การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก ให้อธิบายถึงลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัด
ข การรับรองตั๋วแลกเงินคืออะไร การรับรองนั้นทำอย่างไร และความรับผิดของผู้รับรองนั้นมีอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
จากบทบัญญัติดังกล่าว สัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น มีลักษณะดังต่อไปนี้
1 เป็นสัญญาต่างตอบแทน เพราะคู่สัญญาต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาในอันที่จะต้องปฏิบัติต่อกันเช่นการชำระหนี้ กล่าวคือ จัดทำบัญชีและให้มีการหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยวิธีการหักกลบลบหนี้กัน แล้วชำระหนี้เฉพาะยอดที่คงเหลือ
2 เป็นสัญญาระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย ซึ่งไม่ต้องทำตามแบบ กล่าวคือ เพียงแค่คู่สัญญาแสดงเจตนามีคำเสนอ คำสนองตรงกัน ก็ก่อให้เกิดเป็นสัญญาผูกมัดบังคับกันได้โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดแต่อย่างใด
3 ที่ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือชั่วระยะเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง แสดงว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีการกำหนดเวลาและไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสัญญา
4 ให้ตัดทอน หรือหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนที่เกิดขึ้นจากกิจการระหว่างเขาทั้งสอง
5 คงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
ข อธิบาย
การรับรองตั๋วแลกเงิน คือ การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน
สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น มาตรา 931 ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า “รับรองแล้ว” หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน เช่น “รับรองจะใช้เงิน” หรือ “ยินยอมจะใช้เงิน” ฯลฯ และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้ หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล
อย่างไรก็ดี การรับรองตามมาตรา 931 นี้ ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา 940) หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า (มาตรา 953) ก็ได้
การรับรองตั๋วแลกเงิน ตามมาตรา 935 ได้กำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้
1 การรับรองตลอดไป คือ การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน
2 การรับรองเบี่ยงบ่าย คือ การรับรองใน 2 กรณีดังต่อไปนี้ คือ
– การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข เช่น ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน
– การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน เช่น ตั๋วแลกเงินราคา 50,000 บาท ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน 40,000 บาท เป็นต้น
ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน มีบัญญัติไว้ในมาตรา 937 กล่าวคือ เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน