การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2110 (LAW2010) ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ําประกัน จํานอง จํานํา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นางสาวแก้วใจสมัครเข้าทํางานในบริษัทเป็นหนึ่ง จํากัด หลังจากผ่านการสัมภาษณ์ บริษัทฯ ตกลง รับนางสาวแก้วใจเป็นพนักงานบัญชี โดยมีข้อตกลงว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ก่อนเริ่มทํางาน นางสาวแก้วใจต้องหาหลักประกันที่น่าเชื่อถือมาประกันการทํางานด้วย เมื่อถึงวันดังกล่าวนายมานะ ได้มาลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ําประกันกับบริษัทฯ ตกลงจะรับผิดหากปรากฏว่านางสาวแก้วใจ ทําให้บริษัทฯ เสียหายในทางการที่จ้างไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อใดหรือเกิดขึ้นกี่ครั้ง ก็ตาม นายมานะจะยอมรับผิดทั้งหมด แต่ต้องเป็นความเสียหายที่ไม่เกินจํานวน 1,000,000 บาท และนางสาวแก้วใจยังได้ทําหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อว่ายินยอมนําแหวนเพชรราคา 200,000 บาท มาประกันการทํางานของตนด้วย ต่อมาปรากฏว่านางสาวแก้วใจมีความจําเป็นต้อง ใช้เงิน ในวันที่ 15 มิถุนายน 2564 จึงขอกู้เงินจากบริษัทฯ จํานวน 200,000 บาท บริษัทฯ ตกลง ให้กู้เป็นระยะเวลาสองเดือนโดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่ต้องมีการทําหลักฐานเป็นหนังสือ หลังจากนั้น ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นางสาวแก้วใจได้ลักเงินบริษัทฯ ไปใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตัว 100,000 บาท เมื่อนายมานะทราบจึงไม่พอใจนางสาวแก้วใจเป็นอย่างมาก จึงได้ทําหนังสือแจ้ง บริษัทฯ ขอยกเลิกสัญญาค้ําประกัน แต่บริษัทฯ ไม่ยินยอม และในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 นางสาวแก้วใจได้ลักเงินบริษัท 1 ไปอีกครั้งจํานวน 400,000 บาท ต่อมาในวันที่ 10 กันยายน 2564 บริษัทฯ ทราบเรื่องเงินที่หายไป จึงได้มีหนังสือทวงถามให้นางสาวแก้วใจนําเงินมาคืน เมื่อไม่ได้รับ เงินคืน บริษัทฯ จึงมีหนังสือบอกกล่าวให้นายมานะชําระหนี้จํานวน 700,000 บาท ตามขั้นตอนที่ กฎหมายกําหนด ดังนี้ จากข้อเท็จจริงข้างต้น นายมานะจะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ําประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ําประกัน
เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681 “อันค้ําประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์

หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข จะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้ แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ําประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จํานวนเงินสูงสุดที่ค้ําประกัน และ ระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ําประกัน เว้นแต่เป็นการค้ําประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้

สัญญาค้ําประกันต้องระบุหนี่หรือสัญญาที่ค้ําประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ําประกันย่อมรับผิดเฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น”

มาตรา 689 “ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชําระหนี้ดังกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้า ผู้ค้ําประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชําระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชําระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชําระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน”

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ําประกันร้องขอ ท่านว่า เจ้าหนี้จะต้องให้ชําระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน”

มาตรา 699 “การค้ําประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจํากัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ําประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้ ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ําประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทําลงภายหลังคําบอกกล่าวนั้นไปถึงเจ้าหนี้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายมานะได้มาลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ําประกันกับบริษัท เป็นหนึ่ง จํากัด โดยตกลงจะรับผิดหากปรากฏว่านางสาวแก้วใจทําให้บริษัทฯ เสียหายในทางการที่จ้างนั้น ถือว่านายมานะเป็น ผู้ค้ําประกัน และบริษัทฯ สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกับนายมานะได้ตามมาตรา 680 ดังนั้น เมื่อนางสาวแก้วใจ ได้ลักเงินบริษัทฯ ไปใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตัว 100,000 บาท นายมานะจึงต้องรับผิดในหนี้จํานวนนี้ เพราะ เป็นกรณีที่นางสาวแก้วใจทําให้บริษัทฯ เสียหายในทางการที่จ้างแล้ว

