LAW4002 การว่าความ 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน

นายบูรพา อายุ 60 ปี อาชีพค้าขาย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารเลขที่ 123 ถนนรัชดาภิเษก แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร

โดยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 นายอาคเนย์ อายุ 45 ปี อาชีพรับจ้าง ได้ตกลงทําสัญญาเช่าตึกแถว ดังกล่าวจากนายบูรพา มีกําหนดสัญญาเช่า 1 ปี นับแต่วันทําสัญญา โดยตกลงชําระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ผู้เช่าตกลงชําระค่าเช่าล่วงหน้าภายในวันที่ 1 ของทุกเดือน และมีข้อตกลงว่า เมื่อครบกําหนดสัญญาเช่าหรือเมื่อผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาเช่า ผู้เช่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจาก อาคารตึกแถวที่เช่า พร้อมกับส่งมอบการครอบครองผู้เข่าให้แก่ผู้ให้เช่าทันที่ 1

ต่อมาปรากฏว่า ผู้เช่าค้างชําระค่าเช่า งวดเดือนพฤศจิกายน 2559 และเดือนธันวาคม 2559 รวมเป็น 2 งวด แต่เมื่อครบกําหนดสัญญาเช่า ผู้เช่ายังคงอาศัยอยู่ในตึกแถวที่เช่าตลอดมาโดยไม่ชําระค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่า อีกเลย

เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 นายบูรพาจึงมอบหมายให้ทนายความชื่อ นายอุดร อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 567 ถนนรามคําแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ทําหนังสือบอกกล่าวฉบับลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 แจ้งให้ผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าและชําระค่าเช่าที่ค้างอยู่มาชําระภายในกําหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับ หนังสือบอกกล่าว โดยนายอุดรได้ทําหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังผู้เช่าพร้อมใบตอบรับ ผู้เช่า ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย เละยังคงอาศัยอยู่ในตึกแถวดังกล่าว

นายบูรพาจึงมอบอํานาจให้นายอาสา อายุ 30 ปี เป็นผู้ฟ้องคดีแทน โดยมีการทําหนังสือมอบอํานาจ ฟ้องคดีฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2560

ให้ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเช่าที่ค้างชําระและค่าเสียหายอีกเป็นเวลา 10 เดือน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 รวมทั้งให้เรียกค่าเช่าที่พึงชําระแต่ละเดือนจนกว่าส่งมอบการครอบครองให้แก่โจทก์ และยื่นคําแถลงขอ ปิดหมายพร้อมฟ้องตามสําเนาทะเบียนบ้านจําเลยที่แนบมาพร้อมคําแถลงด้วย

ศาลมีคําสั่งนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 โดยจําเลยไม่ได้ยื่นคําให้การต่อสู้คดี โดยต่อมาศาลได้มีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561

ให้นักศึกษาทําคําตอบในคดีแพ่งดังต่อไปนี้

1 หนังสือบอกกล่าว

2 หนังสือมอบอํานาจฟ้องคดี

3 คําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องแพ่ง

4 คําแถลงขอให้ปิดหมายพร้อมคําฟ้อง

ธงคําตอบ

1 หนังสือบอกกล่าว (เลิกสัญญาเช่า)

ทําที่ เลขที่…………………..

วันที่ 1 กรกฎาคม 2560

 

เรื่อง ขอบอกเลิกสัญญาเช่าและขอให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากทรัพย์สินที่เช่า

เรียน นายอาคเนย์

อ้างถึง หนังสือสัญญาเช่าอาคารตึกแถว ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2559

ตามที่ท่านได้ทําสัญญาเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมีลักษณะเป็นอาคารตึกแถวอาคารเลขที่ 123 ถนนรัชดาภิเษก แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร จากผู้ให้เช่า โดยทําหนังสือเช่ามีกําหนด 1 ปี ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ปรากฏตามสัญญาเช่าที่ดินอาคารตึกแถวฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2559 รายละเอียดตามที่ท่านทราบดีอยู่แล้ว

ต่อมา ท่านผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าตึกแถวดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 8 เดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) เป็นเหตุให้ผู้ให้เช่า ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการได้รับค่าเช่าจากทรัพย์สินของผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าจึงไม่ประสงค์ให้ผู้เช่า เช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวอีกต่อไป

ข้าพเจ้าในฐานะทนายความผู้รับมอบอํานาจจากนายบูรพา ผู้ให้เช่า จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านชําระเงินค่าเช่าอาคารตึกแถวดังกล่าวจํานวน 80,000 บาท (แปดหมื่นบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่ผู้ให้เช่า และย้ายออกจากอาคารตึกแถวที่เช่าพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากอาคารตึกแถว ที่เช่าด้วยค่าใช้จ่ายของท่านเอง ภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่ท่านได้รับหนังสือฉบับนี้ หากพ้นกําหนด ดังกล่าว ท่านยังเพิกเฉยไม่ชําระค่าเช่าที่อ้างและย้ายออกจากอาคารตึกแถว ข้าพเจ้ามีความจําเป็นต้องดําเนินการ ตามกฎหมายต่อไป จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านดําเนินการดังกล่าวต่อไป

 

ขอแสดงความนับถือ

………………………….

(นายอุดร ) ทนายความผู้รับมอบอํานาจ

 

 

2 หนังสือมอบอํานาจฟ้องคดี

ทําที่ เลขที่ ……… ถนน …………. ซอย ………..

 แขวง … เขต ……. กรุงเทพมหานคร

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2560

 

โดยหนังสือฉบับนี้ ข้าพเจ้า นายบูรพา เลขบัตรประจําตัวประชาชนเลขที่…….. อายุ 60 ปี ขอมอบอํานาจให้นายอาสา เลขบัตรประจําตัวประชาชนเลขที่…………………….. อายุ 30 ปี เป็นผู้มีอํานาจฟ้องและ ดําเนินคดีแพ่งกับ นายอาคเนย์ ในคดีแพ่งหมายเลขดําที่ 1/2560 ในข้อหา ขับไล่ เรียกค่าเช่า เรียกค่าเสียหาย และข้อหาอื่นต่อศาล

เพื่อการนี้ ให้ผู้รับมอบอํานาจมีอํานาจดําเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ไปในทางจําหน่ายสิทธิ เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การใช้สิทธิหรือ การสละสิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา หรือการขอให้พิจารณาคดีใหม่ การร้องสอด การร้องขัดทรัพย์ การร้องขอกันส่วน การร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ตลอดจนเข้าเป็นคู่ความร่วมในคดี รับหรือส่งเอกสารหรือเงินจากคู่ความหรือแก่คู่ความ อีกฝ่ายหนึ่ง/บุคคลภายนอก/ศาล/เจ้าพนักงานบังคับคดีและดําเนินกระบวนการในชั้นบังคับคดีจนถึงที่สุด

ให้ผู้รับมอบมีอํานาจในการแต่งตั้งทนายความหรือตัวแทนช่วงโดยให้มีหน้าที่ดังกล่าวทั้งปวงด้วย การใดที่ผู้รับมอบอํานาจได้กระทําลงในขอบอํานาจของหนังสือฉบับนี้ย่อมมีผลผูกพันผู้มอบอํานาจตามกฎหมาย ทุกประการ

เพื่อเป็นหลักฐานจึงลงลายมือชื่อพร้อมประทับตรา (ถ้ามี) ไว้ต่อหน้าพยานเป็นสําคัญ

 

ลงชื่อ…………………..ผู้มอบอํานาจ        ลงชื่อ…………………..ผู้มอบอํานาจ

( นายบูรพา )                                           ( นายอาสา )

ลงชื่อ……………………พยาน                   ลงชื่อ…………………..พยาน

 

3 คําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องแพ่ง

 

ข้อ 1 ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มอบอํานาจให้นายอาสาเป็นผู้รับมอบอํานาจในการดําเนินคดีแทนโจทก์ได้ปรากฏตามสําเนาหนังสือมอบอํานาจฉบับลงวันที่ 1 กันยายน 2560 เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 1

ข้อ 2 โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตึกแถวเลขที่ 123 ถนนรัชดาภิเษก แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร รายละเอียดปรากฏตามสําเนาโฉนดที่ดินและอาคารเลขที่ 123 เอกสารท้ายคําฟ้อง หมายเลข 2

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 จําเลยได้ตกลงทําสัญญาเช่าตึกแถวเลขที่ 123 ถนนรัชดาภิเษก แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร จากโจทก์มีกําหนดเวลาเช่า 1 ปี นับแต่วันทําสัญญา โดยจําเลย ตกลงจะชําระค่าเช่าเป็นรายเดือน เดือนละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) โดยจําเลยตกลงชําระค่าเช่าล่วงหน้า ภายในวันที่ 1 ของทุกเดือน และมีข้อตกลงว่า เมื่อครบกําหนดสัญญาเช่าหรือเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่า จําเลย ตกลงจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากอาคารตึกแถวที่เช่า พร้อมกับส่งมอบการครอบครองของจําเลย ให้แก่โจทก์ทันที ปรากฏตามหนังสือสัญญาเช่าอาคารตึกแถว เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 3

ข้อ 4 ต่อมาจําเลยผิดนัดไม่ชําระค่าเช่าตึกแถวให้แก่โจทก์ในงวดเดือนพฤศจิกายน 2559 และเดือนธันวาคม 2559 รวมเป็น 2 งวด และเมื่อครบกําหนดสัญญาเช่าตึกแถวดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว จําเลย ยังคงครอบครองทําประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยจําเลยผิดนัดผิดสัญญาไม่ชําระค่าเช่าตึกแถว ดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 จนถึงวันฟ้อง รวมทั้งสิ้น 12 เดือน

โจทก์จึงได้มอบหมายให้ทนายความทําหนังสือขอบอกเลิกสัญญาเช่า ขอให้ชําระเงินค่าเช่าที่ค้าง พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และขอให้จําเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 แต่จําเลยเพิกเฉยไม่ยอมชําระค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ค้างชําระ ทั้งไม่ยอมขนย้าย ทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือบอกกล่าว ทวงถามและหนังสือตอบรับทางไปรษณีย์ เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 4 และ 5

ข้อ 5 การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จําเลยจึงต้องชําระค่าเสียหาย ดังต่อไปนี้

5.1 ค่าเช่าที่ดินดังกล่าวพร้อมอาคารตึกแถวตามฟ้องที่ค้างชําระตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 12 เดือน ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเช่าจํานวนทั้งสิ้น 120,000 บาท (หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถ้วน)

5.2 ค่าเสียหายอันเกิดจากการขาดประโยชน์จากการที่จําเลยไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินและ บริวารออกจากที่ดินของโจทก์หลังจากครบกําหนดระยะเวลาการเช่า ซึ่งหากโจทก์นําที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ไปให้บุคคลอื่นเช่า อาจเรียกค่าเช่าได้ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจําเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งหมด

5.3 ให้จําเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และ ส่งมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในสภาพเรียบร้อยให้แก่โจทก์โดยค่าใช้จ่ายของจําเลยเอง หากจําเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคําพิพากษาแทนการแสดงเจตนา

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับเอาแก่จําเลยได้ จึงต้องนําคดีมาฟ้องศาลเพื่อขอบารมีศาล เป็นที่พึ่งต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

คําขอท้ายฟ้อง

เพราะฉะนั้นขอศาลออกหมายเรียกตัวจําเลยมาพิจารณาพิพากษา และบังคับจําเลยตามคําขอ ต่อไปนี้

1 ให้จําเลยชําระค่าเช่าที่ดินดังกล่าวพร้อมตึกแถวตามฟ้องที่ค้างชําระตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 12 เดือน ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 120,000 บาท (หนึ่งแสน สองหมื่นบาทถ้วน)

2 ให้จําเลยชําระค่าเสียหายอันเกิดจากการขาดประโยชน์จากการที่จําเลยไม่ยอมขนย้าย ทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ในอัตราเดือนละ 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) นับแต่วันถัดจาก วันฟ้องจนกว่าจําเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งหมด

3 ให้จําเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินตึกแถวของโจทก์ และส่งมอบคืน การครอบครองให้แก่โจทก์

4 ให้จําเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

4 คําแถลงขอให้ปิดหมายพร้อมคําฟ้อง

 

คดีนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจําเลยต่อศาลในวันนี้ โจทก์ขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า เนื่องจากจําเลยมีภูมิลําเนาที่แน่นอนตามฟ้อง รายละเอียดปรากฏตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร เอกสารท้ายคําแถลงหมายเลข 1

ดังนั้น ในการนําส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยนั้น หากไม่พบตัวจําเลย หรือ ไม่มีผู้ใดยอมรับหมายไว้แทนโดยชอบ หรือไม่ว่าในกรณีใด ๆ ขอศาลได้โปรดมีคําสั่งปิดหมายเรียกและสําเนา คําฟ้องไว้ ณ ภูมิลําเนาของจําเลยด้วย

ในการนี้ โจทก์ยินดีเสียค่าธรรมเนียมศาลตามระเบียบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ………………………ทนายความโจทก์

คําร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า นายอุดร ทนายความโจทก์ เป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ ………………….ผู้เรียงและพิมพ์

