LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 การปกครองในระบบรัฐสภามีสาระสําคัญอย่างไร และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ถือได้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบบใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

การปกครองในระบบรัฐสภา เป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งองค์กร ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างใกล้ชิด และ ตามทัศนะของนักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส เช่น ศาสตราจารย์โมริส โฮริอู (Maurice Hauriou) การปกครองในระบบ รัฐสภาจะมีสาระสําคัญ 3 ประการ คือ

1 ประมุขของรัฐซึ่งไม่ต้องรับผิดทางการเมืองในระบบรัฐสภา ฝ่ายบริหาร ประกอบด้วย 2 องค์กร  คือ ประมุขของรัฐและคณะรัฐมนตรี

ประมุขของรัฐอาจมีฐานะเป็นกษัตริย์ หรือประธานาธิบดี และทําหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

2 คณะรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภา เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในทาง บริหารประเทศแทนประมุข เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชางานประจํากระทรวงต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายที่ คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดต่อรัฐสภา กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายตัวหรือทั้งคณะ และถ้ามีมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีต้องออกจากตําแหน่ง

3 เพื่อให้อํานาจบริหาร และอํานาจนิติบัญญัติสมดุลกัน ระบบรัฐสภาได้ให้อํานาจคณะรัฐมนตรียุบสภานิติบัญญัติได้

สําหรับประเทศไทยในปัจจุบันนั้น ภายหลังจากได้มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ย่อมถือว่า มีการปกครองในระบบรัฐสภา เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้หมดอํานาจไปแล้วตามมาตรา 265 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และที่ถือว่าประเทศไทยมีการปกครองในระบบรัฐสภานั้น เพราะ มีลักษณะเข้าเกณฑ์ของการปกครองในระบบรัฐสภาตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 2 การออกเสียงประชามติ (Referendum) มีแนวความคิดในทางทฤษฎีอย่างไร และภายใต้รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 กําหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในกรณีใดบ้างที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

ธงคําตอบ

ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

เมื่อพิจารณาในทางทฤษฎีแล้ว การออกเสียงประชามติ (Referendum) เป็นแนวคิดในการส่งเสริม ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ โดยการออกเสียงประชามติในการร่างกฎหมายหรือ การกําหนดนโยบายที่สําคัญของประเทศ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเป็นกลไกที่แสดงให้เห็นถึงอํานาจของ ประชาชนในการเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยที่แท้จริง โดยกําหนดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่จะบัญญัติมาใช้บังคับกับประชาชนหรือการกําหนดนโยบายของฝ่ายบริหารในการบริหารประเทศ และนอกจากนี้ระบบการออกเสียงประชามติยังเป็นระบบที่มีผลทําให้อํานาจในการตัดสินใจในประเด็นปัญหา สําคัญไม่ว่าจะเป็นกรณีทางกฎหมายที่สําคัญหรือการดําเนินกิจการที่สําคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน กลับมาสู่การตัดสินใจของประชาชนผู้เป็นที่มาและเจ้าของอํานาจอธิปไตยที่แท้จริง

ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น กรณีที่จะต้องจัดให้มีการออกเสียงตามกฎหมายว่าด้วยการ ออกเสียงประชามติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 256 (8) ได้กําหนดไว้ว่าในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่ง ต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือ องค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนที่จะดําเนินการตามมาตรา 256 (7) ให้จัดให้มีการออกเสียง ตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลของการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก็ให้ดําเนินการตามมาตรา 256 (7) ต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 256 นั้น จะต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 255 ด้วย กล่าวคือ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้

 

ข้อ 3 จงอธิบายอย่างละเอียดว่า รัฐธรรมนูญมีความเกี่ยวข้องและมีความสําคัญกับนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

“รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายหลักที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางระเบียบ การปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกําหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อํานาจอธิปไตย และการดําเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อํานาจอธิปไตย และนอกจากนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยังได้กําหนดขอบเขตเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งหน้าที่ของประชาชนที่พึงต้องปฏิบัติว่ามีอย่างไรบ้าง

อํานาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอํานาจในการปกครองประเทศนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1 อํานาจนิติบัญญัติ หมายถึง อํานาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนในฐานะ ผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย ซึ่งผู้ใช้อํานาจดังกล่าวนี้คือ “รัฐสภา” และโดยทั่วไปแล้วรัฐสภาจะประกอบไปด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน (เว้นแต่รัฐธรรมนูญบางฉบับอาจจะกําหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง) โดยจํานวนสมาชิก ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีจํานวนเท่าใด และมีวิธีการเลือกตั้งอย่างไรนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามที่กําหนด ไว้ในรัฐธรรมนูญ

และในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชนนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สําคัญคือ กฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

2 อํานาจบริหาร หมายถึง อํานาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือ คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อํานาจนี้ในการใช้อํานาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อํานาจในทางปกครอง เพื่อการออกกฎ ออกคําสั่ง รวมทั้งการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการจัดทําบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอํานาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้น ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ได้กําหนดไว้

รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนั้น โดยหลักทั่ว ๆ ไปก็จะประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน…. คน (ตามที่รัฐธรรมนูญได้กําหนดไว้) ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นเดียวกันกับฝ่ายนิติบัญญัติ

3 อํานาจตุลาการ หมายถึง อํานาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อํานาจนี้ คือ “ศาล” ซึ่งศาลที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจําเป็น ที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กําหนดไว้ด้วย

ซึ่งในการใช้อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการโดยองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น เป็นการใช้อํานาจต่อประชาชนและมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน (รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น ในการได้มาซึ่งอํานาจและการใช้อํานาจดังกล่าว จึงต้องเป็นการได้มาซึ่งอํานาจ รวมทั้งเป็นการใช้อํานาจที่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย โดยเฉพาะ “หลักนิติธรรม” หรือหลักการปกครอง ด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักที่มีแนวคิดว่า ผู้ใช้อํานาจปกครองและการได้มาซึ่งอํานาจปกครองจะต้องอยู่ภายใต้ กฎหมายและปกครองประเทศอย่างมีคุณธรรมด้วยวิถีทางของกฎหมาย จะต้องมีการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ในการใช้อํานาจของฝ่ายปกครอง ต้องสามารถตรวจสอบได้โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจ หรือโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญมีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับประชาชน รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

ข้อ 4 ศาลอาญาได้ออกหมายค้นให้กับ พ.ต.อ.สมใจ ผู้กํากับการฯ เพื่อค้นบ้านของนายสมทรง ในการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ฯ ได้มีการตรวจยึดสิ่งของอื่นหลายรายการทั้งโทรศัพท์มือถือ เครื่องคอมพิวเตอร์ และมีดทําครัวที่สงสัยว่าใช้ในการกระทําความผิดซึ่งเป็นสิ่งของที่นอกเหนือจากคําสั่งศาลตาม หมายค้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจได้จัดให้มีการแถลงข่าวการตรวจยึดสิ่งของดังกล่าวโดยให้นายสมทรงนั่งร่วมแถลงข่าวในฐานะผู้ต้องหาด้วยทั้งที่นายสมทรงมิได้ยินยอมแต่อย่างใด ซึ่งสื่อมวลชนได้แพร่ภาพดังกล่าวไปทั่วประเทศ ต่อมานายสมทรงเห็นว่าการตรวจค้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและ ตนได้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีอํานาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด และนายสมทรงได้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ในกรณีใดหรือไม่ เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบเหตุผลในการตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 4 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”

มาตรา 32 “บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว การกระทําอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนําข้อมูล ส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ จะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ”

มาตรา 33 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน

การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการค้นเคหสถานหรือที่รโหฐานจะกระทํามิได้ เว้นแต่มีคําสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 230 “ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

(2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจาก การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่ศาลอาญาได้ออกหมายค้นให้กับ พ.ต.อ.สมใจ ผู้กํากับการฯ เพื่อค้นบ้าน ของนายสมทรงซึ่งในการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ฯ ได้มีการตรวจยึดสิ่งของอื่นหลายรายการทั้งโทรศัพท์มือถือเครื่องคอมพิวเตอร์และมีดทําครัวที่สงสัยว่าได้ใช้ในการกระทําความผิดซึ่งเป็นสิ่งของที่นอกเหนือจากคําสั่งศาล ตามหมายค้น ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจได้จัดให้มีการแถลงข่าวการตรวจยึดสิ่งของดังกล่าวโดยให้นายสมทรงนั่งร่วมแถลงข่าวในฐานะผู้ต้องหาด้วยทั้งที่นายสมทรงมิได้ยินยอมแต่อย่างใด ซึ่งสื่อมวลชนได้แพร่ภาพดังกล่าวไปทั่วประเทศ และต่อมานายสมทรงเห็นว่าการตรวจค้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและตนได้ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญฯ จึงได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น กรณีดังกล่าวนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินย่อมมีอํานาจ ที่จะรับเรื่องไว้เพื่อพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 230 (2) เนื่องจากเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัด หรือระงับ ความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น

ประเด็นที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132 (2) ได้บัญญัติให้พนักงาน สอบสวนมีอํานาจในการค้นเพื่อพบสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยกระทําผิด หรือได้ใช้ หรือสงสัยว่า ได้ใช้ในการกระทําผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ดังนั้น การที่เจ้าหน้าที่ตํารวจได้ตรวจยึดสิ่งของที่ สงสัยว่าได้ใช้ในการกระทําความผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานนอกเหนือจากหมายค้นที่ศาลระบุไว้นั้น การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ฯ จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของนายสมทรงตาม มาตรา 33 แต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 การแถลงข่าวการตรวจยึดสิ่งของโดยให้นายสมทรงซึ่งไม่ยินยอมร่วมแถลงข่าวในฐานะผู้ต้องหานั้น ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิของนายสมทรงที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 4 ประกอบ มาตรา 32 เนื่องจากการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชนอันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวนั้นจะกระทํามิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

สรุป ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอํานาจที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาได้

นายสมทรงได้ถูกละเมิดต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ตามมาตรา 4 ประกอบมาตรา 32 แต่ไม่ถูกละเมิดต่อเสรีภาพในเคหสถานตามมาตรา 33

LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง s/2561

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายและลักษณะสําคัญของรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรและรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีพร้อมเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 รูปแบบ

ธงคําตอบ

รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร หมายถึง รัฐธรรมนูญที่มีการจัดทําขึ้นในรูปแบบของเอกสารที่มีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรถือเป็นรูปแบบของรัฐธรรมนูญ สมัยใหม่อันเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในบรรดาประเทศยุโรปภาคพื้นทวีป นับตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา และด้วยความที่รัฐธรรมนูญรูปแบบนี้ได้รับการจัดทําขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ผลกระทบที่สําคัญต่อ ระบบกฎหมายก็คือความมั่นคงของบรรดาบทบัญญัติทั้งหลายที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ

อนึ่ง นอกจากบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในระบบกฎหมายของ บางประเทศยังมีการออกแบบบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรที่มิได้อยู่ในรูปของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแต่มีเนื้อหา เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญเป็นอย่างยิ่ง บทบัญญัติเหล่านี้เรียกว่า ต้นกําเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส แนวคิดว่าด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเริ่มมาจากเจตนาในการกําหนด

“กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีรายละเอียดหรือขยายเนื้อความของรัฐธรรมนูญให้มีความชัดเจนแน่นอน เพื่อประโยชน์ในการบังคับการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ร่างไม่สามารถระบุบรรดารายละเอียดปลีกย่อยลงไปในรัฐธรรมนูญ ได้ทั้งหมด กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงเปรียบเสมือนส่วนเติมเต็มของรัฐธรรมนูญ โดยทั่วไปกฎหมาย ประกอบรัฐธรรมนูญจะปรากฏอยู่ในรูปของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ

สําหรับประเทศที่เป็นราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีสถานะเหนือกว่ารัฐบัญญัติแต่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ

อนึ่ง รัฐบัญญัติบางประเภทที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการจัดการหรือการดําเนินกิจการขององค์กรหลักของรัฐอาจถือว่าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน แม้จะมิได้มีชื่อเรียกว่ารัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็ตาม

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) หมายถึง รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีการจัดทําขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นบรรทัดฐานที่มาจากจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของแต่ละรัฐ ซึ่งรัฐที่มีระบบการเมืองการปกครองภายใต้ บรรทัดฐานเหล่านี้แต่มิได้สถาปนารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้น ย่อมหมายความว่ารัฐดังกล่าว ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

ในอดีตรัฐธรรมนูญทั้งหลายล้วนปรากฏตัวในรูปแบบของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีทั้งสิ้น ซึ่ง รัฐธรรมนูญเหล่านี้ก่อตัวขึ้นโดยการรวบรวมจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองเข้าด้วยกัน เช่น ในประเทศฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 การดําเนินงานของบรรดาสถาบันการเมืองทั้งหลายล้วนอยู่ภายใต้บรรทัดฐาน ต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษร หากแต่ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของบรรทัดฐานที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนกระทั่งถึงจุดที่ผู้ปกครองยอมรับและจําเป็นต้องปฏิบัติตามโดยไม่อาจฝ่าฝืน รัฐธรรมนูญ จารีตประเพณีจึงเป็นผลผลิตแห่งบรรดาจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร เหลือเพียงบางรัฐที่ยังคงปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เช่น ประเทศอังกฤษ และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

รัฐธรรมนูญทั้ง 2 รูปแบบมีลักษณะที่สําคัญที่แตกต่างกัน ดังนี้คือ

1 เนื่องจากรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบ การเมืองการปกครอง ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐจึงนําไปสู่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่มีลักษณะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเจตจํานงที่จะก่อตั้งระบบการเมืองการปกครองที่ผ่านการออกแบบอย่างเป็นระบบแบบแผนมาตั้งแรกกลไกทางการเมืองต่าง ๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กลไกที่ผ่านการวิเคราะห์ผลดีผลเสีย หรือผ่านการวางแผน ให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ในทางการเมืองมาแต่แรก กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่ซึ่งผู้ร่างจะต้องทําการคิดวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบทางการเมืองการปกครองให้ชัดเจนเสียก่อน

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมักก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการใช้ตีความรัฐธรรมนูญรวมทั้งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่ต่อเนื่องหรือทางตันในทางการเมือง ในกรณีที่เกิดปัญหาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของรัฐนั้น ๆ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยง่าย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ได้ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบ ความเสี่ยงที่จะประสบกับ ปัญหาดังกล่าวย่อมมีน้อย หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่นั้น เปิดโอกาส ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่เสมอ

3 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นจากทางปฏิบัติต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองซึ่งมักเป็นทางปฏิบัติที่อยู่ใน ความควบคุมของกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ประชาชนจึงไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการสถาปนารัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่ซึ่งมักจะถูกสถาปนาขึ้นโดยความยินยอมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย

 

ข้อ 2 จงอธิบายรูปแบบการสถาปนารัฐธรรมนูญโดยจําแนกตามผู้ถืออํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมและใช้ทฤษฎีดังกล่าวตอบคําถามจากข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

ข้อเท็จจริง : รัฐ A ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ต่อมาผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งราชอาณาจักร A ได้ทําการยึดอํานาจกษัตริย์ด้วยกําลังทหาร จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจาต่อรองกันจนสามารถตกลงกันได้ว่ากองทัพจะยอมให้กษัตริย์เป็นประมุข ของรัฐต่อไป และกษัตริย์จะยอมจัดทําและพระราชทานรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเพื่อจํากัดอํานาจของตน

(1) จากข้อเท็จจริงข้างต้น รูปแบบการสถาปนารัฐธรรมนูญที่กษัตริย์แห่งราชอาณาจักร A พระราชทานคือรูปแบบใด

(2) หากท่านเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดตามข้อเท็จจริงข้างต้น และท่านต้องการให้รัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในแง่ของรูปแบบการสถาปนามากที่สุด ท่านจะแนะนํากษัตริย์แห่งราชอาณาจักร A อย่างไรในขณะที่ทําการเจรจาต่อรอง

