การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2104 (LAW2004) กฎหมายรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความหมายและลักษณะสําคัญของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีตามที่ท่านได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

ในปัจจุบันสามารถแบ่งรูปแบบของรัฐธรรมนูญออกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่

1 รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร)

1 รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร หมายถึง รัฐธรรมนูญที่มีการจัดทําขึ้นในรูปแบบของเอกสาร ที่มีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรถือเป็นรูปแบบของรัฐธรรมนูญสมัยใหม่อันเป็นที่นิยมทั่วโลกโดยเฉพาะในบรรดาประเทศยุโรปภาคพื้นทวีป

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี (รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร) หมายถึง รัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีการจัดทําขึ้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นบรรทัดฐานที่มาจากจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ของแต่ละรัฐ ซึ่งรัฐที่มีระบบการเมืองการปกครองภายใต้ บรรทัดฐานเหล่านี้แต่มิได้สถาปนารัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรขึ้น ย่อมหมายความว่ารัฐดังกล่าวปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี

ในอดีตรัฐธรรมนูญทั้งหลายล้วนปรากฏตัวในรูปแบบของรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีทั้งสิ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญเหล่านี้ก่อตัวขึ้นโดยการรวบรวมจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครองเข้าด้วยกัน เช่น ในประเทศฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 การดําเนินงานของบรรดาสถาบันการเมืองทั้งหลายล้วนอยู่ ภายใต้บรรทัดฐานต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในรูปของกฎหมายลายลักษณ์อักษร หากแต่ปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบของบรรทัดฐานที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานานจนกระทั่งถึงจุดที่ผู้ปกครองยอมรับและจําเป็นต้องปฏิบัติตาม โดยไม่อาจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงเป็นผลผลิตแห่งบรรดาจารีตประเพณีในทางการเมืองการปกครอง ซึ่งในปัจจุบันรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่จะปรากฏตัวอยู่ในรูปแบบลายลักษณ์อักษร เหลือเพียงบางรัฐที่ยังคงปกครอง ภายใต้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เช่น ประเทศอังกฤษ และซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น

รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี มีลักษณะที่สําคัญ 3 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1 เนื่องจากรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในระบบการเมืองการปกครอง ข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่องแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐจึงนําไปสู่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีที่มีลักษณะแตกต่างกันตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีจึงไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานของเจตจํานงที่จะก่อตั้งระบบการเมืองการปกครองที่ผ่านการออกแบบอย่างเป็นระบบแบบแผนมาตั้งแต่แรก กลไกทางการเมืองต่าง ๆ ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่กลไกที่ผ่านการวิเคราะห์ผลดีผลเสีย หรือ ผ่านการวางแผนให้เกิดผลกระทบต่าง ๆ ในทางการเมืองมาแต่แรก กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร สมัยใหม่ซึ่งผู้ร่างจะต้องทําการคิดวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบทางการเมืองการปกครองให้ชัดเจนเสียก่อน

2 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมักก่อให้เกิดปัญหาความไม่ชัดเจนในการใช้ตีความรัฐธรรมนูญรวมทั้งความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความไม่ต่อเนื่องหรือทางตันในทางการเมือง ในกรณีที่เกิดปัญหาซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น มาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ของรัฐนั้น ๆ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีย่อมไม่อาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยง่าย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ได้ถูกออกแบบมาอย่างรอบคอบ ความเสี่ยงที่จะประสบกับ ปัญหาดังกล่าวย่อมมีน้อย หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่นั้น เปิดโอกาส ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อยู่เสมอ

3 รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่มีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยในเชิงรูปแบบ เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ก่อตัวขึ้นจากทางปฏิบัติต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองซึ่งมักเป็นทางปฏิบัติ ที่อยู่ในความควบคุมของกษัตริย์หรือชนชั้นสูง ประชาชนจึงไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในการสถาปนารัฐธรรมนูญแม้แต่น้อย กรณีจึงแตกต่างจากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรสมัยใหม่ซึ่งมักจะถูกสถาปนาขึ้นโดยความยินยอมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอํานาจอธิปไตย

 

ข้อ 2 การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบเผด็จการและรูปแบบผสม (กึ่งเผด็จการถึงประชาธิปไตย)คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร

ธงคําตอบ

“การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบเผด็จการ”

ในรัฐที่ปกครองด้วยระบบเผด็จการ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบคณาธิปไตย เป็นต้น อําานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมย่อมอยู่ในมือของผู้ปกครองหรือคณะผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียว

การจัดทํารัฐธรรมนูญจึงไม่มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประชาชน แต่เป็นการจัดทําโดยผู้ปกครองฝ่ายเดียว และมอบให้แก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง ผู้ปกครองจึงเป็นผู้กําหนดสถานะและอํานาจขององค์กรผู้ใช้อํานาจรัฐ ซึ่งย่อมหมายความรวมถึงสถานะและอํานาจของผู้ปกครองเองด้วย

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการในบางกรณีอาจนําไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยได้ หากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตย กล่าวคือมีบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมือง ของประชาชนเป็นสําคัญ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ปกครองที่มีอํานาจ เบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือย่อมไม่มีเจตนาที่จะสละอํานาจดังกล่าวให้กับประชาชนหากไม่ใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ในโลกปัจจุบันยังคงปรากฏการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบเผด็จการอยู่โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สามซึ่งมักจะมีการทํารัฐประหารโดยกองทัพ โดยภายหลังการยึดอํานาจรัฐบาลประชาธิปไตยมักจะมีการฉีกรัฐธรรมนูญเดิมและจัดทํารัฐธรรมนูญใหม่โดยกองทัพหรือผู้ที่กองทัพแต่งตั้ง จากนั้นผู้ก่อการรัฐประหาร มักประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ตนเองจัดทําขึ้นใหม่โดยไม่ผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตยใด ๆ ทั้งสิ้น

“การสถาปนารัฐธรรมนูญในรูปแบบผสม” (กึ่งเผด็จการถึงประชาธิปไตย)

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมอยู่ในมือของทั้งผู้ปกครองในระบอบเผด็จการและประชาชน กล่าวคือ เป็นรัฐธรรมนูญอันเป็นผลมาจากการต่อสู้หรือ ต่อรองกันระหว่างผู้ปกครองเดิม (กษัตริย์หรือผู้เผด็จการ) และประชาชน (ผู้แทนประชาชนหรือคณะปฏิวัติในนาม ของประชาชน) จนได้ข้อสรุปตกลงร่วมกัน

การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมมักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการเปลี่ยนราชวงศ์หรือการก่อตั้ง ราชวงศ์ใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1830 เป็นต้น ส่วนในปัจจุบันการจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสม มักเป็นกรณีที่คณะรัฐประหารเสนอร่างรัฐธรรมนูญ (ที่มิได้มาจากการร่างโดยผู้แทนของประชาชน) ให้ประชาชน เป็นผู้รับรองผ่านกระบวนการประชามติ เช่น กรณีของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 และ 2560 ซึ่งในทางปฏิบัติ การจัดทํารัฐธรรมนูญแบบผสมนั้นเกิดขึ้นได้ยากกว่าการจัดทํารัฐธรรมนูญในรูปแบบอื่น

ข้อสังเกตประการสําคัญ คือ แม้ร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทําโดยฝ่ายเผด็จการไม่ว่าจะโดยกษัตริย์ หรือคณะรัฐประหาร จะได้รับการรับรองโดยประชามติ ก็มิได้ทําให้การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นการ จัดทําในรูปแบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เนื่องจากจุดเริ่มต้นของการจัดทํารัฐธรรมนูญเกิดจากฝ่ายเผด็จการ ซึ่งปราศจากจุดเชื่อมโยงกับประชาชนโดยสิ้นเชิง

 

ข้อ 3 จงอธิบายข้อจํากัดของสิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปตามที่ท่านได้ศึกษามา

