ

POL2200 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบื้องต้น 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 2200 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเบื้องต้น

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว

1 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีขอบเขตครอบคลุมประเด็นด้านใด

(1) กฎหมาย

(2) เศรษฐกิจ

(3) สังคม

(4) ถูกทุกข้อ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 5 – 6 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีขอบเขตครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1 ความสัมพันธ์ทางการเมือง

2 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

3 ความสัมพันธ์ทางสังคม

4 ความสัมพันธ์ทางกฎหมาย

5 ความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

2 การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ให้ความสําคัญกับดินแดนใจกลาง (Heartland) เป็นการศึกษา แนวทางใด

(1) นโยบาย

(2) อํานาจ

(3) จิตวิทยา

(4) พฤติกรรม

(5) ภูมิรัฐศาสตร์

ตอบ 5 หน้า 9 – 10 การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแนวภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Approach) คือ การศึกษาที่ให้ความสําคัญกับสภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เช่น ที่ตั้ง พื้นที่ ขนาดของประเทศ ฯลฯ ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมหรือการกระทําของรัฐ รวมทั้ง ฐานะความเป็นมหาอํานาจและการกําหนดนโยบายต่างประเทศของรัฐ เช่น การศึกษาของ ฮาลฟอร์ด แมคคินเตอร์ (Halford Mackinder) ที่ให้ความสําคัญกับดินแดนใจกลางทวีป (Heartland) โดยเห็นว่า “ผู้ใดควบคุมยุโรปตะวันออกผู้นั้นครองดินแดนใจกลางทวีป ผู้ใดควบคุมดินแดนใจกลางทวีปผู้นั้นครองเกาะโลก ผู้ใดควบคุมเกาะโลกผู้นั้นครองโลก”

 

3 วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีลักษณะเป็นสหวิทยาการแต่ไม่ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านใด

(1) ภูมิศาสตร์

(2) อายุรเวช

(3) นิติศาสตร์

(4) เศรษฐศาสตร์

(5) ประวัติศาสตร์

ตอบ 2 หน้า 3, (คําบรรยาย) วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) เป็นสาขาหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์ (Political Science) และมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ (Interdisciplinary) คือ มีเนื้อหาสาระกว้างขวางครอบคลุมองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา เป็นต้น

4 ข้อใดถือเป็นลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(1) เป็นทางการ

(2) ไม่เป็นทางการ

(3) ความร่วมมือ

(4) ข้อ 1 และ 3

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 5 หน้า 4 – 5 ลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มี 3 ประการ คือ

1 ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ

2 ความสัมพันธ์ในลักษณะความร่วมมือหรือขัดแย้ง

3 ความสัมพันธ์ในลักษณะเข้มข้นรุนแรงหรือห่างเหิน

 

5 สนธิสัญญาใดว่าด้วยการยอมแพ้ของเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

(1) สนธิสัญญาตรอานอง

(2) สนธิสัญญาปารีส

(3) สนธิสัญญาเวียนนา

(4) สนธิสัญญาแวร์ซายส์

(5) สนธิสัญญาเบอร์ลิน

ตอบ 4 หน้า 85 สนธิสัญญาละวร์ซายส์ (Versailles Treaty) เป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการยอมแพ้ของเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งผลของสนธิสัญญาทําให้เยอรมนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าปฏิกรรมสงครามจํานวนมาก และต้องเสียดินแดนหลายแห่ง

6 ชาติใดไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2

(1) ฝรั่งเศส

(2) จีน

(3) สหภาพโซเวียต

(4) ญี่ปุ่น

(5) อิตาลี

ตอบ 4, 5 หน้า 85 สงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – ค.ศ. 1945) เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอํานาจ 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Powers) ประกอบด้วย 5 ประเทศหลัก ได้แก่ สหภาพโซเวียต อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และสหรัฐอเมริกา

2 ฝ่ายอักษะ (Axis PowerS) ประกอบด้วย 3 ประเทศหลัก ได้แก่ เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น

7 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนี้ไม่ได้ถูกยึดครองโดยชาติใด

(1) ฝรั่งเศส

(2) สหภาพโซเวียต

(3) อิตาลี

(4) สหรัฐอเมริกา

(5) อังกฤษ

ตอบ 3 หน้า 87 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เยอรมนี้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนและถูกยึดครองโดยมหาอํานาจที่ร่วมสงครามทั้ง 4 ประเทศ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต

8 ในยุคสงครามเย็นสหรัฐอเมริกากับจีนกระชับความสัมพันธ์กันผ่านการทูตทางกีฬาประเภทใด

(1) บาสเกตบอล

(2) วอลเลย์บอล

(3) ยิมนาสติก

(4) ปิงปอง

(5) แบดมินตัน

ตอบ 4 หน้า 89 ในยุคสงครามเย็นสหรัฐอเมริกากับจีนกระชับความสัมพันธ์กันผ่าน “การทูตปิงปอง” (Ping Pong Diplomacy) ซึ่งในขณะนั้นจีนตระหนักว่าสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัว กว่าสหรัฐอเมริกา จีนจึงพยายามหาทางคานอํานาจกับสหภาพโซเวียตโดยการเชิญทีมปิงปองของสหรัฐอเมริกาไปร่วมแข่งขันชิงชนะเลิศในปักกิ่ง

 

ตั้งแต่ข้อ 9 – 11 จงใช้ตัวเลือกต่อไปนี้ตอบคําถาม

(1) การแข่งขันเป็นมรดกของรัฐ

(2) ความมั่นคงที่สมบูรณ์ที่ไม่มีอยู่จริงในโลก

(3) การส่งเสริมอุดมการณ์ของรัฐ

(4) ความต้องการดินแดน ทรัพยากร หรือวัตถุดิบ

(5) ความต้องการเพิ่มเกียรติยศของชาติ

 

9 ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตช่วงสงครามเย็น

ตอบ 3 หน้า 97 การส่งเสริมอุดมการณ์ของรัฐ เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากรัฐหนึ่งรัฐใดต้องการส่งเสริมอุดมการณ์ของรัฐตน แต่การแผ่ขยายอุดมการณ์ไปทําลายอุดมการณ์ของรัฐอื่นหรือ อุดมการณ์ของรัฐนั้นเม่เป็นที่ต้องการของรัฐอื่น เช่น ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับ สหภาพโซเวียตช่วงสงครามเย็น ซึ่งสหรัฐอเมริกามองว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นลัทธิที่มีความเชื่อหรือหลักการที่ขัดกับการดําเนินวิถีชีวิตของพวกตน เป็นต้น

 

10 ปัญหาเกาะฟอล์กแลนด์ระหว่างอังกฤษและอาร์เจนตินามีสาเหตุจาก

ตอบ 4 หน้า 97, (คําบรรยาย) ความต้องการดินแดน ทรัพยากร หรือวัตถุดิบ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากรัฐหนึ่งรัฐใด ต้องการดินแดนของรัฐอื่น หรือต้องการทรัพยากรธรรมชาติหรือวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน หรือแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีอยู่ในรัฐอื่น เช่น ปัญหาเกาะฟอล์กแลนด์ระหว่างอังกฤษ และอาร์เจนตินา เป็นต้น

11 ความขัดแย้งระหว่างเหนือและใต้มีสาเหตุจาก

ตอบ 2 หน้า 97, (คําบรรยาย) ความมั่นคงที่สมบูรณ์ที่ไม่มีอยู่จริงในโลก เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากรัฐหนึ่งรัฐใดพยายามจะแสวงหาความมั่นคงที่สมบูรณ์ โดยการใช้อํานาจหรือกําลังรบของตน เข้าควบคุมรัฐอื่น หรือพยายามสร้างความมั่นคงหรือสมบูรณ์โดยการขยายอํานาจและอิทธิพลของตนออกไป เช่น ความขัดแย้งระหว่างเหนือและใต้ เป็นต้น

12 ความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีผลตอบแทนต่ำมีนัยถึงข้อใด

(1) ต้นทุนต่ำ

(2) ร่วมมือกันน้อยประเทศ

(3) ร่วมมือกันเพียงเรื่องเดียว

(4) ร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการ

(5) ไม่มีกรอบข้อตกลง

ตอบ 1 หน้า 121 ปัจจัยสําคัญประการหนึ่งที่สนับสนุนให้การดําเนินความร่วมมือระหว่างประเทศตามกรอบข้อตกลงหรือกติกาของสนธิสัญญาเป็นไปได้ด้วยดีและมีความยั่งยืน คือ ความร่วมมือ ระหว่างประเทศนั้นต้องมีผลตอบแทนต่ำ ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนต่ำสะท้อนถึงต้นทุนต่ำ ทําให้แต่ละประเทศสามารถตัดสินใจดําเนินความร่วมมือระหว่างประเทศตามกรอบข้อตกลงได้ไม่ยาก

13 ระบอบระหว่างประเทศไม่ครอบคลุมประเด็นเรื่องใด

(1) บรรทัดฐาน

(2) พฤติกรรม

(3) ต้องเป็นทางการ

(4) เวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล

(5) ลดความหวาดระแวง

ตอบ 3 หน้า 122 – 123, (คําบรรยาย) ระบอบระหว่างประเทศ (International Regime) คือ หลักการ บรรทัดฐาน กฎระเบียบ/กฎเกณฑ์ แบบแผน และกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับ ความคาดหวังของตัวแสดงต่าง ๆ ในประเด็นด้านใดด้านหนึ่ง โดยสมาชิกตัวแสดงทุกฝ่ายทั้งที่ เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐที่อยู่ในระบอบต้องยอมรับและปฏิบัติตามภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งประโยชน์ ของระบอบระหว่างประเทศ มีดังนี้

1 เป็นเวทีเจรจาและสร้างแบบแผนสําหรับอนาคต

2 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือช่องทางให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น

3 ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของรัฐ ทําให้สามารถคาดการณ์พฤติกรรมของรัฐสมาชิกและช่วยลดความหวาดระแวงได้

4 ช่วยลดต้นทุนในการติดต่อสื่อสาร ฯลฯ

14 ข้อใดเป็นไปตามหลักการการค้าระหว่างประเทศปัจจุบัน

(1) การค้าเสรี

(2) WTO

(3) กําแพงภาษี

(4) ข้อ 1 และ 2

(5) ข้อ 2 และ 3

ตอบ 4 (คําบรรยาย) หลักการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันเป็นไปตาม “หลักการค้าเสรี” ซึ่งจะเห็นได้จากความพยายามในการรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เช่น องค์การการค้าโลก (WTO), สหภาพยุโรป (EU), เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA), เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็นต้น เพื่อพัฒนาและส่งเสริมระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศ

15 การศึกษาการทํางานของอาเซียนจัดเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสาขาใด

(1) ประวัติศาสตร์การทูต

(2) เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ

(3) องค์การระหว่างประเทศ

(4) กฎหมายระหว่างประเทศ

(5) การเมืองระหว่างประเทศ

ตอบ 3 หน้า 14 การศึกษาองค์การระหว่างประเทศ (International Organization) เป็นการศึกษาที่เน้นหนักไปที่วิวัฒนาการ โครงสร้าง อํานาจและหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาท สําคัญในเวทีโลก เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN), องค์การการค้าโลก (WTO), ธนาคารโลก (World Bank), สหภาพยุโรป (EU), เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA), อาเซียน (ASEAN) เป็นต้น

