LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด S/2547

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  เล็กได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  โดยในคำขอเปิดบัญชีฯนั้น  มีข้อหนึ่งกำหนดว่า  ถ้าเงินในบัญชีของผู้ฝากมีไม่พอจ่ายตามเช็ค  แต่ธนาคารได้จ่ายเงินตามเช็คให้ไป  ผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินส่วนหนึ่งที่ธนาคารจ่ายเงินเกินไปคืนให้กับธนาคารเสมือนหนึ่งว่าได้ขอเบิกเกินบัญชีกับธนาคาร  และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากเงินที่เบิกเกินบัญชีนั้นเป็นดอกเบี้ยทบต้น  ต่อมาเล็กได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีฯดังกล่าวเกินกว่าวงเงินที่ตนฝากไว้หลายครั้ง  และมีการนำเงินฝากเข้าบัญชีฯ  เพื่อลดยอดหนี้บ้าง  ดังนี้การกระทำระหว่างเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  ดังที่กล่าวมานั้น  ถือว่าเป็นการทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันหรือไม่  เพราะเหตุใด

หมายเหตุ  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  655  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ  แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง  คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้  แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

 ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี  ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี  หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่

ข  นาย  A  สั่งจ่ายเช็คเป็นจำนวน  10,000  บาท  ระบุชื่อ  นาย  B  เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ออก  แล้วส่งมอบให้แก่นาย  B  เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน  ต่อมานาย  B  ได้สลักหลังเฉพาะโอนให้แก่นาย  C  เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อขายสินค้า  โดยในการสลักหลังนั้นนาย  B  ได้ระบุถ้อยคำว่า  โอนให้นาย  C  แต่ข้าพเจ้ายอมรับผิดเพียง  5,000  บาท  ดังนี้  การสลักหลังโอนเช็คฉบับดังกล่าวของนาย B  ตามที่กล่าวมานั้นมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

การที่ในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันระหว่างเล็กกับธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  นั้น  มีข้อตกลงว่าหากธนาคารจ่ายเงินเกินบัญชีให้ไปแล้วให้ถือเสมือนหนึ่งว่ามีข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชี  ถือว่าเป็นการตกลงทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างกันแล้วประกอบกับเล็กก็ทำการเบิกเงินเกินบัญชีไปหลายครั้ง  และมีการนำเงินเข้าฝากบัญชีเพื่อลดหนี้บ้าง  จึงถือว่าเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด (มหาชน)  ได้ตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกันแล้วเพราะเป็นไปตามองค์ประกอบของมาตรา  856  (ฎ. 1629/2537)

สรุป  การกระทำระหว่างเล็กและธนาคารสวรรคโลก  จำกัด  (มหาชน)  เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย

มาตรา  915  ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใดๆก็ดี  จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ลงไว้ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้  คือ

 (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910, 914,  ถึง  923, 925 , 926, 938  ถึง  940, 945, 946, 959, 967, 971

วินิจฉัย

การสลักหลังโอนเช็คของนาย  B  นั้น  ถือเป็นกรณีที่ผู้สลักหลังจดข้อกำหนดจำกัดความรับผิดของตนต่อผู้ทรงตั๋วฯ  ตามมาตรา  915(1) มิใช่การสลักหลังโอนบางส่วนแต่อย่างใด  จึงถือว่าเป็นการโอนตั๋วฯตามปกติเพียงแต่นาย  B  ขอจำกัดความรับผิดของตนเพียง  5,000 บาทเท่านั้น  ตามมาตรา  915(1)  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  การสลักหลังโอนเช็คของนาย  B  มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

 

ข้อ  2  ก  ผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินมีความรับผิดตามตั๋วฯ  เป็นอย่างไร  และจะสามารถหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วฯนั้นได้ด้วยเหตุใดบ้าง

ข  ปริกสั่งจ่ายเช็คเป็นจำนวน  100,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  และส่งมอบให้แก่ปิ่นเพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน  ต่อมาปิ่นได้ไปเล่นพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศในบ่อนพนันของปอ  แล้วปิ่นแพ้พนันต้องจ่ายเงินค่าพนันให้กับปอเป็นเงิน  100,000  บาท  แต่ปิ่นไม่มีเงินจ่ายค่าพนันให้แก่ปอ  ปอจึงขู่ว่าจะให้ลูกน้องทำร้ายปิ่นหากปิ่นไม่ยินยอมชำระเงินค่าพนันให้แก่ปอ  ด้วยความกลัวปิ่นจึงได้สลักหลังเช็คฉบับที่รับมาจากปริกดังกล่าวนั้น  แล้วส่งมอบชำระหนี้พนันให้แก่ปอไป  ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน  ปอได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค  แต่ธนาคารฯปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอ  ปอจึงมาเรียกให้ปิ่นใช้เงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอ  โดยอ้างว่าปิ่นเป็นผู้สลักหลังโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่ปอจึงต้องรับผิดใช้เงินให้แก่ปอ  ปิ่นจึงมาปรึกษาท่านว่าตนจะต้องรับผิดจ่ายเงินตามเช็คให้แก่ปอตามที่ปอเรียกร้องมาหรือไม่  เพราะเหตุใด

(ให้นักศึกษาตอบคำถามโดยอาศัยหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับสัญญาตั๋วเงินตามที่ได้ศึกษามา)

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ความรับผิดของผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินเป็นไปตามมาตรา  940  วรรคแรก  ซึ่งมีหลักคือ

ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน  หมายถึง  รับผิดในจำนวนเงินเท่ากับผู้ที่ตนเข้าประกัน  (เว้นแต่ผู้รับอาวัลจะขอรับอาวัลบางส่วน)

ผู้รับอาวัลต้องรับผิดเสมอ  แม้บางกรณีผู้ซึ่งตนประกันอาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปได้ด้วยเหตุใดๆ  นอกจากทำผิดแบบหรือระเบียบ  (มาตรา  940  วรรคสอง)

การหลุดพ้นความรับผิดตามตั๋วแลกเงินของผู้รับอาวัลนั้น  โดย

 1       ตามมาตรา  940  วรรคสอง  กล่าวคือ  ตั๋วเงินนั้นผิดแบบหรือผิดระเบียบ  เช่น  ตั๋วเงินขาดรายการสำคัญ  การสลักหลังลอยผิดแบบ  การรับรองผิดแบบ  ฯลฯ  ผู้รับอาวัลสามารถอ้างตนให้หลุดพ้นจากความรับผิดดังกล่าวได้

2       ผู้รับอาวัลมีข้อต่อสู้กับผู้ทรงเป็นของตัวผู้รับอาวัลเองหรือผู้ทรงตั๋วแลกเงินนั้นมีสิทธิบกพร่อง

ข  อธิบาย

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา  918  ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ  นอกจากเพราะทำผิดระเบียบ  ท่านว่าข้อสัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910, 914,  ถึง  923, 925 , 926, 938  ถึง  940, 945, 946, 959, 967, 971

วินิจฉัย

เช็คพิพาทเป็นเช็คที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  สามารถโอนได้ด้วยการส่งมอบตามมาตรา  918  แต่การที่ปิ่นสลักหลังโอนเช็คให้แก่ปอนั้นถือว่าเป็นการโอนเช็คให้แก่ปอแล้วแต่มิได้ส่งผลให้การสลักหลังนั้นเป็นการสลักหลังโอน  แต่เป็นการรับอาวัลปริกผู้สั่งจ่ายเช็คตามมาตรา  921 ปิ่นจึงมีฐานะเป็นผู้รับอาวัลปริกผู้สั่งจ่ายเช็ค  ตามมาตรา  921,  940  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก  มิใช่มีฐานะเป็นผู้สลักหลัง  แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปอได้เช็คมาจากปิ่นโดยไม่สุจริตเพราะรับเช็คมาเพื่อชำระหนี้การพนัน  และปิ่นโอนเช็คให้ปอเพราะปอข่มขู่ปิ่น  ดังนั้นปอจึงมิใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  904,  905  จึงไม่มีสิทธิเรียกให้ผู้ใดต้องรับผิดตามเช็คนี้ได้เลย

สรุป  ปิ่นจึงมิต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่ปอแต่อย่างใด

 

ข้อ  3  ก  ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คจะหลุดพ้นจากความรับผิดในการใช้เงินตามเช็คได้อย่างไร  จงอธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข  นางส้มปลอมลายมือชื่อของนายดำผู้เป็นสามีของตน  สั่งจ่ายเช็คของนายดำเป็นจำนวน  100,000  บาท  ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือแล้วส่งมอบให้แก่นางซื่อเพื่อชำระราคาค่าแหวนเพชรที่นางส้มซื้อมาจากร้านของนางซื่อ  โดยนางซื่อรับเช็คนั้นไว้โดยสุจริต  และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ซึ่งนายดำก็ทราบถึงการปลอมลายมือชื่อของนางส้มดังกล่าวแต่ก็มิได้แจ้งให้ธนาคารผู้ต้องจ่ายเงินตามเช็คให้ทราบ  เพราะเกรงว่านายส้มจะต้องถูกดำเนินคดีอาญา  ต่อมานายคดลูกจ้างในร้านของนางซื่อได้งัดตู้เซฟที่นางซื่อใช้เก็บของมีค่าภายในร้านและได้ขโมยเอาเช็คฉบับที่นางส้มส่งมอบชำระราคาค่าแหวนเพชรให้นางซื่อดังกล่าวซึ่งเก็บไว้ในตู้เซฟไปขึ้นเงินกับธนาคารผู้มีหน้าที่จ่ายเงินตามเช็ค  ธนาคารฯก็หลงเชื่อว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายนั้นเป็นลายมือชื่อของนายดำเจ้าของบัญชีจริงๆ  เพราะปลอมได้เหมือนมาก  ธนาคารฯจึงจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายคดไป  และทำการหักบัญชีของนายดำตามจำนวนเงินที่ธนาคารจ่ายไป  คือ  100,000  บาท นายดำทราบเรื่องก็ไม่ยินยอมให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีของตนโดยอ้างว่าธนาคารจ่ายเงินตามเช็คไปทั้งที่ลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมธนาคารจะต้องรับผิดชอบเอง  ดังนี้  ข้ออ้างของนายดำนั้นถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

โดยหลักมาตรา  1009  ธนาคารจะหลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการใช้เงินไปตามเช็คก็ต่อเมื่อต้องด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้  คือ

1       ธนาคารได้ใช้เงินไปตามทางค้าปกติ

2       ธนาคารได้ใช้เงินไปโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  และ

3       ธนาคารไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ว่าตั๋วเงินนั้นจะมีการสลักหลังปลอมหรือสลักหลังโดยปราศจากอำนาจหรือไม่  เพียงแต่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ปลอมก็เพียงพอแล้ว  และให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

ส่วนกรณีของเช็คขีดคร่อมนั้น  มีวิธีพิเศษตามมาตรา  994  ซึ่งธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คจะหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงใดต้องบังคับตามมาตรา  998  กล่าวคือ  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  โดย

–          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค  หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ  (Collecting  Bank)  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค  จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคแรก)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคสอง)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995(4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

ข  อธิบาย

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

แต่ข้อความใดๆอันกล่าวมาในมาตรานี้  ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อลงไว้โดยปราศจากอำนาจแต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม

มาตรา  1009  ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด  และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้  ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน  หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม  ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

วินิจฉัย

ตามหลักกฎหมายในกรณีที่ตั๋วฯ  มีลายมือชื่อปลอมต้องบังคับตามมาตรา  1008  เว้นแต่จะมีมาตราอื่นบัญญัติไว้เป็นพิเศษ  เช่น  มาตรา  1009  แต่เนื่องจากมาตรา  1009  เป็นกรณีเกี่ยวกับบทคุ้มครองธนาคารผู้จ่ายเงินตามตั๋วฯ  ที่มีลายมือชื่อผู้สลักหลังปลอม  มิใช่กรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอม  ดังนั้นหากเป็นกรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมจะต้องบังคับตามมาตรา  1008

ดังนั้นตามข้อเท็จจริงดังกล่าว  ลายมือชื่อนายดำผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอมที่นางส้มปลอมขึ้น  ซึ่งปกติแล้วธนาคารผู้จ่ายจะอ้างความหลุดพ้นตามาตรา  1009  ไม่ได้  เพราะถ้ากรณีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมต้องบังคับตามมาตรา  1008  ซึ่งธนาคารจะไม่สามารถบังคับอ้างให้หลุดความรับผิดโดยอาศัยลายมือชื่อปลอมได้เช่นกัน  แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงดำทราบเรื่องแต่ไม่แจ้งให้ธนาคารทราบ  จึงถือว่าดำตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้  ดังนั้นธนาคารสามารถหักเงินจากบัญชีของดำได้

สรุป  ข้ออ้างของดำจึงไม่ถูกต้อง

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด สอบซ่อมภาค 2 และภาค S/2548

การสอบซ่อมภาค 2 และภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ

ข้อ 1 ก อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เพื่อเลี้ยงไก่ครั้งละไม่เกินห้าแสนบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยมีข้อตกลงว่าให้จันทร์เบิกเป็นลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงาน โดยอาทิตย์จะจดบัญชีไว้โดยคำนวณเป็นจำนวนเงินทั้งหมดตามที่จันทร์มีการเบิกไป และเมื่อลูกไก่โตได้ขนาดจันทร์จะขายไก่ให้กับอังคารเมื่อได้รับเงินจากอังคาร จันทร์จะนำเงินไปชำระหนี้อาทิตย์ แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้ อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใดและจะหักบัญชีเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไปและนำเงินมาชำระหนี้ แล้วจันทร์จะเอาลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงานไปเลี้ยงในรอบต่อไปอีก ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงินหรือสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข การรับรองตั๋วแลกเงินนั้นทำได้อย่างไร และการรับรองนั้นมีกี่ประเภทให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

จันทร์มีหนี้ที่จะต้องชำระ คือ ราคาค่าขายไก่ให้กับอาทิตย์ แต่ในส่วนของอาทิตย์ไม่มีหนี้สินอันใดที่จะต้องชำระให้กับจันทร์ ดังนั้นข้อตกลงระหว่างอาทิตย์กับจันทร์จึงไม่ใช่ข้อตกลงว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค จึงถือว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856 แต่อย่างใด นิติสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นแต่เพียงเรื่องกู้ยืมเงินเท่านั้น

สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงิน

ข อธิบาย

การรับรองตั๋วแลกเงิน คือ การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น มาตรา 931 ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “รับรองจะใช้เงิน” หรือ “ยินยอมจะใช้เงิน” ฯลฯ และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล

อย่างไรก็ดี การรับรองตามมาตรา 931 นี้ ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา 940) หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า (มาตรา 953) ก็ได้

การรับรองตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 935 ได้กำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้

1 การรับรองตลอดไป คือ การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

2 การรับรองเบี่ยงบ่าย คือ การรับรองใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ คือ

– การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข เช่น ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน

– การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน เช่น ตั๋วแลกเงินราคา 50,000 บาท ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นต้น

ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 937 กล่าวคือ เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

 

ข้อ 2 ก ผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินจะสามารถตั้งข้อจำกัดในการโอนตั๋วเงินได้หรือไม่ อย่างไร

ข นายกุหลาบลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายบัวเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก และเขียนคำว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงไว้ที่ด้านหน้าเช็คและส่งมอบให้แก่นายบัวเพื่อชำระหนี้ที่มีต่อกัน ต่อมานายบัวต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ค่าเช่าบ้านให้แก่นายมะลิ แต่นายบัวเห็นว่าเช็คมีคำว่า “A/C PAYEE ONLY” ระบุอยู่จึงไม่แน่ใจว่าตนจะสามารถโอนเช็คฉบับดังกล่าวนี้ชำระหนี้ให้แก่นายมะลิได้หรือไม่ นายบัวจึงมาปรึกษาท่านให้ท่านให้คำปรึกษาแก่นายบัวว่านายบัวจะสามารถโอนเช็คฉบับดังกล่าวชำระหนี้ให้แก่นายมะลิได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

ผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินสามารถตั้งข้อจำกัดในการโอนตั๋วเงินได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 917 วรรคสองว่า “เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่าเปลี่ยนมือไม่ได้ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้แก่กันได้ แต่รูปการและด้วยผลแห่งการโอนสามัญ” และบทบัญญัติมาตรา 985, 989 วรรคแรก ให้นำมาตรา 917 ไปใช้ในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็คด้วย

กรณีที่ผู้สั่งจ่ายจะกำหนดหรือเขียนลงไปว่าเปลี่ยนมือไม่ได้นั้นต้องเป็นตั๋วชนิดระบุชื่อผู้รับเงินเท่านั้น ส่วนตั๋วผู้ถือนั้นสามารถที่จะโอนกันได้ด้วยการส่งมอบ ตามมาตรา 918

ข้อจำกัดห้ามโอนนั้นผู้สั่งจ่ายต้องลงไว้ด้านหน้าตั๋วแลกเงินโดยใช้คำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” หรือคำอื่นอันได้ความทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “ห้ามโอน” หรือ “ห้ามสลักหลังต่อ” หรือระบุความว่า “จ่ายให้นาย ก เท่านั้น” หรือ “จ่ายเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น (A/C PAYEE ONLY หรือ ACCOUNT PAYEE ONLY) ย่อมมีผลเป็นการห้ามเปลี่ยนมือหรือห้ามโอนเช่นกัน แต่ถ้าลงไว้ด้านหลังตั๋วแลกเงิน น่าจะถือว่าตั๋วแลกเงินนั้นไม่มีข้อกำหนดห้ามโอนลงไว้เลย ทั้งนี้ตามมาตรา 899

ผลของการลงข้อจำกัดห้ามโอน คือ ผู้รับเงิน (ผู้ทรง) จะโอนตั๋วแลกเงินนั้นต่อไปด้วยการสลักหลังและส่งมอบตามมาตรา 917 วรรคแรกไม่ได้ แต่ตั๋วแลกเงินก็ยังโอนต่อไปอีกได้ตามแบบสามัญหรือตามหลักการโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้อง ตามมาตรา 306 กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือโอนหนี้ตามตั๋วแลกเงินนั้นระหว่างผู้โอนกับผู้รับโอน และผู้โอนต้องบอกกล่าวการโอนเป็นหนังสือไปยังผู้สั่งจ่าย หรือให้ผู้สั่งจ่ายยินยอมด้วยโดยทำเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใด

ข อธิบาย

มาตรา 917 วรรคสอง เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดังนี้ก็ดี หรือเขียนคำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ

มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้

ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910, 914 , ถึง 923…

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริง เช็คฉบับดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่าย คือ นายกุหลาบสั่งจ่ายโดยตั้งข้อจำกัดการโอนไว้ตามมาตรา 917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก โดยคำว่า “A/C PAYEE ONLY” มีความหมายทำนองเดียวกับคำว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” จึงโอนตามมาตรา 917 วรรคสองไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี หากนายบัวต้องการจะโอนเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายมะลิจะต้องโอนต่อไปโดยรูปการโอนแบบการโอนหนี้สามัญ ตามมาตรา 306 มิใช่การโอนด้วยวิธีการโอนตั๋วเงินทั่วไป กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนนั่นเอง

สรุป นายบัวสามารถโอนเช็คได้ด้วยรูปการโอนแบบการโอนหนี้สามัญ

 

ข้อ 3 ก บุคคลใดบ้างที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็คได้ เป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป หรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และบุคคลใดบ้างที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ลงข้อความ “ห้ามโอน” หรือ “ห้ามเปลี่ยนมือ” หรือ สำนวนอื่นอันมีความหมายทำนองเดียวกันลงในเช็ค และจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่คู่สัญญาแห่งเช็คนั้นเพียงใดหรือไม่

ข เอกมีชื่อเป็นผู้รับเงินตามเช็คธนาคารกรุงทอง ที่พิเศษเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายซึ่งได้ขีดคร่อมทั่วไปและได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นออกแล้ว เมื่อเอกได้รับเช็คนั้นมาก็ได้ลงข้อความว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงในระหว่างเส้นคู่ขนานที่ปรากฏด้านหนาเช็คนั้นและลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คเพื่อเตรียมให้ธนาคารอ่าวไทยที่ตนมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่เอกทำเช็คนั้นตกหายโดยไม่รู้ตัว โทเก็บเช็คนั้นได้แล้วนำไปส่งมอบขายลดเช็คนั้นให้ตรีซึ่งรับซื้อเช็คนั้นโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าตรีเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และตรีจะบังคับไล่เบี้ยพิเศษ เอกและโทให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่ หากธนาคารกรุงทองปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อเช็คนั้นถึงกำหนด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ขีดคร่อมเช็ค ได้แก่

(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(2) ผู้ทรงเช็ค อาจเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ได้

(3) ธนาคาร ต้องเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเท่านั้น (มาตรา 995 (1) , (2) , (4) และ (5))

กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายต้องจ่ายเงินตามเช็คเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็คหรือธนาคารตัวแทนของผู้ทรงเช็ค ธนาคารจะจ่ายเงินสดมิได้

บุคคลที่กฎหมายตั๋วเงินอนุญาตให้ลงข้อความห้ามโอน หรือห้ามเปลี่ยนมือ หรือความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน ได้แก่

(1) ผู้สั่งจ่ายเช็ค (มาตรา 917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

(2) ผู้สลักหลังเช็ค (มาตรา 923 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

(3) ผู้ทรงเช็คขีดคร่อม (มาตรา 995 (3))

กรณีย่อมก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินดังนี้ คือ

(1) กรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คห้ามโอน ผู้รับเงินจะโอนเช็คนั้นด้วยการสลักหลังและส่งมอบต่อไปมิได้ คงโอนต่อไปได้ด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องธรรมดา หรือการโอนแบบสามัญซึ่งผู้สั่งจ่ายจะต้องยินยอมด้วยในการโอนหนี้ตามเช็คนั้น (มาตรา 917 วรรคแรกและวรรคสอง ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก)

(2) กรณีที่ผู้สลักหลังเช็คห้ามโอน ผู้รับสลักหลังต่อมายังคงสลักหลังโอนต่อไปได้ไม่จำกัดแต่ผู้สลักหลังเช็คซึ่งเป็นผู้ห้ามโอน ไม่ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาทั้งหลายซึ่งได้เข้าผูกพันภายหลัง ผู้รับสลักหลังที่ตนเองได้ห้ามโอนไว้ (มาตรา 923 ประกอบมาตรา 899 วรรคแรก)

(3) กรณีที่ผู้ทรงเช็คขีดคร่อมห้ามโอน หากมีบุคคลอื่นแอบนำเช็คนั้นโอนต่อไป ย่อมเป็นผลให้ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (มาตรา 995 (3) ประกอบมาตรา 999)

ข อธิบาย

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา 995 (3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้

มาตรา 999 บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

วินิจฉัย

เอกผู้ทรงเช็คได้เขียนข้อความที่มีความหมายว่า “ห้ามโอน” ลงไว้ในเช็คขีดคร่อมแล้ว ตามมาตรา 995(3) แม้ว่าตรีจะรับซื้อลดเช็คจากโทไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อมีการสลักหลังโอนที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย เสมือนเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 905 วรรคแรก และวรรคสอง แต่ตรีก็ได้รับเช็คจากโทซึ่งมิได้มีสิทธิรับเช็คและโอนเช็คนั้น กรณีย่อมเป็นผลให้ตรีมีสิทธิเช่นเดียวกับโทตามมาตรา 999 ตรีจึงไม่เป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบุคคลใดให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าว

สรุป ตรีไม่เป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีสิทธิไล่เบี้ยบุคคลใดให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คดังกล่าว

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 1/2548

การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  บุญมีเปิดบัญชีฝากเงินประเภทกระแสรายวันไว้กับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  จำนวน  200,000  บาท  ได้ทำการเดินสะพัดทางบัญชี  โดยนำเงินฝากและถอนเงินไปใช้เรื่อยมา  ภายหลังลูกค้ามีเงินฝากเหลืออยู่ในบัญชีเพียงเล็กน้อย  จึงทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก  500,000  บาท  โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้น  รายเดือนตามประเพณีธนาคารเป็นเวลา  2  ปี  บุญมีนำเงินฝากและถอนเงินไปใช้เรื่อยมา  เมื่อเวลาผ่านไป  1  ปี  บุญมีตายลง  ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชนจำกัดเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่อย่างไร  และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามกำหนดเวลา  2  ปี  ตามสัญญาได้หรือไม่อย่างไร

หมายเหตุ  ป.พ.พ.  มาตรา  655  ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ… ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดีในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี  หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนไม่

ข  กรณีของตั๋วแลกเงินและเช็คนั้นผู้สั่งจ่ายจะสั่งให้ผู้จ่ายหรือธนาคารจ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอนให้กับผู้รับเงิน  ดังนี้ถ้าผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความให้ผู้จ่ายหรือธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินด้วย  โดยคิดจากจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายได้หรือไม่อย่างไร

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

การที่บุญมีเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  200,000  และได้ทำการเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา  เป็นกรณีที่บุญมีใช้สิทธิเบิกเงินตามที่บุญมีฝากเงินไว้กับธนาคารกรุงเก่า  มิใช่กรณีที่บุญมีกับธนาคารกรุงเก่าตกลงหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาพ  ตามมาตรา 856  ต่อมาบุญมีทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี  500,000  บาท  เป็นเวลา  2  ปี  โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามประเพณีธนาคารและมีการนำเงินเข้าฝากและถอนเรื่อยมานั้น  การเบิกเงินเกินบัญชีของบุญมีดังกล่าว  เป็นการที่บุญมีผู้ฝากเงินซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารได้ขอเบิกเงินเกินกว่าที่ตนเองมีสิทธิและเมื่อธนาคารยอมให้เบิก  ธนาคารย่อมเป็นเจ้าหนี้และเมื่อมีการฝากถอนเงินไปใช้เรื่อยมา  

ดังนี้ย่อมเป็นการที่บุญมีกับธนาคารกรุงเก่าตกลงหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาพ  จึงเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดประเภทที่มีกำหนดเวลา  2  ปี  ตามมาตรา  856 และเมื่อบุญมีตายลงย่อมทำให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นเรื่องการเฉพาะตัวของบุญมีสิ้นสุดลง  ธนาคารย่อมหมดสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น  ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่บุญมีตายเท่านั้นจะคิดตามกำหนด  2  ปี  ตามสัญญาไม่ได้  ตามมาตรา  655  (ฎ. 1862/2518)

สรุป  นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดและธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามกำหนดเวลา  2  ปีตามสัญญาไม่ได้

ข  อธิบาย

กรณีตั๋วแลกเงิน

ผู้สั่งจ่ายสามารถสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินได้  ตามมาตรา  911  ซึ่งมีหลักว่า

ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้  และในกรณีเช่นนั้นถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน

ดังนั้นถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินไม่ลงข้อกำหนดดอกเบี้ยลงในตั๋วแลกเงิน  ผู้รับเงินหรือผู้ทรงก็จะเรียกดอกเบี้ยตามมาตรานี้ไม่ได้  สำหรับดอกเบี้ยนั้นตามปกติต้อไม่เกินร้อยละ  15  ต่อปี  ถ้าเกินต้องลดลงมาเป็นร้อยละ  15  ต่อปี  และถ้าผู้สั่งจ่ายได้เขียนกำหนดดอกเบี้ยลงไว้ในตั๋วแลกเงิน  แต่มิได้กำหนดว่าร้อยละเท่าใด  ดังนี้ต้องนำมาตรา  7  มาบังคับ  คือคิดร้อยละ  7.5  ต่อปี

สำหรับการคิดดอกเบี้ยตามมาตรา  911  ถ้ามิได้กำหนดเป็นอย่างอื่น  ให้เริ่มนับจากวันที่ลงในตั๋วแลกเงินหรือวันออกตั๋วแลกเงิน

กรณีเช็ค

ผู้สั่งจ่ายไม่สามารถสั่งให้ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินได้  ดังนั้นผู้สั่งจ่ายเช็คจะกำหนดดอกเบี้ยในเช็คไม่ได้  เพราะมาตรา  989 วรรคแรกมิได้บัญญัติให้นำมาตรา  911  ไปใช้บังคับกับเช็คด้วย  การคิดดอกเบี้ยในเช็คคงคิดได้ตามหลักทั่วไปในเรื่องหนี้  กล่าวคือ  คิดตามมาตรา  224  คือร้อยละ  7.5  ต่อปีในระหว่างผิดนัด  (ฎ. 901/2505)  ถ้ามีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในเช็ค  กรณีย่อมเป็นผลตามมาตรา  899  ซึ่งมีหลักว่า  ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้  ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน  ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินไม่

 