ธงคําตอบ

สิทธิเลือกตั้ง เป็นสิทธิทางการเมืองที่สําคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนจุดกําเนิด ของสิทธิเลือกตั้งเริ่มต้นมาจากสิทธิเลือกตั้งแบบจํากัด และค่อย ๆ พัฒนาไปสู่สิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไป โดยก่อนที่ จะมาเป็นสิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปอย่างในปัจจุบัน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนถูกจํากัดให้อยู่เฉพาะกับชนชั้นสูงมาเป็นเวลานานหลายศตวรรษ ชาวยุโรปรอจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อให้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิที่มีลักษณะทั่วไป

“สิทธิเลือกตั้งแบบจํากัด” เป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ถูกจํากัดไว้เพื่อปัจเจกชน บางกลุ่มซึ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจหรือคุณสมบัติอื่นเหนือคนทั่วไป ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1 สิทธิเลือกตั้งที่ถูกกําหนดโดยการชําระภาษี เป็นสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่ถูกจํากัดไว้เพื่อผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าคนทั่วไป

2 สิทธิเลือกตั้งที่ถูกกําหนดโดยความสามารถ เป็นสิทธิเลือกตั้งที่จํากัดไว้เพื่อผู้ที่มีการศึกษา หรือตําแหน่งหน้าที่การงานที่สูงกว่าคนทั่วไป

“สิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไป” ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีสิทธิเลือกตั้ง แบบทั่วไป เนื่องจากการจํากัดสิทธิเลือกตั้งด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือการศึกษาไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปนั้นไม่มีทางมีลักษณะทั่วไปอย่างสมบูรณ์แบบได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้เพราะมีข้อจํากัดบางประการซึ่งส่งผลให้รัฐไม่อาจกําหนดให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เท่าเทียมกันได้ ซึ่งข้อจํากัดของสิทธิเลือกตั้งแบบทั่วไปอาจแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

1 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยเพศ โดยการกําหนดให้สตรีมีสิทธิทางการเมืองทั้งสิทธิเลือกตั้งและสิทธิในการดํารงตําแหน่งทางการเมืองไม่เท่าเทียมกับบุรุษ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ในประเทศไทยได้กําหนดให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้งและสิทธิในการดํารงตําแหน่งทางการเมืองเท่าเทียมกับบุรุษ

2 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยอายุ เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าอายุเป็นเกณฑ์ ในการชี้วัดวุฒิภาวะและความต้องการมีส่วนร่วมในทางการเมืองของพลเมืองในรัฐ การกําหนดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจึงเป็นเงื่อนไขที่จําเป็นในทุก ๆ รัฐ ซึ่งการกําหนดเกณฑ์อายุดังกล่าวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่มักจะอยู่ระหว่างอายุ 18 ปี ถึง 20 ปี

3 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยสัญชาติ เพราะถือว่า สิทธิพลเมืองนั้นมีความสัมพันธ์กัน อย่างแน่นแฟ้นกับสัญชาติของบุคคล ดังนั้น สิทธิทางการเมืองในรัฐใดย่อมถูกสงวนไว้สําหรับบุคคลที่ถือสัญชาติของรัฐนั้น

4 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยอาการป่วยทางจิต เนื่องจากเป็นที่ยอมรับกันว่าผู้ที่มี อาการป่วยทางจิตถึงขนาดย่อมไม่อาจมีวิจารณญาณในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เทียบเท่าบุคคลปกติ

5 การจํากัดสิทธิเลือกตั้งโดยการกระทําความผิด โดยรัฐอาจกําหนดเงื่อนไขบางประการ ในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งเพิกถอนสิทธิทางการเมืองสําหรับผู้ที่กระทําความผิดจนถูกศาลพิพากษา ให้ลงโทษจําคุกได้ เป็นต้น

และนอกจากนั้นในบางรัฐเช่นประเทศไทย อาจมีการจํากัดสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชน โดยอาศัยปัจจัยอื่นอีกก็ได้ เช่น การจํากัดสิทธิเลือกตั้งของภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช เป็นต้น

 

