LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม 2/2559

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายสมศักดิ์เป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมายบริษัท สิงห์ขาว จํากัด ขณะนั่งทํางานที่บริษัทฯ ลูกน้องในฝ่ายกฎหมายนําเรื่องที่เกิดกับพนักงานบริษัทฯ มาปรึกษานายสมศักดิ์มีข้อเท็จจริงดังนี้

1.1 นายสมชาย นายสมหวัง นายสมสนุก พนักงานบริษัททั้ง 3 คน เล่นการพนันกันในบริษัท แต่เป็นเวลาพักงานตอนกลางวัน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการเล่นการพนันในบริษัท จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่

1.2 มีพนักงานบริษัทประมาณ 15 คน ร่วมกันเล่นแชร์ในบริษัท จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่

ดังนี้ นายสมศักดิ์ จะต้องตอบข้อหารือนี้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง…”

มาตรา 119 วรรคหนึ่ง “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่ง กรณีใดดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคหนึ่ง นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1.1 การที่นายสมชาย นายสมหวัง และนายสมสนุก พนักงานของบริษัทฯ ร่วมกันเล่นการพนัน ในบริษัทนั้น การเล่นการพนันของลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นเวลาในขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือนอกเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม นอกจากจะเป็นการกระทําที่ผิดกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมอาจทะเลาะวิวาทบาดหมางในหมู่ คนงานด้วยกัน ทําลายความสามัคคี ทําให้ผลงานลดน้อยลง และอาจทําให้นายจ้างเสียหายทางชื่อเสียงได้ การกระทําของลูกจ้างทั้ง 3 คน ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานในเรื่องการเล่นการพนันและถือ ว่าเป็นกรณีร้ายแรงที่นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือนตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) ดังนั้น กรณีนี้นายจ้างสามารถ เลิกจ้างลูกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างทั้ง 3 คน (ฎีกาที่ 1322/2523)

1.2 การที่มีพนักงานบริษัทประมาณ 15 คน ร่วมกันเล่นแชร์ในบริษัทนั้น แม้การเล่นแชร์ จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน (กรณีบริษัทมีข้อบังคับห้ามมิให้ลูกจ้างเช่นแชร์) แต่กรณีดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง ดังนั้นนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ ถ้านายจ้างจะเลิกจ้าง ต้องมีการตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อนตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) (ฎีกาที่ 2448/2523)

สรุป

กรณีตาม 1.1 และ 1.2 นายสมศักดิ์จะต้องให้คําปรึกษาแก่ลูกน้องฝ่ายกฎหมายของตน ดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 นายสนิทกับนางสาวรุ่งเรืองเป็นลูกจ้างของนายสุวรรณ ทํางานมาแล้ว 4 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท และเบี้ยขยันเดือนละ 2,000 บาท นายสุวรรณต้องการปิดกิจการในวันที่ 1 เมษายน จึงแจ้งให้ลูกจ้างทราบและให้ไปทํางานกับนายนครซึ่งทํากิจการประเภทเดียวกัน และต้องการลูกจ้าง เพิ่มเติมอีกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป นางสาวรุ่งเรืองไปทํางานกับนายนครตามที่นายสุวรรณสั่ง แต่นายสนิทเห็นว่าเดินทางไปทํางานไกลกว่าที่ทํางานเดิมจึงไม่ยินยอมไปตามคําสั่งของนายสุวรรณ ในเดือนเมษายนนายสุวรรณจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้นายสนิทโดยถือว่าไม่ไปทํางานเอง เช่นนี้ ท่านเห็นว่า นายสนิทจะต่อสู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 วรรคสอง “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจ บอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่าย ค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่ จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน”

มาตรา 67 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้าง พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(3) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วยรายการเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทําใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทํางานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดของสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้าง ไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดําเนินกิจการต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสนิทและนางสาวรุ่งเรืองเป็นลูกจ้างของนายสุวรรณ ทํางาน มาเล้ว 4 ปี เมื่อนายสุวรรณต้องการปิดกิจการในวันที่ 1 เมษายน จึงได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบและให้ไปทํางานกับนายนครซึ่งทํากิจการประเภทเดียวกัน และต้องการลูกจ้างเพิ่มเติมอีกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป โดย นางสาวรุ่งเรืองยินยอมไปทํางานกับนาย นครตามที่นายสุวรรณสั่ง แต่นายสนิทเห็นว่าเดินทางไปทํางานไกลกว่า ที่ทํางานเดิมจึงไม่ยินยอมไปตามที่นายสุวรรณสั่ง ทําให้ในเดือนเมษายนนายสุวรรณจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้นายสนิท โดยถือว่าไม่ไปทํางานเองนั้น ตามกฎหมายในการโอนย้ายลูกจ้างให้ไปทํางานกับนายจ้างอื่นนั้นจะต้องให้ลูกจ้าง ยินยอมด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 577) ดังนั้น เมื่อนายสนิทไม่ยินยอม จึงถือว่านายสุวรรณไม่ให้นายสนิททํางาน ต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ อันถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง

เมื่อถือว่าการกระทําของนายสุวรรณเป็นการเลิกจ้าง และตามข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า สัญญาจ้างระหว่างนายสุวรรณกับนายสนิทเป็นสัญญาจ้างที่มีกําหนดระยะเวลา ดังนั้นนายสนิทย่อมสามารถต่อสู้ ได้ว่าการที่นายสุวรรณจะเลิกสัญญาจ้าง จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้นายสนิททราบล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดการจ่ายค่าจ้างในคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้าง คราวถัดไป แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกิน 3 เดือน ตามมาตรา 17 วรรคสอง และนอกจากนั้นนายสนิท ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือสิทธิอื่น ๆ อีกดังนี้คือ

1 ค่าชดเชย ตามมาตรา 118 (3) คือ มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 180 วัน (6 เดือน) ตาม ค่าจ้างอัตราสุดท้ายรวมเป็นเงิน 120,000 บาท

2 สิทธิอื่น ๆ เมื่อกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ดังนั้น นายสนิทจึงมี สิทธิได้รับค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้างจึงมี สิทธิได้รับตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง

สรุป

นายสนิทสามารถต่อสู้ได้ว่าการกระทําของนายสุวรรณถือเป็นการเลิกจ้างจึงต้องบอก กล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคสอง และนายสนิทมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (3) และค่าจ้าง สําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. บริบูรณ์ทํางานเป็นลูกจ้างบริษัท เอสเคทราเวล จํากัด ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 32,000 บาท บริบูรณ์พาลูกค้าของบริษัทไปท่องเที่ยวทางทะเลและล่องเรือเพื่อชมทิวทัศน์ที่เกาะเต่า ได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มระหว่างการเดินทาง หน่วยกู้ภัยได้ค้นหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแต่ไม่พบบริบูรณ์ ดังนี้ เกตุแก้ว ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของบริบูรณ์จะมีสิทธิในเงินทดแทนจากนายจ้างหรือไม่ บริบูรณ์ยังมีบุตรชาย 2 คน คือ ด.ช.มานะ อายุ 9 ปี และนายปิยะ อายุ 17 ปี โดยปิยะไม่ได้เรียนต่อแต่ทํางานช่วยครอบครัวแล้ว ดังนี้ บุตรทั้งสองคนจะมีสิทธิในเงินทดแทนด้วยหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“สูญหาย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างทํางานหรือปฏิบัติตามคําสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างทํางาน หรือปฏิบัติตาม คําสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ เพื่อไปทํางานให้นายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ํารายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกําหนดแปดปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และ ไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

มาตรา 20 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือ สูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1) บิดามารดา

(2) สามีหรือภริยา

(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่”

มาตรา 21 “ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน

ในกรณีที่สิทธิได้รับเงินทดแทนสิ้นสุดลงเพราะผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตาย หรือสามีหรือภริยาสมรสใหม่หรือมิได้สมรสใหม่แต่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าอยู่กินฉันสามีหรือภริยากับ หญิงหรือชายอื่น หรือบุตรไม่มีลักษณะตามมาตรา 20 (3) หรือ (4) อีกต่อไป ให้นําส่วนแบ่งของผู้หมดสิทธิ เพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่บริบูรณ์ทํางานเป็นลูกจ้างของบริษัท เอสเคทราเวล จํากัด ได้พาลูกค้า ของบริษัทไปท่องเที่ยวทางทะเล และล่องเรือเพื่อชมทิวทัศน์ที่เกาะเต่า ได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มระหว่างการเดินทาง หน่วยกู้ภัยได้ค้นหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแต่ไม่พบบริบูรณ์นั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าบริบูรณ์ลูกจ้างได้หายไป ในระหว่างเดินทางโดยพาหนะทางน้ำเพื่อไปทํางานให้นายจ้าง เพราะพาหนะที่เดินทางประสบเหตุอันตราย และ มีเหตุอันควรเชื่อว่าบริบูรณ์ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนมาตรา 5 จะให้ถือว่าเป็นการสูญหาย และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ ก็ต่อเมื่อเวลาที่ลูกจ้างได้หายไปนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น

และเมื่อบริบูรณ์ลูกจ้างได้สูญหายไปจนครบ 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ ย่อมถือว่าบริบูรณ์ ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ดังนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าทําศพให้แก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างตามมาตรา 16 ซึ่งผู้จัดการศพ ของลูกจ้างคือนางเกตุแก้วภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของบริบูรณ์ โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าทําศพให้นางเกตุแก้ว เป็นเงิน 31,000 บาท (100 คูณด้วยอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ซึ่งปัจจุบันคือ 310 บาท) และนายจ้างต้องจ่าย ค่าทดแทนให้แกนางเกตุแก้วตามมาตรา 18 (4) ประกอบวรรคสี่ อีกเป็นจํานวน 12,000 บาท (ร้อยละ 60 ของค่าจ้าง รายเดือน คือ 19,200 บาท แต่ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด คือ 12,000 บาท เป็นระยะเวลา 8 ปี

ส่วนทายาทของบริบูรณ์คือ ด.ช.มานะ อายุ 9 ปี และนายปิยะ อายุ 17 ปี แม้จะไม่ได้เรียนต่อ แต่ทํางานช่วยครอบครัว ย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างตามมาตรา 18 (4) ประกอบวรรคสี่ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะทั้งสองมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3)

และเมื่อทายาทของบริบูรณ์ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเป็นรายเดือนตามมาตรา 18 (4) ประกอบวรรคสี่ จากนายจ้างตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) และ (3) มี 3 คน คือนางเกตุแก้ว ด.ช.มานะ และนายปิยะ ดังนั้นแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากันคือคนละ 4,000 บาท ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง

สรุป

นางเกตุแก้วมีสิทธิได้รับเงินทดแทนคือค่าทําศพจํานวน 31,000 บาท และค่าทดแทน เป็นรายเดือน ๆ ละ 4,000 บาท ส่วน ด.ช.มานะ และนายปิยะ จะได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือน ๆ ละ 4,000 บาท

 

ข้อ 4. บริษัท พีทีเคมิคอล จํากัด มีลูกจ้างทั้งหมด 520 คน ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ประสบปัญหาทางการเงินขาดสภาพคล้อง ทําให้บริษัทฯ มีความจําเป็นต้องลดโบนัสของพนักงานในปลายปี 2560 พิษณุกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งพนักงานทุกคนให้ทราบเหตุผลและ ความจําเป็นของบริษัทฯ พร้อมทั้งแจ้งถึงมติที่ประชุมกรรมการบริษัทฯ ในการปรับลดโบนัสของ พนักงาน ดังนี้ ให้อธิบายว่าหากลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยกับการกระทําของบริษัทฯ และ รวมตัวกันคัดค้าน บริษัทฯ ต้องดําเนินการอย่างไรบ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“สภาพการจ้าง” หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทํางาน กําหนดวันและเวลาทํางาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทํางาน”

มาตรา 13 “การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการแก้ไข เพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ

ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง นายจ้างต้องระบุชื่อตนเองเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจา หรือจะตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาก็ได้ ถ้านายจ้างตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจา ผู้แทนของนายจ้าง ต้องเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือลูกจ้างประจําของนายจ้าง กรรมการของสมาคมนายจ้าง หรือ กรรมการของสหพันธ์นายจ้าง และต้องมีจํานวนไม่เกินเจ็ดคน…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท พีทีเคมิคอล จํากัด มีความจําเป็นต้องลดโบนัสของพนักงาน ในปลายปี 2560 นั้น เมื่อการปรับลดโบนัสของพนักงานซึ่งเป็นสวัสดิการของลูกจ้างถือเป็นการเปลี่ยนแปลง สภาพการจ้าง ตามนัยของมาตรา 5 โดยนายจ้างได้มีหนังสือแจ้งให้แก่พนักงานทุกคนได้ทราบ แต่ลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่เห็นด้วย และรวมตัวกันคัดค้านนั้น บริษัท พีทีเคมิคอล จํากัด จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติ ไว้ว่า การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ นายจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ดังนั้น นายจ้างจะต้อง ปฏิบัติตามมาตรา 13 วรรคสอง กล่าวคือ นายจ้างจะต้องระบุชื่อผู้เข้าร่วมในการเจรจา โดยจะระบุชื่อตนเองเป็น ผู้เข้าร่วมในการเจรจา หรือจะตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาก็ได้ ถ้านายจ้างตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการ เจรจา ผู้แทนของนายจ้างจะต้องเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือลูกจ้างประจําของนายจ้าง กรรมการ ของสมาคมนายจ้าง หรือกรรมการของสหพันธ์นายจ้าง และต้องมีจํานวนไม่เกิน 7 คน และเมื่อได้มีการแจ้ง ข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ต่อไป

สรุป

หากลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยกับการกระทําของบริษัทฯ และรวมตัวกันคัดค้าน บริษัทฯ จะต้องดําเนินการตามมาตรา 13 ดังกล่าวข้างต้น

LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายพสุธา เป็นลูกจ้างบริษัท บัวทอง จํากัด ทํางานในแผนกผลิตยาบํารุงร่างกายมาเป็นเวลา 12 ปี นายพสุธามีอาการผิดปกติในร่างกายป่วยอยู่บ่อย ๆ นายพสุธาจึงไปตรวจร่างกายพบว่า นายพสุธา ป่วยเป็นมะเร็ง นายพสุธาขอลาป่วยอยู่บ่อยครั้ง การทํางานของนายพสุธาจึงบกพร่องในการผลิตยา บริษัท บัวทอง จํากัด ได้มีหนังสือเตือนถึงการขาดงานบ่อยครั้ง แต่อาการของนายพสุธาทรุดลง อย่างมาก นายพสุธาจึงทําหนังสือขอลาป่วยอีก 2 อาทิตย์ นายจ้างเห็นว่า นายพสุธาทํางานไม่ไหว บกพร่องในงานผลิตยา บริษัท บัวทอง จํากัด นายจ้างจึงทําหนังสือเลิกจ้างนายพสุธาโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

ดังนี้ อยากทราบว่า การบอกเลิกจ้างของนายจ้างดังกล่าว ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายพสุธา หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(5) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามร้อยวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 119 วรรคหนึ่ง “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคหนึ่ง นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพสุธา มีอาการผิดปกติในร่างกายป่วยอยู่บ่อย ๆ และเมื่อไปตรวจ ร่างกายจึงพบว่าป่วยเป็นมะเร็ง นายพสุธาจึงขอลาป่วยอยู่บ่อยครั้ง ทําให้การทํางานของนายพสุธาจึงบกพร่องในการผลิตยานั้น การเจ็บป่วยของนายพสุธาถือว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกาย มิใช่การกระทําฝ่าฝืน ระเบียบหรือคําสั่งของนายจ้าง และมิใช่การกระทําโดยประการอื่นใดที่จะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง และแม้จะปรากฏว่าบริษัทฯ จะได้มีหนังสือเตือน ถึงการขาดงานบ่อยครั้งก็ตาม การที่นายพสุธาได้ทําหนังสือขอลาป่วยอีก 2 อาทิตย์ ทําให้บริษัทฯ เลิกจ้างนั้น กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 119 (4) อันจะทําให้บริษัทฯ มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่อย่างใด ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายพสุธา และเมื่อปรากฏว่านายพสุธาได้ทํางานมาเป็น เวลา 12 ปีแล้ว บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายพสุธาไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน 10 เดือน) ตามมาตรา 118 (5)

สรุป

การบอกเลิกจ้างของนายจ้างดังกล่าว นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายพสุธาไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน (10 เดือน)

 

 

ข้อ 2 นายกุศลได้ประกาศรับสมัครงานในตําแหน่งผู้จัดการอาคารชุด ได้รับสินจ้างเดือนละ 30,000 บาท และหัวหน้างานบุคคล ได้รับสินจ้างเดือนละ 15,000 บาท นายบุญรอดได้มาสมัครงานในตําแหน่ง ผู้จัดการอาคารชุด และนายวิษณได้มาสมัครงานในตําแหน่งหัวหน้างานบุคคล นายกุศลเขียน สัญญาเป็นข้อตกลงว่า “ให้นายบุญรอดวางเงินประกันความเสียหายในการทํางานเป็นจํานวนเงิน 70,000 บาท และให้นายวิษณุวางเงินประกันความเสียหายในการทํางานเป็นจํานวนเงิน 40,000 บาท และนายกุศลจะคืนเงินประกันความเสียหายในการทํางานให้ภายหลังการเลิกจ้างหรือการลาออก 60 วัน” เช่นนี้ท่านเห็นว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ในกรณีที่นายจ้างไม่คืนเงินประกันตามมาตรา 10 วรรคสอง… ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี

ในกรณีที่นายจ้างจงใจไม่คืนหรือไม่จ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อพ้นกําหนดเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ถึงกําหนดคืนหรือจ่าย ให้นายจ้างเสียเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละสิบห้า ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน”

มาตรา 10 “ภายใต้บังคับมาตรา 51 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน การทํางานหรือหลักประกันความเสียหายในการทํางาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ําประกันด้วย บุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทํานั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สิน ของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับ หลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จํานวนมูลค่าของหลักประกัน และวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด

ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทําสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความ เสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทํา เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืน หลักประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้น เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกุศลเขียนสัญญาเป็นข้อตกลงว่า “ให้นายบุญรอดวางเงิน ประกันความเสียหายในการทํางานเป็นจํานวนเงิน 70,000 บาท และให้นายวิษณวางเงินประกันความเสียหายใน การทํางานเป็นจํานวนเงิน 40,000 บาท และนายกุศลจะคืนเงินประกันความเสียหายในการทํางานให้ภายหลัง การเลิกจ้างหรือการลาออก 60 วัน” นั้น ถูกต้องหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายบุญรอด

การที่นายบุญรอดได้มาสมัครงานในตําแหน่งผู้จัดการอาคารชุด ซึ่งงานในตําแหน่งผู้จัดการอาคารชุดนั้น ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทํานั้นลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือ ทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ดังนั้น นายกุศลเรียกให้นายบุญรอดวางเงิน ประกันความเสียหายในการทํางานได้ (ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง) แต่นายกุศลสามารถเรียกได้เพียงตามหลักเกณฑ์ ที่กําหนดไว้ในประกาศกระทรวง คือเรียกได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างโดยเฉลี่ยต่อวัน ซึ่งเท่ากับ 60,000 บาท เท่านั้น (39000 x 60) ดังนั้น การที่นายกุศลเรียกให้นายบุญรอดวางเงินประกันความเสียหายในการทํางาน เป็นจํานวนเงิน 70,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง

กรณีของนายวิษณุ

การที่นายวิษณได้มาสมัครงานในตําแหน่งหัวหน้างานบุคคล ซึ่งไม่ใช่งาน ที่มีลักษณะหรือสภาพของงานที่ทํานั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้างซึ่งอาจ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ (ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง) นายกุศลจึงไม่สามารถเรียกให้นายวิษณุ วางเงินประกันความเสียหายในการทํางานได้ ดังนั้น การที่นายกุศลเรียกให้นายวิษณุวางเงินประกันความ เสียหายในการทํางานเป็นจํานวนเงิน 40,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง

ส่วนการที่นายกุศลเขียนเป็นข้อตกลงว่าจะคืนเงินประกันความเสียหายในการทํางานให้ ภายหลังการเลิกจ้างหรือการลาออก 60 วันนั้น ก็ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน เพราะเป็นข้อตกลงที่ขัดกับมาตรา 10 วรรคสอง ที่กําหนดให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วันนับแต่วันที่ นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออกแล้วแต่กรณี ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของ ประชาชน การเขียนข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้นนายกุศลจะต้องคืนเงิน ประกันการทํางานให้ภายใน 7 วันนับแต่วันเลิกจ้างหรือลาออก ถ้าไม่คืนภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้นายกุศล นายจ้างเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด (ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง) และถ้านายกุศลจงใจไม่ คืนหรือไม่จ่ายเงินตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร นายกุศลจะต้องเสียเงินเพิ่ม อีกร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน (ตามมาตรา 9 วรรคสอง)

สรุป

การที่นายกุศลเขียนสัญญาเป็นข้อตกลงดังกล่าวนั้น ไม่ถูกต้อง ตามเหตุผลและหลัก กฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

 

ข้อ 3. เต้ยเป็นลูกจ้างบริษัท อัมพา จํากัด ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 16,000 บาท ขณะปฏิบัติงานประมาทเลินเล่อทําให้เครื่องจักรตัดมือขาด 2 ข้าง เต้ยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลปีกว่า และถูกนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจ่ายเงินตามสิทธิในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และจ่ายเงินทดแทน ให้ 1 ปี หลังจากนั้นนายจ้างไม่จ่ายค่าทดแทนกรณีดังกล่าวให้อีก เต้ยทวงถามแต่นายจ้างปฏิเสธ อ้างว่าเต้ยออกจากงานแล้ว นายจ้างจึงไม่ต้องจ่าย ดังนี้ ข้ออ้างของนายจ้างฟังขึ้นหรือไม่ เต้ยจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอย่างไรบ้าง และจะได้รับค่าทดแทนภายหลังออกจากงานแล้วหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง”

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการ รักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้ทราบ”

มาตรา 15 “กรณีที่ลูกจ้างจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังการ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็นตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบ ของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทํางานติดต่อกันได้ เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทํางานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทํางานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี

(3) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภท ของการทุพพลภาพและตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่เต้ยเป็นลูกจ้างบริษัท อัมพา จํากัด ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 16,000 บาท ขณะปฏิบัติงานเต้ยถูกเครื่องจักรตัดมือขาด 2 ข้าง ทําให้เต้ยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลปีกว่านั้น ถือว่าเต้ยประสบอันตรายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 เต้ยจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้

การที่เต้ยถูกนายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง และนายจ้างจ่ายเงินตามสิทธิในกฎหมายคุ้มครอง แรงงาน และจ่ายเงินทดแทนให้ 1 ปี หลังจากนั้นนายจ้างไม่จ่ายค่าทดแทนกรณีดังกล่าวให้อีกเลย โดยอ้างว่า เต้ยได้ออกจากงานแล้ว นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายนั้น ข้ออ้างของนายจ้างย่อมฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้เพราะตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนฯ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่เต้ยในกรณีดังกล่าวดังนี้ คือ

1 ค่ารักษาพยาบาล ตามมาตรา 13 โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่เต้ย เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าเต้ยประสบอันตราย ถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง จึงต้องได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น 50,000 บาท และในกรณีบาดเจ็บรุนแรงอีก ไม่เกิน 100,000 บาท รวมกันแล้วไม่เกิน 150,000 บาท (ตามกฎกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 2 และข้อ 3)

2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางาน ตามมาตรา 15 โดยนายจ้างต้องจ่ายตามความ จําเป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง ในกรณีนี้ นายจ้างต้องจ่ายค่าฟื้นฟู สมรรถภาพในการทํางานให้แก่เต้ยเป็นจํานวนเงินไม่เกิน 24,000 บาท (ตามกฎกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับอัตรา การจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 4 (1)

3 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้ ตามมาตรา 18 (1) เมื่อเต้ยไม่สามารถทํางานได้ ปีกว่าซึ่งถือว่าติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่าย ตั้งแต่วันแรกที่เต้ยไม่สามารถทํางานได้ เมื่อเต้ยได้รับค่าจ้างเดือนละ 16,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 16,000 บาท จึงเท่ากับ 9,600 บาท (ซึ่งไม่เกินค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานฯ ประกาศกําหนดคือ 12,000 บาท) ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่เต้ยเดือนละ 9,600 บาท เป็นเวลา 1 ปี

4 ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพ ตามมาตรา 18 (3) เมื่อเต้ยกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน ซึ่งก็คือ 9,600 บาท ให้แก่เต้ยทุกเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี แม้ว่าเต้ยจะได้ออกจากงานแล้วก็ตาม

สรุป ข้ออ้างของนายจ้างดังกล่าวฟังไม่ขึ้น และเต้ยจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ดังนี้

1 ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 150,000 บาท

2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานจํานวนไม่เกิน 24,000 บาท

3 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้เดือนละ 9,600 บาท เป็นเวลา 1 ปี

4 ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพเดือนละ 9,600 บาท เป็นเวลาไม่เกิน 15 ปี

 

 

ข้อ 4. ให้นักศึกษาอธิบายการแจ้งข้อเรียกร้องของลูกจ้างตามมาตรา 13 ของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และให้อธิบายขั้นตอนการแจ้งข้อเรียกร้องของลูกจ้างดังกล่าวจนถึงมีการจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

ธงคําตอบ

ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 มาตรา 16 และมาตรา 18 ได้กําหนด ขั้นตอนการแจ้งข้อเรียกร้องของลูกจ้างจนถึงมีการจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ไว้ดังนี้คือ

ขั้นตอนการแจ้งข้อเรียกร้องของลูกจ้าง

1 ฝ่ายลูกจ้างจะต้องแจ้งข้อเรียกร้องนั้นไปยังฝ่ายนายจ้าง โดยทําเป็นหนังสือแจ้งไปยัง ฝ่ายนายจ้าง (มาตรา 13 วรรคหนึ่ง) และข้อเรียกร้องดังกล่าวจะต้อง

(1) มีรายชื่อ และ

(2) มีลายมือชื่อ (ลายเซ็น) ของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในจํานวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น (มาตรา 13 วรรคสาม)

2 ในกรณีที่ลูกจ้างได้เลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาไว้แล้ว ให้ระบุชื่อผู้แทน ผู้เข้าร่วมในการเจรจามีจํานวนไม่เกิน 7 คน พร้อมกับการแจ้งข้อเรียกร้องด้วย ถ้าลูกจ้างยังมิได้เลือกตั้งผู้แทนเป็น ผู้เข้าร่วมในการเจรจา ให้ลูกจ้างเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาและระบุชื่อผู้แทนผู้เข้าร่วมในการเจรจา มีกําหนดไม่เกิน 7 คน โดยมิชักช้า (มาตรา 13 วรรคสาม)

ขั้นตอนการเจรจา

เมื่อนายจ้างได้รับข้อเรียกร้องแล้ว ต้องแจ้งชื่อตนเองหรือผู้แทนเป็นหนังสือให้ฝ่ายลูกจ้างทราบ โดยมิชักช้า และให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจากันภายใน 3 วัน นับแต่วันที่นายจ้างได้รับข้อเรียกร้อง (มาตรา 16)

การทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและการจดทะเบียนข้อตกลง

1 ให้นายจ้างและลูกจ้างทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ได้ตกลงร่วมกันเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการของสหภาพแรงงาน แล้วแต่กรณี

2 ให้นายจ้างติดประกาศข้อตกลงดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยภายใน 3 วัน นับแต่ที่ตกลงกัน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน

3 ให้นายจ้างนําข้อตกลงที่เกี่ยวกับสภาพการจ้างไปจดทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดี มอบหมายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ตกลงกัน (มาตรา 18)

LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม S/2558

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายจ้างทําสัญญาจ้างนายธนชาติและ น.ส.วีนัส เป็นลูกจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา ได้รับค่าจ้าง 12,000 บาท ค่าครองชีพ 2,000 บาท และค่าเช่าบ้าน 2,000 บาท ในสัญญาจ้างมีข้อตกลงว่า

ข้อ 1 “ให้นายธนชาติได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางาน 2 เท่า และให้ น.ส.วีนัส ได้ 1 เท่า” และ

ข้อ 2 “ถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อน 6 เดือน จะไม่ได้รับค่าชดเชย และถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง ก่อนครบ 1 ปี จะได้รับค่าชดเชย 10,000 บาท” ปรากฏว่านายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายธนชาติ เมื่อสิ้นเดือน 5 (เดือนพฤษภาคม) จึงไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา และนายจ้างได้ บอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.วีนัส เมื่อสิ้นเดือนที่ 10 (เดือนตุลาคม) จึงจ่ายค่าชดเชยให้ 10,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ และการที่นายจ้างทําสัญญาตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทํางานตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 1 นั้น ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 15 “ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้”

มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้าง หรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึง กําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจํานวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้…”

มาตรา 61 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันทํางานให้นายจ้างจ่ายค่า ล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการ ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

โดยหลักของการทําสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างกับลูกจ้างจะทําข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ข้อตกลงนั้นจะมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ข้อตกลงนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 150) อย่างไรก็ตาม หากข้อตกลงนั้นเป็นคุณแก่ลูกจ้าง แม้ว่าจะขัดต่อกฎหมาย ก็ถือว่าข้อตกลงนั้นใช้ได้ ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างทําสัญญาจ้างนายธนชาติและ น.ส.วีนัสเป็นลูกจ้างที่ไม่มี กําหนดระยะเวลา ได้รับค่าจ้าง 12,000 บาท ค่าครองชีพ 2,000 บาท และค่าเช่าบ้าน 2,000 บาท โดยในสัญญา มีข้อตกลงว่า

ข้อ 1 “ให้นายธนชาติได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางาน 2 เท่า และให้ น.ส.วีนัส ได้ 1 เท่า” และ

ข้อ 2 “ถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อน 6 เดือน จะไม่ได้รับค่าชดเชย และถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบ 1 ปี จะได้รับค่าชดเชย 10,000 บาท” นั้น

ข้อตกลงทั้ง 2 ข้อ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ข้อตกลงข้อที่ 1 ที่ให้นายธนชาติได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางาน 2 เท่า และให้ น.ส.วีนัสได้ 1 เท่านั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ที่กําหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการ จ้างงาน ดังนั้นข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 น.ส.วีนัสจึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาใน วันทํางานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 คือ หนึ่งเท่าครึ่ง ส่วนนายธนชาติมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางาน 2 เท่า ตามข้อตกลงในสัญญา เพราะแม้ข้อตกลงนั้นจะขัดต่อกฎหมายแต่เมื่อข้อตกลงนั้นเป็นคุณแก่ลูกจ่าง ข้อตกลงนั้น จึงใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

ข้อตกลงข้อที่ 2 ที่ว่าถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อน 6 เดือน จะไม่ได้รับค่าชดเชย และถ้า ถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบ 1 ปี จะได้รับค่าชดเชย 10,000 บาทนั้น ถือเป็นข้อตกลงที่ขัดกับกฎหมาย คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 (1) จึงมีผลเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น เมื่อนายจ้างได้บอกเลิก สัญญาจ้างนายธนชาติ เมื่อสิ้นเดือนที่ 5 และบอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.วีนัส เมื่อสิ้นเดือนที่ 10 ทั้งนายธนชาติ และ น.ส.วีนัส จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (1) คือ จะได้รับคนละ 30 วัน คิดเป็นเงิน 14,000 บาท (ค่าจ้าง 12,000 บาท + ค่าครองชีพ 2,000 บาท)

และนอกจากนั้น การที่นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายธนชาติและ น.ส.วีนัสนั้น นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดการจ่ายค่าจ้าง ในคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป หรือนายจ้างจะจ่าย ค่าจ้างให้ลูกจ้างตามจํานวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าว และให้ลูกจ้างออกจาก งานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม

ดังนั้น การที่นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายธนชาติเมื่อสิ้นเดือนที่ 5 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ และได้บอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.วีนัสเมื่อสิ้นเดือนที่ 10 และจ่ายค่าชดเชยให้ 10,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง

สรุป

การบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างดังกล่าวไม่ถูกต้อง และการทําสัญญาตกลงจ่าย ค่าล่วงเวลาในวันทํางานของนายจ้างใช้บังคับได้เฉพาะกับนายธนชาติแต่จะใช้บังคับกับ น.ส.วีนัส ไม่ได้

 

ข้อ 2. นายจ้างทําสัญญาจ้างนายหวังเป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,400 บาท (เฉลี่ย 480 บาทต่อวัน) และนายแจ่มเป็นลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างวันละ 400 บาท ทํางานตั้งแต่วันศุกร์ถึง วันอังคาร โดยให้หยุดวันหยุดประจําสัปดาห์วันพุธและวันพฤหัสบดี ทํางานตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. (หยุดพักเที่ยง 1 ชั่วโมง) นายจ้างให้นายหวังและนายแจ่มทํางานวันพุธตั้งแต่เวลา 21.00 น. ถึง 02.00 น. เช่นนี้ นายหวังและนายแจ่มจะได้รับค่าตอบแทนเป็นจํานวนเงินเท่าใด เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 28 วรรคหนึ่ง “ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจําสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า หนึ่งวัน โดยวันหยุดประจําสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากําหนดให้ มีวันหยุดประจําสัปดาห์วันใดก็ได้”

มาตรา 63 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา ในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างทําสัญญาจ้างนายหวังเป็นลูกจ้างรายเดือนและนายแจ่ม เป็นลูกจ้างรายวัน โดยให้ทํางานตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอังคาร และให้มีวันหยุดประจําสัปดาห์คือวันพุธและวัน พฤหัสบดีนั้น เป็นการตกลงกันตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งสามารถตกลงกันได้ และเมื่อถือว่าวันพุธและ วันพฤหัสบดีเป็นวันหยุดประจําสัปดาห์ ดังนั้น การที่นายจ้างให้นายหวังและนายแจ่มทํางานในวันพุธตั้งแต่เวลา 21.00 น. ถึงเวลา 02.00 น. เป็นเวลา 5 ชั่วโมงนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันหยุด นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่นายหวังและนายแจ่มในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้าง ต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทําตามมาตรา 63 โดยนายหวังและนายแจ่มจะได้รับค่าตอบแทนเป็น จํานวนเงิน ดังนี้

นายหวัง เป็นลูกจ้างรายเดือน ๆ ละ 14,400 บาท เฉลี่ย 480 บาทต่อวัน ค่าจ้างต่อชั่วโมง จึงเท่ากับ 60 บาท และ 3 เท่า จึงเท่ากับ 180 บาท เมื่อนายหวังทํางาน 5 ชั่วโมง จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เป็นเงิน 900 บาท (180 x 5)

