การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายจ้างทําสัญญาจ้างนายธนชาติและ น.ส.วีนัส เป็นลูกจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลา ได้รับค่าจ้าง 12,000 บาท ค่าครองชีพ 2,000 บาท และค่าเช่าบ้าน 2,000 บาท ในสัญญาจ้างมีข้อตกลงว่า

ข้อ 1 “ให้นายธนชาติได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางาน 2 เท่า และให้ น.ส.วีนัส ได้ 1 เท่า” และ

ข้อ 2 “ถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อน 6 เดือน จะไม่ได้รับค่าชดเชย และถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้าง ก่อนครบ 1 ปี จะได้รับค่าชดเชย 10,000 บาท” ปรากฏว่านายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายธนชาติ เมื่อสิ้นเดือน 5 (เดือนพฤษภาคม) จึงไม่จ่ายค่าชดเชยให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา และนายจ้างได้ บอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.วีนัส เมื่อสิ้นเดือนที่ 10 (เดือนตุลาคม) จึงจ่ายค่าชดเชยให้ 10,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เช่นนี้ถูกต้องหรือไม่ และการที่นายจ้างทําสัญญาตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาในวันทํางานตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 1 นั้น ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 15 “ให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการจ้างงาน เว้นแต่ ลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นได้”

มาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้าง หรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึง กําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน

การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจํานวนที่จะต้องจ่าย จนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้…”

มาตรา 61 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันทํางานให้นายจ้างจ่ายค่า ล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวัน แต่ไม่ครบหนึ่งปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่า ค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานสามสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการ ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

โดยหลักของการทําสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างกับลูกจ้างจะทําข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างไรก็ได้ เพียงแต่ข้อตกลงนั้นจะมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อกฎหมายโดยชัดแจ้ง หรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ข้อตกลงนั้นจะตกเป็นโมฆะ (ป.พ.พ. มาตรา 150) อย่างไรก็ตาม หากข้อตกลงนั้นเป็นคุณแก่ลูกจ้าง แม้ว่าจะขัดต่อกฎหมาย ก็ถือว่าข้อตกลงนั้นใช้ได้ ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างทําสัญญาจ้างนายธนชาติและ น.ส.วีนัสเป็นลูกจ้างที่ไม่มี กําหนดระยะเวลา ได้รับค่าจ้าง 12,000 บาท ค่าครองชีพ 2,000 บาท และค่าเช่าบ้าน 2,000 บาท โดยในสัญญา มีข้อตกลงว่า

ข้อ 1 “ให้นายธนชาติได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางาน 2 เท่า และให้ น.ส.วีนัส ได้ 1 เท่า” และ

ข้อ 2 “ถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อน 6 เดือน จะไม่ได้รับค่าชดเชย และถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบ 1 ปี จะได้รับค่าชดเชย 10,000 บาท” นั้น

ข้อตกลงทั้ง 2 ข้อ แยกพิจารณาได้ดังนี้

ข้อตกลงข้อที่ 1 ที่ให้นายธนชาติได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางาน 2 เท่า และให้ น.ส.วีนัสได้ 1 เท่านั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 15 ที่กําหนดให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างชายและหญิงโดยเท่าเทียมกันในการ จ้างงาน ดังนั้นข้อตกลงดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 น.ส.วีนัสจึงมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาใน วันทํางานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 คือ หนึ่งเท่าครึ่ง ส่วนนายธนชาติมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาในวันทํางาน 2 เท่า ตามข้อตกลงในสัญญา เพราะแม้ข้อตกลงนั้นจะขัดต่อกฎหมายแต่เมื่อข้อตกลงนั้นเป็นคุณแก่ลูกจ่าง ข้อตกลงนั้น จึงใช้บังคับได้ไม่ตกเป็นโมฆะแต่อย่างใด

