LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ S/2553

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์หนึ่งคูหา  มีกำหนดเวลา  3  ปี  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายเขียนไว้ว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2554  แล้วผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก  3  ปี  โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ  แต่ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบภายในวันที่  28  กุมภาพันธ์  2554  ว่าต้องการเช่าต่อด้วย”  ขาวเช่าอาคารมาได้เพียง  6  เดือนเท่านั้น

แดงซึ่งเป็นเจ้าของอาคารได้ยกอาคารให้กับดำบุตรบุญธรรมของแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวอยู่ในอาคารมาจนถึงวันที่  31  มกราคม  2554  ขาวจึงแจ้งให้กับดำทราบว่าขาวต้องการเช่าต่อไปอีก  3  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และดำตอบกับขาวว่าดำตกลง  ขาวจึงอยู่ในอาคารต่อมาจนถึงเดือนมีนาคม  2554  แต่ถูกดำเรียกอาคารคืน  และบอกเลิกการเช่ากับขาว  ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของดำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพียงใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  569  ได้กำหนดเอาไว้ว่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา  3  ปี  เมื่อทำสัญญาเป็นหนังสือ  สัญญาเช่าจึงชอบด้วยมาตรา  538  และสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ขาวเช่าอาคารมาได้เพียง  6  เดือน  แดงได้ยกอาคารหลังนี้ให้กับดำบุตรบุญธรรมของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยดำผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  ดำต้องให้ขาวเช่าอยู่ในอาคารพาณิชย์นั้นต่อไปจนครบกำหนด  3  ปี  ตามสัญญาเช่าตามมาตรา  569  วรรคสอง

ส่วนสัญญาเช่าข้อสุดท้ายนั้นถือเป็นคำมั่น  โดยหลักแล้วย่อมมีผลผูกพันเฉพาะระหว่างคู่สัญญา  คำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวจึงต้องระงับไปพร้อมกับการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่ให้เช่า  ดำจึงไม่ต้องผูกพันรับคำมั่นจะให้เช่าดังกล่าวมาด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด  ขาวได้แจ้งให้กับดำทราบว่าขาวต้องการเช่าอาคารต่อไปอีก  3  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และดำได้ตอบตกลงแล้ว  จึงถือเป็นกรณีที่ดำยอมปฏิบัติตามคำมั่นที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเช่า  ดำจึงต้องให้ขาวเช่าอาคารต่อไปอีก  3  ปีตามคำมั่น  ดังนั้น  การที่ดำเรียกอาคารคืน  และบอกเลิกการเช่ากับขาวในเดือนมีนาคม  2554  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  การกระทำของดำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2

(ก)   มืดทำสัญญาเป็นหนังสือให้เขียวเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา  2  ปีนับตั้งแต่วันที่  1 มกราคม  2554  และตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ  35,000  บาท  โดยต้องชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาเช่าข้อ  5  ตกลงว่า  “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เลย  โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่านำค่าเช่ามาชำระ”  ในวันที่  1  มกราคม  2554  เขียวได้ชำระค่าเช่าไว้ล่วงหน้าเป็นเงินทั้งสิ้น  105,000  บาท  แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นเขียวไม่ชำระค่าเช่าเลย  จนถึงปัจจุบัน  ดังนั้น  ครั้นถึงวันที่  17  พฤษภาคม  2554  มืดจึงบอกเลิกสัญญากับเขียวทันที  ดังนี้  การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)   ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  151  การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย  ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  การนั้นไม่เป็นโมฆะ

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15 วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เขียวได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ไว้กับมืด  105,000  บาทนั้น  ทำให้เขียวมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้ใน  3  เดือนแรก  คือ  เดือนมกราคม  กุมภาพันธ์  และมีนาคม  แต่ในเดือนเมษายน  2554  เขียวต้องชำระค่าเช่าให้มืด  ดังนั้น  เมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  การที่เขียวไม่ชำระค่าเช่าในเดือนเมษายนนั้น  โดยหลักมืดจะบอกเลิกสัญญากับเขียวทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้เขียวชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  หากเขียวยังไม่ยอมชำระอีกมืดจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตามมาตรา  560  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  บทบัญญัติมาตรา  560  ไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  เมื่อในสัญญาเช่าข้อ  5  มีการตกลงกันว่า  “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เลย  โดยไม่ต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่านำค่าเช่ามาชำระ”  จึงสามารถใช้บังคับกันได้ตามมาตรา  151  ดังนั้น  การที่มืดบอกเลิกสัญญากับเขียวทันทีในวันที่  17  พฤษภาคม  2554  จึงชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่เขียวผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนเมษายน  2554  นั้น  ถือว่าเขียวผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว  เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้วสามคราว  ดังนั้น  การที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะการที่มืดเจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาได้  จะต้องปรากฏว่าเขียวผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช่เงินสองคราวติดๆกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาของมืดชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านขายของของเหลือง  ตกลงชำระสินจ้างทุกๆวันที่  15  ของแต่ละเดือน  แต่ไม่ได้ตกลงว่าจ้างเป็นระยะเวลานานเท่าใดโดยน้ำเงินได้รับค่าจ้างเดือนละ  13,250  บาท  น้ำเงินทำงานมาจนถึงปี  2554  น้ำเงินไม่อยากทำงานต่อไป  และในวันที่  17  พฤษภาคม  2554  น้ำเงินจึงไปพบเหลือง  และขอบอกเลิกสัญญา  ดังนี้  น้ำเงินจะต้องทำงานให้เหลืองต่อไปอีกถึงวันที่เท่าใด  และน้ำเงินจะได้รับสินจ้างตั้งแต่วันที่  17  พฤษภาคม  2554  ถึงวันสิ้นสุดสัญญาจ้างเป็นเงินจำนวนเท่าใด  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  582  วรรคแรก  ได้กำหนดไว้ว่า  สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า  ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า  3  เดือน

กรณีตามอุทาหรณ์  เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านขายของของเหลือง  แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าจะจ้างเป็นระยะเวลานานเท่าใด  สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่  17  พฤษภาคม  2554  น้ำเงินได้ไปพบเหลืองและขอบอกเลิกสัญญา  จึงถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในวันที่  15  มิถุนายน  2554  ซึ่งจะมีผลให้สัญญาสิ้นสุดในวันที่  15  กรกฎาคม  2554  ตามมาตรา  582  วรรคแรก  ดังนั้น  น้ำเงินจึงต้องทำงานต่อไปถึงวันที่  15  กรกฎาคม  2554  และน้ำเงินจะได้รับเงินค่าจ้างในวันที่  15  มิถุนายน  2554  เป็นเงิน  13,250  บาท  กับวันที่  15  กรกฎาคม  2554  เป็นเงิน  13,250  บาท  รวมทั้งหมดเป็นเงิน  26,500  บาท  หรือเหลืองจะจ่ายเงินค่าจ้างให้น้ำเงินทั้งหมด  26,500  บาท  แล้วให้น้ำเงินออกจากงานในทันทีเลยก็ได้ตามมาตรา  582  วรรคสอง

สรุป  น้ำเงินจะต้องทำงานให้เหลืองต่อไปอีกถึงวันที่  15  กรกฎาคม  2554  และน้ำเงินจะได้รับสินจ้างตั้งแต่วันที่  17  พฤษภาคม  2554  ถึงวันสิ้นสุดสัญญาจ้างเป็นจำนวนเงิน  26,500  บาท 

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 1/2554

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเป็นหนังสือให้ขาวเช่าตึกแถวของแดงมีกำหนดเวลา  2  ปี  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายเขียนไว้ว่า  “ถ้าสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่ 31  สิงหาคม  2554  หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่ออีก  2  ปี  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าต่อไปอีก  แต่ผู้เช่าต้องตอบให้ผู้ให้เช่าทราบภายในวันที่  15  กันยายน  2554  เท่านั้น  แต่ถ้าผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงิน  50,000  บาท  ให้กับผู้เช่าเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น”  

ปรากฏว่าขาวเช่าตึกแถวนี้มาเพียง  1  ปี  แดงยกตึกแถวให้กับดำพี่ชายบุญธรรมของภริยาแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  ขาวเช่าตึกแถวมาจนครบ  2  ปี  ในวันที่  31  สิงหาคม  2554  ขาวได้แจ้งให้ดำทราบว่าขาวมีความประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  2  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย แต่ดำปฏิเสธและเรียกให้ขาวคืนตึกแถวให้ภายในวันที่  16  กันยายน  2554  ขาวจึงเรียกเงินค่าขนย้าย  50,000  บาท  ดังกล่าวจากดำอีก  แต่ดำก็ปฏิเสธอีกเช่นกัน  ให้วินิจฉัยว่าการปฏิเสธของดำทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าตึกแถวระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกำหนด  2  ปี  ได้ทำเป็นหนังสือ  สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  538  และสามารถใช้บังคับกันได้  2  ปี  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ขาวเช่าตึกแถวนี้มาได้เพียง  1  ปี  แดงยกตึกแถวให้กับดำพี่ชายบุญธรรมของภริยาแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยดำผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  ดำต้องให้ขาวเช่าตึกแถวนั้นต่อไปจนครบกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาเช่า

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่เขียนไว้ว่า   “ถ้าสัญญาเช่าครบกำหนด  2  ปี  ในวันที่  31  สิงหาคม  2554  หากผู้เช่าประสงค์จะเช่าต่ออีก  2  ปี  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้เช่าต่อไปอีก”  นั้น  ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่น  ไม่ใช่สิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงไม่ผูกพันดำ  ดังนั้น  การที่ขาวได้แจ้งให้ดำทราบว่ามีความประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  2  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และดำปฏิเสธและเรียกให้ขาวคืนตึกแถวนั้น  คำปฏิเสธของดำกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อสัญญาที่ว่า  “ถ้าผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงิน  50,000  บาท  ให้กับผู้เช่าเป็นค่าขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น”  นั้น  ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น  มิใช่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้เช่าตามกฎหมายด้วย  ผู้รับโอนจึงไม่ต้องผูกพันตามข้อสัญญานี้  เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ผู้รับโอนจะต้องรับมาด้วยนั้น  คือสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น  ดังนั้น  การที่ขาวเรียกค่าขนย้าย  50,000  บาท  แต่ดำปฏิเสธ  คำปฏิเสธของดำกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป  คำปฏิเสธของดำทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)    น้ำเงินทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เหลืองเช่ารถยนต์บรรทุกมีกำหนดเวลา  1  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  มีนาคม  2554  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  1  ของเดือน  เดือนละ  25,000  บาท  ในวันทำสัญญาเช่า  เหลืองได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าไว้เป็นเงิน  150,000  บาท  แต่ปรากฏว่าเมื่อได้รับมอบรถยนต์ที่เช่าแล้วเหลืองไม่เคยชำระค่าเช่าเลยจนถึงเดือนกันยายน  ดังนั้นในวันที่  5  กันยายน  2554  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันที  และให้เหลืองส่งรถยนต์คืนภายในวันที่  15  กันยายน  2554  การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)    ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ(ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่า  กำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่เหลืองได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ไว้กับน้ำเงินเป็นเงิน  150,000  บาทนั้น  ทำให้เหลืองมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้  6  เดือน  คือ  เดือนมีนาคม  เมษายน  พฤษภาคม  มิถุนายน  กรกฎาคม  และเดือนสิงหาคม  แต่เดือนกันยายนเหลืองต้องชำระค่าเช่าให้น้ำเงิน  (ในวันที่  1  กันยายน  2554)  และเมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  การที่เหลืองไม่ชำระค่าเช่าในเดือนกันยายนนั้น  น้ำเงินจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้  แต่น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้เหลืองชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าเหลืองยังไม่ยอมชำระอีกน้ำเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้น  การที่น้ำเงินบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ(ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่เหลืองผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนกันยายน  2554  ถือว่าเหลืองผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว  เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว  6  คราว  ดังนั้น  น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้  เพราะการที่น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาได้จะต้องปรากฏว่าเหลืองผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  ดังนั้น  การบอกเลิกสัญญาของน้ำเงินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้นคำตอบของข้าพเจ้าจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ  3  นายรำลึกทำสัญญาจ้างนายสำเภาให้รื้อตึก  20  คูหาและก่อสร้างตึกใหม่  โดยมีข้อตกลงให้ชำระสินจ้างเป็นงวดๆ  ตามความสำเร็จของงาน  นายสำเภาจึงได้ทำสัญญาจ้างนาย  1  เป็นหัวหน้าคนงาน  มีกำหนดเวลา  1  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  กรกฎาคม  และทำสัญญาจ้างนาย  2  ถึงนาย  10  เป็นลูกจ้างทั่วไปไม่มีกำหนดเวลา  โดยตกลงชำระสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือน  เมื่อเริ่มทำงานได้เพียงสองเดือนนายรำลึกเห็นว่าเศรษฐกิจกำลังมีปัญหาไม่ควรลงทุนในช่วงนี้จึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสำเภาในวันที่  10  กันยายน  นายสำเภาเห็นว่าไม่มีงานให้ทำต่อไปแล้วจึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ถึงนาย  10  ทันทีในวันที่  15  กันยายน  โดยชำระสินจ้างให้ครึ่งหนึ่ง  จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้

(ก)    นายสำเภาจะต่อสู้ว่าได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)   นาย  1  ถึงนาย  10 จะต่อสู้ได้อย่างไรหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  575  อันว่าจ้างแรงงานนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ลูกจ้าง  ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

มาตรา  587  อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้รับจ้าง  ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า  ผู้ว่าจ้าง  และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา  605  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด  ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้  เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

วินิจฉัย

(ก)   โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างทำของนั้น  ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ  ผู้ว่าจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาได้  แต่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ  ที่เกิดจากการเลิกสัญญานั้นให้กับผู้รับจ้าง  ตามมาตรา  605

ตามอุทาหรณ์  สัญญาจ้างให้รื้อตึก  20  คูหาและก่อสร้างตึกใหม่ดังกล่าว  เป็นกรณีที่นายสำเภา  ตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับนายรำลึกผู้ว่าจ้าง  และนายรำลึกผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสำเร็จของงานที่ทำนั้น  จึงเป็นสัญญาจ้างทำงาน  ตามมาตรา 587

เมื่อปรากฏตามข้อเท็จจริงว่า  ในวันที่  10  กันยายน  ซึ่งนายสำเภาผู้รับจ้างเริ่มทำงานได้เพียงสองเดือน  และงานที่จ้างก็ยังทำไม่แล้วเสร็จ  นายรำลึกผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายสำเภา  ดังนี้ถือว่านายรำลึกมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา  605  แต่นายรำลึกจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากการยกเลิกสัญญานั้นให้กับนายสำเภา  นายสำเภาจะต่อสู้ว่าตนได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้

