การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3010 กฎหมายล้มละลาย

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1 นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอกจํานวน 2,000,000 บาท โดยนายเมฆได้นําโฉนดที่ดินของตนมาให้นายหมอกยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ต่อมาหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆจึงมาขอประนอมหนี้กับนายหมอก แต่นายหมอกไม่ตกลง นายหมอกจึงยื่นฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย อ้างว่านายเมฆมาขอประนอมหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเมฆเด็ดขาด นายเมฆยื่นคําให้การต่อสู้ว่า นายหมอกเป็น เจ้าหนี้มีประกันแต่ไม่ยอมกล่าวในฟ้องว่า จะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกัน ขอให้ศาล พิพากษายกฟ้อง ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายเมฆและนายหมอกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“เจ้าหนี้มีประกัน” หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจํานอง จํานํา หรือสิทธิยึดหน่วง หรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทํานองเดียวกับผู้รับจํานํา”

มาตรา 8 “ถ้ามีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ลูกหนี้มีหนี้สิน ล้นพ้นตัว

(8) ถ้าลูกหนี้เสนอคําขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป”

มาตรา 9 “เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท และ

(3) หนี้นั้นอาจกําหนดจํานวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกําหนดชําระโดยพลันหรือ ในอนาคตก็ตาม”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 9 เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ

(1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชําระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็น หลักประกัน และ

(2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจํานวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่ สําหรับลูกหนี้ซึ่งเป็น บุคคลธรรมดาเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจํานวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้อต่อสู้ของนายเมฆและนายหมอกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายหมอก

การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหมอก 2,000,000 บาท ต่อมา หนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายเมฆจึงมาขอประนอมหนี้กับนายหมอกแต่นายหมอกไม่ตกลง นายหมอกจึงยื่นฟ้อง นายเมฆให้ล้มละลายตามมาตรา 9 โดยอ้างว่านายเมฆมาขอประนอมหนี้ จึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเมฆเด็ดขาดนั้น ถือเป็นข้ออ้างหรือข้อต่อสู้ที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (8) ที่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ เสนอคําขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งเเต่ 2 คนขึ้นไป เมื่อนายเมฆได้ขอประนอมหนี้กับนายหมอกเพียงคนเดียว จึงไม่เข้าข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (8) ที่นายหมอกจะอ้างได้ว่านายเมฆมีหนี้สินล้นพ้นตัว

กรณีของนายเมฆ

การที่นายเมฆทําสัญญากู้ยืมเงินนายหมอก 2,000,000 บาท โดยนายเมฆได้นํา โฉนดที่ดินของตนมาให้นายหมอกยึดถือไว้เป็นหลักประกันนั้น ไม่ถือว่านายหมอกเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้ในทางจํานอง และไม่ถือว่าเป็นสิทธิยึดหน่วง ดังนั้น นายหมอกจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตามนัยของ มาตรา 6

และเมื่อนายหมอกฟ้องนายเมฆให้ล้มละลาย นายเมฆยื่นคําให้การต่อสู้ว่า นายหมอกเป็นเจ้าหนี้ มีประกันแต่ไม่ยอมกล่าวในฟ้องว่า จะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันตามมาตรา 10 นั้น ข้อต่อสู้ของ นายเมฆย่อมเป็นข้อต่อสู้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายหมอกมิใช่เจ้าหนี้มีประกัน นายหมอกจึงไม่ต้องกล่าว ในฟ้องว่าจะสละหลักประกันหรือตีราคาหลักประกันตามมาตรา 10 แต่อย่างใด

สรุป

ข้อต่อสู้ของนายเมฆและนายหมอกไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2 นายเล็กได้ทําสัญญาเช่ารถยนต์ 1 คันจากนายซิ่ง ราคา 200,000 บาท ตกลงผ่อนชําระค่าเช่าซื้อ 10 งวด ๆ ละ 20,000 บาท ต่อมานายเล็กกลายเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าซื้อ ติดกัน 2 งวด ก่อนที่นายจึงจะได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้นายเล็กนํารถยนต์ที่เช่าซื้อ มาคืนให้กับตนที่บ้าน นายเล็กได้ถูกนายใหญ่เจ้าหนี้รายหนึ่งฟ้องล้มละลาย ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 นายเล็กไม่สามารถจะเข้าไปจัดการทรัพย์สินใด ๆ ของตนเองได้ เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ายึดทรัพย์สินหมดแล้ว ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2561 นายเล็กจึงได้มาขอกู้เงินจากนายรวย จํานวน 1,000,000 บาท โดยมีหลักฐานการกู้ยืม เป็นหนังสือ เพื่อนําไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดําเนินกิจการร้านไก่ย่างส้มตํา ต่อมาศาลล้มละลายกลาง มีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดําเนินการ โฆษณาคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายและประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหลายมายื่นขอรับชําระหนี้ในคดี ล้มละลาย