ข้อ  2  ก  ธนาคารผู้มีหน้าที่ใช้เงินตามเช็คจะสามารถปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ในวันที่  15  ตุลาคม  2547  นายวันสั่งจ่ายเช็คธนาคารไกรทอง  จำกัด  (มหาชน)  สาขาหัวหมากซึ่งตนเป็นลูกค้าอยู่จำนวน  100,000  บาท  ลงวันที่  29  ตุลาคม  2547  ระบุชื่อนายเดือนเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คนั้นออกแล้วส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่าเช่าอาคารพาณิชย์ย่านถนนรามคำแหงให้แก่นายเดือน  ต่อมาเมื่อถึงวันที่  29  ตุลาคม  2547  นายเดือนก็ยังไม่นำเช็คไปยื่นให้ธนาคารไกรทองฯ  ใช้เงิน  เนื่องจากมีภารกิจต้องเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ต่างประเทศ  ต่อมาเมื่อนายเดือนเดินทางกลับมาจากต่างประเทศในวันที่  14  กุมภาพันธ์  2548  นายเดือนได้รีบนำเช็คฉบับดังกล่าวไปยื่นให้ธนาคารไกรทองฯ  ใช้เงินในวันเดียวกันนั้นทันที  เมื่อธนาคารไกรทองฯ  ทำการตรวจสอบเงินในบัญชีของนายวันผู้สั่งจ่ายแล้วปรากฏว่ามีเงินคงเหลืออยู่ในบัญชีที่ธนาคารจะสามารถจ่ายได้  จำนวน  1,000,000  บาท  ต่อจากนั้นธนาคารไกรทองฯได้ทำการสอบถามไปยังนายวัน  เมื่อนายวันทราบเรื่องก็แจ้งให้ธนาคารไกรทองฯ  ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวทันที  เพราะเห็นว่าเป็นเช็คที่ล่วงเลยเวลาใช้เงินตามเช็คมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว  ดังนี้  ธนาคารไกรทองฯ  จะสามารถจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนี้ให้แก่นายเดือนได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

โดยหลักแล้ว  ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค  (Paying  Bank)  มีความผูกพันทางกฎหมาย  (นิติสัมพันธ์)  ในการใช้เงินตามเช็คต่อผู้เคยค้า  (ผู้สั่งจ่ายเช็ค)  จากบัญชีกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายคือ  ธนาคารผู้สั่งจ่ายจำต้องใช้เงินตามเช็คที่ผู้สั่งจ่าย  (ผู้เคยค้า)  ได้เซ็นสั่งจ่ายเพื่อเบิกจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันนั้น  เว้นแต่ธนาคารผู้สั่งจ่ายอาจใช้ดุลพินิจจ่ายหรือปฏิเสธการจ่ายเงินตามคำสั่งจ่ายเช็คนั้นก็ได้   หากมีข้อใดข้อหนึ่งตามที่ระบุไว้ในมาตรา  991  ดังนี้คือ

(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า  (ผู้สั่งจ่าย)  เป็นเจ้าหนี้พอจ่ายตามเช็คนั้น  หรือ

(2) มีผู้นำเช็คที่ผู้เคนค้าเป็นผู้สั่งจ่ายนั้นมายื่นเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายใช้เงินเมื่อพ้น  6  เดือน  นับแต่วันออกเช็ค  (วันเดือนปีที่ลงในเช็ค)  หรือ

(3) มีการบอกกล่าวว่าเช็คที่ธนาคารรับไว้นั้นเป็นเช็คที่หายหรือถูกลักไป

อนึ่งมาตรา  992  ได้วางหลักว่าในกรณีดังต่อไปนี้เป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายสิ้นอำนาจและหน้าที่ในการใช้เงินตามเช็คที่ผู้เคยค้าได้เซ็นสั่งจ่ายเลิกเงินจากบัญชีของเขา  คือ

 (1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินตามเช็คนั้นโดยผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นเอง

(2) ธนาคารผู้จ่ายทราบว่าผู้สั่งจ่ายเช็คนั้นถึงแก่ความตาย

(3) ธนาคารผู้จ่ายรูว่าศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว  หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายหรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น

ข  อธิบาย

มาตรา  990  วรรคแรก  ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน  คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกันกับที่ออกเช็คต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น  ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่นต้องยื่นภายในสามเดือน  ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง  ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อผู้สั่งจ่ายด้วย  เพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่ยื่นเช็คนั้น

มาตรา  992  หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น  ท่านว่าเป็นอันสิ้นสุดไปเมื่อกรณีเป็นดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงนั้นเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายเช็คของธนาคารในกรุงเทนมหานคร  เพื่อชำระหนี้ในกรุงเทพมหานคร  จึงถือว่าเป็นเช็คที่ออกในเมืองเดียวกัน  ดังนั้นผู้ทรงคือนายเดือนจะต้องยื่นเช็คให้ธนาคารฯจ่ายเงินภายใน  1  เดือนนับแต่วันลงในเช็ค  คือภายในวันที่  30  พฤศจิกายน  2548  มิฉะนั้นจะมีผลตามมาตรา  990  วรรคแรก  แต่ถึงแม้ในข้อเท็จจริงนายเดือนจะยื่นเช็คให้ธนาคารใช้เงินในวันที่  14 กุมภาพันธ์  2549  ซึ่งเลยระยะเวลานับแต่วันที่ลงในเช็คมากว่า  3 เดือนเศษแล้วก็ตาม  แต่ก็ต้องถือว่าผู้สั่งจ่ายคือ  นายวันยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามมาตรา  990  วรรคแรก  ทั้งนี้เพราะมิได้ปรากฏว่าธนาคารไกรทองฯ  ล้มละลายนายวันจึงไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด  (ฏ. 1865/2492)

แต่ไม่ว่านายวันจะหลุดพ้นความรับผิดหรือไม่ก็ตาม  หากปรากฏว่านายวันผู้สั่งจ่ายแจ้งกับธนาคารฯให้ธนาคารระงับการจ่ายแล้วก็ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้สั่งจ่ายมีคำบอกกล่าวห้ามใช้เงินแล้ว  ตามมาตรา  992(1)  เมื่อธนาคารฯทราบแล้วธนาคารจะใช้ดุลยพินิจจ่ายเงินไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด

สรุป  ธนาคารไกรทองฯไม่สามารถจ่ายเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวนี้ให้แก่นายเดือนได้

 

ข้อ  3  ก  กฎหมายตั๋วเงินที่ได้บัญญัติให้ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมไว้อย่างไร  หากปฏิบัติตามกฎหมายแล้วจะได้ประโยชน์ตามกฎหมายอย่างไร  ตรงกันข้าม  หากฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ดังกล่าว  จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร

ข  เหลืองได้รับโอนเช็คธนาคารสินไทย  สาขาคลองจั่นจากดำไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  เนื่องจากมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย  ข้อเท็จจริงได้ความว่าเช็คดังกล่าว  แดงเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายล่วงหน้าระบุขาวเป็นผู้รับเงินหรือผู้ถือ  และได้ขีดคร่อมทั่วไปไว้  แต่แดงได้ทำตกหายไปโดยไม่รู้ตัว  ต่อมาเหลืองได้นำเช็คนั้นไปฝากให้ธนาคารกรุงทอง  สาขารามคำแหงซึ่งเป็นสาขาที่เหลืองมีบัญชีเงินฝากเพื่อเรียกเก็บ  พนักงานธนาคารกรุงทองได้ใช้ตราประทับซ้ำรอยขีดคร่อมทั่วไป  เป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะเพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารสินไทยเข้าบัญชีของเหลืองได้สำเร็จ  และเหลืองได้ถอนเงินที่เดรียกเก็บมานั้นไปใช้แล้วบางส่วน

ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยโดยอ้างอิงหลักกฎหมายโดยสังเขปในประเด็นดังต่อไปนี้

 (1) บุคคลใดเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คดังกล่าว

(2) ธนาคารทั้งสอง  ยังคงต้องรับผิดต่อใครหรือไม่

(3) ธนาคารสินไทยจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของแดงได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

(4) แดงได้หลุดพ้นจากการชำระหนี้ขาวแล้วหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่ายเงินด้วยการจำแนกเช็คขีดคร่อม  3  ประเภท  ได้แก่  เช็คขีดคร่อมทั่วไป  เช็คขีดคร่อมเฉพาะ  และเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าหนึ่งธนาคารหนึ่งขึ้นไป  กล่าวคือ

 (1)   กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมทั่วไป

 ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็คนั้น  จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างธรรมดาเช่นเช็คธรรมดาที่มิได้ขีดคร่อมมิได้   (มาตรา  994  วรรคแรก)

(2)   กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะ 

ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  จะจ่ายเป็นเงินสดอย่างเช่นเช็คธรรมดาหรือจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นนอกจากที่ระบุชื่อไว้มิได้  (มาตรา  994  วรรคท้าย)

 (3)   กรณีที่เป็นเช็คที่ได้มีการขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารมากกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป 

ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995 (4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

อนึ่ง  ธนาคารผู้จ่ายหากได้จ่ายเงินไปภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ  ทั้งได้จ่ายเงินไปตามทางการค้าปกติ  (ในระหว่างวันและเวลาที่เปิดทำการตามนัย  มาตรา  1009)  กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น  (ปกติให้แก่ผู้ทรงเดิม)  และชอบที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายนั้นได้  (มาตรา  998)

ตรงกันข้าม  หากธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คขีดคร่อมเป็นอย่างอื่น  เช่น  ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คแทนที่จะเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ทรงเช็ค  หรือใช้เงินสดให้แก่พนักงานธนาคารอื่นผู้ยื่นเช็ค  หรือใช้เงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อไว้โดยเฉพาะ  หรือมิได้ปฏิเสธการจ่ายเงินกรณีที่มีการขีดคร่อมเฉพาะเกินกว่า  1  ธนาคาร  หรือใช้เงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นตัวแทนเรียกเก็บเงินตามหลักเกณฑ์  (1)  (2)  และ  (3)  ดังกล่าวข้างต้น  กรณีย่อมเป็นผลให้ธนาคารผู้จ่ายยังจะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาต้องเสียหายจากการที่มิได้ใช้ประโยชน์จากเช็คขีดคร่อมนั้น  (มาตรา  997  วรรคสองตอนท้าย)  อีกทั้งไม่มีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่าย  เพราะถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ  (มาตรา  1009)

ข  อธิบาย

มาตรา  998  ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ  กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง  ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ  หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง  กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว  ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน  และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา  1000  ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี  หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้  ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น  ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

มาตรา  1009  ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด  และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้  ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน  หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม  ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

วินิจฉัย

 (1) เช็คพิพาทได้ตกหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของแดงผู้สั่งจ่าย  ต้องถือว่าแดงยังคงเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนี้

(2) ธนาคารทั้งสอง  ได้แก่  ธนาคารสินไทยฯ  ในฐานะธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะและธนาคารกรุงทองในฐานะธนาคารผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คที่ตนเองได้ขีดคร่อมเฉพาะเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของเหลืองผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายต่างก็ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะแล้วย่อมไม่ต้องรับผิดต่อแดงเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คพิพาทรายนี้  ตามมาตรา  998  และมาตรา  1000

(3) ธนาคารสินไทยจ่ายเงินไปตามเช็คขีดคร่อมเฉพาะตามมาตรา  998  แล้ว  ย่อมถือว่าได้จ่ายเงินไปโดยถูกระเบียบย่อมมีสิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของแดงได้ตามนัย  มาตรา  1009

(4) แดงไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้ขายแต่อย่างใดทั้งมูลหนี้เดิม  และมูลหนี้ตามเช็ค  เนื่องจากเป็นมูลหนี้เดียวกัน  เพราะเช็คพิพาทนั้นยังมิได้ตกไปถึงมือขาวผู้รับเงินตามมาตรา  998

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 2/2548

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  แดงซื้อลูกไก่  อาหารไก่และวัคซีนไก่  ด้วยเงินเชื่อจากเหลืองโดยเหลืองได้จดบัญชีลงรายการที่แดงซื้อเงินเชื่อไว้และมีข้อตกลงกับแดงว่าเมื่อครบ  45  วัน  ไก่เจริญเติบโตเหลืองจะไปซื้อไก่จากแดงโดยตีราคาไก่ตามน้ำหนักได้ยอดเท่าใดก็จะเอายอดเงินค่าลูกไก่  อาหารไก่  และวัคซีนไก่มากักออก  หากเงินเหลือก็จะมอบให้แดงไป  แต่ถ้าเงินไม่พอแดงต้องชำระราคาลูกไก่อาหารไก่และวัคซีนไก่ที่ค้างอยู่ทั้งหมด  แต่ถ้าชำระไม่ได้เหลืองจะจดบัญชีว่าแดงเป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและจะหักจากราคาไก่ในรอบต่อไป  ข้อตกลงนี้มีกำหนด  2  ปี  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  ข้อตกลงระหว่างแดงกับเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ข  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินที่ผู้สั่งจ่ายออกมาโดยชอบแล้ว  จะเกิดผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

สัญญาระหว่างแดงและเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด  เพราะว่าเป็นสัญญาที่คู่กรณีมีเจตนาที่จะหักทอนหรือตัดทอนหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นในระหว่างเขาทั้งสองนั้นด้วยการหักกลบลบกันและชำระแต่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค  ตามมาตรา  856

สรุป  ข้อตกลงระหว่างแดงกับเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย

ตามกฎหมายตั๋วเงิน  แม้มีการบัญญัติให้ผู้สั่งจ่าย  ผู้ทรง  ธนาคาร  ขีดคร่อมเช็คได้ไม่ว่าจะเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป  หรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม  แต่ในส่วนของตั๋วแลกเงินนั้นมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้สิทธิผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินแต่อย่างใด  ดังนั้น  ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงิน  ไม่ว่าจะเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม  รอยขีดคร่อมนั้นย่อมหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วแลกเงินไม่  กล่าวคือ  ตั๋วแลกเงินนั้นก็ยังเป็นตั๋วแลกเงินที่มิได้มีรอยขีดคร่อมแต่อย่างใด  ตามมาตรา  899  ซึ่งมีหลักว่า  ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน  ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน  ข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

 

ข้อ  2  นายดำสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายแดงเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คออก  แล้วส่งมอบชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าให้แก่นายแดง  ต่อมานายแดงได้สลักหลังลอยเช็คนั้นแล้วส่งมอบให้แก่นายทอง  เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน  หลังจากนั้นนายทองได้ส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่าจ้างซ่อมรถยนต์ให้แก่นายขาว  ต่อมานายขาวมีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยด่วนจึงจะทำการสลักหลังเช็คนั้นขายลดให้แก่นายเขียว  นางสาวส้มเพื่อนสนิทของนายเขียวได้บอกแก่นายเขียวว่าอย่ารับซื้อลดเช็คนั้นไว้  โดยให้เหตุผลว่านายเขียวจะไม่มีสิทธิใดๆ  ในเช็คนั้นเลยเนื่องจากจะไม่มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย  นายเขียวไม่แน่ใจจึงมาปรึกษาท่าน

ท่านจงให้คำปรึกษาแก่นายเขียวว่าหากนายเขียวรับสลักหลังขายลดเช็คนั้นมาจากนายขาวแล้ว  จะมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา  920  วรรคสอง  ถ้าสลักหลังลอย  ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้  คือ

 (1) กรอกรข้อความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเอง  หรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย  หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง

(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง  และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

