การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562 ข้อสอบกระบวนวิชา

LAW2011 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นายบะหมี่มอบอํานาจให้นายเกี๊ยวเป็นหนังสือ ระบุในหนังสือมอบอํานาจให้ดูแลกิจการร้านค้า สะดวกซื้อทั้ง 7 สาขาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายเกี๊ยวปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด 19 กําลังระบาดหนัก นายเกี๊ยว ร้อนเงินจึงแอบนําเงินที่ได้จากการขายสินค้าของทางร้านฯ ไปใช้จ่ายส่วนตัว โดยไม่บอกกล่าวให้ นายบะหมี่หรือพนักงานคนอื่น ๆ ทราบ

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายเกี๊ยวทําผิดหน้าที่ของตัวแทนอย่างไร และหากนายเกี๊ยวอ้างว่ากระทําไป เพราะมีเหตุฉุกเฉิน คือ โรคโควิด 19 จะสามารถอ้างได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 801 “ถ้าตัวแทนได้รับมอบอํานาจทั่วไป ท่านว่าจะทํากิจใด ๆ ในทางจัดการแทนตัวการ ก็ย่อมทําได้ทุกอย่าง….”

มาตรา 802 “ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ตัวแทนจะทําการใด ๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทํา ก็ย่อมมีอํานาจจะทําได้ทั้งสิ้น”

มาตรา 810 “เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่าตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น

อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเองแต่โดยฐานที่ทําการแทนตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น”

มาตรา 811 “ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจการของตัวการนั้น ไปใช้สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบะหมี่มอบอํานาจให้นายเกี๊ยวเป็นหนังสือ โดยระบุในหนังสือมอบอํานาจ ให้ดูแลกิจการร้านค้าสะดวกซื้อทั้ง 7 สาขาในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ถือว่าเป็นการมอบอํานาจในฐานะตัวแทน รับมอบอํานาจทั่วไปตามมาตรา 801 ดังนั้น นายเกี๊ยวย่อมมีอํานาจกระทํากิจการใด ๆ แทนตัวการได้ทุกอย่าง เว้นแต่กิจการที่ระบุไว้ในมาตรา 801 (1) – (6) ที่นายเกี๊ยวจะกระทํามิได้

การที่นายเกี๊ยวร้อนเงินเนื่องจากเป็นช่วงที่โรคโควิด 19 กําลังระบาดหนัก ได้แอบนําเงินที่ได้จาก การขายสินค้าของทางร้านฯ ไปใช้จ่ายส่วนตัวโดยไม่บอกกล่าวให้นายบะหมี่หรือพนักงานคนอื่น ๆ ทราบนั้น ถือว่า นายเกี๊ยวได้กระทําผิดหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 810 และมาตรา 811 คือไม่นําเงินที่ได้จากการขายสินค้าของทางร้านฯ ส่งมอบให้แก่นายบะหมี่ตัวการ แต่ได้เอาเงินดังกล่าวไปใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้น นายเกี่ยวจึงต้องรับผิดชอบคืนเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่นายบะหมี่พร้อมทั้งต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้

ส่วนการที่นายเกี๊ยวจะอ้างว่าได้กระทําไปเพราะมีเหตุฉุกเฉิน คือ โรคโควิด 19 นั้น นายเกี๊ยวไม่สามารถอ้างได้ เพราะกรณีที่ตัวแทนจะทําการใด ๆ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินได้นั้น จะต้องเป็นการกระทําเพื่อที่จะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหายตามมาตรา 802 เท่านั้น แต่กรณีของนายเกี๊ยวนั้นเป็นเรื่องที่นายเกี๊ยวได้นําเงิน ของตัวการไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 802 ดังนั้น นายเกี๊ยวจึงไม่สามารถอ้างว่า ได้กระทําไปเพราะมีเหตุฉุกเฉินได้

สรุป นายเกี๊ยวได้ทําผิดหน้าที่ของตัวแทนตามมาตรา 810 และมาตรา 811 และไม่สามารถอ้าง ว่าได้กระทําไปเพราะมีเหตุฉุกเฉินตามมาตรา 802 ได้