16 ผลประโยชน์พื้นฐานของรัฐไม่รวมถึงข้อใด

(1) ความกินดีอยู่ดี

(2) อุดมการณ์ของชาติ

(3) อํานาจ

(4) เกียรติภูมิ

(5) ผิดทุกข้อ

ตอบ 5 หน้า 19 – 20 ชาร์ล โอ. เลอร์ช และอับดุล เอ. ไซอิด (Charles O. Learche and Abdul A. Said) เสนอว่า ผลประโยชน์พื้นฐานของรัฐประกอบด้วยปัจจัยสําคัญ 6 ประการ คือ

1 การดํารงรักษาความเป็นชาติ

2 ความมั่นคงปลอดภัยของชาติ

3 การแสวงหาความกินดีอยู่ดีของคนในชาติ

4 การเสริมสร้างเกียรติภูมิของชาติ

5 การเผยแพร่อุดมการณ์ของชาติ

6 การแสวงหาอํานาจ

17 ข้อใดไม่เข้าพวก

(1) ไทย

(2) จีน

(3) สหรัฐอเมริกา

(4) UN

(5) รัสเซีย

ตอบ 4 หน้า 19 – 22, (คําบรรยาย) ผู้แสดง (ตัวแสดง) บทบาทในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 ผู้แสดงบทบาทที่เป็นรัฐ (State Actor) นับเป็นตัวแสดงที่สําคัญที่สุด ได้แก่ รัฐต่าง ๆ เช่น ไทย จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และผู้ทําหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐหรือในนามของรัฐ เช่น ผู้นํารัฐบาล รัฐมนตรีต่างประเทศ ทูต (เอกอัครราชทูต ผู้ช่วยทูต และเจ้าหน้าที่ทูต) กงสุล (กงสุลใหญ่ รองกงสุล เจ้าหน้าที่กงสุล และกงสุลกิตติมศักดิ์) เป็นต้น

2 ผู้แสดงบทบาทที่ไม่ใช่รัฐ (Non-State Actors) ได้แก่ องค์การระหว่างประเทศทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เช่น สหประชาชาติ (UN) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), องค์การพัฒนาเอกชน (NGOs) เช่น กลุ่มกรีนพีซ (Greenpeace), บรรษัทข้ามชาติหรือ ธุรกิจข้ามชาติหรือธุรกิจหลายชาติ (INCs/TNCs) เช่น บริษัท Unilever บริษัท Pepsi บริษัท Google บริษัท Toyota บริษัท Samsung, ขบวนการก่อการร้ายระหว่างประเทศ เช่น กลุ่ม IS หรือ ISIS กลุ่ม AI Qaeda กลุ่ม PLO กลุ่มเบอร์ซาตู และกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ

18 ข้อใดที่ไม่ใช่ตัวแสดงที่เป็นองค์การที่ไม่อยู่ในภาครัฐ

(1) Unilever

(2) Greenpeace

(3) Amnesty International

(4) Human Rights Watch

(5) PETA

ตอบ 1 หน้า 22, 159 องค์การที่ไม่อยู่ในภาครัฐหรือองค์การพัฒนาเอกชน (NGOs) เป็นองค์การระหว่างประเทศที่ไม่ใช่ระดับรัฐบาล (INGOs) ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยข้อตกลงของเอกชนโดยไม่หวังผลกําไร และเน้นอุดมการณ์ที่ให้ความสําคัญกับภาคประชาชนเป็นหลัก โดยองค์การประเภทนี้จะได้รับ เงินช่วยเหลือจากแหล่งเงินอุดหนุนไม่ว่าจากภายในหรือต่างประเทศ มีอาสาสมัครทํางาน มีระเบียบวาระเป็นของตนในการกําหนดทิศทางและนโยบายเพื่อมุ่งบริการสาธารณประโยชน์ เช่น องค์การเฝ้าระวังปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch), องค์การนิรโทษกรรม สากล (Amnesty International), องค์การกาชาดสากล (The International Red Cross), องค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA), กรีนพีซ (Greenpeace) เป็นต้น (ดูคําอธิบายข้อ 17 ประกอบ)

19 เจไอ (UI) เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ปฏิบัติการอยู่ที่ใด

(1) อิรัก

(2) ซีเรีย

(3) อิสราเอล

(4) ตุรกี

(5) อินโดนีเซีย

ตอบ 5 หน้า 22 – 23, 115, (คําบรรยาย) ขบวนการ/กลุ่มก่อการร้าย (Terrorist) เป็นตัวแสดงในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีบทบาทสําคัญมากในช่วงหลังสงครามเย็น ซึ่งตัวอย่างของขบวนการก่อการร้ายที่ปฏิบัติการอยู่ในประเทศต่าง ๆ มีดังนี้

1 กลุ่ม AI Qaeda ในอัฟกานิสถาน

2 กลุ่ม Abu Nidal ในอิสราเอล

3 กลุ่ม IS หรือ ISIS ในอิรักและซีเรีย

4 กลุ่ม Hezbollah ในเลบานอน

5 กลุ่ม PLC และกลุ่ม Hamas ในปาเลสไตน์

6 กลุ่ม ETA ในสเปน

7 กลุ่ม JI ในอินโดนีเซีย

8 กลุ่ม Abu Sayyaf, กลุ่ม MNLF และกลุ่ม MILF ในฟิลิปปินส์

9 กลุ่ม Bersatu, กลุ่ม BRN และกลุ่ม PULO ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ฯลฯ

20 การศึกษาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งแรกเชื่อว่าเป็นการอธิบายกรณีใด

(1) สงครามระหว่างเอเธนส์-สปาร์ตา

(2) ระบบบรรณาการจีน

(3) การขยายอํานาจของเปอร์เซีย

(4) การขยายอํานาจทางทะเลของเอเธนส์

(5) การค้าสําเภา

ตอบ 1 หน้า 76 77 การอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครั้งแรกเป็นการอธิบายกรณีสงครามระหว่างเอเธนส์-สปาร์ตา หรือเรียกว่า สงครามเพโลโพนีเชียน (Peloponesian) ซึ่งเกิดขึ้น ในยุคกรีกโบราณระหว่างปี 431 – 404 ก่อนคริสตกาล โดยรูซิดดิส (Thucydides) นักปรัชญา กรีกโบราณ ได้อธิบายถึงสาเหตุของสงครามว่าเกิดจากความไม่สมดุลของอํานาจระหว่างเอเธนส์ และสปาตาร์ ซึ่งสปาตาร์หวาดระแวงว่าในระยะยาวเอเธนส์จะมีอํานาจเหนือกว่าตน และเอเธนส์ จะเข้มแข็งมากพอที่จะโจมตีและทําให้สปาตาร์พ่ายแพ้ ดังนั้นสปาตาร์จะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่เกิดขึ้น สปาตาร์จึงต้องโจมตีเอเธนส์ก่อน

21 ข้อใดเป็นผลจากการเกิดการปฏิรูปทางศาสนา (Reformation)

(1) มีการแยกนิกายจากคาทอลิก

(2) สงครามครูเสด

(3) ยุคมืด

(4) ระบบศักดินา

(5) การปฏิวัติอุตสาหกรรม

ตอบ 1 (คําบรรยาย) การปฏิรูปทางศาสนา (Reformation) เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1517 โดยมาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) เพื่อแก้ไขความเสื่อมโทรมของคริสตจักรโรมันคาทอลิก และสถาบันสันตะปาปา ซึ่งผลจากการปฏิรูปทําให้เกิดการแยกนิกายจากคาทอลิกมาเป็นนิกายโปรเตสแตนต์

22 ข้อใดไม่ใช่องค์ประกอบของรัฐชาติที่เกิดจากสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย

(1) อาณาเขต

(2) ประชากร

(3) กองทัพ

(4) รัฐบาล

(5) อธิปไตย

ตอบ 3 หน้า 79, (คําบรรยาย) สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย (Treaty of Westphalia) ในปี ค.ศ. 1648 นําไปสู่การกําเนิดชุมชนทางการเมืองรูปแบบใหม่หรือความเป็นรัฐสมัยใหม่ (Modern State) คือ รัฐ (State) หรือรัฐชาติ (Nation-State) ซึ่งมีองค์ประกอบสําคัญ 4 ประการ คือ

1 ประชากร (Population)

2 ดินแดนหรืออาณาเขต (Territory)

3 รัฐบาล (Government)

4 อํานาจอธิปไตย (Sovereignty)

23 ชาติใดที่กลายเป็นมหาอํานาจโลกได้ชาติแรกจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม

(1) ฝรั่งเศส

(2) สหรัฐอเมริกา

(3) รัสเซีย

(4) อังกฤษ

(5) เยอรมนี

ตอบ 4 หน้า 79, (คําบรรยาย) การปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 18 – 19 เป็นการเปลี่ยนแปลง ระบบและวิธีการผลิตจากการใช้แรงงานคนหรือสัตว์มาใช้เครื่องจักรกลที่สลับซับซ้อนและ มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การผลิตทําได้จํานวนมากภายในระยะเวลาที่สั้น โดยการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งนี้เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกและส่งผลให้อังกฤษกลายเป็นมหาอํานาจโลก เป็นชาติแรกจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม

24 ชาติใดเป็นพันธมิตรของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1

(1) ออตโตมาน

(2) รัสเซีย

(3) ฝรั่งเศส

(4) เซอร์เบีย

(5) อังกฤษ

ตอบ 1 หน้า 82 – 84, (คําบรรยาย) สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1914 – ค.ศ. 1918เป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอํานาจ 2 ฝ่าย คือ

1 ฝ่ายพันธมิตรไตรภาคีหรือมหาอํานาจกลาง (Triple Alliance) ประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี ออตโตมาน (ตุรกี) และบัลแกเรีย

2 ฝ่ายสัมพันธมิตร (Triple Entente/Allied Powers) ประกอบด้วย รัสเซีย ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

25 ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างประเทศ

(1) รัฐต่างมุ่งหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนําไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศได้

(2) ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมไม่อาจนําไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศได้

(3) ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาจเกิดจากการขาดระบบยุติธรรมระหว่างประเทศได้

(4) การแข่งขันส่งอิทธิพลต่อประเทศเล็กอาจนําไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศได้ (5) การแย่งแหล่งทรัพยากรระหว่างมหาอํานาจอาจนําไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศได้

ตอบ 2 หน้า 37 – 40 สภาวะที่อาจนําไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ มีดังนี้

1 รัฐต่างมุ่งหาผลประโยชน์ทางการเมืองและทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกขอบเขต ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

2 ความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐ

3 การขาดระบบยุติธรรมระหว่างประเทศ

4 การขาดอํานาจกลางในระบบความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ

5 การแข่งขันกันของประเทศมหาอํานาจในการมีอิทธิพลต่อประเทศเล็ก

6 การแย่งแหล่งทรัพยากรระหว่างประเทศมหาอํานาจ ฯลฯ

26 ข้อใดกล่าวถูกต้องเกี่ยวกับสภาวะอนาธิปไตย (Anarchy) มากที่สุด

(1) การดํารงไว้ซึ่งองค์รัฏฐาธิปัตย์

(2) การมีกลไกอํานาจกลางทําหน้าที่โดยสมบูรณ์

(3) การปราศจากซึ่งสงครามและความขัดแย้ง

(4) การรักษาความเป็นเอกราช

(5) การปราศจากซึ่งอํานาจสูงสุด

ตอบ 5 หน้า 2, 196 197 ลักษณะพื้นฐานสําคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันคือ มีลักษณะเป็นอนาธิปไตย (Anarchy) ที่ปราศจากองค์กรกลางที่มีอํานาจสูงสุดที่จะรักษา กฎหมายและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทําให้รัฐแต่ละรัฐจะต้องยึดถือการรักษาผลประโยชน์ของตนและเสริมสร้างฐานะแห่งอํานาจเป็นหลัก

27 ข้อเลือกข้อใดไม่ใช่สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างประเทศ

(1) ความไม่โปร่งใสขาดธรรมาภิบาลของรัฐ

(2) ความต้องการส่งเสริมอุดมการณ์ของรัฐ

(3) ความต้องการทรัพยากรธรรมชาติของรัฐ

(4) ความต้องการผลประโยชน์ของรัฐ

(5) ความต้องการขยายอํานาจของรัฐ

ตอบ 1 หน้า 97 สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างประเทศ มีดังนี้

1 การแข่งขันเป็นมรดกของรัฐ

2 ความมั่นคงที่สมบูรณ์ไม่มีอยู่จริงในโลก

3 ความต้องการผลประโยชน์ของรัฐ ซึ่งได้แก่ ความต้องการเพิ่มเกียรติยศของรัฐ ความต้องการขยายอํานาจของรัฐ ความต้องการส่งเสริม อุดมการณ์ของรัฐ และความต้องการดินแดน ทรัพยากรธรรมชาติ หรือวัตถุดิบของรัฐ

28 รัฐขั้นแรก ตามแนวทางของ เอ. เอฟ. เค. ออร์แกนสกี คือรัฐประเภทใด

(1) รัฐที่เริ่มใช้อุตสาหกรรมแทนที่เกษตรกรรม

(2) รัฐที่ยังไม่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม

(3) รัฐที่เริ่มมีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมบ้าง

(4) รัฐที่มีพัฒนาการทางอุตสาหกรรมในระดับสูง

(5) รัฐที่มีพัฒนาการทางอุตสาหกรรมในระดับเต็มที่

ตอบ 2 หน้า 200 เอ. เอฟ. เค. ออร์แกนสกี (A. F. K. Organski) เห็นว่า ทุกรัฐในสังคมระหว่างประเทศจะผ่านขั้นตอน 3 ขั้นในการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ดังนี้ ขั้นแรก คือ รัฐที่ยังไม่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม ขั้นที่สอง คือ รัฐที่เริ่มมีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมบ้างแล้ว ขั้นที่สาม คือ รัฐที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมในระดับเต็มที่

29 “ชาติมหาอํานาจ” ในความหมายของ เอ. เอฟ. เค. ออร์แกนสกี คือชาติในข้อใด

(1) ชาติที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่

(2) ชาติที่มีการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมอย่างก้าวหน้า

(3) ชาติที่มีระดับเศรษฐกิจขนาดใหญ่

(4) ชาติที่มีความเข้มแข็งทางด้านการทหาร

(5) ชาติที่มีพลเมืองจํานวนมากเกินกว่า 10 ล้านคนขึ้นไป

ตอบ 2 หน้า 200 201 เอ. เอฟ. เค. ออร์แกนสกี (A. F. K. Organski) ได้จัดแบ่งประเภทของรัฐ โดยใช้ “การพัฒนาทางอุตสาหกรรม” เป็นเกณฑ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 ชาติเล็ก คือ ชาติที่ยังไม่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม เป็นชาติเกษตรกรรม

2 ชาติขนาดกลาง คือ ชาติที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่

3 ชาติมหาอํานาจ คือ ชาติที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมอย่างก้าวหน้า

30 ความร่วมมือแบบพันธมิตรต่างจากการรวมกลุ่มประเทศ (Coalition) ในข้อใด

(1) ความเป็นสถาบัน

(2) การต่อต้านตัวแสดงอื่น

(3) มีความขัดแย้งกับตัวแสดงอื่น

(4) การร่วมป้องกัน

(5) การป้องปราม

ตอบ 1 หน้า 125, (คําบรรยาย) ความร่วมมือแบบพันธมิตร (Alliance) คือ กลุ่มผสมผสานของรัฐที่เข้ามาร่วมทํางานประสานกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยความร่วมมือแบบ พันธมิตรนั้นจะมีช่วงระยะเวลาที่ยาว มีความเป็นทางการมาก มีความเป็นสถาบัน มีระเบียบ กระบวนการบริหารและแนวทางการทํางาน มีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่ชัดเจน และมีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กว้างกว่าความร่วมมือแบบการรวมกลุ่มประเทศ (Coalition)

31 “การไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” เป็นลักษณะสําคัญของสังคมระหว่างประเทศข้อใด

(1) ความไม่เท่าเทียมกัน

(2) ความเท่าเทียมกัน

(3) ความเป็นอนาธิปไตย

(4) ความเป็นพลวัต ไม่หยุดนิ่ง

(5) จํานวนสมาชิกรัฐที่มีจํานวนไม่แน่นอน

ตอบ 4 หน้า 195 สังคมระหว่างประเทศมีลักษณะ “ พลวัตหรือไม่หยุดนิ่ง” (Dynamic) กล่าวคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่และเกิดขึ้นในสังคมระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งเป็นผล มาจากพัฒนาการและความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี การปฏิวัติอุตสาหกรรม และ ความเห็นแก่ประโยชน์แห่งชาติของรัฐต่าง ๆ ดังนั้นความเปลี่ยนแปลงในสังคมระหว่างประเทศ จึงอาจทําให้มิตรกลายเป็นศัตรู และศัตรูอาจกลายเป็นมิตร หรือที่เรียกว่า “ไม่มีมิตรแท้และ ศัตรูถาวร” นั่นเอง

32 สาเหตุที่ทําให้สมาชิกในสังคมระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันคือ (1) การล่มสลายของสหภาพโซเวียต

(2) การล่มสลายของยูโกสลาเวีย

(3) แนวคิดเรื่องชาตินิยม

(4) การปลดปล่อยอาณานิคม

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 5 หน้า 189 190 สาเหตุสําคัญที่ทําให้สมาชิกในสังคมระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน มีดังนี้

1 การที่รัฐอธิปไตยเดิมถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายรัฐ หรือส่วนหนึ่ง ของรัฐอธิปไตยนั้นแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐอธิปไตยเติม

2 การปลดปล่อยอาณานิคม ซึ่งเกิดจากความเข้มแข็งของความรู้สึกชาตินิยมของประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครอง ของชาติอื่น และอุดมการณ์เกี่ยวกับการให้ชาติต่าง ๆ กําหนดการปกครองด้วยตนเอง

3 การล่มสลายของยูโกสลาเวียและสหภาพโซเวียต

33 ปรากฏการณ์หรือปัจจัยใดไม่กระทบต่อความเป็นไปในผลประโยชน์ระหว่างประเทศ

(1) การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

(2) การดูงานในต่างประเทศ

(3) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

(4) การขยายขนาดกองทัพของประเทศเพื่อนบ้าน

(5) การค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในอ่าวไทย

ตอบ 2 (คําบรรยาย) ปรากฏการณ์หรือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นไปในผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ได้แก่

1 การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

2 กรอบความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

3 การขยายขนาดกองทัพของประเทศเพื่อนบ้าน

4 การค้นพบแหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ ของประเทศ เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

34 จุดยืนของประเทศในลักษณะใดไม่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ

(1) ประเทศที่เป็นผู้กําหนดกฎกติกา

(2) ประเทศที่เป็นผู้ดูแลการทําตามกติกา

(3) ประเทศที่ไม่ชําระค่าสมาชิก

(4) ประเทศที่ได้รับประโยชน์โดยไม่ทําตามกติกา

(5) ประเทศที่ได้ประโยชน์จากหลายความร่วมมือ

ตอบ 4 หน้า 121, 126 สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาหรือไม่เป็นประโยชน์ต่อการดําเนินความร่วมมือระหว่างประเทศ มีดังนี้

1 การโกง ซึ่งเป็นผลจากความหวาดระแวงว่าผู้อื่นพยายามหาช่องทาง หาประโยชน์เข้าตัวเองให้มากที่สุด จึงอาจพยายามโกงไว้ก่อน

2 ผลประโยชน์เปรียบเทียบ คือ การคํานึงถึงผลได้โดยเปรียบเทียบ (Relative Gains) กับผู้อื่นว่าได้มากหรือน้อยกว่า (ทํามาก ได้มาก ทําน้อยได้น้อย) แทนที่จะคํานึงเพียงแค่ผลที่ได้รับ (Absolute Gains) จากการเข้าร่วม ความร่วมมือ

3 การมีกาฝาก (Free-Riders) หรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากความร่วมมือ

โดยไม่ต้องร่วมยินยอมรับหรือทําตามกติกาข้อผูกมัดอย่างเป็นทางการ

35 สาเหตุสําคัญที่ทําให้องค์การสหประชาชาติมีความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระหว่างประเทศ

(1) การใช้อํานาจในการวิโต้ (Veto)

(2) ความเป็นอนาธิปไตยของสมาชิก

(3) การใช้อํานาจทางทหารเข้าไปควบคุมรัฐสมาชิก

(4) มาตรการแทรกแซงทางเศรษฐกิจ

(5) โครงสร้างในการบริหารองค์การ

ตอบ 1 หน้า 191 – 192 ในสังคมระหว่างประเทศนั้นความเท่าเทียมกันระหว่างรัฐจะปรากฏในองค์กรสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งทุก ๆ รัฐมี 1 เสียงเท่าเทียมกันหมดไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในด้านใด ส่วนความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐจะปรากฏในองค์กรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เนื่องจากมีเฉพาะสมาชิกถาวรซึ่งเป็นชาติมหาอํานาจ 5 ประเทศเท่านั้นที่มีอํานาจพิเศษใน การออกเสียงยับยั้งหรือวีโต้ (Veto) ในขณะที่สมาชิกอื่น ๆ ไม่มี

36 ข้อใดต่อไปนี้ไม่ใช่ปัจจัยในการกําหนดผลประโยชน์แห่งชาติ

(1) ความอยู่รอดและความปลอดภัยของประเทศ

(2) ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

(3) การขยายอํานาจของประเทศ

(4) เกียรติภูมิของประเทศ

(5) ไม่มีข้อใดถูก

ตอบ 5 หน้า 25 – 30 ปัจจัยที่กําหนดผลประโยชน์แห่งชาติ ได้แก่

1 ความอยู่รอดและความปลอดภัยของประเทศ

2 ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

3 การขยายอํานาจของประเทศ

4 เกียรติภูมิของประเทศ

37 การที่รัฐขนาดเล็กขาดอิสระในการดําเนินกิจการทางการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากข้อใด

