การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ร.ต.อ.มืด โกรธแค้นที่นายหล่อมาแย่งแฟนสาวของตนไป จึงแกล้งสั่งให้ ร.ต.ต.โชค ไปจับกุม นายหล่อในข้อหาว่ากระทําความผิดฐานลักทรัพย์ โดย ร.ต.ต.โชค ไม่ทราบว่าเป็นการแกล้งของ ร.ต.อ.มืด จึงได้ทําการจับกุมนายหล่อมาที่สถานีตํารวจ ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหล่อไม่เคยกระทํา ความผิดฐานลักทรัพย์ ให้วินิจฉัยว่า นายหล่อจะสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ใด ได้บ้างหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 449 “บุคคลใดเมื่อกระทําการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทําตามคําสั่งอันชอบ ด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่

ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจากบุคคลผู้ให้คําสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.มืดแกล้งสั่งให้ ร.ต.ต.โชคไปจับกุมนายหล่อในข้อหากระทําความผิดฐานลักทรัพย์ และ ร.ต.ต.โชคได้ทําการจับกุมนายหล่อมาที่สถานีตํารวจนั้น ถือว่า ร.ต.อ.มืดได้กระทํา โดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทําให้เขาเสียหายแก่เสรีภาพ (โดยใช้ ร.ต.ต.โชคเป็นเครื่องมือ) อันเป็นการละเมิดตามมาตรา 420 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น

และจากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.ต.โชคได้จับกุมนายหล่อทําให้นายหล่อได้รับความ เสียหายแก่เสรีภาพนั้น ร.ต.ต.โชคได้กระทําตามคําสั่งของ ร.ต.อ.มืด ผู้บังคับบัญชาและเข้าใจโดยสุจริตว่านายหล่อ กระทําความผิดฐานลักทรัพย์จริงไม่ทราบว่าเป็นการแกล้งของ ร.ต.อ.มืด จึงเป็นการกระทําตามคําสั่งอันชอบ ด้วยกฎหมาย ดังนั้น ร.ต.ต.โชคจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 449 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี นายหล่อผู้เสียหายสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ร.ต.อ.มืด ผู้ให้คําสั่งโดยละเมิดนั้นได้ตามมาตรา 449 วรรคสอง

สรุป นายหล่อสามารถฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ร.ต.อ.มืดได้ แต่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ร.ต.ต.โชคไม่ได้

 

ข้อ 2 นายกิตติขับรถโดยประมาทชนนายซวยถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบิดามารดาของนายซวย ถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว เหลือญาติเพียงคนเดียวคือนายโชค ซึ่งเป็นปู่ของนายซวย โดยก่อนที่ นายซวยจะถูกทําละเมิดถึงตายนั้น นายซวยได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูนายโชคที่อายุมากแล้ว และไม่สามารถประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ ดังนี้ นายโชคจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ จากนายกิตติได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงค่าตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่า บุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติขับรถโดยประมาทชนนายซวยถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายกิตติถือเป็นการทําละเมิดต่อนายซวยตามมาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อ บุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ชีวิต และการกระทําของนายกิตติสัมพันธ์กับผลของการกระทํา คือความตายของนายซวย ดังนั้น นายกิตติจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อมาคือ นายโชคจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพจากนายกิตติได้หรือไม่

1 กรณีค่าขาดไร้อุปการะ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคท้าย ได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายโชคเป็นเพียงปู่ของนายซวย ซึ่งนายซวยไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูนายโชคแต่อย่างใด นายโชคจึงไม่ใช่ผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย นายโชคจึงฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายกิตติไม่ได้

2 กรณีค่าปลงศพ ตามบทบัญญัติมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตาย และเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 ดังนั้น เมื่อนายโชคเป็นปู่ของนายซวย และเป็นผู้มีอํานาจในการจัดการศพในฐานะทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 (5) นายโชคจึงสามารถฟ้องเรียกค่าปลงศพได้ตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง

สรุป นายโชคจะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากนายกิตติไม่ได้ แต่สามารถฟ้องเรียกค่าปลงศพได้

 

ข้อ 3 วันเกิดเหตุนางสาวพฤกษา บุตรของนางลิลลี่ ไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ ขณะที่เดินอยู่นั้นนายเก่า ได้แหย่สุนัขพันธุ์ร็อทไวเลอร์ของนายมึน ซึ่งมีนิสัยดุร้าย โมโหง่ายและตัวใหญ่ โดยนายมึนไม่ได้ ผูกเชือก ล่ามโซ่หรือใส่ตะกร้อครอบปากแต่อย่างใด เมื่อสุนัขของนายมึนถูกนายเก่าแหย่ก็โกรธ และวิ่งไล่กัดนายเก่า นายเก่าวิ่งผ่านไปทางที่นางสาวพฤกษาเดินเล่นอยู่เมื่อสุนัขวิ่งไล่ตามมาพบ จึงกัดนางสาวพฤกษาจนถึงแก่ความตายในทันที ข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนที่นางสาวพฤกษาจะถึงแก่ความตายนั้น ได้ช่วยเหลือในกิจการร้านอาหารของนางกุหลาบซึ่งเป็นป้า โดยทําหน้าที่เป็นคนเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะลูกค้า ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นางลิลลี่ซึ่งเป็นมารดาของนางสาวพฤกษาจะเรียกให้ใครรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้บ้าง และนางกุหลาบซึ่งเป็นป้าของนางสาวพฤกษาจะเรียก ค่าขาดแรงงานได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 433 “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้ แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น

อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่ว สัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือตั๋วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้”

มาตรา 445 “ในกรณีทําให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกาย หรืออนามัยก็ดี ในกรณีทําให้ เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทําการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเก๋าได้แหย่สุนัขพันธุ์ร็อทไวเลอร์ของนายมึน ซึ่งมีนิสัยดุร้าย โมโหง่าย และตัวใหญ่ โดยนายมึนไม่ได้ผูกเชือกล่ามโซ่หรือใส่ตะกร้อครอบปากแต่อย่างใด ทําให้สุนัขโกรธและวิ่งไล่กัด นายเก่า เมื่อนายเก่าวิ่งผ่านไปทางที่นางสาวพฤกษาเดินเล่นอยู่ สุนัขซึ่งวิ่งไล่ตามมาจึงกัดนางสาวพฤกษาจนถึงแก่ ความตายทันทีนั้น ถือว่าความเสียหายที่เกิดกับนางสาวพฤกษาเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ดังนั้น นายมึนผู้เป็นเจ้าของสัตว์จึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง นายมันจะอ้างว่าตนได้ใช้ ความระมัดระวังตามสมควรแก่การเลี้ยงแล้วไม่ได้ เพราะนายมึนรู้อยู่แล้วว่าสุนัขของตนมีนิสัยดุร้าย โมโหง่าย แต่นายมันก็ไม่ได้ผูกเชือก ล่ามโซ่หรือใส่ตะกร้อครอบปากไว้ แต่อย่างไรก็ดี นายมึนมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่นายเก่า ผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นได้ตามมาตรา 433 วรรคสอง

ส่วนกรณีที่นางสาวพฤกษาได้ช่วยเหลือในกิจการร้านอาหารของนางกุหลาบซึ่งเป็นป้าก่อนถึงแก่ความตาย โดยทําหน้าที่เป็นคนเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะลูกค้าโดยไม่ได้รับสินจ้างนั้น ไม่ถือว่านางสาวพฤกษาผู้เสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทําการงานให้เป็นคุณแก่นางกุหลาบในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของนางกุหลาบ แต่อย่างใด ดังนั้น นางกุหลาบจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดแรงงานตามมาตรา 445

สรุป นางลิลลี่มารดาของนางสาวพฤกษาสามารถเรียกให้นายมึนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้แต่นางกุหลาบป้าของนางสาวพฤกษาจะเรียกค่าขาดแรงงานไม่ได้

 

ข้อ 4 นายหมอชิตเป็นบิดานอกกฎหมายของเด็กชายครรชิต อายุ 12 ปี กําลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างที่นายหมอชิตและเด็กชายครรชิตกําลังเดินไปโรงเรียน ต้นมะม่วงที่ปลูกอยู่ในบ้านของ นายมิตรที่เพิ่งถูกขุดมาจากที่อื่น แต่ไม่ได้มีการใช้ไม้ค้ำจุนให้ดี ได้เอนลงมาทับเด็กชายครรชิต ที่เดินผ่านมา เป็นเหตุให้เด็กชายครรชิตถึงแก่ความตาย ให้วินิจฉัยว่าใครต้องรับผิดในทางละเมิดต่อ เด็กชายครรชิตหรือไม่ และนายหมอชิตจะสามารถเรียกค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 434 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง อย่างอื่นก่อสร้างไว้ชํารุดบกพร่องก็ดี หรือบํารุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหายฉะนั้นแล้ว ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ให้ใช้บังคับตลอดถึงความบกพร่องในการปลูกหรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย

มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย

ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่ต้นมะม่วงที่ปลูกอยู่ในบ้านของนายมิตรที่เพิ่งถูกขุดขึ้นมาจากที่อื่น แต่ไม่ได้มีการใช้ ไม้ค้ำจุนให้ดี ได้เอนลงมาทับเด็กชายครรชิตที่เดินผ่านมาเป็นเหตุให้เด็กชายครรชิตถึงแก่ความตายนั้น ถือได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความเสียหายอันเกิดจากความบกพร่องในการค้ำจุนต้นไม้ ดังนั้น นายมิตรจึงต้อง รับผิดในทางละเมิดต่อเด็กชายครรชิตตามมาตรา 434 วรรคหนึ่งประกอบวรรคสอง

(2) เมื่อนายหมอชิตเป็นบิดานอกกฎหมายของเด็กชายครรชิต นายหมอชิตจึงมิใช่ทายาท โดยธรรมของเด็กชายครรชิต นายหมอชิตจึงไม่สามารถเรียกค่าปลงศพจากนายมิตรตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งได้ เพราะผู้ที่มีสิทธิเรียกเอาค่าปลงศพจากผู้ทําละเมิดจะต้องเป็นทายาทของผู้ตายและมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ตามมาตรา 1629 และนายหมอชิตก็ไม่สามารถเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสามได้เช่นกัน เพราะผู้มีสิทธิเรียกเอาค่าขาดไร้อุปการะจากผู้ทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัว เท่านั้น แต่นายหมอชิตเป็นบิดานอกกฎหมายของเด็กชายครรชิต ซึ่งเด็กชายครรชิตไม่มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู นายหมอชิตแต่อย่างใด นายหมอชิตจึงไม่ใช่ผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย

สรุป นายมิตรจะต้องรับผิดในทางละเมิดต่อเด็กชายครรชิต และนายหมอชิตจะเรียกค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้

Advertisement