LAW2109 (LAW2009) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม 1/2562

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายหนึ่งและนายสองเป็นเพื่อนเรียนคณะนิติศาสตร์ด้วยกัน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 นายสอง มาขอยืมหนังสือ LAW 2009 จากนายหนึ่งเพื่อไปอ่านเตรียมสอบเทอม 1/62 นายหนึ่งเห็นว่า ตนสอบผ่าน LAW 2009 มานานแล้ว จึงตกลงให้นายสองยืมพร้อมทั้งส่งมอบหนังสือให้เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 นายสามซึ่งเป็นน้องชายของนายหนึ่งได้มาขอยืมหนังสือ LAW 2009 จากนายหนึ่งเช่นเดียวกัน ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก นายหนึ่งจะเรียกหนังสือคืนจากนายสองเพื่อเอาไปให้นายสามน้องชายของตนได้หรือไม่ เพราะ เหตุใด
ข หากนายสองสอบเสร็จแล้วไม่นําหนังสือ LAW 2009 ไปคืนนายหนึ่งแล้วต่อมาเกิดความเสียหายขึ้น กับหนังสือ ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”

มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”

มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”

มาตรา 646 “ถ้ามิได้กําหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้น เสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว

ถ้าเวลามิได้กําหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียก
ของคืนเมื่อไหร่ก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก การที่นายหนึ่งตกลงให้นายสองยืมหนังสือ LAW 2009 เพื่อไปอ่านเตรียมสอบเทอม 1/62 และ ได้ส่งมอบหนังสือให้เรียบร้อยแล้วนั้น สัญญายืมระหว่างนายหนึ่งและนายสองเป็นสัญญายืมใช้คงรูปและมีผลสมบูรณ์ ตามมาตรา 640 และมาตรา 641 และเป็นสัญญายืมใช้คงรูปที่ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการยืมไว้ซึ่งตามมาตรา 646 ได้กําหนดไว้ว่าให้ผู้ยืมคืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา

ดังนั้น เมื่อนายสองยังสอบไม่เสร็จ นายหนึ่งจะเรียกหนังสือคืนจากนายสองเพื่อเอาไปให้นายสามน้องชายของตนไม่ได้

ข ตามมาตรา 643 ได้กําหนดหน้าที่ของผู้ยืมไว้ว่า ผู้ยืมจะต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไปใช้การอย่างอื่น นอกจากการอันเป็นปกติของทรัพย์นั้นหรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา ต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้ บุคคลภายนอกใช้สอย และต้องไม่เอาทรัพย์สินที่ยืมไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ ซึ่งถ้าผู้ยืมกระทําผิดหน้าที่ของ ผู้ยืมดังกล่าว ผู้ยืมจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายของทรัพย์สินที่ยืม แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยก็ตาม ดังนั้น การที่นายสองสอบเสร็จแล้วไม่นําหนังสือ LAW 2009 ไปคืนนายหนึ่ง ย่อมถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ที่ยืมไว้ นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ ต่อมาเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นกับหนังสือ ผู้ยืมคือนายสองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบใน ความเสียหายนั้น

สรุป
ก. นายหนึ่งจะเรียกหนังสือคืนจากนายสองในขณะที่นายสองยังสอบไม่เสร็จไม่ได้
ข. หากนายสองสอบเสร็จแล้วไม่นําหนังสือ LAW 2009 ไปคืนนายหนึ่งแล้วต่อมาเกิดความ เสียหายขึ้นกับหนังสือ นายสองจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ข้อ 2 นางสาวใบเตยยืมเงินเสี่ยท็อปเป็นเงิน 20,000 บาท โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตามกฎหมาย ทั้งคู่ ตกลงคิดดอกเบี้ยในการกู้ยืมครั้งนี้ 3,000 บาท ต่อมานางสาวใบเตยชําระหนี้งวดแรกเป็นค่าดอกเบี้ย โดยการเอาโทรศัพท์มาตีใช้หนี้จํานวน 3,000 บาท ครั้งที่สองชําระหนี้เงินต้นด้วยเช็คจํานวน 20,000 บาท แต่ถึงกําหนดเช็คไม่มีเงินจึงถูกเสี่ยท็อปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนในข้อหา ไม่มีการใช้เงินตามเช็ค นางสาวใบเตยจึงได้นําเงินจํานวน 20,000 บาท มามอบให้พนักงานสอบสวน เพื่อมอบให้แก่เสี่ยท็อป พนักงานสอบสวนจึงได้บันทึกและให้เสี่ยท็อปลงชื่อรับเงินไว้ในบันทึก ดังกล่าว ดังนี้ หากเสี่ยท็อปจะฟ้องร้องให้นางสาวใบเตยคืนเงินที่ยืมทั้งหมดใหม่ นางสาวใบเตยจะนําสืบว่าตนชําระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแล้วได้หรือไม่ เพียงใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 321 วรรคหนึ่ง “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป”

มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น

สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”

มาตรา 653 “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนําสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือ ได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวใบเตยยืมเงินเสี่ยท็อปเป็นเงิน 20,000 บาท โดยมีหลักฐานเป็น หนังสือตามกฎหมายนั้น การกู้ยืมเงินระหว่างนางสาวใบเตยและเสี่ยท็อปย่อมมีผลสมบูรณ์ และสามารถฟ้องร้อง บังคับคดีกันได้ตามมาตรา 650 และมาตรา 653 วรรคหนึ่ง

และตามมาตรา 653 วรรคสองนั้น ในกรณีที่การกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือ ในการนําสืบว่า
มีการใช้เงินแล้วจะสามารถนําสืบได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว

การที่นางสาวใบเตยได้ชําระหนี้งวดแรกเป็นค่าดอกเบี้ยโดยการเอาโทรศัพท์มาตีใช้หนี้จํานวน
3,000 บาทนั้น ถือเป็นการชําระหนี้อย่างอื่นแทนการชําระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ และเมื่อเสี่ยท็อปเจ้าหนี้ยอมรับหนี้ ในส่วนดอกเบี้ยจํานวน 3,000 บาท ย่อมระงับไปตามมาตรา 321 วรรคหนึ่ง เสี่ยท็อปจะฟ้องร้องให้นางสาวใบเตย ชําระหนี้ใหม่ไม่ได้ แม้ว่าการชําระหนี้ด้วยการเอาโทรศัพท์มาตีใช้หนี้ของนางสาวใบเตยจะไม่มีหลักฐานอย่างใด อย่างหนึ่งตามมาตรา 653 วรรคสองก็ตาม เพราะการชําระหนี้ด้วยสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นแทนจํานวนเงิน ตามมาตรา 321 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 653 วรรคสองที่ต้องการหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น นางสาวใบเตย จึงสามารถนําพยานบุคคลมาสืบถึงการชําระหนี้ (ดอกเบี้ย) ได้

ส่วนในงวดที่สองซึ่งนางสาวใบเตยได้ชําระหนี้เงินต้นจํานวน 20,000 บาท โดยได้นําเงิน 20,000 บาท มามอบให้พนักงานสอบสวนเพื่อมอบให้แก่เสี่ยท็อป และพนักงานสอบสวนได้ทําบันทึกและให้เสี่ยท็อปลงชื่อรับเงินไว้ในบันทึกดังกล่าวนั้น บันทึกของพนักงานสอบสวนดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้ให้ยืมตามมาตรา 653 วรรคสองแล้ว นางสาวใบเตยจึงสามารถใช้บันทึกฉบับนี้นําสืบต่อศาลถึงการชําระหนี้เงินต้น จํานวน 20,000 บาทได้ว่าตนได้ชําระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแล้ว ดังนั้น เสี่ยท็อปจึงไม่อาจฟ้องร้องให้นางสาวใบเตย คืนเงินที่ยืมทั้งหมดใหม่ได้

สรุป เสี่ยท็อปจะฟ้องร้องให้นางสาวใบเตยคืนเงินที่ยืมทั้งหมดใหม่ไม่ได้ และนางสาวใบเตยสามารถ นําสืบว่าตนชําระหนี้ดังกล่าวทั้งหมดแล้วได้

ข้อ 3 อาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยได้รับบัตรเชิญให้มาพักฟรีในคืนแรก แต่ถ้าอาทิตย์ต้องการพักในคืนต่อ ๆ ไป โรงแรมจะคิดค่าที่พักแค่ 50% ของค่าห้องปกติ อาทิตย์ จึงตกลงเข้าพักแค่คืนเดียวจึงเป็นการได้เข้าพักฟรี ในระหว่างที่อาทิตย์ลงไปรับประทานอาหาร ที่ห้องอาหารของโรงแรมได้หยิบเอาเหล็กไหลมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นมาอวดแขกอื่น ๆ ที่มานั่ง ในห้องอาหารนี้ เมื่อกลับเข้าห้องพักก็หยิบเหล็กไหลกลับเข้าไปในห้องพักด้วย ตกกลางคืนมีคน แอบงัดแงะเข้าไปขโมยของในห้องของอาทิตย์และขโมยเหล็กไหลดังกล่าวไป อาทิตย์จึงแจ้งให้ จันทร์ผู้เป็นเจ้าของสํานักโรงแรมรับผิดชอบชดใช้ราคาเหล็กไหลจํานวน 10 ล้านบาทแก่อาทิตย์ แต่จันทร์ต่อสู้ว่าอาทิตย์ได้พักที่โรงแรมนี้โดยไม่เสียค่าที่พักจันทร์จึงไม่ต้องรับผิด ไม่อาจถือว่า อาทิตย์เป็น “แขกอาศัย” ตามความหมายของเรื่องเจ้าสํานักโรงแรม ในประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของจันทร์ถูกต้องหรือไม่ จันทร์ต้องรับผิดชดใช้ต่อทรัพย์สิน ของอาทิตย์ที่สูญหายหรือไม่ เพียงไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อ ความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”

มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด

ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง

แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675

และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้นเป็นของมีค่า เช่น เงินตรา แหวนเพชร หรือ พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียง 5,000 บาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไป ฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่อาทิตย์เข้าพักที่โรงแรมซึ่งมีจันทร์เป็นเจ้าสํานักโรงแรมนั้น แม้การที่อาทิตย์ เข้าพักจะเป็นการพักฟรีเพราะได้รับบัตรเชิญก็ตาม ก็ถือว่าอาทิตย์อยู่ในฐานะของคนเดินทางหรือแขกอาศัยตามนัย ของมาตรา 474 แล้ว ดังนั้น จันทร์ซึ่งเป็นเจ้าสํานักโรงแรมจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือบุบสลาย อย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินของอาทิตย์ซึ่งเป็นคนเดินทางหรือแขกอาศัยที่ได้พามา

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีคนแอบงัดแงะเข้าไปขโมยของในห้องของอาทิตย์และได้ขโมยเหล็กไหล ซึ่งมีราคา 10 ล้านบาทของอาทิตย์ไป จันทร์จึงต้องรับผิดชอบต่อทรัพย์สินที่สูญหายของอาทิตย์ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทรัพย์ที่ถูกขโมยไปนั้นคือเหล็กไหลซึ่งมีมูลค่า 10 ล้านบาท และเหล็กไหลเป็นทรัพย์ที่อยู่ในความหมายของ คําว่าของมีค่าอื่น ๆ ตามมาตรา 675 วรรคสอง แต่อาทิตย์ไม่ได้ฝากของมีค่าดังกล่าวไว้กับเจ้าสํานัก ดังนั้น จันทร์ เจ้าของสํานักโรงแรมจึงต้องรับผิดต่ออาทิตย์เพียง 5,000 บาทเท่านั้นตามมาตรา 675 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

สรุป ข้อต่อสู้ของจันทร์ที่ว่าอาทิตย์ไม่ใช่แขกอาศัยนั้นไม่ถูกต้อง จันทร์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ต่อกรณีที่ทรัพย์สินของอาทิตย์สูญหาย แต่จันทร์ต้องรับผิดเพียง 5,000 บาทเท่านั้น

 

LAW2110 (LAW2010) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2110 (LAW 2010) ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ําประกัน จํานอง จํานํา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นางสาวกิ่งแก้วกู้เงินนายสมัครใจ 1,000,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง โดยนางสาวกิ่งแก้ว ได้นําเครื่องเพชรหนึ่งชุดประกอบไปด้วยแหวน สร้อยคอ ต่างหู และกําไลข้อมือ ราคารวมทั้งสิ้น 500,000 บาท มาส่งมอบให้นายสมัครใจเป็นประกันการชําระหนี้ ต่อมานายสมัครใจเห็นว่า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ควรมีหลักประกันเพิ่ม นางสาวกิ่งแก้วจึงขอให้นายปกป้องช่วยค้ําประกัน หนี้เงินกู้ให้ นายปกป้องตกลง และได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ําประกันเพื่อประกันหนี้ที่นางสาวกิ่งแก้ว กู้เงินนายสมัครใจทั้งหมด และได้ส่งหนังสือสัญญาฉบับนั้นให้นายสมัครใจทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ และนายสมัครใจได้รับสัญญาค้ําประกันแล้ว ต่อมานายสมัครใจได้ตกลงคบหากับนางสาวกิ่งแก้ว จึงได้นําเครื่องเพชรชุดนั้นไปให้นางสาวกิ่งแก้วใช้ใส่ออกงาน ปรากฏว่านางสาวกิ่งแก้วทําต่างหู 1 ข้าง ราคา 40,000 บาท หายไป เมื่อนายสมัครใจทราบจึงโกรธ และบอกเลิกนางสาวกิ่งแก้ว พร้อมทั้ง นําเครื่องเพชรส่วนที่เหลือกลับไปด้วย หลังจากเกิดเหตุได้สามเดือน หนี้ถึงกําหนดชําระ แต่ นางสาวกิ่งแก้วไม่สามารถชําระหนี้ได้ นายสมัครใจจึงเรียกให้นายปกป้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกัน ดังนี้ นายปกป้องต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมาย
ประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ําประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ําประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ําประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ําประกัน
เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เอง เป็นเหตุให้ผู้ค้ําประกันไม่อาจ เข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จํานองก็ดี จํานําก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทําสัญญาค้ําประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ําประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตน
ต้องเสียหายเพราะการนั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ หรือ

(2) เมื่อผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํากลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จํานํา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวกิ่งแก้วกู้เงินนายสมัครใจ 1,000,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง โดยนางสาวกิ่งแก้วได้นําเครื่องเพชรหนึ่งชุดประกอบไปด้วยแหวน สร้อยคอ ต่างหู และกําไลข้อมือ ราคารวมทั้งสิ้น 500,000 บาท มาส่งมอบให้นายสมัครใจเป็นประกันการชําระหนี้ และต่อมามีนายปกป้องเข้ามาค้ําประกันเงินกู้ให้