ข้อเท็จจริงนั้นนายทองเป็นผู้ทรงเช็คที่ได้รับโอนมาโดยการสลักหลังลอย  ดังนั้นจึงสามารถโอนเช็คนั้นต่อไปได้โดยการส่งมอบให้แก่นายขาวได้  ตามมาตรา  920  วรรคสอง  (3)  ซึ่งก็จะถือว่านายขาวเป็นผู้ทรงเช็คที่ได้รับสลักหลังลอยเช็คนั้นมาจากนายแดงโดยตรงโดยไม่ผ่านมือนายทองเลย  จึงถือว่านายขาวเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งมีสิทธิที่จะโอนเช็คนั้นต่อไปได้ตามวิธีการตามมาตรา  920 วรรคสอง  หากนายขาวต้องการจะโอนเช็คนั้นขายลดให้แก่นายเขียวโดยการสลักหลังก็สามารถที่จะกระทำได้  ตามมาตรา  920  วรรคสอง  (2)  โดยไม่ถือว่าเป็นการโอนที่ขาดสายแต่อย่างใด

ดังนั้น  หากนายขาวทำการสลักหลังเช็คนั้นนายลดให้แก่นายเขียวแล้ว  นายเขียวก็จะมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  เพราะ

 1       ได้ครอบครองเช็คนั้นอยู่

2       ได้ครอบครองเช็คนั้นในฐานะผู้รับสลักหลัง

3       ได้ครอบครองเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

4       ได้ครอบครองเช็คนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย

ทั้งนี้  ตามมาตรา  904, 905

สรุป  นายเขียวเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  ก  ประมวลกฎหมายแพ่งลักษณะตั๋วเงิน  ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่ายเงิน  (Paying  Bank)  และผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมไว้อย่างไร

ข  แดงลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารสินไทย  สาขาหัวหมาก  ระบุดำเป็นผู้รับเงินและได้ขีดคร่อมทั่วไปลงบนเช็คทั้งได้ขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คนั้นออกแล้วได้มอบเช็คนั้นให้ดำ  ดำลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คนั้นเพื่อเตรียมไปมอบให้ธนาคารอ่าวไทยเรียกเก็บเงินให้  แต่เขียวได้ขโมยเช็คนั้นไปขึ้นเงินสดจากธนาคารสินไทย  สาขาหัวหมาก  ได้สำเร็จ  ในขณะที่ธนาคารสินไทย  ผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อและตามทางการค้าปกติ  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คฉบับนี้  และธนาคารสินไทยผู้จ่ายยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย  (Paying  Bank) 

 –          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค  หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ  (Collecting  Bank)  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค  จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคแรก)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้  และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้  (มาตรา  994  วรรคสอง)

–          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน  เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน  ดังนี้  ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้  แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้  (มาตรา  995 (4)  ประกอบมาตรา  997  วรรคแรก)

(2) ผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อม

 –          กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คก็ดี  หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่ผู้ทรงเช็คมิได้มีบัญชีเงินฝากก็ดี

 –          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ  ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดหรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อลงไว้โดยเฉพาะก็ดี

 –          กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป  ธนาคารผู้จ่ายไม่ปฏิเสธการจ่ายเงิน  หรือจ่ายเงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินก็ดี

ผล  ธนาคารผู้จ่ายต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คขีดคร่อมนั้น  (ผู้ทรงเดิม)  ในการที่น่าต้องเสียหาย  (มาตรา  997  วรรคสอง)  และไม่สามารถหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายได้  เพราะถือว่าใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ  แม้ถึงว่าจะใช้เงินไปตามทางการค้าโดยปกติ  โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม  (มาตรา  1009)

ข  อธิบาย

มาตรา  994  วรรคแรก  ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า  กับมีหรือไม่มีคำว่า  และบริษัท  หรือคำย่ออย่างใดๆ  แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้  เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป  และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น

มาตรา  997  วรรคสอง  ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คเบิกขืนใช้เงินไปตามเช็คที่ขีดคร่อมอย่างว่ามานั้นก็ดี  ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมทั่วไปเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่งก็ดี  ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมเฉพาะเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้โดยเฉพาะ  หรือแก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นก็ดี  ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปดังกล่าวนี้จะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาจะต้องเสียหายอย่างใดๆ  เพราะการที่ตนใช้เงินไปตามเช็คนั้น

วินิจฉัย

เช็คธนาคารสินไทยฯ  เป็นเช็คระบุชื่อขีดคร่อมทั่วไป  อันเป็นผลให้ธนาคารสินไทยผู้จ่ายต้องจ่ายเงินผ่านธนาคารของผู้ทรงเช็ค  หรือธนาคารผู้เรียกเก็บ  มิใช่จ่ายเงินสด  การที่ธนาคารสินไทยได้จ่ายเงินสดให้แก่เขียว  แม้ว่าจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นไปตามทางการค้าปกติ  โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม  กรณีย่อมเป็นการใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ  ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมทั่วไป  ธนาคารสินไทยจึงต้องผูกพันรับผิดต่อดำผู้ทรงเดิมซึ่งเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนี้  ตามนัยมาตรา  994  วรรคแรก  และมาตรา 997  วรรคสอง

สรุป  ดำเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คฉบับนี้  และธนาคารสินไทยผู้จ่ายยังคงต้องรับผิดต่อดำ

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด S/2548

การสอบภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เพื่อเลี้ยงไก่ครั้งละไม่เกินห้าแสนบาท  เป็นเวลา  5  ปี  โดยให้เบิกเป็นลูกไก่  อาหารไก่  ยา  สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงาน  โดยอาทิตย์จะจดบัญชีไว้ว่าจันทร์เป็นหนี้เงินอยู่จำนวนเท่าใด  โดยคำนวณจากสิ่งของที่จันทร์เอาไป  และเมื่อลูกไก่โตได้ขนาด  จันทร์ต้องขายไก่ให้กับอาทิตย์โดยอาทิตย์จะตีราคาไก่แล้วหักเงินที่จันทร์เป็นหนี้ออกแล้วมอบส่วนที่เหลือให้จันทร์  แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใด  และจะหักบัญชีเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไป

ดังนี้  นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่อย่างไร

ข  ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์  กล่าวถึง  การโอนตั๋วแลกเงินอย่างไรบ้าง  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการตกลงในช่วงระยะเวลา  5  ปี  ให้มีการตัดทอนบัญชีหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างอาทิตย์กับจันทร์ด้วยวิธีการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาคจึงถือว่าเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด  ตามมาตรา  856

สรุป  นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  อธิบาย

ตามลักษณะของตั๋วแลกเงินมีอยู่  2  ชนิด  คือ  ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตามคำสั่งผู้รับเงิน  เรียกว่า  ตั๋วแลกเงินระบุชื่อ  ซึ่งในตั๋วเงินทั้ง  3  ประเภท  คือ  ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค  และตั๋วแลกเงินชนิดที่ระบุชื่อผู้รับและมีคำว่า  หรือผู้ถือ  รวมอยู่ด้วย หรือระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  เรียกว่า  ตั๋วแลกเงินผู้ถือ  ซึ่งมีเฉพาะตั๋วแลกเงินและเช็คเท่านั้น

ดังนั้นวิธีการโอนตั๋วแลกเงินจึงแตกต่างกันตามชนิดของตั๋วแลกเงินดังกล่าวข้างต้น  กล่าวคือ

1       กรณีโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อ  มาตรา  917  วรรคแรก  บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ

อนึ่งการสลักหลังมี  2  วิธี  คือ  สลักหลังเฉพาะ  (เจาะจงชื่อผู้รับสลักหลัง)  ซึ่งมาตรา  919  ได้บัญญัติวิธีการสลักหลังไว้ดังนี้

 (ก)  สลักหลังเฉพาะ  (Specific  Endorsement)  ให้ระบุชื่อผู้รับสลักหลัง  แล้วลงลายมือชื่อผู้สลักหลังลงไปในตั๋วเงิน  โดยจะกระทำด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินนั้นก็ได้  (มาตรา  917  วรรคแรก  มาตรา  919  วรรคแรก)

(ข)  สลักหลังลอย  (Blank  Endorsement)  ผู้สลักหลังเพียงลงลายมือชื่อตนเองโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน  โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์  (ผู้รับสลักหลัง)  (มาตรา  917  วรรคแรก  มาตรา  919  วรรคสอง)

ผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังโอนตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังดังกล่าวใน  (ก)  หรือ  (ข)  แล้วก็สามารถสลักหลังโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นโดยวิธีข้างต้นต่อไปอีกก็ได้  แต่ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย  สามารถเลือกโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นต่อไปได้อีก  3  วิธี  ทั้งนี้ตามมาตรา  920  วรรคสอง  คือ

(1) เติมชื่อบุคคลที่ตนเองประสงค์จะโอนให้

(2) สลักหลังลอยหรือสลักหลังเฉพาะต่อไป  หรือ

(3) ส่งมอบต่อไปโดยไม่ต้องสลักหลัง

 2       กรณีโอนตั๋วแลกเงินผู้ถือ  มาตรา  918  บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการส่งมอบ

 

ข้อ  2  ก  การที่บุคคลจะจดข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วเงิน  เช่น  การจำกัดความรับผิดในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินก็ดี  การสลักหลังโอนเช็คบางส่วนก็ดี  การสลักหลังจำนำเช็คก็ดี  บุคคลจะกระทำได้หรือไม่  และจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร

ข  เอกสั่งซื้อสินค้า  OTOP  5  ดาว  จากโทผู้ประกอบการ  SMEs  ด้วยการลงลายมือชื่อสั่งจ่าย  เช็คธนาคารสินไทยเป็นการล่วงหน้า  จำนวน  50,000  บาท  ระบุชื่อโทเป็นผู้รับเงินขีดคร่อมทั่วไปและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คนั้นออก  ต่อมาโทได้สลักหลังเช็คโดยเขียนข้อความว่า  ราคาเป็นประกัน  จำนวน  25,000  บาท  ให้ไว้แก่ตรี  พร้อมทั้งลงลายมือชื่อของโทส่งมอบเช็คดังกล่าวให้แก่ตรี พร้อมทั้งตกลงว่าจะไถ่ถอนเช็คกลับคืนก่อนเช็คถึงกำหนดใช้เงิน  ก่อนเช็คถึงกำหนด  โทขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นการชั่วคราว  และไม่สามารถผลิตสินค้าส่งให้แก่เอกได้  อีกทั้งไม่มีเงินที่จะไถ่ถอนเช็คนั้นกลับคืนมา  ครั้นเช็คถึงกำหนดใช้เงิน  ตรีได้นำเช็คดังกล่าวไปฝากให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินตามเช็คจากธนาคารสินไทย  แต่ได้รับการปฏิเสธการจ่ายเงิน  เพราะเอกได้มีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน  เนื่องจากโทผิดสัญญาซื้อขาย  ดังนี้  ให้ท่านวินิจฉัยว่าตรีจะบังคับไล่เบี้ยให้บุคคลใดรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้ในฐานะใด  และเพียงใดหรือไม่  อนึ่งเอกจะอ้างการที่โทผิดสัญญาซื้อขายขึ้นต่อสู้ตรีได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

 –                    การจดข้อกำหนดลงไว้ในตั๋วแลกเงินด้วยการจำกัดความรับผิดในมูลหนี้ตั๋วแลกเงินนั้น  ป.พ.พ.  มาตรา  915(1)  อนุญาตให้ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน  และผู้สลักหลังทุกคนสามารถกระทำได้  อันเป็นผลให้ผู้ทรงมีสิทธิบังคับไล่เบี้ยได้เพียงเท่าที่เขาได้จำกัดความรับผิดไว้นั้น

–                    การสลักหลังโอนเช็คเพียงบางส่วนนั้น  ไม่สามารถกระทำได้  หากกระทำไป  กรณีย่อมเป็นผลให้การสลักหลังโอนนั้นเป็นโมฆะ  ตามมาตรา  922  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

 –                    การสลักหลังจำนำเช็ค  โดยใช้ถ้อยคำว่า  ราคาเป็นประกัน  หรือ  ราคาเป็นจำนำ  หรือ  ถ้อยคำอื่นอันเป็นปริยายว่าจำนำ  กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้สลักหลังมีฐานะเป็นผู้จำนำ  ผู้ทรงเป็นผู้รับจำนำ  และผู้ทรงเช็คนั้นย่อมมีสิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่เช็คนั้นได้ทั้งสิ้น  เช่น  การบังคับจำนำ  หรือบังคับไล่เบี้ยคู่สัญญาในเช็คนั้นแต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังเช็คนั้นต่อไป  ย่อมใช้ได้ในฐานะเป็นคำสลักหลังของตัวแทนของผู้สลักหลังจำนำ  กรณีจึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้สลักหลังจำนำ  ตามมาตรา  926  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

ข  อธิบาย

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  926  เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า  ราคาเป็นประกัน  ก็ดี  ราคาเป็นจำนำ  ก็ดี  หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้  ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น  แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น  ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงในฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน

คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่  เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา  959  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง  ผู้สั่งจ่าย  และบุคคลอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้  คือ

(ก)  ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910, 914 ถึง  923, 925, 926 …959…

วินิจฉัย

โทได้สลักหลังจำนำเช็คพิพาทไว้กับตรี  การที่โทไม่ไถ่ถอนเช็คนั้นจากตรี  และธนาคารฯได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน  ตรีย่อมมีสิทธิบังคับจำนำเช็คได้ในฐานะเป็นผู้ทรงเช็คคนหนึ่ง  กล่าวคือ  มีสิทธิไล่เบี้ยเอกผู้สั่งจ่าย  ซึ่งต้องรับผิดตามจำนวนในเช็คคือ  50,000  บาท  แล้วหักราคาที่รับจำนำไว้  25,000  บาท  พร้อมด้วยดอกเบี้ยที่เหลือต้องคืนให้แก่โทผู้จำนำ  หรืออาจบังคับจำนำจากโทผู้สลักหลังจำนำ  ได้ตามราคาที่รับจำนำพร้อมดอกเบี้ย  ตามมาตรา  914, 926  วรรคแรก  959(ก)  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก  อนึ่งเอกจะอ้างการที่โทผิดสัญญาซื้อขายอันเป็นข้อต่อสู้ที่อาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับโทผู้สลักหลังมิได้เพราะว่าตรีมิใช่ตัวแทนของโทแต่ตรีใช้สิทธิไล่เบี้ยในนามของตน  ตามมาตรา  926  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  ข้ออ้างของเอกฟังไม่ขึ้น  ตรีมีสิทธิบังคับจำนำเช็คในฐานะเป็นผู้ทรงเช็ค  กับเอกผู้สั่งจ่ายได้  หรือบังคับจำนำจากโทผู้สลักหลังจำนำก็ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ  3  ก  ตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมปรากฏอยู่นั้นจะมีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร  ให้อธิบายมาให้เข้าใจโดยละเอียด