ข้อ 2 นายสุขเป็นนักเขียนชื่อดัง ได้เขียนนิยายเรื่อง “รอยน้ําตาหน้าประมวล” และได้นํานิยายดังกล่าว มาฝากขายที่ร้านขายหนังสือของนายเรืองจํานวน 500 เล่ม ราคาขายเล่มละ 200 บาท ในสัญญา ค้าต่างระบุว่าให้นายเรืองมีอํานาจขายนิยายเรื่องนี้ได้ตามปกติแห่งกิจการทางการค้าของตน แต่ไม่ได้ตกลงกันว่าจะให้บําเหน็จจากการขายเท่าใด ในขณะเดียวกันนายสุขตกลงให้บําเหน็จจาก การขายนิยายของตนแก่ร้านขายหนังสืออื่น ๆ ที่เล่มละ 20 บาท ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายแสง ลูกค้าซึ่งซื้อเชื่อหนังสือที่ร้านเป็นประจํา ได้ทําการซื้อนิยายดังกล่าวเป็นจํานวน 100 เล่ม วางมัดจํา ไว้ 5,000 บาท ตกลงว่าจะชําระราคาทั้งหมดในวันที่ 23 มิถุนายน 2563 แต่เมื่อถึงวันนัดนายแสง ไม่ชําระราคาค่าหนังสือตามที่ตกลงกันไว้ นายสุขทราบถึงการผิดนัดชําระหนี้ดังกล่าวจึงเรียกให้ นายเรืองชําระค่านิยายทั้งหมดแก่ตนในทันที พร้อมยกข้อต่อสู้ว่านายเรืองทําการขายเชื่อนิยายของตนไปโดยไม่ได้รับความยินยอม ตนไม่จําต้องจ่ายบําเหน็จแก่นายเรือง

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า

(ก) นายสุขสามารถเรียกให้นายเรื่องชําระค่าหนังสือทั้งหมดที่นายแสงผิดนัดชําระหนี้ได้หรือไม่ และข้อต่อสู้ของนายสุขที่อ้างเพื่อปฏิเสธการจ่ายบําเหน็จแก่นายเรืองฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

(ข) หากข้อต่อสู้ของนายสุขฟังไม่ขึ้น นายสุขจะต้องจ่ายบําเหน็จต่อนายเรืองเป็นจํานวนเงินเท่าใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขายทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ

มาตรา 834 “ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างชอบที่จะได้รับบําเหน็จ โดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไป

มาตรา 838 “ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการ เพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกําหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทนประพฤติต่อกัน
หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น

อนึ่ง ตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบําเหน็จพิเศษ”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสุขได้นํานิยายเรื่อง “รอยน้ําตาหน้าประมวล” มาฝากขาย ที่ร้านขายหนังสือของนายเรืองจํานวน 500 เล่ม ราคาเล่มละ 200 บาท และในสัญญาค้าต่างระบุว่าให้นายเรือง มีอํานาจขายนิยายเรื่องนี้ได้ตามปกติแห่งกิจการทางการค้าของตนนั้น ถือว่านายเรืองเป็นตัวแทนค้าต่างตาม มาตรา 833 และมีอํานาจที่จะขายนิยายดังกล่าวได้ตามปกติแห่งกิจการทางการค้าของตน เมื่อนายเรืองได้ขายเชื่อ นิยายดังกล่าวให้แก่นายแสงลูกค้าจํานวน 100 เล่ม โดยนายแสงวางมัดจําไว้ 5,000 บาทนั้น นายเรื่องย่อมสามารถ ทําได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนายสุขเพราะการขายเชื่อนั้นถือเป็นการขายตามปกติแห่งกิจการทางการค้า ของนายเรือง นายสุขจะยกข้อต่อสู้กรณีนี้เพื่อปฏิเสธการจ่ายบําเหน็จแก่นายเรืองไม่ได้

เมื่อถึงกําหนดวันนัด นายแสงไม่ชําระราคาค่าหนังสือส่วนที่เหลือ เมื่อนายสุขทราบถึง การผิดนัดชําระหนี้ดังกล่าวจึงเรียกให้นายเรื่องชําระค่านิยายทั้งหมดแก่ตนทันทีนั้น นายสุขไม่สามารถทําได้ เนื่องจากการที่นายแสงซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ให้แก่นายเรืองซึ่งเป็นตัวแทนค้าต่างนั้น นายเรือง หาต้องรับผิดต่อนายสุขตัวการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ตามมาตรา 838 วรรคหนึ่ง อีกทั้งนายเรื่องก็ไม่ได้ตกลงกับ นายสุขไว้ว่าตนจะรับผิดโดยฐานเป็นตัวแทนฐานประกันตามมาตรา 838 วรรคสองแต่อย่างใด

(ข) กรณีที่ในสัญญาค้าต่างไม่ได้ตกลงกันว่าจะให้บําเหน็จจากการขายหนังสือแก่นายเรืองเท่าใดนั้น
นายเรื่องย่อมมีสิทธิที่จะได้รับบําเหน็จโดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการไปตามมาตรา 834 โดยนายสุขจะต้องจ่ายบําเหน็จให้แก่นายเรืองต่อการขาย 20 บาทต่อเล่ม รวมเป็นเงิน 2,000 บาท

