การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์และพุธเป็นเพื่อนบ้านกัน วันหนึ่ง สุนัขของจันทร์ได้หลุดออกจากบ้านของจันทร์และวิ่งไล่กัดพุธ ซึ่งเดินผ่านหน้าบ้านพอดี พุธตกใจจึงเป็นลมและถูกสุนัขของจันทร์กัดได้รับบาดเจ็บ จังหวะนั้นเอง ศุกร์เดินผ่านมาเห็นเหตุการณ์พอดี ศุกร์จึงได้ใช้ไม้ตีสุนัขของจันทร์เพื่อให้เลิกกัดพุธ ทําให้สุนัขของจันทร์หัวแตก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศุกร์จะต้องรับผิดต่อจันทร์หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคล ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 450 วรรคสาม “ถ้าบุคคลทําบุบสลาย หรือทําลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้ หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้น เพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจําต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่สุนัขของจันทร์ได้หลุดออกจากบ้านของจันทร์และวิ่งไล่กัดพุธซึ่งเดินผ่าน หน้าบ้านพอดี ทําให้พุธตกใจจึงเป็นลมและถูกสุนัขของจันทร์กัดได้รับบาดเจ็บนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพุธ ถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ตามนัย มาตรา 433 วรรคหนึ่ง

การที่ศุกร์ซึ่งผ่านมาเห็นเหตุการณ์พอดี ได้ใช้ไม้ตีสุนัขของจันทร์เพื่อให้เลิกกัดพุธทําให้สุนัขของพุธหัวแตกนั้น การกระทําของศุกร์ถือเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหาย แก่ทรัพย์สิน จึงถือว่าศุกร์ได้กระทําละเมิดต่อจันทร์ตามาตรา 420 ซึ่งโดยหลักแล้วศุกร์จะต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จันทร์ แต่อย่างไรก็ตาม ศุกร์สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามาตรา 450 วรรคสามได้ เนื่องจากเป็นการกระทําเพื่อป้องกันสิทธิของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉิน เพราะตัวทรัพย์ นั้นเองเป็นเหตุให้ต้องป้องกัน และเมื่อความเสียหายอันเกิดแก่สุนัขนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ ศุกร์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่จันทร์

สรุป ศุกร์ไม่ต้องรับผิดต่อจันทร์

 

ข้อ 2 นายดําเกิงเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค โดยช่วงแรกที่เปิดให้บริการนั้นทางห้างฯของนายดําเกิงมีการให้บริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้า และทางห้างฯ เคยจัดให้มีการแจกบัตรสําหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างฯ ซึ่งหากไม่มีบัตรผ่านกรณีจะนํารถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของนายดําเกิง หลังจากเปิดให้บริการได้ระยะหนึ่งทางห้างฯ ของนายดําเกิงได้ยกเลิกวิธีการดังกล่าว โดยใช้กล้องวงจรปิดแทน โดยปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหายหรือเสียหายใด ๆ ทั้งนี้ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถ แต่ก็นํารถเข้ามาจอดตามปกติเวลาที่มาซื้อสินค้าภายในห้างฯ วันเกิดเหตุ นายเด่นได้นํารถยนต์มาจอดในห้างฯ เพื่อเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้างฯ ปรากฏว่าได้มีคนร้ายเข้ามาโจรกรรมรถของนายเด่นไปได้ ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าดังกล่าว จะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

การกระทําอันเป็นการละเมิดนั้นต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 420 ดังนี้

1 บุคคลกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

2 ทําต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย

3 มีความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด

4 มีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทําและผลของการกระทํา

ดังนั้นในเบื้องต้น จึงจําต้องพิจารณาก่อนว่าผู้ทําละเมิดมี “การกระทํา” หรือไม่ หากบุคคล ไม่มี “การกระทํา” ก็ไม่ต้องรับผิดในทางละเมิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สําหรับการกระทํานั้น หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับหรือทําโดยรู้สํานึก นอกจากนี้การกระทํายังหมายความรวมถึงการงดเว้น การเคลื่อนไหวอันพึงต้องทําเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้นด้วย ในส่วนของการงดเว้นอันจะถือว่าเป็นการกระทําตามกฎหมายนั้น หมายถึงการงดเว้นการกระทําตามหน้าที่ที่จะต้องกระทําเพื่อป้องกันมิให้ผลนั้นเกิดขึ้นเท่านั้น หากบุคคลนั้นไม่มีหน้าที่ การงดเว้นนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทํา

กรณีตามอุทาหรณ์ นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าจะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับนายเด่นในกรณีที่รถยนต์ของนายเด่นที่นํามาจอดในห้างฯ ของนายดําเกิงนั้นได้ถูกโจรกรรมไป เนื่องจากเดิมที่ห้างฯ ของนายดําเกิงได้เปิดให้บริการนั้นได้มีการจัดให้บริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถให้กับลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าและได้จัดให้มีการแจกบัตรสําหรับรถของลูกค้าที่เข้ามาในห้างฯ ซึ่งหากไม่มีบัตรผ่านแล้วกรณีที่จะนํารถยนต์ออกไปจะต้องถูกตรวจสอบโดยพนักงานของนายดําเกิง และแม้ภายหลังทางห้างฯ ของนายดําเกิงจะได้ ยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสียโดยใช้กล้องวงจรปิดแทนนั้น แม้จะได้ปิดประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบต่อการสูญหาย หรือเสียหายใด ๆ รวมทั้งการที่ลูกค้าก็ทราบถึงการยกเลิกการแจกบัตรจอดรถแต่ก็ยังนํารถเข้ามาจอดก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องข้อกําหนดของทางห้างฯ นายดําเกิงฝ่ายเดียว ไม่มีผลเป็นการยกเว้นความรับผิดในทางละเมิดของ ห้างฯ นายดําเกิงแต่อย่างใด

ดังนั้น การที่รถยนต์ของนายเด่นที่นํามาจอดในห้างฯ ของนายดําเกิงถูกโจรกรรมไป ย่อมถือว่า เป็นความสูญหายหรือเสียหายที่เกิดจากการทําละเมิดของห้างฯ ของนายดําเกิงโดยการงดเว้นการที่จักต้องกระทําเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลนั้นขึ้น โดยถือว่าเป็นการงดเว้นการที่จะต้องกระทําตามหน้าที่ที่เกิดขึ้นจากการกระทําครั้งก่อน ของห้างฯ (เทียบเคียงคําพิพากษาฎีกาที่ 7471/2556) ดังนั้น นายดําเกิงเจ้าของห้างสรรพสินค้าจึงต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่น

สรุป นายดําเกิงเจ้าของห้างฯ จะต้องรับผิดทางละเมิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนายเด่น

 

ข้อ 3 เด็กชายรุ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของนายกิตติ ที่นายกิตติอุปการะเลี้ยงดูและให้ใช้นามสกุล วันเกิดเหตุ เด็กชายรุ่งไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะของหมู่บ้าน ปรากฏว่าพลุที่นายมืดใส่ไว้ในกระเป๋า สะพายด้านหลังเกิดประทุขึ้นมา แล้วสะเก็ดพลุกระเด็นไปโดนเด็กชายรุ่ง ส่งผลให้เด็กชายรุ่งได้รับ บาดเจ็บสาหัส รักษาตัวอยู่เดือนกว่าก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวถึงแก่ความตายในที่สุด ให้วินิจฉัยว่า

(ก) นายมืดต้องรับผิดทางละเมิดต่อเด็กชายรุ่งหรือไม่

(ข) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่านายมืดใส่ซองช่วยงานศพจํานวน 5,000 บาทไปแล้ว นายกิตติ จะสามารถเรียกค่าปลงศพได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดินด้วยกําลัง เครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง

ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตน ซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่พลุที่นายมืดได้ใส่ไว้ในกระเป๋าสะพายด้านหลังเกิดประทุขึ้นมา แล้วสะเก็ดพลุกระเด็น ไปโดนเด็กชายรุ่งซึ่งกําลังวิ่งเล่นในสวนสาธารณะของหมู่บ้าน เป็นเหตุให้เด็กชายรุ่งถึงแก่ความตายนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้น ถือเป็นความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพตามมาตรา 437 วรรคสอง ดังนั้น นายมืดซึ่งเป็นผู้ครอบครองทรัพย์อันตรายนั้น จึงต้องรับผิดชอบเพื่อความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

