การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 บุญมีเปิดบัญชีฝากเงินประเภทกระแสรายวันไว้กับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด จำนวน 200,000 บาท ได้ทำการเดินสะพัดทางบัญชี โดยนำเงินฝากและถอนเงินไปใช้เรื่อยมา ภายหลังลูกค้ามีเงินฝากเหลืออยู่ในบัญชีเพียงเล็กน้อย จึงทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีอีก 500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้น รายเดือนตามประเพณีธนาคารเป็นเวลา 2 ปี บุญมีนำเงินฝากและถอนเงินไปใช้เรื่อยมา เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี บุญมีตายลง ดังนี้นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชนจำกัดเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่อย่างไร และธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามกำหนดเวลา 2 ปี ตามสัญญาได้หรือไม่อย่างไร
หมายเหตุ ป.พ.พ. มาตรา 655 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ… ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกเบี้ยทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดีในการค้าขายอย่างอื่นทำนองเช่นว่านั้นก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนไม่”
ข กรณีของตั๋วแลกเงินและเช็คนั้นผู้สั่งจ่ายจะสั่งให้ผู้จ่ายหรือธนาคารจ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอนให้กับผู้รับเงิน ดังนี้ถ้าผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความให้ผู้จ่ายหรือธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินด้วย โดยคิดจากจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายได้หรือไม่อย่างไร
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
การที่บุญมีเปิดบัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด 200,000 และได้ทำการเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา เป็นกรณีที่บุญมีใช้สิทธิเบิกเงินตามที่บุญมีฝากเงินไว้กับธนาคารกรุงเก่า มิใช่กรณีที่บุญมีกับธนาคารกรุงเก่าตกลงหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาพ ตามมาตรา 856 ต่อมาบุญมีทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี 500,000 บาท เป็นเวลา 2 ปี โดยยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตามประเพณีธนาคารและมีการนำเงินเข้าฝากและถอนเรื่อยมานั้น การเบิกเงินเกินบัญชีของบุญมีดังกล่าว เป็นการที่บุญมีผู้ฝากเงินซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของธนาคารได้ขอเบิกเงินเกินกว่าที่ตนเองมีสิทธิและเมื่อธนาคารยอมให้เบิก ธนาคารย่อมเป็นเจ้าหนี้และเมื่อมีการฝากถอนเงินไปใช้เรื่อยมา
ดังนี้ย่อมเป็นการที่บุญมีกับธนาคารกรุงเก่าตกลงหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาพ จึงเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดประเภทที่มีกำหนดเวลา 2 ปี ตามมาตรา 856 และเมื่อบุญมีตายลงย่อมทำให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นเรื่องการเฉพาะตัวของบุญมีสิ้นสุดลง ธนาคารย่อมหมดสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น ธนาคารมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่บุญมีตายเท่านั้นจะคิดตามกำหนด 2 ปี ตามสัญญาไม่ได้ ตามมาตรา 655 (ฎ. 1862/2518)
สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างบุญมีกับธนาคารกรุงเก่ามหาชน จำกัด เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดและธนาคารจะคิดดอกเบี้ยทบต้นตามกำหนดเวลา 2 ปีตามสัญญาไม่ได้
ข อธิบาย
กรณีตั๋วแลกเงิน
ผู้สั่งจ่ายสามารถสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินได้ ตามมาตรา 911 ซึ่งมีหลักว่า
“ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้ และในกรณีเช่นนั้นถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน”
ดังนั้นถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินไม่ลงข้อกำหนดดอกเบี้ยลงในตั๋วแลกเงิน ผู้รับเงินหรือผู้ทรงก็จะเรียกดอกเบี้ยตามมาตรานี้ไม่ได้ สำหรับดอกเบี้ยนั้นตามปกติต้อไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ถ้าเกินต้องลดลงมาเป็นร้อยละ 15 ต่อปี และถ้าผู้สั่งจ่ายได้เขียนกำหนดดอกเบี้ยลงไว้ในตั๋วแลกเงิน แต่มิได้กำหนดว่าร้อยละเท่าใด ดังนี้ต้องนำมาตรา 7 มาบังคับ คือคิดร้อยละ 7.5 ต่อปี
สำหรับการคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 911 ถ้ามิได้กำหนดเป็นอย่างอื่น ให้เริ่มนับจากวันที่ลงในตั๋วแลกเงินหรือวันออกตั๋วแลกเงิน
กรณีเช็ค
ผู้สั่งจ่ายไม่สามารถสั่งให้ธนาคารจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้รับเงินได้ ดังนั้นผู้สั่งจ่ายเช็คจะกำหนดดอกเบี้ยในเช็คไม่ได้ เพราะมาตรา 989 วรรคแรกมิได้บัญญัติให้นำมาตรา 911 ไปใช้บังคับกับเช็คด้วย การคิดดอกเบี้ยในเช็คคงคิดได้ตามหลักทั่วไปในเรื่องหนี้ กล่าวคือ คิดตามมาตรา 224 คือร้อยละ 7.5 ต่อปีในระหว่างผิดนัด (ฎ. 901/2505) ถ้ามีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในเช็ค กรณีย่อมเป็นผลตามมาตรา 899 ซึ่งมีหลักว่า “ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินไม่”