การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW4004 กฎหมายแรงงานและการประกันสังคม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายสมศักดิ์เป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมายบริษัท สิงห์ขาว จํากัด ขณะนั่งทํางานที่บริษัทฯ ลูกน้องในฝ่ายกฎหมายนําเรื่องที่เกิดกับพนักงานบริษัทฯ มาปรึกษานายสมศักดิ์มีข้อเท็จจริงดังนี้

1.1 นายสมชาย นายสมหวัง นายสมสนุก พนักงานบริษัททั้ง 3 คน เล่นการพนันกันในบริษัท แต่เป็นเวลาพักงานตอนกลางวัน เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการเล่นการพนันในบริษัท จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่

1.2 มีพนักงานบริษัทประมาณ 15 คน ร่วมกันเล่นแชร์ในบริษัท จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่

ดังนี้ นายสมศักดิ์ จะต้องตอบข้อหารือนี้อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง…”

มาตรา 119 วรรคหนึ่ง “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่ง กรณีใดดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทําให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ระเบียบ หรือคําสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทําผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทํางานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มี เหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจําคุกตามคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้ กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ”

วินิจฉัย

ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 ได้กําหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างด้วย เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง เว้นแต่ถ้าเข้าข้อยกเว้นกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 วรรคหนึ่ง นายจ้างย่อมมีสิทธิที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างได้

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1.1 การที่นายสมชาย นายสมหวัง และนายสมสนุก พนักงานของบริษัทฯ ร่วมกันเล่นการพนัน ในบริษัทนั้น การเล่นการพนันของลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นเวลาในขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือนอกเวลาปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม นอกจากจะเป็นการกระทําที่ผิดกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นบ่อเกิดอาชญากรรมอาจทะเลาะวิวาทบาดหมางในหมู่ คนงานด้วยกัน ทําลายความสามัคคี ทําให้ผลงานลดน้อยลง และอาจทําให้นายจ้างเสียหายทางชื่อเสียงได้ การกระทําของลูกจ้างทั้ง 3 คน ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางานในเรื่องการเล่นการพนันและถือ ว่าเป็นกรณีร้ายแรงที่นายจ้างไม่จําเป็นต้องตักเตือนตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) ดังนั้น กรณีนี้นายจ้างสามารถ เลิกจ้างลูกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างทั้ง 3 คน (ฎีกาที่ 1322/2523)

1.2 การที่มีพนักงานบริษัทประมาณ 15 คน ร่วมกันเล่นแชร์ในบริษัทนั้น แม้การเล่นแชร์ จะเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน (กรณีบริษัทมีข้อบังคับห้ามมิให้ลูกจ้างเช่นแชร์) แต่กรณีดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง ดังนั้นนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างทันทีโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ ถ้านายจ้างจะเลิกจ้าง ต้องมีการตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อนตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) (ฎีกาที่ 2448/2523)

สรุป

กรณีตาม 1.1 และ 1.2 นายสมศักดิ์จะต้องให้คําปรึกษาแก่ลูกน้องฝ่ายกฎหมายของตน ดังที่ได้อธิบายไว้ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 2 นายสนิทกับนางสาวรุ่งเรืองเป็นลูกจ้างของนายสุวรรณ ทํางานมาแล้ว 4 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 20,000 บาท และเบี้ยขยันเดือนละ 2,000 บาท นายสุวรรณต้องการปิดกิจการในวันที่ 1 เมษายน จึงแจ้งให้ลูกจ้างทราบและให้ไปทํางานกับนายนครซึ่งทํากิจการประเภทเดียวกัน และต้องการลูกจ้าง เพิ่มเติมอีกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป นางสาวรุ่งเรืองไปทํางานกับนายนครตามที่นายสุวรรณสั่ง แต่นายสนิทเห็นว่าเดินทางไปทํางานไกลกว่าที่ทํางานเดิมจึงไม่ยินยอมไปตามคําสั่งของนายสุวรรณ ในเดือนเมษายนนายสุวรรณจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้นายสนิทโดยถือว่าไม่ไปทํางานเอง เช่นนี้ ท่านเห็นว่า นายสนิทจะต่อสู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

มาตรา 17 วรรคสอง “ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจ บอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่าย ค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่ จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน”

มาตรา 67 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ให้นายจ้าง จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้าง พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 30”