โดยการลงลายมือชื่อในสัญญาค้ําประกันเพื่อประกันหนี้ที่นางสาวกิ่งแก้วกู้เงินนายสมัครใจทั้งหมด และได้ส่ง
หนังสือสัญญาฉบับนั้นให้นายสมัครใจทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ และนายสมัครใจได้รับสัญญาค้ำประกันแล้วนั้น ย่อมถือว่านายปกป้องเข้าเป็นผู้ค้ําประกันแล้ว และต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันตามมาตรา 680
การที่นายสมัครใจได้ตกลงคบหากับนางสาวกิ่งแก้ว และได้นําเครื่องเพชรชุดนั้นไปให้นางสาวกิ่งแก้ว
ใช้ใส่ออกงานนั้น ถือเป็นกรณีที่ผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํากลับคืนไปอยู่ในความครอบครองของนางสาวกิ่งแก้ว ซึ่งเป็นผู้จํานํา ย่อมทําให้สัญญาจํานําในส่วนของเครื่องเพชนนั้นระงับไปตามมาตรา 769 (2) และถือเป็นการ กระทําของนายสมัครใจเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ําประกันคือนายปกป้องไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในเครื่องเพชรที่ จํานําซึ่งได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อนเข้าทําสัญญาค้ําประกันตามมาตรา 697 ดังนั้น นายปกป้องผู้ค้ําประกันย่อมหลุดพ้น จากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพื่อการนั้น คือจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้จํานวน 500,000 บาท ตามราคาเครื่องเพชรชุดนั้น และต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันในหนี้ที่เหลือจํานวน 500,000 บาท

สรุป นายปกป้องต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันในหนี้ที่เหลือจํานวน 500,000 บาท

ข้อ 2 นายทวีปทําสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารออมทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 โดยมีนายทรงศักดิ์ นําโฉนดที่ดินของตนจํานวน 5 ไร่ ราคาประเมิน 5 ล้านบาท มาจดทะเบียนจํานองหนี้รายนี้ โดย มีกําหนดระยะเวลาในการชําระหนี้ 5 ปี และในสัญญาจํานองระบุว่า “…หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ สามารถยึดที่ดินที่จํานองเองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวและไม่ต้องฟ้องเพื่อบังคับคดี…” เมื่อครั้นครบกําหนดเวลาชําระหนี้ นายทวีปผิดนัดชําระหนี้ ธนาคารออมทรัพย์จึงให้เจ้าหน้าที่ของธนาคาร ขับไล่นายทรงศักดิ์ออกจากที่ดิน และยึดที่ดินมาเป็นของธนาคารทันที โดยอ้างข้อตกลงในสัญญา ดังกล่าว นายทรงศักดิ์จึงมาปรึกษานักศึกษาซึ่งเรียนวิชาสัญญาจํานองไปแล้วว่า กรณีดังกล่าว ธนาคารออมทรัพย์สามารถอ้างข้อตกลงในสัญญาทําการขับไล่ และยึดที่ดินของนายทรงศักดิ์ ได้หรือไม่ และนักศึกษาจะให้คําแนะนําแก่นายทางศักดิ์อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 714 “อันสัญญาจํานองนั้น ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” มาตรา 714/1 “บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจํานองที่แตกต่างไปจากมาตรา 128 มาตรา 729 และมาตรา 735 เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทวีปทําสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารออมทรัพย์ โดยมีนายทรงศักดิ์ นําโฉนดที่ดินของตนจํานวน 5 ไร่ ราคาประเมิน 5 ล้านบาท มาจดทะเบียนจํานองหนี้รายนี้ โดยมีกําหนดระยะเวลา ในการชําระหนี้ 5 ปีนั้น สัญญาจํานองที่ดินระหว่างนายทรงศักดิ์และธนาคารออมทรัพย์ย่อมมีผลสมบูรณ์ ตามกฎหมายตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 714 แต่อย่างไรก็ตามในสัญญาจํานองซึ่งมีข้อตกลงกันว่า “…หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้สามารถยึดที่ดินที่จํานองเองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวและไม่ต้องฟ้องร้องบังคับคดี….” นั้น ข้อตกลงดังกล่าว เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจํานองที่แตกต่างไปจากมาตรา 728 และมาตรา 729 ซึ่งได้กําหนด ให้เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับจํานอง หรือฟ้องคดีเพื่อเรียกเอาทรัพย์จํานองหลุดเมื่อลูกหนี้ผิดนัด แต่คู่สัญญา ได้ทําข้อตกลงกันเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทําตามมาตรา 728 และมาตรา 729 ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าว จึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับกันไม่ได้ตามมาตรา 714/1

ดังนั้น เมื่อครบกําหนดเวลาชําระหนี้ นายทวีปผิดนัดชําระหนี้ การที่ธนาคารออมทรัพย์ได้ให้ เจ้าหน้าที่ของธนาคารขับไล่นายทรงศักดิ์ออกจากที่ดิน และยึดที่ดินมาเป็นของธนาคารทันที โดยอ้างข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวซึ่งเป็นโมฆะนั้นย่อมเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ธนาคารออมทรัพย์จะอ้างข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวเพื่อทําการขับไล่นายทรงศักดิ์ออกจาก ที่ดินและยึดที่ดินของนายทรงศักดิ์ไม่ได้

ข้อ 3 นายขาว นายดํา และนายเขียวเป็นเพื่อนรักกัน นายขาวกู้ยืมเงินนายดํา 2 ล้านบาท นายเขียวเอา สร้อยเพชรของตนส่งมอบให้นายดําเพื่อประกันการชําระหนี้เงินกู้ของนาวขาว หากว่า

(ก) ต่อมาถึงกําหนดชําระหนี้ นายขาวไม่ชําระหนี้นายดํา นายดําได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 และนําสร้อยเพชรขายทอดตลาดได้ราคาขาดอยู่ 300,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายดําจะเรียกเงินส่วนที่ขาดได้จากใคร

(ข) หากปรากฏว่าก่อนถึงกําหนดชําระหนี้ นายเขียวมีความจําเป็นต้องเอาเครื่องเพชรไปใส่ออกงาน ด้วยความสนิทไว้เนื้อเชื่อใจ นายดําจึงยอมให้นายเขียวเอาสร้อยเพชรไปใช้ 1 สัปดาห์ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ผลทางกฎหมายของสัญญาจํานําเป็นอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้และ อุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ หรือ

(2) เมื่อผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํากลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จํานํา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวกู้ยืมเงินนายดํา 2 ล้านบาท โดยมีนายเขียวบุคคลภายนอกได้ ส่งมอบสร้อยเพชรของตนเองให้นายดําเพื่อประกันการชําระหนี้เงินกู้ของนายขาวนั้น สัญญาจํานําซึ่งเป็นสัญญา อุปกรณ์ย่อมเกิดขึ้น และมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 747

(ก) ต่อมาเมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ นายขาวลูกหนี้ไม่ชําระหนี้เงินกู้ยืมจํานวน 2 ล้านบาท ให้แก่ นายดําเจ้าหนี้ เมื่อนายดําเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 764 และนําสร้อยเพชรออกขายทอดตลาดได้ราคา ขาดอยู่ 300,000 บาท ดังนี้ นายดําเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้นายขาวลูกหนี้รับใช้ในส่วนที่ขาด 300,000 บาท ได้ตามมาตรา 767 แต่ไม่มีสิทธิเรียกเอาส่วนที่ขาดจากนายเขียวผู้จํานํา

(ข) หากปรากฏว่าก่อนถึงกําหนดชําระหนี้ นายเขียวผู้จํานํามีความจําเป็นต้องเอาเครื่องเพชร ไปใส่ออกงาน ด้วยความสนิทไว้เนื้อเชื่อใจ นายดําผู้รับจํานําได้ยอมให้นายเขียวเอาสร้อยเพชรไปใช้ 1 สัปดาห์ ย่อมมีผลทําให้สัญญาจํานําดังกล่าวระงับไปตามมาตรา 769 (2) เพราะนายดําผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํา กลับคืนไปสู่ครอบครองของนายเขียวผู้จํานํา

สรุป
(ก) นายดําสามารถเรียกเงินส่วนที่ขาดได้จากนายขาวลูกหนี้ แต่จะเรียกเอาจากนายเขียว ผู้จํานําไม่ได้
(ข) การที่นายดํายอมให้นายเขียวเอาสร้อยเพชรไปใช้ 1 สัปดาห์ มีผลทําให้สัญญาจํานําดังกล่าวระงับสิ้นไป

LAW2110 (LAW2010) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2110 (LAW2010) ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ําประกัน จํานอง จํานํา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นางสาวแก้วใจสมัครเข้าทํางานในบริษัทเป็นหนึ่ง จํากัด หลังจากผ่านการสัมภาษณ์ บริษัทฯ ตกลง รับนางสาวแก้วใจเป็นพนักงานบัญชี โดยมีข้อตกลงว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนเริ่มทํางาน นางสาวแก้วใจต้องหาหลักประกันที่น่าเชื่อถือมาประกันการทํางานด้วย เมื่อถึงวันดังกล่าวนายมานะ ได้มาลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ําประกันกับบริษัทฯ ตกลงจะรับผิดหากปรากฏว่านางสาวแก้วใจ ทําให้บริษัทฯ เสียหายในทางการที่จ้างไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อใดหรือเกิดขึ้นกี่ครั้ง ก็ตาม นายมานะจะยอมรับผิดทั้งหมด แต่ต้องเป็นความเสียหายที่ไม่เกินจํานวน 1,000,000 บาท และนางสาวแก้วใจยังได้ทําหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อว่ายินยอมนําแหวนเพชรราคา 200,000 บาท มาประกันการทํางานของตนด้วย ต่อมาปรากฏว่านางสาวแก้วใจมีความจําเป็นต้อง ใช้เงิน ในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 จึงขอกู้เงินจากบริษัทฯ จํานวน 200,000 บาท บริษัทฯ ตกลง ให้กู้เป็นระยะเวลาสองเดือนโดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่ต้องมีการทําหลักฐานเป็นหนังสือ หลังจากนั้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นางสาวแก้วใจได้ลักเงินบริษัทฯ ไปใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตัว 100,000 บาท เมื่อนายมานะทราบจึงไม่พอใจนางสาวแก้วใจเป็นอย่างมาก จึงได้ทําหนังสือแจ้ง บริษัทฯ ขอยกเลิกสัญญาค้ําประกัน แต่บริษัทฯ ไม่ยินยอม และในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 นางสาวแก้วใจได้ลักเงินบริษัท 1 ไปอีกครั้งจํานวน 400,000 บาท ต่อมาในวันที่ 10 กันยายน 2564 บริษัทฯ ทราบเรื่องเงินที่หายไป จึงได้มีหนังสือทวงถามให้นางสาวแก้วใจนําเงินมาคืน เมื่อไม่ได้รับ เงินคืน บริษัทฯ จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้นายมานะชําระหนี้จํานวน 700,000 บาท ตามขั้นตอนที่ กฎหมายกําหนด ดังนี้ จากข้อเท็จจริงข้างต้น นายมานะจะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ําประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ําประกัน
เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 “อันค้ําประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ําประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จํานวนเงินสูงสุดที่ค้ําประกัน และ ระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ําประกัน เว้นแต่เป็นการค้ําประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้

สัญญาค้ําประกันต้องระบุหนี่หรือสัญญาที่ค้ําประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ําประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น”

มาตรา 689 “ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้า ผู้ค้ําประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชําระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชําระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชําระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน”

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ําประกันร้องขอ ท่านว่า เจ้าหนี้จะต้องให้ชําระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน”

มาตรา 699 “การค้ําประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจํากัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ําประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้ ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ําประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทําลงภายหลังคําบอกกล่าวนั้นไปถึงเจ้าหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายมานะได้มาลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ําประกันกับบริษัท เป็นหนึ่ง จํากัด โดยตกลงจะรับผิดหากปรากฏว่านางสาวแก้วใจทําให้บริษัทฯ เสียหายในทางการที่จ้างนั้น ถือว่านายมานะเป็น ผู้ค้ําประกัน และบริษัทฯ สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกับนายมานะได้ตามมาตรา 680 ดังนั้น เมื่อนางสาวแก้วใจ ได้ลักเงินบริษัทฯ ไปใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตัว 100,000 บาท นายมานะจึงต้องรับผิดในหนี้จํานวนนี้ เพราะ เป็นกรณีที่นางสาวแก้วใจทําให้บริษัทฯ เสียหายในทางการที่จ้างแล้ว

2 ต่อมาเมื่อนายมานะทราบถึงไม่พอใจนางสาวแก้วใจเป็นอย่างมาก จึงได้ทําหนังสือแจ้งบริษัทฯ ขอยกเลิกสัญญาค้ําประกันนั้น นายมานะย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 699 วรรคหนึ่ง เพราะถือว่านายมานะ ค้ําประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจํากัดเวลา นายมานะจึงสามารถขอยกเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ แม้ว่าบริษัทฯ จะไม่ยินยอมก็ตามก็ถือว่าสัญญาค้ําประกันดังกล่าวได้ระงับสิ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม นายมานะก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้จํานวน 100,000 บาท ที่ได้เกิดขึ้นก่อนการบอกเลิกสัญญาค้ําประกันนั้น แต่สําหรับหนี้จํานวน 400,000 บาท ที่นางสาวแก้วใจได้ลักเงินบริษัทฯ ไปอีกครั้งนั้น นายมานะไม่ต้องรับผิด เพราะเป็นหนี้ที่ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายมานะได้บอกเลิกสัญญาค้ําประกัน และคําบอกกล่าวนั้นได้ไปถึง เจ้าหนี้แล้วตามมาตรา 699 วรรคสอง

3 หนี้ที่นางสาวแก้วใจได้กู้จากบริษัทฯ จํานวน 200,000 บาทนั้น เมื่อพิจารณาจากสัญญา ค้ําประกันจะเห็นได้ว่านายมานะตกลงค้ําประกันหนี้ในอนาคตที่กําหนดมูลหนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าจะรับผิดในความเสียหายที่บริษัทฯ ได้รับในทางการที่จ้างเท่านั้น เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในข้อตกลงว่านายมานะ จะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกัน ดังนั้น นายมานะจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้จํานวนนี้ตามมาตรา 681

4 เมื่อนายมานะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันเพียง 100,000 บาท นายมานะย่อมมีสิทธิที่จะเกี่ยงให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไปบังคับชําระหนี้เอาจากแหวนเพชรของนางสาวแก้วใจซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ได้มอบไว้ แก่บริษัทฯ เพื่อประกันการทํางานของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 689 แต่จะใช้สิทธิตามมาตรา 690 ไม่ได้ เพราะ แหวนเพชรวงนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน

สรุป นายมานะจะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกัน โดยจะต้องรับผิดเพียง 100,000 บาทเท่านั้น
ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 2 นายดําให้นายขาวกู้ยืมเงินเป็นจํานวน 15 ล้านบาท โดยนายดําได้ส่งมอบเงินกู้ให้นายขาวแล้ว นายขาวได้นําที่ดินของตนมาจดทะเบียนจํานอง ประกันการชําระหนี้ดังกล่าวต่อนายดําในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยในสัญญาต่อท้ายจํานองได้มีข้อความระบุว่า “เมื่อมีการบังคับจํานองเอา ทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาดได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนที่ค้างชําระ เงินยังขาดอยู่ เท่าใด นายขาวผู้จํานองยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดนั้นให้แก่นายดําผู้รับจํานองจนครบ” ต่อมานายขาว ได้สร้างบ้านมูลค่า 5 ล้านบาท ลงในที่ดินที่ติดจํานองแปลงดังกล่าว ภายหลังหนี้ถึงกําหนดชําระ นายขาวไม่ชําระหนี้ให้แก่นายดํา นายดําได้บังคับจํานองโดยการเอาที่ดินติดจํานองพร้อมบ้านที่ ปลูกสร้างไว้ขายทอดตลาด ได้เงินมา 12 ล้านบาท (ที่ดินที่ขายมีมูลค่า 8 ล้านบาท และบ้านมีมูลค่า 4 ล้านบาท) ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายดําจะเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทั้ง 12 ล้านบาท ชําระหนี้เงินกู้ยืมได้หรือไม่

(ข) นายดําจะเรียกให้นายขาวรับผิดในส่วนที่ขาดได้หรือไม่ ถ้าได้ เรียกได้เท่าไหร่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 718 “จํานองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจํานอง แต่ต้อง อยู่ภายใต้บังคับซึ่งท่านจํากัดในสามมาตราต่อไปนี้”

มาตรา 719 “จํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลัง
วันจํานอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจํานองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจํานองอาจใช้ บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น”

มาตรา 733 “ถ้าเอาทรัพย์จํานองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ํากว่าจํานวนเงินที่ ค้างชําระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนเงิน ที่ค้างชําระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจํานวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายดําให้นายขาวกู้ยืมเงินเป็นจํานวน 15 ล้านบาท โดยนายดําได้ส่งมอบเงินกู้ให้ นายขาวแล้ว และนายขาวได้นําที่ดินของตนมาจดทะเบียนจํานองประกันการชําระหนี้ดังกล่าวต่อนายดํา ต่อมา นายขาวได้สร้างบ้านมูลค่า 5 ล้านบาท ลงในที่ดินติดจํานองแปลงดังกล่าวนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 719 จํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงบ้านที่นายขาวผู้จํานองได้ปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจํานอง แต่กระนั้นก็ดี นายด่
ผู้รับจํานองจะให้ขายบ้านนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่นายดําผู้รับจํานองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ ราคาที่ดินเท่านั้น ดังนั้น เมื่อภายหลังหนี้ถึงกําหนดชําระ นายขาวไม่ชําระหนี้ให้แก่นายดํา นายดําได้บังคับจํานอง โดยการเอาที่ดินติดจํานองพร้อมบ้านที่ปลูกสร้างไว้ขายทอดตลาดได้เงินมา 12 ล้านบาท โดยที่ดินที่ขายมีมูลค่า 8 ล้านบาท และบ้านมีมูลค่า 4 ล้านบาทนั้น นายดําจะเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทั้ง 12 ล้านบาท ชําระ หนี้เงินกู้ยืมไม่ได้ นายดําคงมีสิทธิในเงินเพียง 8 ล้านบาท อันเป็นมูลค่าที่ดินที่ขายทอดตลาดได้เท่านั้น

(ข) ในกรณีที่สัญญาจํานองมีข้อตกลงต่อท้ายว่า “เมื่อมีการบังคับจํานองเอาทรัพย์สินซึ่งจํานอง ออกขายทอดตลาดได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนเงินที่ค้างชําระ เงินยังขาดอยู่เท่าใดนายขาวผู้จํานอง

ยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดนั้นให้แก่นายดําผู้รับจํานองจนครบ” นั้น ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะขัดกับหลักของมาตรา 733 ก็ตาม แต่ข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับได้ เพราะไม่ใช่ข้อตกลงที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงชอบที่จะตกลงกันได้ ดังนั้น เมื่อเงินยังขาดอยู่อีก 7 ล้านบาท นายดําจึงสามารถเรียกให้นายขาวรับผิดในส่วน ที่ขาดอีก 7 ล้านบาทได้จนครบ

สรุป

(ก) นายดําจะเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทั้ง 12 ล้านบาท ชําระหนี้เงินกู้ยืมไม่ได้ มีสิทธิเฉพาะเพียงเงิน 8 ล้านบาท อันเป็นมูลค่าของที่ดินที่ขายทอดตลาดได้เท่านั้น

(ข) นายดําสามารถเรียกให้นายขาวรับผิดในส่วนที่ขาดอีก 7 ล้านบาทได้

ข้อ 3 แดงเป็นหนี้ดํา 200,000 บาท เหลืองส่งมอบสร้อยคอทองคําของตนหนึ่งเส้นไว้กับดําเพื่อเป็น ประกันการชําระหนี้ ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความ และแดงได้ยกอายุความปฏิเสธไม่ชําระหนี้แก่ดํา ดําจะบังคับชําระหนี้จากสร้อยคอทองคําของเหลือง เหลืองได้ยกอายุความปฏิเสธไม่ชําระหนี้เช่นเดียวกับแดง

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากสร้อยคอทองคําของเหลืองซึ่งในขณะนั้น ราคา 180,000 บาท ได้หรือไม่ โดยวิธีใด และดําจะได้รับชําระหนี้จากแดงและเหลืองครบถ้วน หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 4 วรรคสอง “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณี แห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้า บทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง
เกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

มาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง “ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้ เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานอง หรือเอาทรัพย์จํานองหลุด”

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้
แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้ และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น
ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดํา 200,000 บาท และเหลืองได้ส่งมอบสร้อยคอทองคําของตน หนึ่งเส้นไว้กับดําเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้นั้น ถือเป็นสัญญาจํานําตามมาตรา 747 ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความ แดงย่อมมีสิทธิยกอายุความขึ้นปฏิเสธการชําระหนี้ได้ตามมาตรา 193/9 ประกอบมาตรา 193/10
แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ก็ไม่ทําให้การจํานํานั้น ระงับสิ้นไปตามมาตรา 769 (1) ดังนั้น ผู้รับจํานําจึงยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานํา คือ สร้อยคอทองคํานั้นได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตามตามมาตรา 193/27

แต่เมื่อจะบังคับจํานํา ดําจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังแดงลูกหนี้ว่าให้ชําระหนี้และดอกเบี้ย ภายในเวลาอันควรซึ่งดําได้กําหนดไว้ในคําบอกกล่าว ซึ่งถ้าหากแดงละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานํา มีสิทธินําสร้อยคอทองคําซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จํานําออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764

เมื่อสร้อยคอทองคํามีราคา 180,000 บาท ดําย่อมมีสิทธิได้รับชําระหนี้เพียง 180,000 บาท ส่วนในจํานวนที่ขาดอีก 20,000 บาทนั้น เมื่อแดงลูกหนี้ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว แดงจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ ขาดนั้นตามมาตรา 767 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/9 และ 193/10

ส่วนเหลืองซึ่งเป็นเจ้าของสร้อยคอทองคําและได้จํานําทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่น
ต้องชําระนั้น ก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานําในเวลาที่บังคับจํานําตามมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 4 วรรคสอง (ซึ่งให้นําบทบัญญัติเรื่องจํานองซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับกับ การจํานําได้) ดังนั้น เหลืองจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอีก 20,000 บาท เช่นเดียวกับแดง

สรุป ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากสร้อยคอทองคําของเหลืองได้ โดยวิธีปฏิบัติตามมาตรา 764 และดําจะได้รับชําระหนี้เพียง 180,000 บาท ตามราคาทรัพย์เท่านั้น ส่วนที่ขาดดําจะเรียกเอาจากแดงและเหลืองอีกไม่ได้

 

LAW2110 (LAW2010) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2110 (LAW2010) ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ําประกัน จํานอง จํานํา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายแดงทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากนายต่า โดยมีนายชาวตกลงเป็นผู้ค้ําประกันในการทําสัญญา ดังกล่าว ในขณะอายุสัญญานายแดงผิดนัดชําระค่างวด จํานวน 3 งวดติดต่อกัน นายดําจึงมี หนังสือแจ้งไปยังนายแดงและเพื่อนยกเลิกสัญญา และเรียกให้นายแดงรับผิดในกรณีผิดสัญญาเช่า ซื้อ และหนังสือไปยังนายขาว เพื่อให้รับผิดในฐานะผู้ค้ําประกัน นายขาวจึงมาปรึกษาท่านในฐานะ ผู้ที่มีความเข้าใจในสัญญาค้ําประกันว่านายขาวจะต้องรับผิดต่อกรณีดังกล่าวนี้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 686 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยัง ผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกัน ชําระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ําประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ําประกันที่จะชําระหนี้เมื่อหนี้ถึงกําหนด
ชําระ”

ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ําประกันหลุดพ้น
จากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดา ที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงทําสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากนายดํา โดยมีนายขาวตกลงเป็น ผู้ค้ําประกันในการทําสัญญาดังกล่าว และในขณะอายุสัญญานายแดงผิดนัดชําระค่างวดจํานวน 3 งวดติดกัน นายดําจึงมีหนังสือแจ้งไปยังนายแดงเพื่อยกเลิกสัญญา และเรียกให้นายแดงรับผิดในกรณีผิดสัญญาเช่าซื้อนั้น กรณีดังกล่าวหากนายดําเจ้าหนี้ต้องการให้นายขาวผู้ค้ําประกันรับผิดชําระหนี้ มาตรา 686 วรรคหนึ่ง ได้กําหนดไว้ว่า นายดําเจ้าหนี้จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังนายขาวผู้ค้ําประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่นายแดงลูกหนี้ผิดนัด (ซึ่งในกรณีเช่าซื้อรถยนต์ให้ถือว่าลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่งวดแรก) ถ้าหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าว ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ําประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง (มาตรา 686 วรรคสอง)
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อนายแดงได้ผิดนัดไม่ชําระหนี้ค่าเช่าซื้อรถยนต์ดังกล่าว นายดําเจ้าหนี้ มิได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังนายขาวผู้ค้ําประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดแต่อย่างใด ดังนั้น นายขาว ผู้ค้ําประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งค่าเสียหายที่เกิดหรือมีขึ้น ภายหลังจากพ้นกําหนด 60 วันดังกล่าว ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่ผู้ค้ําประกันยังคงต้องรับผิด ในหนี้หรือค่าเสียหายที่มีหรือเกิดขึ้นแล้วก่อนครบกําหนด 60 วันนั้น

สรุป นายขาวจะหลุดพ้นจากความผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งค่าเสียหาย ที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกําหนด 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด โดยให้นับตั้งแต่ลูกหนี้ผิดนัดงวดแรก

ข้อ 2 นายไก่นําที่ดินของตนไปจดทะเบียนจํานองเพื่อประกันการกู้ยืมเงินจากนายไข่ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2564 โดยในสัญญาระบุว่า “ทรัพย์สินในที่ดินแปลงนี้ไม่ว่าจะปลูกสร้างขึ้นภายหลังสัญญาจํานอง ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจํานองนี้” หลังจากจํานองได้ 2 เดือน นายไก่อนุญาตให้นายแดง ญาติของตนปลูกสร้างบ้านลงในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยทําสัญญาเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านนายไก่ผิดนัดชําระหนี้กับนายไข่ นายไข่จะบังคับจํานองเอากับบ้านของนายแดงได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 718 “จํานองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจํานอง แต่ต้อง อยู่ภายในบังคับซึ่งท่านจํากัดไว้ในสามมาตราต่อไปนี้”

มาตรา 719 วรรคหนึ่ง “จํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดิน ภายหลังวันจํานอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 718 ได้กําหนดไว้ว่าสิทธิของผู้รับจํานองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับ ทรัพย์สินซึ่งจํานอง แต่ต้องอยู่ภายในบังคับของมาตรา 719, 720 และ 721 โดยมาตรา 719 วรรคหนึ่งนั้นได้ กําหนดไว้ว่าสิทธิของผู้รับจํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจํานอง
เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายไก่นําที่ดินของตนไปจดทะเบียนจํานองเพื่อประกันการกู้ยืมเงินจาก นายไข่ โดยในสัญญาระบุว่า “ทรัพย์สินในที่ดินแปลงนี้ไม่ว่าจะปลูกสร้างขึ้นภายหลังสัญญาจํานอง ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจํานองนี้” หลังจากจํานองได้ 2 เดือน นายไก่อนุญาตให้นายแดงญาติของตนปลูกสร้างบ้าน ลงในที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น เมื่อนายไก่ผิดนัดชําระหนี้กับนายไข่ นายไข่ย่อมสามารถบังคับจํานองเอากับที่ดิน ของนายไก่และบ้านของนายแดงได้ ทั้งนี้เพราะบ้านของนายแดงแม้เป็นเรือนโรงที่ปลูกสร้างลงในที่ดินที่จํานอง ภายหลังจํานองก็ตาม แต่เมื่อในสัญญาจํานองนั้นได้ระบุให้ทรัพย์สินที่ปลูกสร้างภายหลังเป็นทรัพย์สินที่ติดจํานอง ตามไปด้วยตามมาตรา 719 วรรคหนึ่ง ดังนั้น นายไข่จึงสามารถบังคับจํานองเอากับบ้านของนายแดงได้

สรุป นายไข่สามารถบังคับจํานองเอากับบ้านของนายแดงได้

ข้อ 3 นายสมหวังไปกู้ยืมเงินจากนายสมใจ โดยนายสมใจได้ให้นายสมหวังหาทรัพย์สินมาวางเพื่อเป็น หลักประกันการกู้ยืมเงิน โดยนายสมหวังได้ไปขอให้นางสาวสวยแฟนสาวของตนเอาแหวนเพชร มาส่งมอบไว้กับนายสมใจเพื่อประกันการกู้ยืมเงิน ผ่านไป 1 เดือน นางสาวสวยต้องไปร่วมงานเลี้ยง ต้อนรับทูตจากประเทศญี่ปุ่น จึงไปขอแหวนเพชรคืนจากนายสมใจเพื่อนํามาใส่ไปร่วมงานดังกล่าวก่อน ซึ่งนายสมใจก็คืนให้โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใด ในระหว่างนั้นนายสมหวังผิดนัดชําระหนี้ นายสมใจจึงเรียกให้นายสมหวังชําระหนี้และเรียกให้นางสาวสวยนําแหวนเพชรส่งมอบให้แก่ตน เพื่อบังคับขายทอดตลาด กรณีดังกล่าวนางสาวสวยต้องรับผิดในฐานะผู้จํานําหรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ หรือ