ธงคําตอบ

อ้านาจในการก่อตั้งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับนั้นเรียกว่า “อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม อํานาจดังกล่าวเป็นอํานาจที่ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญนั้นมีอยู่แต่เดิมโดยไม่ได้รับมาจากผู้ใด และเนื่องจากเป็นอํานาจที่มิได้อยู่ภายใต้อาณัติของผู้อื่น อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมจึงเป็นอํานาจที่มีลักษณะไร้ขีดจํากัด กล่าวคือ ผู้สถาปนารัฐธรรมนูญไม่ถูกผูกพันว่าเนื้อหาของรัฐธรรมนูญจะต้องมีลักษณะเช่นไร หรือแม้แต่อยู่ภายใต้ กฎเกณฑ์อื่นใดในโลก

1 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบเผด็จการในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบคณาธิปไตย เป็นต้น อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมย่อมอยู่ในมือของผู้ปกครองหรือคณะผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียว การจัดทํารัฐธรรมนูญจึงไม่มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่เป็นการจัดทําโดยผู้ปกครองฝ่ายเดียวและมอบให้แก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง ผู้ปกครองจึงเป็นผู้กําหนดสถานะและอํานาจขององค์กรผู้ใช้อํานาจรัฐ ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงสถานะและอํานาจของผู้ปกครองเองด้วย

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการในบางกรณีอาจนําไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ มีบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนเป็นสําคัญ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ปกครองที่มีอํานาจ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือย่อมไม่มีเจตนาที่จะสละอํานาจดังกล่าวให้กับประชาชนหากไม่ใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในโลกปัจจุบันยังคงปรากฏการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการอยู่โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม ซึ่งมักจะมีการทํารัฐประหารโดยกองทัพ โดยภายหลังการยึดอํานาจรัฐบาลประชาธิปไตยมักจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญเดิม และจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่โดยกองทัพหรือผู้ที่กองทัพแต่งตั้ง จากนั้นผู้ก่อการรัฐประหารมักประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ที่ตนเองจัดทําขึ้นใหม่ โดยไม่ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น

2 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบผสม (กึ่งเผด็จการถึงประชาธิปไตย)

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมอยู่ในมือ ของทั้งผู้ปกครองในระบอบเผด็จการและประชาชน กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นผลมาจากการต่อสู้หรือ ต่อรองกันระหว่างผู้ปกครองเดิม (กษัตริย์หรือผู้เผด็จการ) และประชาชน (ผู้แทนประชาชนหรือคณะปฏิวัติในนามของประชาชน) จนได้ข้อสรุปตกลงร่วมกัน

ในอดีตการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์หรือการก่อตั้งราชวงศ์ใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1830 เป็นต้น ส่วนในปัจจุบันการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสม มักจะเป็นกรณีที่คณะรัฐประหารเสนอร่างรัฐธรรมนูญ (ที่มิได้มาจากการร่างโดยผู้แทนของประชาชน) ให้ประชาชนเป็นผู้รับรองผ่านกระบวนการประชามติ เช่น กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2560

3 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบประชาธิปไตย

ในรัฐที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมย่อมเป็นของปวงชน กล่าวคือ ประชาชนหรือผู้แทนของประชาชนเท่านั้นที่จะเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบ ประชาธิปไตยในปัจจุบันอาจแบ่งแยกได้เป็น 2 กระบวนการหลัก ได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ และการรับรองร่างรัฐธรรมนูญโดยผ่านกระบวนการประชามติ

การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบประชาธิปไตยสามารถกระทําได้ทั้งสิ้น 3 วิธีดังนี้

วิธีแรก ก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสภา ดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จจึงนําร่างรัฐธรรมนูญไปเสนอให้ประชาชนรับรองโดยผ่านกระบวนการประชามติ

วิธีที่สอง ก่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อสภาดังกล่าวร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการประชามติอีก

วิธีที่สาม ฝ่ายบริหารซึ่งเข้าสู่ตําแหน่งด้วยวิธีการอันชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย (ผ่านการ เลือกตั้งทั่วไปโดยชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย) จัดทําร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และเสนอร่างดังกล่าวให้ประชาชน เป็นผู้รับรองโดยผ่านกระบวนการประชามติ

จากข้อเท็จจริง การที่รัฐ A ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ลายลักษณ์อักษร ต่อมาผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งราชอาณาจักร A ได้ทําการยึดอํานาจกษัตริย์ด้วยกําลังทหาร จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจาต่อรองกันจนสามารถตกลงกันได้ว่ากองทัพจะยอมให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐต่อไปและกษัตริย์จะยอมจัดทําและพระราชทานรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเพื่อจํากัดอํานาจของตนนั้น

(1) รูปแบบการสถาปนารัฐธรรมนูญที่กษัตริย์แห่งราชอาณาจักร A พระราชทาน คือ รูปแบบ ของการสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบเผด็จการ เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีการจัดทําโดยผู้ปกครองฝ่ายเดียวและ มอบให้แก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง

(2) หากข้าพเจ้าเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและต้องการให้รัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในแง่ของรูปแบบการสถาปนามากที่สุด ข้าพเจ้าจะแนะนํากษัตริย์แห่งราชอาณาจักร A ว่าควรจะให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเมื่อสภาดังกล่าวได้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ก็ให้นํา ร่างรัฐธรรมนูญนั้นไปเสนอให้ประชาชนรับรองโดยผ่านกระบวนการประชามติ

 

ข้อ 3 จงอธิบายกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ธงคําตอบ

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560ได้กําหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 255 และมาตรา 256 ดังนี้

มาตรา 255 : การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทํามิได้

มาตรา 256 : ภายใต้บังคับมาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทําได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือจาก ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

(2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ

(3) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนน โดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

(4) การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

(5) เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

(6) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารง ตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

(7) เมื่อมีการลงมติเห็นชอบตาม (6) แล้ว ให้รอไว้สิบห้าวัน แล้วจึงนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นําความในมาตรา 81 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

(8) ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียง ประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป

(9) ก่อนนายกรัฐมนตรีนําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิก สภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิก ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อ ประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนําร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้

 

ข้อ 4 ระบอบประชาธิปไตยโดยตรงและระบอบประชาธิปไตยถึงโดยตรงคืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

ธงคําตอบ

ระบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยตรง หรือระบอบประชาธิปไตยโดยตรง เป็นระบอบการเมืองในอุดมคติเนื่องจากเป็นการปกครองโดยประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตยเอง กล่าวคือ ประชาชนปกครองตนเองโดยตรงผ่านการมีส่วนร่วมของพลเมืองทุกคนโดยไม่จําเป็นต้องแสดงเจตจํานงผ่านผู้แทน หรือตัวแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ระบบดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดอํานาจอธิปไตยแห่งปวงชนของรุสโซ (Rousseau)

อาจกล่าวได้ว่าระบอบประชาธิปไตยโดยตรงเป็นระบอบที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย สูงที่สุด อย่างไรก็ตาม ระบอบดังกล่าวมักปรากฏปัญหาในทางปฏิบัติเนื่องจากไม่สามารถปรับใช้ในรัฐที่มีจํานวน ประชากรมากได้ กล่าวคือ การจัดการประชุมสําหรับพลเมืองจํานวนมากจําเป็นต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่

นอกจากนี้การให้รายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับญัตติการประชุมสําหรับคนจํานวนมาก การอภิปรายถกเถียงและแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันระหว่างพลเมืองจํานวนหลายแสนหรือนับล้านคน และการลงมติซึ่งจําเป็นต้องกระทําให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่กําหนดเพื่อมิให้จํานวนผู้เข้าร่วมประชุมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ประเด็นปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคที่สําคัญในทางปฏิบัติทั้งสิ้น รัฐส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงไม่อาจปกครองด้วยระบอบดังกล่าวได้

ระบบการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนถึงโดยตรง หรือระบอบประชาธิปไตยกึ่งโดยตรง เป็นระบบที่นําเอาลักษณะของระบอบประชาธิปไตยโดยตรงมาใส่ไว้ในระบอบประชาธิปไตยโดยผู้แทน กล่าวคือ สรุปผลจากข้อเสนอของผู้แทนได้โดยตรงเสมือนเป็นการแบ่งอํานาจหน้าที่บางส่วนระหว่างผู้แทนและพลเมือง

แม้พลเมืองไม่อาจทําหน้าที่ในการอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้โดยตรง แต่ก็สามารถลงมติชี้ขาดเพื่อกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมืองกึ่งโดยตรงที่สําคัญในปัจจุบันปรากฏอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่

1 การคัดค้านร่างกฎหมายโดยประชาชน ในบางประเทศประชาชนสามารถคัดค้านร่างกฎหมาย ที่ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติและอยู่ระหว่างการนําไปประกาศใช้ได้ รัฐธรรมนูญในรัฐที่ประชาชนมีอํานาจดังกล่าว จะต้องกําหนดไว้อย่างชัดเจนว่าการประกาศใช้กฎหมายจะต้องมีการเว้นช่วงเวลาไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้ประชาชน ร่างกฎหมายดังกล่าวมีโอกาสโต้แย้งร่างกฎหมายที่ผ่านการลงมติโดยผู้แทนของตน หากประชาชนจํานวนหนึ่งตามที่กําหนดไว้ใน บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญยื่นคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กําหนดจะต้องผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติเสียก่อนจึงจะประกาศใช้ได้ หากล่วงเลยกําหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่มีการคัดค้านโดยประชาชน ร่างกฎหมายดังกล่าวก็สามารถเข้าสู่กระบวนประกาศใช้ได้ตามปกติ

2 การออกเสียงประชามติ กระบวนการออกเสียงประชามติหมายถึงการเสนอร่างกฎหมายหรือข้อเสนอบางประการให้พลเมืองลงมติชี้ขาดในการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างกฎหมายหรือข้อเสนอนั้น ๆโดยการออกเสียงประชามติแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

2.1 การออกเสียงประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึงการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายลําดับสูงสุดของรัฐให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างดังกล่าว รัฐธรรมนูญ ที่ผ่านการรับรองโดยกระบวนการออกเสียงประชามติจะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากกว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการประกาศใช้ด้วยอํานาจของผู้ปกครอง ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่าร่างรัฐธรรมนูญควรจะต้องผ่าน กระบวนการออกเสียงประชามติเสมอ

2.2 การออกเสียงประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐบัญญัติ หมายถึงการนําร่างรัฐบัญญัติ ซึ่งได้ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติแล้วเสนอให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก่อนการประกาศใช้หากประชาชนลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐบัญญัติ รัฐย่อมไม่อาจนําร่างดังกล่าวไปประกาศใช้ได้ กระบวนการออกเสียงประชามติในรูปแบบนี้เป็นประชามติที่พบได้บ่อยกว่ารูปแบบอื่น

2.3 การออกเสียงประชามติเพื่อปรึกษาหารือ หมายถึงกรณีที่รัฐนําข้อเสนอบางประการ ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเห็นชอบข้อเสนอนั้น ๆ หรือไม่ ในทางปฏิบัติมักจะเป็นกรณีที่รัฐบาลต้องการ ปฏิรูปกฎหมายหรือดําเนินนโยบายที่มีความสําคัญอย่างยิ่งต่อรัฐและต้องการให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

2.4 การออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างสถาบันการเมือง เป็นกรณีที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างสถาบันการเมืองซึ่งเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตยในนามของปวงชน (รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล) และไม่อาจแก้ไขปัญหาเช่นว่านั้นได้ด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้งปวง รัฐสามารถเสนอทางออกและให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาแทนได้เช่นกัน

ความแตกต่างของระบอบประชาธิปไตยโดยตรงและระบอบประชาธิปไตยถึงโดยตรง

1 ระบอบประชาธิปไตยโดยตรง ประชาชนจะเป็นผู้ใช้อํานาจด้วยตนเองไม่มีการใช้อํานาจ ผ่านผู้แทน (เสนอและตัดสินใจเอง) ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยถึงโดยตรง ประชาชนและผู้แทนแบ่งหน้าที่กัน คนละส่วน โดยผู้แทนจะเป็นผู้ริเริ่มเสนอ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

2 ระบอบประชาธิปไตยโดยตรงปรับใช้ในโลกปัจจุบันได้ยาก ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตย กึ่งโดยตรงยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย และอาจจะเป็นระบอบที่ทรงอิทธิพลมากขึ้นในอนาคต

LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 1/2561

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2004 กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมายถึงอะไร และการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ อาจแยกออกได้ กี่วิธี ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายและตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ หมายถึง การแก้ไขทั้งในแง่ของการแก้ไขถ้อยคําหรือข้อความเดิม รวมทั้งการเพิ่มเติมถ้อยคําหรือข้อความใหม่

รัฐธรรมนูญอาจแก้ไขได้ 2 วิธี คือ รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่ายและรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ง่าย คือ รัฐธรรมนูญที่อาจแก้ไขได้โดยวิธีเดียวกันกับการแก้ไขกฎหมายธรรมดา ดังนั้นกฎหมายฉบับหนึ่งจึงอาจจะออกมาแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ เช่น รัฐธรรมนูญ ของอังกฤษ อิสราเอล และนิวซีแลนด์ ฯลฯ ซึ่งเป็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะแก้ไขง่าย กล่าวคือ เพียง พระราชบัญญัติธรรมดาก็อาจยกเลิกบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญได้

รัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยาก คือ รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขโดยวิธีเดียวกันกับการแก้ไขกฎหมาย ธรรมดาไม่ได้ แต่จะต้องทําโดยวิธีพิเศษและยากกว่า ดังนั้นจึงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชนิดนี้โดยออกกฎหมาย ธรรมดาไม่ได้ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญมีกระบวนการแก้ไขสลับซับซ้อนและยุ่งยากกว่ากฎหมายธรรมดา เช่น รัฐธรรมนูญ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวอย่างของรัฐธรรมนูญประเภทแก้ไขยาก โดยนับตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1787 มาจนถึงปัจจุบันมีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง แต่มีเพียงไม่กี่ครั้ ต่มีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่มีการแก้ไขจริงจังได้ตามที่เสนอ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญของไทยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขได้ยากเช่นเดียวกัน

 

ข้อ 2 ให้อธิบายถึงหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่าอย่างน้อยต้องประกอบด้วยหลักการสําคัญใดบ้าง และภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการดังกล่าวอย่างครบถ้วนหรือไม่ เพราะเหตุใด (อธิบายให้เข้าใจอย่างชัดเจน)

ธงคําตอบ

โดยหลักการพื้นฐานรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้อง มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีเจตนารมณ์ในการกําหนดให้ประชาชนมีอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศโดยอาจใช้อํานาจผ่านผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทําหน้าที่แทนตน โดยผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทําหน้าที่ ต้องใช้อํานาจเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ และอย่างน้อยรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้หลักการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยต้องประกอบด้วยหลักการสําคัญ ได้แก่

1 หลักอํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชน โดยประชาชนทุกคนย่อมสามารถใช้อํานาจอธิปไตย ในกิจการทั้งปวงได้โดยตรงและด้วยตนเอง หรืออาจจะเลือกผู้แทนขึ้นมาเพื่อทําการแทนตนก็ได้

2 หลักประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คือจะต้องมีการเลือกตั้งที่เที่ยงตรงยุติธรรมและโดยเสรี มีการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันสําหรับทุกคน

3 หลักเสียงข้างมาก หมายถึงบุคคลที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐบาลนั้น ถ้าหากไม่ได้รับเลือกตั้ง จากราษฎรโดยตรงแล้ว ก็ต้องเป็นคณะบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากเสียงข้างมากของผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามา รวมทั้งการออกกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหา หรือการตัดสินใจในนโยบายต่าง ๆ ก็ต้องเป็นไปตามความเห็นชอบ ของเสียงข้างมากของผู้แทนในสภา

4 หลักความเสมอภาค หมายถึงประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิเสรีภาพเสมอกันในการที่จะได้รับการคุ้มครอง และการได้รับบริการทุกชนิดที่รัฐจัดให้แก่ประชาชน