ข  นายนกสั่งจ่ายเช็คธนาคารหัวหมาก  จำกัด  (มหาชน)  จำนวน  500,000  บาท  ระบุชื่อนายหนูเป็นผู้รับเงิน  พร้อมทั้งขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คออก  แล้วส่งมอบให้แก่นายหนูเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย  ต่อมานายหนูได้สลักหลังเฉพาะส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่านายหน้าค้าที่ดินให้แก่นายไก่  หลังจากนั้นนายลิงน้องชายของนายไก่ได้ลักเช็คฉบับดังกล่าวไป  แล้วทำการปลอมลายมือชื่อของนายไก่สลักหลังลอยลงในเช็คแล้วนำไปส่งมอบให้แก่นายแมว  เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าอาคารพาณิชย์  หลังจากได้รับมอบเช็คมาแล้วนายแมวได้พบกับนายไก่โดยบังเอิญจึงได้สอบถามนายไก่ว่า  ได้สลักหลังเช็คฉบับดังกล่าวมาหรือไม่  นายไก่ซึ่งทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่แล้ว  แต่เกรงว่านายลิงจะถูกดำเนินคดี  จึงได้บอกแก่นายแมวว่าตนนั้นเป็นผู้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คจริง  ต่อมานายแมวนำเช็คฯ  ไปยื่นให้ธนาคารหัวหมากฯ  ชำระเงินให้  แต่ธนาคารหัวหมากฯ  ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน  นายแมวจึงเรียกให้นายไก่รับผิดชำระเงินตามเช็คให้  แต่นายไก่ปฏิเสธที่จะชำระเงินให้แก่นายแมว  โดยอ้างว่าตนมิได้เป็นผู้ลงมือชื่อสลักหลังเช็คฯแต่อย่างใด  ดังนี้ข้ออ้างของนายไก่ถูกต้องหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ในกรณีที่มีการลงลายมือชื่อปลอมในตั๋วเงิน ตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  1006  ได้บัญญัติให้ตั๋วเงินนั้นยังคงสมบูรณ์ใช้บังคับได้  ลายมือชื่อปลอมนั้นโดยหลักการแล้ว  ไม่มีผลกระทบไปถึงความสมบูรณ์ของลายมือชื่ออื่นๆในตั๋วเงินนั้น  ขณะเดียวกัน  ป.พ.พ.  มาตรา  1008  ได้บัญญัติให้ลายมือชื่อปลอมนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย  ผู้ใดจะแสวงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้มิได้  เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นดังต่อไปนี้  คือ

 1        ผู้ใดจะยึดหน่วงตั๋วเงินนั้นไว้มิได้  เว้นแต่ผู้ที่จะพึงถูกยึดหน่วง  อยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบท  (ถูกกฎหมายปิดปาก)  มิให้ยกเหตุลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้

2       ผู้ใดจะทำให้ตั๋วเงินนั้นหลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินมิได้  เว้นแต่  ได้ใช้เงินไปในกรณีที่ตั๋วเงินนั้นมีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม

 3       ผู้ใดจะบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นคนใดคนหนึ่งมิได้  เว้นแต่คู่สัญญาผู้ที่จะพึงถูกบังคับให้ใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท  (ถูกกฎหมายปิดปาก)  มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้

อนึ่งลายมือชื่อปลอมนั้น  กฎหมายไม่อนุญาตให้เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม  ให้สัตยาบันแก่ลายมือชื่อปลอมนั้น  กรณีย่อมเป็นผลให้เป็นตั๋วเงินที่มีลายมือชื่อปลอมตลอดไป

ข  อธิบาย

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงนั้นเป็นกรณีที่มีลายมือชื่อปลอม  คือ  ลายมือชื่อของนายไก่  ปรากฏอยู่เช็ค  ซึ่งโดยหลักจะมีผลคือห้ามมิให้ผู้ใดแสวงหาสิทธิต่างๆจากลายมือชื่อปลอมของนายไก่นั้นได้  แต่การที่นายไก่ได้ยอมรับว่า  ตนเป็นผู้สลักหลังเช็ค  ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนายลิงเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของนายไก่นั้น  ถือได้ว่านายไก่อยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบท  มิให้ยกลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับนายแมวได้ตามมาตรา  1008  วรรคแรก  นายไก่จึงต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คให้แก่นายแมว  ดังนั้น  ข้ออ้างของนายไก่จึงไม่ถูกต้อง

สรุป  ข้ออ้างของนายไก่ไม่ถูกต้อง

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด ซ่อม 1/2549

การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เลี้ยงไก่ครั้งละห้าแสนบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยมีข้อตกลงให้จันทร์เอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่จากพุธ และเงินค่าจ้างแรงงานโดยอาทิตย์จะจดบัญชีว่าจันทร์เอาเงินไปจำนวนเท่าใดและเมื่อลูกไก่โตได้ขนาดจันทร์ต้องขายไก่ให้กับอาทิตย์ โดยอาทิตย์จะตีราคาไก่แล้วหักเงินที่จันทร์เป็นหนี้ออกแล้วมอบส่วนที่เหลือให้จันทร์ แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใดเพื่อจะได้หักทอนบัญชีกันเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไปแล้วอาทิตย์จะให้จันทร์เบิกเงินไปซื้อลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่ไปเลี้ยงในรอบต่อไปอีก ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงินหรือบัญชีเดินสะพัด

ข ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงินในกรณีใดบ้าง

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์มีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามาตรา 856 เพราะว่าเป็นข้อตกลงที่มีการเอาหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างอาทิตย์กับจันทร์ซึ่งต่างฝ่ายเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันมาหักทอนแล้วชำระแต่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข อธิบาย

บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นทั้งนี้ตามมาตรา 900 วรรคแรก

– ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงิน

– ผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินเช่นเดียวกัน

สำหรับเหตุที่ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 914 กล่าวคือ ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน และผู้ที่ได้โอนตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อโดยการสลักหลัง นอกจากจะต้องรับผิดตามตั๋วในฐานะที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วตามมาตรา 900 แล้ว ทั้งสองคนนี้ยังต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วหรือเป็นผู้สลักหลังโอนต่อไปด้วย เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก

1 ในกรณีที่ตั๋วแลกเงินนั้นยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน เมื่อผู้ทรงได้นำตั๋วไปยื่นให้ผู้จ่ายรับรองแล้วผู้จ่ายไม่รับรอง และ

2 ผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

ประเด็นที่สอง

1 ในกรณีที่ตั๋วแลกเงินนั้นถึงกำหนดใช้เงินแล้ว เมื่อผู้ทรงได้นำตั๋วไปยื่นให้ผู้จ่ายใช้เงินแล้วผู้จ่ายไม่ยอมจ่ายเงินให้ และ

2 ผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

จะเห็นว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังโอนตั๋วจะต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นต่อเมื่อตั๋วนั้นได้ขาดความเชื่อถือ โดยผู้จ่ายไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินแล้ว และผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ถึงจะไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังในตั๋วนั้นได้

 

ข้อ 2 ก ให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์ของ “ผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย” โดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข ส้มออกตั๋วแลกเงินสั่งให้เขียวจ่ายเงินให้แก่แดง เป็นตั๋วฯ แบบระบุให้ใช้เงินแก่แดงหรือผู้ถือต่อมา แดงสลักหลังเฉพาะระบุชื่อดำ แล้วส่งมอบตั๋วฯนั้นชำระหนี้ให้ดำฯ จากนั้นดำนำตั๋วฯนั้นไปสลักหลังลอยและส่งมอบชำระหนี้ให้แก่ขาว ซึ่งต่อมาขาวก็ได้ส่งมอบตั๋วนั้นชำระหนี้ให้แก่ทองจากข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น ทองถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้คือ

1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง (ยึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน)

2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อหรือเป็นผู้ถือ สำหรับตั๋วเงินชนิดที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ทรงโดยสุจริต) และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

4 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย

อนึ่ง การสลักหลังไม่ขาดสาย หมายถึง การสลักหลังตั๋วเงินโดยโอนรับช่วงติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน

ข อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา 918 ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา921 การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย

วินิจฉัย

ตั๋วดังกล่าวถือว่าเป็นตั๋วที่ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ หรือตั๋วผู้ถือซึ่งจะสามารถโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบให้แก่กัน แต่หากมีการสลักหลังตั๋ว ที่ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือดังกล่าว ก็จะถือว่าเป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย

ดังนั้นเมื่อตั๋ว ดังกล่าวสามารถโอนให้แก่กันโดยเพียงการส่งมอบ ตามมาตรา 918 จึงถือว่า ทองเป็นผู้ทรงตั๋ว นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นผู้ครอบครองตั๋วนั้น ในฐานะผู้ถือ และได้รับการโอนตั๋วมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 904 905 วรรคสองและวรรคสาม

ส่วนที่มีการสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นก็ไม่ถือว่ามีผลกระทบใดๆ ต่อการโอนตั๋ว เพียงแต่จะมีผลทำให้ผู้ที่สลักหลังนั้นต้องรับผิดตามตั๋ว ในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายเท่านั้น ตามมาตรา 921

สรุป ทองเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 ก กฎหมายตั๋วเงินได้วางหลักเกณฑ์ให้ธนาคารผู้จ่ายเงิน (Paying Bank) ตามเช็คขีดคร่อมธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน (Collecting Nank) ตามเช็คขีดคร่อม รวมทั้งผู้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลหนี้แห่งเช็คขีดคร่อมนั้นอย่างไร

ข รัตนาวดีได้รับเช็คผู้ถือธนาคารกรุงทองจากสมชายซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายล่วงหน้าแล้ว ได้ขีดคร่อมทั่วไปลงบนเช็ค พร้อมกับเขียนข้อความว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงไว้ในระหว่างรอยขีดคร่อม รัตนาวดีทำเช็คนั้นตกหายโดยไม่รู้ตัว ข้อเท็จจริงได้ความว่า ดวงดีเป็นผู้เก็บเช็คนั้นได้แล้วนำเช็คนั้นไปซื้อสินค้าและมอบเช็คนั้นให้ไว้แก่หนึ่งฤทัยซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดนสุจริต และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ต่อมาหนึ่งฤทัยได้นำเช็คนั้นไปฝากให้ธนาคารทัพไทยเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของหนึ่งฤทัย และหนึ่งฤทัยได้ถอนเงินตามเช็คนั้นไปใช้หมดแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) หนึ่งฤทัยเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(2) ใครเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คพิพาทดังกล่าว

(3) สมชายและธนาคารกรุงทอง พร้อมทั้งธนาคารทัพไทย ยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าของอันแท้จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

เช็คขีดคร่อม หมายถึง เช็คที่บนด้านหน้าทางด้านซ้ายของเช็คมีรอยเส้นขนาน 2 เส้น ขีดพาดไว้ ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนี้อาจจะมีถ้อยคำเขียนไว้ก็ได้ ตามมาตรา 994 แบ่งเช็คขีดคร่อมออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 เช็คขีดคร่อมทั่วไป หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นว่างเปล่า ไม่มีถ้อยคำใดเขียนไว้ หรือมีถ้อยคำแต่เพียง “และบริษัท” หรือคำย่อใดๆอยู่ในระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น

2 เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งระบุลงไว้โดยเฉพาะ

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) ตามมาตรา 998 มีหลักคือ

– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ (Collecting Bank) หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้

ดังนั้น ถ้าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผลให้

1 ให้ถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินให้แก่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงและธนาคารก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้สั่งจ่ายด้วย ดังนี้ธนาคารผู้จ่ายย่อมมีสิทธิหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้

2 ให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมนั้นได้หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อผู้รับเงินเงิน ผู้รับเงินจะเรียกร้องให้ผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คนั้นหรือตามมูลหนี้เดิมอีกไม่ได้

หลักเกณฑ์การเบิกเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน ตามมาตรา 1000 มีหลักคือ

1 ต้องเป็นเช็คที่ขีดคร่อมมาก่อน มิใช่ธนาคารขีดคร่อมเสียเอง

2 เช็คขีดคร่อมใบนั้น เมื่อเบิกมาแล้วจะต้องนำเข้าบัญชีของลูกค้าธนาคารนั้น

3 ธนาคารจะต้องดำเนินการเบิกเงินเพื่อลูกค้านี้โดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ

ดังนั้นหากครบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ธนาคารผู้เรียกเก็บเงินรายใดได้เรียกหรือรับเงินไว้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น (ผู้ทรงเดิม) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิในเช็คขีดคร่อมนั้นเลย หรือผู้เคยค้านั้นมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คขีดคร่อมนั้น

ข อธิบาย

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา 995 (3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้

มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา 999 บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว พิจารณาตามประเด็นได้ ดังนี้

(1) หนึ่งฤทัยไม่เป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 905 วรรคสองและวรรคสามเพราะเช็คพิพาทเป็นเช็คที่รัตนาวดีขีดคร่อมและห้ามเปลี่ยนมือ ตามมาตรา 995 (3) ดวงดีผู้เก็บเช็คนั้นได้ ย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้นและไม่มีสิทธิโอนให้ใคร กรณีย่อมเป็นผลให้หนึ่งฤทัยไม่มีสิทธิรับโอนเช็คพิพาทนั้นด้วยตามมาตรา 999

(2) เช็คพิพาทได้ตกหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของรัตนาวดี ต้องถือว่ารัตนาวดียังคงเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คพิพาทตามมาตรา 998

(3) สมชายและธนาคารกรุงทองไม่ต้องรับผิดต่อรัตนาวดี ตามมาตรา 998 และธนาคารทัพไทยก็ไม่ต้องรับผิดต่อรัตนาวดี ตามมาตรา 1000

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 1/2549

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก นายโอซังออกเงินและสิ่งของให้แก่นายโอกิมเพื่อเป็นทุนทำการประมง ซึ่งนายโอซังมีสมุดบัญชีเบิกเงินรายวันและราคาสิ่งของเป็นหลักฐาน เมื่อได้ปลามานายโอกิมจะส่งปลาให้กับนายโอซังในฐานะตัวแทนนำปลาไปขายให้กับนางทองแถมซึ่งนายโอซังจะได้เงินห้าเปอร์เซ็นต์ของราคาปลาเป็นค่าตอบแทน เมื่อนายโอซังได้รับบิลและเงินค่าปลาจากนางทองแถมแล้ว นายโอซังจะลงสมุดบัญชีการขายปลาของตนไว้ แล้วมอบบิลให้นายโอกิมไปลงบัญชีของฝ่ายนายโอกิมเพื่อจะได้มาตรวจสอบคิดหักทอนบัญชีกัน ทำให้รู้ว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันจำนวนเงินเท่าใดและจะทำเช่นนี้ทุกๆครั้งที่นายโอกิมได้ปลามา ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายโอกิมกับนายโอซังเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ อย่างไร

