การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2110 (LAW 2010) ป.พ.พ.ว่าด้วยค้ําประกัน จํานอง จํานํา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นางสาวกิ่งแก้วกู้เงินนายสมัครใจ 1,000,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง โดยนางสาวกิ่งแก้ว ได้นําเครื่องเพชรหนึ่งชุดประกอบไปด้วยแหวน สร้อยคอ ต่างหู และกําไลข้อมือ ราคารวมทั้งสิ้น 500,000 บาท มาส่งมอบให้นายสมัครใจเป็นประกันการชําระหนี้ ต่อมานายสมัครใจเห็นว่า ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ควรมีหลักประกันเพิ่ม นางสาวกิ่งแก้วจึงขอให้นายปกป้องช่วยค้ําประกัน หนี้เงินกู้ให้ นายปกป้องตกลง และได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ําประกันเพื่อประกันหนี้ที่นางสาวกิ่งแก้ว กู้เงินนายสมัครใจทั้งหมด และได้ส่งหนังสือสัญญาฉบับนั้นให้นายสมัครใจทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ และนายสมัครใจได้รับสัญญาค้ําประกันแล้ว ต่อมานายสมัครใจได้ตกลงคบหากับนางสาวกิ่งแก้ว จึงได้นําเครื่องเพชรชุดนั้นไปให้นางสาวกิ่งแก้วใช้ใส่ออกงาน ปรากฏว่านางสาวกิ่งแก้วทําต่างหู 1 ข้าง ราคา 40,000 บาท หายไป เมื่อนายสมัครใจทราบจึงโกรธ และบอกเลิกนางสาวกิ่งแก้ว พร้อมทั้ง นําเครื่องเพชรส่วนที่เหลือกลับไปด้วย หลังจากเกิดเหตุได้สามเดือน หนี้ถึงกําหนดชําระ แต่ นางสาวกิ่งแก้วไม่สามารถชําระหนี้ได้ นายสมัครใจจึงเรียกให้นายปกป้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกัน ดังนี้ นายปกป้องต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมาย
ประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ําประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ําประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ําประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ําประกัน
เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 697 “ถ้าเพราะการกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เอง เป็นเหตุให้ผู้ค้ําประกันไม่อาจ เข้ารับช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดี จํานองก็ดี จํานําก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่ก่อน หรือในขณะทําสัญญาค้ําประกันเพื่อชําระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ําประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเพียงเท่าที่ตน
ต้องเสียหายเพราะการนั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ หรือ

(2) เมื่อผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํากลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จํานํา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวกิ่งแก้วกู้เงินนายสมัครใจ 1,000,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง โดยนางสาวกิ่งแก้วได้นําเครื่องเพชรหนึ่งชุดประกอบไปด้วยแหวน สร้อยคอ ต่างหู และกําไลข้อมือ ราคารวมทั้งสิ้น 500,000 บาท มาส่งมอบให้นายสมัครใจเป็นประกันการชําระหนี้ และต่อมามีนายปกป้องเข้ามาค้ําประกันเงินกู้ให้

โดยการลงลายมือชื่อในสัญญาค้ําประกันเพื่อประกันหนี้ที่นางสาวกิ่งแก้วกู้เงินนายสมัครใจทั้งหมด และได้ส่ง
หนังสือสัญญาฉบับนั้นให้นายสมัครใจทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ และนายสมัครใจได้รับสัญญาค้ำประกันแล้วนั้น ย่อมถือว่านายปกป้องเข้าเป็นผู้ค้ําประกันแล้ว และต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันตามมาตรา 680
การที่นายสมัครใจได้ตกลงคบหากับนางสาวกิ่งแก้ว และได้นําเครื่องเพชรชุดนั้นไปให้นางสาวกิ่งแก้ว
ใช้ใส่ออกงานนั้น ถือเป็นกรณีที่ผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํากลับคืนไปอยู่ในความครอบครองของนางสาวกิ่งแก้ว ซึ่งเป็นผู้จํานํา ย่อมทําให้สัญญาจํานําในส่วนของเครื่องเพชนนั้นระงับไปตามมาตรา 769 (2) และถือเป็นการ กระทําของนายสมัครใจเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ําประกันคือนายปกป้องไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิในเครื่องเพชรที่ จํานําซึ่งได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้ก่อนเข้าทําสัญญาค้ําประกันตามมาตรา 697 ดังนั้น นายปกป้องผู้ค้ําประกันย่อมหลุดพ้น จากความรับผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพื่อการนั้น คือจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้จํานวน 500,000 บาท ตามราคาเครื่องเพชรชุดนั้น และต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันในหนี้ที่เหลือจํานวน 500,000 บาท

