LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 1003  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  ข้อละ  25  คะแนน

ข้อ  1  (ก)  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  มีผลในกฎหมายประการใด  ให้อธิบายโดยสังเขป

(ข)  นายอาทิตย์กับนางจันทราตกลงทำสัญญากันหลอกๆว่านายอาทิตย์ขายรถยนต์คันหนึ่งของตนให้แก่นางจันทราในราคา  400,000  บาท  นายอาทิตย์ได้ส่งมอบรถยนต์ให้แก่นางจันทรา  แต่ไม่มีการชำระราคากันจริง  ต่อมาอีก  7  วัน  นางจันทราเอารถยนต์คันนั้นไปขายให้แก่นายอังคารในราคา  380,000  บาท  หลังจากนั้นอีก  1  เดือน  นายอาทิตย์ทราบเรื่องจึงบอกกล่าวเรียกร้องให้นายอังคารเอารถยนต์มาส่งคืนให้แก่ตนโดยอ้างว่ารถยนต์เป็นของตน  


ตนมิได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ  นายอังคารไม่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์และบอกแก่นายอาทิตย์ว่า  ตนจะคืนรถยนต์ให้ต่อเมื่อได้รับเงินคืน  
380,000  บาท  ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าในขณะที่นายอังคารซื้อรถยนต์จากนางจันทรานั้น  นายอังคารรู้ว่านายอาทิตย์ไม่ได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่า  นายอังคารต้องส่งคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  155  วรรคแรก  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ  แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก  ผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

(ก)  การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  คือ  การที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมรู้หรือตกลงกันกระทำหรือแสดงกิริยาอาการ อย่างใดยอย่างหนึ่งออกให้ดูเหมือนเป็นการแสดงเจตนาแต่แท้จริงแล้วเป็นการลวง  เจตนาอันแท้จริงของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่สมรู้กันนั้นมิได้ต้องการให้เกิดผลในทางกฎหมายซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในสิทธิแต่อย่างใด

การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง  มีผลในกฎหมายตามาตรา  155วรรคแรก  คือ  ตกเป็นโมฆะ  ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม  ถ้ามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกโดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใดๆยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก  ซึ่งเป็นผู้ (1)  กระทำการโดยสุจริต  และ (2)  ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

กระทำโดยสุจริต  หมายความว่า  กระทำโดยไม่รู้และไม่มีเหตุอันควรรู้ถึงการที่ไม่มีสิทธิหรือความบกพร่องแห่งสิทธิที่มีมาในอดีต (ฎ. 540/2490)

ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น  หมายความว่า  บุคคลภายนอกที่เข้ามาเกี่ยวข้องนั้นได้รับความเสียหาย  เนื่องจากได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปเพราะหลงเชื่อการแสดงเจตนาลวงนั้น

ดังนั้นหากบุคคลภายนอกกระทำการโดยไม่สุจริตแต่เกิดความเสียหายกับตน  หรือบุคคลภายนอกกระทำการโดยสุจริต  แต่ไม่ได้รับความเสียหายแล้ว  กฎหมายก็จะไม่คุ้มครองบุคคลภายนอกบุคคลใดๆสามารถยกเอาความเป็นโมฆะดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกได้

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์  นายอาทิตย์กับนางสาวจันทราสมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่านายอาทิตย์ขายรถยนต์ให้แก่นางจันทรา  สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราจึงตกเป็นโมฆะ  ตามาตรา  155  วรรคแรกตอนต้น  ต่อมานางจันทราขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นายอังคาร  โดยในขณะที่นายอังคารซื้อรถยนต์จากนางจันทรานั้น   นายอังคารก็รู้ว่านายอาทิตย์ไม่ได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นางจันทราจริงๆ  กรณีจึงถือได้ว่า  นายอังคารซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยไม่สุจริต  (ฎ  . 1020/2504)  นายอังคารจึงไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย  ตามาตรา  155  วรรคแรก ตอนท้าย  ดังนั้น  เมื่อนายอาทิตย์เรียกร้องให้นายอังคารส่งรถยนต์แก่ตนนายอังคารจึงต้องส่งคืนรถยนต์ให้นายอาทิตย์

สรุป  นายอังคารต้องส่งคืนรถยนต์ให้แก่นายอาทิตย์

 


ข้อ  2  จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  176  วรรคสอง  บัญญัติว่า  
ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ  เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆียะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ให้นักศึกษาตอบคำถามดังต่อไปนี้

(ก)  บุคคลใดได้แก่บุคคลใดบ้าง

(ข)  มาตรา  176  วรรคสอง  ดังกล่าวนั้นใช้เป็นหลักในการพิจารณากรณีใด  อธิบายให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

(ก)  คำว่า  บุคคลใด ในมาตรา  176  วรรคสองนี้  นอกจากหมายความถึงคู่กรณีแห่งนิติกรรมฝ่ายที่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทนแล้ว  ยังหมายความรวมถึงบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่นิติกรรมตกเป็นโมฆียะด้วย

(ข)  ใช้เป็นหลักในการพิจารณาว่า  บุคคลใดกระทำการโดยไม่สุจริตเมื่อใด  เพื่อผลการบอกล้างโมฆียกรรมนั้น  ในกรณีให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม  หากปรากฏว่าทรัพย์ที่จะต้องคืนเกิดดอกผลมา  ดอกผลนั้นจะตกเป็นของฝ่ายใด  ตามหลักเกณฑ์เรื่องการได้กรรมสิทธิ์ในดอกผล

มาตรา  415  บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต  ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลาที่ยังคงสุจริตอยู่…

ดังนั้นถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียกรรมโดยไม่รู้และไม่ควรจะได้รู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ  บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ  สุจริต  เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม  บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น

แต่ถ้าบุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามโมฆียะกรรมโดยรู้ว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ  บุคคลนั้นย่อมอยู่ในฐานะ  ไม่สุจริต  เมื่อมีการบอกล้างโมฆียะกรรม  บุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้น

 

ข้อ  3  อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/12  หมายความว่าอย่างไร  แยกออกเป็นกี่กรณี  อะไรบ้าง  จงอธิบาย  พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  193/3  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน  ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน  สัปดาห์  เดือนหรือปี  มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน  เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี

มาตรา  193/12  อายุความเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดเริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/12  หมายความว่า  เจ้าหนี้สามารถบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่เมื่อใด  อายุความก็เริ่มนับแต่เมื่อนั้น  ซึ่งแยกออกเป็น  2  กรณี  ดังนี้

1       สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งกำหนดเวลาชำระหนี้  ในกรณีที่นิติกรรมมีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน  เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลุกนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันถึงกำหนดชำระหนี้  โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  ตามหลักเกณฑ์การคำนวณนับระยะเวลา  ตามมาตรา  193/3  วรรคสอง

ตัวอย่าง  ก.  กู้เงิน  ข.  ไป  100,000  บาท  เมื่อวันที่  12  มกราคม  2548  มีกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ ใน  1  ปี  นับตั้งแต่วันทำสัญญา  ระยะเวลา  1  ปี  จะครบกำหนดในวันที่  12  มกราคม  2549  อายุความฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของ  ข.  ในกรณีนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ครบกำหนด  1  ปี  นับตั้งแต่วันทำสัญญาโดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น

2       สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากนิติกรรมซึ่งไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้  ในกรณีที่นิติกรรมไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอน  เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามนิติกรรมนั้นได้โดยพลัน  ตามมาตรา  203  ในกรณีเช่นนี้อายุความเริ่มต้นนับตั้งแต่วันทำนิติกรรม  โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  ตามหลักเกณฑ์การคำนวณนับระยะเวลาตามมาตรา  193/3  วรรคสอง

ตัวอย่าง  ก.  กู้เงิน  ข.  ไป  100,000  บาท  เมื่อวันที่  12  มกราคม  2548  โดยมิได้กำหนดระยะเวลาในการใช้คืน  และไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดที่จะพึงอนุมานกำหนดเวลาใช้เงินคืนได้  ในกรณีเช่นนี้  ข.  เจ้าหนี้ย่อมเรียกให้  ก.  ลูกหนี้ใช้เงินคืนได้ตั้งแต่วันทำนิติกรรม  ตามมาตรา  203  อายุความฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องของ  ข.  ในกรณีนี้จึงเริ่มนับแต่วันทำนิติกรรม  โดยเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น

 

ข้อ  4  เมื่อวันที่  2  กุมภาพันธ์  2551  ก.  อยู่กรุงเทพฯ  ได้ไปเที่ยวบ้าน  ข.  ที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วเห็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนองค์หนึ่งของ  ข.  ก็ชอบใจอยากได้  เมื่อกลับกรุงเทพฯ  ก.  ได้ส่งจดหมายทางไปรษณีย์เสนอซื้อพระพุทธรูปองค์นั้นจาก  ข.  ราคา  1  ล้านบาท  โดยได้แจ้งไปในคำเสนอนั้นด้วยว่า  ถ้า  ข.  ตกลงจะขายต้องตอบตกลงมาภายในวันที่  15  กุมภาพันธ์  2551  เมื่อ  ข.  ได้รับจดหมายของ  ก.  ข.  ได้เขียนจดหมายตอบและส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนมายัง  ก.  แต่ปรากฏว่าเกิดฝนตกหนัก  น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่  จดหมายของ  ข.  จึงมาถึง  ก.  ที่กรุงเทพฯ  เมื่อวันที่  18  กุมภาพันธ์  2551  ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่  ก.  กำหนด  อย่างไรก็ตามเมื่อดูที่ซองจดหมายของ  ข.  เป็นที่เห็นได้ว่า  ข.  ได้ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่  9  กุมภาพันธ์  2551  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรมาถึง  ก.  ภายในเวลาที่  ก.  กำหนด

ถ้า  ก.  ไม่ต้องการซื้อพระพุทธรูปองค์นั้นและมาปรึกษาท่าน  ท่านจะให้คำแนะนำแก่  ก.  ว่า  ก.  ต้องดำเนินการอย่างไร  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  358  ถ้าคำบอกกล่าวสนองถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดนั้นไซร้  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น  ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย  ตามอุทาหรณ์  คำสนองขายพระพุทธรูปของ  ข.  ไปถึง  ก.  ล่าช้ากว่าเวลาที่  ก.  กำหนดไว้  แต่เป็นที่เห็นได้ชัดจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายคำสนองนั้นว่า  ข.  ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่  วันที่  9  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2551  ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะมาถึง  ก.  ก่อน  วันที่  15 กุมภาพันธ์  พ.ศ.2551  อันเป็นเวลาที่  ก.  กำหนดไว้  มนกรณีดังกล่าวนี้คำสนองของ  ข.  จะเป็นคำสนองล่วงเวลารึไม่  ขึ้นอยู่กับว่า  ก.  (ผู้เสนอ)  ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามาตรา  358  หรือไม่  ซึ่งในเรื่องนี้  กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่า  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  เว้นแต่ได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว  ดังนั้น  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำสำหรับกรณีเช่นนี้แก่  ก.  ว่า  ถ้า  ก.  ไม่ต้องการซื้อพระพุทธรูปองค์นั้น  ก.  จำต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  โดยการที่  ก.  ผู้เสนอ ต้องบอกกล่าวแก่  ข.  ผู้สนองโดยพลัน  ว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  คือวันที่  18  กุมภาพันธ์  2551 เว้นแต่  ก.  จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นแก่  ข.  ไว้ก่อนแล้ว  กฎหมายจึงจะถือว่า  จดหมายคำสนองของ  ข.  เป็นคำสนองล่วงเวลา  หามีผลให้สัญญาซื้อขายพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนระหว่าง  ก.  กับ  ข.  เกิดขึ้นไม่  แต่ถ้า  ก.  ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว  กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของ ข  เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา  ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนระหว่าง  ก.  กับ  ข.  เกิดขึ้น

สรุป  ข้าพเจ้าจะให้คำแนะนำ แก่  ก.  ว่า  ก.  ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้  โดย  ก.  ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่  ข.  ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า  จึงจะถือว่า  จดหมายคำสนองของ  ข.  เป็นคำสนองล่วงเวลา   สัญญาซื้อขายระหว่าง  ก.  กับ  ข.  ไม่เกิดขึ้น

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา S/2550

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LW 203 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1  นิติกรรมที่กฎหมายบังคับว่า  จะต้องทำเป็นหนังสือแตกต่างจากนิติกรรมที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างไร  ให้อธิบายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  152  การใดมิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้การนั้นเป็นโมฆะ

อธิบาย  นิติกรรมที่กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือนั้นคือ  นิติกรรมที่กฎหมายบังคับไว้ให้ทำในลักษณะของแบบบังคับนั้นเองและหากเป็นแบบบังคับแล้ว  ผลตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  152  คือ  ถ้าผู้ทำนิติกรรมมิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้นั้น  นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ

นิติกรรมที่ต้องทำเป็นหนังสือ  หมายถึง  นิติกรรมที่ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร  โดยลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย  จะมีเพียงหลักฐานเป็นหนังสือไม่ได้  ทั้งนี้การทำเป็นหนังสือที่ต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายนี้  ไม่มีบทบัญญัติใดระบุว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายจะต้องลงชื่อในวันทำสัญญานั้น

ตัวอย่างเช่น  สัญญาเช่าซื้อ  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  572  วรรคสอง  ที่กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ  หมายถึงว่าเจ้าของทรัพย์สินผู้ให้เช่าซื้อและผู้เช่าซื้อจะต้องลงลายมมือชื่อในหนังสือสัญญาเช่าซื้อด้วยกันทั้งสองฝ่าย  สัญญาเช่าซื้อจึงจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  ดังนั้นหากสัญญาเช่าซื้อใดตกลงด้วยวาจา  หรือในกรณีที่มีการทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อ  แต่ผู้ให้เช่าซื้อหรือผู้เช่าซื้อแต่เพียงฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อในสัญญา  ถือได้ว่ามิได้ทำตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้  ตามมาตรา  572  วรรคสอง  สัญญาเช่าซื้อดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ

สำหรับลักษณะของการทำหลักฐานเป็นหนังสือนั้นคือ  การเขียนเป็นลายลักษณ์อักษร  มีข้อความทุกอย่างของนิติกรรมประเภทนั้นครบถ้วน  มีลายมือชื่อของคู่สัญญาฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ทั้งหมดนี้ไม่จำต้องมีหรือได้ทำขึ้นในขณะที่ทำนิติกรรม

นิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  เป็นเพียงนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อใช้ในการฟ้องร้องและต้องมีลายมือชื่อของผู้รับผิด  แม้นิติกรรมนั้นกฎหมายจะกำหนดให้ต้องมีหลักฐาน  แม้จะไม่มีหลักฐานในขณะทำนิติกรรม  นิติกรรมนั้นก็เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการเพียงแต่คู่กรณีจะฟ้องกันโดยที่ไม่มีหลักฐานนั้นไม่ได้

ตัวอย่างเช่น  สัญญากู้ยืมเงิน  ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  653  วรรคแรก  ที่กำหนดว่าการกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  แสดงให้เห็นชัดอยู่ในตัวว่าบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับว่าต้องทำสัญญากู้ยืมเป็นหนังสือ  เหมือนเช่นสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวข้าง  ต้นแต่อย่างใด  เพียงแต่หากประสงค์จะฟ้องร้องบังคับคดีในชั้นศาล  คู่สัญญาจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ  จึงจะฟ้องร้องกันได้  ดังนั้นในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินกัน  เมื่อมีการส่งมอบเงินที่ยืมให้ผู้กู้ยืมแล้ว  สัญญากู้ยืมเงินย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย  แม้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ตาม  และทั้งนี้หลังจากรับมอบเงินแล้ว  คู่สัญญาจะทำสัญญากู้ยืมเงินกันในภายหลังเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องก็ได้

อย่างไรก็ดีข้อแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ  นิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น  ต้องมีลายมือชื่อของฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญเท่านั้น  แม้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะมิได้ลงลายมือชื่อ  ก็ไม่ทำให้หลักฐานเป็นหนังสือนั้นเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  152  เพราะนิติกรรมที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมิใช่แบบของนิติกรรมที่กฎหมายบังคับไว้ให้ต้องทำเป็นหนังสือนั่นเอง

 