2 ต่อมาเมื่อนายมานะทราบถึงไม่พอใจนางสาวแก้วใจเป็นอย่างมาก จึงได้ทําหนังสือแจ้งบริษัทฯ ขอยกเลิกสัญญาค้ําประกันนั้น นายมานะย่อมสามารถทําได้ตามมาตรา 699 วรรคหนึ่ง เพราะถือว่านายมานะ ค้ําประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจํากัดเวลา นายมานะจึงสามารถขอยกเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ แม้ว่าบริษัทฯ จะไม่ยินยอมก็ตามก็ถือว่าสัญญาค้ําประกันดังกล่าวได้ระงับสิ้นไป แต่อย่างไรก็ตาม นายมานะก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้จํานวน 100,000 บาท ที่ได้เกิดขึ้นก่อนการบอกเลิกสัญญาค้ําประกันนั้น แต่สําหรับหนี้จํานวน 400,000 บาท ที่นางสาวแก้วใจได้ลักเงินบริษัทฯ ไปอีกครั้งนั้น นายมานะไม่ต้องรับผิด เพราะเป็นหนี้ที่ได้เกิดขึ้นภายหลังจากที่นายมานะได้บอกเลิกสัญญาค้ําประกัน และคําบอกกล่าวนั้นได้ไปถึง เจ้าหนี้แล้วตามมาตรา 699 วรรคสอง

3 หนี้ที่นางสาวแก้วใจได้กู้จากบริษัทฯ จํานวน 200,000 บาทนั้น เมื่อพิจารณาจากสัญญา ค้ําประกันจะเห็นได้ว่านายมานะตกลงค้ําประกันหนี้ในอนาคตที่กําหนดมูลหนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าจะรับผิดในความเสียหายที่บริษัทฯ ได้รับในทางการที่จ้างเท่านั้น เมื่อหนี้ตามสัญญากู้ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในข้อตกลงว่านายมานะ จะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกัน ดังนั้น นายมานะจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้จํานวนนี้ตามมาตรา 681

4 เมื่อนายมานะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันเพียง 100,000 บาท นายมานะย่อมมีสิทธิที่จะเกี่ยงให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไปบังคับชําระหนี้เอาจากแหวนเพชรของนางสาวแก้วใจซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ได้มอบไว้ แก่บริษัทฯ เพื่อประกันการทํางานของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 689 แต่จะใช้สิทธิตามมาตรา 690 ไม่ได้ เพราะ แหวนเพชรวงนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน

สรุป นายมานะจะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกัน โดยจะต้องรับผิดเพียง 100,000 บาทเท่านั้น
ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

ข้อ 2 นายดําให้นายขาวกู้ยืมเงินเป็นจํานวน 15 ล้านบาท โดยนายดําได้ส่งมอบเงินกู้ให้นายขาวแล้ว นายขาวได้นําที่ดินของตนมาจดทะเบียนจํานอง ประกันการชําระหนี้ดังกล่าวต่อนายดําในวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยในสัญญาต่อท้ายจํานองได้มีข้อความระบุว่า “เมื่อมีการบังคับจํานองเอา ทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาดได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนที่ค้างชําระ เงินยังขาดอยู่ เท่าใด นายขาวผู้จํานองยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดนั้นให้แก่นายดําผู้รับจํานองจนครบ” ต่อมานายขาว ได้สร้างบ้านมูลค่า 5 ล้านบาท ลงในที่ดินที่ติดจํานองแปลงดังกล่าว ภายหลังหนี้ถึงกําหนดชําระ นายขาวไม่ชําระหนี้ให้แก่นายดํา นายดําได้บังคับจํานองโดยการเอาที่ดินติดจํานองพร้อมบ้านที่ ปลูกสร้างไว้ขายทอดตลาด ได้เงินมา 12 ล้านบาท (ที่ดินที่ขายมีมูลค่า 8 ล้านบาท และบ้านมีมูลค่า 4 ล้านบาท) ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายดําจะเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทั้ง 12 ล้านบาท ชําระหนี้เงินกู้ยืมได้หรือไม่