มาตรา 118 “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้

(3) ลูกจ้างซึ่งทํางานติดต่อกันครบสามปี แต่ไม่ครบหกปี ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตรา สุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทํางานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสําหรับลูกจ้างซึ่ง ได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคํานวณเป็นหน่วยรายการเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทําใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทํางานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดของสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้าง ไม่ได้ทํางานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดําเนินกิจการต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสนิทและนางสาวรุ่งเรืองเป็นลูกจ้างของนายสุวรรณ ทํางาน มาเล้ว 4 ปี เมื่อนายสุวรรณต้องการปิดกิจการในวันที่ 1 เมษายน จึงได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบและให้ไปทํางานกับนายนครซึ่งทํากิจการประเภทเดียวกัน และต้องการลูกจ้างเพิ่มเติมอีกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป โดย นางสาวรุ่งเรืองยินยอมไปทํางานกับนาย นครตามที่นายสุวรรณสั่ง แต่นายสนิทเห็นว่าเดินทางไปทํางานไกลกว่า ที่ทํางานเดิมจึงไม่ยินยอมไปตามที่นายสุวรรณสั่ง ทําให้ในเดือนเมษายนนายสุวรรณจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้นายสนิท โดยถือว่าไม่ไปทํางานเองนั้น ตามกฎหมายในการโอนย้ายลูกจ้างให้ไปทํางานกับนายจ้างอื่นนั้นจะต้องให้ลูกจ้าง ยินยอมด้วย (ป.พ.พ. มาตรา 577) ดังนั้น เมื่อนายสนิทไม่ยินยอม จึงถือว่านายสุวรรณไม่ให้นายสนิททํางาน ต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ อันถือว่าเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง

เมื่อถือว่าการกระทําของนายสุวรรณเป็นการเลิกจ้าง และตามข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า สัญญาจ้างระหว่างนายสุวรรณกับนายสนิทเป็นสัญญาจ้างที่มีกําหนดระยะเวลา ดังนั้นนายสนิทย่อมสามารถต่อสู้ ได้ว่าการที่นายสุวรรณจะเลิกสัญญาจ้าง จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้นายสนิททราบล่วงหน้า ในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดการจ่ายค่าจ้างในคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากัน เมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้าง คราวถัดไป แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกิน 3 เดือน ตามมาตรา 17 วรรคสอง และนอกจากนั้นนายสนิท ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยหรือสิทธิอื่น ๆ อีกดังนี้คือ

1 ค่าชดเชย ตามมาตรา 118 (3) คือ มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 180 วัน (6 เดือน) ตาม ค่าจ้างอัตราสุดท้ายรวมเป็นเงิน 120,000 บาท

2 สิทธิอื่น ๆ เมื่อกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างมิใช่กรณีตามมาตรา 119 ดังนั้น นายสนิทจึงมี สิทธิได้รับค่าจ้างสําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจําปีที่ลูกจ้างจึงมี สิทธิได้รับตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง

สรุป

นายสนิทสามารถต่อสู้ได้ว่าการกระทําของนายสุวรรณถือเป็นการเลิกจ้างจึงต้องบอก กล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคสอง และนายสนิทมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 (3) และค่าจ้าง สําหรับวันหยุดพักผ่อนประจําปีในปีที่เลิกจ้างตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้น

 

ข้อ 3. บริบูรณ์ทํางานเป็นลูกจ้างบริษัท เอสเคทราเวล จํากัด ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน ๆ ละ 32,000 บาท บริบูรณ์พาลูกค้าของบริษัทไปท่องเที่ยวทางทะเลและล่องเรือเพื่อชมทิวทัศน์ที่เกาะเต่า ได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มระหว่างการเดินทาง หน่วยกู้ภัยได้ค้นหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแต่ไม่พบบริบูรณ์ ดังนี้ เกตุแก้ว ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของบริบูรณ์จะมีสิทธิในเงินทดแทนจากนายจ้างหรือไม่ บริบูรณ์ยังมีบุตรชาย 2 คน คือ ด.ช.มานะ อายุ 9 ปี และนายปิยะ อายุ 17 ปี โดยปิยะไม่ได้เรียนต่อแต่ทํางานช่วยครอบครัวแล้ว ดังนี้ บุตรทั้งสองคนจะมีสิทธิในเงินทดแทนด้วยหรือไม่ ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. เงินทดแทน พ.ศ. 2537

