LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 2,000,000 บาท โดยนายเมฆได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายหมอกยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆจึงมาขอประนอมหนี้กับนายหมอก แต่นายหมอกไม่ตกลง นายหมอกจึงยื่นฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย อ้างว่านายเมฆมาขอประนอมหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเมฆเด็ดขาด นายเมฆยื่นคําให้การต่อสู้ว่า นายหมอกเป็น เจ้าหนี้มีประกันแต่ไม่ยอมกล่าวในฟ้องว่า จะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน ขอให้ศาล พิพากษายกฟ้อง ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายเมฆและนายหมอกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สิน ล้นพ้นตัว

(8) ถ้าลูกหนี้เสนอคําขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือ ในอนาคตก็ตาม”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็น หลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้อต่อสู้ของนายเมฆและนายหมอกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายหมอก

การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอก 2,000,000 บาท ต่อมา หนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆจึงมาขอประนอมหนี้กับนายหมอกแต่นายหมอกไม่ตกลง นายหมอกจึงยื่นฟ้อง นายเมฆให้ล้มละลายตามมาตรา 9 โดยอ้างว่านายเมฆมาขอประนอมหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเมฆเด็ดขาดนั้น ถือเป็นข้ออ้างหรือข้อต่อสู้ที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (8) ที่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ เสนอคําขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งเเต่ 2 คนขึ้นไป เมื่อนายเมฆได้ขอประนอมหนี้กับนายหมอกเพียงคนเดียว จึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (8) ที่นายหมอกจะอ้างได้ว่านายเมฆมีหนี้สินล้นพ้นตัว

กรณีของนายเมฆ

การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินนายหมอก 2,000,000 บาท โดยนายเมฆได้นํา โฉนดที่ดินของตนมาให้นายหมอกยึดถือไว้เป็นหลักประกันนั้น ไม่ถือว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้ในทางจํานอง และไม่ถือว่าเป็นสิทธิยึดหน่วง ดังนั้น นายหมอกจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตามนัยของ มาตรา 6

และเมื่อนายหมอกฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย นายเมฆยื่นคําให้การต่อสู้ว่า นายหมอกเป็นเจ้าหนี้ มีประกันแต่ไม่ยอมกล่าวในฟ้องว่า จะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันตามมาตรา 10 นั้น ข้อต่อสู้ของ นายเมฆย่อมเป็นข้อต่อสู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายหมอกมิใช่เจ้าหนี้มีประกัน นายหมอกจึงไม่ต้องกล่าว ในฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันตามมาตรา 10 แต่อย่างใด

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายเมฆและนายหมอกไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2 นายเล็กได้ทําสัญญาเช่ารถยนต์ 1 คันจากนายซิ่ง ราคา 200,000 บาท ตกลงผ่อนชําระค่าเช่าซื้อ 10 งวด ๆ ละ 20,000 บาท ต่อมานายเล็กกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าซื้อ ติดกัน 2 งวด ก่อนที่นายจึงจะได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้นายเล็กนํารถยนต์ที่เช่าซื้อ มาคืนให้กับตนที่บ้าน นายเล็กได้ถูกนายใหญ่เจ้าหนี้รายหนึ่งฟ้องล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นายเล็กไม่สามารถจะเข้าไปจัดการทรัพย์สินใด ๆ ของตนเองได้ เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดทรัพย์สินหมดแล้ว ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2561 นายเล็กจึงได้มาขอกู้เงินจากนายรวย จํานวน 1,000,000 บาท โดยมีหลักฐานการกู้ยืม เป็นหนังสือ เพื่อนําไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการร้านไก่ย่างส้มตํา ต่อมาศาลล้มละลายกลาง มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดําเนินการ โฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายและประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดี ล้มละลาย

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายซิ่งและนายรวยจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนจากนายเล็กหรือไม่ ด้วยวิธีการใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว

มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจ ดังต่อไปนี้

(1) จัดการและจําหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทําการที่จําเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป”

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่…”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง หนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย หมายถึง “หนี้เงิน” เท่านั้น และตามมาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะขอรับชําระหนี้ได้ มูลแห่งหนี้จะต้องได้ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือชั่วคราว

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายซิ่งและนายรวย จะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนจากนายเล็กหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนายซิ่ง การที่นายเล็กทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากนายซิ่งแล้วต่อมานายเล็กผิดนัด ไม่ชําระค่าเช่าซื้อติดกัน 2 งวด ทําให้นายซึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้นายเล็กนํารถยนต์ที่เช่าซื้อ มาคืนให้กับตนนั้น จะเห็นได้ว่าหนี้ที่นายเล็กลูกหนี้ติดค้างต่อนายซิ่งนั้นเป็นหนี้ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง มิใช่หนี้เงิน ดังนั้น นายซิ่งจึงมิอาจไปขอรับชําระหนี้ตามมาตรา 91 ได้ แต่นายซิ่งสามารถใช้สิทธิติดตามเอา ทรัพย์สินคือรถยนต์ของตนคืนได้ โดยแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอํานาจแต่ผู้เดียวในการจัดการและ จําหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทําการที่จําเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป ปฏิบัติตาม สัญญาภาระผูกพันนั้นแทนลูกหนี้ตามมาตรา 22 (1)

ส่วนกรณีที่นายเล็กได้กู้เงินจากนายรวย จํานวน 1,000,000 บาทนั้น เมื่อมูลหนี้ดังกล่าวได้เกิดขึ้น ภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว นายรวยจึงมิอาจไปขอรับชําระหนี้ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 6

สรุป

นายซิ่งและนายรวยจะไปขอรับชําระหนี้ในคดีนี้ไม่ได้ แต่นายซิ่งสามารถใช้สิทธิในการ ติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนได้ตามมาตรา 22 (1) ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 3 บริษัท สหสิน จํากัด ได้ทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจํานวน 5 คัน ราคา 6 ล้านบาท จากบริษัทสีมายานยนต์ จํากัด โดยสัญญามีข้อตกลงว่า ให้ผ่อนชําระเดือนละ 50,000 บาททุกเดือน หากมิได้ ผ่อนชําระ 2 เดือนติดต่อกัน บริษัท สมายานยนต์ จํากัด ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อสามารถบอกเลิกสัญญา และผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามเอารถยนต์บรรทุกที่ให้เช่าซื้อคืนได้ ปรากฏว่า บริษัท สหสิน จํากัด ประสบปัญหาการเงิน จึงผิดนัดชําระค่างวดเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกงวดเดือนมกราคม 2561 และงวดเดือนมีนาคม 2561 ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2561 บริษัท สหสิน จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟู กิจการของตนต่อศาลล้มละลายกลาง และวันที่ 20 เมษายน 2561 ศาลฯ ได้มีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ของลูกหนี้ โดยแต่งตั้งให้ บริษัท สหสิน จํากัด ลูกหนี้เป็นผู้ทําแผน ปรากฏว่า บริษัท สหสิน จํากัด ผู้ทําแผนอยู่ระหว่างการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อเตรียมการทําแผนฟื้นฟูกิจการ จึงยัง ไม่มีเงินชําระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ดังนี้

(1) บริษัท สมายานยนต์ จํากัด จะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อบอกเลิกสัญญากับบริษัท สหสิน จํากัดและติดตามเอารถยนต์บรรทุก 5 คัน คืนมาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) การไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง จะงดการจ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับบริษัท สหสิน จํากัด เพราะเหตุไม่ชําระค่าใช้กระแสไฟฟ้าและค่าน้ําประปาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/12 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้อง ขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(8) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสําคัญในการดําเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขาย หรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกําหนดเวลา ที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่น ที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ก็ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่ง เป็นอย่างอื่น หรือหลังจากวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทําแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าซื้อ ราคาค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ หรือค่าเช่าตามสัญญาสองคราวติดต่อกัน หรือกระทําผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสําคัญ

(11) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคําร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทําแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ไม่ชําระ ค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการสองคราวติดต่อกัน”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (8) และ (11) วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีตาม (1) เมื่อบริษัท สหสิน จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลและศาลได้รับคําร้อง ขอไว้พิจารณาแล้ว ย่อมเกิดสิทธิแก่ลูกหนี้ตามมาตรา 90/12 (8) กล่าวคือห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อติดตามเอาคืนซึ่ง ทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ ดังนั้น บริษัท สีมายานยนต์ จํากัด จึงไม่อาจใช้สิทธิจากการ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและใช้สิทธิติดตามเอารถยนต์บรรทุกคืนตามสัญญาเช่าซื้อได้

และนอกจากนั้น ค่างวดเช่าซื้อที่ค้างชําระคือเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม ก็เป็นค่างวดที่ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และมิใช่ค่างวดที่ค้างชําระสองคราวติดต่อกัน จึงไม่เข้าข้อยกเว้น ที่จะงดการคุ้มครองทรัพย์ตามมาตรา 90/12 (8) ดังนั้น บริษัท สีมายานยนต์ จํากัด จึงไม่อาจใช้สิทธิจากการ บอกเลิกสัญญาและติดตามเอารถยนต์บรรทุกคืนจากบริษัท สหสิน จํากัด ในระหว่างที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ของลูกหนี้ได้

กรณีตาม (2) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังจากที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท สหสิน จํากัด แล้ว บริษัท สหสิน จํากัด ในฐานะผู้ทําแผนมิได้ชําระค่าใช้บริการไฟฟ้า ประปาของเดือนพฤษภาคมถึงเดือน กรกฎาคม อันเป็นค่าบริการที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วและเป็นหนี้ ติดต่อกันถึง 3 เดือน จึงเข้าข้อยกเว้นที่ไม่อาจใช้มาตรการคุ้มครองตามมาตรา 90/12 (11) ได้ ดังนั้น การไฟฟ้า นครหลวงและการประปานครหลวง จึงงดจ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับบริษัท สหสิน จํากัด เพราะเหตุ ไม่ชําระค่าใช้กระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาติดต่อกันสองคราวได้ตามมาตรา 90/12 (11)

สรุป

(1) บริษัท สีมายานยนต์ จํากัด จะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อบอกเลิกสัญญากับบริษัท สหสิน จํากัด และติดตามเอารถยนต์บรรทุก 5 คัน คืนไม่ได้

(2) การไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง จะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ให้กับบริษัท สหสิน จํากัด เพราะเหตุไม่ชําระค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาได้

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายเอทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายปีจํานวน 5 ล้านบาท ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเอไม่ชําระหนี้ นายบีจึงฟ้องนายเอให้ล้มละลาย นายเอยื่นคําให้การแก้คดีตามกฎหมาย แต่ศาลมีคําสั่ง ไม่รับคําให้การของนายเอ นายเอจึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งไม่รับคําให้การต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมานายเอ และนายบีตกลงกันได้ นายบีจึงขอถอนฟ้อง ศาลล้มละลายมีคําสั่งอนุญาตให้นายบีถอนฟ้องได้ ดังนี้ คําสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 11 “เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายต่อศาลเป็นจํานวนห้าพันบาท ในขณะยื่นคําฟ้องคดีล้มละลาย และจะถอนคําฟ้องนั้นไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น เมื่อได้ยื่นฟ้องคดีล้มละลาย ต่อศาลแล้ว ห้ามมิให้ถอนฟ้อง เว้นแต่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ประการดังต่อไปนี้คือ

1 ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลว่าจะอนุญาตหรือไม่

2 การถอนฟ้องจะกระทําได้เฉพาะแต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น

(ตามแนวคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2532)

3 จะต้องขอถอนฟ้องก่อนศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเท่านั้น (ตามแนวคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 3286/2530)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบีฟ้องนายเอให้ล้มละลาย นายเอได้ยื่นคําให้การแก้คดีตาม กฎหมาย แต่ศาลมีคําสั่งไม่รับคําให้การของนายเอ นายเอจึงยื่นอุทธรณ์คําสั่งไม่รับคําให้การต่อศาลอุทธรณ์นั้น ถือว่าเป็นกรณีที่คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น การที่นายเอและนายปีตกลงกันได้ นายปี จึงขอถอนฟ้องนั้น เมื่อนายบีได้ยื่นคําร้องขอถอนฟ้องในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นและก่อนที่ ศาลจะมีคําสั่งพิทักษ์เด็ดขาด การที่ศาลล้มละลายมีคําสั่งอนุญาตให้นายปีถอนฟ้องได้นั้น คําสั่งของศาลจึง ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งของศาลล้มละลายที่อนุญาตให้นายปีถอนฟ้องเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2 นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 2 ล้านบาท มีนายลมเป็นผู้ค้ําประกัน ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆและนายลมไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงส่งหนังสือทวงถามถึง นายเมฆและนายลม นายเมฆและนายลมได้รับหนังสือทวงถามแล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน ไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเมฆและนายลมก็ไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงฟ้องนายเมฆและนายลม ให้ล้มละลาย นายเมฆไม่ต่อสู้คดี แต่นายลมยื่นคําให้การอ้างว่า แม้ตนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชําระหนี้ได้ แต่นายเมฆมีทรัพย์สินพอชําระหนี้ จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาล ทานจะมีคําสั่งว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สิน ล้นพ้นตัว

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้ง ซึ่งมี ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชําระหนี้”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ (1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลัน หรือ ในอนาคตก็ตาม”

มาตรา 14 “ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคําฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณา เอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นําสืบได้ว่าอาจชําระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะมีคําสั่งเกี่ยวกับนายเมฆและนายสมอย่างไรนั้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 กรณีของนายเมฆ การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 2 ล้านบาท โดยมีนายสมเป็นผู้ค้ําประกันนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆไม่ชําระหนี้ นายหมอกจึงส่งหนังสือทวงถาม ถึงนายเมฆและนายลมให้ชําระหนี้ 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเมฆและนายลม ก็ไม่ชําระหนี้ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (9) ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ นายเมฆและนายสมที่จะต้องต่อสู้คดีพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานนั้น

เมื่อนายเมฆไม่ต่อสู้คดี ก็ต้องฟังว่านายเมฆมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งพิจารณาหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 9 แล้ว นายเมฆซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้จํานวนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และหนี้นั้นกําหนด จํานวนได้แน่นอนและถึงกําหนดชําระแล้ว ศาลจึงต้องมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของนายเมฆเด็ดขาด ตามมาตรา 14 (ฎีกาที่ 4287/2543, ฎีกาที่ 1196/2541) โดยไม่จําต้องพิจารณาว่านายเมฆอาจชําระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่น ที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เพราะนายเมฆมิได้เข้าต่อสู้คดี

2 กรณีของนายลม ศาลจะมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดด้วยหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่โจทก์ ฟ้องให้ลูกหนี้ร่วมหลายคนล้มละลายเป็นคดีเดียวกัน การพิจารณาว่า ลูกหนี้ร่วมคนใดมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถ ชําระหนี้ได้ หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้น เป็นเรื่องเฉพาะตัวของลูกหนี้ร่วมหรือผู้ค้ําประกันแต่ละคน

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดไม่ชําระหนี้ นายลมในฐานะผู้ค้ําประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับนายเมฆอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 การที่นายหมอก ฟ้องนายเมฆและนายลมให้ล้มละลายเป็นคดีเดียวกัน แม้นายลมจะต่อสู้ว่าแม้ตนจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถ ชําระหนี้ได้ แต่นายเมฆมีทรัพย์สินที่พอชําระหนี้ได้ทั้งหมดก็ตาม นายลมก็จะนําข้อต่อสู้ของนายเมฆมาเป็นข้อต่อสู้ ของตนไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของนายเมฆเท่านั้น จึงต้องฟังว่านายลมมีหนี้สินล้นพ้นตัว (ฎีกาที่ 2776/2540) ทั้งการที่นายเมฆมีทรัพย์สินพอที่จะชําระหนี้แก่นายหมอกได้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้นายลมล้มละลาย แต่อย่างใด (ฎีกาที่ 4287/2543) ดังนั้นเมื่อพิจารณาได้ความจริงตามมาตรา 8 (9) ประกอบมาตรา 9 ศาลจึงต้อง มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายลมเด็ดขาด ตามมาตรา 14

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล จะมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเมฆและนายลมเด็ดขาด

 

ข้อ 3 บริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ได้ทําสัญญากู้เงินจากนายรวยจํานวน 10 ล้านบาท ต่อมาบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด กิจการการค้าขาดทุนและมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงถูก นายรวยฟ้องล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในวันที่ 14 มีนาคม 2561 บริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ไม่อยากล้มละลายเพราะต้องเลิกจ้างพนักงานจํานวนมาก อีกทั้งเห็นว่าบริษัทพอมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการได้ จึงได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําร้องขอไว้พิจารณา ระหว่างดําเนินการประกาศ วันนัดไต่สวน บริษัทได้ขายสินค้าอุปโภค บริโภคให้แก่นางสาวข้าวหอมเป็นเงิน 5,000 บาท และได้ทํา สัญญาขายที่ดินของบริษัทซึ่งใช้เป็นที่จอดรถของลูกค้าให้แก่บริษัท เอ จํากัด ในราคา 10 ล้านบาท โดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) คําสั่งศาลที่รับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ไว้พิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) การขายสินค้าอุปโภค บริโภค และการขายที่ดินของบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัดมีผลทางกฎหมายอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/2 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 90/4 อาจร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ไม่ว่าลูกหนี้จะถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้ว หรือไม่”

มาตรา 90/3 “เมื่อลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกัน เป็นจํานวนแน่นอน ไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามี เหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ บุคคลตามมาตรา 90/4 อาจยื่นคําร้องขอต่อศาลให้มี การฟื้นฟูกิจการได้”

มาตรา 90/4 วรรคหนึ่ง ภายใต้บังคับมาตรา 90/5 บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาล ให้ฟื้นฟูกิจการ ได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

(2) ลูกหนี้ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา 90/3”

มาตรา 90/5 “บุคคลตามมาตรา 90/4 จะยื่นคําร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่ได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด”

มาตรา 90/12 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้องขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผนหรือวันที่ ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดี หรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟู กิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(9) ห้ามมิให้ลูกหนี้จําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้ สามารถดําเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

การออกคําสั่งของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท นายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้มี อํานาจหน้าที่เกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งเป็นลูกหนี้ การทํานิติกรรมหรือการชําระหนี้ใด ๆ ที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติ ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดของวรรคหนึ่ง การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) ตามมาตรา 90/2 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า เจ้าหนี้หรือลูกหนี้หรือหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 90/4 อาจร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ ไม่ว่าลูกหนี้จะถูกฟ้องให้ล้มละลายแล้วหรือไม่ เว้นแต่ศาลจะได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วตามมาตรา 90/5 (1)

ตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด เป็นหนี้นายรวยจํานวน 10 ล้านบาท เเละต่อมาบริษัทฯ มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงถูกนายรวยฟ้องให้ล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวในวันที่ 14 มีนาคม 2561 ต่อมาในวันที่ 20 เมษายน 2561 บริษัทฯ ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟู กิจการ และศาลล้มละลายกลางได้มีคําสั่งรับคําร้องขอไว้พิจารณานั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทฯ มีหนี้สิน ล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้เป็นจํานวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท และคดีนี้ศาลยังไม่มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาด บริษัทฯ ย่อมมีสิทธิยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ตามมาตรา 90/2 วรรคหนึ่ง มาตรา 90/3 ประกอบ มาตรา 90/4 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 90/5 (1) ดังนั้น คําสั่งศาลที่รับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ไว้พิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมาย

 

(ข) ตามมาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง (9) และวรรคท้าย ได้กําหนดไว้ว่า นับแต่วันที่ศาลได้มีคําสั่ง รับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณา ห้ามมิให้ลูกหนี้จําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สิน นอกจากเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถ ดําเนินต่อไปได้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น หากลูกหนี้ทํานิติกรรมหรือชําระหนี้ฝ่าฝืนต่อ บทบัญญัติดังกล่าว การนั้นเป็นโมฆะ

ตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทฯ ได้ขายสินค้าอุปโภค บริโภคให้แก่นางสาวข้าวหอม เป็นเงิน 5,000 บาทนั้น ถือว่าเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถ ดําเนินต่อไปได้ ดังนั้น กรณีนี้ลูกหนี้สามารถดําเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลล้มละลายกลางก่อน ตามมาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง (9)

ส่วนการที่บริษัทฯ ได้ทําสัญญาขายที่ดินของบริษัทซึ่งใช้เป็นที่จอดรถของลูกค้าให้แก่ บริษัท เอ จํากัด ในราคา 10 ล้านบาทนั้น ไม่ถือว่าเป็นการกระทําที่จําเป็นเพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติ ของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ตามมาตรา 90/12 วรรคหนึ่ง (9) ซึ่งหากลูกหนี้จะดําเนินการจะต้องได้รับอนุญาตจาก ศาลก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้ได้ดําเนินการโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลาง การขายที่ดิน ของบริษัทฯ ลูกหนี้ดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 90/12 วรรคท้าย

สรุป

(ก) คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่รับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด ไว้พิจารณาชอบด้วยกฎหมาย

(ข) การขายสินค้าอุปโภค บริโภคของบริษัท สะดวกซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ต จํากัด

มีผลสมบูรณ์ แต่การขายที่ดินของบริษัทฯ ตกเป็นโมฆะ

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ก่อนมีการร้องขอฟื้นฟูกิจการดังกล่าว บริษัท สีสัน จํากัด ได้ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์บรรทุกกับบริษัท ยนต์การ จํากัด โดยผ่อนชําระเดือนละ 1 แสนบาท โดยมีธนาคาร เอไทย จํากัด เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมา บริษัท สีสัน จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการของตน และศาลได้มีคําสั่งให้ ฟื้นฟูกิจการและตั้งบริษัท แอดไวท์ จํากัด เป็นผู้ทําแผน บริษัท ยนต์การ จํากัด ได้ยื่นคําขอรับ ชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ซึ่งต่อมาศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการนั้น โดยบริษัท ยนต์การ จํากัด ได้รับชําระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเพียงร้อยละ 30 ดังนั้น บริษัท ยนต์การ จํากัด จึงได้มายื่นฟ้องธนาคาร เอไทย จํากัด ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในหนี้ส่วนที่ ขาดไป ธนาคาร เอไทย จํากัด ต่อสู้ว่า เมื่อศาลเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแล้วและแผนฟื้นฟู กิจการกําหนดให้หนี้ของบริษัท สีสัน จํากัด ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 ธนาคาร เอไทย จํากัด ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงรับผิดเพียงร้อยละ 30 เช่นกัน และเมื่อบริษัท ยนต์การ จํากัด ได้รับชําระหนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการแล้ว ตนจึงไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่บริษัท ยนต์การ จํากัด

เช่นนี้ บริษัท ยนต์การ จํากัด มีอํานาจฟ้องธนาคาร เอไทย จํากัด ให้รับผิด ตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ และข้อต่อสู้ ของธนาคาร เอไทย จํากัด รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้จะขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ก็แต่โดยปฏิบัติตาม วิธีการที่กล่าวไว้ในส่วนนี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ ระหว่างพิจารณาก็ตาม ทั้งนี้ ต้องยื่นคําขอรับชําระหนี้พร้อมสําเนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันโฆษณาคําสั่งตั้งผู้ทําแผน และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ส่งสําเนาคําขอรับชําระหนี้ให้ผู้ทําแผนโดย ไม่ชักช้า”

มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้อาจขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามลแห่งหนี้ ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่ เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้”

มาตรา 90/60 “แผนซึ่งศาลมีคําสั่งเห็นชอบแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ใน การฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ตามมาตรา 90/27

คําสั่งของศาลซึ่งเห็นชอบด้วยแผนไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของบุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วน กับลูกหนี้ หรือผู้รับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือผู้ค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ในหนี้ที่มีอยู่ ก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน และไม่มีผลให้บุคคลเช่นว่านั้นต้องรับผิดในหนี้ที่ก่อขึ้นตามแผนตั้งแต่ วันดังกล่าว เว้นแต่บุคคลเช่นว่านั้นจะยินยอมโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 90/61 “เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคําขอรับชําระหนี้ ภายในเวลาที่กําหนดไว้ตามมาตรา 90/26 หรือมาตรา 90/27 วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิ ที่จะได้รับชําระหนี้ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสําเร็จตามแผนหรือไม่…”

 

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เป็นเรื่องผลแห่งการร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งเมื่อศาลมีคําสั่งให้ ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทําแผนแล้วเจ้าหนี้ทั้งปวงที่มูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจะต้องยื่น คําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 1 เดือนนับแต่วันโฆษณาตั้งผู้ทําแผน มิฉะนั้นย่อมหมดสิทธิ ที่จะได้รับชําระหนี้ตามมาตรา 90/61 ประกอบมาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง

เมื่อบริษัท ยนต์การ จํากัด ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับชําระหนี้ในคดี ฟื้นฟูกิจการ ต่อมาเมื่อแผนฟื้นฟูกิจการกําหนดให้ลดหนี้ของบริษัท ยนต์การ จํากัด เหลือเพียงร้อยละ 30 เมื่อ ศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ย่อมผูกมัดบริษัท ยนต์การ จํากัด ให้มีสิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้ คือบริษัท สีสัน จํากัด เพียงร้อยละ 30 ตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง

สําหรับความรับผิดของธนาคาร เอไทย จํากัด ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันของบริษัท สีสัน จํากัด นั้น ตามมาตรา 90/60 วรรคสอง ได้กําหนดไว้ว่า แผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลเห็นชอบไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิด ของผู้ค้ำประกันในหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน ดังนั้น แม้แผนฟื้นฟูกิจการจะลดหนี้ของ ลูกหนี้เหลือร้อยละ 30 แต่ความรับผิดของธนาคาร เอไทย จํากัด ในฐานะผู้ค้ำประกันยังคงเป็นไปตามสัญญา คําบระกันเดิม ด้วยเหตุนี้ บริษัท ยนต์การ จํากัด ย่อมมีอํานาจฟ้องให้ธนาคาร เอไทย จํากัด รับผิดตามสัญญา ค้ําประกันได้ และข้อต่อสู้ของธนาคาร เอไทย จํากัด ที่ว่า เมื่อบริษัท ยนต์การ จํากัด ได้รับชําระหนี้ตามแผน ฟื้นฟูกิจการแล้วตนจึงไม่ต้องชําระหนี้ให้แก่บริษัท ยนต์การ จํากัด จึงรับฟังไม่ได้

สรุป บริษัท ยนตการ จํากัด มีอํานาจฟ้องธนาคาร เอไทย จํากัด ให้รับผิดตามสัญญา ค้ำประกันได้ และข้อต่อสู้ของธนาคาร เอไทย จํากัด รับฟังไม่ได้

 

ข้อ 2 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่งศาลสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามข้อประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้ศาลบังคับชําระหนี้เอาจาก นายแตงไทยผู้ค้ําประกันตามข้อประนอมหนี้ โดยศาลบังคับชําระหนี้จากนายแตงไทยได้เพียง 300,000 บาท ยังคงเหลือหนี้ที่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดตามข้อประนอมหนี้อีก 1,000,000 บาท ซึ่งลูกหนี้และผู้ค้ำประกันไม่มีทรัพย์สินใด ๆ ที่จะยึดมาชําระหนี้ดังกล่าวได้ เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงนําหนี้ดังกล่าวมาฟ้องนายแตงไทยผู้ค้ําประกันเป็นคดีล้มละลายอีกเรื่องหนึ่ง ระหว่างการพิจารณาคดีล้มละลายเรื่องที่สอง ศาลได้สั่งยกเลิกการประนอมหนี้ในคดีล้มละลาย เรื่องแรกตามคําขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย นายแตงไทย ผู้ค้ำประกันจึงขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงิน 300,000 บาท ที่ตนได้จ่ายไปและขอให้ศาล พิพากษายกฟ้องคดีล้มละลายที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องตนเสีย โดยอ้างเหตุผลประการเดียวกันว่า เมื่อศาลสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้น ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามข้อประนอมหนี้

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของนายแตงไทยทั้งสองกรณีฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 60 วรรคหนึ่ง “ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่าการประนอมหนี้นั้นไม่อาจดําเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือ จะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคําขอโดยทําเป็นคําร้อง ศาลมีอํานาจยกเลิกการประนอมหนี้ และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทําไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 “อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจาก ความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อศาลสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว แต่ลูกหนี้ผิดนัด ไม่ชําระหนี้ตามข้อประนอมหนี้ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ขอให้ศาลบังคับชําระหนี้เอาจากนายแตงไทย ผู้ค้ำประกันตามข้อประนอมหนี้ โดยศาลบังคับชําระหนี้จากนายแตงไทยได้เพียง 300,000 บาทนั้น ต่อมาเมื่อ ศาลได้สั่งยกเลิกการประนอมหนี้ในคดีนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย การที่ศาลสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ ย่อมถือว่าเป็นเหตุประการหนึ่งที่ทําให้หนี้ที่นายแตงไทยค้ำประกันอยู่ระงับสิ้นลง นายแตงไทยผู้ค้ำประกัน ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตามข้อประนอมหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 ดังนั้น การที่ นายแตงไทยขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีล้มละลายที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ฟ้องตนเสียโดยอ้างเหตุผลว่า เมื่อศาล สั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม สัญญาค้ำประกันตามข้อประนอมหนี้ ข้ออ้างกรณีนี้ของนายแตงไทยจึงฟังขึ้น

ส่วนการที่นายแตงไทยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนเงิน 300,000 บาทที่ตนได้จ่ายไป โดยอ้างเหตุผลประการเดียวกันนั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น เนื่องจากตามมาตรา 60 วรรคหนึ่งนั้นได้กําหนดไว้ว่า แม้ศาล จะได้มีคําสั่งยกเลิกการประนอมหนี้แล้วก็ตาม ก็ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทําไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น ดังนั้น การที่นายแตงไทยได้จ่ายเงินไปแล้ว 300,000 บาทตามข้อประนอมหนี้ก่อนที่ศาลจะสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ นายแตงไทยจึงไม่สามารถเรียกคืนได้

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายแตงไทยที่ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีล้มละลายที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ฟ้องตนเสียฟังขึ้น แต่ข้อต่อสู้ที่ขอให้คืนเงิน 300,000 บาทฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3 นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโทจํานวน 2,000,000 บาท โดยนายเอกได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายโทยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ต่อมานายเอกผิดนัดไม่ชําระหนี้ นายโทจึงส่งหนังสือทวงถาม ถึงนายเอก นายเอกได้รับหนังสือทวงถามให้ชําระหนี้แล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อย กว่า 30 วัน แต่นายเอกก็ไม่ชําระหนี้ นายโทจึงฟ้องนายเอกให้ล้มละลาย ศาลล้มละลายมีคําสั่งว่า นายโทเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่ไม่ยอมระบุในคําฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน และนายโทยังมีหนี้ตามสัญญาซื้อขายที่นายเอกค้างชําระอีกจํานวน 1,500,000 บาท ซึ่งยังไม่ถึง กําหนดชําระ แต่ได้ยื่นฟ้องรวมกันมากับหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งไม่สามารถฟ้องได้ ศาลล้มละลาย จึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องของนายโท ดังนี้ คําสั่งของศาลล้มละลายขอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สิน ล้นพ้นตัว

(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชําระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมี ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและลูกหนี้ไม่ชําระหนี้”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้ จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ ก็ต่อเมื่อ

ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็น จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท…และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือใน อนาคตก็ตาม

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้าม มิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สิน

เกินกว่าตัวทรัพย์ ที่เป็นหลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งของศาลล้มละลายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

1 กรณีหนี้เงินกู้จํานวน 2,000,000 บาท

การที่นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายโทจํานวน 2,000,000 บาท ต่อมานายเอก ผิดนัดชําระหนี้ นายโทจึงส่งหนังสือทวงถามถึงนายเอก นายเอกได้รับหนังสือทวงถามให้ชําระหนี้แล้วจํานวน 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่นายเอกก็ไม่ชําระหนี้นั้น กรณีดังกล่าวให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายเอกลูกหนี้ เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 (9) และเมื่อนายเอกซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้นายโทเจ้าหนีไม่น้อยกว่า 1,000,000 ล้านบาท นายโทเจ้าหนี้ย่อมสามารถฟ้องให้นายเอกล้มละลายได้ตามมาตรา 9

การที่นายเอกกู้ยืมเงินจากนายโท โดยนายเอกได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายโท ยึดถือไว้เป็นหลักประกันนั้น ไม่มีผลให้นายโทสามารถบังคับชําระหนี้เอาจากที่ดินตามโฉนดนั้นได้แต่อย่างใด นายโทจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของนายเอกลูกหนี้ นายโทจึงไม่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน

เมื่อนายโทไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกัน นายโทย่อมมีสิทธิฟ้องนายเอกให้ล้มละลายได้ตาม มาตรา 9 โดยนายโทไม่จําต้องบรรยายฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่ เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องตามมาตรา 10 ดังนั้น การที่ศาลล้มละลายตรวจคําฟ้องแล้ว เห็นว่านายโทเป็นเจ้าหนี้มีประกัน แต่นายโทไม่ได้บรรยายฟ้องตามมาตรา 10 ดังกล่าว จึงมีคําสั่งไม่รับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายดังกล่าวจึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2 กรณีหนี้ตามสัญญาซื้อขายจํานวน 1,500,000 บาท

การที่นายโทฟ้องนายเอกว่า นายเอกยังเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายซึ่งยังไม่ถึงกําหนด ชําระแก่นายโทอีกจํานวน 1,500,000 บาท แต่ศาลล้มละลายเห็นว่าเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ จึงมีคําสั่ง ไม่รับฟ้องนั้น คําสั่งของศาลล้มละลายกรณีดังกล่าวนี้ เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะ หนี้ตามสัญญาซื้อขายจํานวน 1,500,000 บาทนั้น แม้จะเป็นหนี้ที่ยังไม่ถึงกําหนดชําระ นายโทก็มีสิทธินําหนี้ ดังกล่าวมาฟ้องนายเอกเป็นคดีล้มละลายได้ตามมาตรา 9 (3)

สรุป คําสั่งของศาลล้มละลายทั้ง 2 กรณีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายจนเป็นหนี้นายรวย จํานวน 2 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินเป็นการชําระหนี้ให้แก่นายรวย โดยระบุวันที่สั่งจ่ายเงินในเช็คเป็นวันที่ 20 มกราคม 2561 ปรากฏว่าในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายจน ตามที่ ธนาคารสยามยื่นคําฟ้องต่อศาลเป็นคดีล้มละลาย นายรวยทราบเรื่องจึงยื่นคําขอรับชําระหนี้ตามเช็ค ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ระหว่างไต่สวนคําขอรับชําระหนี้นั้น ธนาคารสยามได้ยื่นคัดค้าน คําขอรับชําระหนี้ของนายรวยว่า หนี้ตามเช็คถึงกําหนดชําระภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาด จึงไม่มีสิทธิได้รับชําระหนี้

หากท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีคําสั่งเกี่ยวกับ คําขอรับชําระหนี้ของนายรวย และคําคัดค้านของธนาคารสยามอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรวยยื่นขอรับชําระหนี้ตามเช็คจํานวน 2 ล้านบาท ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์นั้น ถือเป็นเรื่องการขอรับชําระหนี้ของเจ้าหนี้ไม่มีประกันในคดีล้มละลาย ซึ่งตามมาตรา 94 ได้วางหลัก ไว้ว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจะขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่า หนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่เป็นหนี้ต้องห้ามตามมาตรา 94 (1) และ (2)

ตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หนี้ตามเช็คที่นายจนสั่งจ่ายให้แก่นายรวยเป็นหนี้อันเกิดขึ้นก่อน วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 อันเป็นวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โดยนายจนออกเช็คในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ดังนั้นจึงฟังได้ว่าวันที่ออกเช็คอันถือเป็นวันที่มูลหนี้ตามเช็คเกิดขึ้นนั้น เป็นเวลาก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายรวยจึงเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 94 วรรคหนึ่ง

ส่วนคําคัดค้านของธนาคารสยามที่ว่า หนี้ตามเช็คถึงกําหนดชําระภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจึงไม่มีสิทธิได้รับชําระหนี้นั้นไม่อาจรับฟังได้ เพราะตามมาตรา 94 ได้ให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ว่า แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม หากว่ามูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ย่อม อาจขอรับชําระหนี้ได้ ดังนั้นแม้กําหนดชําระเงินตามเช็คจะครบกําหนดในวันที่ 21 มกราคม 2561 อันเป็นวัน หลังจากวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม หนี้ตามเช็คนั้นย่อมอาจขอรับชําระหนี้ได้ หากข้าพเจ้าเป็น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีคําสั่งให้รับคําขอรับชําระหนี้ของนายรวย และมีคําสั่งให้ยกคําคัดค้านของธนาคารสยาม