ข้อตกลงข้อที่ 2 ที่ว่าถ้าถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อน 6 เดือน จะไม่ได้รับค่าชดเชย และถ้า ถูกบอกเลิกสัญญาจ้างก่อนครบ 1 ปี จะได้รับค่าชดเชย 10,000 บาทนั้น ถือเป็นข้อตกลงที่ขัดกับกฎหมาย คุ้มครองแรงงาน มาตรา 118 (1) จึงมีผลเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น เมื่อนายจ้างได้บอกเลิก สัญญาจ้างนายธนชาติ เมื่อสิ้นเดือนที่ 5 และบอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.วีนัส เมื่อสิ้นเดือนที่ 10 ทั้งนายธนชาติ และ น.ส.วีนัส จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (1) คือ จะได้รับคนละ 30 วัน คิดเป็นเงิน 14,000 บาท (ค่าจ้าง 12,000 บาท + ค่าครองชีพ 2,000 บาท)

และนอกจากนั้น การที่นายจ้างจะบอกเลิกสัญญาจ้างกับนายธนชาติและ น.ส.วีนัสนั้น นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ลูกจ้างทราบ ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดการจ่ายค่าจ้าง ในคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป หรือนายจ้างจะจ่าย ค่าจ้างให้ลูกจ้างตามจํานวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าว และให้ลูกจ้างออกจาก งานทันทีก็ได้ตามมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสาม

ดังนั้น การที่นายจ้างได้บอกเลิกสัญญาจ้างนายธนชาติเมื่อสิ้นเดือนที่ 5 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ และได้บอกเลิกสัญญาจ้าง น.ส.วีนัสเมื่อสิ้นเดือนที่ 10 และจ่ายค่าชดเชยให้ 10,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง

สรุป

การบอกเลิกสัญญาจ้างของนายจ้างดังกล่าวไม่ถูกต้อง และการทําสัญญาตกลงจ่าย ค่าล่วงเวลาในวันทํางานของนายจ้างใช้บังคับได้เฉพาะกับนายธนชาติแต่จะใช้บังคับกับ น.ส.วีนัส ไม่ได้

 

ข้อ 2. นายจ้างทําสัญญาจ้างนายหวังเป็นลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างเดือนละ 14,400 บาท (เฉลี่ย 480 บาทต่อวัน) และนายแจ่มเป็นลูกจ้างรายวันได้รับค่าจ้างวันละ 400 บาท ทํางานตั้งแต่วันศุกร์ถึง วันอังคาร โดยให้หยุดวันหยุดประจําสัปดาห์วันพุธและวันพฤหัสบดี ทํางานตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. (หยุดพักเที่ยง 1 ชั่วโมง) นายจ้างให้นายหวังและนายแจ่มทํางานวันพุธตั้งแต่เวลา 21.00 น. ถึง 02.00 น. เช่นนี้ นายหวังและนายแจ่มจะได้รับค่าตอบแทนเป็นจํานวนเงินเท่าใด เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 28 วรรคหนึ่ง “ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจําสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า หนึ่งวัน โดยวันหยุดประจําสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากําหนดให้ มีวันหยุดประจําสัปดาห์วันใดก็ได้”

มาตรา 63 “ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันหยุด ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลา ในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทํา หรือไม่น้อยกว่าสามเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทํางานตามจํานวนผลงานที่ทําได้สําหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้าง ตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างทําสัญญาจ้างนายหวังเป็นลูกจ้างรายเดือนและนายแจ่ม เป็นลูกจ้างรายวัน โดยให้ทํางานตั้งแต่วันศุกร์ถึงวันอังคาร และให้มีวันหยุดประจําสัปดาห์คือวันพุธและวัน พฤหัสบดีนั้น เป็นการตกลงกันตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งสามารถตกลงกันได้ และเมื่อถือว่าวันพุธและ วันพฤหัสบดีเป็นวันหยุดประจําสัปดาห์ ดังนั้น การที่นายจ้างให้นายหวังและนายแจ่มทํางานในวันพุธตั้งแต่เวลา 21.00 น. ถึงเวลา 02.00 น. เป็นเวลา 5 ชั่วโมงนั้น จึงถือว่าเป็นกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทํางานล่วงเวลาในวันหยุด นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่นายหวังและนายแจ่มในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้าง ต่อชั่วโมงในวันทํางานตามจํานวนชั่วโมงที่ทําตามมาตรา 63 โดยนายหวังและนายแจ่มจะได้รับค่าตอบแทนเป็น จํานวนเงิน ดังนี้

