การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2104  (LAW 2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 รัฐเดี่ยวและรัฐรวมแบบสหพันธรัฐ (Federal State) มีลักษณะสาระสําคัญที่แตกต่างกันอย่างไร ขอให้ท่านอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประเทศที่มีรูปแบบของรัฐในลักษณะดังกล่าวประกอบด้วย

ธงคําตอบ

รัฐเดี่ยว หมายถึง รัฐที่มีระเบียบการใช้อํานาจทางการเมืองแต่เพียงระเบียบเดียว และระเบียบการใช้อํานาจนั้นจะใช้แต่เฉพาะพลเมืองในรัฐนั้นและจะครอบงําไปทั่วดินแดนของรัฐนั้น และเป็นรัฐที่มีรัฐบาลกลางเป็นองค์เดียวที่มีอํานาจสูงสุดในการปกครอง โดยรัฐบาลกลางจะเป็นผู้ใช้อํานาจอธิปไตยทั้งในด้าน บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ และจะควบคุมการบริหารงานในกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหมด ประเทศที่มีรูปของรัฐแบบรัฐเดี่ยว ได้แก่ ไทย สเปน โปรตุเกส ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนรัฐรวมแบบสหพันธรัฐหรือสหรัฐ (Federal State) เป็นการรวมกลุ่มระหว่างรัฐหลาย ๆ รัฐ และทําให้เกิดรัฐใหม่ขึ้นมาอีกรัฐหนึ่ง โดยรัฐใหม่นั้นจะมีอํานาจเหนือกว่ารัฐที่เข้ามารวมกันบางประการ เช่น อํานาจทางทหาร เศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ

ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ถือว่า

1 สหรัฐ จะมีสถาบันสูงสุดที่จัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ แต่เพียงสถาบันเดียว

2 สหรัฐ จะเป็นผู้ตรากฎหมายที่ใช้บังคับกับประชาชนทั่วสหรัฐฯ

3 สหรัฐ จะเป็นผู้ใช้อํานาจบริหารโดยตรง

4 สหรัฐ จะมีศาลยุติธรรมโดยเฉพาะ และมีศาลสูงสุดทําหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างรัฐ

ในส่วนที่เกี่ยวกับรัฐที่เข้ามารวมกลุ่มสหรัฐหรือมลรัฐ

1 แต่ละมลรัฐยังคงมีสถาบันสูงสุดประจํารัฐของตนอยู่ และใช้บังคับเฉพาะภายในรัฐ และต้องไม่ไปขัดแย้งกับสถาบันสูงสุดของสหรัฐ

2 หัวหน้าของแต่ละมลรัฐ (ผู้ว่าการรัฐ) ไม่ใช่ตัวแทนของสหรัฐ แต่เป็นเพียงหัวหน้าโดยตรง ของมลรัฐนั้น ๆ

ประเทศที่มีรูปของรัฐแบบสหรัฐหรือสหพันธรัฐ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก บลาซิล สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายอย่างละเอียดว่ารัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมมีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับตัวนักศึกษาอย่างไร พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

“รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดหรือกฎหมายหลักที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการวางระเบียบ การปกครองของรัฐในทางการเมือง โดยจะกําหนดโครงสร้างของรัฐ ระบอบการปกครอง การใช้อํานาจอธิปไตย และการดําเนินงานของสถาบันสูงสุดของรัฐที่ใช้อํานาจอธิปไตย และนอกจากนั้น ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยังได้กําหนดขอบเขตเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งหน้าที่ของประชาชนที่จึงต้องปฏิบัติว่ามีอย่างไรบ้าง

อํานาจอธิปไตย ซึ่งเป็นอํานาจในการปกครองประเทศนั้น จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1 อํานาจนิติบัญญัติ หมายถึง อํานาจในการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนใน ฐานะผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย ซึ่งผู้ใช้อํานาจดังกล่าวนี้คือ “รัฐสภา” และโดยทั่วไปแล้วรัฐสภาจะประกอบไปด้วย สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาก็จะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ของประชาชน (เว้นแต่รัฐธรรมนูญบางฉบับอาจจะกําหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง) โดยจํานวนสมาชิก ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะมีจํานวนเท่าใด และมีวิธีการเลือกตั้งอย่างไรนั้น ก็จะต้องเป็นไปตามที่กําหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญ

และในการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) เพื่อใช้บังคับกับประชาชนนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กําหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยเฉพาะที่สําคัญคือ กฎหมายที่ออกมานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย มิฉะนั้นแล้วกฎหมายที่ออกมาก็ย่อมไม่มีผลบังคับใช้

2 อํานาจบริหาร หมายถึง อํานาจในการจัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยมีรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อํานาจนี้

ในการใช้อํานาจของฝ่ายบริหารนั้น ให้หมายความรวมถึงการใช้อํานาจในทางปกครอง เพื่อการออกกฎ ออกคําสั่ง รวมทั้งการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและ เพื่อการจัดทําบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวมด้วย ซึ่งอํานาจของฝ่ายบริหารมีอย่างไรบ้างนั้น ก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ ได้กําหนดไว้

รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีนั้น โดยหลักทั่ว ๆ ไปก็จะประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี 1 คน และรัฐมนตรีอีกไม่เกิน…. คน (ตามที่รัฐธรรมนูญได้กําหนดไว้) ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นเดียวกันกับฝ่ายนิติบัญญัติ

3 อํานาจตุลาการ หมายถึง อํานาจในการตัดสินและพิพากษาอรรถคดี ซึ่งองค์กรที่ใช้อํานาจ นี้คือ “ศาล” ซึ่งศาลที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในกรณีที่ประชาชนมีข้อพิพาทเกิดขึ้น หรือมีความจําเป็น ที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น หมายถึงศาลใดก็ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ๆ ได้กําหนดไว้ด้วย

ซึ่งในการใช้อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหาร และอํานาจตุลาการโดยองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น เป็นการใช้อํานาจต่อประชาชนและมีผลกระทบต่อประชาชนทุกคน (รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่งด้วย) ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น ในการได้มาซึ่งอํานาจและการใช้อํานาจดังกล่าว จึงต้องเป็นการได้มาซึ่งอํานาจ รวมทั้งเป็นการใช้อํานาจที่ถูกต้องตามหลักของกฎหมายมหาชนด้วย โดยเฉพาะ “หลักนิติธรรม” หรือหลักการปกครอง ด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นหลักที่มีแนวคิดว่า ผู้ใช้อํานาจปกครองและการได้มาซึ่งอํานาจปกครองจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และปกครองประเทศอย่างมีคุณธรรมด้วยวิถีทางของกฎหมาย จะต้องมีการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ในการใช้อํานาจของฝ่ายปกครองต้องสามารถ ตรวจสอบได้โดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจ หรือโดยหน่วยงานหรือองค์กรที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมมีความสําคัญและเกี่ยวข้องกับประชาชน รวมทั้งข้าพเจ้าในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น

 

ข้อ 3 จงอธิบายถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่าแบ่งออกเป็น ที่องค์กรและแต่ละองค์กรมีอํานาจหน้าที่อย่างไร อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

ธงคําตอบ

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กําหนดให้มีองค์กรอิสระจํานวน 5 องค์กร และแต่ละองค์กรจะมีหน้าที่และอํานาจ ดังนี้

1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คน มีหน้าที่และอํานาจ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 224 ได้แก่

(1) จัดหรือดําเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกสมาชิกวุฒิสภา การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น และการออกเสียงประชามติ

(2) ควบคุมดูแลการเลือกตั้งและการเลือกตาม (1) ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และควบคุมดูแลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อการนี้ ให้มีอํานาจสืบสวนหรือไต่สวนได้ตามที่จําเป็นหรือที่เห็นสมควร