สรุป นายปกป้องต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ําประกันในหนี้ที่เหลือจํานวน 500,000 บาท

ข้อ 2 นายทวีปทําสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารออมทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 โดยมีนายทรงศักดิ์ นําโฉนดที่ดินของตนจํานวน 5 ไร่ ราคาประเมิน 5 ล้านบาท มาจดทะเบียนจํานองหนี้รายนี้ โดย มีกําหนดระยะเวลาในการชําระหนี้ 5 ปี และในสัญญาจํานองระบุว่า “…หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ สามารถยึดที่ดินที่จํานองเองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวและไม่ต้องฟ้องเพื่อบังคับคดี…” เมื่อครั้นครบกําหนดเวลาชําระหนี้ นายทวีปผิดนัดชําระหนี้ ธนาคารออมทรัพย์จึงให้เจ้าหน้าที่ของธนาคาร ขับไล่นายทรงศักดิ์ออกจากที่ดิน และยึดที่ดินมาเป็นของธนาคารทันที โดยอ้างข้อตกลงในสัญญา ดังกล่าว นายทรงศักดิ์จึงมาปรึกษานักศึกษาซึ่งเรียนวิชาสัญญาจํานองไปแล้วว่า กรณีดังกล่าว ธนาคารออมทรัพย์สามารถอ้างข้อตกลงในสัญญาทําการขับไล่ และยึดที่ดินของนายทรงศักดิ์ ได้หรือไม่ และนักศึกษาจะให้คําแนะนําแก่นายทางศักดิ์อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 714 “อันสัญญาจํานองนั้น ท่านว่าต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่” มาตรา 714/1 “บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการจํานองที่แตกต่างไปจากมาตรา 128 มาตรา 729 และมาตรา 735 เป็นโมฆะ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทวีปทําสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารออมทรัพย์ โดยมีนายทรงศักดิ์ นําโฉนดที่ดินของตนจํานวน 5 ไร่ ราคาประเมิน 5 ล้านบาท มาจดทะเบียนจํานองหนี้รายนี้ โดยมีกําหนดระยะเวลา ในการชําระหนี้ 5 ปีนั้น สัญญาจํานองที่ดินระหว่างนายทรงศักดิ์และธนาคารออมทรัพย์ย่อมมีผลสมบูรณ์ ตามกฎหมายตามมาตรา 702 ประกอบมาตรา 714 แต่อย่างไรก็ตามในสัญญาจํานองซึ่งมีข้อตกลงกันว่า “…หากลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้สามารถยึดที่ดินที่จํานองเองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวและไม่ต้องฟ้องร้องบังคับคดี….” นั้น ข้อตกลงดังกล่าว เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจํานองที่แตกต่างไปจากมาตรา 728 และมาตรา 729 ซึ่งได้กําหนด ให้เจ้าหนี้ต้องฟ้องคดีเพื่อบังคับจํานอง หรือฟ้องคดีเพื่อเรียกเอาทรัพย์จํานองหลุดเมื่อลูกหนี้ผิดนัด แต่คู่สัญญา ได้ทําข้อตกลงกันเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทําตามมาตรา 728 และมาตรา 729 ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าว จึงเป็นโมฆะ ใช้บังคับกันไม่ได้ตามมาตรา 714/1