ข้อ 4 ให้อธิบายถึงแนวความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) และจากแนวความคิด ดังกล่าวนําไปสู่การจัดทํารัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยอย่างน้อยจะต้องประกอบไปด้วยหลักการใดบ้าง (อธิบายมาให้เข้าใจอย่างชัดเจนในแต่ละหลักการ)

ธงคําตอบ

แนวความคิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนิยม (Constitutionalism) เป็นแนวความคิดที่มุ่งเน้นถึง รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร มีเจตนารมณ์ที่สําคัญคือให้เป็นเครื่องมือในการกําหนดรูปแบบการปกครองและกําหนดกลไกอันเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการจัดองค์กรด้านบริหารรัฐกิจ หรือการจัดองค์กรบริหารของรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการใช้รัฐธรรมนูญในลักษณะสัญญาประชาคม เพื่อจํากัดและควบคุมการใช้บังคับอํานาจรัฐของฝ่ายผู้ใช้อํานาจปกครองหรือรัฐบาล เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน รวมทั้งการสร้างความเป็นธรรม ให้เกิดแก่สังคม และเป็นการสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพให้เกิดแก่ฝ่ายผู้ใช้อํานาจปกครองหรือรัฐบาล ในระบบการเมือง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นภายใต้กรอบแนวความคิดรัฐธรรมนูญนิยม จะต้องมีสาระสําคัญ อย่างน้อย 6 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1 หลักการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพของประชาชน กล่าวคือ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และรับรองความ เสมอภาคของประชาชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และหากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ได้รับรองไว้ จะต้องมีการแก้ไขเยียวยา

2 หลักการสร้างเสถียรภาพของรัฐบาล กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารที่ใช้อํานาจ ในการบริหารประเทศ จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติที่ทําให้รัฐบาลสามารถดํารงอยู่ได้อย่าง มีเสถียรภาพ เช่น สร้างระบบให้มีการล้มรัฐบาลได้ยากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างมาตรการเสริมเสถียรภาพ ของรัฐบาลด้วย เช่น กําหนดมาตรการในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ หรือถ้าจะไล่นายกรัฐมนตรีคนเก่าก็จะต้องเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย เพื่อให้สังคมหรือประชาชนทั่วไปได้เปรียบเทียบกัน เป็นต้น

3 หลักการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ กล่าวคือ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับ การควบคุมการใช้อํานาจรัฐไว้ด้วย เช่น ควบคุมไม่ให้ใช้อํานาจเกินกว่าที่มี ควบคุมไม่ให้มีการใช้อํานาจที่เป็น การรุกรานสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น ซึ่งหลักการควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น จะต้องอยู่ภายใต้หลักการ ที่สําคัญ 2 ประการ คือ

ประการแรก หลักการใช้อํานาจรัฐจะต้องชอบด้วยกฎหมาย คือ รัฐจะใช้อํานาจของรัฐ ก้าวล่วงเข้าไปในสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีกฎหมายให้อํานาจไว้ หากไม่มีกฎหมายให้อํานาจรัฐไว้รัฐจะทํามิได้

ประการที่สอง คนทุกคนที่อยู่ในรัฐจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครองหรือผู้ใต้ปกครอง

4 หลักการเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมี บทบัญญัติแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

5 หลักการแบ่งแยกอํานาจ กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้ อํานาจรัฐและการแบ่งแยกการใช้อํานาจรัฐ รวมทั้งการถ่วงดุลของการใช้อํานาจดังกล่าว คือ อํานาจนิติบัญญัติ อํานาจบริหารและอํานาจตุลาการไว้อย่างชัดเจน

6 หลักนิติรัฐ กล่าวคือ ภายใต้หลักรัฐธรรมนูญนิยมนั้น ย่อมถือว่ารัฐธรรมนูญเป็น กฎหมายสูงสุดที่ใช้ปกครองประเทศ ดังนั้นในการใช้อํานาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อํานาจรัฐทางด้านบริหาร ด้านนิติบัญญัติ และด้านตุลาการ จะต้องเป็นการใช้อํานาจภายใต้ขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้อํานาจไว้เท่านั้น

Advertisement