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“สูญหาย” หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างทํางานหรือปฏิบัติตามคําสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างทํางาน หรือปฏิบัติตาม คําสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทาง โดยพาหนะทางบก ทางอากาศ หรือทางน้ำ เพื่อไปทํางานให้นายจ้างซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น”

มาตรา 16 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ให้ นายจ้างจ่ายค่าทําศพแก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างเป็นจํานวนหนึ่งร้อยเท่าของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ํารายวัน ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน”

มาตรา 18 “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทน เป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

(4) ร้อยละหกสิบของค่าจ้างรายเดือน สําหรับกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย มีกําหนดแปดปี

ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และ ไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด”

มาตรา 20 วรรคหนึ่ง “เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายหรือ สูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง

(1) บิดามารดา

(2) สามีหรือภริยา

(3) บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่”

มาตรา 21 “ให้ผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน

ในกรณีที่สิทธิได้รับเงินทดแทนสิ้นสุดลงเพราะผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ผู้หนึ่งผู้ใดถึงแก่ความตาย หรือสามีหรือภริยาสมรสใหม่หรือมิได้สมรสใหม่แต่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าอยู่กินฉันสามีหรือภริยากับ หญิงหรือชายอื่น หรือบุตรไม่มีลักษณะตามมาตรา 20 (3) หรือ (4) อีกต่อไป ให้นําส่วนแบ่งของผู้หมดสิทธิ เพราะเหตุหนึ่งเหตุใดดังกล่าวไปเฉลี่ยให้แก่ผู้มีสิทธิอื่นต่อไป”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่บริบูรณ์ทํางานเป็นลูกจ้างของบริษัท เอสเคทราเวล จํากัด ได้พาลูกค้า ของบริษัทไปท่องเที่ยวทางทะเล และล่องเรือเพื่อชมทิวทัศน์ที่เกาะเต่า ได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มระหว่างการเดินทาง หน่วยกู้ภัยได้ค้นหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแต่ไม่พบบริบูรณ์นั้น กรณีเช่นนี้ถือว่าบริบูรณ์ลูกจ้างได้หายไป ในระหว่างเดินทางโดยพาหนะทางน้ำเพื่อไปทํางานให้นายจ้าง เพราะพาหนะที่เดินทางประสบเหตุอันตราย และ มีเหตุอันควรเชื่อว่าบริบูรณ์ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ซึ่งตาม พ.ร.บ. เงินทดแทนมาตรา 5 จะให้ถือว่าเป็นการสูญหาย และมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ ก็ต่อเมื่อเวลาที่ลูกจ้างได้หายไปนั้นได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุนั้น

และเมื่อบริบูรณ์ลูกจ้างได้สูญหายไปจนครบ 120 วัน นับแต่วันที่เกิดเหตุ ย่อมถือว่าบริบูรณ์ ลูกจ้างถึงแก่ความตาย ดังนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าทําศพให้แก่ผู้จัดการศพของลูกจ้างตามมาตรา 16 ซึ่งผู้จัดการศพ ของลูกจ้างคือนางเกตุแก้วภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของบริบูรณ์ โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าทําศพให้นางเกตุแก้ว เป็นเงิน 31,000 บาท (100 คูณด้วยอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวัน ซึ่งปัจจุบันคือ 310 บาท) และนายจ้างต้องจ่าย ค่าทดแทนให้แกนางเกตุแก้วตามมาตรา 18 (4) ประกอบวรรคสี่ อีกเป็นจํานวน 12,000 บาท (ร้อยละ 60 ของค่าจ้าง รายเดือน คือ 19,200 บาท แต่ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประกาศกําหนด คือ 12,000 บาท เป็นระยะเวลา 8 ปี

ส่วนทายาทของบริบูรณ์คือ ด.ช.มานะ อายุ 9 ปี และนายปิยะ อายุ 17 ปี แม้จะไม่ได้เรียนต่อ แต่ทํางานช่วยครอบครัว ย่อมมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างตามมาตรา 18 (4) ประกอบวรรคสี่ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะทั้งสองมีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3)