(3) เมื่อผลการสืบสวนหรือไต่สวนตาม (2) หรือเมื่อพบเห็นการกระทําที่มีเหตุ อันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งหรือการเลือกตาม (1) มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือการออกเสียงประชามติ เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้มีอํานาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้ง หรือการเลือก หรือการออกเสียงประชามติ และสั่งให้ดําเนินการเลือกตั้ง เลือก หรือออกเสียงประชามติใหม่ ในหน่วยเลือกตั้ง บางหน่วย หรือทุกหน่วย

(4) สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือก ตาม (1) เป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินหนึ่งปี เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้นั้นกระทําการหรือรู้เห็นกับการกระทําของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริต หรือทําให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(5) ดูแลการดําเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย

(6) หน้าที่และอํานาจอื่นตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

2 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีจํานวน 3 คน มีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 230

(1) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคําสั่ง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน หรือเป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จําเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุ

(2) แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายของหน่วยงาน อันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ขจัดหรือระงับความเดือดร้อน หรือความไม่เป็นธรรมนั้น

(3) เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ

3 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการ จํานวน 9 คน มีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 234 ได้แก่

(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อํานาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดําเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ หรือตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทําความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดําเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(3) กําหนดให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดํารงตําแหน่ง ในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว

(4) หน้าที่และอํานาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

4 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คน มีหน้าที่และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 240 ได้แก่

(1) วางนโยบายตรวจเงินแผ่นดิน

(2) กําหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน

(3) กํากับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตาม (1) และ (2) และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

(4) ให้คําปรึกษา แนะนํา หรือเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ให้เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รวมทั้งการให้คําแนะนําแก่หน่วยงานของรัฐในการแก้ไขข้อบกพร่อง เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน

(5) สั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทําผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ

5 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยกรรมการจํานวน 7 คน มีหน้าที่ และอํานาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 ได้แก่

(1) ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณี โดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง

(2) จัดทํารายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี และเผยแพร่ต่อประชาชน

(3) เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือ คําสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

(4) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม

(5) สร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ตระหนักถึงความสําคัญของสิทธิมนุษยชน

(6) หน้าที่ และอํานาจอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

 

ข้อ 4 ศาลปกครองกลางส่งคําร้องนายเอกโจทก์ในคดีมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่โต้แย้งว่า พ.ร.บ. ทนายความฯ มาตรา 35 (6) ซึ่งอาจจะนํามาตัดสินกับคดีขัดหรือแย้งและละเมิดต่อสิทธิหรือ เสรีภาพตามมาตรา 27 และมาตรา 40 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 เพราะบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ เพราะยื่นขอเป็นทนายความแต่เคยต้องโทษจําคุกในคดีถึงที่สุดและคณะกรรมการฯ เห็นว่าจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติวิชาชีพทนายความไม่มีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้ต้องห้ามและจะสิ้นสิทธิการเป็นทนายความตลอดชีวิต ซึ่งเทียบกับมาตรา 69 พ.ร.บ. ทนายความฯ แล้วพบว่า บุคคลซึ่งถูกลบชื่อจากทะเบียนทนายความเพราะทําให้เสื่อมเสียเกียรติวิชาชีพยังมีโอกาสขอเป็นทนายความใหม่ได้เมื่อพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และ พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 (5) ซึ่งศาลปกครองกลางเคยนํามาตัดสินกับคดีอื่นก็ขัดหรือแย้งกับมาตรา 27 และมาตรา 40 รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกัน เพราะหากพนักงานรัฐวิสาหกิจทําผิดอาญาแม้ศาลให้รอการลงโทษไว้ ก็ทําให้ขาดคุณสมบัติการเป็นพนักงานฯ แล้ว ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ จะพ้นการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ต่อเมื่อได้รับโทษจําคุกจริงเท่านั้น ดังนี้หากท่านเป็นศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําสั่งหรือคําวินิจฉัย ในคดีนี้อย่างไร เพราะเหตุใด ให้ยกหลักกฎหมายประกอบคําตอบโดยชัดแจ้ง

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

มาตรา 5 วรรคหนึ่ง “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”

