การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เลี้ยงไก่ครั้งละห้าแสนบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยมีข้อตกลงให้จันทร์เอาเงินจำนวนนี้ไปซื้อลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่จากพุธ และเงินค่าจ้างแรงงานโดยอาทิตย์จะจดบัญชีว่าจันทร์เอาเงินไปจำนวนเท่าใดและเมื่อลูกไก่โตได้ขนาดจันทร์ต้องขายไก่ให้กับอาทิตย์ โดยอาทิตย์จะตีราคาไก่แล้วหักเงินที่จันทร์เป็นหนี้ออกแล้วมอบส่วนที่เหลือให้จันทร์ แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใดเพื่อจะได้หักทอนบัญชีกันเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไปแล้วอาทิตย์จะให้จันทร์เบิกเงินไปซื้อลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่ไปเลี้ยงในรอบต่อไปอีก ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการกู้ยืมเงินหรือบัญชีเดินสะพัด

ข ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงินในกรณีใดบ้าง

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์มีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามาตรา 856 เพราะว่าเป็นข้อตกลงที่มีการเอาหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างอาทิตย์กับจันทร์ซึ่งต่างฝ่ายเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ซึ่งกันและกันมาหักทอนแล้วชำระแต่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข อธิบาย

บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้นทั้งนี้ตามมาตรา 900 วรรคแรก

– ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงิน

– ผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินเช่นเดียวกัน

สำหรับเหตุที่ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 914 กล่าวคือ ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงิน และผู้ที่ได้โอนตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อโดยการสลักหลัง นอกจากจะต้องรับผิดตามตั๋วในฐานะที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วตามมาตรา 900 แล้ว ทั้งสองคนนี้ยังต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้สั่งจ่ายตั๋วหรือเป็นผู้สลักหลังโอนต่อไปด้วย เมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก

1 ในกรณีที่ตั๋วแลกเงินนั้นยังไม่ถึงกำหนดใช้เงิน เมื่อผู้ทรงได้นำตั๋วไปยื่นให้ผู้จ่ายรับรองแล้วผู้จ่ายไม่รับรอง และ

2 ผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

ประเด็นที่สอง

1 ในกรณีที่ตั๋วแลกเงินนั้นถึงกำหนดใช้เงินแล้ว เมื่อผู้ทรงได้นำตั๋วไปยื่นให้ผู้จ่ายใช้เงินแล้วผู้จ่ายไม่ยอมจ่ายเงินให้ และ

2 ผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

จะเห็นว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังโอนตั๋วจะต้องรับผิดตามตั๋วแลกเงินนั้นต่อเมื่อตั๋วนั้นได้ขาดความเชื่อถือ โดยผู้จ่ายไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินแล้ว และผู้ทรงได้ทำคำคัดค้านโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ถึงจะไล่เบี้ยผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังในตั๋วนั้นได้

 

ข้อ 2 ก ให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์ของ “ผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย” โดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข ส้มออกตั๋วแลกเงินสั่งให้เขียวจ่ายเงินให้แก่แดง เป็นตั๋วฯ แบบระบุให้ใช้เงินแก่แดงหรือผู้ถือต่อมา แดงสลักหลังเฉพาะระบุชื่อดำ แล้วส่งมอบตั๋วฯนั้นชำระหนี้ให้ดำฯ จากนั้นดำนำตั๋วฯนั้นไปสลักหลังลอยและส่งมอบชำระหนี้ให้แก่ขาว ซึ่งต่อมาขาวก็ได้ส่งมอบตั๋วนั้นชำระหนี้ให้แก่ทองจากข้อเท็จจริงข้างต้นนั้น ทองถือว่าเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินฉบับดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถสรุปหลักเกณฑ์ของการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้คือ

1 เป็นผู้มีตั๋วเงินไว้ในความครอบครอง (ยึดถือด้วยเจตนายึดถือเพื่อตน)