นายแจ่ม เป็นลูกจ้างรายวัน ๆ ละ 400 บาท เฉลี่ยเป็นชั่วโมงละ 50 บาท และ 3 เท่า จึงเท่ากับ 150 บาท เมื่อนายแจ่มทํางาน 5 ชั่วโมง จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 750 บาท

สรุป

นายหวังจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 900 บาท และนายแจ่มจะได้รับค่าตอบแทน เป็นเงิน 750 บาท

 

ข้อ 3. นายสมัยเป็นลูกจ้างพนักงานขับรถยนต์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท นายจ้างมีคําสั่งให้นายสมัยขับรถยนต์ไปส่งสินค้าที่จังหวัดเชียงราย นายอุทัยเป็นพนักงานขับรถยนต์เช่นกันขอไปด้วยเพื่อกลับไปบ้าน ในระหว่างทางรถยนต์พลิกคว่ำตกเขานายอุทัยเสียชีวิตแต่ไม่พบนายสมัย สองเดือนต่อมา ภริยานายสมัยและนายอุทัยได้เข้ามาขอรับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายของสามี เช่นนี้ จะมีสิทธิ อะไรบ้าง อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง”

“สูญหาย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างทํางานหรือปฏิบัติตามคําสั่งของ นายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างทํางาน หรือ ปฏิบัติตามคําสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ เพื่อไปทํางานให้นายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ ความตาย ทั้งนี้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกําหนดแปดปี”

มาตรา 20 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(2) สามีหรือภริยา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างมีคําสั่งให้นายสมัยลูกจ้างขับรถยนต์ไปส่งสินค้าที่จังหวัด เชียงราย โดยนายอุทัยซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์และลูกจ้างเช่นกันขอไปด้วยเพื่อกลับบ้าน และในระหว่างทาง รถยนต์พลิกคว่ำตกเขาทําให้นายอุทัยเสียชีวิตแต่ไม่พบนายสมัยนั้น ภริยาของนายสมัยและภริยาของนายอุทัย จะมีสิทธิอะไรบ้างนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายสมัย

การที่รถยนต์พลิกคว่ำตกเขาและไม่พบนายสมัยนั้น ถือว่านายสมัยลูกจ้าง ได้หายไปเนื่องจากประสบเหตุอันตรายในระหว่างทํางานและมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนฯ มาตรา 5 จะให้ถือว่าเป็นการสูญหายและมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ ก็ต่อเมื่อ เวลาที่นายสมัยได้หายไปนั้นได้ผ่านไปแล้วไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น

และเมื่อนายสมัยลูกจ้างได้สูญหายไปจนครบ 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุย่อมถือว่านายสมัย ถึงแก่ความตาย ภริยาของนายสมัยย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทําศพตามมาตรา 16 เป็นจํานวน 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน (เป็นเงิน 30,000 บาท) และต้องจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน มีกําหนด 8 ปี ตามมาตรา 18 (4) เมื่อนายสมัยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 จึงเท่ากับ 7,200 บาท

กรณีของนายอุทัย

การที่นายอุทัยซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์เช่นเดียวกันได้ขอไปด้วยเพื่อ กลับไปบ้านนั้น เมื่อในระหว่างทางรถยนต์พลิกคว่ําตกเขาและนายอุทัยเสียชีวิต ย่อมไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายอุทัย ประสบอันตรายตามมาตรา 5 เพราะนายอุทัยไม่ได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างแต่อย่างใด ดังนั้นภริยาของนายอุทัยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

สรุป

ภริยานายสมัยมีสิทธิได้รับเงินค่าทําศพจํานวน 30,000 บาท และค่าทดแทนเป็นราย เดือน ๆ ละ 7,200 บาท มีกําหนด 8 ปี ส่วนภริยานายอุทัยไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

 

ข้อ 4 นายวิกรมและนายอดิเรกเป็นลูกจ้างทํางานอยู่ที่สํานักงานใหญ่ กรุงเทพฯ นายวิกรมได้เข้าร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อผ่านไปเพียงสอง สัปดาห์นายจ้างได้มีคําสั่งให้นายวิกรมไปทํางานที่จังหวัดเชียงใหม่และมีคําสั่งให้นายอดิเรก ไปทํางานที่จังหวัดชุมพร นายวิกรมและนายอดิเรกแจ้งแก่นายจ้างว่าไม่ต้องการไป นายจ้างอ้างว่า ถ้าไม่ไปทํางานตามคําสั่งก็จะเลิกจ้างทันที โดยถือว่าเป็นการขัดคําสั่งของนายจ้าง เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 31 “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว…”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องให้มีการกําหนดหรือ แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไปแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างเจรจากัน กฎหมายห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนา เพื่อที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้างดังกล่าวให้ออกจากงานไป เพราะถือเป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายวิกรม

การที่นายวิกรมเป็นลูกจ้างที่เข้าร่วมในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเมื่อข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจาตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของนายวิกรม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจ้างได้มีคําสั่งโยกย้ายหน้าที่การงานของนายวิกรมโดยให้นายวิกรมย้ายไปทํางานที่จังหวัดเชียงใหม่โดยไม่ ปรากฏว่านายวิกรมได้กระทําการใด ๆ ตามมาตรา 31 (1) – (4) แต่อย่างใดนั้น การกระทําของนายจ้างย่อมถือว่า เป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนายวิกรมแจ้งแก่นายจ้างว่าไม่ต้องการ ไปทํางานที่จังหวัดเชียงใหม่ นายจ้างจะอ้างว่าถ้าไม่ไปทํางานตามคําสั่งก็จะเลิกจ้างทันทีไม่ได้

กรณีของนายอดิเรก

การที่นายจ้างได้มีคําสั่งให้นายอดิเรกไปทํางานที่จังหวัดชุมพรนั้น กรณีนี้ นายจ้างมีอํานาจออกคําสั่งให้ลูกจ้างไปทํางานที่อื่นได้ เนื่องจากตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างย่อมมีอํานาจ สั่งการบังคับบัญชาลูกจ้างได้ ถ้าลูกจ้างขัดคําสั่งของนายจ้าง นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงาน อีกทั้งตามข้อเท็จจริงในอุทาหรณ์ก็ไม่ปรากฏว่านายอดิเรกลูกจ้างได้เข้าร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายจ้างให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่อย่างใด ดังนั้นนายอดิเรกจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ตามมาตรา 31 นายจ้างจึงสามารถมีคําสั่งให้นายอดิเรกไปทํางานที่จังหวัดชุมพรได้ และถ้านายอดิเรกไม่ไปทํางาน ตามคําสั่งนายจ้างก็สามารถเลิกจ้างได้

สรุป

นายจ้างจะมีคําสั่งให้นายวิกรมไปทํางานที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้ แต่มีคําสั่งให้นายอดิเรก ไปทํางานที่จังหวัดชุมพรได้

LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม 2/2558

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายธงชัยจบนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคําแหง ได้งานเป็นตําแหน่งผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัท เฮง เฮง จํากัด เจ้าของบริษัท เฮง เฮง จํากัด มาปรึกษานายธงชัยกรณีจะเลิกจ้าง น.ส.ยินดี เพราะกระทําผิดอาญาหมิ่นประมาทนายจ้าง ดังนี้ นายธงชัยจะต้องแนะนํากรณีการบอกเลิก สัญญาจ้าง น.ส.ยินดี ว่าจะต้องกระทําอย่างไร (ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119)

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง”

มาตรา 119 “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่ เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะ ยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคหนึ่ง นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ น.ส.ยินดี หมิ่นประมาทนายจ้างอันเป็นการกระทําผิดอาญาโดยเจตนา แก่นายจ้างตามมาตรา 119 (1) นั้น นายจ้างย่อมมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ น.ส.ยินดี ลูกจ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม การที่บริษัท เฮง เฮง จํากัด ซึ่งเป็นนายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างกับ น.ส.ยินดี ลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 วรรคหนึ่งนั้น หากการบอกเลิกสัญญาจ้างได้ทําเป็นหนังสือ

นายจ้างก็จะต้องระบุข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย หรือถ้า การบอกเลิกสัญญาจ้างได้กระทําด้วยวาจา ก็จะต้องระบุเหตุผลที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างด้วย (มาตรา 119 วรรคท้าย) มิฉะนั้น นายจ้างจะยกเหตุที่เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างขึ้นมากล่าวอ้างใน ภายหลังไม่ได้

สรุป

นายธงชัยจะต้องแนะนํากรณีการบอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.ยินดี แก่เจ้าของบริษัท เฮง เฮง จํากัด ว่าจะต้องกระทําการดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 นายอนุชิตเป็นลูกจ้างในตําแหน่งพนักงานขับรถได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ทํางานมาแล้ว 4 ปี นายจ้างได้ทําหนังสือเลิกจ้างนายอนุชิตโดยอ้างระบุเหตุผลว่า “นายอนุชิตได้ฝ่าฝืนข้อบังคับ เกี่ยวกับการทํางานโดยละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาครึ่งวัน และนายจ้างได้ตักเตือนด้วยวาจาแล้วด้วย” นายอนุชิตได้โต้แย้งไม่เห็นด้วย นายจ้างจึงได้อ้างภายหลังอีกว่านายอนุชิตได้เล่นการพนันในเวลา ทํางานซึ่งถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานอีกด้วย เช่นนี้ ท่านเห็นว่า อย่างไร นายอนุชิตจะได้รับค่าชดเชยหรือสิทธิอื่น ๆ อีกหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 67 “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิ ได้รับตามมาตรา 30

ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างหรือนายจ้างเลิกจ้าง ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นกรณี ตามมาตรา 119 หรือไม่ก็ตาม ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีสะสมที่ลูกจ้าง พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(3) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 119 “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่ เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้าง นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ได้แก่

1 นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างได้หรือไม่

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) ได้วางหลักไว้ว่า นายจ้างไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างนั้น ต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานและนายจ้างได้ ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีร้ายแรงนายจ้างไม่จําเป็นต้องเตือน และตามมาตรา 119 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้อีกว่า การที่นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างนั้น ถ้าเป็นการบอกเลิก สัญญาจ้างโดยทําเป็นหนังสือ นายจ้างจะต้องระบุเหตุผลในการเลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย ถ้า หากไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ นายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นกล่าวอ้างในภายหลังไม่ได้

ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างได้ทําหนังสือเลิกจ้างนายอนุชิตซึ่งเป็นลูกจ้างนั้น แม้นายจ้างจะได้ระบุเหตุผลไว้หนังสือเลิกจ้างแล้วว่า “นายอนุชิตได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานโดยละทิ้ง หน้าที่เป็นเวลาครึ่งวัน และนายจ้างได้ตักเตือนด้วยวาจาแล้วด้วย” นั้น การที่นายจ้างได้ตักเตือนด้วยวาจาโดย ไม่ได้ตักเตือนเป็นหนังสือ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 119 (4) ที่นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ ลูกจ้าง ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายอนุชิตตามมาตรา 118

ส่วนกรณีที่นายจ้างได้อ้างในภายหลังว่า นายอนุชิตได้เล่นการพนันในเวลาทํางานซึ่งถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่ระบุเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญา ดังนั้นนายจ้างจะยกเหตุ ดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในภายหลังไม่ได้ตามมาตรา 119 วรรคท้าย (คําพิพากษาฎีกาที่ 2599 – 2606/2541)

2 นายอนุชิตจะได้รับค่าชดเชยหรือสิทธิอื่น ๆ อีกหรือไม่

ตามอุทาหรณ์ เมื่อนายจ้างเลิกจ้างนายอนุชิต นายอนุชิตย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชย และสิทธิอื่น ๆ ดังนี้ คือ

(1) ค่าชดเชย นายอนุชิตมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (3) คือ จะได้รับ ค่าชดเชย 180 วัน (6 เดือน) ตามค่าจ้างอัตราสุดท้าย รวมเป็นเงิน 90,000 บาท

(2) สิทธิอื่น ๆ เมื่อกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ดังนั้นนายอนุชิต จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้าง จึงมีสิทธิได้รับ และค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีสะสมที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 67

สรุป

การบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างและการอ้างเหตุ ภายหลังนั้นไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 119 (4) และวรรคท้าย นายอนุชิตมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (3) และค่าจ้างสําหรับ วันหยุดพักผ่อนประจําปีตามมาตรา 67

 

ข้อ 3. ศักดิ์สิทธิ์ทํางานเป็นลูกจ้างของชูศรี อยู่ในตําแหน่งพนักงานขับรถขนส่งสินค้า ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 12,000 บาท ศักดิ์สิทธิ์ขับรถชูศรีไปส่งสินค้าตามหน้าที่แต่ประมาทขับรถชนรถของอํานวย รถของอํานวยและรถของชูศรีนายจ้างได้รับความเสียหาย ส่วนศักดิ์สิทธิ์ได้รับบาดเจ็บ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 1 เดือน ก็กลับมาปฏิบัติงานได้ ชูศรีจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้อํานวย เนื่องจากศักดิ์สิทธิ์ขับรถไปในทางการที่จ้าง และชูศรีต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์ของ ตนที่ได้รับความเสียหาย ดังนี้ ศักดิ์สิทธิ์จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอย่างไรบ้าง และชูศรีจะสามารถ หักเงินทดแทนจากศักดิ์สิทธิ์เพื่อค่าสินไหมทดแทนคู่กรณีและค่าซ่อมแซมรถยนต์ของซูศรีได้หรือไม่ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคําสั่งของนายจ้าง”

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้ทราบ”

มาตรา 15 “กรณีที่ลูกจ้างจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็นตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทํางานติดต่อกันได้ เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทํางานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทํางานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี”

มาตรา 23 “ห้ามมิให้นายจ้างหักเงินทดแทนเพื่อการใด ๆ และเงินทดแทนไม่อยู่ในความรับผิด แห่งการบังคับคดี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นลูกจ้างของชูศรี ได้รับรถของชูศรีไปส่งสินค้าตามหน้าที่แต่ได้ ประมาทขับรถไปชนรถของอํานวย ทําให้รถของอํานวยและรถของชูศรีนายจ้างได้รับความเสียหายนั้น เมื่อศักดิ์สิทธิ์ ประสบอันตรายจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน ย่อมถือว่า ศักดิ์สิทธิ์ประสบอันตรายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 ซึ่งศักดิ์สิทธิ์จะได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537 โดยศักดิ์สิทธิ์จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ดังนี้

(1) ค่ารักษาพยาบาลตามมาตรา 13 โดยนายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่ จ่ายจริงตามความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง

(2) ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้ตามมาตรา 18 (1) กล่าวคือ เมื่อ ศักดิ์สิทธิ์ต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งถือว่าติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่า ทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เมื่อศักดิ์สิทธิ์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท นายจ้างจึงต้อง จ่ายค่าทดแทนให้ศักดิ์สิทธิ์เป็นเงิน 7,200 บาท

ส่วนกรณีค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานตามมาตรา 15 นั้น เมื่อศักดิ์สิทธิ์ได้เข้า รักษาตัวในโรงพยาบาล 1 เดือน ก็กลับมาปฏิบัติงานได้โดยไม่จําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางาน ภายหลังการประสบอันตราย ดังนั้น นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนในกรณีนี้

2 ตามมาตรา 23 ได้กําหนดห้ามมิให้นายจ้างอ้างเหตุแห่งการกระทําอื่นใดของลูกจ้าง เพื่อนํามาหักกับเงินทดแทนที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น ตามข้อเท็จจริงแม้ว่าชูศรีต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการซ่อมแซมรถยนต์ของตน และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่คู่กรณีเนื่องจากข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ว่าศักดิ์สิทธิ์ ได้ขับรถโดยประมาทก็ตาม ชูศรีก็ไม่สามารถจะหักเงินค่าซ่อมแซมรถยนต์และค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายไปกับ เงินทดแทนที่ศักดิ์สิทธิ์จะได้รับได้ตามมาตรา 23

สรุป

ศักดิ์สิทธิ์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลตามมาตรา 13 และค่าทดแทนใน กรณีไม่สามารถทํางานได้ตามมาตรา 18 (1)

ชูศรีไม่สามารถหักเงินทดแทนจากศักดิ์สิทธิ์เพื่อค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายให้แก่คู่กรณีและค่า ซ่อมแซมรถยนต์ของตน

 

ข้อ 4. อุทัยลูกจ้างบริษัท ชัยชนะอะไหล่ยนต์ จํากัด เป็นแกนนําในการเรียกร้องขอปรับสวัสดิการกับนายจ้าง ได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องแล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างการเจรจา นายจ้างมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างอุทัย โดยที่อุทัยไม่มีความผิด อุทัยจึงมาขอคําปรึกษาว่าจะดําเนินคดีนายจ้างตาม กฎหมายแรงงานสัมพันธ์โดยการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลได้หรือไม่ และหากอุทัยจะยื่นฟ้องคดีต่อศาล ไปพร้อมกับการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะกระทําได้หรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 31 วรรคหนึ่ง “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้าง เลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว”

มาตรา 121 “ห้ามมิให้นายจ้าง

(1) เลิกจ้าง หรือกระทําการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพ แรงงาน หรือกรรมการสหพันธ์แรงงาน ไม่สามารถทนทํางานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้นัด ชุมนุม ทําคําร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดําเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยาน หรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือนายทะเบียน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาด ข้อพิพาทแรงงาน หรือกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อศาลแรงงาน หรือเพราะเหตุที่ ลูกจ้าง หรือสหภาพแรงงานกําลังจะกระทําการดังกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 อุทัยสามารถฟ้องร้องนายจ้างเป็นคดีต่อศาลได้หรือไม่

ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องให้มีการกําหนด หรือแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไปแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างเจรจากัน กฎหมาย ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนา เพื่อที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้างดังกล่าวให้ออกจากงานไป เพราะถือเป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

จากข้อเท็จจริง การที่อุทัยลูกจ้างบริษัท ชัยชนะอะไหล่ยนต์ จํากัด ได้เป็นแกนนําใน การเรียกร้องขอปรับสวัสดิการกับนายจ้างและได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องแล้ว และขั้นตอนอยู่ระหว่างการเจรจานั้น การที่นายจ้างมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างกับอุทัยโดยที่อุทัยไม่มีความผิด การกระทําของนายจ้างย่อมถือว่าเป็น การกระทําที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ดังนั้น อุทัยสามารถฟ้องนายจ้างเป็นคดีต่อศาลได้

2 อุทัยจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลไปพร้อมกับการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ หรือไม่

ตามบทบัญญัติมาตรา 31 นั้น ไม่ลบล้างหรือทําให้บทบัญญัติมาตรา 121 ไม่มีผลใช้บังคับ แก่กรณีที่ต้องด้วยทั้งมาตรา 31 และมาตรา 121 กล่าวคือ ลูกจ้างมีสิทธินําคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานได้โดยตรงกรณีที่ นายจ้างฝ่าฝืนมาตรา 31 หรือลูกจ้างมีสิทธิไปยื่นคําร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืน มาตรา 121 โดยลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิดังกล่าวในทางใดทางหนึ่ง เมื่อเลือกใช้สิทธิในทางใดแล้ว ต้องถือว่า สละสิทธิทางอื่นอยู่ในตัว (คําพิพากษาฎีกาที่ 10293/2546)

ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อุทัยจะยื่นฟ้องนายจ้างเป็นคดีต่อศาลไปพร้อมกับการร้องต่อ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อดําเนินการกับนายจ้างตามมาตรา 121 (1) นั้น จึงไม่สามารถกระทําได้

สรุป

อุทัยสามารถฟ้องนายจ้างเป็นคดีต่อศาลได้ แต่จะยื่นฟ้องคดีต่อศาลไปพร้อมกับการร้อง ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ได้

LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม 1/2558

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. พ.ต.อ.นําชัย สามีนางผ่องศรีกรรมการ บริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี ได้เป็นผู้บอกเลิกจ้างนายสมบัติซึ่งเป็นช่างเคาะ เพราะนายสมบัติเจ็บป่วยไม่สามารถมาทํางานต่อไปได้ นายสมบัติจึงฟ้องศาลแรงงาน เรียกค่าชดเชย ฝ่ายบริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี ต่อสู้ว่า พ.ต.อ.นําชัย บอกเลิกจ้างไม่ได้เพราะต้อง เป็นผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พ.ต.อ.นําชัย พูดต่อว่านายสมบัติ เกี่ยวกับการทํางานได้แจ้งให้มีการปรับปรุงการทํางานได้

ให้ท่านวินิจฉัยใน 2 ประเด็น คือ การบอก เลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยให้นายสมบัติ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้ “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทํางานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึง

(1) ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทํางานแทนนายจ้าง

(2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคลให้ทําการแทนด้วย”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง…”

มาตรา 119 วรรคแรก “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และ

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ได้แก่

ประเด็นที่ 1 พ.ต.อ.นําชัย บอกเลิกจ้างนายสมบัติได้หรือไม่

เมื่อปรากฏว่า บริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี เป็นนิติบุคคล และผู้มีอํานาจบอกเลิกจ้างอันมีผล ผูกพันนิติบุคคลจะต้องเป็นผู้ที่มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล หรือเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคลให้ทําการแทน และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พ.ต.อ.นําชัยพูดต่อว่านายสมบัติเกี่ยวกับ การทํางานได้ และแจ้งให้มีการปรับปรุงการทํางานได้ แสดงว่า พ.ต.อ.นําชัยต้องได้รับอํานาจจากกรรมการของบริษัทฯ ดังนั้น พ.ต.อ.นําชัยจึงเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทํางานแทนผู้มีอํานาจกระทําการแทนนิติบุคคล และเป็น นายจ้างตามมาตรา 5 พ.ต.อ.นําชัยจึงมีสิทธิบอกเลิกจ้างนายสมบัติได้ (ฎีกาที่ 4659/2536)

ประเด็นที่ 2 บริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี ต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายสมบัติหรือไม่ จาก ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคแรก นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายสมบัติเจ็บป่วยไม่สามารถมาทํางานต่อไปได้นั้น เหตุเจ็บป่วยดังกล่าว เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกาย มิใช่การจงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย มิใช่การกระทําที่เป็นการ ฝ่าฝืนระเบียบหรือคําสั่งของนายจ้าง และมิใช่การกระทําโดยประการอื่นใดที่จะเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 119 วรรคแรก ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ เลิกจ้าง บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ นายสมบัติตามมาตรา 118

สรุป

พ.ต.อ.นําชัย บอกเลิกจ้างนายสมบัติได้

บริษัทอู่ซ่อมรถยนต์สวยดี ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสมบัติ

 

ข้อ 2. นายปทุม (นายจ้าง) ทําสัญญาจ้างนายพรเทพเป็นลูกจ้างทํางานติดต่อกันมาเป็นเวลา 4 ปี 4 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท ต่อมาลูกค้าได้ยกเลิกคําสั่งซื้อสินค้าจํานวนมากทําให้เสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลต่อการคงอยู่ของกิจการซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี นายปทุมจึงทําหนังสือ แจ้งให้นายพรเทพทราบในวันที่ 20 ตุลาคม ว่าให้หยุดงานชั่วคราวในเดือนพฤศจิกายน ปรากฏว่า ต้นเดือนธันวาคมเกิดไฟไหม้โรงงานเสียหายหมด นายปทุมไม่มีทรัพย์สินดําเนินงานต่อจึงบอกเลิก สัญญาจ้าง นายปทุมทําสัญญาตกลงกับนายพรเทพว่าจะให้ค่าชดเชย 60,000 บาท ต่อมานายปทุมก็ไม่ให้ค่าชดเชยนี้ นายพรเทพจึงฟ้องเรียกค่าชดเชยเป็นจํานวน 180 วัน และฟ้องเรียกค่าจ้างในเดือนพฤศจิกายนด้วย เช่นนี้ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 75 “ในกรณีที่นายจ้างมีความจําเป็นโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สําคัญอันมีผลกระทบต่อ การประกอบกิจการของนายจ้างจนทําให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ของค่าจ้างในวันทํางานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทํางาน

การให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่ม หยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าสามวันทําการ”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(3) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้ง โดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 การที่นายปทุมมีความจําเป็นเนื่องจากลูกค้าได้ยกเลิกคําสั่งซื้อสินค้าจํานวนมาก ทําให้เสี่ยงต่อการขาดทุนอันจะส่งผลกระทบต่อการคงอยู่ของกิจการซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งมิใช่เหตุ สุดวิสัยตามมาตรา 75 วรรคแรก จึงได้ทําหนังสือแจ้งให้นายพรเทพหยุดงานชั่วคราวในเดือนพฤศจิกายน โดย แจ้งให้นายพรเทพทราบในวันที่ 20 ตุลาคมนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่นายจ้างได้แจ้งให้ลูกจ้างได้ทราบล่วงหน้าก่อนวัน เริ่มหยุดกิจการไม่น้อยกว่า 3 วันทําการแล้วตามมาตรา 75 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม แม้นายปทุมสามารถให้นายพรเทพหยุดงานชั่วคราวในเดือนพฤศจิกายนได้ก็ตาม นายปทุมก็จะต้องจ่ายเงินให้แก่นายพรเทพไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทํางานที่ลูกจ้างได้รับ ก่อนหยุด กิจการด้วย ดังนั้น นายปทุมจึงต้องจ่ายเงินให้นายพรเทพเป็นเงินจํานวน 15,000 บาท ตามมาตรา 75 วรรคแรก

กรณีที่ 2 การที่เกิดไฟไหม้โรงงานเสียหายหมดตอนต้นเดือนธันวาคม ทําให้นายปทุมไม่มี ทรัพย์สินดําเนินงานต่อจึงได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายพรเทพนั้น เมื่อปรากฏว่านายพรเทพได้ทํางานติดต่อกันมา เป็นเวลา 4 ปี 4 เดือน แล้ว นายปทุมจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้นายพรเทพไม่น้อยกว่า 180 วัน คิดเป็นเงินจํานวน 120,000 บาท ตามมาตรา 118 (3)

ส่วนการที่นายปทุมทําสัญญาตกลงกับนายพรเทพว่าจะให้ค่าชดเชยเพียง 60,000 บาทนั้น เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อมาตรา 118 (3) จึงมีผลเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้นนายปทุมจึงต้องจ่าย ค่าชดเชยให้นายพรเทพเป็นเงินจํานวน 120,000 บาท

สรุป

นายพรเทพสามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยได้เป็นเงิน 120,000 บาท และฟ้องเรียกค่าจ้าง ในเดือนพฤศจิกายนได้เป็นเงิน 15,000 บาท

หมายเหตุ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551

 

ข้อ 3. ดนัยเป็นลูกจ้างบริษัท อินไซเดอร์ จํากัด ตําแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 16,000 บาท นายจ้างมอบหมายให้ทํางานหนักขึ้นทําให้ดนัยมีความเครียดจากการทํางาน ดนัย มีอาการเจ็บหน้าอกจึงไปพบแพทย์ ผลการตรวจของแพทย์พบว่า ดนัยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และ มีอาการเริ่มต้นของโรคหัวใจ ดนัยคิดว่าดนัยป่วยเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากความเครียด ดนัยจึงมา ปรึกษาขอคําแนะนําจากนักศึกษาว่าการป่วยเป็นโรคลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการ ทํางาน ตามนิยามมาตรา 5 มีลักษณะอย่างไร และกรณีความเครียดจากการทํางานที่ทําให้ลูกจ้างป่วย เป็นโรคนั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ อย่างไรบ้าง ให้นักศึกษาอธิบายให้ดนัยทราบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“เจ็บป่วย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตาม ลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทํางาน”

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้ทราบ”

มาตรา 15 “กรณีที่ลูกจ้างจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังการ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็นตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อดนัยมาปรึกษาขอคําแนะนําจากข้าพเจ้าในเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าว ข้าพเจ้าจะอธิบายให้ดนัยทราบ ดังนี้คือ

1 การป่วยเป็นโรคลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทํางาน มีลักษณะอย่างไรนั้น จะต้องพิจารณาจากคํานิยามของคําว่า “เจ็บป่วย” ตามมาตรา 5 ที่ว่า “เจ็บป่วย” หมายความว่า การที่ลูกจ้าง เจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานหรือเนื่องจากการทํางาน ประกอบกับ ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ออกตามความในมาตรา 14 ซึ่งได้กําหนดชนิดของโรคอันถือว่า เกิดขึ้นตามสภาพหรือลักษณะของงาน หรือโรคอันเกิดขึ้นจากการทํางานด้วย

2 กรณีความเครียดจากการทํางานที่ทําให้ลูกจ้างเจ็บป่วยเป็นโรคนั้น ปัจจุบันได้มีคําพิพากษา ฎีกาที่ 1683/2539 วินิจฉัยว่า ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทน โดยในคําพิพากษาฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยว่า ผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากความดันโลหิตสูง เป็นการถึงแก่ความตายเนื่องจากโรคที่เกิดจากการทํางานเนื่องจาก ลักษณะงานทําให้เกิดความเครียดอันเป็นเหตุก่อให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

แต่อย่างไรก็ดี ตามแนวคําพิพากษาฎีกาดังกล่าว ประกอบคําพิพากษาฎีกาที่ 2664/2537 กรณีที่จะถือว่าเป็นการเจ็บป่วยหรือตายเนื่องจากโรคที่เกิดจากการทํางานนั้น จะต้องพิเคราะห์ถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยคือ

(1) ลักษณะของงานว่าจะก่อให้เกิดโรคขึ้นหรือไม่ และ

(2) ลักษณะของการทํางานว่าเป็นงานตรากตรําใช้กําลังมากหรือไม่

(3) สภาพแวดล้อมในขณะทํางาน เช่น ร้อนจัด อับอากาศหรือไม่

 

3 กรณีความเครียดจากการทํางานที่ทําให้ลูกจ้างป่วยเป็นโรค และลูกจ้างมีสิทธิได้รับ เงินทดแทนนั้น เงินทดแทนที่ลูกจ้างจะได้รับ ได้แก่

(1) ค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 13)

(2) ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็น ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 15)

(3) ค่าทําศพของลูกจ้างในกรณีลูกจ้างเจ็บป่วยถึงแก่ความตาย (มาตรา 16)

(4) ค่าทดแทนตามมาตรา 18

 

ข้อ 4. ลูกจ้างในบริษัท คิมหันต์คอนสตรัคชั่น จํากัด รวมตัวกันแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ขั้นตอนผ่านการไกล่เกลี่ยจากพนักงาน ประนอมข้อพิพาทแรงงานแต่ไม่สําเร็จจนกระทั่งเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงแจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและนายจ้างล่วงหน้า 24 ชั่วโมงเพื่อนัดหยุดงาน ช่วงที่ลูกจ้างนัดหยุดงานอยู่นั้น ปรารภซึ่งเป็นลูกจ้างในฝ่ายตรวจสอบ และเป็นผู้นําในการจัดทําข้อเรียกร้องถูกนายจ้างเลิกจ้าง ดังนี้ ปรารภจะได้รับการคุ้มครองตาม กฎหมายแรงงานสัมพันธ์หรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 22 “เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งตามมาตรา 21 แล้ว ให้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดําเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง และฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลงกัน ภายในกําหนดห้าวันนับแต่วันที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับหนังสือแจ้ง

ถ้าได้มีการตกลงกันภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นํามาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้น เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ตามมาตรา 26 หรือนายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ก็ได้ ทั้งนี้ภายใต้บังคับ มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 หรือมาตรา 36”

มาตรา 34 “ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงานในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่ออีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 13 หรือได้แจ้งข้อเรียกร้องแล้ว แต่ข้อพิพาทแรงงานนั้นยังไม่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม

(2) เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงตามมาตรา 18 ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง

(3) เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ ไกล่เกลี่ยตามมาตรา 22 วรรคสอง ได้ปฏิบัติตามข้อตกลง

(4) เมื่อฝ่ายซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคําชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานซึ่งตั้งตาม มาตรา 25 หรือมาตรา 26 ได้ปฏิบัติตามคําชี้ขาด

(5) เมื่ออยู่ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือมีคําวินิจฉัย ของรัฐมนตรีตามมาตรา 23 หรือคําชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 24

(6) เมื่ออยู่ในระหว่างการชี้ขาดของผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานซึ่งตั้งตามมาตรา 25 หรือมาตรา 26

ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน โดยมิได้แจ้ง เป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่รับแจ้ง”

มาตรา 121 “ห้ามมิให้นายจ้าง

(1) เลิกจ้าง หรือกระทําการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพ แรงงาน หรือกรรมการสหพันธ์แรงงาน ไม่สามารถทนทํางานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้นัด ชุมนุม ทําคําร้อง ยื่นข้อเรียกร้อง เจรจา หรือดําเนินการฟ้องร้อง หรือเป็นพยาน หรือให้หลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือนายทะเบียน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ผู้ชี้ขาด ข้อพิพาทแรงงาน หรือกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือต่อศาลแรงงาน หรือเพราะเหตุที่ลูกจ้าง หรือสหภาพแรงงานกําลังจะกระทําการดังกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลูกจ้างในบริษัท คิมหันต์คอนสตรัคชั่น จํากัด รวมตัวกันแจ้งข้อ เรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ขั้นตอนผ่านการไกล่เกลี่ย จากพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานแต่ไม่สําเร็จ จนกระทั่งเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ตามมาตรา 22 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากรณีดังกล่าวไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 34 (1) ถึง (6) อีกทั้ง ฝ่ายลูกจ้างก็ได้ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา 34 วรรคสอง โดยลูกจ้างได้แจ้งต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และนายจ้างให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพื่อนัดหยุดงานแล้ว ลูกจ้างจึงมีสิทธิดําเนินการ นัดหยุดงานได้ตามมาตรา 22 วรรคสาม

และตามมาตรา 121 (1) ได้บัญญัติห้ามมิให้นายจ้าง เลิกจ้าง หรือกระทําการใด ๆ อันอาจ เป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทํางานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างได้นัดชุมนุม ทําคําร้องหรือยื่นข้อเรียกร้อง ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ นายจ้างจะเลิกจ้างปรารภซึ่งเป็นลูกจ้างและเป็นผู้นําในการจัดทําข้อเรียกร้องไม่ได้ เพราะ ปรารภย่อมได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์มาตรา 121 (1)

สรุป

ปรารภจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม S/2557

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายจ้างทําสัญญาจ้างนายสมชายและนางสาวสมหญิงเป็นลูกจ้างทดลองงานมีกําหนดเวลา 6 เดือนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ในสัญญามีข้อตกลงกันว่าให้จ่ายสินจ้างเดือนละ 15,360 บาท (เฉลี่ยชั่วโมงละ 64 บาท) และให้นายสมชายได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางานชั่วโมงละ 70 บาท และ นางสาวสมหญิงได้ชั่วโมงละ 65 บาท นายจ้างได้มีคําสั่งให้ทั้งสองทํางานล่วงเวลาในวันทํางาน 20 ชั่วโมง และทํางานครบกําหนดเวลาในวันที่ 31 กรกฎาคมพอดี เช่นนี้ทั้งสองคนจะมีสิทธิอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 วรรคสอง “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจ บอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่าย ค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่ จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน”