สรุป หากข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ข้าพเจ้าจะมีคําสั่งให้รับคําขอรับชําระหนี้ ของนายรวย และมีคําสั่งให้ยกคําคัดค้านของธนาคารสยาม

 

ข้อ 2 คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ซึ่งที่ประชุม เจ้าหนี้ได้ลงมติยอมรับแผนแล้วให้ศาลพิจารณา ปรากฏว่าแผนฟื้นฟูกิจการนั้นมิได้ระบุคุณสมบัติ และค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนไว้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีรายการ ไม่ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 จึงมีคําสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ให้ท่านวินิจฉัยว่าคําสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/42 “ในแผนให้มีรายการต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

(7) ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทน…”

มาตรา 90/58 “ให้ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า

(1) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 90/58 (1) ให้ศาลมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาล พิจารณาแล้วเห็นว่าแผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ซึ่งตามมาตรา 90/42 (7) ได้บัญญัติไว้ว่า ในแผน ต้องมีรายการ ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทนไว้ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอให้ศาลพิจารณานั้น มิได้ระบุคุณสมบัติและค่าตอบแทน ของผู้บริหารแผนไว้ และเมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวมีรายการไม่ครบถ้วนตามมาตรา 90/42 ศาลจึงไม่อาจมีคําสั่งเห็นชอบด้วยแผนได้ ดังนั้น การที่ศาลมีคําสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน คําสั่งของศาลจึง ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งของศาลที่ไม่เห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 การประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย เรียกว่าการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ประชุมกันเพื่ออะไร

– ในการประชุมเจ้าหนี้ที่มีเรื่องของลูกหนี้ขอประนอมหนี้เข้ามาโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ทําคําขอประนอมหนี้เข้ามาในที่ประชุมเจ้าหนี้ ซึ่งในการประชุมเจ้าหนี้นั้นเองมี “มติพิเศษ”ออกมาว่า “ขออย่าให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย” ในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเป็นประธานในที่ประชุม ท่านเห็นว่า “มติพิเศษนั้น” ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด และท่านจะแก้ไขประการใด (ให้ท่านตอบพร้อมยกหลัก กฎหมายประกอบให้ครบถ้วนด้วย)

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่ง จํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือ ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”

มาตรา 33 “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มี รายงานการประชุมลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย”

มาตรา 36 “เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือ ประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาล และ ศาลอาจมีคําสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักไว้ว่า ในคดีล้มละลายเมื่อศาล ได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดซึ่ง เป็นการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และให้นําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าสู่ที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนี้ เพื่อ

1 ให้ได้มติพิเศษว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ หรือ

2 ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และ

3 ปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป

ตามอุทาหรณ์ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นําคําขอประนอมหนี้เข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก และผลของมติพิเศษจากที่ประชุมเจ้าหนี้ออกมาว่า “ขออย่าให้ศาลสั่งให้ลูกหนี้ล้มละลาย” นั้น มติพิเศษดังกล่าวย่อม เป็นมติที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ดังนั้นในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเป็นประธาน ในการประชุมตามมาตรา 33 เมื่อเห็นว่ามติพิเศษนั้นขัดต่อกฎหมายก็จะแก้ไขตามมาตรา 36 ซึ่งมีหลักดังนี้ คือ

1 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติพิเศษนั้นขัดต่อกฎหมาย

2 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําคําขอเป็นคําร้องยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลเพิกถอนหรือทําลายมตินั้น

3 ศาลอาจมีคําสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติตามมตินั้นได้

4 แต่ต้องยื่นต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติ

สรุป ข้าพเจ้าในฐานะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเป็นประธานในการประชุม เห็นว่า มติพิเศษนั้นขัดต่อกฎหมาย และข้าพเจ้าจะแก้ไขตามหลักกฎหมายที่ได้อธิบายข้างต้น

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 1/2558

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นําที่ดินของลูกหนี้ที่ยึดไว้แล้วนําออกให้นายทศเช่าโดยได้ทําสัญญาเช่ามีกําหนด 6 เดือน ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท นายทศไม่ชําระค่าเช่า ทั้งหมด 6 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาท นอกจากนี้จากการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ พบว่านายทศได้เคยทําสัญญาเช่าที่ดินแปลงเดียวกันนี้มาก่อนที่ลูกหนี้จะถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีนี้ และได้ค้างชําระค่าเช่าลูกหนี้เดิมอีก 3 เดือน เดือนละ 5,000 บาท เป็น 15,000 บาท เช่นเดียวกัน

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอํานาจนําที่ดินที่ยึดมานั้นออกให้เช่าได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอํานาจทวงถามค่าเช่าที่ค้างไว้แต่เดิมก่อนยึดทรัพย์ที่นายทศค้างชําระหนี้ไว้แต่เดิม 15,000 บาท ไว้ได้หรือไม่ หรือมีวิธีการทําอย่างไรเพื่อให้นายทศชําระหนี้นั้น

(3) ส่วนค่าเช่าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําสัญญาเช่าให้กับนายทศ และนายทศค้างค่าเช่าไม่ชําระหนี้เลย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทําประการใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจ ดังต่อไปนี้

(1) จัดการและจําหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทําการที่จําเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป

(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้”

มาตรา 119 วรรคหนึ่ง “เมื่อปรากฏว่าลูกหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดชําระเงิน หรือส่งมอบทรัพย์สินแก่ลูกหนี้ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งความเป็นหนังสือไปยังบุคคลนั้นให้ชําระเงินหรือ ส่งมอบทรัพย์สินตามจํานวนที่ได้แจ้งไปและให้แจ้งไปด้วยว่าถ้าจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็น หนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ มิฉะนั้นจะถือว่าเป็นหนี้ กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจํานวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด”

วินิจฉัย กรณีตามอุทาหรณ์ เยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) ตามบทบัญญัติมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้กําหนดไว้โดยชัดแจ้ง แล้วว่า เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้นที่มีอํานาจจัดการ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ลูกหนี้หามีอํานาจกระทําการใด ๆ หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตนไม่

ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอํานาจนําที่ดินของลูกหนี้ที่ได้ยึดไว้แล้ว ออกให้ นายทศเช่าได้ เพราะถือเป็นการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ประการหนึ่งตามมาตรา 22 (1)

 

(2) สําหรับค่าเช่าเดิมที่นายทศข้างชําระไว้ 3 เดือน เป็นเงิน 15,000 บาทนั้น ถือเป็นสิทธิ เรียกร้องที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนที่ลูกหนี้จะถูกพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงขอบที่จะมีหนังสือทวงหนี้ค่าเช่า จํานวน 15,000 บาท จากนายทศได้ตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องแจ้งไปด้วยว่า หากนายทศจะปฏิเสธ ให้แสดงเหตุผลประกอบข้อปฏิเสธเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับ หนังสือทวงหนี้ มิฉะนั้นให้ถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ตามจํานวนที่แจ้งไปเป็นการเด็ดขาด

(3) ส่วนค่าเช่าใหม่ 6 เดือน เดือนละ 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,000 บาท ที่นายทศ ค้างชําระนั้น ถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์น้ําที่ดินของลูกหนี้ออกให้เช่าหลังจากลูกหนี้ ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เมื่อนายทศไม่ชําระค่าเช่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจใช้อํานาจตามมาตรา 119 เพื่อทวงให้นายทศชําระค่าเช่าได้ แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจที่จะดําเนินการฟ้องร้อง เป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มีเขตอํานาจเพื่อเรียกค่าเช่าที่ค้างชําระเป็นคดีต่างหากได้ตามมาตรา 22 (3) เพราะเป็น การฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

สรุป

(1) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจนําที่ดินที่ยึดมานั้นออกให้เช่าได้

(2) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจทวงถามค่าเช่าที่ค้างไว้แต่เดิมก่อนยึดทรัพย์ที่นายทศค้างชําระไว้แต่เดิม 15,000 บาท ไว้ได้โดยแจ้งความเป็นหนังสือไปยังนายทศ (3) ค่าเช่าที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําสัญญาเช่าให้กับนายทศ และนายทศค้างค่าเช่าไม่ชําระหนี้เลยนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลที่มี เขตอํานาจเพื่อเรียกคาเช่าที่ค้างชําระจากนายทศ

 

ข้อ 2 นายกันได้ทําสัญญาเป็นหนังสือกู้ยืมเงินจากนายแก้วจํานวน 3 แสนบาท นายกันจึงถูกนายแก้วฟ้องเป็นคดีแพ่งขอให้ศาลพิพากษาให้นายกันชําระหนี้ตามสัญญากู้ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแพ่ง ต่อมานายกันถูกนายกิ่งเจ้าหนี้อีกรายฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายกัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายจึงยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งเข้ามาดําเนินคดีนี้แทนลูกหนี้

นายแก้วคัดค้านว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ใช่ลูกหนี้ตามสัญญากู้จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ ไม่อาจยื่นคําร้องเข้ามาดําเนินคดีแทนลูกหนี้ได้ หากท่านเป็นศาลจะสังคําร้องของเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์และคําคัดค้านของนายแก้วเจ้าหนี้อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจ ดังต่อไปนี้

(3) ประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้”

มาตรา 25 “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาล ในขณะที่มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคําขอโดยทําเป็นคําร้อง ศาลมีอํานาจงดการพิจารณาคดีแพ่งนั้นไว้หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะสังคําร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคําคัดค้าน ของนายแก้วเจ้าหนี้อย่างไรนั้น เห็นว่า คดีที่นายแก้วฟ้องให้ศาลแพ่งพิพากษาให้นายกันชําระหนี้ตามสัญญากู้นั้น เป็นคดีที่มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและค้างพิจารณาอยู่ในศาล ในขณะที่ศาลสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนายกัน แม้ว่าตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) จะบัญญัติให้อํานาจแก่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจแต่ผู้เดียวในการประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับ ทรัพย์สินของลูกหนี้ นับแต่เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม แต่ตามมาตรา 25 ได้ให้อํานาจแก่เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ในการเข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้

ดังนั้น โดยนัยมาตรา 25 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีสิทธิเข้ามาดําเนินคดีแทนนายกัน ลูกหนี้ได้ รวมถึงมีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลให้งดการพิจารณาหรือขอให้ศาลสั่งเป็นประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ ดังนั้น หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งรับคําร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาดําเนินคดีแทนลูกหนี้และยกคําคัดค้าน ของนายแก้วเจ้าหนี้

สรุป หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งรับคําร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และสั่งยกคําคัดค้าน ของนายแก้วเจ้าหนี้

 

ข้อ 3 การพิจารณาเพื่อแต่งตั้งผู้ทําแผนในคดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เรื่องหนึ่ง ผู้ร้องขอเสนอนายเอกเป็นผู้ทําแผน ผู้คัดค้านเสนอนายโทเป็นผู้ทําแผน ศาลจึงมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุม เจ้าหนี้เพื่อเลือกบุคคลใดระหว่างนายเอกและนายโทให้เป็นผู้ทําแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรียกประชุมเจ้าหนี้แล้ว ปรากฏว่า ถึงวันนัดประชุมเจ้าหนี้ไม่มีเจ้าหนี้มาร่วมประชุม เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์จึงรายงานเพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอ

ให้ท่านวินิจฉัยว่าศาลจะมีคําสั่งตามที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานขอได้หรือไม่ ประการใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/17 วรรคสี่ “ถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทําแผนได้ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทําแผนอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ในกรณีที่เห็นสมควรศาลจะมี คําสั่งยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลจะมีคําสั่งตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานขอได้หรือไม่ ประการใด เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 90/17 วรรคสี่ ได้กําหนดไว้แล้วว่า ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทําแผนนั้น ถ้า ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทําแผนได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทําแผน อีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรให้ยกเลิกกาสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า กลได้มีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อเลือกระหว่างนายเอกหรือนายโทให้เป็นผู้ทําแผน แต่เมื่อถึงวันประชุม ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหนี้มาประชุมซึ่งถือว่า ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่อาจมีมติเลือกผู้ทําแผนได้ ดังนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องเรียกประชุมเจ้าหนี้ เพื่อเลือกผู้ทําแผนอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรให้ยกเล็กคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะรายงานขอให้ศาลมีคําสั่งยกเลิกคําร้องขอของผู้ร้องขอไม่ได้ และศาลจะมีคําสั่งตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขอมาไม่ได้เช่นกัน