ข้อ  2  นายทำใจเจ้าของที่ดินตกลงทำนิติกรรมจะซื้อขายที่ดินชายทะเล  จำนวน  120  ไร่  ให้แก่นายทำดี  ต่อมาปรากฏว่า  ทางราชการได้ประกาศว่าจะมีโครงการตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าวซึ่งจะทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น  นายทำใจรู้สึกเสียดายที่ดินของตน  นายทำใจจึงไปทวงที่ดินคืนจากนายทำดี  โดยอ้างว่า  “นิติกรรมจะซื้อขายที่ดินที่ตนทำกับนายทำดีเป็นโมฆียะ  

เพราะนายทำดีนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าว  ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของนายทำดีที่จะต้องบอกให้ตนทราบ  ตนจึงขอบอกล้างนิติกรรมดังกล่าว  ดังนี้อยากทราบว่าการแสดงเจตนาทำนิติกรรมจะซื้อขาย ที่ดินระหว่างนายทำใจกับนายทำดีมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร  และข้ออ้างของนายทำใจฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบายธงคำตอบ

มาตรา  162  ในนิติกรรมสองฝ่าย  การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้  การนั้นจะเป็นฉ้อฉล  หากพิสูจน์ได้ว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น  นิติกรรมนั้นก็คงมิได้กระทำขึ้น

วินิจฉัย

การแสดงเจตนาเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลโดยการนิ่ง  ตามมาตรา  162  มีหลักเกณฑ์อันจะทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ  ประกอบด้วย

1       เป็นนิติกรรมสองฝ่าย

2       จงใจนิ่งเสีย  ไม่แจ้งข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมิได้รู้  โดย

(ก)  คู่กรณีฝ่านั้นมีหน้าที่ๆจะต้องบอกความจริง  หรือ

(ข)  มีพฤติการณ์อันแสดงออกทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจผิด

3       ถึงขนาดว่าถ้ามิได้นิ่งเสียเช่นนั้น  นิติกรรมนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้นกรณีตามอุทาหรณ์  การแสดงเจตนาของนายทำใจเจ้าของที่ดินที่ตกลงทำนิติกรรมจะซื้อขายที่ดินกับนายทำดีดังกล่าว  มีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้  และข้ออ้างของนายทำใจผู้จะขายฟังไม่ขึ้น  เพราะแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่านิติกรรมดังกล่าวเป็นนิติกรรมสองฝ่าย  และนายทำดีผู้จะซื้อจงใจนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าวก็ตาม  ซึ่งนายทำใจผู้จะขายมิได้รู้มาก่อนและถ้าฝ่ายนายทำดีผู้จะซื้อมิได้นิ่งเสียเช่นนั้น  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินก็มิได้ทำขึ้น  แต่การที่นายทำดีผู้จะซื้อนิ่งเสียไม่ไขข้อความจริงเกี่ยวกับโครงการจะตัดถนนผ่านที่ดินดังกล่าวหรือไม่  มิใช่หน้าที่ของนายทำดีผู้จะซื้อที่จะต้องบอกกล่าวข้อความจริงดังกล่าว  หากแต่เป็นหน้าที่ของนายทำใจผู้จะขายที่ดินที่จะต้องขวนขวายแสวงหาความจริงเอาเอง  ดังนั้นการกระทำของนายทำดีผู้จะซื้อจึงไม่เป็นกลฉ้อฉลโดยการนิ่ง  ตามมาตรา  162  เพราะนายทำดีไม่มีหน้าที่บอกกล่าวความจริง  สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์  (ฎ. 1131/2532)

สรุป  การแสดงเจตนาทำนิติกรรมดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย  และข้ออ้างของนายทำใจฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  3  นางสาวเก่งเรียน  นักศึกษาปี  3  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้ตกลงทำสัญญาเช่าบ้านกับนายสาคร  1  หลัง  เพื่อเรียนหนังสือ  โดยทำสัญญาเช่ากันในวันที่  29  กุมภาพันธ์  2551  มีกำหนดระยะเวลาการเช่ากัน  1  ปี  ดังนี้อยากทราบว่า

ก.      สัญญาเช่าบ้านของนางสาวเก่งเรียนจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ข.      เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง  ปรากฏว่านางสาวเก่งเรียนจบการศึกษาพอดี  แต่นางสาวเก่งเรียนต้องการอยู่ต่อเพื่อรอรับพระราชทานปริญญาบัตร  นางสาวเก่งเรียนจึงขอเช่าบ้านนายสาครต่อออกไปอีก  1  เดือนครึ่ง  โดยนายสาครยินยอมและมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป  ระยะเวลาเช่าที่ขยายออกไปจะสิ้นสุดลงเมื่อใดหมายเหตุ  เดือนกุมภาพันธ์  ปี  พ.ศ. 2551  มี  29  วัน

ธงคำตอบ

มาตรา  193/3  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน  ให้เริ่มต้นนับในขณะที่เริ่มการนั้น

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน  สัปดาห์  เดือนหรือปี  มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน  เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานตามประเพณี

มาตรา  193/5  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์  เดือน  หรือปี  ให้คำนวณตามปีปฏิทิน

ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์  วันต้นแห่งเดือนหรือปี  ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์  เดือน  หรือปีสุดท้าย  อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น  ถ้าระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้น  ไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย  ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

มาตรา  193/6  ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นเดือนและวัน   หรือกำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือนให้นับจำนวนเดือนเต็มก่อน  แล้วจึงนับจำนวนวันหรือส่วนของเดือนเป็นวัน

ถ้าระยะเวลากำหนดเป็นส่วนของปี  ให้คำนวณส่วนของปีเป็นเดือนก่อนหากมีส่วนของเดือนให้นับส่วนของเดือนเป็นวัน

การคำนวณส่วนของเดือนตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง  ให้ถือว่าเดือนหนึ่งมีสามสิบวัน

มาตรา  193/7  ถ้ามีการขยายระยะเวลาออกไปโดยมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป  ให้นับวันที่ต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น

วินิจฉัย

(ก)  นางสาวเก่งเรียนนักศึกษาปี  3  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้ตกลงทำสัญญาเช่าบ้านกับนายสาคร  โดยทำสัญญาเช่ากันในวันที่  29  กุมภาพันธ์  2551  มีกำหนดระยะเวลาการเช่า  1  ปี  การเริ่มต้นนับระยะเวลามิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน  ให้เริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น  คือ  วันที่  1  มีนาคม  2551  ตามมาตรา  193/3  วรรคสองซึ่งวันที่  1  มีนาคม  2551  เป็นวันเริ่มนับมิใช่วันต้นแห่งปี  คือ  วันที่  1  มกราคม  2551    เพราะฉะนั้นกำหนดระยะเวลา  1  ปี  น่าจะสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงเดือนสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น  คือ  วันที่  29  กุมภาพันธ์  2552  ตามมาตรา  193/5  วรรคสอง  แต่เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ในปี  พ.ศ.  2552  มีเพียง   28  วันเท่านั้น  ดังนั้นวันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์คือ  วันที่  28  กุมภาพันธ์  2552  จึงเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเช่าบ้านของนางสาวเก่งเรียน  ตามาตรา  193/5  วรรคสองตอนท้าย

(ข)  เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง  แต่นางสาวเก่งเรียนได้ขอเช่าบ้านนายสาครต่อออกไปอีก  1  เดือนครึ่ง  โดยนายสาครยินยอมและมิได้มีการกำหนดวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลาที่ขยายออกไป  ระยะเวลาที่ขยายจึงต้องเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2552  อันเป็นวันต่อจากวันสุดท้ายของระยะเวลาเดิมเป็นวันเริ่มต้น  ตามมาตรา  193/7แต่เนื่องจากระยะเวลาการเช่าบ้านที่ขยายออกไปอีกเดือนครึ่งดังกล่าว  ถือว่าการขยายระยะเวลากรณีนี้เป็นระยะเวลาที่กำหนดเป็นเดือนและส่วนของเดือน  ดังนั้นการคำนวณระยะเวลาในกรณีนี้จึงต้องนับจำนวนเดือนเต็มก่อน  แล้วจึงนับส่วนของเดือนเป็นวันในภายหลัง  กล่าวคือ  ให้คำนวณระยะเวลาขยายออกไปอีก  1  เดือนเต็มก่อน  เมื่อวันที่เริ่มต้นนับคือวันที่  1  มีนาคม  2552  ตามาตรา  193/7  ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงตรงกับวันที่  31  มีนาคม  2552  ตามาตรา  193/5  วรรคแรก  หลังจากนั้นจึงจะนับส่วนของเดือน  คือ  ครึ่งเดือนซึ่งเท่ากับ  15  วัน  เพราะ  1  เดือนมี  30  วันเท่ากันหมด  ตามมาตรา  193/6  วรรคแรกและวรรคสาม  จึงต้องนับระยะเวลาต่อออกไปอีก  15  วัน  ระยะเวลาของสัญญาเช่าที่ขยายออกไปย่อมสิ้นสุดลงในวันที่  15  เมษายน  2552

ดังนั้นระยะเวลาการเช่าที่ขยายออกไปอีกเดือนครึ่งจึงสิ้นสุดลงในวันที่  15  เมษายน  2552

สรุป  (ก)  สัญญาเช่าบ้านของนางสาวเก่งเรียนจะสิ้นสุดลงในวันที่  28  กุมภาพันธ์  2552

(ข)  ระยะเวลาการเช่าที่ขยายออกไปอีกเดือนครึ่งสิ้นสุดลงในวันที่  15  เมษายน  2552 

 


ข้อ  4  นายอิ่มอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี  ได้โทรศัพท์ไปหานายอดเพื่อนสนิท  และนายอิ่มได้พูดเสนอขายรถยนต์  1  คัน  ให้นายอดในราคา  
400,000  บาท  ในระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์  แต่นายอดไม่ได้ตอบกลับมาทันทีว่าจะซื้อหรือไม่อย่างไร  นายอิ่มเห็นนายอดไม่สนใจรถยนต์ของตน  เมื่อกลับถึงบ้านนายอิ่มได้ส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์คันดังกล่าว  ให้นายอี๊ดซึ่งอยู่จังหวัดสมุทรสาครในราคาเท่ากัน  กับที่เสนอขายนายอด  โดยนายอิ่มได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่า  ถ้านายอี๊ดต้องการซื้อรถยนต์ของตน  ต้องสนองตอบกลับมาภายในวันที่  20  พฤษภาคม  2551  ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่กำหนดคือ  วันที่  20  พฤษภาคม  2551  แล้วนายอี๊ดก็มิได้สนองตอบกลับมาแต่อย่างใด  จะมีก็แต่จดหมายคำสนองของนายอดที่ตอบกลับมายังนายอิ่มว่าตนตกลงซื้อรถยนต์ของนายอิ่มที่เสนอขาย  ดังนี้อยากทราบว่า  ถ้านายอิ่มเปลี่ยนใจไม่ต้องการขายรถยนต์ของตนให้กับนายอดและนายอี๊ด  นายอิ่มจะทำได้หรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  354  คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น  ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายในระยะเวลาที่บ่งไว้

มาตรา  356  คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้า  โดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้นเสนอ  ณ  ที่ใดเวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่  ณ  ที่นั้นเวลานั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่งทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย

มาตรา  357  คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี  หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าวมาในมาตราทั้งสามก่อนนี้ก็ดี  คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป

มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง  หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

วินิจฉัย

กรณีแรก  การที่นายอิ่มซึ่งอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี  ได้โทรศัพท์ไปหานายอดเพื่อนสนิทและนายอิ่มได้พูดเสนอขายรถยนต์ให้นายอดระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์  ถือได้ว่านายอิ่มได้ทำคำเสนอต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าโดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง  ตามาตรา  356  ซึ่งสัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเป็นสัญญาขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนายอดได้ทำคำสนองกลับมาทันที  ณ  ที่นั้นเวลานั้น  แต่เนื่องจากว่านายอดผู้รับคำสนองมิได้ทำคำสนองกลับมาเป็นจดหมายในภายหลังนั้นก็ตาม  ก็หาทำให้คำเสนอที่สิ้นผลผูกพันไปแล้วกลับมามีผลอีกไม่  สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายอิ่มและนายอดก็หาอาจเป็นสัญญาได้ไม่  ดังนั้นนายอิ่มสามารถเปลี่ยนใจไม่ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้นายอดได้

กรณีที่สอง  การที่นายอิ่มส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์คันดังกล่าว  ให้นายอี๊ดซึ่งอยู่จังหวัดสมุทรสาคร  โดยนายอิ่มได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่า  ถ้านายอี๊ดต้องการซื้อรถยนต์ของตน  ต้องสนองตอบกลับมาภายในวันที่  20  พฤษภาคม  2551  ถือได้ว่านายอิ่มได้ทำคำเสนอต่อบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง  โดยได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง  ตามาตรา  354  ถ้านายอิ่มเปลี่ยนใจไม่ขายรถยนต์ของตน  นายอิ่มก็สามารถทำได้อยู่แล้วโดยผลทางกฎหมาย  กล่าวคือ  สัญญาซื้อขายรถยนต์ดังกล่าวจะเกิดเป็นสัญญาขึ้นได้ก็ต่อเมื่อนายอี๊ดได้ทำคำสนองกลับไปถึงนายอิ่มผู้ทำคำเสนอภายในระยะเวลาที่บ่งไว้คือ  ภายในวันที่  20  พฤษภาคม  2551  ตามมาตรา  360  แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่กำหนด  คือ  วันที่  20  พฤษภาคม  2551  แล้ว  นายอี๊ดก็มิได้ทำคำสนองกลับมาแต่อย่างใด  ดังนี้ถือได้ว่าคำเสนอของนายอิ่มเป็นอันสิ้นผลผูกพันนับแต่เวลาที่ นายอี๊ดผู้รับคำเสนอมิได้ทำคำสนองรับมาภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ดังกล่าวข้าง ต้น  ตามาตรา  357  สัญญาซื้อขายรถยนต์ระหว่างนายอิ่มและนายอี๊ดก็หาอาจเกิดเป็นสัญญาได้ไม่  ดังนั้น  นายอิ่มสามรถเปลี่ยนใจไม่ขายรถยนต์ของตนให้แก่นายอี๊ดได้  ตั้งแต่วันที่  20  พฤษภาคม  2551

สรุป  นายอิ่มสามารถเปลี่ยนใจไม่ขายรถยนต์ของตนให้กับนายอดและนายอี๊ดได้

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา 1/2551

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LW 203  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ 

ข้อ 1  ก. ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  ผู้แสดงเจตนาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  ตามหลักทั่วไป  การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใด

ข .นายสมบัติซึ่งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนซึ่งอยู่ในกรุงเทพ มหานครให้แก่นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคาห้าล้านบาท  หลังจากส่งจดหมายไปแล้ว  5  วัน

นายสมบัติถูกศาลแพ่งสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  นายอาทิตย์ได้ทราบข่าวว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  แต่อยากได้บ้านหลังนั้น  นายอาทิตย์จึงเขียนจดหมายส่งทางไปรษณีย์สนองตอบตกลงซื้อบ้านส่งไปให้นายสมบัติ  ณ  ที่อยู่ของนายสมบัติ  นางสมศรีซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายดังกล่าวไว้  ดังนี้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์เกิดขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 ก.      มาตรา  169  วรรคสอง  การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป  แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย  หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย  หลักกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นหลักทั่วไปของผลในกฎหมายกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า  เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว  หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา

(1) ตาย

(2) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  หรือ

(3) ถูกศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถกฎหมายบัญญัติไว้เป็นหลักทั่วไปว่า  การแสดงเจตานั้นไม่เสื่อมเสียไป  ยังคงมีผลสมบูรณ์

ข.      มาตรา  360  บทบัญญัติแห่งมาตรา  169  วรรคสองนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับ  ถ้าหากว่า…ก่อนจะสนองรับนั้น  คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่า  ผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถวินิจฉัย 

กรณีตามอุทาหรณ์  ปรากฏว่าก่อนที่นายอาทิตย์จะทำคำสนองตอบตกลงซื้อบ้านของนายสมบัติ  นายอาทิตย์ได้รู้อยู่แล้วว่านายสมบัติถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  กรณีต้องตามข้อยกเว้นในมาตรา  360  ซึ่งมิให้นำบทบัญญัติมาตรา  169  วรรคสอง  มาใช้บังคับ  จึงมีผลให้การแสดงเจตนาเสนอขายบ้านของนายสมบัติเป็นอันเสื่อมเสียไป

