การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายป๊อบจูงสุนัขที่ตนเป็นเจ้าของอยู่นั้น ไปขโมยเนื้อย่างของเด็กหญิงนานา เมื่อนายอาร์ทบิดาของเด็กหญิงนานาเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้ใช้ไม้ตีสุนัข ทําให้สุนัขได้รับบาดเจ็บและสุนัข ได้รับความเจ็บปวดจึงวิ่งเตลิดไปชนป้ายโฆษณาหน้าร้านขายของที่ตั้งอยู่บริเวณทางเท้า ทําให้ป้ายโฆษณาของนางอึ่งอ่างหล่นกระแทกพื้นแล้วกระเด็นไปทับเด็กชายน้อยถึงแก่ความตายทันที

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโหน่งซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อยจะเรียกร้องให้นายป๊อบ เด็กหญิงนานา และนายอาร์ท ร่วมกันรับผิดต่อตนเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและ ค่าขาดไร้อุปการะในความตายของเด็กชายน้อยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคล ผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 449 “บุคคลใดเมื่อกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทําตามคําสั่งอันชอบ ด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้น ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การที่นายป๊อบจูงสุนัขที่ตนเป็นเจ้าของอยู่นั้น ไปขโมยเนื้อย่างของเด็กหญิงนานา ถือว่านายป๊อบได้กระทําการอันเป็นการละเมิดต่อเด็กหญิงนานาตามมาตรา 420 แล้ว เพราะเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินโดยใช้สัตว์เป็นเครื่องมือ ดังนั้น นายป๊อบ ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เด็กหญิงนานา แต่นายป๊อบไม่ต้องรับผิดต่อเด็กหญิงนานาตามมาตรา 433 เพราะมิใช่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์

ประเด็นที่ 2 การที่นายอาร์ทบิดาของเด็กหญิงนานาได้ใช้ไม้ตีสุนัขทําให้สุนัขได้รับบาดเจ็บนั้น แม้การกระทําของนายอาร์ทจะเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่น ทําให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สินก็ตาม แต่เมื่อนายอาร์ทได้กระทําเพื่อป้องกันสิทธิของเด็กหญิงนานาให้พ้นจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง และได้กระทําไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทําของนายอาร์ทจึงเป็นการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น นายอาร์ท จึงสามารถอ้างได้ว่าตนได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 449 วรรคหนึ่ง นายอาร์ทจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายป๊อบ

และเมื่อนายอาร์ทสามารถอ้างเหตุการกระทําเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ ดังนั้น การที่สุนัขซึ่งได้รับความเจ็บปวดได้วิ่งเตลิดไปชนป้ายโฆษณา ทําให้ป้ายโฆษณาของนางอึ่งอ่างหล่นกระแทกพื้นแล้วกระเด็นไปทับเด็กชายน้อยถึงแก่ความตายทันที เด็กชายน้อยซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน จากนายป๊อบผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ตามมาตรา 449 วรรคสอง แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากเด็กหญิงนานาและนายอาร์ทไม่ได้

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กชายน้อยได้รับความเสียหายต่อชีวิต ตามมาตรา 433 ได้กําหนดให้นายโหน่ง ซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อยและเป็นผู้เสียหายทางอ้อม เป็นผู้มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก นายป๊อบได้เพียงแต่นายโหน่งจะเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อเป็นค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะในความตายของเด็กชายน้อยได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจาก ผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 ดังนั้น เมื่อนายโหน่งเป็นเพียงผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อย ซึ่งตามกฎหมายแล้วนายโหน่งมิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของเด็กชายน้อยผู้ตาย นายโหน่งจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีค่าปลงศพไม่ได้

2 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น ได้แก่ สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้ง ผู้รับบุตรบุญธรรม และบุตรบุญธรรมด้วย แต่ในกรณีของบุตรนั้นจะต้องเป็นบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่ทุพพลภาพ หาเลี้ยงตนเองไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อนายโหน่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อย นายโหน่งจึงมีสิทธิเรียกค่า สินไหมทดแทนในกรณีค่าขาดไร้อุปการะจากนายป๊อบได้

สรุป

นายโหน่งซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมเด็กชายน้อยสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะจากนายป๊อบได้ แต่จะเรียกค่าปลงศพไม่ได้

 

ข้อ 2 นายเป้งหัดขับรถยนต์อยู่ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ระหว่างหัดขับนั้น รถยนต์เกิดขัดข้องทําให้นายเป้งควบคุมรถยนต์ไม่ได้และพุ่งเข้าชนรั้วบ้าน แปลงดอกไม้ภายในบ้าน และตัวบ้านของนายไท เสียหาย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 30,000 บาท ดังนี้ นายเป้งจะปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากรถยนต์ ขัดข้องได้หรือไม่ และนายไทจะยึดรถยนต์ของนายเป้งเพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายเป้งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 437 วรรคหนึ่ง “บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใด ๆ อันเดิน ด้วยกําลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง”