สรุป ศาลจะมีคําสั่งตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานขอไม่ได้

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย S/2557

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้ทําคําขอประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นําเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ว่า จะยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้หรือไม่ มีมติพิเศษ ออกมาว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยเสียงข้างมาก ดังนั้นจึงถามว่า

(1) การประนอมหนี้โดยที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับ ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายแล้วหรือยัง เพราะเหตุใด

(2) การขอประนอมหนี้ต้องมีการพิจารณากชั้น ชั้นไหนบ้าง ขั้นตอนเป็นอย่างไร

(3) การไต่สวนโดยเปิดเผยตามมาตรา 42 นั้น ต้องการทราบอะไรบ้าง

(4) ในขณะที่ไต่สวนโดยเปิดเผยนั้นได้ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนเร้นอยู่อีก เจ้าหนี้เลยคัดค้านว่า การที่เจ้าหนี้ทั้งหลายยอมรับในชั้นประชุมเจ้าหนี้นั้น เพราะไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมี ทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก ดังนั้น การที่ลูกหนี้ขอประนอมหนี้มาครั้งก่อนจึงน้อยไป

ดังนี้ ศาลจะต้อง รับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้หรือไม่ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 42 วรรคแรก “เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทําให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความ ประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทําหรือละเว้นกระทําการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข”

มาตรา 46 “การยอมรับคําขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ยังไม่ผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคําสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว”

มาตรา 52 “ในการที่ศาลจะมีคําสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณา รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ถ้ามี

เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วมีอํานาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติ ยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา การประนอมหนี้โดยที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับนั้น ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย ตามมาตรา 46 เนื่องจากการขอประนอมหนีนั้นจะต้องมีการพิจารณา 2 ชั้น ได้แก่

1) การพิจารณาในชั้นประชุมเจ้าหนี้ และ

2) การพิจารณาในชั้นศาล

กล่าวคือ ในการประนอมหนี้นั้น ในชั้นแรกจะต้องได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ โดยมติพิเศษ และเมื่อผ่านชั้นประชุมเจ้าหนี้โดยมติพิเศษแล้ว ต้องส่งมติพิเศษนั้นไปให้ศาลพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ดังนั้น การประนอมหนี้ที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับโดยมติพิเศษจึงยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายแต่อย่างใด

และเมื่อศาลได้รับมติพิเศษแล้ว ศาลจะต้องสั่งไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยตามมาตรา 42 ซึ่งจะ ต้องมีในทุกคดีล้มละลาย เพื่อให้ทราบถึงกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และเพื่อให้ทราบว่าลูกหนี้มีความประพฤติ เป็นอย่างไร ทําไมจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ในขณะที่ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยนั้น ปรากฏว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซุกซ่อนไว้อีก เจ้าหนี้จึงคัดค้านว่าการขอประนอมหนี้ครั้งก่อนนั้นน้อยไป และการที่เจ้าหนี้ทั้งหลายยอมรับในชั้นประชุมเจ้าหนี้นั้น เพราะเจ้าหนี้ไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก ดังนี้ เจ้าหนี้ย่อมสามารถคัดค้านได้ และเมื่อมีเจ้าหนี้ คัดค้าน ศาลจะต้องรับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้ตามมาตรา 52 วรรคท้าย

 

ข้อ 2 เจ้าหนี้ไม่มีประกันขอรับชําระหนี้ มีหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร

– หนี้อะไรบ้างที่ไม่อาจนําไปขอรับชําระหนี้ได้เพราะเหตุใด

– หนี้ต่อไปนี้เจ้าหนี้จะนําไปขอรับชําระหนี้ได้หรือไม่

ก. กู้เงิน ข. 5 แสนบาท เมื่อ 1 ม.ค. 50 ต่อมาถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จาก ค. เจ้าหนี้คนอื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 50 และหลังจากนั้น ก. ได้ไปขอกู้เงินจาก ข. คนเดิม เพิ่มอีก 3 แสนบาท ข. เจ้าหนี้ ได้ให้ไป เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 50 ดังนี้ ข. เจ้าหนี้จะนํามูลหนี้ทั้ง 2 จํานวนไปขอรับชําระได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

อธิบาย

ตามบทบัญญัติมาตรา 94 วรรคแรก ได้กําหนดหลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะขอรับชําระหนี้ ไว้ดังนี้ คือ

1 เป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน คือ เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีสิทธิบังคับได้ทํานองเดียวกับผู้จํานํา หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจ้าหนี้สามัญนั่นเอง

2 มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งหมายความถึงทั้งคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว และคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะเมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว กฎหมายห้ามลูกหนี้กระทําการ ใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน

3 มาขอรับชําระหนี้ รายในกําหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91)

4 หนี้ยังไม่ถึงกําหนดชําระ ก็มาขอรับชําระหนี้ได้ แต่หากสิทธิเรียกร้องยังไม่เกิดขึ้น จะนํามาขอรับชําระหนี้ไม่ได้

5 หนี้มีเงื่อนไข ก็นํามาขอรับชําระหนี้ได้

6 ถ้าไม่มาขอรับชําระหนี้ภายในกําหนด หนี้นั้นเป็นศูนย์ หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้ไม่มายื่น ขอรับชําระหนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชําระหนี้นั้น

7 ดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้จะนํามาขอรับชําระหนี้นั้น คิดได้ ถึงวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น (พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 100)

และหนี้ซึ่งไม่อาจนำไปขอรับชำระหนี้ได้นั้น ตามมาตรา 94 (1) และ (2) ได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ

1 หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้ (มาตรา 94 (1) เช่น หนี้ขาดอายุความ หนี้การพนัน หักกลบลบหนี้ หนี้เงินกู้ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้ตามเช็คที่เจ้าหนี้ไม่นําสืบถึงที่มาของมูลหนี้ เป็นต้น

2 หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ (มาตรา 94 (2)

กรณีตามข้อเท็จจริง ข. ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันสามารถนําหนี้จํานวน 5 แสนบาท ที่ ก. กู้ไป จาก ข. เมื่อ 1 ม.ค. 2550 มายื่นขอรับชําระหนี้ได้ เนื่องจากเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ก. จะถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และไม่ถือเป็นหนี้ต้องห้ามตามมาตรา 94 แต่ในส่วนของหนี้จํานวน 3 แสนบาทนั้น ข. เจ้าหนี้จะนํามายื่นขอรับ ชําระหนี้ไม่ได้ เพราะมูลหนี้นั้นเกิดขึ้นภายหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเป็นหนี้ที่ ข. เจ้าหนี้ ยอมให้ ก. ลูกหนี้ กระทําขึ้น ทั้ง ๆ ที่ ข. รู้อยู่แล้วว่า ก. มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงต้องห้ามตามมาตรา 94 (2)

 

ข้อ 3 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ลูกหนี้ขอประนอมหนี้มาร้อยละห้าสิบ ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ข. เป็นเจ้าหนี้คนหนึ่งมาขอรับชําระหนี้ไว้ในการกู้เงินรายนี้มี ป. เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนั้น ข. เจ้าหนี้รายนี้จึงได้รับชําระหนี้ไปร้อยละห้าสิบ ข. เห็นว่า ป. ผู้ค้ำประกันยังเฉยไม่ชําระหนี้ ส่วนที่ยังขาด ข. จึงฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ และ ป. ผู้ค้ำประกันให้ชําระหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะรับสํานวน 2 สํานวนนี้ไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 56 “การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัด เจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคําสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้”

มาตรา 59 “การประนอมหนี้ไม่ทําให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย”

วินิจฉัย

กรณี ตามอุทาหรณ์ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสํานวน 2 สํานวนนี้ไว้พิจารณาหรือไม่นั้น แยก พิจารณาได้ดังนี้

กรณีสํานวนที่ ข. ฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้

ตามกฎหมายล้มละลาย การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคน ไม่ว่าเจ้าหนี้เสียงข้างน้อยที่มิได้ยอมรับการขอประนอมหนี้ แม้กระทั่งเจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอรับชําระหนี้ที่มิได้ยื่นขอรับชําระหนี้ไว้ก็ตาม และเมื่อลูกหนี้ได้ชําระหนี้ตามข้อตกลง ในการประนอมหนี้ครบถ้วนแล้ว ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากหนี้สินที่เหลือ เว้นแต่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) คือ หนีภาษีอากร และหนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้ หนี้ทั้งสองประเภทนี้ ลูกหนี้จะต้องชําระต่อไป จนกว่าจะครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ (มาตรา 56)

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้มาร้อยละห้าสิบ ที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับ และศาลเห็นชอบด้วยแล้ว การประนอมหนี้ดังกล่าวย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชําระหนี้ได้ทุกคนตามมาตรา 56 ดังนั้น เมื่อ ข. เจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้ไปแล้วร้อยละห้าสิบตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจาก หนี้สินที่เหลือ ข. เจ้าหนี้จะฟ้องเรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้สวนที่ยังขาดอยู่ไม่ได้ ศาลย่อมไม่รับสํานวนฟ้องไว้พิจารณา (คําพิพากษาฎีกาที่ 1001/2509)

กรณีสํานวนที่ ข. ฟ้องเรียกให้ ป. ชําระหนี้

ตามกฎหมายล้มละลาย ในการขอประนอมหนี้นั้น เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบ ด้วยแล้ว ย่อมมีผลเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้น ส่วนบุคคลอื่นเช่นผู้ค้ำประกันหรือผู้ที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้หาได้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยไม่ (มาตรา 59)

ตามข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่า ข. เจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้เพียงร้อยละห้าสิบจากลูกหนี้ ข. เจ้าหนี้ จึงสามารถฟ้องเรียกให้ ป. ผู้ค้ําประกันชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ได้ เพราะการประนอมหนี้ไม่ทําให้ผู้ค้ําประกันหลุดพ้น จากความรับผิดตามมาตรา 59

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะรับสํานวนที่ ข. เจ้าหนี้ฟ้อง ป. ผู้ค้ำประกันไว้พิจารณา แต่จะ ยกฟ้องสํานวนที่ ข. เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 2/2557

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยสวน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอาเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ตามมาตรา 31 ได้มติพิเศษออกมาว่าเจ้าหนี้ยอมรับคําขอประนอมหนี้ที่ ร้อยละห้าสิบ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทํามติพิเศษนั้นเสนอขึ้นมาให้ศาลพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง เมื่อศาลได้รับมติพิเศษแล้วจึงสั่งให้ไต่สวนโดยเปิดเผย การสั่งไต่สวนโดยเปิดเผยนั้นศาลต้องการ ทราบอะไรบ้าง ให้ท่านตอบมาให้พอเข้าใจ

และในขณะไต่สวนนั้น ได้ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก ดังนี้เจ้าหนี้ทั้งหลายจึงคัดค้านว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้น้อยไป อีกทั้งเจ้าหนี้ยอมรับในการประชุมเจ้าหนครั้งแรกตามมาตรา 31 นั้น ก็เพราะไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นอยู่อีก การคัดค้านของเจ้าหนี้ฟังขึ้นหรือไม่ ศาลจําเป็นต้อง รับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้นั้นหรือไม่ ต้องใช้หลักเกณฑ์ใดในการรับฟังหรือไม่รับฟัง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 42 วรรคแรก “เมื่อได้มีการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเสร็จแล้ว ให้ศาลไต่สวนลูกหนี้ โดยเปิดเผยเป็นการด่วน เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เหตุผลที่ทําให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ตลอดจนความ ประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทําหรือละเว้นกระทําการใดซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น เกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอมปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข

มาตรา 52 “ในการที่ศาลจะมีคําสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณา รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ถ้ามี

เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วมีอํานาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติ ยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม”

วินิจฉัย

การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย เป็นกรณีที่ศาลได้ไต่สวนลูกหนี้ หลังจากที่มีการประชุมเจ้าหนี้ ครั้งแรกเสร็จแล้ว เพื่อทราบสิ่งต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกหนี้ ดังนี้คือ

1 เพื่อทราบกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ว่าในขณะถูกพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้ได้ประกอบ กิจการหรือมีทรัพย์สินสิ่งใดอยู่บ้าง

2 เหตุผลที่ทําให้ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เช่น เป็นหนี้เงินกู้ บัตรเครดิตหรือค้ำประกัน เป็นต้น