ข ผู้ทรงตั๋วแลกเงินที่มีธนาคารเป็นผู้จ่ายเงิน ขีดคร่อมตั๋วแลกเงินนั้นไม่ว่าจะเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะ จะเกิดผลอย่างไรบ้าง ให้อธิบายโดยอ้างหลักกฎหมายประกอบ

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

นายโอกิมกับนายโอซัง ต่างเป็นลูกหนี้และเจ้าหนี้ซึ่งกันและกัน และบุคคลทั้งสองได้ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นให้มีการนำหนี้ที่เกิดขึ้น แต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองที่ต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันนั้นมาตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยหักกลบลบกัน และชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นหลักสำคัญของบัญชีเดินสะพัด ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างนายโอกิมกับนายโอซังเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856

สรุป นิจิสัมพันธ์ระหว่างนายโอกิมและนายโอซังเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข อธิบาย

มาตรา 899 ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินไม่

อธิบาย

ตามกฎหมายตั๋วเงิน แม้จะมีการบัญญัติให้ผู้สั่งจ่าย ผู้ทรง ธนาคาร ขีดคร่อมเช็คไม่ว่าจะเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป หรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม แต่ในส่วนของตั๋วแลกเงินนั้นมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้สิทธิผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินแต่อย่างใด ดังนั้น ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินไม่ว่าจะเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม การขีดคร่อมนั้นๆย่อมไม่มีผลต่อตั๋วแลกเงินแต่อย่างใด ตามมาตรา 899 ซึ่งมีหลักว่า ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่

 

ข้อ 2 ก “ผู้ทรงตั๋วโดยชอบด้วยกฎหมาย” มีหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข นิด ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้ วี จ่ายเงินให้แก่ เพ็ญ เป็นตั๋วแบบระบุชื่อ ต่อมา เพ็ญ สลักหลังเฉพาะระบุชื่อจ๋า แล้วส่งมอบตั๋วนั้นชำระหนี้ให้ จ๋า จากนั้น จ๋า นำตั๋วนั้นไปสลักหลังลอยขายลดให้แก่ชิต ซึ่งต่อมาชิต ก็ได้ส่งมอบตั๋วนั้นชำระหนี้ให้แก่โชติ แล้ว โชติก็สลักหลังตั๋ว นั้นโดยระบุชื่อเอก แล้วส่งมอบให้ เอก เพื่อชำระหนี้

จากข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น เอก ถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้คือ

1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง (ยึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน)

2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อหรือเป็นผู้ถือ สำหรับตั๋วเงินชนิดที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ทรงโดยสุจริต) และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

4 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย

อนึ่ง การสลักหลังไม่ขาดสาย หมายถึง การสลักหลังตั๋วเงินโดยโอนรับช่วงติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน

ข อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

มาตรา 920 วรรคสอง ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ

(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงตามกฎหายถือว่าชิตเป็นผู้ทรงตั๋วเงินระบุชื่อที่ได้มาจากการสลักหลังลอยของจ๋า จึงมีสิทธิส่งมอบตั๋วชำระหนี้ให้กับโชติต่อไปได้ ตามาตรา 920 วรรคสอง (3) ซึ่งก็จะถือว่าโชติเป็นผู้ทรงที่ได้รับตั๋วมาจากการสลักหลังลอยของจ๋าโดยตรงโดยไม่ผ่านมือของชิตเลย เพราะชิตได้โอนตั๋วมาโดยการส่งมอบจึงไม่ปรากฏลายมือชื่อของชิตในตั๋ว โดยไม่ถือว่าการโอนตั๋วนี้ขาดสายแต่อย่างใด ตามมาตรา 905 วรรคแรก ดังนั้น เมื่อโชติถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋ว โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต่อมาโชติได้สลักหลังตั๋ว ชำระหนี้ให้เอก เอกก็ย่อมเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

สรุป เอกเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 ก กฎหมายตั๋วเงินได้บัญญัติให้ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค (Paying Bank) อาจใช้ดุลพินิจในการจ่ายเงินและอาจต้องสิ้นสุดอำนาจแล้หน้าที่ในการจ่ายเงินตามเช็คไว้อย่างไร

ข มกราได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารสินไทยในฐานะเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจลงนามตามที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทสินสยาม ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าระบุกุมภาเป็นผู้รับเงินหรือผู้ถือ แต่กุมภาขอร้องให้มกรานำเช็คไปให้ธนาคารสินไทยรับรองก่อน และธนาคารสินไทยก็ได้ประทับตรามีข้อความรับรองและมีลายมือชื่อผู้แทนธนาคาร แล้วกุมภาได้สลักหลังขายลดเช็คนั้นให้แก่มีนา ก่อนเช็คถึงกำหนดใช้เงิน มกราได้โทรศัพท์และมีหนังสือบอกกล่าวไปที่ธนาคารสินไทยให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็คฉบับนั้น เนื่องจากกุมภาไม่สามารถส่งมอบสินค้าเกษตรตามข้อตกลง และธนาคารทราบแล้ว ครั้นถึงวันกำหนดใช้เงินตามเช็คดังกล่าว มีนาได้นำเช็คนั้นไปมอบให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินแทน ผู้จัดการธนาคารสินไทยไม่แน่ใจว่าจะต้องจ่ายเงินหรือปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นหรือไม่ ในฐานะที่ท่านเป็นทนายความที่ปรึกษากฎหมายของธนาคารขอให้ท่านแนะนำพร้อมอ้างอิงหลักกฎหมายตั๋วเงินให้แก่ธนาคาร อนึ่งธนาคารได้จ่ายเงินไปตามเช็คนั้นโดยฝ่าฝืนคำบอกห้ามของมกรา ธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของมกรา หรือเรียกร้องให้มกรารับผิดใช้เงินคืนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค (Paying Bank) อาจใช้ดุลพินิจในการจ่ายเงินตามเช็คหรือไม่ก็ได้ในกรณีใดดรณีหนึ่งหรือหลายกรณีดังนี้ คือ

(1) ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้า (ผู้สั่งจ่าย) เป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น หรือ

(2) ผู้ทรงยื่นเช็คเพื่อให้ธนาคารใช้เงินเมื่อพ้นเวลา 6 เดือนนับแต่วันออกเช็ค/วัน เดือน ปี ที่ลงในเช็ค หรือ

(3) ธนาคารทราบจากการที่มีคนบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป (มาตรา 991)

ธนาคารผู้จ่ายเงินตามเช็ค (Paying Bank) ต้องสิ้นสุดอำนาจและหน้าที่ในการจ่ายเงินตามเช็คในกรณีใดกรณีหนึ่ง หรือหลายกรณีดังนี้ คือ

(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงินตามเช็คนั้น (โดยผู้สั่งจ่าย/ตัวแทน)

(2) ธนาคารรู้ว่าผู้สั่งจ่ายเช็ค (ส่วนบุคคล) ถึงแก่ความตาย

(3) ธนาคารได้รู้แล้วว่า ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย หรือได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งนั้น (มาตรา 992)

ข อธิบาย

มาตรา 900 วรรคแรก บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา 992 หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น ท่านว่าเป็นอันสุดสิ้นไปเมื่อกรณีเป็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

(1) มีคำบอกห้ามการใช้เงิน

มาตรา 993 ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่น คำว่า “ใช้ได้” หรือ “ใช้เงินได้” หรือคำใดๆอันแสดงผลอย่างเดียวกันท่านว่าธนาคารผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น

ถ้าผู้ทรงเช็คเป็นผู้จัดการให้ธนาคารลงข้อความรับรองดั่งว่านั้น ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังทั้งปวงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คนั้น

ถ้าธนาคารลงข้อความรับรองดั่งนั้นโดยคำขอร้องของผู้สั่งจ่าย ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและปวงผู้สลักหลังก็หาหลุดพ้นไปไม่

วินิจฉัย

มกราผู้สั่งจ่ายเป็นผู้นำเช็คไปให้ธนาคารรับรอง และธนาคารก็ได้รับรองให้แล้ว ตามนัยมาตรา 900 วรรคแรก และ 993 วรรคแรก และวรรคสาม เป็นผลให้มกราผู้สั่งจ่ายยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อมีนาผู้ทรงเช็ค และมีผลทำให้ธนาคาร ต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันที่จะต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงเช็คตามนั้น การที่มกราได้มีคำบอกห้ามการจ่ายเงินตามเช็คในภายหลังที่ธนาคารได้รับรองไปแล้วตามมาตรา 992 (1) ธนาคารไม่จำต้องปฏิบัติตามคำบอกห้ามดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อธนาคารรับรองไปแล้วจะอ้างสิทธิไม่จ่ายเงินตามมาตรา 992 ไม่ได้ เพราะมาตราดังกล่าวหมายถึงธนาคารไม่ได้เป็นลูกหนี้ชั้นต้น ถ้าธนาคารไปรับรองแล้วก็เป็นลูกหนี้ชั้นต้น จะอ้างมาตรา 992 มาเป็นข้อยกเว้นอีกไม่ได้ จึงแนะนำให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คนั้นได้ และสามารถหักเงินตามที่จ่ายไปจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของมกราได้ หรือเรียกร้องให้มกราชดใช้เงินตามที่จ่ายไปนั้นได้

สรุป ธนาคารสามารหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของมกราหรือเรียกร้องให้มกรารับผิดใช้เงินคืนได้

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 2/2549

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  ให้อธิบายถึงลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  การรับรองตั๋วแลกเงินคืออะไร  การรับรองนั้นทำอย่างไร  และความรับผิดของผู้รับรองนั้นมีอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

จากบทบัญญัติดังกล่าว  สัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  มีลักษณะดังต่อไปนี้

 1       เป็นสัญญาต่างตอบแทน  เพราะคู่สัญญาต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาในอันที่จะต้องปฏิบัติต่อกันเช่นการชำระหนี้  กล่าวคือ  จัดทำบัญชีและให้มีการหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยวิธีการหักกลบลบหนี้กัน  แล้วชำระหนี้เฉพาะยอดที่คงเหลือ

2       เป็นสัญญาระหว่างบุคคล  2  ฝ่าย  ซึ่งไม่ต้องทำตามแบบ  กล่าวคือ  เพียงแค่คู่สัญญาแสดงเจตนามีคำเสนอ  คำสนองตรงกัน  ก็ก่อให้เกิดเป็นสัญญาผูกมัดบังคับกันได้โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ  หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดแต่อย่างใด

3       ที่ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือชั่วระยะเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  แสดงว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีการกำหนดเวลาและไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสัญญา

4       ให้ตัดทอน  หรือหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนที่เกิดขึ้นจากกิจการระหว่างเขาทั้งสอง

5       คงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

ข  อธิบาย

การรับรองตั๋วแลกเงิน  คือ  การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น  มาตรา  931  ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า  รับรองแล้ว  หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน  เช่น  รับรองจะใช้เงิน  หรือ  ยินยอมจะใช้เงิน  ฯลฯ  และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น  และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้  หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย  ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน  อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน  ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด    ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล

อย่างไรก็ดี  การรับรองตามมาตรา  931  นี้  ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น  บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย  หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา  940)  หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า  (มาตรา  953)  ก็ได้

การรับรองตั๋วแลกเงิน  ตามมาตรา  935  ได้กำหนดไว้  2  ประเภท  ดังนี้

 1       การรับรองตลอดไป  คือ  การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน  โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

2       การรับรองเบี่ยงบ่าย  คือ  การรับรองใน  2  กรณีดังต่อไปนี้  คือ

 –          การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข  เช่น  ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน

–          การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน  เช่น  ตั๋วแลกเงินราคา  50,000  บาท  ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน  40,000  บาท  เป็นต้น

ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน  มีบัญญัติไว้ในมาตรา  937  กล่าวคือ  เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว  ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

 

ข้อ  2  ก  ให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์ที่บุคคลจะมีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาตั๋วเงิน  โดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข  นายเสือสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าระบุให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือ  เป็นเงินจำนวน  500,000  บาท  ชำระหนี้ค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่นายสิงห์  ต่อมาก่อนที่เช็คฉบับดังกล่าวจะถึงกำหนดชำระ  มีข่าวลือว่าธุรกิจต่างๆของนายเสือกำลังประสลภาวะขาดทุนอย่างหนัก  ทำให้นายสิงห์เกรงว่าตนจะไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวได้  เพราะไม่สามารถติดต่อนายเสือได้เลยจึงมาปรึกษานายกระทิงซึ่งเป็นพี่ชายของนายเสือ  นายกระทิงจึงทำการเขียนคำว่า  กระทิงทอง  ซึ่งเป็นชื่อร้านอาหารที่นายกระทิงเป็นเจ้าของอยู่นั้นลงในด้านหลังเช็คฉบับดังกล่าวให้กับนายสิงห์ไป  ต่อมาเช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  นายสิงห์จึงมาเรียกให้นายกระทิงชำระเงินตามเช็คให้ตน  กรณีนี้นายกระทิงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายสิงห์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ตาม  ป.พ.พ.  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่บุคคลจะมีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาตั๋วเงิน  ดังนี้คือ

 1       บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น (มาตรา  900  วรรคแรก)  โดยอาจรับผิดเนื่องจากลงลายมือชื่อ

–          โดยลำพัง  เพราะไม่ปรากฏว่าลงลายมือชื่อรับผิดในฐานะใด

–          รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินหรือเช็ค

–          รับผิดในฐานะผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน

–          รับผิดในฐานะผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินหรือเช็ค

–          รับผิดในฐานะเป็นผู้รับรองตั๋วแลกเงิน

–          รับผิดในฐานะเป็นผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินหรือเช็ค

 2       การลงแต่เพียงเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด  เช่น  แกงได  หรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงิน  แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม  หามีผลเป็นการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่ (มาตรา  900  วรรคสอง ) ฉะนั้นผู้ใดจะสั่งจ่าย  สลักหลัง  รับอาวัล  โดยพิมพ์ลายนิ้วมือและมีพยานรับรอง  2  คน  ตามมาตรา  9  วรรคสอง  ก็ไม่เป็นการลงลายมือชื่อสั่งจ่าย  สลักหลัง  หรือรับอาวัล

3       บุคคลใดลงลายมือชื่อของตนในตัวเงิน  และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น  (มาตรา  901)

4       ถ้าตั๋วเงินมีลายมือชื่อของบุคคลหลายคน  มีทั้งบุคคลไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินได้เลย  หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลการนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่นๆ  นอกนั้นซึ่งยังคงต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้น  (มาตรา  902)