มาตรา 452 วรรคหนึ่ง “ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทําความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน อันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าจําเป็น โดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทําได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเป้งหัดขับรถยนต์อยู่ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และระหว่างหัดขับนั้น รถยนต์เกิดขัดข้องทําให้นายเป้งควบคุมรถยนต์ไม่ได้และพุ่งเข้าชนรั้วบ้าน แปลงดอกไม้ภายในบ้าน และตัวบ้าน ของนายไทเสียหาย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 30,000 บาทนั้น กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นความเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะ อันเดินด้วยกําลังเครื่องจักรกล และการที่รถยนต์ของนายเบ้งเกิดขัดข้องนั้นก็มิได้เกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยที่ นายเป้งจะสามารถนําขึ้นมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ ดังนั้น นายเป้งซึ่งเป็นผู้ครอบครองและควบคุมดูแล ยานพาหนะคือรถยนต์นั้น จึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นตามมาตรา 437 วรรคหนึ่ง

และตามมาตรา 452 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่น อันเข้ามาทําความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้

แต่เมื่อตามอุทาหรณ์ทรัพย์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นเป็นรถยนต์ของนายเป้งซึ่งไม่ใช่สัตว์ที่เข้ามาทําความ

เสียหายในอสังหาริมทรัพย์ของนายไท ดังนั้น นายไทจึงไม่สามารถยึดรถยนต์ของนายเป้งเพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายเป้งได้

สรุป นายเป้งจะปฏิเสธความรับผิดเนื่องจากรถยนต์ขัดข้องไม่ได้ และนายไทจะยึดรถยนต์ของนายเป้งเพื่อเป็นประกันค่าสินไหมทดแทนจากนายเป้งไม่ได้เช่นเดียวกัน

 

ข้อ 3 นายเท่งเป็นเจ้าของตึก 3 ชั้น โดยได้แบ่งให้นายเก่งเช่าชั้น 2 และนายเข่งเช่าชั้น 3 โดยชั้น 1 นั้น นายเท่งได้เปิดเป็นร้านซักอบรีดเสื้อผ้า และดูแลกิจการด้วยตนเอง วันเกิดเหตุนายเก่งได้ลืมปิดหน้าต่างทําให้เกิดลมพัดแรงและกระแทกหน้าต่างจนหน้าต่างเกิดพังหลุดลงมา แล้วหล่นไปโดน รถยนต์ของนางแหม่มได้รับความเสียหาย ดังนี้

(ก) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าหน้าต่างมีความชํารุดอยู่ก่อนแล้วแต่ยังไม่ได้มีการซ่อมแซม เช่นนี้ ใครจะต้องมารับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่ม

(ข) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าหน้าต่างที่ชํารุดนั้นนายเก่งผู้เช่าได้แจ้งนายเก่งให้เข้ามาซ่อมแซมแล้วแต่นายเท่งยังไม่ซ่อมแซม เช่นนี้ ใครจะต้องมารับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่ม

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 434 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ก่อสร้างไว้ชํารุดบกพร่องก็ดี หรือบํารุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จําต้อง ใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดความเสียหายฉะนั้นแล้ว

ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกนิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายเก่งเป็นเจ้าของตึก 3 ชั้น โดยได้แบ่งให้นายเก่งเช่าชั้น 2 และให้นายเข่งเช่าชั้น 3 โดยชั้น 1 นั้น นายเท่งได้เปิดเป็นร้านซักอบรีดเสื้อผ้าและดูแลกิจการด้วยตนเองนั้น ย่อมถือว่านายเท่งเป็นเจ้าของ และอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบครองโรงเรือนหรือตึกดังกล่าวอยู่ และการที่นายเก่งได้ลืมปิดหน้าต่างทําให้เกิดลมพัดแรงและกระแทกหน้าต่างที่มีความชํารุดอยู่ก่อนแล้วแต่ยังไม่ได้มีการซ่อมแซมพังหลุดลงมาแล้วหล่นไปโดนรถยนต์ของนางแหม่มได้รับความเสียหายนั้น ความเสียหายดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุที่โรงเรือนชํารุดบกพร่องหรือบํารุงรักษาไม่เพียงพอ ดังนั้นนายเท่งซึ่งเป็นผู้ครอบครองโรงเรือนหรือตึกดังกล่าว จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่มตามมาตรา 434 วรรคหนึ่ง

(ข) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการที่หน้าต่างมีความชํารุดนั้น นายเก่งผู้เช่าได้แจ้งนายเก่งให้เข้ามา ซ่อมแซมแล้ว แต่นายเท่งยังไม่ซ่อมแซม เช่นนี้ กรณีที่หน้าต่างหลุดพังลงมาแล้วหล่นไปโดนรถยนต์ของนางแหม่ม ได้รับความเสียหายนั้น ความเสียหายดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทําละเมิดของนายเท่ง ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อ (ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง) ต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน และการกระทําของนายเท่งที่ไม่ใช้ความระมัดระวังนั้นมีความสัมพันธ์กับผลของการกระทํา ดังนั้น กรณีนี้นายเก่งจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่มเช่นเดียวกัน