(1) ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระหว่างประเทศ

(2) นโยบายและพฤติกรรมของรัฐมหาอํานาจ

(3) ขนาดของกองทัพ

(4) อิทธิพลของรัฐมหาอํานาจ

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 5 หน้า 202, (คําบรรยาย) สาเหตุที่ทําให้รัฐขนาดกลางและรัฐขนาดเล็กขาดอิสระในการดําเนินกิจการทางการเมืองระหว่างประเทศ มีดังนี้

1 ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระหว่างประเทศ

2 นโยบายและพฤติกรรมของรัฐมหาอํานาจ

3 ขนาดของกองทัพ

4 อิทธิพลของรัฐมหาอํานาจ

38 โครงสร้างอํานาจในสังคมการเมืองระหว่างประเทศที่แสดงถึงศูนย์อํานาจหลายศูนย์ ได้แก่

(1) เยอรมนีสมัยบิสมาร์ค

(2) สหรัฐอเมริกาหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

(3) สหภาพโซเวียตระหว่างปี 1947 1956

(4) การก้าวขึ้นมามีอํานาจของสหภาพยุโรป จีน และประเทศกลุ่ม BRICS

(5) สหรัฐอเมริกาภายใต้ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

ตอบ 4 หน้า 204 205, (คําบรรยาย) การมีศูนย์อํานาจหลายศูนย์ (Multipolar Structure) คือ การที่รัฐมหาอํานาจมีบทบาทและอิทธิพลในการเมืองระหว่างประเทศไม่แตกต่างกันมากนัก โดยรัฐต่าง ๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงความผูกพันและจะพยายามปรับปรุงการกระจายอํานาจ ระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา เช่น การก้าวขึ้นมามีอํานาจของสหภาพยุโรป จีน และประเทศกลุ่ม BRICS เป็นต้น

39 “รัฐทุกรัฐมีความเท่าเทียมกัน” เป็นเรื่องของหลักการใดในสังคมระหว่างประเทศ (1) หลักกฎหมาย

(2) หลักพฤตินัย

(3) หลักเอกภาพ

(4) หลักอํานาจ

(5) ทุกหลักการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ตอบ 1 หน้า 191 ในสังคมระหว่างประเทศรัฐทุกรัฐมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นผลมาจากหลักกฎหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอํานาจอธิปไตย แต่ก็มีความไม่เท่าเทียมกันตามหลักพฤตินัยหรือ ในทางปฏิบัติ เนื่องจากอิทธิพลของรัฐต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมระหว่างประเทศมีแตกต่างกัน

40 ข้อใดไม่ใช่ผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาภายใต้แนวทางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

(1) การช่วยเหลือของรัสเซียในการเลือกตั้งปี 2016

(2) การขึ้นภาษีนําเข้าเหล็กและถ่านหิน

(3) การกีดกันแรงงานต่างชาติ

(4) การสานสันติภาพกับเกาหลีเหนือ

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 36, (คําบรรยาย) ผลประโยชน์แห่งชาติ คือ สิ่งที่ผู้นําหรือประชาชนของประเทศถือว่ามีความสําคัญต่อเอกราช ความมั่นคง เกียรติภูมิ ความอยู่ดีกินดี และความมั่งคั่งของประเทศ หากมีปัจจัยใดหรือประเทศใดมากระทบก็ต้องพยายามต่อสู้แย่งชิงกลับคืนมา ตัวอย่างเช่น ผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกาภายใต้แนวทางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แก่ การขึ้นภาษีนําเข้าเหล็กและถ่านหิน การกีดกันแรงงานต่างชาติ การสานสันติภาพกับเกาหลีเหนือ เป็นต้น

41 ผลประโยชน์ของชาติอาจถูกกําหนดโดย

(1) นายกรัฐมนตรี

(2) กระทรวงการต่างประเทศ

(3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

(4) กลุ่มผลประโยชน์ภายในชาติ

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 5 หน้า 31, (คําบรรยาย) ที่มาของการกําหนดผลประโยชน์แห่งชาติ มีดังนี้

1 ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของแนวนโยบายรัฐ

2 ผู้มีอํานาจทางการเมืองของประเทศ เช่น นายกรัฐมนตรี ผู้บริหารของหน่วยงานราชการรัฐบาล เป็นต้น

3 ประชามติ กลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศ

42 มาตรการและความสัมพันธ์แบบใดไม่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

(1) การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

(2) การลดค่าวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีน

(3) การพัฒนาการค้าชายแดน

(4) การปกป้องและอุดหนุนผู้ผลิตเหล็กในประเทศ

(5) ความมั่นคงและอธิบเตยทางอาหาร

ตอบ 5 (คําบรรยาย) ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คือ ผลประโยชน์ที่เกิดจากการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ตัวอย่างมาตรการและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทาง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การลดค่าวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวการพัฒนาการค้าชายแดน การปกป้องและอุดหนุนผู้ผลิตเหล็กในประเทศ เป็นต้น

43 “นิโคโล มาเคียเวลลี” ผู้แต่งหนังสือเรื่อง “The Prince” กล่าวว่า พื้นฐานที่สําคัญของทุกรัฐ คือ

(1) มีผู้ปกครองที่อยู่ในศีลธรรม

(2) ประชาชนต้องอยู่ดีกินดี

(3) การมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

(4) การมีกฎหมายที่ดีและกองทัพที่เข้มแข็ง

(5) การมีผู้ปกครองที่มากบารมี

ตอบ 4 หน้า 201 นิโคโล มาเคียเวลลี (Nicolo Machiavelli) กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง “The Prince” ว่า พื้นฐานที่สําคัญที่สุดสําหรับทุกรัฐก็คือ การมีกฎหมายที่ดีและกองทัพที่เข้มแข็ง

44 อํานาจของรัฐในทางสังคมระหว่างประเทศ หมายถึงข้อใด

(1) ความเข้มแข็งทางการทหาร

(2) ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

(3) ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ

(4) บุคลิกลักษณะของผู้นํา

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 5 หน้า 211 อํานาจของรัฐในทางสังคมระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1 อํานาจที่มองเห็นได้ชัด เช่น ความเข้มแข็งทางการทหาร ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

2 อํานาจที่มองเห็นได้ไม่ชัด เช่น บุคลิกลักษณะของผู้นํา ลักษณะประจําชาติต่าง ๆขวัญและวินัยของประชาชนในชาติ เป็นต้น

45 การขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างประเทศมักเกิดได้จาก

(1) ความหวาดระแวง

(2) การเอารัดเอาเปรียบ

(3) การกีดกันทางการค้า

(4) การไม่ปฏิบัติตามหลักการข้อตกลงที่ให้ไว้ต่อกัน

(5) ถูกทุกข้อ

ตอบ 5 หน้า 35 – 36, (คําบรรยาย) การขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ถือเป็นมูลเหตุสําคัญที่ทําให้เกิดความขัดแย้งในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยสาเหตุที่ทําให้เกิดความขัดแย้ง ในผลประโยชน์อาจเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามหลักการข้อตกลงที่ให้ไว้ต่อกัน ความหวาดระแวงกันการเอารัดเอาเปรียบแก่งแย่งผลประโยชน์กัน การกีดกันทางการค้า เป็นต้น

46 ปัจจัยใดไม่มีส่วนส่งเสริมความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

(1) ผลประโยชน์ของชาติตะวันตก

(2) ความต้องการทรัพยากรน้ำมันในโลก

(3) การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มไซออนส์

(4) การคว่ำบาตรทางการค้าต่ออิหร่าน

(5) ความต้องการขยายอิทธิพลของจีน

ตอบ 5 หน้า 37 – 39, (คําบรรยาย) ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานและปัจจุบันก็ยังไม่ยุติ โดยปัจจัยที่มีส่วนส่งเสริมความขัดแย้งในตะวันออกกลางมีหลายประการ เช่น ผลประโยชน์ของชาติตะวันตก ความต้องการทรัพยากรน้ํามัน การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มไซออนส์การคว่ำบาตรทางการค้าต่ออิหร่าน เป็นต้น

47 องค์กรใดไม่มีส่วนช่วยลดความขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างประเทศเลย

(1) UN

(2) WTO

(3) WHO

(4) EU

(5) ASEAN

ตอบ 3 หน้า 40 – 41, (คําบรรยาย) เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งในผลประโยชน์ระหว่างประเทศขึ้นแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งก็คือ ให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาช่วยลด ความขัดแย้ง โดยองค์การระหว่างประเทศที่มีส่วนช่วยลดความขัดแย้งระหว่างประเทศนั้น มีทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค เช่น สหประชาชาติ (UN), องค์การการค้าโลก (WTO), สหภาพยุโรป (EU), อาเซียน (ASEAN) เป็นต้น

48 ปัจจัยใดไม่มีส่วนส่งเสริมความเป็นมหาอํานาจ

(1) อุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง

(2) อาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ

(3) ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

(4) เครือข่ายนายทหารที่เข้มแข็ง

(5) ระบบการขนส่งและท่าเรือน้ำลึก

ตอบ 4 หน้า 29, (คําบรรยาย) ความเป็นมหาอํานาจ หมายถึง ความสามารถของประเทศหนึ่งที่สามารถทําให้ประเทศอื่นกระทําตามที่ตนปรารถนาได้ ซึ่งปัจจัยที่มีส่วนส่งเสริมความเป็น มหาอํานาจมีหลายประการ เช่น อาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ อุตสาหกรรมที่เข้มแข็งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ระบบการขนส่งและท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น

49 อํานาจทางการทหารของสหรัฐอเมริกาไม่อาจทําให้เป็นผู้ชนะหรือได้ประโยชน์ในสงครามใด

(1) สงครามโลกครั้งที่ 1

(2) สงครามโลกครั้งที่ 2

(3) สงครามเวียดนาม

(4) สงครามเกาหลี

(5) สงครามไครเมีย

ตอบ 3 หน้า 45 – 46 อํานาจทางการทหารเป็นสิ่งที่ประเทศต่าง ๆ ต่างแสวงหาหรือสะสมเพื่อดํารงสถานะของตนไว้ในเวทีระหว่างประเทศ แต่การมีอํานาจทางการทหารมากมิได้หมายความว่า เวลาเกิดสงครามจะสามารถเอาชนะประเทศที่มีอํานาจทางการทหารน้อยกว่าได้เสมอไป เช่น กรณีสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกามีอํานาจทางการทหารมากกว่าเวียดนาม แต่ไม่สามารถ เอาชนะเวียดนามได้ เป็นต้น