3 ความประพฤติของลูกหนี้ว่าได้กระทําหรือละเว้นกระทําการใด ซึ่งเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย หรือกฎหมายอื่นเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือเป็นข้อบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้ศาลไม่ยอม ปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไข (มาตรา 42 วรรคแรก)

ในการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยนั้น นอกจากจะค้นหาความจริงในเรื่องต่าง ๆ ตามที่กฎหมาย กําหนดไว้แล้ว การไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยยังเป็นเงื่อนไขสําคัญในการพิจารณาคําขอประนอมหนี้ กล่าวคือ ห้ามมิให้ศาลพิจารณาคําขอประนอมหนี้จนกว่าจะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้ว เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นในกรณีที่ ลูกหนี้ร่วมขอประนอมหนี้

ส่วนในกรณีที่มีการไต่สวนโดยเปิดเผยแล้วได้ทราบว่า ลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นซ่อนอยู่อีก การที่เจ้าหนี้ทั้งหลายคัดค้านว่า ลูกหนี้ขอประนอมหนี้ครั้งแรกน้อยเกินไป อีกทั้งการที่เจ้าหนี้ยอมรับคําขอประนอมหนี้ ของลูกหนี้ในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก ก็เพราะไม่ทราบว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอื่นอยู่อีกนั้น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิ คัดค้านต่อศาลได้ตามมาตรา 52 วรรคสอง ที่กําหนดว่า เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้แล้วมีอํานาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม ดังนั้น การคัดค้านของเจ้าหนี้จึงฟังขึ้น และศาล จําต้องรับฟังคําคัดค้านของเจ้าหนี้นั้น

 

ข้อ 2 คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง ในการพิจารณาตั้งผู้ทําแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเขียวเป็นผู้ทําแผน ส่วนลูกหนี้เสนอนายชาญเป็นผู้ทําแผน ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว เห็นว่านายชาญที่ลูกหนี้เสนอมีคุณสมบัติเป็นผู้ทําแผน จึงมีคําสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผน

ดังนี้ให้ วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/17 วรรคแรก “ในการพิจารณาตั้งผู้ทําแผน ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้ เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทําแผนด้วย เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคําสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทําแผนก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทําแผนก็ดี หรือลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็น ผู้ทําแผนด้วยก็ดี ให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณา เลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญ เป็นผู้ทําแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17 วรรคแรก ได้กําหนด หลักเกณฑ์การตั้งผู้ทําแผนไว้ดังนี้คือ

1 กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทําแผน ศาลอาจมีคําสั่ง ตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทําแผนก็ได้

2 กรณีที่ศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทําแผน หรือลูกหนี้ เจ้าหนี้ ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทําแผนด้วย ให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ศาลจะมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนไปเลยทีเดียวไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชียวเป็นผู้ทําแผน และลูกหนี้เสนอ นายชาญเป็นผู้ทําแผนด้วย ศาลจึงต้องมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ทั้งนี้ตามมาตรา 90/17 วรรคแรก ศาลจะมีคําสั่งตั้งนายเชียว หรือนายชาญเป็นผู้ทําแผนในทันทีหาได้ไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผนในทันที ก่อนมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ คําสั่งของศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผน โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ของมาตรา 90/17 วรรคแรก นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 นายแดง ถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้ขอหมายศาลเข้าตรวจและยึดทรัพย์สินในบ้านของนายแดง พบโทรศัพท์มือถือ IPhone 6 ที่นายรวยเพื่อนของนายแดง ลืมไว้ที่ บ้านของนายแดง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยึดเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ต่อมานายรวยมาติดตามหาโทรศัพท์ที่บ้านของนายแดง ทราบว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไป จึงนําหลักฐานการซื้อโทรศัพท์ไปแสดงเพื่อขอคืนจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์ไม่ยอมคืนอ้างว่ามีสิทธิยึดได้แม้จะเป็นของนายรวยก็ตาม เพราะพบอยู่ในบ้านของนายแดง จึง ถือเป็นทรัพย์อันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอํานาจยึดได้ตามกฎหมาย ล้มละลาย นายรวยจึงยื่นคําร้องต่อศาลขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนโทรศัพท์แก่ตน หาก ท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยกรณีนี้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 19 วรรคแรก “คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของศาล ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ในความครอบครอง ของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย”

มาตรา 109 “ทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้

(3) สิ่งของซึ่งอยู่ในครอบครองหรืออํานาจสั่งการหรือสั่งจําหน่ายของลูกหนี้ในทางการค้า หรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ซึ่งทําให้เห็นว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของใน ขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะวินิจฉัยกรณีนี้ ดังนี้คือ เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอํานาจและหน้าที่เข้ายึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือที่มีอยู่ใน ครอบครองของลูกหนี้ตามมาตรา 19 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ให้ถือเสมือนว่าเป็นหมายของ ศาล ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารของลูกหนี้ และบรรดาทรัพย์สินซึ่งอยู่ใน ความครอบครองของลูกหนี้หรือของผู้อื่นอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย

แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นที่อาจยึดได้ จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 109 (3) ด้วย คือ จะต้องเป็นสิ่งของซึ่งอยู่ในความครอบครองหรืออํานาจสั่งการ หรือสั่งจําหน่ายของ ลูกหนี้ในทางการค้าหรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ซึ่งทําให้เห็นว่า ลูกหนี้เป็นเจ้าของในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้นั้นล้มละลาย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โทรศัพท์มือถือที่พบในบ้านของนายแดงนั้น แม้จะเข้าลักษณะที่อยู่ ในความครอบครองของนายแดงก็ตาม แต่เหตุที่โทรศัพท์อยู่ในบ้านของนายแดง เพราะนายรวยเจ้าของลืมไว้ หา ได้อยู่ในความครอบครองของนายแดงด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริงไม่ จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 19 และมาตรา 109 (3) ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอํานาจยึดได้ ดังนั้น เมื่อมีหลักฐานแสดงว่า นายรวยเป็น เจ้าของที่แท้จริง ศาลจึงต้องสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คืนโทรศัพท์มือถือที่ยึดไว้แก่นายรวย เพราะมิใช่ ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละสายตามมาตรา 19 แสะม่ ตรา 109 (3)

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะวินิจฉัยกรณีนี้ตามที่ได้อธิบายไปข้างต้น

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 1/2557

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ก. กู้เงิน ข. โดยมี ค. เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมา ก. ถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมาขอรับชําระหนี้ตามวัน เวลา และ สถานที่ที่ประกาศ แต่ ข. ไม่ขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายเรื่องนั้น ดังนี้ ข. จะนําหนี้ดังกล่าวมาฟ้อง ก. และ ค. ให้รับผิดตามสัญญากู้และคําประกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 15 “ตราบใดที่ลูกหนี้ยังมิได้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดจะฟ้อง ลูกหนี้นั้นเป็นคดีล้มละลายอีกก็ได้ แต่เมื่อศาลได้สั่งในคดีหนึ่งคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้ จําหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้ยื่นฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้น”

มาตรา 59 “การประนอมหนี้ไม่ทําให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ําประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข. จะนําหนี้เงินกู้มาฟ้อง ก. ให้รับผิดตาม สัญญากู้ได้หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎหมายล้มละลาย ก่อนที่ศาลจะมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้แต่ละรายจะ ฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายอีกกี่คดีก็ได้ แต่หากศาลเดียวกันหรือศาลหนึ่งศาลใดมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายอีกไม่ได้ (มาตรา 15) แต่เจ้าหนี้จะต้องนําหนี้ของตนมายื่น ขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด ในคดีที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ลูกหนี้เด็ดขาด (มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91)

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ก. ได้ถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องล้มละลาย และศาลได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แล้ว ดังนั้น ข. เจ้าหนี้จึงทําได้เพียงมายื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามวัน เวลา และสถานที่ ดังประกาศเท่านั้น (มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91) การที่ ข. ไม่ขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายเรื่องนั้น ข. จะ นําหนี้เงินกู้ดังกล่าวมาฟ้อง ก. ให้รับผิดตามสัญญากู้อีกไม่ได้ตามมาตรา 15 (คําพิพากษาฎีกาที่ 100/2509)

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ข. จะฟ้อง ค. ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เห็นว่า ตามกฎหมายล้มละลาย การที่เจ้าหนี้ไม่ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เมื่อลูกหนี้ถูกศาลพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ถือเป็น เรื่องของเจ้าหนี้ เมื่อเจ้าหนี้ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชําระหนี้รายนี้ได้เท่านั้น แต่ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน แต่จะรับผิดเฉพาะภาระหนี้ในส่วนที่ยังขาดอยู่ (มาตรา 59) ดังนั้น ข. จึงมีสิทธิที่จะฟ้อง ค. ผู้ค้ำประกันให้ชําระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้ ตามมาตรา 59

สรุป

ข. จะนําหนี้ดังกล่าวมาฟ้อง ก. ให้รับผิดตามสัญญากู้ไม่ได้ แต่ ข. จะนําหนี้ดังกล่าว มาฟ้อง ค. ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้

 

ข้อ 2 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2557 นายใจ ยืมเงินจากนายรวย จํานวน 1 ล้านบาท โดยออกเช็คสั่งจ่ายชําระหนี้เงินกู้ให้ไว้แก่นายรวย โดยลงวันที่สั่งจ่ายเงินวันที่ 20 กันยายน 2559 ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ธนาคารได้ฟ้องนายใจ เป็นคดีล้มละลายเนื่องจากไม่ยอมชําระหนี้ และศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เด็ดขาดนายใจในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 นายรวยทราบเรื่อง จึงได้ยื่นขอรับชําระหนี้ตามเช็ค จํานวน 1 ล้านบาทต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปรากฏว่าธนาคารได้ยื่นคัดค้านคําขอรับชําระหนี้ ของนายรวยว่า การกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ และหนี้ตามเช็คลงวันที่ 20 กันยายน 2559 อันเป็นเวลาภายหลังจากศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ไม่อาจขอรับชําระหนี้ได้ หากท่านเป็นศาล จะพิจารณาคําขอรับชําระหนี้ของนายรวยและคําคัดค้านของธนาคารอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายรวยยื่นขอรับชําระหนี้ตามเช็คจํานวน 1 ล้านบาท ต่อเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์นั้น ถือเป็นเรื่องการขอรับชําระหนี้ของเจ้าหนี้ ไม่มีประกันในคดีล้มละลาย ซึ่งตามมาตรา 94 ได้วางหลัก ไว้ว่า เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจะขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูล แห่งหนี้แดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่า หนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่เป็นหนต้องห้ามตามมาตรา 94 (1) และ (2)

ตามข้อเท็จจริง หนี้ตามเช็คที่นายวยนํามายื่นขอรับชําระหนี้ แม้จะเป็นหนี้กู้ยืมเงินที่ไม่มี หลักฐานเป็นหนังสือ แต่ก็ได้มีการออกเช็คเพื่อเป็นการชาระหนี้เงินกู้ แม้เช็คจะมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แต่ เช็คก็เป็นมูลหนี้อย่างหนึ่งซึ่งได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่นายใจลูกหนี้รับเงินไปและมอบเช็คให้แก่นายรวยแล้ว มูลหนี้ ตามเช็คจึงสมบูรณ์และมีมูลหนี้ที่อาจฟ้องร้องกันได้ตามกฎหมาย วันที่ลงในเช็คเป็นเพียงวันถึงกําหนดจ่ายเงิน ตามเช็คหาใช่วันที่มูลหนี้ตามเช็คเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่วันที่ 20 กันยายน 2557 อันเป็นวันที่นายใจออกเช็คให้ไว้แก่ นายรวย ดังนั้น หนี้ตามเช็คที่นายรวยนํามาขอรับชําระหนี้ จึงเป็นหนี้อันมูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ที่อาจขอรับชําระหนี้ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 459/2530) ส่วนข้อคัดค้านของธนาคารฟังไม่ขึ้น เพราะนายรวยหาได้ขอรับชําระหนี้ในมูลหนี้เงินกู้ซึ่งไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือไม่ แต่ขอรับชําระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็ค ซึ่งเป็นมูลหนี้อันอาจบังคับกันได้ตามกฎหมายว่าด้วยเช็ค ดังนั้น ศาลจึงต้องสั่งยกคําคัดค้านของธนาคารและสัง อนุญาตคําขอรับชําระหนี้ของนายรวย