LAW4002 การว่าความ 1/2560

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 นายทรัพย์ได้มอบเช็คธนาคารมหาสมบัติ สาขาหัวหมาก เลขที่ 00001 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 จํานวนเงิน 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) ให้กับนายสิน เพื่อชําระหนี้ค่าเช่าป้ายโฆษณา เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกําหนด นายสินได้นําเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคารตามเช็ค ปรากฏว่าเช็คดังกล่าวธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยให้เหตุผลว่า “บัญชีปิดแล้ว” พร้อมกับคืนเช็คและใบคืนเช็คให้กับนายสิน นายสินได้ทําหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังนายทรัพย์เพื่อให้ชําระเงินตามเช็ค นายทรัพย์ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วยังคงเพิกเฉย นายสินจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 พร้อมคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องในอัตรา ร้อยละ 7.5 ต่อปี ในการฟ้องนายสินได้มอบอํานาจให้คม ทนายความเป็นผู้ฟ้องคดีและดําเนินคดีแทน เพื่อยื่นฟ้อง นายทรัพย์เป็นคดีแพ่งต่อศาล ให้นักศึกษาร่างคําฟ้องคดีแพ่งพร้อมคําขอท้ายฟ้องเพื่อยื่นต่อศาล โดยไม่ต้องคํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้องแพ่ง

ข้อ 1. ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มอบอํานาจให้ (ชื่อนายคม ทนายความ) เป็นผู้มีอํานาจ ฟ้องและดําเนินคดีแทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

ข้อ 2. โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คของธนาคารมหาสมบัติ สาขาหัวหมาก เลขที่ 00001 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 สั่งจ่ายเงินจํานวน 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) โดยจําเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อชําระหนี้ ค่าเช่าป้ายโฆษณาแก่โจทก์ ดังปรากฏตามสําเนาภาพถ่ายเช็คและใบคืนเช็คท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 2

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โจทก์ได้นําเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารมหาสมบัติ สาขาหัวหมาก ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า “ปิดบัญชีแล้ว” พร้อมกับคืนเช็คและใบคืนเช็คให้กับโจทก์ โจทก์จึงไม่ได้รับเงินตามเช็คนั้น

ข้อ 4. โจทก์ชอบที่จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินของเช็คคือ 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 อันเป็นวันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนถึงวันฟ้องเป็น เวลา 3 เดือน คิดเป็นดอกเบี้ย 11,250 บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน)

ข้อ 5. โจทก์ได้ทําหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจําเลยเพื่อให้ชําระเงินตามเช็ค เมื่อจําเลย ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วยังคงเพิกเฉยไม่ยอมชําระให้กับโจทก์ การกระทําของจําเลยทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถาม เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 3

จําเลยต้องรับผิดชําระเงินต้นตามเช็คให้แก่โจทก์จํานวน 600,000 บาท (หกแสนบาทถ้วน) และดอกเบี้ยจํานวน 11,250 บาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน) รวมเป็นเงินที่จําเลยจะต้องชําระคืน ให้แก่โจทก์จํานวน 611,250 บาท (หกแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน)

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจําเลยได้ จึงต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คําขอท้ายฟ้อง

ข้อ 1. ขอให้จําเลยชําระเงินต้นตามเช็คและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 611,250 บาท (หกแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน)

ข้อ 2. ขอให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 600,000 บาท (หกแสน บาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยจะชําระเสร็จสิ้น

ข้อ 3. ขอให้จําเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจําเลยต่อศาลแพ่งในข้อหาผิดสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 1,000,000 บาท ขอให้ศาลพิพากษาให้จําเลยชําระเงินจํานวน 1,000,000 บาทแก่โจทก์ ศาล มีคําสั่งว่า “รับฟ้อง หมายส่งสําเนาให้จําเลย ให้โจทก์นําส่งภายใน 5 วัน ส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลง ภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” โจทก์จึงได้วางเงินค่านําหมายตาม คําสั่งศาล ต่อมาวันที่ 2 ตุลาคม 2560 เจ้าพนักงานศาลจึงได้ไปส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้อง ให้แก่จําเลย ณ ภูมิลําเนาของจําเลยตามฟ้อง เมื่อเจ้าพนักงานศาลไปถึงบ้านของจําเลยตามภูมิลําเนา ปรากฏว่า บ้านปิดประตูล็อคกุญแจไว้ ไม่พบบุคคลใดอยู่ในบ้าน เจ้าพนักงานศาลจึงทํารายงาน เสนอศาลว่า บ้านจําเลยปิดประตูล็อคกุญแจ ไม่พบบุคคลใดอยู่ในบ้าน จึงไม่สามารถส่งหมายเรียก และสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยได้ ศาลมีคําสั่งในรายงานการเดินหมายว่า “รอโจทก์แถลงรายละเอียด ปรากฏตามรายการเดินหมาย ดังนั้น ให้นักศึกษาในฐานะทนายความโจทก์ ยื่นคําแถลงต่อศาลขอให้ปิดหมายเรียกและสําเนา คําฟ้องโดยคัดสําเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของจําเลยแนบท้ายคําแถลงด้วย เพื่อยืนยัน ภูมิลําเนาของจําเลย ให้เรียบเรียงเฉพาะเนื้อหาของคําแถลง ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคํานึงถึงแบบพิมพ์ คําแถลงของศาล

ธงคําตอบ

คําแถลงขอให้ปิดหมาย

ข้อ 1. คดีนี้ อยู่ในระหว่างนําส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยแล้ว แต่ปรากฏว่า ส่งหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยไม่ได้เพราะบ้านจําเลยปิดประตูล็อคกุญแจไว้ ไม่พบบุคคลใดอยู่ในบ้าน รายละเอียดปรากฏตามรายงานการเดินหมายในสํานวนแล้วนั้น

โจทก์ขอประทานกราบเรียนต่อศาลว่า จําเลยมีภูมิลําเนาตามฟ้องโจทก์ทุกประการ รายละเอียด ปรากฏตามรายการทะเบียนราษฎร เอกสารที่แนบท้ายคําแถลงนี้ จึงขอศาลได้โปรดมีคําสั่งให้ส่งหมายเรียกและ สําเนาคําฟ้องให้แก่จําเลยอีกครั้ง หากครั้งนี้ไม่พบจําเลยและไม่มีผู้ใดรับหมายเรียกและสําเนาคําฟ้องไว้แทนจําเลยโดยชอบ ขอศาลได้โปรดมีคําสั่งให้ปิดหมายเรียกของศาลและสําเนาคําฟ้องของโจทก์ ณ ภูมิลําเนาของจําเลยด้วย ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ ……. (ลายมือชื่อนักศึกษา)……… ผู้แถลง

คําแถลงฉบับนี้ ข้าพเจ้า………. (ชื่อนักศึกษา)……. ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและเขียน

ลงชื่อ……… (ลายมือชื่อนักศึกษา)……….. ผู้เรียงและเขียน

* หมายเหตุ ที่ใช้คําว่า “ผู้เรียงและเขียน” นั้น เพราะนักศึกษา “เขียน” คําตอบส่งท่านอาจารย์ ไม่ได้ “ พิมพ์” คําตอบแต่อย่างใด ท่านอาจารย์บรรยายโดยให้ใช้คําว่าเขียน)

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 เวลาประมาณ 15.00 นาฬิกา นายสมคิดได้ไปที่บ้านของนายสมศักดิ์ที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร แล้วนําพระเครื่องสมเด็จวัดระฆังบอกขายให้แก่ นายสมศักดิ์ในราคา 200,000 บาท โดยแจ้งว่าเป็นพระสมเด็จวัดระฆังของแท้ นายสมศักดิ์หลงเชื่อ ว่าเป็นพระสมเด็จวัดระฆังจึงตกลงซื้อในราคาดังกล่าว ครั้นต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2560 นายสมศักดิ์ ได้นําพระเครื่องสมเด็จวัดระฆังดังกล่าวไปให้เซียนพระดู จึงทราบว่าพระเครื่องสมเด็จวัดระฆังดังกล่าว ไม่ใช่พระเครื่องสมเด็จวัดระฆัง แต่เป็นพระเครื่องที่ทําปลอมขึ้นไม่มีราคาแต่อย่างใด นายสมศักดิ์ เห็นว่าตนถูกหลอกจนเสียเงินจํานวน 200,000 บาท จึงไปจ้างทนายความเพื่อให้ฟ้องร้องดําเนิน คดีอาญากับนายสมคิดในข้อหาฉ้อโกง

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง…….ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ….

ให้นักศึกษาในฐานะทนายความเรียงคําฟ้องคดีฉ้อโกงให้นายสมศักดิ์เป็นโจทก์ฟ้องนายสมคิดต่อไป โดยให้เรียงเฉพาะเนื้อหาคําฟ้องเท่านั้น

ธงคําตอบ

ในฐานะทนายความของนายสมศักดิ์ ข้าพเจ้าจะเรียงคําฟ้องในคดีฉ้อโกงนี้เพื่อฟ้องร้อง ดําเนินคดีอาญากับนายสมคิดในข้อหาฉ้อโกง ดังนี้

คําฟ้องคดีอาญา

ข้อ1 . เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 เวลากลางวัน จําเลยนี้โดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า พระเครื่องสมเด็จวัดระฆังที่นํามาบอกขายให้แก่โจทก์ในราคา 200,000 บาท (สองแสน บาทถ้วน) นั้น เป็นพระสมเด็จวัดระฆังของแท้ โดยการหลอกลวงของจําเลยดังกล่าว ทําให้โจทก์หลงเชื่อว่าเป็น พระสมเด็จวัดระฆังจึงตกลงซื้อในราคาดังกล่าว จําเลยจึงได้รับเงินจากโจทก์ผู้ถูกหลอกลวงไป ซึ่งโจทก์มาทราบ ในภายหลังว่าโจทก์ถูกหลอกลวง เพราะความจริงพระเครื่องสมเด็จวัดระฆังดังกล่าวไม่ใช่พระเครื่องสมเด็จวัดระฆัง แต่เป็นพระเครื่องที่ทําปลอมขึ้นไม่มีราคาแต่อย่างใด

เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ข้อ 2. การกระทําของจําเลยทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าวมาแล้วตามความข้างต้น โจทก็ไม่มีทางอื่นใดจะบังคับเอากับจําเลยได้ จึงต้องนําคดีมาสู่ศาล ขอศาลโปรดออกหมายเรียกจําเลยมาไต่สวน มูลฟ้อง เพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษจําเลยต่อไป

อนึ่ง คดีนี้โจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะโจทก์ประสงค์จะดําเนินคดีเอง

LAW4002 การว่าความ S/2559

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ห้างหุ้นส่วนที่ดีเงินด่วนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ตั้งอยู่ตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ  กรุงเทพมหานคร ดําเนินกิจการให้กู้ยืมเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีนายทอง สมบูรณ์ทรัพย์ เป็นผู้จัดการห้างฯ ได้ให้นางสาวแพรไหม จันจนกู้ยืมเงินไป 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยทําสัญญาเป็นหนังสือเอาไว้ทั้งสองฝ่าย ในวันที่ 31 มกราคม 2559 กําหนดชําระคืน ภายใน 1 ปี ส่งมอบเงินครบถ้วนในวันทําสัญญา ครั้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 นางสาวแพรไหมฯ กลับเพิกเฉยไม่ยอมชําระเงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 115,000 บาท ห้างฯ ได้ให้ทนายความส่งหนังสือทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับไปยังนางสาวแพรไหมฯ แต่นางสาวแพรไหมฯ ก็เพิกเฉยอีก ดังนั้นห้างฯ จึงมาพบท่านเพื่อให้ท่านเป็นตัวแทนฟ้องคดีและเป็น ทนายความช่วยร่างคําฟ้องคดีแพ่งและคําขอท้ายฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยให้กับห้างฯ จงร่าง คําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องโดยไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้องแพ่ง

ข้อ 1. โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนดีเงินด่วน” ตั้งอยู่ที่ ตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ดําเนินกิจการให้กู้ยืมเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีนายทอง สมบูรณ์ทรัพย์ เป็นผู้จัดการ

ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มอบอํานาจให้……(ชื่อนักศึกษา)….. เป็นผู้มีอํานาจฟ้องและดําเนินคดี แทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2559 โจทก์ได้ให้จําเลยกู้ยืมเงินไปจํานวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี โดยทําสัญญาเป็นหนังสือเอาไว้ทั้งสองฝ่าย มีกําหนดชําระคืน ภายใน 1 ปี ซึ่งจําเลยได้รับเงินจํานวนที่กู้ไปเรียบร้อยแล้วในวันทําสัญญา รายละเอียดปรากฏตามสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2559 เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 2

ข้อ 3. เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการชําระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จําเลยกลับเพิกเฉยไม่ยอม ชําระเงินคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคิดเป็นเงินรวม 115,000 บาท (หนึ่งแสนหมื่นหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โจทก์ได้ ให้ทนายความส่งหนังสือทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับไปยังจําเลย แต่จําเลยก็เพิกเฉยอีก การกระทําของ จําเลยจึงเป็นการผิดสัญญากู้ยืมเงิน ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถาม และไปรษณีย์ตอบรับเอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 3 และ 4