(ข)   โดยหลัก  ในเรื่องสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  ถ้าเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอนสัญญานั้นย่อมระงับลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ตกลงกันไว้  ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างมิได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ตกลงกันไว้  นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้

ตามอุทาหรณ์  การที่นายสำเภาทำสัญญาจ้างนาย  1  เป็นหัวหน้าคนงานโดยตกลงจ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่นาย  1  ทำงานให้  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา  575  และเมื่อสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวมีกำหนดเวลา  1  ปี  จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ดังนั้น  เมื่อไม่ปรากฏว่านาย  1  ได้ทำผิดสัญญาตามกฎหมายจ้างแรงงาน  หรือผิดสัญญาตามที่ได้ตกลงกันไว้แต่อย่างใด  และการจ้างก็ยังไม่ครบกำหนดเวลา  1  ปี  นายสำเภาจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ในวันที่  15  กันยายนไม่ได้  เมื่อนายสำเภาบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  1  ในวันที่  15  กันยายน  นาย  1  จึงสามารถต่อสู้ได้ว่านายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ได้เพราะยังไม่ครบกำหนดเวลา  1  ปี  ตามสัญญาจ้าง

ส่วนสัญญาจ้างแรงงานระหว่างนายสำเภากับนาย  2  ถึงนาย  10  นั้น  เมื่อเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลา  ดังนั้น  นายสำเภาสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้  แต่ต้องดำเนินการตามมาตรา  582  วรรคแรก  กล่าวคือ  จะต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้าและให้มีผลเป็นการเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  ดังนั้น  กรณีตามอุทาหรณ์  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างนาย  2  ถึงนาย  10  ทันทีในวันที่  15  กันยายนไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้นาย  2  ถึงนาย  10  ทราบก่อนในวันที่  30  กันยายน  และไปบอกเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปในวันที่  31  ตุลาคม

แต่อย่างไรก็ดี  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างและให้นาย  2  ถึงนาย  10  ออกจากงานไปเลยในวันที่  15  กันยายนก็ได้  แต่ต้องจ่ายสินจ้างที่ต้องจ่ายในเดือนกันยายนและเดือนตุลาคมรวมสองเดือน  แล้วให้นาย  2  ถึงนาย  10  ออกจากงานไปทันทีได้เลยตามมาตรา  582  วรรคสอง  มิใช่จ่ายสินจ้างให้เพียงครึ่งหนึ่ง

สรุป

(ก)    นายสำเภาจะต่อสู้ว่าได้ลงมือทำงานตามสัญญาแล้ว  และไม่ได้ทำผิดสัญญาแต่อย่างใด  นายรำลึกจึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้

(ข)   นาย  1  สามารถต่อสู้ได้ว่า  นายสำเภาจะบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ได้เพราะยังไม่ครบกำหนด  1  ปี  ตามสัญญาจ้าง

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ 2/2554

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์ของแดงหนึ่งคูหา  มีกำหนดเวลา  10  ปี  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาเช่าข้อสูดท้ายเขียนไว้ว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2555  แล้ว  ผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าๆต่อไปอีก  10  ปี  และผู้ให้เช่าจะไปจดทะเบียนการเช่าให้กับผู้เช่าโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น  หากผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  คู่สัญญาตกลงว่าผู้ให้เช่าต้องขายอาคารพาณิชย์ให้กับผู้เช่า  หากผู้เช่าต้องการซื้ออาคารที่เช่าของผู้ให้เช่า”  ขาวเช่าอาคารหลังนี้ได้เพียง  3  ปี  แดงได้ยกอาคารนี้ให้กับมืดบุตรบุญธรรมของแดง  โดยการให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย  ขาวอยู่ในอาคารจนถึงวันที่  31 มกราคม  2555  ขาวจึงไปพบมืด  และขอเช่าอาคารต่อไปอีก  10  ปี  แต่ถูกมืดปฏิเสธ  ขาวจึงขอให้มืดขายอาคารให้ตนตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  แต่ถูกมืดปฏิเสธเช่นกัน

ให้วินิจฉัยว่า  การปฏิเสธของมืด  2  ประการนี้  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าอาคารระหว่างแดงกับขาวซึ่งมีกำหนด  10  ปี  ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  538  และสามารถใช้บังคับกันได้  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ขาวเช่าอาคารหลังนี้มาได้เพียง  3  ปี  แดงได้ยกอาคารหลังนี้ให้กับมืดบุตรบุญธรรมของแดงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  มืดจะต้องให้ขาวเช่าอาคารนั้นต่อไปจนครบกำหนด  10  ปี  ตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  วรรคสอง

สำหรับสัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่เขียนไว้ว่า  “หากสัญญาเช่าครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2555  แล้วผู้ให้เช่ายินยอมให้ผู้เช่าๆต่อไปอีก  10  ปี”  นั้น  ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่น  ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าจึงไม่ผูกพันมืด  ดังนั้น  การที่ขาวไปพบมืดและขอเช่าอาคารต่อไปอีก  10  ปี  ตามสัญญาเช่าข้อสุดท้าย  และมืดปฏิเสธมิให้ขาวเช่าต่อ  คำปฏิเสธของมืดกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนสัญญาข้อที่ว่า  “หากผู้เช่าไม่ได้เช่าต่อ  ผู้ให้เช่าต้องขายอาคารให้กับผู้เช่า”  นั้นก็เป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น  มิใช่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้เช่าตามกฎหมายด้วย  มืดจึงไม่ต้องผูกพันตามสัญญาข้อนี้  เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ผู้รับโอนต้องรับมาด้วยนั้น  คือสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น  ดังนั้นการที่ขาวขอให้มืดขายอาคารให้ตนตามสัญญาเช่าข้อสุดท้ายแต่ถูกมืดปฏิเสธ  คำปฏิเสธของมืดกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป  คำปฏิเสธของมืดทั้ง  2  ประการชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2 

(ก)   แสดทำสัญญาเป็นหนังสือให้ม่วงเช่ารถยนต์มีกำหนดเวลา  3  ปี  ตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือนของแต่ละเดือนเป็นค่าเช่าเดือนละ  50,000  บาท  ปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ในปี  2555  ม่วงไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับแสดเลย  ดังนั้นในวันที่  10  มีนาคม  2555  แสดจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับม่วงทันที  และให้ม่วงนำรถยนต์มาคืนให้กับแสดภายใน  15  วัน  ให้วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาเช่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ข)  ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบจะแตกต่างไปหรือไม่  และแสดจะเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ม่วงไม่ชำระ  100,000  บาท  (หนึ่งแสนบาท)  ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่า  กำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  การที่ม่วงไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับแสดในปี  2555  นั้น  แสดจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้  แต่แสดจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ม่วงชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าม่วงยังไม่ยอมชำระอีก  แสดจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ตามมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้น  การที่แสดบอกเลิกสัญญาเช่ากับม่วงทันที  และให้ม่วงนำรถยนต์มาคืนแสดภายใน  15  วัน  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าในสองเดือนแรกของปี  2555  นั้น  ย่อมถือเป็นกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัด  ไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกันแล้ว  ดังนั้น  แสดผู้ให้เช่าซื้อจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของแสดจึงชอบด้วยกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม  แสดจะเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ม่วงไม่ชำระ  100,000  บาท  ไม่ได้  เพราะตามหลักกฎหมายมาตรา  574  วรรคแรก  หากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินค่าเช่าซื้อสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  และริบเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ใช้มาแล้วเท่านั้น  จะเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพราะผิดนัดหรือผิดสัญญาดังกล่าวไม่ได้

สรุป

(ก)    การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของแสดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีของแสดชอบด้วยกฎหมาย  แต่แสดจะเรียกเงินค่าเช่าซื้อที่ม่วงไม่ชำระ  100,000  บาท  ไม่ได้  ดังนั้น  คำตอบจึงแตกต่างกัน

 

ข้อ  3 

(ก)    นายขาวทำสัญญาจ้างนายเล็กเป็นลูกจ้าง  มีกำหนดเวลา  2  ปี  โดยชำระสินจ้างเดือนละ  15,000  บาท  ทุกๆวันสิ้นเดือน  เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  นายเล็กได้ยื่นเรื่องขอลาไปจัดงานสมรสของลูกสาวที่ต่างจังหวัดตั้งแต่วันที่  19 ถึง  23  มีนาคม  2555  แต่นายขาวเห็นว่าบริษัทมีงานจำนวนมากจึงไม่อนุญาต  นายเล็กไม่ทราบว่าไม่ได้รับอนุญาตก็ได้เดินทางไปจัดงานสมรสของลูกสาวและกลับมาทำงานในวันจันทร์ที่  26  มีนาคม  2555  นายขาวจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนายเล็กทันที  ในวันที่  31  มีนาคม  2555  แต่นายเล็กต่อสู้ว่าสัญญาจ้างตนมีกำหนดเวลาอยู่ยังบอกเลิกสัญญาจ้างเช่นนี้ไม่ได้  ดังนั้นที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไร  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

(ข)    เมื่อวันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  นายหมีทำสัญญาจ้างนายช้างให้ก่อสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่  31  มกราคม  2555  โดยตกลงที่จะจ่ายสินจ้างให้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จเป็นงวดๆ  ตามที่ระบุไว้ในสัญญา  และในสัญญาได้ระบุไว้ว่าให้นายหมีผู้ว่าจ้างเป็นผู้ส่งมอบประตูหน้าต่างที่สั่งทำเป็นพิเศษ  เพื่อนำมาประกอบในการก่อสร้างโรงงานโดยกำหนดให้ส่งมอบแก่นายช้างผู้รับจ้าง  ภายในวันที่  1  พฤศจิกายน  2554  แต่นายหมีได้ส่งมอบล่าช้าให้นายช้างในวันที่  15  ธันวาคม  2554 นายช้างได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบโรงงานได้ในวันที่  1  มีนาคม  2555  นายหมีได้ทักท้วงว่านายช้างส่งมอบงานล่าช้าจะต้องรับผิดชอบด้วย  เช่นนี้

1)       การส่งมอบงานไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้  ตามกฎหมายมาตรา  596  จะต้องรับผิดอย่างไร

2)      จากโจทย์  นายช้างจะต้องรับผิดหรือไม่  เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  583  ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี  ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายขาวทำสัญญาจ้างนายเล็กเป็นลูกจ้าง  มีกำหนดเวลา  2  ปี  โดยชำระสินจ้างทุกๆวันสิ้นเดือน  เริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  และจะครบกำหนดในวันที่  31  มกราคม  2556  นั้น  สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่มีกำหนดเวลาแน่นอน  ซึ่งโดยหลักแล้วนายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าวไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  นายเล็กได้ยื่นเรื่องขอลาไปจัดงานสมรสของลูกสาว  แต่นายขาวนายจ้างไม่ได้อนุญาต  และนายเล็กก็หยุดงานไปตั้งแต่วันที่  19  ถึง  23  มีนาคม  ดังนี้  แม้นายเล็กจะได้ยื่นหนังสือขอลาหยุดงานแล้ว  แต่เมื่อนายจ้างไม่อนุญาต  จึงต้องถือว่าการที่นายเล็กได้หยุดงานไปดังกล่าวนั้น  เป็นการละทิ้งงานไปเสียตามมาตรา  583  ซึ่งนายจ้างสามารถไล่นายเล็กออกได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า  หรือให้สินไหมทดแทน  ดังนั้น  นายขาวจึงบอกเลิกสัญญาจ้างนายเล็กในวันที่  31  มีนาคม  2555  ได้

(ข)    หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  591  ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี  เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี  ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

มาตรา  596  ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดีหรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี  ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง  หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา  ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1)       ในเรื่องสัญญาจ้างทำของนั้น  หากผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา  ตามกฎหมายมาตรา  596  กำหนดให้ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้รับจ้างลงได้  หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา  ผู้ว่าจ้างก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้

แต่อย่างไรก็ดี  ถ้าความชักช้าในการที่ทำเกิดขึ้นเพาะสัมภาระที่ผู้ว่าจ้างส่งให้  หรือเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้าง  กรณีเช่นนี้ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด  เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะ  หรือคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน  ตามมาตรา  591

2)      จากโจทย์  สัญญาก่อสร้างโรงงานดังกล่าว  เป็นกรณีที่ผู้รับจ้างคือ  นายช้างตกลงรับจะทำงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับนายหมีผู้ว่าจ้าง  และนายหมีตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสำเร็จที่ทำนั้น  จึงเป็นสัญญาจ้างทำของ  ตามมาตรา  587  ดังนั้น  การที่นายช้างผู้รับจ้างทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบโรงงานล่าช้าไม่ทันเวลา  นายช้างจะต้องรับผิดตามมาตรา  596  คือ  นายหมีนายจ้างชอบที่จะลดสินจ้างที่ต้องจ่ายลงได้  หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาก่อสร้างโรงงานอยู่ที่เวลา  นายหมีก็ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้

แต่อย่างไรก็ตาม  เมื่อปรากฏว่า  ความชักช้าของการที่นายช้างทำดังกล่าวนั้น  เกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้  คือ  เกิดจากการที่นายหมีส่งมอบประตูหน้าต่างให้ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้  จึงทำให้นายช้างก่อสร้างโรงงานล่าช้าตามไปด้วย  ดังนั้น  นายช้างผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดจากการที่ส่งมอบโรงงานไม่ทันเวลาดังกล่าว  ตามมาตรา  591

สรุป

(ก)    นายขาวสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างนายเล็กได้ทันที  ในวันที่  31  มีนาคม  2555

(ข)

1)  การส่งมอบงานไม่ทันเวลาที่กำหนดไว้  ตามกฎหมายมาตรา  596  จะต้องรับผิดดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

2)  จากโจทย์  นายช้างไม่ต้องรับผิด  เพราะการส่งมอบงานไม่ทันเวลาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ S/2554