(2) เมื่อผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํากลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จํานํา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมหวังไปกู้ยืมเงินจากนายสมใจ และให้นางสาวสวยแฟนสาวของตน เอาแหวนเพชรมาส่งมอบไว้ให้กับนายสมใจเพื่อประกันการชําระหนี้ของนายสมหวังนั้น ถือเป็นสัญญาจํานํา ตามมาตรา 747 และต่อมาอีก 1 เดือน นางสาวสวยต้องไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับทูตจากประเทศญี่ปุ่น จึงไปขอ แหวนเพชรคืนจากนายสมใจเพื่อนํามาใส่ไปร่วมงานดังกล่าวก่อน ซึ่งนายสมใจก็คืนให้โดยไม่มีเงื่อนไขแต่อย่างใดนั้นย่อมถือว่านายสมใจผู้รับจํานําได้ยอมคืนทรัพย์สินที่จํานํากลับไปสู่การครอบครองของผู้จํานํา จึงมีผลทําให้ สัญญาจํานําระงับสิ้นไปตามมาตรา 769 (2)

ดังนั้น เมื่อนายสมหวังผิดนัดชําระหนี้ นายสมใจเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้นายสมหวังชําระหนี้ได้ แต่จะบังคับให้นางสาวสวยส่งมอบแหวนเพชรคืนให้แก่ตนเพื่อบังคับขายทอดตลาดไม่ได้ เพราะถือว่าสัญญาจํานํา ได้ระงับไปแล้ว นางสาวสวยจึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้จํานํา

สรุป นางสาวสวยไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้รับจํานํา

LAW2110 (LAW2010) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นางสาวกุหลาบกู้เงินนางสาวบุหงา 500,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง นางสาวบุหงาเห็นว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ค่อยดีจึงเกรงว่าเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระนางสาวกุหลาบจะไม่มีเงินชําระหนี้จึงขอให้นางสาวกุหลาบหาหลักประกันให้ นางสาวกุหลาบจึงได้นําแหวนเพชรราคา 300,000 บาท มาจํานําไว้กับนางสาวบุหงา และยังให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด โดยนางสาวราตรีผู้แทนนิติบุคคล เข้าเป็นผู้ค้ําประกันเพราะตนได้นําเงินกู้บางส่วนมาใช้ลงทุนในบริษัทฯ มีการทําหลักฐานเป็นหนังสือ ตกลงให้บริษัทฯ เข้าเป็นผู้ค้ําประกันและยอมรับผิดในหนี้ทั้งหมดร่วมกับนางสาวกุหลาบ ต่อมา เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นางสาวกุหลาบไม่ชําระหนี้ นางสาวบุหงาจะเรียกให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด ชําระหนี้เต็มจํานวน 500,000 บาทได้หรือไม่ จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ําประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน
เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681/1 “ข้อตกลงใดที่กําหนดให้ผู้ค้ําประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือ ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ําประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตน เพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ําประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690”

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ําประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชําระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวกุหลาบกู้เงินนางสาวบุหงา 500,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง โดยนางสาวกุหลาบได้นําแหวนเพชรราคา 300,000 บาท มาจํานําไว้กับนางสาวบุหงา และยังให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด โดยนางสาวราตรีผู้แทนนิติบุคคลเข้ามาเป็นผู้ค้ําประกัน มีการทําหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามมาตรา 680 นั้น เมื่อสัญญาค้ําประกันดังกล่าวได้มีข้อตกลงว่าให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้าเป็นผู้ค้ําประกันและยอมรับผิดในหนี้ ทั้งหมดร่วมกับนางสาวกุหลาบ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับกันได้ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดและนางสาวกุหลาบไม่ชําระหนี้ นางสาวบุหงาจึงสามารถเรียกให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด ชําระหนี้ เต็มจํานวน 500,000 บาทได้ และบริษัท เสื้อสวย จํากัด จะใช้สิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้ไปบังคับเอากับทรัพย์สินของ ลูกหนี้คือแหวนเพชรราคา 300,000 บาทที่เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันตามมาตรา 690 ก่อนไม่ได้ (มาตรา 681/1 วรรคสอง)

สรุป นางสาวบุหงาสามารถเรียกให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด ชําระหนี้เต็มจํานวน 500,000 บาทได้

ข้อ 2 นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินนายจัตวา 5 ล้านบาท โดยนายเอกได้นําที่ดินมาจดทะเบียนจํานอง ประกันหนี้กู้ยืมเงินของตน และมีนายโทนําบ้านพร้อมที่ดินมาจดทะเบียนจํานองประกันหนี้กู้ยืมเงิน ดังกล่าว ข้อตกลงในสัญญาจํานองมีดังนี้

(1) หากบังคับชําระหนี้เอากับทรัพย์สินที่จํานองเงินยังขาดอยู่เท่าใด นายเอกต้องรับผิดในส่วนที่ขาด

(2) หากบังคับชําระหนี้เอากับทรัพย์สินที่จํานองเงินยังขาดอยู่เท่าใด นายโทต้องรับผิดในส่วนที่ขาด เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระหนี้ นายเอกผิดนัดชําระหนี้ นายจัตวาฟ้องศาลขอให้มีคําพิพากษา ยึดทรัพย์จํานองขายทอดตลาดเพื่อชําระหนี้ ปรากฏว่า ที่ดินของนายเอกขายทอดตลาดได้ ราคา 2 ล้านบาท บ้านพร้อมที่ดินของนายโทขายทอดตลาดได้ราคา 2.5 ล้านบาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายจัตวาจะเรียกให้นายเอกและนายโทชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาท ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระก็ให้ทําได้”

มาตรา 727/1 “ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้ อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานองหรือเอาทรัพย์ จํานองหลุด

ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จํานองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จํานองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 733 “ถ้าเอาทรัพย์จํานองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ํากว่าจํานวนเงินที่ ค้างชําระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนเงิน ที่ค้างชําระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจํานวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินนายจัตวา 5 ล้านบาท โดยนายเอกได้นําที่ดิน มาจดทะเบียนจํานองประกันหนี้กู้ยืมเงินของตน และมีนายโทนําบ้านพร้อมที่ดินมาจดทะเบียนจํานองประกันหนี้ กู้ยืมเงินดังกล่าวนั้น ย่อมสามารถที่จะกระทําได้ตามมาตรา 702 และมาตรา 709 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหนี้ ถึงกําหนดชําระ นายเอกผิดนัดชําระหนี้ นายจัตวาฟ้องศาลขอให้ศาลมีคําพิพากษายึดทรัพย์จํานองขายทอดตลาด เพื่อชําระหนี้ ปรากฏว่า ที่ดินของนายเอกขายทอดตลาดได้ราคา 2 ล้านบาท ส่วนบ้านพร้อมที่ดินของนายโท ขายทอดตลาดได้ราคา 2.5 ล้านบาท ดังนี้ จัตวาจะเรียกให้นายเอกและนายโทชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาท ได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

(1) ตามมาตรา 733 นั้น ได้วางหลักไว้ว่า ถ้ามีการเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาด ใช้หนี้ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจํานวนที่ค้างชําระกันอยู่ เงินยังขาดอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น ดังนั้น กรณีนี้ โดยหลักแล้วนายเอกลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาท

แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติมาตรา 733 ดังกล่าว มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ลูกหนี้อาจตกลงกับเจ้าหนี้เป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือ จากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมทําได้ ดังนั้น เมื่อในสัญญาจํานองมีข้อตกลงกันเป็นพิเศษว่า หากบังคับชําระหนี้ เอากับทรัพย์สินที่จํานองเงินยังขาดอยู่เท่าใด นายเอกต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับ กันได้ระหว่างนายเอกลูกหนี้กับนายจัตวาเจ้าหนี้ผู้รับจํานอง นายจัตวาจึงสามารถเรียกให้นายเอกรับผิดชอบ ชําระหนี้ส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาทได้

(2) กรณีที่ในสัญญาจํานองมีข้อตกลงกันว่า หากบังคับชําระหนี้เอากับทรัพย์สินที่จํานองเงิน ยังขาดอยู่เท่าใด นายโทต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น เมื่อนายโทมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่นายโทเป็นเพียงบุคคลซึ่งนํา ทรัพย์สินมาจํานองประกันในหนี้ของบุคคลอื่น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 733 แต่จะอยู่ในบังคับของมาตรา 727/1 กล่าวคือ นายโทไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานอง และในกรณีที่มีข้อตกลงอันมีผลให้ นายโทต้องรับผิดเกินทรัพย์สินที่จํานองข้อตกลงดังกล่าวนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น นายจัตวาจะเรียกให้นายโทชําระหนี้ ในส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาทไม่ได้

สรุป นายจัตวาจะเรียกให้นายเอกชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาทได้ แต่จะเรียกเอาจากนายโทไม่ได้

ข้อ 3 แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท แดงได้ส่งมอบแหวนของตนหนึ่งวงไว้กับดําเพื่อเป็นประกันหนี้รายนี้ ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความ และแดงได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ปฏิเสธไม่ชําระหนี้แก่ค่า ค่าต้องการ บังคับชําระหนี้จากแหวนของแดงที่ตนครอบครองไว้เฉพาะตน จึงมาปรึกษาท่านว่า จะทําได้หรือไม่

จงให้คําปรึกษาแก่คําต่อคําถามต่อไปนี้
(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากแหวนของแดงได้หรือไม่ โดยวิธีใด
(ข) หากแหวนวงนี้มีราคา 800,000 บาท ในขณะนั้น ดําจะได้รับชําระหนี้เต็มจํานวนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง
เกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้
แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้และ อุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ…”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท และแดงได้ส่งมอบแหวนของตนหนึ่งวง ให้ดําเพื่อเป็นประกันชําระหนี้นั้น ถือเป็นสัญญาจํานําตามมาตรา 747 ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความแดงย่อม มีสิทธิยกอายุความขึ้นปฏิเสธการชําระหนี้ได้ตามมาตรา 193/9 ประกอบมาตรา 193/10

แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ก็ไม่ทําให้การจํานํานั้น ระงับสิ้นไปตามมาตรา 769 (1) ดังนั้น ดําผู้รับจํานําจึงยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานําคือแหวน ที่แดงได้จํานําไว้ได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตามตามมาตรา 193/27
และเมื่อจะบังคับจํานํา ดําจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังแดงลูกหนี้ว่าให้ชําระหนี้และดอกเบี้ย ภายในเวลาอันควรซึ่งดําได้กําหนดไว้ในคําบอกกล่าว ซึ่งถ้าหากแดงละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานํา มีสิทธินําแหวนของแดงออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764

(ข) หากแหวนวงนั้นของแดงมีราคา 80,000 บาท ในขณะนั้น ดําย่อมมีสิทธิได้รับชําระหนี้เพียง 80,000 บาท ส่วนที่ขาดอีก 20,000 บาทนั้น เมื่อแดงลูกหนี้ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว แดงจึงไม่ต้องรับผิด ในส่วนที่ขาดนั้นตามมาตรา 767 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/9 และ 193/10

สรุป
(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากแหวนของแดงได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรา 764
(ข) หากแหวนวงนั้นมีราคา 80,000 บาท จะได้รับชําระหนี้เพียง 80,000 บาท ส่วนที่ขาดอีก 20,000 บาท แดงไม่ต้องรับผิด

LAW2111 (LAW2011) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า s/2564

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2111 (LAW 2011) ป.พ.พ.ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายเรืองต้องการนําเงินจํานวน 1 ล้านบาทไปปล่อยกู้ จึงตั้งนายรุ่งเป็นตัวแทนให้นําเงินจํานวน ดังกล่าวไปดําเนินการปล่อยกู้แทนตน แต่มีเงื่อนไขในการตั้งตัวแทนว่าให้นายรุ่งกระทําการทุกอย่าง ในนามของนายรุ่งเอง นายรุ่งจึงนําเงินจํานวน 1 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้แก่นายขาว โดยมีการส่งมอบ เงินจํานวนดังกล่าวต่อนายขาวในนามของนายรุ่ง และในสัญญากู้ยืมเงินก็ระบุชื่อนายรุ่งเป็นผู้ให้กู้ เงินจํานวน 1 ล้านบาท และระบุชื่อนายขาวเป็นผู้กู้ พร้อมมีการลงลายมือชื่อนายรุ่งและนายขาว ในสัญญากู้ยืมเงินด้วย ปรากฏต่อมาว่าเมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ นายขาวทราบว่านายเรืองเป็น เจ้าของเงินกู้ที่แท้จริงจํานวน 1 ล้านบาท จึงทําการเข้าชําระหนี้แก่นายเรือง โดยการโอนเงินจํานวน 1 ล้านบาท ผ่านระบบ Mobile Banking เข้าไปยังบัญชีธนาคารของนายเรื่อง หลังจากนั้น 1 วัน นายรุ่งได้นําสัญญากู้ยืมเงินซึ่งระบุชื่อนายรุ่งเป็นผู้ให้กู้มาเรียกให้นายขาวชําระหนี้อีกครั้ง

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยตามกฎหมายตัวแทนว่า

(ก) การชําระหนี้ของนายขาวมีผลผูกพันนายเรืองหรือไม่

(ข) นายรุ่งสามารถนําสัญญากู้ยืมเงินซึ่งระบุชื่อตนเป็นผู้ให้กู้มาเรียกให้นายขาวชําระหนี้แก่ตน ได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 806 “ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใด ๆ ซึ่งตัวแทนได้ทําไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทําการออกหน้าเป็นตัวการไซร้ ท่านว่า ตัวการผู้นั้นหาอาจจะทําให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน และเขาขวนขวายได้มา
แต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่”

มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเรืองต้องการนําเงินจํานวน 1 ล้านบาทไปปล่อยกู้ จึงตั้งนายรุ่ง เป็นตัวแทนให้นําเงินจํานวนดังกล่าวไปดําเนินการปล่อยกู้แทนตน โดยมีเงื่อนไขในการตั้งตัวแทนว่าให้นายรุ่ง กระทําการทุกอย่างในนามของนายรุ่งเองนั้น ถือเป็นการตั้งตัวแทนตามมาตรา 806 ซึ่งเป็นกรณีที่ตัวแทนจะต้อง ปกปิดซ่อนเร้นตัวการเอาไว้ และต้องกระทําการทุกอย่างในนามของตนเอง ดังนั้น เมื่อนายรุ่งได้นําเงินจํานวน 1 ล้านบาทปล่อยกู้ให้แก่นายขาว โดยมีการส่งมอบเงินจํานวนดังกล่าวต่อนายขาวในนามของนายรุ่ง และในสัญญา กู้ยืมเงินก็ระบุชื่อนายรุ่งเป็นผู้ให้กู้ยืมเงินจํานวน 1 ล้านบาท และระบุชื่อนายขาวเป็นผู้กู้ พร้อมมีการลงลายมือชื่อ นายรุ่งและนายขาวในสัญญากู้ยืมเงินด้วย การทําสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงมีผลผูกพันนายรุ่งตัวแทน และนายขาว บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กู้ตามกฎหมาย