มาตรา 53 “ในกรณีที่งานมีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่ากันให้ นายจ้างกําหนดค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทํางานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเท่าเทียมกัน ไม่ว่า ลูกจ้างนั้นจะเป็นชายหรือหญิง”

มาตรา 61 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันทํางานให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา ให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือ ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้าม ชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้น เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

โดยหลักของการทําสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างกับลูกจ้างจะทําข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ข้อตกลงนั้นจะมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ข้อตกลงนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 150) อย่างไรก็ตาม หากข้อตกลงนั้นเป็นคุณแก่ลูกจ้าง แม้ว่าจะขัดต่อกฎหมาย ก็ถือว่าข้อตกลงนั้นใช้ได้ ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างทําสัญญาจ้างนายสมชายและนางสาวสมหญิงเป็นลูกจ้าง โดยให้สินจ้างเดือนละ 15,360 บาท (เฉลี่ยชั่วโมงละ 64 บาท) โดยในสัญญามีข้อตกลงกันว่าให้นายสมชายได้รับ ค่าล่วงเวลาในวันทํางานชั่วโมงละ 70 บาท และนางสาวสมหญิงได้ชั่วโมงละ 65 บาทนั้น ย่อมขัดต่อมาตรา 61 จึงมีผลเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงต้องคิดตามมาตรา 61 กล่าวคือ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าล่วงเวลาใน วันทํางานให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา ดังนั้นนายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างเป็นเงิน 96 บาทต่อชั่วโมง เมื่อทั้งสองคนได้ทํางานล่วงเวลาในวันทํางาน 20 ชั่วโมง จึงต้องได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางานเป็นเงิน 1,920 บาท และทั้งนายสมชายและนางสาวสมหญิง จะต้องได้รับเท่ากันด้วย นายจ้างจะกําหนดให้ค่าล่วงเวลาแตกต่างกันระหว่างชายกับหญิงไม่ได้ตามมาตรา 53

และเมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทดลองงานตามมาตรา 17 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็น สัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา ดังนั้นเมื่อนายจ้างจะเลิกจ้างจึงต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบ เมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างกัน เมื่อถึงกําหนด จ่ายค่าจ้างคราวถัดไป

และเมื่อนายสมชายและนางสาวสมหญิงได้ทํางานมาแล้ว 6 เดือน ซึ่งเกิน 120 วัน ถ้านายจ้าง เลิกจ้าง ทั้งสองย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (1) คือจะได้รับค่าชดเชยในอัตราไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงินคนละ 15,360 บาท

สรุป

นายสมชายและนางสาวสมหญิง มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางานคนละ 1,920 บาท และถ้านายจ้างจะเลิกจ้างก็ต้องบอกกล่าวก่อนล่วงหน้า โดยทั้งสองมีสิทธิได้รับค่าชดเชยอีกคนละ 15,360 บาท

 

ข้อ 2. นายสมัยเป็นลูกจ้างช่างเครื่องยนต์ในโรงงานแห่งหนึ่งทํางานมาแล้ว 7 ปี 7 เดือน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท ต่อมานายจ้างได้ติดตั้งเครื่องจักรเพื่อทํางานแทนลูกจ้างจึงได้บอกกล่าวแก่นายสมัย ให้ทราบว่าจะเลิกจ้างในวันที่ 30 เมษายน และได้บอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยจ่ายค่าชดเชยให้ 100,000 บาท เช่นนี้นายสมัยจะต่อสู้ว่าไม่ถูกต้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้

(4) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 121 “ในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจําหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนําเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร หรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจํานวนลูกจ้าง ห้ามมิให้นํามาตรา 17 วรรคสอง มาใช้บังคับ และให้นายจ้าง แจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้าง ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้าง

ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าที่กําหนด ตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าว ล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน หรือเท่ากับค่าจ้างของการทํางานหกสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วยด้วย

ในกรณีที่มีการจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่า นายจ้างได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย”

มาตรา 122 “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามมาตรา 121 และลูกจ้างนั้นทํางานติดต่อกัน เกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้นจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย สิบห้าวันต่อการทํางานครบหนึ่งปี หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสิบห้าวันสุดท้ายต่อการทํางานครบหนึ่งปี สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย แต่ค่าชดเชยตามมาตรานี้รวมแล้วต้องไม่เกินค่าจ้าง อัตราสุดท้ายสามร้อยหกสิบวัน หรือไม่เกินค่าจ้างของการทํางานสามร้อยหกสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

เพื่อประโยชน์ในการคํานวณค่าชดเชยพิเศษกรณีระยะเวลาทํางานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของ ระยะเวลาทํางานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทํางานครบหนึ่งปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างจะเลิกจ้างนายสมัยลูกจ้างนั้น ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างด้วย และในกรณีที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยนําเครื่องจักรมาใช้นั้น ให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้างให้ลูกจ้าง ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่จะเลิกจ้าง (มาตรา 121 วรรคแรก) ถ้านายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้าง ทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้าง จ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน (มาตรา 121 วรรคสอง)

และในกรณีที่ลูกจ้างได้ทํางานติดต่อกันเกินหกปีขึ้นไป ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษเพิ่มขึ้น จากค่าชดเชยตามมาตรา 118 ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทํางานครบหนึ่งปี (มาตรา 122 วรรคแรก) และในกรณีที่ระยะเวลาทํางานไม่ครบหนึ่งปี ถ้าเศษของระยะเวลาทํางานมากกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ให้นับเป็นการทํางานครบหนึ่งปี (มาตรา 122 วรรคสอง)

ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ เมื่อนายสมัยลูกจ้างได้ทํางานมาแล้ว 7 ปี 7 เดือน โดยได้รับ ค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท เมื่อนายจ้างได้บอกกล่าวแก่นายสมัยว่าจะเลิกจ้างในวันที่ 30 เมษายน และให้มีผล เป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่า 60 วัน โดยจ่ายค่าชดเชยให้ นายสมัย 100,000 บาทนั้น นายสมัยสามารถต่อสู้ได้ว่าไม่ถูกต้อง ทั้งนี้เพราะนายสมัยมีสิทธิได้รับค่าชดเซยดังนี้ คือ

1 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 121 เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวันเป็นเงิน 44,000 บาท

2 ค่าชดเชยในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างตามมาตรา 118 (4) เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน (8 เดือน) เป็นเงิน 176,000 บาท

3 ค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 122 เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสิบห้าวันต่อการทํางาน ครบหนึ่งปี (ทํางานปีที่ 7 = 15 วัน และปีที่ 8 ทํางานมากกว่า 180 วัน ซึ่งคิดได้อีก 15 วัน) เป็นเงิน 22,000 บาท

ซึ่งรวมทั้งหมดนายสมัยจะต้องได้รับค่าชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 242,000 บาท

สรุป

การที่นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้ 100,000 บาท นายสมัยสามารถต่อสู้ว่าไม่ถูกต้องได้ เพราะนายสมัยควรจะได้รับค่าชดเชยทั้งหมดเป็นเงิน 242,000 บาท ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. นายอุทัยและนายพิจิตรเป็นลูกจ้างทําหน้าที่พนักงานขับรถยนต์ได้รับสินจ้างเดือนละ 12,000 บาทนายจ้างมีคําสั่งให้นายอุทัยขับรถไปส่งสินค้าที่จังหวัดแพร่ นายพิจิตรได้นั่งรถไปด้วยเพราะจะกลับบ้านที่จังหวัดแพร่ ในระหว่างทางมีรถบรรทุกวิ่งมาชนทําให้รถคว่ำ นายอุทัยบาดเจ็บสาหัสต้อง รักษาตัวถึง 4 เดือน แต่ก็เสียชีวิตในที่สุด นายพิจิตรแขนซ้ายขาดต้องรักษาตัวถึง 6 เดือน เช่นนี้ ทั้งสองคนจะมีสิทธิอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง”

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการ รักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ํารายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทํางานติดต่อกันได้ เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทํางานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทํางานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายอุทัยและนายพิจิตรจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนอย่างไรบ้าง หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายอุทัย

การที่นายอุทัยซึ่งเป็นลูกจ้างทําหน้าที่พนักงานขับรถยนต์ ได้รับคําสั่งจากนายจ้างให้ขับรถไปส่ง สินค้าที่จังหวัดแพร่ ในระหว่างทางมีรถบรรทุกวิ่งมาชนทําให้รถคว่ําและนายอุทัยบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวถึง 4 เดือน แต่ก็เสียชีวิตในที่สุดนั้น ถือว่านายอุทัยประสบอันตรายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 ดังนั้น นายอุทัยจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่นายอุทัย ดังนี้

1 ค่ารักษาพยาบาล ตามาตรา 13 โดยนายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง ตามความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง คือรวมกันแล้วไม่เกิน 150,000 บาท ซึ่งในกรณีนี้ ถือว่านายอุทัยประสบอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง จึงได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น 50,000 บาท และใน กรณีบาดเจ็บอย่างรุนแรงอีกไม่เกิน 100,000 บาท (ตามกฎกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลฯ พ.ศ. 2558 ข้อ 2. และข้อ 3.)

2 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้ ตามมาตรา 18 (1) เมื่อนายอุทัยไม่สามารถ ทํางานได้ 4 เดือน ซึ่งถือว่าติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่นายอุทัยไม่สามารถทํางานได้ เมื่อนายอุทัยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 บาท จึงเท่ากับ 7,200 บาท (ซึ่งไม่เกินค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานฯ ประกาศกําหนด คือ 12,000 บาท) ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่นายอุทัยเดือนละ 7,200 บาท เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 28,800 บาท (7,200 บาท x 4 เดือน)

3 ค่าทําศพ เมื่อนายอุทัยเสียชีวิต นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทําศพให้แก่ผู้จัดการศพเป็น จํานวน 100 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด (300 บาท) ตามมาตรา 16 เป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 30,000 บาท

กรณีของนายพิจิตร

แม้นายพิจิตรจะเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกับนายอุทัยและเมื่อเกิดรถคว่ำนายพิจิตรได้รับบาดเจ็บ แขนซ้ายขาดต้องรักษาตัวถึง 6 เดือนก็ตาม แต่นายพิจิตรได้นั่งรถไปกับนายอุทัยเพื่อจะกลับบ้านเท่านั้น มิใช่ กรณีที่นายจ้างสั่งให้ไป จึงไม่ถือว่านายพิจิตรประสบอันตรายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 ดังนั้น นายพิจิตรจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากนายจ้าง

สรุป

นายอุทัยมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากนายจ้าง ดังนี้

1 ค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 150,000 บาท

2 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้เป็นเงิน 28,800 บาท

3 ค่าทําศพ เป็นเงิน 30,000 บาท ส่วนนายพิจิตรไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนใด ๆ จากนายจ้าง

หมายเหตุ : กฎกระทรวง กําหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2558

(ออกโดยอาศัยอํานาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 13 วรรคหนึ่ง

แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537)

ข้อ 1 ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกําหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ. 2551

ข้อ 2 เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่ จ่ายจริงตามความจําเป็น แต่ไม่เกิน 50,000 บาท

ข้อ 3 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษา พยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 100,000 บาท สําหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ของลูกจ้างในลักษณะดังต่อไปนี้

ข้อ 4 ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่า รักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 และข้อ 3 แล้ว ต้องไม่เกิน 300,000 บาท

 

ข้อ 4. บริษัทแห่งหนึ่งมีลูกจ้าง 100 คน มีลูกจ้าง 49 คน ได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้แก่ฝ่ายนายจ้างเพื่อขอให้มีการแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง 4 ข้อ ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจากัน 3 ครั้งแล้ว (มีการเจรจาครั้งที่ 3 ในวันพุธที่ 27 พฤษภาคม) แต่ก็ไม่อาจตกลงกันได้ เช่นนี้ จะมีวิธีระงับข้อพิพาทแรงงานอย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 13 วรรคแรก และวรรคสาม “การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้าง หรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็น หนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ

ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ข้อเรียกร้องนั้นต้องมีรายชื่อและลายมือชื่อของลูกจ้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของลูกจ้างทั้งหมดซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องนั้น…”

มาตรา 21 “ในกรณีที่ไม่มีการเจรจากันภายในกําหนดตามมาตรา 16 หรือมีการเจรจากันแล้ว แต่ตกลงกันไม่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ถือว่าได้มีข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น และให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้องแจ้งเป็น หนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่พ้นกําหนดตามมาตรา 16 หรือนับแต่เวลาที่ตกลงกันไม่ได้ แล้วแต่กรณี”

มาตรา 22 “เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับแจ้งตามมาตรา 21 แล้ว ให้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานดําเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อให้ฝ่ายแจ้งข้อเรียกร้อง และฝ่ายรับข้อเรียกร้องตกลง กันภายในกําหนดห้าวันนับแต่วันที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้รับหนังสือแจ้ง

ถ้าได้มีการตกลงกันภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้นํามาตรา 18 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าข้อพิพาทแรงงานนั้น เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ตามมาตรา 26 หรือนายจ้างจะปิดงาน หรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ก็ได้ ทั้งนี้ภายใต้บังคับ มาตรา 23 มาตรา 24 มาตรา 25 หรือมาตรา 36”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัทมีลูกจ้าง 100 คน และมีลูกจ้าง 49 คน ซึ่งมีจํานวนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 15 ของลูกจ้างทั้งหมดได้ยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้แก่ฝ่ายนายจ้างเพื่อขอให้มีการแก้ไขข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้าง 4 ข้อนั้น ถือว่าได้กระทําถูกต้องตามมาตรา 13 วรรคแรก ประกอบวรรคสาม

ในกรณีที่ได้มีการเจรจากันแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไม่อาจตกลงกันได้ตามมาตรา 21 ให้ถือว่าได้มี ข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ดังนั้นฝ่ายลูกจ้างจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ “พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน” ทราบภายใน 24 ชั่วโมง คือต้องยืนภายในวันที่ 28 พฤษภาคม และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานต้อง ดําเนินการไกล่เกลี่ยให้ตกลงกันภายในกําหนด 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ซึ่งถ้าตกลงกันได้ก็ให้ไปดําเนินการ ตามมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 แต่ถ้าไม่อาจตกลงกันได้ ให้ถือว่าเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 26 หรือนายจ้างจะทําการปิดงานหรือลูกจ้างจะนัดหยุดงานโดยไม่ขัดต่อมาตรา 34 ก็ได้ (มาตรา 22)

สรุป

เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงานเพราะตกลงกันไม่ได้ วิธีระงับข้อพิพาทแรงงานจึงต้องปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 21 และมาตรา 22 ดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม 2/2557

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. บริษัท อุดมทรัพย์เพิ่มพูน จํากัด มีการให้ลูกจ้าง 3 คน ออกจากกงานเพราะเหตุดังนี้

1 นายเก่งยื่นใบลาออกจากบริษัท อุดมทรัพย์เพิ่มพูน เพื่อไปทํางานที่อื่น

2 นายเอกเป็นโรคมะเร็งเจ็บป่วยทํางานไม่ค่อยจะได้ผลงาน

3 นายเจริญเคยถูกพิพากษาจําคุกจากคดีฉ้อโกง บริษัทไม่ทราบเพราะนายเจริญไม่บอกตอนสมัครจึงให้เลิกจ้าง

ให้ท่านวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างดังกล่าว บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง”

มาตรา 119 วรรคแรก “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคันหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคแรก นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท อุดมทรัพย์เพิ่มพูน จํากัด มีการให้ลูกจ้าง 3 คนออกจากงาน บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้ คือ

1 การที่นายเก่งยื่นใบลาออกจากบริษัทฯ เพื่อไปทํางานที่อื่น และบริษัทฯ ให้นายเก่ง ออกจากงานนั้น บริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเก่ง เพราะเป็นกรณีที่นายเก่งได้ลาออกจากงานเอง มิใช่เป็นกรณีที่บริษัทฯ เลิกจ้าง (ตามมาตรา 118)

2 การที่นายเอกเป็นโรคมะเร็งเจ็บป่วยทํางานไม่ค่อยจะได้ผลงานและบริษัทฯ ได้ให้นายเอก ออกจากงานนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่บริษัทฯ เลิกจ้าง และเมื่อไม่ปรากฏว่านายเอกได้กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมาตรา 119 อันเป็นเหตุให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง ดังนั้น กรณีนี้บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่นายเอกตามมาตรา 118

3 การที่นายเจริญเคยถูกพิพากษาจําคุกจากคดีฉ้อโกง แต่นายเจริญไม่บอกให้บริษัทฯ ทราบ ตอนสมัครงานนั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 119 (6) เพราะมิใช่คําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุกในขณะ เป็นลูกจ้าง แต่เป็นกรณีที่นายเจริญพ้นโทษแล้วจึงมาสมัครเป็นลูกจ้าง ดังนั้นเมื่อบริษัทฯ ให้นายเจริญออกจากงาน จึงถือว่าเป็นการเลิกจ้าง บริษัทฯ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเจริญตามมาตรา 118

สรุป

1 บริษัทฯ ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเก่ง

2 บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเอก

3 บริษัทฯ ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเจริญ

 