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายซิ่งและนายรวยจะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนจากนายเล็กหรือไม่ ด้วยวิธีการใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 6 “ในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

“พิทักษ์ทรัพย์” หมายความว่า พิทักษ์ทรัพย์สินไม่ว่าเด็ดขาดหรือชั่วคราว

มาตรา 22 “เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอํานาจ ดังต่อไปนี้

(1) จัดการและจําหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทําการที่จําเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป”

มาตรา 91 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคําขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกําหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกําหนดเวลาให้อีกได้ ไม่เกินสองเดือน”

มาตรา 94 “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชําระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกําหนดชําระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เว้นแต่…”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง หนี้ซึ่งจะขอรับชําระหนี้ในคดีล้มละลาย หมายถึง “หนี้เงิน” เท่านั้น และตามมาตรา 94 เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะขอรับชําระหนี้ได้ มูลแห่งหนี้จะต้องได้ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือชั่วคราว

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด นายซิ่งและนายรวย จะมีสิทธิได้รับชําระหนี้ของตนจากนายเล็กหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนายซิ่ง การที่นายเล็กทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากนายซิ่งแล้วต่อมานายเล็กผิดนัด ไม่ชําระค่าเช่าซื้อติดกัน 2 งวด ทําให้นายซึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้นายเล็กนํารถยนต์ที่เช่าซื้อ มาคืนให้กับตนนั้น จะเห็นได้ว่าหนี้ที่นายเล็กลูกหนี้ติดค้างต่อนายซิ่งนั้นเป็นหนี้ที่จะต้องส่งมอบทรัพย์เฉพาะสิ่ง มิใช่หนี้เงิน ดังนั้น นายซิ่งจึงมิอาจไปขอรับชําระหนี้ตามมาตรา 91 ได้ แต่นายซิ่งสามารถใช้สิทธิติดตามเอา ทรัพย์สินคือรถยนต์ของตนคืนได้ โดยแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอํานาจแต่ผู้เดียวในการจัดการและ จําหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทําการที่จําเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป ปฏิบัติตาม สัญญาภาระผูกพันนั้นแทนลูกหนี้ตามมาตรา 22 (1)

ส่วนกรณีที่นายเล็กได้กู้เงินจากนายรวย จํานวน 1,000,000 บาทนั้น เมื่อมูลหนี้ดังกล่าวได้เกิดขึ้น ภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว นายรวยจึงมิอาจไปขอรับชําระหนี้ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 94 ประกอบมาตรา 6

สรุป

นายซิ่งและนายรวยจะไปขอรับชําระหนี้ในคดีนี้ไม่ได้ แต่นายซิ่งสามารถใช้สิทธิในการ ติดตามเอาทรัพย์สินของตนคืนได้ตามมาตรา 22 (1) ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 3 บริษัท สหสิน จํากัด ได้ทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจํานวน 5 คัน ราคา 6 ล้านบาท จากบริษัทสีมายานยนต์ จํากัด โดยสัญญามีข้อตกลงว่า ให้ผ่อนชําระเดือนละ 50,000 บาททุกเดือน หากมิได้ ผ่อนชําระ 2 เดือนติดต่อกัน บริษัท สมายานยนต์ จํากัด ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อสามารถบอกเลิกสัญญา และผู้เช่าซื้อยินยอมให้ผู้ให้เช่าซื้อติดตามเอารถยนต์บรรทุกที่ให้เช่าซื้อคืนได้ ปรากฏว่า บริษัท สหสิน จํากัด ประสบปัญหาการเงิน จึงผิดนัดชําระค่างวดเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกงวดเดือนมกราคม 2561 และงวดเดือนมีนาคม 2561 ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2561 บริษัท สหสิน จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟู กิจการของตนต่อศาลล้มละลายกลาง และวันที่ 20 เมษายน 2561 ศาลฯ ได้มีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ของลูกหนี้ โดยแต่งตั้งให้ บริษัท สหสิน จํากัด ลูกหนี้เป็นผู้ทําแผน ปรากฏว่า บริษัท สหสิน จํากัด ผู้ทําแผนอยู่ระหว่างการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อเตรียมการทําแผนฟื้นฟูกิจการ จึงยัง ไม่มีเงินชําระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาของเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ดังนี้

