การสอบภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์เพื่อเลี้ยงไก่ครั้งละไม่เกินห้าแสนบาท เป็นเวลา 5 ปี โดยให้เบิกเป็นลูกไก่ อาหารไก่ ยา สิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงไก่และค่าจ้างแรงงาน โดยอาทิตย์จะจดบัญชีไว้ว่าจันทร์เป็นหนี้เงินอยู่จำนวนเท่าใด โดยคำนวณจากสิ่งของที่จันทร์เอาไป และเมื่อลูกไก่โตได้ขนาด จันทร์ต้องขายไก่ให้กับอาทิตย์โดยอาทิตย์จะตีราคาไก่แล้วหักเงินที่จันทร์เป็นหนี้ออกแล้วมอบส่วนที่เหลือให้จันทร์ แต่ถ้าเงินราคาไก่ที่จันทร์จะได้รับนั้นไม่พอชำระหนี้อาทิตย์จะเอาส่วนต่างนั้นไปลงบัญชีว่าจันทร์เป็นหนี้อยู่เท่าใด และจะหักบัญชีเมื่อจันทร์ขายไก่ครั้งต่อไป
ดังนี้ นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่อย่างไร
ข ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์ กล่าวถึง การโอนตั๋วแลกเงินอย่างไรบ้าง ให้อธิบายโดยอ้างอิงหลักกฎหมาย
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวนิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นการตกลงในช่วงระยะเวลา 5 ปี ให้มีการตัดทอนบัญชีหนี้สินที่เกิดขึ้นในระหว่างอาทิตย์กับจันทร์ด้วยวิธีการหักกลบลบกันและชำระแต่ส่วนที่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาคจึงถือว่าเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ตามมาตรา 856
สรุป นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด
ข อธิบาย
ตามลักษณะของตั๋วแลกเงินมีอยู่ 2 ชนิด คือ ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตามคำสั่งผู้รับเงิน เรียกว่า “ตั๋วแลกเงินระบุชื่อ” ซึ่งในตั๋วเงินทั้ง 3 ประเภท คือ ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค และตั๋วแลกเงินชนิดที่ระบุชื่อผู้รับและมีคำว่า “หรือผู้ถือ” รวมอยู่ด้วย หรือระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ เรียกว่า “ตั๋วแลกเงินผู้ถือ” ซึ่งมีเฉพาะตั๋วแลกเงินและเช็คเท่านั้น
ดังนั้นวิธีการโอนตั๋วแลกเงินจึงแตกต่างกันตามชนิดของตั๋วแลกเงินดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ
1 กรณีโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อ มาตรา 917 วรรคแรก บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ
อนึ่งการสลักหลังมี 2 วิธี คือ สลักหลังเฉพาะ (เจาะจงชื่อผู้รับสลักหลัง) ซึ่งมาตรา 919 ได้บัญญัติวิธีการสลักหลังไว้ดังนี้
(ก) สลักหลังเฉพาะ (Specific Endorsement) ให้ระบุชื่อผู้รับสลักหลัง แล้วลงลายมือชื่อผู้สลักหลังลงไปในตั๋วเงิน โดยจะกระทำด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินนั้นก็ได้ (มาตรา 917 วรรคแรก มาตรา 919 วรรคแรก)
(ข) สลักหลังลอย (Blank Endorsement) ผู้สลักหลังเพียงลงลายมือชื่อตนเองโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์ (ผู้รับสลักหลัง) (มาตรา 917 วรรคแรก มาตรา 919 วรรคสอง)
ผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังโอนตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังดังกล่าวใน (ก) หรือ (ข) แล้วก็สามารถสลักหลังโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นโดยวิธีข้างต้นต่อไปอีกก็ได้ แต่ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย สามารถเลือกโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นต่อไปได้อีก 3 วิธี ทั้งนี้ตามมาตรา 920 วรรคสอง คือ
(1) เติมชื่อบุคคลที่ตนเองประสงค์จะโอนให้
(2) สลักหลังลอยหรือสลักหลังเฉพาะต่อไป หรือ
(3) ส่งมอบต่อไปโดยไม่ต้องสลักหลัง
2 กรณีโอนตั๋วแลกเงินผู้ถือ มาตรา 918 บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการส่งมอบ