เมื่อปรากฏต่อมาว่า เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระและนายขาวได้ทราบว่านายเรืองเป็นเจ้าของเงินกู้ที่แท้จริงจํานวน 1 ล้านบาทดังกล่าว จึงทําการเข้าชําระหนี้แก่นายเรืองโดยการโอนเงินจํานวน 1 ล้านบาท ผ่านระบบ Mobile Banking เข้าไปยังบัญชีธนาคารของนายเรืองนั้น ถือเป็นกรณีที่ชื่อของนายเรืองตัวการได้ถูก เปิดเผยและกลับแสดงตนให้ปรากฏ และเข้ารับเอาประโยชน์แห่งสัญญาซึ่งนายรุ่งตัวแทนได้ทําไว้แทนตนแล้ว ตามมาตรา 806 ดังนั้น การชําระหนี้ของนายขาวจึงมีผลผูกพันนายเรืองตามมาตรา 820

(ข) เมื่อนายขาวชําระหนี้เงินกู้จํานวน 1 ล้านบาทให้แก่นายเรืองตัวการแล้ว การชําระหนี้ย่อม มีผลผูกพันนายเรืองตัวการ และมีผลทําให้หนี้เงินกู้ย่อมระงับสิ้นไปตามมาตรา 820 ดังนั้น นายรุ่งจึงไม่สามารถ
น่าสัญญากู้ยืมเงินซึ่งระบุชื่อตนเป็นผู้ให้กู้มาเรียกให้นายขาวชําระหนี้แก่ตนได้อีก

สรุป
(ก) การชําระหนี้ของนายขาวมีผลผูกพันนายเรือง
(ข) นายรุ่งไม่สามารถนําสัญญากู้ยืมเงินซึ่งระบุชื่อตนเป็นผู้ให้กู้มาเรียกให้นายขาวชําระหนี้
แก่ตนได้อีก

ข้อ 2 บริษัท เอบีซี จํากัด ประกอบกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อเอบีซี ซึ่งจดทะเบียนและมีที่ตั้ง สํานักงานใหญ่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ได้ทําหนังสือแต่งตั้งบริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด ให้เป็นตัวแทน จําหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัทฯ ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าบริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด มีความเชี่ยวชาญเพราะเป็นตัวแทนจําหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าของหลายบริษัทอยู่แล้ว และยังมี โรงงานผลิตอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายยี่ห้อ ต่อมาบริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด ได้นําโทรทัศน์ ยี่ห้อเอบีซีไปวางขายที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และนายโชคร้ายได้ซื้อโทรทัศน์ ยี่ห้อเอบีซีไปหนึ่งเครื่องในราคา 80,000 บาท หลังจากใช้งานไปได้สองเดือน บ้านนายโชคร้าย หลังคารั่วทําให้มีน้ําซึมลงมา และโทรทัศน์เครื่องดังกล่าวได้รับความเสียหาย นายโชคร้ายจึงส่ง โทรทัศน์ไปซ่อมที่บริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด เมื่อซ่อมเสร็จได้นําโทรทัศน์กลับมาใช้ที่บ้าน ปรากฏว่า โทรทัศน์เครื่องดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้นจากการใช้ชิ้นส่วนในการซ่อมแซมที่ไม่ได้มาตรฐาน ทําให้ บ้านไฟไหม้เสียหายไปบางส่วน ดังนี้ตามกฎหมายลักษณะตัวแทน นายโชคร้ายจะเรียกให้บริษัท เอบีซี จํากัด และบริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”

มาตรา 823 “ถ้าตัวแทนกระทําการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอํานาจก็ดี หรือทํานอกทําเหนือขอบอํานาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลําพังตนเอง เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทําการโดยปราศจากอํานาจ หรือทํานอกเหนือขอบอํานาจ”

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา 835 “บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น ท่านให้ใช้บังคับ ถึงตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บริษัท เอบีซี จํากัด ประกอบกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อเอบีซี ซึ่งจดทะเบียนและมีที่ตั้งสํานักงานใหญ่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ได้ทําหนังสือแต่งตั้งบริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด ให้เป็น ตัวแทนจําหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัทฯ ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าบริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด มีความเชี่ยวชาญ เพราะเป็นตัวแทนจําหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าของหลายบริษัทอยู่แล้ว และยังมีโรงงานผลิตอะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้า หลากหลายยี่ห้อนั้น ย่อมถือว่าบริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด เป็นตัวแทนค้าต่างที่มีอํานาจในการจําหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ของบริษัท เอบีซี จํากัด ตามมาตรา 833 แต่ไม่ได้เป็นตัวแทนค้าต่างในการรับซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียหาย แต่อย่างใด

การที่บริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด ได้นําโทรทัศน์ยี่ห้อเอบีซีไปวางขายที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพมหานคร และนายโชคร้ายได้ซื้อโทรทัศน์ยี่ห้อเอบีซีไปหนึ่งเครื่องราคา 80,000 บาท หลังจากใช้งาน ไปได้สองเดือน บ้านนายโชคร้ายหลังคารั่ว ทําให้มีน้ําซึมลงมา และโทรทัศน์เครื่องดังกล่าวได้รับความเสียหายนั้น

ความเสียหายที่เกิดขึ้นถือเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทําของนายโชคร้ายเอง ไม่เกี่ยวกับความชํารุดบกพร่อง ของสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท เอบีซี จํากัด ดังนั้น นายโชคจะเรียกให้บริษัท เอบีซี จํากัด รับผิดตามมาตรา 820 ไม่ได้

การที่นายโชคร้ายได้ส่งโทรทัศน์เครื่องดังกล่าวไปซ่อมที่บริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด และบริษัทแสงไฟฟ้า จํากัด ได้รับซ่อมโทรทัศน์เครื่องนั้น ถือเป็นการกระทํานอกเหนือขอบอํานาจของตัวแทน ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังการซ่อมแซมที่ไม่ได้มาตรฐาน ทําให้โทรทัศน์เครื่องดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้น และ ทําให้บ้านไฟไหม้เสียหายไปบางส่วนนั้นจึงไม่ผูกพันบริษัท เอบีซี จํากัด และเมื่อไม่ปรากฏว่าบริษัท เอบีซี จํากัด ได้ให้สัตยาบันในการรับซ่อมโทรทัศน์ของบริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด แต่อย่างใด ดังนั้น นายโชคร้ายจะเรียกให้ บริษัท เอบีซี จํากัด รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ นายโชคร้ายจะต้องไปเรียกให้บริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด รับผิดโดยลําพังตามมาตรา 823 ประกอบมาตรา 835

สรุป นายโชคร้ายจะเรียกให้บริษัท เอบีซี จํากัด รับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ แต่เรียก
ให้บริษัท แสงไฟฟ้า จํากัด รับผิดได้

ข้อ 3 นายเมฆต้องการขายรถจักรยานยนต์ Ducati ราคา 550,000 บาท จึงติดต่อให้นายหมอกช่วยหา คนมาซื้อรถจักรยานยนต์ Ducati ของนายเมฆ โดยนายเมฆจะให้บําเหน็จ 20,000 บาท ต่อมา นายหมอกสืบทราบว่านายพายุต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ Ducati นายหมอกจึงติดต่อให้นายพายุ มาพบนายเมฆ จนมีการวางมัดจํา 50,000 บาท และตกลงชําระราคาส่วนที่เหลือในวันไปจดทะเบียน ที่กรมการขนส่งทางบก แต่เมื่อถึงวันนัดที่กรมการขนส่งทางบก นายพายุกลับไม่ยอมไปจดทะเบียน รถจักรยานยนต์ Ducati ที่ตกลงซื้อนั้นรวมทั้งชําระราคาส่วนที่เหลือ ดังนี้ นายหมอกจะได้รับ ค่าบําเหน็จนายหน้าจากนายเมฆหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากันสําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้
ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทํากันสําเร็จ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทางหรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ ค่าบําเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆต้องการขายรถจักรยานยนต์ Ducati ราคา 550,000 บาท จึง ติดต่อให้นายหมอกช่วยหาคนมาซื้อรถจักรยานยนต์ Ducati ของนายเมฆ โดยนายเมฆจะให้บําเหน็จ 20,000 บาท เมื่อปรากฏว่านายหมอกสืบทราบว่านายพายุต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ Ducati นายหมอกจึงได้ติดต่อให้นายพายุ มาพบนายเมฆ จนมีการวางมัดจํา 50,000 บาท และตกลงชําระราคาส่วนที่เหลือในวันไปจดทะเบียนที่กรมการ ขนส่งทางบกนั้น ย่อมถือว่านายหมอกได้ทําหน้าที่ของตนในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว กล่าวคือ ถือว่านายหมอก ได้ชี้ช่องหรือจัดการให้นายพายุและนายเมฆได้เข้าทําสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ Ducati ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขาย เสร็จเด็ดขาดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น นายหมอกจึงมีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้าจากนายเมฆตามมาตรา 845 ส่วนการที่นายพายุไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายโดยไม่ยอมไปจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ Ducati ที่ตกลงซื้อรวมทั้งชําระราคาส่วนที่เหลือนั้น เป็นเรื่องที่นายเมฆและนายพายุจะเป็นผู้ดําเนินการกันตามสัญญาอีกกรณีหนึ่ง

สรุป นายหมอกมีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้าจากนายเมฆ

 

LAW2111 (LAW2011) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 1/2564

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2111 (LAW 2011) ป.พ.พ.ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายอาทิตย์ต้องการซื้อภาพวาดจากงานประมูล Art and Design เพื่อนํามาใช้ตกแต่งอาคาร สํานักงานใหม่ของตน ซึ่งภาพวาดที่นายอาทิตย์สนใจนั้นมีหลายภาพ และเป็นภาพที่ผู้จัดงาน ประมูลให้รายละเอียดว่าเป็นของศิลปินผู้สร้างสรรค์ที่มีชื่อเสียงนามว่า “นายศิลปะ สรรสร้าง”ที่ขณะนี้ถึงแก่กรรมไปแล้ว นายอาทิตย์ทราบว่านายสดใสที่เป็นเพื่อนของตนนั้นเป็นจิตรกร และยังเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดของนายศิลปะ สรรสร้าง อีกด้วย จึงโทรศัพท์ไปติดต่อขอให้นายสดใส ช่วยเข้าร่วมประมูลภาพวาดของนายศิลปะ สรรสร้าง ที่มีทั้งหมดห้าภาพในงานครั้งนี้แทนตน และตกลงให้บําเหน็จภาพละ 10,000 บาท ในวันประมูลนายสดใสไปที่งานประมูลสาย ทําให้ ไม่สามารถเห็นภาพวาดก่อนการประมูลและไม่สามารถประมูลภาพวาดสองภาพแรกได้ทัน แต่นายสดใสได้ประมูลภาพวาดของนายศิลปะ สรรสร้าง อีกสามภาพที่เหลือในราคาภาพละ 250,000 บาท หลังจากงานประมูล นางสาวแสงจันทร์เห็นว่านายสดใสสนใจภาพวาดของ นายศิลปะ สรรสร้าง จึงเสนอขายภาพที่ตนประมูลได้สองภาพแรกในราคาภาพละ 250,000 บาท จากราคาที่ตนประมูลได้มา 200,000 บาท นายสดใสตกลงซื้อและชําระราคา เพราะเห็นว่า ถ้าไม่รีบตกลง นายอาทิตย์จะไม่มีภาพไปตกแต่งอาคารสํานักงาน หรือนางสาวแสงจันทร์อาจจะ เปลี่ยนใจในภายหลัง ประกอบกับนายอาทิตย์เองก็มอบอํานาจให้นายสดใสเข้าซื้อภาพเหล่านี้แทน อยู่แล้ว และตนได้เห็นภาพที่นางสาวแสงจันทร์ประมูลได้ จึงแน่ใจว่าเป็นของนายศิลปะ สรรสร้าง จริง ต่อมานายสดใสได้นําภาพทั้งหมดไปส่งมอบให้นายอาทิตย์ แต่พบว่าภาพหนึ่งในสามที่ได้จาก การประมูลไม่ใช่ภาพที่เป็นผลงานของนายศิลปะ สรรสร้าง เป็นเพียงภาพเลียนแบบเท่านั้น และ บุคคลที่ดูงานศิลปะเป็นประจําสามารถรู้ได้ทันที ดังนี้ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏข้างต้น นายสดใส ทําชอบด้วยหน้าที่ของการเป็นตัวแทนหรือไม่ และมีสิทธิได้รับบําเหน็จหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 807 “ตัวแทนต้องทําการตามคําสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของตัวการ เมื่อไม่มีคําสั่ง
เช่นนั้น ก็ต้องดําเนินตามทางที่เคยทํากันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทําอยู่นั้น….