จําเลยต้องรับผิดชําระเงินต้นคืนให้แก่โจทก์จํานวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) และ ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นดังกล่าวเป็นจํานวนเงิน 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน) รวมเป็นเงินที่จําเลยจะต้องชําระคืนให้แก่โจทก์จํานวน 115,000 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจําเลยได้ จึงต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

คําขอท้ายฟ้อง

ข้อ 1. ให้จําเลยชําระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 115,000 บาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน)

ข้อ 2. ให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสน บาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจําเลยจะชําระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

ข้อ 3. ให้จําเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 2. จงใช้ข้อเท็จจริงจากคําถามข้อ 1. นํามาเขียนหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ในฐานะที่ท่านเป็นทนายความ ตามหลักเกณฑ์สําคัญในการร่างสัญญา

ธงคําตอบ

สัญญากู้ยืมเงิน

สัญญากู้ยืมเงินฉบับนี้ทําขึ้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559

ณ ห้างหุ้นส่วนสามัญดีเงินด่วน เลขที่…………..ตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ระหว่างข้าพเจ้า ห้างหุ้นส่วนสามัญดีดีเงินด่วน ตั้งอยู่เลขที่……..ตลาดบางกะปิ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อไปในสัญญานี้เรียกว่า “ผู้ให้กู้” ฝ่ายหนึ่ง

กับข้าพเจ้า นางสาวแพรไหม จันจน อยู่บ้านเลขที่……………ถนน……………ตรอก/ซอย…….. ตําบล/แขวง…………………………อําเภอ/เขต………………………จังหวัด……………….ซึ่งต่อไปเรียกว่า “ผู้กู้” อีกฝ่ายหนึ่ง

ทั้งสองฝ่ายตกลงทําสัญญากัน ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ผู้ให้กู้ให้ผู้กู้ กู้ยืมเงินไปเป็นเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) โดยในวันทําสัญญานี้ ผู้กู้ได้รับเงินไปเรียบร้อยแล้ว และตกลงว่าจะชําระเงินคืนให้กับผู้ให้กู้ภายในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ข้อ 2. ผู้กู้ตกลงจะให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และตกลงจะชําระดอกเบี้ย ให้ทุก……………………………….. เดือน

ข้อ 3. เงื่อนไขตกลงอื่น ๆ (หากมี) ……………………………….

ข้อ 4. หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด คู่สัญญาฝ่ายนั้นยินยอมให้คู่สัญญา อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องศาลบังคับคดีได้ และยอมชดใช้ค่าใช้จ่ายที่เสียไปในการดําเนินคดีและการบังคับคดีได้อีกด้วย

สัญญานี้ทําขึ้นสองฉบับมีข้อความถูกต้องตรงกัน โดยคู่สัญญาได้อ่านและทําความเข้าใจแล้ว ก่อนลงลายมือชื่อเพื่อเป็นหลักฐานต่อหน้าพยาน

ลงชื่อ ………………………………. ผู้ให้กู้

   (……………………………………….)

ลงชื่อ………………………………….ผู้กู้

   (……………………………………….)

ลงชื่อ……………………………….พยาน

(……………………………………….)

ลงชื่อ……………………………….พยาน

(……………………………………….)

 

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 เวลาประมาณ 12.00 นาฬิกา นายวู้ดด้า ไทยแท้ ได้ไปเสนอขายกระทะยี่ห้อโคเรียนควีนให้แก่นางนิฐฐา ปัญญาเบา ที่บ้านเลขที่ 109 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยนายวัดด้าฯ บอกนางนิฐฐาฯ ว่า “กระทะที่นํามาขายนี้เป็นกระทะที่ผลิตมาจากต่างประเทศมีคุณภาพดีเยี่ยม ใช้ประกอบอาหารโดยไม่ต้องใช้น้ำมัน แข็งแรงทนทาน ซึ่งราคา ขายปกติอยู่ที่ 15,000 บาท ถ้านางนิฐฐาฯ ซื้อวันนี้จะลดให้เหลือ 3,990 บาท และจะแถมให้อีก หนึ่งใบ” นางนิฐฐาฯ หลงเชื่อจึงซื้อได้ในราคา 3,990 บาท ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2560 จึงทราบ จากการดูข่าวโทรทัศน์ว่า กระทะที่นายวัดด้าฯ นํามาขายนั้นความจริงเป็นกระทะที่ทําในประเทศ ราคาเพียงใบละ 1,000 บาท เท่านั้น นางนิฐฐาฯ เห็นว่าตนถูกหลอกลวง เพราะนายวู้ดด้าฯ แสดงข้อความอันเป็นเท็จ ถ้าทราบว่าเป็นของภายในประเทศตนจะไม่ซื้อ จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน ดําเนินคดีกับนายวัดด้าฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ สมมุติว่านักศึกษาเป็นทนายความให้กับนางนิฐฐาฯ ให้ร่างคําฟ้องคดีนี้เฉพาะเนื้อหาคําฟ้องเท่านั้น เพื่อยื่นฟ้องต่อศาล โดยไม่ต้องคํานึงถึงแบบพิมพ์คําฟ้อง

ธงคําตอบ

ในฐานะทนายความของนางนิฐฐา ปัญญาเบา ข้าพเจ้าจะร่างคําฟ้องในคดีฉ้อโกงนี้ เพื่อยื่น ฟ้องต่อศาลดังนี้

 

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 เวลากลางวัน จําเลยนี้โดยทุจริตหลอกลวงโจทก์ด้วยการ แสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า กระทะที่นํามาขายนี้เป็นกระทะที่ผลิตมาจากต่างประเทศ มีคุณภาพดี ใช้ประกอบอาหาร โดยไม่ต้องใช้น้ำมัน แข็งแรงทนทาน ซึ่งราคาขายปกติอยู่ที่ 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ถ้าโจทก์ซื้อในวัน ดังกล่าวจะลดให้เหลือ 3,990 บาท (สามพันเก้าร้อยเก้าสิบบาท) และจะแถมให้อีกหนึ่งใบ โดยการหลอกลวงของ จําเลยดังกล่าว ทําให้โจทก์หลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงซื้อไว้ในราคา 3,990 บาท (สามพันเก้าร้อยเก้าสิบบาท) จําเลยจึงได้รับเงินจากโจทก์ไป ซึ่งโจทก์มาทราบในภายหลังว่าโจทก์ถูกหลอกลวง เพราะความจริงเป็นกระทะที่ทํา ในประเทศ ราคาเพียงใบละ 1,000 บาท (หนึ่งพันบาท) เท่านั้น

เหตุเกิดที่ แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ข้อ 2. การกระทําของจําเลยทําให้โจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าวมาแล้วตามความข้างต้น โจทก์ไม่มีทางอื่นใดจะบังคับเอากับจําเลยได้ จึงต้องนําคดีมาสู่ศาล ขอศาลโปรดออกหมายเรียกจําเลยมาไต่สวน มูลฟ้อง เพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษจําเลยต่อไป

อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานสอบสวนแล้ว แต่เพื่อต้องการ ให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยเร็ว จึงนําคดีนี้มาฟ้องด้วยตนเอง

LAW4002 การว่าความ 2/2559

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 นายเรือง มีสุข ในฐานะกรรมการ ซึ่งมีอํานาจลงลายมือชื่อและประทับตรา และเป็นสําคัญของบริษัท กระทําการแทนบริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์จําหน่ายสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างได้ตกลงทําหนังสือสัญญา กู้ยืมเงินจากนายพรชัย ชัยเดช เพื่อนําไปเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการของบริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด จํานวน 1,000,000 บาท ตกลงชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี กําหนดชําระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนนายพรชัย ชัยเดช ภายใน 1 ปี โดยกําหนดให้วันที่ 5 มีนาคม 2560 เป็นวันครบกําหนด 1 ปี บริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้วในวันทําหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวนายพรชัย ชัยเดช เห็นว่า หากบริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด ไม่ชําระหนี้และไม่มีทรัพย์สินอื่นใดให้ยึดในชั้นบังคับคดีจะทําให้ไม่ได้รับเงินคืน จึงได้ให้นายเรือง มีสุข กรรมการบริษัท แสงทองธุรกิจ การ จํากัด ทําหนังสือค้ำประกันจํานวนเงินที่บริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด กู้ยืมไป โดยนายเรือง มีสุขตกลงยอมรับผิดร่วมกับบริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด อย่างลูกหนี้ร่วม

ต่อมาเมื่อครบกําหนดชําระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนในวันที่ 5 มีนาคม 2560 ปรากฏว่าบริษัท แสงทอง ธุรกิจ จํากัด ไม่ชําระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนให้นายพรชัย ชัยเดช แต่อย่างใด นายพรชัย ชัยเดช ได้ส่งหนังสือทวงถามทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แจ้งให้บริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด และ นายเรือง มีสุข ร่วมกันชําระเงินกู้จํานวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจํานวน 150,000 บาท รวมเป็นเงินจํานวน 1,150,000 บาท บริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด และนายเรือง มีสุข ได้รับหนังสือ ทวงถามของนายพรชัย ชัยเดช แล้ว แต่บริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด และนายเรือง มีสุข เพิกเฉย ไม่ชําระเงินต้นและดอกเบี้ยให้นายพรชัย ชัยเดช แต่อย่างใด

สมมุติว่า นักศึกษาเป็นทนายความให้นายพรชัย ชัยเดช ให้นักศึกษาเรียบเรียงคําฟ้องเพื่อฟ้อง ผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันให้ชําระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนนายพรชัย ชัยเดช โดยเรียบเรียง เฉพาะเนื้อหาคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องแพ่ง ทั้งนี้โดยไม่ต้องคํานึงถึงแบบพิมพ์คําฟ้องของศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้องแพ่ง

ข้อ 1. ในการฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้มอบอํานาจให้…… (ชื่อนักศึกษา)……. เป็นผู้มีอํานาจฟ้องและ ดําเนินคดีแทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

จําเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด จดทะเบียนไว้ ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วน บริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า “บริษัท แสงทองธุรกิจ จํากัด” มี วัตถุประสงค์จําหน่ายสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้าง มีจําเลยที่ 2 เป็นกรรมการ มีอํานาจลงลายมือชื่อและประทับตรา สําคัญของบริษัท กระทําการแทนบริษัท รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 จําเลยที่ 1 ทําหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ โดยมีจําเลยที่ 2 เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาแทนจําเลยที่ 1 จํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) โดยตกลง ชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มีกําหนดให้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 1 ปี คือวันที่ 5 มีนาคม 2560 โดยจําเลยได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้วในวันทําหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน รายละเอียดปรากฏตามสําเนา ภาพถ่ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2559 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3

ในการทําสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว จําเลยที่ 2 ได้เข้าผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินของ จําเลยที่ 1 โดยตกลงยอมรับผิดร่วมกับจําเลยที่ 1 รายละเอียดปรากฏตามสําเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4

ข้อ 3. เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการชําระหนี้ตามสัญญากู้ จําเลยที่ 1 ไม่ยอมชําระหนี้เงินกู้ จํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ดังกล่าว ทั้งไม่เคยชําระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญาเลย โจทก์ จึงได้ติดต่อทวงถามให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ชําระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่จําเลยทั้งสองก็เพิกเฉย การกระทําของจําเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการผิดสัญญากู้ยืมเงิน ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงได้ส่งหนังสือทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับเรียกให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ชําระต้นเงินคืนให้แก่โจทก์จํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) และดอกเบี้ย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ ลงทะเบียนตอบรับของเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 5 – 8 จําเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามแต่กลับเพิกเฉย

ข้อ 4. การที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ไม่ชําระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญา กู้ยืมเงินและสัญญาค้ําประกันดังกล่าว เป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ ซึ่งจําเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชดใช้เงินกู้ยืมจํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นดังกล่าวเป็นเงิน 150,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นเงิน 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

จําเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือแทนกันกับจําเลยที่ 1 ในการชําระ ต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ให้แก่โจทก์ด้วย

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจําเลยได้ จึงต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง เพื่อบังคับจําเลยต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ……. (ลายมือชื่อนักศึกษา)…… ทนายโจทก์

คําร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ………. (ลายมือชื่อนักศึกษา) ผู้เรียงและพิมพ์

คําขอท้ายฟ้อง

ข้อ 1. ให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชําระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมเป็นเงิน ทั้งสิ้น 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ 2. ให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 1,150,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยทั้งสองจะชําระเสร็จสิ้น

ข้อ 3. ให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 2. โจทก์ต้องการยื่นฟ้องจําเลยในคดีคุ้มครองผู้บริโภคในวันที่ 31 มีนาคม 2560 เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายกําหนดให้ทําการพิจารณาภายในกําหนด 30 วัน แต่ทนายโจทก์ ไม่สามารถทําการพิจารณาคดีภายในกําหนด 30 วันได้ เพราะติดพิจารณาคดีที่ศาลอื่นซึ่งนัดกันไว้ก่อนแล้ว ดังนั้นโจทก์จะร้องขอต่อศาลเพื่อเลื่อนคดีไปอีกสักนัดหนึ่งเพื่อจะได้ดําเนินกระบวนการ พิจารณาคดีได้ ดังนั้นให้ท่านเป็นทนายความโจทก์ ร่างคําร้องขอเลื่อนคดีเพื่อยื่นพร้อมกันกับคําฟ้องในวันที่ 31 มีนาคม 2560 โดยร่างเฉพาะเนื้อหาและไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