สรุป

(ก) นายสุขไม่สามารถเรียกให้นายเรื่องชําระค่าหนังสือทั้งหมดที่นายแสงผิดนัดชําระหนี้ได้ และจะยกข้อต่อสู้ดังกล่าวเพื่อปฏิเสธการจ่ายบําเหน็จแก่นายเรืองไม่ได้

(ข) นายสุขจะต้องจ่ายบําเหน็จให้แก่นายเรืองเป็นจํานวนเงิน 2,000 บาท

ข้อ 3 นายแดงต้องการขายที่ดิน 1 แปลงราคา 8 ล้านบาท จึงบอกนายดําให้ช่วยหาผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินของตน โดยตกลงว่าจะให้บําเหน็จแก่นายดํา 5% จากราคาขาย นายดําวานให้นายฟ้าเพื่อนสนิท ของตนโพสต์ Facebook ของนายฟ้าประกาศหาผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว หลังจากที่ นายฟ้าทําการโพสต์ Facebook ได้ไม่นานนายสุดจึงเห็นประกาศขายที่ดินดังกล่าว จึงเดินทางไปพบ นายแดง ต่อมาทั้งคู่ตกลงทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงดังกล่าว แต่พอถึงวันนัดทําสัญญาซื้อขาย นายสดไม่มาตามนัด ต่อมานายดําเรียกร้องค่าบําเหน็จนายหน้าจากนายแดง แต่นายแดงปฏิเสธ โดยอ้างว่านายดํามิได้กระทําการชี้ช่องด้วยตนเองประการหนึ่ง และการซื้อขายที่ดินดังกล่าวกระทําไม่สําเร็จอีกประการหนึ่ง นายดําไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า

ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างแห่งการปฏิเสธของนายแดงทั้งสองประการฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทําสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากันสําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว

นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทํากันสําเร็จ”

วินิจฉัย

จากบทบัญญัติมาตรา 845 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า ลักษณะของสัญญานายหน้านั้น คือ สัญญา ซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงให้นายหน้าเป็นผู้ชี้ช่องทาง หรือจัดการจนเขาได้ทําสัญญากับบุคคลภายนอก และนายหน้า รับกระทําการตามนั้น และเมื่อนายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการจนเขาได้เข้าทําสัญญากันแล้ว นายหน้าย่อมจะได้รับ ค่าบําเหน็จ

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงต้องการขายที่ดิน 1 แปลงราคา 8 ล้านบาท จึงบอกนายดํา ให้ช่วยหาผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินของตน โดยตกลงว่าจะให้บําเหน็จแก่นายดํา 5% จากราคาขายนั้น ย่อมถือว่า นายดําเป็นนายหน้าของนายแดงตามมาตรา 845 มีหน้าที่ในการชี้ช่องหรือจัดการให้นายแดงและบุคคลภายนอก
ได้ทําสัญญากัน ซึ่งในการชี้ช่องนั้นมิได้มีกฎหมายบังคับว่านายหน้าจะต้องกระทําการชี้ช่องด้วยตนเอง แม้จะเป็น การวานให้ผู้อื่นทําการชี้ช่องให้ก็ถือว่าเป็นการชี้ช่องตามหน้าที่ของนายหน้าเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่นายดําวานให้ นายฟ้าเพื่อนสนิทของตนโพสต์ Facebook ของนายฟ้าประกาศหาผู้ที่ต้องการซื้อที่ดินจึงถือว่าเป็นการชี้ช่องแล้ว และเมื่อนายสดเห็นประกาศขายที่ดิน และเดินทางไปพบนายแดงจนตกลงทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกัน ย่อมถือว่า หน้าที่ในการชี้ช่องของนายดําสมบูรณ์แล้ว และให้ถือว่าผลสําเร็จแห่งสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างนายแดงและนายสดนั้นเกิดจากการชี้ช่องของนายดํา แม้ต่อมานายสุดจะผิดนัดในวันนัดทําสัญญาซื้อขายก็ตาม ก็เป็นเรื่อง การผิดสัญญาระหว่างนายแดงกับนายสด ซึ่งไม่กระทบต่อสิทธิในการรับบําเหน็จนายหน้าของนายดําแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อนายดําเรียกร้องค่าบําเหน็จนายหน้าจากนายแดง แต่นายแดงปฏิเสธโดยอ้างว่านายดํา มิได้กระทําการชี้ช่องด้วยตนเองประการหนึ่ง และการซื้อขายที่ดินดังกล่าวกระทําไม่สําเร็จอีกประการหนึ่ง นายดํา จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้านั้น ข้ออ้างแห่งการปฏิเสธของนายแดงทั้งสองประการจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป

ข้ออ้างแห่งการปฏิเสธของนายแดงทั้งสองประการฟังไม่ขึ้น

 

Advertisement