มาตรา 818 “การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทํามิชอบในส่วนนั้น ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บําเหน็จ”

มาตรา 823 “ถ้าตัวแทนกระทําการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอํานาจก็ดี หรือทํานอกทําเหนือ
ขอบอํานาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น

ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลําพังตนเอง เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทําการโดยปราศจากอํานาจ หรือทํานอกเหนือขอบอํานาจ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ได้มอบหมายให้นายสดใสเป็นตัวแทนไปประมูลภาพวาด ของนายศิลปะ สรรสร้าง ที่มีทั้งหมด 5 ภาพแทนตน เพราะเห็นว่านายสดใสเป็นจิตรกร และยังเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด ของนายศิลปะ สรรสร้างนั้น นายสดใสจึงต้องทําหน้าที่ตัวแทนในการเข้าประมูลภาพวาดทั้ง 5 ภาพ โดยใช้ความ ระมัดระวังในการพิจารณาเช่นคนที่เป็นจิตรกรและลูกศิษย์ใกล้ชิดของศิลปินพึงกระทํา ดังนั้น การที่นายสดใส ไปที่งานประมูลสายทําให้ไม่สามารถเห็นภาพวาดก่อนการประมูล ทําให้ได้ภาพเลียนแบบมา 1 ภาพ จึงเป็นการ กระทําไม่ชอบด้วยหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 807 แล้ว และนอกจากนี้การที่นายสดใสได้ซื้อภาพวาดอีก 2 ภาพ ที่ตนเข้าร่วมการประมูลไม่ทันจากนางสาวแสงจันทร์ก็ถือว่าเป็นกรณีของการไม่ทําตามคําสั่งของตัวการ ซึ่งเป็น การกระทําไม่ชอบด้วยหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 807 ที่ให้เข้าร่วมประมูลภาพทั้ง 5 ภาพ และยังเป็นการกระทํา นอกเหนือขอบอํานาจที่ตัวการได้ให้ไว้ตามมาตรา 823 วรรคหนึ่งอีกด้วย

สําหรับกรณีที่นายสดใสมีสิทธิจะได้รับบําเหน็จที่นายอาทิตย์ตกลงให้ภาพละ 10,000 บาท หรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้คือ

1 กรณีภาพวาดทั้ง 3 ภาพที่นายสดใสเข้าประมูลด้วยตนเองนั้น เมื่อปรากฏว่าได้ภาพเลียนแบบ มา 1 ภาพ เพราะนายสดใสไม่ได้ดูภาพวาดที่มีการนําเข้าประมูลก่อน ทั้งที่บุคคลที่ดูงานศิลปะเป็นประจําสามารถ รู้ได้ทันที จึงเป็นการที่ไม่ใช้ความระมัดระวังในการทําหน้าที่ตัวแทน ซึ่งเป็นการทํามิชอบด้วยหน้าที่ นายสดใส จึงไม่มีสิทธิได้รับบําเหน็จในส่วนนี้ตามมาตรา 818 คงได้บําเหน็จเฉพาะภาพวาดที่ประมูลได้อีก 2 ภาพ เป็นเงิน 20,000 บาทเท่านั้น

2 กรณีภาพวาดอีก 2 ภาพ ที่นายสดใสได้ซื้อจากนางสาวแสงจันทร์นั้น เมื่อนายสดใสไม่ได้ซื้อ จากการประมูลตามคําสั่งของนายอาทิตย์ จึงเป็นการทํามิชอบด้วยหน้าที่ของตัวแทนทําให้ไม่ได้รับบําเหน็จใน ส่วนนี้เช่นกันตามมาตรา 818

สรุป

นายสดใสได้ทําการมิชอบด้วยหน้าที่ของตัวแทนในการประมูลภาพเลียนแบบ 1 ภาพ และ ภาพวาดที่ซื้อจากนางสาวแสงจันทร์อีก 2 ภาพ จึงไม่ได้รับบําเหน็จในส่วนนี้ แต่มีสิทธิได้รับบําเหน็จจากการประมูล ภาพวาดอีก 2 ภาพ เป็นเงิน 20,000 บาท

ข้อ 2 นายเอกเป็นผู้ผลิตรองเท้าวิ่งมาราธอนของตน รุ่น SEA-148 ได้ส่งมอบรองเท้าดังกล่าวจํานวน 100 คู่ ไปให้นายโทซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า “มิววอกกี้” โดยมีข้อตกลงกันว่าให้ขาย ในราคาคู่ละ 5,000 บาท หากขายรองเท้าได้จะให้บําเหน็จแก่นายโทคู่ละ 1,000 บาท และให้ สัญญานี้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกําหนดสัญญานายโทแจ้งว่า รองเท้าจํานวน 10 คู่ เสียหายเนื่องจากถูกหนูกัด จึงไม่สามารถขายได้ และนายโทได้ขายรองเท้า ในราคา 4,500 บาท ไปจํานวน 10 คู่ ให้กับนายตรีซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของนายโท ให้ท่านวินิจฉัยว่า

ก สัญญาระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาประเภทใด มีลักษณะสําคัญอย่างไร

ข ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในรองเท้าจํานวน 10 คู่ ที่ถูกหนูกัด จงอธิบาย

ค นายโทสามารถขายรองเท้าให้นายตรีจํานวน 10 คู่ ในราคาคู่ละ 4,500 บาท ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 659 วรรคสาม “ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใดก็จําต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขาย
หรืออาชีวะอย่างนั้น”

มาตรา 812 “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะไม่ทําการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทําการโดยปราศจากอํานาจหรือนอกเหนืออํานาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด”

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา 837 “ในการที่ตัวแทนค้าต่างทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่น
ต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย”

มาตรา 839 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ําไปกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อ เป็นราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขายหรือการซื้ออันนั้น ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ”

มาตรา 842 วรรคหนึ่ง “เมื่อใดเขามอบหมายทรัพย์สินไว้แก่ตัวแทนค้าต่าง ท่านให้นําบทบัญญัติ ทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ลักษณะฝากทรัพย์มาใช้บังคับอนุโลมตามสมควร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ก การที่นายเอกซึ่งเป็นผู้ผลิตรองเท้าวิ่งมาราธอนของตนรุ่น SEA-148 ได้ส่งมอบรองเท้า ดังกล่าวจํานวน 100 คู่ ไปให้นายโทซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า “มิววอกกี้” โดยมีข้อตกลงกันว่าให้ขาย ในราคาคู่ละ 5,000 บาท หากขายรองเท้าได้จะให้บําเหน็จแก่นายโทคู่ละ 1,000 บาทนั้น สัญญาระหว่างนายเอก

และนายโทเป็นสัญญาตัวแทนค้าต่างตามมาตรา 833 ซึ่งเป็นสัญญาที่ตัวแทนค้าต่างทําการค้าขาย หรือประกอบ กิจการค้าอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ ทั้งนี้ ตัวการค้าต่างยังเป็นผู้มีสิทธิในสัญญาหรือต้องผูกพันตน ในสัญญาที่ทํากับบุคคลภายนอกด้วยตามมาตรา 837

ข. ตัวแทนค้าต่าง มีหน้าที่ในการใช้ความระมัดระวังในการดูแลรักษาทรัพย์สินในระดับ ผู้มีวิชาชีพตามมาตรา 842 ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม ดังนั้น การที่นายโทเก็บรองเท้าไว้จึงต้องใช้ ความระมัดระวังในระดับผู้มีวิชาชีพการค้าขาย ซึ่งต้องเก็บรองเท้าไว้ให้ดีไม่ให้หนูเข้ามากัดทําลายสินค้าได้ แต่นายโทหาได้ใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นไม่ เมื่อรองเท้า 10 คู่เสียหายเนื่องจากถูกหนูกัดจึงไม่สามารถขายได้ นายโทจึงต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามมาตรา 812

ค. การที่นายโทได้ขายรองเท้าให้แก่นายตรี 10 คู่ ในราคาคู่ละ 4,500 บาท ซึ่งต่ํากว่าราคาที่ ตัวการกําหนดนั้น ตามมาตรา 839 ได้กําหนดไว้ว่า หากตัวแทนรับใช้เศษที่ขาด ตัวการก็ต้องยอมรับการขาย ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อนายโทขายรองเท้าให้นายตรีในราคา 4,500 บาท นายโทย่อมสามารถทําได้ แต่นายโทต้องใช้ ส่วนที่ขาดคู่ละ 500 บาท จํานวน 10 คู่ ให้แก่นายเอก หากนายโทไม่ยอมชดใช้ส่วนที่ขาด นายเอกย่อมสามารถ เรียกให้นายโทชดใช้ส่วนที่ขาดได้ตามมาตรา 812

สรุป
ก สัญญาระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาตัวแทนค้าต่าง
ข นายโทเป็นผู้รับผิดชอบในรองเท้าจํานวน 10 คู่ที่ถูกหนูกัด
ค นายโทสามารถขายรองเท้าให้นายตรีจํานวน 10 คู่ ในราคาคู่ละ 4,500 บาทได้ แต่นายโทต้องใช้ส่วนที่ขาดคู่ละ 500 บาทให้แก่นายเอก

ข้อ 3 นายปอ มอบหมายให้นายโป้งขายที่ดินพื้นที่ 50 ไร่ให้นายปอ ตกลงว่าจะให้บําเหน็จนายหน้า นายโป้งนําเสนอขายนายป้อ นายป้อตกลงซื้อ นายโป้งจึงนัดให้นายปอและนายป้อผู้ซื้อมาพบกัน และเข้าทําสัญญาต่อกัน แต่ภายหลังทําสัญญาการซื้อขายเลิกกันเนื่องจากนายป้อไม่มีเงินมาชําระ ค่าที่ดินส่วนที่เหลือ

ดังนี้ นายโป้งยังจะได้ค่าบําเหน็จนายหน้าหรือไม่ เพราะเหตุใด

อีกกรณีหนึ่ง นายปอมอบหมายนายโป้งให้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้ และตกลงว่าจะให้ บําเหน็จนายหน้า นายโป้งได้นําข้อมูลไปนําเสนอเพื่อขายให้แก่นายป้อ นายป้อตกลงซื้อแต่มี เงื่อนไขบังคับก่อนว่า “ต้องมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงที่ดินที่กําลังทําสัญญาจะซื้อจะขายก่อน เมื่อมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงเมื่อใด การซื้อขายนี้จึงจะสมบูรณ์

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นางโป้งจะได้ค่านายหน้าหรือไม่ และเมื่อใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทํา สัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญาซึ่ง บุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ
ค่าบําเหน็จ

แต่อย่างไรก็ตาม กรณีที่สัญญาที่ทํานั้น เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน กฎหมายห้ามมิให้มีการ เรียกค่านายหน้าจนกว่าเงื่อนไขนั้นจะสําเร็จแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีที่ 1 การที่นายปอมอบหมายให้นายโป้งขายที่ดินพื้นที่ 50 ไร่ให้นายปอ โดยตกลงว่าจะให้ บําเหน็จนายหน้านั้น เมื่อปรากฏว่านายโป้งนําเสนอขายนายป้อ นายป้อตกลงซื้อ นายโป้งจึงนัดหมายให้นายปอ และนายป้อผู้ซื้อมาพบกัน และเข้าทําสัญญากัน ดังนี้ ถือว่านายโป้งได้ทําหน้าที่ของตนในฐานะนายหน้าครบถ้วนแล้ว แม้ต่อมาภายหลังทําสัญญาการซื้อขายเลิกกันเนื่องจากนายป้อไม่มีเงินมาชําระค่าที่ดินส่วนที่เหลือก็ตาม นายโป้ง ก็ยังจะได้รับค่าบําเหน็จนายหน้าอยู่ตามมาตรา 845 ประกอบคําพิพากษาฎีกาที่ 517/2494

กรณีที่ 2 การที่นายปอมอบหมายนายโป้งให้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้ และตกลงว่าจะให้ บําเหน็จนายหน้า นายโป้งได้นําข้อมูลไปนําเสนอเพื่อขายให้แก่นายป้อ นายป้อตกลงซื้อ แต่มีเงื่อนไขบังคับก่อนว่า “ต้องมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงที่ดินที่กําลังทําสัญญาจะซื้อจะขายก่อน เมื่อมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงเมื่อใด การซื้อขายนี้จึงจะสมบูรณ์นั้น กรณีนี้ แม้ว่านายปอและนายป้อจะได้เข้าทําสัญญาซื้อขายกันแล้วก็ตาม แต่เมื่อ สัญญาซื้อขายนั้นมีเงื่อนไขบังคับก่อน นายโป้งจึงยังไม่มีสิทธิได้รับค่านายหน้า นายโป้งจะได้รับค่านายหน้า ก็ต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนนั้นสําเร็จแล้ว คือ ที่ดินแปลงนั้นมีน้ำประปาและไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว ซึ่งจะมีผลทําให้ สัญญาซื้อขายนั้นมีผลสมบูรณ์

สรุป
กรณีที่ 1 นายโป้งยังจะได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า
กรณีที่ 2 นายโป้งยังไม่ได้รับค่านายหน้า จะได้รับค่านายหน้าก็ต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อน ที่กําหนดไว้ในสัญญาซื้อขายนั้นสําเร็จแล้ว

 

LAW2111 (LAW2011) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า s/2563

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2111 (LAW 2011) ป.พ.พ.ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นางสาวแสงดาวทําหลักฐานเป็นหนังสือมอบหมายให้นายแสงตะวัน อายุ 15 ปี ไปลงลายมือชื่อ ในสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้าแทนตน นายแสงตะวันไปทําสัญญาตามคําสั่งและ รับรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้ามาหนึ่งคัน เมื่อนางสายหยุดมารดาของนายแสงตะวันทราบ จึงบอกล้างนิติกรรมการเป็นตัวแทน ดังนี้ นางสาวแสงดาวต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ ให้นายสายฟ้าหรือไม่ จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 798 “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อ กิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้อง
มีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 799 “ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้อง ผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทํา”

มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวแสงดาวทําหลักฐานเป็นหนังสือมอบหมายให้นายแสงตะวัน อายุ 15 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์และเป็นบุคคลไร้ความสามารถเป็นตัวแทนไปลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ จากนายสายฟ้าแทนตนนั้น เป็นการมอบอํานาจที่ถูกต้องตามมาตรา 798 วรรคสอง และมาตรา 799 ดังนั้น นายแสงตะวันจึงมีอํานาจทําสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้าแทนนางสาวแสงดาวได้

เมื่อนายแสงตะวันได้ทําสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ตามคําสั่งและรับรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้ามาหนึ่งคัน จึงถือเป็นกิจการที่นายแสงตะวันตัวแทนได้ทําไปภายในขอบอํานาจของการเป็นตัวแทนย่อมมีผลทําให้ นางสาวแสงดาวต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกคือต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้แก่นายสายฟ้าตามมาตรา 820 แม้ว่านางสายหยุดมารดาของนายแสงตะวันทราบและได้บอกล้างนิติกรรมการเป็นตัวแทนของนายแสงตะวันแล้ว ก็ตาม นางสาวแสงดาวก็ยังคงต้องรับผิดชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้แก่นายสายฟ้าเนื่องจากการที่ตนได้ใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทนตามมาตรา 799

สรุป นางสาวแสงดาวต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้นายสายฟ้า

ข้อ 2 นาย B ประกอบอาชีพซื้อขายรถยนต์มือสอง ซึ่งนาย A ตกลงให้นาย B เป็นตัวแทนค้าต่างในการขายรถยนต์ Mercedes Benz รุ่น E200 Coupe ปี 2012 ของตน โดยบอกให้ขายในราคา 1,200,000 บาท ต่อมานาย C ได้ติดต่อนาย B ขอซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในราคา 1,180,000 บาท ซึ่งนาย B ได้ตกลงขายให้ตามราคาที่นาย C ขอซื้อ แต่นาย C ตกลงจะจ่ายค่ารถยนต์ให้ภายหลัง รับมอบรถยนต์ดังกล่าว 1 อาทิตย์ โดยเงินจํานวนที่เหลือ 20,000 บาทนั้น นาย B จะจ่ายให้นาย A จนครบตามราคาที่นาย A กําหนด แต่เมื่อครบกําหนดจ่ายค่ารถยนต์ นาย C ไม่มีเงินจ่าย นาย A จึงเรียกให้นาย B จ่ายค่ารถยนต์แทนเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท นาย B ปฏิเสธโดย อ้างว่านาย A ต้องเรียกให้นาย C จ่ายค่ารถยนต์ 1,180,000 บาทเอง พร้อมกันนั้นนาย B ได้เรียก ค่าบําเหน็จจากนาย A ด้วย นาย A จึงอ้างว่านาย B ขายรถยนต์ไปในราคาต่ำกว่าที่ตนกําหนด การขายรถยนต์คันดังกล่าวจึงไม่ผูกพันตนประเด็นหนึ่ง จึงปฏิเสธที่จะจ่ายค่าบําเหน็จ โดยอ้างว่า ไม่ได้ตกลงเรื่องบําเหน็จไว้ก่อนอีกประเด็นหนึ่ง