50 ผู้นําสหภาพโซเวียตคนใดที่ให้ความสําคัญกับการทหารว่าเป็นอํานาจของรัฐ

(1) วลาดิมีร์ อิลยิช เลนิน

(2) โจเซฟ สตาลิน

(3) ครุสชอฟ

(4) กอร์บาชอฟ

(5) เยลต์ซ็นต์

ตอบ 2 หน้า 201 นักวิชาการและรัฐบุรุษทางการเมืองระหว่างประเทศที่คํานึงถึงอํานาจของรัฐในรูปของอํานาจทางการทหาร ได้แก่ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) อดีตผู้นําสหภาพโซเวียตและนิโคโล มาเคียเวลลี (Nicolo Machiavelli)

51 ในการตัดสินใจกําหนดนโยบายต่างประเทศ รัฐควรให้ความสําคัญกับผลประโยชน์เรื่องใดมากที่สุด

(1) ผลประโยชน์ด้านอุดมการณ์

(2) ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงอยู่รอด

(3) ผลประโยชน์ด้านการเมือง

(4) ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ

(5) ผลประโยชน์ด้านวัฒนธรรม

ตอบ 2 หน้า 207 – 208 การตัดสินใจกําหนดนโยบายต่างประเทศมีจุดประสงค์เพื่อรักษาและเสริมสร้างผลประโยชน์ของรัฐในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ความมั่นคงอยู่รอด ความเจริญรุ่งเรือง อุดมการณ์ วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งแต่ละรัฐจะให้ความสําคัญกับผลประโยชน์ ในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป โดยผลประโยชน์ที่รัฐควรให้ความสําคัญมากที่สุดก็คือความมั่นคงอยู่รอดของรัฐ

52 Status Quo คือ นโยบายต่างประเทศในลักษณะใด

(1) นโยบายการรักษาไว้ซึ่งสถานะคงเดิมระหว่างประเทศ

(2) นโยบายการเปลี่ยนสถานะระหว่างประเทศโดยการเพิ่มอํานาจให้รัฐตน

(3) นโยบายการเปลี่ยนสถานะระหว่างประเทศโดยการลดอํานาจของรัฐตน

(4) นโยบายการรักษาสถานะความเป็นกลางของรัฐในเวทีระหว่างประเทศ

(5) นโยบายการรักษาสถานะความชอบธรรมของรัฐในเวทีระหว่างประเทศ ตอบ 1 หน้า 211 นโยบายการรักษาไว้ซึ่งสถานะคงเดิมระหว่างประเทศ (Policy of the Status Quo) หมายถึง นโยบายต่างประเทศที่จะพยายามรักษาสภาพการกระจายอํานาจและทรัพยากรธรรมชาติ ในสังคมระหว่างประเทศที่เป็นอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อชาติของตน โดยประเทศที่มักจะใช้นโยบายลักษณะนี้จะเป็นประเทศมหาอํานาจนั้นเอง

53 ประเทศใดเสนอข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI)

(1) ญี่ปุ่น

(2) จีน

(3) รัสเซีย

(4) สหรัฐอเมริกา

(5) อังกฤษ

ตอบ 2 (คําบรรยาย) ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เป็นยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อเชื่อมโยง เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมระหว่างประเทศ และเพื่อให้การดําเนินการพัฒนาตามยุทธศาสตร์นี้ ประสบความสําเร็จ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดตั้งธนาคารพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ขึ้นมา เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ประเทศต่าง ๆเพื่อนําไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญ

54 นโยบายต่างประเทศอเมริกามาก่อน (America First Policy) เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีอเมริกาคนใด

(1) โรนัลด์ เรแกน

(2) บิล คลินตัน

(3) จอร์จ ดับเบิลยู บุช

(4) บารัค โอบามา

(5) โดนัลด์ ทรัมป์

ตอบ 5 (ความรู้ทั่วไป) นโยบายอเมริกามาก่อน (America First Policy) เป็นนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่มุ่งเน้นการปกป้องชาตินิยมและการกระจาย รายได้ รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำโดยการตัดสินใจด้านต่าง ๆ ทั้งภาษี คนเข้าเมือง และ กิจการต่างประเทศจะต้องเอื้อประโยชน์ต่อชาวอเมริกัน เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “Make America

Great Again”

55 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยคนปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) คือใคร (1) นายสาโรจน์ ชวนะวิรัช

(2) นายเตช บุนนาค

(3) นายกษิต ภิรมย์

(4) นายดอน ปรมัตถ์วินัย

(5) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

ตอบ 4 (ความรู้ทั่วไป) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยคนปัจจุบัน (พ.ศ. 2561)คือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ซึ่งเข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2558

56 นายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีนคนปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) คือใคร

(1) นายสี จิ้นผิง

(2) นายหู จินเทา

(3) นายหลี่ เค่อเฉียง

(4) นายเจียง เจ๋อหมุน

(5) นายเวิน เจียเป่า

ตอบ 3 (ความรู้ทั่วไป) ปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) สาธารณรัฐประชาชนจีนมีนายสี จิ้นผิง (Xi Jinping)เป็นประธานาธิบดี และนายหลี่ เค่อเฉียง (Li Kegiang) เป็นนายกรัฐมนตรี

57 ผู้นําเกาหลีเหนือคนปัจจุบันมีชื่อว่าอะไร

(1) Kim Jong Il

(2) Kim Il Sung

(3) Kim Jong Sung

(4) Kim Un Sung

(5) Kim Jong Un

ตอบ 5 (คําบรรยาย) ผู้นําเกาหลีเหนือคนปัจจุบันคือ นายคิม จอง อึน (Kim Jong Un) ซึ่งเป็นบุตรชายของนายคิม จอง อิล (Kim Jong I) อดีตผู้นําเกาหลีเหนือ โดยเข้ารับตําแหน่งเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

58 เครื่องมือใดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ควรใช้อย่างระมัดระวังมากที่สุด

(1) เครื่องมือทางเศรษฐกิจ

(2) เครื่องมือทางการทหาร

(3) เครื่องมือทางจิตวิทยา

(4) เครื่องมือทางการทูต

(5) เครื่องมือทางการเมือง

ตอบ 2 หน้า 43 เครื่องมือทางการทหาร เป็นเครื่องมือที่สําคัญในการดําเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยทั่วไปมักใช้เมื่อใช้เครื่องมืออื่น ๆ เช่น เครื่องมือทางการทูต เครื่องมือทางการเมือง เครื่องมือทางเศรษฐกิจ เครื่องมือทางจิตวิทยา ไม่ได้ผล และต้องใช้อย่างระมัดระวังมากที่สุด เพราะถ้าใช้อย่างไม่ระมัดระวังและรอบคอบเพียงพออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้

59 การพยายามเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศแถบที่มีบ่อน้ำมันเพื่อควบคุมการผลิตน้ำมันนับเป็นการกระทํา เพื่อจุดมุ่งหมายใด

(1) จุดมุ่งหมายทางการเมือง

(2) จุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจ

(3) จุดมุ่งหมายทางการทหาร

(4) จุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจและการทหาร

(5) จุดมุ่งหมายในการลงโทษ

ตอบ 4 หน้า 50 จุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจและการทหาร เป็นจุดมุ่งหมายที่ส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจเพื่อช่วยให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ นั่นคือ การนําเอาเศรษฐกิจ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเข้าควบคุมดินแดนสําคัญที่มีวัตถุดิบที่มีความจําเป็นทางด้านยุทธศาสตร์ และเศรษฐกิจ เช่น การพยายามเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศแถบที่มีบ่อน้ำมันเพื่อควบคุม การผลิตน้ำมัน เป็นต้น

60 ในการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจในการดําเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การบอยคอต (Boycott)คือการใช้วิธีการใด

(1) การงดส่งสินค้าบางประเภทหรือทุกประเภทออกไปขาย

(2) การห้ามนําสินค้าบางประเภทหรือทุกประเภทเข้ามาขาย

(3) การตั้งกําแพงภาษีสินค้า

(4) การทุ่มสินค้า

(5) การควบคุมหรือยึดทรัพย์ของฝ่ายศัตรู

ตอบ 2 หน้า 53 การกีดกันทางการค้า หรือการบอยคอต (Boycott) คือ การที่รัฐบาลห้ามนําสินค้าบางประเภทหรือทั้งหมดของประเทศที่รัฐบาลมุ่งกีดกันทางการค้าเข้าประเทศ แต่ถ้าหากรัฐบาล ไม่ได้ทําการค้าโดยตรงกับประเทศที่ถูกกีดกันทางการค้าก็จะบังคับให้เอกชนที่ทําการค้ากับประเทศนั้นต้องขออนุญาตในการนําเข้าสินค้า หากฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษ

61 ในการใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจโดยการส่งสินค้าออกขายต่างประเทศในราคาถูกมากหรือขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิตเพื่อทําให้คู่แข่งอ่อนแอลง เรียกว่าวิธีการใด

(1) การกีดกันทางการค้า

(2) การกําหนดโควตา

(3) การกดดันราคาสินค้า

(4) การตั้งกําแพงภาษีสินค้า

(5) การทุ่มสินค้า

ตอบ 5 หน้า 55 การทุ่มสินค้า (Dumping) คือ การส่งสินค้าออกไปขายต่างประเทศในราคาถูกมากหรือขายในราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต เพื่อช่วยให้สินค้าที่ตกค้างอยู่สามารถขายยังต่างประเทศได้และอาจทําให้คู่แข่งขันต้องอ่อนแอลงจนต้องถอนตัวออกไปจากตลาด

62 เครื่องหมายสวัสดิกะ (Swastika) ประเทศใดนํามาใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิทยาในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2

(1) สหภาพโซเวียต

(2) จีน

(3) เยอรมนี

(4) ญี่ปุ่น

(5) อิตาลี

ตอบ 3 หน้า 65 เครื่องหมายสวัสดิกะ (Swastika) เป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิทยาที่เยอรมนี้นํามาใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทําให้ชาวเยอรมันอุทิศตนเพื่อชาติ เครื่องหมายนี้ปรากฏทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นท้องถนน ในห้องเรียน บนฝาผนัง และในที่สุดได้กลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ความเชื่อทางศาสนา

63 การทูตที่เป็นการเจรจากันโดยตรงระหว่างประมุขหรือผู้นําสูงสุดของประเทศเรียกว่าอะไร

(1) Head Diplomacy

(2) Leadership Diplomacy

(3) State Diplomacy

(4) Ad hoc Diplomacy

(5) Summit Diplomacy

ตอบ 5 (คําบรรยาย) Summit Diplomacy คือ การทูตที่เป็นการเจรจากันโดยตรงระหว่างประมุขหรือผู้นําสูงสุดของประเทศ

64 ในยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน การดําเนินนโยบายต่างประเทศรูปแบบใดทําให้ประเทศกําลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด

(1) Isolate

(2) Ally

(3) Alliance

(4) Non-alignment

(5) Neutrally

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ประเทศกําลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เป็นประเทศที่ไม่มีอํานาจต่อรองทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ ดังนั้นในยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน การดําเนิน นโยบายต่างประเทศแบบสัมพันธมิตร (Alliance) เพื่อรวมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กับประเทศอื่น ๆ จะทําให้ประเทศเหล่านี้ได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด

65 เครื่องมือทางเศรษฐกิจใดใช้ในการดําเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยามสันติ

(1) การทุ่มตลาด

(2) การกว้านซื้อสินค้า

(3) การปิดล้อมฝัง

(4) การจัดทํารายชื่อผู้ต้องห้าม

(5) การยึดทรัพย์ของศัตรู

ตอบ 1 หน้า 53 – 59 เครื่องมือทางเศรษฐกิจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1 เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่นํามาใช้ในยามสันติ ได้แก่ กําแพงภาษี การกีดกันทางการค้าการงดส่งสินค้าออกไปขาย การให้ความช่วยเหลือ การทุ่มสินค้า/การทุ่มตลาด การรวมตัวกันทางธุรกิจระหว่างประเทศ การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา

2 เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่นํามาใช้ในยามที่เกิดสงคราม ได้แก่ การปิดล้อมฝัง การจัดทํารายชื่อผู้ต้องห้าม การกว้านซื้อสินค้า การควบคุมหรือยึดทรัพย์ของฝ่ายศัตรู

3 เครื่องมือทางเศรษฐกิจที่นํามาใช้ทั้งในยามสงครามและยามสันติ ได้แก่ นโยบายทางการค้าการกําหนดโควตาและการออกใบอนุญาต

66 การประชุมสุดยอดความร่วมมือจีนและแอฟริกาปี ค.ศ. 2018 จัดขึ้นที่ประเทศใด

(1) แอฟริกาใต้

(2) ไนจีเรีย

(3) อียิปต์

(4) ซูดาน

(5) จีน

ตอบ 5 (ความรู้ทั่วไป) การประชุมสุดยอดความร่วมมือจีนและแอฟริกา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2018 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยที่ประชุมได้ประกาศเอกสารผลการประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาปักกิ่ง และแผนปฏิบัติการปักกิ่ง เพื่อแสดงความมุ่งมั่นของจีนต่อแอฟริกา ในการร่วมดําเนินการตาม “แนวปฏิบัติ 8 ประการ” สําหรับการเดินหน้าความร่วมมือและสร้างบระชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างจีนกับแอฟริกา

67 ในสมัยล่าอาณานิคม การที่สยามยอมเสียดินแดนบางส่วนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นการดําเนินนโยบายต่างประเทศแบบใด

(1) นโยบายแห่งการเอาใจ

(2) นโยบายรักษาดุลอํานาจ

(3) นโยบายตีสองหน้า

(4) นโยบายการรักษาหน้า

(5) นโยบายรักษาความเป็นมิตร

ตอบ 1 หน้า 216 217 นโยบายแห่งการเอาใจ (Appeasement Policy) เป็นกลยุทธ์การดําเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะที่รัฐหนึ่งยินยอมให้รัฐที่เป็นเป้าหมายของนโยบายนี้ดําเนินการ อันไม่เป็นผลดีกับผลประโยชน์ของตนบางประการ ด้วยความหวังว่ารัฐที่เป็นเป้าหมายจะพอใจ และยุติการดําเนินการอันจะเกิดผลเสียอย่างรุนแรงกับผลประโยชน์ของรัฐนั้น เช่น การที่อังกฤษ ยอมรับการครอบครองซูเดเทนของเยอรมนี้ในสมัยของนายกรัฐมนตรีเนวิลล์ แชมเบอร์แลน การที่สยามยอมเสียดินแดนบางส่วนให้กับอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัยล่าอาณานิคม เป็นต้น

68 ประเทศใดไม่ได้เข้าร่วมในกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC)

(1) ลาว

(2) พม่า

(3) กัมพูชา

(4) เวียดนาม

(5) มาเลเซีย

ตอบ 5 (ความรู้ทั่วไป) กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang Mekong Cooperation : LMC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 2016 มีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ (พม่า) เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา อนุภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภาค ลุ่มน้ำโขง และระหว่างอนุภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่ง ให้กับประชาคมอาเซียนในภาพรวม

69 สาเหตุใดที่ทําให้องค์การระหว่างประเทศเป็นตัวแสดงที่มีความสําคัญในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

(1) รัฐที่อ่อนแอต้องการพึ่งพิงรัฐที่มีอํานาจเหนือกว่า

(2) รัฐต้องการให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ

(3) ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบางกรณีนําไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยรัฐเพียงลําพัง

(4) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกันและกันอย่างซับซ้อน

(5) ต้องอาศัยความร่วมมือในกรอบขององค์การระหว่างประเทศในการเจรจาการค้า ตอบ 4 หน้า 158, (คําบรรยาย) องค์การระหว่างประเทศระหว่างรัฐหรือระดับรัฐบาล ถือเป็นตัวแสดงที่สูงกวารัฐในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นตัวแสดงที่มีความสําคัญ ในยุคปัจจุบัน เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันมีลักษณะพึ่งพาอาศัย ซึ่งกันและกันอย่างซับซ้อน จนทําให้ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบางประเด็นหรือบางกรณี ไม่สามารถบรรลุผลสําเร็จหรือนําไปสู่การแก้ไขปัญหาได้โดยลําพังเพียงรัฐเดียว แต่ต้อง อาศัยความร่วมมือในกรอบขององค์การระหว่างประเทศทั้งในระดับสากลและระดับภูมิภาคมาช่วยในการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศให้สําเร็จลุล่วง

70 ข้อเลือกข้อใดไม่ใช่ลักษณะขององค์การระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

(1) ตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป

(2) ประกอบไปด้วยรัฐ จํานวนหนึ่งที่ต้องเป็นหน่วยทางการเมืองที่อิสระและเสมอภาค (3) เป็นความร่วมมือในด้านการเมือง เศรษฐกิช และสังคม

(4) รัฐสมาชิกต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

(5) มีอํานาจเหนือสมาชิกทั้งหมดภายใต้สถาบันเหนือชาติ

ตอบ 5 หน้า 159 ลักษณะขององค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล มีดังนี้

1 ต้องประกอบไปด้วยรัฐจํานวนหนึ่ง (ตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป) และเหล่านี้จะต้องเป็นหน่วยทางการเมืองที่มีเอกราช อิสระ และมีความเสมอภาคกัน

2 ตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป

3 ขอบเขตของความร่วมมืออาจเป็นทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร วัฒนธรรม สังคม วิชาการ กฎหมาย การพัฒนา เป็นต้น

4 รัฐสมาชิกต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

5 รัฐสมาชิกต้องตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งในผลประโยชน์ของรัฐ และมุ่งที่จะ ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ

6 รัฐสมาชิกต้องตระหนักถึงความจําเป็นที่ต้องมีเครื่องมือที่เป็นองค์ เพื่อสร้างกฎเกณฑ์ในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

71 ธนาคารใดจัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อริเริ่มแถบและเส้นทาง (BRI)

(1) AIDB

(2) ADIB

(3) AIIB

(4) BRIB

(5) BRDB

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 53 ประกอบ

72 การทูตปิงปอง (Ping Pong Diplomacy) นํามาใช้ในการสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศใด

(1) สหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา

(2) สหภาพโซเวียตกับญี่ปุ่น

(3) จีนกับญี่ปุ่น

(4) จีนกับสหรัฐอเมริกา

(5) จีนกับสหภาพโซเวียต

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 3 ประกอบ

73 วิกฤติการณ์คิวบาเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ใด

(1) 1960

(2) 1961

(3) 1962

(4) 1963

(5) 1964

ตอบ 3 หน้า 26, 89, (คําบรรยาย) วิกฤติการณ์คิวบาในปี ค.ศ. 1962 เป็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต เนื่องจากสหภาพโซเวียตได้ไปติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธในคิวบา ทําให้สหรัฐอเมริกาเกิดความหวาดกลัวว่าการติดตั้งขีปนาวุธจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของ สหรัฐอเมริกา จึงปิดล้อมคิวบาทางทะเลและยื่นคําขาดให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธออกจาก คิวบามิฉะนั้นจะบุกคิวบาและทําลายขีปนาวุธเสียเอง วิกฤติการณ์ครั้งนี้สิ้นสุดลงโดยการเจรจาขององค์การสหประชาชาติ ทําให้สหภาพโซเวียตยอมถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาโดยสันติ

74 วิกฤติการณ์คิวบาเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศใด

(1) คิวบากับสหรัฐอเมริกา

(2) คิวบากับเม็กซิโก

(3) คิวบากับสหภาพโซเวียต

(4) สหภาพโซเวียตกับญี่ปุ่น

(5) สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต

ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 73 ประกอบ

75 การทูตเรือปืน หมายถึงการทูตในลักษณะใด

(1) การแข่งขันทางอํานาจของกองทัพเรือโดยใช้อาวุธ

(2) การเจรจาการทูตบนเรือรบ

(3) การเจรจาต่อรองการเป็นมหาอํานาจทางทะเล

(4) การที่ประเทศที่แข็งแรงบีบบังคับประเทศที่อ่อนแอกว่า

(5) การทูตที่ประเทศอ่อนแอใช้ตอบโต้ประเทศที่แข็งแรงกว่า

ตอบ 4 หน้า 219 นโยบายการทูตเรือปืน (Gunboat Diplomacy) เป็นการดําเนินนโยบายต่างประเทศของชาติมหาอํานาจหรือชาติที่เข้มแข็งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการทหาร ในการบีบบังคับ ให้ชาติที่อ่อนแอกว่าทําหรือไม่ทําการใด ๆ ตามความต้องการของตน ซึ่งวิธีการนี้เป็นการรังแก ชาติที่อ่อนแอกว่า เช่น กรณีเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสบีบบังคับให้สยามยอมเสียดินแดนบางส่วนในอินโดจีนให้กับฝรั่งเศส เป็นต้น

76 นักการทูตที่ไปสืบหาข้อมูลอย่างไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายในประเทศที่ตนไปประจําการอยู่อาจถูกกล่าวหาว่าทําการจารกรรมและนักการทูตผู้นั้นต้องกลายเป็น

(1) บุคคลผู้ไม่พึงปรารถนา

(2) บุคคลผู้เป็นภัยคุกคาม

(3) บุคคลน่าละอาย

(4) บุคคลที่ไม่ชอบธรรม

(5) บุคคลที่ควรถูกขับไล่

ตอบ 1 หน้า 71 – 72 นักการทูตมีหน้าที่หลักประการหนึ่งคือ การรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่าง ๆเพื่อวิเคราะห์ท่าที่ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลที่สถานทูตไปตั้งอยู่แล้วรายงานต่อรัฐบาลของตน ซึ่งมีบ่อยครั้งที่นักการทูตจะต้องสืบเสาะหาข้อมูลโดยใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามครรลองหรือ ขั้นตอนของกฎหมายในประเทศที่ตนไปประจําการอยู่ จึงทําให้นักการทูตผู้นั้นถูกกล่าวหาว่าทําจารกรรมและต้องกลายเป็น “บุคคลผู้ไม่พึงปรารถนา” (Persona Non Grata)

77 เครื่องมือทางเศรษฐกิจใดใช้ในการดําเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยามสงคราม

(1) การงดสินค้าออกไปขาย

(2) กําแพงภาษี

(3) การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา

(4) การกีดกันทางการค้า

(5) การจัดทํารายชื่อผู้ต้องห้าม ตอบ 5 ดูคําอธิบายข้อ 65 ประกอบ

78 ข้อเลือกข้อใดเป็นหน้าที่ของธนาคารโลก

(1) การบูรณะและพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

(2) อํานวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศ

(3) การตั้งข้อจํากัดทางการค้าและการชําระเงิน

(4) เป็นแหล่งกู้ยืมเงินของประเทศกําลังพัฒนา

(5) ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

ตอบ 1 หน้า 170, 222 วัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของธนาคารโลก (World Bank) หรือธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (IBRD) มีดังนี้

1 เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยให้สมาชิกกู้ยืมเงินเพื่อบูรณะพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศ

2 เพื่อช่วยให้ประเทศสมาชิกได้ทําการฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

3 เพื่อสนับสนุนการลงทุนเพื่อการพัฒนาและเพิ่มผลผลิตในประเทศกําลังพัฒนา

4 เพื่อยกระดับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศสมาชิก

5 เพื่อให้บริการด้านความรู้และคําแนะนําเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนและการบริหารการเงิน

79 ประธานกรรมการธนาคารโลกคนปัจจุบันคือใคร

(1) นายโรเบิร์ต บี ซิลแคร์

(2) นายคิม จอง อึน

(3) นางคริสติน ลาการ์ด

(4) นายศุภชัย พานิชภักดิ์

(5) นายจิม ยอง คิม

ตอบ 5 (คําบรรยาย) ประธานกรรมการธนาคารโลกคนปัจจุบัน คือ นายจิม ยอง คิม (Jim Yong Kim) ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ซึ่งเข้าดํารงตําแหน่งสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2017 ทั้งนี้ประธานกรรมการจะมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 5 ปี

80 ผู้อํานายการกองทุนการเงินระหว่างประเทศคนปัจจุบันคือใคร

(1) นายโรเบิร์ต บี ซิลแคร์

(2) นายคิม จอง อึน

(3) นางคริสติน ลาการ์ด

(4) นายศุภชัย พานิชภักดิ์

(5) นายจิม ยอง คิม

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ผู้อํานวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศคนปัจจุบัน คือ นางคริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเข้าดํารงตําแหน่งสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 ทั้งนี้ผู้อํานวยการจะมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 5 ปี

81 ข้อเลือกใดเกี่ยวข้องกับองค์การการค้าโลก

(1) เป็นเวทีตกลงเซ็นสัญญาการซื้อขายระหว่างประเทศ

(2) มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

(3) เวทีในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

(4) แก้ไขการตกต่ำของเศรษฐกิจโลก

(5) สนับสนุนด้านดุลการชําระเงินแก่ประเทศสมาชิก

ตอบ 3 หน้า 174 วัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งองค์การการค้าโลก มีดังนี้

1 เพื่อพัฒนาระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศ

2 เพื่อกํากับการดําเนินการของประเทศสมาชิกให้เป็นไปตามข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ. 1994 (GAT 1994)

3 เพื่อยุติหรือระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก

4 เพื่อเป็นเวที่เจรจาการค้าระหว่างประเทศสมาชิก

82 เลขาธิการคนปัจจุบันขององค์การการค้าโลกคือใคร

(1) นายโรแบร์โต อาเซเวโด

(2) นายลามี ปาสคาล

(3) นางคริสติน ลาการ์ด

(4) นายศุภชัย พานิชภักดิ์

(5) นายจิม ยอง คิม

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ผู้อํานวยการหรือเลขาธิการองค์การการค้าโลกคนปัจจุบัน คือ นายโรแบร์โต อาเซเวโด (Roberto Azevedo) ชาวบราซิล ซึ่งเข้าดํารงตําแหน่งสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2017 ทั้งนี้เลขาธิการจะมีวาระการดํารงตําแหน่งคราวละ 4 ปี

83 ข้อเลือกข้อใดเกี่ยวข้องกับประชาคมเศรษฐกิจยุโรป

(1) Paris Treaty

(2) Treaty of Rome

(3) Russell Treaty

(4) Treaty of Athens

(5) Treaty of Maastricht

ตอบ 2 หน้า 179, (คําบรรยาย) ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community : EEC) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1957 โดยสนธิสัญญากรุงโรม (Treaty of Rome) มีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม เนเธอแลนด์ และลักเซมเบิร์ก

84 ข้อเลือกข้อใดไม่ใช่หน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ

(1) ทําหน้าที่จัดสรรทรัพยากรของรัฐสมาชิก

(2) ปฏิบัติการรักษาสันติภาพของโลก

(3) หาหนทางที่จะอยู่รอดร่วมกัน

(4) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิก

(5) กําหนดกฎหมายที่ใช้ในองค์การ

ตอบ 5 หน้า 160 – 161, (คําบรรยาย) องค์การระหว่างประเทศทําหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1 การเป็นที่ประชุมปรึกษาหารือระหว่างรัฐสมาชิก

2 การเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ต่าง ๆ

3 การจัดสรรทรัพยากร

4 การเพิ่มสมรรถนะทางทหาร

5 การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ

6 การหาหนทางที่จะอยู่รอดร่วมกัน.

7 การส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้านต่าง ๆ

85 ข้อเลือกข้อใดไม่ใช่องค์การระหว่างประเทศระดับโลก

(1) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

(2) องค์การอาหารและการเกษตร

(3) ธนาคารโลก

(4) องค์การการค้าโลก

(5) สหภาพยุโรป

ตอบ 5 หน้า 135 – 136, 158, 160 องค์การระหว่างประเทศซึ่งจําแนกตามภูมิศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

1 องค์การระหว่างประเทศระดับโลกหรือระดับสากล (Global Organization) เช่น สันนิบาตชาติ (LAN), สหประชาชาติ (UN), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), ธนาคารโลก (World Bank), องค์การการค้าโลก (WTO), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), องค์การอนามัยโลก (WHO), องค์การประเทศผู้ส่งน้ํามันเป็นสินค้าออก (OPEC), องค์การอาหารและการเกษตร (FAO), สหภาพไปรษณีย์สากล (UPU) เป็นต้น

2 องค์การระหว่างประเทศระดับภูมิภาค (Regional Organization) เช่น สหภาพยุโรป (EU),อาเซียน (ASEAN), องค์การนานารัฐอเมริกัน (OAS), สหภาพแอฟริกา (AU), องค์การสนธิสัญญา แอตแลนติกเหนือ (NATO), กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC), องค์การสันนิบาตอาหรับ (Arab League), องค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) เป็นต้น

86 ข้อเลือกข้อใดไม่ใช่ภารกิจหลักขององค์การสหประชาชาติ

(1) พัฒนาสัมพันธไมตรีระหว่างประชาชาติทั้งมวล

(2) คณะมนตรีความมั่นคงอาจให้กําลังรบของประเทศสมาชิกเข้าแทรกแซง

(3) รักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

(4) คณะมนตรีความมั่นคงส่งผู้รักษาสันติภาพเข้าไปยังพื้นที่ประเทศที่ขัดแย้งกัน

(5) เสนอแนะแนวทางต่าง ๆ เพื่อหาทางออกเมื่อเกิดความขัดแย้ง

ตอบ 2 หน้า 141 – 142, 165 166 องค์การสหประชาชาติมีจุดมุ่งหมาย หลักการ และภารกิจที่สําคัญดังนี้

1 ธํารงไว้เพื่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อเกิดกรณีพิพาท ระหว่างประเทศ สหประชาชาติจะมอบหมายให้คณะมนตรีความมั่นคงเข้าไปแทรกแซงโดยเปิด การเจรจาระหว่างคู่กรณี และเสนอแนะแนวทางต่าง ๆ เพื่อหาทางออกในการยุติความขัดแย้ง รวมทั้งการส่งผู้รักษาสันติภาพเข้าไปยังพื้นที่ประเทศที่ขัดแย้งกันในกรณีที่ประเทศดังกล่าวยินยอม

2 สนับสนุนในการเคารพสิทธิมนุษยชน และควบคุมตรวจสอบรัฐบาลของแต่ละประเทศ ให้เคารพในสิทธิมนุษยชนของพลเมือง

3 พัฒนาสัมพันธไมตรีระหว่างประชาชาติทั้งมวล

4 เป็นศูนย์กลางความร่วมมือและการประสานงานของประชาชาติทั้งปวง

87 ประเทศใดเป็นสมาชิกล่าสุดของสหประชาชาติ

(1) ลิทัวเนีย

(2) เวียดนาม

(3) จอร์เจีย

(4) ซีเรีย

(5) ซูดานใต้

ตอบ 5 หน้า 163 164, (คําบรรยาย) องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยมีสมาชิกผู้ก่อตั้งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด 51 ประเทศ และมีสํานักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน (ค.ศ. 2018) สหประชาชาติมีสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทย ติมอร์-เลสเต มอนเตเนโกร ฯลฯ โดยประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกลําดับที่ 55 ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1946 และมีประเทศซูดานใต้หรือเซาท์ซูดาน (South Sudan) เข้าเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2011

88 ข้อเลือกข้อใดเป็นหน้าที่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

(1) เสริมสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ

(2) เร่งรัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

(3) ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ

(4) ให้การประกันแก่นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศกําลังพัฒนา

(5) เป็นศูนย์กลางระหว่างประเทศเพื่อยุติความขัดแย้งด้านการลงทุน

ตอบ 3 หน้า 173, (คําบรรยาย) วัตถุประสงค์หรือหน้าที่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มีดังนี้

1 เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ

2 เพื่ออํานวยความสะดวกให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างสมดุล

3 เพื่อให้ประเทศสมาชิกกู้ยืมเงินไปแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของการเงินภายในประเทศ

4 เพื่อสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศสมาชิกในการปรับปรุงฐานะดุลการชําระเงินให้ดีขึ้นซึ่งจะช่วยให้ประเทศสมาชิกไม่ต้องใช้มาตรการต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของ ประเทศสมาชิกอื่น ๆ เช่น การตั้งข้อจํากัดทางการค้าและการชําระเงิน

5 เพื่อควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไม่ให้ผันผวนและป้องกันการลดค่าเงิน

6 เพื่อลดการขาดดุลชําระเงินระหว่างประเทศ ฯลฯ

89 ข้อเลือกข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

(1) สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ค.ศ. 1929 1933

(2) Bretton Woods Conference

(3) United Nations Monetary and Financial Conference

(4) ป้องกันการลดค่าเงิน

(5) เป็นแหล่งกู้ยืมเงินของประเทศด้อยพัฒนา

ตอบ 5 (คําบรรยาย) กองทุนการเงินระหว่างประเทศถือกําเนิดขึ้นมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจและการค้าโลกในช่วงปี ค.ศ. 1920 อันเป็นจุดเริ่มต้นที่นําไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (Great Depression) ในระหว่างปี ค.ศ. 1929 – 1933 และการประชุม United Nations Monetary and Financial Conference หรือการประชุมเบรตต้น วูดส์ (Bretton Woods Conference) ที่จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1944 ณ มลรัฐนิวแฮมพ์เชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา (ดูคําอธิบายข้อ 88. ประกอบ)