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะสั่งยกคําคัดค้านของธนาคารและสังอนุญาตคําขอรับ ชําระหนี้ของนายรวย

 

ข้อ 3 คดีฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เรื่องหนึ่ง ภายหลังจากศาลมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนแล้ว นาย ก. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ในมูลหนี้เงินกู้ที่นาย ก. ให้ลูกหนี้กู้ยืมไปในขณะที่นาย ก. ได้รู้ถึงการที่ ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาคําขอรับชําระหนี้ของนาย ก. แล้ว เห็นว่า หนี้ที่นาย ก. มาขอรับชําระหนี้เป็นหนี้ที่นาย ก. ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อนาย ก. ได้รู้ถึงการที่ ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงมีคําสั่งยกคําขอรับชําระหนี้ของนาย ก. ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งยกคําขอ รับชําระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/27 วรรคแรก “เจ้าหนี้อาจขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 90/27 วรรคแรก บัญญัติให้เจ้าหนี้อาจขอรับชําระหนี้ในการฟื้นฟู กิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไข ก็ตาม เว้นแต่

1 เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือ

2 เป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย ก. เจ้าหนี้ได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ในมูลหนี้เงินกู้ แม้หนี้ดังกล่าว จะเป็นหนี้ที่นาย ก. ให้ลูกหนี้กู้ยืมไปในขณะที่นาย ก. ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวก็ตาม ก็ไม่ต้องห้ามที่ นาย ก. จะขอรับชําระหนี้ตามมาตรา 90/27 วรรคแรก ดังนั้น คําสั่งยกคําขอรับชําระหนี้ของเจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งยกคําขอรับชําระหนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมายเหตุ หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นข้อยกเว้นที่เจ้าหนี้จะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 94 (2) ไม่ได้เท่านั้น มิได้เป็นข้อยกเว้นที่ เจ้าหนี้จะขอรับชําระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/27 วรรคแรกด้วยแต่อย่างใด

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย S/2556

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ก. กู้เงิน ข. 1 ล้านบาท โดยเอาที่ดินจํานองไว้เป็นประกันหนี้ โดย ก. ได้ทําสัญญารับผิดในมูลหนี้ที่ขาดไว้ ดังนั้น ถ้า ก. ผิดนัด ข. ฟ้องทางแพ่งบังคับขายที่ดินทอดตลาดได้เงินสุทธิเพียง 7 แสนบาท หนี้ยังขาดอยู่ 3 แสนบาท ข. จะนํามูลหนี้ 3 แสนบาท ที่ยังขาดอยู่ไปฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนี้ให้ ล้มละลายได้อีกหรือไม่ เพราะเหตุใดประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง จากโจทย์เดิมข้างต้น ถ้าการกู้เงินดังกล่าว ก. ได้ทําสัญญาต่อท้ายจํานองว่าขอรับผิด ในมูลหนี้ที่ยังขาดอยู่อีกไว้กับ ข. เจ้าหนี้ด้วย ดังนั้น เมื่อ ก. ผิดนัด ข. ฟ้องแพ่งบังคับขายที่ดิน ทอดตลาดได้เงิน 7 แสนบาท ขาดอยู่อีก 3 แสนบาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข. จะนํามูลหนี้ที่ยังขาดอยู่ 3 แสนบาท ไปฟ้องลูกหนี้คนเดียวกันนั้นให้ล้มละลายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็น จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท…. และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้แน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือใน อนาคตก็ตาม”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ ที่เป็นหลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 733 “ถ้าเอาทรัพย์จํานองหลุด และราคา ทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจํานวนเงินที่ค้างชําระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาด ใช้หนี้ ได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนเงินที่ค้างชําระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจํานวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับ ในเงินนั้น”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 10 (1) การที่เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือ จะขอรับชําระหนี้ได้นั้น จะต้องเป็นเจ้าหนี้ที่มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน

และสําหรับเจ้าหนี้มีประกันในกรณีเป็นผู้รับจํานองนั้น ถ้าจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายหรือจะ ขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายนั้น จะต้องเป็นผู้รับจํานองที่มี “สัญญาพิเศษ” นอกเหนือจาก ป.พ.พ. มาตรา 733 กล่าวคือจะต้องเป็นผู้รับจํานองที่มีสัญญาพิเศษนอกเหนือมาตรา 733 กับผู้จํานองว่า ถ้าบังคับจํานองได้เงินไม่พอ ชําระหนี้ ผู้จํานองยอมให้บังคับจํานองบังคับชําระหนี้เอากับทรัพย์สินอื่นได้อีก (ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ใช้บังคับกันได้ ตามกฎหมาย)

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้ คือ

กรณีแรก การที่ ก. กู้เงิน ข. โดยนําที่ดินจํานองไว้เป็นประกันหนี้นั้น ถือว่า ข. เป็นเจ้าหนี้ มีประกันตามนัยมาตรา 6 แต่เมื่อในการกู้เงินครั้งนี้ ก. ไม่ได้มีสัญญาพิเศษนอกเหนือ ป.พ.พ. มาตรา 733 กับ ข. คือ ไม่ได้ทําสัญญารับผิดในมูลหนี้ที่ขาดไว้กับ ข. ดังนี้ เมื่อมีการบังคับขายทอดตลาดที่ดินแล้วหนี้ยังขาดอยู่ 300,000 บาท หนี้ดังกล่าวนี้ ก. ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิด ดังนั้น ข. จึงไม่สามารถนํามูลหนี้ที่ยังขาดอยู่ไปฟ้อง ก. เป็นคดีล้มละลายได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 10 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 733 ที่ห้ามมิให้เจ้าหนี้บังคับชําระหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ ของลูกหนี้ที่เป็นหลักประกัน

กรณีที่สอง เมื่อการกู้เงินดังกล่าว ก. ได้มีสัญญาพิเศษนอกเหนือ ป.พ.พ. มาตรา 733 กับ ข. คือ ได้ทําสัญญารับผิดในมูลหนี้ที่ยังขาดอยู่ไว้ด้วย จึงถือว่า ข. เป็นเจ้าหนี้มีประกันที่มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับ ชําระหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกันตามมาตรา 10 (1) ดังนั้น เมื่อมีการบังคับขายทอดตลาดที่ดินแล้วหนี้ ยังขาดอยู่ 300,000 บาท ข. ย่อมสามารถนํามูลหนี้ที่ยังขาดอยู่นั้นไปฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายอีกได้ ไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 10 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 733

แต่อย่างไรก็ดี การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายของเจ้าหนี้มีประกันนั้น จะต้องอยู่ภายใต้บังคับ ของมาตรา 9 (2) และมาตรา 10 (2) ด้วย กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดา ลูกหนี้จะต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้ ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อ ข. ได้ฟ้องบังคับ เอาที่ดินออกขายทอดตลาด และหนี้ยังขาดอยู่ 300,000 บาท นั้น ถ้าหาก ข. จะฟ้องให้ ก. ลูกหนี้ล้มละลาย ข. จะต้องนํามูลหนี้ไปรวมกับเจ้าหนี้คนอื่น ๆ เพื่อให้มีมูลหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทด้วย จึงจะสามารถฟ้องให้ ก. ลูกหนี้ล้มละลายได้

สรุป

กรณีแรก ข. จะนําเงิน 300,000 บาท ที่ยังขาดอยู่นั้นไปฟ้อง ก. เป็นคดีล้มละลายไม่ได้

กรณีที่สอง ช. จะนํามูลหนี้ที่ยังขาดอยู่นั้นไปฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลายได้อีก แต่กรณีนี้ ข. จะต้องนํามูลหนี้ไปรวมกับเจ้าหนี้คนอื่น ๆ เพื่อให้มีมูลหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทด้วย จึงจะสามารถฟ้องให้ ก. ลูกหนี้ล้มละลายได้

 

ข้อ 2 เจ้าหนี้มีกี่ประเภทที่มีสิทธิ์ที่จะมาขอรับชําระหนี้ตามที่ประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 27 มาตรา 91 และในแต่ละประเภทมีใครบ้าง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 27 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชําระหนี้ได้ก็ แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม”

มาตรา 91 วรรคแรก “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 92 “บุคคลใดได้รับความเสียหายเพราะสิ่งของของตนถูกยึดไปตามมาตรา 109 (3) ก็ดี หรือเพราะการโอนทรัพย์สินหรือการกระทําใด ๆ ถูกเพิกถอนตามมาตรา 115 ก็ดี หรือเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามมาตรา 112 ก็ดี มีสิทธิขอรับชําระหนี้ สําหรับราคาสิ่งของหรือหนี้เดิม หรือค่าเสียหายได้แล้วแต่กรณี ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามีข้อโต้เถียงเป็นคดีให้นับจากวันคดีถึงที่สุด”

มาตรา 93 “ในกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณาอยู่แทนลูกหนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดี เจ้าหนี้ตามคําพิพากษามีสิทธิขอรับชําระหนี้ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 91 แต่ให้นับจากวันคดีถึงที่สุด”

อธิบาย

กําหนดระยะเวลาในการยื่นคําขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย มี 2 กรณี คือ

1 การขอรับชําระหนี้กรณีปกติ ตามมาตรา 27 ประกอบมาตรา 91 วรรคแรก คือ หากเจ้าหนี้อยู่ในราชอาณาจักร กฎหมายกําหนดเวลายื่นคําขอรับชําระหนี้ไว้ภายใน 2 เดือนนับแต่วันโฆษณา คําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ แต่หากเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร กฎหมายให้อํานาจ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 2 เดือน ซึ่งการขยายระยะเวลานี้ถือเป็นดุลพินิจของ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม และพฤติการณ์ของเจ้าหนี้เป็นราย ๆ ไป

2 การขอรับชําระหนี้กรณีพิเศษ ตามมาตรา 92 และ 93 โดยมาตรา 92 จะเป็นกรณีที่ ทรัพย์ของบุคคลภายนอกซึ่งอยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ ถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดไปตามมาตรา 109 (3) หรือเจ้าหนี้ถูกเพิกถอนการโอนตามมาตรา 115 หรือเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิ์ตาม สัญญาของลูกหนี้ตามมาตรา 112 ส่วนมาตรา 93 นั้น จะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีที่ค้างพิจารณา อยู่แทนลูกหนี้แล้วแพ้คดี ซึ่งทั้งสองกรณีนี้กฎหมายกําหนดให้บุคคลที่ถูกกระทบสิทธิดังกล่าวยื่นคําขอรับชําระหนก โดยกรณีตามมาตรา 92 จะต้องยื่นภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 91 นับจากวันที่อาจใช้สิทธิขอรับชําระหนี้ได้ แต่ถ้ามีข้อโต้เถียงกันเป็นคดีให้นับจากวันคดีถึงที่สุด ส่วนกรณีตามมาตรา 93 จะต้องยืนภายในกําหนดเวลาตาม มาตรา 91 นับจากวันคดีถึงที่สุด

ส่วนเจ้าหนี้ที่มีสิทธิจะมาขอรับชําระหนี้ตามที่ประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม มาตรา 27 มาตรา 91 มี 4 ประเภท ดังนี้

1 เจ้าหนี้ตามคําพิพากษา (ในคดีแพ่ง) ซึ่งอาจจะเป็นคําพิพากษาตามยอม หรือคําพิพากษา ที่ศาลตัดสินจากพยานหลักฐานในคดีก็ได้ (มาตรา 27)

2 เจ้าหนี้ที่ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดีค้างพิจารณา กล่าวคือ เป็นกรณีที่คดีอยู่ระหว่าง การพิจารณาของศาล โดยศาลยังมิได้ตัดสินพิพากษาคดีนั่นเอง (มาตรา 27)

3 เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ (ฟ้องคดีแล้ว) ในที่นี้หมายถึง เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย กล่าวคือ แม้ในคดีล้มละลายดังกล่าว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จะเป็นผู้ฟ้องคดี แต่กฎหมายก็กําหนดให้เจ้าหนี้ดังกล่าวมายื่นขอรับ ชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย (มาตรา 91)

4 เจ้าหนี้ที่ยังไม่เป็นโจทก์ (ยังไม่ฟ้องคดี) ในที่นี้ก็หมายถึง ยังไม่ได้เป็นโจทก์ในคดี ล้มละลายนั่นเอง และไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามคําพิพากษา (ในคดีแพ่ง) หรือไม่ก็ตาม เช่น เจ้าหนี้ในมูลหนี้ กู้ยืมเงิน สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ฯลฯ ก็มีสิทธิ์มาขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย เช่นกัน โดยยื่นคําขอรับชําระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด (มาตรา 91)

