การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3008 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำรงเป็นจำเลยในความผิดฐานบุกรุกอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวและศาลกำหนดวันนัดสืบพยานพนักงานอัยการโจทก์แล้ว ในระหว่างนั้นนายบุญมีซึ่งเป็นผู้เสียหายได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคนเดียวกันนั้น ตามข้อหาดังกล่าว ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นาย(ผู้เสียหาย) เป็นโจทก์แล้ว แต่นายบุญมี (ผู้เสียหาย) ไม่ไปศาลตามกำหนดนัด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องนายบุญมี (ผู้เสียหาย) จึงยื่นคำร้องขอให้ยกคดีของตนขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ และต่อมานายบุญมี (ผู้เสียหาย) ได้ถอนคำร้องนั้นแล้วยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องนายดำรง ในวันเดียวกันนั้นนายดำรง (จำเลย) ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายบุญมี (ผู้เสียหาย) จะร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้หรือไม่ และศาลควรพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 166 ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้นโดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่
ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในคดีความผิดต่อส่วนตัวเรื่องเดียวกัน ทั้งผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคนละคดี ถ้าในคดีที่ผู้เสียหายฟ้อง ศาลได้ยกฟ้องตามมาตรา 166 วรรคแรกแล้ว พนักงานอัยการจะฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ ศาลต้องยกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องด้วย
การที่ศาลยกฟ้องคดีที่นายบุญมี (ผู้เสียหาย) เป็นโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพราะเหตุไม่มาตามกำหนดนัดและนายบุญมี (ผู้เสียหาย) โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีของตนขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่ตามมาตรา 166 วรรคสอง แต่ต่อมาเมื่อนายบุญมี (ผู้เสียหาย) โจทก์ได้ถอนคำร้องดังกล่าวเสีย จึงเท่ากับไม่มีการยื่นคำร้อง นายบุญมี (ผู้เสียหาย) โจทก์จะเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับความผิดฐานบุกรุกอีกไม่ได้ ตามมาตรา 166 วรรคสาม และเมื่อกรณีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว สิทธิของพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยไว้ก่อนศาลพิพากษายกฟ้องของนายบุญมี (ผู้เสียหาย) โจทก์ก็ระงับไปด้วย ตามมาตรา 166 วรรคสาม (ฎ. 816/2523)
สรุป ศาลควรมีคำสั่งยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนายบุญมี (ผู้เสียหาย) และพิพากษายกฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่านายดำรง (จำเลย) กระทำผิดจริงหรือไม่