ดังนั้น เมื่อครบกําหนดเวลาชําระหนี้ นายทวีปผิดนัดชําระหนี้ การที่ธนาคารออมทรัพย์ได้ให้ เจ้าหน้าที่ของธนาคารขับไล่นายทรงศักดิ์ออกจากที่ดิน และยึดที่ดินมาเป็นของธนาคารทันที โดยอ้างข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวซึ่งเป็นโมฆะนั้นย่อมเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป ธนาคารออมทรัพย์จะอ้างข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวเพื่อทําการขับไล่นายทรงศักดิ์ออกจาก ที่ดินและยึดที่ดินของนายทรงศักดิ์ไม่ได้

ข้อ 3 นายขาว นายดํา และนายเขียวเป็นเพื่อนรักกัน นายขาวกู้ยืมเงินนายดํา 2 ล้านบาท นายเขียวเอา สร้อยเพชรของตนส่งมอบให้นายดําเพื่อประกันการชําระหนี้เงินกู้ของนาวขาว หากว่า

(ก) ต่อมาถึงกําหนดชําระหนี้ นายขาวไม่ชําระหนี้นายดํา นายดําได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 764 และนําสร้อยเพชรขายทอดตลาดได้ราคาขาดอยู่ 300,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายดําจะเรียกเงินส่วนที่ขาดได้จากใคร

(ข) หากปรากฏว่าก่อนถึงกําหนดชําระหนี้ นายเขียวมีความจําเป็นต้องเอาเครื่องเพชรไปใส่ออกงาน ด้วยความสนิทไว้เนื้อเชื่อใจ นายดําจึงยอมให้นายเขียวเอาสร้อยเพชรไปใช้ 1 สัปดาห์ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ผลทางกฎหมายของสัญญาจํานําเป็นอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้และ อุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ หรือ

(2) เมื่อผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํากลับคืนไปสู่ครอบครองของผู้จํานํา”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวกู้ยืมเงินนายดํา 2 ล้านบาท โดยมีนายเขียวบุคคลภายนอกได้ ส่งมอบสร้อยเพชรของตนเองให้นายดําเพื่อประกันการชําระหนี้เงินกู้ของนายขาวนั้น สัญญาจํานําซึ่งเป็นสัญญา อุปกรณ์ย่อมเกิดขึ้น และมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 747

(ก) ต่อมาเมื่อถึงกําหนดชําระหนี้ นายขาวลูกหนี้ไม่ชําระหนี้เงินกู้ยืมจํานวน 2 ล้านบาท ให้แก่ นายดําเจ้าหนี้ เมื่อนายดําเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 764 และนําสร้อยเพชรออกขายทอดตลาดได้ราคา ขาดอยู่ 300,000 บาท ดังนี้ นายดําเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้นายขาวลูกหนี้รับใช้ในส่วนที่ขาด 300,000 บาท ได้ตามมาตรา 767 แต่ไม่มีสิทธิเรียกเอาส่วนที่ขาดจากนายเขียวผู้จํานํา

(ข) หากปรากฏว่าก่อนถึงกําหนดชําระหนี้ นายเขียวผู้จํานํามีความจําเป็นต้องเอาเครื่องเพชร ไปใส่ออกงาน ด้วยความสนิทไว้เนื้อเชื่อใจ นายดําผู้รับจํานําได้ยอมให้นายเขียวเอาสร้อยเพชรไปใช้ 1 สัปดาห์ ย่อมมีผลทําให้สัญญาจํานําดังกล่าวระงับไปตามมาตรา 769 (2) เพราะนายดําผู้รับจํานํายอมให้ทรัพย์สินจํานํา กลับคืนไปสู่ครอบครองของนายเขียวผู้จํานํา

สรุป
(ก) นายดําสามารถเรียกเงินส่วนที่ขาดได้จากนายขาวลูกหนี้ แต่จะเรียกเอาจากนายเขียว ผู้จํานําไม่ได้
(ข) การที่นายดํายอมให้นายเขียวเอาสร้อยเพชรไปใช้ 1 สัปดาห์ มีผลทําให้สัญญาจํานําดังกล่าวระงับสิ้นไป

Advertisement