ข  อธิบาย

มาตรา  900  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ  นอกจากเพราะทำผิดระเบียบ  ท่านว่าข้อสัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว  ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้  กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น

มาตรา  967  วรรคแรก  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น  บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี  สลักหลังก็ดี  หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910  914  ถึง  923…938  ถึง  940…967  971

วินิจฉัย

การที่นายกระทิงเขียนคำว่า  กระทิงทอง  ซึ่งเป็นชื่อร้านอาหารที่นายกระทิงเป็นเจ้าของอยู่นั้นลงในด้านหลังเช็คฉบับดังกล่าว  ถือได้ว่านายกระทิงเป็นผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คฉบับดังกล่าวแล้ว  ในฐานะสลักหลังเช็คผู้ถือ  จึงตกเป็นประกัน (อาวัล)  นายเสือผู้สั่งจ่ายตาม มาตรา  900  921  989  วรรคแรก  ดังนั้นนายกระทิงย่อมอยู่ในฐานะต้องผูกพันใช้เงินตามเช็คนั้นให้กับนายสิงห์  เช่นเดียวกับนายเสือผู้สั่งจ่าย  ตามมาตรา  967  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  นายกระทิงมีหน้าที่ต้องชำระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายสิงห์

 

ข้อ  3  ก  เช็คขีดคร่อมที่มีข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือนั้น  อาจเกิดจากการกระทำของบุคคลใดและจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร

ข  ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเช็คพิพาทอยู่  2  ฉบับ

ฉบับแรก  เป็นเช็คที่มีคนร้ายปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย  แล้วต่อมาเช็คนั้นตกอยู่ในความครอบครองของไก่ย่าง  ซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าไก่ย่างเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ฉบับสอง  เป็นเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อส้มตำผู้รับเงิน  แล้วสลักหลังโอนเช็คนั้นขายลดให้แก่ไก่ย่าง  ซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ต่อมาธนาคารผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทดังกล่าว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายเช็คได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

เช็คขีดคร่อมที่มีข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือนั้น  อาจเกิดจากการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงินบัญญัติไว้  ได้แก่  บุคคลสามฝ่ายประกอบด้วย  ผู้สั่งจ่าย  ผู้สลักหลัง  และผู้ทรง  กล่าวคือ

 (1) กรณีผู้สั่งจ่ายเช็ค  อาจขีดคร่อมเช็ค  (มาตรา  995  (1) )  และหรือลงข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยน  หรือความหมายทำนองเดียวกัน  เช่น  “A/C  PAYEE  ONLY”  ลงไว้บนเช็ค  (มาตรา  917  วรรคสอง ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก)

(2) กรณีผู้สลักหลังเช็ค  ซึ่งเดิมเคยเป็นผู้รับเงินมาก่อนหรือเคยเป็นผู้รับสลักหลังต่อมาโดยลำดับคนใดคนหนึ่ง  จะลงข้อกำหนดห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนลงไว้บนเช็คขีดคร่อมก็ได้  (มาตรา  923  ประกอบ  มาตรา  989  วรรคแรก)

(3) กรณีผู้ทรงเช็ค  จะลงข้อความห้ามเปลี่ยนมือ  ลงไว้บนเช็คขีดคร่อมก็ได้  (มาตรา  995  (3) )

เช็คขีดคร่อมที่มีข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือ  โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวข้างต้น  หากมีการโอนหรือเปลี่ยนมือต่อไป  ย่อมเป็นผลให้ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  (มาตรา  999)

ข  อธิบาย

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

มาตรา  1009  ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด  และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้  ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน  หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม  ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

วินิจฉัย

เช็คฉบับแรก  เช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม  เช็คนั้นคงเสียไปเฉพาะผู้สั่งจ่ายตามมาตรา  1008  แต่ไก่ย่างยังคงเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  905

เช็คฉบับที่สอง  เช็คที่มีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม  ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คภายใต้หลักเกณฑ์มาตรา  1009  ย่อมหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายเช็คได้

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 1/2550

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก อำนาจเป็นหนี้เงินตามบัญชีที่บริษัท อุบล จำกัด ลงรายการไว้คือเอาเงินจำนวนสามแสนบาทไปสร้างโรงเรือนและซื้อลูกไก่ อาหารไก่เป็นเงินสี่แสนบาท ซึ่งเป็นการไปเลี้ยงเพื่อขายให้กับผู้ส่งออกไปต่างประเทศ และอำนาจจะชำระหนี้เมื่อมีการขายไก่ให้กับผู้ส่งออกแต่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาดผู้ส่งออกจึงงดรับซื้อ อำนาจจึงขอให้บริษัทอุบล จำกัด รับซื้อไก่ของตนเพื่อเอาไปขายให้กับผู้ผลิตไก่ย่าง บริษัทอุบล จำกัด ตกลงรับซื้อโดยตีราคาไก่ห้าแสนบาทและเมื่อหักทอนบัญชีแล้วปรากฏว่าอำนาจยังคงเป็นหนี้สองแสนบาท ดังนี้บริษัทอุบล จำกัด จะคิดคำนวณดอกเบี้ยทบต้นจากหนี้เงินจำนวนดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 655 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อยกว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมเงินจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ

ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่

ข การรับรองตั๋วแลกเงินคืออะไร ทำอย่างไรจึงจะชอบด้วยกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน แต่คงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

ข้อตกลงระหว่างอำนาจกับบริษัทอุบล จำกัด ที่มีการหักทอนราคาไก่ที่บริษัทอุบล จำกัด จะต้องจ่ายให้กับอำนาจ กับหนี้เงินตามบัญชีที่อำนาจจะต้องชำระให้กับบริษัทอุบล จำกัด เป็นการตกลงเพื่อการหักกลบลบหนี้กันเพียงครั้งเดียวโดยมิได้มีการตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่งให้ตัดทอนบัญชีทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างอำนาจกับบริษัทอุบล จำกัด โดยการหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค ข้อตกลงระหว่างอำนาจกับบริษัทอุบล จำกัด จึงไม่ใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856 เมื่อมีการหักทอนบัญชีแล้วอำนาจยังคงเป็นหนี้บริษัทอุบล จำกัด สองแสนบาท ดังนั้นบริษัทอุบล จำกัด จะคิดคำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามมาตรา 655 จากหนี้เงินจำนวนดังกล่าวกับอำนาจไม่ได้

สรุป บริษัทอุบล จำกัด จะคิดดอกเบี้ยทบต้นกับอำนาจไม่ได้ เพราะข้อตกลงระหว่างอำนาจ กับบริษัทอุบล จำกัด มิใช่สัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข อธิบาย

การรับรองตั๋วแลกเงิน คือ การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น มาตรา 931 ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “รับรองจะใช้เงิน” หรือ “ยินยอมจะใช้เงิน” ฯลฯ และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล

อย่างไรก็ดี การรับรองตามมาตรา 931 นี้ ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา 940) หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า (มาตรา 953) ก็ได้

การรับรองตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 935 ได้กำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้

1 การรับรองตลอดไป คือ การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

2 การรับรองเบี่ยงบ่าย คือ การรับรองใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ คือ

– การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข เช่น ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน

– การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน เช่น ตั๋วแลกเงินราคา 50,000 บาท ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นต้น

ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 937 กล่าวคือ เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

 

ข้อ 2 ก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงินนั้น มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้รับโอนตั๋วเงินโดยสุจริตหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ข นายถั่วพูได้รับเช็คระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ ซึ่งปรากฏลายมือชื่อนายถั่วแดงเป็นผู้สั่งจ่ายมาจากนายถั่วเขียวฉบับหนึ่งเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ต่อกัน ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงิน นายถั่วพูได้นำเช็คฉบับดังกล่าวไปยื่นให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ค แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่าย นายถั่วพูจึงเรียกให้นายถั่วแดงใช้เงินตามเช็คให้ นายถั่วแดงไม่ยอมชำระเงินให้แก่นายถั่วพูโดยอ้างว่าแท้จริงแล้ว นายถั่วแดงสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่นายถั่วเหลือง และไม่ทราบว่าเช็คฯไปตกอยู่กับนายถั่วเขียวได้อย่างไร

กรณีนี้ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านายถั่วพูได้รับเช็คจากนายถั่วเขียวโดยสุจริต และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ข้ออ้างดังกล่าวของนายถั่วแดงจะฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

ตาม ป.พ.พ. ได้บัญญัติหลักการคุ้มครองผู้รับโอนตั๋วเงินโดยสุจริตไว้ในมาตรา 916 ซึ่งมีหลักคือ “บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อนๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล”

จากหลักดังกล่าวนี้สามารุอธิบายได้ว่า ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายคนใดได้รับตั๋วมาโดยตนเองสุจริต มิได้คบคิดฉ้อฉลกับผู้โอนตั๋วมาให้ตนแต่ประการใด ผู้ทรงคนนั้นมีสิทธิฟ้องให้ผู้ที่ลงลายมือชื่อในตั๋วต้องรับผิดชอบตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินนั้นได้ทุกคน ผู้ที่ถูกไล่เบี้ยจะอ้างว่าข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือตนกับผู้ทรงคนก่อนๆนั้นมาต่อสู้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายและสุจริตนั้นไม่ได้

ตัวอย่าง

แดงออกตั๋วแลกเงินสั่งดำจ่ายเงินให้ขาว ขาวได้โอนตั๋วเงินใบนี้ให้เขียวเป็นค่าตอบแทนที่ซื้อฝิ่นจากเขียว เขียวได้โอนตั๋วต่อไปให้เหลือง เหลืองรับตั๋วที่โอนมาจากเขียวโดยสุจริต มิทราบการซื้อขายฝิ่นระหว่างขาวกับเขียวแต่อย่างใด ดังนี้เมื่อตั๋วแลกเงินนี้ถึงกำหนดใช้เงิน เหลืองสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเขียว ขาวและแดงได้ เพราะบุคคลเหล่านี้ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วจะต้องรับผิดตามเนื้อความแห่งตั๋วเงินนั้นตามมาตรา 900 โดยเขียวและขาวต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้สลักหลังตั๋ว ส่วนแดงรับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายตั๋ว เขียวจะอ้างว่า “ตั๋วใบนี้เป็นโมฆะเนื่องจากสัญญาซื้อขายฝิ่นระหว่างตนกับขาวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ฉะนั้นตั๋วเงินที่ขาวให้มาเป็นค่าฝิ่นนั้นจึงใช้ไม่ได้เป็นโมฆะ ดังนั้นเหลืองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเขียวได้ตามตั๋วแลกเงินใบนี้” ข้ออ้างของเขียวเหล่านี้จะยกขึ้นมาต่อสู้กับเหลืองซึ่งเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายและสุจริตไม่ได้ เพราะเหลืองไม่ทราบการซื้อขายฝิ่นโดยใช้ตั๋วเงินระหว่างขาวกับเขียวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามก็มีข้อยกเว้นไว้ว่า แม้ผู้ทรงนั้นจะสุจริตและเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ถ้าปรากฏว่าข้อต่อสู้ที่ยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงนั้น เป็นข้อต่อสู้เกี่ยวกับตั๋วแลกเงินนั้นเอง เช่น ตั๋วนั้นขาดอายุความใช้เงินแล้ว ฯลฯ เหล่านี้สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงที่สุจริตและชอบด้วยกฎหมายนั้นได้

ข อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อน นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล

มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910 914 ถึง 923…

วินิจฉัย

จากข้อเท็จจริงนายถั่วพูได้รับเช็ค ซึ่งเป็นเช็คระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ มาจากนายถั่วเขียว การชำระหนี้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงถือว่านายถั่วพูเป็นผู้ทรงเช็คฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 904 905 จึงได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 วรรคแรก กล่าวคือ เมื่อนายถั่วพูเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายและมิใช่ได้เช็คมาโดยการคบคิดกันฉ้อฉลกับนายถั่วเขียว นายถั่วแดงก็จะยกข้ออ้างที่ว่าไม่ทราบว่านายถั่วพูได้เช็คมาอย่างไรนั้นขึ้นต่อสู้นายถั่วพูไม่ได้

สรุป ข้ออ้างดังกล่าวของนายถั่วแดงจึงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 3 ก กฎหมายได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย และธนาคารผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คขีดคร่อมไว้อย่างไร ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบ

ข เอกยื่นคำขอให้ธนาคารสินไทยออกแคชเชียร์เช็ค (Cashier’s cheque) จำนวนสี่แสนบาท ระบุโทเป็นผู้รับเงินหรือตามคำสั่ง แล้วได้ส่งมอบเช็คให้แก่โทเพื่อชำระราคารถยนต์ โทรับเช็คนั้นมาแล้วจึงได้ขีดคร่อมทั่วไปไว้ที่ด้านหน้าเช็ค และลงลายมือชื่อของตนไว้ด้านหลังเพื่อประสงค์ที่จะมอบให้ธนาคารอ่าวไทยเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่ได้ทำเช็คนั้นตกหายไปโดยไม่รู้ตัว ตรีเก็บเช็คนั้นได้แล้วโอนโดยส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ให้แก่จัตวา ต่อมาจัตวาได้นำเช็คดังกล่าวไปฝากให้ธนาคารกรุงทองเรียกเก็บเงินตามเช็คโดยเข้าบัญชีของจัตวาได้สำเร็จ ครั้นโทรู้ว่าเช็คนั้นหายไปและสืบทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว และได้มาปรึกษาท่าน

(1) โทจะเรียกร้องให้ธนาคารสินไทย ธนาคารกรุงทอง และเอกให้รับผิดตามมูลหนี้ในเช็คและมูลหนี้เดิมได้เพียงใดหรือไม่

(2) โทจะเรียกร้องให้ตรีและจัตวาคืนเงินตามมูลหนี้ในเช็คนั้นได้หรือไม่

(3) การโอนเช็คพิพาทดังกล่าวขาดสายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

เช็คขีดคร่อม หมายถึง เช็คที่บนด้านหน้าทางด้านซ้ายของเช็คมีรอยเส้นขนาน 2 เส้น ขีดพาดไว้ ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนี้อาจจะมีถ้อยคำเขียนไว้ก็ได้ ตามมาตรา 994 แบ่งเช็คขีดคร่อมออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 เช็คขีดคร่อมทั่วไป หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นว่างเปล่า ไม่มีถ้อยคำใดเขียนไว้ หรือมีถ้อยคำแต่เพียง “และบริษัท” หรือคำย่อใดๆอยู่ในระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น

2 เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งระบุลงไว้โดยเฉพาะ

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) ตามมาตรา 998 มีหลักคือ

– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ (Collecting Bank) หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้

ดังนั้น ถ้าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผลให้

1 ให้ถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินให้แก่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงและธนาคารก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้สั่งจ่ายด้วย ดังนี้ธนาคารผู้จ่ายย่อมมีสิทธิหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้