และเมื่อทายาทของบริบูรณ์ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเป็นรายเดือนตามมาตรา 18 (4) ประกอบวรรคสี่ จากนายจ้างตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) และ (3) มี 3 คน คือนางเกตุแก้ว ด.ช.มานะ และนายปิยะ ดังนั้นแต่ละคนจะได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากันคือคนละ 4,000 บาท ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง

สรุป

นางเกตุแก้วมีสิทธิได้รับเงินทดแทนคือค่าทําศพจํานวน 31,000 บาท และค่าทดแทน เป็นรายเดือน ๆ ละ 4,000 บาท ส่วน ด.ช.มานะ และนายปิยะ จะได้รับค่าทดแทนเป็นรายเดือน ๆ ละ 4,000 บาท

 

ข้อ 4. บริษัท พีทีเคมิคอล จํากัด มีลูกจ้างทั้งหมด 520 คน ในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ประสบปัญหาทางการเงินขาดสภาพคล้อง ทําให้บริษัทฯ มีความจําเป็นต้องลดโบนัสของพนักงานในปลายปี 2560 พิษณุกรรมการผู้จัดการของบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งพนักงานทุกคนให้ทราบเหตุผลและ ความจําเป็นของบริษัทฯ พร้อมทั้งแจ้งถึงมติที่ประชุมกรรมการบริษัทฯ ในการปรับลดโบนัสของ พนักงาน ดังนี้ ให้อธิบายว่าหากลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยกับการกระทําของบริษัทฯ และ รวมตัวกันคัดค้าน บริษัทฯ ต้องดําเนินการอย่างไรบ้างตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518

มาตรา 5 “ในพระราชบัญญัตินี้

“สภาพการจ้าง” หมายความว่า เงื่อนไขการจ้างหรือการทํางาน กําหนดวันและเวลาทํางาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทํางาน”

มาตรา 13 “การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือการแก้ไข เพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ

ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง นายจ้างต้องระบุชื่อตนเองเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจา หรือจะตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาก็ได้ ถ้านายจ้างตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจา ผู้แทนของนายจ้าง ต้องเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือลูกจ้างประจําของนายจ้าง กรรมการของสมาคมนายจ้าง หรือ กรรมการของสหพันธ์นายจ้าง และต้องมีจํานวนไม่เกินเจ็ดคน…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท พีทีเคมิคอล จํากัด มีความจําเป็นต้องลดโบนัสของพนักงาน ในปลายปี 2560 นั้น เมื่อการปรับลดโบนัสของพนักงานซึ่งเป็นสวัสดิการของลูกจ้างถือเป็นการเปลี่ยนแปลง สภาพการจ้าง ตามนัยของมาตรา 5 โดยนายจ้างได้มีหนังสือแจ้งให้แก่พนักงานทุกคนได้ทราบ แต่ลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่เห็นด้วย และรวมตัวกันคัดค้านนั้น บริษัท พีทีเคมิคอล จํากัด จึงต้องปฏิบัติตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติ ไว้ว่า การเรียกร้องให้มีการกําหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง นายจ้างหรือลูกจ้างต้องแจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ นายจ้างเป็นผู้แจ้งข้อเรียกร้อง ดังนั้น นายจ้างจะต้อง ปฏิบัติตามมาตรา 13 วรรคสอง กล่าวคือ นายจ้างจะต้องระบุชื่อผู้เข้าร่วมในการเจรจา โดยจะระบุชื่อตนเองเป็น ผู้เข้าร่วมในการเจรจา หรือจะตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการเจรจาก็ได้ ถ้านายจ้างตั้งผู้แทนเป็นผู้เข้าร่วมในการ เจรจา ผู้แทนของนายจ้างจะต้องเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือลูกจ้างประจําของนายจ้าง กรรมการ ของสมาคมนายจ้าง หรือกรรมการของสหพันธ์นายจ้าง และต้องมีจํานวนไม่เกิน 7 คน และเมื่อได้มีการแจ้ง ข้อเรียกร้องให้แก่ลูกจ้างแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ต่อไป

สรุป

หากลูกจ้างของบริษัทฯ ไม่เห็นด้วยกับการกระทําของบริษัทฯ และรวมตัวกันคัดค้าน บริษัทฯ จะต้องดําเนินการตามมาตรา 13 ดังกล่าวข้างต้น

Advertisement