คําร้องขอเลื่อนคดี

ข้อ 1. คดีนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจําเลยต่อศาลในวันนี้

ข้อ 2. เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกฎหมายกําหนดให้ทําการพิจารณาภายใน กําหนด 30 วัน แต่ทนายโจทก์ไม่สามารถทําการพิจารณาคดีภายในกําหนด 30 วันได้ เพราะติดพิจารณาคดีที่ ศาลอื่น ซึ่งนัดกันไว้ก่อนแล้ว รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคําร้องหมายเลข 1

ด้วยเหตุดังได้ประทานกราบเรียนมาแล้วข้างต้น โจทก์จึงขอเลื่อนคดีไปอีกสักนัดหนึ่ง เพื่อจะได้ดําเนินกระบวนการพิจารณาคดีนี้ได้ ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ………. (ลายมือชื่อนักศึกษา)………… ทนายโจทก์

คําร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ……… (ลายมือชื่อนักศึกษา)………. ผู้เรียงและพิมพ์

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลาประมาณ 22.00 นาฬิกา นายยุทธภูมิซึ่งไม่พอใจที่เห็นนางสาวต้นหอมคนรักของตนไปคุยกับนายโป๊ยเซียน กนกวิเชียร ในร้านสะดวกซื้อตั้งอยู่ที่แขวงหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จึงเข้าไปบอกให้นายโป๊ยเซียนเลิกคุยกับนางสาวต้นหอม แต่นายโป๊ยเซียน บอกว่าให้นายยุทธภูมิไปบอกนางสาวต้นหอมเอาเอง นายยุทธภูมิไม่พอใจ จึงคว้าไม้กระบอง ทุบไปที่รถจักรยานยนต์ ของนายโป๊ยเซียน จนเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย กระจกส่องหลังแตก ไฟหน้ารถพัง แล้วนายยุทธภูมิได้หลบหนีไป นายโป๊ยเซียนจึงไปแจ้งความ ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจนครบาลหลักสอง และเมื่อได้ทราบว่านายยุทธภูมิเป็นบุตร ของนายตํารวจในสถานีตํารวจนครบาลหลักสอง นายโป๊ยเซียนเกรงว่าตนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมอบหมายให้นายยุติธรรม ดํารง ทนายความ ยื่นฟ้องนายยุทธภูมิในข้อหาทําให้เสียทรัพย์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ผู้ใดทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทําความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ ต้องระวางโทษ….

สมมุติว่าท่านเป็นนายยุติธรรม ดํารง ทนายความ เรียงคําฟ้องให้นายโป๊ยเซียนเป็นโจทก์ฟ้อง นายยุทธภูมิในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ต่อไป โดยไม่ต้องคํานึงแบบพิมพ์ของศาลแต่อย่างใด

ธงคําตอบ

หากข้าพเจ้าเป็นนายยุติธรรม ดํารง ทนายความ ข้าพเจ้าจะเรียงคําฟ้องให้นายโป๊ยเซียน เป็นโจทก์ฟ้องนายยุทธภูมิในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ ดังนี้

 

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยได้กระทําความผิดอาญา กล่าวคือ จําเลยได้ใช้ไม้กระบองทุบรถจักรยานยนต์ของโจทก์ จนเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย กระจกส่องหลังแตก ไฟหน้ารถพัง

ข้อ 2. การกระทําของจําเลยดังกล่าวในข้อ 1. เป็นการกระทําโดยเจตนา ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของโจทก์ ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

เหตุเกิดที่แขวงหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

คดีนี้ โจทก์ได้นําความไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจนครบาลหลักสอง เพื่อให้ดําเนินคดีกับจําเลยแล้ว แต่โจทก์ได้ทราบว่าจําเลยเป็นบุตรของนายตํารวจในสถานีตํารวจนครบาลหลักสอง โจทก์จึงเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม โจทก์จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง

LAW4002 การว่าความ 1/2559

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. หากมีผู้สูงอายุ 70 ปี ประสงค์จะทําพินัยกรรม ท่านจะมีหลักเกณฑ์ในการร่างพินัยกรรมอย่างไร ให้ยกตัวอย่างหลักเกณฑ์ในการร่างมาอย่างน้อย 5 ประการ

ธงคําตอบ

หลักเกณฑ์ในการร่างพินัยกรรม หรือสิ่งอันเป็นสาระสําคัญที่จะต้องพิจารณาก่อนทําพินัยกรรม ได้แก่

1 แบบของพินัยกรรม เพราะในการทําพินัยกรรมจะต้องทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ เท่านั้น เช่น จะทําพินัยกรรมแบบธรรมดา พินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับ หรือพินัยกรรมที่ทําเป็นเอกสารฝ่ายเมือง เป็นต้น

2 เกี่ยวกับผู้ประสงค์จะทําพินัยกรรม กล่าวคือ ผู้ที่ประสงค์จะทําพินัยกรรมนั้น นอกจาก จะต้องมีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ในขณะทําพินัยกรรมแล้ว จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขอื่น ๆ ด้วย เช่น

จะต้องเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ในขณะทําพินัยกรรม คือ จะต้องเป็นผู้ที่ มิได้มีอาการจริตวิกล รวมทั้งมิได้เป็นบุคคลที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

การแสดงเจตนาเพื่อทําพินัยกรรมนั้น จะต้องเป็นการแสดงเจตนาที่มิได้เกิดจาก ความสําคัญผิด หรือกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่แต่อย่างใดทั้งสิ้น

3 เกี่ยวกับทรัพย์มรดก จะต้องมีการระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนว่า ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จะให้เป็นทรัพย์มรดกเพื่อตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมนั้น ได้แก่ทรัพย์สินประเภทใดบ้าง

4 เกี่ยวกับผู้รับพินัยกรรม จะต้องมีการระบุไว้ในพินัยกรรมให้ชัดเจนว่า จะยกทรัพย์มรดก ให้แก่ผู้ใด หรือในกรณีที่จะตัดทายาทโดยธรรมคนใดไม่ให้รับมรดก (ถ้ามี) ก็จะต้องระบุไว้ด้วย

5 การจัดตั้งผู้ปกครองทรัพย์ (ถ้ามี) กล่าวคือ ถ้าผู้ทําพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์มรดก ให้แก่ผู้เยาว์ หรือผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือผู้ซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาลเพราะเหตุวิกลจริต แต่ต้องการมอบการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินนั้นให้แก่บุคคลอื่นนอกจาก บิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น ผู้ทําพินัยกรรมต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้น

6 เกี่ยวกับผู้จัดการมรดก ผู้ทําพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็น ผู้จัดการมรดกก็ได้ โดยให้ระบุไว้ให้ชัดเจนในพินัยกรรม

7 เกี่ยวกับพยาน ในการทําพินัยกรรมบางประเภท เช่น พินัยกรรมแบบธรรมดาฯ จะต้อง มีพยานอย่างน้อย 2 คน ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทําพินัยกรรมด้วย

8 เกี่ยวกับพินัยกรรม จะต้องมีการระบุไว้ว่าได้มีการทําพินัยกรรมขึ้นกี่ฉบับ และแต่ละฉบับ ใครเป็นผู้เก็บรักษาพินัยกรรมไว้

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 สํานักงานกฎหมายกีรติทนายความ โดยนายกีรติ มีสุข ทนายความและหัวหน้าสํานักงาน ได้รับจ้างว่าความคดีอาญาจากจําเลยนายเดชคม ภิญโญ ในคดีอาญา หมิ่นประมาท เลขคดีดําที่ 6789/2558 ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ตามสําเนาคําฟ้องดังกล่าวที่นํามาด้วย โดยตกลงให้การดําเนินคดีความตั้งแต่ศาลชั้นต้นจวบจนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา ซึ่งตกลงกันเป็น ค่าสินจ้างจํานวน 300,000 บาท โดยมีการแบ่งชําระเป็น 2 งวด คือ งวดแรกในวันแต่งตั้งทนายความ 100,000 บาท ตามใบแต่งทนายความลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งชําระเรียบร้อยแล้วตาม ใบเสร็จรับเงินในวันดังกล่าว งวดที่สองคือวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 200,000 บาท เมื่อถึงวัน นัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ของเลขคดีดําที่ 6789/2558 นายกีรติฯ ได้ไปศาล พร้อมนายเดชคมฯ แต่นายเดชคมฯ ไม่นําเงินจํานวน 200,000 บาท มาชําระตามข้อตกลง โดย นายเดชคมฯ จะขอชําระในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แต่นายกีรติฯ ก็ทําหน้าที่ทนายความให้กับ นายเดชคมฯ ในฐานะจําเลยครบถ้วนในวันดังกล่าว และอีกหลายนัดทุกนัดจนกระทั่งศาลชั้นต้นได้มี คําพิพากษายกฟ้องตามคําพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรีหมายเลขคดีแดงที่ 89/2559 แต่นายเดชคมฯ ก็ยังคงไม่ยอมชําระเงินส่วนที่เหลือ จนกระทั่งนายกีรติฯ ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงทะเบียน ไปรษณีย์ตอบรับครั้งที่หนึ่งเรียกให้นายเดชคมฯ ชําระค่าสินจ้างดังกล่าว แต่นายเดชคมฯ กลับเพิกเฉย นายกีรติฯ จึงได้แต่งตั้งให้นายศรัญญ คงทน ทนายความในสํานักงานได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถาม ลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับครั้งที่สองเรียกให้นายเดชคมฯ ชําระค่าสินจ้าง แต่นายเดชคมฯ กลับ เพิกเฉยอีกครั้ง ดังนั้นนายกีรติฯ จึงทําหนังสือแต่งตั้งให้นายศรัญญฯ เป็นตัวแทนในการดําเนินคดีแพ่ง และเป็นทนายความตนทําการฟ้องคดีแพ่งนายเดชคมฯ เรียกให้นายเดชคมฯ ชําระค่าสินจ้างดังกล่าว ต่อศาล ให้ท่านถือเสมือนเป็นนายศรัญญฯ ทําการร่างคําฟ้องคดีแพ่งและคําขอท้ายฟ้องคดีแพ่ง โดยไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้องแพ่ง

ข้อ 1. โจทก์เป็นทนายความและหัวหน้าสํานักงานกฏหมายกีรติทนายความ ได้มอบอํานาจ ให้นายศรัญญ คงทน เป็นผู้มีอํานาจฟ้องและดําเนินคดีแทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอํานาจ เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 1

จําเลยเป็นอดีตลูกความของโจทก์ที่ศาลจังหวัดมีนบุรี ตามเลขคดีดําที่ 6789/2558 รายละเอียด ปรากฏตามสําเนาคําฟ้องในคดีดําที่ 6789/2558 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 โจทก์ได้รับจ้างว่าความคดีอาญาจากจําเลยคดีหมิ่น ประมาทเลขคดีดําที่ 6789/2558 ที่ศาลจังหวัดมีนบุรีจากนายเดชคม ภิญโญ จําเลย โดยตกลงให้การดําเนินคดีความ ตั้งแต่ศาลชั้นต้น จวบจนศาลชั้นต้นมีคําพิพากษา ซึ่งตกลงกันเป็นค่าสินจ้างจํานวน 300,000 บาท (สามแสนบาท) โดยมีการแบ่งชําระเป็น 2 งวด คือ งวดแรกในวันแต่งตั้งทนายความ 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาท) ตามใบแต่ง ทนายความลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งชําระเรียบร้อยแล้วตามใบเสร็จรับเงิน รายละเอียดปรากฏตามสําเนา ใบแต่งทนายความฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และสําเนาใบเสร็จรับเงินฉบับ ลงวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 และงวดที่สอง คือวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 200,000 บาท (สองแสนบาท)

ข้อ 3. เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก 15 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ของเลขคดีดําที่ 6789/2558 โจทก์ได้ไปศาลพร้อมจําเลย แต่จําเลยไม่นําเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) มาชําระตามข้อตกลง โดยจําเลยจะขอชําระในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2558 แต่โจทก์ก็ทําหน้าที่ทนายความให้กับจําเลยในฐานะจําเลย ครบถ้วนในวันดังกล่าว และอีกหลายนัดทุกนัดจนกระทั่งศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษายกฟ้องจําเลยตามคําพิพากษา ศาลจังหวัดมีนบุรีหมายเลขคดีแดงที่ 89/2559 รายละเอียดปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรี หมายเลขคดีแดงที่ 89/2559 เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 5 แต่จําเลยก็ยังคงไม่ยอมชําระเงินส่วนที่เหลือ

จนกระทั่งโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับครั้งที่หนึ่งเรียกให้ จําเลยชําระค่าสินจ้างดังกล่าว แต่จําเลยกลับเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ ตอบรับ เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 6 และ 7