สรุป ทั้ง (ก) และ (ข) นายเก่งจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนางแหม่ม

 

ข้อ 4 นายหินและนายปูนเป็นลูกจ้างของนายทะเล ผู้ประกอบการเดินรถสองแถว วันเกิดเหตุนายทะเล สั่งให้นายหินไปขับรถสองแถวรับส่งผู้โดยสารบนถนนรามคําแหง โดยมีนายปูนเป็นผู้เก็บค่าโดยสารนายหินขับรถสองแถวด้วยความประมาทชนเสาไม้ที่ปักริมทางแฉลบจะไปชนเสาไฟฟ้าอย่างแรงซึ่งทําให้ผู้โดยสารทุกคนรู้สึกหวาดเสียวเป็นอย่างมาก นายอ่อนซึ่งเป็นผู้โดยสารบนรถสองแถวคนหนึ่ง เห็นว่ารถสองแถวกําลังจะชนเสาไฟฟ้า จึงกระโดดลงจากรถในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้นายอ่อนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนผู้โดยสารอื่นบนรถสองแถวได้รับบาดเจ็บ นายดําซึ่งเป็นชาวบ้านบริเวณนั้น เห็นเหตุการณ์จึงเกิดความไม่พอใจ เลยตะโกนต่อว่านายหินและนายปูน นายหินและนายปูนโกรธ จึงร่วมกันทําร้ายร่างกายของนายดําจนได้รับอันตรายแก่กาย ให้วินิจฉัยว่า นายหิน นายปูน และ นายทะเล ต้องรับผิดทางละเมิดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 425 “นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทําไปในทางการที่จ้างนั้น”

มาตรา 432 “ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทําละเมิด ท่านว่า บุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณี ที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจําพวกที่ทําละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย

อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทําละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทําละเมิดร่วมกันด้วย ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหินขับรถสองแถวด้วยความประมาทชนเสาไม้ที่ปักริมทางแฉลบ จะไปชนเสาไฟฟ้าอย่างแรง ทําให้นายอ่อนซึ่งเป็นผู้โดยสารบนรถสองแถวคนหนึ่งเห็นว่ารถสองแถวกําลังจะชนเสาไฟฟ้าจึงกระโดดลงจากรถในระยะกระชั้นชิด เป็นเหตุให้นายอ่อนได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนผู้โดยสารอื่นบนรถสองแถวได้รับบาดเจ็บนั้น การกระทําของนายหินถือเป็นการทําละเมิดต่อนายอ่อนและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายต่อร่างกาย ดังนั้น นายหินจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายอ่อนและผู้โดยสารคนอื่น ๆ และแม้ว่าจาก ข้อเท็จจริง นายอ่อนจะกระโดดลงจากรถก่อนก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทําในระยะกระชั้นชิดกับภยันตรายที่จะเกิดขึ้นและในที่สุดก็ได้เกิดขึ้น และเป็นการกระทําเพื่อหลีกเลี่ยงภยันตรายเฉพาะหน้า จึงถือว่าการกระทําของนายอ่อนเป็นผลอันเกิดใกล้ชิดและเนื่องมาจากเหตุขับรถโดยประมาทของนายหิน

และเมื่อนายหินเป็นลูกจ้างของนายทะเล ได้กระทําละเมิดในระหว่างที่ปฏิบัติงานตามคําสั่ง ของนายจ้างจึงเป็นการกระทําละเมิดในทางการที่จ้าง ดังนั้น นายทะเลซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมกันรับผิดกับ นายหินลูกจ้างในผลแห่งละเมิดที่นายหินได้ทําให้เกิดความเสียหายแก่นายอ่อนและผู้โดยสารคนอื่น ๆ ด้วยตามมาตรา 425

ส่วนกรณีที่นายดําได้ตะโกนต่อว่านายหินและนายปูน จนทําให้นายหินและนายปูนโกรธจึงร่วมกัน ทําร้ายร่างกายของนายดําจนได้รับอันตรายแก่กายนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ บุคคลอื่นโดยร่วมกันทําละเมิด ดังนั้น นายหินและนายปูนจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อนายดําตามมาตรา 420 ประกอบ มาตรา 432

และเมื่อการกระทําละเมิดของนายหินและนายปูนดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกวัตถุประสงค์ ของนายทะเลผู้เป็นนายจ้าง และมิใช่กิจการในหน้าที่ที่นายหินและนายปูนได้รับมอบหมาย จึงมิใช่เป็นการทําละเมิด ในทางการที่จ้างของนายทะเล ดังนั้น นายทะเลจึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับนายหินและนายปูนในความเสียหายที่เกิดแก่นายดําแต่อย่างใด เพราะไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 425

สรุป นายหินต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายอ่อน ผู้โดยสารอื่น และนายดํา

นายปูนต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายดํา

นายทะเลต้องรับผิดทางละเมิดต่อนายอ่อนและผู้โดยสารอื่น

Advertisement