กรณีดังกล่าวนี้จึงไม่มีคำเสนอของนายสมบัติ  มีแต่เพียงคำสนองของนายอาทิตย์  ถึงแม้นางสมศรีผู้อนุบาลของนายสมบัติได้รับจดหมายำสนองของนายอาทิตย์ไว้  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์ก็ไม่เกิดขึ้น

สรุป  สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายสมบัติกับนายอาทิตย์ไม่เกิดขึ้น

 


ข้อ  2  เมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2541  นาย ก. คนไร้ความสามารถได้ให้แหวนเพชรหนัก  1  กะรัต แก่นาย ข. หลังจากนั้นอีก 6 ปี  นาย ก. หายจากอาการวิกลจริต  ผู้อนุบาลได้ร้องขอและศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้นาย ก. เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 31  จนกระทั่งเมื่อวันที่  1  ตุลาคม  2551  นาย ก.  จำได้ว่าตนได้ให้แหวนเพชรแก่นาย  ข.  ประสงค์จะบอกล้างโมฆียกรรมนี้   จึงมาปรึกษาให้ท่านแนะนำนาย ก. ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

มาตรา  179  วรรคสอง  บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ  จะให้สัตยาบันแก่โมฆียกรรมต่อเมื่อได้รู้เห็นซึ่งโมฆียกรรมนั้น  ภายหลังที่บุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

มาตรา  181  โมฆียะกรรมนั้น  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้หรือเมื่อพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น

วินิจฉัย

กำหนดการบอกล้างโมฆียะกรรม  ตามมาตรา  181  นั้น  จะบอกล้างมิได้เมื่อพ้นเวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้  ซึ่งกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น  ในกรณี นาย ก.  คนไร้ความสามารถคือ วันที่  1  ตุลาคม  2551  ซึ่งเป็นวันที่นาย ก.  ได้รู้เห็น(จำได้ว่า)  ซึ่งโมฆียกรรมนั้น  หลังจากที่ศาลได้สั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้วเมื่อประมาณ  4  ปี  ที่ผ่านมาตามมาตรา  179  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  เวลาหนึ่งปีนับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้นั้นต้องไม่เกดินเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะนั้น  ซึ่งในวันที่  1  ตุลาคม  2551  เป็นวันที่ครบสิบปีพอดี

ข้าพเจ้าจะแนะนำให้นาย  ก.  ต้องใช้สิทธิบอกล้างในวันที่  1  ตุลาคม  2551  ถ้าเกินกว่านั้นจะพ้นเวลาสิบปีนับแต่ได้ทำโมฆียะกรรมขึ้น

สรุป  นาย ก.  ต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในวันที่  1  ตุลาคม  2551

 


ข้อ 3  เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์  2548  นายเฉลิมได้ซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากร้านของนายเกษม  จำนวน 3 เครื่องเป็นเงิน  250,000  บาท  โดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  มีนาคม  2548  เมื่อหนี้ถึงกำหนดนายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระ  นายเกษมได้ทวงถามตลอดมา  จนกระทั่งวันที่  1  มีนาคม  2550  ซึ่งเหลือเวลาอีก  9  วันจะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลเรียกเงินค่าซื้อของเชื่อ  ต่อมาวันที่  7  มีนาคม  2550  นายเฉลิมได้ไปขอร้องให้นายเกษมถอนฟ้องและได้ทำหนังสือให้นายเกษมไว้  1  ฉบับ  มีใจความยอมรับว่าเป็นหนี้นายเกษมจริงและจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  เมษายน  2550  นายเกษมจึงไปถอนฟ้องคดีครั้นถึงกำหนดนายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระให้ตามที่ตกลงกันไว้  นายเกษมจึงได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  30  กันยายน  2551  นายเฉลิมต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  เพราะนายเกษมถอนฟ้องอายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง  

ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้  ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(1) ผู้ประกอบการค้า…เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบธงคำตอบ

มาตรา  193/14  อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้…

(2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดี… เพื่อให้ชำระหนี้มาตรา  193/17  วรรคแรก  ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามาตรา 193/14(2)  หากคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง…  ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  นายเฉลิมได้ซื้อเชื่อเครื่องปรับอากาศจากร้านของนายเกษมเป็นเงินจำนวน  250,000  บาท  โดยตกลงจะนำเงินมาชำระให้ในวันที่  10  มีนาคม  2548  เมื่อหนี้ถึงกำหนด  นายเฉลิมไม่นำเงินมาชำระจนกระทั่งวันที่  1  มีนาคม  2550  ซึ่งเหลือเวลาอีก  9  วัน  จะครบกำหนดอายุความ  2  ปี  ตามมาตรา  193/34(1)  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลจึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา  193/14(2)  แต่ปรากฏว่า  คดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะนายเกษมไปถอนฟ้องคดีให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา 193/17  วรรคแรก  อายุความจึงนับต่อไป  ในวันที่ 7  มีนาคม  2550  นายเกษมได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่นายเกษม  1  ฉบับ  จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง  ตามมาตรา  193/14(1)  อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่  7  มีนาคม  2550  และจะครบ  2  ปี  ในวันที่  7  มีนาคม  2552  นายเกษมได้นำคดีมาฟ้องศาลในวันที่  30  กันยายน  2551  คดีจึงไม่ขาดอายุความ

สรุป  นายเฉลิมต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  เพราะนายเกษมถอนฟ้องอายุความจึงไม่สะดุดหยุดลง  ข้อต่อสู้ของนายเฉลิมจึงฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ  4  นายอู่ทองตกลงขายรถยนต์กระบะคันหนึ่งให้แก่นายพิชัย  
800,000 บาท  โดยนายพิชัยได้ชำระเงินค่ารถยนต์เป็นเงินสด  จำนวน  200,000  บาท  ในวันทำสัญญานายอู่ทองได้ส่งมอบรถยนต์กระบะคันดังกล่าวซึ่งตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้แก่นายพิชัยแล้ว  แต่เนื่องจากรถยนต์กระบะของนายอู่ทองยังผ่อนชำระกับนายดุสิตไม่หมด   นายอู่ทองจึงยังไม่ได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวจากนายดุสิตแต่อย่างใด  ทั้งสองฝ่ายจึงตกลงกำหนดเงื่อนไขให้กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังนายพิชัยจนกว่านายอู่ทองจะผ่อนชำระราคารถยนต์กับนายดุสิตจนหมด  และได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะเรียบร้อยแล้ว  

ในระหว่างนั้นปรากฏว่า  ได้เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณชุมชนใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชัย  แล้วเพลิงได้ลุกลามมาไหม้บ้านของนายพิชัยเสียหายหมดทั้งหลัง  รวมทั้งรถยนต์กระบะที่นายพิชัยได้รับมอบไว้ด้วย  จนรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไม่สามารถใช้การได้เลย

ดังนี้  นายอู่ทองจะมีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคารถยนต์กระบะส่วนที่เหลือให้แก่นายอู่ทองหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  370  วรรคแรก  ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพย์ สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่าง หนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้  ท่านว่า  การสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

มาตรา  371  วรรคแรก  บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนี้  ท่าน มิให้ใช้บังคับถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทนมีเงื่อนไขบังคับก่อนและทรัพย์อันเป็น วัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไขยังไม่สำเร็จ

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์  การทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างนายอู่ทองและนายพิชัยเป็นการทำ สัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์สิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่ง  เมื่อ ปรากฏว่ารถยนต์ที่นายพิชัยได้ครอบครองไว้ถูกไฟไหม้เสียหายหมดโดยไฟลุกลามมา จากชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านของนายพิชัยด้วยเหตุอันโทษใครไม่ได้  ก่อนที่นายอู่ทองจะผ่อนชำระราคารถยนต์กับนายดุสิตจนหมด  และได้รับโอนทะเบียนรถยนต์กระบะเรียบร้อยแล้ว  ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ทรัพย์นั้นสูญหรือถูกทำลายลงในระหว่างเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ  กรณีนี้จะนำบทบัญญัติของมาตรา  370  มาใช้บังคับไม่ได้  การสูญหรือเสียหายนั้นหาตกเป็นพับแก่นายพิชัยหรือเจ้าหนี้ไม่

หากแต่นายอู่ทองลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายต้องเป็นผู้รับผลแห่งภัยพิบัติเอง  นายอู่ทองจึงหามีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคาค่ารถยนต์กระบะส่วนที่เหลืออยู่ได้ไม่  ตามมาตรา  371  วรรคแรก  อีกทั้งกรณีนี้ไม่จำต้องอ้างมาตรา  372  ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนอื่นด้วย

สรุป  นายอู่ทองไม่มีสิทธิเรียกให้นายพิชัยชำระราคารถยนต์กระบะส่วนที่เหลือให้แก่นายอู่ทอง

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญาภาค 2/2551

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อข้อ 1.  ก . การแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถมีผลในกฎหมายประการใด ให้อธิบายโดยสังเขป

ข . นายแดงทำสัญญาเช่าบ้านของนางเหลืองมีกำหนด 2 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 8,000 บาท หลังจากเช่าได้ 7 เดือน นายแดงวิกลจริตและถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและไม่ได้ชำระค่าเช่าให้ แก่นางเหลืองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นางเหลืองได้ส่งจดหมายเตือนให้นายแดงชำระค่าเช่าแต่นายแดงก็ยังไม่นำค่าเช่า มาชำระ นางเหลืองจึงบอกเลิกสัญญาไปยังนายแดง

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าใน ระหว่างที่นายเขียวซึ่งเป็นผู้อนุบาลของนายแดงเดินทางไปต่างประเทศ ไม่รู้เรื่องที่นางเหลืองบอกเลิกสัญญาไปยังนายแดง ดังนี้ การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นางเหลืองได้บอกกล่าวไปยังนายแดงมีผลในกฎหมายอย่างไร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

 หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

ก.      อธิบาย

กรณีการแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถ หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้บกพร่องในความสามารถได้แสดงเจตนาต่อบุคคลภายนอกไม่ ผู้บกพร่องในความสามารถในที่นี้ได้แก่ ผู้เยาว์ซึ่งมีผู้แทนโดยชอบธรรมคุ้มครองดูแล คนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้อนุบาลคุ้มครองดูแล และคนเสมือนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้พิทักษ์คุ้มครองดูแล

หลักทั่วไป ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้น ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามรถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้

ข้อยกเว้น ผู้แสดงเจตนาสามารถยกเอาการแสดงเจตนาขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้

1.        ผู้คุ้มครองดูแลผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์) แล้วแต่กรณี ได้รู้ถึงการแสดงเจตนานั้นด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว (มาตรา 170 วรรคแรก)  หรือ

2.        การแสดงเจตนานั้น กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง ตามมาตรา 170 วรรคสอง (สังเกตว่า กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติรวมถึงคนไร้ความสามารถ เพราะคนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมได้เองโดยลำพัง)

ข . วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นางเหลืองบอกกล่าวไปยังนายแดงมีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เห็นว่า ในขณะที่นางเหลืองแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านไปยังนายแดงซึ่งเป็นคนไร้ ความสามารถ โดยนายเขียวผู้อนุบาลได้เดินทางไปต่างประเทศและไม่ทราบการเลิกสัญญาดังกล่าว กรณีเช่นนี้ถือเป็นการแสดงงเจตนาต่อคนไร้ความสามารถโดยผู้อนุบาลไม่ได้รู้ ด้วยหรือได้ไห้ความยินยอมไว้ก่อน กรณีจึงต้องตามหลักทั่วไปของการแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถที่ผู้ แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้  ตามมาตรา  170  วรรคแรก

ดังนั้น  การที่นางเหลืองบอกเลิกสัญญาเช่า  โดยบอกกล่าวไปยังนายแดงคนไร้ความสามารถโดยผู้อนุบาลไม่ได้รู้ด้วยหรือมิได้ให้ความยินยอมไว้ก่อน  มีผลในทางกฎหมายคือ  นางเหลืองจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายแดงไม่ได้

สรุป  ผลทางกฎหมาย คือ นางเหลืองจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายแดงคนไร้ความสามารถไม่ได้

 


ข้อ 2.  กรณีโมฆียะกรรมได้กระทำขึ้นโดยคนไร้ความสามรถนั้น ถามว่าใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นในทุกกรณี อธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 175 โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

(2 ) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีแต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้น จาการเป็นคนเสมือนไร้ความสามรถก็ได้ถ้าได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์

ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

อธิบาย

การบอกล้างโมฆียะกรรม” คือ การแสดงเจตนาทำลายโมฆียะกรรมให้กลายเป็นโมฆะกรรมย้อนหลังไปถึงวันเวลาที่ทำนิติกรรมนั้น

กรณีโมฆียะกรรมได้ทำขึ้นโดยคนไร้ความสามารถ ผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น ได้แก่

1. คนไร้ความสามารถ แต่จะทำการบอกล้างโมฆียะกรรมได้ต่อเมื่อได้พ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถแล้ว

2. ผู้อนุบาล เนื่องจากคนไร้ความสามารถอยู่ในความดูแลของผู้อนุบาล

3.  ทายาทของคนไร้ความสามารถ ในกรณีที่ผู้ไร้ความสามารถได้ถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ตามมาตรา 175 วรรคสอง ที่ว่า ถ้าบุคคลผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้” แต่ถ้าผู้ไร้ความสามารถยังมีชีวิตอยู่ทายาทจะไม่มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมเลย เว้นแต่ ทายาทนั้นมีฐานะเป็นผู้อนุบาลด้วย

 


ข้อ 3.  นายแดงได้ทำบัตรเครดิตกับธนาคารสยามไทย จำกัด จำนวน 1 ใบ ธนาคารกำหนดเงิน  50,000 บาทในเดือนกันยายน 2549 นายแดงได้นำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้ารวมเป็นเงินทั้งสิ้น 35,000 บาท ธนาคารฯ กำหนดให้นายแดงนำเงินไปชำระภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ถ้าชำระภายในกำหนดนายแดงไม่ต้องเสียดอกเบี้ย แต่พอถึงกำหนดนายแดงไม่นำเงินไปชำระให้แก่ธนาคาร ธนาคารได้มีหนังสือทวงถามมาหลายครั้ง  แต่นายแดงก็ไม่นำเงินไปชำระ

จนกระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเหลือเวลา 9 วัน จะครบกำหนดอายุความ 2 ปี นายแดงได้นำเงินไปชำระโดยผ่านเครื่องรับชำระเงินเป็นจำนวน 2,000 บาท หลังจากนั้นนายแดงมิได้นำเงินไปชำระให้ธนาคารฯ อีกเลย ต่อมาธนาคารฯได้นำคดีมาฟ้องศาลเรียกทั้งเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยในวันที่  2  มีนาคม  2552  นายแดงต่อสู้ว่าขาดอายุความแล้ว ธนาคารฯ อ้างว่ายังไม่ขาดเพราะอายุความสะดุดหยุดลงในวันที่  1  ตุลาคม  2551  ดังนี้  อยากทราบว่าข้ออ้างของธนาคารฯ ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใดหมายเหตุ   ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(7) บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่น… เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้  ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

มาตรา  193/34  สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี

(7)  บุคคลซึ่งมิได้เข้าอยู่ในประเภทที่ระบุไว้ใน (1) แต่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข้ออ้างของธนาคารฯ ที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงนั้น ฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า นายแดงได้ทำบัตรเครดิตไว้กับธนาคารฯ และธนาคารฯได้กำหนดวงเงิน 50,000 บาท และกำหนดให้นายแดงนำเงินไปชำระภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 การที่นายแดงได้นำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าและบริการรวมทั้งสิ้น 35,000 บาท  กรณีเช่นนี้ถือว่านายแดงเป็นหนี้ธนาคารฯ  อยู่เพียง  35,000  บาทเท่านั้น  แม้บัตรเครดิตจะกำหนดวงเงินไว้ถึง  50,000  บาท  ก็เป็นเพียงแต่การจำกัดมิให้นายแดงใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าและบริการเกินไปกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ในการให้สินเชื่อบัตรเครดิตเท่านั้น หามีผลทำให้นายแดงเป็นหนี้ธนาคาร 50,000 บาท แต่อย่างใด