มาตรา 25 วรรคสาม “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”

มาตรา 27 “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกําเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือ เหตุอื่นใด จะกระทํามิได้…”

มาตรา 40 “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่ง กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือ ขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จําเป็นหรือ เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น…”

มาตรา 212 วรรคหนึ่ง “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาล เห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 5 และ ยังไม่มีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาล รัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดําเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลปกครองกลางได้ส่งคําร้องของนายเอกโจทก์ในคดีมายัง ศาลรัฐธรรมนูญตามที่นายเอกได้โต้แย้งว่า พ.ร.บ. ทนายความฯ มาตรา 35 (6) ซึ่งศาลจะนํามาตัดสินกับคดี ขัดหรือแย้งและละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพตามมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจฯ มาตรา 9 (5) ซึ่งศาลปกครองกลางเคยนํามาตัดสินกับคดีอื่นก็ขัดหรือแย้งกับ มาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 เช่นเดียวกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําสั่งหรือ คําวินิจฉัยในคดีนี้อย่างไร แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคําร้องโต้แย้งของนายเอกดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่

(1) มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ ซึ่งศาลปกครองกลางจะนํามาตัดสินกับคดีของนายเอกนั้น ถือเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ตามนัยของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 212 ในการที่ ศาลปกครองกลางจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นบังคับแก่คดีของนายเอก ดังนั้น นายเอกจึงสามารถใช้ สิทธิโต้แย้งในกรณีนี้ได้ว่า มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่ง รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคําร้องโต้แย้งของนายเอกไว้พิจารณาได้

(2) แม้มาตรา 9 (5) พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งศาลปกครองกลางเคยนํามาตัดสินกับ คดีอื่นจะเป็น “บทบัญญัติแห่งกฎหมาย” ก็ตาม แต่ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลปกครองกลางจะนํามา ใช้บังคับกับคดีของนายเอก กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ดังนั้น นายเอกจึง ไม่สามารถใช้สิทธิโต้แย้งในกรณีนี้ได้ว่า มาตรา 9 (5) พ.ร.บ. พนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 กรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถรับคําร้องโต้แย้งของนายเอกไว้พิจารณา

ประเด็นที่ 2 มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 หลักความเสมอภาคและมาตรา 40 เสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือไม่

(1) มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ แม้จะเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อํานาจ คณะกรรมการสภาทนายความใช้ดุลพินิจว่าคดีใดจะเป็นกรณีที่นํามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพทนายความแต่ก็เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนและความสงบเรียบร้อยในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ อันเป็นประโยชน์ของมหาชนโดยตรง ดังนั้น มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

(2) ตาม พ.ร.บ. ทนายความฯ นั้น ประกาศใช้เพื่อควบคุมและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ทนายความ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อที่จะให้มีการกลั่นกรองบุคคลที่จะประกอบวิชาชีพทนายความ และเพื่อป้องกัน มิให้บุคคลที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมเข้ามาแอบแฝงและหาประโยชน์จากการเป็นทนายความ

มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ จึงมิใช่บทบัญญัติที่จํากัดคุณสมบัติของการเป็น ทนายความโดยเด็ดขาด แต่เป็นกรณีที่กฎหมายให้อํานาจคณะกรรมการฯ พิจารณาว่า คดีเรื่องใดจะนํามาซึ่ง ความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพทนายความ เพื่อให้มีการควบคุมและกลั่นกรองบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม กับการประกอบวิชาชีพทนายความ ดังนั้น มาตรา 35 (6) พ.ร.บ. ทนายความฯ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

สรุป

หากข้าพเจ้าเป็นศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําสั่งรับคําร้องโต้แย้งของนายเอกที่ว่า พ.ร.บ. ทนายความฯ มาตรา 35 (6) ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 ไว้พิจารณา เท่านั้น และจะมีคําวินิจฉัยในคดีนี้ว่า พ.ร.บ. ทนายความฯ มาตรา 35 (6) ดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 27 และมาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

 

Advertisement