ข้อ 4. โจทก์จึงมอบให้ทนายความในสํานักงานได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามลงทะเบียน ไปรษณีย์ตอบรับครั้งที่สองเรียกให้จําเลยชําระค่าสินจ้างจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) แต่จําเลยกลับเพิกเฉย อีกครั้ง รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือบอกกล่าวทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับ เอกสารท้ายคําฟ้อง หมายเลข 8 และ 9

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะเรียกร้องให้จําเลยชําระหนี้ได้ จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

คําขอท้ายฟ้อง

ข้อ 1. ขอให้จําเลยชําระค่าสินจ้างที่เหลือเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน)

ข้อ 2. ขอให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าสินจ้างจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยจะชําระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

ข้อ 3. ขอให้จําเลยชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 เวลาประมาณ 14.30 นาฬิกา นายสิน ทองมา ได้ไปพบนายวิชัย สมชาติที่บ้านนายวิชัย ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร แล้วบอกนายวิชัยว่า นางเงิน ทองมา ภริยาของตนถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในความ ครอบครอง ตนไม่มีเงินขอปล่อยตัวภริยาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน จึงขอยืมเงินจํานวน 200,000 บาท นายวิชัยเห็นว่านายสินเคยช่วยเหลือตนมา และหลงเชื่อว่านางเงินถูกเจ้าพนักงานจับจริง จึงยอมให้นายสินยืมเงินไปจํานวน 200,000 บาท ซึ่งความจริงแล้วนางเงินไม่ได้ถูกเจ้าพนักงานตํารวจ จับกุมแต่ประการใด ต่อมาในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 นายวิชัยทราบความจริงและรู้ว่าตนถูกหลอก จึงไปขอเงินจํานวนดังกล่าวคืนจากนายสิน แต่นายสินหลบหนีไป นายวิชัยจึงประสงค์จะเป็นโจทก์ ฟ้องนายสินในข้อหาฉ้อโกงเอง โดยไม่ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริตหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ผู้นั้นกระทําความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษ

ให้นักศึกษาในฐานะทนายความของนายวิชัย เรียงคําฟ้องข้อหาฉ้อโกงเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือต่อไป โดยให้เรียงเฉพาะเนื้อหาคําฟ้องเท่านั้น

ธงคําตอบ

ในฐานะทนายความของนายวิชัย สมชาติ ข้าพเจ้าจะเรียงคําฟ้องข้อหาฉ้อโกงเพื่อยื่นฟ้องต่อ ศาลแขวงพระนครเหนือ ดังต่อไปนี้

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 เวลากลางวัน จําเลยนี้ได้บังอาจหลอกลวงโจทก์โดยการแสดง ข้อความอันเป็นเท็จว่า นางเงิน ทองมา ภริยาของจําเลย ถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในความครอบครอง จําเลยไม่มีเงินขอปล่อยตัวภริยาชั่วคราวในระหว่างสอบสวน จึงขอยืมเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อ ซึ่งความจริงแล้วนางเงินไม่ได้ถูกเจ้าพนักงานตํารวจจับกุมแต่ประการใด และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น จําเลยได้ไปซึ่งเงินจํานวน 200,000 บาท (สองแสนบาท) จากโจทก์ผู้ถูกหลอกลวง

เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร อนึ่ง คดีนี้โจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะโจทก์ประสงค์จะดําเนินคดีเอง

LAW4002 การว่าความ S/2558

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายยู ชีจิน ทหารหนุ่มได้ขอทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี กับ ดร.คัง โมยอน ซึ่งเป็นคุณหมอสาวสวย นายยู ชีจิน มีที่ดินโฉนดเลขที่ 1234 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของตนจึงทําการจดทะเบียนจํานองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ เพื่อเป็นการประกันการชําระหนี้เงินกู้ยืมเงินจํานวนดังกล่าว พร้อมระบุในสัญญาว่า

“ในกรณีที่มีการบังคับจํานองแล้วได้เงินไม่พอชําระยอดหนี้ เงินที่ยังขาดจํานวนนี้ ลูกหนี้ยังคงต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้รับจํานองจนครบถ้วนข้อตกลงเช่นนี้มีผลบังคับได้ไม่ถือว่าเป็น การผิดกฎหมาย ผู้รับจํานองมีสิทธิที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชําระหนี้ส่วนที่ยังขาดจํานวนอยู่ดังกล่าวได้ อีกจนครบถ้วน” นอกจากนี้ โดยมีนายซอ แดยอง เพื่อนนายทหารร่วมทีมเดียวกับนายยู ชีจิน ยอม ทําหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว โดยทําสัญญาว่าหากนายยู ชีจิน ไม่ชําระต้นเงิน และดอกเบี้ยตลอดจนบรรดาค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะผลแห่งการที่นายยู ชีจิน ผิดสัญญา ที่ให้แก่ ดร.คัง โมยอน ทั้งสิ้น ทั้งสามคนจึงเข้าทําสัญญาทั้งหมดในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 พร้อม กับมีการส่งมอบเงิน ณ โรงพยาบาลแฮซอง โดยมีกําหนดชําระคืนภายใน 1 ปี เมื่อนายยู ชีจิน ได้พบ กับ ดร.ดัง โมยอน ทั้งคู่จึงเริ่มที่จะมีความรู้สึกดี ๆ ต่อกัน แต่ทว่าอาทิตย์ต่อมานายยู ชีจิน ได้รับ มอบหมายภารกิจพิเศษ ให้ไปทํางานที่ประเทศอุรุก เพื่อดูแลรักษาความสงบในค่ายทหารของไทย แต่ครั้นพอครบกําหนดระยะเวลา 1 ปี ดร.คัง โมยอน ก็ยังไม่ได้รับการชําระเงินกู้ วันถัดมาจึงมา ปรึกษากับท่านในฐานะทนายความให้ส่งหนังสือทวงถามไปยังนายยู ชีจิน และผู้ค้ำประกัน ให้มา ชําระเงินจํานวน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเพียง 10,000 บาท ซึ่งทั้งคู่กลับเพิกเฉย ดังนั้น ดร.คัง โมยอน ต้องการจะฟ้องบังคับอย่างลูกหนี้สามัญจึงให้ท่านดําเนินการฟ้องคดีแพ่งเรียกคืน เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดจากนายยู ชีจิน และผู้ค้ำประกัน

คําสั่ง ให้ร่างเฉพาะเนื้อหาคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องคดีแพ่งคดีนี้

ธงคําตอบ

คําฟ้องแพ่ง

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 จําเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเป็นจํานวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) โดยจําเลยที่ 1 สัญญาว่าจําชําระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทําสัญญาเป็นต้นไป และจะชําระต้นเงินคืนให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ในการทําสัญญา กู้ยืมเงินนี้ จําเลยที่ 1 ได้นําโฉนดที่ดินเลขที่ 1234 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็น กรรมสิทธิ์ของจําเลยที่ 1 จดทะเบียนจํานองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เขตบางกะปิ เพื่อเป็นการประกันการชําระหนี้เงิน กู้ยืมเงินจํานวนดังกล่าว โดยในวันทําสัญญากู้ยืมเงิน จําเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์เรียบร้อยแล้ว ปรากฏตาม สําเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและโฉนดที่ดิน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 ตามลําดับ

ในการทําสัญญากู้ยืมเงินและวางโฉนดที่ดินเป็นประกันดังกล่าว จําเลยที่ 2 ได้เข้าผูกพันตน เป็นผู้ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินของจําเลยที่ 1 โดยจําเลยที่ 2 สัญญาว่าหากจําเลยที่ 1 ไม่ชําระต้นเงินและดอกเบี้ย ตลอดจนบรรดาค่าเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะผลแห่งการที่จําเลยที่ 1 ผิดสัญญาให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น ปรากฎ ตามสําเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาค้ําประกัน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3

 

ข้อ 2. เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการชําระหนี้ตามสัญญากู้ จําเลยที่ 1 ไม่ยอมชําระหนี้เงินกู้ จํานวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) ดังกล่าว ทั้งไม่เคยชําระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญาเลย โจทก์ จึงได้ติดต่อทวงถามให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ชําระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ แต่จําเลยทั้งสองก็เพิกเฉย การกระทําของจําเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการผิดสัญญากู้ยืมเงิน ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงได้ส่ง หนังสือทวงถามลงทะเบียนไปรษณีย์เรียกให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ชําระต้นเงินคืนให้แก่โจทก์จํานวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) และดอกเบี้ย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ ลงทะเบียนตอบรับของเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 4 – 7 จําเลยทั้งสองได้รับหนังสือทวงถามแต่กลับเพิกเฉย

ข้อ 3. การที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ไม่ชําระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญา กู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าว เป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ ซึ่งจําเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องชดใช้เงินกู้ยืมจํานวน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่จําเลยที่ 1 ผิดนัด แต่โจทก์ ขอคิดดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเพียง 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยที่จําเลยที่ 1 จะต้อง ชําระให้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 10,010,000 บาท (สิบล้านหนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

จําเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบร่วมกันหรือแทนกันกับจําเลยที่ 1 ในการชําระ ต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 10,010,000 บาท (สิบล้านหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ให้แก่โจทก์ด้วย

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจําเลยได้ จึงต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง เพื่อบังคับจําเลยต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ …. (ลายมือชื่อนักศึกษา)…. ทนายโจทก์

คําร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ …… (ลายมือชื่อนักศึกษา)……… ผู้เรียงและพิมพ์

 

คําขอท้ายฟ้อง

ข้อ 1. ให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชําระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,010,000 บาท (สิบล้านหนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ 2. ให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 10,010,000 บาท (สิบล้านหนึ่งหมื่นบาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยทั้งสองจะชําระเสร็จสิ้น

ข้อ 3. ให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 2. นายปรีดาวิทย์เป็นโจทก์ฟ้องนายคมสันต์จําเลยข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหายว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2558 เวลาประมาณ 20.00 น. นายคมสันต์ได้ขับรถยนต์แท็กซี่รับจ้างคันหมายเลข ทะเบียน กท 1234 ไปตามถนนเอกมัยด้วยความประมาทเลินเล่อและผิดกฎหมาย กล่าวคือคมสันต์ ขับรถด้วยความเร็วสูงในขณะฝนตกถนนลื่นและไม่ระมัดระวังถือพวงมาลัยขับรถให้อยู่ด้านซ้าย ของทางตามกฎหมาย โดยขับรถด้วยความประมาทวิ่งกินทางด้านขวาเข้าไปในทางวิ่งของรถที่วิ่งสวนมา เป็นเหตุให้รถยนต์ที่นายคมสันต์ขับชนรถยนต์ของนายปรีดาวิทย์คันหมายเลขทะเบียน กท 5678 ขับแล่นสวนทางมาและเดินรถอยู่ในทางของตนตามกฎหมายโดยแรง ทําให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ดังกล่าวของนายปรีดาวิทยได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 100,000 บาท ตามใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมรถ จากอู่ซ่อมรถเอกมัย จึงฟ้องเรียกเงินค่าเสียหายจากนายคมสันต์จําเลย 100,000 บาทถ้วน นายคมสันต์จําเลยจึงแต่งตั้งท่านเป็นทนายความเพื่อร่างคําให้การต่อสู้คดีดังนี้

1 นายคมสันต์ ไม่ได้ขับรถยนต์ชนรถยนต์ของนายปรีดาวิทย์ โดยขับรถด้วยอัตราความเร็วปกติ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด แต่นายปรีดาวิทย์เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและขับเร็วมาชนรถยนต์ของนายคมสันต์เอง

2 ค่าเสียหายที่นายปรีดาวิทย์เรียกร้องนั้นเกินความจริง หากจะเรียกก็คงไม่เกิน 50,000 บาท ให้ท่านในฐานะทนายความของนายคมสันต์ ร่างคําให้การตามความประสงค์ของนายคมสันต์

(ร่างเฉพาะคําให้การโดยไม่คํานึงถึงแบบฟอร์มของศาล)

ธงคําตอบ

คําให้การ

จําเลยได้ทราบคําฟ้องของโจทก์แล้ว ขอให้การปฏิเสธดังมีข้อความต่อไปนี้

ข้อ 1. จําเลยไม่ได้ขับรถยนต์ชนรถยนต์ของโจทก์ โดยขับรถด้วยอัตราความเร็วปกติ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด แต่โจทก์เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและขับเร็วมาชนรถยนต์ ของจําเลยเอง

ข้อ 2. ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องนั้นเกินความจริง หากจะเรียกก็คงไม่เกิน 50,000 บาท

อาศัยเหตุผลดังกล่าว ขอศาลได้โปรดพิพากษายกฟ้องของโจทก์ โดยให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนจําเลยด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ…….. (ลายมือชื่อนักศึกษา)……. ทนายจําเลย

คําให้การฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายจําเลยเป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ ……. (ลายมือชื่อนักศึกษา)……….. ผู้เรียงและพิมพ์