5 หลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรม หมายถึง การใช้อํานาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อํานาจรัฐ ทางด้านบริหาร ด้านนิติบัญญัติ และด้านตุลาการ รัฐจะต้องใช้อํานาจภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติ ให้อํานาจไว้เท่านั้น

ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังปรากฏบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญที่มิได้เป็นไปตามหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญที่อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังเช่นกรณีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 265 ซึ่งกําหนดให้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตําแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมี หน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557, แก้ไข เพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 โดยให้ถือว่าบทบัญญัติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปได้

การที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 265 กําหนดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีผลทําให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมี อํานาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะเข้ารับหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 265 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การกําหนดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าว มีผลทําให้มีการใช้อํานาจของหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ไม่เป็นไปตามหลักอํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เนื่องจากเป็นการใช้อํานาจที่ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างอํานาจอธิปไตยซึ่งเป็นอํานาจสูงสุดในการปกครองประเทศที่ต้องเป็นอํานาจของประชาชน เพื่อสร้างจุดเกาะเกี่ยวให้อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง หรือไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรม เนื่องจากการใช้อํานาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้ อํานาจอย่างเด็ดขาดเพียงผู้เดียว ทั้งการใช้อํานาจทางนิติบัญญัติ การใช้อํานาจทางการบริหารราชการแผ่นดิน และ การใช้อํานาจทางตุลาการ ซึ่งอาจนํามาซึ่งการใช้อํานาจที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันมีผลทําให้ ไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงนั่นเอง

 

ข้อ 3 จงอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับที่มาของผู้ใช้อํานาจนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง

ธงคําตอบ

ที่มาของผู้ใช้อํานาจนิติบัญญัติ

อํานาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภาเป็นองค์กรที่ใช้อํานาจนิติบัญญัติ ซึ่งรัฐสภาจะประกอบด้วย “สภาผู้แทนราษฎร” และ “วุฒิสภา”

และตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับที่มาของผู้ใช้อํานาจนิติบัญญัติไว้ดังนี้ คือ

1 สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 500 คน โดย

(1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจํานวน 350 คน และ

(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจํานวน 150 คน

 

(1) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เขตละหนึ่งคน และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้

ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องเป็นผู้ซึ่งพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกส่งสมัครรับเลือกตั้ง และจะสมัครรับเลือกตั้งเกินหนึ่งเขตมิได้

(2) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใดส่งผู้รับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ โดยพรรคการเมืองจะต้องจัดทําบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี ซึ่งรายชื่อจะต้องไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัคร รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

การคํานวณจํานวนหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับให้มาจากการจัดสรรคะแนนที่ประชาชนเลือกผู้สมัครับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคต่าง ๆ ทั้งประเทศมาคํานวณจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง โดยพรรคการเมือง จะมีจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองประเภทไม่เกินจํานวนโควต้าที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ

2 วุฒิสภา (ส.ว.)

วุฒิสภา (ส.ว.) ประกอบด้วยสมาชิก 250 คน ซึ่งมาจาก

(1) กกต. ดําเนินการจัดให้มีการเลือก ส.ว. จํานวน 200 คน โดยให้คัดเลือกมาจากระดับอําเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ จํานวน 200 คน แล้วนํารายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 50 คน

(2) คณะกรรมการสรรหา ส.ว. คัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในอันที่จะ เป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาและการปฏิรูปประเทศมีจํานวนไม่เกิน 400 คน แล้วนํารายชื่อเสนอต่อ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน

(3) ผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ จํานวน 6 คน

 

ข้อ 4 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่ากฎหมายซึ่งยังไม่ได้มีการประกาศบังคับใช้คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ มาตรา 35 (4) และ (5) ที่บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิ เลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง… ผู้นั้นจะถูกจํากัดสิทธิ ดังนี้ (4) การดํารง ตําแหน่งข้าราชการการเมือง…. (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น…” ย่อมขัดหรือแย้งต่อมาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมิได้แจ้งเหตุอันสมควร…. อาจถูกจํากัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติ” เพราะมาตรา 35 (4) และ (5) การที่ผู้ใดจะเข้าดํารงตําแหน่งนั้นเป็นอํานาจของบุคคลอื่นในการแต่งตั้งไม่ใช่ เป็นสิทธิของบุคคล ดังนั้น เมื่อไม่ใช่สิทธิจึงไม่อาจถูกจํากัดได้ในกรณีนี้ ดังนั้นให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) ขัดหรือแย้งต่อ มาตรา 95 วรรคสาม รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 5 วรรคหนึ่ง “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา 148 “ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนําร่างพระราชบัญญัติใดขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 81

(1) หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันมีจํานวน ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับ ความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า มาตรา 210 “ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอํานาจ ดังต่อไปนี้

(1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย”

มาตรา 263 “ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภา นิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ยังคง ทําหน้าที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาต่อไป…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ซึ่งทําหน้าที่แทนประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 263) ได้ส่งความเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายซึ่งยังมิได้ ประกาศบังคับใช้คือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) ดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 95 วรรคสามนั้น เมื่อการที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ส่ง ความเห็นดังกล่าวนั้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติที่นายกรัฐมนตรียังมิได้นําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย กรณีจึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 148 (1) ประกอบมาตรา 263 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีอํานาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 210 (1)

(ข) การที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง… ผู้นั้น จะถูกจํากัดสิทธิ ดังนี้ (4) การดํารงตําแหน่งข้าราชการการเมือง…. (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง รองผู้บริหารท้องถิ่น…” นั้น ย่อมไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 95 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งซึ่งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยมิได้แจ้งเหตุอันสมควร… อาจถูกจํากัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติแต่อย่างใด เนื่องจากการดํารงตําแหน่งตามมาตราดังกล่าวนั้นถือเป็นสิทธิของบุคคลชนิดหนึ่งที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ออกกฎหมายจํากัดสิทธิดังกล่าวได้

สรุป

(ก) ศาลรัฐธรรมนูญมีอํานาจที่จะรับเรื่องไว้พิจารณาได้

(ข) พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 95 วรรคสาม

LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง s/2560

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายและลักษณะสําคัญของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีตามที่ท่านได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

ในปัจจุบันสามารถแบ่งรูปแบบของรัฐธรรมนูญออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่

1 รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร)

1 รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร หมายถึง รัฐธรรมนูญที่มีการจัดทําขึ้นในรูปแบบของเอกสาร ที่มีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรถือเป็นรูปแบบของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่อันเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในบรรดาประเทศยุโรปภาคพื้นทวีป

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) หมายถึง รัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีการจัดทําขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นบรรทัดฐานที่มาจากจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของแต่ละรัฐ ซึ่งรัฐที่มีระบบการเมืองการปกครองภายใต้ บรรทัดฐานเหล่านี้แต่มิได้สถาปนารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้น ย่อมหมายความว่ารัฐดังกล่าวปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

ในอดีตรัฐธรรมนูญทั้งหลายล้วนปรากฏตัวในรูปแบบของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีทั้งสิ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญเหล่านี้ก่อตัวขึ้นโดยการรวบรวมจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองเข้าด้วยกัน เช่น ในประเทศฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 การดําเนินงานของบรรดาสถาบันการเมืองทั้งหลายล้วนอยู่ ภายใต้บรรทัดฐานต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษร หากแต่ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของบรรทัดฐานที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนกระทั่งถึงจุดที่ผู้ปกครองยอมรับและจําเป็นต้องปฏิบัติตาม โดยไม่อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงเป็นผลผลิตแห่งบรรดาจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร เหลือเพียงบางรัฐที่ยังคงปกครอง ภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เช่น ประเทศอังกฤษ และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี มีลักษณะที่สําคัญ 3 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1 เนื่องจากรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในระบบการเมืองการปกครอง ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐจึงนําไปสู่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่มีลักษณะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเจตจํานงที่จะก่อตั้งระบบการเมืองการปกครองที่ผ่านการออกแบบอย่างเป็นระบบแบบแผนมาตั้งแต่แรก กลไกทางการเมืองต่าง ๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กลไกที่ผ่านการวิเคราะห์ผลดีผลเสีย หรือ ผ่านการวางแผนให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ในทางการเมืองมาแต่แรก กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร สมัยใหม่ซึ่งผู้ร่างจะต้องทําการคิดวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบทางการเมืองการปกครองให้ชัดเจนเสียก่อน

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมักก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการใช้ตีความรัฐธรรมนูญรวมทั้งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่ต่อเนื่องหรือทางตันในทางการเมือง ในกรณีที่เกิดปัญหาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของรัฐนั้น ๆ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยง่าย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ได้ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบ ความเสี่ยงที่จะประสบกับ ปัญหาดังกล่าวย่อมมีน้อย หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่นั้น เปิดโอกาส ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่เสมอ

3 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นจากทางปฏิบัติต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองซึ่งมักเป็นทางปฏิบัติ ที่อยู่ในความควบคุมของกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ประชาชนจึงไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการสถาปนารัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่ซึ่งมักจะถูกสถาปนาขึ้นโดยความยินยอมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย

 

ข้อ 2 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบเผด็จการและรูปแบบผสม (กึ่งเผด็จการถึงประชาธิปไตย)คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

ธงคําตอบ

“การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบเผด็จการ”

ในรัฐที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบคณาธิปไตย เป็นต้น อําานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมย่อมอยู่ในมือของผู้ปกครองหรือคณะผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียว

การจัดทํารัฐธรรมนูญจึงไม่มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่เป็นการจัดทําโดยผู้ปกครองฝ่ายเดียว และมอบให้แก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง ผู้ปกครองจึงเป็นผู้กําหนดสถานะและอํานาจขององค์กรผู้ใช้อํานาจรัฐ ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงสถานะและอํานาจของผู้ปกครองเองด้วย

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการในบางกรณีอาจนําไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือมีบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชนเป็นสําคัญ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ปกครองที่มีอํานาจ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือย่อมไม่มีเจตนาที่จะสละอํานาจดังกล่าวให้กับประชาชนหากไม่ใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในโลกปัจจุบันยังคงปรากฏการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการอยู่โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สามซึ่งมักจะมีการทํารัฐประหารโดยกองทัพ โดยภายหลังการยึดอํานาจรัฐบาลประชาธิปไตยมักจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญเดิมและจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่โดยกองทัพหรือผู้ที่กองทัพแต่งตั้ง จากนั้นผู้ก่อการรัฐประหาร มักประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ตนเองจัดทําขึ้นใหม่โดยไม่ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น

“การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบผสม” (กึ่งเผด็จการถึงประชาธิปไตย)

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมอยู่ในมือของทั้งผู้ปกครองในระบอบเผด็จการและประชาชน กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นผลมาจากการต่อสู้หรือ ต่อรองกันระหว่างผู้ปกครองเดิม (กษัตริย์หรือผู้เผด็จการ) และประชาชน (ผู้แทนประชาชนหรือคณะปฏิวัติในนาม ของประชาชน) จนได้ข้อสรุปตกลงร่วมกัน

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์หรือการก่อตั้ง ราชวงศ์ใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1830 เป็นต้น ส่วนในปัจจุบันการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสม มักเป็นกรณีที่คณะรัฐประหารเสนอร่างรัฐธรรมนูญ (ที่มิได้มาจากการร่างโดยผู้แทนของประชาชน) ให้ประชาชน เป็นผู้รับรองผ่านกระบวนการประชามติ เช่น กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 และ 2560 ซึ่งในทางปฏิบัติ การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมนั้นเกิดขึ้นได้ยากกว่าการจัดทํารัฐธรรมนูญในรูปแบบอื่น

ข้อสังเกตประการสําคัญ คือ แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทําโดยฝ่ายเผด็จการไม่ว่าจะโดยกษัตริย์ หรือคณะรัฐประหาร จะได้รับการรับรองโดยประชามติ ก็มิได้ทําให้การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นการ จัดทําในรูปแบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เนื่องจากจุดเริ่มต้นของการจัดทํารัฐธรรมนูญเกิดจากฝ่ายเผด็จการ ซึ่งปราศจากจุดเชื่อมโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง

 

ข้อ 3 จงอธิบายข้อจํากัดของสิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปตามที่ท่านได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

สิทธิเลือกตั้ง เป็นสิทธิทางการเมืองที่สําคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนจุดกําเนิด ของสิทธิเลือกตั้งเริ่มต้นมาจากสิทธิเลือกตั้งแบบจํากัด และค่อย ๆ พัฒนาไปสู่สิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไป โดยก่อนที่ จะมาเป็นสิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปอย่างในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนถูกจํากัดให้อยู่เฉพาะกับชนชั้นสูงมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ ชาวยุโรปรอจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อให้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่มีลักษณะทั่วไป

“สิทธิเลือกตั้งแบบจํากัด” เป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ถูกจํากัดไว้เพื่อปัจเจกชน บางกลุ่มซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจหรือคุณสมบัติอื่นเหนือคนทั่วไป ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1 สิทธิเลือกตั้งที่ถูกกําหนดโดยการชําระภาษี เป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่ถูกจํากัดไว้เพื่อผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าคนทั่วไป

2 สิทธิเลือกตั้งที่ถูกกําหนดโดยความสามารถ เป็นสิทธิเลือกตั้งที่จํากัดไว้เพื่อผู้ที่มีการศึกษา หรือตําแหน่งหน้าที่การงานที่สูงกว่าคนทั่วไป

“สิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไป” ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิเลือกตั้ง แบบทั่วไป เนื่องจากการจํากัดสิทธิเลือกตั้งด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือการศึกษาไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปนั้นไม่มีทางมีลักษณะทั่วไปอย่างสมบูรณ์แบบได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้เพราะมีข้อจํากัดบางประการซึ่งส่งผลให้รัฐไม่อาจกําหนดให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เท่าเทียมกันได้ ซึ่งข้อจํากัดของสิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

1 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยเพศ โดยการกําหนดให้สตรีมีสิทธิทางการเมืองทั้งสิทธิเลือกตั้งและสิทธิในการดํารงตําแหน่งทางการเมืองไม่เท่าเทียมกับบุรุษ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในประเทศไทยได้กําหนดให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งและสิทธิในการดํารงตําแหน่งทางการเมืองเท่าเทียมกับบุรุษ

2 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยอายุ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าอายุเป็นเกณฑ์ ในการชี้วัดวุฒิภาวะและความต้องการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของพลเมืองในรัฐ การกําหนดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงเป็นเงื่อนไขที่จําเป็นในทุก ๆ รัฐ ซึ่งการกําหนดเกณฑ์อายุดังกล่าวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่มักจะอยู่ระหว่างอายุ 18 ปี ถึง 20 ปี

3 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยสัญชาติ เพราะถือว่า สิทธิพลเมืองนั้นมีความสัมพันธ์กัน อย่างแน่นแฟ้นกับสัญชาติของบุคคล ดังนั้น สิทธิทางการเมืองในรัฐใดย่อมถูกสงวนไว้สําหรับบุคคลที่ถือสัญชาติของรัฐนั้น

4 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยอาการป่วยทางจิต เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันว่าผู้ที่มี อาการป่วยทางจิตถึงขนาดย่อมไม่อาจมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เทียบเท่าบุคคลปกติ

5 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยการกระทําความผิด โดยรัฐอาจกําหนดเงื่อนไขบางประการ ในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองสําหรับผู้ที่กระทําความผิดจนถูกศาลพิพากษา ให้ลงโทษจําคุกได้ เป็นต้น

และนอกจากนั้นในบางรัฐเช่นประเทศไทย อาจมีการจํากัดสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชน โดยอาศัยปัจจัยอื่นอีกก็ได้ เช่น การจํากัดสิทธิเลือกตั้งของภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช เป็นต้น

 

ข้อ 4 ให้อธิบายถึงแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) และจากแนวความคิด ดังกล่าวนําไปสู่การจัดทํารัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยอย่างน้อยจะต้องประกอบไปด้วยหลักการใดบ้าง (อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจนในแต่ละหลักการ)