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2554

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2008

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและจดทะเบียนการเช่าให้ดำเช่าบ้านหนึ่งหลังมีกำหนดเวลา  5  ปี  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันสิ้นเดือน  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายมีข้อความว่า  “หากผู้เช่าเช่าครบ  5  ปีแล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก  5  ปี  หากผู้เช่าไม่ประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันสัญญาที่ได้รับจากผู้เช่าเป็นจำนวนเงิน  150,000  บาท  ให้กับผู้เช่าด้วย”  ดำเช่าบ้านจากแดงได้เพียง  3  ปีเต็ม  แดงเจ้าของบ้านเช่าได้ยกบ้านให้กับเขียวบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย  แต่ดำก็ยังคงอยู่ในบ้านเช่าโดยที่เขียวไม่ว่าอะไร  ปรากฏว่าในวันครบกำหนดสัญญาเช่าบ้าน  5  ปี  ซึ่งตรงกับวันที่  30  เมษายน  2555  นั้น  ดำได้พบกับเขียวและขอเช่าบ้านต่อไปอีก  5  ปี  เขียวกลับปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำมั่น  ดำจึงขอเงิน  150,000  บาท  ซึ่งเป็นเงินประกันสัญญาคืนจากเขียว  เขียวไม่ยอมคืนเงินให้ดำเช่นกัน

ให้วินิจฉัยว่า  การปฏิเสธของเขียวทั้ง  2  ประการดังกล่าว  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด  (ให้วินิจฉัยแยกตอบทั้ง  2  ประการด้วย)

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  538  เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น  ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ  ท่านว่า  จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่  ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป  หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา  569  อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป  เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  569  ได้กำหนดเอาไว้ว่า  ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์  ไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ระงับสิ้นไป  และมีผลทำให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าที่มีต่อผู้เช่าด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อสัญญาเช่าบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ระหว่างแดงกับดำซึ่งมีกำหนด  5  ปีได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  538  และสามารถใช้บังคับกันได้  5  ปี  และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าดำเช่าบ้านหลังนี้มาได้เพียง  3  ปี  แดงได้ยกบ้านเช่าให้กับเขียวบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของตน  กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับดำผู้เช่าระงับสิ้นไป  ตามมาตรา  569  วรรคแรก  โดยเขียวผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย  กล่าวคือ  เขียวต้องให้ดำเช่าบ้านหลังนั้นต่อไปจนครบกำหนด  5  ปีตามสัญญาเช่า  ตามมาตรา  569  วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม  สัญญาเช่าข้อสุดท้ายที่มีข้อความว่า  “หากผู้เช่า  เช่าครบ  5  ปีแล้ว  ผู้ให้เช่าให้คำมั่นจะให้ผู้เช่าเช่าต่อไปอีก  5  ปี”นั้น ข้อความดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิและหน้าที่ตามคำมั่นจะให้เช่า  ไม่ใช่สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่า  จึงไม่ผูกพันเขียว  ดังนั้น  การที่ดำได้พบเขียวและขอเช่าบ้านต่อไปอีก  5  ปี  และเขียวปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามคำมั่นนั้น  คำปฏิเสธของเขียวกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนข้อสัญญาที่ว่า  “หากผู้เช่าไม่ประสงค์จะเช่าต่อไปอีก  ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันสัญญาที่ได้รับจากผู้เช่าเป็นจำนวน  150,000  บาท  ให้กับผู้เช่าด้วย”นั้น  ก็เป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอื่น  มิใช่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสัญญาเช่า  ทั้งไม่ใช่หน้าที่ของ ผู้ให้เช่าตามกฎหมายด้วย  ผู้รับโอนจึงไม่ต้องผูกพันตามข้อสัญญานี้  เพราะสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่ผู้รับโอนจะต้องรับมาด้วยนั้น  คือสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น  ดังนั้น  การที่ดำขอเงิน  150,000  บาท  ซึ่งเป็นเงินประกันสัญญาคืนจากเขียว  และเขียวไม่ยอมคืนเงินให้ดำนั้น  คำปฏิเสธของเขียวกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป  การปฏิเสธของเขียวทั้ง  2  ประการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2

(ก)   มืดทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ม่วงเช่าอาคารพาณิชย์มีกำหนดเวลา  4  ปี  นับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นต้นไป  โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆวันที่  6  ของแต่ละเดือนเป็นค่าเช่า  เดือนละ  25,000  บาท  (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)  โดยมืดได้รับเงินค่าเช่าจากม่วงไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นเงิน  350,000  บาท  (สามแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)  และม่วงได้รับมอบอาคารที่เช่าในวันดังกล่าวด้วย  ปรากฏว่าในปี  พ.ศ.2554  ม่วงไม่ได้จ่ายค่าเช่าให้มืดอีกเลย  ตั้งแต่วันที่  6  มกราคม  2554  จนถึงเดือนมีนาคม  2555  ดังนั้นในวันที่  2  เมษายน  2555  มืดจึงบอกเลิกสัญญากับม่วงทันที  และให้ม่วงอยู่ในอาคารถึงวันที่  17  เมษายน  2555  เท่านั้น  ให้วินิจฉัยว่าการกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

 (ข)   ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่  เพียงใด  จงวินิจฉัย

ธงคำตอบ

(ก)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  560  ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน  หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป  ผู้ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด  ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้น  ตามบทบัญญัติมาตรา  560  ได้บัญญัติเอาไว้ว่า  ถ้าการชำระค่าเช่ากำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน  เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า  ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีก  จึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่ม่วงได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ไว้กับมืดตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  2554  เป็นเงิน  350,000  บาทนั้น  ทำให้ม่วงมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้  14  เดือน  คือ  ตั้งแต่เดือนมกราคม  2554  ถึงเดือนกุมภาพันธ์  2555  แต่เดือนมีนาคม  2555  ม่วงจะต้องชำระค่าเช่าให้กับมืด  (ในวันที่  6  มีนาคม  2555)  ดังนั้นการที่ม่วงไม่ชำระค่าเช่าในเดือนมีนาคม  2555  มืดย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่านั้นได้ แต่เมื่อตามสัญญาเช่านั้น  มีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน  ดังนั้นมืดจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้  จะต้องบอกกล่าวให้ม่วงชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า  15  วัน  ถ้าม่วงยังไม่ยอมชำระอีก  มืดจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้  ตามมาตรา  560  วรรคสอง  ดังนั้น การที่มืดบอกเลิกสัญญากับม่วงทันทีในวันที่  2  เมษายน  2555  และให้ม่วงอยู่ในอาคารถึงวันที่  17  เมษายน  2555  การกระทำของมืดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  574  วรรคแรก  ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ  เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้  ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน  ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ  (ก)  เป็นสัญญาเช่าซื้อ  การที่ม่วงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนมีนาคม  2555  ถือว่าม่วงผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว  เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว  14  คราว  ดังนั้น  มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้  เพราะการที่มืดจะบอกเลิกสัญญาได้จะต้องปรากฏว่าม่วงผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆกัน  ตามมาตรา  574  วรรคแรก  ดังนั้น  การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของมืดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

สรุป

(ก)    การกระทำของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข)   การกระทำของมืดไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ดังนั้น  คำตอบของข้าพเจ้าจึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ  3  เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านอาหารของตน  ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกๆวันที่  28  ของแต่ละเดือน  เดือนละ  12,5000  บาท  สัญญาจ้างเริ่มตั้งแต่ปี  พ.ศ.2553  โดยเป็นสัญญาที่ไม่มีข้อตกลงกันว่าจะจ้างเป็นเวลากี่ปี  ในปี  2555  เหลืองได้จ่ายค่าจ้างเพิ่มให้เป็นเงิน  400  บาทต่อเดือน  น้ำเงินทำงานมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์  2555  เหลืองเห็นว่าร้านอาหารทำการค้าขาดทุน  จึงขอเลิกสัญญาจ้างกับน้ำเงินในวันที่  29  กุมภาพันธ์  2555  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่าน้ำเงินมีสิทธิทำงานไปจนถึงวันที่เท่าใด  และเหลืองจะต้องจ่ายเงินให้กับน้ำเงินตั้งแต่วันที่เหลืองบอกเลิกสัญญาไปจนถึงวันสิ้นสุดของการทำงานของน้ำเงินเป็นจำนวนเท่าใด  จึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  582  ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร  ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้  แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่ง  ในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้  นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  582  วรรคแรก  ได้กำหนดไว้ว่า  สัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  ฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า  ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง  เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า  3  เดือน

กรณีตามอุทาหรณ์  เหลืองจ้างน้ำเงินมาทำงานในร้านอาหารของเหลือง  แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าจะจ้างเป็นระยะเวลานานเท่าใด  สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดเวลา  เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่  29  กุมภาพันธ์  2555  เหลืองได้ขอเลิกสัญญาจ้างน้ำเงิน  จึงถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างในวันที่  28  มีนาคม  2555  (ตกลงจ่ายค่าจ้างทุกๆวันที่  28  ของแต่ละเดือน)  ซึ่งจะมีผลให้สัญญาจ้างสิ้นสุดในวันที่  28  เมษายน  2555  ตามมาตรา  582  วรรคแรก  ดังนั้น  น้ำเงินจึงมีสิทธิทำงานต่อจนถึงวันที่  28  เมษายน  2555    และเหลืองจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้กับน้ำเงินในวันที่  28  มีนาคม  2555  เป็นเงิน 12,900  บาท (12,500+400)  และจ่ายเงินค่าจ้างให้น้ำเงินในวันที่  28  เมษายน  เป็นเงิน  12,9000  บาทเช่นกัน  รวมเป็นเงินทั้งหมด  25,800  บาท  (12,900+12,900)   หรือเหลืองจะจ่ายเงินค่าจ้างให้น้ำเงินทั้งหมด  25,800  บาท  แล้วให้น้ำเงินออกจากงานในทันทีเลยก็ได้ตามมาตรา  582  วรรคสอง

สรุป  น้ำเงินมีสิทธิทำงานไปจนถึงวันที่  28  เมษายน  2555  และเหลืองจะต้องจ่ายเงินให้กับน้ำเงินตั้งแต่วันที่เหลืองบอกเลิกสัญญาไปจนถึงวันสิ้นสุดของการทำงานของน้ำเงินเป็นจำนวน  25,800  บาท

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2555

LAW 2008  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือกับขาวให้ขาวเข่าอาคารพาณิชย์หนึ่งคูหามีกำหนดเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป โดยตกลงชำระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 5 ของแต่ละเดือน ๆ ละ 50,000 บาท ขาวเช่าอาคารซึ่งแดงเป็นเจ้าของได้เพียง 1 ปีเท่านั้น แดงได้ยกอาคารนี้ให้กับมืด บุตรบุญธรรมของแดง การให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย มืดปล่อยให้ขาวเช่าอาคารมาจนครบ 2 ปี และมืดยังคงเก็บค่าเช่าจากขาวมาจนถึงปัจจุบันนี้ แต่ในวันที่ 5 กันยายน 2555 ขาวนำค่าเช่ามาชำระ มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวโดยบอกให้ขาวส่งมอบอาคารคืนในวันสิ้นเดือนกันยายน 2555 ขาวไม่ปฏิบัติตามเพราะขาวมิได้กระทำผิดสัญญา มืดจึงฟ้องเรียกอาคารคืนจากขาวในวันที่ 12 ตุลาคม 2555 ดังนี้ การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าลามปีขึ้นไป หรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา 566 “ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกันหรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าว ล่วงหน้ากว่าสองเดือน

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

มาตรา 570 “ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ระหว่างแดงกับขาว ซึ่งมีกำหนดเวลา 2 ปี ได้ทำเป็นหนังสือ สัญญาเช่าจึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 538 และสามารถใช้บังคับกันได้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าชาวเช่าอาคารซึ่งแดงเป็นเจ้าของมาได้เพียง 1 ปีเท่านั้น แดงได้ยกอาคารนี้ให้กับมืด บุตรบุญธรรมของแดงโดยการให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เข่ากับ ขาวผู้ให้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคแรก โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของ ผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย กล่าวคือ มืดต้องให้ขาวเช่าอาคารนั้นต่อไปจนครบกำหนด 2 ปีตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง

ตามข้อเท็จจริง เมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด 2 ปี และมืดยังคงเก็บค่าเช่าจากขาวมาจนถึง ปัจจุบันนี้โดยที่มืดก็ไม่ได้ทักท้วงนั้น ถือเป็นการทำสัญญาเช่ากันใหม่ต่อไป โดยเป็นสัญญาเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา ตามมาตรา 570 ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาให้นำสัญญาเดิมมาใช้บังคับ

ดังนั้น เมือเป็นสัญญาเช่าที่ไมมีกำหนดเวลา ในวันที่ 5 กันยายน 2555 ขาวนำค่าเช่ามาขำระ มืดจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวได้ตามมาตรา 566 แต่การที่มืดบอกเลิกสัญญาและให้ขาวส่งมอบอาคารคืนในวัน ลิ้นเดือนกันยายน 2555 นั้น ถือว่าเป็นการบอกเลิกที่ไม่ขอบตามมาตรา566 เพราะตามหลักกฎหมายดังกล่าว มืดจะต้องบอกให้ขาวรู้ตัวและให้ขาวอยู่ในอาคารที่เช่าจนถึงวับที่ 5 ตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นชั่วกำหนดเวลาชำระ ค่าเช่าระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้การบอกเลิกสัญญาเช่าจะไม่ชอบตามมาตรา 566 แต่การบอกเลิกดังกล่าว ก็ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อมืดฟ้องเรียกอาคารคืนจากขาวในวันที่ 12 ตุลาคม 2555 ซึ่งเลยวันที่ 5 ตุลาคม 2555 มาแล้ว การฟ้องเรียกอาคารคืนของมืดจึงชอบด้วยกฎหมาย เพราะการนับเวลาตามมาตรา 566 ให้นับไปจนถึงวันฟ้องเรียกอาคารคืน ดังนั้น ขาวจึงต้องล่งคืนอาคารให้กับมืด

สรุป การที่มืดบอกเลิกสัญญาเช่ากับขาวโดยบอกให้ขาวส่งมอบอาคารคืนในวันสิ้นเดือน กันยายน 2555 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่มืดฟ้องเรียกอาคารคืนจากขาวในวันที่ 12 ตุลาคม 2555 นั้น ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2.        (ก) ดำทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เดือนเช่าที่ดินมีกำหนดเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป โดยตกลงชำระค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 5 ของแต่ละเดือน ในวัน ทำสัญญาเช่าเดือนได้ชำระค่าเช่าให้ 50,000 บาท เมื่อเดือนอยู่ในที่ดินที่เช่าแล้วเดือนไม่ชำระค่าเช่าให้กับดำเลย ดังนั้นในวันที่ 7 ตุลาคม 2555 ดำจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับเดือนทันที แล้วให้เดือนส่งมอบที่ดินคืนในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 การกระทำของดำชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) หากข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อคำตอบจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด

ธงคำตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าการชำระค่าเช่า กำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เดือนได้ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้ดำในวันทำสัญญา 50,000 บาท นั้น ย่อมทำให้เดือนมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้ใน 2 เดือนแรก คือ เดือนสิงหาคม และกันยายน แต่ในเดือนตุลาคมเดือน ต้องชำระค่าเช่าให้ดำ (ในวันที่ 5 ตุลาคม 2555) และเมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน การที่เดือน ไม่ชำระค่าเช่าในเดือนตุลาคมนั้น ดำจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ แต่ดำจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้เดือนชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าเดือนยังไม่ยอมชำระอีกดำจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่า ได้ตามมาตรา 560 วรรคสอง ดังนั้น การที่ดำบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคแรก ในกรณีผิดนัดไมใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ การที่เดือนผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือนตุลาคม 2555 ถือว่าเดือนผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว 2 คราว ดังนั้นดำจึง บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ เพราะการที่ดำจะบอกเลิกสัญญาได้จะต้องปรากฏว่าเดือนผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงิน สองคราวติด ๆ กันตามมาตรา 574 วรรคแรก ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาของดำจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป(ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของดำไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ช) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของดำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นคำตอบของข้าพเจ้า จึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ 3. นายสหัสทำสัญญาจ้างนายพนมให้ทำการรื้อตึกแถว 20 ห้อง และให้สร้างตึกใหม่แทนโดยตกลงกัน ให้ชำระสินจ้างเป็นงวด ๆ เมื่องานแล้วเสร็จเป็นส่วน ๆ ตามที่ได้กำหนดไวในสัญญาจ้าง นายพนม ได้ทำสัญญาจ้าง น.ส.รัตนา ซึ่งทำอาหารเก่งโดยออกเงินค่าเดินทางจากจังหวัดแพร่มาทำงานที่ กรุงเทพฯ มีกำหนดเวลาไม่เกิน 2 ปี เพื่อทำอาหารให้ลูกจ้างที่ทำงานกับนายพนมตกลงจ่ายสินจ้าง เดือนละ 12,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือน เมื่อได้เริ่มงานไปแล้ว 6 เดือน นายพนมตรวจร่างกายพบว่า ตัวเองป่วยมาก นายพนมจึงขอบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายสหัส (เช่นนี้จะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด) และนายพนมได้ขอบอกเลิกสัญญาจ้างกับนางสาวรัตนาทันทีในวันที่ 30 กันยายน แต่นางสาวรัตนาขอค่าเดินทางขากลับไปบ้านที่จังหวัดแพร่ด้วย นายพนมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายให้ เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงาน ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า นายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้

มาตรา 586 “ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้ เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้างจำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดังต่อไปนี้ คือ

(1)     สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ

(2)     ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา 605 “ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสหัสทำสัญญาจ้างนายพนมให้ทำการรื้อตึกแถว 20 ห้อง และให้สร้างตึกใหม่แทนโดยตกลงกันให้ชำระสินจ้างเป็นงวด ๆ เมื่องานแล้วเสร็จเป็นส่วน ๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาจ้างนั้น เป็นกรณีที่นายพนมผู้รับจ้างตกลงรับจะทำงานสิงใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับนายสหัสผู้ว่าจ้าง และ นายสหัสผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อความสำเร็จของงานที่ทำนั้น จึงเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587

และในเรื่องสัญญาจ้างทำของนั้นตามมาตรา 605 ได้กำหนดไว้ว่า ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้โดยให้เสียค่าสินไหมทดแทนให้เพื่อความเสียหายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ว่าจ้างเท่านั้น ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า นายพนมเป็นผู้รับจ้างจึงไม่สามารถขอบอกเลิกสัญญาจ้างได้ แม้จะมีเหตุจำเป็นคือ ตรวจพบว่าตัวเองป่วยมากก็ตาม

ส่วนการที่นายพนมได้ทำสัญญาจ้าง น.ส.รัตนา เพื่อทำอาหารให้ลูกจ้างที่ทำงานกับนายพนม โดยตกลงจ่ายสินจ้างให้ตลอดเวลาที่ น.ส.รัตนาทำงานให้ จึงเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามมาตรา 575 เมื่อปรากฏว่า นายพนมได้จ้าง น.ส.รัตนามาแต่ต่างถิ่นโดยออกเงินค่าเดินทางให้ กรณีจึงเป็นไปตามมาตรา 586 กล่าวคือ เมื่อนายพนมได้ขอบอกเลิกสัญญาจ้างกับ น.ส.รัตนาทันทีในวันที่ 30 กันยายน โดยสัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของ น.ส.รัตนาลูกจ้างแต่อย่างใด นายพนมจึงต้องจ่ายค่าเดินทางขากสับไปบ้านที่ จังหวัดแพร่ให้แก่ น.ส.รัตนาด้วยตามมาตรา 586

สรุป ข้าพเจ้าเห็นว่า นายพนมจะขอบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายสหัสไม่ได้ และนายพนม จะต้องจ่ายค่าเดินทางขากลับไปบ้านที่จังหวัดแพร่ให้แก่ น.ส.รัตนา

LAW2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2555

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ

 คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงผู้ให้เช่าซึ่งเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ได้ทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าบ้านหนึ่งหลัง พร้อมกับให้ขาวมีสิทธิใช้ที่ดินบริเวณรอบบ้านด้วยโดยมีสัญญาตกลงกันไว้ ดังนี้ ข้อ 5 “สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 หากครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าและผู้ให้เช่าตกลงให้สัญญาเช่านี้มีกำหนดเวลา ต่อไปอีก 3 ปี โดยมีต้องทำสัญญาเช่าฉบับใหม่

ข้อ 6 “ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าปลูกอาคารโรงเก็บรถติดกับบ้านที่เช่าในบริเวณที่ดินรอบบ้านและถ้าครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่าข้อ 5 ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงินให้กับผู้เช่า 300,000 บาท เป็นค่าโรงเก็บรถที่ผู้เช่าตกลงขายให้กับผู้ให้เช่า โดยผู้เช่าไม่ต้องรื้อถอนโรงเก็บรถที่เป็นของผู้เช่า” ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เช่าเช่าบ้านมาเพียง 1 ปีเท่านั้น ผู้ให้เช่าได้ขายบ้านและบริเวณที่ดินทั้งหมด ให้กับม่วง การซื้อขายทำถูกต้องตามกฎหมาย ครั้นสัญญาเช่าครบกำหนด 3 ปีแล้ว ม่วงได้แจ้งให้ขาว ออกจากบ้านไปและให้ส่งมอบบ้านและบริเวณที่ดินทั้งหมดให้เสร็จสิ้นในวันที่ 15 มีนาคม 2556 แต่ขาว อ้างว่าขาวมีสิทธิเช่าบ้านต่อไปอีก 3 ปี ตามสัญญาข้อ 5 และขาวเรียกให้ม่วงจ่ายเงิน 300,000 บาท ให้ขาวตามสัญญาข้อ 6 จงวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของขาวนั้นม่วงจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามีได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนด ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีตอผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าบ้านระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา 3 ปี เมื่อมีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ ย่อมใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามมาตรา 538

ตามข้อเท็จจริง ขาวเช่าบ้านมาได้เพียง 1 ปี แดงซึ่งเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินได้ขายบ้านและที่ดินทั้งหมดให้กับม่วง กรณีเข่นนี้ถือว่าเป็นการโอนกรรมสิทธ์ในอสังหาริมทรัพย์ สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่าและขาวผู้เช่า จึงไม่ระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคแรก โดยม่วงผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนึ่งมีต่อ ผู้เช่านั้นด้วย กล่าวคือม่วงต้องให้ขาวเช่าบ้านอยู่ต่อไปจนครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง

สำหรับสัญญาเช่าข้อ 5 ที่ตกลงให้สัญญาเช่ามีต่อไปอีก 3 ปีนั้น ม่วงไม่ต้องรับมาเพราะ มิฉะนั้นแล้วเท่ากับสัญญาเช่ามีกำหนด 6 ปี แต่สัญญาเช่าบ้านเพียงแต่ทำเป็นหนังสือไม่ได้ไปจดทะเบียนจึงฟ้องร้องให้บังดับคดีได้เพียง 3 ปี ตามมาตรา 538

และสัญญาเช่าข้อ 6 ที่ผู้ให้เช่าคือแดงตกลงให้ผู้เช่าคือขาวปลูกอาคารโรงเก็บรถและถ้าครบ กำหนด 3 ปี ผู้ให้เช่าตกลงจ่ายเงินให้กับผู้เช่า 300,000 บาท เป็นค่าโรงเก็บรถที่ผู้เช่าตกลงขายให้กับผู้ให้เช่านี้ ม่วงไม่ต้องปฏิบัติตาม เพราะเป็นข้อตกลงอื่นไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง ซึ่งม่วง ไม่ต้องรับมาเช่นกัน ดังนั้นเมื่อสัญญาเช่าครบกำหนด 3 ปี ม่วงจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้ขาวออกจากบ้านไป และให้ส่งมอบบ้านและบริเวณที่ดินทั้งหมดแก่ม่วงได้

สรุป ม่วงไม่ต้องปฏิบัติตามข้ออ้างของขาวทั้ง 2 ประการ

 

ข้อ 2. (ก) น้ำเงินทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้เขียวเข่าที่ดินของน้ำเงินมีกำหนดเวลา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่1 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป โดยตกลงชำระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 1 ของแต่ละเดือน ในวัน 1 มิถุนายน 2555 นั้นเขียวได้จ่ายค่าเช่าไว้ให้กับน้ำเงิน เป็นเงิน 100,000 บาท โดยค่าเช่า จะต้องจ่ายให้เดือนละ 20,000 บาท ตามสัญญาเช่าที่ตกลงกัน เมื่อน้ำเงินรับค่าเช่าดังกล่าวมาแล้ว ปรากฏว่าเขียวไม่ได้จ่ายค่าเช่าให้กับน้ำเงินเลยจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้นในวันที่ 2 มีนาคม 2556 น้ำเงินจึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับเขียวทันทีเพราะไม่ชำระค่าเช่า และให้เขียวส่งมอบที่ดินคืนภายใน 15 วัน พร้อมกับเรียกค่าเช่าที่ไม่ชำระทั้งหมด จงวินิจฉัยว่า การกระทำของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าซื้อ คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพียงใด 

ธงคำตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

การบอกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า มีกำหนดไว้ในมาตรา 560 กล่าวคือ  ถ้าผู้เข่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ แต่ถ้าชำระค่าเช่าเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เช่น รายสองเดือนหรือรายปี ผู้ห้เช่าต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระไม่น้อยกว่า 15 วันจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาทันทีไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าที่ดินระหว่างน้ำเงินและเขียว มีการตกลงชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน โดยตกลงชำระค่าเช่าทุกๆ วันที่ 1 ของแต่ละเดือน ดังนั้นแม้น้ำเงินจะได้รับค่าเช่ามา 100,000 บาท เป็นค่าเช่า 5 เดือน และเขียวไม่ขำระค่าเช่าอีก 5 เดือน คือเดือน พ.ย. 55ธ.ค. 55 และ ม.ค.ก.พ. และ มี.ค. 56 รวมค่าเช่า ที่เขียวค้างชำระ 100,000 บาทก็ตาม น้ำเงินจะบอกเลิกสัญญาเช่าในวันที่ 27 มี.ค. 56 ทันทีไม่ได้ น้ำเงินจะต้อง บอกกล่าวให้เขียวนำค่าเช่ามาชำระก่อนโดยต้องให้เวลาเขียวอย่างน้อย 15 วัน หากเขียวไม่นำค่าเช่ามาชำระน้ำเงินจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ สวนค่าเช่าที่ค้าง 5 เดือนเป็นเงิน 100,000 บาทนั้น น้ำเงินมีสิทธิเรียกจาก เขียวได้เพราะเป็นค่าเช่าที่ค้างชำระ

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคแรก ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญา ในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สินและเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ การที่เขียวผิดนัด 5 งวดติดกัน น้ำเงินมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีตามมาตรา 574 วรรคแรก และริบเงิน 100,000 บาทที่ชำระมาแล้ว และกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินได้ โดยไม่ต้องเตือนให้ผู้เช่าซื้อนำค่าเช่าซื้อมาฃำระก่อนแต่อย่างใด แต่ค่าเช่าซื้อที่ไม่ชำระ 5 งวดเป็นเงิน 100,000 บาท น้ำเงินจะเรียกจากเขียวไม่ได้ คำตอบจึงแตกต่างกัน

สรุป   (ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีของน้ำเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การเรียกค่าเช่าที่ไม่ชำระทั้งหมดชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันทีของน้ำเงินชอบด้วยกฎหมาย แต่การเรียกค่าเช่าที่ไม่ชำระทั้งหมดไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. (ก) นายสุนัยทำสัญญาจ้างนายกำแหงเป็นลูกจ้างมีกำหนดเวลา 1 ปี โดยให้มาทำงานตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันที่ 26 ของเดือน ต่อมา นายกำแหงมีปัญหาในการทำงานโดยมาทำงานสายบ่อย ๆ และชอบไปรบกวนเพื่อนร่วมงาน ในขณะกำลังทำงาน นายสุนัยจึงได้บอกกล่าวแก่นายกำแหงในวันที่ 15 มีนาคม 2556 ว่าจะเลิกสัญญาจ้างและได้บอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31มีนาคม 2556 โดยจ่ายค่าจ้างให้15,000บาท แต่นายกำแหงต่อสู้ว่าไม่ถูกต้อง เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

(ข) นายอำพลทำสัญญาจ้างนายรุ่งเรืองให้ก่อสร้างบ้านมีกำหนดเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนธันวาคม 2555 โดยตกลงจ่ายสินจ้างเป็นงวด ๆ ตามความสำเร็จของงาน ในระหว่างก่อสร้างบ้านอยู่นั้น นายอำพลได้สั่งให้นายรุ่งเรืองต่อเติมห้องนอนชั้นสองเพิ่มเติม แต่ก็สร้างปัญหาต่อมากับโครงสร้างของบ้านทำให้ต้องแก้ไขซ่อมแซมเป็นเวลาถึงสองเดือน นายรุ่งเรืองได้ก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยและส่งมอบบ้านให้นายอำพลในวันที่ 1 มีนาคม 2556 แต่นายอำพล อ้างว่าส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดเวลาในสัญญาต้องรับผิดชอบด้วย เช่นนี้ นายรุ่งเรืองจะต้อง รับผิดชอบที่ส่งมอบงานล่าช้าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 581 “ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ ต่อไปอีกและนายจ้างรู้ดังนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกันใหม่ โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้ด้วยการบอกกล่าว ตามความในมาตราต่อไปนี้

มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่งในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียวแล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุนัยทำสัญญาจ้างนายกำแหงมีกำหนดเวลา 1 ปี โดยให้ทำงาน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 แต่เมื่อนายกำแหงทำงานไปถึงเดือนมีนาคม 2556 จึงสันนิษฐานว่าได้ทำสัญญาจ้างโดยไม่มีกำหนดเวลาตามมาตรา 581 ซึ่งคู่สัญญาอาจบอกเลิกสัญญาจ้างได้ตามมาตรา 582 คือบอกกล่าวเมื่อถึง หรือก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า

ตามข้อเท็จจริง การที่นายสุนัยได้บอกกล่าวในวันที่ 15 มีนาคม 2556 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างของวันที่ 26 มีนาคม 2556 การบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 มีนาคม 2 จึงไม่ถูกต้องตามมาตรา 582 วรรคแรก นายกำแหงจึงสามารถยกขึ้นต่อสู้ได้

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแฟงและพาณิชย์

มาตรา 587 “อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงรับทำการงานสิ่งใดสิงหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น

มาตรา 591 “ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่ง สัมภาระซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้วว่า สัมภาระนั้นไม่เหมาะหรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้องและมิได้บอกกล่าวตักเตือน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอำพลทำสัญญาจ้างนายรุ่งเรืองให้ก่อสร้างบ้านโดยตกลงจ่ายสินจ้างให้เมื่องานสำเร็จนั้นเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 และการที่นายอำพลได้สั่งให้นายรุ่งเรืองต่อเติมห้องนอนชั้นสองเพิ่มเติม และสร้างปัญหาต้องแก้ไขซ่อมแซมถึงสองเดือนอันเป็นเหตุให้ส่งมอบงานช้า ไปเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2556 นั้น ก็เนื่องจากเพราะเป็นคำสั่งของผู้ว่าจ้างที่สั่งให้ต่อเติมห้องเพิ่มขึ้นนั้นเอง ซึ่งตามมาตรา 591 ได้กำหนดไว้ว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด ดังนั้นการส่งมอบงานล่าช้าเป็นเพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้าง นายรุ่งเรืองผู้รับจ้างจึงไม่ต้องรับผิดตามมาตรา 591

สรุป   (ก) การบอกเลิกสัญญาจ้งในวันที่ 31 มีนาคม 2556 ไม่ถูกต้อง นายกำแหงสามารถยกขึ้นต่อสู้ได้

(ข) นายรุ่งเรืองไม่ต้องรับผิดชอบที่ส่งมอบงานล่าช้า

LAW 2008 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

LAW 2008  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ

 คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. แดงทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือให้ขาวเช่าอาคารพาณิชย์หนึ่งคูหา มีกำหนดเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2553 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 โดยตกลงชำระค่าเช่าทุก ๆ วันสิ้นเดือน สัญญาเช่า มีข้อความสำคัญคือ

ข้อ 5. หากครบกำหนด 3 ปีตามสัญญาเช่าที่ได้ตกลงกันไว้ให้ต่อสัญญาเช่าไปอีก 3 ปี และผู้ให้เช่า กับผู้เช่าตกลงว่าสัญญาเช่า 3 ปีที่ต่อจากสัญญาเดิม ต้องจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้นอิก 5 เปอร์เซ็นต์จาก ค่าเช่าเดิม

ข้อ 6. ถ้าผู้เช่าไม่ได้เช่าตามข้อ 5. ผู้ให้เช่าตกลงซื้อแอร์คอนดิชั่นจำนวนทั้งหมดที่ผู้เช่านำมาติดตั้งไว้ ในอาคารที่เช่านี้ และผู้เช่ายินยอมขายให้กับผู้ให้เช่าโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น

ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไนปี 2554 แดงซึ่งเป็นเจ้าของอาคารที่ให้ขาวเช่าได้ขายอาคารนี้ให้กับมืด โดย การซื้อขายทำโดยชอบด้วยกฎหมาย ขาวได้อยู่ในอาคารที่เช่ามาจนครบกำหนด 3 ปี และมืดเรียก อาคารคืนจากขาววันที่ 5พฤษภาคม2556 โดยมืดบอกเลิกสัญญาและไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาข้อ 5. พร้อมกับแจ้งให้ขาวรื้อถอนแอร์คอนดิชั่นออกไปจากอาคารที่เช่านี้ด้วยโดยมิได้ปฏิบัติตามข้อ 6.

ดังนี้ การกระทำของมืดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 538 “เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามิกำหนดกว่าสามปีขึ้นไป หรือกำหนด ตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้ หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตอพนักงานเจ้าหน้าที่ ท่านว่าการเช่านั้น จะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี 

มาตรา 569 “อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า

ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 569 ได้กำหนดเอาไว้ว่า ถ้าเป็นการโอนกรรมสิทธ์ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งให้เช่าย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นระงับสิ้นไป และจะมีผลทำให้ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนตามสัญญาเช่าทีมีต่อผู้เช่าด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ระหว่างแดงกับขาวมีกำหนดเวลา 3 ปี เมื่อทำสัญญาเป็นหนังสือ สัญญาเช่าจึงชอบด้วยมาตรา 538 และสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในปี 2554 แดงซึ่งเป็นเจ้าของอาคารที่ให้ขาวเช่าได้ขายอาคารนี้ให้กับมืด โดยการซื้อขายทำโดยชอบด้วยกฎหมาย กรณีนี้ย่อมไม่ทำให้สัญญาเช่าระหว่างแดงผู้ให้เช่ากับขาวผู้เช่าระงับสิ้นไปตามมาตรา 569 วรรคแรก โดยมืดผู้รับโอนจะต้องผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านั้นด้วย กล่าวคือ มืดจะต้องให้ขาวเช่า อาคารนั้นต่อไปจนครบกำหนด 3 ปีตามสัญญาเช่าตามมาตรา 569 วรรคสอง

และตามข้อเท็จจริง มืดได้ให้ขาวอยู่ในอาคารที่เช่าจนครบกำหนด 3 ปี ถือว่ามืดได้ปฏิบัติ ตามมาตรา 569 วรรคสองแล้ว ดังนั้นเมื่อสัญญาเช่าระหว่างแดงกับขาวได้ครบกำหนดระยะเวลาการเช่าในวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 แล้ว และมืดได้บอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งเรียกอาคารคืนจากขาวในวันที่ 5 พฤษภาคม 2556 โดยไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาข้อ 5. นั้น มืดย่อมสามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะตามสัญญา ข้อ 5. ที่แดงยอมให้ขาวต่อสัญญาเช่าไปอีก 3 ปี ซึ่งรวมกับระยะเวลาเช่าเดิมแล้วจะมีกำหนดการเช่าเป็น 6 ปีนั้น เมื่อมิได้มีการจดทะเบียนการเช่าจึงสามารถใช้ฟัองร้องบังคับกันได้เพียง 3 ปีตามมาตรา 538

ส่วนสัญญาข้อ 6. ที่ว่า ถ้าผู้เช่าไม่ได้เช่าตามข้อ 5. ผู้ให้เช่าตกลงซื้อแอร์คอนดิชั่นจำนวนทั้งหมด ที่ผู้เช่านำมาติดตั้งไว้ในอาคารที่เช่านี้ และผู้เช่ายินยอมขายให้กับผู้ให้เช่าโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น” นั้น ก็เป็นสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาอื่น มิใช่สิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับสัญญาเช่า ดังนั้นมืดผู้รับโอนจึงไม่ต้องผูกพันตาม ข้อสัญญานี้และการที่มืดแจ้งให้ขาวรื้อถอนแอร์คอนดิชั่นออกไปจากอาคารที่เช่าโดยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 6. การกระทำของมืดกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป การกระทำของมืดที่เรียกอาคารคืนจากขาวโดยบอกเลิกสัญญาและไม่ยอมปฏิบัติตาม สัญญาข้อ 5. พร้อมกับแจ้งให้ขาวรื้อถอนแอร์คอนดิชั่นออกไปจากอาคารที่เช่าโดยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 6. นั้น ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

2. (ก) ม่วงทำสัญญาเป็นหนังสือให้น้ำาเงินเช่ารถยนต์มีกำหนดเวลา 2 ปี โดยตกลงชำระค่าเช่าทุก ๆ วันที่ 5 ของแต่ละเดือน ๆ ละ 30,000บาท ทำสัญญาเช่าตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 เป็นต้นไป น้ำเงินจ่ายค่าเช่าในวันทำสัญญาเช่าให้กับม่วงเป็นเงิน 330,000 บาท ตั้งแต่ชำระค่าเช่าในวันทำสัญญาเช่า น้ำเงินไม่ได้ชำระค่าเช่าให้กับม่วงเลยจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนี้ เมื่อน้ำเงินไม่ได้ชำระ ค่าเช่าเลยในวันที่ 16พฤษภาคม 2556 ม่วงจึงบอกเลิกสัญญาเช่าทันที และเรียกให้น้ำเงิน ส่งรถยนต์คืนในวันสิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 และให้นำค่าเช่าที่ไม่ชำระทั้งหมดมาชำระด้วย ดังนี้ การกระทำของม่วงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ คำตอบของท่านจะแตกต่างไปหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

(ก) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 560 “ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้

แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้ให้เช่า ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์นั้นตามบทบัญญัติมาตรา 560 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ถ้าการชำระค่าเช่า กำหนดชำระกันเป็นรายเดือนหรือยาวกว่ารายเดือน เมื่อผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีเลยไม่ได้ จะต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าชำระค่าเช่าก่อนไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าผู้เช่ายังไม่ยอมชำระอีกจึงจะบอกเลิกสัญญาได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่น้ำเงินได้จ่ายค่าเช่าในวันทำสัญญาเช่าให้กับม่วงเป็นเงิน 330,000 บาท นั้น ทำให้น้ำเงินมีสิทธิไม่ชำระค่าเช่าได้11 เดือน คือ เดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม (ของปี 2555) และเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม และเดือนเมษายน (ของปี 2556) แต่เดือนพฤษภาคมปี 2556 น้ำเงินต้องชำระค่าเช่าให้แก่ม่วงเป็นเงิน 30,000 บาท ภายในวันที่ 5พฤษภาคม 2556 และเมื่อมีการกำหนดชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน การที่น้ำเงินไม่ชำระค่าเช่าในเดือนพฤษภาคมบั้น ม่วงย่อมมีสิทธิ บอกเลิกสัญญาเช่าได้ แต่ม่วงจะบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีไม่ไต้ ม่วงจะต้องบอกกล่าวให้น้ำเงินชำระค่าเช่าก่อน ไม่น้อยกว่า 15 วัน ถ้าน้ำเงินยังไม่ยอมชำระค่าเช่า (จำนวน 30,000 บาท) อีก ม่วงจึงจะบอกเลิกสัญญาเช่าได้ ตามมาตรา 560 วรรคสอง ดังนั้น การที่ม่วงบอกเลิกสัญญาเช่าทันทีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 574 วรรคแรก ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย

วินิจฉัย

ถ้าข้อเท็จจริงตามข้อ (ก) เป็นสัญญาเช่าซื้อ การที่น้ำเงินผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในเดือน พฤษภาคม 2556 ถือว่าน้ำเงินผิดนัดไม่ใช้เงินเพียงหนึ่งคราว เนื่องจากได้ชำระค่าเช่าซื้อล่วงหน้าไว้แล้ว 11 คราว ดังนั้น ม่วงจึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ เพราะการที่ม่วงจะบอกเลิกสัญญาได้จะต้องปรากฏว่าน้ำเงินผู้เช่าซื้อผิดนัด ไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กันตามมาตรา 574 วรรคแรก ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาของม่วงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป (ก) การบอกเลิกสัญญาเช่าทรัพย์ทันทีของม่วงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของม่วงไม่ขอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นนคำตอบของข้าพเจ้า จึงไม่แตกต่างกัน

 

ข้อ 3. มรกตให้เขียวทำงานเป็นลูกจ้างตั้งแต่ปี 2550 โดยตกลงจ่ายค่าจ้างให้ทุก ๆ วันที่ 14 และวันที่ 28 ของแต่ละเดือนเป็นค่าจ้างคราวละ 15,700 บาท มรกตให้เขียวทำงานมาจนถึงปี 2556 มรกตนั้น ได้ตกลงทำสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลาไว้กับเขียว มรกตจึงบอกเลิกสัญญากับเขียว โดยที่เขียวไม่ผิดสัญญาในวันที่ 30 เมษายน 2556

ดังนี้ เขียวมีสิทธิทำงานถึงวันสุดท้ายเมื่อใด และมรกตต้องจ่ายค่าจ้างให้เขียวตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาถึงวันสุดท้ายของการทำงานเป็นเงินเท่าใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 582 “ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าว ล่วงหน้ากว่าสามเดือน

อนึ่งในเมื่อบอกกล่าวดังว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแก่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นนทีเดียว แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสียในทันทีก็อาจทำได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่มรกตให้เขียวทำงานเป็นลูกจ้างโดยมรกตได้ตกลงทำสัญญาจ้างไม่มีกำหนดเวลาไว้กับเขียว จึงเข้าหลักของมาตรา 582 วรรคแรก คือถ้ามรกตจะบอกเลิกสัญญาจ้างกับเขียวก็จะต้อง บอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึง กำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า 3 เดือน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มรกตได้บอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นการ บอกเลิกสัญญาจ้างก่อนถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างในวับที่ 14 พฤษภาคม 2556 กรณีนี้จึงให้ถือว่าเป็นการบอกเลิก สัญญาล่วงหน้าเพื่อให้มีผลเป็นการเลิกสัญญากันในวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง คราวถัดไป ดังนั้นเขียวจึงมีสิทธิทำงานจนถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 และมรกตจะต้องจ่ายค่าจ้าง ให้กับเขียวในวันที่ 14 พฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 15,700 บาท และต้องจ่ายค่าจ้างในวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 อีก 15,700 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 31,400 บาท หรือมรกตจะจ่ายเงินคาจ้างให้แกเขียวทั้งหมด 31,400 บาท แล้วให้เขียวออกจากงานในทันทีเลยก็ไต้ตามมาตรา 582 วรรคสอง

สรุป เขียวมีสิทธิทำงานจนถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 และมรกตจะต้องจ่ายเงิน ค่าจ้างให้เขียวเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 31,400 บาท

