การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1 คดีอาญาเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2546 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ที่ตำบลนาเกลืออำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง
ในชั้นพิจารณา เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าวันที่โจทก์หาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องต่างกับคำเบิกความของพยานโจทก์ โจทก์รู้ว่าฟ้องผิดวัน จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอแก้ไขวันเวลาเกิดเหตุเป็นวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง อ้างว่าคำฟ้องเดิมคลาดเคลื่อนเนื่องจากความบกพร่องของผู้พิมพ์คำฟ้อง เช่นนี้ ศาลจะพึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 163 เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้
มาตรา 164 คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาตแต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว การที่ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องนั้น ต้องได้ความว่า โจทก์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการและไม่ต้องห้ามเงื่อนไขในเนื้อหา ซึ่งแยกพิจารณาดังนี้
1 เงื่อนไขในวิธีการ โจทก์ต้องยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาของศาล ตามมาตรา 163 วรรคแรก
2 เงื่อนไขในเนื้อหา คำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมของโจทก์ ต้องไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ตามมาตรา 164
กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์ได้ขอแก้ไขคำฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยทำเป็นคำร้องอ้างเหตุว่า คำฟ้องเดิมคลาดเคลื่อนเนื่องจากความบกพร่องของผู้พิมพ์คำร้อง ซึ่งถือได้ว่ามีเหตุอันสมควร (ฎ. 1967/2497
(ฎ. 1377/2513) การขอแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว จึงถูกต้องตามเงื่อนไขในวิธีการ ตามมาตรา 163
สำหรับเนื้อหาที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้น โจทก์ขอแก้วันเวลาเกิดเหตุจากวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เป็นวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง แต่เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และการที่ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าวันที่โจทก์หาว่ากระทำความผิดตามฟ้องต่างกับคำเบิกพยานโจทก์ ซึ่งเป็นการที่จำเลยถือเอาวันที่โจทก์กล่าวหาตามฟ้องเดิมเป็นหลักสำคัญในการต่อสู้คดี กรณีจึงถือได้ว่า จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่โจทก์เขียนไว้ผิดในคำฟ้องเดิมกรณีเช่นนี้ หากศาลอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องของโจทก์ จะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี จึงห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามมาตรา 164
สรุป ศาลพึงไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้อง