การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2103 (LAW 2003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหมึกทําสัญญาเช่าบ้านกับนายกุ้ง สัญญามีกําหนด 1 ปี หลังจากทําสัญญาได้ 6 เดือน ปรากฏว่า นายหมึกค้างชําระค่าเช่าบ้านเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน นายกุ้งทวงถามให้นายหมึกชําระค่าเช่าบ้าน แต่นายหมึกก็ยังไม่ยอมชําระ วันเกิดเหตุช่วงเวลาที่นายหมึกออกไปทํางาน นายกุ้งได้มาปิดล็อค กุญแจบ้านเช่าหลังดังกล่าวเพื่อไม่ให้นายหมึกเข้าไปในบ้านได้ เมื่อนายหมึกกลับมาจึงไม่สามารถเข้าไปในบ้านเช่านี้ได้ นายหมึกจึงแจ้งไปยังนายกุ้งว่าการกระทําดังกล่าวของนายกุ้งนั้นทําให้ นายหมึกได้รับความเสียหาย แต่นายกุ้งโต้แย้งว่านายกุ้งมีสิทธิที่จะทําเช่นนั้นได้ เนื่องจากนายหมึก ไม่ยอมชําระค่าเช่า ดังนี้ จงวินิจฉัยว่าการกระทําของนายกุ้งเป็นละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

1 บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2 ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4 มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมึกทําสัญญาเช่าบ้านกับนายกุ้งมีกําหนด 1 ปี หลังจากทําสัญญา ได้ 6 เดือน ปรากฏว่านายหมึกค้างชําระค่าเช่าบ้านเป็นเวลา 3 เดือนติดต่อกัน และเมื่อนายกุ้งทวงถามให้นายหมึก ชําระค่าเช่าบ้าน แต่นายหมึกก็ยังไม่ยอมชําระนั้น การไม่ชําระค่าเช่าบ้านดังกล่าวของนายหมึกถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่า ซึ่งตามกฎหมายเรื่องเช่าทรัพย์นายกุ้งย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริง ตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า นายกุ้งยังมิได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่ากับนายหมึกแต่อย่างใด ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่าง นายหมึกกับนายกุ้งจึงยังไม่ระงับ นายหมึกจึงยังมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในบ้านที่เช่าได้ต่อไป

การที่นายกุ้งได้มาปิดล็อคกุญแจบ้านเช่าหลังดังกล่าวในช่วงเวลาที่นายหมึกออกไปทํางานเพื่อ ไม่ให้นายหมึกเข้าไปในบ้านได้นั้น นายกุ้งย่อมไม่มีสิทธิที่จะกระทําเช่นนั้น แต่เมื่อนายกุ้งได้กระทําการดังกล่าว การกระทําของนายกุ้งจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิในการครอบครองและใช้ประโยชน์ในบ้านที่เช่าของนายหมึก ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยจงใจต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมายและทําให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ดังนั้น นายกุ้งจึงต้องรับผิดในทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายหมึก

สรุป การกระทําของนายกุ้งเป็นละเมิดตามมาตรา 420

 

ข้อ 2 นายกะรอกได้นํารถยนต์ไปทําสีใหม่ที่อู่ของนายกระต่าย โดยนายกระรอกได้ให้นายกระต่ายขับรถยนต์คันที่นายกระรอกจะนํามาทําสีใหม่ไปส่งนายกระรอกที่บ้าน หลังจากส่งนายกระรอกเรียบร้อยแล้ว นายกระต่ายจึงขับรถยนต์คันดังกล่าวกลับไปที่อู่ซ่อมรถของตน ระหว่างเดินทางกลับ นายกระต่ายขับรถด้วยความเร็วสูง ปรากฏว่านายกระทิงซึ่งขับรถยนต์มาด้วยความเร็วสูงเช่นเดียวกัน และได้ขับตีคู่ขนาบข้างกันมา ทั้งสองจึงเกิดความคึกคะนองขับแข่งท้าทายกันด้วยความเร็วสูง ตลอดทาง จนถึงจุดเกิดเหตุบริเวณทางม้าลาย ซึ่งนางสาวกระแตกําลังเดินข้ามอยู่นั้น ทั้งนายกระต่าย และนายกระทิงต่างหยุดรถไม่ทัน ทําให้รถทั้งสองพุ่งเข้าชนนางสาวกระแต เป็นเหตุให้นางสาวกระแต ได้รับบาดเจ็บสาหัส ดังนี้ จงวินิจฉัยว่านางสาวกระแตจะมีสิทธิฟ้องใครให้รับผิดทางละเมิดได้บ้าง และจะฟ้องให้นายกระรอกร่วมรับผิดกับนายกระต่ายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 428 “ผู้ว่าจ้างทําของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ บุคคลภายนอกในระหว่างทําการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทํา หรือในคําสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง”

มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทําละเมิด ท่านว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณี ที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจําพวกที่ทําละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทําละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทําละเมิดร่วมกันด้วย ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ได้แก่

1 นายกระต่ายและนายกระทิงได้ทําการละเมิดหรือร่วมกันทําละเมิดต่อนางสาวกระแตหรือไม่ การที่นายกระต่ายและนายกระทิงขับรถด้วยความเร็วสูงและได้ขับตีคู่ขนาบข้างกันมา ทั้งสองเกิดความคึกคะนองขับแข่งท้าทายกันด้วยความเร็วสูงตลอดทาง จนถึงจุดเกิดเหตุบริเวณทางม้าลาย ซึ่งนางสาวกระแตกําลังเดินข้ามอยู่ ทั้งสองต่างหยุดรถไม่ทัน ทําให้รถทั้งสองพุ่งเข้าชนนางสาวกระแต เป็นเหตุให้ นางสาวกระแตได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น การกระทําของนายกระต่ายและนายกระทิงถือว่าเป็นการละเมิดต่อ นางสาวกระแต ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้ เขาเสียหายต่อร่างกาย และการกระทําของทั้งสองมีความสัมพันธ์กับผลที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทั้งนายกระต่ายและนายกระทิงจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางสาวกระแต

ส่วนกรณีที่จะถือว่านายกระต่ายและนายกระทิงได้ร่วมกันทําละเมิดต่อนางสาวกระแตหรือไม่นั้น กรณีที่จะถือว่าเป็นการร่วมกันทําละเมิดตามบัญญัติตามมาตรา 432 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้กระทํา ได้ร่วมใจกันกระทํามาแต่ต้น แต่ตามข้อเท็จจริงนั้นทั้งสองมิได้มีเจตนาร่วมกันในการกระทําหรือร่วมมือร่วมใจกันกระทําการดังกล่าว จึงไม่ถือว่าทั้งสองร่วมกันทําละเมิดต่อนางสาวกระแต ดังนั้น ทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามมาตรา 301 และมาตรา 291

2 นายกระรอกจะต้องร่วมรับผิดกับนายกระต่ายหรือไม่

การที่นายกระรอกได้นํารถยนต์ไปทําสีใหม่ที่อู่ของนายกระต่าย โดยนายกระรอกได้ให้ นายกระต่ายขับรถยนต์คันที่นายกระรอกจะนํามาทําสีใหม่ไปส่งนายกระรอกที่บ้านนั้น เมื่อนายกระต่ายผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลภายนอกนั้น มิใช่ความเสียหายที่เกิดจากการทํางานที่ผู้ว่าจ้างสั่งให้ทําหรือใน คําสั่งที่ผู้ว่าจ้างได้ให้ไว้แต่อย่างใด อีกทั้งเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายก็เกิดขึ้นในขณะเดินทางกลับอู่โดยนายกระรอก เจ้าของรถไม่ได้นั่งไปด้วย ดังนั้น นายกระรอกเจ้าของรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายกระต่ายตามมาตรา 428 สรุป นางสาวกระแตสามารถฟ้องนายกระต่ายและนายกระทิงให้รับผิดฐานละเมิดได้ตามมาตรา 420 แต่จะฟ้องให้นายกระรอกร่วมรับผิดกับนายกระต่ายไม่ได้

 

ข้อ 3 นายรุ่งไปท่องเที่ยวและเข้าพักที่รีสอร์ทของนายรวย โดยรีสอร์ทแห่งนี้จัดให้มีคอกม้าและสวนหย่อม เพื่อให้ลูกค้าได้ใกล้ชิดธรรมชาติ วันเกิดเหตุ ขณะที่นายรุ่งกําลังเดินพักผ่อนชมคอกม้าอยู่ภายใน รีสอร์ทนั้น นายชนปาก้อนหินและตะโกนเสียงดังเพื่อแกล้งมาให้ตกใจ ทําให้ม้าตัวหนึ่งตกใจมาก วิ่งเตลิดพุ่งเข้าชนรั้วคอกม้าเก่า ๆ เตี้ย ๆ เมื่อวิ่งออกมาก็พุ่งชนและเหยียบขาของนายรุ่ง เป็นเหตุให้ นายรุ่งขาหัก และม้ามีท่าทีจะเหยียบซ้ำ นายรุ่งจึงคว้าไม้ที่ตกอยู่บริเวณนั้นตีเข้าที่ม้าอย่างแรงหนึ่งที เป็นเหตุให้ม้าได้รับบาดเจ็บล้มลง ดังนี้ ใครต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายรุ่งและนายรวยบ้าง หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้ แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่ว สัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือตั๋วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