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 สอบซ่อม 1/2549

การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  อย่างไรเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  147  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป  พร้อมยกตัวอย่างประกอบด้วย

ธงคำตอบ

มาตรา  147  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน  มีหน้าที่  ซื้อ  ทำ  จัดการ  หรือ  รักษาทรัพย์ใด  เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน  หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต  หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

องค์ประกอบความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  147  ประกอบด้วย

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       มีหน้าที่ซื้อ  ทำ  จัดการ  หรือรักษาทรัพย์ใด

3       เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน  หรือเป็นของผู้อื่น  หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย

4       โดยทุจริต

5       โดยเจตนา

เจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือน  จากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

เจ้าพนักงานที่จะมีความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่  ทำ  จัดการ  หรือรักษาทรัพย์  หากเจ้าพนักงานผู้นั้นไม่มีหน้าที่ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิด  ตามมาตรา  147

หน้าที่ซื้อ  เช่น  มีหน้าที่ซื้อพัสดุหรือเครื่องพิมพ์ดีดมาใช้ในสำนักงาน

หน้าที่ทำ  เช่น  มีหน้าที่ประดิษฐ์เครื่องใช้เครื่องยนต์ขึ้นใหม่  หรือมีหน้าที่ซ่อมแซม  แก้ไข  เครื่องใช้เครื่องยนต์ที่ชำรุดให้ดีขึ้น

หน้าที่จัดการ  เช่น  หน้าที่ในการจัดการโรงงาน  จัดการคลังสินค้า  เป็นต้น

หน้าที่รักษา  เช่น  เป็นเจ้าหน้าที่การเงินก็ย่อมต้องดูแลรักษาเงินที่ได้รับมานั้นด้วย

เบียดบัง  หมายความว่า  การเอาเป็นของตน  หรือแสดงให้ปรากฏว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นตัวอย่างเช่น  เอาทรัพย์นั้นไปใช้อย่างเจ้าของ  หรือจำหน่ายทรัพย์นั้นไป

การเบียดบังที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้จะต้องเป็นการเบียดบังทรัพย์  ถ้าเบียดบังเอาอย่างอื่น  เช่น  แรงงาน  กรณีนี้ไม่เป็นความผิดตามมาตรา  147  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นก็ตาม  และเป็นความผิดสำเร็จเมื่อเบียดบังเอาทรัพย์ไปแม้จะนำมาคืนในภายหลัง  ก็ยังคงมีความผิด

อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นการเบียดบังทรัพย์  หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้น  ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยมีเจตนา  ตามมาตรา  59  และต้องมีเจตนาพิเศษ  คือ  โดยทุจริต  เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น  ถ้าผู้กระทำขาดเจตนาโดยทุจริตแล้ว  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  147

นายสมบูรณ์ไม่มีเงินชำระค่าเล่าเรียนบุตร  ได้ไปขอยืมเงิน  5,000  บาท  จากนายรวยซึ่งเป็นสรรพากรอำเภอ  โดยสัญญาว่าอีก  2  วันจะนำมาคืน  นายรวยไม่มีเงินสดติดตัวมาพอ  แต่สงสารเพื่อนจึงเอาเงินค่าภาษีซึ่งผู้เสียภาษีได้ชำระแก่ทางราชการและตนรักษาไว้มอบให้ไป  ครบกำหนดนายสมบูรณ์ก็ไม่ใช้เงินคืน  แต่ได้หลบหน้าไป  นายรวยจึงเอาเงินส่วนตัว  5,000  บาท  ใช้คืนแก่ทางราชการ  ดังนี้  เมื่อนายรวยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์  แล้วเอาเงินค่าภาษีไปจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริตสำหรับผู้อื่นแล้ว  จึงเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา  147  แม้นายรวยจะใช้เงินคืนแก่ทางราชการ  ก็ไม่พ้นความรับผิดไปได้

 

ข้อ  2  ตำรวจสายตรวจในท้องที่พบเห็นนายจ่อยวิ่งราวทรัพย์แม่ค้า  ตำรวจจึงเข้าจับกุมนายจ่อยแล้วควบคุมตัวเพื่อไปส่งสถานีตำรวจ  ระหว่างทางนายจ่อยวิ่งหนีไปได้  แต่ถูกตำรวจจับตัวได้ในทันทีที่วิ่งไปประมาณ  10  ก้าว  ดังนี้นายจ่อยมีความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมประการใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  190  ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจศาล  ของพนักงานอัยการ  ของพนักงานสอบสวน  หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานหลบหนีทีคุมขัง  ตามมาตรา  190  วรรคแรก  ประกอบด้วย 

1       หลบหนีไป

2       ระหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล  ของพนักงานอัยการ  ของพนักงานสอบสวนหรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

3       โดยเจตนา

หลบหนีไป  หมายถึง  การทำให้ตัวเองได้รับอิสรภาพ  ซึ่งอาจจะเป็นการชั่วคราว  หรือตลอดไป

การหลบหนีที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการหลบหนีในระหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล  ของพนักงานอัยการของพนักงานสอบสวน  หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา

อนึ่งคำว่า  คุมขัง  นี้ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  1 (12)  ให้คำนิยามเอาไว้ว่า  หมายถึง  คุมตัว  ควบคม  ขัง  กักขัง  หรือจำคุก

คุมตัว  หมายถึง  เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาจับผู้ต้องหาแล้ว  อาจจับไปส่งตัวยังที่ทำการของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

ควบคุม  หมายถึง เมื่อเจ้าพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ตลอดจนคุมตัวไปส่งศาล  โดยไม่จำเป็นต้องมัดหรืออยู่ในห้องขัง  เพียงแต่ผู้จับบอกให้ผู้ถูกจับรู้ว่าเข้าถูกจับ  ก็ถือเป็นการควบคุมแล้ว

ขัง  หมายถึง  ในกรณีที่ศาลสั่งขังผู้ต้องหาที่พนักงานสอบสวน  หรือพนักงานอัยการร้องขอเพราะการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นดี  หรือเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลย  ศาลสั่งขังจำเลยไว้ก็ดี

กักขัง  หรือจำคุก  หมายถึง  เมื่อศาลพิพากษาให้กักขังหรือจำคุกผู้ใด

นอกจากนี้การคุมขังนั้นต้องเป็นการคุมขังตามอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  ในกรณีที่ยังไม่ได้จับกุม  ก็ย่อมถือว่ายังไม่ถูกคุมขัง  แม้หลบหนีไปก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

อย่างไรก็ดีผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้กระทำต้องรู้ว่าตนถูกคุมขังและผู้กระทำต้องการหลบหนี  ถ้าไม่รู้ว่าตนถูกคุมขังแล้วหลบหนีไป  หรือได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้ไปได้ย่อมขาดเจตนาหลบหนีไป  ไม่มีความผิดตามมาตรานี้

อย่างไรก็ดีผู้กระทำจะต้องมีเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้กระทำต้องรู้ว่าตนถูกคุมขัง  และผู้กระทำต้องการหลบหนีถ้าไม่รู้ว่าตนถูกคุมขังแล้วหลบหนีไป  หรือได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจให้ไปได้  ย่อมขาดเจตนาหลบหนี  ไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การที่ตำรวจสายตรวจจับกุมนายจ่อยขณะวิ่งราวทรัพย์แม่ค้าและควบคุมตัวเพื่อไปส่งสถานีตำรวจนั้น  ถือได้ว่าเป็นการคุมตัว  และถือว่านายจ่อยอยู่ในระหว่างที่ถูกคุมขังแล้วตามมาตรา  190  เมื่อนายจ่อยวิ่งหนีไปจากการควบคุมตัว  แม้จะจับตัวได้ในทันทีนั้นเอง  ก็มีความผิดฐานหลบหนีระหว่างที่ถูกคุมขัง  อันเป็นความผิดสำเร็จแล้วตามมาตรา  190 (ฎ.749/2460)

สรุป  นายจ่อยมีความผิดฐานหลบหนีที่คุมขัง  ตามมาตรา  190

 

ข้อ  3  นายสิงห์กับนายสาไม่ถูกกันมาก่อน  วันเกิดเหตุนายสิงห์ได้ขับรถเดินทางไปต่างจังหวัด  ในขณะขับมาระหว่างทางเป็นที่เปลี่ยวบังเอิญเหลือบไปเห็นรถของนายสาจอดอยู่ข้างทาง  โดยนายสาไปทำธุระห่างจากที่จอดรถไว้ประมาณหนึ่งกิโลเมตร  นายสิงห์ขับรถของตนไปจอดติดกับรถของนายสา  นายสิงห์ต้องการเผารถของนายสา  แต่แทนที่นายสิงห์จะจุดไฟเผารถของนายสาโดยตรง  นายสิงห์ไม่ทำอย่างนั้นแต่นายสิงห์กลับใช้น้ำมันราดไปที่รถของนายสิงห์เองแล้วจุดไฟเผา  ปรากฏว่าไฟได้ไหม้รถของนายสิงห์และลุกลามไปไหม้รถของนายสาได้รับความเสียหายทั้งสองคัน  ดังนี้  จากการที่รถของนายสิงห์และนายสาต่างถูกเพลิงไหม้นี้  นายสิงห์มีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนฐานใด  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  217  ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

มาตรา  220  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ  แม้เป็นของตนเอง  จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น  หรือทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  217  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       วางเพลิงเผา

2       ทรัพย์ของผู้อื่น

3       โดยเจตนา

วางเพลิงเผา  หมายถึง  การกระทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ไม่ว่าจะกระทำด้วยวิธีใดๆก็ตาม  เช่น  ใช้ไม้ขีดไฟจุดเผา  ใช้เลนส์ส่องทำมุมกับแสงอาทิตย์จนไฟลุกไหม้ขึ้น  หรือใช้วัตถุบางอย่างเสียดสีกันให้เกิดไฟ  เป็นต้น

การทำให้เพลิงไหม้นี้จะไหม้เพียงบางส่วนหรือทั้งหมดก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว  เช่น  เจตนาจะเผาบ้านทั้งหลัง  แต่ปรากฏว่าไฟไหม้บ้านเพียงครึ่งหลังเพราะผู้เสียหายดับทัน  กรณีเป็นความผิดสำเร็จแล้วมิใช่เพียงขั้นพยายาม  แต่อย่างไรก็ตามหากยังไม่เกิดเพลิงไหม้ขึ้น  ก็เป็นแค่พยายามวางเพลิงเท่านั้น

การวางเพลิงเผาทรัพย์จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อเป็นการวางเพลิงเผา  ทรัพย์ของผู้อื่น  เท่านั้น  ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้  แต่ต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น  กล่าวคือ  ต้องเป็นทรัพย์ที่มีเจ้าของด้วย  ถ้าหากเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของ  คือเป็นทรัพย์ที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของใครเลย  ก็ย่อมไม่เป้นความผิดตามมาตรานี้  ดังนั้นการวางเพลิงเผาทรัพย์ของตนเองย่อมไม่เป็นความผิด

นอกจากนี้การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น  ต้องกระทำ  โดยเจตนา  คือ  มีเจตนาหรือมีความตั้งใจที่จะเผาทรัพย์ของผู้อื่น  และต้องรู้ด้วยว่าทรัพย์ที่เผานั้นเป็นของผู้อื่น  ถ้าหากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา  เช่น  วางเพลิงเผาทรัพย์โดยเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง  ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

การที่นายสิงห์จุดไฟเผารถของตนเองได้รับความเสียหายนั้น  แม้จะมีเจตนาเผารถของนายสา  (ผู้อื่น)  การกระทำของนายสิงห์ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา  217  เนื่องจากขาดองค์ประกอบความผิดคำว่า  ทรัพย์ของผู้อื่น”  (ฎ.389/2483)

อย่างไรก็ดี  การที่นายสิงห์จุดไฟเผารถของตนเอง  โดยมีเจตนาจะเผารถของนายสา  การเผารถของตนก็เพื่อให้ไฟลามไปไหม้รถของนายสาด้วย  ถือได้ว่านายสิงห์กระทำโดยมีเจตนาที่จะเผารถของนายสาโดยตรง  เมื่อไฟได้ไหม้รถของนายสาได้รับความเสียหาย  การกระทำของนายสิงห์จึงมีความผิด  ตามมาตรา  217  ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของนายสา

การกระทำของนายสิงห์ไม่เป็นความผิดตามมาตรา  220  เพราะการจะเป็นความผิดตามมาตรา  220  หมายถึงว่าผู้กระทำมีเจตนาทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ  แม้เป็นของตนเอง  ซึ่งน่าจะเกิดอันตราย  จึงเห็นได้ชัดว่าผู้กระทำต้องไม่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยตรง  แต่กรณีตามอุทาหรณ์นายสิงห์ประสงค์ที่จะเผารถของนายสาโดยตรง  ต้องการให้รถของนายสาไฟไหม้ได้รับความเสียหาย  กรณีจึงเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา  217  มิใช่มาตรา  220

สรุป

1       กรณีไฟไหม้รถของนายสา  การกระทำของนายสิงห์มีความผิดตามมาตรา  217

2       กรณีไฟไหม้รถของนายสิงห์  การกระทำของนายสิงห์ไม่มีความผิดตามมาตรา  217

 

ข้อ  4  จำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข  ก  1234  ซึ่งเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ทางราชการออกให้แก่รถยนต์ของนายแดง  นำไปติดท้ายรถยนต์ของจำเลย  โดยมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์ที่มีหมายเลขทะเบียน  ก  1234 ดังนี้จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชน  ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร  ต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

มาตรา  268  ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266  หรือมาตรา  267  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น  หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

 1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

การที่จำเลยถอนแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายแดงนำมาติดท้ายรถของจำเลย  เมื่อแผ่นป้ายรถยนต์ดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายที่แท้จริงซึ่งทางราชการออกให้จึงเป็นเอกสารที่แท้จริง  จำเลยไม่ได้ทำขึ้นใหม่  หรือเติมหรือตัดทอนข้อความแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  แม้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของนายแดงจะเป็นเอกสารราชการ  และจำเลยจะมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์ที่มีป้ายทะเบียน  ก  1234  จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรกและมาตรา  265

เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร  การที่จำเลยนำรถออกขับขี่  จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา  268  แต่อย่างใด  (ฎ.3078/2525)

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 S/2548

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ให้นักศึกษาเลือกทำคำตอบเพียงข้อเดียว  โดยอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป  และยกตัวอย่างประกอบ

ก)     อย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  (มาตรา  136)  หรือ

ข)     อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  (มาตรา  137)

ธงคำตอบ

(ก)

มาตรา  136  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

ความผิดตามมาตรา  136  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ดูหมิ่น

2       เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

4       โดยเจตนา

ดูหมิ่น”  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก  เหยียดหยาม  สบประมาท  หรือด่าแช่ง  ต่อผู้ถูกกระทำ  ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา  กิริยาท่าทาง  หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้  การดูหมิ่นด้วยวาจา  เช่น  อ้ายเย็ดแม่”  “ตำรวจชาติหมา”  หรือด้วยกิริยาท่าทาง  ก็เช่น  ยกส้นเท้าให้  หรือถ่มน้ำลายรด  เป็นต้น  ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น  หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ  ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม  ก็เป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้ได้

อย่างไรก็ดี  ถ้อยคำบางอย่างนั้น  แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ  คำหยาบ  ไม่สมควรจะกล่าว  หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์  หรือคำโต้แย้ง  คำกล่าวติชมตามปกติ  หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก  เหยียดหยามสบประมาท  หรือได้รับความอับอายขายหน้า  ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  เจ้าพนักงาน”  ซึ่งก็คือข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา  136  ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน

อนึ่ง  การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ  2  กรณีต่อไปนี้คือ

(ก)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่  หรือ

(ข)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจไว้  ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือเกินขอบเขตย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

เพราะได้กระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทำการตามหน้าที่แล้ว  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายแดง  แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง  ต่อมาอีก  3  วันนายขาวพบเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นโดยบังเอิญ  จึงด่าทอดูหมิ่น  เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน  เช่นนี้ขาวมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ตามมาตรา  136

การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  โดยเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลดังกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น  และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  136

นายดวงดื่มสุราจนเมาครองสติไม่ได้  ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม  นายดวงไม่พอใจ  จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจคนนั้นว่า  มึงแกล้งจับกูคนเดียว  คนอื่นมึงทำไมไม่จับ  เช่นนี้ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น  เหยียดหยาม  ซึ่งได้กระทำต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้โดยเจตนา  นายดวงจึงมีความผิดฐาน  ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  136

แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า  ขณะเจ้าพนักงานตำรวจกำลังนั่งรับประทานอาหารกับภรรยาที่บ้านพัก  โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ  จำเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตำรวจ  แต่ไม่ได้  จำเลยจึงกล่าวว่า  กูจะเอามึงให้ย้ายภายในเจ็ดวัน  อ้ายย้ายยังไม่แน่  ที่แน่คือกูจะเอามึงลงหลุมฝังศพ  เช่นนี้แม้ถ้อยคำดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา  แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่  แต่เป็นเวลานอกราชการอันเป็นการส่วนตัว  จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  ตามมาตรา  136

(ข)

มาตรา  137  ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ

อธิบาย 

ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

2       แก่เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

4       โดยเจตนา

แจ้งข้อความ  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น  อาจกระทำโดยวาจา  โดยการเขียนเป็นหนังสือ  หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

ข้อความอันเป็นเท็จ  หมายถึง  ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง  เช่น  นาย  ก  ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว  ข  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ทั้งๆที่นาย  ก  มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  คือ  นาง  ค  เช่นนี้เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน  ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่  จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้

การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้อาจเกิดขึ้นได้  2  กรณีคือ

(ก)  ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง

(ข)  โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้

อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว  เช่น  ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง  แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า  บิดาเป็นไทย  ความจริงเป็นจีน  ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด  ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา  137  นี้แล้ว

สำหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคำให้การเท็จในคดีแพ่ง  ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน  เป็นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล  จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137  (ฎ. 1274/2513)

ส่วนในคดีอาญา  ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้  เพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้   แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ  หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา  ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำผิด  ก็ยังถือว่าเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่  (ฎ.1093/2522)  แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา  จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย  แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม  แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น  เช่น  เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง  หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง  เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ  เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น

แก่เจ้าพนักงาน  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้  ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น  และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เช่น  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  ตำรวจ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นต้น  ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้  ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า  อาจทำให้เสียหาย  จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ  และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย  ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137

นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือ  นางโท  หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนกับ  น.ส.ตรีอีก  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ซึ่งทั้งนางโทและ  น.ส.ตรี  ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย  เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส  ซึ่งกระทำโดยเจตนา  เพราะนายเอกรู้ว่านายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานและรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ  หากนายอำเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทำให้นางโทและ น.ส.ตรีเสียหายแก่เกียรติยศหรือชื่อเสียงได้  นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137

แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว  ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส  ดังนี้  การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว  แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส  จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  (ฎ.1237/2544)

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ  หรือโดยทุจริต  (มาตรา  157)  จงอธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป  และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

มาตรานี้กฎหมายบัญญัติการกระทำอันเป็นความเป็นความผิดอยู่  2  ความผิดด้วยกัน  กล่าวคือ  ความผิดแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(ก)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การงดเว้นกระทำการตามหน้าที่  อันเป็นการมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป  เป็นต้น

ดังนั้น  ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้น  ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่  ก็ไม่ผิดตามมาตรา  157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง  เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่

3       โดยทุจริต

4       โดยเจตนา

โดยทุจริต  หมายถึง  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  สำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น  ดังนั้นถ้าผู้กระทำขาดเจตนาทุจริตแล้ว  ย่อมไม่เป็น

ความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม  และโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่  ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทำโดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด

ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสีย  แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว  มิได้นำเงินลงบัญชี  ทั้งมิได้ดำเนินการให้  ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ข้อ  3  ลูกจ้างประจำร้านแก๊สทิ้งก้นบุหรี่ใกล้ถังแก๊สด้วยความประมาท  ถังแก๊สระเบิดขึ้นเกิดเพลิงไหม้ลุกลามไปร้านข้างเคียงด้วย  ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย  แต่ไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลใด  ดังนี้  ลูกจ้างมีความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนประการใด  หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  225  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาทและเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหายหรอการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษ

องค์ประกอบความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา  225  ประกอบด้วย

1       กระทำให้เกิดเพลิงไหม้

2       โดยประมาท

3       เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น

กระทำให้เกิดเพลิงไหม้  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆซึ่งทำให้ไฟลุกไหม้ขึ้น  โดยสิ่งที่ไหม้นั้นจะเป็นวัตถุหรือทรัพย์ของผู้อื่น  ของตน  หรือที่ไม่มีเจ้าของ  ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้

โดยประมาท  หมายถึง  กระทำโดยไม่เจตนา  แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้  แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่

เป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  หมายความว่า  จะต้องเกิดความเสียหายขึ้นจริงๆแล้วจึงจะเป็นความผิด  ถ้าไม่มีความเสียหายหรือเพียงน่าจะเสียหายก็ยังไม่เป็นความผิด  แต่ข้อสำคัญก็คือว่า  ทรัพย์ที่เสียหายนั้นจะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น  ถ้าเป็นทรัพย์ของตัวเอง  ไม่ผิดมาตรานี้

น่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น  หมายความว่า  เพียงแต่น่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต(ความตาย)  ของบุคคลอื่น  ก็เป็นความผิดแล้ว  ดังนั้นถ้าน่าจะเป็นอันตรายแก่กาย หรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของตนเอง  ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ลูกจ้างประจำร้านขายแก๊สทิ้งก้นบุหรี่ใกล้ถังด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเพราะสถานที่ซึ่งเป็นร้านขายแก๊ส  อันเป็นวัตถุไวไฟ  ต้องใช้ความระมักระวังเป็นพิเศษ  เมื่อถังแก๊สระเบิดและเกิดไฟไหม้ลุกลามไปร้านข้างเคียงด้วย  จึงเป็นการกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย  แม้จะไม่เป็นอันตรายต่อบุคคลใด  ลูกจ้างก็มีความผิดตามมาตรา  225  แล้ว

สรุป  ลูกจ้างมีความผิดฐานกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท  ตามมาตรา  225

 

ข้อ  4  จำปีให้จำปูนกูเงินไป  20,000  บาท  โดยมิได้ทำหนังสือสัญญากู้ไว้  ต่อมาจำปูนไม่ชำระเงินภายในกำหนดที่ตกลงกัน  จำปีจึงทำสำเนาสัญญากู้ขึ้นฉบับหนึ่งมีใจความว่าจำปูนกู้เงินจำปีไป  20,000  บาท  และเขียนชื่อจำปูนในช่องผู้กู้  เขียนชื่อจำปีในช่องผู้ให้กู้  กับเขียนชื่อบุคคลอีก  2  คนในช่องพยาน  โดยจำปีลงนามรับรองสำเนาสัญญากู้นั้นว่าเป็นสำเนาที่ถูกต้อง  แล้วจำปีนำสำเนาสัญญากู้นั้นไปฟ้องต่อศาลเรียกเงิน  20,000  บาท  จากจำปูนโดยแนบสำเนาสัญญากู้นั้นมาท้ายฟ้อง  และบรรยายในฟ้องว่าต้นฉบับสูญหายไป  จำปูนให้การปฏิเสธว่าไม่เคยทำสัญญากู้ให้แก่จำปีไว้เลย  ในชั้นสืบพยานจำปีได้อ้างสำเนาสัญญากู้ฉบับนั้นเป็นพยานด้วย  ดังนี้  การกระทำของจำปีมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารประการใดบ้างหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร  ต้องระวางโทษ

มาตรา  265  ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ  หรือเอกสารราชการ  ต้องระวางโทษ

มาตรา  268  ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา  264  มาตรา  265  มาตรา  266  หรือมาตรา  267  ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ

ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น  หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

การที่จำปีรับรองสำเนาสัญญากู้ว่าถูกต้องทั้งๆที่ต้นฉบับไม่มี  เท่ากับเป็นการปลอมขึ้นทั้งฉบับ  เพื่อให้เห็นว่าตนได้คัดมาจากต้นฉบับที่แท้จริง  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่จำปูน  ถือว่าเป็นการปลอมเอกสารแล้ว  ตามมาตรา  264  วรรคแรก  แต่สัญญากู้เป็นเอกสารสิทธิ  การกระทำของจำปีจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามมาตรา  265  เมื่อจำปีนำสัญญากู้นั้นไปยื่นฟ้องต่อศาล  จึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมตามมาตรา  268  ด้วย  แต่เมื่อจำปีเป็นทั้งผู้เปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม  จึงให้ลงโทษตามมาตรา  268  เพียงกระทงเดียว  ตามมาตรา  268  วรรคสอง

สรุป  จำปีมีความผิดฐานปลอมเอกสาร  ตามมาตรา  264  ประกอบมาตรา  265  และลงโทษตามมาตรา  268

LAW 2007 กฎหมายอาญา 2 1/2549

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2007 กฎหมายอาญา 2

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  ให้นักศึกษาเลือกทำคำตอบเพียงข้อเดียว  โดยให้อธิบายหลักกฎหมายพอสังเขป  และยกตัวอย่างประกอบ

ก)     อย่างไรเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  (ตามมาตรา  136)  หรือ

ข)     อย่างไรเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  (มาตรา  137)

 ธงคำตอบ

(ก)  มาตรา  136  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  136  ดังกล่าว  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       ดูหมิ่น

2       เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

4       โดยเจตนา

ดูหมิ่น”  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆอันเป็นการดูถูก  เหยียดหยาม  สบประมาท  หรือด่าแช่ง  ต่อผู้ถูกกระทำ  ซึ่งอาจจะกระทำโดยวาจา  กิริยาท่าทาง  หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้  การดูหมิ่นด้วยวาจา  เช่น  อ้ายเย็ดแม่”  “ตำรวจชาติหมา”  หรือด้วยกิริยาท่าทาง  ก็เช่น  ยกส้นเท้าให้  หรือถ่มน้ำลายรด  เป็นต้น  ทั้งนี้แม้ว่าเจ้าพนักงานจะไม่ได้ยินไม่เห็น  หรือด่าเป็นภาษาต่างประเทศ  ซึ่งเจ้าพนักงานไม่เข้าใจก็ตาม  ก็เป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้ได้

อย่างไรก็ดี  ถ้อยคำบางอย่างนั้น  แม้ว่าจะเป็นคำไม่สุภาพ  คำหยาบ  ไม่สมควรจะกล่าว  หรือเป็นคำปรารภปรับทุกข์  หรือคำโต้แย้ง  คำกล่าวติชมตามปกติ  หากไม่ทำให้ผู้เสียหายถูกดูถูก  เหยียดหยามสบประมาท  หรือได้รับความอับอายขายหน้า  ก็ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่น

การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  เจ้าพนักงาน”  ซึ่งก็คือข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน  หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าบุคคลที่ถูกดูหมิ่นนั้นไม่ใช่เจ้าพนักงานย่อมไม่ผิดตามมาตรา  136  ทั้งนี้จะต้องได้ความว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานอยู่ในขณะถูกดูหมิ่นด้วย หากได้พ้นตำแหน่งไปแล้วก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน

อนึ่ง  การดูหมิ่นที่จะเป็นความผิดตามมาตรา  136  นี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานเฉพาะ  2  กรณีต่อไปนี้คือ

(ก)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่  หรือ

(ข)  ดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่

ซึ่งกระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานนั้นกระทำการตามหน้าที่ซึ่งกฎหมายได้ให้อำนาจไว้  ดังนั้นหากเป็นการดูหมิ่นขณะเจ้าพนักงานกระทำการนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือเกินขอบเขตย่อมไม่ผิดตามมาตรานี้

เพราะได้กระทำการตามหน้าที่  หมายความว่า  ดูหมิ่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้กระทำการตามหน้าที่แล้ว  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายแดง  แล้วนายแดงไปเล่าให้นายขาวฟัง  ต่อมาอีก  3  วันนายขาวพบเจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นโดยบังเอิญ  จึงด่าทอดูหมิ่น  เพราะโกรธที่ไปจับเพื่อนตน  เช่นนี้ขาวมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานเพราะได้กระทำการตามหน้าที่  ตามมาตรา  136

การดูหมิ่นจะเป็นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการดูหมิ่น  โดยเจตนา  ตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลดังกล่าวโดยตั้งใจดูหมิ่น  และรู้ว่าผู้ที่ตนตั้งใจดูหมิ่นเป็นเจ้าพนักงาน  ถ้าไม่รู้ว่าเป็นเจ้าพนักงานย่อมถือว่าขาดเจตนา  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  136