ข้อ 2. บริษัท อาหารไทย จํากัด ได้ประกาศรับสมัครลูกจ้างโดยกําหนดให้กรอกข้อมูลด้วยว่าเคยทํางานมาก่อนหรือไม่ และเคยกระทําความผิดต้องโทษตามกฎหมายหรือไม่ นายสหัสและนายสมชาติ ได้มาสมัครงานและกรอกข้อมูลครบถ้วนว่าไม่เคยทํางานที่อื่นมาก่อน และไม่เคยกระทําความผิด ต้องโทษใด ๆ มาก่อน นายจ้างจึงได้ทําสัญญาจ้างมีกําหนดเวลา 1 ปี โดยจ่ายสินจ้างให้เดือนละ 15,000 บาท ทุก ๆ วันสิ้นเดือน แต่ต่อมาเมื่อทํางานได้ 5 เดือน นายจ้างทราบว่านายสหัสเคยต้องโทษ คดีลักทรัพย์มาก่อนที่จะยื่นใบสมัคร นายจ้างจึงเลิกจ้างนายสหัสทันทีในวันที่ 31 พฤษภาคม โดย ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ส่วนนายสมชาติเมื่อทํางานครบสัญญานายจ้างก็ไม่จ้างต่อ เช่นนี้ ทั้งสองคน จะเรียกร้องค่าชดเชยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 วรรคแรก “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

(2) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานเก้าสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 119 วรรคแรก “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น หากนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่ลูกจ้างด้วย (มาตรา 118) เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคแรก นายจ้างจึงมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีนายสหัส การที่นายสหัสเคยต้องโทษคดีลักทรัพย์มาก่อนที่จะยื่นใบสมัคร แต่ไม่ได้กรอก ข้อมูลตามความเป็นจริงนั้น เมื่อนายจ้างมาทราบในภายหลังจึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีของ นายสหัสนั้นเป็นการกระทําความผิดก่อนมาสมัครงาน จึงมิใช่กรณีที่ลูกจ้างได้กระทําความผิดในขณะเป็นลูกจ้าง ตามมาตรา 119 (6) เมื่อนายสหัสทํางานได้ 5 เดือน และนายจ้างได้เลิกจ้าง นายสหัสจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ตามมาตรา 118 (1) คือได้รับค่าชดเซยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงินจํานวน 15,000 บาท

กรณีของนายสมชาติ การที่นายจ้างได้ทําสัญญาจ้างนายสมชาติมีกําหนด 1 ปี เมื่อนายสมชาติ ได้ทํางานครบ 1 ปีแล้ว และนายจ้างไม่ได้จ้างต่อ จึงเป็นกรณีที่สัญญาจ้างมีกําหนดเวลาได้สิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนด ระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยนายจ้างไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคแรก และเมื่อปรากฏว่า นายสมชาติได้ทํางานครบ 1 ปี นายสมชาติจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (2) คือ มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ไม่น้อยกว่าอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นจํานวนเงิน 45,000 บาท

สรุป

ทั้งสองคนสามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ โดยนายสหัสเรียกได้ 15,000 บาท ส่วน นายสมชาติเรียกได้ 45,000 บาท

 

ข้อ 3. แกงไก่เป็นลูกจ้างของบริษัท ประพันธ์สหกิจ จํากัด ซึ่งประกอบกิจการด้านเครื่องกรองน้ำ แกงไก่ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 12,000 บาท มีตําแหน่งพนักงานขาย มีหน้าที่ออกเดินทางไปเสนอขายเครื่องกรองน้ำนอกสถานที่ทํางานทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ตามจุดขายที่หัวหน้างาน กําหนดในแต่ละวัน ขณะที่แกงไก่เดินทางด้วยเรือโดยสารไปขายเครื่องกรองน้ำที่จังหวัดพังงา เรือโดยสารลําดังกล่าวประสบเหตุล่มกลางทะเล แกงไก่หายไปหลังจากเกิดเหตุ โดยหน่วยกู้ภัย พยายามค้นหาแต่ไม่พบ แกงไก่มีทายาท ได้แก่ นางสดมารดา นางหน่อยภริยา ด.ช.นัถบุตรชาย อายุ 14 ปี น.ส.นิ่มนงค์บุตรสาวอายุ 18 ปี ทํางานร้านสะดวกซื้อ น.ส.สดใส บุตรสาวอายุ 20 ปี เรียนระดับปริญญาตรีปี 3 ดังนี้ ทายาทแกงไก่จะมีสิทธิในเงินทดแทนอย่างไรบ้าง และหากต่อมา นางสดมารดาเสียชีวิต นางหน่อยไปเป็นภริยาของนายเขียว น.ส.สุดใจเรียนจบ สิทธิในเงินทดแทน ของทายาทจะเป็นอย่างไร ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“สูญหาย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างทํางานหรือปฏิบัติตามคําสั่งของ นายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างทํางาน หรือ ปฏิบัติตามคําสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ เพื่อไปทํางานให้นายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ ความตาย ทั้งนี้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกําหนดแปดปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และ ไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

มาตรา 20 วรรคแรก “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1) บิดามารดา

(2) สามีหรือภริยา

(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่”

มาตรา 21 “ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน

ในกรณีที่สิทธิได้รับเงินทดแทนสิ้นสุดลงเพราะผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตาย หรือสามีหรือภริยาสมรสใหม่หรือมิได้สมรสใหม่แต่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าอยู่กินฉันสามีหรือภริยากับหญิงหรือ ชายอื่น หรือบุตรไม่มีลักษณะตามมาตรา 20 (3) หรือ (4) อีกต่อไป ให้นําส่วนแบ่งของผู้หมดสิทธิเพราะเหตุหนึ่งเหตุใด ดังกล่าวไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แกงไก่เป็นลูกจ้างของบริษัท ประพันธ์สหกิจ จํากัด ซึ่งประกอบกิจการ ด้านเครื่องกรองน้ำและมีตําแหน่งเป็นพนักงานขาย มีหน้าที่ออกเดินทางไปเสนอขายเครื่องกรองน้ำนอกสถานที่ ทํางานทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดตามจุดขายที่หัวหน้างานกําหนดในแต่ละวันนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะที่แกงไก่เดินทางด้วยเรือโดยสารไปขายเครื่องกรองน้ำที่จังหวัดพังงา เรือโดยสารลําดังกล่าวประสบเหตุล่ม กลางทะเล และแกงไก่ได้หายไปหลังจากเกิดเหตุ โดยหน่วยกู้ภัยพยายามค้นหาแต่ไม่พบนั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าแกงไก่ ลูกจ้างได้หายไปในระหว่างเดินทางโดยพาหนะทางน้ำเพื่อไปทํางานให้นายจ้าง เพราะพาหนะที่เดินทางประสบเหตุ อันตรายและมีเหตุอันควรเชื่อว่าแกงไก่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน มาตรา 5 จะให้ถือว่า เป็นการสูญหาย และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ ก็ต่อเมื่อเวลาที่ลูกจ้างได้หายไปนั้นได้ผ่านไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 120 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น

และเมื่อแกงไก่ลูกจ้างได้สูญหายไปจนครบ 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุย่อมถือว่าแกงไก่ลูกจ้าง ถึงแก่ความตาย นายจ้างต้องจ่ายค่าทําศพให้แก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างตามมาตรา 16 และจ่ายค่าทดแทนเป็น รายเดือนให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน มีกําหนด 8 ปี ตามมาตรา 18 (4) เมื่อแกงไก่ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 จึงเท่ากับ 7,200 บาท

สําหรับทายาทของแกงไก่ที่จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างตามมาตรา 20 วรรคแรก ได้แก่ นางสดมารดา นางหน่อยภริยา ด.ช.นัถบุตรชายอายุ 14 ปี และ น.ส.สุดใจบุตรสาวอายุ 20 ปี เรียนระดับ ปริญญาตรีปี 3 รวมทั้งหมด 4 คน โดยจะได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากันคือคนละ 1,800 บาท ตามมาตรา 21 วรรคแรก ส่วน น.ส.นิมนงค์บุตรสาวอายุครบ 18 ปี แต่ไม่ได้ศึกษาอยู่จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

และหากต่อมานางสดมารดาเสียชีวิต นางหน่อยไปเป็นภริยาของนายเขียว และ น.ส.สุดใจ เรียนจบ สิทธิในการได้รับเงินทดแทนของทายาทย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามมาตรา 21 วรรคสอง กล่าวคือ สิทธิที่จะ ได้รับเงินทดแทนย่อมสิ้นสุดลง จึงเหลือทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเพียงคนเดียวคือ ด.ช.นัถ ดังนั้น ด.ช.นัก จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนทั้งหมด คือ 7,200 บาท เพียงคนเดียว

สรุป

ทายาทของแกงไก่ คือ นางสดมารดา นางหน่อยภริยา ด.ช.นัถ และน.ส.สุดใจ จะได้รับ เงินทดแทนคนละ 1,800 บาท หากต่อมา นางสดมารดาเสียชีวิต นางหน่อยไปเป็นภริยาของนายเขียว และน.ส.สุดใจ เรียนจบจะเหลือทายาทที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเพียงคนเดียว คือ ด.ช.นัถ โดย ด.ช.นักจะได้รับเงินทดแทน ทั้งหมดจํานวน 7,200 บาท เพียงคนเดียว

 

ข้อ 4. ลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด ประกอบกิจการผลิตและจําหน่ายน้ํามันปาล์ม ได้ทําการแจ้งข้อเรียกร้องกับนายจ้างเพื่อขอปรับสวัสดิการ โดยให้สหภาพแรงงานกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันปาล์มทําการ แจ้งข้อเรียกร้องให้ในการเจรจาสามารถตกลงกันได้ และมีการจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง วิจิตรซึ่งเป็นลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง อยากทราบว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะมีผล ผูกพันกับลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด อย่างไรบ้าง ให้นักศึกษาอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 19 “ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันนายจ้าง และลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อ ในข้อเรียกร้อง ตลอดจนลูกจ้างซึ่งมีส่วนในการเลือกตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาทุกคน

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กระทําโดยนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงาน หรือ ลูกจ้างซึ่งทํางานในกิจการประเภทเดียวกัน โดยมีลูกจ้างซึ่งทํางานในกิจการประเภทเดียวกันเป็นสมาชิก หรือร่วม ในการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกินกว่าสองในสามของลูกจ้างทั้งหมด ให้ถือว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น มีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างซึ่งทํางานในกิจการประเภทเดียวกันนั้นทุกคน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด ประกอบกิจการผลิตและจําหน่ายน้ำมันปาล์ม ได้ทําการแจ้งข้อเรียกร้องกับนายจ้างเพื่อขอปรับสวัสดิการ โดยให้สหภาพแรงงานกลุ่มผู้ผลิต น้ำมันปาล์มทําการแจ้งข้อเรียกร้องให้ ซึ่งในการเจรจาสามารถตกลงกันได้ และมีการจัดทําข้อตกลงเกี่ยวกับ สภาพการจ้างไว้นั้น เมื่อเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่กระทําโดยนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ย่อมมีผลผูกพัน กับลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด เฉพาะลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง (ลูกจ้างซึ่งลงลายมือชื่อ) ในข้อเรียกร้องนั้น ส่วนลูกจ้างที่ไม่ได้เข้าร่วมเรียกร้องตั้งแต่ต้นจะไม่ได้รับสิทธิตามข้อตกลงใหม่แต่อย่างใด (มาตรา 19 วรรคแรก)

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าสถานประกอบการคือบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด นั้น มีลูกจ้างซึ่งทํางาน อยู่เป็นสมาชิก หรือร่วมในการเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกินกว่า 2 ใน 3 ของลูกจ้างทั้งหมด ให้ถือว่าข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นมีผลผูกพันลูกจ้างทุกคน (มาตรา 19 วรรคสอง)

สรุป

ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจะมีผลผูกพันกับลูกจ้างของบริษัท ต้นปาล์มออยล์ จํากัด อย่างไรนั้น เป็นไปตามที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม 1/2557

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายอุดมฤทธิ์และนายนราทิพย์ทํางานบริษัท ไทยแลนด์ จํากัด ซึ่งผลิตงานจักสานส่งออกไปยังต่างประเทศ นายอุดมฤทธิ์และนายนราทิพย์ทราบจากเพื่อนที่ทํางานบริษัทเดียวกันว่า ทางบริษัท ประสบปัญหาขาดทุนและคงไม่สามารถเปิดบริษัทได้ต่อไป มีโครงการจะปิดบริษัทเลิกจ้างพนักงาน ระหว่างที่นายอุดมฤทธิ์และนายนราทิพย์นั่งคุยกันด้วยความทุกข์ใจ เห็นนายเก่งกล้าซึ่งเป็น นักศึกษานิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคําแหง ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านผ่านมาพอดีจึงขอปรึกษาหารือว่าถ้า บริษัทฯ เลิกจ้างจะเป็นอย่างไร โดยนายอุดมฤทธิ์ทํางานกับบริษัทฯ ดังกล่าวเป็นเวลา 15 ปีส่วน นายนราทิพย์ทํางานมาเป็นเวลา 8 ปี นายเก่งกล้าจะให้คําแนะนํากับบุคคลทั้งสองในกรณีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยและการที่ไม่ได้รับค่าชดเชยจากบริษัท ไทยแลนด์ จํากัด อย่างไร

ธงคําตอบ

นายเก่งกล้าจะต้องให้คําแนะนํากับบุคคลทั้งสอง ในกรณีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยและ การไม่ได้รับค่าชดเชยจากบริษัทไทยแลนด์ จํากัด ดังนี้ คือ

ค่าชดเชย เป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เมื่อนายจ้าง เป็นฝ่ายเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่ได้กระทําความผิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือเหตุอื่นใด และ หมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถที่จะดําเนินกิจการ ต่อไป ถ้านายจ้างมิได้เลิกจ้าง แต่ลูกจ้างลาออกไปเอง ทิ้งงานไป หรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย กรณีเช่นนี้ นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

หลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชย ไว้ดังนี้ คือ “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(1) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

(2) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานเก้าสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงาน โดยคํานวณเป็นหน่วย

(3) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

(4) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหกปี แต่ไม่ครบสิบปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับ ค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย

(5) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามร้อยวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

กรณียกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ได้บัญญัติข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่าย ค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างไว้ว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันข้างานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคันหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายอุดมฤทธิ์ทํางานกับบริษัท ไทยแลนด์ จํากัด มาเป็นเวลา 15 ปี ถ้าบริษัทฯ เลิกจ้างบริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายอุดมฤทธิ์ลูกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 300 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดย คํานวณเป็นหน่วยตามาตรา 118 (5)

ส่วนนายนราทิพย์ เมื่อปรากฏว่านายนราทิพย์ทํางานกับบริษัท ไทยแลนด์ จํากัด มาเป็นเวลา 8 ปี ถ้าบริษัทฯ เลิกจ้าง บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายนราทิพย์ลูกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางาน 240 วันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดย คํานวณเป็นหน่วยตามมาตรา 118 (4)

 

ข้อ 2. นายจ้างทําสัญญาจ้างนายชาตรีและนายสมคิดเป็นลูกจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา ได้ตกลงจ่ายค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท โดยเขียนข้อตกลงกันไว้ว่า “ถ้าทําการประเมินการทํางานไม่ผ่าน จะบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง 15 วันหรือจะเลิกจ้างทันทีโดยชําระเงินให้ 15 วันเท่านั้น” และ “ให้จ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างสองเท่าของค่าจ้างถ้าทํางานครบหนึ่งปี และให้สามเท่าของ ค่าจ้างถ้าทํางานครบสองปี” ปรากฏว่าเมื่อนายชาตรีทํางานครบหนึ่งปีในวันที่ 31 มีนาคม นายจ้างทําการประเมินการทํางานไม่ผ่านจึงบอกเลิกสัญญาทันทีโดยจ่ายค่าจ้างของเดือนมีนาคม ให้และอีก 7,500 บาทตามที่ได้ทําข้อตกลงกันไว้ และต่อมาเมื่อนายสมคิดทํางานครบสองปี นายจ้างมีปัญหาทางการเงินของบริษัทจึงจําเป็นต้องบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้าง ทันทีในวันที่ 30 กันยายน และจ่ายค่าจ้างของเดือนกันยายนให้และอีก 7,500 บาท และ ค่าชดเชย 45,000 บาท ตามข้อตกลงที่ทําไว้เช่นนี้จากข้อเท็จจริงดังกล่าวท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 “สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดระยะเวลาในสัญญาจ้าง โดยมิต้อง บอกกล่าวล่วงหน้า

ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดย บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกิน สามเดือน

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจํานวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา 119 แห่ง พระราชบัญญัตินี้ และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(2) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งปี แต่ไม่ครบสามปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง อัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานเก้าสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตาม ผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการ ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่นายจ้างทําสัญญากับนายชาตรีกับนายสมคิด ลูกจ้างว่า “ถ้าทําการประเมินการทํางานไม่ผ่าน จะบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง 15 วัน หรือจะเลิกจ้างทันที โดยชําระเงินให้ 15 วันเท่านั้น” และ “ให้จ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างสองเท่าของค่าจ้างถ้าทํางานครบหนึ่งปี และให้สามเท่าของค่าจ้างถ้าทํางานครบสองปี” นั้น เป็นการทําข้อตกลงที่ขัดกับมาตรา 17 และมาตรา 118 ซึ่ง ถือว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น นายจ้างจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้