ให้นักศึกษาวินิจฉัย ข้อเรียกร้องและข้ออ้างของนาย A ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 834 “ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างชอบที่จะได้รับบําเหน็จ โดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไป”

มาตรา 838 “ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการ เพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกําหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทนประพฤติต่อกัน
หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น”

มาตรา 839 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ําไปกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อ เป็นราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขายหรือการซื้ออันนั้น ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย A ตกลงให้นาย B เป็นตัวแทนค้าต่างในการขายรถยนต์ Mercedes Benz รุ่น E200 Coupe ปี 2012 ของตน โดยบอกให้ขายในราคา 1,200,000 บาท ต่อมานาย C ได้ติดต่อนาย B ขอซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในราคา 1,180,000 บาท ซึ่งนาย B ได้ตกลงขายในราคาที่นาย C ขอซื้อ แต่นาย C ตกลง จะจ่ายค่ารถยนต์ให้ภายหลังรับมอบรถยนต์ 1 อาทิตย์ โดยเงินที่เหลือ 20,000 บาทนั้น นาย B จะจ่ายให้นาย A จนครบตามราคาที่นาย A กําหนดนั้น เป็นกรณีที่นาย 8 ตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ํากว่าที่นาย A ตัวการกําหนด แต่เมื่อนาย B ตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดไป 20,000 บาทแล้ว ย่อมถือว่าการขายรถยนต์นั้น นาย A ตัวการต้องผูกพันรับขาย ตามมาตรา 839

เมื่อครบกําหนดจ่ายค่ารถยนต์ นาย C ไม่มีเงินจ่าย นาย A จึงเรียกให้นาย B จ่ายค่ารถยนต์แทน เป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท แต่นาย B ปฏิเสธโดยอ้างว่านาย A ต้องเรียกให้นาย C จ่ายค่ารถยนต์ 1,180,000 บาทเองนั้น นาย B สามารถอ้างได้ตามมาตรา 838 ซึ่งวางหลักไว้ว่า ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ ตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ ดังนั้น นาย B จึงไม่ต้องรับผิดต่อนาย A ในการชําระหนี้แทนนาย C

การที่นาย B เรียกค่าบําเหน็จจากนาย A แต่นาย A ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าบําเหน็จโดยอ้างว่าไม่ได้ตกลง เรื่องบําเหน็จไว้ก่อนนั้น นาย A ย่อมไม่อาจอ้างได้ เพราะแม้จะมิได้ตกลงกันไว้ว่ามีบําเหน็จ ตัวแทนค้าต่างก็ชอบที่จะ ได้รับบําเหน็จ โดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไปตามมาตรา 834

สรุป นาย B ตัวแทนค้าต่างไม่ต้องรับผิดต่อนาย A ในการชําระหนี้แทนนาย C และนาย B ชอบที่จะได้รับบําเหน็จตอบแทน ส่วนข้อเรียกร้องและข้ออ้างของนาย A ฟังไม่ขึ้น

ข้อ 3 นายเอกต้องการขายอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นของตนซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในราคา 10 ล้านบาท จึงได้ติดป้ายประกาศขายไว้ทั่วเมืองหาดใหญ่ นายโทเห็นป้ายประกาศขาย อาคารพาณิชย์ดังกล่าว เห็นว่ามีราคาไม่แพงเพราะอยู่ในตัวเมือง ในวันเดียวกันนายโทจึงไปพา นายตรีซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจผู้จัดจําหน่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ไปหานายเอก และช่วยในการประสานงานเป็นอย่างดี จนกระทั้งนายตรีทําสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพาณิชย์ดังกล่าวกับนายเอก โดยนายตรีวางเงินมัดจําไว้ 1 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะชําระในวันโอนกรรมสิทธิ์ วันต่อมา นายโทจึงไปเรียกบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า นายโทมีสิทธิได้รับบําเหน็จ 3% จากนายเอกหรือไม่ เพราเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทํา สัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 846 วรรคหนึ่ง “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมาย ได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบําเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้ กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมาย แก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทําให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการ มอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จําต้องให้ค่าบําเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบําเหน็จ หรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญาต่อกัน โดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบําเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มี สัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าสัญญาซื้อขายอาคารพาณิชย์ระหว่างนายเอกกับนายตรีจะได้เกิดขึ้นจาก การชี้ช่องและจัดการของนายโทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกไม่เคยตกลงให้นายโทเป็นนายหน้า ขายอาคารพาณิชย์ของตนตามมาตรา 845 วรรคหนึ่ง อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา 846 วรรคหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะการตกลงตามมาตรานี้ หมายถึง กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว แต่ไม่ได้ตกลงค่าบําเหน็จนายหน้าไว้ แต่กรณีนี้นายเอกยังไม่ได้มอบหมายให้นายโทเป็นนายหน้าแต่อย่างใด
ดังนั้น นายโทจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

สรุป นายโทไม่มีสิทธิได้รับบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

LAW2111 (LAW2011) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า 1/2563

การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายพร้อมมอบหมายด้วยวาจาให้นายหมากไปซื้อรถยนต์จากนางสาวชะเอมแทนตน ตกลงให้บําเหน็จ 5,000 บาท นายหมากได้ชําระเงินค่ารถยนต์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 จํานวน 500,000 บาท ซึ่งเป็นวันทําสัญญาและตกลงให้มีการส่งมอบรถยนต์ให้นายพร้อมในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 นางสาวชะเอมเห็นว่านายหมากต้องไปพบนายพร้อมเพื่อรับบําเหน็จอยู่แล้ว จึงมอบหมายให้นายหมากนํารถยนต์ไปส่งมอบให้นายพร้อมแทนตน และได้มอบรถยนต์คันดังกล่าว ให้นายหมากไปในวันทําสัญญา โดยนางสาวชะเอมและนายหมากไม่ได้แจ้งให้นายพร้อมทราบ ดังนี้ หากนายหมากนํารถยนต์ไปส่งมอบ นายหมากจะมีสิทธิได้บําเหน็จจากนายพร้อมหรือไม่ จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 797 “อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอํานาจทําการ แทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าตัวการ และตกลงจะทําการดังนั้น

อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่แสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้”

มาตรา 805 “ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทํานิติกรรมอันใดในนาม ของตัวการทํากับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่นิติกรรมนั้น
มีเฉพาะแต่การชําระหนี้”

มาตรา 818 “การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใดตัวแทนได้ทํามิชอบในส่วนนั้น ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้บําเหน็จ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพร้อมมอบหมายด้วยวาจาให้นายหมากไปซื้อรถยนต์จากนางสาวชะเอม แทนตน ตกลงให้บําเหน็จ 5,000 บาท และนายหมากได้นําเงินไปชําระค่ารถยนต์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 จํานวน 500,000 บาท ซึ่งเป็นวันทําสัญญานั้น ถือว่านายหมากได้กระทําการไปในขอบอํานาจของตัวแทนตาม มาตรา 797 วรรคหนึ่ง

และเมื่อนายหมากได้ไปซื้อรถยนต์ตามคําสั่งของนายพร้อมตัวการ จึงเป็นการกระทําที่ชอบ ด้วยหน้าที่ของตัวแทน ดังนั้น นายหมากจึงมีสิทธิได้รับบําเหน็จ 5,000 บาทตามข้อตกลง แม้ว่าจากข้อเท็จจริงนายหมากจะรับเป็นตัวแทนของนางสาวชะเอมในการนํารถยนต์ไปส่งมอบให้นายพร้อมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายพร้อมซึ่งเป็นตัวการก็ตาม แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทําที่มิชอบด้วยหน้าที่ของการเป็นตัวแทนตามมาตรา 805 และมาตรา 818 แต่อย่างใด เพราะนายหมากเพียงทําหน้าที่ตัวแทนของนางสาวชะเอมในการนํารถยนต์ไปส่งมอบ อันเป็นการชําระหนี้เท่านั้น
สรุป นายหมากมีสิทธิได้รับบําเหน็จจากนายพร้อม

ข้อ 2 นายต่อประกอบกิจการขายสินค้าเกี่ยวกับความงาม นายวอกนําครีมบํารุงผิว 100 ขวดที่ตนผลิต มาฝากให้นายต่อทําการขายให้ในราคาขวดละ 200 บาท ปรากฏว่านายต่อไม่ได้เก็บรักษาครีม บํารุงผิวดังกล่าวอย่างเหมาะสม โดยนําไปวางจําหน่ายตากแดดเป็นเวลาหลายวัน ต่อมานางสมร ได้ทําการซื้อครีมบํารุงผิวดังกล่าวไปจํานวน 10 ขวด ชําระราคา 2,000 บาท ข้อเท็จจริงปรากฏ ต่อมาว่าหลังจากใช้ครีมได้ 1 วัน นางสมรมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เสียค่ารักษา 20,000 บาท ผลการตรวจสอบคุณภาพพบว่าครีมบํารุงผิวดังกล่าวเสื่อมสภาพจากการตากแดดเป็นเวลานานสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงได้ นางสมรจึงนําครีมบํารุงผิว ทั้งหมดมาคืนนายต่อและเรียกเงินคืน 2,000 บาท และเรียกร้องให้นายต่อรับผิดชดใช้ค่ารักษา พยาบาลจํานวน 20,000 บาทแก่ตน

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยตามกฎหมายตัวแทนว่า นายต่อมีความรับผิดต่อนางสมรอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 659 วรรคสาม “ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะ
อย่างหนึ่งอย่างใดก็จําต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้
ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น”

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อ หรือ ขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 837 “ในการที่ตัวแทนค้าต่างทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการนั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัวแทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย”

มาตรา 842 วรรคหนึ่ง “เมื่อใดเขามอบหมายทรัพย์สินไว้แก่ตัวแทนค้าต่าง ท่านให้นําบทบัญญัติ ทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้ลักษณะฝากทรัพย์มาใช้บังคับอนุโลมตามสมควร”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา 837 ได้บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดของตัวแทนค้าต่างต่อบุคคลภายนอกไว้ว่า เมื่อตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายหรือซื้อหรือจัดทํากิจการอย่างใดแทนตัวการแล้ว ตัวแทนค้าต่างย่อม ต้องผูกพันเป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอกโดยตรง ถ้าบุคคลภายนอกผิดสัญญา ตัวแทนค้าต่างย่อมมีสิทธิฟ้องร้อง ตามสัญญานั้นในนามของตนเองได้ และในขณะเดียวกันก็ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกตามสัญญานั้นด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายต่อประกอบกิจการขายสินค้าเกี่ยวกับความงาม และนายวอก ได้นําครีมบํารุงผิว 100 ขวดที่ตนผลิตมาฝากให้นายต่อทําการขายให้ในราคาขวดละ 200 บาทนั้น ถือว่านายต่อ เป็นตัวแทนค้าต่างตามมาตรา 833 ซึ่งการเป็นตัวแทนค้าต่างของนายต่อดังกล่าวนี้ นายต่อจะต้องใช้ความสามารถ ในกิจการค้าขายและต้องใช้ความระมัดระวังในการดูแลทรัพย์สินของตัวการตามมาตรฐานที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ตามมาตรา 842 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม กล่าวคือ จะดูแลรักษาทรัพย์สินของตัวการอย่าง ผู้มีอาชีพจะดูแลรักษาเพียงเท่ากับทรัพย์สินของตนเองหาได้ไม่ แต่จะต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่ เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายเช่นนั้น

การที่นายต่อไม่ได้เก็บรักษาครีมบํารุงผิวดังกล่าวอย่างเหมาะสม โดยนําไปวางจําหน่ายตากแดดเป็นเวลาหลายวัน ย่อมถือได้ว่านายต่อไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควร จะต้องใช้ในกิจการค้าขายเช่นนั้นตามมาตรา 842 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อนางสมร ได้ทําการซื้อครีมบํารุงผิวดังกล่าวไปใช้จํานวน 10 ขวด เป็นเงิน 2,000 บาท และมีอาการแพ้อย่างรุนแรงจนต้อง เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล เสียค่ารักษา 20,000 บาท เนื่องจากครีมบํารุงผิวดังกล่าวเสื่อมคุณภาพจากการตากแดด เป็นเวลานาน เมื่อนางสมรนําครีมบํารุงผิวทั้งหมดมาคืนนายต่อและเรียกเงินคืน 2,000 บาท และเรียกร้องให้ นายต่อรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลจํานวน 20,000 บาทแก่ตน นายต่อจึงมีหน้าที่จะต้องรับคืนครีมบํารุงผิวและ คืนเงินแก่นางสมร 2,000 บาท ตามมาตรา 837 และจะต้องรับผิดในการชดใช้ค่ารักษาพยาบาลแก่นางสมร เพราะไม่ได้เก็บรักษาครีมบํารุงผิวที่นายวอกนํามาฝากขายอย่างเหมาะสมทําให้นางสมรได้รับอันตรายจากการใช้ ครีมบํารุงผิวตามมาตรา 842 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม

สรุป นายต่อมีความรับผิดต่อนางสมรคือจะต้องรับคืนครีมบํารุงผิวและคืนเงินแก่นางสมร 2,000 บาท และจะต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลแก่นางสมรจํานวน 20,000 บาท

ข้อ 3 นายเอกต้องการขายที่ดิน 4 ไร่ ติดถนนใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ราคา 30,000,000 บาท นายเอก ติดต่อให้นายโทซึ่งทําธุรกิจด้านการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นนายหน้าให้ นายโทตกลงเป็น นายหน้าให้นายเอกในอัตราบําเหน็จร้อยละ 5 ต่อมานายโทได้นํานายตรีมาดูที่ดินและพบนายเอก นายตรีชอบที่ดินดังกล่าวมากและต้องการทําสัญญาจะซื้อจะขายทันที แต่นายเอกเมื่อเห็นว่า นายตรีชอบที่ดินของตนมากจึงปฏิเสธไม่ขายที่ดินให้ อย่างไรก็ตาม 2 สัปดาห์ต่อมา นายเอก แอบติดต่อและนัดหมายกับนายตรีเพื่อขายที่ดินให้โดยไม่ให้นายโททราบ สุดท้ายนายเอกและ นายตรีได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันจนเสร็จเรียบร้อย เมื่อนายโททราบการทําสัญญา จะซื้อจะขายดังกล่าวจึงมาเรียกค่านายหน้าจากนายเอก