ธงคําตอบ

แนวความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) เป็นแนวความคิดที่มุ่งเน้นถึง รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีเจตนารมณ์ที่สําคัญคือให้เป็นเครื่องมือในการกําหนดรูปแบบการปกครองและกําหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการจัดองค์กรด้านบริหารรัฐกิจ หรือการจัดองค์กรบริหารของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการใช้รัฐธรรมนูญในลักษณะสัญญาประชาคม เพื่อจํากัดและควบคุมการใช้บังคับอํานาจรัฐของฝ่ายผู้ใช้อํานาจปกครองหรือรัฐบาล เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรม ให้เกิดแก่สังคม และเป็นการสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้เกิดแก่ฝ่ายผู้ใช้อํานาจปกครองหรือรัฐบาล ในระบบการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นภายใต้กรอบแนวความคิดรัฐธรรมนูญนิยม จะต้องมีสาระสําคัญ อย่างน้อย 6 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1 หลักการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และรับรองความ เสมอภาคของประชาชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และหากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ จะต้องมีการแก้ไขเยียวยา

2 หลักการสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารที่ใช้อํานาจ ในการบริหารประเทศ จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติที่ทําให้รัฐบาลสามารถดํารงอยู่ได้อย่าง มีเสถียรภาพ เช่น สร้างระบบให้มีการล้มรัฐบาลได้ยากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างมาตรการเสริมเสถียรภาพ ของรัฐบาลด้วย เช่น กําหนดมาตรการในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ หรือถ้าจะไล่นายกรัฐมนตรีคนเก่าก็จะต้องเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย เพื่อให้สังคมหรือประชาชนทั่วไปได้เปรียบเทียบกัน เป็นต้น

3 หลักการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ การควบคุมการใช้อํานาจรัฐไว้ด้วย เช่น ควบคุมไม่ให้ใช้อํานาจเกินกว่าที่มี ควบคุมไม่ให้มีการใช้อํานาจที่เป็น การรุกรานสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น ซึ่งหลักการควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น จะต้องอยู่ภายใต้หลักการ ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก หลักการใช้อํานาจรัฐจะต้องชอบด้วยกฎหมาย คือ รัฐจะใช้อํานาจของรัฐ ก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีกฎหมายให้อํานาจไว้ หากไม่มีกฎหมายให้อํานาจรัฐไว้รัฐจะทํามิได้

ประการที่สอง คนทุกคนที่อยู่ในรัฐจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้ใต้ปกครอง

4 หลักการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมี บทบัญญัติแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

5 หลักการแบ่งแยกอํานาจ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้ อํานาจรัฐและการแบ่งแยกการใช้อํานาจรัฐ รวมทั้งการถ่วงดุลของการใช้อํานาจดังกล่าว คือ อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหารและอํานาจตุลาการไว้อย่างชัดเจน

6 หลักนิติรัฐ กล่าวคือ ภายใต้หลักรัฐธรรมนูญนิยมนั้น ย่อมถือว่ารัฐธรรมนูญเป็น กฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ ดังนั้นในการใช้อํานาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อํานาจรัฐทางด้านบริหาร ด้านนิติบัญญัติ และด้านตุลาการ จะต้องเป็นการใช้อํานาจภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้อํานาจไว้เท่านั้น

LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง 2/2560

การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2104  (LAW 2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 รัฐเดี่ยวและรัฐรวมแบบสหพันธรัฐ (Federal State) มีลักษณะสาระสําคัญที่แตกต่างกันอย่างไร ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประเทศที่มีรูปแบบของรัฐในลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย

ธงคําตอบ

รัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐที่มีระเบียบการใช้อํานาจทางการเมืองแต่เพียงระเบียบเดียว และระเบียบการใช้อํานาจนั้นจะใช้แต่เฉพาะพลเมืองในรัฐนั้นและจะครอบงําไปทั่วดินแดนของรัฐนั้น และเป็นรัฐที่มีรัฐบาลกลางเป็นองค์เดียวที่มีอํานาจสูงสุดในการปกครอง โดยรัฐบาลกลางจะเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตยทั้งในด้าน บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ และจะควบคุมการบริหารงานในกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมด ประเทศที่มีรูปของรัฐแบบรัฐเดี่ยว ได้แก่ ไทย สเปน โปรตุเกส ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนรัฐรวมแบบสหพันธรัฐหรือสหรัฐ (Federal State) เป็นการรวมกลุ่มระหว่างรัฐหลาย ๆ รัฐ และทําให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นมาอีกรัฐหนึ่ง โดยรัฐใหม่นั้นจะมีอํานาจเหนือกว่ารัฐที่เข้ามารวมกันบางประการ เช่น อํานาจทางทหาร เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ

ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่า

1 สหรัฐ จะมีสถาบันสูงสุดที่จัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แต่เพียงสถาบันเดียว

2 สหรัฐ จะเป็นผู้ตรากฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนทั่วสหรัฐฯ

3 สหรัฐ จะเป็นผู้ใช้อํานาจบริหารโดยตรง

4 สหรัฐ จะมีศาลยุติธรรมโดยเฉพาะ และมีศาลสูงสุดทําหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐ

ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐที่เข้ามารวมกลุ่มสหรัฐหรือมลรัฐ

1 แต่ละมลรัฐยังคงมีสถาบันสูงสุดประจํารัฐของตนอยู่ และใช้บังคับเฉพาะภายในรัฐ และต้องไม่ไปขัดแย้งกับสถาบันสูงสุดของสหรัฐ

2 หัวหน้าของแต่ละมลรัฐ (ผู้ว่าการรัฐ) ไม่ใช่ตัวแทนของสหรัฐ แต่เป็นเพียงหัวหน้าโดยตรง ของมลรัฐนั้น ๆ

ประเทศที่มีรูปของรัฐแบบสหรัฐหรือสหพันธรัฐ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก บลาซิล สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายอย่างละเอียดว่ารัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมมีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

“รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายหลักที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางระเบียบ การปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกําหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อํานาจอธิปไตย และการดําเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อํานาจอธิปไตย และนอกจากนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยังได้กําหนดขอบเขตเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งหน้าที่ของประชาชนที่จึงต้องปฏิบัติว่ามีอย่างไรบ้าง

อํานาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอํานาจในการปกครองประเทศนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1 อํานาจนิติบัญญัติ หมายถึง อํานาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนใน ฐานะผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย ซึ่งผู้ใช้อํานาจดังกล่าวนี้คือ “รัฐสภา” และโดยทั่วไปแล้วรัฐสภาจะประกอบไปด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน (เว้นแต่รัฐธรรมนูญบางฉบับอาจจะกําหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง) โดยจํานวนสมาชิก ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีจํานวนเท่าใด และมีวิธีการเลือกตั้งอย่างไรนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามที่กําหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญ

และในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชนนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สําคัญคือ กฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

2 อํานาจบริหาร หมายถึง อํานาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อํานาจนี้

ในการใช้อํานาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อํานาจในทางปกครอง เพื่อการออกกฎ ออกคําสั่ง รวมทั้งการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและ เพื่อการจัดทําบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอํานาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้น ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ได้กําหนดไว้

รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนั้น โดยหลักทั่ว ๆ ไปก็จะประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน…. คน (ตามที่รัฐธรรมนูญได้กําหนดไว้) ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นเดียวกันกับฝ่ายนิติบัญญัติ

3 อํานาจตุลาการ หมายถึง อํานาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อํานาจ นี้คือ “ศาล” ซึ่งศาลที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจําเป็น ที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กําหนดไว้ด้วย

ซึ่งในการใช้อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการโดยองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น เป็นการใช้อํานาจต่อประชาชนและมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน (รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น ในการได้มาซึ่งอํานาจและการใช้อํานาจดังกล่าว จึงต้องเป็นการได้มาซึ่งอํานาจ รวมทั้งเป็นการใช้อํานาจที่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย โดยเฉพาะ “หลักนิติธรรม” หรือหลักการปกครอง ด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักที่มีแนวคิดว่า ผู้ใช้อํานาจปกครองและการได้มาซึ่งอํานาจปกครองจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และปกครองประเทศอย่างมีคุณธรรมด้วยวิถีทางของกฎหมาย จะต้องมีการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ในการใช้อํานาจของฝ่ายปกครองต้องสามารถ ตรวจสอบได้โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจ หรือโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมมีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับประชาชน รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

ข้อ 3 จงอธิบายถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่าแบ่งออกเป็น ที่องค์กรและแต่ละองค์กรมีอํานาจหน้าที่อย่างไร อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

ธงคําตอบ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กําหนดให้มีองค์กรอิสระจํานวน 5 องค์กร และแต่ละองค์กรจะมีหน้าที่และอํานาจ ดังนี้

1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คน มีหน้าที่และอํานาจ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 ได้แก่

(1) จัดหรือดําเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ

(2) ควบคุมดูแลการเลือกตั้งและการเลือกตาม (1) ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อการนี้ ให้มีอํานาจสืบสวนหรือไต่สวนได้ตามที่จําเป็นหรือที่เห็นสมควร

(3) เมื่อผลการสืบสวนหรือไต่สวนตาม (2) หรือเมื่อพบเห็นการกระทําที่มีเหตุ อันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งหรือการเลือกตาม (1) มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือการออกเสียงประชามติ เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้มีอํานาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้ง หรือการเลือก หรือการออกเสียงประชามติ และสั่งให้ดําเนินการเลือกตั้ง เลือก หรือออกเสียงประชามติใหม่ ในหน่วยเลือกตั้ง บางหน่วย หรือทุกหน่วย

(4) สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือก ตาม (1) เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินหนึ่งปี เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นกระทําการหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริต หรือทําให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(5) ดูแลการดําเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย

(6) หน้าที่และอํานาจอื่นตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

2 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีจํานวน 3 คน มีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 230

(1) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

(2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงาน อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น

(3) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

3 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการ จํานวน 9 คน มีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 234 ได้แก่

(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดําเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ หรือตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(3) กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่ง ในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว

(4) หน้าที่และอํานาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

4 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คน มีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 240 ได้แก่

(1) วางนโยบายตรวจเงินแผ่นดิน

(2) กําหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน

(3) กํากับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตาม (1) และ (2) และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

(4) ให้คําปรึกษา แนะนํา หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คําแนะนําแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่อง เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน

(5) สั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทําผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

5 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คน มีหน้าที่ และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 ได้แก่

(1) ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณี โดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง

(2) จัดทํารายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อประชาชน

(3) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือ คําสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

(4) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม

(5) สร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสําคัญของสิทธิมนุษยชน

(6) หน้าที่ และอํานาจอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

ข้อ 4 ศาลปกครองกลางส่งคําร้องนายเอกโจทก์ในคดีมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่โต้แย้งว่า พ.ร.บ. ทนายความฯ มาตรา 35 (6) ซึ่งอาจจะนํามาตัดสินกับคดีขัดหรือแย้งและละเมิดต่อสิทธิหรือ เสรีภาพตามมาตรา 27 และมาตรา 40 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 เพราะบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ เพราะยื่นขอเป็นทนายความแต่เคยต้องโทษจําคุกในคดีถึงที่สุดและคณะกรรมการฯ เห็นว่าจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติวิชาชีพทนายความไม่มีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้ต้องห้ามและจะสิ้นสิทธิการเป็นทนายความตลอดชีวิต ซึ่งเทียบกับมาตรา 69 พ.ร.บ. ทนายความฯ แล้วพบว่า บุคคลซึ่งถูกลบชื่อจากทะเบียนทนายความเพราะทําให้เสื่อมเสียเกียรติวิชาชีพยังมีโอกาสขอเป็นทนายความใหม่ได้เมื่อพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และ พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 (5) ซึ่งศาลปกครองกลางเคยนํามาตัดสินกับคดีอื่นก็ขัดหรือแย้งกับมาตรา 27 และมาตรา 40 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกัน เพราะหากพนักงานรัฐวิสาหกิจทําผิดอาญาแม้ศาลให้รอการลงโทษไว้ ก็ทําให้ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานฯ แล้ว ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ จะพ้นการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต่อเมื่อได้รับโทษจําคุกจริงเท่านั้น ดังนี้หากท่านเป็นศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําสั่งหรือคําวินิจฉัย ในคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 5 วรรคหนึ่ง “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา 25 วรรคสาม “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”

มาตรา 27 “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือ เหตุอื่นใด จะกระทํามิได้…”

มาตรา 40 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่ง กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือ ขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จําเป็นหรือ เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น…”

มาตรา 212 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาล เห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 และ ยังไม่มีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาล รัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดําเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลปกครองกลางได้ส่งคําร้องของนายเอกโจทก์ในคดีมายัง ศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายเอกได้โต้แย้งว่า พ.ร.บ. ทนายความฯ มาตรา 35 (6) ซึ่งศาลจะนํามาตัดสินกับคดี ขัดหรือแย้งและละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพตามมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 (5) ซึ่งศาลปกครองกลางเคยนํามาตัดสินกับคดีอื่นก็ขัดหรือแย้งกับ มาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําสั่งหรือ คําวินิจฉัยในคดีนี้อย่างไร แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคําร้องโต้แย้งของนายเอกดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่

(1) มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ ซึ่งศาลปกครองกลางจะนํามาตัดสินกับคดีของนายเอกนั้น ถือเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ตามนัยของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 212 ในการที่ ศาลปกครองกลางจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีของนายเอก ดังนั้น นายเอกจึงสามารถใช้ สิทธิโต้แย้งในกรณีนี้ได้ว่า มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่ง รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคําร้องโต้แย้งของนายเอกไว้พิจารณาได้

(2) แม้มาตรา 9 (5) พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งศาลปกครองกลางเคยนํามาตัดสินกับ คดีอื่นจะเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ก็ตาม แต่ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลปกครองกลางจะนํามา ใช้บังคับกับคดีของนายเอก กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ดังนั้น นายเอกจึง ไม่สามารถใช้สิทธิโต้แย้งในกรณีนี้ได้ว่า มาตรา 9 (5) พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถรับคําร้องโต้แย้งของนายเอกไว้พิจารณา

ประเด็นที่ 2 มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 หลักความเสมอภาคและมาตรา 40 เสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือไม่

(1) มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ แม้จะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อํานาจ คณะกรรมการสภาทนายความใช้ดุลพินิจว่าคดีใดจะเป็นกรณีที่นํามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพทนายความแต่ก็เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและความสงบเรียบร้อยในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ อันเป็นประโยชน์ของมหาชนโดยตรง ดังนั้น มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

(2) ตาม พ.ร.บ. ทนายความฯ นั้น ประกาศใช้เพื่อควบคุมและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ทนายความ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อที่จะให้มีการกลั่นกรองบุคคลที่จะประกอบวิชาชีพทนายความ และเพื่อป้องกัน มิให้บุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมเข้ามาแอบแฝงและหาประโยชน์จากการเป็นทนายความ

มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ จึงมิใช่บทบัญญัติที่จํากัดคุณสมบัติของการเป็น ทนายความโดยเด็ดขาด แต่เป็นกรณีที่กฎหมายให้อํานาจคณะกรรมการฯ พิจารณาว่า คดีเรื่องใดจะนํามาซึ่ง ความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพทนายความ เพื่อให้มีการควบคุมและกลั่นกรองบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม กับการประกอบวิชาชีพทนายความ ดังนั้น มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําสั่งรับคําร้องโต้แย้งของนายเอกที่ว่า พ.ร.บ. ทนายความฯ มาตรา 35 (6) ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ไว้พิจารณา เท่านั้น และจะมีคําวินิจฉัยในคดีนี้ว่า พ.ร.บ. ทนายความฯ มาตรา 35 (6) ดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

 

LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2103 (LAW 2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 คุณโอ๋ให้เช่าอาคารทาวน์โฮม 2 ชั้น ย่านสีลม-สุรวงศ์แก่นางสาวพาย ซึ่งใช้อาคารดังกล่าวในการออกอากาศสด (Live) ขายสินค้าทางแพลตฟอร์มออนไลน์และเป็นคลังเก็บสินค้าบางส่วน ตกลงการเช่ากันเป็นระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกําหนดการเช่า นางสาวพายยังคงเข้ามาใช้สอยอาคารที่เช่า โดยไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินของตนออกไปจากอาคารที่เช่านั้นเลย ถึงแม้ว่าคุณโอ๋ได้บอกกล่าวก่อน และเมื่อครบกําหนดระยะเวลาการเช่าว่า ประสงค์ที่จะให้นักธุรกิจชาวต่างชาติรายหนึ่งเช่าอาคารนั้น เดือนละ 150,000 บาท ตามที่ได้ตกลงกันไว้ และจะไม่ต่ออายุการเช่ากับนางสาวพาย หลังจาก ล่วงพ้นไป 3 สัปดาห์หลังจากวันที่ครบกําหนด คุณโอ๋จึงได้มอบหมายให้ลูกจ้างของตนขนย้ายทรัพย์สินของนางสาวพายออกไปและเปลี่ยนกุญแจล็อกประตูทางเข้า-ออกทุกด้านของอาคารนั้น นางสาวพายอ้างต่อคุณโอ๋ว่าจากการที่ไม่อาจเข้าไปในอาคารนั้นได้ทําให้ธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์ของตนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะไม่สามารถจัดการส่งผลิตภัณฑ์เสริมความงามมูลค่าประมาณ 1 แสนบาท ให้แก่ลูกค้าหลักร้อยรายที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ รวมทั้งทรัพย์สินบางส่วนที่ ถูกลูกจ้างของคุณโอ๋ขนย้ายออกไปได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน ขณะที่คุณโอ๋อ้างว่าตนใช้สิทธิ โดยสุจริตเพราะบังคับตามสัญญาเช่าและไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วนแต่อย่างใด

จากเหตุการณ์นี้ผู้ใดที่ทําละเมิด เพราะเหตุใด และมีสิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนใดได้บ้าง จงอธิบายตามข้อกฎหมายละเมิด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 421 “การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 438 “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่ พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องไปเพราะละเมิดหรือใช้ราคา ทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย”

มาตรา 440 “ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันได้เอาของเขาไปก็ดี ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์ อันลดน้อยลงเพราะบุบสลายก็ดี ฝ่ายผู้ต้องเสียหายจะเรียกดอกเบี้ยในจํานวนเงินที่จะต้องใช้คิดตั้งแต่เวลา อันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคานั้นก็ได้”

มาตรา 441 “ถ้าบุคคลจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ เพราะเอาสังหาริมทรัพย์ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทําของเขาให้บุบสลายก็ดี เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไปหรือขณะที่ทําให้บุบสลายนั้นแล้ว ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไปเพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น……..”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 421 เป็นบทบัญญัติว่าด้วย “การใช้สิทธิเกินส่วน” คือเป็นการใช้สิทธิเกินไปกว่าสิทธิ ที่ตนมีอยู่ ซึ่งหมายถึง การกระทําที่บุคคลผู้กระทํามีสิทธิที่จะกระทําได้ตามกฎหมาย แต่ได้ใช้สิทธินั้นเกินส่วนที่ตนมีไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจแกล้งผู้อื่น การใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่สุจริต หรือการใช้สิทธิโดยก่อให้เกิด ความรําคาญแก่ผู้อื่น ย่อมถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันมิชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น บุคคลนั้นก็จะต้องรับผิด

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีของนางสาวพาย

การที่นางสาวพายได้กระทําในลักษณะที่ยังคงอาศัยอยู่ในอาคารที่เช่าต่อไปโดยไม่ได้ขนย้าย ทรัพย์สินของตนออกไปจากอาคารที่เช่านั้นเลยหลังสิ้นสุดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาอย่างน้อย 3 สัปดาห์ โดยเฉพาะเมื่อปรากฏชัดเจนว่าผู้ให้เช่าได้แจ้งไปยังผู้เช่าแล้วว่าตนไม่ประสงค์ต่ออายุการเช่าและจะให้ผู้อื่น เช่าอาคารต่อไป การกระทําของนางสาวพายถือเป็นการกระทําโดยจงใจและโดยผิดต่อกฎหมายทําให้คุณโอ๋ ได้รับความเสียหายตามมาตรา 420 เพราะสิทธิที่จะครองและใช้สอยอาคารตามสัญญาเช่าได้สิ้นสุดไปแล้ว รวมทั้งไม่มีสิทธิอื่นใดตามกฎหมายที่ตนจะสามารถอ้างได้ต่อการกระทําดังกล่าว ทําให้ผู้ให้เช่าได้รับความเสียหายต่อสิทธิของตนจากการที่ไม่ได้รับส่งมอบทรัพย์สินคืนจนไม่อาจนําอาคารไปให้ผู้อื่นเช่าและได้รับค่าเช่าจากผู้เช่ารายใหม่ ดังนั้น คุณโอ๋ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนต่อความเสียหายต่อสิทธิ ซึ่งกําหนดจํานวน ค่าเสียหายเท่ากับความเสียหายจริงตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง ซึ่งอาจประเมินจากค่าเช่า 150,000 บาท ที่ได้ตกลงกับผู้เช่ารายใหม่ และค่าเสียหายอื่นที่เกี่ยวกับสัญญาเช่าเดิม กรณีของคุณโอ๋

การที่คุณโอ๋ให้ลูกจ้างของตนขนย้ายทรัพย์สินของนางสาวพายออกไปและเปลี่ยนกุญแจล็อกประตูทางเข้า-ออกทุกด้านของอาคารนั้น ถือเป็นการกระทําที่ผิดต่อกฎหมายในลักษณะใช้สิทธิในทางที่ ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 421 เพราะเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนโดยไม่สุจริต ทําให้นางสาวพายได้รับความเสียหายต่อสิทธิและทรัพย์สิน การที่คุณโอ๋อ้างว่าตนใช้สิทธิโดยสุจริตเพราะบังคับตาม สัญญาเช่าและไม่ได้ใช้สิทธิเกินส่วนแต่อย่างใดนั้น การกล่าวอ้างของคุณโอ๋จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะตามกฎหมายแล้วผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิใช้กําลังบังคับ ผู้ให้เช่าจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยการฟ้องเป็นคดีขับไล่ แล้วให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดําเนินการบังคับให้ผู้เช่าออกจากอาคารที่เช่าต่อไป ดังนั้น นางสาวพายจึงมีสิทธิเรียกค่า สินไหมทดแทนจากคุณโอ๋สําหรับความเสียหายต่อสิทธิตามมาตรา 438 วรรคหนึ่ง และความเสียหายต่อทรัพย์สิน ตามมาตรา 438 วรรคสองได้ โดยการให้ชดใช้ค่าเสียหายซึ่งอาจประเมินจากมูลค่าของสินค้าประมาณ 1 แสนบาท ที่นางสาวพายไม่สามารถส่งให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ได้ตามมาตรา 441 และโดยให้ชดใช้ราคา ทรัพย์สินซึ่งประเมินจากทรัพย์สินบางส่วนที่เสียหายจากการที่ลูกจ้างของคุณโอ๋ได้ขนย้ายออกไปตามมาตรา 440

สรุป จากเหตุการณ์ดังกล่าว ถือว่าทั้งนางสาวพายและคุณโอ๋ได้ทําละเมิดต่ออีกฝ่ายหนึ่ง และ แต่ละคนย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

 

ข้อ 2 นายกบเป็นเจ้าของสุนัขดุ วันเกิดเหตุสุนัขหลุดออกไปได้ขณะนายกบเปิดประตูเพื่อจะออกไป ทํางานและไม่ได้ติดตามให้กลับมา ปรากฏว่าสุนัขตัวดังกล่าววิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถจักรยานยนต์ ของนายเขียดในระยะกระชั้นชิด ทําให้รถจักรยานยนต์ล้มและนายเขียดได้รับบาดเจ็บ ขณะเกิดเหตุนายเขียดขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วปกติและระมัดระวัง

ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านายกบจะต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายเขียดอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยง รับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่ สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สุนัขดุของนายกบหลุดออกไปนอกบ้านในขณะที่นายกบเปิดประตู เพื่อจะออกไปทํางานและนายกบไม่ได้ติดตามให้กลับมานั้น ถือได้ว่านายกบไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการควบคุมดูแลสุนัข เมื่อสุนัขตัวดังกล่าวได้วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถจักรยานยนต์ของนายเขียดในระยะกระชั้นชิดทําให้รถจักรยานยนต์ล้มและนายเขียดได้รับบาดเจ็บ โดยขณะเกิดเหตุนั้นนายเขียดได้ขับรถจักรยานยนต์

ด้วยความเร็วปกติและระมัดระวัง กรณีที่รถจักรยานยนต์ของนายเขียดล้มและนายเขียดได้รับบาดเจ็บนั้น ย่อมเป็นผลโดยตรงจากสุนัขของนายกบ ซึ่งถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้น นายกบ ซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์ (สุนัข) จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเขียดผู้ที่ได้รับความเสียหายตามมาตรา 420 ประกอบมาตรา 433 วรรคหนึ่ง

สรุป นายกบต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเขียด

 

ข้อ 3 นางสาวพฤกษา บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายรุ่ง แอบหยิบกุญแจรถยนต์ที่นายรุ่ง ให้นางสาวเรืองภริยานําไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจ ต่อมานางสาวพฤกษาได้ขับรถยนต์ไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง แต่นางสาวพฤกษาขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวัง เป็นเหตุให้ขับรถไปชนนายซวยได้รับบาดเจ็บสาหัส นายซวยตะโกนร้องขอให้นายกิตติเข้าช่วยเหลือ นายกิตติจดจําได้ว่านายซวยเคยกลั่นแกล้งตนมาก่อนจึงต้องการให้นายซวยตาย เลยไม่เข้าช่วยเหลือ ทั้งที่สามารถช่วยเหลือได้ ขณะเกิดเหตุ นางสาวพฤกษาเป็นผู้เยาว์ อยู่ในความปกครองดูแลของ บิดามารดา และไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่าใครต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายซวยบ้างหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 429 “บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทําละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทําอยู่นั้น”

มาตรา 430 “ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ ก็ดี ชั่วครั้งคราวก็ดี จําต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทําลงในระหว่างที่อยู่ใน ความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวพฤกษาบุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายรุ่ง แอบหยิบกุญแจ รถยนต์ที่นายรุ่งให้นางสาวเรื่องภริยานําไปเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะเก็บเงินซึ่งไม่ได้ใส่กุญแจ แล้วนางสาวพฤกษาได้ขับรถยนต์ไปเที่ยวสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง แต่นางสาวพฤกษาขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวังเป็นเหตุให้ขับรถไปชนนายซวยได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ถือว่านางสาวพฤกษาได้กระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดย ผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ร่างกาย นางสาวพฤกษาผู้ทําละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการ ละเมิดนั้นตามมาตรา 420 และแม้ว่าขณะเกิดเหตุนางสาวพฤกษาจะเป็นผู้เยาว์ก็ยังคงต้องรับผิดในผลที่ตน ทําละเมิดนั้นตามมาตรา 429

สําหรับนางสาวเรืองซึ่งเป็นมารดาของนางสาวพฤกษานั้น จะต้องรับผิดร่วมกับนางสาวพฤกษา ในผลของการทําละเมิดนั้นด้วยตามมาตรา 429 ส่วนนายรุ่งซึ่งเป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวพฤกษา ถือเป็นบุคคลซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถคือนางสาวพฤกษาซึ่งเป็นผู้เยาว์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายรุ่ง ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเก็บกุญแจรถยนต์ ดังนั้น นายรุ่งจึงต้องร่วมรับผิดกับนางสาวพฤกษา ผู้ทําละเมิดด้วยตามมาตรา 430

ส่วนการที่นายซวยได้ตะโกนร้องขอให้นายกิตติเข้าช่วยเหลือ แต่นายกิตติไม่เข้าช่วยเหลือทั้งที่ สามารถช่วยเหลือได้นั้น เมื่อนายกิตติไม่ได้มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จําต้องกระทําเพื่อป้องกันผลนั้น จึงไม่ถือว่านายกิตติ ได้มีการกระทําโดยการงดเว้นการที่จักต้องกระทํา และเมื่อไม่ถือว่ามีการกระทําจึงไม่เป็นละเมิดตามมาตรา 420 ดังนั้น นายกิตติจึงไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดแต่อย่างใด

สรุป บุคคลที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายช่วย ได้แก่ นางสาวพฤกษา นายรุ่ง และนางสาวเรือง

 

ข้อ 4 ชมพู่เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กองโอซึ่งรับราชการเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ ตรวจคนเข้าเมือง ปฏิบัติหน้าที่ที่สถานกักตัวคนต่างด้าว สวนพลู กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่กักตัว คนต่างชาติที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมือง นายราฮิมซึ่งเป็นผู้ต้องกักและพวกรวม 3 คน ได้ร่วมกัน จับตัวผู้กองโอไว้เป็นตัวประกัน มีระเบิดมือและมีดเป็นอาวุธ พร้อมกับข่มขู่ว่าจะฆ่าตัวประกัน และเผาสถานกักตัวฯ หากไม่ยอมให้หลบหนีออกไปจากสถานกักตัวคนต่างด้าว ต่อมานายราฮิมและพวกควบคุมตัวประกันไปตามทางเดินไปสู่ประตูทางออก ทําท่าจะขว้างระเบิดมายังกองอํานวยการกลางที่ พ.ต.อ. เรืองยศ และเจ้าพนักงานตํารวจอื่นกําลังยื่นอยู่ ซึ่งห่างกันเพียง 4 – 5 เมตร พ.ต.อ. เรืองยศ จึงได้ตัดสินใจสั่งการให้ผู้กองหมีและหมวดกวางยิงไปที่นายราฮิมและพวกในลักษณะ เป็นรายบุคคล โดยไม่ให้ยิงสุ่มเข้าไปในกลุ่มคนดังกล่าว เพราะเห็นว่าหากปล่อยให้นายราฮิมและพวก กระทําเช่นนั้นไปเรื่อย ๆ อาจเป็นภยันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ต้องกักอื่นและเจ้าพนักงาน ตํารวจ ต่อมาได้มีการยิงปืนออกไปตามที่ได้สั่งการไว้และระเบิดที่นายราฮิมถืออยู่เกิดระเบิดขึ้นมาส่งผลให้นายราฮิมและผู้กองโอเสียชีวิต ชมพู่ฟ้องคดีต่อศาลเรียกร้องให้จําเลยทั้งสาม คือ พ.ต.อ. เรืองยศ ผู้กองหมี และหมวดกวางร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตน ด้วยเหตุผล ที่ว่ามีการสั่งการและการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่คํานึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของตัวประกัน และอาจใช้วิธีการอื่น ๆ ที่สามารถระงับเหตุได้ จึงเป็นละเมิดทําให้ผู้กองโอเสียชีวิต ตามกฎหมายละเมิด จําเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ชมพู่หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 449 “บุคคลใดเมื่อกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทําตามคําสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คําสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคหนึ่ง จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้