กรณีนายชาตรี เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา หากนายจ้าง ต้องการเลิกจ้าง จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดการจ่ายค่าจ้าง ในคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปตามมาตรา 17 วรรคสอง การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีในวันที่ 31 มีนาคม โดยจ่ายค่าจ้างของเดือนมีนาคมให้และอีก 7,500 บาท ตามที่ได้ทําข้อตกลงกันไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 31 มีนาคม นั้น ย่อมถือเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า และผลแห่งการเลิกสัญญาจะเป็นผล เมื่อถึงกําหนดการจ่ายค่าจ้างในคราวถัดไป คือวันที่ 30 เมษายน จึงจะชอบด้วยกฎหมาย หรือนายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้นายชาตรีตามจํานวนที่ต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าว คือ เดือนมีนาคม และเมษายน รวมเป็นเงิน 30,000 บาทและให้ นายชาตรีออกจากงานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสาม

ส่วนของค่าชดเชย เมื่อปรากฏว่า นายชาตรีทํางานมาครบ 1 ปี แล้ว การที่นายจ้างเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายชาตรีลูกจ้างไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 45,000 บาท ตามาตรา 118 (2)

กรณีนายสมคิด เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา การที่ นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างทันทีในวันที่ 30 กันยายน และจ่ายค่าจ้างของเดือนกันยายนให้และอีก 7,500 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างย่อมต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม เช่นกัน กล่าวคือ การที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 30 กันยายน ย่อมถือเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้า และผลแห่ง การบอกเลิกสัญญาจะเป็นผล เมื่อถึงกําหนดการจ่ายค่าล้างคราวถัดไป คือ วันที่ 31 ตุลาคม จึงจะชอบด้วยกฎหมาย หรือนายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้นายสมคิดตามจํานวนที่ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าว คือ เดือนกันยายน และตุลาคม รวมเป็นเงิน 30,000 บาท และให้นายสมคิดออกจากงานทันทีก็ได้

ส่วนของค่าชดเชย เมื่อปรากฏว่านายสมคิดทํางานมาครบ 2 ปีแล้ว การที่นายจ้างจ่าย ค่าชดเชยให้นายสมคิด 45,000 บาท จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและถูกต้องตามมาตรา 118 (2)

สรุป

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้าพเจ้าเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด เป็นไปตามที่ได้อธิบาย ไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. บุญทรงเป็นลูกจ้างบริษัท A.C.ก่อสร้าง จํากัด ตําแหน่งหัวหน้าคุมงานก่อสร้าง ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ 22,000 บาท ขณะคุมงานก่อสร้างอาคาร 5 ชั้น ได้มีอิฐบล็อกตกลงมาจากที่สูง ตกใส่ศีรษะของบุญทรง นายจ้างพาส่งโรงพยาบาล แพทย์แจ้งว่าบุญทรงได้รับความ กระทบกระเทือนทางสมองและเป็นอัมพาตไปครึ่งตัว ทําให้บุญทรงไม่สามารถทํางานได้ปีกว่า จึง ออกจากงานและรักษาตัวอยู่ที่บ้านเพราะทุพพลภาพ บุญทรงมีชีวิตอยู่ได้ 3 ปีก็เสียชีวิต ดังนี้ บุญทรงและสมรคู่สมรสจะมีสิทธิในเงินทดแทนอย่างไรให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง

มาตรา 13 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการ รักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาล เท่าที่จ่ายจริงตามความจําเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้า เมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้ทราบ”

มาตรา 15 “กรณีที่ลูกจ้างจําเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานของลูกจ้างตามความจําเป็นตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามารถทํางานติดต่อกันได้ เกินสามวันไม่ว่าลูกจ้างจะสูญเสียอวัยวะตาม (2) ด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถ ทํางานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทํางานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี

(3) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภท ของการทุพพลภาพและตามระยะเวลาที่จะต้องจ่ายตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด แต่ต้องไม่เกินสิบห้าปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

มาตรา 19 “ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา 18 (2) หรือ (3) และต่อมาลูกจ้าง ได้ถึงแก่ความตายในขณะที่ยังรับค่าทดแทนไม่ครบระยะเวลาตามสิทธิดังกล่าว ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิ ตามมาตรา 20 ต่อไป จนครบกําหนดระยะเวลาตามสิทธิ์ แต่ทั้งนี้ ระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนรวมกันต้องไม่เกินแปดปี”

มาตรา 20 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคล ดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(2) สามีหรือภริยา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

บุญทรงและสมรคู่สมรสจะมีสิทธิในเงินทดแทนอย่างไร แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของบุญทรง

การที่บุญทรงเป็นลูกจ้างของบริษัท A.Cก่อสร้าง จํากัด และขณะคุมงานก่อสร้างได้มีอิฐบล็อก ตกลงมาจากที่สูงใส่ศีรษะของบุญทรงได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถือว่าบุญทรงประสบอันตรายเนื่องจากการทํางาน ให้แก่นายจ้างตามมาตรา 5 บุญทรงจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทน ให้แก่บุญทรง ดังนี้

1 ค่ารักษาพยาบาลตามมาตรา 13 โดยนายจ้างต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตาม ความจําเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวง คือรวมแล้วไม่เกิน 110,000 บาท ในกรณีนี้ถือว่าบุญทรง ประสบอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บรุนแรง จึงได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้น 45,000 บาท และในกรณีรุนแรงอีกไม่เกิน 65,000 บาท

2 ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานตามมาตรา 15 โดยนายจ้างต้องจ่ายตามความจําเป็น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กําหนดไว้ในกฎกระทรวงในกรณีนี้นายจ้างต้องจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการ ทํางานให้บุญทรงเป็นจํานวนไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูฯ อีกเป็น จํานวนไม่เกิน 20,000 บาท

3 ค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้ตามมาตรา 18 (1) เมื่อบุญทรงไม่สามารถทํางาน ได้ปีกว่า ซึ่งถือว่าติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน โดยจ่าย ตั้งแต่วันแรกที่บุญทรงไม่สามารถทํางานได้ เมื่อบุญทรงได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาทร้อยละ 60 ของ 22,000 จึงเท่ากับ 13,200 บาท แต่มาตรา 18 วรรคสี่ กําหนดไว้ว่าค่าทดแทนตามมาตรา 18 (1) จะต้องไม่มากกว่า ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนดซึ่งก็คือ 12,000 บาท ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายทดแทนให้บุญทรงเดือนละ 12,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น = 12,000 X 12 = 144,000 บาท (ไม่เกิน 1 ปี)

4 ค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพตามมาตรา 18 (3) เมื่อบุญทรงกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เมื่อบุญทรงได้รับค่าจ้างเดือนละ 22,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 22,000 จึงเท่ากับ 13,200 บาท แต่มาตรา 18 วรรคสี่ กําหนดไว้ว่าค่าทดแทนตามมาตรา 18 (3) จะต้องไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด ซึ่งก็คือ 12,000 บาท ดังนั้น นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าทดแทนในกรณีนี้เดือนละ 12,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี

กรณีของสมร

เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุญทรงมีชีวิตอยู่ได้ 3 ปี ก็เสียชีวิต โดยบุญทรงรับค่าทดแทนยังไม่ครบ ตามกําหนดระยะเวลาตามมาตรา 18 (3) กรณีเช่นนี้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทดแทนที่เหลืออยู่ให้แก่สมรภริยา ของบุญทรง โดยสมรจะได้รับค่าทดแทนเดือนละ 12,000 บาท เป็นระยะเวลาอีกเพียง 5 ปี ตามมาตรา 19 ประกอบมาตรา 20 (2) เพราะระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนกรณีนี้รวมกันต้องไม่เกิน 8 ปี

สรุป

บุญทรงจะได้รับความคุ้มครองและมีสิทธิได้รับเงินทดแทนดังนี้

1 มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลในเบื้องต้นเป็นจํานวน 45,000 บาท และได้รับเพิ่มในกรณีบาดเจ็บรุนแรงอีกไม่เกิน 65,000 บาท

2 มีสิทธิได้รับค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานเป็นจํานวนไม่เกิน 40,000 บาท

3 มีสิทธิได้รับค่าทดแทนในกรณีไม่สามารถทํางานได้เป็นจํานวน 144,000 บาท

4 มีสิทธิได้รับค่าทดแทนในกรณีทุพพลภาพเดือนละ 12,000 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี และหากว่าอีก 3 ปีต่อมาบุญทรงเสียชีวิต สมรภริยาของบุญทรง จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนต่อไปเดือนละ 12,000 บาท เป็นระยะเวลาอีก 5 ปี

 

ข้อ 4. บริษัท C.D. ทอผ้าและไหมพรม จํากัด มีลูกจ้าง 300 คน ลูกจ้างของบริษัทฯ ต้องการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอปรับขึ้นค่าจ้างและสวัสดิการ จึงให้สหภาพแรงงานผู้ผลิตสิ่งทอ ดําเนินการแจ้งข้อเรียกร้องให้ โดยดํารงซึ่งเป็นแกนนําในการเรียกร้องทราบว่ามีลูกจ้างเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน อยู่ 80 คน ดังนี้ให้อธิบายว่าสหภาพแรงงานผู้ผลิตสิ่งทอจะแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างให้ลูกจ้าง บริษัท C.D.สิ่งทอ จํากัด ได้หรือไม่ และหากมีการตรวจสอบภายหลังจากมีการแจ้งข้อเรียกร้อง แล้วทราบว่าจํานวนสมาชิกของลูกจ้างในสหภาพแรงงานไม่เป็นตามที่กฎหมายกําหนด จะมีผลต่อข้อเรียกร้องอย่างไร ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 13 วรรคแรก “การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการ แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ”

มาตรา 15 “สมาคมนายจ้างหรือสหภาพแรงงานอาจแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 ต่ออีก ฝ่ายหนึ่งแทนนายจ้างหรือลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกได้ จํานวนสมาชิกซึ่งเป็นลูกจ้างต้องมีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้า ของจํานวนลูกจ้างทั้งหมด…”

วินิจฉัย

โดยหลักการที่ลูกจ้างบริษัท C.D.ทอผ้าและไหมพรม จํากัด ต้องการแจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอปรับ ขึ้นค่าจ้าง และสวัสดิการจึงให้สภาพแรงงานผู้ผลิตสิ่งทอ ดําเนินการแจ้งข้อเรียกร้องให้นั้นตามมาตรา 15 ได้ กําหนดไว้ว่าสหภาพแรงงานสามารถแจ้งข้อเรียกร้องได้ตามมาตรา 13 แต่ต้องมีจํานวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของลูกจ้างทั้งหมด

ตามอุทาหรณ์ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลูกจ้างของบริษัทฯ จํานวน 300 คน เป็นสมาชิกสภาพแรงงาน อยู่ถึง 80 คน ซึ่งมีจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีจํานวนตามที่กฎหมายกําหนด ดังนั้นสหภาพแรงงานผู้ผลิตสิ่งทอจึงสามารถแจ้งข้อเรียกร้องต่อนายจ้างให้ลูกจ้างบริษัท C.D.สิ่งทอ จํากัด ได้

อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบภายหลังจากมีการแจ้งข้อเรียกร้องแล้วทราบว่าจํานวนสมาชิก ของลูกจ้างในสหภาพแรงงานไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกําหนด ย่อมมีผลทําให้ข้อเรียกร้องนั้นไม่สมบูรณ์

LAW4002 การว่าความ 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า

“เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 นายโก้ เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 589589 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 80 ตารางวา ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 4,000,000 บาท จากนายโจ ตกลงชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และต้นเงินคืน 1,000,000 บาท ทุกวันที่ 8 ของเดือน กําหนดชําระเงินคืนในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558 จนกว่าจะชําระเงินต้นและดอกเบี้ยครบถ้วน โดยในการกู้ยืมดังกล่าวนายโก้ได้มอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวและได้ทําหนังสือมอบอํานาจให้นายไมค์ เป็นผู้รับมอบอํานาจของนายโก้มีอํานาจจดทะเบียนจํานองที่ดินดังกล่าวเพื่อเป็นประกันการชําระ หนี้เงินกู้ให้แก่นายโจ โดยกําหนดให้จดทะเบียนไถ่ถอนจํานองในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แต่ปรากฏว่าวันต่อมาหลังจากวันทําสัญญาดังกล่าวนายไมค์และนายโจไม่ได้นําหนังสือมอบอํานาจ มาจดทะเบียนจํานองที่ดินตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน แต่บุคคลทั้งสองได้ร่วมกันปลอมหนังสือ มอบอํานาจขึ้นทั้งฉบับโดยปลอมลายมือชื่อของนายโก้และกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอํานาจ ตามแบบของกรมที่ดินใหม่ทั้งฉบับโดยให้นายไมค์เป็นผู้รับมอบอํานาจของนายโก้ในการโอนขาย ที่ดินดังกล่าวของนายโก้ให้แก่นายโจ และบุคคลทั้งสองได้นําหนังสือมอบอํานาจปลอมนั้นไปใช้ จดทะเบียนโอนขายที่ดินของนายโก้ให้แก่นายโจในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ต่อมานายโก้ ได้ชําระหนี้ครบทุกงวดแล้วและนายโจได้รับชําระไว้แล้ว แต่นายโจไม่ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจํานอง ตามกําหนด เมื่อนายโก้แจ้งให้คืนโฉนดที่ดินฯ และให้ไถ่ถอนจํานอง นายโจก็บ่ายเบี่ยงปฏิเสธ ไม่ยอมคืน ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2558 นายโก้ได้ตรวจสอบที่สํานักงานที่ดินเขตบางกะปิจึงทราบเรื่อง ดังกล่าว นายโก้จึงได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดําเนินคดีกับนายไมค์และนายโจในข้อหา ปลอมหนังสือมอบอํานาจ และใช้หรืออ้างหนังสือมอบอํานาจปลอมในการทํานิติกรรมการโอนขาย ที่ดินของนายโก้ นอกจากนี้ นายโก้ยังทราบว่านายโจได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าว ให้แก่บริษัท โอเปอร่า จํากัด ในราคา 3,800,000 บาท มีกําหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559”

ให้ท่านนักศึกษามีฐานะเป็นที่ปรึกษากฎหมายของนายโก้ และให้ท่านดําเนินการออกแบบและ จัดทํา (ร่าง) สัญญากู้ยืมเงินจากนายโจ โดยจะต้องมีข้อสัญญาจํานองที่ดินโฉนดเลขที่ 589589 โดยอาศัยข้อเท็จจริงดังที่ปรากฏนี้

ธงคําตอบ

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษากฎหมายของนายโก้ ข้าพเจ้าจะออกแบบ และจัดทํา (ร่าง) สัญญากู้ยืมเงินจากนายโจ โดยให้มีข้อความและข้อสัญญา ดังนี้

 

สัญญากู้ยืมเงิน

ทําที่ มหาวิทยาลัย หัวหมาก บางกะปิ

วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ระหว่างข้าพเจ้า นายโก้ อายุ……… ปี อยู่บ้านเลขที่……….. ตรอก/ซอย………..

ถนน…………ตําบล/แขวง……… อําเภอ/เขต……… จังหวัด…………….

ในฐานะ “ผู้กู้” ฝ่ายหนึ่ง กับ

ข้าพเจ้า นายโจ อายุ………….. ปี อยู่บ้านเลขที่…………. ตรอก/ซอย. ………

ถนน …………. ตําบล/แขวง……………….. อําเภอ/เขต……………………………………..จังหวัด………

ในฐานะ “ผู้ให้กู้” อีกฝ่ายหนึ่ง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทําสัญญากัน ดังความต่อไปนี้

ข้อ 1 ผู้กู้ตกลงกู้เงินและผู้ให้กู้ตกลงให้กู้เงินจํานวน 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาทถ้วน) และผู้กู้ ได้รับเงินจํานวนดังกล่าวปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เวลาที่ทําสัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้

ข้อ 2 ผู้กู้ตกลงยินยอมชําระดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และต้นเงินคืน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ทุกวันที่ 8 ของเดือน โดยกําหนดชําระเงินคืนในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558 จนกว่าจะชําระ เงินต้นและดอกเบี้ยครบถ้วน

ข้อ 3 ผู้กู้ได้จํานองที่ดินโฉนดเลขที่ 589589 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 80 ตารางวาต่อผู้ให้กู้ในวันที่ทําสัญญานี้ เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้เงินกู้ตามสัญญานี้

ข้อ 4 หากผู้กู้ปฏิบัติผิดสัญญาข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และทําการเรียก เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนได้ทันที

สัญญานี้ทําขึ้นเป็นสองฉบับมีข้อความถูกต้องตรงกัน คู่สัญญาได้อ่านและเข้าใจสัญญาแล้ว ตรงตามเจตนารมณ์แห่งคู่สัญญา จึงลงลายมือชื่อไว้เป็นสําคัญ

 

ลงชื่อ………………………..ผู้กู้      ลงชื่อ………………………..ผู้ให้กู้

   (…………………………….)          (…………………………….)

ลงชื่อ……………………….พยาน    ลงชื่อ……………………….พยาน

(…………………………….)             (…………………………….)