นายดวงดื่มสุราเมาครองสติไม่ได้  ขับรถด้วยความเร็วสูงไม่สวมหมวกนิรภัยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม  นายดวงไม่พอใจ  จึงพูดต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจคนนั้นว่า  มึงแกล้งจับกูคนเดียว  คนอื่นมึงทำไมไม่จับ” เช่นนี้ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่น  เหยียดหยาม ซึ่งได้กระทำต่อเจ้าพนักงานซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้โดยเจตนา  นายดวงจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจาพนักงาน  ตามมาตรา  136

แต่ถ้ากรณีเปลี่ยนเป็นว่า  ขณะเจ้าพนักงานตำรวจกำลังนั่งรับประทานอาหารกับภรรยาที่บ้านพัก  โดยเวลานั้นไม่ใช่เวลาปฏิบัติราชการ  จำเลยไปขอยืมเงินจากเจ้าพนักงานตำรวจ  แต่ไม่ได้  จำเลยจึงกล่าวว่า กูจะเอามึงให้ย้ายภายในเจ็ดวัน  อ้ายย้ายยังไม่แน่  ที่แน่คือกูจะเอามึงลงหลุมฝังศพ  เช่นนี้แม้ถ้อยคำดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยเจตนา  แต่เวลาดังกล่าวมิใช่เวลาปฏิบัติราชการตามหน้าที่  แต่เป็นเวลานอกราชการอันเป็นการส่วนตัว  จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่  ตามมาตรา  136

(ข) มาตรา  137  ผู้ใดแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายต้องระวางโทษ

ความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้  สามารถแยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       แจ้งข้อความอันเป็นเท็จ

2       แก่เจ้าพนักงาน

3       ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย

4       โดยเจตนา

แจ้งข้อความ  หมายถึง  การกระทำด้วยประการใดๆให้เจ้าพนักงานได้ทราบข้อเท็จจริงนั้น  อาจกระทำโดยวาจา  โดยการเขียนเป็นหนังสือ  หรือโดยการแสดงกิริยาท่าทางอย่างใดก็ได้

ข้อความอันเป็นเท็จ  หมายถึง  ข้อความที่นำไปแจ้งไม่ตรงกับความจริงหรือตรงข้ามกับความจริง  เช่น  นาย  ก  ไปจดทะเบียนสมรสกับนางสาว  ข  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยาหรือจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ทั้งๆที่นาย  ก  มีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว  คือ  นาง  ค  เช่นนี้เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบัน  ถ้าหากเป็นเหตุการณ์ในอนาคตซึ่งเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่  จะว่าเป็นข้อความเท็จยังไม่ได้

การแจ้งข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137  นี้อาจเกิดขึ้นได้  2  กรณีคือ

(ก)  ผู้แจ้งไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานเอง

(ข)  โดยตอบคำถามที่เจ้าพนักงานเรียกไปสอบสวนเป็นพยานก็ได้

อนึ่งการแจ้งข้อความอันเป็นจริงบางส่วนและเท็จบางส่วน ก็ถือว่าเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแล้ว  เช่น  ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  โดยกรอกข้อความอื่นเป็นความจริง  แต่ในช่องสัญชาติของบิดากรอกว่า  บิดาเป็นไทย  ความจริงเป็นจีน  ซึ่งเป็นเท็จไม่หมด  ก็ถือว่าแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา  137  นี้แล้ว

สำหรับการฟ้องเท็จในคดีแพ่งหรือการยื่นคำให้การเท็จในคดีแพ่ง  ไม่ถือว่าเป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน  เป็นแต่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล  จึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137  (ฎ. 1274/2513)

ส่วนในคดีอาญา  ผู้ต้องหาชอบที่จะให้การแก้ตัวต่อสู้คดีอย่างใดก็ได้  เพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือจะไม่ยอมให้การเลยก็ได้   แม้คำให้การของผู้ต้องหาจะเป็นเท็จ  หรือให้การไปโดยเชื่อว่าตนเองอยู่ในฐานะผู้ต้องหา  ก็ไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  แม้ต่อมาจะได้ความว่าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้กระทำผิด  ก็ยังถือว่าเป็นคำให้การในฐานะผู้ต้องหาอยู่  (ฎ.1093/2522)  แต่ถ้าจำเลยได้แจ้งข้อความเท็จแก่เจ้าพนักงานก่อนที่จะตกเป็นผู้ต้องหาไม่ถือว่าให้การในฐานะผู้ต้องหา  จึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

การแจ้งข้อความเท็จที่จะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จนั้น  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งต้องได้ทราบข้อความนั้นด้วย  แม้ว่าจะไม่เชื่อเพราะรู้ความจริงอยู่แล้วก็ตาม  แต่ถ้าเจ้าพนักงานไม่ทราบข้อความนั้น  เช่น  เจ้าพนักงานไม่ได้ยิน  หรือได้ยินแต่กำลังหลับในอยู่ไม่รู้เรื่อง  หรือไม่เข้าใจภาษาต่างประเทศที่แจ้ง  เช่นนี้ยังไม่เป็นความผิดสำเร็จ  เป็นเพียงความผิดฐานพยายามแจ้งความเท็จเท่านั้น

แก่เจ้าพนักงาน  เจ้าพนักงานผู้รับแจ้งข้อความตามมาตรานี้  ต้องมีอำนาจหน้าที่รับแจ้งข้อความและดำเนินการตามเรื่องราวที่แจ้งความนั้น  และต้องกระทำการตามหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย  เช่น  นายอำเภอ  ปลัดอำเภอ  ตำรวจ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  เป็นต้น  ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานนั้นไม่มีหน้าที่ในการรับแจ้งข้อความหรือเรื่องที่แจ้งนั้นไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานที่จะดำเนินการได้  ก็ไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  การแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน  จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ก็ต่อเมื่อการแจ้งนั้นอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ดังนั้นถ้าไม่อาจก่อให้เกิดความเสียหายใดๆย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  อนึ่งกฎหมายใช้คำว่า  อาจทำให้เสียหาย  จึงไม่จำเป็นต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆเพียงแต่อาจเสียหายก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำจะต้องกระทำด้วยเจตนาตามมาตรา  59  กล่าวคือ  ผู้แจ้งจะต้องรู้ว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นเท็จ  และต้องรู้ว่าบุคคลที่ตนแจ้งนั้นเป็นเจ้าพนักงานด้วย  ถ้าผู้แจ้งไม่รู้ก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ตัวอย่างความผิดฐานแจ้งความเท็จแก่เจ้าพนักงาน  ตามมาตรา  137

นายเอกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย  คือ  นางโท  หลังจากนั้นนายเอกยังได้ไปจดทะเบียนกับ  น.ส.ตรีอีก  โดยแจ้งต่อนายอำเภอว่าไม่เคยมีภริยามาก่อนและไม่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน  ซึ่งทั้งนางโทและ  น.ส.ตรี  ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวเลย  เช่นนี้จะเห็นว่านายเอกแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  ต่อนายอำเภอซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับแจ้งจดทะเบียนสมรส  ซึ่งกระทำโดยเจตนา  เพราะนายเอกรู้ว่านายอำเภอเป็นเจ้าพนักงานและรู้ว่าข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ  หากนายอำเภอรับจดทะเบียนสมรสให้ก็อาจจะทำให้นางโทและ น.ส.ตรีเสียหายแก่เกียรติยศหรือชื่อเสียงได้  นายเอกจึงมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ  ตามมาตรา  137

แต่ถ้านายเอกและนางโทได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว  ซึ่งมีผลเช่นเดียวกับไม่มีคู่สมรส  ดังนี้  การที่นายเอกไปแจ้งต่อนายอำเภอว่าตนเคยมีภริยามาแล้ว  แต่ไม่เคยจดทะเบียนสมรส  จึงไม่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย  ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้  (ฎ.1237/2544)

 

ข้อ  2  อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ  หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หรือโดยทุจริต  (มาตรา 157)

ธงคำตอบ

มาตรา  157  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  ต้องระวางโทษ

อธิบาย

มาตรานี้กฎหมายบัญญัติการกระทำอันเป็นความเป็นความผิดอยู่  2  ความผิดด้วยกัน  กล่าวคือ  ความผิดแรกเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(ก)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3       เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4       โดยเจตนา

เป็นเจ้าพนักงาน  หมายถึง  เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย  โดยได้รับเงินเดือนจากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่  แต่เป็นการอันมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจทำการสอบสวนผู้ต้องหา  ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ  ตำรวจจึงใช้กำลังชกต่อยให้รับสารภาพ  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  หมายถึง  การงดเว้นกระทำการตามหน้าที่  อันเป็นการมิชอบ  เช่น  เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป  เป็นต้น

ดังนั้น  ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้น  ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่หรือเป็นการชอบด้วยหน้าที่  ก็ไม่ผิดตามมาตรา  157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ  คือ  ต้องเป็นการกระทำ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น  แต่รวมถึงความเสียหายในทางอื่นด้วย  เช่น  ต่อชีวิต  ร่างกาย  ชื่อเสียง  เป็นต้น  และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้  ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริงๆจึงจะเป็นความผิด  เพียงแต่การกระทำนั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

โดยเจตนา  หมายความว่า  ผู้กระทำต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ  และผู้กระทำต้องปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข)  องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

1       เป็นเจ้าพนักงาน

2       ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่

3       โดยทุจริต

4       โดยเจตนา

โดยทุจริต  หมายถึง  เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  สำหรับตนเองหรือผู้อื่นทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น  ดังนั้นถ้าผู้กระทำขาดเจตนาทุจริตแล้ว  ย่อมไม่เป็น

ความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม  และโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่  ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทำโดยมิชอบ  เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด

ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจำนวนที่ต้องเสีย  แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง  เป็นต้น

ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต  เช่น  พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้ว  มิได้นำเงินลงบัญชี  ทั้งมิได้ดำเนินการให้  ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ข้อ  3  กรรมกรโรงงานแห่งหนึ่งจำนวน  20  คน  ไม่พอใจคำสั่งของนายจ้าง  จึงมั่วสุมชุมนุมกันบนท้องถนนหลวงหน้าโรงงาน  ส่งเสียงเอะอะตึงตัง  ตีปิ๊บ  จุดประทัด  ชาวบ้านร้านตลาดต่างตระหนกตกใจรีบปิดบ้านและห้างร้าน  รีบหนีกันอลหม่าน  ดังนี้  กรรมกรดังกล่าวมีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนประการใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  215  วรรคแรก  ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป  ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายในบ้านเมือง  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

ความผิดตามมาตรา  215  วรรคแรก  แยกองค์ประกอบความผิดได้ดังนี้

1       มั่วสุมกัน

2       ตั้งแต่  10  คนขึ้นไป

3       ใช้กำลังประทุษร้าย  ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย  หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

4       โดยเจตนา

มั่วสุมกัน  หมายถึง  การชุมนุมกัน  หรือมารวมกันซึ่งการมาชุมนุมกันนี้อาจเกิดขึ้น  โดยนัดหมายกันมาก่อนหรือโดยมิได้นัดหมายกันก็ได้

การมั่วสุมกันที่จะเป้นความผิดตามมาตรานี้  จะต้องเป็นการมั่วสุมกัน  ตั้งแต่  10  คนขึ้นไป  ถ้าต่ำกว่า  10  คนย่อมไม่เป้นความผิดตามมาตรานี้  ทั้งนี้ไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่  ประการสำคัญก็คือผู้ที่มั่วสุมกันตั้งแต่  10  คนนั้นจะต้องมีการตกลงร่วมใจที่จะกระทำผิดด้วยกัน  (ฎ.593/2492)

ใช้กำลังประทุษร้าย  หมายความว่า  ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล  ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือวิธีอื่นใด  และหมายความถึงการกระทำใดๆ  ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา  สะกดจิต  หรือวิธีอื่นอันคล้ายคลึงกัน

ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย  หมายถึง  การแสดงออกด้วยกิริยาหรือวาจาว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย  เช่น  ขู่ว่าจะต่อยเตะ  หรือยิงให้ตาย  เป็นต้น

การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง  หมายถึง  การกกระทำทุกอย่างอันอาจทำให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง  เช่น  การชุมนุมส่งเสียงเอ็ดอึง  เป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ

กรรมกรโรงงานแห่งหนึ่งจำนวน  20  คน  ซึ่งไม่พอใจคำสั่งของนายจ้างจึงมั่วสุมกัน  ชุมนุมกัน  ซึ่งเป็นการชุมนุมกันตั้งแต่  10  คนขึ้นไปโดยมีเจตนาตกลงร่วมใจที่จะกระทำผิดด้วยกัน  ส่งเสียงเอะอะตึงตัง  ตีปิ๊บ  จุดประทัดชาวบ้านร้านตลาดต่างตกใจรีบปิดบ้านและห้างร้าน  รีบหนีกันอลหม่าน  จึงเป็นการกระทำการอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแล้ว  กรรมกรดังกล่าวจึงมีความผิดตามมาตรา  215  วรรคแรก

สรุป  กรรมกรดังกล่าวมีความผิดตามมาตรา  215  วรรคแรก

 

ข้อ  4  จำเลยมีรถยนต์  2  คัน  คันแรกหมายเลขทะเบียน  ก  1234  คันที่สองหมายเลขทะเบียน  ก  5678  ปรากฏว่าแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์คันแรกหลุดหายไป  จำเลยนำแผ่นเหล็กมาตัดให้มีขนาดและรูปร่างเท่ากับแผ่นป้ายทะเบียน  จากนั้นใช้สีเขียนข้อความว่า  ก  1234  ลงบนแผ่นเหล็ก  หลังจากเขียนเสร็จจึงนำแผ่นเหล็กมาติดไว้ท้ายรถยนต์คันแรก  ต่อมาจำเลยนำรถยนต์ออกขับขี่ถูกตำรวจจับ  ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับเอกสารหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  264  วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ  ในเอกสารที่แท้จริง  หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชนชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  264  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆในเอกสารที่แท้จริง  หรือ

(ค)  ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2       โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3       ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4       โดยเจตนา

การที่จำเลยนำแผ่นเหล็กมาตัดให้มีขนาดและรูปร่างเท่ากับแผ่นป้ายทะเบียน  จากนั้นใช้สีเขียนข้อความว่า  ก  1234  ลงบนแผ่นเหล็ก การกระทำของจำเลยเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับเพราะเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ  โดยมีเจตนาและได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  แต่การกระทำของจำเลยไม่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน  เนื่องจากหมายเลขทะเบียนที่เขียนขึ้นเองนั้นตรงกับหมายเลขทะเบียนที่จำเลยนำไปติด  การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร  ตามมาตรา  264  วรรคแร

สรุป  จำเลยไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

WordPress Ads
error: Content is protected !!