มาตรา 450 วรรคสาม “ถ้าบุคคลทําบุบสลาย หรือทําลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้ หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้น เพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจําต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายชนปาก้อนหินและตะโกนเสียงดังเพื่อแกล้งมาให้ตกใจ ทําให้ม้าตัวหนึ่งวิ่งเตลิด พุ่งเข้าชนรั้วคอกม้าเก่า ๆ เตี้ย ๆ เมื่อวิ่งออกมาก็พุ่งชนและเหยียบขาของนายรุ่งที่กําลังเดินพักผ่อนชมคอกม้า อยู่ภายในรีสอร์ทเป็นเหตุให้นายรุ่งขาหักนั้น ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายรุ่งเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้น นายรวยซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง และถ้านายรวยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายรุ่งแล้ว นายรวยย่อมสามารถไล่เบี้ยเอาจากนายชนผู้ที่เร้าหรือ ยั่วสัตว์นั้นได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง

2 การที่ม้ามีท่าทีจะเหยียบนายรุ่ง นายรุ่งจึงคว้าไม้ที่ตกอยู่บริเวณนั้นตีเข้าที่ม้าอย่างแรงหนึ่งที เป็นเหตุให้ม้าได้รับบาดเจ็บล้มลงนั้น แม้การกระทําของนายรุ่งจะเป็นการละเมิดต่อนายรวยเจ้าของม้า ตามมาตรา 420 ก็ตาม แต่นายรุ่งก็สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรคสามได้ เนื่องจากเป็นการ ป้องกันภัยอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์คือม้านั้นเองเป็นต้นเหตุให้ตนต้องป้องกัน และเมื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับม้านั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ นายรุ่งจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายรวย

สรุป นายรวยเจ้าของม้าต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนายรุ่ง ส่วนนายชนผู้ที่เร้าหรือตั๋วสัตว์ต้องรับผิดต่อนายรวย

 

ข้อ 4 เด็กชายเรืองอาศัยอยู่กับนางพฤกษาซึ่งมีศักดิ์เป็นป้า โดยนางพฤกษาได้อุปการะเลี้ยงดูเด็กชายเรื่อง มาตั้งแต่เกิด เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กชายเรื่องเสียชีวิตหมดแล้ว วันเกิดเหตุ นางพฤกษาได้พาเด็กชายเรืองไปเดินห้างสรรพสินค้าของนายมั่งมี ขณะกําลังขึ้นบันไดเลื่อน ระบบของบันไดเลื่อนเกิดขัดข้อง จึงทําให้ขาของนางพฤกษาติดในช่องบันไดเลื่อนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง นางพฤกษา ทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตายในที่สุด ส่งผลให้เด็กชายเรืองขาดผู้อุปการะดูแล ดังนี้ ใครต้องรับผิดในทางละเมิดต่อนางพฤกษาหรือไม่ และเด็กชายเรืองจะสามารถเรียกค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลัง เครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการ เสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงบุคคลผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางพฤกษาได้พาเด็กชายเรื่องไปเดินห้างสรรพสินค้าของนายมั่งมี และในขณะที่กําลังขึ้นบันไดเลื่อน ระบบของบันไดเลื่อนเกิดขัดข้อง ทําให้ขาของนางพฤกษาติดในช่องบันไดเลื่อน ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง และนางพฤกษาทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตายนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ นางพฤกษานั้น ถือเป็นความเสียหายซึ่งเกิดจากทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยอาการกลไกของทรัพย์นั้น ตามมาตรา 437 วรรคสอง ดังนั้น ห้างสรรพสินค้าของนายมั่งมีซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตามมาตรา 437

ส่วนเด็กชายเรืองจะสามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพได้นั้น จะต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 หรือเป็นผู้ที่มีอํานาจในการจัดการศพตามมาตรา 1649 เท่านั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเด็กชายเรืองมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพฤกษาผู้ตายและ มิใช่ผู้ที่มีอํานาจในการจัดการศพ ดังนั้น เด็กชายเรืองจึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพได้

2 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าเด็กชายเรืองมีศักดิ์เป็นหลานของนางพฤกษา ซึ่งนางพฤกษาไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการอุปการะ เลี้ยงดูเด็กชายเรืองแต่อย่างใด ดังนั้น เด็กชายเรืองจึงไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะได้

สรุป ห้างสรรพสินค้าของนายมั่งมีจะต้องรับผิดทางละเมิดต่อนางพฤกษา และเด็กชายเรืองไม่สามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้

Advertisement