เมื่อ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดชำระหนี้ นายแดงไม่ได้นำเงินไปชำระให้แก่ธนาคารฯ เช่นนี้สิทธิเรียกร้องของธนาคารย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป อายุความก็เริ่มนับตั้งแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องเป็นต้นไปเช่นเดียวกัน ตามมาตรา 193/12 โดยเริ่มนับในวันรุ่งขึ้นคือ วันที่ 11 ตุลาคม 2549 ส่วนกำหนดอายุความนั้น กรณีธนาคารฯ เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับการทำการงานต่างๆ โดยให้ลูกค้านำบัตรเครดิตไปใช้ซื้อสินค้าได้ก่อนแล้วธนาคารฯ  จะมาเรียกเก็บเงินจากลูกค้าในภายหลังถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองจ่ายไปก่อน สิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ ในกรณีนี้มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34(7) ดังนั้นอายุความตามสิทธิเรียกร้องของธนาคารฯ จึงจะครบกำหนดในวันที่ 10 ตุลาคม 2551 (ฏ.1517/2550)

แต่ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเหลือเวลาอีก 9 วันจะครบกำหนดอายุความ 2 ปีดังกล่าว  นายแดงได้นำเงินไปชำระโดยผ่านเครื่องชำระเงินเป็นจำนวน 2000 บาท และหลังจากนั้นนายแดงก็มิได้นำเงินไปชำระให้ธนาคารฯ อีกเลย จึงเป็นกรณีที่นายแดงชำระเงินให้ธนาคารเจ้าหนี้แต่เพียงบางส่วน อันถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้ว ตามมาตรา 193/14(1) อายุความสะดุดหยุดลง และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ แต่ให้นับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น กรณีนี้จึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่เท่าอายุความเดิม 2 ปี ตามมาตรา 193/34(7) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นวันที่อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/15

ดังนั้นเมื่อธนาคารฯ นำคดีมาฟ้องในวันที่ 2 มีนาคม 2552 ซึ่งยังไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2551  คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ ข้ออ้างของธนาคารฯ ที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความเพราะอายุความสะดุดหยุดลงแล้วจึงฟังขึ้น (ฎ. 8801/2550)

สรุป  ข้ออ้างของธนาคารฯ ฟังขึ้น

 

ข้อ 4.    ก.  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนไว้        อย่างไร อธิบายโดยสังเขป

ข . บริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนตกลงขายไม้ฟืน จำนวน 1 ต้น แก่นายสักราคา 800,000 บาท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ทั้งสองฝ่ายกำหนดเวลาชำระราคาไม้ฟืนและกำหนดส่งมอบไม้ฟืนกันในวันที่ 19 มีนาคม 2552 แต่เมื่อถึงวันที่ 4 มีนาคม 2552 บริษัทโกงกางค้าค้าไม้ จำกัด ได้รับคำสั่งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนที่จะตัดไม้ฟืนเพื่อส่งมอบให้นายสักนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง ซึ่ง ณ เวลานั้นบริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด  ยังไม่ได้เริ่มทำการตัดฟันไม้ฟืนในป่าชายเลนแต่อย่างใด  จึงเป็นเหตุให้บริษัทโกงกางค้าไม้  จำกัด ไม่สามารถส่งมอบไม้ฟืนที่ซื้อขายให้แก่นายสักได้

ดังนี้  บริษัทโกงกางค้าไม้ จำกัด มีสิทธิเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง

จะชำระหนี้หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด

มาตรา 372 วรรคแรก นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้  ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่

ก.      อธิบาย

สัญญาต่างตอบแทน” คือ สัญญาที่ก่อให้เกิดหนี้ทำให้คู่สัญญาต่างมีหนี้ที่ต้องชำระตอบแทนกัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นสัญญาที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกันนั่นเอง เช่น สัญญาซื้อขาย ผู้ขายย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขาย และผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระราคาตอบแทนเป็นต้น

สำหรับหลักเกณฑ์การชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทน มีดังนี้

หลักทั่วไป คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ กล่าวคือ คู่สัญญาในสัญญาต่างตอบแทนต้องชำระหนี้ตอบแทนกันในขณะเดียวกันในเมื่อถึงกำหนดชำระแล้วพร้อมกัน ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้และไม่เสนอที่จะชำระหนี้ของตนตามข้อผูกพันในสัญญา  คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอาจปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ตอบแทนก็ได้

ตัวอย่าง ก. ตกลงซื้อรถยนต์จาก ข. 1  คัน เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ก. เรียกให้ ข. ส่งมอบรถยนต์ให้แก่ตน แต่ยังไม่ยอมชำระราคารถยนต์ให้ ข. เช่นนี้ ข. อาจปฏิเสธไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ ก. จนกว่าจะได้ชำระราคาจาก ก. ก็ได้

ข้อยกเว้น แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด กล่าวคือ ในกรณีที่สัญญาต่างตอบแทนใดมีข้อกำหนดเงื่อนไขเวลาการชำระหนี้ ซึ่งมีผลให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้รับประโยชน์จากเงื่อนไขเวลา  คือ ยังไม่ต้องชำระหนี้ตอบแทนในทันทีที่ทำสัญญากัน แต่จะต้องชำระเมื่อถึงกำหนดเวลาที่กำหนดไว้และเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนถึงที่กำหนดไว้ไม่ได้

ตัวอย่าง ก. ตกลงซื้อรถยนต์จาก ข. ในราคา 50,000 บาท โดยมีข้อตกลงกันว่า ข. ยอมให้ ก. ผ่อนชำระราคาเป็นรายเดือนๆ ละ 5,000 บาท มีกำหนด 10 เดือน เช่นนี้เป็นกรณีที่สัญญาต่างตอบแทนมีข้อกำหนดเงื่อนเวลาในการชำระราคารถยนต์  ดังนั้น  ข  องส่งรถยนต์ให้  ก  ในทันที  เพราะหนี้ของ  ข  ถึงกำหนดชำระแล้ว  แต่ ก. ยังไม่ต้องชำระราคาทั้งหมดให้ ข. ในทันทีแต่ต้องชำระให้เป็นรายเดือนตามที่ตกลงกันไว้  ถ้า ข. เรียกให้ ก. ชำระราคารถยนต์ทั้งหมดในทันที ก. ย่อมปฏิเสธได้ (ตามมาตรา 369 ตอนท้าย)

ข.      วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า บริษัทฯ มีสิทธิเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบไม้ฟืนให้แก่นายสักได้ เพราะได้รับคำสั่งจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้สัมปทานทำไม้ในเขตป่าชายเลนที่จะตัดไม้ฟืนเพื่อส่งมอบให้นายสักนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง ทำให้การชำระหนี้ที่บริษัทฯ จะส่งไม้ฟืนให้แก่นายสักเป็นไปไม่ได้

การชำระหนี้ของบริษัทฯ (การส่งไม้)จึงตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ และสัญญาการซื้อขายไม้ฟืนที่บริษัทฯ ทำกับนายสักนั้นมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งคู่สัญญามีหนี้ที่จะต้องชำระตอบแทนกัน ดังนั้นเมื่อบริษัทฯไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่นายสักได้ (ส่งมอบไม้ฟืน) บริษัทฯ  ก็หามีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตอบแทนจากนายสักดุจเดียวกัน  ตามมาตรา  369  ประกอบมาตรา  372  วรรคแรก  บริษัทฯ จึงเรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนไม่ได้ (ฎ. 149/2539)

สรุป   บริษัทฯ เรียกให้นายสักชำระราคาไม้ฟืนไม่ได้

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาคฤดูร้อน/2551

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551

 ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 

 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (ข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.  

ก . การแสดงเจตนาซึ่งกระทำต่อผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถมีผลในกฎหมายอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป

ข . นายสุเทพซึ่งมีอายุ 18 ปี ทำสัญญาเช่าบ้านของนายสุธรรมซึ่งมีอายุ 45 ปี มีกำหนดเวลา 2 ปี ค่าเช่าเดือนละ 5, 000 บาท โดยนายสุทินบิดาของนายสุเทพได้รู้เห็นยินยอมด้วย หลังจากเช่าได้ 6 เดือนนายสุเทพไม่ชำระค่าเช่า นายสุธรรมได้บอกกล่าวตักเตือนให้นายสุเทพชำระค่าเช่า แต่นายสุเทพก็ยังไม่นำค่าเช่ามาชำระให้แก่นายสุธรรม นายสุธรรมจึงบอกเลิกสัญญาเช่าไปยังนายสุเทพ

หากปรากฏว่าในขณะที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่านั้น นายสุทินบิดาของนายสุเทพเดินทางไปต่างจังหวัดไม่รู้ถึงการที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าว เช่นนี้ การบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านที่นายสุธรรมกระทำต่อนายสุเทพมีผลในกฎหมายอย่างไรหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 170 การแสดงเจตนาซึ่งมีต่อผู้เยาว์ หรือผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ เว้นแต่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณีของผู้รับการแสดงเจตนานั้นได้รู้ด้วย หรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับ ถ้าการแสดงเจตนานั้นเกี่ยวกับการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์หรือคนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง

ก . อธิบาย

 กรณีการแสดงเจตนาต่อผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

เป็นกรณีที่บุคคลภายนอกมาแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถ หาใช่เป็นเรื่องที่ผู้บกพร่องในความสามารถได้แสดงเจตนาต่อบุคคลภายนอกไม่ ผู้บกพร่องในความสามารถในที่นี้ได้แก่ ผู้เยาว์ซึ่งมีผู้แทนโดยชอบธรรมคุ้มครองดูแล คนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้อนุบาลคุ้มครองดูแล และคนเสือนไร้ความสามารถซึ่งมีผู้พิทักษ์คุ้มครองดูแล

หลักทั่วไป   ผู้แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้น ขึ้นเพื่อเป็นข้อต่อสู้ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถนั้นไม่ได้

 ข้อยกเว้น   ผู้แสดงเจตนาสามารถยกเอาการแสดงเจตนาขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาได้ถ้าเป็นกรณีต่อไปนี้

1.             ผู้คุ้มครองดูแลผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (ได้แก่ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์) แล้วแต่กรณี ได้รู้ถึงการแสดงเจตนานั้นด้วยหรือได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนแล้ว (มาตรา 170 วรรคแรก) หรือ

2.             การแสดงเจตนานั้น กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำได้เองโดยลำพัง ตามมาตรา 170 วรรคสอง (สังเกตว่า กรณีนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติรวมถึงคนไร้ความสามารถ เพราะคนไร้ความสามารถไม่อาจทำนิติกรรมได้เองโดยลำพัง)

ข . วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นวินิจฉัยมีว่า การบอกเลิกสัญญาเช่าที่นายสุธรรมบอกล่าวไปยังนายสุเทพผู้เยาว์มีผลในทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร  เห็นว่า ในขณะที่นายสุธรรมแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านไปยังนายสุเทพซึ่งเป็นผู้ เยาว์ โดยนายสุทินผู้แทนโดยชอบธรรมของนายสุเทพมิได้รู้ด้วยหรือให้ความยินยอมไว้ ก่อนแต่อย่างใด และเรื่องมิใช่กิจการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เยาว์กระทำได้เองโดยลำพัง กรณีจึงต้องตามหลักทั่วไปของการแสดงเจตนาต่อผู้บกพร่องในความสามารถที่ผู้ แสดงเจตนาจะยกเอาการแสดงเจตนานั้นขึ้นมาต่อสู้กับผู้รับการแสดงเจตนาไม่ได้ ตามมาตรา 170 วรรคแรก

ดังนั้น การที่นายสุธรรมบอกเลิกสัญญาเช่าโดยบอกกล่าวไปยังนายสุเทพโดยผู้แทนชอบธรรมของนายสุเทพมิได้รู้ด้วยหรือให้ความยินยอมไว้ก่อน มีผลในทางกฎหมาย คือ นายสุธรรมจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้หรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากนายสุเทพไม่ได้

สรุป  ผลทางกฎหมาย คือ นายสุธรรมจะยกเอาการบอกเลิกสัญญาเช่าบ้านขึ้นต่อสู้นายสุเทพผู้เยาว์ไม่ได้

 


ข้อ 
2.   นายวิชิตเดินหาซื้อแจกันลายครามในร้านของนายวิชัย เห็นแจกันลายครามโบราณใบหนึ่งในร้าน  นายวิชิตต้องการซื้อแจกันใบนั้น จึงถามนายวิชัยว่า แจกันใบนี้ราคาเท่าไร มีตำหนิหรือไม่” นายวิชัยตอบว่า แจกันใบนี้ไม่มีตำหนิเลย สวยงาม ราคา 10,000 บาท” นายวิชิตหลงเชื่อตามคำตอบของนายวิชัยว่าแจกันใบนั้นไม่มีตำหนิ จึงต่อรองราคา ในที่สุดได้ตกลงซื้อแจกันใบนั้นราคา 8,000 บาท เมื่อนายวิชิตกลับถึงบ้าน ได้ตรวจดูแจกันใบนั้นอย่างละเอียด 

จึงพบว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าวเล็กน้อยซึ่งมองเห็นด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่า ถึงแม้ว่านายวิชิตรู้ว่าแจกันใบนี้มีรอยร้าวเล็กน้อยเช่นนั้น นายวิชิตก็ซื้อ แต่จะซื้อในราคาเพียง 5,000 บาท ซึ่งเป็นราคาในท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันที่มีรอยร้าวเล็กน้อยเช่นนั้น ในกรณีดังกล่าวนี้ นายวิชิตจะบอกล้างนิติกรรมซื้อขายแจกันนั้น หรือเรียกร้องอะไรจากนายวิชัยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามมาตราประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 161 ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่กรณีฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายนั้นจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายวิชิตได้สอบถามนายวิชัยผู้ขายว่าแจกันใบนี้มีตำหนิหรือไม่ นายวิชัยตอบว่าไม่มีตำหนิ นายวิชิตหลงเชื่อคำตอบของนายวิชัยว่าแจกันใบนี้ไม่มีตำหนิ จึงได้ตกลงซื้อแจกันใบนั้น ในราคา 8,000 บาท กรณีเช่นนี้ ถือว่านายวิชัยผู้ขายแจกันทำกลฉ้อฉลลวงนายวิชิตผู้ซื้อแจกัน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายวิชิตกลับถึงบ้านได้ตรวจดูแจกันใบนั้นอย่างละเอียด และพบว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าวเล็กน้อยซึ่งมองด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็น แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายวิชิตรู้ว่าแจกันใบนั้นมีรอยร้าว นายวิชิตก็ยังคงซื้อแจกันใบนั้นอยู่ดี แต่จะซื้อในราคาท้องตลาดทั่วไปสำหรับแจกันชนิดนั้นที่มีรอยร้าวเช่นนั้น คือ 5,000  บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาที่นายวิชิตได้ตกลงซื้อไปเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล คือ 8,000 บาท กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่นายวิชิตแสดงเจตนาทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉล แต่กลฉ้อฉลของวิชัยมิได้ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลเช่นนั้น นายวิชัยจะไม่ซื้อแจกันจากนายวิชัย เป็นแต่เพียงเหตุจูงใจให้ยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายวิชิตจะยอมรับโดยปกติเท่านั้น ดังนั้น นายวิชิตจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันนั้นเสียทีเดียวหาได้ไม่ แต่นายวิชิตชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อแลนั้นได้ ซึ่งได้แก่จำนวนเงินที่นายวิชิตต้องจ่ายเกินไปกว่าราคาอันแท้จริงในขณะนั้นคือ 3,000 บาท ทั้งนี้มาตรา 161 (ฎ. 1559/2524)

 สรุป  นายวิชิตจะบอกล้างสัญญาซื้อขายแจกันไม่ได้ แต่นายวิชิตชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากกลฉ้อแลนั้นได้ เป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท

 


ข้อ 
3.   นายสมบูรณ์ซื้อสินค้าหลายอย่างไปจากร้านของนายกิมแช รวมทั้งหมดเป็นเงิน 45,000 บาท กำหนดชำระเงินราคาสินค้าดังกล่าวภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ซื้อ เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน นายสมบูรณ์ไม่ชำระเงินให้แก่นายกิมแช ต่อมาอีก 3 เดือน นายสมบูรณ์ก็ยังคงเพิกเฉย ไม่นำเงินไปชำระให้แก่นายกิมแช นายกิมแชจึงมอบอำนาจให้นายพิทักษ์ซึ่งเป็นทนายความติดตามทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้ 

นายพิทักษ์ได้ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้ เมื่อนายสมบูรณ์ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากทนายความของนายกิมแช นายสมบูรณ์จึงไปพบนายกิมแช และพูดรับรองว่าตนเป็นลูกหนี้ค่าซื้อสินค้าไปจากนายกิมแชเป็นเงิน 45,000 บาทจริงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีเงินที่จะนำมาชำระ ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ออกไปอีก 6 เดือน เช่นนี้การกระทำของนายสมบูรณ์เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือ รับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียก ร้อง