(ข) นายดําจะเรียกให้นายขาวรับผิดในส่วนที่ขาดได้หรือไม่ ถ้าได้ เรียกได้เท่าไหร่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 718 “จํานองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจํานอง แต่ต้อง อยู่ภายใต้บังคับซึ่งท่านจํากัดในสามมาตราต่อไปนี้”

มาตรา 719 “จํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงเรือนโรงอันผู้จํานองปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลัง
วันจํานอง เว้นแต่จะมีข้อความกล่าวไว้โดยเฉพาะในสัญญาว่าให้ครอบไปถึง

แต่กระนั้นก็ดี ผู้รับจํานองจะให้ขายเรือนโรงนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่ผู้รับจํานองอาจใช้ บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ราคาที่ดินเท่านั้น”

มาตรา 733 “ถ้าเอาทรัพย์จํานองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ํากว่าจํานวนเงินที่ ค้างชําระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนเงิน ที่ค้างชําระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจํานวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายดําให้นายขาวกู้ยืมเงินเป็นจํานวน 15 ล้านบาท โดยนายดําได้ส่งมอบเงินกู้ให้ นายขาวแล้ว และนายขาวได้นําที่ดินของตนมาจดทะเบียนจํานองประกันการชําระหนี้ดังกล่าวต่อนายดํา ต่อมา นายขาวได้สร้างบ้านมูลค่า 5 ล้านบาท ลงในที่ดินติดจํานองแปลงดังกล่าวนั้น ตามบทบัญญัติมาตรา 719 จํานองที่ดินไม่ครอบไปถึงบ้านที่นายขาวผู้จํานองได้ปลูกสร้างลงในที่ดินภายหลังวันจํานอง แต่กระนั้นก็ดี นายด่
ผู้รับจํานองจะให้ขายบ้านนั้นรวมไปกับที่ดินด้วยก็ได้ แต่นายดําผู้รับจํานองอาจใช้บุริมสิทธิของตนได้เพียงแก่ ราคาที่ดินเท่านั้น ดังนั้น เมื่อภายหลังหนี้ถึงกําหนดชําระ นายขาวไม่ชําระหนี้ให้แก่นายดํา นายดําได้บังคับจํานอง โดยการเอาที่ดินติดจํานองพร้อมบ้านที่ปลูกสร้างไว้ขายทอดตลาดได้เงินมา 12 ล้านบาท โดยที่ดินที่ขายมีมูลค่า 8 ล้านบาท และบ้านมีมูลค่า 4 ล้านบาทนั้น นายดําจะเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทั้ง 12 ล้านบาท ชําระ หนี้เงินกู้ยืมไม่ได้ นายดําคงมีสิทธิในเงินเพียง 8 ล้านบาท อันเป็นมูลค่าที่ดินที่ขายทอดตลาดได้เท่านั้น

(ข) ในกรณีที่สัญญาจํานองมีข้อตกลงต่อท้ายว่า “เมื่อมีการบังคับจํานองเอาทรัพย์สินซึ่งจํานอง ออกขายทอดตลาดได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนเงินที่ค้างชําระ เงินยังขาดอยู่เท่าใดนายขาวผู้จํานอง

ยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดนั้นให้แก่นายดําผู้รับจํานองจนครบ” นั้น ข้อตกลงดังกล่าวแม้จะขัดกับหลักของมาตรา 733 ก็ตาม แต่ข้อตกลงนั้นมีผลใช้บังคับได้ เพราะไม่ใช่ข้อตกลงที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงชอบที่จะตกลงกันได้ ดังนั้น เมื่อเงินยังขาดอยู่อีก 7 ล้านบาท นายดําจึงสามารถเรียกให้นายขาวรับผิดในส่วน ที่ขาดอีก 7 ล้านบาทได้จนครบ