2 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นในฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง สำหรับตั๋วเงินที่ระบุชื่อหรือเป็นผู้ถือ สำหรับตั๋วเงินชนิดที่สั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

3 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย (ผู้ทรงโดยสุจริต) และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

4 ได้ครอบครองตั๋วเงินนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย

อนึ่ง การสลักหลังไม่ขาดสาย หมายถึง การสลักหลังตั๋วเงินโดยโอนรับช่วงติดต่อกันมาตามลำดับจนถึงมือของผู้ทรงคนปัจจุบันโดยไม่ขาดตอน

ข อธิบาย

มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา 918 ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน

มาตรา921 การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับผู้สั่งจ่าย

วินิจฉัย

ตั๋วดังกล่าวถือว่าเป็นตั๋วที่ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ หรือตั๋วผู้ถือซึ่งจะสามารถโอนให้แก่กันได้โดยการส่งมอบให้แก่กัน แต่หากมีการสลักหลังตั๋ว ที่ระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือดังกล่าว ก็จะถือว่าเป็นการรับอาวัลผู้สั่งจ่าย

ดังนั้นเมื่อตั๋ว ดังกล่าวสามารถโอนให้แก่กันโดยเพียงการส่งมอบ ตามมาตรา 918 จึงถือว่า ทองเป็นผู้ทรงตั๋ว นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นผู้ครอบครองตั๋วนั้น ในฐานะผู้ถือ และได้รับการโอนตั๋วมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 904 905 วรรคสองและวรรคสาม

ส่วนที่มีการสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นก็ไม่ถือว่ามีผลกระทบใดๆ ต่อการโอนตั๋ว เพียงแต่จะมีผลทำให้ผู้ที่สลักหลังนั้นต้องรับผิดตามตั๋ว ในฐานะผู้รับอาวัลผู้สั่งจ่ายเท่านั้น ตามมาตรา 921

สรุป ทองเป็นผู้ทรงตั๋วแลกเงินโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3 ก กฎหมายตั๋วเงินได้วางหลักเกณฑ์ให้ธนาคารผู้จ่ายเงิน (Paying Bank) ตามเช็คขีดคร่อมธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน (Collecting Nank) ตามเช็คขีดคร่อม รวมทั้งผู้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในมูลหนี้แห่งเช็คขีดคร่อมนั้นอย่างไร

ข รัตนาวดีได้รับเช็คผู้ถือธนาคารกรุงทองจากสมชายซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายล่วงหน้าแล้ว ได้ขีดคร่อมทั่วไปลงบนเช็ค พร้อมกับเขียนข้อความว่า “A/C PAYEE ONLY” ลงไว้ในระหว่างรอยขีดคร่อม รัตนาวดีทำเช็คนั้นตกหายโดยไม่รู้ตัว ข้อเท็จจริงได้ความว่า ดวงดีเป็นผู้เก็บเช็คนั้นได้แล้วนำเช็คนั้นไปซื้อสินค้าและมอบเช็คนั้นให้ไว้แก่หนึ่งฤทัยซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดนสุจริต และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ต่อมาหนึ่งฤทัยได้นำเช็คนั้นไปฝากให้ธนาคารทัพไทยเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของหนึ่งฤทัย และหนึ่งฤทัยได้ถอนเงินตามเช็คนั้นไปใช้หมดแล้ว ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(1) หนึ่งฤทัยเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(2) ใครเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คพิพาทดังกล่าว

(3) สมชายและธนาคารกรุงทอง พร้อมทั้งธนาคารทัพไทย ยังคงต้องรับผิดต่อเจ้าของอันแท้จริงหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก อธิบาย

เช็คขีดคร่อม หมายถึง เช็คที่บนด้านหน้าทางด้านซ้ายของเช็คมีรอยเส้นขนาน 2 เส้น ขีดพาดไว้ ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนี้อาจจะมีถ้อยคำเขียนไว้ก็ได้ ตามมาตรา 994 แบ่งเช็คขีดคร่อมออกเป็น 2 ชนิด คือ