(5)  เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับฟ้องคดี

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิทักษ์ทนายความของนายกิมแชได้ทำหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้นายสมบูรณ์ชำระหนี้ กรณีเช่นนี้ ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง เพราะมิใช่เป็นการกระทำอันมีผลเป็นอย่างเดียวกับการฟ้องคดี ตามาตรา 193/14(5)

 แต่เมื่อนายสมบูรณ์ได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามจากทนายความของนายกิมแชแล้ว นายสมบูรณ์จึงไปพบนายกิมแชแล้วพูดรับรองว่า ตนเป็นลูกหนี้ค่าซื้อสินค้าไปจากนายกิมแชเป็นเงิน 45,000 บาทจริง แต่ในขณะนี้ยังไม่มีเงินที่จะนำมาชำระ ขอผัดผ่อนการชำระออกไปอีก 6 เดือน ” ดังนี้ปัญหาจึงมีว่า การกระทำของนายสมบูรณ์เช่นนี้ถือเป็นการรับสภาพอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือไม่ เห็นว่า หากถือว่าการรับสภาพหนี้อาจทำได้ด้วยวาจา ย่อมไม่มีประโยชน์อันใดที่มาตรา 193/14(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะบัญญัติในข้อความตอนต้นว่า ลูกหนี้อาจรับสภาพหนี้ด้วยการทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การที่นายสมบูรณ์ได้ขอผัดชำระหนี้ด้วยวาจาหรือยอมรับด้วยวาจาว่าจะชำระหนี้ ให้แก่นายกิมแชนั้น ยังไม่ถือว่านายสมบูรณ์ได้รับสภาพหนี้ต่อนายกิมแชเจ้าหนี้อันจะทำให้อายุ ความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด เนื่องจากนายสมบูรณ์มิได้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นหนังสือและถือไม่ได้ เป็นการกระทำอันปราศจากข้อสงสัยให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิ เรียกร้องตามมาตรา 193/14(1) (ฎ. 1006/2525  ฎ.539/2526)

สรุป   การกระทำของนายสมบูรณ์ไม่ถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง

 


ข้อ 4.  เมื่อวันที่  1 มีนาคม 2552  นายอาทิตย์ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ส่งจดหมายเสนอขายบ้านหลังหนึ่งของตนไปยังนางจันทราซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ในราคา 3 ล้านบาท โดยนายอาทิตย์ได้กำหนดไปในจดหมายด้วยว่าถ้านางจันทราต้องการซื้อบ้านหลังนี้ ให้ตอบไปยังนายอาทิตย์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2552 นางจันทราส่งจดหมายตอบตกลงซื้อบ้านหลังนั้นตามราคาที่นายอาทิตย์เสนอ แต่จดหมายของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ในวันที่ 5 เมษายน 2552

อย่างไรก็ตามเมื่อดูตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายของนางจันทราแล้ว เป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งว่านางจันทราได้ส่งจดหมายตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2552 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายในวันที่ 21 มีนาคม 2552 ตามที่นายอาทิตย์กำหนด

เช่นนี้ จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านที่นางจันทราส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 358 ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติ ควรจะมาถึงภายในเวลาที่กำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะบอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดั่งว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คำสนองของนางจันทราไปถึงนายอาทิตย์ล่าช้ากว่าเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้ แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านางจันทราส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะไปถึงนายอาทิตย์ก่อนหรือภายหลังในวันที่ 31 มีนาคม 2552 อันเป็นเวลาที่นายอาทิตย์กำหนดไว้ ในกรณีเช่นนี้ คำสนองของนางจันทราจะเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่านายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้กฎหมายกำหนดหน้าที่ของผู้เสนอไว้ว่าผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่ผู้สนองโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้าเว้นแต่ จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น

1. ถ้านายอาทิตย์ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายจึงจะถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทราเป็นคำสนองล่วงเวลา

2. แต่นายอาทิตย์ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว กฎหมายให้ถือว่าจดหมายคำสนองของนางจันทร์เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งมีผลให้สัญญาซื้อขายบ้านระหว่างนายอาทิตย์กับนางจันทราเกิดขึ้น

สรุป จดหมายตอบตกลงซื้อบ้านของนางจันทราที่ส่งไปยังนายอาทิตย์เป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า นายอาทิตย์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ตามมาตรา 358

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาค 1/2552

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 (LA 103) (LW 203)

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)ข้อ 1.   

ก.  ในกรณีแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่ต่อหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนาตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ตามหลักทั่วไป การแสดงเจตนานั้นมีผลในกฎหมายประการใดให้อธิบายโดยสังเขป

ข. นายพิชิตป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ส่งจดหมายโดยทางไปรษณีย์เสนอขายรถยนต์คันหนึ่งคันหนึ่งของตนให้แก่นายพิชิตซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาในราคาสามแสนบาท โดยนายพิชิตได้ระบุไปในจดหมายคำเสนอนั้นด้วยว่า  ข้อเสนอมีผลในระหว่างที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่เท่านั้น” หลังจากที่นายพิชิตส่งจดหมายฉบับนั้นไปได้ 7 วัน นายพิชิตถึงแก่ความตาย เช่นนี้ การแสดงเจตนาเสนอขายรถยนต์ของนายพิชิตมีผลในกฎหมายประการใด เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อเสียไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้น ผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

อธิบาย

หลักกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นหลักทั่วไปของผลในทางกำหมาย ในกรณีแสดงเจตนาต่อกฎหมายซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า เมื่อผู้แสดงเจตนาได้ส่งการแสดงเจตนาไปแล้ว หลังจากนั้นผู้แสดงเจตนา

1.       ตายหรือ

2.       ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือ

3.       ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ

กฎหมายบัญญัติไวเป็นหลักทั่วไปว่าการแสดงเจตนานั้นไม่เสื่อมเสียไป เมื่อการแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับ ก็มีผลตามมาตรา 169 วรรคแรก     

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 360 บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกันเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายพิชิตซึ่งเป็นผู้เสนอได้แสดงเจตนาไว้ในคำเสนอขายรถยนต์ด้วยว่าคำเสนอของเขามีผลผูกพันในระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อนายพิชิตถึงแก่ความตายหลังจากได้ส่งจดหมายเสนอขายรถยนต์ไปแล้ว จึงมีผลทำให้คำเสนอขายรถยนต์ของนายพิชิตเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป ไม่มีผลผูกพันนายพิชิตอีกต่อไปแม้ภายหลังการแสดงเจตนาผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดกับเจตนาของผู้เสนอตามมาตรา 360สรุป การแสดงเจตนาของนายพิชิตเสื่อมเสียหรือสิ้นผลไป ไม่มีผลผูกพันนายพิชิต

 


ข้อ 
2.  ผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ภายในกำหนด แต่ผู้ซื้อฝากขู่ให้สละสิทธิในการไถ่ถอน มิฉะนั้นจะแจ้งให้ตำรวจจับฐานออกเช็คโดยไม่มีเงิน

ดังนี้ ถ้าผู้ขายฝากสละสิทธิการไถ่ถอน การสละสิทธินั้นมีผลตามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

มาตรา 164 การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะเกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้การข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา 165 วรรคแรก การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยมไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ หมายความว่าเป็นการใช้อำนาจบังคับจิตใจของบุคคล เพื่อให้เขาเกิดความกลัวแล้วแสดงเจตนาทำนิติกรรมออกมาตามที่ผู้ข่มขู่ต้องการ การแสดงเจตนานั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ แต่ก็มีข้อยกเว้น ถ้าเป็นการข่มขู่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมทำได้ ไม่ตกเป็นโมฆียะ เช่น การขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกติตามมาตรา 165 วรรคแรก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิซึ่งตนมีอยู่อย่างปกติคนทั่วไปเขาใช้กัน เช่น การใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้หนี้ตน เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ผู้ขายฝากพร้อมที่จะไถ่ถอนทรัพย์ที่ขายฝากภายในกำหนดเวลาไถ่แต่ผู้ซื้อฝากขู่ให้สละสิทธิในการไถ่ถอน มิฉะนั้นจะแจ้งให้ตำรวจออกเช็คโดยไม่มีเงิน เช่นนี้นิติกรรมสละสิทธิการไถ่ถอนเป็นโมฆียะตามมาตรา 164 วรรคแรก เพราะเป็นการเอาเรื่องเช็คมาขู่บีบบังคับให้ผู้ถูกขู่แสดงเจตนาทำนิติกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเช็คนั้น ซึ่งลักษณะเป็นการบีบบังคับที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึงและร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัวตามมาตรา 164 วรรคสอง

ทั้งกรณีนี้ก็ถือไม่ได้ว่าผู้ซื้อฝากซึ่งเป็นผู้ขู่หวังผลตามปกตินิยมจากการขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาทางเช็ค อันจะถือว่าเป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมและไม่ถือว่าเป็นการข่มขู่ตามมาตรา 165 วรรคแรก แต่อย่างใด (ฎ. 707 -708/2505)

สรุป  การสละสิทธิไถ่ถอนมีผลเป็นโมฆียะ เพราะแสดงเจตนาไปเพราะถูกข่มขู่

 


ข้อ 
3.   เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 นายสมพงษ์ได้ขับรถยนต์ด้วยประมาทเลินเล่อชนนายสาโรจน์ได้รับบาดเจ็บสาหัส นายสาโรจน์ถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลและได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน นายสาโรจน์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวน 4 แสนบาท ต่อมานายสาโรจน์จึงได้ไปทวงเงินค่ารักษาพยาบาลจากนายสมพงษ์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 แต่นายสมพงษ์ผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551

นายสมพงษ์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสาโรจน์เพื่อช่วยค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท หลังจากนั้นมิได้นำเงินไปชำระอีกเลย นายสาโรจน์จึงนำคดีไปฟ้องศาลเพื่อเรียกค่ารักษาพยาบาลที่ตนได้ออกไปก่อนวันที่ 22 กันยายน 2552 นายสมพงษ์ได้ต่อสู้ว่าคดีอายุขาดความแล้ว แต่นายสาโรจน์อ้างว่ายังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความได้สะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายสาโรจน์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 448 บัญญัติว่า สิทธิ เรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้น หนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทน…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

ตามกรณีอุทาหรณ์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2551 นายสมพงษ์ได้ขับรถยนต์ด้วนความประมาทเลินเล่อชนนายสาโรจน์ได้รับบาดเจ็บสาหัส การที่นายสมพงษ์ขับรถชนนายสาโรจน์เป็นการกระทำละเมิดอายุความฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมีข้อกำหนดอายุความ 1 ปีตามมาตรา 448 ซึ่งสิทธิเรียกร้องจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 10 สิงหาคม 2552

เมื่อนายสาโรจน์ถูกรถชนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและได้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินจำนวน 4 แสนบาท จึงได้มาทวงถามค่ารักษาพยาบาลจากนายสมพงษ์ แต่นายสมพงษ์ได้ผัดผ่อนเรื่อยมาจนกระทั่งในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 นายสมพงษ์ได้นำเงินไปชำระให้แก่นายสาโรจน์จำนวน 5, 000 บาท เป็นการชำระหนี้ให้แก่นายสาโรจน์บางส่วน จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 และอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง นายสาโรจน์นำคดมาฟ้องศาลในวันที่ 22 กันยายน 2552 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความข้ออ้างของนายสาโรจน์จึงฟังขึ้น

สรุป   ข้ออ้างของนายสาโรจน์ฟังขึ้น

 


ข้อ 
4.

ก. สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเป็นสัญญาที่มีลักษณะอย่างใด ให้อธิบายโดยสังเขป

ข . นายสมชายและนายสมบัติมีคดีพิพาทกันเกี่ยวกับการแบ่งมรดกซึ่งตกทอดมาจากบิดาของคนทั้งสอง ในระหว่างสืบพยาน นายสมชายและนายสมบัติทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกัน โดยมีข้อตกลงข้อหนึ่ง ให้ยกที่ดินมรดกแปลงหนึ่งให้แก่นางสาวสมบุญน้องของทั้งสองคน นางสาวสมบุญทราบเรื่องนี้จึงมีจดหมายขอบคุณนายสมชายและนายสมบัติและแจ้งว่า ตนพร้อมที่จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวกรณีปรากฏว่าภายหลังจากที่ จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวเปลี่ยนใจไม่ต้องการยกที่ดินมรดกให้ แก่นางสาวสมบุญ นายสมชายและนายสมบัติจึงตกลงทำสัญญากันใหม่โดยยกเลิกสัญญากันใหม่โดยยกเลิก สัญญาประนีประนอมยอมความเดิมในส่วนที่ยกที่มรดกให้แก่นางสาวสมบุญ เช่นนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าสัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่นี้ใช้บังคับได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก . หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้

ในกรณีดังกล่าวในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกเป็นสัญญาที่มีลักษณะดังนี้

1.       เป็นสัญญาที่มีข้อตกลงว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอก

2.       สิทธิของบุคคลภายนอกเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่เขาแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น

บุคคลภายนอก” หมายถึง บุคคลซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาหรือผู้สืบสิทธิจากคู่สัญญาภริยาหรือสามีของคู่สัญญาไม่ใช่บุคคลภายนอก  (ฎ. 1/2474) 

ทายาทของคู่สัญญาไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมย่อมเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่สัญญา  ดังนั้น  ทายาทของคู่สัญญาจึงไม่ใช่บุคคลภายนอก

ข . หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 374 วรรคสอง ในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญานั้น

มาตรา 375 เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว  คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ สัญญาประนีประนอมยอมความที่นายสมชายและนายสมบัติทำไว้นั้นเป็นสัญญาเพื่อ ประโยชน์ของบุคคลภายนอก คือ นางสาวสมบุญ เมื่อนางสาวสมบุญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทราบเรื่องจึงมีจดหมายขอบคุณนายสมชาย และนายสมบัติและแจ้งว่าตนพร้อมที่จะไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวถือ ว่านางสาวสมบุญได้แจ้งเจตนาแก่นายสมชายและนายสมบัติซึ่งเป็นลูกหนี้ว่าจะถือ เอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของนางสาวสมบุญบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นโดยแสดงเจตนารับเอาซึ่งทรัพย์ดังกล่าวแล้ว คู่สัญญาจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินี้ของนางสาวสมบุญบุคคลภายนอกไม่ได้ตามมาตรา 375  ดังนั้น  สัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่เพื่อยกเลิกสัญญาประนีประนอม ยอมความเดิมในส่วนที่ยกที่ดินมรดกให้แก่นางสาวสมบุญจึงใช้บังคับไมได้ (ฏ. 1156/2521)

สรุป  สัญญาที่นายสมชายและนายสมบัติทำขึ้นใหม่ใช้บังคับไม่ได้

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญาภาค 2/2552

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.  นายสมบูรณ์ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ซื้อสายสร้อยคอทองคำเส้นหนึ่งจากร้านค้าของนางสมศรีราคา 38, 000 บาทโดยไม่ได้บอกให้นายสมบัติบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยธรรมของตนทราบ ต่อมาอีก 7 วัน นายสมบัติบิดาของนายสมบูรณ์ทราบเรื่อง จึงแสดงเจตนาบอกล้างสัญญาซื้อขายสร้อยคอทองคำดังกล่าว โดย

ก.    นายสมบัติไปที่ร้านของนางสมศรีและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำต่อนางสมศรีกรณีหนึ่ง

ข.    นายสมบัติทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวแล้วมอบให้นายสมพงษ์ถือไปส่งให้นางสมศรีที่ร้านของนางสมศรี แต่ปรากฏว่านางสมศรีไมอยู่ นายสมพงษ์จึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่นายทองดีเจ้าของร้านค้าซึ่งอยู่ติดกับร้านของนางสมศรีรับไว้แทน อีกกรณีหนึ่ง

ในแต่ละกรณีดังกล่าว การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรี มีผลตามกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 168 “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่ผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบการแสดงเจตนานั้น ความข้อนี้ให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลหนึ่งแสดงเจตนาไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งโดยทางโทรศัพท์ หรือโดยเครื่องมือสื่อสารอย่างอื่น หรือโดยวิธีอื่นซึ่งสามารถติดต่อถึงกันได้ทำนองเดียวกัน

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์การที่นายสมบัติผู้แทนโดยชอบธรรมไปที่ร้านนางสมศรีและพูดบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรี กรณีนี้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งอยู่เฉพาะหน้าจึงถือได้ว่านางสมศรีได้ทราบการแสดงเจตนาบอกล้างของนายสมบัติแล้วตามมาตรา 168 ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวจึงมีผลตามกฎหมายแล้ว

สรุป  การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำดังกล่าวมีผลตามกฎหมายแล้ว

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคแรก การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า ให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ นายสมบัติทำหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับ นางสมศรีแล้วมอบให้นายสมพงษ์ถือไปส่งให้นางสมศรีที่ร้านของนางสมศรี แต่ปรากฏว่านางสมศรีไม่อยู่ นายสมพงษ์จึงส่งหนังสือบอกล้างสัญญาซื้อขายนั้นให้ไว้แก่นายทองดีเจ้าของ ร้านค้าซึ่งอยู่ติดกับร้านของนางสมศรี รับไว้แทน  ดังนั้น การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรีจึงไม่มีผลทางกฎหมาย

สรุป  การแสดงเจตนาของนายสมบัติที่บอกล้างสัญญาซื้อขายสายสร้อยคอทองคำระหว่างนายสมบูรณ์กับนางสมศรีไม่มีผลตามกฎหมาย

 

ข้อ 2.    ข้อสอบข้อนี้เป็นของวิชา LA 211 (LW 303) จึงให้ตัดออก (ยกประโยชน์ให้แก่นักศึกษา)

พิจารณาแล้ว จากคำแนะนำด้านบนที่กล่าวว่า

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)  ดังนั้น  เมื่อมีการยกประโยชน์ให้กับนักศึกษาที่เข้าทำการสอบ  วิชา   LAW 1003 (LA 103) (LW 203)  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ประจำภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา 2552

จึงหมายถึง  ทุกๆคนที่เข้าทำการสอบจะได้คะแนนข้อนี้ไปโดยอัตโนมัติ  คือ  25  คะแนนเต็ม  ยินดีด้วยครับ


ข้อ 
3.