2 ให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมนั้นได้หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อผู้รับเงินเงิน ผู้รับเงินจะเรียกร้องให้ผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คนั้นหรือตามมูลหนี้เดิมอีกไม่ได้

หลักเกณฑ์การเบิกเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน ตามมาตรา 1000 มีหลักคือ

1 ต้องเป็นเช็คที่ขีดคร่อมมาก่อน มิใช่ธนาคารขีดคร่อมเสียเอง

2 เช็คขีดคร่อมใบนั้น เมื่อเบิกมาแล้วจะต้องนำเข้าบัญชีของลูกค้าธนาคารนั้น

3 ธนาคารจะต้องดำเนินการเบิกเงินเพื่อลูกค้านี้โดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ

ดังนั้นหากครบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ธนาคารผู้เรียกเก็บเงินรายใดได้เรียกหรือรับเงินไว้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น (ผู้ทรงเดิม) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิในเช็คขีดคร่อมนั้นเลย หรือผู้เคยค้านั้นมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คขีดคร่อมนั้น

ข อธิบาย

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา 917 วรรคแรก อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา 989 วรรคแรก บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบทมาตรา 910 914 ถึง 923

มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

วินิจฉัย

(1) กรณีตามอุทาหรณ์

– โทจะเรียกร้องให้ธนาคารสินไทยรับผิดไม่ได้ เพราะธนาคารสินไทยเป็นธนาคารผู้สั่งจ่ายซึ่งได้ใช้เงินแก่ธนาคารที่เรียกเก็บเงินตามเช็คแล้ว ตามมาตรา 998 ให้ถือว่าธนาคารผู้สั่งจ่ายได้จ่ายเงินแก่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าของที่แท้จริง

– โทจะเรียกร้องให้ธนาคารกรุงทองรับผิดไม่ได้ เพราะธนาคารกรุงทองเป็นธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน ย่อมหลุดพ้นตามมาตรา 1000

– โทจะเรียกร้องให้เอกผู้สั่งจ่ายรับผิดไม่ได้ เพราะเอกหลุดพ้นเช่นเดียวกับธนาคารสินไทย ตามมาตรา 998

(2) โทจะเรียกร้องให้ตรีคืนเงินในฐานลาภมิควรได้ (มาตรา 409) แต่จะเรียกร้องให้จัตวาคืนเงินมิได้หากจัตวารับมอบเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามมาตรา 905 วรรคแรกและวรรคสอง

(3) การโอนเช็คดังกล่าวไม่ขาดสาย เพราะเป็นการสลักหลังโอนตั๋วเงินระบุชื่อ โดยลงลายมือชื่อของตนโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน โดยมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์หรือผู้รับสลักหลังลงไปด้วย จึงเป็นการสลักหลังลอยการที่ตรีเก็บเช็คนั้นได้แล้วโอนโดยส่งมอบเช็คนั้น ย่อมทำได้ เพราะถ้าสลักหลังลอยสามารถโอนได้โดยการส่งมอบ ดังนั้นการโอนเช็คพิพาทดังกล่าวจึงไม่ขาดสาย ตามมาตรา 905 วรรคแรกและวรรคสอง มาตรา 917 วรรคแรกประกอบด้วย 989 วรรคแรก

 

LAW 2013 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 2/2550

การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ 1  ก  บุญมีเปิดบัญชีฝากเงินประเภทกระแสรายวันกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  จำนวน  200,000  บาท  และมีการสะพัดทางบัญชีตลอดมา  ภายหลังบุญมีเหลือเงินฝากในบัญชีเพียงเล็กน้อยไม่พอที่จะใช้จ่ายในการลงทุน  จึงยื่นคำร้องต่อธนาคารขอเบิกเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่อยู่ในบัญชี  วงเงินไม่เกิน  2,000,000  บาท  โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละบาทต่อเดือนในระบบดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามประเพณีธนาคาร  หากเมื่อมีการหักทอนบัญชีแล้วปรากฏว่าบุญมีเป็นหนี้ธนาคาร  จนกว่าจะชำระส่วนที่เป็นหนี้ครบถ้วน  หลังจากนั้นบุญมีได้สะพัดทางบัญชีโดยมีการออกเช็คสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้ของบุญมีและมีการฝากเงินเข้าบัญชีกระแสรายวันเพื่อหักทอนบัญชีตลอดมา  ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด   เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่  เพราะเหตุใด  ต่อมาธนาคารได้มีการหักทอนบัญชีแล้วปรากฏว่าบุญมีเป็นหนี้ธนาคาร  3,000,000  บาท  ธนาคารจึงบอกเลิกสัญญาเรียกให้บุญมีชำระหนี้ในจำนวนดังกล่าวได้หรือไม่  อย่างไร

ข  ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

มาตรา  859  คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใดๆก็ได้  ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้

วินิจฉัย

ธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  กับบุญมี  ต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน  และบุคคลทั้งสองได้ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นให้มีการนำหนี้ที่เกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองที่ต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันนั้น  มาตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาคอันเป็นหลักสำคัญของบัญชีเดินสะพัด  ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  จึงเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด  ตามมาตรา  856   และเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด  ดังนั้นคู่สัญญาฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลาใดๆก็ได้  ตามมาตรา  859

สรุป  นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน  จำกัด  เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด  ดังนั้นธนาคารฯมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกให้บุญมีชำระหนี้ได้

ข  อธิบาย 

การรับรองตั๋วแลกเงิน  คือ  การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น  มาตรา  931  ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า  รับรองแล้ว  หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน  เช่น  รับรองจะใช้เงิน  หรือ  ยินยอมจะใช้เงิน  ฯลฯ  และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น  และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้  หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย  ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน  อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน  ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด    ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล

อย่างไรก็ดี  การรับรองตามมาตรา  931  นี้  ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น  บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย  หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา  940)  หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า  (มาตรา  953)  ก็ได้

การรับรองตั๋วแลกเงิน  ตามมาตรา  935  ได้กำหนดไว้  2  ประเภท  ดังนี้

1       การรับรองตลอดไป  คือ  การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน  โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

2       การรับรองเบี่ยงบ่าย  คือ  การรับรองใน  2  กรณีดังต่อไปนี้  คือ

 –          การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข  เช่น  ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน

–          การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน  เช่น  ตั๋วแลกเงินราคา  50,000  บาท  ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน  40,000  บาท  เป็นต้น

ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน  มีบัญญัติไว้ในมาตรา  937  กล่าวคือ  เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว  ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

 

ข้อ  2  ก  ผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย  มีหลักเกณฑ์เป็นอย่างไร  ให้อธิบายโดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

 ข  มะลิออกตั๋วแลกเงินสั่งให้จำปีจ่ายเงินให้แก่จำปาเป็นตั๋วแบบระบุชื่อ  ต่อมาจำปาสลักหลังเฉพาะระบุชื่อกุหลาบ  แล้วส่งมอบตั๋วฯ  นั้นชำระหนี้ให้กุหลาบ  จากนั้นกุหลาบนำตั๋วฯ  นั้นไปสลักหลังลอยขาดลดให้แก่ลั่นทมซึ่งต่อมาลั่นทมก็ได้ส่งมอบตั๋วฯ  นั้นชำระหนี้ให้แก่ชวนชม  แล้วชวนชมก็สลักหลังตั๋วฯนั้นโดยระบุชื่อราตรี  แล้วส่งมอบให้แก่ราตรีเพื่อชำระหนี้

จากข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น  ราตรีถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพราะเหตุใด  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้  ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  ทำให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผูทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย  ดังนี้คือ

 1       เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง  (ยึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน)

2       ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อ  หรือเป็นผู้ถือ  สำหรับตั๋วเงินชนิดที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

3       ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย  (ผู้ทรงโดยสุจริต)  และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

4       ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย

อนึ่งการสลักหลังไม่ขาดสาย  หมายถึง  การสลักหลังตั๋วเงินโดยโอนรับช่วงติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน

ข  อธิบาย

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

มาตรา  920  วรรคสอง  ถ้าสลักหลังลอย  ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้  คือ

(3)โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง  และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด

วินิจฉัย

ลั่นทมเป็นผู้ทรงตั๋วเงินระบุชื่อที่ได้มาจากการสลักหลังลอยของกุหลาบ  จึงมีสิทธิส่งมอบตั๋วฯ  ชำระหนี้ให้กับชวนชมต่อไปได้  ตามมาตรา 920  วรรคสอง  (3)  ซึ่งถือว่าชวนชมเป็นผู้ทรงที่ได้รับตั๋วฯ  มาจากการสลักหลังลอยของกุหลาบโดยตรงโดยไม่ผ่านมือของลั่นทมเลย  เพราะลั่นทมได้โอนตั๋วฯมาโดยการส่งมอบ  จึงไม่ปรากฏลายมือของลั่นทมในตั๋วฯ  โดยไม่ถือว่าการโอนตั๋วฯนี้ขาดสายแต่อย่างใด  ตามมาตรา  905  วรรคแรก  ดังนั้นเมื่อชวนชมถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วฯ  โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ต่อมาชวนชมสลักหลังตั๋วฯ  ชำระหนี้ให้ราตรี  ราตรีก็ยอม  เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เช่นเดียวกัน  ตามมาตรา  904  และมาตรา  905  วรรคแรก

สรุป  ราตรีเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  ก  เช็คที่มีการลงลายมือชื่อปลอมกับเช็คที่มีการลงลายมือชื่อ  โดยปราศจากอำนาจนั้นเหมือนหรือต่างกันอย่างไร  จะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายแก่คู่สัญญาในเช็คนั้นอย่างไร  ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย

          ข  เอกได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าชำระราคาสินค้า  จำนวน  300,000  บาท  ระบุชื่อบริษัทผู้ขายเป็นผู้รับเงิน  พร้อมกับขีดคร่อมทั่วไปและได้ขีดฆ่าเฉพาะคำว่า  หรือผู้ถือ  ในเช็คนั้นโดยมิได้ขีดฆ่าคำว่า  “or  bearer”  ในเช็คนั้นออกแต่อย่างใด  ต่อมาตรีได้สลักหลังเช็คแทนโดยที่โทผู้จัดการบริษัทผู้ขายมิได้มอบอำนาจในการสลักหลังขายลดเช็คพิพาทดังกล่าวให้แก่จัตวาซึ่งได้เข้าทำสัญญารับซื้อลดเช็คพิพาทนั้นไว้โดยสุจริตและมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด  เพราะเชื่อโดยสุจริตว่าตรีเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทผู้ขายนั้น  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า  เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อหรือเป็นเช็คผู้ถือ  จัตวาเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทหรือไม่  หากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค  จัตวาจะบังคับไล่เบี้ยเอก  โท  และตรีให้ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวได้เพียงใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

เช็คที่มีการลงลายมือชื่อปลอมกับเช็คที่มีการลงลายมือชื่อโดยปราศจากอำนาจนั้นมีทั้งความเหมือนกันและแตกต่างกัน  กล่าวคือ

–          กรณีที่เหมือนกัน  คือ  เช็คนั้นย่อมเสียไปทั้งฉบับสำหรับเจ้าของลายมือชื่อ  ซึ่งถูกปลอมลายมือชื่อ  และเจ้าของลายมือชื่อซึ่งมิได้มอบอำนาจ  อีกทั้งเป็นผลให้ผู้ใดจะแสวงสิทธิจากลายมือชื่อทั้งสองนั้นเพื่อยึดหน่วงเช็คนั้นไว้ก็ดี  หรือเพื่อทำให้หลุดพ้นจากความรับผิดด้วยการใช้เงินตามเช็คนั้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาซึ่งต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คนั้นก็ดี  ย่อมไม่อาจกระทำได้  เว้นแต่บุคคลซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วง  หรือจะพึงถูกบังคับการใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานะเป็นบุคคลซึ่งถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมหรือข้อลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้  (มาตรา  1008  วรรคแรก)  หรือเว้นแต่กรณีที่ธนาคารผู้ใช้เงินตามเช็คระบุชื่อที่มีการสลักหลังปลอมหรือลงโดยปราศจากอำนาจตามนัยมาตรา  1009

–          กรณีที่แตกต่างกัน  คือ  เช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายและหรือลายมือชื่อผู้สลักหลังชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม  เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอม  ไม่อาจให้สัตยาบันได้  หากแสดงออกด้วยการยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อตนเอง  กรณีย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องตัดบทหรือถูกปิดปากมิให้ยกลายมือชื่อปลอมนั้นขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้  ขณะที่ลายมือชื่อที่ลงไว้โดยปราศจากอำนาจ  เจ้าของลายมือชื่อที่เขาลงไว้โดยมิได้มอบอำนาจอาจให้สัตยาบันได้  และกลายเป็นการลงลายมือชื่อโยได้รับมอบอำนาจ  (มาตรา  1008  วรรคท้าย)

ข  อธิบาย

มาตรา  900  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  904  อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ  ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  917  วรรคแรก  อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม  ท่านว่าย่อมโอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ

มาตรา  959  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลัง  ผู้สั่งจ่าย  และบุคคลอื่นๆซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้  คือ

(ก)  ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนดในกรณีไม่ใช้เงิน

มาตรา  967  วรรคแรก  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น  บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี  สลักหลังก็ดี  หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา …  914  ถึง  923  959  967  967

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

วินิจฉัย

เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อบริษัทผู้ขายเป็นผู้รับเงิน  เมื่อได้มีการขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ที่เป็นภาษาไทยแล้ว  ก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่าเป็นเช็คระบุชื่อ  ย่อมโอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ  (มาตรา  917  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก)

การที่ตรีได้ลงลายมือชื่อโทผู้จัดการบริษัทผู้ขายในฐานะเป็นผู้รับเงิน  ซึ่งมิได้อนุญาตหรือมอบอำนาจไว้ไปสลักหลังขายลดเช็คพิพาทให้แก่จัตวา  กรณีย่อมเป็นการลงลายมือชื่อสลักหลังโดยปราศจากอำนาจ  ย่อมเป็นผลให้ลายมือชื่อโทนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย  ตามนัยมาตรา  1008  วรรคแรก  เท่ากับว่าจัตวาได้รับเช็คพิพาทนั้นมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย  จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  904    และ  905  วรรคแรกและวรรคสอง  แม้ว่าธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน  จัตวาก็จะบังคับให้เอก  โท    และตรี  ให้ต้องรับผิดตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทดังกล่าวไม่ได้ตามมาตรา  900  วรรคแรก  914  959  ก)  967  วรรคแรก  และมาตรา 989  วรรคแรก

สรุป  –     เช็คพิพาทเป็นเช็คระบุชื่อ

–          จัตวาไม่เป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย

–          จัตวาไล่เบี้ยเอก  โท  และตรีมิได้

WordPress Ads
error: Content is protected !!