 

ข้อ 3 เจ้าหนี้ไม่มีประกันขอรับชําระหนี้มีหลักเกณฑ์ว่าอย่างไร

– หนี้ประเภทใดที่ไม่อาจนํามาขอรับชําระหนี้ได้ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 21 เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาล มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่

(1) หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้

(2) หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้”

อธิบาย

ตามบทบัญญัติมาตรา 94 วรรคแรก ได้กําหนดหลักเกณฑ์ที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะขอรับชําระหนี้ ไว้ดังนี้ คือ

1 เป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกัน คือ เป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือมีสิทธิบังคับได้ทํานองเดียวกับผู้จํานํา หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจ้าหนี้สามัญนั่นเอง

2 มีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งหมายความถึงทั้งคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว และคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะเมื่อศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว กฎหมายห้ามลูกหนี้กระทําการ ใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน

3 มาขอรับชําระหนี้ ภายในกําหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91)

4 หนี้ยังไม่ถึงกําหนดชําระ ก็มาขอรับชําระหนี้ได้ แต่หากสิทธิเรียกร้องยังไม่เกิดขึ้น จะนํามาขอรับชําระหนี้ไม่ได้

5 หนี้มีเงื่อนไข ก็นํามาขอรับชําระหนี้ได้

6 ถ้าไม่มาขอรับชําระหนี้ภายในกําหนด หนี้นั้นเป็นศูนย์ หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้ไม่มายื่นขอรับชําระหนี้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชําระหนี้นั้น

7 ดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้จะนํามาขอรับชําระหนี้นั้น คิดได้ ถึงวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเท่านั้น (พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 100)

และหนี้ซึ่งไม่อาจนำไปขอรับชำระหนี้ได้นั้น ตามมาตรา 94 (1) และ (2) ได้กําหนดไว้ดังนี้ คือ

1 หนี้ที่เกิดขึ้นโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี หรือหนี้ที่จะฟ้องร้องให้ บังคับคดีไม่ได้ (มาตรา 94 (1)) เช่น หนี้ขาดอายุความ หนี้การพนัน หักกลบลบหนี้ หนี้เงินกู้ที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้ตามเช็คที่เจ้าหนี้ไม่นําสืบถึงที่มาของมูลหนี้ เป็นต้น

2 หนี้ซึ่งเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทําขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่รวมถึงหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทําขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดําเนินต่อไปได้ (มาตรา 94 (2))

LAW3010 กฎหมายล้มละลาย 2/2556

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง ศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามมาตรา 19 ลูกหนี้ทําคําขอประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นําเข้าที่ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อถามความเห็นของเจ้าหนี้ว่า จะยอมรับคําขอ ของลูกหนี้หรือไม่ โดยให้มีมติพิเศษ ปรากฏว่า “มีมติพิเศษ” ออกมาว่า

(1) จํานวนเจ้าหนี้ได้เสียงข้างมาก และ

(2) จํานวนหนี้ได้ 2 ใน 4 ของเจ้าหนี้ที่เข้าประชุมและออกเสียงเป็นมติพิเศษว่ายอมรับท่านในฐานะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ต้องเป็นประธานในการประชุม เห็นว่า มติพิเศษนั้นขัดต่อ ข้อกฎหมายหรือไม่ และท่านจะแก้ไขประการใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“มติพิเศษ” หมายความว่า มติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก และมีจํานวนหนี้เท่ากับสามในสี่แห่ง จํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ ซึ่งได้เข้าประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในที่ประชุมเจ้าหนี้ และได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น”

มาตรา 31 วรรคแรก “เมื่อศาลได้มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ให้เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อปรึกษาว่าจะควรยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ หรือ ควรขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายและปรึกษาถึงวิธีที่จะจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป การประชุมนี้ ให้เรียกว่าประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก”

มาตรา 33 “ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ทุกคราว และให้มี รายงานการประชุมลงลายมือชื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย”

มาตรา 36 “เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติของที่ประชุมเจ้าหนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือ ประโยชน์อันร่วมกันของเจ้าหนี้ทั้งหลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาล และ ศาลอาจมีคําสั่งห้ามมิให้ปฏิบัติการตามมตินั้นได้ แต่ต้องยืนต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ”

วินิจฉัย

สําหรับ “มติพิเศษ” ตามคํานิยามมาตรา 6 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์สําคัญ 2 ประการ

1 เป็นมติของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก กล่าวคือ ต้องมีเสียงของเจ้าหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งของเจ้าหนี้ที่ออกเสียงลงคะแนน

2 มีจํานวนหนี้ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นําคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้เข้าที่ประชุม เจ้าหนี้ เพื่อถามความเห็นของเจ้าหนี้ตามมาตรา 31 วรรคแรก นั้น แม้ที่ประชุมเจ้าหนี้จะมีมติพิเศษออกมาว่า จํานวนเจ้าหนี้ได้เสียงข้างมากยอมรับคําขอประนอมหนี้ของลูกหนี้ แต่เมื่อปรากฏว่าจํานวนหนี้ของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมาก มีเพียง 2 ใน 4 เท่านั้นที่ออกเสียงยอมรับคําขอประนอมหนี้ ดังนั้น มติของเจ้าหนี้ดังกล่าวจึงเป็นมติที่ไม่ชอบและ ขัดต่อกฎหมาย และมติดังกล่าวย่อมไม่ใช่มติพิเศษตามมาตรา 6 เพราะมีจํานวนหนีไม่ถึง 3 ใน 4 ของจํานวนหนี้ ทั้งหมดของเจ้าหนี้ที่ได้ออกเสียงลงคะแนน

และในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นประธานในการประชุมตามมาตรา 33 เห็นว่า “มติพิเศษ” นั้นขัดต่อ ข้อกฎหมายและจะแก้ไขตามมาตรา 36 ซึ่งมีหลักดังต่อไปนี้ คือ

1 ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ามติพิเศษนั้นขัดต่อกฎหมาย

2 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทําคําขอเป็นคําร้องยื่นต่อศาลเพื่อให้ศาลเพิกถอนหรือทําลายมตินั้น

3 ศาลอาจไม่อนุญาตให้ปฏิบัติตามมตินั้น

4 แต่ต้องส่งให้ศาลทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติ

สรุป

ข้าพเจ้าในฐานะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ต้องเป็นประธานในการประชุม เห็นว่า มติพิเศษนั้นขัดต่อกฎหมาย และข้าพเจ้าจะแก้ไขตามหลักกฎหมายที่ได้อธิบายข้างต้น

 

ข้อ 2 นายแดงได้สั่งจ่ายเช็คเพื่อชําระหนี้ให้แก่นายแสงเป็นเงินจํานวน 2 ล้านบาท ภายหลังต่อมานายแดงถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องคดีล้มละลายและศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว นายแสงไม่ทราบจึงไม่ได้ยื่นขอรับ ชําระหนี้ไว้ ปรากฏว่าในคดีล้มละลายนั้น ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ได้รายงานต่อศาล ๆ จึงมีคําสั่งยกเลิกการล้มละลายคดีของนายแดง หลังจากนั้นอีก 1 เดือน นายแสง จึงฟ้องนายแดงเป็นคดีแพ่งให้ชําระหนี้ตามเช็คดังกล่าว นายแดงต่อสู้ว่านายแสงมิได้ยื่นคําขอ รับชําระหนี้ภายในเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงไม่อาจฟ้องเรียกให้ชําระหนี้ตามเช็คได้อีกต่อไป หากท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 135 “เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคําขอ ศาลมีอํานาจสั่งยกเลิก การล้มละลายได้ ถ้าปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย”

มาตรา 136 “คําสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (1) หรือ (2) นั้นไม่ทําให้ลูกหนี้หลุดพ้น หนี้สินแต่อย่างใด”

วินิจฉัย

ในคดีล้มละลายนั้น การที่ศาลยกเลิกการล้มละลาย เนื่องจากไม่มีเจ้าหนี้มายื่นขอรับชําระหนี้ ถือเป็นการยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (2) โดยเหตุลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งไม่มีผลให้ ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงตามมาตรา 136 ดังนั้น แม้เจ้าหนี้จะมิได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ไว้แต่เดิม ก็อาจนําหนี้นั้น มาฟ้องบังคับตามสิทธิได้ตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 1915/2536

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายแดงถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลายและปรากฏว่าในคดี ล้มละลายนั้น ไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้รายงานต่อศาลและศาลได้มีคําสั่งยกเลิก การล้มละลายคดีของนายแดงนั้น ย่อมถือเป็นการยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (2) โดยเหตุนายแดงลูกหนี้ ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย ซึ่งมีผลคือ นายแดงลูกหนี้ยังไม่หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวงตามมาตรา 136 ดังนั้น แม้ว่านายแสงเจ้าหนี้จะมิได้ยื่นคําขอรับชําระหนี้ไว้แต่เดิม นายแดงก็ยังคงต้องรับผิดตามเช็ค นายแสงจึง สามารถนํามูลหนี้ตามเช็คมาฟ้องเป็นคดีแพ่งบังคับให้นายแดงชําระหนี้ได้ และศาลต้องพิพากษาให้นายแดงชําระหนี้ ตามเช็คให้แก่นายแสง ข้อต่อสู้ของนายแดงดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้นตามนัยคําพิพากษาฎีกาที่ 1915/2536

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีนี้ตามที่ได้อธิบายข้างต้น

หมายเหตุ คําพิพากษาฎีกาที่ 1915/2536 พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 136 บัญญัติว่า คําสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (1) หรือ (2) นั้น ไม่ทําให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด กฎหมายดังกล่าว มิได้ยกเว้นว่าหนี้ใดจะต้องหลุดพ้น เพราะคําสั่งยกเลิกการล้มละลาย จึงแปลได้ว่าหนี้สินทุกชนิดที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนฟ้อง อย่างไรก็คงเป็นหนี้อยู่เช่นเดิมอย่างนั้น

 

ข้อ 3 คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง ในการพิจารณาตั้งผู้ทําแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชียวเป็นผู้ทําแผน ส่วนลูกหนี้เสนอนายชาญเป็นผู้ทําแผน ศาลล้มละลายกลางพิจารณา แล้วเห็นว่านายชาญที่ลูกหนี้เสนอมีคุณสมบัติเป็นผู้ทําแผน จึงมีคําสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า คําสั่งของศาลดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/17 วรรคแรก “ในการพิจารณาตั้งผู้ทําแผน ถ้าลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้ เสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทําแผนด้วย เมื่อศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ศาลจะมีคําสั่งตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทําแผนก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทําแผนก็ดี หรือลูกหนี้ เจ้าหนี้ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็น ผู้ทําแผนด้วยก็ดี ให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุดเพื่อพิจารณา เลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญ เป็นผู้ทําแผนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. เมละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/17 วรรคแรก ได้กําหนด หลักเกณฑ์การตั้งผู้ทําแผนไว้ดังนี้คือ

1 กรณีลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ผู้คัดค้านไม่ได้เสนอบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทําแผน ศาลอาจมีคําสั่ง ตั้งบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอเป็นผู้ทําแผนก็ได้

2 กรณีที่ศาลเห็นว่าบุคคลที่ผู้ร้องขอเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทําแผน หรือลูกหนี้เจ้าหนี้ ผู้คัดค้านเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทําแผนด้วย ให้ศาลมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลาย โดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ศาลจะมีคําสั่งตั้งผู้ทําแผนไปเลยทีเดียวไม่ได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้ร้องขอเสนอนายเชียวเป็นผู้ทําแผน และลูกหนี้เสนอ นายชาญเป็นผู้ทําแผนด้วย ศาลจึงต้องมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกว่าบุคคลใดสมควรเป็นผู้ทําแผน ทั้งนี้ตามมาตรา 90/17 วรรคแรก ศาลจะมีคําสั่งตั้งนายเชียว หรือนายชาญเป็นผู้ทําแผนในทันทีหาได้ไม่ การที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผนในทันที ก่อนมีคําสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ คําสั่งของศาลดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งของศาลล้มละลายกลางที่ตั้งนายชาญเป็นผู้ทําแผน โดยมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอน ของมาตรา 90/17 วรรคแรก นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

WordPress Ads
error: Content is protected !!