ก.  เงื่อนไขคืออะไร และอาจแบ่งออกได้กี่ประเภท จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ                     

ข. นายแดงทำสัญญาจะขายสุนัขตัวหนึ่งของตนให้แก่นายดำ ราคา 20, 000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรอให้สุนัขของนายแดงอีกตัวหนึ่งซึ่งกำลังตั้งท้องตกลูกเสียก่อน ต่อมานายดำได้ไปพบกับนายฟ้า นายฟ้าได้เสนอขายสุนัขของตนซึ่งมีลักษณะเหมือนกับสุนัขตัวที่นายดำตกลงซื้อกับนายแดง แต่นายฟ้าได้เสนอราคาสุนัขตัวดังกล่าวในราคา 5,000 บาท นายดำไม่ต้องการซื้อสุนัขจากนายแดงอีกต่อไป จึงจ้างนายโหดให้ไปลอบวางยาเบื่อสุนัขที่กำลังตั้งท้องของนายแดงจนถึงแก่ความตาย เพื่อมิให้เงื่อนไขของนายแดงสำเร็จ

จงวินิจฉัยว่า นิติกรรมการซื้อขายสุนัขระหว่างนายแดงกับนายดำ มีผลอย่างไรตามกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 182 “ข้อความใดอันบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลสิ้นผลต่อเมื่อเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข

มาตรา 183 วรรคแรกและวรรคสอง นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับก่อน นิติกรรมนั้นย่อมเป็นผลต่อเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

นิติกรรมใดมีเงื่อนไขบังคับหลัง   นิติกรรมนั้นย่อมสิ้นผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

อธิบาย

เงื่อนไข” คือ ข้อกำหนดที่ทำให้นิติกรรมมีผลสมบูรณ์บังคับใช้กันได้หรือทำให้นิติกรรมสิ้นสุดลง ใช้บังคับไม่ได้อีกต่อไป โดยข้อกำหนดนี้อาศัยเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ดังนั้น หากเหตุการณ์ที่กำหนดเกิดขึ้น ก็ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นผลใช้บังคับได้ทันที หรือทำให้นิติกรรมนั้นสิ้นผลทันที

ตัวอย่างเช่น นายแดงทำสัญญากับนายดำว่า นายแดงจะขายรถยนต์ของตนให้กับนายดำ ในราคา 300, 000 บาท ถ้าหากนายดำทำการสมรสกับน้องสาวนายแดงภายในเวลา 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้ข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่มีเงื่อนไข เพราะการที่ดำจะสมรสกับน้องสาวของแดงหรือไม่ เป็นเหตุการณ์ในอนาคตอันไม่แน่นอน

สำหรับประเภทของเงื่อนไข แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1.     เงื่อนไขบังคับก่อน   คือ เงื่อนไขที่ทำให้นิติกรรมมีผลใช้บังคับได้ทันทีที่มีเงื่อนไขนั้นสำเร็จ เช่น ตามตัวอย่างข้างต้น เมือนายดำสมรสกับน้องสาวนายแดง ย่อมถือว่าเงื่อนไขสำเร็จแล้ว ทำให้สัญญานั้นใช้บังคับได้ทันที เงื่อนไขนี้เรียกว่าเงื่อนไขบังคับก่อน

2.     เงื่อนไขบังคับหลัง   คือ เงื่อนไขที่ทำให้นิติกรรมที่ทำไว้ต่อกันสิ้นผลหรือบังคับระงับใช้บังคับกันไม่ได้อีกต่อไปในทันทีที่เงื่อนไขเกิดขึ้นสำเร็จ เช่น นายแดงให้นายดำเช่าบ้านของตนโดยมีเงื่อนไขว่าหากนายดำย้ายไปรับราชการที่ต่างจังหวัดเมื่อใดให้สัญญาเช่าสิ้นสุดทันที เมื่อนายดำเข้าอยู่อาศัยในบ้านดังกล่าวได้ 2 ปี ทางราชการมีคำสั่งย้ายนายดำไปทำงานที่จังหวัดระยอง ดังนี้ สัญญาเช่าบ้านดังกล่าวย่อมสิ้นสุดลงเพราะเงื่อนไขที่กำหนดได้เกิดขึ้นแล้ว

ข.      หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 182 “ข้อความอันใดบังคับไว้ให้นิติกรรมเป็นผลหรือสิ้นผลต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคต ข้อความนั้นเรียกว่าเงื่อนไข

มาตรา 186  วรรคแรก  ถ้า ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะเป็นทางให้คู่กรณีฝ่ายใดเสียเปรียบและคู่กรณีฝ่าย นั้นกระทำการโดยไม่สุจริตจนเป็นเหตุให้เงื่อนไขนั้นไม่สำเร็จให้ถือว่า เงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว

วินิจฉัย

ตาม อุทาหรณ์ ข้อตกลงระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนเพราะเป็นข้อบังคับที่ ทำให้นิติกรรมระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นผลเมื่อมีเหตุการณ์อันไม่แน่นอนว่า จะเกิดขึ้นหรือไม่ในอนาคตซึ่งคือการคลอดลูกสุนัขอีกตัวของนายแดง

เมื่อความสำเร็จแห่งเงื่อนไขจะทำให้นายดำเสียเปรียบ เพราะต้องซื้อสุนัขในราคาสูง และนายดำได้กระทำการโดยไม่สุจริตด้วยการจ้างนายโหดให้ไปวางยาเบื่อสุนัขที่กำลังตั้งท้อง จนเป็นเหตุให้เงื่อนไขการคลอดนั้นไม่สำเร็จ เพราะสุนัขที่กำลังตั้งท้องถึงแก่ความตายไปก่อนที่จะมีการคลอด กฎหมายให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว และเมื่อเงื่อนไขนั้นได้สำเร็จแล้วทำให้นิติกรรมระหว่างนายแดงกับนายดำเป็นผล นิติกรรมดังกล่าวจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

สรุป   นิติกรรมการซื้อสุนัขระหว่างนายแดงกับนายดำมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 


ข้อ 
4.   นายศรีกรุงอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่งจดหมายเสนอขายพระสมเด็จวัดระฆังองค์หนึ่งของตนมูลค่าจำนวน 1 ล้านบาท ให้แก่นายศรีตรังซึ่งอยู่ที่จังหวัดตรัง โดยแจ้งว่าหากนายศรีตรังตกลงซื้อก็ให้ตอบให้ทราบภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 นายศรีตรังได้รับจดหมายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 และส่งจดหมายตอบตกลงซื้อพระสมเด็จฯ องค์นั้นถึงนายศรีกรุงทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากส่งจดหมายแล้วนายศรีตรังถูกศาลสั่งให้ตกเป็นคนไร้ความสามารถในวันต่อ มา นางศรีสวยคู่สมรสของนายศรีตรังได้โทรศัพท์แจ้งข่าวดังกล่าวให้แก่นายศรีกรุง ทราบในวันเดียวกัน 

ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของทางการไปรษณีย์ปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดส่งจดหมายของ นายศรีตรังไปยังจังหวัดหนองคายแทนที่จะส่งมาจังหวัดตรังตามปกติ เพราะความประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้จดหมายของนายศรีตรังซึ่งตาม ปกติควรมาถึงบ้านนายศรีกรุงภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 กลับมาถึงในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 นายศรีกรุงเห็นว่าจดหมายของนายศรีตรังมาถึงล่วงเวลาที่กำหนดในจดหมายของตน ทั้งนายศรีตรังก็ยังตกเป็นคนไร้ความสามารถตามกฎหมายไปแล้ว  นายศรีตรังจึงไม่น่าจะต้องการพระสมเด็จฯ องค์นั้นอีกต่อไป จึงเปลี่ยนใจไม่อยากขายพระสมเด็จฯ องค์นั้นอีก

นายศรีกรุงจึงไม่สนใจที่ติดต่อนางศรีสวยทายาทของนายศรีตรังในเรื่องการซื้อขายนั้นอีก ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางศรีสวยซึ่งเป็นทายาทคนเดียวของนายศรีตรังจะเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้แก่ตนซึ่งตนพร้อมจะชำระราคาให้ตอบแทนโดยนางศรีสวยอ้างว่าสัญญาซื้อขายพระสมเด็จฯ องค์นั้นได้เกิดขึ้นแล้วได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 169 วรรคสอง การแสดงเจตนาเมื่อส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตายหรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

มาตรา 358 “ถ้าคำบอกกล่าวมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติ   ควรจะมาถึงภายในเวลาที่กำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดนพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะบอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

มาตรา 360 “บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ

มาตรา 361 วรรคแรก อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลาเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ การที่นายศรีตรังส่งจดหมายตอบตกลงซื้อพระสมเด็จวัดระฆังไปยังนายศรีกรุง เป็นการแสดงเจตนาทำคำสนองต่อนายศรีกรุงผู้เสนอซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แม้ได้ส่งการแสดงเจตนาออกไปแล้ว นายศรีตรังผู้แสดงเจตนาทำคำสนองได้ถูกศาลสั่งให้ตกเป็นคนไร้ความสามารถก่อน การแสดงเจตนานั้นไปถึงนายศรีกรุง กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 360 การแสดงเจตนาทำคำสนองที่ได้ส่งออกไปแล้วนั้นจึงไม่เสื่อมเสียไปตามมาตรา 169 วรรคสอง

และแม้การแสดงเจตนานั้นไปถึงนายศรีกรุงผู้รับการแสดงเจตนาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาที่นายศรีกรุงกำหนดให้นายศรีตรังทำคำสนองก็ตาม แต่โดยที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งปกติควรจะมาถึงนายศรีกรุงภายในเวลากำหนด คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 เมื่อนายศรีกรุงผู้รับคำสนองมิได้บอกกล่าวแก่นางศรีสวยโดยพลันว่าคำสนองมาถึงเนิ่นช้า ก็ต้องถือว่าคำสนองนั้นมิได้ล่วงเวลาตามมาตรา 358 วรรคสอง สัญญาซื้อขายพระสมเด็จฯ องค์ดังกล่าวระหว่างนายศรีกรุงและนางศรีสวยคู่สมรสของนายศรีตรังจึงเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ตามมาตรา 361 วรรคแรก นางศรีสวยจึงเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้นางศรีสวย โดยรับเงินจำนวน 1 ล้านบาท ไปจากนางศรีสวยได้

สรุป   นางศรีสวยเรียกร้องให้นายศรีกรุงส่งมอบพระสมเด็จฯ องค์นั้นให้นางศรีสวย โดยรับเงินจำนวน ล้านบาท ไปจากนางศรีสวยได้

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาคฤดูร้อน/2552

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2552

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.   นายเอกและนายโทสมรู้กันแสดงเจตนาหลอก ๆ ว่านายเอกซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายโทราคา 800,00 บาท โดยนายโทได้ส่งมอบรถยนต์นั้นให้แก่นายเอก แต่มิได้ชำระราคากันจริง ต่อมาอีกหนึ่งเดือนนายเอกได้ให้รถยนต์คันนั้นแก่นางสาวตรีโดยเสน่หา โดยนางสาวตรีไม่ทราบและไม่มีเหตุอันควรทราบว่านายเอกมิได้ซื้อรถยนต์คันนั้นจากนายโทจริง ๆ

เมื่อ รับมอบรถยนต์มาแล้วนางสาวตรีได้นำรถยนต์คันนั้นไปแข่งขันกับเพื่อนบน ถนนหลวงด้วยความประมาทเลินเล่อจึงประสบอุบัติเหตุรถยนต์เสียหายยับเยิน แม้ว่านางสาวตรีจะปลอดภัย แต่ก็ต้องเสียเงินค่าซ่อมรถยนต์ไปจำนวน 400,000 บาท อีก 15 วัน ต่อมานายโททราบว่านายเอกเอารถยนต์ไปให้แก่นางสาวตรี

นายโทจึงบอกกล่าวให้นางสาวตรีส่งรถยนต์คืนแก่ตนโดยอ้างว่าตนมิได้ขายรถยนต์คันนั้นให้แก่นายเอกจริง ๆ รถยนต์คันนั้นยังเป็นของตน นางสาวตรีไม่ยอมส่งรถยนต์คืนแก่นายโทโดยอ้างว่าตนได้รับรถยนต์มาโดยสุจริตและต้องเสียค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนวนมาก ให้ท่านวินิจฉัยว่านางสาวตรีจะต้องส่งรถยนต์คืนแก่นายโทหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแงและพาณิช

มาตรา 155 วรรคแรก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริต และต้องเสียหายจาการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

โดยหลัก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มีผลในกฎหมายตามมาตรา 155 วรรคแรก คือ ตกเป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ถ้าบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย กฎหมายคุ้มครองบุคคลภายนอกโดยบัญญัติห้ามมิให้บุคคลใด ๆ ยกความเป็นโมฆะของการแสดงเจตนาลวงขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้ (1) กระทำการโดยสุจริต และ(2)ต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น

 กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกและนายโทได้สมรู้กันแสดงเจตนาลวงว่า นายเอกซื้อรถยนต์คันหนึ่งจากนายโท การแสดงเจตนาลวงระหว่างนายเอกนายโทจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคแรกตอนต้น ดังนั้นย่อมมีผลทำให้รถยนต์คันดังกล่าวยังคงเป็นของนายโท

การที่นายเอกได้ให้รถยนต์คันนั้นแก่นางสาวตรีโดยเสน่หา และนางสาวตรีได้รับมอบรถยนต์ไว้โดยไม่ทราบและไม่มีเหตุอันควรทราบว่านายเอกมิได้ซื้อรถยนต์คันนั้นจากนายโทจริง ๆ ดังนี้ย่อมถือว่านางสาวตรีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริต

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่บุคคลภายนอกจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้น บุคคลภายนอกจะต้องได้กระทำโดยสุจริต และต้องได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้น(มาตรา 155 วรรคแรกตอนท้าย) แต่กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่านางสาวตรีจะได้กระทำการโดยสุจริต คือได้รับมอบรถยนต์คันนั้นจากนายเอกโดยไม่ทราบถึงการแสดงเจตนาลวงระหว่างนาย เอกและนายโทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางสาวตรีได้รับรถยนต์มาโดยเสน่หา และความเสียหายที่เกิดกับนางสาวตรีที่ต้องจ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ไปจำนวนมาก นั้นเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อของนางสาวตรี เอง ไม่ถือว่าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการแสดงเจตนาลวงแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อนางสาวตรีไม่ได้รับความเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงจึงไม่ได้รับ ความคุ้มครองตามกฎหมายมาตรา 155 วรรคแรกตอนท้าย เมื่อนายโทบอกกล่าวให้นางสาวตรีส่งรถยนต์คืนแก่ตน นางสาวตรีจึงต้องส่งรถยนต์ให้แก่นายโท 