(ข) การที่นายมืดใส่ซองช่วยงานศพจํานวน 5,000 บาท แม้เงินดังกล่าวจะมิได้ถูกมอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหาย ซึ่งส่งผลให้เงินดังกล่าวไม่สามารถนํามาหักจากค่าปลงศพที่ต้องจ่ายให้แก่ทายาทของผู้เสียหายก็ตาม

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายกิตติเป็นบิดานอกกฎหมายของเด็กชายรุ่ง นายกิตติจึงมิใช่ทายาทโดยธรรมของเด็กชายรุ่ง นายกิตติจึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพจากนายมืดตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งได้ ทั้งนี้ เพราะผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้ทําละเมิดตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งได้นั้น จะต้องเป็นทายาทและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามาตรา 1629 ด้วย ดังนั้น นายกิตติจึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพจากนายมืดได้

สรุป

(ก) นายมืดต้องรับผิดทางละเมิดต่อเด็กชายรุ่งตามมาตรา 437

(ข) นายกิตติไม่สามารถเรียกค่าปลงศพจากนายมืดได้

 

ข้อ 4 ในปี พ.ศ. 2556 ภาณุประกอบธุรกิจอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ได้เช่าพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น 4 คูหา ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ซึ่งพรสันต์เป็นเจ้าของ เพื่อก่อสร้างและติดตั้งป้ายโฆษณาติดตั้งไฟ LED ขนาดใหญ่บนชั้นดาดฟ้าให้คนทั่วไปเห็นได้ในระยะไกล ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเป็นเหตุให้ป้ายโฆษณาบางส่วนพังลงมาจากอาคารพาณิชย์หล่นไปทับบ้านและรถยนต์ของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณติดกัน ชาวบ้านอ้างถึงเหตุ ความชํารุดบกพร่องและบํารุงรักษาไม่เพียงพอมาเรียกร้องให้พรสันต์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และพรสันต์ชี้แจงชาวบ้านว่า การที่ป้ายโฆษณาพังลงมานั้น เกิดจากลมพายุฝนตกหนักเป็นเหตุสุดวิสัยจึงไม่ต้องรับผิดชอบ จากข้อเท็จจริงนี้พรสันต์ต้องรับผิด หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายตามกฎหมายละเมิด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 434 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ก่อสร้างไว้ชํารุดบกพร่องก็ดี หรือบํารุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จําต้อง ใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้วท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ภานุได้เช่าพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ของพรสันต์เพื่อก่อสร้างและติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บนชั้นดาดฟ้า ต่อมาได้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเป็นเหตุให้ป้ายโฆษณาบางส่วนพังลงมาจากอาคารพาณิชย์หล่นไปทับบ้านและรถยนต์ของชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณติดกันนั้น เมื่อบ้านและรถยนต์ของชาวบ้านได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างพังลงมาและป้ายขนาดใหญ่ดังกล่าวได้ก่อสร้างมาประมาณ 6 ปีแล้ว ย่อมอาจจะเกิดความชํารุดบกพร่องหรือบํารุงรักษา ไม่เพียงพอต่อสิ่งปลูกสร้างนั้นได้ ดังนั้น ผู้ครองสิ่งปลูกสร้างนั้น ซึ่งคือภาณุจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม มาตรา 434 เพราะภานุเป็นผู้เช่าพื้นที่ดาดฟ้าของอาคารพาณิชย์เพื่อปลูกสร้างป้ายโฆษณาขนาดใหญ่นั้น ไม่ใช่พรสันต์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ และภานุเป็นผู้ที่จะต้องต่อสู้ว่าตนได้บํารุงรักษาป้ายโฆษณาอย่างเพียงพอ หรือที่ป้ายโฆษณาบางส่วนพังลงมาก็ไม่ได้เกิดจากความชํารุดบกพร่อง แต่เป็นเหตุสุดวิสัย

แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนักนั้น ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามปกติในช่วงฤดูฝนที่อาจเกิดเหตุการณ์ฝนฟ้าคะนอง ลมพัดแรงทําให้สิ่งปลูกสร้างหักโค่นล้มลงได้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นทุกปีและเป็นภัยธรรมชาติที่อาจคาดการณ์และสามารถป้องกันได้ จึงมิใช่เหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ภาณุซึ่งเป็นผู้ครองสิ่งปลูกสร้าง (ป้ายโฆษณา) จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่พรสันต์

สรุป ภาณุเป็นผู้ซึ่งจะต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น

ส่วนพรสันต์ไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด

Advertisement