1 จะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น

2 ภยันตรายนั้นจะต้องเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย

3 เป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง

4 ผู้กระทําได้กระทําพอสมควรแก่เหตุ

โดยหลักแล้ว เมื่อมีการทําละเมิดตามมาตรา 420 ทําให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตของผู้กองโอ ชมพู่ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้กองโอย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ทําละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะให้แก่ตนได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายที่ทําให้ผู้ทําละเมิดไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น กรณีที่เข้าหลักของนิรโทษกรรมอันเกิดจากการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ เกิดจากการกระทําตามคําสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 449 เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายราฮิมซึ่งเป็นผู้ต้องกักและพวกรวม 3 คน ได้ร่วมกันจับตัวผู้กองโอ ไว้เป็นตัวประกัน โดยมีระเบิดมือและมีดเป็นอาวุธ ข่มขู่ว่าจะฆ่าตัวประกันและเผาสถานกักตัวฯ หากไม่ยอมให้ หลบหนีออกไปจากสถานกักตัวฯ พร้อมแสดงท่าทางจะขว้างระเบิดมายังกองอํานวยการกลางที่ พ.ต.อ.เรืองยศ และเจ้าพนักงานตํารวจอื่นกําลังยืนอยู่ ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 4 – 5 เมตรนั้น ถือได้ว่ามีภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่ พ.ต.อ.เรืองยศได้ตัดสินใจ สั่งการให้ผู้กองหมีและหมวดกวางยิงไปที่นายราฮิมและพวกในลักษณะเป็นรายบุคคล โดยไม่ให้ยิงสุ่มเข้าไป ในกลุ่มคนดังกล่าวนั้น แม้การกระทําของ พ.ต.อ.เรืองยศจะเป็นการละเมิด แต่การกระทํานั้นก็ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 449 เพราะเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่น ให้พ้นจากภยันตรายนั้น และการกําหนดให้ยิ่งเป็นรายบุคคลโดยไม่ให้ยิงสุ่มเข้าไปในกลุ่มคนดังกล่าวก็ถือเป็นการปฏิบัติตามอํานาจหน้าที่โดยสุจริตและด้วยความระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยของตัวประกันและเป็นการกระทําที่พอสมควรแก่เหตุ แม้ว่าตัวประกันจะเสียชีวิตเพราะการกระทําละเมิดดังกล่าวตามมาตรา 420 รวมทั้งการที่ลูกระเบิดมือเกิดระเบิดขึ้นและถูกตัวประกันถึงแก่ความตายถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น เมื่อเป็น นิรโทษกรรมตามมาตรา 449 จําเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 7362/2537)

สรุป จําเลยทั้งสามไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ชมพู่

LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2103 (LAW 2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหมึกทําสัญญาเช่าบ้านกับนายกุ้ง สัญญามีกําหนด 1 ปี หลังจากทําสัญญาได้ 6 เดือน ปรากฏว่า นายหมึกค้างชําระค่าเช่าบ้านเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน นายกุ้งทวงถามให้นายหมึกชําระค่าเช่าบ้าน แต่นายหมึกก็ยังไม่ยอมชําระ วันเกิดเหตุช่วงเวลาที่นายหมึกออกไปทํางาน นายกุ้งได้มาปิดล็อค กุญแจบ้านเช่าหลังดังกล่าวเพื่อไม่ให้นายหมึกเข้าไปในบ้านได้ เมื่อนายหมึกกลับมาจึงไม่สามารถเข้าไปในบ้านเช่านี้ได้ นายหมึกจึงแจ้งไปยังนายกุ้งว่าการกระทําดังกล่าวของนายกุ้งนั้นทําให้ นายหมึกได้รับความเสียหาย แต่นายกุ้งโต้แย้งว่านายกุ้งมีสิทธิที่จะทําเช่นนั้นได้ เนื่องจากนายหมึก ไม่ยอมชําระค่าเช่า ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าการกระทําของนายกุ้งเป็นละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

1 บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2 ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4 มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมึกทําสัญญาเช่าบ้านกับนายกุ้งมีกําหนด 1 ปี หลังจากทําสัญญา ได้ 6 เดือน ปรากฏว่านายหมึกค้างชําระค่าเช่าบ้านเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน และเมื่อนายกุ้งทวงถามให้นายหมึก ชําระค่าเช่าบ้าน แต่นายหมึกก็ยังไม่ยอมชําระนั้น การไม่ชําระค่าเช่าบ้านดังกล่าวของนายหมึกถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่า ซึ่งตามกฎหมายเรื่องเช่าทรัพย์นายกุ้งย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริง ตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า นายกุ้งยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่ากับนายหมึกแต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่าง นายหมึกกับนายกุ้งจึงยังไม่ระงับ นายหมึกจึงยังมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในบ้านที่เช่าได้ต่อไป

การที่นายกุ้งได้มาปิดล็อคกุญแจบ้านเช่าหลังดังกล่าวในช่วงเวลาที่นายหมึกออกไปทํางานเพื่อ ไม่ให้นายหมึกเข้าไปในบ้านได้นั้น นายกุ้งย่อมไม่มีสิทธิที่จะกระทําเช่นนั้น แต่เมื่อนายกุ้งได้กระทําการดังกล่าว การกระทําของนายกุ้งจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิในการครอบครองและใช้ประโยชน์ในบ้านที่เช่าของนายหมึก ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยจงใจต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมายและทําให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ดังนั้น นายกุ้งจึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายหมึก

สรุป การกระทําของนายกุ้งเป็นละเมิดตามมาตรา 420

 

ข้อ 2 นายกะรอกได้นํารถยนต์ไปทําสีใหม่ที่อู่ของนายกระต่าย โดยนายกระรอกได้ให้นายกระต่ายขับรถยนต์คันที่นายกระรอกจะนํามาทําสีใหม่ไปส่งนายกระรอกที่บ้าน หลังจากส่งนายกระรอกเรียบร้อยแล้ว นายกระต่ายจึงขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับไปที่อู่ซ่อมรถของตน ระหว่างเดินทางกลับ นายกระต่ายขับรถด้วยความเร็วสูง ปรากฏว่านายกระทิงซึ่งขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงเช่นเดียวกัน และได้ขับตีคู่ขนาบข้างกันมา ทั้งสองจึงเกิดความคึกคะนองขับแข่งท้าทายกันด้วยความเร็วสูง ตลอดทาง จนถึงจุดเกิดเหตุบริเวณทางม้าลาย ซึ่งนางสาวกระแตกําลังเดินข้ามอยู่นั้น ทั้งนายกระต่าย และนายกระทิงต่างหยุดรถไม่ทัน ทําให้รถทั้งสองพุ่งเข้าชนนางสาวกระแต เป็นเหตุให้นางสาวกระแต ได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านางสาวกระแตจะมีสิทธิฟ้องใครให้รับผิดทางละเมิดได้บ้าง และจะฟ้องให้นายกระรอกร่วมรับผิดกับนายกระต่ายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 428 “ผู้ว่าจ้างทําของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ บุคคลภายนอกในระหว่างทําการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทํา หรือในคําสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”

มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทําละเมิด ท่านว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณี ที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจําพวกที่ทําละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทําละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทําละเมิดร่วมกันด้วย ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ได้แก่

1 นายกระต่ายและนายกระทิงได้ทําการละเมิดหรือร่วมกันทําละเมิดต่อนางสาวกระแตหรือไม่ การที่นายกระต่ายและนายกระทิงขับรถด้วยความเร็วสูงและได้ขับตีคู่ขนาบข้างกันมา ทั้งสองเกิดความคึกคะนองขับแข่งท้าทายกันด้วยความเร็วสูงตลอดทาง จนถึงจุดเกิดเหตุบริเวณทางม้าลาย ซึ่งนางสาวกระแตกําลังเดินข้ามอยู่ ทั้งสองต่างหยุดรถไม่ทัน ทําให้รถทั้งสองพุ่งเข้าชนนางสาวกระแต เป็นเหตุให้ นางสาวกระแตได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น การกระทําของนายกระต่ายและนายกระทิงถือว่าเป็นการละเมิดต่อ นางสาวกระแต ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้ เขาเสียหายต่อร่างกาย และการกระทําของทั้งสองมีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทั้งนายกระต่ายและนายกระทิงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวกระแต

ส่วนกรณีที่จะถือว่านายกระต่ายและนายกระทิงได้ร่วมกันทําละเมิดต่อนางสาวกระแตหรือไม่นั้น กรณีที่จะถือว่าเป็นการร่วมกันทําละเมิดตามบัญญัติตามมาตรา 432 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทํา ได้ร่วมใจกันกระทํามาแต่ต้น แต่ตามข้อเท็จจริงนั้นทั้งสองมิได้มีเจตนาร่วมกันในการกระทําหรือร่วมมือร่วมใจกันกระทําการดังกล่าว จึงไม่ถือว่าทั้งสองร่วมกันทําละเมิดต่อนางสาวกระแต ดังนั้น ทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 301 และมาตรา 291

2 นายกระรอกจะต้องร่วมรับผิดกับนายกระต่ายหรือไม่

การที่นายกระรอกได้นํารถยนต์ไปทําสีใหม่ที่อู่ของนายกระต่าย โดยนายกระรอกได้ให้ นายกระต่ายขับรถยนต์คันที่นายกระรอกจะนํามาทําสีใหม่ไปส่งนายกระรอกที่บ้านนั้น เมื่อนายกระต่ายผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกนั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการทํางานที่ผู้ว่าจ้างสั่งให้ทําหรือใน คําสั่งที่ผู้ว่าจ้างได้ให้ไว้แต่อย่างใด อีกทั้งเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายก็เกิดขึ้นในขณะเดินทางกลับอู่โดยนายกระรอก เจ้าของรถไม่ได้นั่งไปด้วย ดังนั้น นายกระรอกเจ้าของรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายกระต่ายตามมาตรา 428 สรุป นางสาวกระแตสามารถฟ้องนายกระต่ายและนายกระทิงให้รับผิดฐานละเมิดได้ตามมาตรา 420 แต่จะฟ้องให้นายกระรอกร่วมรับผิดกับนายกระต่ายไม่ได้

 

ข้อ 3 นายรุ่งไปท่องเที่ยวและเข้าพักที่รีสอร์ทของนายรวย โดยรีสอร์ทแห่งนี้จัดให้มีคอกม้าและสวนหย่อม เพื่อให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดธรรมชาติ วันเกิดเหตุ ขณะที่นายรุ่งกําลังเดินพักผ่อนชมคอกม้าอยู่ภายใน รีสอร์ทนั้น นายชนปาก้อนหินและตะโกนเสียงดังเพื่อแกล้งมาให้ตกใจ ทําให้ม้าตัวหนึ่งตกใจมาก วิ่งเตลิดพุ่งเข้าชนรั้วคอกม้าเก่า ๆ เตี้ย ๆ เมื่อวิ่งออกมาก็พุ่งชนและเหยียบขาของนายรุ่ง เป็นเหตุให้ นายรุ่งขาหัก และม้ามีท่าทีจะเหยียบซ้ำ นายรุ่งจึงคว้าไม้ที่ตกอยู่บริเวณนั้นตีเข้าที่ม้าอย่างแรงหนึ่งที เป็นเหตุให้ม้าได้รับบาดเจ็บล้มลง ดังนี้ ใครต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายรุ่งและนายรวยบ้าง หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้ แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่ว สัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือตั๋วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

มาตรา 450 วรรคสาม “ถ้าบุคคลทําบุบสลาย หรือทําลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้ หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้น เพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจําต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายชนปาก้อนหินและตะโกนเสียงดังเพื่อแกล้งมาให้ตกใจ ทําให้ม้าตัวหนึ่งวิ่งเตลิด พุ่งเข้าชนรั้วคอกม้าเก่า ๆ เตี้ย ๆ เมื่อวิ่งออกมาก็พุ่งชนและเหยียบขาของนายรุ่งที่กําลังเดินพักผ่อนชมคอกม้า อยู่ภายในรีสอร์ทเป็นเหตุให้นายรุ่งขาหักนั้น ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายรุ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้น นายรวยซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง และถ้านายรวยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายรุ่งแล้ว นายรวยย่อมสามารถไล่เบี้ยเอาจากนายชนผู้ที่เร้าหรือ ยั่วสัตว์นั้นได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง

2 การที่ม้ามีท่าทีจะเหยียบนายรุ่ง นายรุ่งจึงคว้าไม้ที่ตกอยู่บริเวณนั้นตีเข้าที่ม้าอย่างแรงหนึ่งที เป็นเหตุให้ม้าได้รับบาดเจ็บล้มลงนั้น แม้การกระทําของนายรุ่งจะเป็นการละเมิดต่อนายรวยเจ้าของม้า ตามมาตรา 420 ก็ตาม แต่นายรุ่งก็สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรคสามได้ เนื่องจากเป็นการ ป้องกันภัยอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์คือม้านั้นเองเป็นต้นเหตุให้ตนต้องป้องกัน และเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับม้านั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ นายรุ่งจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายรวย

สรุป นายรวยเจ้าของม้าต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายรุ่ง ส่วนนายชนผู้ที่เร้าหรือตั๋วสัตว์ต้องรับผิดต่อนายรวย

 

ข้อ 4 เด็กชายเรืองอาศัยอยู่กับนางพฤกษาซึ่งมีศักดิ์เป็นป้า โดยนางพฤกษาได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายเรื่อง มาตั้งแต่เกิด เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กชายเรื่องเสียชีวิตหมดแล้ว วันเกิดเหตุ นางพฤกษาได้พาเด็กชายเรืองไปเดินห้างสรรพสินค้าของนายมั่งมี ขณะกําลังขึ้นบันไดเลื่อน ระบบของบันไดเลื่อนเกิดขัดข้อง จึงทําให้ขาของนางพฤกษาติดในช่องบันไดเลื่อนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง นางพฤกษา ทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตายในที่สุด ส่งผลให้เด็กชายเรืองขาดผู้อุปการะดูแล ดังนี้ ใครต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนางพฤกษาหรือไม่ และเด็กชายเรืองจะสามารถเรียกค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลัง เครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการ เสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงบุคคลผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางพฤกษาได้พาเด็กชายเรื่องไปเดินห้างสรรพสินค้าของนายมั่งมี และในขณะที่กําลังขึ้นบันไดเลื่อน ระบบของบันไดเลื่อนเกิดขัดข้อง ทําให้ขาของนางพฤกษาติดในช่องบันไดเลื่อน ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง และนางพฤกษาทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตายนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ นางพฤกษานั้น ถือเป็นความเสียหายซึ่งเกิดจากทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น ตามมาตรา 437 วรรคสอง ดังนั้น ห้างสรรพสินค้าของนายมั่งมีซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตามมาตรา 437

ส่วนเด็กชายเรืองจะสามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพได้นั้น จะต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 หรือเป็นผู้ที่มีอํานาจในการจัดการศพตามมาตรา 1649 เท่านั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเด็กชายเรืองมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพฤกษาผู้ตายและ มิใช่ผู้ที่มีอํานาจในการจัดการศพ ดังนั้น เด็กชายเรืองจึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพได้

2 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าเด็กชายเรืองมีศักดิ์เป็นหลานของนางพฤกษา ซึ่งนางพฤกษาไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการอุปการะ เลี้ยงดูเด็กชายเรืองแต่อย่างใด ดังนั้น เด็กชายเรืองจึงไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้

สรุป ห้างสรรพสินค้าของนายมั่งมีจะต้องรับผิดทางละเมิดต่อนางพฤกษา และเด็กชายเรืองไม่สามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้

LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์และพุธเป็นเพื่อนบ้านกัน วันหนึ่ง สุนัขของจันทร์ได้หลุดออกจากบ้านของจันทร์และวิ่งไล่กัดพุธ ซึ่งเดินผ่านหน้าบ้านพอดี พุธตกใจจึงเป็นลมและถูกสุนัขของจันทร์กัดได้รับบาดเจ็บ จังหวะนั้นเอง ศุกร์เดินผ่านมาเห็นเหตุการณ์พอดี ศุกร์จึงได้ใช้ไม้ตีสุนัขของจันทร์เพื่อให้เลิกกัดพุธ ทําให้สุนัขของจันทร์หัวแตก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศุกร์จะต้องรับผิดต่อจันทร์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคล ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 450 วรรคสาม “ถ้าบุคคลทําบุบสลาย หรือทําลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้ หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้น เพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจําต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สุนัขของจันทร์ได้หลุดออกจากบ้านของจันทร์และวิ่งไล่กัดพุธซึ่งเดินผ่าน หน้าบ้านพอดี ทําให้พุธตกใจจึงเป็นลมและถูกสุนัขของจันทร์กัดได้รับบาดเจ็บนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพุธ ถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามนัย มาตรา 433 วรรคหนึ่ง