สรุป   นางสาวตรีต้องส่งรถยนต์คันนั้นคืนให้แก่นายโท

 


ข้อ 
2.   ที่ดินของนายเหลืองเป็นที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นายเหลืองจึงขอซื้อที่ดินของนายแดงซึ่งติดกับที่ดินของตน เพื่อเป็นทางออกสู่สาธารณะ นายแดงตกลงขายที่ดินจำนวน 3 ไร่ ให้แก่นายเหลือง ซึ่งปกติที่ดินราคาเพียงไร่ละ 1 ล้านบาท แต่เนื่องจากนายแดงให้คำรับรองว่าที่ดินของตนนั้นติดกับทางสาธารณะ 

นายเหลืองเชื่อตามนั้น จึงยอมจ่ายเงินซื้อที่ดินจากนายแดงในราคาไร่ละ 2 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าปกติของที่ดินในบริเวณเดียวกับที่ไม่ติดทางสาธารณะ ต่อมานายเหลืองมาทราบภายหลังว่า นายแดงโกหกตน ที่ดินของนายแดงไม่ติดทางสาธารณะตามที่นายแดงให้คำรับรองดังกล่าว ดังนี้ ถ้าท่านเป็นทนายความของนายเหลือง ท่านจะให้คำแนะนำที่ดีที่สุดแก่นายเหลืองว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 161 “ถ้ากลฉ้อฉลเป็นแต่เพียงเหตุจูใจให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งยอมรับข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่คู่อีกฝ่ายนั้นจะยอมรับโดยปกติ คู่กรณีฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างการนั้นหาได้ไม่ แต่ชอบที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการกลฉ้อฉลนั้นได้

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เกิดจากการที่ผู้ทำนิติกรรมถูกกลฉ้อฉลนั้นกฎหมายได้บัญญัติให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆียะ คู่กรณีฝ่ายที่แสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิบอกล้างได้ ( ป.พ.พ. มาตรา 159 )

แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 161 ได้บัญญัติว่า ถ้ากลฉ้อฉลนั้นเป็นเพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งต้องการแสดง เจตนาทำนิติกรรมอยู่แล้วแม้จะไม่มีการทำกลฉ้อฉล ต้องยอมรับข้อกำหนดตามนิติกรรมอันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติ ซึ่งถ้าไม่มีการทำกลฉ้อฉล คู่กรณีฝ่ายนั้นจะไม่ยอมรับข้อตกลงหรือข้อกำหนดดังกล่าว ผลของกการทำนิติกรรมเนื่องจากถูกกลฉ้อฉลในกรณีเช่นนี้ ไม่ทำให้นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ แต่คู่กรณีฝ่ายที่ถูกกลฉ้อฉลมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย อันเกิดจากกลฉ้อฉลนั้นได้

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงให้คำรับรองว่าที่ดินของตนที่จะขายให้แก่นายเหลืองเป็นที่ดินติดกับทางสาธารณะ แต่เมื่อปรากฏว่าที่ดินของนายแดงนั้นไม่ติดทางสาธารณะตามที่นายแดงให้คำรับรอง  ถือได้ว่านายแดงได้ขายที่ดินให้แก่นายเหลืองโดยทำการฉ้อฉลแล้ว

แต่ เมื่อนายเหลืองมีเจตนาที่จะซื้อที่ดินของนายแดงเพื่อเป็นทางออกสู่ทาง สาธารณะอยู่แล้วเพียงแต่ได้ซื้อที่ดินจากนายแดงในราคาที่แพงกว่าปกติของราคา ที่ดินในบริเวณเดียวกับที่ดินที่ไม่ติดทางสาธารณะจึงถือว่าการทำการฉ้อฉลของ นายแดงนั้น เป็นเหตุที่ทำให้นายเหลืองต้องรับเอาข้อกำหนดอันหนักยิ่งกว่าที่นายเหลืองจะ ยอมรับโดยปกติ คือทำให้นายเหลืองต้องชำระราคาสูงกว่าราคาซื้อขายปกติ จึงเป็นกลฉ้อฉลแต่เพียงเหตุจูงใจทำให้คู่กรณีฝ่ายหนึ่งต้องยอมรับข้อกำหนด อันหนักยิ่งกว่าที่เขาจะยอมรับโดยปกติตาม ป.พ.พ. มาตรา 161

ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายความของนายเหลือง ข้าพเจ้าแนะนำนายเหลืองมิให้บอกล้างนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว เพราะนิติกรรมไม่ตกเป็นโมฆียะ แต่จะแนะนำให้นายเหลืองฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายตามมาตรา 161 และสามารถฟ้องได้ภายในอายุความ 10 ปี เพราะกรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้ จึงต้องถือหลักอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

สรุป   ข้าพเจ้าจะแนะนำมิให้นายเหลืองบอกล้างนิติกรรมซื้อขายดังกล่าว แต่ให้นายเหลืองฟ้องร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่ถูกนายแดงทำการฉ้อฉลนั้น

 


ข้อ 
3.   วันที่ 31 มีนาคม 2543 นายผอมทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายอ้วน 300, 000 บาท โดยไม่ได้ตกลงระยะเวลาในการใช้คืน นายอ้วนได้ทวงถามอยู่หลายครั้ง แต่นายผอมก็ปฏิเสธการชำระเงิน  ข้อเท็จจริงต่อมาปรากฏว่า ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 นายผอมได้ทำหนังสือรับสภาพความผิดในหนี้ดังกล่าวให้กับนายอ้วน

นายอ้วนจึงมาปรึกษาท่านว่า นายอ้วนจะใช้สิทธิทางศาลให้นายผอมชำระเงินดังกล่าวได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/3 “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นหน่วยเวลาที่สั้นกว่าวัน ให้เริ่มนับในขณะที่เริ่มการนั้น

ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน  สัปดาห์  เดือนหรือปี  มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริมต้นทำการงานกันตามประเพณี

มาตรา  193/5   ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์  เดือน  หรือปี  ให้คำนวณตามปีปฏิทิน

ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์  วันต้นแห่งเดือนหรือปี  ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์  เดือน  หรือปีสุดท้าย  อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น  ถ้าระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้น  ไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย  ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้น เป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใดให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าย่อมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/28 “การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความนั้นแล้ว ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ…

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกำหนดสิบปี

มาตรา 193/35 “ภายใต้มาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน

มาตรา 203 วรรคแรก ถ้าเวลาจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานจากพฤติกรรมทั้งปวงก็มิได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายผอมและนายอ้วนไม่ได้ตกลงระยะเวลาในการชำระหนี้ นายอ้วนเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้นายผอมลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามมาตรา 203 วรรคแรก ซึ่งเป็นเวลาที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ดังนั้นอายุความจึงเริ่มนับแต่วันนั้น (มาตรา 193/12) และเมื่อสัญญาว่าด้วยยืมใช้สิ้นเปลืองไม่ได้กำหนดอายุความไว้ กรณีนี้จึงใช้อายุความ 10 ปี (มาตรา 193/30)

และด้วยเหตุที่อายุความเป็นระยะเวลาอย่างหนึ่ง การนับระยะเวลาจึงต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายในเรื่องการกำหนดนับระยะเวลาตามมาตรา 193/3 และมาตรา 193/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ เมื่อกรณีดังกล่าวไม่ได้กำหนดนับแต่วันต้นปี ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งปีสุดท้ายอันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น ดังนั้นอายุความจึงครบกำหนดในวันที่ 31 มีนาคม 2553

การที่นายผอมได้ทำหนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวในวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นเวลาที่หนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว การทำหนังสือรับสภาพหนี้จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แต่ให้ถือว่าหนังสือรับสภาพหนี้นั้น ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าหนี้โดยมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิดตามมาตรา 193/28 และมาตรา 193/35 ดังนั้นนายอ้วนเจ้าหนี้จึงสามารถใช้สิทธิทางศาลเรียกให้นายผอมลูกหนี้ชำระหนี้ดังกล่าวได้

สรุป   นายอ้วนสามารถใช้สิทธิทางศาลเรียกให้นายผอมชำระหนี้ดังกล่าวได้

 


ข้อ 
4.   จงอธิบายถึงสิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ ในกรณีที่

ก.      ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

ข.      ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร

ธงคำตอบ

อธิบาย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติสิทธิของเจ้าหนี้ตามสัญญาที่มีการกำหนดเบี้ยปรับไว้ดังนี้ คือ

ก.      กรณีลูกหนี้ไม่ชำระหนี้

มาตรา 380 “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป

ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้

จากบทบัญญัติมาตรา 380 จะเห็นได้ว่า ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้  เจ้าหนี้ตามสัญญาย่อมมีสิทธิดังนี้ คือ

1.  เจ้าหนี้มีสิทธิเลือกที่จะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับ หรือเรียกร้องลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญานั้นได้อย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ

ในกรณีที่เจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับแทนการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 380 วรรคแรก

ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้และได้ผลแล้ว คือลูกหนี้ชำระหนี้และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็หมดสิทธิที่จะริบเบี้ยปรับหรือเรียกเอาเบี้ยปรับได้อีก

แต่ถ้าเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน แต่ไม่ได้ผล และเจ้าหนี้ไม่ต้องการเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้อีกต่อไป เจ้าหนี้จึงริบเบี้ยปรับ หรือเรียกเบี้ยปรับอันจะพึงริบแทนการชำระหนี้ ย่อมสามารถทำได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 380 วรรคแรก แต่อย่างใด

2.    ในกรณีที่เจ้าหนี้เลือกเอาเบี้ยปรับ แต่เบี้ยปรับไม่เพียงพอสำหรับชดใช้ค่าเสียหายเจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีกด้วย

หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้เลือกที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ย่อมหมดไป แต่การเรียกเอาเบี้ยปรับนั้น ไม่ตัดสิทธิเจ้าหนี้ที่เรียกค่าเสียหายตามความจริง ดังนั้นหากเจ้าหนี้เสียหายมากกว่าเบี้ยปรับ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีก

หรือในกรณีที่เจ้าหนี้เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้ (มาตรา 380 วรรคสอง) และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายมากกว่าจำนวนเบี้ยปรับที่เรียกเอานั้น เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ความเสียหายที่มากว่าเบี้ยปรับนั้นและเรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ได้อีกด้วย

ข.      กรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร

มาตรา 381 “ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเช่นว่าไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นต้น นอกจากเรียกให้ชำระหนี้เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นอีกด้วยก็ได้

ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับตามบัญญัติแห่งมาตรา 380 วรรคสอง

ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้ เช่นนั้นเวลารับชำระหนี้

จากบทบัญญัติมาตรา 381 จะเห็นได้ว่า การริบเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเจ้าหนี้ตามสัญญามีสิทธิดังนี้ คือ

1.       เจ้าหนี้มีสิทธิจะริบหรือเรียกเอาเบี้ยปรับ และเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามสัญญานั้นให้ถูกต้องสมควรได้ด้วย

ใน กรณีที่สัญญาใดกำหนดเบี้ยปรับไว้ว่า ลูกหนี้จะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่น ไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และมีสิทธิรับเบี้ยปรับหรือเรียกเอาเบี้ยปรับอันพึงริบนั้นได้อีกด้วย ไม่มีข้อจำกัดห้ามไว้ดังเช่นในกรณีริบเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้เลยตาม มาตรา 380 วรรคแรก

2.       ถ้าเบี้ยปรับไม่เพียงพอสำหรับชดใช้ค่าเสียหาย เจ้าหนี้ยังมีสิทธิเรียกเอาค่าเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับได้อีกด้วย

การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรนั้น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องขอให้ศาลสั่งบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ และสิทธิฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรได้โดยเจ้าหนี้จะริบเบี้ยปรับ หรือเรียกเอาเบี้ยปรับอันพึงจะริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายได้ และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายก็ได้ และถ้าหากเจ้าหนี้ต้องเสียหายมากกว่าจำนวนเบี้ยปรับที่ริบหรือเรียกเอานั้น เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิพิสูจน์ความเสียหายที่มากกว่าเบี้ยปรับนั้น และเรียกร้องให้ลูกหนี้ชดใช้ได้อีกด้วย

3.     ถ้าลูกหนี้ยอมรับชำระหนี้อันไม่ถูกต้องสมควรนั้นแล้ว เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้

การที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เช่น ชำระหนี้ล่าช้า หรือชำระหนี้ไม่เต็มจำนวนเป็นต้น ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็จะเรียกเบี้ยปรับไม่ได้ เว้นแต่เจ้าหนี้จะได้บอกกล่าวไว้ในขณะรับชำระหนี้ว่า ตนยังสงวนสิทธิที่เรียกเอาเบี้ยปรับเพื่อการไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรอีกด้วย

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญา ภาค 1/2553

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ ข้อสอบอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.   นายโฉดทราบว่านายธรรมต้องการเช่าพระสมเด็จวัดกระดิ่งองค์หนึ่ง จึงบอกกับนายธรรมว่านายเฉยมีพระที่นายธรรมต้องงการเช่าและตนสามารถนัดให้นายเฉยมาพบกับนายธรรมเพื่อทำสัญญาเช่าพระดังกล่าวได้ แต่แท้จริงแล้วนายโฉดทราบว่าว่าพระที่นายเฉยเป็นเจ้าของเป็นพระที่ทำขึ้นเลียนแบบพระสมเด็จวัดกระดิ่งเท่านั้น

นายธรรมได้ติดต่อขอดูพระของนายเฉยแล้วเห็นว่าเป็นพระที่สวยงามเชื่อว่าเป็นพระวัดกระดิ่งที่แท้จริงจึงเช่ามาในราคา 1 ล้านบาท โดนนายเฉยไม่ทราบว่านายโฉดบอกกับนายธรรมว่าพระของตนเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง ต่อมานายธรรมทราบว่าพระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่งแต่เป็นพระเลียนแบบ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 157 “การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นโมฆียะ

ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

มาตรา 159 “การแสดงเจตนาเพราะผู้ถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ

การถูกกลฉ้อฉลที่เป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว  การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายธรรมได้ทำนิติกรรมโดยการทำสัญญาเช่าพระกับนายเฉย เพราะหลงเชื่อข้อเท็จจริงตามที่นายโฉดกล่าวอ้างว่าพระของนายเฉยเป็นพระสมเด็จวัดกระดิ่งที่แท้จริง จึงถือว่านายธรรมได้ทำนิติกรรมเพราะถูกกลฉ้อฉล และเป็นกลฉ้อฉลที่ถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้กลฉ้อฉลดังกล่าว นายธรรมก็คงจะมิได้ทำสัญญาเช่าพระองค์นั้น (มาตรา 159 วรรคแรกและวรรคสอง)

และตามอุทาหรณ์เมื่อกลฉ้อฉลนั้น เป็นกลฉ้อฉลจากบุคคลภายนอก ซึ่งตามกฎหมายนิติกรรมจะตกเป็นโมฆียะ ก็ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้นด้วย (มาตรา 159 วรรคสาม) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเฉยไม่ทราบถึงกลฉ้อฉลดังกล่าว ดังนั้นสัญญาเช่าพระระหว่างนายธรรมกับนายเฉยจึงไม่ตกเป็นโมฆียะเพราะถูกกล ฉ้อฉล

แต่อย่างก็ตาม เมื่อต่อมานายธรรมทราบว่า พระที่ตนเช่ามาไม่ใช่พระสมเด็จวัดกระดิ่ง แต่เป็นพระเลียนแบบ ซึ่งถ้าตนได้ทราบตั้งแต่แรกก็จะไม่ทำสัญญาเช่าพระองค์นี้แน่นอน ดังนั้นนายธรรมสามารถอ้างได้ว่านิติกรรมดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะตนได้สำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สิน ซึ่งถือว่าเป็นสาระสำคัญของนิติกรรม นิติกรรมในรูปของสัญญาเช่าพระดังกล่าวจึงมีผลเป็นโมฆียะตามมาตรา 157

สรุป   สัญญาเช่าพระดังกล่าวมีผลเป็นโมฆียะ เพราะเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดตามมาตรา 157

 


ข้อ 
2.   คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมไปมีผลเป็นโมฆียะ ดังนี้ ใครบ้างที่จะมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น และจะบอกล้างได้เมื่อใด อธิบายพอให้เข้าใจ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 175 “โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้

1. บุคคล ซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ เมื่อบุคคลนั้นพ้นจากการเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี แต่คนเสมือนไร้ความสามารถจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความ สามารถก็ได้ถ้าได้รับความนิยอมของผู้พิทักษ์

ถ้าบุคคลผู้นิติกรรมอันเป็นโมฆียะถึงแก่ความตายก่อนมีการบอกล้างโมฆียะกรรม ทายาทของบุคคลดังกล่าวอาจบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้

อธิบาย

 กรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรม และนิติกรรมนั้นมีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 ได้กำหนดผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะไว้ดังนี้ คือ

1.     คนเสมือนไร้ความสามารถ มีสิทธิบอกล้างโมฆียะนั้นได้ เมื่อได้พ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถแล้ว หรือาจจะบอกล้างก่อนที่ตนจะพ้นจากการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ถ้ารับความยินยอมจากผู้พิทักษ์

2.       ผู้พิทักษ์ ซึ่งสามารถบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้ เมื่อตนได้รู้ถึงโมฆียะกรรมนั้นแล้ว

3.     ทายาทของคนเสมือนไร้ความสามารถ มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นได้ ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถได้ถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น

 


ข้อ 
3.   นายแดงได้ขับรถยนต์ชนนายดำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายดำได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 นายแดงได้นำนายดำไปส่งโรงพยาบาลโดยไม่ได้ออกค่ารักษาพยาบาลให้ นายดำได้พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 10 วัน ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปจำนวน 200,000 บาท ต่อมานายดำได้มาเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายแดง แต่นายแดงไม่มีเงินจึงได้ผัดผ่อนเรื่อยมา

จนกระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 (ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือน จะครบอายุความ 1 ปี) นายแดงได้ทำหนังสือให้นายดำไว้ฉบับหนึ่ง ว่าตนได้ขับรถยนต์ชนนายดำจริง และตกลงจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่นายดำเป็นจำนวนเงิน 180,000 บาท แต่ขอผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ละ 10,000 บาท

งวดแรกจะชำระให้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะครบ 18 งวด แต่ปรากฏว่าพอถึงวันที่ 1 มีนาคม 2553 นายแดงก็ไม่นำเงินมาชำระให้และมิได้นำมาชำระให้อีกเลย นายดำจึงนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2553  แต่นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 448 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น  ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

1. ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง  โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ

เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงได้ขับรถยนต์ชนนายดำได้รับบาดเจ็บสาหัสเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 นั้น ถือว่านายแดงได้กระทำละเมิดต่อนายดำ ซึ่งอายุความฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นมีกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ซึ่งอายุความฟ้องร้อง 1 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 4 มีนาคม 2553

แต่ตามข้อเท็จจริง เมื่อนายดำได้มาเรียกค่ารักษาพยาบาลจากนายแดง ปรากฏว่านายแดงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่นายดำ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14(1) และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง และอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ดังนั้น การที่นายดำนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความ การที่นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแดงที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น

 


ข้อ 
4.

ก.  คำเสนอคืออะไร การแสดงเจตนาซึ่งจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะอย่างไร ให้อธิบายโดยสังเขป

ข.  นายสมพงษ์เขียนจดหมายถึงกรมป่าไม้มีข้อความตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าได้ทราบว่ากรมป่าไม้มีไม้ของกลางซึ่งทางการยึดได้จากผู้ลักลอบตัดไม้ในป่าหลายแห่งและศาลพิพากษาให้ริบเป็นของแผ่นดินจำนวน 1,500 ท่อน บัดนี้คดีถึงที่สุดแล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอซื้อไม้ของกลางดังกล่าวทั้งหมด ส่วนราคานั้นทางการจะขายเท่าใด แล้วแต่ทางการจะเห็นสมควร”  ต่อมาอีก 10 วัน กรมป่าไม้ทำหนังสือตอบนายสมพงษ์ว่า กรมป่าไม้ตกลงขายไม้ของกลางดังกล่าวให้แก่ท่านจำนวน 1,550 ท่อน ราคาลูกบาศก์เมตรละ 5,000บาท ทั้งนี้ ท่านต้องชำระราคาเป็นเงินสดและโดยด่วน” ดังนี้ สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้เกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก.  คำเสนอ คือ นิติกรรมฝ่ายเดียวชนิดที่ต้องมีผู้รับการแสดงเจตนา เกิดขึ้นโดยบุคคลฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งแจ้งให้ทราบว่าตนมีความประสงค์จะผูกพันตนทำสัญญาด้วยในประการใด และขอให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งนั้นร่วมทำสัญญาด้วยตามที่เสนอไปนั้น

การแสดงเจตนาอันจะถือได้ว่าเป็นคำเสนอต้องมีลักษณะดังนี้

1.เป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2. มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที

ข. โดยหลักของกฎหมาย สัญญาเป็นนิติกรรมสองฝ่าย จะเกิดขึ้นได้ต้องมีบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายหรือกว่านั้นขึ้นไปเป็นคู่สัญญาแสดง เจตนาเป็นคำเสนอและคำสนองสอดคล้องต้องกัน หรืออาจกล่าวสรุปได้ว่าสัญญาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคู่สัญญาสองฝ่ายได้ ให้คำเสนอและคำสนองสอดคล้องตรงกัน

และการแสดงเจตนาที่ถือว่าเป็นคำเสนอนั้น จะต้องมีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1.       ต้องเป็นข้อความชัดเจนและแน่นอน

2.       มีความมุ่งหมายว่า ถ้ามีคำสนอง สัญญาเกิดขึ้นทันที

กรณีตามอุทาหรณ์ การแสดงเจตนาของนายสมพงษ์ตามจดหมายที่นายสมพงษ์เขียนส่งถึงกรมป่าไม้นั้น เป็นข้อความที่ไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำเสนอ แต่เป็นเพียงคำปรารภว่านายสมพงษ์ประสงค์จะเข้าทำสัญญาเท่านั้น

และการแสดงเจตนาของกรมป่าไม้ตามหนังสือที่ตอบนายสมพงษ์ไปนั้น ได้กระทำขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคำเสนอใด ๆ มายังกรมป่าไม้ จึงไม่ถือว่าเป็นคำสนอง แต่เนื่องจากหนังสือของกรมป่าไม้ เป็นข้อความที่ชัดเจนและแน่นอน และมีความมุ่งหมายว่าถ้านายสมพงษ์ตกลงด้วยตามนั้น สัญญาจะเกิดขึ้นทันที จึงถือว่าการแสดงเจตนาโดยหนังสือของกรมป่าไม้ดังกล่าวเป็นคำเสนอ

ดังนั้นตามอุทาหรณ์ จึงมีเพียงคำเสนอของกรมป่าไม้ ไม่มีคำสนองของนายสมพงษ์ สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้จึงไม่เกิดขึ้น(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 927/2498)

สรุป  สัญญาซื้อขายไม้ระหว่างนายสมพงษ์กับกรมป่าไม้ไม่เกิดขึ้น

LAW1003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมสัญญาภาค การสอบไล่ภาค 2/2553

การสอบไล่ภาค   ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 1003 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.  นายหนึ่งจ้างนายสองให้ไปทำร้ายร่างกายนายสาม โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้กับนายสอง จำนวน 50, 000 บาท นายสองเกรงว่าเมื่อตนทำตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว นายหนึ่งจะไม่ชำระเงินให้จึงให้นายหนึ่งทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับหนึ่งขึ้น โดยระบุในสัญญาว่า นายหนึ่งกู้ยืมเงินนายสองจำนวน 50,000 บาท” เมื่อนายสองทำร้ายร่างกายนายสามตามที่ตกลงกับนายหนึ่งแล้ว จึงมาขอรับเงินจากนายหนึ่ง แต่นายหนึ่งไม่ยอมชำระให้ นายสองจึงมาปรึกษาท่านว่าตนจะฟ้องศาลขอให้บังคับนายหนึ่งชำระเงินได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

มาตรา 155 วรรคแรก การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กกระทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

วินิจฉัย

คำว่า การแสดงเจตนาลวง” นั้น หมายถึง การที่คู่กรณีสองฝ่ายได้สมรู้ร่วมคิดกันทำนิติกรรมขึ้นมา แต่ไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันตามกฎหมาย ดังนั้นนิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาลวงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคแรก และจะไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์หรือความผูกพันในทางกฎหมายขึ้นระหว่างคู่กรณีแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายหนึ่งได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับนายสองนั้น  สัญญา กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่นายหนึ่งและนายสองได้ทำกันขึ้นมาโดยที่ ทั้งสองไม่ต้องการให้มีผลผูกพันบังคับกันแต่อย่างใดดังนั้นจึงถือว่าสัญญา กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง จึงตกเป็นโมฆะ นายสองจะนำสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้น ขึ้นมาฟ้องร้องบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินให้แก่ตนไม่ได้

ส่วนการที่นายหนึ่งได้ทำสัญญาจ้างให้นายสองไปทำร้ายร่างกายนายสาม โดยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้นายสอง จำนวน 50, 000 บาท นั้น จะเห็นได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างนายหนึ่งกับนายสองซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของนั้น มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้นนายสองจะนำสัญญาจ้างทำของที่ตกเป็นโมฆะนั้นขึ้นมาฟ้องร้องบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินให้แก่ตนไม่ได้เช่นเดียวกัน

สรุป เมื่อนายสองมาปรึกษาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะแนะนำแก่นายสองว่า นายสองไม่สามารถฟ้องศาลเพื่อบังคับให้นายหนึ่งชำระเงินแก่นายสองได้ ตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

 


ข้อ 
2.  ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมมีอยู่อย่างไร อธิบายยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 วรรคแรกและวรรคสอง ดังนี้ คือ

โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน

ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โมฆียะกรรมเมื่อมีการบอกล้างแล้วจะมีผลดังนี้

1.       ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก คือ ให้ถือว่าเสียเปล่ามาตั้งแต่วันที่ทำนิติกรรมนั้น

2.       ให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม เช่น หากมีการส่งมอบทรัพย์สินกันก็ต้องมีการส่งคืน  เป็นต้น

3.       ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายแทน

4.     ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับตั้งแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ

ตัวอย่าง เช่น ดำอายุ 19 ปี ทำสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคา 500, 000 บาท จากขาวโดยมิได้รับความยินยอมจากแดงซึ่งเป็นผู้แทนโดยธรรม สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ดังนี้ เมื่อแดงผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะ มาตั้งแต่เริ่มแรก ทั้งดำและขาวจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ ดำจะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้ขาว และขาวก็ต้องส่งมอบเงินค่าซื้อรถยนต์คืนให้ดำ ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันแทน เป็นต้น

 


ข้อ 
3.  นายแดงได้ตกลงจ้างนายดำซึ่งเป็นทนายความฟ้องคดีต่อศาลเรียกเงินจากนายเขียว จำนวน 10 ล้านบาท และได้ตกลงจะจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำ จำนวน 1 ล้านบาท เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้นายแดงชนะคดีในวันที่ 15 มีนาคม 2550 นายดำจึงได้มาทวงค่าจ้างว่าความจากนายแดง แต่นายแดงปฏิเสธเรื่อยมา 

จนกระทั่งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเหลือเวลาอีกเดือนเศษคดีจะขาดอายุความ 2 ปี นายแดงได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำ จำนวน 1 แสนบาท และนายดำได้รับชำระเงิน จำนวน 1 แสนบาทจากธนาคารแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 9 แสนบาท นายดำได้ติดตามทวงถามตลอดมา

แต่นายแดงก็ไม่นำมาชำระ นายดำจึงนำคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 18 มีนาคม 2554 นายแดงต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ป.พ.พ. มาตรา 193/34 “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ ให้มีกำหนดอายุความสองปี (16)    ทนายความหรือผู้ประกอบอาชีพทางกฎหมาย…เรียกเอาค่าการงานที่ทำให้…

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1)  ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อจากเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ   อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

มาตรา 193/15 “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายแดงต้องชำระค่าว่าความให้แก่นายดำ 1 ล้านบาท ในวันที่ 15 มีนาคม 2550 ซึ่งอายุความฟ้องเรียกค่าทนายความนั้นมีกำหนด 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34(16) ซึ่งอายุความ 2 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 15 มีนาคม 2552

เมื่อปรากฏข้อเท็จว่า ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งเหลือเวลาอีกเดือนเศษคดีจะขาดอายุความ นายแดงได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินค่าจ้างว่าความให้แก่นายดำจำนวน 1 แสนบาท และนายดำได้รับชำระเงินดังกล่าวจากธนาคารเรียบร้อยแล้วจึงถือว่าเป็นการชำระเงินบางส่วน และเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1)  และเมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้วระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคแรก และให้เริ่มนับอายุใหม่ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง ซึ่งอายุความใหม่จะครบกำหนดในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ดังนั้น การที่นายดำนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 18 มีนาคม 2554 คดีจึงขาดอายุความแล้ว ข้อต่อสู้ของนายแดงที่ว่าคดีขาดอายุความแล้วจึงฟังขึ้น

สรุป  ข้อต่อสู้ของนายแดงฟังขึ้น

 


ข้อ 
4.  เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 นายสมพงศ์ซึ่งอยู่จังหวัดชลบุรีได้ส่งจดหมายเสนอขายม้าแข่งตัวหนึ่งของตนให้นายสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ราคา 1, 000,000 บาท โดยกำหนดไปในจดหมายด้วยว่าถ้าหากนายสมบูรณ์จะซื้อจะต้องส่งจดหมายตอบตกลงซื้อมาถึงนายสมพงษ์ภายในวันที่  25  กรกฎาคม  2553  นายสมบูรณ์ส่งจดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งตัวนั้นตามราคาที่นายสมพงศ์เสนอแต่จดหมายมาถึงนายสมพงศ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 หากเป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึ่งประทับบนซองจดหมายว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 เช่นนี้ จะมีผลในกฎหมายอย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 358 “ถ้าคำบอกกล่าวเสนอมาถึงล่วงเวลา แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในเวลากำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีฝ่ายหนึ่งโดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้าเว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว

ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดังว่าในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้ล่วงเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ จดหมายคำสนองตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์ไปถึงนายสมพงศ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลาที่นายสมพงศ์กำหนดไว้ 6 วัน แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนจากตราไปรษณีย์ซึงประทับตราบนซองจดหมายของนายสมบูรณ์ว่านายสมบูรณ์ส่งจดหมายฉบับนั้นตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2553 ซึ่งตามปกติจดหมายฉบับนั้นควรจะมาถึงนายสมพงศ์ภายใน 3 วัน หรือ 5 วันเป็นอย่างช้า คือ มาถึงทันภายในวันที่ 25 กรกฎคม 2553 ซึ่งนายสมพงศ์กำหนดไปในคำเสนอ

ดังนั้นคำสนองของนายสมบูรณ์จึงเป็นคำสนองที่มาถึงผู้เสนอเนิ่นช้า แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำสนองนั้นได้ถูกส่งโดยทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงผู้เสนอภายในเวลากำหนด ซึ่งจะมีผลในกฎหมายตามมาตรา 358 ดังนี้

1. นายสมพงศ์ผู้เสนอมีหน้าที่ต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่าย (คือ นายสมบูรณ์ผู้สนอง) โดยพลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่นายสมพงศ์ผู้เสนอจะได้บอกกล่าวเช่นนั้นไว้ก่อนแล้ว

2. ถ้านายสมพงศ์ผู้เสนอปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายจึงจะถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองล่วงเวลา

3. แต่ถ้านายสมพงศ์ผู้เสนอละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายถือว่าคำบอกกล่าวสนองของนายสมบูรณ์เป็นคำสนองที่มิได้ล่วงเวลา ซึ่งจะมีผลทำให้สัญญาซื้อขายม้าแข่งระหว่างนายสมพงศ์กับนายสมบูรณ์เกิดขึ้น                   

สรุป   จดหมายตอบตกลงซื้อม้าแข่งของนายสมบูรณ์จะมีผลในกฎหมายเป็นคำสนองล่วงเวลาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า นายสมพงศ์ซึ่งเป็นผู้เสนอได้ปฏิบัติตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 358 หรือไม่

WordPress Ads
error: Content is protected !!