สรุป

(ก) นายดําจะเอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทั้ง 12 ล้านบาท ชําระหนี้เงินกู้ยืมไม่ได้ มีสิทธิเฉพาะเพียงเงิน 8 ล้านบาท อันเป็นมูลค่าของที่ดินที่ขายทอดตลาดได้เท่านั้น

(ข) นายดําสามารถเรียกให้นายขาวรับผิดในส่วนที่ขาดอีก 7 ล้านบาทได้

ข้อ 3 แดงเป็นหนี้ดํา 200,000 บาท เหลืองส่งมอบสร้อยคอทองคําของตนหนึ่งเส้นไว้กับดําเพื่อเป็น ประกันการชําระหนี้ ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความ และแดงได้ยกอายุความปฏิเสธไม่ชําระหนี้แก่ดํา ดําจะบังคับชําระหนี้จากสร้อยคอทองคําของเหลือง เหลืองได้ยกอายุความปฏิเสธไม่ชําระหนี้เช่นเดียวกับแดง

ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากสร้อยคอทองคําของเหลืองซึ่งในขณะนั้น ราคา 180,000 บาท ได้หรือไม่ โดยวิธีใด และดําจะได้รับชําระหนี้จากแดงและเหลืองครบถ้วน หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 4 วรรคสอง “เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณี แห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้า บทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป”

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง
เกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

มาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง “ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้ เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานอง หรือเอาทรัพย์จํานองหลุด”

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้
แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้ และอุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น
ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป
(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดํา 200,000 บาท และเหลืองได้ส่งมอบสร้อยคอทองคําของตน หนึ่งเส้นไว้กับดําเพื่อเป็นประกันการชําระหนี้นั้น ถือเป็นสัญญาจํานําตามมาตรา 747 ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความ แดงย่อมมีสิทธิยกอายุความขึ้นปฏิเสธการชําระหนี้ได้ตามมาตรา 193/9 ประกอบมาตรา 193/10
แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ก็ไม่ทําให้การจํานํานั้น ระงับสิ้นไปตามมาตรา 769 (1) ดังนั้น ผู้รับจํานําจึงยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานํา คือ สร้อยคอทองคํานั้นได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตามตามมาตรา 193/27

แต่เมื่อจะบังคับจํานํา ดําจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังแดงลูกหนี้ว่าให้ชําระหนี้และดอกเบี้ย ภายในเวลาอันควรซึ่งดําได้กําหนดไว้ในคําบอกกล่าว ซึ่งถ้าหากแดงละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานํา มีสิทธินําสร้อยคอทองคําซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จํานําออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764

เมื่อสร้อยคอทองคํามีราคา 180,000 บาท ดําย่อมมีสิทธิได้รับชําระหนี้เพียง 180,000 บาท ส่วนในจํานวนที่ขาดอีก 20,000 บาทนั้น เมื่อแดงลูกหนี้ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว แดงจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ ขาดนั้นตามมาตรา 767 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/9 และ 193/10

ส่วนเหลืองซึ่งเป็นเจ้าของสร้อยคอทองคําและได้จํานําทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่น
ต้องชําระนั้น ก็ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานําในเวลาที่บังคับจํานําตามมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 4 วรรคสอง (ซึ่งให้นําบทบัญญัติเรื่องจํานองซึ่งเป็นบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับกับ การจํานําได้) ดังนั้น เหลืองจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ขาดอีก 20,000 บาท เช่นเดียวกับแดง

สรุป ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากสร้อยคอทองคําของเหลืองได้ โดยวิธีปฏิบัติตามมาตรา 764 และดําจะได้รับชําระหนี้เพียง 180,000 บาท ตามราคาทรัพย์เท่านั้น ส่วนที่ขาดดําจะเรียกเอาจากแดงและเหลืองอีกไม่ได้

 

Advertisement