90 ข้อเลือกข้อใดไม่ได้เป็นที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศ

(1) สนธิสัญญา

(2) ข้อตกลงระหว่างประเทศ

(3) กระบวนการทางนิติบัญญัติ

(4) จารีตประเพณี

(5) คําพิพากษาของศาล

ตอบ 3 หน้า 128, (คําบรรยาย) ที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศ อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

1 ลักษณะที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ สนธิสัญญาระหว่างประเทศ อนุสัญญาระหว่างประเทศข้อตกลงระหว่างประเทศ และคําพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก

2 ลักษณะที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ จารีตประเพณีระหว่างประเทศ และหลักกฎหมายทั่วไป

91 ข้อเลือกข้อใดเกี่ยวข้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

(1) ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ

(2) ได้มาจากอํานาจส่วนกลาง

(3) เป็นจารีตประเพณีของรัฐมหาอํานาจ

(4) เป็นอนาธิปไตย (Anarchy) ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

(5) เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่ทําขึ้นระหว่างรัฐเป็นลายลักษณ์อักษร

ตอบ 4, 5 หน้า 128 กฎหมายระหว่างประเทศเป็นหลักปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับระหว่างประเทศที่จะเป็นตัวกําหนดควบคุมอํานาจอธิปไตยของรัฐ หรือเป็นผู้ควบคุมพฤติกรรมของรัฐ ทั้งนี้ กฎหมายระหว่างประเทศจะไม่เหมือนกับกฎหมายภายในรัฐแต่ละรัฐ (National Laws) เพราะว่าการได้มาของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นไม่ได้ผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ หรืออํานาจส่วนกลางใด ๆ แต่มาจากจารีตประเพณีปฏิบัติและความตกลงระหว่างประเทศ ที่ทําขึ้นระหว่างรัฐเป็นลายลักษณ์อักษร จึงทําให้มีลักษณะเป็นอนาธิปไตย (Anarchy) ในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

92 ข้อเลือกข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับบทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศ

(1) ก่อให้เกิดและธํารงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อย

(2) มีผลบังคับใช้เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ

(3) ส่งเสริมมิตรภาพ ความร่วมมือปรองดอง และมิตรไมตรีระหว่างรัฐ

(4) ไม่พึ่งพาการใช้กําลังให้รัฐอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ

(5) เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐที่เกิดกรณีขัดแย้งกัน

ตอบ 2 หน้า 129 บทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศในการบังคับใช้ มีดังนี้

1 ก่อให้เกิดและธํารงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมแห่งรัฐ เป็นบทบาทที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

2 ส่งเสริมมิตรภาพ ความร่วมมือปรองดอง และมิตรไมตรีระหว่างรัฐ

3 ไม่พึ่งพาการใช้กําลังให้รัฐอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ คือ ไม่มีสภาพบังคับลงโทษ (Sanction) จึงทําให้สังคมระหว่างรัฐมีลักษณะสังคมอนาธิปไตย ไม่มีอํานาจสูงสุดในการบังคับบัญชา

4 เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐที่เกิดกรณีขัดแย้งกัน

5 เป็นเครื่องมือของรัฐที่มีอํานาจที่จะใช้เพื่อรักษาอํานาจที่มีอยู่ให้มั่นคงและยั่งยืน

93 ข้อเลือกข้อใดไม่ใช่การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี

(1) การเจรจา

(2) การไกล่เกลี่ย

(3) การไต่สวน

(4) การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

(5) อนุญาโตตุลาการ

ตอบ 4 หน้า 130 – 131, (คําบรรยาย) กระบวนการแก้ปัญหาหรือระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีตามหมวด 6 ของสหประชาชาติ มี 6 วิธี คือ

1 การเจรจา

2 การไต่สวน

3 การไกล่เกลี่ย

4 การประนีประนอม

5 การตั้งอนุญาโตตุลาการ

6 การเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

94 ข้อเลือกข้อใดไม่ได้เป็นบทบาทกฎหมายระหว่างประเทศในการบังคับใช้

(1) ใช้หลักการพึ่งพาการใช้กําลังให้รัฐอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ (2) ไม่มีสภาพบังคับลงโทษ (Sanction)

(3) สอดคล้องกับผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมแห่งรัฐเป็นบทบาทที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

(4) เป็นเครื่องมือของรัฐที่มีอํานาจที่จะใช้เพื่อรักษาอํานาจที่มีอยู่ให้มั่นคงและยั่งยืน (5) เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐที่เกิดกรณีขัดแย้งกัน

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 92 ประกอบ

95 ขณะนี้อะไรถือว่าเป็นปัญหาวิกฤติที่สําคัญที่สุดของสหภาพยุโรป

(1) การรับประเทศมุสลิมอย่างประเทศตุรกีเข้ามาเป็นสมาชิก

(2) ความยากจนของประเทศสมาชิกใหม่

(3) การก่อการร้ายระหว่างประเทศ

(4) การอพยพเข้าออกของประชากรในประเทศสมาชิก

(5) การขอลาออกจากการเป็นสมาชิกอียูของสหราชอาณาจักร

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ปัญหาการอพยพเข้าออกของประชากรในประเทศสมาชิก ถือเป็นปัญหาวิกฤติที่สําคัญที่สุดของสหภาพยุโรปในปัจจุบัน โดยกลุ่มผู้อพยพมี 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้อพยพลี้ภัย สงคราม ซึ่งอพยพมาจากตะวันออกกลาง และกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยความยากจน ซึ่งอพยพมาจาก แอฟริกาและเอเซีย การอพยพดังกล่าวได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ประเทศที่รับผู้อพยพเข้าประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณในการจัดการดูแลผู้อพยพ การจัดเตรียมที่พักพิง อาหารสวัสดิการต่าง ๆ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการแย่งงานคนท้องถิ่น เป็นต้น

96 อะไรถือว่าเป็นการประสบความสําเร็จที่สุดของสหภาพยุโรป

(1) การขอเข้าเป็นสมาชิกของประเทศตุรกี

(2) เป็นตลาดเดียว ใช้เงินสกุลเดียว

(3) การรับอดีตประเทศในสหภาพโซเวียตเป็นสมาชิกทั้งหมด

(4) ใช้เชงเก้นวีซ่า

(5) การมีกองกําลังต่อต้านการก่อการร้าย

ตอบ 2 หน้า 180, (คําบรรยาย) ความสําเร็จของสหภาพยุโรป มีดังนี้

1 เป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งที่สุดในโลก

2 เป็นการขยายจํานวนสมาชิกที่ครอบคลุมทั้งในยุโรปตะวันตกและยุโรปตะวันออก

3 มีความเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจ คือ การเป็นตลาดเดียว และใช้เงินสกุลเดียวซึ่งถือเป็นความสําเร็จที่สุดของสหภาพยุโรป

4 เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก

97 อะไรถือว่าเป็นความสําเร็จที่สุดของการพัฒนา ASEAN ในปัจจุบัน

(1) การปฏิวัติอุตสาหกรรมการเกษตร

(2) การแก้ไขปัญหาวิกฤติค่าเงินในเอเชีย

(3) การเป็นประชาคมอาเซียน

(4) มีกฎบัตรอาเซียน

(5) การใช้เงินเยนและหยวนเป็นเงินสํารองในภูมิภาคเอเชีย

ตอบ 3 (คําบรรยาย) ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2015 เป็นการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อให้เป็นประชาคมที่มีความแข็งแกร่ง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งเพื่อสร้างโอกาสให้กับภูมิภาค และประเทศในภูมิภาคในการเจรจาต่อรองกับภูมิภาคอื่น ๆ และประเทศอื่น ๆ ได้มากขึ้นซึ่งการเป็นประชาคมอาเซียนนี้ถือเป็นความสําเร็จที่สุดของการพัฒนาอาเซียนในปัจจุบัน

98 ข้อเลือกข้อใดไม่เป็นสาระสําคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

(1) อาเซียนเป็นเขตแห่งสันติภาพ เสรีภาพ และความเป็นกลาง

(2) เสริมสร้างอํานาจการต่อรองทางเศรษฐกิจ

(3) เป็นตลาดเดียว ฐานการผลิตเดียว

(4) แรงงานมีทักษะสามารถไปทํางานต่างประเทศได้

(5) ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ตอบ 1 (คําบรรยาย) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีเป้าหมาย 4 ประการ คือ

1 การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุนเงินทุน และแรงงานฝีมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้อย่างเสรี

2 การสร้างอํานาจการต่อรองและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของอาเซียน

3 การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค โดยเน้นการเน้นการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

4 การบูรณาการเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก

99 อะไรไม่ถือว่าเป็นความสําเร็จที่สุดของประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน

(1) การจัดตั้งปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน

(2) การเกิดกฎบัตรอาเซียน

(3) การรักษาบรรทัดฐานของอาเซียน

(4) ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

(5) เป็นตลาดเดียว ฐานการผลิตเดียว

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การเจรจาปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ระหว่างประชาคมอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันยังไม่ถือว่าประสบความสําเร็จ โดยอาเซียนและสาธารณรัฐ ประชาชนจีนได้เจรจาทําความตกลงเพื่อกําหนดแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้มานานหลายปีแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อกําหนดและควบคุมการทํากิจกรรมต่าง ๆ ในน่านน้ําแห่งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยง การกระทบกระทั่งกันของประเทศที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งในจํานวนนี้มีประเทศสมาชิกอาเซียน คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และมาเลเซีย ที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ด้วย

100 ข้อเลือกข้อใดไม่เกี่ยวข้องกับเอเปค

(1) เปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกเข้าร่วมด้วยได้

(2) มีสมาชิกเป็นเขตปกครองพิเศษร่วมอยู่ด้วย

(3) การให้กู้ยืมเงินสมาชิกมาพัฒนาประเทศ

(4) ลดอุปสรรคทางการค้าและการบริการ

(5) ใช้เป็นเวทีในการปรึกษาหารือทางการค้าระหว่างประเทศ

ตอบ 3 หน้า 186, (คําบรรยาย) กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (APEC)ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2018) มีสมาชิกทั้งหมด 21 ประเทศ โดยมีฮ่องกงและไต้หวันซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษเป็นสมาชิกร่วมด้วย เอเปคนั้นถือเป็นการ รวมกลุ่มทางเศรษฐกิจแบบเปิด คือ เปิดโอกาสให้ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสามารถเข้าร่วมได้ โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกเหล่านั้นเช่นเดียวกับที่ให้แก่สมาชิกเอเปค วัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายของเอเปค มีดังนี้

1 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขยายตัว ทางการค้าและเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

2 เพื่อพัฒนาและส่งเสริมระบบ การค้าหลายฝ่าย หรือระบบการค้าแบบเปิด

3 เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการบริการ

4 เพื่อเป็นเวทีปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการค้าของสมาชิก แต่ไม่ใช่เวที ในการเจรจาหรือยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างสมาชิก

WordPress Ads
error: Content is protected !!