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 เวลาประมาณ 01.00 นาฬิกา ขณะที่นายขาว มีทรัพย์ คนพิการกําลังเดินอยู่บนซอยโชคชัย 4 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้มีนายแดง นายดํา นายเขียว เข้าไปรุมชกต่อย นายดําเละนายแดงจับตัวนายขาวเอาไว้และให้นายเขียวใช้อาวุธมีดแทงนายขาว จํานวนห้าครั้งบริเวณลําคอและช่องท้องเป็นเหตุให้นายขาวถึงแก่ความตาย จากนั้นทั้งสามพากัน หลบหนีไป ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 เวลา 08.00 น. เจ้าพนักงานตํารวจจับนายแดงและนายดํา ได้นําส่งพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจนครบาลโชคชัยทําการสอบสวน ชั้นสอบสวนนายแดงให้การรับสารภาพ ส่วนนายดําให้การปฏิเสธ เมื่อครบกําหนดควบคุมตัวพนักงานสอบสวนจึงได้นํา นายแดงและนายดําไปฝากขังที่ศาลอาญาตามคดีหมายเลขดําที่ ฝ. 559/2559 ต่อมาเมื่อสอบสวนเสร็จ พนักงานสอบสวนได้สรุปสํานวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการ สํานักงานคดีอาญา

ข้อกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ…

หากนักศึกษาเป็นพนักงานอัยการสํานักงานคดีอาญาผู้รับผิดชอบดําเนินคดีนี้ ให้นักศึกษาเรียงคําฟ้อง เพื่อฟ้องนายแดงและนายดําในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา (เฉพาะเนื้อหาคําฟ้องโดยไม่ต้องคํานึงถึงแบบพิมพ์คําฟ้อง)

ธงคําตอบ

หากข้าพเจ้าเป็นพนักงานอัยการสํานักงานคดีอาญาผู้รับผิดชอบดําเนินคดีนี้ ข้าพเจ้าจะเรียงคําฟ้องเพื่อฟ้องนายแดงและนายดําในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ดังนี้

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จําเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกหนึ่งคน ได้ร่วมกันใช้อาวุธมีดแทงนายขาว มีทรัพย์ ผู้ตายห้าครั้งบริเวณลําคอและช่องท้อง เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทันทีสมดังเจตนาของจําเลยทั้งสองกับพวก รายละเอียดปรากฏตามใบชันสูตรพลิกศพ แพทย์ตามฟ้อง

เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ข้อ 2. ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม 2559 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจําเลยทั้งสองได้นําส่ง พนักงานสอบสวนทําการสอบสวน

ชั้นสอบสวนจําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ

ระหว่างสอบสวน จําเลยทั้งสองถูกควบคุมตัวมาตลอด ขณะนี้ต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลนี้ ตามคดีหมายเลขดําที่ ฝ. 559/2559 ขอศาลได้โปรดเบิกตัวจําเลยทั้งสองมาเพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษตาม กฎหมายต่อไป

 

LAW4002 การว่าความ 2/2558

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. หากมีตัวความมาหาท่านเพื่อให้ท่านช่วยร่างสัญญาเช่าทรัพย์ ท่านจะกําหนดหัวข้อสําคัญในการร่างสัญญาไว้อย่างไร ให้ยกตัวอย่างหัวข้อสําคัญมาอย่างน้อย 4 หัวข้อ

ธงคําตอบ

หัวข้อสําคัญในการร่างสัญญาเช่าทรัพย์ ได้แก่

1 ชื่อของสัญญาต้องตรงตามเจตนา

2 ชื่อหรือคําสมญาของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย

3 เจตนาของคู่สัญญา

4 รายละเอียดของทรัพย์ที่เช่า

5 วันเริ่มทําสัญญาและวันสิ้นสุดของสัญญา

6 หน้าที่และความรับผิดชอบของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย

7 กรณีที่มีการติดสัญญาจะบังคับกันอย่างไร

8 ถ้าร่างสัญญามีสองฉบับและเป็นร่างสองภาษาคือมีทั้งร่างภาษาไทยและภาษาต่างประเทศให้ถือเอาร่างภาษาไทยเป็นข้อปฏิบัติ

9 หากภาษาที่ร่างเป็นภาษาต่างประเทศ หรือคู่สัญญาเป็นชาวต่างประเทศต้องกําหนดให้ชัดเจนว่า ถ้ามีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้ฟ้องที่ศาลในประเทศไทย

 

ข้อ 2. บริษัท รวมกิจก่อสร้าง จํากัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วน บริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการรับเหมา ก่อสร้าง ฯลฯ โดยมีนายกิจ กิจมงคล เป็นกรรมการผู้จัดการ มีอํานาจลงลายมือชื่อและประทับตรา สําคัญของบริษัท กระทําการแทนบริษัทได้ เป็นโจทก์ฟ้องนายเอก ทองล้วน ต่อศาลแพ่งในข้อหาหรือ ฐานความผิด ผิดสัญญาจ้าง เรียกค่าเสียหาย ศาลแพ่งนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 5 เมษายน 2559 เวลา 09.00 นาฬิกา ปรากฏว่า เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ดังกล่าว นายกิจ กิจมงคล กรรมการ ผู้จัดการโจทก์ ซึ่งเป็นพยานสําคัญที่จะเบิกความเป็นปากแรก ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ด้วยเหตุที่ นายกิจ กิจมงคล ได้เดินทางไปประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2559 และกําหนดกลับถึง ประเทศไทย วันที่ 3 เมษายน 2559 ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 นายกิจ กิจมงคล ได้ล้มป่วย เป็นไข้ มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด จึงต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศออสเตรเลีย รายละเอียดปรากฏตามตั๋วเครื่องบินไป-กลับ และสําเนาโทรสารใบรับรองแพทย์ จึงขอให้ท่านในฐานะทนายความโจทก์ ร่างคําร้องขอเลื่อนคดี โดยยื่นต่อศาลในวันนัดพิจารณา (ให้ร่างแต่ใจความในคําร้องโดยไม่ต้องคํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล)

ธงคําตอบ

คําร้องขอเลื่อนคดี

ข้อ 1. คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันนี้ ดังความแจ้งอยู่ในสํานวนแล้วนั้น

ข้อ 2. โจทก์ขอประทานกราบเรียนต่อศาลว่า นายกิจ กิจมงคล กรรมการผู้จัดการโจทก์ซึ่งเป็น พยานสําคัญที่จะต้องเบิกความเป็นปากแรกต่อศาลในวันนี้ ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ เนื่องจากนายกิจ กิจมงคล ได้เดินทางไปประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2559 และกําหนดกลับถึงประเทศไทยวันที่ 3 เมษายน 2559 ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2559 นายกิจ กิจมงคล ได้ล้มป่วยเป็นไข้ มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด จึงต้อง พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศออสเตรเลีย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาตัวเครื่องบิน และสําเนาโทรสาร ใบรับรองแพทย์ เอกสารท้ายคําร้อง หมายเลข 1 และ 2

ด้วยเหตุแห่งความจําเป็นดังกล่าวข้างต้น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โจทก์จึงขอความกรุณาจากศาลได้โปรดอนุญาตเลื่อนการพิจารณาคดีออกไปสักนัดหนึ่ง ตามวันเวลาที่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรต่อไปด้วย ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ……. (ลายมือชื่อนักศึกษา)………. ทนายโจทก์

คําร้องฉบับนี้ ข้าพเจ้า (ชื่อนักศึกษา) ทนายโจทก์เป็นผู้เรียงและพิมพ์

ลงชื่อ….. (ลายมือชื่อนักศึกษา)………ผู้เรียงและพิมพ์

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 นายแดง แก้วฟ้า อยู่บ้านเลขที่ 666 แขวงบางขุนพรหม เขตบางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร กําลังนั่งดื่มสุรากับเพื่อนอีก 5 คน ตั้งแต่เย็นจนถึงค่ำ จนเมาและพูดคุยกัน จนเสียงดัง โดยเมื่อเวลาประมาณ 22.30 นาฬิกา หลังละครจบ นายเขียว ขวัญข้าว เพื่อนบ้านจึง ได้เดินมาหาแล้วบอกให้ช่วยเบาเสียงหน่อย เพราะจะนอนแล้ว นายแดง แก้วฟ้า ซึ่งผิดใจอยู่กับ นายเขียว ขวัญข้าว อยู่เดิมแล้ว เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายเขียว ขวัญข้าว รับเป็นทนายให้กับ นายแดง แก้วฟ้า ในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ก็แพ้คดีจนเป็นเหตุให้ต้องเสียค่าปรับถึง 20,000 บาท และค่าทนายอีก 10,000 บาท จึงโมโห และตอบกลับไปว่า “แกเงียบ ๆ ไปเลย กูกําลังกลุ้มใจ เพราะคนอย่างมึงเป็นทนายความเมืองนนท์ คบไม่ได้ เป็นนกสองหัว เหยียบเรือสองแคม เป็นมารร้าย ว่าความทีแรกดี ครั้นได้รับเงินแล้วก็ว่าเป็นอย่างอื่น” นายเขียว ขวัญข้าว โกรธมากที่นายแดง แก้วฟ้า กล่าวเช่นนั้น จึงให้นายแดง แก้วฟ้า ถอนคําพูด แต่นายแดง แก้วฟ้า ไม่ยอม

วันรุ่งขึ้นนายเขียว ขวัญข้าว จึงมาพบท่านซึ่งเป็นทนายความชื่อนายยุติธรรม ผดุงธรรม ใบอนุญาตให้ เป็นทนายความเลขที่ 1111/2540 สํานักงานตั้งอยู่เลขที่ 22 ถนนราชดําเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง และต้องการฟ้องอาญาต่อนายแดง แก้วฟ้า ที่มากล่าว เช่นนี้กับตน โดยไม่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ท่านในฐานะทนายความได้ยื่นคําฟ้องคดีอาญา ต่อศาลจังหวัดนนทบุรีในวันนั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้ ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้อง ระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ” คําสั่ง ให้ทําคําฟ้องคดีอาญา และคําขอท้ายฟ้อง โดยเขียนแต่เนื้อความโดยไม่ต้องคํานึงถึง แบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นทนายความของนายเขียว ขวัญข้าว ข้าพเจ้าจะทําคําฟ้องคดีอาญา และคําขอ ท้ายฟ้องในคดีนี้ ดังต่อไปนี้

 

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยได้บังอาจกระทําความผิดต่อ กฎหมาย กล่าวคือ จําเลยได้กล่าวข้อความอันเป็นเท็จใส่ความโจทก์ต่อหน้าบุคคลอื่นอีก 5 คนให้ได้ยินว่า “แกเงียบ ๆ ไปเลย กูกําลังกลุ้มใจ เพราะคนอย่างมึงเป็นทนายความเมืองนนท์ คบไม่ได้ เป็นนกสองหัว เหยียบเรือสองแคม เป็นมารร้าย ว่าความทีแรกดี ครั้นได้รับเงินแล้วก็ว่าเป็นอย่างอื่น” ซึ่ง “คนอย่างมึง” ตามคําพูดของจําเลยหมายถึง นายเขียว ขวัญข้าว

การที่จําเลยกล่าวข้อความดังกล่าว จึงเป็นการกระทําโดยมีเจตนาที่จะใส่ความโจทก์ ต่อบุคคลที่สามให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นคนหลอกลวง คดโกง ทําให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง อันเป็น ความผิดต่อกฎหมาย

เหตุเกิดที่แขวงบางขุนพรหม เขตบางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร โจทก์มิได้แจ้งร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพราะประสงค์จะดําเนินคดีเอง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คําขอท้ายฟ้องอาญา

การที่จําเลยได้กระทําตามข้อความที่กล่าวมาในคําฟ้องนั้น ข้าพเจ้าถือว่าเป็นความผิดต่อกฎหมาย ขอให้ศาลลงโทษจําเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

 

LAW4002 การว่าความ 1/2558

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. หากท่านมีหน้าที่ต้องยกร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับการชลประทานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านมีหลักเกณฑ์ในการยกร่างอย่างไร ให้เสนอหลักเกณฑ์มาอย่างน้อยสี่ประการ

ธงคําตอบ

ในกรณีที่ข้าพเจ้ามีหน้าที่ต้องยกร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่เกี่ยวกับการชลประทานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ข้าพเจ้ามีหลักเกณฑ์ในการยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยพิจารณาถึง หลักเกณฑ์ที่สําคัญหลายประการ เช่น

1 ชื่อของร่างพระราชบัญญัติ

คือจะต้องระบุชื่อของร่างพระราชบัญญัติที่ยกร่าง เพื่อให้ทราบว่าพระราชบัญญัตินี้ มีเนื้อหาหรือสาระที่จะใช้บังคับแก่เรื่องใด เช่น ร่างพระราชบัญญัติการชลประทาน พุทธศักราช 2558 เป็นต้น

2 บันทึกหลักการและเหตุผล

เพื่อเป็นการแสดงขอบเขตและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้

3 วันใช้บังคับของพระราชบัญญัติ

เพื่อระบุถึงสภาพบังคับของกฎหมาย (พระราชบัญญัตินี้) ว่าจะให้มีผลใช้บังคับเมื่อใด 4 เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติ

จะต้องมีการจัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวดหมู่ตามลําดับความสําคัญเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้ ง่ายต่อการทําความเข้าใจ

5 บทยกเลิกกฎหมาย

ในกรณีที่เป็นการจัดทําร่างพระราชบัญญัติขึ้นใหม่ทั้งฉบับและมีการยกเลิก พระราชบัญญัติเดิม หรือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่บางมาตรา ก็ต้องระบุว่ากฎหมายใด หรือมาตราใดจะไม่ให้มีผลใช้บังคับต่อไป

6 การเสนอร่างพระราชบัญญัติ

จะต้องดูว่าผู้มีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันที่ใช้บังคับ อยู่นั้น ได้แก่บุคคลใดบ้าง

หมายเหตุ ให้นักศึกษายกตัวอย่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นหรือหลักเกณฑ์อื่นที่นักศึกษา เห็นว่าสําคัญอย่างน้อย 4 ประการ

 

ข้อ 2. ห้างหุ้นส่วนจํากัด เดชรุ่งเรือง จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการซื้อขาย จํานํา จํานองสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ มีนายเดช รุ่งเรือง เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ลงลายมือชื่อและประทับตราสําคัญของห้างกระทําการแทนห้างหุ้นส่วนจํากัดเดชรุ่งเรืองได้ ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ห้างหุ้นส่วนจํากัด เดชรุ่งเรือง ได้กู้ยืมเงินนายยอด รวยทรัพย์ จํานวน 1,000,000 บาท ตกลงชําระดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ 15 ต่อปี ชําระดอกเบี้ยทุกวันที่ 10 ของเดือน ทุก ๆ เดือน กําหนดชําระเงินกู้คืนในวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ปรากฏตามสัญญากู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 หลังจากครบกําหนด ชําระเงินกู้คืนแล้ว ปรากฏว่า ห้างหุ้นส่วนจํากัด เดชรุ่งเรือง ไม่ชําระเงินกู้และดอกเบี้ยจํานวน 300,000 บาท คืนให้แก่นายยอด รวยทรัพย์ แต่อย่างใด นายยอด รวยทรัพย์ ได้ทวงถามนายเดช รุ่งเรือง ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วหลายครั้ง แต่เพิกเฉย นายยอด รวยทรัพย์ จึงได้มอบหมายให้ นักศึกษาในฐานะทนายความยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจํากัด เดชรุ่งเรือง และนายเดช รุ่งเรือง เป็น จําเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อเรียกเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชําระจํานวน 300,000 บาท คืน ให้ร่างคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้อง โดยไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ของศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้อง

ข้อ 1. ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มอบอํานาจให้ (ชื่อนักศึกษา) เป็นผู้มีอํานาจฟ้องและ ดําเนินคดีแทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

จําเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจํากัด จดทะเบียนไว้ ณ สํานักงาน ทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า “ห้างหุ้นส่วนจํากัด เดชรุ่งเรือง” มีวัตถุประสงค์ในการซื้อขาย จํานํา จํานอง สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ มีจําเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการ ลงลายมือชื่อและประทับตราสําคัญของห้างกระทําการแทนห้างหุ้นส่วน ซึ่งจะต้องรับผิดในหนี้สินของ จําเลยที่ 1 ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมายด้วย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 จําเลยทั้งสองได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ไปเป็นจํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) โดยจําเลยตกลงจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี มีกําหนดใช้คืนในวันที่ 10 ตุลาคม 2558 ซึ่งจําเลยได้รับเงินจํานวนที่กู้ไปครบถ้วนแล้ว และได้ทําสัญญากู้ไว้เป็นหลักฐานในวันดังกล่าว รายละเอียดปรากฏ ตามสําเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญากู้ยืมเงินฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3

ข้อ 3. เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการชําระหนี้ตามสัญญากู้ จําเลยทั้งสองไม่ยอมชําระหนี้ เงินกู้จํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) ดังกล่าว ทั้งไม่เคยชําระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญาเลย โจทก์ได้ทวงถามจําเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วหลายครั้งแต่จําเลยที่ 2 กลับเพิกเฉย การกระทําของ จําเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการผิดสัญญากู้ยืมเงิน ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

จําเลยทั้งสองต้องรับผิดชําระต้นเงินคืนให้แก่โจทก์จํานวน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากเงินต้นดังกล่าวเป็นจํานวนเงิน 300,000 บาท (สามแสนบาทถ้วน) รวมเป็นเงินที่จําเลยทั้งสองจะต้องชําระคืนให้แก่โจทก์ 1,300,000 บาท (หนึ่งล้านสามแสนบาทถ้วน)

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจําเลยทั้งสองได้ จึงต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง เพื่อบังคับจําเลยทั้งสองต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

คําขอท้ายฟ้อง

1 ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชําระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชําระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,300,000 บาท (หนึ่งล้านสามแสนบาทถ้วน)

2 ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจําเลยทั้งสองจะชําระเสร็จสิ้น

3 ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 3. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 เวลาประมาณ 04.30 นาฬิกา นายหนึ่ง นายสอง และนายสาม ซึ่งพกปืนลูกซองสั้นได้บุกงัดหน้าต่างแล้วเข้าไปในบ้านเลขที่ 32 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ของนายยุทธ์ จันทร์มณี ในขณะที่นายยุทธ์กําลังหลับอยู่ จากนั้นนายสามได้ปลุกนายยุทธ์ให้ตื่นขึ้นมา และจึงใช้ปืนจี้ขู่เข็ญให้นายยุทธ์เปิดตู้นิรภัย นายยุทธ์กลัวจะถูกทําร้ายหรือถูกฆ่าจึงยอมเปิดตู้นิรภัยให้ นายหนึ่งกับนายสองจึงลักเอาเงินจํานวน 1,000,000 บาท พร้อมสร้อยคอทองคําอีก 5 เส้น หนัก ยี่สิบบาท รวมราคา 360,000 บาท และพากันหลบหนีไป ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2558 เวลา 14.00 นาฬิกา เจ้าพนักงานจับนายหนึ่งและนายสองได้ พร้อมกับยึดเงินจํานวน 200,000 บาท กับสร้อยคอทองคําเพียง 3 เส้น หนักสามบาท รวมราคา 54,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งที่ นายหนึ่งกับพวกปล้นมาเป็นของกลาง นําส่งพนักงานสอบสวนทําการสอบสวน ชั้นสอบสวนนายหนึ่ง ให้การรับสารภาพ นายสองให้การปฏิเสธ ทรัพย์สินของกลาง พนักงานสอบสวนคืนนายยุทธ์ไปแล้ว

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้น กระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษ..”

มาตรา 335 “ผู้ใดลักทรัพย์

(1) ในเวลากลางคืน

(3) โดยทําอันตรายสิ่งกีดกั้นสําหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์

(4) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทําขึ้นโดยไม่ได้จํานงให้เป็นทางคนเข้า

(7) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

(8) ในเคหสถาน…ได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต…”

มาตรา 339 “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายเพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษ”

 

มาตรา 340 “ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทําความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทําความผิด ฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษ…”

ให้ท่านในฐานะพนักงานอัยการ สํานักงานคดีอาญา จัดเรียงคําฟ้องคดีนี้เฉพาะข้อหาปล้นทรัพย์ เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดยไม่ต้องคํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

 

ธงคําตอบ

ข้าพเจ้าในฐานะพนักงานอัยการ สํานักงานคดีอาญา จะจัดเรียงคําฟ้องคดีนี้ในข้อหาปล้นทรัพย์ดังต่อไปนี้

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จําเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีกหนึ่งคน ได้กระทําการอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย กล่าวคือ ได้บังอาจร่วมกันลักเอาเงินจํานวน 1,000,000 บาท พร้อมสร้อยคอทองคําอีก 5 เส้น น้ำหนัก 20 บาท รวมราคา 360,000 บาท ของนายยุทธ์ จันทร์มณี ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยในการลักทรัพย์ดังกล่าว จําเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายว่า ในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทําความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุม

เหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ข้อ 2 ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2558 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจําเลยทั้งสองได้ พร้อมกับ ยึดเงินจํานวน 200,000 บาท และสร้อยคอทองคํา 3 เส้น น้ำหนัก 3 บาท รวมราคา 54,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่ง ที่จําเลยทั้งสองกับพวกปล้นเอาไปดังกล่าวในฟ้องข้อ 1.เป็นของกลางนําส่งพนักงานสอบสวนทําการสอบสวน

ชั้นสอบสวน จําเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจําเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่คดีมีมูล ทรัพย์สินของกลางพนักงานสอบสวนคืนให้ผู้เสียหายไปแล้ว

ระหว่างทําการสอบสวน จําเลยทั้งสองถูกควบคุมตัวมาตลอด ตามหมายขังของศาลนี้ ขอศาลเบิกตัวจําเลยทั้งสองมาพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมายต่อไป

 

LAW4002 การว่าความ S/2557

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายสุรากับพวกตั้งบริษัทจํากัดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อทํากิจการค้าขาย มีข้อบังคับบริษัทกําหนดว่าหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นจะโอนให้บุคคลอื่นได้ต้องได้รับอนุมัติจาก กรรมการบริษัทก่อน ต่อมานายสุราประสงค์ที่จะขายหุ้นของตนจํานวนหนึ่งในบริษัทนี้ให้แก่นายเมรัย จึงมาขอให้ท่านจัดทําแบบฟอร์มหนังสือโอนหุ้นบริษัทให้ โดยนายสุราจะไปกรอกข้อความเอง ให้ท่าน จัดทําแบบฟอร์มหนังสือโอนหุ้นบริษัทให้นายสุรา

ธงคําตอบ

สัญญาการโอนหุ้น

บริษัท………………………………จํากัด

สัญญาฉบับนี้ทําขึ้น ณ……………………..เมื่อวันที่……เดือน……. พ.ศ…….

เพื่อเป็นหลักฐานแสดงการโอนหุ้นของบริษัท……………….จํากัด ดังมีข้อความต่อไปนี้

ข้อ 1. ผู้โอนชื่อ………………………..สัญชาติ…………………. อายุ……….ปี

ข้อ 2. ผู้รับโอนชื่อ……………………..สัญชาติ………………….อายุ……….ปี

ข้อ 3. โอนหุ้นจํานวน………………หุ้น หมายเลขหุ้นตั้งแต่เลขที่……ถึงเลขที่………

ข้อ 4. ผู้โอนตกลงโอนและผู้รับโอนตกลงรับโอนหุ้นดังกล่าวข้างบนนี้ โดยการ………………………แก่กัน

ตั้งแต่วันที่……….เดือน………..พ.ศ……….เป็นราคาทั้งสิ้น…….บาท (……….)

ผู้โอนยอมขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้น และผู้รับโอนยอมเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนี้ตั้งแต่วันทําสัญญาฉบับนี้เป็นต้นไป

ข้อ 5. ผู้โอนได้รับเงินค่าโอนไปถูกต้องแล้วในวันทําสัญญาฉบับนี้

ข้อ 6. ผู้โอนตกลงโอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหลายที่ผู้โอนพึงมีพึงได้รับจากบริษัททั้งก่อนในขณะ และภายหลังวันโอนนี้ให้แก่ผู้รับโอนด้วย โดยให้ถือว่าผู้โอนได้รับค่าตอบแทนสิทธิและประโยชน์ที่โอนให้แก่ผู้รับโอน ดังกล่าวรวมอยู่ในเงินค่าโอนตามสัญญาฉบับนี้ด้วยแล้ว

ลงชื่อ………………….ผู้โอน                          ลงชื่อ…………………..ผู้รับโอน

(………………………………..)                       (………………………………..)

ลงชื่อ………………..พยาน                              ลงชื่อ………….พยาน

(………………………………..)                     (………………………………..)

อนุมัติให้โอนได้

ลงชื่อ………………กรรมการ                         ลงชื่อ……………..กรรมการ

(………………………………..)                     (………………………………..)