นายหวัง เป็นลูกจ้างรายเดือน ๆ ละ 14,400 บาท เฉลี่ย 480 บาทต่อวัน ค่าจ้างต่อชั่วโมง จึงเท่ากับ 60 บาท และ 3 เท่า จึงเท่ากับ 180 บาท เมื่อนายหวังทํางาน 5 ชั่วโมง จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน เป็นเงิน 900 บาท (180 x 5)

นายแจ่ม เป็นลูกจ้างรายวัน ๆ ละ 400 บาท เฉลี่ยเป็นชั่วโมงละ 50 บาท และ 3 เท่า จึงเท่ากับ 150 บาท เมื่อนายแจ่มทํางาน 5 ชั่วโมง จึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 750 บาท

สรุป

นายหวังจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน 900 บาท และนายแจ่มจะได้รับค่าตอบแทน เป็นเงิน 750 บาท

 

ข้อ 3. นายสมัยเป็นลูกจ้างพนักงานขับรถยนต์ได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท นายจ้างมีคําสั่งให้นายสมัยขับรถยนต์ไปส่งสินค้าที่จังหวัดเชียงราย นายอุทัยเป็นพนักงานขับรถยนต์เช่นกันขอไปด้วยเพื่อกลับไปบ้าน ในระหว่างทางรถยนต์พลิกคว่ำตกเขานายอุทัยเสียชีวิตแต่ไม่พบนายสมัย สองเดือนต่อมา ภริยานายสมัยและนายอุทัยได้เข้ามาขอรับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายของสามี เช่นนี้ จะมีสิทธิ อะไรบ้าง อย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“ประสบอันตราย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคําสั่งของนายจ้าง”

“สูญหาย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างทํางานหรือปฏิบัติตามคําสั่งของ นายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างทํางาน หรือ ปฏิบัติตามคําสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ เพื่อไปทํางานให้นายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ ความตาย ทั้งนี้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกําหนดแปดปี”

มาตรา 20 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(2) สามีหรือภริยา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจ้างมีคําสั่งให้นายสมัยลูกจ้างขับรถยนต์ไปส่งสินค้าที่จังหวัด เชียงราย โดยนายอุทัยซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์และลูกจ้างเช่นกันขอไปด้วยเพื่อกลับบ้าน และในระหว่างทาง รถยนต์พลิกคว่ำตกเขาทําให้นายอุทัยเสียชีวิตแต่ไม่พบนายสมัยนั้น ภริยาของนายสมัยและภริยาของนายอุทัย จะมีสิทธิอะไรบ้างนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายสมัย

การที่รถยนต์พลิกคว่ำตกเขาและไม่พบนายสมัยนั้น ถือว่านายสมัยลูกจ้าง ได้หายไปเนื่องจากประสบเหตุอันตรายในระหว่างทํางานและมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนฯ มาตรา 5 จะให้ถือว่าเป็นการสูญหายและมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ ก็ต่อเมื่อ เวลาที่นายสมัยได้หายไปนั้นได้ผ่านไปแล้วไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น

และเมื่อนายสมัยลูกจ้างได้สูญหายไปจนครบ 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุย่อมถือว่านายสมัย ถึงแก่ความตาย ภริยาของนายสมัยย่อมเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) โดยนายจ้างจะต้องจ่ายค่าทําศพตามมาตรา 16 เป็นจํานวน 100 เท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน (เป็นเงิน 30,000 บาท) และต้องจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน มีกําหนด 8 ปี ตามมาตรา 18 (4) เมื่อนายสมัยได้รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ร้อยละ 60 ของ 12,000 จึงเท่ากับ 7,200 บาท