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายโทมีสิทธิที่จะได้รับค่านายหน้าจากนายเอกหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้า ท่าสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้น ได้ทํากันสําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไข เป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ ค่าบําเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกต้องการขายที่ดิน 4 ไร่ ราคา 30,000,000 บาท โดยได้ติดต่อ นายโทให้เป็นนายหน้าให้ และนายโทตกลงเป็นนายหน้าให้นายเอกในอัตราบําเหน็จร้อยละ 5 นั้น เมื่อนายโท ได้ตกลงเป็นนายหน้าให้นายเอกย่อมถือว่าสัญญานายหน้าได้เกิดขึ้นแล้วตามมาตรา 845

การที่นายโทได้นํานายตรีมาดูที่ดินและพบนายเอก และนายตรีชอบที่ดินดังกล่าวมากและต้องการทําสัญญาจะซื้อจะขายทันทีนั้น ถือว่าเป็นการชี้ช่องหรือจัดการให้ได้เข้าทําสัญญาแล้ว แม้นายเอกจะยังไม่ได้ทํา สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันในครั้งแรก แต่หลังจากนั้นต่อมาอีก 2 สัปดาห์ นายเอกได้แอบติดต่อและนัดหมาย กับนายตรีเพื่อจะขายที่ดินให้โดยไม่ให้นายโททราบ สุดท้ายนายเอกและนายตรีได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน จนเสร็จเรียบร้อย ดังนั้น นายโทจึงมีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากนายเอก เพราะการจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นผล สืบเนื่องมาจากการชี้ช่องหรือจัดการให้ได้เข้าทําสัญญาของนายโท ซึ่งหากนายโทไม่ได้นํานายตรีมาพบนายเอก สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

สรุป นายโทมีสิทธิที่จะได้รับค่านายหน้าจากนายเอก

LAW2111 (LAW2011) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า s/2562

การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562 ข้อสอบกระบวนวิชา

LAW2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายบะหมี่มอบอํานาจให้นายเกี๊ยวเป็นหนังสือ ระบุในหนังสือมอบอํานาจให้ดูแลกิจการร้านค้า สะดวกซื้อทั้ง 7 สาขาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายเกี๊ยวปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด 19 กําลังระบาดหนัก นายเกี๊ยว ร้อนเงินจึงแอบนําเงินที่ได้จากการขายสินค้าของทางร้านฯ ไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยไม่บอกกล่าวให้ นายบะหมี่หรือพนักงานคนอื่น ๆ ทราบ

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเกี๊ยวทําผิดหน้าที่ของตัวแทนอย่างไร และหากนายเกี๊ยวอ้างว่ากระทําไป เพราะมีเหตุฉุกเฉิน คือ โรคโควิด 19 จะสามารถอ้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 801 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจทั่วไป ท่านว่าจะทํากิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการ ก็ย่อมทําได้ทุกอย่าง….”

มาตรา 802 “ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ตัวแทนจะทําการใด ๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทํา ก็ย่อมมีอํานาจจะทําได้ทั้งสิ้น”

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 811 “ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจการของตัวการนั้น ไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบะหมี่มอบอํานาจให้นายเกี๊ยวเป็นหนังสือ โดยระบุในหนังสือมอบอํานาจ ให้ดูแลกิจการร้านค้าสะดวกซื้อทั้ง 7 สาขาในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ถือว่าเป็นการมอบอํานาจในฐานะตัวแทน รับมอบอํานาจทั่วไปตามมาตรา 801 ดังนั้น นายเกี๊ยวย่อมมีอํานาจกระทํากิจการใด ๆ แทนตัวการได้ทุกอย่าง เว้นแต่กิจการที่ระบุไว้ในมาตรา 801 (1) – (6) ที่นายเกี๊ยวจะกระทํามิได้

การที่นายเกี๊ยวร้อนเงินเนื่องจากเป็นช่วงที่โรคโควิด 19 กําลังระบาดหนัก ได้แอบนําเงินที่ได้จาก การขายสินค้าของทางร้านฯ ไปใช้จ่ายส่วนตัวโดยไม่บอกกล่าวให้นายบะหมี่หรือพนักงานคนอื่น ๆ ทราบนั้น ถือว่า นายเกี๊ยวได้กระทําผิดหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 810 และมาตรา 811 คือไม่นําเงินที่ได้จากการขายสินค้าของทางร้านฯ ส่งมอบให้แก่นายบะหมี่ตัวการ แต่ได้เอาเงินดังกล่าวไปใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น นายเกี่ยวจึงต้องรับผิดชอบคืนเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่นายบะหมี่พร้อมทั้งต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้

ส่วนการที่นายเกี๊ยวจะอ้างว่าได้กระทําไปเพราะมีเหตุฉุกเฉิน คือ โรคโควิด 19 นั้น นายเกี๊ยวไม่สามารถอ้างได้ เพราะกรณีที่ตัวแทนจะทําการใด ๆ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินได้นั้น จะต้องเป็นการกระทําเพื่อที่จะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหายตามมาตรา 802 เท่านั้น แต่กรณีของนายเกี๊ยวนั้นเป็นเรื่องที่นายเกี๊ยวได้นําเงิน ของตัวการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 802 ดังนั้น นายเกี๊ยวจึงไม่สามารถอ้างว่า ได้กระทําไปเพราะมีเหตุฉุกเฉินได้

สรุป นายเกี๊ยวได้ทําผิดหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 810 และมาตรา 811 และไม่สามารถอ้าง ว่าได้กระทําไปเพราะมีเหตุฉุกเฉินตามมาตรา 802 ได้

ข้อ 2 นายสุขเป็นนักเขียนชื่อดัง ได้เขียนนิยายเรื่อง “รอยน้ําตาหน้าประมวล” และได้นํานิยายดังกล่าว มาฝากขายที่ร้านขายหนังสือของนายเรืองจํานวน 500 เล่ม ราคาขายเล่มละ 200 บาท ในสัญญา ค้าต่างระบุว่าให้นายเรืองมีอํานาจขายนิยายเรื่องนี้ได้ตามปกติแห่งกิจการทางการค้าของตน แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าจะให้บําเหน็จจากการขายเท่าใด ในขณะเดียวกันนายสุขตกลงให้บําเหน็จจาก การขายนิยายของตนแก่ร้านขายหนังสืออื่น ๆ ที่เล่มละ 20 บาท ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายแสง ลูกค้าซึ่งซื้อเชื่อหนังสือที่ร้านเป็นประจํา ได้ทําการซื้อนิยายดังกล่าวเป็นจํานวน 100 เล่ม วางมัดจํา ไว้ 5,000 บาท ตกลงว่าจะชําระราคาทั้งหมดในวันที่ 23 มิถุนายน 2563 แต่เมื่อถึงวันนัดนายแสง ไม่ชําระราคาค่าหนังสือตามที่ตกลงกันไว้ นายสุขทราบถึงการผิดนัดชําระหนี้ดังกล่าวจึงเรียกให้ นายเรืองชําระค่านิยายทั้งหมดแก่ตนในทันที พร้อมยกข้อต่อสู้ว่านายเรืองทําการขายเชื่อนิยายของตนไปโดยไม่ได้รับความยินยอม ตนไม่จําต้องจ่ายบําเหน็จแก่นายเรือง

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายสุขสามารถเรียกให้นายเรื่องชําระค่าหนังสือทั้งหมดที่นายแสงผิดนัดชําระหนี้ได้หรือไม่ และข้อต่อสู้ของนายสุขที่อ้างเพื่อปฏิเสธการจ่ายบําเหน็จแก่นายเรืองฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) หากข้อต่อสู้ของนายสุขฟังไม่ขึ้น นายสุขจะต้องจ่ายบําเหน็จต่อนายเรืองเป็นจํานวนเงินเท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา 834 “ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างชอบที่จะได้รับบําเหน็จ โดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไป

มาตรา 838 “ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการ เพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกําหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทนประพฤติต่อกัน
หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น

อนึ่ง ตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบําเหน็จพิเศษ”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุขได้นํานิยายเรื่อง “รอยน้ําตาหน้าประมวล” มาฝากขาย ที่ร้านขายหนังสือของนายเรืองจํานวน 500 เล่ม ราคาเล่มละ 200 บาท และในสัญญาค้าต่างระบุว่าให้นายเรือง มีอํานาจขายนิยายเรื่องนี้ได้ตามปกติแห่งกิจการทางการค้าของตนนั้น ถือว่านายเรืองเป็นตัวแทนค้าต่างตาม มาตรา 833 และมีอํานาจที่จะขายนิยายดังกล่าวได้ตามปกติแห่งกิจการทางการค้าของตน เมื่อนายเรืองได้ขายเชื่อ นิยายดังกล่าวให้แก่นายแสงลูกค้าจํานวน 100 เล่ม โดยนายแสงวางมัดจําไว้ 5,000 บาทนั้น นายเรื่องย่อมสามารถ ทําได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนายสุขเพราะการขายเชื่อนั้นถือเป็นการขายตามปกติแห่งกิจการทางการค้า ของนายเรือง นายสุขจะยกข้อต่อสู้กรณีนี้เพื่อปฏิเสธการจ่ายบําเหน็จแก่นายเรืองไม่ได้

เมื่อถึงกําหนดวันนัด นายแสงไม่ชําระราคาค่าหนังสือส่วนที่เหลือ เมื่อนายสุขทราบถึง การผิดนัดชําระหนี้ดังกล่าวจึงเรียกให้นายเรื่องชําระค่านิยายทั้งหมดแก่ตนทันทีนั้น นายสุขไม่สามารถทําได้ เนื่องจากการที่นายแสงซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ให้แก่นายเรืองซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างนั้น นายเรือง หาต้องรับผิดต่อนายสุขตัวการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ตามมาตรา 838 วรรคหนึ่ง อีกทั้งนายเรื่องก็ไม่ได้ตกลงกับ นายสุขไว้ว่าตนจะรับผิดโดยฐานเป็นตัวแทนฐานประกันตามมาตรา 838 วรรคสองแต่อย่างใด

(ข) กรณีที่ในสัญญาค้าต่างไม่ได้ตกลงกันว่าจะให้บําเหน็จจากการขายหนังสือแก่นายเรืองเท่าใดนั้น
นายเรื่องย่อมมีสิทธิที่จะได้รับบําเหน็จโดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการไปตามมาตรา 834 โดยนายสุขจะต้องจ่ายบําเหน็จให้แก่นายเรืองต่อการขาย 20 บาทต่อเล่ม รวมเป็นเงิน 2,000 บาท

สรุป

(ก) นายสุขไม่สามารถเรียกให้นายเรื่องชําระค่าหนังสือทั้งหมดที่นายแสงผิดนัดชําระหนี้ได้ และจะยกข้อต่อสู้ดังกล่าวเพื่อปฏิเสธการจ่ายบําเหน็จแก่นายเรืองไม่ได้

(ข) นายสุขจะต้องจ่ายบําเหน็จให้แก่นายเรืองเป็นจํานวนเงิน 2,000 บาท

ข้อ 3 นายแดงต้องการขายที่ดิน 1 แปลงราคา 8 ล้านบาท จึงบอกนายดําให้ช่วยหาผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินของตน โดยตกลงว่าจะให้บําเหน็จแก่นายดํา 5% จากราคาขาย นายดําวานให้นายฟ้าเพื่อนสนิท ของตนโพสต์ Facebook ของนายฟ้าประกาศหาผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว หลังจากที่ นายฟ้าทําการโพสต์ Facebook ได้ไม่นานนายสุดจึงเห็นประกาศขายที่ดินดังกล่าว จึงเดินทางไปพบ นายแดง ต่อมาทั้งคู่ตกลงทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าว แต่พอถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขาย นายสดไม่มาตามนัด ต่อมานายดําเรียกร้องค่าบําเหน็จนายหน้าจากนายแดง แต่นายแดงปฏิเสธ โดยอ้างว่านายดํามิได้กระทําการชี้ช่องด้วยตนเองประการหนึ่ง และการซื้อขายที่ดินดังกล่าวกระทําไม่สําเร็จอีกประการหนึ่ง นายดําไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างแห่งการปฏิเสธของนายแดงทั้งสองประการฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากันสําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทํากันสําเร็จ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ ค่าบําเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงต้องการขายที่ดิน 1 แปลงราคา 8 ล้านบาท จึงบอกนายดํา ให้ช่วยหาผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินของตน โดยตกลงว่าจะให้บําเหน็จแก่นายดํา 5% จากราคาขายนั้น ย่อมถือว่า นายดําเป็นนายหน้าของนายแดงตามมาตรา 845 มีหน้าที่ในการชี้ช่องหรือจัดการให้นายแดงและบุคคลภายนอก
ได้ทําสัญญากัน ซึ่งในการชี้ช่องนั้นมิได้มีกฎหมายบังคับว่านายหน้าจะต้องกระทําการชี้ช่องด้วยตนเอง แม้จะเป็น การวานให้ผู้อื่นทําการชี้ช่องให้ก็ถือว่าเป็นการชี้ช่องตามหน้าที่ของนายหน้าเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่นายดําวานให้ นายฟ้าเพื่อนสนิทของตนโพสต์ Facebook ของนายฟ้าประกาศหาผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินจึงถือว่าเป็นการชี้ช่องแล้ว และเมื่อนายสดเห็นประกาศขายที่ดิน และเดินทางไปพบนายแดงจนตกลงทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ย่อมถือว่า หน้าที่ในการชี้ช่องของนายดําสมบูรณ์แล้ว และให้ถือว่าผลสําเร็จแห่งสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายแดงและนายสดนั้นเกิดจากการชี้ช่องของนายดํา แม้ต่อมานายสุดจะผิดนัดในวันนัดทําสัญญาซื้อขายก็ตาม ก็เป็นเรื่อง การผิดสัญญาระหว่างนายแดงกับนายสด ซึ่งไม่กระทบต่อสิทธิในการรับบําเหน็จนายหน้าของนายดําแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อนายดําเรียกร้องค่าบําเหน็จนายหน้าจากนายแดง แต่นายแดงปฏิเสธโดยอ้างว่านายดํา มิได้กระทําการชี้ช่องด้วยตนเองประการหนึ่ง และการซื้อขายที่ดินดังกล่าวกระทําไม่สําเร็จอีกประการหนึ่ง นายดํา จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้านั้น ข้ออ้างแห่งการปฏิเสธของนายแดงทั้งสองประการจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้ออ้างแห่งการปฏิเสธของนายแดงทั้งสองประการฟังไม่ขึ้น

 

WordPress Ads
error: Content is protected !!