 

 

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 น.ส.จันทร์ชมพูได้ให้นางสาวโบตั๋นกู้ยืมเงินจํานวน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี โดยมีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 1 มกราคม 2558 ทั้งคู่ได้ทําสัญญากันไว้ คนละฉบับ ครั้นถึงวันที่ 1 มกราคม 2558 นางสาวโบตั๋นไม่ยอมชําระคืนเงินกู้ นางสาวจันทร์ชมพู จึงได้ส่งจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับเรียกให้นางสาวโบตั๋นชําระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย แต่นางสาวโบตั๋นกลับเพิกเฉย นางสาวจันทร์ชมพูจึงทําหนังสือแต่งตั้งให้ท่านเป็นโจทก์ฟ้องคดี และเป็นทนายความเพื่อฟ้องเรียกเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนจากนางสาวโบตั๋น ให้ท่านร่างคําฟ้อง โดยเน้นเฉพาะเนื้อหาและคําขอท้ายฟ้อง ไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้อง

ข้อ 1. ในการฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้มอบอํานาจให้ (ชื่อนักศึกษา) เป็นผู้มีอํานาจฟ้องและ ดําเนินคดีแทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 โจทก์ได้ให้จําเลยกู้ยืมเงินจํานวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี โดยมีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งจําเลย ได้รับเงินจํานวนที่กู้ไปครบถ้วนแล้ว และทั้งคู่ได้ทําสัญญากู้กันไว้คนละฉบับ รายละเอียดปรากฏตามสําเนา ภาพถ่ายหนังสือกู้ยืมเงิน ฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2557 เอกสารท้ายคําฟ้องหมายเลข 2

ข้อ 3. เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการชําระหนี้ตามสัญญากู้ในวันที่ 1 มกราคม 2558 จําเลย ไม่ยอมชําระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย โจทก์จึงได้ส่งจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับเรียกให้จําเลยชําระคืนเงินต้น จํานวน 100,000 บาท และดอกเบี้ยจํานวน 5,000 บาท รวมเป็นเงิน 105,000 บาท (หนึ่งแสนห้าพันบาทถ้วน) แต่จําเลยกลับเพิกเฉย การกระทําของจําเลยจึงเป็นการผิดสัญญากู้ยืมเงิน ทําให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจําเลยได้ จึงต้องมาฟ้องเป็นคดีนี้ เพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง เพื่อบังคับจําเลยต่อไป

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คําขอท้ายฟ้อง

1 ให้จําเลยชําระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 105,000 บาท (หนึ่งแสนห้าพันบาทถ้วน)

2 ให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจําเลยจะชําระแก่โจทก์เสร็จสิ้น

3 ให้จําเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

 

ข้อ 3. สมมุติข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 เวลา 22.00 นาฬิกา นายกมล แสนคํา กําลังยืนรอรถแท็กซี่เพื่อไปสนามบินสุวรรณภูมิ ณ คอนโดรัชดา แขวงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ได้ถูกนายจงใจ ทําชั่ว กระชากเอากระเป๋าเอกสารซึ่งในนั้นมีคอมพิวเตอร์ไอแพดราคา 20,000 บาท เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจํานวน 500 ดอลลาร์ และเอกสารสัญญาทางธุรกิจจากตัวนายกมล แล้ววิ่งหนีไป ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 12.00 นาฬิกา เจ้าพนักงานตํารวจจับนายจงใจ พร้อมกระเป๋าอันมีไอแพดดังกล่าว ส่วนเงินนายจงใจใช้หมดไปแล้ว ส่งสถานีตํารวจนครบาลห้วยขวาง พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวน นายจงใจให้การรับสารภาพ ส่วนของกลางได้คืนนายกมลไป ระหว่างการสอบสวนนายจงใจถูกนําตัวไปฝากขังไว้ที่ศาลอาญารัชดา ตามคดีหมายเลขดําที่ ฝ.678/2557

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 “ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทําผิด ฐานวิ่งราวทรัพย์”

สมมุติให้ท่านในฐานะพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนี้ จงเรียบเรียงคําฟ้องอาญาฐาน วิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 และเรียบเรียงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 158 (5) โดยไม่คํานึงถึงแบบพิมพ์ฟ้อง

ธงคําตอบ

ข้าพเจ้าในฐานะพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนี้ จะเรียบเรียงคําฟ้องเพื่อฟ้อง นายจงใจ ทําชั่ว ในข้อหาวิ่งราวทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ดังนี้

คําฟ้องอาญา

ข้อ 1. เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยได้บังอาจกระทําความผิดอาญา กล่าวคือ จําเลยได้ลักเอากระเป๋าเอกสารซึ่งในนั้นมีคอมพิวเตอร์ไอแพดราคา 20,000 บาท เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ จํานวน 500 ดอลลาร์ และเอกสารสัญญาทางธุรกิจจากตัวนายกมล แสนคํา ผู้เสียหายไปโดยทุจริต ในการลักทรัพย์ ดังกล่าว จําเลยได้กระชากทรัพย์ที่ลักแล้ววิ่งหนีไป อันถือเป็นการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า

เหตุเกิดที่แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร

ข้อ 2. ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตํารวจจับจําเลยได้พร้อม ของกลางคือกระเป๋าเอกสารอันมีไอแพดของกลางที่ระบุในคําฟ้องข้อ 1. นําส่งพนักงานสอบสวนทําการสอบสวน

ชั้นสอบสวนจําเลยให้การรับสารภาพ ส่วนของกลางได้คืนผู้เสียหายไปแล้ว

ระหว่างการสอบสวน จําเลยถูกควบคุมตัวมาตลอด ต่อมาได้นําตัวมาฝากขังไว้ที่ศาลนี้ ตามคดีหมายเลขดําที่ ฝ.678/2557 ขอศาลเบิกตัวจําเลยมาเพื่อพิจารณาพิพากษาลงโทษตามกฎหมายต่อไป

LAW4002 การว่าความ 2/2557

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 4002 การว่าความและการจัดทําเอกสารทางกฎหมาย

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. ในกรณีที่มีลูกความมาปรึกษาเรื่องการฟ้องหย่า ท่านจะสอบข้อเท็จจริงในประเด็นใดบ้างให้ยกตัวอย่างมาอย่างน้อย 4 ประเด็น

ธงคําตอบ

ในกรณีที่มีลูกความมาปรึกษาเรื่องการฟ้องหย่า ข้าพเจ้าจะสอบถามข้อเท็จจริงจากลูกความ ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ คือ

1 มีการกระทําประการใดบ้างที่จะเป็นเหตุฟ้องหย่า ซึ่งการกระทําดังกล่าวนั้นจะต้อง เป็นการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1516 เช่น สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ หรือสามีหรือภริยาประพฤติชั่ว หรือจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี เป็นต้น

2 ฝ่ายใดจะต้องรับผิดชอบค่าเลี้ยงชีพ เพราะในคดีหย่านั้น ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็น ความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทําให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทําอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิด จ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1526) (1)

3 ฝ่ายใดมีสิทธิใช้อํานาจปกครองบุตร เพราะในคดีหย่านั้น สามีภริยาสามารถทําความตกลงกันได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อํานาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

4 ฝ่ายใดเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เพราะสามีภริยาสามารถตกลงกันได้ว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้หรือตกลงกันไม่ได้ให้ศาล เป็นผู้กําหนด และ

5 การแบ่งสินสมรสและการจัดการเรื่องทรัพย์สิน เพราะเมื่อหย่ากันแล้วจะต้องจัดการ แบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา และให้แบ่งสินสมรสโดยให้ชายและหญิงได้ส่วนแบ่งเท่ากัน

หมายเหตุ ให้นักศึกษายกตัวอย่างการสอบถามถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นอย่างน้อย 4 ประการ

 

ข้อ 2. ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ในหมวด 2 มรรยาทต่อศาลและในศาลกําหนดไว้อย่างไรบ้าง ให้อธิบาย

ธงคําตอบ

ตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. 2529 ในหมวด 2 มรรยาทต่อศาล และในศาล ได้กําหนดไว้ 4 ข้อ ดังนี้คือ

1 ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่จะมี ข้อแก้ตัวโดยสมควร

2 ไม่เคารพยําเกรงอํานาจศาล หรือกระทําการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาล หรือนอกศาลอันเป็นการทําให้เสื่อมเสียอํานาจศาลหรือผู้พิพากษา

3 กล่าวความหรือทําเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายให้ศาลหลง หรือกระทําการใด เพื่อทราบคําสั่ง หรือคําพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

4 สมรู้เป็นใจโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือทําพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยาน ให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิด ซ่อนงํา อําพรางพยานหลักฐานใด ๆ ซึ่งควรนํามายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบน แก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน

ซึ่งถ้าทนายความผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทนายความฯ ดังกล่าวข้างต้นแม้แต่ ข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นเป็นประพฤติผิดมรรยาททนายความ

 

ข้อ 3. บริษัท จีแอลเอส จํากัด จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการจําหน่ายเครื่องมือแพทย์ทุกชนิดโดยมี นายปราบ ภานุมาส และนายปราณ ภานุมาส เป็นกรรมการบริหาร ลงลายมือชื่อและประทับตรา สําคัญแทนบริษัทตามใบรับรองการจดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 บริษัทฯ ได้ทําสัญญา ขายเตียงผ่าตัด เครื่องมือห้องผ่าตัดราคา 5,000,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลบํารุงประชาราษฎร์ จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวง พาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการตรวจและรักษาพยาบาลผู้ป่วยรวมถึงจัดจําหน่ายยาและเวชภัณฑ์โดยมี นายแพทย์สินธร พิสมัย และนางสาวชมนาส ชิณมัย เป็นกรรมการบริหาร ลงลายมือชื่อและประทับตรา สําคัญแทนโรงพยาบาลฯ ตามใบรับรองการจดทะเบียนจัดตั้ง โดยในสัญญาระบุวันชําระเงินทั้งหมด ในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 อันเป็นวันส่งมอบสินค้าทั้งหมด เมื่อถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 โรงพยาบาลฯ บิดพลิ้วไม่ยอมชําระราคาแต่ได้รับมอบสินค้าทั้งหมดเอาไว้โดยได้ลงลายมือชื่อในเอกสารรับมอบสินค้า ที่สั่งในใบส่งสินค้าให้กับบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ ได้ให้ท่านส่งจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์เรียกให้ โรงพยาลชําระราคาจํานวน 5,000,000 บาท อันเป็นราคาเตียงผ่าตัด เครื่องมือห้องผ่าตัดสินค้าทั้งหมด บริษัทฯ โดยนายปราบ ภานุมาส และนายปราณ ภานุมาส จึงทําหนังสือมอบอํานาจแต่งตั้งให้ท่าน เป็นตัวแทนการฟ้องคดีและเป็นทนายความให้กับบริษัทฯ ดังนั้นในฐานะทนายความของบริษัทฯ ให้ท่านเรียงคําฟ้องและคําขอท้ายฟ้องเรียกให้โรงพยาบาลฯ ชําระราคาสินค้าดังกล่าวทั้งหมดตามความประสงค์ของตัวความโดยไม่คํานึงแบบพิมพ์ศาล

ธงคําตอบ

คําฟ้องแพ่ง

ข้อ 1. โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วน บริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า บริษัท จีแอลเอส จํากัด มีวัตถุประสงค์ ในการจําหน่ายเครื่องมือแพทย์ทุกชนิด โดยมีนายปราบ ภานุมาส และนายปราณ ภานุมาส เป็นกรรมการบริหาร มีอํานาจลงลายมือชื่อและประทับตราสําคัญแทนบริษัท รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือรับรองเอกสาร ท้ายฟ้องหมายเลข 1

ในการฟ้องคดีนี้โจทก์ได้แต่งตั้งให้ (ชื่อนักศึกษา) เป็นตัวแทนในการฟ้องและดําเนินคดี แทนโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอํานาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2

จําเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด จดทะเบียน ณ สํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า โรงพยาบาลบํารุงประชาราษฎร์มีวัตถุประสงค์ ในการตรวจและรักษาพยาบาลผู้ป่วย รวมถึงจัดจําหน่ายยาและเวชภัณฑ์โดยมีนายแพทย์สินธร พิสมัย และนางสาวชมนาส ชิณมัยเป็นกรรมการบริหารมีอํานาจลงลายมือชื่อ และประทับตราสําคัญแทนโรงพยาบาลฯ รายละเอียดตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 โจทก์ได้ทําสัญญาขายเตียงผ่าตัด เครื่องมือห้องผ่าตัด ราคา 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) ให้กับจําเลย โดยในสัญญาได้ระบุให้จําเลยชําระเงินทั้งหมดในวันที่ 1 ธันวาคม 2557 อันเป็นวันส่งมอบสินค้าทั้งหมด รายละเอียดปรากฏตามสัญญาซื้อขาย ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2557 เอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 4

ข้อ 3. ครั้นถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 จําเลยปฏิเสธไม่ยอมชําระราคา แต่ได้รับมอบเตียงผ่าตัด และเครื่องมือห้องผ่าตัดสินค้าทั้งหมดเอาไว้โดยได้ลงลายมือชื่อในเอกสารรับมอบสินค้าที่สั่งในใบส่งสินค้าให้กับโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามใบส่งสินค้าฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2557 เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5

โจทก์ได้ทวงถามโดยส่งจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับเรียกให้จําเลยชําระราคาเตียงผ่าตัด และเครื่องมือห้องผ่าตัด สินค้าทั้งหมดเป็นเงินจํานวน 5,000,000 บาท (ห้าล้านบาทถ้วน) แต่จําเลยกลับเพิกเฉย รายละเอียดปรากฏตามสําเนาหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 และ 7

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับกับจําเลยได้ จึงขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คําขอท้ายฟ้อง

ข้อ 1. ขอให้จําเลยชําระราคาเตียงผ่าตัด เครื่องมือห้องผ่าตัด สินค้าทั้งหมดเป็นเงิน 5,000,000 บาท (5 ล้านบาทถ้วน)

ข้อ 2. ขอให้จําเลยชําระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ของราคาสินค้าทั้งหมดนับจากวันฟ้องเป็นต้น ไปจนกว่าจะชําระคืนให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น

ข้อ 3. ขอให้จําเลยชําระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์

WordPress Ads
error: Content is protected !!