 

ข้อ 2. บริษัท สมาร์ทยิม จํากัด จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการสถานที่ออกกําลังกายครบวงจร โดยมีนายเอก กล้ามใหญ่ และนางบุ๋ม คนสวย เป็นกรรมการบริหารลงลายมือชื่อและ ประทับตราสําคัญแทนบริษัท เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ได้ทําสัญญาซื้อเครื่องออกกําลังกายราคา 10 ล้านบาท และชําระราคาครบถ้วนให้กับบริษัท ฟิตเนสเฟิร์ม จํากัด จดทะเบียน ณ สํานักงาน ทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ ในการขายอุปกรณ์ออกกําลังกายนําเข้าจากต่างประเทศทุกชนิดโดยมีนางอภิรดี ชุมสาย และ นายนําชัย เพริศสุภา เป็นกรรมการบริหารลงลายมือชื่อและประทับตราสําคัญแทนบริษัท กําหนดส่งสินค้าในวันที่ 1 เมษายน 2559 หากส่งสินค้าไม่ได้จะต้องถูกปรับจํานวน 200,000 บาท ครั้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท ฟิตเนสเฟิร์มฯ ไม่สามารถจัดส่งสินค้าทั้งหมดให้กับบริษัท สมาร์ทยิม ๆ จวบจนล่วงเลยมาวันที่ 20 เมษายน 2559 บริษัท สมาร์ทยิม จํากัด ได้ให้ทนายความ ส่งหนังสือบอกกล่าวลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับไปยังบริษัท ฟิตเนสเฟิร์มฯ โดยทวงถามให้ส่งมอบ สินค้าทั้งหมดภายใน 10 วันนับแต่วันที่รับหนังสือบอกกล่าว แต่เมื่อครบกําหนด 10 วันดังกล่าวแล้ว บริษัท ฟิตเนสเฟิร์มฯ กลับเพิกเฉย บริษัท สมาร์ทยิมฯ จึงได้มอบอํานาจให้นายเจมส์ สุดหล่อ ผู้จัดการของบริษัท สมาร์ทยืมฯ เป็นตัวแทนดําเนินคดีกับบริษัท ฟิตเนสเฟิร์มฯ ขอเลิกสัญญา และขอคืนค่าสินค้าและชําระค่าปรับทั้งหมด ให้ท่านซึ่งเป็นทนายความในคดีนี้ร่างคําฟ้องคดีแพ่ง พร้อมคําขอท้ายฟ้องโดยไม่ต้องคํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้องแพ่ง

ข้อ 1 โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า บริษัท สมาร์ทยิม จํากัด มีวัตถุประสงค์ ในการให้บริการสถานที่ออกกําลังกายครบวงจร โดยมีนายเอก กล้ามใหญ่ และนางปุ่ม คนสวย เป็นกรรมการบริหาร มีอํานาจลงลายมือชื่อและประทับตราสําคัญแทนบริษัท รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายคําฟ้อง หมายเลข 1

ในการฟ้องคดีนี้โจทก็ได้แต่งตั้งให้นายเจมส์ สุดหล่อ เป็นตัวแทนในการฟ้องและดําเนินคดีแทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 2

จําเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า บริษัท ฟิตเนสเฟิร์ม จํากัด มีวัตถุประสงค์ ในการขายอุปกรณ์ออกกําลังกายนําเข้าจากต่างประเทศทุกชนิด โดยมีนางอภิรดี ชุมสาย และนายนําชัย เพริศสุภา เป็นกรรมการบริหารมีอํานาจลงลายมือชื่อ และประทับตราสําคัญแทนนิติบุคคลจําเลย รายละเอียดตามหนังสือ รับรองเอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 3

ข้อ 2 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 โจทก์ได้ทําสัญญาซื้อเครื่องออกกําลังกายราคา 10 ล้านบาท (สิบล้านบาทถ้วน) และชําระราคาครบถ้วนให้กับจําเลย โดยกําหนดส่งสินค้าในวันที่ 1 เมษายน 2559 หากส่ง สินค้าไม่ได้จะต้องถูกปรับเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) รายละเอียดปรากฏตามสําเนา หนังสือสัญญาซื้อขายลงวันที่ 1 มีนาคม 2559 เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 4

ข้อ 3 ครั้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2559 จําเลยไม่สามารถจัดส่งสินค้าทั้งหมดให้กับโจทก์ จวบจน ล่วงเลยมาวันที่ 20 เมษายน 2559 โจทก์ได้ให้ทนายความส่งหนังสือบอกกล่าวลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับไปยัง จําเลยทวงถามให้จําเลยส่งมอบสินค้าทั้งหมดภายใน 10 วันนับแต่วันที่รับหนังสือบอกกล่าว แต่เมื่อครบกําหนด 10 วันดังกล่าวแล้ว จําเลยกลับเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับ เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 5 และ 6

โจทก์จึงต้องการขอเลิกสัญญาและเรียกค่าสินค้าคืนรวมถึงค่าปรับเป็นเงินจํานวน 10,200,000 บาท (สิบล้านสองแสนบาทถ้วน) จากจําเลย โจทก์ไม่มีทางอื่นใดจะตกลงกับจําเลยได้ จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คําขอท้ายฟ้อง

1 ขอเลิกสัญญาและให้จําเลยชําระคืนค่าสินค้าและค่าปรับเป็นเงินจํานวน 10,200,000 บาท (สิบล้านสองแสนบาทถ้วน)

2 ให้จําเลยชําระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 10,200,000 บาท (สิบล้านสองแสน บาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องจนกว่าจําเลยจะชําระให้กับโจทก์เสร็จสิ้น

3 ให้จําเลยชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 3 นายซาโตชิเป็นผู้ที่คลั่งไคล้ในเกมส์โปเกม่อน โก (Pokemon Go) เป็นอย่างมาก เมื่อทราบว่า ประเทศไทยจะเริ่มเปิดระบบให้สามารถเล่นได้ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ดังนั้น หลังจากเลิกทํางานกลับมายังบ้าน จึงทําการโหลดเกมส์ขึ้นมาเล่นเมื่อฟังข่าวในพระราชสํานักเสร็จสิ้นลง เมื่อตอนเริ่มเกมส์นายซาโตชิจึงคุยกับศาสตราจารย์วิลโลเสร็จแล้ว เกมส์จะให้เลือกโปเกม่อน ในตอนเริ่มเกมส์ได้ทั้งหมด 3 ตัว นั่นคือ ชาร์แมนเดอร์ (Charmender) สเควิตเทิล (Squirtle) และบัลบาซอร์ (Bulbasaur) นายซาโตชิก็ไม่สนใจอยากได้โปเกม่อนทั้ง 3 ตัวนี้ เพราะทราบว่าถ้าเดิน ออกจากพื้นที่ที่อยู่ในตอนนั้นให้ไกลออกไปพอสมควรแล้วจะได้เจอโปเกม่อนโผล่มาเรื่อย ๆ ตามทาง ปล่อยให้โปเกม่อนโผล่ออกมาเรื่อย ๆ จนครบ 4 ครั้ง พอถึงครั้งที่ 4 ตัวที่ปรากฏออกมาก็จะเป็น ตัวปิกาจู (Pikachu) ที่นายซาโตชิตามหานั่นเอง ดังนั้น นายซาโตชิจึงเดินหนีตัวโปเกม่อนจนตัวปิกาจู ปรากฏออกมา แต่ปรากฏว่าตัวปิกาจูนั้นปรากฏตัวอยู่ในสนามหญ้าหน้าบ้านของนางสาวคาสึมิ ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ 123/123 ถนนรามคําแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ด้วยความที่นายซาโตชิอยากได้ตัวปิกาจูจึงปีนรั้วพุ่มต้นไม้เข้าไปเก็บตัวปิกาจู และด้วยความดีใจ จึงร้องไชโยออกมาจนทําให้นางสาวคาสึมิออกมาดูที่หน้าบ้านของตนว่าเกิดอะไรขึ้น และตกใจที่เห็น นายซาโตชิเพื่อนบ้านของเธอเข้ามาอยู่ในสนามหญ้าหน้าบ้านในยามวิกาลเช่นนี้ เป็นการรบกวนเธอ และครอบครัวเป็นอย่างมาก

ในวันรุ่งขึ้นนางสาวคาสึมิจึงเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้กับสถานีตํารวจนครบาลหัวหมากเพื่อลง บันทึกประจําวันเอาไว้ แต่มิได้จะให้เจ้าพนักงานดําเนินคดีให้ เพราะเกรงว่าจะใช้ระยะเวลานาน จึงจะดําเนินคดีเองเพื่อความรวดเร็ว นางสาวคาสึมิจึงมาปรึกษากับนายทาเคชิและแต่งตั้งให้เป็น ตัวแทนฟ้องคดีและดําเนินกระบวนพิจารณาแทนตน คําสั่ง ให้นักศึกษาร่างคําฟ้องอาญาและคําขอท้ายฟ้องอาญาเฉพาะเนื้อหา โดยไม่ต้องคํานึงถึง แบบฟอร์ม

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 362 ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทําการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ มาตรา 365 ถ้าการกระทําความผิดตามมาตรา 362 มาตรา 363 หรือมาตรา 364 ได้กระทํา

(1) โดยใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย

(2) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ

(3) ในเวลากลางคืน ผู้กระทําต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ธงคําตอบ

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1 ในการฟ้องคดีนี้โจทก็ได้มอบอํานาจให้นายทาเคชิเป็นโจทก์ฟ้องคดีและดําเนินกระบวน พิจารณาแทน รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 1

ข้อ 2 ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เวลากลางคืน จําเลยได้บังอาจกระทําความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ จําเลยได้บุกรุกเข้าไปในบ้านเลขที่ 123/123 ถนนรามคําแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร อันเป็นเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ทั้งนี้เพื่อถือเข้าไปกระทําการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการ ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข ซึ่งอาคารนี้โจทก์ใช้เป็นที่อยู่อาศัย

เหตุเกิดที่ ถนนรามคําแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ข้อ 3 คดีนี้โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว แต่โจทก์ประสงค์จะดําเนินคดีเองเพื่อความรวดเร็ว

คําขอท้ายฟ้องอาญา

การที่จําเลยได้กระทําตามข้อความที่กล่าวมาในคําฟ้องนั้น เป็นความผิดต่อกฎหมายและบทมาตรา ดังนี้คือ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 362 และมาตรา 365 (3)

LAW4002 การว่าความ S/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

วันที่ 1 มกราคม 2560 นายสมชัย ใจดี ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายหิรัญ ภักดีมาก จํานวน 1,000,000 บาท โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กําหนดชําระคืน 1 ปี โดยนายสมชัยได้นําเอาโฉนดที่ดิน 1 แปลง จํานวน 60 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 123 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประกันหนี้โดยให้ นายหิรัญยึดถือเอาไว้เป็นประกัน เมื่อครบกําหนดชําระหนี้ นายสมชัยไม่ยอมชําระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจํานวน 1,150,000 บาท นายหิรัญทวงถามทั้งทางโทรศัพท์และไปหาที่บ้านของนายสมชัยแต่ก็ติดต่อนายสมชัยไม่ได้

ต่อมา 1 กุมภาพันธ์ 2561 นายหิรัญทราบมาว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.00 นาฬิกา นายสมชัยได้ไปแจ้งความต่อสถานีตํารวจนครบาลหัวหมาก แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวสูญหายซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้เจ้าพนักงานออกใบแจ้งความร้องทุกข์นําไปขอออก โฉนดใบใหม่ และขณะนี้โฉนดใบนั้นถูกจํานองอยู่ที่ธนาคารออมสิน สาขาหัวหมาก แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งทําให้นายหิรัญเสียหาย ดังนั้น นายหิรัญจึงได้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้เจ้าพนักงานดําเนิน คดีอาญาความผิดฐานแจ้งความเท็จกับนายสมชัย ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 12.00 นาฬิกา เจ้าพนักงานสถานีตํารวจนครบาลหัวหมากได้จับกุมนายสมชัยได้และนําส่งพนักงานสอบสวนทําการสอบสวน นายสมชัยให้การรับสารภาพ ต่อมานายสมชัยได้ประกันตัวไป พนักงานสอบสวนสรุปสํานวนส่งพนักงานอัยการ พนักงานอัยการจึงสั่งฟ้องคดีดังกล่าวที่ศาลแขวงพระนครเหนือ

วันที่ 1 มีนาคม 2561 นายหิรัญได้มาหาท่านที่สํานักงานกฎหมายนิติรามทนายความและเพื่อน เลขที่ 9 ถนนรามคําแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่งตั้งท่านเป็นทนายความและให้ท่าน ส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับเรียกให้นายสมชัยชําระเงินต้นและดอกเบี้ยจํานวน 1,150,000 บาท ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว ท่านจึงทําหนังสือดังกล่าวส่งออกไปทวงถาม ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 เมื่อได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับแล้วแต่นายสมชัยกลับเพิกเฉย

วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 นี้ นายหิรัญต้องการให้ท่านในฐานะทนายความยื่นคําฟ้องคดีแพ่งเรียกร้อง เพียงเงินต้นและดอกเบี้ยจํานวน 1,150,000 บาทจากนายสมชัยคืนทั้งหมดที่ศาลแพ่ง

ดังนี้ ให้ท่านร่างเอกสารกฎหมายดังต่อไปนี้ในฐานะทนายความ

1 ร่างหนังสือบอกกล่าวทวงถาม

2 ร่างคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องคดีแพ่ง เฉพาะเนื้อหาคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องโดยไม่คํานึงถึง แบบพิมพ์ศาล

และให้ท่านในฐานะอัยการ

3 ร่างคําฟ้องคดีอาญาในคามผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานยังศาลแขวงพระนครเหนือ โดยร่างเฉพาะเนื้อหาคําฟ้องไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 137 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษ…

 

ธงคําตอบ

1 หนังสือบอกกล่าวทวงถาม

ทําที่ สํานักงานกฎหมายนิติรามทนายความและเพื่อน

เลขที่ 9 ถ.รามคําแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ

กรุงเทพมหานคร

วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561

เรื่อง ขอให้ชําระหนี้

เรียน นายสมชัย ใจดี ผู้กู้

อ้างถึง หนังสือสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง นายหิรัญ ภักดีมาก ผู้ให้กู้ กับ นายสมชัย ใจดี ผู้กู้

ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2560

ตามสัญญากู้ยืมเงินที่อ้างถึง ท่านได้กู้ยืมเงินไปจากนายหิรัญ ภักดีมาก ผู้ให้กู้ จํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) โดยท่านตกลงชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กําหนดชําระคืน 1 ปี โดยท่านได้นําเอา โฉนดที่ดิน 1 แปลง จํานวน 60 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 123 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประกันหนี้โดยให้นายหิรัญ ภักดีมาก ผู้ให้กู้ ยึดถือเอาไว้เป็นประกันนั้น

บัดนี้ปรากฏว่า เมื่อครบกําหนดชําระหนี้ตามสัญญาในวันที่ 1 มกราคม 2561 ท่านไม่ได้นําเงินต้น พร้อมดอกเบี้ยจํานวน 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) มาชําระ จึงถือว่าท่านได้ผิดสัญญา ตามที่ได้ตกลงกันไว้

โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้าทนายความผู้รับมอบอํานาจจากนายหิรัญ ภักดีมาก ผู้ให้กู้ จึงขอบอกกล่าวมายังท่าน ขอให้ท่านนําเงิน 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ไปชําระให้แก่ ผู้ให้กู้หรือทนายความ ณ สํานักงานทนายความ ภายในกําหนด 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ หากท่าน ไม่ดําเนินการ ข้าพเจ้าจําเป็นต้องดําเนินการทางคดีกับท่านต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

ลงชื่อ…………….

ทนายความผู้รับมอบอํานาจ

 

2 คําฟ้องคดีแพ่งและคําขอท้ายฟ้อง

 

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 จําเลยได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเป็นจํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กําหนดชําระคืน 1 ปี ซึ่งจําเลยได้รับเงิน จํานวนที่กู้ไปครบถ้วนแล้ว โดยจําเลยได้นําเอาโฉนดที่ดิน 1 แปลง จํานวน 60 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 123 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประกันหนี้ โดยให้โจทก์ยึดถือเอาไว้เป็นประกัน รายละเอียด ปรากฏตามสัญญากู้ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2560 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 2

ข้อ 2 เมื่อครบกําหนดชําระหนี้ตามสัญญากู้ จําเลยไม่ยอมชําระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย จํานวน 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ดังกล่าว โจทก์ได้ทวงถามทั้งทางโทรศัพท์และ ไปหาที่บ้านของจําเลย แต่ก็ติดต่อจําเลยไม่ได้

ข้อ 3 ต่อมาโจทก์ได้ให้ทนายความส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับ เรียกให้จําเลยนําเงินต้นและดอกเบี้ยจํานวน 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) มาชําระ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว เมื่อจําเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับแล้ว แต่จําเลยกลับเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับเอกสารท้ายคําฟ้อง หมายเลข 3 และ 4

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะตกลงกับจําเลยได้จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง ขอให้ศาลบังคับจําเลย ชําระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,150,000 บาท (หนึ่งล้าน หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) แก่โจทก์

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คําขอท้ายฟ้อง

1 ขอให้จําเลยชําระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

2 ขอให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยจะชําระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

3 ขอให้จําเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

3 คําฟ้องคดีอาญา

ข้อ 1 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 เวลากลางวัน จําเลยได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานว่า โฉนดที่ดิน 1 แปลง จํานวน 60 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 123 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร สูญหายซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งอาจทําให้นายหิรัญ ภักดีมาก ซึ่งเป็นผู้ให้กู้และยึดถือโฉนดที่ดินที่จําเลย นํามาประกันหนี้เงินกู้เอาไว้เสียหาย

เหตุเกิดที่ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ข้อ 2 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับกุมจําเลยได้ และนําจําเลยส่งพนักงานสอบสวนทําการสอบสวน

ชั้นสอบสวน จําเลยให้การรับสารภาพ

จําเลยถูกควบคุมตัวตลอดมา ต่อมาได้ประกันตัวไป ได้ส่งตัวจําเลยมาพร้อมกับฟ้องนี้แล้ว ขอศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจําเลยต่อไป

WordPress Ads
error: Content is protected !!