1 เช็คขีดคร่อมทั่วไป หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นว่างเปล่า ไม่มีถ้อยคำใดเขียนไว้ หรือมีถ้อยคำแต่เพียง “และบริษัท” หรือคำย่อใดๆอยู่ในระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น

2 เช็คขีดคร่อมเฉพาะ หมายถึง เช็คที่ในช่องระหว่างเส้นขนานทั้ง 2 เส้นนั้น มีชื่อธนาคารใดธนาคารหนึ่งระบุลงไว้โดยเฉพาะ

หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank) ตามมาตรา 998 มีหลักคือ

– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ (Collecting Bank) หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้

– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้

ดังนั้น ถ้าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อย่อมเป็นผลให้

1 ให้ถือว่าธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินให้แก่เจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแล้ว ธนาคารจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงและธนาคารก็ไม่ต้องรับผิดต่อผู้สั่งจ่ายด้วย ดังนี้ธนาคารผู้จ่ายย่อมมีสิทธิหักเงินจากบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้

2 ให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมนั้นได้หลุดพ้นจากความรับผิดที่มีต่อผู้รับเงินเงิน ผู้รับเงินจะเรียกร้องให้ผู้สั่งจ่ายรับผิดตามเช็คนั้นหรือตามมูลหนี้เดิมอีกไม่ได้

หลักเกณฑ์การเบิกเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้เรียกเก็บเงิน ตามมาตรา 1000 มีหลักคือ

1 ต้องเป็นเช็คที่ขีดคร่อมมาก่อน มิใช่ธนาคารขีดคร่อมเสียเอง

2 เช็คขีดคร่อมใบนั้น เมื่อเบิกมาแล้วจะต้องนำเข้าบัญชีของลูกค้าธนาคารนั้น

3 ธนาคารจะต้องดำเนินการเบิกเงินเพื่อลูกค้านี้โดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ

ดังนั้นหากครบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ธนาคารผู้เรียกเก็บเงินรายใดได้เรียกหรือรับเงินไว้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปหรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้น (ผู้ทรงเดิม) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิในเช็คขีดคร่อมนั้นเลย หรือผู้เคยค้านั้นมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คขีดคร่อมนั้น

ข อธิบาย

มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย

มาตรา 995 (3) เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ก็ได้

มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง ถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้เฉพาะ หรือใช้ให้แก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง กับถ้าเช็คตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานะอันเดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว

มาตรา 999 บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า “ห้ามเปลี่ยนมือ” ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิในเช็คนั้นยิ่งไปกว่าและไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา

มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่ออันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี หากปรากฏว่าผู้เคยค้านั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้หาทำให้ธนาคารนั้น ต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่

วินิจฉัย

ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว พิจารณาตามประเด็นได้ ดังนี้

(1) หนึ่งฤทัยไม่เป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 905 วรรคสองและวรรคสามเพราะเช็คพิพาทเป็นเช็คที่รัตนาวดีขีดคร่อมและห้ามเปลี่ยนมือ ตามมาตรา 995 (3) ดวงดีผู้เก็บเช็คนั้นได้ ย่อมไม่มีสิทธิในเช็คนั้นและไม่มีสิทธิโอนให้ใคร กรณีย่อมเป็นผลให้หนึ่งฤทัยไม่มีสิทธิรับโอนเช็คพิพาทนั้นด้วยตามมาตรา 999

(2) เช็คพิพาทได้ตกหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของรัตนาวดี ต้องถือว่ารัตนาวดียังคงเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คพิพาทตามมาตรา 998

(3) สมชายและธนาคารกรุงทองไม่ต้องรับผิดต่อรัตนาวดี ตามมาตรา 998 และธนาคารทัพไทยก็ไม่ต้องรับผิดต่อรัตนาวดี ตามมาตรา 1000

Advertisement