กรณีของนายอุทัย

การที่นายอุทัยซึ่งเป็นพนักงานขับรถยนต์เช่นเดียวกันได้ขอไปด้วยเพื่อ กลับไปบ้านนั้น เมื่อในระหว่างทางรถยนต์พลิกคว่ําตกเขาและนายอุทัยเสียชีวิต ย่อมไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายอุทัย ประสบอันตรายตามมาตรา 5 เพราะนายอุทัยไม่ได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทํางานให้แก่นายจ้างแต่อย่างใด ดังนั้นภริยาของนายอุทัยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

สรุป

ภริยานายสมัยมีสิทธิได้รับเงินค่าทําศพจํานวน 30,000 บาท และค่าทดแทนเป็นราย เดือน ๆ ละ 7,200 บาท มีกําหนด 8 ปี ส่วนภริยานายอุทัยไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

 

ข้อ 4 นายวิกรมและนายอดิเรกเป็นลูกจ้างทํางานอยู่ที่สํานักงานใหญ่ กรุงเทพฯ นายวิกรมได้เข้าร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เมื่อผ่านไปเพียงสอง สัปดาห์นายจ้างได้มีคําสั่งให้นายวิกรมไปทํางานที่จังหวัดเชียงใหม่และมีคําสั่งให้นายอดิเรก ไปทํางานที่จังหวัดชุมพร นายวิกรมและนายอดิเรกแจ้งแก่นายจ้างว่าไม่ต้องการไป นายจ้างอ้างว่า ถ้าไม่ไปทํางานตามคําสั่งก็จะเลิกจ้างทันที โดยถือว่าเป็นการขัดคําสั่งของนายจ้าง เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 31 “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามมาตรา 13 แล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 29 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง หรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการ หรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง เว้นแต่บุคคลดังกล่าว…”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องให้มีการกําหนดหรือ แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างไปแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างเจรจากัน กฎหมายห้ามมิให้ นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของลูกจ้างที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนา เพื่อที่จะกลั่นแกล้งลูกจ้างดังกล่าวให้ออกจากงานไป เพราะถือเป็นการกระทําอันไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนายวิกรม

การที่นายวิกรมเป็นลูกจ้างที่เข้าร่วมในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเมื่อข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจาตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานของนายวิกรม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจ้างได้มีคําสั่งโยกย้ายหน้าที่การงานของนายวิกรมโดยให้นายวิกรมย้ายไปทํางานที่จังหวัดเชียงใหม่โดยไม่ ปรากฏว่านายวิกรมได้กระทําการใด ๆ ตามมาตรา 31 (1) – (4) แต่อย่างใดนั้น การกระทําของนายจ้างย่อมถือว่า เป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนายวิกรมแจ้งแก่นายจ้างว่าไม่ต้องการ ไปทํางานที่จังหวัดเชียงใหม่ นายจ้างจะอ้างว่าถ้าไม่ไปทํางานตามคําสั่งก็จะเลิกจ้างทันทีไม่ได้

กรณีของนายอดิเรก

การที่นายจ้างได้มีคําสั่งให้นายอดิเรกไปทํางานที่จังหวัดชุมพรนั้น กรณีนี้ นายจ้างมีอํานาจออกคําสั่งให้ลูกจ้างไปทํางานที่อื่นได้ เนื่องจากตามสัญญาจ้างแรงงานนั้น นายจ้างย่อมมีอํานาจ สั่งการบังคับบัญชาลูกจ้างได้ ถ้าลูกจ้างขัดคําสั่งของนายจ้าง นายจ้างก็สามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้ตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงาน อีกทั้งตามข้อเท็จจริงในอุทาหรณ์ก็ไม่ปรากฏว่านายอดิเรกลูกจ้างได้เข้าร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อ นายจ้างให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่อย่างใด ดังนั้นนายอดิเรกจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ตามมาตรา 31 นายจ้างจึงสามารถมีคําสั่งให้นายอดิเรกไปทํางานที่จังหวัดชุมพรได้ และถ้านายอดิเรกไม่ไปทํางาน ตามคําสั่งนายจ้างก็สามารถเลิกจ้างได้

สรุป

นายจ้างจะมีคําสั่งให้นายวิกรมไปทํางานที่จังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้ แต่มีคําสั่งให้นายอดิเรก ไปทํางานที่จังหวัดชุมพรได้

Advertisement