(1) บริษัท สมายานยนต์ จํากัด จะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อบอกเลิกสัญญากับบริษัท สหสิน จํากัดและติดตามเอารถยนต์บรรทุก 5 คัน คืนมาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(2) การไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง จะงดการจ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับบริษัท สหสิน จํากัด เพราะเหตุไม่ชําระค่าใช้กระแสไฟฟ้าและค่าน้ําประปาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483

มาตรา 90/12 “ภายใต้บังคับมาตรา 90/13 และมาตรา 90/14 นับแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้อง ขอไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดตามความในหมวดนี้

(8) ห้ามมิให้เจ้าของทรัพย์สินที่เป็นสาระสําคัญในการดําเนินกิจการของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ สัญญาซื้อขาย หรือสัญญาอื่นที่มีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาในการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสัญญาเช่าที่ยังไม่สิ้นกําหนดเวลา ที่ได้ตกลงกันไว้ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้หรือของบุคคลอื่น ที่อาศัยสิทธิของลูกหนี้ รวมตลอดจนฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้ซึ่งเกิดขึ้นจากสัญญาดังกล่าว ถ้ามีการฟ้องคดีดังกล่าวไว้ก่อนแล้ว ก็ให้ศาลงดการพิจารณาคดีนั้นไว้ เว้นแต่ศาลที่รับคําร้องขอจะมีคําสั่ง เป็นอย่างอื่น หรือหลังจากวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทําแผน ผู้บริหารแผนหรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าซื้อ ราคาค่าตอบแทนการใช้ทรัพย์ หรือค่าเช่าตามสัญญาสองคราวติดต่อกัน หรือกระทําผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสําคัญ

(11) ห้ามมิให้ผู้ประกอบการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ งดให้บริการแก่ลูกหนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลที่รับคําร้องขอ หรือหลังจากวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ ผู้บริหารชั่วคราว ผู้ทําแผน ผู้บริหารแผน หรือผู้บริหารแผนชั่วคราว แล้วแต่กรณี ไม่ชําระ ค่าบริการที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการสองคราวติดต่อกัน”

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (8) และ (11) วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีตาม (1) เมื่อบริษัท สหสิน จํากัด ได้ยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลและศาลได้รับคําร้อง ขอไว้พิจารณาแล้ว ย่อมเกิดสิทธิแก่ลูกหนี้ตามมาตรา 90/12 (8) กล่าวคือห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อติดตามเอาคืนซึ่ง ทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อที่อยู่ในความครอบครองของลูกหนี้ ดังนั้น บริษัท สีมายานยนต์ จํากัด จึงไม่อาจใช้สิทธิจากการ บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและใช้สิทธิติดตามเอารถยนต์บรรทุกคืนตามสัญญาเช่าซื้อได้

และนอกจากนั้น ค่างวดเช่าซื้อที่ค้างชําระคือเดือนมกราคมและเดือนมีนาคม ก็เป็นค่างวดที่ เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ และมิใช่ค่างวดที่ค้างชําระสองคราวติดต่อกัน จึงไม่เข้าข้อยกเว้น ที่จะงดการคุ้มครองทรัพย์ตามมาตรา 90/12 (8) ดังนั้น บริษัท สีมายานยนต์ จํากัด จึงไม่อาจใช้สิทธิจากการ บอกเลิกสัญญาและติดตามเอารถยนต์บรรทุกคืนจากบริษัท สหสิน จํากัด ในระหว่างที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ของลูกหนี้ได้

กรณีตาม (2) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภายหลังจากที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท สหสิน จํากัด แล้ว บริษัท สหสิน จํากัด ในฐานะผู้ทําแผนมิได้ชําระค่าใช้บริการไฟฟ้า ประปาของเดือนพฤษภาคมถึงเดือน กรกฎาคม อันเป็นค่าบริการที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วและเป็นหนี้ ติดต่อกันถึง 3 เดือน จึงเข้าข้อยกเว้นที่ไม่อาจใช้มาตรการคุ้มครองตามมาตรา 90/12 (11) ได้ ดังนั้น การไฟฟ้า นครหลวงและการประปานครหลวง จึงงดจ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับบริษัท สหสิน จํากัด เพราะเหตุ ไม่ชําระค่าใช้กระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาติดต่อกันสองคราวได้ตามมาตรา 90/12 (11)

สรุป

(1) บริษัท สีมายานยนต์ จํากัด จะใช้สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อบอกเลิกสัญญากับบริษัท สหสิน จํากัด และติดตามเอารถยนต์บรรทุก 5 คัน คืนไม่ได้

(2) การไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวง จะงดจ่ายกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ให้กับบริษัท สหสิน จํากัด เพราะเหตุไม่ชําระค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปาได้

Advertisement