การที่ศุกร์ซึ่งผ่านมาเห็นเหตุการณ์พอดี ได้ใช้ไม้ตีสุนัขของจันทร์เพื่อให้เลิกกัดพุธทําให้สุนัขของพุธหัวแตกนั้น การกระทําของศุกร์ถือเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหาย แก่ทรัพย์สิน จึงถือว่าศุกร์ได้กระทําละเมิดต่อจันทร์ตามาตรา 420 ซึ่งโดยหลักแล้วศุกร์จะต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จันทร์ แต่อย่างไรก็ตาม ศุกร์สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามาตรา 450 วรรคสามได้ เนื่องจากเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน เพราะตัวทรัพย์ นั้นเองเป็นเหตุให้ต้องป้องกัน และเมื่อความเสียหายอันเกิดแก่สุนัขนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ ศุกร์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จันทร์

สรุป ศุกร์ไม่ต้องรับผิดต่อจันทร์

 

ข้อ 2 นายดําเกิงเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยช่วงแรกที่เปิดให้บริการนั้นทางห้างฯของนายดําเกิงมีการให้บริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า และทางห้างฯ เคยจัดให้มีการแจกบัตรสําหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างฯ ซึ่งหากไม่มีบัตรผ่านกรณีจะนํารถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของนายดําเกิง หลังจากเปิดให้บริการได้ระยะหนึ่งทางห้างฯ ของนายดําเกิงได้ยกเลิกวิธีการดังกล่าว โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน โดยปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ทั้งนี้ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ก็นํารถเข้ามาจอดตามปกติเวลาที่มาซื้อสินค้าภายในห้างฯ วันเกิดเหตุ นายเด่นได้นํารถยนต์มาจอดในห้างฯ เพื่อเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้างฯ ปรากฏว่าได้มีคนร้ายเข้ามาโจรกรรมรถของนายเด่นไปได้ ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว จะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

1 บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2 ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4 มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา

ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจําต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทําละเมิดมี “การกระทํา” หรือไม่ หากบุคคล ไม่มี “การกระทํา” ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สําหรับการกระทํานั้น หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทําโดยรู้สํานึก นอกจากนี้การกระทํายังหมายความรวมถึงการงดเว้น การเคลื่อนไหวอันพึงต้องทําเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทําตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทําตามหน้าที่ที่จะต้องกระทําเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทํา

กรณีตามอุทาหรณ์ นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าจะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับนายเด่นในกรณีที่รถยนต์ของนายเด่นที่นํามาจอดในห้างฯ ของนายดําเกิงนั้นได้ถูกโจรกรรมไป เนื่องจากเดิมที่ห้างฯ ของนายดําเกิงได้เปิดให้บริการนั้นได้มีการจัดให้บริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าและได้จัดให้มีการแจกบัตรสําหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างฯ ซึ่งหากไม่มีบัตรผ่านแล้วกรณีที่จะนํารถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของนายดําเกิง และแม้ภายหลังทางห้างฯ ของนายดําเกิงจะได้ ยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทนนั้น แม้จะได้ปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหาย หรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถแต่ก็ยังนํารถเข้ามาจอดก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องข้อกําหนดของทางห้างฯ นายดําเกิงฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในทางละเมิดของ ห้างฯ นายดําเกิงแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่รถยนต์ของนายเด่นที่นํามาจอดในห้างฯ ของนายดําเกิงถูกโจรกรรมไป ย่อมถือว่า เป็นความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดจากการทําละเมิดของห้างฯ ของนายดําเกิงโดยการงดเว้นการที่จักต้องกระทําเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลนั้นขึ้น โดยถือว่าเป็นการงดเว้นการที่จะต้องกระทําตามหน้าที่ที่เกิดขึ้นจากการกระทําครั้งก่อน ของห้างฯ (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 7471/2556) ดังนั้น นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าจึงต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่น

สรุป นายดําเกิงเจ้าของห้างฯ จะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่น

 

ข้อ 3 เด็กชายรุ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายกิตติ ที่นายกิตติอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล วันเกิดเหตุ เด็กชายรุ่งไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะของหมู่บ้าน ปรากฏว่าพลุที่นายมืดใส่ไว้ในกระเป๋า สะพายด้านหลังเกิดประทุขึ้นมา แล้วสะเก็ดพลุกระเด็นไปโดนเด็กชายรุ่ง ส่งผลให้เด็กชายรุ่งได้รับ บาดเจ็บสาหัส รักษาตัวอยู่เดือนกว่าก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตายในที่สุด ให้วินิจฉัยว่า

(ก) นายมืดต้องรับผิดทางละเมิดต่อเด็กชายรุ่งหรือไม่

(ข) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านายมืดใส่ซองช่วยงานศพจํานวน 5,000 บาทไปแล้ว นายกิตติ จะสามารถเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลัง เครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่พลุที่นายมืดได้ใส่ไว้ในกระเป๋าสะพายด้านหลังเกิดประทุขึ้นมา แล้วสะเก็ดพลุกระเด็น ไปโดนเด็กชายรุ่งซึ่งกําลังวิ่งเล่นในสวนสาธารณะของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้เด็กชายรุ่งถึงแก่ความตายนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามมาตรา 437 วรรคสอง ดังนั้น นายมืดซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายนั้น จึงต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

(ข) การที่นายมืดใส่ซองช่วยงานศพจํานวน 5,000 บาท แม้เงินดังกล่าวจะมิได้ถูกมอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหาย ซึ่งส่งผลให้เงินดังกล่าวไม่สามารถนํามาหักจากค่าปลงศพที่ต้องจ่ายให้แก่ทายาทของผู้เสียหายก็ตาม

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายกิตติเป็นบิดานอกกฎหมายของเด็กชายรุ่ง นายกิตติจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมของเด็กชายรุ่ง นายกิตติจึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพจากนายมืดตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งได้ ทั้งนี้ เพราะผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้ทําละเมิดตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งได้นั้น จะต้องเป็นทายาทและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามาตรา 1629 ด้วย ดังนั้น นายกิตติจึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพจากนายมืดได้

สรุป

(ก) นายมืดต้องรับผิดทางละเมิดต่อเด็กชายรุ่งตามมาตรา 437

(ข) นายกิตติไม่สามารถเรียกค่าปลงศพจากนายมืดได้

 

ข้อ 4 ในปี พ.ศ. 2556 ภาณุประกอบธุรกิจอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ได้เช่าพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 4 คูหา ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งพรสันต์เป็นเจ้าของ เพื่อก่อสร้างและติดตั้งป้ายโฆษณาติดตั้งไฟ LED ขนาดใหญ่บนชั้นดาดฟ้าให้คนทั่วไปเห็นได้ในระยะไกล ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเป็นเหตุให้ป้ายโฆษณาบางส่วนพังลงมาจากอาคารพาณิชย์หล่นไปทับบ้านและรถยนต์ของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณติดกัน ชาวบ้านอ้างถึงเหตุ ความชํารุดบกพร่องและบํารุงรักษาไม่เพียงพอมาเรียกร้องให้พรสันต์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และพรสันต์ชี้แจงชาวบ้านว่า การที่ป้ายโฆษณาพังลงมานั้น เกิดจากลมพายุฝนตกหนักเป็นเหตุสุดวิสัยจึงไม่ต้องรับผิดชอบ จากข้อเท็จจริงนี้พรสันต์ต้องรับผิด หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายตามกฎหมายละเมิด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 434 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ก่อสร้างไว้ชํารุดบกพร่องก็ดี หรือบํารุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จําต้อง ใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้วท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ภานุได้เช่าพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ของพรสันต์เพื่อก่อสร้างและติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บนชั้นดาดฟ้า ต่อมาได้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเป็นเหตุให้ป้ายโฆษณาบางส่วนพังลงมาจากอาคารพาณิชย์หล่นไปทับบ้านและรถยนต์ของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณติดกันนั้น เมื่อบ้านและรถยนต์ของชาวบ้านได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพังลงมาและป้ายขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ก่อสร้างมาประมาณ 6 ปีแล้ว ย่อมอาจจะเกิดความชํารุดบกพร่องหรือบํารุงรักษา ไม่เพียงพอต่อสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ ดังนั้น ผู้ครองสิ่งปลูกสร้างนั้น ซึ่งคือภาณุจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม มาตรา 434 เพราะภานุเป็นผู้เช่าพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์เพื่อปลูกสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่นั้น ไม่ใช่พรสันต์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ และภานุเป็นผู้ที่จะต้องต่อสู้ว่าตนได้บํารุงรักษาป้ายโฆษณาอย่างเพียงพอ หรือที่ป้ายโฆษณาบางส่วนพังลงมาก็ไม่ได้เกิดจากความชํารุดบกพร่อง แต่เป็นเหตุสุดวิสัย

แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนักนั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติในช่วงฤดูฝนที่อาจเกิดเหตุการณ์ฝนฟ้าคะนอง ลมพัดแรงทําให้สิ่งปลูกสร้างหักโค่นล้มลงได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นทุกปีและเป็นภัยธรรมชาติที่อาจคาดการณ์และสามารถป้องกันได้ จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ภาณุซึ่งเป็นผู้ครองสิ่งปลูกสร้าง (ป้ายโฆษณา) จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่พรสันต์

สรุป ภาณุเป็นผู้ซึ่งจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

ส่วนพรสันต์ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ร.ต.อ.มืด โกรธแค้นที่นายหล่อมาแย่งแฟนสาวของตนไป จึงแกล้งสั่งให้ ร.ต.ต.โชค ไปจับกุม นายหล่อในข้อหาว่ากระทําความผิดฐานลักทรัพย์ โดย ร.ต.ต.โชค ไม่ทราบว่าเป็นการแกล้งของ ร.ต.อ.มืด จึงได้ทําการจับกุมนายหล่อมาที่สถานีตํารวจ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหล่อไม่เคยกระทํา ความผิดฐานลักทรัพย์ ให้วินิจฉัยว่า นายหล่อจะสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ใด ได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 449 “บุคคลใดเมื่อกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทําตามคําสั่งอันชอบ ด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คําสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.มืดแกล้งสั่งให้ ร.ต.ต.โชคไปจับกุมนายหล่อในข้อหากระทําความผิดฐานลักทรัพย์ และ ร.ต.ต.โชคได้ทําการจับกุมนายหล่อมาที่สถานีตํารวจนั้น ถือว่า ร.ต.อ.มืดได้กระทํา โดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทําให้เขาเสียหายแก่เสรีภาพ (โดยใช้ ร.ต.ต.โชคเป็นเครื่องมือ) อันเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น

และจากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.ต.โชคได้จับกุมนายหล่อทําให้นายหล่อได้รับความ เสียหายแก่เสรีภาพนั้น ร.ต.ต.โชคได้กระทําตามคําสั่งของ ร.ต.อ.มืด ผู้บังคับบัญชาและเข้าใจโดยสุจริตว่านายหล่อ กระทําความผิดฐานลักทรัพย์จริงไม่ทราบว่าเป็นการแกล้งของ ร.ต.อ.มืด จึงเป็นการกระทําตามคําสั่งอันชอบ ด้วยกฎหมาย ดังนั้น ร.ต.ต.โชคจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 449 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี นายหล่อผู้เสียหายสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ร.ต.อ.มืด ผู้ให้คําสั่งโดยละเมิดนั้นได้ตามมาตรา 449 วรรคสอง

สรุป นายหล่อสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ร.ต.อ.มืดได้ แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ร.ต.ต.โชคไม่ได้

 

ข้อ 2 นายกิตติขับรถโดยประมาทชนนายซวยถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบิดามารดาของนายซวย ถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว เหลือญาติเพียงคนเดียวคือนายโชค ซึ่งเป็นปู่ของนายซวย โดยก่อนที่ นายซวยจะถูกทําละเมิดถึงตายนั้น นายซวยได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูนายโชคที่อายุมากแล้ว และไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ ดังนี้ นายโชคจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ จากนายกิตติได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงค่าตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติขับรถโดยประมาทชนนายซวยถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายกิตติถือเป็นการทําละเมิดต่อนายซวยตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อ บุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทําของนายกิตติสัมพันธ์กับผลของการกระทํา คือความตายของนายซวย ดังนั้น นายกิตติจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อมาคือ นายโชคจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพจากนายกิตติได้หรือไม่

1 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโชคเป็นเพียงปู่ของนายซวย ซึ่งนายซวยไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูนายโชคแต่อย่างใด นายโชคจึงไม่ใช่ผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย นายโชคจึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายกิตติไม่ได้

2 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 ดังนั้น เมื่อนายโชคเป็นปู่ของนายซวย และเป็นผู้มีอํานาจในการจัดการศพในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (5) นายโชคจึงสามารถฟ้องเรียกค่าปลงศพได้ตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง

สรุป นายโชคจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายกิตติไม่ได้ แต่สามารถฟ้องเรียกค่าปลงศพได้

 

ข้อ 3 วันเกิดเหตุนางสาวพฤกษา บุตรของนางลิลลี่ ไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ขณะที่เดินอยู่นั้นนายเก่า ได้แหย่สุนัขพันธุ์ร็อทไวเลอร์ของนายมึน ซึ่งมีนิสัยดุร้าย โมโหง่ายและตัวใหญ่ โดยนายมึนไม่ได้ ผูกเชือก ล่ามโซ่หรือใส่ตะกร้อครอบปากแต่อย่างใด เมื่อสุนัขของนายมึนถูกนายเก่าแหย่ก็โกรธ และวิ่งไล่กัดนายเก่า นายเก่าวิ่งผ่านไปทางที่นางสาวพฤกษาเดินเล่นอยู่เมื่อสุนัขวิ่งไล่ตามมาพบ จึงกัดนางสาวพฤกษาจนถึงแก่ความตายในทันที ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนที่นางสาวพฤกษาจะถึงแก่ความตายนั้น ได้ช่วยเหลือในกิจการร้านอาหารของนางกุหลาบซึ่งเป็นป้า โดยทําหน้าที่เป็นคนเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะลูกค้า ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางลิลลี่ซึ่งเป็นมารดาของนางสาวพฤกษาจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้บ้าง และนางกุหลาบซึ่งเป็นป้าของนางสาวพฤกษาจะเรียก ค่าขาดแรงงานได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้ แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่ว สัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือตั๋วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

มาตรา 445 “ในกรณีทําให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย หรืออนามัยก็ดี ในกรณีทําให้ เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทําการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก๋าได้แหย่สุนัขพันธุ์ร็อทไวเลอร์ของนายมึน ซึ่งมีนิสัยดุร้าย โมโหง่าย และตัวใหญ่ โดยนายมึนไม่ได้ผูกเชือกล่ามโซ่หรือใส่ตะกร้อครอบปากแต่อย่างใด ทําให้สุนัขโกรธและวิ่งไล่กัด นายเก่า เมื่อนายเก่าวิ่งผ่านไปทางที่นางสาวพฤกษาเดินเล่นอยู่ สุนัขซึ่งวิ่งไล่ตามมาจึงกัดนางสาวพฤกษาจนถึงแก่ ความตายทันทีนั้น ถือว่าความเสียหายที่เกิดกับนางสาวพฤกษาเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้น นายมึนผู้เป็นเจ้าของสัตว์จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง นายมันจะอ้างว่าตนได้ใช้ ความระมัดระวังตามสมควรแก่การเลี้ยงแล้วไม่ได้ เพราะนายมึนรู้อยู่แล้วว่าสุนัขของตนมีนิสัยดุร้าย โมโหง่าย แต่นายมันก็ไม่ได้ผูกเชือก ล่ามโซ่หรือใส่ตะกร้อครอบปากไว้ แต่อย่างไรก็ดี นายมึนมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่นายเก่า ผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง

ส่วนกรณีที่นางสาวพฤกษาได้ช่วยเหลือในกิจการร้านอาหารของนางกุหลาบซึ่งเป็นป้าก่อนถึงแก่ความตาย โดยทําหน้าที่เป็นคนเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะลูกค้าโดยไม่ได้รับสินจ้างนั้น ไม่ถือว่านางสาวพฤกษาผู้เสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทําการงานให้เป็นคุณแก่นางกุหลาบในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของนางกุหลาบ แต่อย่างใด ดังนั้น นางกุหลาบจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดแรงงานตามมาตรา 445

สรุป นางลิลลี่มารดาของนางสาวพฤกษาสามารถเรียกให้นายมึนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้แต่นางกุหลาบป้าของนางสาวพฤกษาจะเรียกค่าขาดแรงงานไม่ได้

 

ข้อ 4 นายหมอชิตเป็นบิดานอกกฎหมายของเด็กชายครรชิต อายุ 12 ปี กําลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างที่นายหมอชิตและเด็กชายครรชิตกําลังเดินไปโรงเรียน ต้นมะม่วงที่ปลูกอยู่ในบ้านของ นายมิตรที่เพิ่งถูกขุดมาจากที่อื่น แต่ไม่ได้มีการใช้ไม้ค้ำจุนให้ดี ได้เอนลงมาทับเด็กชายครรชิต ที่เดินผ่านมา เป็นเหตุให้เด็กชายครรชิตถึงแก่ความตาย ให้วินิจฉัยว่าใครต้องรับผิดในทางละเมิดต่อ เด็กชายครรชิตหรือไม่ และนายหมอชิตจะสามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 434 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง อย่างอื่นก่อสร้างไว้ชํารุดบกพร่องก็ดี หรือบํารุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่ต้นมะม่วงที่ปลูกอยู่ในบ้านของนายมิตรที่เพิ่งถูกขุดขึ้นมาจากที่อื่น แต่ไม่ได้มีการใช้ ไม้ค้ำจุนให้ดี ได้เอนลงมาทับเด็กชายครรชิตที่เดินผ่านมาเป็นเหตุให้เด็กชายครรชิตถึงแก่ความตายนั้น ถือได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความเสียหายอันเกิดจากความบกพร่องในการค้ำจุนต้นไม้ ดังนั้น นายมิตรจึงต้อง รับผิดในทางละเมิดต่อเด็กชายครรชิตตามมาตรา 434 วรรคหนึ่งประกอบวรรคสอง

(2) เมื่อนายหมอชิตเป็นบิดานอกกฎหมายของเด็กชายครรชิต นายหมอชิตจึงมิใช่ทายาท โดยธรรมของเด็กชายครรชิต นายหมอชิตจึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพจากนายมิตรตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งได้ เพราะผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้ทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตายและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1629 และนายหมอชิตก็ไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสามได้เช่นกัน เพราะผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น แต่นายหมอชิตเป็นบิดานอกกฎหมายของเด็กชายครรชิต ซึ่งเด็กชายครรชิตไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู นายหมอชิตแต่อย่างใด นายหมอชิตจึงไม่ใช่ผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย

สรุป นายมิตรจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อเด็กชายครรชิต และนายหมอชิตจะเรียกค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้

LAW2103 (LAW2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายป๊อบจูงสุนัขที่ตนเป็นเจ้าของอยู่นั้น ไปขโมยเนื้อย่างของเด็กหญิงนานา เมื่อนายอาร์ทบิดาของเด็กหญิงนานาเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้ใช้ไม้ตีสุนัข ทําให้สุนัขได้รับบาดเจ็บและสุนัข ได้รับความเจ็บปวดจึงวิ่งเตลิดไปชนป้ายโฆษณาหน้าร้านขายของที่ตั้งอยู่บริเวณทางเท้า ทําให้ป้ายโฆษณาของนางอึ่งอ่างหล่นกระแทกพื้นแล้วกระเด็นไปทับเด็กชายน้อยถึงแก่ความตายทันที

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโหน่งซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อยจะเรียกร้องให้นายป๊อบ เด็กหญิงนานา และนายอาร์ท ร่วมกันรับผิดต่อตนเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและ ค่าขาดไร้อุปการะในความตายของเด็กชายน้อยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคล ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 449 “บุคคลใดเมื่อกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทําตามคําสั่งอันชอบ ด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้น ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่นายป๊อบจูงสุนัขที่ตนเป็นเจ้าของอยู่นั้น ไปขโมยเนื้อย่างของเด็กหญิงนานา ถือว่านายป๊อบได้กระทําการอันเป็นการละเมิดต่อเด็กหญิงนานาตามมาตรา 420 แล้ว เพราะเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ ดังนั้น นายป๊อบ ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เด็กหญิงนานา แต่นายป๊อบไม่ต้องรับผิดต่อเด็กหญิงนานาตามมาตรา 433 เพราะมิใช่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์

ประเด็นที่ 2 การที่นายอาร์ทบิดาของเด็กหญิงนานาได้ใช้ไม้ตีสุนัขทําให้สุนัขได้รับบาดเจ็บนั้น แม้การกระทําของนายอาร์ทจะเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่น ทําให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินก็ตาม แต่เมื่อนายอาร์ทได้กระทําเพื่อป้องกันสิทธิของเด็กหญิงนานาให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของนายอาร์ทจึงเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นายอาร์ท จึงสามารถอ้างได้ว่าตนได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคหนึ่ง นายอาร์ทจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายป๊อบ

และเมื่อนายอาร์ทสามารถอ้างเหตุการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ ดังนั้น การที่สุนัขซึ่งได้รับความเจ็บปวดได้วิ่งเตลิดไปชนป้ายโฆษณา ทําให้ป้ายโฆษณาของนางอึ่งอ่างหล่นกระแทกพื้นแล้วกระเด็นไปทับเด็กชายน้อยถึงแก่ความตายทันที เด็กชายน้อยซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จากนายป๊อบผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา 449 วรรคสอง แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเด็กหญิงนานาและนายอาร์ทไม่ได้

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กชายน้อยได้รับความเสียหายต่อชีวิต ตามมาตรา 433 ได้กําหนดให้นายโหน่ง ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อยและเป็นผู้เสียหายทางอ้อม เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก นายป๊อบได้เพียงแต่นายโหน่งจะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อเป็นค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะในความตายของเด็กชายน้อยได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจาก ผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 ดังนั้น เมื่อนายโหน่งเป็นเพียงผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อย ซึ่งตามกฎหมายแล้วนายโหน่งมิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของเด็กชายน้อยผู้ตาย นายโหน่งจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพไม่ได้

2 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น ได้แก่ สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้ง ผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมด้วย แต่ในกรณีของบุตรนั้นจะต้องเป็นบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่ทุพพลภาพ หาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อนายโหน่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อย นายโหน่งจึงมีสิทธิเรียกค่า สินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะจากนายป๊อบได้

สรุป

นายโหน่งซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อยสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะจากนายป๊อบได้ แต่จะเรียกค่าปลงศพไม่ได้

 

ข้อ 2 นายเป้งหัดขับรถยนต์อยู่ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ระหว่างหัดขับนั้น รถยนต์เกิดขัดข้องทําให้นายเป้งควบคุมรถยนต์ไม่ได้และพุ่งเข้าชนรั้วบ้าน แปลงดอกไม้ภายในบ้าน และตัวบ้านของนายไท เสียหาย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 30,000 บาท ดังนี้ นายเป้งจะปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากรถยนต์ ขัดข้องได้หรือไม่ และนายไทจะยึดรถยนต์ของนายเป้งเพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายเป้งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดิน ด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

มาตรา 452 วรรคหนึ่ง “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทําความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าจําเป็น โดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทําได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเป้งหัดขับรถยนต์อยู่ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และระหว่างหัดขับนั้น รถยนต์เกิดขัดข้องทําให้นายเป้งควบคุมรถยนต์ไม่ได้และพุ่งเข้าชนรั้วบ้าน แปลงดอกไม้ภายในบ้าน และตัวบ้าน ของนายไทเสียหาย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 30,000 บาทนั้น กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล และการที่รถยนต์ของนายเบ้งเกิดขัดข้องนั้นก็มิได้เกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยที่ นายเป้งจะสามารถนําขึ้นมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ ดังนั้น นายเป้งซึ่งเป็นผู้ครอบครองและควบคุมดูแล ยานพาหนะคือรถยนต์นั้น จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง

และตามมาตรา 452 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่น อันเข้ามาทําความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้

แต่เมื่อตามอุทาหรณ์ทรัพย์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นเป็นรถยนต์ของนายเป้งซึ่งไม่ใช่สัตว์ที่เข้ามาทําความ

เสียหายในอสังหาริมทรัพย์ของนายไท ดังนั้น นายไทจึงไม่สามารถยึดรถยนต์ของนายเป้งเพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายเป้งได้

สรุป นายเป้งจะปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากรถยนต์ขัดข้องไม่ได้ และนายไทจะยึดรถยนต์ของนายเป้งเพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายเป้งไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 3 นายเท่งเป็นเจ้าของตึก 3 ชั้น โดยได้แบ่งให้นายเก่งเช่าชั้น 2 และนายเข่งเช่าชั้น 3 โดยชั้น 1 นั้น นายเท่งได้เปิดเป็นร้านซักอบรีดเสื้อผ้า และดูแลกิจการด้วยตนเอง วันเกิดเหตุนายเก่งได้ลืมปิดหน้าต่างทําให้เกิดลมพัดแรงและกระแทกหน้าต่างจนหน้าต่างเกิดพังหลุดลงมา แล้วหล่นไปโดน รถยนต์ของนางแหม่มได้รับความเสียหาย ดังนี้

(ก) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าหน้าต่างมีความชํารุดอยู่ก่อนแล้วแต่ยังไม่ได้มีการซ่อมแซม เช่นนี้ ใครจะต้องมารับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่ม

(ข) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าหน้าต่างที่ชํารุดนั้นนายเก่งผู้เช่าได้แจ้งนายเก่งให้เข้ามาซ่อมแซมแล้วแต่นายเท่งยังไม่ซ่อมแซม เช่นนี้ ใครจะต้องมารับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่ม

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 434 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ก่อสร้างไว้ชํารุดบกพร่องก็ดี หรือบํารุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จําต้อง ใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้ว

ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกนิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายเก่งเป็นเจ้าของตึก 3 ชั้น โดยได้แบ่งให้นายเก่งเช่าชั้น 2 และให้นายเข่งเช่าชั้น 3 โดยชั้น 1 นั้น นายเท่งได้เปิดเป็นร้านซักอบรีดเสื้อผ้าและดูแลกิจการด้วยตนเองนั้น ย่อมถือว่านายเท่งเป็นเจ้าของ และอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองโรงเรือนหรือตึกดังกล่าวอยู่ และการที่นายเก่งได้ลืมปิดหน้าต่างทําให้เกิดลมพัดแรงและกระแทกหน้าต่างที่มีความชํารุดอยู่ก่อนแล้วแต่ยังไม่ได้มีการซ่อมแซมพังหลุดลงมาแล้วหล่นไปโดนรถยนต์ของนางแหม่มได้รับความเสียหายนั้น ความเสียหายดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุที่โรงเรือนชํารุดบกพร่องหรือบํารุงรักษาไม่เพียงพอ ดังนั้นนายเท่งซึ่งเป็นผู้ครอบครองโรงเรือนหรือตึกดังกล่าว จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่มตามมาตรา 434 วรรคหนึ่ง

(ข) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่หน้าต่างมีความชํารุดนั้น นายเก่งผู้เช่าได้แจ้งนายเก่งให้เข้ามา ซ่อมแซมแล้ว แต่นายเท่งยังไม่ซ่อมแซม เช่นนี้ กรณีที่หน้าต่างหลุดพังลงมาแล้วหล่นไปโดนรถยนต์ของนางแหม่ม ได้รับความเสียหายนั้น ความเสียหายดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทําละเมิดของนายเท่ง ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อ (ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง) ต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน และการกระทําของนายเท่งที่ไม่ใช้ความระมัดระวังนั้นมีความสัมพันธ์กับผลของการกระทํา ดังนั้น กรณีนี้นายเก่งจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่มเช่นเดียวกัน

สรุป ทั้ง (ก) และ (ข) นายเก่งจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่ม

 

ข้อ 4 นายหินและนายปูนเป็นลูกจ้างของนายทะเล ผู้ประกอบการเดินรถสองแถว วันเกิดเหตุนายทะเล สั่งให้นายหินไปขับรถสองแถวรับส่งผู้โดยสารบนถนนรามคําแหง โดยมีนายปูนเป็นผู้เก็บค่าโดยสารนายหินขับรถสองแถวด้วยความประมาทชนเสาไม้ที่ปักริมทางแฉลบจะไปชนเสาไฟฟ้าอย่างแรงซึ่งทําให้ผู้โดยสารทุกคนรู้สึกหวาดเสียวเป็นอย่างมาก นายอ่อนซึ่งเป็นผู้โดยสารบนรถสองแถวคนหนึ่ง เห็นว่ารถสองแถวกําลังจะชนเสาไฟฟ้า จึงกระโดดลงจากรถในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้นายอ่อนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนผู้โดยสารอื่นบนรถสองแถวได้รับบาดเจ็บ นายดําซึ่งเป็นชาวบ้านบริเวณนั้น เห็นเหตุการณ์จึงเกิดความไม่พอใจ เลยตะโกนต่อว่านายหินและนายปูน นายหินและนายปูนโกรธ จึงร่วมกันทําร้ายร่างกายของนายดําจนได้รับอันตรายแก่กาย ให้วินิจฉัยว่า นายหิน นายปูน และ นายทะเล ต้องรับผิดทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทําละเมิด ท่านว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณี ที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจําพวกที่ทําละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทําละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทําละเมิดร่วมกันด้วย ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหินขับรถสองแถวด้วยความประมาทชนเสาไม้ที่ปักริมทางแฉลบ จะไปชนเสาไฟฟ้าอย่างแรง ทําให้นายอ่อนซึ่งเป็นผู้โดยสารบนรถสองแถวคนหนึ่งเห็นว่ารถสองแถวกําลังจะชนเสาไฟฟ้าจึงกระโดดลงจากรถในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้นายอ่อนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนผู้โดยสารอื่นบนรถสองแถวได้รับบาดเจ็บนั้น การกระทําของนายหินถือเป็นการทําละเมิดต่อนายอ่อนและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายต่อร่างกาย ดังนั้น นายหินจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายอ่อนและผู้โดยสารคนอื่น ๆ และแม้ว่าจาก ข้อเท็จจริง นายอ่อนจะกระโดดลงจากรถก่อนก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทําในระยะกระชั้นชิดกับภยันตรายที่จะเกิดขึ้นและในที่สุดก็ได้เกิดขึ้น และเป็นการกระทําเพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายเฉพาะหน้า จึงถือว่าการกระทําของนายอ่อนเป็นผลอันเกิดใกล้ชิดและเนื่องมาจากเหตุขับรถโดยประมาทของนายหิน

และเมื่อนายหินเป็นลูกจ้างของนายทะเล ได้กระทําละเมิดในระหว่างที่ปฏิบัติงานตามคําสั่ง ของนายจ้างจึงเป็นการกระทําละเมิดในทางการที่จ้าง ดังนั้น นายทะเลซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดกับ นายหินลูกจ้างในผลแห่งละเมิดที่นายหินได้ทําให้เกิดความเสียหายแก่นายอ่อนและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ด้วยตามมาตรา 425

ส่วนกรณีที่นายดําได้ตะโกนต่อว่านายหินและนายปูน จนทําให้นายหินและนายปูนโกรธจึงร่วมกัน ทําร้ายร่างกายของนายดําจนได้รับอันตรายแก่กายนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ บุคคลอื่นโดยร่วมกันทําละเมิด ดังนั้น นายหินและนายปูนจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อนายดําตามมาตรา 420 ประกอบ มาตรา 432

และเมื่อการกระทําละเมิดของนายหินและนายปูนดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกวัตถุประสงค์ ของนายทะเลผู้เป็นนายจ้าง และมิใช่กิจการในหน้าที่ที่นายหินและนายปูนได้รับมอบหมาย จึงมิใช่เป็นการทําละเมิด ในทางการที่จ้างของนายทะเล ดังนั้น นายทะเลจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายหินและนายปูนในความเสียหายที่เกิดแก่นายดําแต่อย่างใด เพราะไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 425

สรุป นายหินต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายอ่อน ผู้โดยสารอื่น และนายดํา

นายปูนต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายดํา

นายทะเลต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายอ่อนและผู้โดยสารอื่น

WordPress Ads
error: Content is protected !!